The Midnight University
คำนำจากหนังสือเรื่อง
รั้วกับหน้าต่าง
นาโอมี
ไคลน์ อนาธิปไตย VS เสรีนิยมใหม่
ภัควดี
วีระภาสพงษ์
นักวิชาการและนักแปลอิสระ
บทความนี้ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่โดยคุณพิภพ อุดมอิทธิพงศ์
ผู้แปลหนังสือเรื่อง รั้วกับหน้าต่าง เขียนโดย นาโอมี ไคลน์
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 695
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 6 หน้ากระดาษ A4)
เมื่อกำแพงเบอร์ลินพังทลายลง สหภาพโซเวียตแตกเป็นเสี่ยง ๆ นักวิชาการบางคนประกาศแถลงการณ์ที่เปรียบเสมือน Capitalist Manifesto ด้วยถ้อยคำเพียงประโยคเดียวว่า "ประวัติศาสตร์สิ้นสุดลงแล้ว" เมื่อระบบเศรษฐกิจทุนนิยมตลาดเสรีเฟื่องฟูไปทั่วโลก เราถูกทำให้เชื่อว่าการต่อสู้ระหว่างลัทธิทางการเมืองไม่มีอีกต่อไป อย่างมากก็มีแต่การต่อสู้แข่งขันในระบบตลาด
ขณะที่ประชาชนทุกชนชั้นกำลังเริงระบำรอบโคทองคำ เชื่อมั่นว่าความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจจะนำความมั่งคั่งและความทันสมัยมาสู่ทุกผู้นาม ขณะที่ในจอโทรทัศน์นำเสนอความสุขที่แก้ปัญหาได้ทุกอย่างในรูปของสินค้ามียี่ห้อ เราปล่อยให้คนบางคนในรัฐบาลของเราไปลงนามในข้อสัญญาทางการค้าที่ยังไม่มีแม้กระทั่งเนื้อหาที่ชัดเจนของข้อสัญญา จนกลายเป็นการถือกำเนิดของ WTO หรือองค์การค้าโลก องค์กรโลกบาลยุคใหม่จึงครบองค์ 3 อันประกอบด้วย องค์การค้าโลก ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
เราควรจะเปรียบองค์กรทั้งสามนี้กับอะไรดี ตรีเอกานุภาพ? หรือเทวีแห่งโชคชะตาทั้งสามในเทพปกรณัมกรีก ที่คอยปั่นด้ายอันเปรียบเสมือนชะตากรรมของมนุษย์? เพียงแต่ดูท่าว่าองค์กรโลกบาลทั้งสามนี้จะยิ่งใหญ่เสียยิ่งกว่าเทวีแห่งโชคชะตาเสียอีก เพราะชาวกรีกเชื่อว่าเทวีมีอิทธิพลต่อมนุษย์แต่ละคน แต่องค์กรโลกบาลสมัยใหม่สามารถชี้เป็นชี้ตายแก่คนทั้งประเทศ หรือบางทีก็ทั้งทวีป
กว่าเราจะรู้ตัวว่า โคทองคำที่เราหลงเริงระบำบูชานั้น แท้ที่จริงคือโคสำริดของฟาลาริสที่ใช้ย่างคนทั้งเป็น องค์กรโลกบาลทั้งสามก็แผ่ขยายอำนาจไปแทบทุกหนแห่งในโลก พร้อมกับคาถาสามข้อที่โฆษณาว่าสามารถเนรมิตทุกอย่างได้ราวแก้วสารพัดนึก นั่นคือ เปิดเสรี ลดข้อบังคับและแปรรูป นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำต่างพากันประสานเสียงท่ามกลางความงวยงงของสามัญชนว่า นี่แหละคือโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ นี่แหละคือหนทางของโลกที่จะต้องดำเนินไปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
แต่ในเวลาเพียงไม่กี่ปี ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจแปรเปลี่ยนกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ในละตินอเมริกาและเอเชีย ความตีบตันทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ปัญหาว่างงานในยุโรป ความรุ่งและร่วงสลับกันไปมาในสหรัฐอเมริกา วิกฤตตลอดกาลในแอฟริกา พร้อม ๆ กับปัญหาสิ่งแวดล้อม แรงงาน สาธารณสุข สังคม การศึกษา ฯลฯ
โดยที่ไม่มีใครคาดหมาย โดยที่ไม่มีฝ่ายไหนคาดคิดมาก่อน การประชุมองค์การค้าโลกที่ซีแอตเติลในปี พ.ศ. 2542 เกิดปรากฏการณ์ของการประท้วงที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมประท้วงถึงราว 50,000 คน และสามารถยุติการประชุมของ WTO ได้อย่างเหลือเชื่อ สิ่งที่เหลือเชื่อยิ่งกว่านั้นก็คือ ผู้ประท้วงเหล่านี้ไม่ได้เป็นขบวนการที่มีอุดมการณ์หรือยึดหลักลัทธิใดลัทธิหนึ่งเพียงลัทธิเดียว แต่ประกอบขึ้นจากกลุ่มคนเล็ก ๆ จำนวนมาก มีทั้งที่เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มอิสระ เสรีชน ฯลฯ แนวความคิดที่เป็นแรงบันดาลใจของผู้ประท้วงก็มีหลากหลาย นับตั้งแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม แรงงาน เกษตรกรรม สังคมนิยม สิทธิของชนพื้นเมือง ฯลฯ มีแม้กระทั่งวัยรุ่นที่ไม่พอใจกับการที่ชีวิตของตนถูกครอบงำด้วยยี่ห้อสินค้าและการโฆษณา
วิธีการประท้วงของพวกเขาไม่ใช่แค่การเดินขบวนชูกำปั้นตะโกนคำขวัญแบบเดิม ๆ อีก แต่เปลี่ยนการประท้วงให้เป็นเสมือนงานสังสรรค์ ละครย่อย การแสดงสด นิทรรศการศิลปะ การศึกษานอกสถานที่ ฯลฯ วิธีการรวมตัวของพวกเขาก็ช่างเข้ากับยุคโพสต์โมเดิร์นอย่างแท้จริง มันเป็นการรวมตัวที่มีฐานมาจากอีเมล์และเว็บไซต์ ความจริงเสมือนบนโลกไซเบอร์สเปซที่กลายเป็นความจริงบนท้องถนนอันมีชีวิตชีวาและจับต้องได้
เพื่อให้ความเหลือเชื่อครบองค์ 3 บ้าง เรื่องเหลือเชื่อประการสุดท้ายก็คือ เวลาพิสูจน์ให้เห็นว่าซีแอตเติลไม่ใช่ปรากฏการณ์พิเศษ ไม่ใช่ความสว่างที่เจิดจ้าแล้วดับวูบลงอย่างรวดเร็ว แต่การประท้วงองค์การค้าโลกกลายเป็นขบวนการต่อเนื่อง ซึ่งไม่ได้จำกัดที่การประท้วงเฉพาะองค์การค้าโลกอีกต่อไป การชุมนุมประท้วงขยายตัวเป็นการประท้วงต่อองค์กรโลกบาลทั้งหมด ไปจนถึงการคัดค้านระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่
เราจึงได้เห็นการประท้วงการประชุมของ IMF ในกรุงปรากเมื่อเดือนกันยายน 2543, การเจรจาการค้าเสรีระดับซีกโลกในเมืองควิเบก เมื่อเดือนเมษายน 2544, การประชุมสุดยอดสหภาพยุโรปในโกเทนเบิร์ก สวีเดนเมื่อเดือนมิถุนายน 2544, การประชุม G-8 ในเมืองเจโนอาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2544, การประชุมสุดยอดสหภาพยุโรปที่เมืองบาร์เซโลน่า สเปนในเดือนมีนาคม 2545 ไม่นับรวมการประท้วงย่อย ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก และยิ่งขยายวงกว้างเมื่อการประท้วงผนวกเอาประเด็นสงครามที่สหรัฐอเมริกากระทำต่ออัฟกานิสถานและอิรัก โดยมีประชาชนเข้าร่วมหลายล้านคน
มีทฤษฎีมากมายที่พยายามอธิบายปรากฏการณ์ของขบวนการประท้วงนี้ นักเสรีนิยมใหม่มองว่าคนเหล่านี้เป็นพวกต่อต้านโลกาภิวัตน์และคิดแต่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง นักสังคมนิยมมองว่านี่คือปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงการทำลายตัวเองของระบบทุนนิยม ขบวนการถูกวิจารณ์ว่ามีแต่ความสับสน ร้อยพ่อพันแม่ หาทิศทางไม่ได้และแสวงหาความบันเทิงจากการมาชุมนุมกัน ขบวนการนี้ไม่มีผู้นำ ไม่มีตัวแทนที่เด่นชัด ไม่มีลัทธิหรืออุดมการณ์เป็นกลุ่มก้อน แม้ว่าจะไม่ได้ประกาศออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่การกระทำของขบวนการเท่ากับเป็นการประกาศ Movement Manifesto ด้วยประโยคง่าย ๆ ประโยคเดียวว่า "พวกเราจะตามไปประท้วงในทุกที่ที่พวกเอ็งจัดประชุม!"
ในบรรดานักคิดและนักเคลื่อนไหวที่เป็นกระบอกเสียงของขบวนการ คนหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมาจนได้รับฉายาว่า โฆษกอย่างไม่เป็นทางการของขบวนการประท้วง ก็คือหญิงสาวชาวแคนาดาวัยสามสิบต้น ๆ ที่ชื่อ นาโอมี ไคลน์ แม้ว่าตัวเธอเองจะไม่ค่อยสบายใจกับฉายานี้เท่าไรนัก
สถานะของนาโอมีในขบวนการประท้วงเป็นทั้งกึ่งคนในและกึ่งคนนอก เธอเข้าใจและเห็นด้วยกับประเด็นของการประท้วง มองเห็นจุดแข็งของขบวนการยุคใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็มองเห็นวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามถึงจุดอ่อนของขบวนการด้วยเช่นกัน เธอเดินทางไปทั่วทุกหนแห่งกับขบวนการ แต่ก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนี้เต็มตัว โดยรักษาความเป็นคนนอกอยู่ก้าวหนึ่งเสมอ ดังที่เธอบอกเองว่า บุคลิกของตัวเองนั้นไม่ใช่คนที่จะไปเดินชูกำปั้นและตะโกนคำขวัญกับใครเขาได้ เธอนิยามตัวเองว่าเป็น สื่อมวลชนนักเคลื่อนไหว (activist journalist)
คงเพราะการเป็นทั้งคนในและคนนอกพร้อมกันนี้เอง ทำให้นาโอมีกลับเป็น "กระบอกเสียง" ที่ดีของขบวนการ เธอสามารถอธิบายแนวความคิดอันสับสนของนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างขบวนการนี้กับขบวนการทางการเมืองแบบดั้งเดิม วิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวของระบบเสรีนิยมใหม่ และชี้ให้เห็นทางออกบางอย่าง
นาโอมี ไคลน์เติบโตขึ้นในครอบครัวที่มีความคิดทางการเมืองเข้มข้น ปู่กับย่าเป็นนักมาร์กซิสต์ชาวอเมริกันในยุคทศวรรษ 1930 และ 1940 ปู่ของเธอเป็นนักวาดการ์ตูนในบริษัทดิสนีย์ที่ถูกไล่ออกและขึ้นบัญชีดำ โทษฐานเป็นคนเคลื่อนไหวจัดตั้งให้มีการประท้วงของคนงานในบริษัทนี้เป็นครั้งแรก พ่อแม่ของเธอเป็นชาวอเมริกันที่ย้ายมาอยู่แคนาดาเพื่อประท้วงสงครามเวียดนาม พ่อเป็นหมอ ส่วนแม่เป็นเฟมินิสต์ที่ทำหนังต่อต้านหนังและหนังสือโป๊
สิ่งแวดล้อมนี้ทำให้นาโอมีมีความคิดก้าวหน้าทางการเมืองมาตั้งแต่เด็กหรือเปล่า? เปล่าเลย เธอก็เหมือนเด็กและวัยรุ่นจำนวนมากที่แสดงปฏิกิริยากับพ่อแม่ของตัวเอง เธอบอกว่าเธอบ้าของทุกอย่างที่มียี่ห้อมาตั้งแต่หกขวบ ไม่ว่าจะเป็นบาร์บี้ ดิสนีย์แลนด์ แม็คโดนัลด์ เบอร์เกอร์คิง พอเข้าวัยรุ่น เธอเย็บป้ายจระเข้ปลอมไว้ที่อกเสื้อเพื่อให้มันดูเหมือนยี่ห้อลากอสต์ และไปทำงานพิเศษในร้านเสื้อผ้ายี่ห้อเอสปรีต์ เธอทะเลาะกับพ่อแม่เสมอเกี่ยวกับการซื้อตุ๊กตาบาร์บี้หรือกางเกงตัวใหม่ของดีไซเนอร์ที่กำลังได้รับความนิยม ในหนังสือรุ่นของโรงเรียนไฮสกูล เธอถูกเขียนแซวไว้ว่า "หล่อนมีโอกาสติดคุกมากที่สุดเพราะขโมยน้ำยากัดสีผม"
แต่เด็กบ้ายี่ห้อคนนี้นี่เอง พออายุ 30 เธอกลับเป็นคนเขียนหนังสือเรื่อง No Logo อันโด่งดัง ซึ่งได้รับคำยกย่องว่าเป็น "ตำรา Das Capital ของขบวนการต่อต้านบรรษัท" หนังสือเล่มนี้ถือเป็นปากเสียงและอธิบายความคิดของคนรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 ซึ่งแม้จะไม่มีความคิดทางการเมืองเข้มแข็งเหมือนคนรุ่นก่อน แต่พวกเขาก็อึดอัดคับข้องและเป็นกบฏต่อระบบเศรษฐกิจที่พยายามครอบงำชีวิตทุกด้านด้วยสินค้าและการโฆษณา กล่าวกันว่าแม้กระทั่งวงดนตรี Radiohead ยังได้รับอิทธิพลจากหนังสือเล่มนี้ ถึงขนาดห้ามไม่ให้มีป้ายโฆษณาสินค้าของบรรษัทไหนระหว่างที่วงออกทัวร์คอนเสิร์ตในประเทศอังกฤษ
ความเปลี่ยนแปลงในตัวเธอเกิดขึ้นเมื่อกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย แม่ของเธอล้มป่วย ทำให้เธอต้องอยู่ดูแลและเข้ามหาวิทยาลัยโตรอนโตช้าไปหนึ่งปี เมื่อกลับไปเป็นนักศึกษา เหตุการณ์ที่มีผลต่อตัวเธอและนักศึกษามากก็คือ การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยมอนทรีออล เด็กหนุ่มที่สอบเข้าเรียนวิศวะที่นั่นไม่ได้ เข้าไปยิงผู้หญิงตายถึง 14 คน โดยกล่าวหาว่าพวกเธอเป็นเฟมินิสต์ นาโอมีกล่าวว่า "มันเป็นอาชญากรรมที่แสดงความจงเกลียดจงชังต่อผู้หญิง...มันทำให้เราคิดเรื่องการเมืองมากขึ้น แน่นอน หลังจากนั้นมา คุณย่อมเรียกตัวเองเป็นเฟมินิสต์"
นาโอมียังต้องเผชิญกับอคติในแบบอื่นระหว่างที่อยู่มหาวิทยาลัย ถึงแม้เธอมีเชื้อสายยิว แต่เธอเขียนบทความแสดงความเห็นอกเห็นใจชาวปาเลสไตน์ไว้ในหนังสือพิมพ์ของนักศึกษา รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การปกครองของอิสราเอล โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิสตรี ผลลัพธ์ของบทความนี้ทำให้เธอถูกขู่วางระเบิดที่บ้าน
ยังไม่ทันจบปริญญาตรี เธอขอพักการเรียนและไปทำงานเป็นพนักงานฝึกหัดที่หนังสือพิมพ์ Toronto Globe and Mail จากนั้นไปทำงานเป็นบรรณาธิการวารสารการเมืองนอกกระแสที่ชื่อ This Magazine
เมื่อนาโอมีกลับไปเรียนที่มหาวิทยาลัยอีกครั้งในปี พ.ศ. 2538 เธอเจอกับนักศึกษารุ่นใหม่ที่ไม่เหมือนสมัยก่อน "ฉันเจอคนหนุ่มสาวหัวก้าวหน้ารุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความคิดว่า บรรษัทมีอำนาจยิ่งกว่ารัฐบาล จะเลือกนักการเมืองคนไหนไม่สำคัญ เพราะพวกนั้นก็เหมือนกันหมด
คนรุ่นใหม่เหล่านี้จึงคิดทำนองว่า ดีล่ะ เราพุ่งเป้าไปที่อำนาจดีกว่า...หนุ่มสาวพวกนี้เป็นนักปฏิบัติแบบ DIY ถ้าไม่ชอบ (ยี่ห้อ) อะไรสักอย่าง ก็เปลี่ยนมันสิ ตัดแปะมัน ดาวน์โหลดมัน แม้ฉันคิดว่า การประท้วงทางวัฒนธรรมแบบนี้ไม่ใช่เครื่องมือทางการเมืองที่มีอำนาจสักเท่าไร แต่มันก็มีอะไรบางอย่างที่น่าประทับใจ มันเป็นการใช้มือจัดการกับตรายี่ห้อโดยไม่ได้ทำร้ายใคร นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ที่ฉันรู้จัก มีพื้นฐานการทำกิจกรรมทางการเมืองมาจากการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจ และเข้าใจดีว่าอำนาจดำเนินไปอย่างไร พวกเขามีความคิดละเอียดอ่อนซับซ้อนกว่าพวกเราเพราะมันจำเป็น เพราะเดี๋ยวนี้ทุนนิยมมันซับซ้อนกว่าเมื่อก่อนมาก"
การเปิดใจกว้างต่อวิธีคิดและวิธีทำกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ ทำให้นาโอมีเป็นสะพานเชื่อมที่ถ่ายทอดความคิดของขบวนการประท้วงออกมาได้ดี ในขณะที่นักวิชาการและฝ่ายซ้ายบางกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ขบวนการว่า หาจุดยืนและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ได้ นาโอมีกลับปกป้องและแสดงให้เห็นว่า ความหลากหลายสับสนของขบวนการเป็นได้ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน แต่แทนที่เราจะยัดเยียดลัทธิหรืออุดมการณ์บางอย่างลงมาให้ขบวนการจากเบื้องบน เราน่าจะปล่อยให้ขบวนการแสวงหาคำตอบของตนเองอย่างเป็นธรรมชาติขึ้นมาจากเบื้องล่าง และ "คนรุ่นเก่า" ต้องสลัดทิ้งความเคยชินของการมีคำตอบเพียงหนึ่งเดียวเสียที
หลายชั่วรุ่นมาแล้วที่มนุษย์เรามุ่งหวังจะแสวงหาคำตอบเดียว รอคอยวีรบุรุษหรือศาสดา ฝากความหวังไว้กับผู้เชี่ยวชาญ ยึดติดอยู่กับความแน่นอนของลัทธิอุดมการณ์บางอย่าง เวลาล่วงเลยนานเท่าไร สภาพของมนุษย์ก็มีแต่จะเลวร้ายลงกว่าเดิม คงถึงเวลาแล้วกระมังที่เราต้องสลัดทิ้งความเคยชินเดิม ๆ และตะโกนเหมือนอย่างชาวซัปปาติสตาว่า "มันมากเกินพอแล้ว!" ถึงเวลาที่เราต้องให้โอกาสแก่อนาธิปไตยทางความรู้ การริเริ่มของสามัญชน หัวเราะเยาะวีรบุรุษ และหัดสร้างความเคยชินว่า เมื่อใดก็ตามที่มีใครมาบอกคุณว่า นี่คือความจริงแท้แน่นอน เมื่อนั้นจงคาดหมายเถิดว่า นรกกำลังมารอรำไรอยู่เบื้องหน้า ไม่ว่าคนที่มาบอกคุณคนนั้นจะสวมหัวโขนของฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา หรือทางสายกลางก็ตาม
การประท้วงสงคราม "ทิ้งระเบิดฝ่ายเดียว"
ที่อัฟกานิสถานและอิรักอย่างกว้างขวาง ถึงขนาดมีการประเมินว่ามีประชาชนเข้าร่วมประท้วงถึง
11 ล้านคนทั่วโลก (ฟ้าเดียวกัน, เมษ.-มิ.ย. 2546) แม้ว่าตัวเลขนี้จะน่าชื่นชม
แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันก็สร้างความใจหายให้ไม่น้อย การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์มนุษย์
ดูเหมือนไม่ได้สร้างความสะทกสะเทือนให้ผู้มีอำนาจที่ตัดสินใจทำสงครามเลย
ราวกับอำนาจในโลกยุคปัจจุบันไม่ยี่หระต่อประชาชนที่เป็นฐานเสียงอีกแล้ว
เป็นไปได้หรือไม่ว่า ในขณะที่ขบวนการต่อต้านเสรีนิยมใหม่ คือความจริงเสมือนที่กลายมาเป็นความจริงบนท้องถนน แต่ลัทธิเสรีนิยมใหม่กับอำนาจปกครองของลัทธินี้ กำลังผันตัวเองให้กลายเป็นความจริงเสมือนที่ตัดขาดจากประชาชนไปทุกที พร้อม ๆ กับระบอบเศรษฐกิจที่ผันตัวเอง จากภาคการผลิตจริงไปเป็นการทำธุรกรรมทางการเงิน ที่ตั้งอยู่บนการซื้อขายอนาคตอันจับต้องไม่ได้ ความเป็นไปนี้คือปัญหาที่ท้าทายต่อขบวนการและท้าทายต่อทุกคนที่ไม่ต้องการเป็นเกาะโดดเดี่ยวบนมหาสมุทรแห่งความทุกข์
ส่วนผู้แปลหนังสือเล่มนี้คือ พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ เป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกับนาโอมี และเช่นเดียวกับนาโอมี สมัยที่เป็นวัยรุ่น คงไม่มีใครคิดว่าเขาจะพลิกผันตัวเองมาอยู่ในแวดวงของคนทำงานทางด้านสังคม ดังที่เคยพูดในการอภิปรายครั้งหนึ่งว่า เขาเคยเมาจนถูกไล่ออกจากหอพัก แม้แต่การศึกษาปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิภพก็เรียนมาทางด้านพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ซึ่งดูน่าจะไปทำงานด้านธุรกิจมากกว่า แต่ลงท้ายพิภพกลับเวียนว่ายอยู่ในแวดวงนักเคลื่อนไหวและนักคิด ทำงานทั้งด้านความคิดและการปฏิบัติ โดยเคยทำงานอยู่ในคณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา เสมสิกขาลัย เป็นสาราณียกรของปาจารยสารอยู่หลายปี และในปัจจุบันทำงานเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิ EarthRights International เชียงใหม่
หนังสือเรื่อง รั้วกับหน้าต่าง เป็นเรื่องราวที่เล่าจากสมรภูมิการต่อสู้ ของขบวนการที่พยายามแย่งชิงโลกาภิวัตน์มาจากเงื้อมมือของลัทธิเสรีนิยมใหม่ เพื่อให้โลกาภิวัตน์กลับมาเป็นของประชาชนคนเดินดินอย่างแท้จริง เรื่องราวทั้งหมดนี้ไม่มีวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีวีรกรรมที่ปราศจากข้อบกพร่อง เป็นเรื่องของคนธรรมดาสามัญที่ต้องการเขียนประวัติศาสตร์ด้วยตัวเอง เหมือนดังที่ชาวซัปปาติสตาบอกว่า "เราไม่สามารถสร้างประวัติศาสตร์ให้คุณได้ แต่เราขอบอกว่า คุณต่างหากที่ต้องสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมาเอง"
ภัควดี วีระภาสพงษ์
18 สิงหาคม 2546
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
หลายชั่วรุ่นมาแล้วที่มนุษย์เรามุ่งหวังจะแสวงหาคำตอบเดียว รอคอยวีรบุรุษหรือศาสดา ฝากความหวังไว้กับผู้เชี่ยวชาญ ยึดติดอยู่กับความแน่นอนของลัทธิอุดมการณ์บางอย่าง เวลาล่วงเลยนานเท่าไร สภาพของมนุษย์ก็มีแต่จะเลวร้ายลงกว่าเดิม คงถึงเวลาแล้วกระมังที่เราต้องสลัดทิ้งความเคยชินเดิม ๆ และตะโกนเหมือนอย่างชาวซัปปาติสตาว่า "มันมากเกินพอแล้ว!" ถึงเวลาที่เราต้องให้โอกาสแก่อนาธิปไตยทางความรู้ การริเริ่มของสามัญชน หัวเราะเยาะวีรบุรุษ และหัดสร้างความเคยชินว่า เมื่อใดก็ตามที่มีใครมาบอกคุณว่า นี่คือความจริงแท้แน่นอน เมื่อนั้นจงคาดหมายเถิดว่า นรกกำลังมารอรำไรอยู่เบื้องหน้า ไม่ว่าคนที่มาบอกคุณคนนั้นจะสวมหัวโขนของฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา หรือทางสายกลางก็ตาม