นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
R
related topic
270948
release date

คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด

เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

เราจะเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไรโดยไม่ยึดอำนาจ
"เราเดินด้วยคำถาม" บทสัมภาษณ์จอห์น ฮอลโลเวย์
แปลโดย
ภัควดี วีระภาสพงษ์
บทความชิ้นนี้ยินดีให้นำไปเผยแพร่ตามที่ผู้แปลระบุไว้

บทความชิ้นนี้แปลจาก

"Walking We Ask Questions" An Interview with John Holloway
by Marina Sitrin. 04.12.2004. Institute for Anarchist Studies
(http://www.anarchist-studies.org/)

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 681
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 18 หน้ากระดาษ A4)





เราจะเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไรโดยไม่ยึดอำนาจ?
"เราเดินด้วยคำถาม" บทสัมภาษณ์จอห์น ฮอลโลเวย์
จอห์น ฮอลโลเวย์ คือผู้เขียนหนังสือ Change the World Without Taking Power (Pluto Press, 2002) และร่วมเขียนใน Zapatista! Rethinking Revolution in Mexico (Pluto Press, 1998) มารีนา สิตริน กำลังบันทึกประวัติศาสตร์ปากเปล่า (ในภาษาสเปนและอังกฤษ) ของขบวนการสังคมต่าง ๆ ในอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับทุนจาก Institute for Anarchist Studies

ถาม: อยากให้คุณอธิบายว่า เหตุการณ์ใดหรือกิจกรรมใดในชีวิตคุณที่ชักนำคุณมาถึงจุดนี้ กล่าวคือจุดที่คุณกำลังทำงานหนักทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การท้าทายต่อแนวคิดของการยึดอำนาจ?

ตอบ: ผมคิดว่าจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนที่สุดมาจากภาคทฤษฎี ขณะที่กำลังศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับ รัฐ จากมุมมองของทฤษฎีมาร์กซิสต์ ทำให้ผมเริ่มสนใจสิ่งที่เรียกว่า "วิวาทะที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐ" เป็นการวิวาทะกันในหมู่นักทฤษฎีเยอรมันเป็นส่วนใหญ่ โดยเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1970

ประเด็นหลักในการวิวาทะก็คือ การพยายามทำความเข้าใจรัฐในฐานะรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีลักษณะเฉพาะในระบบทุนนิยม แม้ว่าผู้มีส่วนร่วมในการวิวาทะครั้งนั้นต่างพัฒนาแนวคิดนี้ไปในทิศทางทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่ในทัศนะของผม เห็นได้ชัดว่านัยยะของการวิวาทะทั้งหมดก็คือ เราไม่ควรคิดว่าการปฏิวัติจะเกิดขึ้นโดยอาศัยรัฐ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราต้องหาทางและพัฒนาลัทธิมาร์กซ์ที่ต่อต้านรัฐขึ้นมา แน่นอน แนวคิดนี้เกี่ยวพันแนบแน่นกับประสบการณ์ของยุค 1968 การต่อสู้ในทศวรรษ 1970 และขบวนการต่อต้านภาษีรายหัว (Anti-Poll Tax Movement) (1)

ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ผมย้ายมาอยู่ในเม็กซิโก จึงโชคดีอย่างยิ่งที่ได้อยู่ที่นั่นตอนที่ชาวซาปาติสตาลุกฮือขึ้นก่อกบฏพอดี แน่นอน เหตุการณ์นั้นแปรเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่าง มันทำให้การครุ่นคิดทางทฤษฎีและประสบการณ์ที่เก็บเล็กประสมน้อยทั้งหลาย ต้องนำมาพิจารณาภายในบริบทใหม่ นี่คือขบวนการขนาดใหญ่ที่ประกาศชัดเจนว่า "เราต้องการสร้างโลกใหม่ แต่เราไม่ต้องการยึดอำนาจ"

เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ หลายล้านคน ผมรู้สึกในตอนนั้นและยังรู้สึกมาจนถึงบัดนี้ว่า นี่แหละคือหนทางที่ถูกต้องที่สุด แต่เราจะให้เหตุผลอย่างไร? มันมีความหมายอย่างไรในเชิงโลกทัศน์ และโดยเฉพาะแนวคิดที่มีต่ออำนาจ? เราจะเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไรโดยไม่ยึดอำนาจ?

ถาม: ใช่แล้ว ฉันก็ตั้งคำถามเดียวกัน และฉันคิดว่าคนอื่น ๆ ทั่วโลกอีกนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะในปัจจุบัน กำลังตั้งคำถามนี้เหมือนกัน ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา และโดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีผู้คนจำนวนมากขึ้น ๆ ทั้งในชุมชนและขบวนการต่าง ๆ ต่างพูดเหมือนกันว่า: "ไม่ เราไม่ต้องการอำนาจรัฐ" สำหรับฉัน ชุมชนของซาปาติสตาในเชียปาสและขบวนการปกครองตนเอง (autonomous movements) (2) ในอาร์เจนตินาคือภาพสะท้อนความคิดนี้ ไม่ใช่แค่ในระดับอุดมการณ์ แต่ในทางปฏิบัติด้วย หรือไม่ก็แสดงออกมาในการปฏิบัติจนนำไปสู่การเกิดลัทธิอุดมการณ์ คุณคิดว่าอะไรทำให้ประชาชนจากหลากหลายกลุ่มต่างปฏิเสธแนวคิดในการยึดอำนาจ โดยเฉพาะชาวอาร์เจนตินาและซาปาติสตาท้าทายแนวคิดนี้อย่างเป็นรูปธรรมโดยตรง? ทำไมถึงเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้?

ตอบ: ทำไมคนเป็นจำนวนมากขึ้น ๆ เริ่มหันหลังให้รัฐในตอนนี้น่ะหรือ? ส่วนหนึ่งผมคิดว่า มันเป็นประเด็นที่เกิดมาจากประสบการณ์สั่งสม ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงโลกโดยอาศัยรัฐทุกครั้งล้วนประสบความล้มเหลว การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศที่ถูกเรียกว่า "คอมมิวนิสต์" เท่านั้น มันยังเกิดขึ้นกับรัฐบาลปฏิรูปหรือสังคมนิยมประชาธิปไตยทุกแห่งทั่วโลกด้วย ประธานาธิบดีลูลาในบราซิลเป็นแค่ความผิดหวังรายล่าสุดในแถวอันยาวเหยียด

ยิ่งกว่านั้น ไม่ใช่แค่รัฐบาล "ฝ่ายซ้าย" ทั้งหมดไม่สามารถทำให้ความคาดหวังของประชาชนที่สนับสนุนกลายเป็นความจริงขึ้นมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมในกระบวนการยึดอำนาจรัฐ ทำให้เราเห็นแต่การเล่นการเมืองในแบบราชการ, ลำดับชั้น, แปลกแยก ซึ่งแตกต่างห่างไกลสุดกู่จากสังคมที่เราวาดหวังจะสร้างสรรค์ การทุ่มโถมความคับแค้นใจต่อต้านลัทธิทุนนิยมเพื่อเป็นพลังในการยึดอำนาจหรือสร้างอิทธิพลภายในรัฐ กลับหมายถึงการที่เราชักนำกิจกรรมของตัวเองเข้าสู่ตรรกะของอำนาจ และตรรกะของอำนาจคือตรรกะของการประนีประนอมกับทุน

มีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนหันหน้าหนีจากรัฐ นั่นคือ รัฐเองก็กำลังเปลี่ยนไป ความก้าวร้าวที่นับวันจะรุนแรงขึ้นของทุน ทำให้การปฏิรูปโดยอาศัยรัฐที่เคยมีความหมายอยู่บ้าง กลับมีช่องทางเป็นไปได้น้อยลง ๆ ทุกที รัฐสวัสดิการเคยเป็นหนทางหนึ่งในการรวบรวมประชาชนเข้าสู่ระบบ แต่เดี๋ยวนี้มีพื้นที่เหลือให้รัฐสวัสดิการน้อยมาก ผมไม่คิดว่าเราควรพยายามรื้อฟื้นรัฐสวัสดิการขึ้นมาใหม่ แต่เราน่าจะสร้างสังคมใหม่ขึ้นมาบนพื้นที่ที่ต่อต้านรัฐ ซึ่งกำลังเปิดกว้างขึ้นจากการที่รัฐหดตัวลง

ถาม: คำตอบของคุณทำให้ฉันอดยิ้มไม่ได้ เมื่อหวนนึกถึงความหลัง แม้จะไม่ใช่เรื่องหวานชื่นนัก (ใครบ้างไม่เคยเป็นสาวกของเชหรือทร็อตสกีมาก่อน?) เมื่อก่อน ฉันก็เป็นคนหนึ่งในกลุ่มที่คิดว่า หนทางเดียวในการกำจัดทุนนิยมและความเลวร้ายของมันคือ ต้องล้มล้างรัฐและหาอะไรอย่างอื่นมาแทนที่ อะไรสักอย่างที่คิดว่าดีกว่า เดี๋ยวนี้ฉันไม่คิดแล้วว่า เราจำเป็น-หรือควรยึดอำนาจด้วยซ้ำ

ดังที่สหายคนหนึ่งในขบวนการของอาร์เจนตินาเตือนสติฉันว่า ต่อให้ยึดรัฐมาได้ เราจะทำอะไรกับมันล่ะ? "การยึดอำนาจเป็นแนวคิดที่ล้าสมัยไปแล้ว และไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการด้วย เราควรกลับไปหาชุมชนดีกว่า" ฉันมีคำถามมากมาย แต่ไม่แน่ใจว่าควรเริ่มต้นตรงไหน ในขั้นพื้นฐานที่สุด อะไรคือสิ่งที่เราต้องการ? เราจะสร้างอะไรขึ้นมาระหว่างที่ต่อสู้กับการรวมศูนย์อำนาจและรัฐ? เราจะทำอย่างไรเมื่อรัฐเข้ามาก้าวก่ายในชุมชนของเรา? ฉันเชื่อใน "การเมืองที่ใฝ่ฝันถึงอนาคต" (prefigurative politics )(3) แต่กระนั้นก็ตาม เราจะทำอย่างไรหากรัฐเข้ามาแทรกแซงและพยายามแยกสลายชุมชนของเรา?

นี่ไม่ใช่คำถามนามธรรมอะไรเลย โดยเฉพาะเมื่อดูจากความเป็นจริงอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับขบวนการแรงงานไร้ที่ดิน (Movimiento Trabajadores Desocupados-MTDs) ของอาร์เจนตินาและขบวนการซาปาติสตา

ตอบ: ผมคิดว่าเราต้องเริ่มต้นด้วยการยอมรับว่า เราไม่มีคำตอบ การที่เราเชื่อว่า การยึดอำนาจรัฐเป็นหนทางที่ผิด ไม่ได้หมายความว่าเรารู้หนทางที่ถูก เราคงต้องหัดคิดถึงการก้าวไปข้างหน้าด้วยการทดลองและตั้งคำถาม เหมือนอย่างที่ชาวซาปาติสตากล่าวว่า : "preguntando caminamos" ["เราเดินด้วยคำถาม"] การคิดว่าเราก้าวไปข้างหน้าด้วยคำถามมากกว่าคำตอบ ย่อมหมายถึงการเมืองในรูปแบบที่แตกต่างออกไป การจัดตั้งในรูปแบบที่ไม่เหมือนเดิม ในเมื่อไม่มีใครรู้คำตอบ เราจึงต้องเลิกคิดในรูปแบบของโครงสร้างการสั่งการแบบลำดับชั้น แต่คิดในรูปแบบของโครงสร้างแนวระนาบที่ให้ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

อะไรคือสิ่งที่เราต้องการ? ผมคิดว่าเราต้องการสิทธิในการกำหนดชีวิตของตัวเอง ความเป็นไปได้ที่จะสร้างชีวิตของเราเอง อันเป็นสมมติฐานเบื้องต้นในความเป็นมนุษย์ของเรา นี่ย่อมหมายถึงสิทธิในการกำหนดชีวิตตัวเองของคนหมู่มากด้วย เพราะอะไรก็ตามที่เราทำ มีความเกี่ยวพันกับสิ่งที่คนอื่นทำอย่างแนบแน่น แรงผลักดันเพื่อไปสู่สิทธิในการกำหนดชีวิตตัวเองของคนหมู่มากควรเป็นหลักการชี้นำ เป็นเสมือนดวงดาวแห่งอุดมคติที่ฉายแสงส่องคำถามและการทดลองของเรา

แน่นอน นั่นหมายถึงการเมืองแบบต่อต้านรัฐ ไม่ใช่ในความหมายของการไม่ยอมเกี่ยวข้องกับรัฐ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับพวกเราส่วนใหญ่) แต่ในความหมายของการยอมรับว่า รัฐเป็นรูปแบบองค์กรสังคมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสิทธิในการกำหนดชีวิตของตัวเอง

เราควรทำอย่างไรเมื่อรัฐพยายามแยกสลายเรา? ผมคิดว่า ความรุนแรงเป็นปัญหาสำคัญที่สุดประการหนึ่ง เราจะเผชิญหน้ากับความรุนแรงของรัฐอย่างไร? ไม่ใช่พยายามเข้าไปควบคุมรัฐ เพราะการควบคุมรัฐมักกลายเป็นการถูกรัฐควบคุมเสมอ และไม่ใช่เผชิญหน้ากับความรุนแรงด้วยความรุนแรง เพราะเหตุผลสองประการคือ "ประการแรก" เราคงพ่ายแพ้ "ประการที่สอง" นั่นเท่ากับเราตกอยู่ในวังวนของการใช้รูปแบบทางการเมืองที่ผลิตซ้ำสิ่งที่เรากำลังต่อต้าน แต่ถ้าเช่นนั้น จะทำอย่างไรดี?

การป้องกันตัวเองมีความสำคัญในหลายกรณี ไม่ใช่เพื่อ "เอาชนะ" กองกำลังของรัฐ แต่ทำให้รัฐไม่อยากเข้ามาแทรกแซงต่างหาก อย่างไรก็ตาม รูปแบบของการป้องกันตัวที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ ความเหนียวแน่นของความสัมพันธ์ทางสังคมที่ถักทอขึ้นมาจากการต่อสู้ สิ่งที่คุ้มครองชาวซาปาติสตาได้ดีที่สุดไม่ใช่การจัดตั้งในฐานะกองทัพ (แม้ว่าผมไม่ได้มองข้ามความสำคัญของกองทัพก็ตาม) แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ความลึกซึ้งของการเกื้อหนุนกันด้วยความสัมพันธ์ทางสังคมที่พวกเขาถักทอขึ้นมา ทั้งในชุมชนของตนเองและกับผู้คนนอกชุมชน เช่นเดียวกับในกรณีของขบวนการปีเกเตโรส์ (piqueteros: ขบวนการปิดถนนของคนไร้งานในอาร์เจนตินา) หรือศูนย์สังคมในอิตาลี (4) หรือในขบวนการต่อสู้อื่น ๆ อีกมาก

ถาม: ฉันเชื่อว่า มีคนทั่วโลกเห็นด้วยกับวิสัยทัศน์ที่คุณสะท้อนออกมาด้วยคำพูดทั้งหมดนี้มากขึ้นทุก ๆ วัน ฉันยังเชื่ออีกว่า นี่คือส่วนหนึ่งของการเมืองแนวใหม่ที่วางรากฐานอยู่บนประสบการณ์ใหม่ คุณคิดว่าแนวคิดที่คุณอธิบายนี้เป็นสิ่งใหม่หรือไม่? ถึงแม้จะใหม่ แต่ฉันไม่เชื่อว่ามีอะไรในโลกที่ใหม่จนไม่เคยมีมาก่อน และทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีความเกี่ยวเนื่องกับประสบการณ์ ความคิด และความรู้สึกที่มีมาก่อนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คุณคิดอย่างไร? ขบวนการ (ต่าง ๆ ) ในปัจจุบันได้รับอิทธิพลมาจากแหล่งใดบ้าง? คำถามของฉันกินความไปถึงความรู้สึกและประสบการณ์ ไม่ใช่เพียงแค่แนวคิดที่อธิบายออกมาเท่านั้น

ตอบ: สิ่งที่ใหม่และน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับการรื้อฟื้นแนวคิดนี้ขึ้นมาอีกครั้งก็คือ เส้นแบ่งเก่า ๆ ระหว่างอนาธิปไตยกับลัทธิมาร์กซ์กำลังลบหายไป การล่มสลายของสหภาพโซเวียตและพรรคคอมมิวนิสต์จำนวนมาก ก่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนครั้งใหม่แก่จารีตของลัทธิมาร์กซิสต์นอกคอกที่มีอยู่อย่างโดดเด่นมายาวนาน ผมกำลังหมายถึงคนอย่าง บลอค (5), ลูคัช (6) ในวัยหนุ่ม, ปาชูกานิส (7), อดอร์โน (8), มาร์คูเซ (9), ปันเนอคุก (10) และนักคิดทั้งหมดในสายลัทธิคอมมิวนิสต์สภาแรงงาน (council communism) (11) และกลุ่ม autonomists อิตาลี (12) สำหรับผม คนเหล่านี้มีอิทธิพลทางความคิดที่น่าตื่นเต้นที่สุด แต่แน่ล่ะ ฮาร์ดท์และเนกรี, ฟูโกต์, เดอเลอซ (13) และ กัวตารี (14) เป็นเสียงที่สำคัญอย่างยิ่งในพัฒนาการของขบวนการปัจจุบันเช่นกัน

ถาม: แม้ว่าฉันเห็นด้วยกับคำตอบของคุณ แต่ฉันก็ยังสงสัยเกี่ยวกับวิธีการต่าง ๆ ในสร้างทฤษฎีขึ้นมาอธิบาย ยกตัวอย่างเช่น ในขบวนการ MTDs ในอาร์เจนตินา มีหลายคนกำลังพูดถึงความสำคัญของการจัดตั้งที่มีรากฐานมาจากความรู้สึกผูกพันเป็นอันดับแรก หรือที่เรียกกันว่า "politica afectiva" (15) ในขณะเดียวกัน คนจำนวนมากในขบวนการปกครองตัวเองก็พูดถึง "horizontalidad" (horizontalism การจัดตั้งแนวระนาบ) ในฐานะเป็นเครื่องมือและเป้าหมายในการสร้างความสัมพันธ์เท่า ๆ กับเป็นวิสัยทัศน์ สำหรับฉัน นี่ไม่ใช่เพียงแค่รูปแบบในการจัดตั้ง แต่เป็นทฤษฎีในตัวมันเองด้วย คุณคิดว่าในการสร้างทฤษฎีขึ้นมาอธิบาย มันมีความแปลกใหม่ไปจากเดิมหรือเปล่า?

ตอบ: ถูกต้อง Rail Zibechi เน้นย้ำความสำคัญของ "politica afectiva" อย่างมากในหนังสือที่เขาเขียนเกี่ยวกับการปฏิวัติของชาวอาร์เจนตินาที่ชื่อว่า Genealogia de la Revuelta [ Genealogy of the Revolt ] ผมคิดว่านั่นสำคัญมาก เพื่อให้การต่อสู้ของเราเข้มแข็ง ผมคิดว่าเราต้อง "ต่อต้านการเมือง" หมายถึงมุ่งที่จะก้าวข้ามการแบ่งแยกการเมืองออกจากชีวิตประจำวัน (กล่าวคือ ต่อต้านการเมืองในความหมายที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า การเมืองคือสถาบันที่เกิดจากการแยกรัฐออกจากสังคม)

นั่นหมายถึงต้องเข้าใจเสียใหม่ว่า การต่อสู้คือสิ่งที่หยั่งรากในประสบการณ์ของชีวิตประจำวัน ซึ่งย่อมรวมถึงความรู้สึกรักใคร่ผูกพันด้วย ทั้งหมดนี้มีนัยยะถึงความเข้าใจต่อความหมายของทฤษฎีที่แตกต่างออกไป รวมไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีกับประสบการณ์ แน่นอน มันหมายถึงการวิพากษ์ลัทธิเลนินอย่างถึงรากถึงโคนด้วย

คำพูดสำคัญที่สุดประโยคหนึ่งที่ซาปาติสตากล่าวไว้ก็คือ "เราเป็นสามัญชน....ก็คือเป็นขบถ" ผมคิดว่าในทางทฤษฎีและในทางการเมือง นี่คือคำประกาศที่ท้าทายที่สุดในการก่อกบฏของขบวนการซาปาติสตา

ทำอย่างไรเราถึงจะเข้าใจว่าการขบถเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของสามัญชน? เราจะแสดงออกถึงการขบถนั้นอย่างไร?

ถาม: ใช่แล้ว ต่อต้านการเมือง เพื่อนของฉันที่ชื่อ คันดีโด ซึ่งเป็นคนหนึ่งในกลุ่มคนงานที่ยึดโรงพิมพ์ในบูเอโนสไอเรส เขาเคยกล่าวคำพูดที่ชัดเจนทีเดียวว่า เขาไม่ได้เล่นการเมือง แต่เป็นส่วนหนึ่งของสถานประกอบการที่มีระบบบริหารแนวระนาบ และใช้เวลาว่างไปกับการปราศรัยให้คนงานในที่ต่าง ๆ รับรู้ว่า พวกเขาสามารถยึดสถานประกอบการมาบริหารเองได้และจะทำได้อย่างไร ต่อต้านการเมือง ฉันรู้สึกถึงเรื่องนี้ชัดเจนมากขึ้น เมื่อพูดถึงขบวนการต่าง ๆ ที่กำลังก้าวขึ้นสู่การจัดตั้งในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นซาปาติสตา, ชาวอาร์เจนตินา, กลุ่มปกครองตัวเองในแอฟริกาใต้, ขบวนการแรงงานไร้ที่ดิน (MST) ในบราซิล ฯลฯ

การต่อต้านการเมืองจะมีความหมายอย่างไรต่อผู้คนที่อยู่ในขั้นตอนการจัดตั้งที่แตกต่างออกไป? เราจะพูดถึงการต่อต้านการเมืองได้อย่างไร ในขณะที่งานของเราส่วนใหญ่เป็นการพูดคุยเสียมาก? เราจะแสดงออกอย่างไรถึงการขบถในชีวิตประจำวัน? และทำอย่างไรเราจะไม่หมดความอดทน?

ตอบ: แต่ผมคิดว่าเราควรหมดความอดทนนะ ผมคิดว่าเราต้องไม่อดทน รัฐหมายถึงความอดทน ในทั้งสองความหมาย ความอดทนในความหมายของการรอคอย รอคอยการเลือกตั้งครั้งต่อไป รอคอยจนกว่าเราจะสร้างพรรคหรือองค์กรที่สามารถเอาชนะ, มีอิทธิพลหรือยึดอำนาจรัฐได้ อดทนในความหมายของการนิ่งเฉยด้วย ในความหมายของการยอมตกเป็นเบี้ยล่างและไม่ได้เป็นผู้ลงมือเปลี่ยนแปลงสังคม เรารอไม่ได้อีกแล้ว

มนุษยชาติกำลังมุ่งทะยานไปสู่การทำลายตัวเองด้วยอัตราเร่งที่รวดเร็วอย่างยิ่ง เรายิ่งรอไม่ได้เพราะการรอก็คือการสมรู้ร่วมคิดอย่างหนึ่ง เราผลิตซ้ำทุนนิยมกันอยู่ทุกวันและเราต้องหยุดกระบวนการนี้ให้ได้ ส่วนการปฏิเสธ คำถามแรกคือ เราจะปฏิเสธอย่างไรและเราจะสร้างความเข้มแข็งให้การปฏิเสธนั้นอย่างไร? และการปฏิเสธหมายถึงความไม่อดทน ทำให้เวลาสะดุด ทำให้ประวัติศาสตร์สะดุด

แต่ปัญหาที่ชัดเจนที่สุดที่เกิดขึ้นกับการปฏิเสธก็คือ ถ้าเราปฏิเสธไม่ยอมรับใช้ทุน เราก็อาจต้องอดตาย การยอมก้มหัวให้ทุนคือช่องทางให้เราเข้าถึงปัจจัยในการอยู่รอด ถ้าเราไม่ยอมก้มหัวให้ เราจะอยู่รอดได้อย่างไร? ผมจึงคิดว่า การปฏิเสธต้องมาพร้อมกับการพัฒนาหนทางเลือกอื่นด้วย หนทางที่เกิดจากความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นทางเลือกใหม่ และใช่แล้ว ตรงนี้เองที่ต้องอาศัยความอดทน นี่คือจุดที่ยากลำบาก แต่เราต้องทำความเข้าใจว่า ความอดทนคือสิ่งที่ใช้หนุนเสริมความไม่อดทน ไม่ใช่สิ่งที่กดมันไว้

ทฤษฎีปฏิวัติเดิม ๆ มักเป็นไปในทางตรงข้าม เราต้องรอจนเวลาสุกงอม รอวิกฤตการณ์ทุนนิยมครั้งต่อไป รอจนสร้างพรรคเสร็จก่อน ฯลฯ ความไม่อดทนต้องก้มหัวให้ความอดทน ผมคิดว่านั่นเป็นวิถีทางที่ผิดพลาด ความอดทนต้องยอมก้มหัวให้ความไม่อดทนต่อทุนนิยม ภูมิปัญญาคร่ำหวอดต้องรับใช้ความหุนหันของวัยหนุ่มสาว

ความอดทนและไม่อดทน ความรู้สึกต่อเวลาทั้งสองแบบนี้มีอยู่อย่างชัดเจนในขบวนการใหญ่ ๆ บางขบวนการในปัจจุบัน

ชาวซาปาติสตากล่าวว่า iYa Basta! ("พอกันที!") แต่พร้อมกันนั้นก็กล่าวว่า " caminamos, no corremos, porque vamos muy lejos " ("เราเดิน ไม่ใช่วิ่ง เพราะเรากำลังจะเดินทางไกลมาก") ในอาร์เจนตินาเช่นกัน มีความไม่อดทนอยู่ในคำขวัญที่ว่า ?Que se vayan todos ! ("ไล่พวกมัน [หมายถึงนักการเมือง] ไปให้หมด!") แต่ในขณะเดียวกัน (อย่างน้อยก็ในบางกลุ่ม) พวกเขาให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำอะไรไปด้วยจังหวะเวลาของตัวเอง การสร้างระบบเวลาที่แตกต่างจากทุนนิยม เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างสรรค์ชุมชนทางเลือกใหม่ขึ้นมา

ผมไม่แน่ใจว่า นี่ตอบคำถามของคุณเกี่ยวกับขบวนการในระดับที่เล็กลงมาหรือไม่ แต่ผมรู้สึกว่า ตรรกะในลักษณะเดียวกันนี้ยังใช้ได้ กล่าวคือ อันดับแรกคือการปฏิเสธ จากนั้นก็หยั่งรากการปฏิเสธด้วยการสร้างสรรค์ทางเลือกใหม่ ดังที่เพื่อนชาวอาร์เจนตินาของเรากล่าวว่า การต่อต้านขัดขืนคือการสร้างสรรค์

ถาม: คุณตอบคำถามได้มากทีเดียว โดยไม่มีสูตรสำเร็จด้วย จุดนี้นำเรากลับไปหาประโยคที่ว่า "เราเดินด้วยคำถาม"

ฉันกำลังนึกถึงเรื่องที่เราเพิ่งพูดคุยกันไปก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับการถ่ายทอดทางทฤษฎีที่แตกต่างออกไปในขบวนการต่าง ๆ และยังมีข้อสงสัยอยู่ดี ฉันสงสัยว่า ทำไมไม่ค่อยมีคนในขบวนการเขียนถ่ายทอดทฤษฎีเหล่านี้ออกมา ฉันยังสงสัยด้วยว่า นี่สะท้อนถึงทัศนคติต่อทฤษฎีที่แตกต่างกันไปหรือเปล่า ในประวัติศาสตร์ มีนักเคลื่อนไหวทางสังคมหลายคนที่ครุ่นคิดทางทฤษฎีจากการต่อสู้ของตัวเอง นับตั้งแต่ ริคาร์โด ฟลอเรส มากอน (16), เอลิซาเบธ เกอร์ลี ฟลีนน์ (17), และเฟรเดอริค ดักลาส (18), ไปจนถึงลูอิซ มิเชล (19) หรือสตีฟ บีโก (20) คำถามนี้เข้าท่าหรือเปล่า? ฉันหมายถึงฉันสงสัยว่า ทำไมจึงมีคนในขบวนการน้อยคนเหลือเกินที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์ของตัวเอง และทั้งนี้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่แตกต่างกันไปต่อการเขียนทฤษฎีหรือเปล่า ถึงที่สุดแล้ว "เนกรี"กับ"ซาปาติสตา"กำลังพูดเรื่องเดียวกันหรือเปล่า? หรือมันเป็นแค่ปัญหาของการถ่ายทอด?

ตอบ: ผมไม่แน่ใจว่าเข้าใจคำถามนี้ ผมคิดว่ามีหลายคนที่กำลังเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น [รองผู้บัญชาการ] มาร์กอส เป็นต้น หรืออย่างในอาร์เจนตินาก็มีกลุ่ม Colectivo Situaciones ที่ทำงานร่วมกับ MTD Solano (21) บางทีคงเป็นเพราะข้อเขียนจำนวนมากอยู่บนอินเตอร์เน็ตเป็นส่วนใหญ่

ส่วนที่ว่า"เนกรี"กับ"ซาปาติสตา"กำลังพูดเรื่องเดียวกันหรือเปล่า? นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ไม่แน่ว่าพวกเขาอาจกำลังพูดเรื่องเดียวกัน เพียงแต่จากมุมมองที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ถาม: ฉันคงถ่ายทอดคำถามออกมาได้ไม่ชัดเจนพอ แต่ก็ยังรู้สึกถึงมันอยู่ดี ฉันกำลังพยายามพูดถึงช่องว่างที่ฉันรู้สึก เวลาที่อ่านทฤษฎีเกี่ยวกับขบวนการปกครองตัวเอง และข้อเขียนที่คนในขบวนการเหล่านั้นพูดถึงประสบการณ์ของพวกเขา มันไม่ใช่แค่ความแตกต่างระหว่างการครุ่นคิดแบบวิชาการกับการบรรยายประสบการณ์ แต่เป็นภาษาที่แตกต่างกัน ซึ่งบางครั้งใช้พูดถึงสถานการณ์เดียวกัน ฉันจะคิดเรื่องนี้ให้มากกว่านี้ก่อน

คำถามอีกข้อหนึ่ง มีประชาชนจำนวนมากรวมตัวกันประท้วงในนิวยอร์ก ในวาระที่พรรครีพับลิกันจัดประชุมใหญ่ประจำปี โดยมุ่งประเด็นไปที่ประธานาธิบดีบุชกับสงครามอิรัก ในขณะที่มีคนจำนวนมากตะโกนคำว่า "ไม่" ใส่จักรวรรดิ ฯลฯ ส่วนอีกด้านหนึ่งก็มีความพยายามที่ทุ่มเทให้กับการสร้างนิมิตหมายถึงสิ่งที่เราต้องการ เพื่อบ่งบอกว่าอะไรคือความ "ใช่" ที่หลากหลายของเรา คุณคิดอย่างไรกับการรวมตัวประท้วงการประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง รวมไปจนถึงกระบวนการเลือกตั้งทั่ว ๆ ไปด้วย?

มันคุ้มค่ากับเวลาและพลังงานที่ทุ่มเทไปหรือเปล่า? เราสามารถจัดประท้วงระบบเลือกตั้งโดยไม่เข้าไปพัวพันกับรัฐทางใดทางหนึ่งหรือไม่? คนอย่างบุชและสมัครพรรคพวกทำให้เกิดข้อแตกต่างอะไรบ้างหรือเปล่า?

ตอบ: ผมคิดว่ามีรัฐที่แย่และรัฐที่เลวร้าย รัฐบาลที่แย่และรัฐบาลที่เลวร้าย แน่ล่ะ รัฐบาลบุชเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เลวร้ายที่สุด ใช่ การหาทางโค่นล้มมันก็สำคัญเหมือนกัน แต่โดยรวมแล้ว ผมคิดว่าเราควรต้องจัดวาระของเราเอง มีสำนึกเรื่องเวลาของเราเอง แต่ย่อมมีบางครั้งบางคราวที่เราต้องพยายามทำอะไรหวือหวา เพื่อต่อต้านอะไรที่หวือหวา ทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อแสดงถึงความเดียดฉันท์และการปฏิเสธ รวมทั้งนำเสนอวิสัยทัศน์ที่แตกต่างออกไปถึงโลกอื่นที่เป็นไปได้ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราต้องพัวพันกับรัฐ แต่ประเด็นก็คือ เราต้องไม่ผลิตซ้ำตรรกะและรูปแบบองค์กรของรัฐขึ้นมาอีกในการพัวพันนี้

ถาม: มีอะไรในโลกนี้บ้างที่ให้ความหวังแก่คุณ?

ตอบ: ความหวังใด ๆ ในทุกวันนี้ ย่อมเป็นความหวังที่ต่อต้านความหวัง ความหวังว่าแม้ทุกสิ่งทุกอย่างจะชี้ไปในทิศทางของการทำลายตัวเองของมนุษยชาติ เราก็ยังสามารถสร้างโลกที่ดีกว่านี้ได้ โลกที่มีคุณค่าสมกับความเป็นมนุษย์ ความหวังที่ต่อต้านความหวัง กระนั้น มันก็ยังเป็นความหวังแน่นอน การเป็นมนุษย์หมายถึง เราย่อมมุ่งหน้าไปสู่การสร้างสรรค์ความเป็นมนุษย์ของตัวเราเองเสมอ

ความหวังแฝงอยู่ในชีวิตประจำวัน ในทุกสิ่งที่ชี้ไปในทิศทางที่ตรงข้ามและก้าวพ้นความสัมพันธ์ทางสังคมแบบทุนนิยม ไม่ว่าความรัก, มิตรภาพ, ความสมานฉันท์, การยอมรับซึ่งกันและกัน, ศักดิ์ศรี องค์ประกอบพื้นฐานของความเป็นมนุษย์เหล่านี้ดำรงอยู่ และนับวันจะทวีขึ้น แม้ว่ามันจะขัดแย้งกับระบบทุนนิยมอย่างเปิดเผยก็ตาม เราไม่ควรคิดเพียงแค่ "ชีวิตหลังทุนนิยม" (ดังที่การประชุมในนิวยอร์กเมื่อสุดสัปดาห์นี้เสนอไว้) หรือแม้แต่ "ชีวิตท่ามกลางทุนนิยม" (ดังที่เวทีสังคมยุโรปในลอนดอนเสนอไว้)

แต่เราต้องคิดในแง่ของชีวิตที่ต่อต้านและข้ามพ้นทุนนิยม เพราะสำหรับคนจำนวนมากขึ้น ๆ เรื่องที่พื้นฐานที่สุดหลายอย่างในชีวิต (เช่น ความรัก, การเล่นกับลูกหลาน, การใช้เวลากับเพื่อนฝูง ฯลฯ) กลับกลายเป็นสิ่งที่นับวันยิ่งยากจะประนีประนอมกับระบบทุนนิยมมากขึ้นทุกที ๆ

นอกจากนั้น แน่นอนว่าขบวนการต่อสู้ที่ผลิบานขึ้นมาใหม่ในช่วงสิบปีหลัง (โดยเฉพาะนับตั้งแต่การก่อกบฏของซาปาติสตาเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1994) เป็นแหล่งอันอุดมสมบูรณ์ของความหวัง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมันหยั่งรากลึกในการปฏิบัติของชีวิตประจำวันด้วย

ถาม: แล้วคุณใฝ่ฝันถึงอะไร?

ตอบ: มาร์กอสเคยให้คำตอบที่น่ารักมากต่อคำถามคล้าย ๆ กันนี้ เมื่อเขาถูกสัมภาษณ์ในบริบทที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลภาพยนตร์ครั้งหนึ่ง เขาพูดว่า เขาใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่ง เราทุกคนจะมีชีวิตอยู่ในสูจิบัตรเทศกาลภาพยนตร์ (cartelera) ซึ่งเราสามารถเลือกใช้ชีวิตกับหนังไม่ซ้ำเรื่องในแต่ละวัน...ชาวซาปาติสตาต้องกบฏ เพราะพวกเขาถูกบังคับให้ดูหนังเรื่องเดิมซ้ำซากมาตลอดห้าร้อยปี

ผมคิดว่านั่นเป็นคำตอบที่น่ารักมาก เพราะมันบ่งชี้ถึงสิทธิในการกำหนดชีวิตตัวเองอย่างสมบูรณ์แบบ สิทธิในการกำหนดชีวิตของตัวเอง (กล่าวคือ สิทธิในการกำหนดชีวิตตัวเองของคนหมู่มาก เพราะสิทธินี้ไม่มีทางเป็นอย่างอื่นไปได้) หมายถึง การปลดแอกจากอดีต, การปลดแอกจากประวัติศาสตร์, ความสามารถในการสร้างสรรค์ตัวเราขึ้นมาใหม่เอี่ยมทุก ๆ วัน (หมายรวมถึงสมมติฐานในความเป็นมนุษย์ของเรา ซึ่งมาพร้อมกับความรับผิดชอบทุกประการด้วย) ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจินตนาการถึงสังคมที่มีสิทธิในการกำหนดชีวิตตัวเองอย่างสมบูรณ์ เพราะมันย่อมหมายถึงการมีชีวิตที่เต็มอิ่มและเข้มข้น แค่วาดภาพในจินตนาการก็ยากแล้ว นั่นแหละคือความใฝ่ฝันของผม

++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) Poll Tax (หรือในชื่ออื่นคือ Head Tax และ Capitation) คือภาษีรายหัวหรือภาษีรัชชูปการ ซึ่งเรียกเก็บจากพลเมืองทุกคนในอัตราตายตัวเท่ากันทุกคน ตรงข้ามกับในปัจจุบันที่คิดภาษีตามอัตราส่วนของรายได้ การเก็บภาษีรัชชูปการนี้เป็นรายได้หลักของรัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศมาจนถึงศตวรรษที่ 19 ในขณะเดียวกันก็เป็นชนวนให้เกิดการจลาจลประท้วงหลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เพราะความไม่ยุติธรรมที่คนจนต้องเสียภาษีในอัตราเท่ากับคนรวย

ในประเทศอังกฤษ สมัยรัฐบาลนางมาร์กาเร็ต แธทเชอร์ มีการพยายามรื้อฟื้นภาษีในลักษณะคล้าย ๆ ภาษีรัชชูปการนี้ โดยใช้ชื่อว่า Community Charge เพื่อมาแทนที่ภาษีบำรุงท้องที่หรือภาษีโรงเรือนแบบเก่า ภาษีในระบบเก่านั้นจะคิดภาษีจากราคาประเมินของเคหสถาน ในขณะที่ระบบใหม่จะเก็บภาษีในอัตราตายตัวตามรายหัวของผู้อยู่อาศัยที่เป็นผู้ใหญ่ โดยถือว่าเป็นการคิดค่าธรรมเนียมจากพลเมืองที่ใช้สาธารณูปโภคของท้องถิ่น แม้ว่าจะมีการลดหย่อนภาษีให้คนจนก็ตาม แต่การเก็บภาษีในระบบใหม่ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการผลักภาระภาษีของคนรวยมาให้คนจนอยู่ดี

ระบบภาษีท้องถิ่นแบบใหม่นี้ถูกนำมาใช้ในสกอตแลนด์เป็นแห่งแรกในปีงบประมาณ ค.ศ. 1989/90 และเริ่มใช้ในอังกฤษและเวลส์ในปีถัดไป มันสร้างความไม่พอใจให้ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะทำให้คะแนนนิยมของพรรคคอนเซอร์เวทีฟตกต่ำอย่างหนักในหมู่ชาวสกอตมาจนถึงปัจจุบัน ความไม่พอใจลุกลามจนกลายเป็นการประท้วงถึงขั้นจลาจล ประชาชนรวมตัวกันเป็นขบวนการทั้งในสกอตแลนด์ อังกฤษและเวลส์ มีประชาชนถึง 18 ล้านคนไม่ยอมเสียภาษีนี้ แม้ว่าการไม่เสียภาษีจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ประชาชนก็ยังใช้วิธีดื้อแพ่ง ความปั่นป่วนนี้มาปะทุถึงจุดสูงสุดในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1990 ในการประท้วงที่จัตุรัสทราฟัลการ์ในกรุงลอนดอน มีประชาชนร่วมการประท้วงกว่า 200,000 คน รวมทั้งนายเทอร์รี่ ฟีลดส์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคแรงงาน ถูกจับขังคุกเป็นเวลา 60 วัน เนื่องจากไม่ยอมจ่ายภาษี

นักการเมืองของพรรคคอนเซอร์เวทีฟเริ่มตระหนักว่า พรรคของตนต้องแพ้การเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอน ถ้ายังไม่ยกเลิกภาษีนี้ แต่ตราบเท่าที่ผู้นำพรรคยังคงเป็นนางแธตเชอร์ผู้มีแนวทางแข็งกร้าว การยกเลิกนโยบายย่อมไม่มีทางทำได้ พวกเขาจึงกดดันจนนางแธตเชอร์ต้องยอมลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคในเดือนพฤศจิกายน 1990 และภาษี Community Charge จึงถูกยกเลิกไปในที่สุด

(2) หมายถึงขบวนการประชาชนจำนวนมากที่เกิดขึ้นในอาร์เจนตินา หลังจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี ค.ศ. 2001 ขบวนการเหล่านี้มีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การรวมตัวของชุมชนละแวกบ้านเพื่อแก้ปัญหาในท้องถิ่น, การบุกรุกที่ดินเพื่อสร้างชุมชนพึ่งตนเอง, การยึดโรงงานที่ล้มละลายมาบริหารเองโดยคนงาน ไปจนถึงการใช้ระบบเงินตราชุมชน ฯลฯ โดยขบวนการทั้งหมดนี้มีจุดร่วมกันตรงที่ปฏิเสธพรรคการเมือง และพยายามให้อำนาจรัฐเข้ามาก้าวก่ายน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้

(3) Prefigurative politics เป็นแนวคิดที่เชื่อว่า การสร้าง "สังคมในอนาคต" ขึ้นอยู่กับวิธีปฏิบัติของเราในปัจจุบัน ไม่ว่าในการใช้ชีวิต ความสัมพันธ์กับผู้อื่น การจัดตั้งองค์กร ฯลฯ แนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากเฟมินิสต์ด้วยคำขวัญที่ว่า "การเมืองคือเรื่องส่วนตัว" นักเคลื่อนไหวทางสังคมที่รับแนวคิดนี้ยืนยันว่า รูปแบบการทำงานทางการเมืองไปจนถึงการใช้ชีวิตจะต้องสอดคล้องกับเป้าหมาย เช่น ต้องพยายามใช้ชีวิตอย่างไม่ทำลายธรรมชาติ มีความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างมีจริยธรรม มีการจัดตั้งที่ไม่มีโครงสร้างลำดับชั้น และแสวงหาความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยวิธีการที่ใช้ความรุนแรงน้อยที่สุดและมีความสุขมากที่สุด เป็นต้น

"การเมืองที่ใฝ่ฝันถึงอนาคต" นี้ แตกต่างจากการเล่นการเมืองแบบ "ยุทธศาสตร์" องค์กรของนักกิจกรรมตามแนวทางนี้มักไม่มีโครงสร้างตายตัว ไม่รวมศูนย์ ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและต่อต้านระบบแบบราชการ

(4) เรื่องราวของศูนย์สังคมในอิตาลี หาอ่านได้จาก นาโอมี ไคลน์, รั้วแห่งการกักกัน หน้าต่างแห่งโอกาส, พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ แปล.

(5) แอร์นสท์ บลอค (Ernst Bloch 1885-1997) นักปรัชญามาร์กซิสต์ชาวเยอรมัน เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยไลป์ซิก ระหว่างปี ค.ศ. 1918-33 และหันเหความคิดเข้าสู่ลัทธิมาร์กซ์ในช่วงทศวรรษ 1920 หลังจากปี ค.ศ. 1933 เขาต้องหนีภัยนาซี โดยย้ายไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาจึงย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา งานเขียนชิ้นสำคัญของบลอคคือ The Principle of Hope ตีพิมพ์เป็นภาษาเยอรมัน เน้นแนวคิดว่าความหวังมีบทบาทสำคัญในฐานะแรงผลักดันของมนุษย์ เขาย้ายกลับไปอยู่ที่เมืองไลป์ซิกในปี ค.ศ. 1948 จนกระทั่งเกิดความขัดแย้งกับกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ของเยอรมนีตะวันออก เป็นเหตุให้เขาจำต้องแปรพักตร์ไปอยู่เยอรมนีตะวันตกในปี ค.ศ. 1961 และสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยทือบิงเงนจนเสียชีวิต

งานเขียนของบลอค มีอิทธิพลต่อการประท้วงของขบวนการนักศึกษายุค 1968 และลัทธิเทววิทยาแห่งการปลดปล่อย (Liberation Theology)ในละตินอเมริกา

(6) จอร์จ ลูคัช (Georg Lukacs 1885-1971) นักปรัชญา, นักเขียนและนักวรรณคดีวิจารณ์แนวมาร์กซิสต์ชาวฮังกาเรียน เขามีอิทธิพลอย่างมากต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ยุโรปในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ผลงานสำคัญคือการสร้างระบบสุนทรียศาสตร์ในแนวทางมาร์กซิสต์ ที่คัดค้านการควบคุมความคิดทางการเมืองของศิลปิน ปกป้องมนุษย์นิยม รวมไปถึงขยายความทฤษฎีของมาร์กซ์เกี่ยวกับความแปลกแยกภายในสังคมอุตสาหกรรม งานเขียนของเขา อาทิ What is Orthodox Marxism? และ The Changing Function of Historical Materialism เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการมีมุมมองต่อทฤษฎีมาร์กซิสต์อย่างสร้างสรรค์และอิสระ

ลูคัชเกิดในครอบครัวชาวยิวมั่งคั่ง เขาเคยอ่านงานเขียนของมาร์กซ์ตั้งแต่เป็นนักเรียน แต่ไม่ค่อยประทับใจกับผู้นำทางด้านทฤษฎีของสากลที่สอง เขานิยมชมชอบนักคิดอย่าง โรซา ลักเซมเบิร์ก มากกว่า ในช่วงการปฏิวัติของพรรคบอลเชวิก ลูคัชเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีในปี ค.ศ. 1918 และรับตำแหน่งกรรมาธิการด้านวัฒนธรรมและการศึกษาในปี ค.ศ. 1919 แต่หลังจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ฮังการีถูกโค่นล้ม เขาต้องหนีไปอยู่กรุงเวียนนาและอาศัยอยู่ที่นั่น 10 ปี

ระหว่างอยู่ในกรุงเวียนนา เขาเป็นบรรณาธิการของวารสาร Kommunismus ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวคิดปีกซ้ายในสากลที่สาม ลูคัชเขียนหนังสือชื่อ History and Class Consciousness (1923) ขยายแนวคิดที่เชื่อมโยงพัฒนาการของรูปแบบงานศิลปะกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางชนชั้น ทว่าต่อมาเขากลับถูกสากลที่สามหรือ Comintern วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจนถูกขับออกจากพรรค

ลูคัชย้ายไปอยู่นครเบอร์ลินในปี ค.ศ. 1929-1933 หลังจากนั้นย้ายไปอยู่ที่มอสโคว์ เขาย้ายกลับมาอยู่ที่ฮังการีในปี ค.ศ. 1945 เป็นสมาชิกรัฐสภา รวมทั้งเป็นศาสตราจารย์ด้านสุนทรียศาสตร์และปรัชญาวัฒนธรรมที่มหาวิทยาลัยบูดาเปสต์ ในปี ค.ศ. 1956 ลูคัชเป็นรัฐมนตรีวัฒนธรรมระหว่างความวุ่นวายทางการเมืองในฮังการี เขาถูกจับและถูกเนรเทศไปโรมาเนีย แต่ได้รับอนุญาตให้กลับมาบูดาเปสต์ได้อีกในปีต่อมา นับแต่นั้นเขาก็หันไปทุ่มเทให้กับการเขียนงานทางด้านปรัชญาและวรรณกรรมวิจารณ์

ในช่วงท้ายของชีวิต ลูคัชปฏิเสธจุดยืนของตัวเองในงานยุคต้น ทั้ง ๆ ที่มันเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนอย่างอดอร์โน แนวคิดของเขาเริ่มตีตัวออกห่างจากหลักการสำคัญของมาร์กซ์ เขาปะทะทางความคิดกับฌอง-ปอล ซาร์ตและคนอื่น ