The Midnight University
ความรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม
สองมุมมองของความดี
กรณีการถือศีลอด
ศ.ดร.
นิธิ เอียวศรีวงศ์
อ.
อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ(อับดุลสุโก ดินอะ)
บทความเพื่อความเข้าใจในศาสนา
หมายเหตุ
บทความทั้ง ๒ ชิ้นนี้ ได้รับมาจากผู้เขียน
โดยกองบรรณาธิการได้บรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของสารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
๑. ศีลอด (นิธิ เอียวศรีวงศ์)
๒. การถือศีลอด
กับโอกาสการเข้าถึงชุมชนของรัฐ (อับดุลสุโก
ดินอะ)
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 704
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7.5 หน้ากระดาษ A4)
๑. ศีลอด
อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์
เดือนนี้เป็นเดือนรอมฎอน (ออกเสียงอย่างไรก็ไม่ทราบ เพราะอักษรไทยเหล่านี้เป็นเพียงสัญลักษณ์ทางสัทศาสตร์) หรือที่คนไทยมักเรียกว่าเดือนรามาดัน คนไทยโบราณเรียกว่าเดือนที่มุสลิมถือ "ศีลอด"
รอมฎอน เป็นเดือนที่เก้าของศักราชฮิชเราะห์ เป็นเดือนที่พระเจ้าเริ่มแสดงโองการแก่มนุษย์ผ่านพระนะบีองค์สุดท้าย จึงมีความหมายเป็นพิเศษ และมีโองการให้ถือ "ศีลอด" ในเดือนนี้ เมื่อผมเป็นเด็ก ผมรู้สึกทึ่งกับ "ศีลอด" ของเพื่อนมุสลิม มองไม่เห็นว่านั่นเป็น "ศีล" (ภาษาบาลีแปลว่าฝึกหัด, ปฏิบัติ หรือการเว้น) เพราะเราผูก "ศีล" กับ "บาป" ไว้ด้วยกัน ผิดศีลก็บาป ซ้ำยังถือเอาบาปแบบพุทธเป็นสากลแก่ทุกศาสนาด้วย จึงมองไม่เห็นว่ากินข้าวระหว่างวันแล้วจะบาปได้อย่างไร ถ้าบาป ทำไมกินเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้วจึงไม่บาปเล่า
กว่าจะพ้นจากอคติที่เกิดจากความไม่รู้นี้ได้ ก็ต้องใช้เวลานาน คือโตแล้วและอ่านอะไรกว้างขวางขึ้น มีบาดแผลของชีวิตมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผมเกรงว่าคนไทยพุทธอีกมากที่ยังแหวกอคตินี้ออกมาไม่ได้ ถึงไม่ได้ดูถูกเหยียดยาม แต่ก็มองเป็นแค่ "พิธีกรรม" ทางศาสนาที่ไร้ความหมาย อย่างเดียวกับ "พิธีกรรม" อีกมากที่ชาวพุทธไทยปฏิบัติอยู่เวลานี้... ทำเพื่อให้ได้ทำ "ตามพิธี" ผมขอยกตัวอย่างที่เห็นถนัดก่อนก็ได้นะครับ ไทยพุทธมักเข้าใจ "ศีลอด" ของมุสลิมเพียงแค่ ไม่ดื่มกินนับตั้งแต่แสงอาทิตย์เริ่มจับขอบฟ้าไปถึงแสงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เป็นเวลาหนึ่งเดือน
แต่ที่จริงแล้ว "ศีล" (หรือใช้คำให้ตรงกับศาสนาอิสลามมากกว่าคือ "โองการของพระเจ้า" - "คำสั่งของพระเจ้า") ในการอดอาหารระหว่างเดือนรอมฎอนคือ นอกจากไม่ดื่มกินแล้ว ในระหว่างนี้มุสลิมจะต้องไม่สูบยา ไม่มีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการมอง, การฟัง หรือการกระทำใดๆ ที่ไม่ดีหรือลามก เช่น ไม่ทะเลาะวิวาท ไม่นินทาว่าร้าย ไม่เห็นแก่ตัว ฯลฯ ด้วย
