The Midnight University
ความรู้จากพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์
ความรุนแรงในคัมภีร์อัลกุรอานและคัมภีร์ไบเบิล??
อ.อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์ดินอะ(อับดุลสุโก ดินอะ)
นักศึกษาปริญญาเอก-ศาสนาเปรียบเทียบ
มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซีย
บทความเพื่อความเข้าใจในศาสนา
หมายเหตุ
บทความนี้กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน และขอบคุณเอาไว้
ณ ที่นี้
ชื่อเดิมของบทความ
คัมภีร์อัลกุรอาน : ปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้และโลก...?
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 705
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7.5 หน้ากระดาษ A4)
......................................
ด้วยพระนามของอัลลอฮผู้ทรงเมตตา
ปรานียิ่ง มวลการสรรเสริญแด่พระองค์
ขอความสันติจงมีแด่ท่านศาสดามุฮำมัดและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน
ปัจจุบันมีการพูดและแสดงความคิดเห็นกันมากเกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอานเป็นต้นเหตุแห่งความรุนแรง นำไปสู่ ปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้และโลก เพราะมีมุสลิมหลายกลุ่มนำคำสอนในคัมภีร์ไปตีความอย่างผิดๆหรือใช้เพื่อบิดเบือน เพื่อเป้าหมายของตนเอง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้รู้ที่จะต้องชี้แจงเพื่อความกระจ่างและขจัดความสับสนของสังคม
คัมภีร์อัลกุรอานเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมวจนะของอัลลอฮ์ที่ทรงมีต่อมนุษย์โดยผ่านศาสดามุฮัมมัด ทั้งนี้โดยวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทางนำสำหรับมนุษยชาติ คัมภีร์นี้มิใช่คัมภีร์ที่มีไว้เพื่อสักการะบูชา และมิใช่เป็นคัมภีร์ที่มีวัตถุประสงค์ทางไสยศาสตร์ หากแต่เป็นคัมภีร์เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตในทุกๆด้านและมิติทีเกี่ยวข้องกับมนุษย์ สำหรับมุสลิมแล้วบทบัญญัติที่มีอยู่ในคัมภีร์คือบทบัญญัติที่ทุกคนต้องปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ทุกคนต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเพื่อที่จะนำมาใช้อย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์ของอัลกุรอาน
การรวบรวม พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน
การประทานอัลกุรอานของอัลลอฮ์แก่ศาสดามูฮัมมัด ได้ทยอยโองการต่างๆเรื่อยๆ ตามมูลเหตุและสถานการณ์รวมระยะเวลา
23 ปี ( ขณะที่ท่านอยู่ ณ เมืองเมกกะ 13 ปี และเมืองมะดีนา ประเทศซาอุดิอารเบีย
10 ปี) และเมื่อท่านศาสดาได้รับโองการแต่ละครั้ง ท่านจะอ่านให้อัครสาวกผู้ใกล้ชิดฟังเพื่อให้ท่องจำและบันทึกไว้
คัมภีร์อัลกุรอานแบ่งออกเป็นบท
ทั้งหมด 114 บท แต่ละบทเรียกว่าซูเราะห์ซึ่งมีความยาวไม่เท่ากัน โดยจำนวนวรรคมากบ้างน้อยบ้างต่างกัน
แต่ละวรรคเรียกว่าอายะห์ โดยมีทั้งหมด 6666 วรรค
ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต (วะฟาต) ท่านได้อ่านอัลกุรอานทั้งหมดต่อหน้าเทวเทตญิบรีลในเดือนรอมฎอนสุดท้ายของชีวิตท่าน
2 ครั้ง ซึ่งเดิมแล้วท่านจะอ่านต่อหน้าญิบรีลทุกๆ ปีในเดือนรอมฎอน 1 ครั้ง
และการอ่านครั้งสุดท้ายนี้ ท่านได้อ่านอัลกุรอานเรียงตามอายะฮฺเหมือนดังรูปเล่มอัลกุรอานที่เราได้อ่านกันทุกวันนี้
นอกจากนี้ญิบรีลยังได้สอนการอ่านอัลกุรอานทั้ง 7 สำเนียงอีกด้วย
เพราะฉะนั้นอายะฮฺแต่ละอายะฮฺจึงได้รับการตรวจสอบจากท่านนบียฺเองโดยตรง บรรดาเศาะฮาบะฮฺจำนวนหลายร้อยคนที่จดจำอัลกุรอานทั้งเล่ม
อย่างไรก็ดีอัลกุรอานยังไม่มีการจัดพิมพ์ให้อยู่ในเล่มเดียวเหมือนปัจจุบัน
เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีกระดาษและระบบการพิมพ์ บรรดาเศาะฮาบะฮฺแต่ละท่านก็มีการรวบรวมอัลกุรอานกันเป็นการส่วนตัว
ซึ่งแน่นอนว่ามีการจัดลำดับก่อนหลังที่ไม่ตรงกัน
ภายหลังท่านนบีได้จากไปท่านอุมัรได้สนับสนุนให้ท่านอบูบักร (ค.ศ.632-634) คอลีฟะฮฺ(กาหลิบ)แห่งอิสลาม
รวบรวมอัลกุรอานให้อยู่ในเล่มเดียวกันอย่างเป็นสากล ให้เป็นไปตามลำดับที่ท่านนบี(ศาสดา)ได้อ่านให้ญิบรีล(ชื่อเทวฑูต)
ก่อนจากโลกนี้ไป เนื่องจากว่าได้มีเศาะฮาบะฮฺ (สหายศาสดา) ที่จำอัลกุรอานทั้งเล่มเสียชีวิตไปในสงครามยะมามะฮฺหลายท่าน
ท่านอบูบักรได้มอบงานนี้ให้กับซัยดฺ บิน ษาบิต เศาะฮาบะฮฺที่เชี่ยวชาญอัลกุรอาน
ทำการรวบรวมอัลกุรอานตามที่ท่านนบีได้อ่านเป็นครั้งสุดท้ายกับญิบรีล อัลกุรอานฉบับนี้ได้รับการเก็บรักษาไว้ที่บ้านของฮับเซาะฮฺ
บุตรสาวของท่านอุมัร
ในสมัยของท่านเคาะลีฟะฮฺคนที่สามแห่งอิสลามคือท่านอุษมาน บิน อัฟฟาน รัฐอิสลามได้ขยายตัวออกไปกว้างไกล
ท่านจึงต้องการที่จะทำการคัดลอกต้นฉบับของอัลกุรอานส่งไปตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อการเผยแผ่อัลกุรอานที่เป็นระบบ
มีการจัดเรียงลำดับซูเราะฮฺอย่างถูกต้อง รวมไปถึงการออกเสียงที่สอดคล้องกันทั้งรัฐ
ท่านได้มอบงานนี้ให้ซัยดฺ บิน ษาบิต และเศาะฮาบะฮฺกลุ่มหนึ่งทำการคัดสำเนาจากอัลกุรอานของท่านหญิงฮับเซาะฮฺส่งออกไปทั่วโลกมุสลิม
ต้นฉบับชุดนี้บางเล่มยังคงมีอยู่ในโลกมุสลิม
เมื่อเราทราบประวัติความเป็นมาของอัลกุรอานโดยย่อ เราก็พอจะเห็นเป็นเค้าโครงว่าอัลกุรอานได้รับการบันทึกเป็นเล่มอย่างเคร่งครัด
แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการเด่นที่รักษาอัลกุรอานไว้ได้อย่างไม่มีใครเถียงนั่นก็คือ
"การท่องจำ" ที่ดำเนินผ่านศตวรรษแล้วศตวรรษเล่า บุคคลแรกที่จำอัลกุรอานทั้งเล่มก็คือ
ท่านนบีมุฮัมมัด ซึ่งท่านได้รับอัลกุรอานทะยอยลงมา 22.5 ปี และคนรุ่นแรกที่จดจำต่อจากท่านก็คือ
บรรดาเศาะฮาบะฮฺจำนวนหลายร้อยคน จากนั้นก็ถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อไป
