The Midnight University
ประวัติศาสตร์การเมืองเรื่องภาคใต้
โลกมุสลิม
ทุนนิยม และอาณานิคมเชิงซ้อน
กำพล
จำปาพันธ์
นักวิชาการอิสระ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หมายเหตุ
บทความ ๓ ชิ้นต่อไปนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ภาคใต้ในมิติประวัติศาสตร์
๑. แอกประวัติศาสตร์รัฐรวมศูนย์: ใครสร้าง?
๒. อาณานิคมภายใน
๓. การปฏิวัติของนักรบจารีต
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 702
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12.5 หน้ากระดาษ A4)
1. แอกประวัติศาสตร์รัฐรวมศูนย์: ใครสร้าง
?
ช่วงที่สถานการณ์ภาคใต้กำลังเป็นไปอย่างไม่น่าไว้วางใจ เช่น 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าผลกระทบจะมีขึ้นมากน้อยเพียงใด ตามแต่ละฝ่ายจะประเมินกัน แต่ที่เห็นได้อย่างชัดเจนในปัจจุบันนี้ คือ ใน "โลกหนังสือ" มักมีงานเขียนเกี่ยวกับภาคใต้ออกมาอย่างต่อเนื่อง บางแห่งทั้งแผงเลยทีเดียว น่าสนใจมากไปกว่านั้นอีก ตรงที่เมื่อดูเนื้อหางานที่สะท้อนเกี่ยวกับภูมิหลังของสถานการณ์ความขัดแย้ง ยังคงไม่มีงานใดที่โดดเด่นมากนักเกินกว่าที่เคยทำมา [ขอให้เข้าใจว่านี่คือข้อสังเกตเชย ๆ เท่านั้น] อย่างไรนั้น ก็ขอให้บางชิ้นที่ผู้เขียนขอยกมาอภิปรายดังต่อไปนี้
ชารอม อาหมัด ในงานศึกษาเกี่ยวกับ "ความสัมพันธ์ระหว่างเคดาห์และสยาม" ได้สะท้อนอย่างน่าสนใจต่อกรณีปัญหาภาคใต้ว่า มีเชื้อมูลมานมนานแล้ว และก่อนการสถาปนาอำนาจรวมศูนย์สมัย ร.5 ในคราวตกลงให้อังกฤษเช่าเกาะหมาก [ปีนัง] สุลต่านแห่งรัฐเคดาห์ไม่ได้ขอความเห็นชอบจากสยาม หากปฏิบัติตนในฐานะกษัตริย์ของรัฐที่มีเอกราชบริบูรณ์ ซึ่งนั่นนับเป็นการฆ่าตัวตายทางอ้อม เพราะต่อมาไม่นานอังกฤษก็สร้างปีนังให้กลายเป็นเมืองท่านานาชาติ ที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์กลางการค้าที่เคยเฟื่องอยู่ ณ แถบรัฐเคดาห์จนถึงปัตตานีเดิมจึงเกิดการซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด
ความสำคัญของการค้าที่มีต่อรัฐเหล่านี้อยู่ตรงประเด็นที่ว่า เพราะเป็นรัฐที่มีอาณาเขตไม่กว้างขวางนัก มีพื้นที่ทั้งหมดรวมเพียง 10 ล้านไร่ การกสิกรรมจึงไม่ได้เป็นรายได้หลักของรัฐ การผลิตก็เน้นหนักไปที่แร่ดีบุกเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการผลิตที่ขึ้นกับดีมานด์ที่มาจากทะเลหลวงนั่นเอง ผิดกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่แม้บางคราวอาจเก็บภาษีจากภาคกสิกรรมได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย บางครั้งต้องเผชิญการต่อต้านจากภายนอกเช่น สงครามกับพม่า แต่นั่นก็กลับส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองไปในตัวเอง กระทั่งสามารถดำรงอำนาจครอบงำเหนืออาณาบริเวณรอบนอกในเวลาต่อมา
ขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงตระหนักพระทัยดีว่า สยามไม่มีผลประโยชน์เป็นพิเศษแต่ประการใดในบรรดาหัวเมืองเหล่านี้ และหากต้องสูญเสียหัวเมืองเหล่านี้ให้แก่อังกฤษ พระองค์ก็จะขาดเพียงต้นไม้เงินต้นไม้ทอง นอกเหนือไปจากเครื่องราชบรรณาการดังกล่าวก็ไม่มีการสูญเสียด้านวัตถุอื่นใดอีก แต่อย่างไรก็ดีการสูญเสียดินแดนเหล่านี้ย่อมเป็นการเสื่อมเสียในเกียรติภูมิของประเทศ และพระบารมีของพระองค์ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมสยามจึงต้องย้ำความเป็นเจ้าของดินแดนเหล่านี้
ปี พ.ศ.2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงนำนโยบายการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมาบังคับใช้ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอันหนึ่งก็คือการจัดให้หัวเมืองต่าง ๆ ขึ้นตรงต่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย [ซึ่งก็คือกรมหลวงดำรงราชานุภาพขณะนั้น] เป็นการคาดหวังว่า ด้วยระบบมณทลเทศาภิบาลนี้ จะช่วยปกป้องบูรณาภาพของดินแดนสยามจากการคุกคามของอังกฤษและฝรั่งเศส
กรณีหัวเมืองปักษ์ใต้เช่น นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ถูกจัดตั้งใหม่เป็น "มณทลนครศรีธรรมราช" ซึ่งไม่มีปัญหามากมายนัก แต่พื้นที่ใต้ลงไปกว่านั้นกลับไม่เป็นดังหวัง เพราะลักษณะการจัดรูปการปกครองดังกล่าว เท่ากับเป็นการยกเลิกระบอบสุลต่านที่มีมานานไปด้วย [โปรดดูเพิ่มเติมในงานเกี่ยวกับ "ระบอบสุลต่าน" โดยตรงของอาณัติ อนันตภาค] โดยได้มีพระบรมราชโองการประกาศให้ผนวกปัตตานี สายบุรี ยะลา และนราธิวาส เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม จัดตั้งเป็น "มณทลปัตตานี" ซึ่งก็ถูกปฏิเสธจากสุลต่านฯ โดยเฉพาะเตงกูอับดุล กาเดร์ [ Tengku Abdul Kadir ] สุลต่านเมืองปัตตานี สยามจึงได้ส่งกองทัพลงมาปราบปรามแล้วจับสุลต่านฯ มากักขังไว้ที่กรุงเทพฯ
เรื่องมันเริ่มด้วยประการนี้, ควบคู่กับที่โครงสร้างอำนาจถูกจัดตั้งจนเปลี่ยนแปลงไป การเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตก็เปลี่ยนไปด้วย ทั้งที่ก่อนหน้านั้นกลุ่มเจ้าสยามที่กรุงเทพฯ ไม่ได้มีอำนาจเหนือดินแดนเหล่านี้อย่างแท้จริง แต่หนังสือภูมิศาสตร์ประเทศสยาม ตีพิมพ์โดยกระทรวงธรรมการ เมื่อปีพ.ศ.2464 กลับอธิบายว่าดินแดนเหล่านี้ถูกนับรวมเป็นหัวเมืองที่ขึ้นตรงต่อสยามมาแต่ครั้งสุโขทัย โดยมีเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นผู้ดูแลควบคุม นั่นยังไม่เท่าไร, เพราะปัญหาที่เกิดตามมาจากข้อมูลเช่นนี้ก็คือ การที่แบบเรียนสมัยหลังที่ออกโดยกระทรวงศึกษาธิการ [พัฒนาจากกระทรวงธรรมการ ] ก็ยังคงยึดถือตามนั้นมาเสมอ
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แม้จะมีผลเป็นการล้มล้างอำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ แล้วสถาปนากลไกแห่งรัฐประชาชาติขึ้นแทนที่ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์กลางกับหัวเมืองสำคัญในอดีต ที่ฝ่ายหลังต้องตกเป็นอาณานิคมไปโดยการจัดการปกครองและโครงเรื่องในประวัติศาสตร์ กล่าวได้ว่าแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ๆ แต่อย่างใด แม้จะมีการยกเลิกระบบมณทลเทศาภิบาลไปก็ตาม ตรงกันข้ามรัฐประชาชาติที่ถูกสถาปนาขึ้นใหม่ก็กลับยังคงสืบรับเอามรรคผลของการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่กรุงเทพฯ อันเป็นผลงานชิ้นเอกของรัชสมัยสมบูรณาฯ มาปรับใช้เสียด้วยซ้ำ
ปัญหาของหัวเมืองห่างไกลอันเป็นศูนย์กลางที่ตั้งสำคัญของวัฒนธรรมเดิมที่ยังคงเข้มแข็งอยู่ เป็นปัญหาสำคัญที่ผู้ก่อการต่างก็วิตกกังวลไม่น้อย แต่แทนที่จะคิดแก้ไขผ่านการผ่อนคลายอำนาจที่เน้นศูนย์กลางนั้น กลุ่มผู้ก่อการกลับทำตรงข้าม แม้อาจมีการเปิดโรงเรียนใหม่แก่หะยีสุหลง พร้อมกับที่มีการแสวงความร่วมมือบางด้านจากผู้นำก้าวหน้าของกลุ่มมุสลิม แต่ก็เพียงเวลาอันสั้น เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงภายหลังที่ส่งผลกระทบอย่างยาวนานและ "รุนแรง" เช่นกรณีการปฏิวัติทางภาษาและวัฒนธรรมของคณะราษฎรกลุ่มหลวงพิบูลสงคราม
กระบวนการสร้างความเป็นไทยที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง จากการบังคับใช้นามประเทศอย่างเป็นทางการ โดยนัยของมันนั้นรุนแรงเกินกว่าที่กลุ่มผู้นำครั้งนั้นจะคาดคิด เพราะนั่นจัดเป็นการทำลายกลุ่มคนที่มีความเป็นอื่นอยู่แต่เดิมโดยตรง กรณีข้อเรียกร้องของกลุ่มหะยีสุหลง แทนที่จะเป็นโอกาสในการทบทวนแนวทางที่เคยปฏิบัติกันมา ก็กลับจบลงด้วยวิธีใช้ความรุนแรง หะยีสุหลงกลายเป็นวีรบุรุษจากความตายอันเงียบงันของเขา ซึ่งนั่นมีผลเป็นการยืนยันถึงแนวทางที่คนกลุ่มหนึ่งมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าอยู่ก่อนแล้ว คือการต่อสู้เพื่อปลดแอกอาณานิคมภายในนั่นเอง
กล่าวเช่นนี้ก็อาจไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มผู้ก่อการคณะราษฎรเท่าไร เนื่องจากสถาบันกษัตริย์สมบูรณาฯ ฝ่ายตรงข้ามของพวกเขาก็ได้สร้างรากฐานบางอย่างซึ่งอยู่ ณ ระดับที่ลึกเกินกว่าที่ผู้ก่อการจะขุดรื้อหรือถอนรากได้หมด ตรงข้ามเมื่อจำเป็นต้องพร่ำเพ้อถึงการรวมศูนย์ความจงรักภักดีในหมู่ราษฎร รัฐบาลที่มาจากสามัญชนเช่นคณะราษฎร ก็ยังจำต้องพึ่งพระบารมีเดิมของกษัตริย์สมบูรณาฯ ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จึงตกอยู่ในสภาพหัวมังกุท้ายมังกร เกิดขั้วอำนาจซ้อนทับกันลดหลั่นมากมาย ตั้งแต่อำนาจที่ปรากฏเพียงในนาม ไปจนถึงอำนาจที่ถือว่ามีอยู่จริงในการควบคุมกลไกการใช้อำนาจของรัฐและประชาชน
ตรงนี้เองที่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้บางปัญหาซึ่งมีรากเหง้ามาจากการรวบอำนาจสู่ส่วนกลาง [โดยสถาบันกษัตริย์] ยังคงดำรงอยู่อย่างไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้นลงเมื่อใด นัยหนึ่งปัญหาดังกล่าวก็จึงจัดเป็นด้านกลับที่สะท้อนถึงเงื่อนไขของอำนาจที่ยังคงแนบชิดอยู่กับส่วนกลาง พร้อมกันนั้นการอธิบายอดีตก็จึงยังคั่งค้างอยู่ โดยซึมซับเอามโนทัศน์ที่เคยสร้างขึ้นอย่างฉาบฉวยใต้แอกประวัติศาสตร์แบบสมบูรณาญาสิทธิ์ และในการอธิบายอดีตเช่นดังกล่าวนี้ อัตลักษณ์แห่งชาติ [Nation Identities] ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย สำหรับแอกประวัติศาสตร์แบบนี้ย่อมเป็นสิ่งที่จะถูกนับรวมอยู่ด้วยกันไม่ได้[อย่างน้อยก็ไม่ได้โดยง่าย] เพราะหากทำนอกเหนือเช่นนั้น ก็เชื่อแน่ได้ว่าอำนาจรัฐที่รวมศูนย์จะหมิ่นเหม่ต่อการถูกมองเป็นอำนาจที่ปราศจากความชอบธรรมไปโดยสิ้นเชิง
จาก "โลกหนังสือ" หันมามองความจริงที่เห็นกัน กรณีการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลทักษิณ ๒ ในปัจจุบันน่าสังเกตว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ขาดมิติทางประวัติศาสตร์ เพราะวิธีการ เช่น การออก พรก. ฉุกเฉิน ซึ่งมีผลให้อำนาจมากเกินกว่าที่หลายฝ่ายจะยอมรับได้ อันที่จริงนั่นเท่ากับซ้ำรอยความผิดพลาดเดิมที่เคยมีมาก่อน เพราะอำนาจรวมศูนย์ลักษณะนี้นั่นเองที่เป็นปัญหาโดยตัวมันเอง ไม่ใช่แนวทางการแก้ไขระดับลึกและยั่งยืน
ณ วันนี้เราไม่ได้ต้องการเพียงปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการ หากส่วนหนึ่งคือ การรักษา "บาดแผล" เก่า ๆ นั้นด้วย.