ข้อห้ามเหล่านี้มีความสำคัญกว่าการอดอาหารด้วยซ้ำ หนังสือที่ผมอ่านซึ่งเขียนโดยอุลามะอิสลามท่านหนึ่งอ้างว่า พระนะบีเคยกล่าวว่า "ใครที่ไม่งดเว้นจากการกล่าวทุวาจาหรือการกระทำที่ไม่ดี พระอัลเลาะห์ไม่ต้องการการละเว้นอาหารและน้ำจากเขา" (คือไม่รับการถือศีลอดของเขา) ฉะนั้น "ศีล" ที่มุสลิมต้องปฏิบัติหรือฝึกฝนในระหว่างเดือนรอมฎอน จึงทั้งมากกว่าและลึกกว่าการอดซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์ทางกายเท่านั้น แต่ต้องฝึกฝนจิตใจไปพร้อมกัน ซ้ำเป็นการฝึกฝนที่สำคัญกว่าการฝึกฝนกายด้วย
รอมฎอนจึงเป็นเดือนแห่งสันติสุขสำหรับมุสลิมโดยแท้ จุดมุ่งหมายก็คือมุสลิมต้องฝึกฝนความสามารถในการบังคับกายใจระหว่างเดือนนี้เพื่อปฏิบัติให้เป็นนิสัยตลอดไป
นี่เป็นอีกมิติทางจิตวิญญาณของการถือ "ศีลอด" ซึ่งไทยพุทธมักไม่ค่อยใส่ใจ เช่น เจ้าหน้าที่มีคำเตือนว่าถึงเดือนรอมฎอนแล้ว ต้องระวังเหตุร้ายให้มากขึ้น การระวังเหตุร้ายให้มากนั้นดีแล้ว แต่ต้องทำตลอดไป ไม่เกี่ยวอะไรกับเดือนรอมฎอน
นอกจากนี้ ในระหว่างเดือนรอมฎอน ยังมีทั้งคำแนะนำจากพระนะบีและประเพณีที่มุสลิมต้องปฏิบัติฝึกฝนตนเอง แม้ในเวลาก่อนแสงอาทิตย์จะจับขอบฟ้าอีกมาก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ ตลอด 24 ชั่วโมงของวันเลยทีเดียว เช่น มุสลิมจะตื่นแต่หัวดึก สวดสรรเสริญพระเจ้าก่อนกินอาหารเช้า ในอินเดียและปากีสถาน เขาจะพากันจับกลุ่มกันร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าและพระนะบีไปตามถนน เพื่อปลุกคนอื่นให้ลุกขึ้นมากินอาหารเช้าก่อนแสงอาทิตย์จะจับขอบฟ้า (คิดและทำเพื่อคนอื่น) ในประเทศมุสลิมบางประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบีย ผู้คนไม่นอนตอนกลางคืนเลย แต่จะใช้เวลานั้นอ่านพระคัมภีร์อัลกุรอ่านและสวด กลับเข้านอนเอาหลังจากละหมาดเช้าแล้ว
ถึงเย็นเมื่อแสงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว มุสลิมจะเลิกอดตาม "ประเพณี" (Sunnah) ของพระมะหะหมัด คือกินอินทผาลัมสักสองสามผล (ถ้าอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ก็คือเพื่อให้ได้น้ำตาลเร็ว) แล้วตามด้วยอาหารว่างเบาๆ (กระตุ้นท้องให้รับอาหารก่อน) แล้วจึงทำละหมาดเย็น พร้อมทั้งท่องคำกล่าวอันเป็น "ประเพณี" ของพระนะบีว่า "ข้าแต่พระอัลเลาะห์ ข้าพเจ้าได้อดอาหารเพื่อพระองค์ ข้าพเจ้าเชื่อถือพระองค์ และด้วยอาหารประทานจากพระองค์ ข้าพเจ้าขอเลิกอด ในนามของพระอัลเลาะห์ผู้ทรงสง่าและทรงการุณยภาพ" เสร็จจากนั้นจึงกินอาหารตามมื้อ
เรียกได้ว่าทุกเวลานาทีในเดือนรอมฎอน มุสลิมจะถูกเตือนให้สยบยอมต่อพระเจ้าและปฏิบัติตามโองการตลอดเวลา ถ้าใช้ภาษาที่ชาวพุทธจะเข้าใจได้ ก็คือเป็นเดือนแห่งการปลดปล่อยตัวเองให้พ้นจากความโลภ, โกรธ, หลง ด้วยการทำลายอัตตาตัวเองเสียโดยยอมจำนนต่อพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างสิ้นเชิง... สำนึกในความเป็นอนัตตาของตัวกูของกูนั่นแหละครับ
ข้อบังคับเกี่ยวกับอาหารและการอดเป็นส่วนสำคัญของพิธีกรรมที่มนุษย์ใช้ในการเผชิญกับ "วิกฤต" ต่างๆ ของชีวิตมาแต่ดึกดำบรรพ์ นักวิชาการอิสลามเองก็ยอมรับว่า ประเพณีการอดมีมาเก่าแก่ก่อนสมัยพระมะหะหมัด ศาสนายิว (ซึ่งประธานาธิบดีปากีสถานยอมรับว่า เกี่ยวเนื่องกับศาสนาอิสลามอย่างใกล้ชิด) มีข้อบังคับเกี่ยวกับการกินอาหารหลายอย่าง และหนึ่งในนั้นคือการอดเป็นบางวันในรอบปี เช่นวันยมคิปปูร์ (Yom Kippur) เป็นต้น
ว่ากันว่ามนุษย์ดึกดำบรรพ์ถือว่า อาหารที่เรากินกับตัวของเราเองนั้น สัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ เรากินอาหารที่มีคุณสมบัติอย่างไร เราก็จะรับเอาคุณสมบัตินั้นของอาหารมาเป็นของเราด้วย ในบางโอกาสคุณสมบัติบางอย่างของอาหารก็อาจกลายเป็นโทษแก่เราได้ด้วย เช่น ชายชาวมลายูโบราณออกป่าเพื่อเก็บการบูร เขาจะไม่กินเกลือป่นเลย เพราะเกรงว่าจะทำให้เขาพบแต่การบูรที่เป็นผงในลำต้นไม้เท่านั้น เขาต้องกินเกลือเม็ด เพื่อจะได้พบกาบูรที่เป็นก้อนเช่นกัน
ขอให้สังเกตนะครับว่า กินก็ให้พลัง อดก็ให้พลังเหมือนกัน เราต้องเลือกจะใช้พลังด้านใดในเวลาใด จึงต้องกินหรืออดให้ถูก
ขอยกตัวอย่างการอดที่ให้พลังจากที่
เซอร์เจมส์ เฟรเซอร์ เล่าไว้ใน The Golden Bough ดังนี้
พืชผลแรกของปีย่อมมีผีหรือเทพสิงสถิตอยู่ ก่อนจะกินจึงจำเป็นต้องอัญเชิญให้ผีหรือเทพออกไปเสียก่อน
(หรือในทางตรงกันข้ามอาจกินเอาขวัญของผีหรือเทพเข้าไปเพื่อเป็นพลังก็ได้) อย่างไรก็ตาม
พืชผลแรกที่จะกินลงท้องไปนั้น ต้องไปสัมผัสกับอาหารเก่าในท้อง ทำให้เสื่อมพลังความบริสุทธิ์ไปได้
จึงจำเป็นต้องอดอาหารเสียก่อน เซอร์เจมส์อ้างว่า การอดอาหารก่อนพิธี Eucharist
ของคาทอลิก ก็เพื่อจุดประสงค์เดียวกัน คือทำให้ท้องสะอาดสำหรับรับขนมปังและเหล้าองุ่น
อันเป็นสัญลักษณ์ของเลือดเนื้อพระบุตรเสียก่อน
อีกด้านหนึ่งของการอดอาหารของวัฒนธรรมดึกดำบรรพ์ ที่ใกล้เคียงกับการอดของศาสนาต่างๆ มากคือ การทำความบริสุทธิ์ให้บังเกิดขึ้น หรือการชำระล้าง ในอเมริกาเหนือ เด็กหนุ่มอินเดียนแดงบางเผ่าจะอดอาหารก่อนออกจากหมู่บ้าน เพื่อไปพบกับเทพประจำตัว ซึ่งจะประทานนิมิตบางอย่างแก่เขา (ก่อนที่จะผ่านเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว) เทพ Asclepius ของกรีก ซึ่งเป็นเทพของการรักษาพยาบาล หมอจะต้องอดอาหาร ก่อนที่เทพจะเข้าฝันเพื่อบอกวิธีรักษา
ทั้งหมดเหล่านี้คือการอดเพื่อชำระล้างตัวเองให้บริสุทธิ์ ก่อนที่จะได้สัมผัสกับเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่ทุกศาสนา (ยกเว้นโซโรอัสเตอร์) ที่สืบทอดการอดอาหารของวัฒนธรรมดึกดำบรรพ์มาปฏิบัติ แต่ให้ความหมายไปในทางจิตวิญญาณ
การชำระล้างเพื่อสัมผัสกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งสูงสุดในศาสนา ดูเหมือนจะพบได้ในทุกศาสนากระมัง ศาสนาเชนมีพิธีกรรมการอดอาหารเพื่อทำสมาธิและรับวิมุตติสุข การอดอาหารของยิวในวันยมคิปปูร์ ก็เพราะวันนั้นคือวัน Atonement หรือวันที่เตือนให้มนุษย์ร่วมอยู่ในพระเจ้าที่เป็นเอกภาพ
หนึ่งในผลดีของการถือศีลอดของมุสลิมในระหว่างเดือนรอมฎอน ตามที่ผู้รู้อธิบายไว้ก็คือ ผู้ปฏิบัติจะแอบกิน, แอบนินทา, แอบดูหนังโป๊ ฯล หรือแหกกฎระเบียบอย่างไรก็ได้ เพียงแต่เขาย่อมรู้ว่าไม่มีทางรอดสายตาของพระเจ้าไปได้ ฉะนั้น การปฏิบัติตามคำสอนอย่างเคร่งครัดจึงเตือนให้เขาสำนึกในการดำรงอยู่เป็นสากลของพระองค์ (Omnipresence) เท่ากับได้รู้สึกใกล้ชิดพระองค์ตลอดเวลา
ภูเก็ตนั้นนอกจากขายการกินเจแล้ว ในช่วงเดียวกันก็ยังขายการเสด็จลงมามนุษยโลกของเจ้าด้วย เพราะเป็นช่วงเวลาเดียวกัน ถึงจะอธิบายการกินเจกันด้วยเรื่องของการไม่เบียดเบียนชีวิตอื่น แต่ถ้ามองจากการอดอาหาร (เนื้อ) ก็คือการชำระล้างเพื่อใกล้ชิดกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง
ชาวพุทธที่เคร่งจะถือศีลแปดในวันพระ ซึ่งทำให้ต้องอดอาหารในยาม "วิกาล" และอดความสบายทางกายทางใจอื่นๆ เช่น ไม่นอนที่สูงหรือไม่ดูมหรสพ เป็นต้น ก็เพราะวันพระเป็นวัน "ศักดิ์สิทธิ์". ชาวคาทอลิกอดเนื้อสัตว์ (บก) ในวันศุกร์ ผมเข้าใจว่าเพราะวันรุ่งขึ้นเป็นวันสะปาโต อันเป็นวันที่ชาวยิวถือว่า "ศักดิ์สิทธิ์" เหมือนกัน
สรุปก็คือ "ศีลอด" ของมุสลิม ไม่ได้อดแต่อาหารระหว่างวัน แต่หมายถึงอดความชั่วทั้งหลายด้วย อีกทั้งไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาดอะไร เพราะมีรากเหง้ามาแต่ดึกดำบรรพ์ในทุกวัฒนธรรม ศาสนาทุกศาสนารับเอาแบบปฏิบัตินี้ไปใช้ แต่ให้ความหมายในเชิงศีลธรรมและจิตวิญญาณเป็นสำคัญ และเราจะพบการอดดังที่ว่านี้ในทุกศาสนา รวมทั้งพุทธศาสนาที่เรานับถือด้วย
แต่มีศาสนาใหม่ของเด็กสาวในเมืองไทย ที่ถือศีลอด ไม่ใช่เพื่อการพัฒนาด้านจิตวิญญาณ หรือไม่ใช่เพื่อได้สัมผัสสิ่งสูงสุด หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ เพียงแต่อยากผอม ตรงไปตรงมาด้วยเหตุและผลทางวัตถุล้วนๆ นี่ต่างหากครับที่ผมคิดว่าน่าทึ่งน่าอัศจรรย์โดยแท้
๒. การถือศีลอด กับโอกาสการเข้าถึงชุมชนของรัฐ
อ. อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ(อับดุลสุโก ดินอะ)
นักศึกษาปริญญาเอกศาสนาเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ
มาเลเซีย
และผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมสีกษามูลนิธิ
ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณา
ปรานีเสมอ
ขอความสันติสุข จงมีแด่ศาสดามุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามตามท่านและผู้อ่านทุกท่าน
ในช่วง วันที่ 5 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2548 เป็นช่วงที่ชาวไทยมุสลิมและมุสลิมทั่วโลกกำลังถือสีลอด การถือศีลอดนั้นจะอยู่ในช่วงเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนที่เก้า ของปฏิทินอิสลาม (ซึ่งจะนับเดือนตามจันทรคติ)
คำจำกัดความ
และเป้าหมายของการถือศีลอด
บรรดานักปราชญ์อิสลามได้ให้คำจำกัดความของการถือศีลอด( ศิยามในภาษาอาหรับ)ไว้ว่า
"คือ การงดเว้นจากการทำให้เสียศีลอด ตั้งแต่รุ่งอรุณจนตะวันตกดิน ด้วยการเนียต(ตั้งเจตนา)ถือศีลอดเพื่ออัลลอฮฺ
(al-Zuhairi,1998:566) กล่าวคือ การงดเว้นของห้ามต่างๆ เช่น การกิน การดื่มและการร่วมประเวณี
ระหว่างสามีภรรยาตั้งแต่รุ่งอรุณจนตะวันตกดินด้วยการเนียตการถือศีลอด เพื่ออัลลอฮ์ในเวลาหลังตะวันตกถึงรุ่งอรุณ"
เหตุที่ทำให้เสียศีลอดมี 8 ประการ
1. เจตนากินหรือดื่มแม้แต่เล็กน้อย
2. เจตนาร่วมประเวณี
3. เจตนาทำให้น้ำอสุจิเคลื่อนออกมาจะด้วยวิธีใดก็ตาม
4. เสียสติโดยเป็นบ้า เป็นลมหรือสลบ
5. เจตนาทำให้สิ่งใดล่วงล้ำเข้าไปภายในอวัยวะ
6. เจตนาอาเจียน
7. ปรากฏมีเลือดประจำเดือน(เฮด) เลือดหลังคลอดบุตร(นิฟาส)
8. ตกมุรตัด(สิ้นสภาพการเป็นมุสลิม)
หมายเหตุ การเสียศีลอดด้วยเหตุดังกล่าวต้องเป็นไปตามนี้คือ
ก. เป็นไปในเวลากลางวัน ตั้งแต่แสงอรุณจนตะวันตกดิน
ข. มิได้ถูกกดขี่บังคับ....
ดังนั้นการถือศิลอดที่แท้จริงจะสามารถป้องกันและปรับปรุงตัวของผู้ที่ถือศิลอดเอง และจะส่งผลดีต่อสังคมโดยนำสังคมไปสู่สันติสุขอย่างแท้จริง เพราะสังคมจะปราศจากความชั่วและอบายมุขและเต็มไปด้วยความดี
แต่ก็มีผู้ที่ถือศิลอดมากมายเช่นกัน ที่ไม่บรรลุเป้าหมายการถือศิลอด ผลบุญก็ไม่ได้รับนอกจากความหิวโหยและความกระหายอย่างเดียว ดังที่ศาสดามุฮัมหมัดได้วจนะกับสาวกของท่านเมื่อ 1400 ปีที่ผ่านมาว่า "ผู้ที่ถือศิลอดท่านใดไม่สามารถละทิ้งคำพูดที่เหลวไหลและประพฤติชั่ว เขาจะไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆจากพระเจ้า นอกจากความหิวและความกระหาย"
กิจกรรมของมุสลิมไทยในช่วงเดือนรอมฎอน
ในช่วงกลางวันมุสลิมจะงดเว้นการบริโภคแต่ก็จะปฏิบัติงานตามปกติ ในช่วงกลางคืนมุสลิมทุกคน
ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนชราจะไปปฏิบัติศาสนกิจในมัสยิดของชุมชนตั้งแต่เวลาประมาณ
19.30 - 20.30 น.หลังจากปฏิบัติศาสนกิจเสร็จ เด็กๆจะเล่นกันที่บริเวณมัสยิดอย่างสนุกสนาน
ผู้ใหญ่ก็จะนั่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยมีอาหารว่างและน้ำชาเป็นตัวเสริม
โอกาสของรัฐในการบูรณาการพัฒนาชุมชนในช่วงรอมฎอน
ในหนังสือยุทธศาสตร์และทิศทางการบริหารประเทศ หน้าที่ 367 ของนายกทักษิณ ชินวัตร
อยากให้ภาครัฐทุกภาคส่วนทำงานในเชิงรุก โดยเข้าไปหาชุมชน ท่านนายกได้ยกตัวอย่างการทำงานของโรงพยาบาลว่า
"เมื่อก่อนเรามองคนที่มาโรงพยาบาล คือคนไข้ เรารักษาไข้แต่เดี๋ยวนี้ เขาบอกว่ารักษาคนไข้ไม่ได้
รักษาไข้คือต้องรุกเข้าไปจนถึงชุมชน ไปดูบ้านเขาจะได้รู้ว่าบ้านเขาเลี้ยงอะไรที่สามารถจะติดเชื้อได้ไหม
เวลามาโรงพยาบาลมีโรคแปลกๆจะได้เดาถูกเพราะมีประวัติอยู่"
ดังนั้นในช่วงเดือนรอมฎอนมัสยิดน่าจะเป็นศูนย์รวมอีกแห่งหนึ่งที่ภาครัฐไม่ต้องเสียงบประมาณมากมายในการจัดประชุม เพราะมัสยิดของชุมชนจะมีทุกคนไม่ว่าจะเด็กเล็ก นักเรียน นักศึกษา ผู้ใหญ่(ชายหรือหญิง) คนชรา หรือที่มีตำแหน่งทางราชการ นักการเมืองท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อ.บ.ต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเข้าไปประกอบศาสนกิจในมัสยิด
เพราะฉนั้น ทุกหน่วยงานของรัฐน่าจะใช้โอกาสนี้ จัดเป็นโครงการ "คลายทุกข์ชุมชน"เหมือนกับนายกจัดโครงการคลายทุกข์ประชาชนระดับประเทศเมื่อ 10 ตุลาคม 2547 โดย ให้ผู้ว่า ซี อี โอ หรือ นายอำเภอเป็นหัวหน้าคณะนำส่วนราชการต่างๆมานั่งรับปัญหาจากชุมชนซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากความอยุติธรรมจากหน่วยงานราชการหรือเอกชน โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนและเป็นการแก้ปัญหาไฟใต้ให้เบาบางลงไปได้บ้าง
หรืออาจจะให้หน่วยงานต่างๆให้ความรู้และบริการแก่ชุมชนไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตร สาธารณสุขหรือแม้กระทั่งกระทรวงกีฬา โดยจัดกีฬาสร้างเสริมสุขภาพแก่ชุมชนในเวลากลางคืนหลังพิธีกรรมศาสนา และในขณะเดียวกัน ให้ความรู้และบริการแก่ชุมชนด้านต่างๆไปด้วย หรือจัดสภากาแฟแก่ชุมชนหลังพิธีกรรมศาสนา เพราะโดยปกติเวลาประมาณ 21.30 - 23.00 น. มุสลิมจะใช้เวลาดังกล่าวรับประทานกาแฟ ของหวานและสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลังพิธีกรรมศาสนาที่มัสยิด
ในส่วนฝ่ายค้านเองหรือผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาสมัยหน้าหากจะนำยุทธศาสตร์นี้แข่งขันกันนำเสนอสิ่งที่ดีๆแก่ชุมชนบ้างก็ไม่เป็นไรที่สำคัญคือชุมชนได้รับประโยชน์
พระเจ้าได้ตรัสในอัลกุรอานว่า " ท่านทั้งหลายจงแข่งขันกันทำความดี"
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
นอกจากนี้ ในระหว่างเดือนรอมฎอน ยังมีทั้งคำแนะนำจากพระนะบีและประเพณีที่มุสลิมต้องปฏิบัติฝึกฝนตนเอง แม้ในเวลาก่อนแสงอาทิตย์จะจับขอบฟ้าอีกมาก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ ตลอด 24 ชั่วโมงของวันเลยทีเดียว เช่น มุสลิมจะตื่นแต่หัวดึก สวดสรรเสริญพระเจ้าก่อนกินอาหารเช้า ในอินเดียและปากีสถาน เขาจะพากันจับกลุ่มกันร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าและพระนะบีไปตามถนน เพื่อปลุกคนอื่นให้ลุกขึ้นมากินอาหารเช้าก่อนแสงอาทิตย์จะจับขอบฟ้า (คิดและทำเพื่อคนอื่น)
ในประเทศมุสลิมบางประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบีย ผู้คนไม่นอนตอนกลางคืนเลย แต่จะใช้เวลานั้นอ่านพระคัมภีร์อัลกุรอ่านและสวด กลับเข้านอนเอาหลังจากละหมาดเช้าแล้ว