จนถึงทุกวันนี้ ชาวมุสลิมแทบทุกคนจะจำอัลกุรอานได้บางส่วน และมีบางคนสามารถจดจำได้ตลอดทั้งเล่ม ฉะนั้นเป็นที่ยอมรับกันว่าวิธีการจดจำอัลกุรอานแบบท่องจำ กลายเป็นวิธีการหลักในการรักษาอัลกุรอานเอาไว้ตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
อัลกุรอานและหนังสือทั่วไป
ถึงแม้คัมภีร์อัลกุอานจะแบ่งเป็นบท เป็นวรรค แต่ แต่ละบทของอัลกุอานจะต่างกับหนังสือทั่วไป
ที่แบ่งแยกหัวข้อเรื่องต่างๆไว้ตามลำดับ ในทางกลับกันแต่ละบทของคัมภีร์อัลกุรอานจะมีเรื่องต่างๆปะปนกัน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักศรัทธา ศีลธรรม กฎหมาย ประวัติศาสตร์ ในบางแห่งเรื่องเดียวกันจะถูกนำมากล่าวทวนในลักษณะต่างๆกัน
และเรื่องหนึ่งจะตามอีกเรื่องหนึ่งโดยไม่มีการเกี่ยวเนื่องกันให้เห็นได้ชัดในขณะที่มีการนำเสนอเรื่องหนึ่งอยู่
บางครั้งมีการนำเสนออีกเรื่องหนึ่งในบทหรือตอนเดียวกันโดยไม่มีเครื่องหมายหรือการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
การนำเสนอประวัติศาสตร์ในคัมภีร์อัลกรุอานต่างกับหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไป การกล่าวถึงวิทยาศาสตร์ในอัลกรุอานจะใช้สำนวนต่างจากภาษาทางวิทยาศาสตร์ ในทำนองเดียวกันคัมภีร์อัลกรุอานก็จะมีวิธีของตัวเองในการแก้ปัญหาทางวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจและสังคม และที่สำคัญคัมภีร์อัลกรุอานมิใช่คัมภีร์ว่าด้วย "ศาสนา" ในความเข้าใจของคนทั่วไป ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้เริ่มศึกษาอัลกุรอานหรืออ่านคำแปลอัลกรุอาน อาจทำให้รู้สึกงงและไม่เข้าใจได้
ศ.ด.ร.อับดุลลอฮ. บิน
อับดุลมุห์ซิน อัตตุรกีย์ รมว. ศ า สนสมบัติของซาอุดิอารเบีย ผู้จัดทำโครงการ
แปลอัลกุรอานเป็นภาษาต่างๆทั่วโลกร่วมถึงประเทศไทย กล่าวว่า "ข้าพเจ้าทราบดีว่า
การแปลความหมายอัลกุรอานนั้น แม้จะใช้ความละเอียดถี่ถ้วนอย่างไรก็ยังไม่สามารถสื่อถึงความหมายอันยิ่งใหญ่ของตัวบทที่มีความมหัศจรรย์ได้
ความหมายต่างๆที่แปลออกมาจึงเป็นเพียงผลของความรู้และความเข้าใจของผู้แปลที่มีต่ออัลกรุอาน
แน่นอนย่อมมีความผิดพลาด และขาดตกบกพร่องได้เหมือนงานอื่นๆของมนุษย์บุถุชนทั่วไป"
มูลเหตุหรือภูมิหลังแห่งการประทานโองการต่างๆในคัมภีร์อัลกุรอาน
ผู้อ่านคัมภีร์อัลกุรอาน จะไม่สามารถเข้าใจความหมายเรื่องราวและบทบัญญัติที่แท้จริงและถูกต้อง
หากผู้อ่านขาดความรู้เกี่ยวมูลเหตุหรือภูมิหลังของการประทานคัมภีร์ ซึ่งศัพท์ทางวิชาการศาสนา
เรียกว่า " อัซบาบุนนุซูล "ทั้งนี้เพราะคัมภีร์อัลกุรอานมิได้ถูกประทานลงมาเป็นเล่มอย่างสมบูรณ์ในที่เดียว
เวลาเดียว แต่มันถูกประทานมาแต่ละโองการ ล้วนแล้วแต่มีสาเหตุและความเหมาะสม
ซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 23 ปี
ประโยชน์ของการรู้ถึงมูลเหตุหรือภูมิหลัง
ก. ทำให้ผู้อ่านรู้ถึงวิทยปัญญา(ภาษาอาหรับเรียกว่าหิกมะฮ์)ที่ก่อให้เกิดหลักการ
ข. ทำให้รู้ถึงสำนวนและความมุ่งหมายของอัลกรุอาน ซึ่งบางครั้งมีมาในลักษณะที่กว้าง ครอบคลุมไปถึง สิ่งที่อยู่ในแวดวงเดียวกันทั้งหมด แต่มีหลักฐานบ่งบอกเพียงเฉพาะเหตุการณ์ นั้นๆ
ค. ทำให้รู้ถึงความหมายอันแท้จริง เช่น อัลลอฮได้ดำรัสว่า"ทั้งทิศตะวันออกและตะวันตกนั้นเป็นสิทธิแห่งอัลลอฮ์ ดังนั้นไม่ว่าท่านทั้งหลายจะผินหน้าไปทางทิศไหนท่านก็จะพบกับพระพักตร์แห่งอัลลอฮ์
ตามความหมายของโองการนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ละหมาดไม่จำเป็นต้องผินหน้าไปทางบัยตุลลอฮ(กิบละฮ์)เมืองเมกกะฮประเทศซาอุดิอารเบีย
แต่เมื่อพิจารณาถึงมูลเหตุและภูมิหลังของการประทานโองการนี้จะพบว่า มีชนกลุ่มหนึ่งไม่รู้แน่ชัดว่า
ทางไหนหรือทิศไหนคือตำแหน่งบัยตุลลอฮ์ ดังนั้นต่างคน ต่างหันไปยังทิศที่ต่างได้วินิจฉัยด้วยสติปัญญาว่าน่าจะเป็นตำแหน่งบัยตุลลอฮ
เพราะช่วงเวลานั้นเป็นเวลากลางคืน ท้องฟ้ามืดมิดและไม่มีเข็มทิศด้วยในสมัยนั้น
พอรุ่งเช้าก็เป็นที่แน่ชัดว่า บางคนนั้นวินิฉัยผิด ซึ่งในโอง การนี้อัลลอฮได้แจ้งแก่ศาสดามูฮัมมัดให้ทราบว่า
อัลลอฮทรงผ่อนปรน ในการหันไปทางบัยตุลลอฮ เมื่อมีเหตุการณ์ความจำเป็น
นี่เป็นเพียง 1ตัวอย่างจากอัลกุรอานทั้งเล่มว่า การเข้าใจและสามารถอธิบายอัลกุรอานซึ่งเป็นภาษาอาหรับ
ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ท่านอีหม่ามอัลวาฮิดีย์ ปราชญ์ด้านวิชาการการอธิบายอัลกุรอานกล่าวว่า"ไม่เป็นที่อนุญาตให้อธิบายอัลกุรอาน
สำหรับผู้ที่ไม่ทราบมูลเหตุแห่งการประทานอัลกุรอาน"
หนังสือศาสนาและวิชาการหรือบทความเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม
จากเหตุผลที่บุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าใจอัลกรุอานอย่างครบถ้วนสมบูรณ์และถูกต้อง
ในขณะที่อัลกรุอานเป็นบทบัญญัติที่มุสลิมทุกคนจะ ต้องนำมาปฏิบัติ จึงเป็นหน้าที่ของปราชญ์มุสลิมสาขาต่างๆ
จะต้องแต่งตำราโดยดึงโองการบางโองการที่มีความเกี่ยวข้องมาเป็นหลักฐาน ดังนั้นเราจะพบตำราทางวิชาการหรือบทความซึ่งเขียนโดยผู้รู้มากมาย
จะมีหลักฐานอัลกรุอานประกอบเพื่อความหนักแน่น ส่วนความถูกต้องหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพทางวิชาการของผู้รู้แต่ละท่าน
ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้มีมาตั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน
อัลกุรอานสอนความรุนแรงจนนำไปสู่ ปัญหาการก่อการร้ายกระนั้นหรือ
?
มีบางข้อความในกุรอานสอนความรุนแรงจริง เช่น อัลลอฮฺได้ตรัสความว่า "และจงฆ่าพวกเขา
ณ ที่ใดก็ตามที่สูเจ้าพบพวกเขา" (กุรอาน 2:191)
และ "แต่ถ้าพวกเขาหันหลังให้ ก็จงจับพวกเขาและฆ่าพวกเขา ณ ที่สูเจ้าจับพวกเขาได้
และ(ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม)จงอย่าเอาพวกเขามาเป็นมิตรและผู้ช่วยเหลือ" (กุรอาน
4:89)
ทำไมคัมภีร์กุรอานถึงได้กล่าวเช่นนั้น?
ความเป็นจริงข้อความข้างต้นยังมีข้อความก่อนหน้านี้และข้อความต่อท้ายอีกหลายประโยค
หากนำเพียงข้อความข้างต้นอย่างเดียวจะทำให้เข้าใจว่าอิสลามหรืออัลกุรอานสอนให้ฆ่าได้ทุกคน
ข้อความทั้งหมดมีดังนี้
อัลลอฮฺได้ตรัสความว่า
"และพวกเจ้าจงต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺต่อบรรดาผู้ที่ทำร้ายพวกเจ้า และจงอย่ารุกราน แท้จริง อัลลอฮฺมิทรงรักผู้รุกราน และจงฆ่าพวกเขา ณ ที่ใดก็ตามที่สูเจ้าพบพวกเขา และจงขับไล่พวกเขาออกไปจากที่ที่พวกเขาเคยขับไล่พวกเจ้าออกไป เพราะการกดขี่ข่มเหงนั้นร้ายแรงยิ่งกว่าการฆ่า และจงอย่าสู้รบกับพวกเขาในมัสญิดอัลฮะรอม เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาจะทำร้ายพวกเจ้าในที่นั้น ถ้าหากพวกเขาต่อสู้พวกเจ้า ก็จงฆ่าเขาเสีย เช่นนั้นแหละคือการตอบแทนผู้ปฏิเสธศรัทธา แล้วถ้าหากพวกเขายุติ แน่นอน อัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ และจงต่อสู้พวกเขาจนกว่าจะไม่มีการก่อความวุ่นวายและการกดขี่เกิดขึ้น และจนกว่าความยุติธรรมและการเคารพภักดีทั้งหมดจะเป็นสิทธิของอัลลอฮฺเท่านั้น
แต่ถ้าพวกเขายุติ ก็จงอย่าให้การเป็นศัตรูใดๆเกิดขึ้น เว้นแต่พวกที่สร้างความอธรรมเท่านั้น เดือนต้องห้ามก็ด้วยเดือนต้องห้าม และบรรดาสิ่งที่จำเป็นต้องเคารพนั้นก็มีกฎแห่งความเท่าเทียมกัน ดังนั้น ถ้าผู้ใดละเมิดต่อสูเจ้า ก็จงตอบโต้(การป้องกันตัว)การละเมิดของเขาเช่นเดียวกับที่เขาละเมิดพวกเจ้า แต่จงเกรงกลัวอัลลอฮฺและจงรู้เถิดว่าอัลลอฮฺนั้นทรงอยู่กับบรรดาผู้ยำเกรง" (กุรอาน 2:190-194)
ส่วนข้อความที่สองมีข้อความทั้งหมดดังนี้ :
"พวกเขาชอบถ้าหากพวกเจ้าปฏิเสธศรัทธาเหมือนดังพวกเขา ดังนั้น พวกเขาจะได้กลายเป็นผู้ที่เท่าเทียมกัน ดังนั้น จงอย่าได้ยึดเอาใครในหมู่พวกเขาเป็นมิตรจนกว่าพวกเขาจะอพยพในหนทางของอัลลอฮฺ (จากสิ่งที่ต้องห้าม) แต่ถ้าพวกเขาผินหลังให้ก็จงจับพวกเขาไว้และฆ่าพวกเขา ณ ที่ที่สูเจ้าพบพวกเขา และไม่ว่ากรณีใดก็ตามจงอย่าเอาผู้ใดในหมู่พวกเขามาเป็นมิตรและผู้ช่วยเหลือ นอกจากบรรดาผู้ที่เข้าร่วมกับกลุ่มที่พวกเจ้ามีสัญญาสันติภาพระหว่างกัน หรือบรรดาผู้ที่เข้ามาหาเจ้าด้วยหัวใจที่ยับยั้งพวกเขามิให้ต่อสู้เจ้าเช่นเดียวกับที่จะต้องต่อสู้กับพวกเขาเอง และถ้าหากอัลลอฮฺทรงประสงค์แล้ว พระองค์ทรงสามารถที่จะให้พวกเขามีอำนาจเหนือสูเจ้าและพวกเขาจะต่อสู้เจ้า
ดังนั้น ถ้าหากพวกเขาถอนตัวออกไปจากพวกเจ้าและไม่ต่อสู้พวกเจ้าแล้ว และให้หลักประกันสันติภาพแก่พวกเจ้าแล้ว ดังนั้น อัลลอฮฺก็มิทรงเปิดหนทางใดสำหรับเจ้า(ที่จะทำสงครามต่อพวกเขา) พวกเจ้าจะพบพวกอื่นๆที่ต้องการจะได้รับความปลอดภัยจากพวกเจ้าเช่นเดียวกับจากพวกเขาเอง คราใดที่พวกเขาถูกส่งกลับไปสู่การล่อลวงอีก พวกเขาก็จะกลับไปสู่สิ่งนั้นตามเดิม ดังนั้น ถ้าหากพวกเขามิได้ถอนตัวออกไปจากพวกเจ้า และมิได้ให้(หลักประกัน)สันติภาพแก่พวกเจ้าและมิได้ยับยั้งมือของพวกเขาไว้แล้ว ก็จงจับพวกเขาไว้และจงฆ่าพวกเขา ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าพบพวกเขา ในกรณีของพวกเขาเหล่านี้แหละที่เราได้ให้อำนาจที่ชัดเจนต่อพวกเขา" (กุรอาน 4:89-91)
เมื่ออ่านข้อความจากกุรอานทั้งหมดนี้แล้ว
ไม่มีข้อความใดอนุญาตให้ฆ่าใครได้อย่างเสรี และปราศจากเหตุผล
เมื่อพิจารณาภูมิหลังโองการดังกล่าวจะพบว่า พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานข้อความ
กุรอานดังกล่าวข้างต้นแก่ท่านศาสดามุฮัมมัด ในตอนที่ผู้ปฏิเสธศรัทธาแห่งมักก๊ะฮฺ
(ประเทศซาอุดิอารเบียในปัจจุบัน)โจมตีมุสลิมอยู่เป็นประจำ นอกจากนั้นแล้ว คนพวกนี้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาคมมุสลิมในนครมะดีนะฮฺด้วย
มุสลิมจึงได้รับอนุญาตให้ตอบโต้ "ผู้รุกราน" เพื่อป้องกันตัวแต่ต้องอยู่ภายใต้จริยธรรมในการทำสงคราม(โปรดดู
ญิฮาดหรือก่อการร้าย: อับดุลสุโก ดินอะ, มติชน , 8/04/48,หน้า 6-7)
ข้อความดังกล่าวข้างต้นนั้นมิใช่การอนุญาตให้มี "ลัทธิก่อการร้าย" แต่อย่างใด แต่มันเป็นการเตือน "ผู้รุกรานหรือผู้ก่อการร้าย" ต่างหาก แต่แม้จะเป็นการเตือนก็ตาม ผู้อ่านจะได้เห็นว่าคำสั่งในกุรอานเน้นให้มีการยับยั้งและระมัดระวังในการตอบโต้
ถ้าผู้อ่านศึกษาเนื้อหาคำสอนของอัลกุรอานแล้ว ท่านจะต้องศึกษาเรื่องราวภูมิหลังของคำสอนดังกล่าวด้วย เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญมาก มิเช่นนั้น คำสอนของศาสนาจะถูกนำไปตีความอย่างผิดๆหรือใช้เพื่อบิดเบือน
เป็นเรื่องจริงที่มุสลิมบางคนและบางกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งได้นำเอาข้อความเหล่านี้ไปใช้เพื่อเป้าหมายของตนเอง เรื่องนี้มิได้เกิดขึ้นกับมุสลิมจากการตีความคำสอนของอัลกุรอานอย่างผิดๆเท่นั้น แต่มันยังเกิดขึ้นกับศาสนิกอื่นๆด้วย แม้แต่ในคัมภีร์ไบเบิล ผู้อ่านจะเห็นว่ามีข้อความมากมายที่ดูเหมือนว่ารุนแรงมาก ถ้าหากไม่อ่านควบคู่ไปกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
ชาวยิวและชาวคริสเตียนที่มีแนวคิดรุนแรงและสุดโต่ง
ชาวยิวและชาวคริสเตียนที่มีแนวคิดรุนแรงและสุดโต่งหลายกลุ่มได้ใช้ข้อความหลายตอนจากคัมภีร์ไบเบิลไปรับใช้เป้าหมายของตน
พวกครูเสดได้ใช้มันต่อต้านมุสลิมและชาวยิว พวกนาซีใช้มันต่อต้านชาวยิว เมื่อสิบปีที่ผ่านมา
ชาวคริสเตียนเซิร์บก็ได้ใช้มันต่อต้านมุสลิมบอสเนีย และขณะนี้พวกไซออนิสต์กำลังใช้มันต่อต้านชาวปาเลสไตน์อยู่
ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างบางข้อความจากคัมภีร์ไบเบิลทั้งภาคพันธสัญญาเก่าและพันธสัญญาใหม่มาให้เป็นตัวอย่าง
ดังข้อความต่อไปนี้
"เมื่อพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านทั้งหลายจะทรงพาท่านเข้าในแผ่นดิน ซึ่งท่านทั้งหลายกำลังจะเข้ายึดครองและกวาดไล่ประชาชาติหลายชาติให้ออกไปให้พ้นท่าน คือคนฮิตไทต์ คนเกอร์กาชี คนอาโมไรต์ คนคานาอัน คนเปริสซี คนฮีไวต์และคนเยบุสเป็นประชาชาติซึ่งใหญ่โตกว่าและมีกำลังมากกว่าท่าน และเมื่อพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านจะทรงมอบเขาทั้งหลายไว้ในมือของท่านและท่านจะตีเขาให้พ่ายแพ้ไปนั้น พวกท่านต้องทำลายเขาให้สิ้นทีเดียว อย่าได้กระทำพันธสัญญาใดๆกับเขาเลย และอย่ามีความเมตตาต่อเขาด้วย
พวกท่านอย่าสัมพันธ์กับเขาโดยการแต่งงาน อย่ายกบุตรีของท่านให้แก่บุตรชายของเขาหรือรับบุตรหญิงของเขามาให้แก่บุตรชายของท่าน เพราะว่าจะทำให้บุตรชายของพวกท่านหันเหไปจากเรา ไปปฏิบัติพระอื่นๆ พระเจ้าจะทรงพระพิโรธต่อท่านทั้งหลายและจะทรงทำลายท่านโดยเร็ว แต่จงกระทำแก่เขาทั้งหลายอย่างนี้ ท่านทั้งหลายจงทำลายแท่นบูชาของเขาเสีย และหักทำลายเสาศักดิ์สิทธิ์ของเขาเสีย...." (เฉลยธรรมบัญญัติ 7:1-5)
"เมื่อพวกท่านเข้าไปใกล้เมืองซึ่งท่านจะไปสู้รบนั้น จงเสนอหลักสันติภาพแก่เมืองนั้นก่อน ถ้าเขาตอบท่านอย่างสันติและเปิดประตูเมืองให้แก่ท่าน ก็จงให้ประชาชนทั้งปวงที่พบอยู่ในนั้นทำงานโยธาให้แก่ท่าน ปรนนิบัติท่าน ถ้าเมืองนั้นไม่ร่วมสันติกับท่าน แต่กลับออกมารบ ก็ให้ท่านเข้าล้อมตีเมืองนั้นได้ เมื่อพระเยโฮวาห์พระเจ้าประทานเมืองนั้นไว้ในมือท่านแล้ว ท่านจงฆ่าชายทุกคนเสียด้วยคมดาบ แต่ผู้หญิงและเด็ก สัตว์และทุกสิ่งในเมืองนั้นคือของที่ริบไว้ทั้งหมด ท่านจงยึดเอาเป็นของตัว ท่านจงอิ่มใจในของที่ริบมาจากศัตรูของท่านซึ่งพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านประทานแก่ท่าน ท่านทั้งหลายจงกระทำเช่นนี้แก่ทุกหัวเมืองที่อยู่ไกลจากท่าน ซึ่งไม่ใช่หัวเมืองของประชาชาติใกล้ๆนี้ แต่ในหัวเมืองของชนชาติทั้งหลายนี้ ซึ่งพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านประทานแก่ท่านเป็นมรดก ท่านอย่าไว้ชีวิตสิ่งใดๆที่หายใจได้เลย แต่จงทำลายเขาเสียให้สิ้นเชิง" (เฉลยธรรมบัญญัติ 20:10-17)
"เพราะฉะนั้น จงประหารชีวิตด็กผู้ชายเล็กเสียทุกคน และประหารชีวิตผู้หญิงซึ่งได้ร่วมกับผู้ชายเสียทุกคน แต่จงไว้ชีวิตเด็กผู้หญิงที่ยังไม่ได้ร่วมกับผู้ชายไว้สำหรับท่านทั้งหลายเอง" (กันดารวิถี 31:17-18)
แม้แต่ในพันธสัญญาใหม่ เราก็พบข้อความต่อไปนี้ซึ่งอ้างว่าพระเยซูกล่าวแก่สานุศิษย์ของท่าน :
"เราบอกเจ้าทั้งหลายว่า ทุกคนที่มีอยู่แล้วจะเพิ่มเติมให้เขาอีก แต่ผู้ที่ไม่มี แม้ว่าซึ่งมีอยู่นั้น จะต้องเอาไปจากเขา ฝ่ายพวกศัตรูของเราที่ไม่ต้องการเราครอบครองเขานั้น จงพาเขามาที่นี่และฆ่าเสียต่อหน้าเรา" (ลูกา 19:26-27)
การฆ่าผู้หนึ่งผู้ใดโดยปราศจากความผิดเป็นถือเป็นบาปใหญ่
ในอัลกุรอานไม่อนุญาตให้ฆ่าคนบริสุทธิ์โดยไม่คำนึงว่าเขาหรือเธอจะนับถือศาสนาใด
ชีวิตของมนุษย์ทุกคนมีค่าตามคำสอนของกุรอาน และทางนำของศาสดามุฮัมมัด
คัมภีร์กุรอานกล่าวถึงเรื่องการห้ามฆ่าไว้ ความว่า " และจงอย่าฆ่าชีวิตที่อัลลอฮฺทรงห้ามไว้ นอกจากด้วยสิทธิอันชอบธรรมเท่านั้น ที่พระองค์ได้ทรงบัญชาแก่สูเจ้านั้นก็เพื่อสูเจ้าจะได้ใช้สติปัญญา" (กุรอาน 6:151) และอัลลอฮฺยังได้ตรัสไว้อีกความว่า "และจงอย่าฆ่าชีวิตที่อัลลอฮฺทรงห้ามไว้ เว้นแต่เพื่อความยุติธรรม และผู้ใดถูกฆ่าอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้น เราได้ให้อำนาจแก่ผู้ปกครอง (ที่จะลงโทษอย่างเท่าเทียมกันหรือให้อภัย) ดังนั้น จงอย่าได้ล่วงเกินขอบเขตในเรื่องการฆ่า เพราะเขา (ผู้ถูกอธรรม) จะได้รับความช่วยเหลือ" (กุรอาน 17:33)
และการฆ่าผู้หนึ่งผู้ใดโดยปราศจากความผิดเป็นถือเป็นบาปใหญ่เหมือนกับการฆ่ามนุษยชาติทั้งหมด และการไว้ชีวิตใครคนหนึ่งถือเป็นความดีเหมือนกับการไว้ชีวิตมนุษย์ทั้งหมด (ดูกุรอาน 5:32)
ความเป็นจริงในคัมภีร์กุรอานมีข้อความมากมายที่กล่าวถึงการส่งเสริมคนทำความดี ละเว้นความชั่วและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างศาสนิกต่างๆ แต่ผู้คนกลับไม่กล่าวถึงและนำมาปฏิบัติ
ในเมื่ออัลกุรอานเป็นคัมภีร์เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตในทุกๆด้านและมิติทีเกี่ยวข้องกับมนุษย์ และบทบัญญัติที่มีอยู่ในคัมภีร์คือกฏหมายที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติ ดังนั้นมันจึงเสมือนดาบสองคมที่จะนำสู่สันติภาพของโลก หากนำไปสนับสนุนความถูกต้อง
ในทางกลับกัน มันจะนำไปสู่ "ความรุนแรงและการก่อการร้ายระดับโลก" หากคำสอนของอัลกุอานถูกนำไปตีความอย่างผิดๆหรือใช้เพื่อบิดเบือน อย่างที่มุสลิมบางคนและบางกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งได้นำเอาข้อความเหล่านี้ไปใช้เพื่อเป้าหมายของตนเอง
เพราะฉะนั้นเราต้องแยกแยะระหว่างหลักการของศาสนาทีถูกต้องกับมุสลิมผู้กระทำผิด เพราะเป็นคนละส่วนกัน ในขณะเดียวกันเราจะต้องร่วมกันประณามการก่อการร้ายทุกรูปแบบที่กระทำในนามของศาสนาอิสลาม และเป็นกำลังใจต่อผู้กระทำความดี ละเว้นความชั่ว
หมายเหตุผู้เขียนเรียบเรียงจาก1. สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ.1999 .อัลกุรอานพร้อมคำแปล.มาดีนะฮฺ: ศูนย์กษัตร์ฟะฮัดเพื่อการพิมพ์2. al- Zuhaili,Wahbah.1991. al-Tafsir al- Munir. Damascus : Dar al-Fikr. 2/1763. http://www.muslimthai.com4.บรรจง บินกาซัน : Thaimuslimshop.com
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
คัมภีร์กุรอานกล่าวถึงเรื่องการห้ามฆ่าไว้ ความว่า " และจงอย่าฆ่าชีวิตที่อัลลอฮฺทรงห้ามไว้ นอกจากด้วยสิทธิอันชอบธรรมเท่านั้น ที่พระองค์ได้ทรงบัญชาแก่สูเจ้านั้นก็เพื่อสูเจ้าจะได้ใช้สติปัญญา" (กุรอาน 6:151) และอัลลอฮฺยังได้ตรัสไว้อีกความว่า "และจงอย่าฆ่าชีวิตที่อัลลอฮฺทรงห้ามไว้ เว้นแต่เพื่อความยุติธรรม และผู้ใดถูกฆ่าอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้น เราได้ให้อำนาจแก่ผู้ปกครอง (ที่จะลงโทษอย่างเท่าเทียมกันหรือให้อภัย) ดังนั้น จงอย่าได้ล่วงเกินขอบเขตในเรื่องการฆ่า เพราะเขา (ผู้ถูกอธรรม) จะได้รับความช่วยเหลือ" (กุรอาน 17:33)
และการฆ่าผู้หนึ่งผู้ใดโดยปราศจากความผิดเป็นถือเป็นบาปใหญ่เหมือนกับการฆ่ามนุษยชาติทั้งหมด และการไว้ชีวิตใครคนหนึ่งถือเป็นความดีเหมือนกับการไว้ชีวิตมนุษย์ทั้งหมด (ดูกุรอาน 5:32)