2. อาณานิคมภายใน
ดร. วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน ผู้นำกลุ่มเบอร์ซาตู เมื่อคราวพำนักอยู่ที่ประเทศสวีเดนได้ให้สัมภาษณ์ว่า สาเหตุที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ของไทยต้องใช้วิธีก่อเหตุรุนแรง ก็เพราะพวกเขามองกันว่า ปาตานีปัจจุบันตกเป็นอาณานิคมของไทย วิธีการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชจึงต้องเป็นวิธีการเดียวกับสงครามปลดแอก...
ถ้าจริงดังคำให้สัมภาษณ์ของ ดร. วัน การก่อเหตุสะเทือนขวัญ "ฆ่ารายวัน" ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นไปอย่างรุนแรงมากขึ้นนี้ มีความเกี่ยวข้องกับวิธีคิดดังกล่าว ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ [แขก - ไทย] ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความเป็นศัตรู เพื่อบรรลุเป้าหมาย ภายใต้แอกที่สวมครอบสถานะความเป็นชาติ คนไทยหรือชาติไทยจึงเป็นศัตรูหรือเจ้าอาณานิคมของประชาชาติปาตานีทั้งหมด ไม่มีการจัดแบ่งว่า จะเป็นคนไทยชั้นชาวบ้านสามัญชน หรือคนชั้นนำของสังคม - ชนชาติ
แน่นอนว่าออกจะไม่ "ใหม่" เสียทีเดียวนัก สำหรับมุมมองการจัดแบ่งเช่นนี้ หลายคนคงนึกเปรียบเทียบกรณี พคท. ในอดีต ที่ฝ่ายนำมองว่า ชาติไทยไม่มีเอกราชอย่างแท้จริง หากแต่ตกอยู่ในสภาพกึ่งเมืองขึ้นของจักรพรรดินิยมอเมริกาและญี่ปุ่น [ภัยขาว - ภัยเหลือง] และครั้งนั้นปัญหาการสู้รบระหว่าง พคท. กับรัฐยุติลงส่วนหนึ่ง ก็ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของชนชั้นนำไทย จากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่ถูกหาว่า เป็นจีน เป็นญวน เป็นลาว สารพัด ก็กลับกลายเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในที่สุด
การกล่าวหาว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนปัจจุบัน ได้รับการสนับสนุนจากชาติมุสลิมภายนอก โดยบุคคลชั้นนำในรัฐบาลจึงสะท้อนอาการสมองเสื่อม ขาดมิติทางประวัติศาสตร์ในการพิจารณาแก้ไขปัญหา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การที่รัฐบาลปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนเดือนตุลา' บางส่วน รวมทั้งผู้เคยเข้าร่วมกับ พคท. ในอดีต ที่บัดนี้กลายเป็นนักเทคนิคให้กับพรรคไทยรักไทยไปเสียหลายคน อาการหลงลืมในลักษณะนี้จึงมีความน่าสนใจ
จริงอยู่ว่า สถานการณ์ภาคใต้ปัจจุบัน อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างจากสงครามประชาชนในอดีต และตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น อาจเป็นได้อย่างมากเพียงกรณีศึกษาเปรียบเทียบ โดยไม่ได้เป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบถึงไทยเสียเท่าไร สำหรับประเด็นอาณานิคมภายใน - นอก นั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงคาบเกี่ยวกันและกันเสมอ จึงต้องพิจารณาควบคู่กันไป แต่อย่างไรก็ตามจำเพาะที่เรื่องนี้เป็นปัญหาภายในมากกว่ามีประเด็นที่น่าวิเคราะห์ต่อไปว่า ด้วยวิธีมองที่ยังคงสวนทางกันเช่นที่เป็นอยู่นี้จะนำไปสู่อะไร ?
ชั้นต้น, จากสาเหตุทางประวัติศาสตร์ที่ชนชั้นนำสยามจัดการเปลี่ยนรูปการปกครองด้วยวิธีรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ซึ่งจัดเป็นวิธีสำคัญสำหรับตอบโต้การคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตกนั้น มีนัยเป็นการเลียนแบบการล่าอาณานิคมของชาติมหาอำนาจเอง แทนที่จะผนึกกำลังกับชนพื้นเมืองเข้าทำการต่อต้านเจ้าอาณานิคม เช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ตรงข้ามชนชั้นนำสยามกลับเป็นผู้รับประโยชน์จากการเข้ามาของจักรวรรดินิยม วิธีการที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเลือกเอามาใช้ อันที่จริงก็ซ้ำรอยเดิมที่ชนชั้นนำสยามเคยกระทำผิดพลาดกันมาแล้ว กล่าวคือแทนที่จะเป็นการแสวงความสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ ก็กลับก่อเหตุรุนแรงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ สิ่งนี้ย่อมนำมาซึ่งการต่อต้านขัดขืนในแบบเดิม ๆ วนเวียนกันอยู่ต่อไป
ในหลายกรณี เอกราชใช่ว่าจะได้มาด้วยวิธีการใช้ความรุนแรง ตรงข้ามนั่นกลับเป็นการหยิบยื่นความชอบธรรมแก่เจ้าอาณานิคมให้ใช้ความรุนแรงปราบปรามดุจกัน ตัวอย่างสำหรับขบวนการกอบกู้เอกราชบางประเทศ เช่น ติมอร์ตะวันออก เอกราชได้มาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้นำขบวนการในเวทีสหประชาชาติ เจ้าอาณานิคม เช่น อินโดนีเซีย จึงถูกกดดันผ่านการเจรจาต่อรองด้วยไหวพริบความฉลาดทางการทูต แม้จะมีการใช้ความรุนแรงกันในบางครั้ง แต่ก็มักเป็นไปโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังเกิดขึ้น ณ ระดับมวลชนมากกว่าจะเป็นการชี้นำโดยผู้นำขบวนการ
ขบวนการกู้ชาติชาวไอริชที่อังกฤษในอดีต ซึ่งขึ้นชื่อลือชาว่าเคลื่อนไหวมาอย่างยาวนานก็เช่นเดียวกัน แม้มีการจัดตั้งองค์กรลับเพื่อต่อสู้กับกองกำลังฝ่ายรัฐบาลก็จริง แต่เท่าที่เหตุการณ์ลอบวางระเบิดจะเกิดขึ้นแต่ละครั้ง มักมีการแจ้งเตือนแก่ประชาชนอยู่ก่อนแล้ว เพราะเป้าหมายสำคัญนั้นอยู่ที่การทำลายสถานที่ตั้งอันเป็นจุดยุทธศาสตร์ ไม่ก็ศูนย์บัญชาการของฝ่ายรัฐบาล รวมถึงการเล่นเกมส์ไล่ล่ากับเจ้าหน้า ที่ท้าทายประสิทธิภาพความน่าเชื่อถือของกองกำลังฝ่ายรัฐบาล พร้อมกันนั้นองค์กรลับที่จัดตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจยังทำหน้าที่คุ้มกันความปลอดภัยแก่ประชาชาติต่าง ๆ ที่อยู่ในเขตอิทธิพลของขบวนการอีกด้วย
ผลคือขบวนการสามารถช่วงชิงภาวะการนำบางอย่างจากรัฐบาลมาได้โดยที่ไม่มีการประกาศรับรองเอกราชด้วยซ้ำไป ล่าสุดก็มีการวางอาวุธไปแล้วสำหรับขบวนการกู้ชาติไอริช แต่ไม่ได้หมายความว่าขบวนการและอุดมการณ์กู้ชาติจะเหือดหายไปด้วย เพียงแต่เป็นที่คาดกันว่าจะเปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้น
เมื่ออำนาจเบ็ดเสร็จในแบบที่เจ้าอาณานิคมพึงจะมี เกิดการเสียศูนย์เสียแล้ว รัฐบาลอังกฤษมักหันมาเน้นการขยายปัญหาภายนอก คือ ความสัมพันธ์กับนานาประเทศ เพื่ออุดช่องโหว่ที่เกิดขึ้นภายในประเทศของตน นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่นายโทนี่ แบลร์ ต้องตัดสินใจนำพาอังกฤษเข้าร่วมเป็นพันธมิตรสหรัฐทำสงครามกับอิรัก และก็ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ ที่พม่ายังคงดูมีอธิปไตยเหนือเขตอิทธิพลของกองกำลังชนกลุ่มน้อย บนเวทีการฑูตกับนานาประเทศ และบนแผนที่โลกจะปรากฏเขตแดนประเทศเมียนมาร์ครอบคลุมพื้นที่อาณัติของชนกลุ่มน้อย ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าขบวนการกอบกู้เอกราชจะประสบความสำเร็จหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ ได้แก่
๑. ความสนับสนุนของประชาชาติในพื้นที่ และ
๒. ความยอมรับจากเวทีนานาประเทศ
ทั้งสองปัจจัยนี้สำหรับแนวทางก่อการร้ายที่ภาคใต้ปัจจุบัน กล่าวได้ว่ายังห่างไกลจากเป้าหมายที่พวกเขาใฝ่ฝันกันมากมายนัก
การโจมตีกลุ่มเป้าหมายโดยไม่แยกแยะว่าจะเป็นรัฐหรือประชาชนผู้บริสุทธิ์ มีผลทำให้ขบวนการกู้ชาติกลายเป็นเพียงกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบธรรมดา อันสามารถเกิดขึ้นได้ อย่างน้อยก็ในสายตาของฝ่ายรัฐบาล ไม่ก็ญาติพี่น้องผู้สูญเสีย ความผิดพลาดลักษณะนี้เกิดขึ้นกับขบวนการฝ่ายซ้ายในอดีตเช่นกัน แต่ไม่รุนแรงดุจกันนี้ เพราะยังจำกัดอยู่เพียงการยกเลิกฐานทัพอเมริกา ไม่ก็การบอยคอตสินค้าญี่ปุ่น แม้ว่าขณะเสนอแนวคิดจะมีการโจมตีอเมริกากับญี่ปุ่นทั้งชาติ โดยหลงลืมกลุ่มคนทุกข์ยากที่อยู่ใต้แอกชาติทั้งสอง ทั้งที่มองแง่หนึ่งผู้คนเหล่านั้นก็มีฐานะเป็นอาณานิคมภายในของชาตินั้น ๆ เช่นกัน เป้าหมายที่เป็นการกอบกู้เอกราชนั้นอันที่จริงไม่เป็นที่ชิงชังเท่าไรหรอก หากปัญหาคือวิธีการที่เลือกนำมาใช้นั่นต่างหาก
ประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธุ์ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความเป็นศัตรูนั้น กล่าวได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ไม่อาจจะนำความสำเร็จมาให้ขบวนการแบ่งแยกฯ เพราะปัจจุบันชาติพันธุ์บริสุทธิ์นั้นดังที่ทราบคือไม่หลงเหลืออยู่แล้ว หากแต่ผสมกลมกลืนกัน คนไทยเองก็ไม่มีคนไทยแท้ จะมีก็แต่ลูกครึ่งเลือดผสมทั้งนั้น ไทยกับแขกมาเลย์เองปัจจุบันก็ปะปนกันอยู่
กระนั้นก็ตาม การสร้างความเป็นศัตรูดังกล่าวก็สะท้อนอาการลักลั่นของการเมือง ระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมที่ยึดถือสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันของความเป็นมนุษย์ ละเลยปัญหาชาติพันธุ์ ขณะที่ในความเป็นจริงกลุ่มคนสังกัดแต่ละชาติพันธุ์ กลับได้รับการปฏิบัติไม่เท่าเทียมกัน จากรัฐ - รัฐบาล หรือจากอะไรก็ตาม ส่วนบางชาติซึ่งอาจเป็นคนส่วนน้อยกลับถูกยกย่องเชิดชูให้เป็นหน่อเนื้อเชื้อสายของชนชั้นปกครอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอีกปัจจัยหนึ่ง คือการเร้าโลมจากบรรยากาศความรับรู้ทางประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ของบางชาติพันธุ์หรือบางท้องถิ่น ตามที่เป็นมามักจะกดบีบให้ไม่หลงเหลือความเป็นอิสระ และหรือ ความยิ่งใหญ่ในตัวเอง หากต้องขึ้นตรงต่อศูนย์กลางแห่งใดแห่งหนึ่ง กล่าวอีกนัยคือ สภาพที่ประวัติศาสตร์ศูนย์กลางสร้างอำนาจเผด็จการเหนือประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ชนชาติที่มีความเป็นมาผูกพันธ์กับวัฒนธรรม ภาษา และพื้นที่นั้น ๆ จะถูกครอบงำจนเกิดแอกประวัติศาสตร์ที่กดทับกันอย่างเป็นมั่นเหมาะ ภายใต้บรรยากาศนี้บางครั้งหากจะชูภาพลักษณ์ของท้องถิ่นขึ้น ก็จะเป็นท้องถิ่น ที่สะท้อนความเหนือกว่าและชอบธรรมที่ศูนย์กลางจะปกครอง ไม่ก็ขายทำกำไรในรูปของการท่องเที่ยวเสีย
ปัญหาความสัมพันธ์เชิงอำนาจของอาณานิคมภายใน จึงดูซับซ้อนกว่าอาณานิคมภายนอก ตรงที่ไม่เพียงอาณานิคมภายในจะถูกครอบครองอย่างเบ็ดเสร็จ ด้วยโครงสร้างทางสังคมการเมืองที่เหนือกว่าเท่านั้น หากยังถูกครอบครองสำนึกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมด้วย
กรณีเขมรเป็นอุทาหรณ์ในเรื่องนี้ดีทีเดียว สยามเสียอำนาจในเขมรแก่ฝรั่งเศสก็เนื่องด้วยสยามไม่ประสบความสำเร็จ ในการแสดงหลักฐานยืนยันถึงอำนาจของตนต่อเขมรว่า มีมากกว่าญวนเพียงใด ญวนตกเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศส และฝรั่งเศสก็จึงอ้างอำนาจญวนอีกต่อหนึ่งเข้ามายึดครองเขมรในที่สุด กล่าวได้ว่าครั้งนั้นสยามเสียเขมรทั้งที่ไม่ได้รบแพ้ฝรั่งเศสเลยด้วยซ้ำ หากสยามแพ้ในเรื่องความรู้ทางประวัติศาสตร์ สมมติว่าถ้าครั้งนั้นสยามไม่แพ้ล่ะก็ เป็นที่คาดหมายได้ว่า เขมรคงไม่แคล้วตกเป็นอาณานิคมภายในของสยามเช่นเดียวกับปาตานี
และก็ด้วยการรู้จักประยุกต์ใช้พลานุภาพของความรู้ทางประวัติศาสตร์นี้เอง ที่รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามสามารถชิงดินแดนอีกฟากของแม่น้ำโขงมาได้ ทั้งที่ไม่มีกำลังรบเพียงพอแก่การเอาชนะฝรั่งเศสเลย หลวงวิจิตรวาทการ นักประวัติศาสตร์ผู้รับใช้รัฐบาลหลวงพิบูลได้พยายามชี้ให้เห็นว่า ชนชาติไทยในอดีตนั้นมีความยิ่งใหญ่เพียงใด ขณะที่ฝรั่งเศสต่างหากที่ออกจะดู "ป่าเถื่อน" ไปอย่างเทียบกันไม่ได้ ฉะนั้นฝรั่งเศสจึงไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมจะเป็นผู้ปกครองของชนชาติไทยในแดนลุ่มน้ำโขงอีกฟาก สงครามอินโดจีนจึงอุบัติขึ้นส่วนหนึ่งก็จากอาการหลงตัวเองอย่างแรงของผู้นำไทยสมัยนั้น
กล่าวโดยสรุป เมื่ออำนาจความชอบธรรมของการครองอาณานิคมมาพร้อมกับอำนาจของประวัติศาสตร์ การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยอาณานิคมส่วนหนึ่ง จึงต้องกระทำผ่านการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ที่ท้าทาย ล้มล้าง ต่อสู้เบียดขับ กับอำนาจของประวัติศาสตร์เจ้าอาณานิคมโดยฝ่ายที่ตกเป็นอาณานิคมเอง วิธีก่อการร้ายจึงผิดประเด็นอย่างมาก !!
3. การปฏิวัติของนักรบจารีต
เหตุการณ์วินาศกรรมกรุงลอนดอนที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นสัญญาณบ่งบอกแก่ผู้นำหลายประเทศว่า ขบวนการสู้รบที่พวกเขาต่างหวาดวิตกกันนั้นได้เปลี่ยนย้ายศูนย์กลางของการกระทำการไปยังภูมิภาคยุโรปตะวันตกเป็นที่เรียบร้อย หลังจากที่ก่อนหน้านี้จะอยู่ที่สหรัฐและตะวันออกกลาง แล้วแพร่กระจายออกไปตามแหล่งต่าง ๆ ที่มีเชื้อมูลของการก่อเหตุดำรงอยู่ [ รวมทั้งที่ภาคใต้ของไทยด้วย ] โดยในการย้อนไปสู่ซีกโลกตะวันตกครั้งนี้ มีนัยสำคัญที่แฝงมากับประเด็นปัญหาความรุนแรงอยู่ไม่น้อย
แรกสุดการบอมบ์กรุงลอนดอนนั้น ไม่ว่าเราจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม นั่นก็จัดเป็นการตอบโต้การครอบงำของระบบทุนนิยม ที่มีรากกำเนิดมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมของโลกตะวันตกรูปแบบหนึ่ง แม้รูปแบบการพลิกบทบาทตัวเองจากผู้ถูกกระทำมาเป็น "ผู้กระทำการ" เช่นนี้ จะเคยถูกปฏิเสธมาเป็นเวลานาน แต่กล่าวได้ว่า นี่นับเป็นรูปแบบสามัญที่สุดที่จะเป็นไปได้ในขณะนี้ เนื่องจากตรรกของการเคลื่อนไหวล้มล้างระบบทุนยุคก่อน เช่น สังคมนิยม เกิดการพังพ่ายลงอย่างเห็นได้ชัด
แง่หนึ่งจึงต้องยอมรับว่าด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดของ "ทางเลือก" ที่มีอยู่เพียงน้อยนิดนี้ ย่อมเป็นโอกาสอันงามแก่ขบวนการอื่นที่มีศักยภาพมากพอได้ก้าวขึ้นมาแสดงบทบาทของตน เช่นเดียวกับที่แนวสังคมนิยมในอดีตก็ก้าวขึ้นมาชิงการนำจากแนวทางอื่น ๆ
ข้อที่ต่างกันอยู่บ้างก็คือ แนวสังคมนิยมจะอาศัยการเรียนรู้และซึมซับเอาบทเรียนจากขบวนการอื่น ๆ ที่มีมาก่อนหน้านั้น กรณีอิสลามสู้รบ, เรียกได้ว่ามีความบกพร่องในเรื่องนี้ เห็นได้จากการที่ขาดการติดต่อเชื่อมโยงกับเครือข่ายการเมืองภาคประชาชน และการเลือกที่จะใช้แนวทางก่อเหตุรุนแรง ก็พิสูจน์โดยนัยแล้วว่า บทบาทคุณูปการของการเมืองภาคประชาชนที่ผ่านมา ไม่ได้ส่งผลสะเทือนต่อขบวนการต่อต้านระบบทุนล่าสุดนี้ อีกทั้งแนวทางการใช้ความรุนแรงที่ปรากฏเป็นข่าวในรอบ ๒ - ๓ ปีที่ผ่านมา ย่อมไปด้วยกันไม่ได้กับการเมืองทางเลือกที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน
ตรงข้ามการก่อเหตุระเบิด การฆ่าตัดคอ จับตัวประกัน ลอบยิง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่สมควรประณาม ทั้งยังสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐในการปราบปรามด้วยกำลังรุนแรงดุจกัน ซึ่งนั่นก็ทำลายความสงบสุขไม่แพ้การก่อการร้ายจริง ๆ เช่นกัน อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้เจ้าหน้าที่อังกฤษระหว่างไล่ล่าผู้ต้องหา ได้สังหารผู้บริสุทธิ์ด้วยการยิงศีรษะถึง ๕ นัด และที่รัฐบาลทักษิณเองก็ประกาศใช้ พรก. ออกมาหลังจากเกิดเหตุระเบิดหลายแห่งในตัวเมืองยะลา
แน่นอนว่าประสบการณ์ของขบวนการดังกล่าว [เช่นกลุ่มอัลเคดา ของนายอูซามะ บินลาเดน ] ส่วนหนึ่งได้รับจากการที่เคยร่วมมือกับสหรัฐและฝ่ายโลกเสรีเอง ในการต้านทานแสนยานุภาพทางทหารของโซเวียตยุคสงครามเย็น กระทั้งมีพัฒนาการการจัดองค์กรตลอดจนเครือข่ายการปฏิบัติงานที่เข้มแข็ง และเมื่อศัตรูเดิม เช่น สหภาพโซเวียต และโลกสังคมนิยมล่มจมลง พวกเขาจึงหันมาหาศัตรูใหม่ที่คุ้นเคยกันดี ซึ่งก็คือ สหรัฐ และทุนนิยมตะวันตกนั่นเอง
ผนวกกับที่ภายในโลกมุสลิม ได้เกิดกระแสความเคลื่อนไหวที่เรียกร้องให้มีการฟื้นฟูศาสนาอิสลาม [Islamic Revivalism] ขึ้น กระแสเรียกร้องนี้มีบทบาทผลักดันให้ชาวมุสลิมหันมาประพฤติตนตามจารีตคำสอนเดิมอย่างเคร่งครัด เพื่อต่อต้านอิทธิพลของทุนนิยมตะวันตกที่กำลังบ่อนเซาะอัตลักษณ์มุสลิมที่เคยมีมา
Daneil Pipes ในงานที่ชื่อ "In the Path of God : Islam and Political Power" ได้สะท้อนประเด็นน่าสนใจที่ว่า ในกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูศาสนาอิสลามที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ หลังจากกลุ่มประเทศอาหรับพ่ายแพ้สงครามต่ออิสราเอลในปี 1967 [พ.ศ.๒๕๑๐] ซึ่งแม้สงครามกับอิสราเอลในอีกไม่กี่ปีต่อมาเช่น ปี1973 [๒๕๑๖] กลุ่มประเทศอาหรับจะมีชัยชนะสามารถกอบกู้เกียรติภูมิของตนกลับคืนมาได้ แต่ต่างก็รู้ดีกันว่าชัยชนะที่แท้จริงนั้นยังมาไม่ถึง
เนื่องจากสหรัฐและฝ่ายโลกเสรีที่มีอิทธิพลหนุนหลังอิสราเอล ให้ก่อกวนผลประโยชน์ของชาวมุสลิมในตะวันออกกลางยัง เป็นศัตรูตัวใหญ่ที่ไม่อาจท้าทายได้มากนัก ปัญญาชนของขบวนการฟื้นฟูอิสลามจึงวิพากษ์โจมตีอารยธรรมตะวันตก ที่ให้ความสำคัญกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ละเลยคุณค่าความเป็นมนุษย์ ค่านิยมดั้งเดิม และศีลธรรมทางศาสนา เป็นสาเหตุของความเสื่อมโทรมด้านต่าง ๆ ในสังคมวัฒนธรรม
ฉะนั้นจึงปรากฏมีการเรียกร้องต่อชาวมุสลิมด้วยกันให้ ทำการต่อต้านแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมตะวันตก พร้อมกันนั้นก็ให้ยึดมั่นต่อหลักคำสอนทางศาสนาและวัฒนธรรมดั้งเดิม ในกระบวนการกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างความเจริญมั่งคั่งบนวิถีทางที่แตกต่างจากทุนนิยมตะวันตก
โดยเป้าหมายสูงสุดนั้นจะอยู่ที่การสร้างบรรยากาศทางการสังคมการเมืองให้เปิดไปสู่การเป็นรัฐอิสลามอย่างสมบูรณ์ [Perfectly Islamic State] อันเป็นประชาคมในฝัน [Imagined Communities] ของชาวมุสลิมแต่ดั้งเดิม นัยหนึ่งก็คือเสนอให้มีการสร้างชาติโดยยึดถือจารีตทางศาสนานั่นเอง
ในงานวิชาการภาษาไทยหายากเช่น พิชัย เก้าสำราญ. "การฟื้นฟูอิสลามในไทย." ก็ได้เสนอต่อมาว่า สิ่งสำคัญที่เป็นพลังศรัทธาอย่างแรงกล้าแก่กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง ที่ตกค้างมาแต่ครั้งสงครามเย็น จะอยู่ตรงที่พวกเขาเสนอตัวเป็นผู้ดำเนินแผนงาน เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการสร้างรัฐในจินตนาการดังกล่าว ซึ่งก็แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขภายในของแต่ละประเทศ รวมถึงการให้ความหมาย [Identify] ของแต่ละกลุ่มผู้ปฏิบัติการ ขณะที่ผู้นำมุสลิมกลุ่มอื่นที่ประนีประนอมกับรัฐก็อาจปฏิเสธได้โดยง่ายว่า พวกหัวรุนแรงเหล่านี้ไม่ใช่ชาฮีดหรือนักรบศาสนา อ้างญิฮาดผิด บิดเบือนคำสอน ฯลฯ
กระนั้นก็ตาม ด้วยคุณลักษณะสำคัญที่ต่างไปจากขนบของการเมืองสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการอ้างตัวตนจากอุดมการณ์ทางศาสนามาใช้อธิบายเบื้องหลังปฏิบัติการ โดยที่ปฏิบัติการที่ว่านั้นมีนัยต่อต้านระบบสังคมการเมืองที่เป็นอยู่อย่างเห็นได้ชัด [อย่าลืมว่าในอดีตการเมืองกับศาสนาไม่ได้แยกจากกัน] การแต่งกายแบบเก่าด้วยผ้าปาเต๊ะ ไว้หนวดเครายาว สวมหมวกกะปิเยาะ ใช้ไม้ข่อยถูฟัน บางแห่งยังใช้ดาบเป็นอาวุธ อ้างยึดถือคำสอนทางศาสนาเป็นหลักนำในการดำเนินชีวิต เชื่อมั่นในสงครามปลดปล่อย และความตายเพื่อสิ่งนี้ถือเป็นเกียรติยศอันสูงส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการมี "พระเจ้า" เป็นสัจจะสัมบูรณ์สูงสุด มีความรักในเผ่าพันธุ์และมาตุภูมิ รวมถึงการมีความใฝ่ฝันถึงโลกใหม่ที่ยุติธรรมและสมบูรณ์แบบมากกว่าที่เป็นอยู่
สิ่งเหล่านี้ เรียกได้ว่าเป็นของตกค้างจากยุคกลางแทบทั้งสิ้น แม้แต่รูปแบบการต่อสู้ด้วยวิธีใช้กำลังความรุนแรง เช่น การฆ่า การลอบสังหาร ตัดศีรษะประจาน ก็ล้วนแต่จัดเป็นรูปแบบการต่อสู้ของยุคก่อนสมัยใหม่ทั้งสิ้น นับเป็นความไร้น้ำยาของระบบสังคมการเมืองแบบสมัยใหม่ที่ไม่อาจขจัดอุดมการณ์ในแบบฉบับของนักรบแบบนี้ได้หมดสิ้นไป หรือไม่ก็อาจกล่าวอีกนัยได้ว่าไม่มีวันที่การเมืองสมัยใหม่จะประสบความสำเร็จในแง่นั้นเลย ดอนกีโฮเต้ของเซอร์วันเตส เป็นคนบ้าผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่มีวันตายก็ด้วยเหตุนี้ !?!
ตรงข้ามการต่อสู้อย่างป่าเถื่อนตามแบบยุคเก่าเหล่านี้ กลับสามารถขยายผลจนเติบใหญ่ได้ในระดับสากล มันเป็นข้อจำกัดหนึ่งของรูปแบบรัฐประชาชาติด้วย ที่ยึดถือการมีเขตแดนตายตัว ขณะที่นักรบยุคเก่านั้นจะสามารถเคลื่อนย้ายการปฏิบัติไปยังที่ต่าง ๆ อย่างยืดหยุ่น โดยไม่ยี่หระต่อพรมแดนหรืออาณาเขตของใคร ปราศจากศูนย์กลางที่แน่ชัด เวลาเกิดเหตุจึงไม่รู้ว่ามาจากทิศทางใด ไม่มีประเทศที่เป็นศูนย์อำนาจอย่างแท้จริง การที่อาฟกานิสถานและอิรักต่างถูกสหรัฐรุกรานจนพังยับเยินไป แต่ขบวนการสู้รบก็หาได้ยุติบทบาทลงไม่ เป็นสิ่งยืนยันประเด็นนี้
ไม่เพียงเท่านั้น, การต่อต้านทุนนิยมตะวันตกท่ามกลางกระแสความตกต่ำของแนวสังคมนิยม ยังมีผลทำให้นักรบเก่าในคราบใหม่เหล่านี้ กลายเป็นทางเลือกกระปลกกระเปลี้ยและอันตรายยิ่ง กรณีความเคลื่อนไหวที่ภาคใต้ของไทยนั้น กล่าวได้ว่าเป็นการปรับประยุกต์เข้ากับเงื่อนไขเฉพาะของประเทศไทย อาศัยประเด็นการแบ่งแยกดินแดน มีการใช้แนวคิดเรื่องชาติ ชาติพันธุ์ และอาณานิคมเชิงซ้อน มีประชาคมในฝันเป็นรัฐเอกราชที่จะพัฒนาสู่การเป็นรัฐศาสนาที่สมบูรณ์ในท้ายสุด
มีแนวคิดทฤษฎีที่เป็นระบบตามการตีความของตนเองทั้งจากคัมภีร์อัลกุรอาน และฮาดาส ไม่นับกับแนวคิดที่ถูกผลิตซ้ำผ่านบรรดาปัญญาชน โต๊ะครู อิหม่าม หรือแม้แต่นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่างประเทศ ปอเนาะบางแห่งถูกใช้เป็นโรงเรียนการเมือง การทหาร สำหรับบ่มเพาะผู้ปฏิบัติงาน มีองค์กรนำเป็นกลุ่มภายใต้ชื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น BRN.[Barisan Revolusi Nasional], BNPP.[Barisan Nasional Pembebasan Patani], GMIP.[Garakan Mujahidin Islam Patani], PULO.[Patani United Liberation Organization], และ Bersatu.
นอกจากนี้ยังมีปฏิบัติการโดยใช้ยุทธวิธีสงครามกองโจรแบบลอบกัด บางกลุ่มมีลักษณะประนีประนอมเชื่อว่า สามารถต่อสู้ผ่านการเจรจาหรืออาศัยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ [ฉบับ ๒๕๔๐] เป็นเครื่องต่อรองกับทางการเช่น Bersatu ที่มี ดร.วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน เป็นผู้นำ กลุ่มนี้ถือได้ว่าเป็นกลุ่มปฏิรูปหรือลัทธิแก้อิสลามนักรบนั่นเอง โดยรวมแล้ว นับว่าเป็นขบวนการที่มีองค์ประกอบของขบวนการปฏิวัติแบบดั้งเดิมอย่างครบครันทีเดียว
ตัวเลขข้อมูลเกี่ยวกับอายุเฉลี่ยของผู้ปฏิบัติงาน จนถึงบางรายละเอียดเช่นการไม่ทิ้งหลักฐานแสดงความรับผิดชอบหลังจากปฏิบัติภารกิจได้เสร็จสิ้น ไม่มีการจับตัวเรียกค่าไถ่ หากแต่จะเน้นการฆ่าหรือไม่ก็วางระเบิด ไม่แสดงแม้แต่ชื่อกลุ่มเครือข่ายที่สังกัดด้วย ตรงนี้ผิดแปลกไปจากการปฏิบัติของบางกลุ่มเช่น PULO และ BRN ที่โด่งดังในอดีต
เบื้องต้นนั่นเป็นสิ่งยืนยันว่ามีกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามารับช่วงต่อ ทั้งยังปฏิบัติการตามที่เห็นเหมาะสมและเป็นแบบฉบับของตน เยาวชนผู้เป็นสะพานเชื่อมเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เข้าสู่ระบบทุนไม่ได้ เพราะไม่ผ่านการศึกษาตามมาตรฐาน และท้ายสุดก็หางานทำไม่ได้ ในแง่นี้พวกเขาจึงไม่ได้เป็น [หรือเป็นไม่ได้] แม้กระทั้งชนชั้นคนงานตามระบบนี้ การเข้าร่วมขบวนการของพวกเขาจึงมีปัญหาพื้นฐาน [คือขาดความยุติธรรม] ในการดำเนินชีวิตรองรับและปลุกเร้ากันอยู่
สำหรับฝ่ายรัฐบาล, ขอให้ตระหนักกันว่า
รัฐบาลกำลังเผชิญอยู่กับขบวนการซึ่งมีลักษณะคล้ายขบวนการที่เคยสั่นสะเทือนโลกทั้งโลกมาแล้ว
การดูเบาอย่างหยาบคายเช่นว่าแค่เรื่อง "โจรใต้" หรือ "โจรกระจอก"
นั้น สะท้อนความผิดพลาดในการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์อย่างไม่น่าจะเป็นเอาเลย
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
สิ่งเหล่านี้
เรียกได้ว่าเป็นของตกค้างจากยุคกลางแทบทั้งสิ้น แม้แต่รูปแบบการต่อสู้ด้วยวิธีใช้กำลังความรุนแรง
เช่น การฆ่า การลอบสังหาร ตัดศีรษะประจาน ก็ล้วนแต่จัดเป็นรูปแบบการต่อสู้ของยุคก่อนสมัยใหม่ทั้งสิ้น
นับเป็นความไร้น้ำยาของระบบสังคมการเมืองแบบสมัยใหม่ที่ไม่อาจขจัดอุดมการณ์ในแบบฉบับของนักรบแบบนี้ได้หมดสิ้นไป
หรือไม่ก็อาจกล่าวอีกนัยได้ว่าไม่มีวันที่การเมืองสมัยใหม่จะประสบความสำเร็จในแง่นั้นเลย
...
ตรงข้ามการต่อสู้อย่างป่าเถื่อนตามแบบยุคเก่าเหล่านี้ กลับสามารถขยายผลจนเติบใหญ่ได้ในระดับสากล
มันเป็นข้อจำกัดหนึ่งของรูปแบบรัฐประชาชาติด้วย ที่ยึดถือการมีเขตแดนตายตัว
ขณะที่นักรบยุคเก่านั้นจะสามารถเคลื่อนย้ายการปฏิบัติไปยังที่ต่าง ๆ อย่างยืดหยุ่น
โดยไม่ยี่หระต่อพรมแดนหรืออาณาเขตของใคร ปราศจากศูนย์กลางที่แน่ชัด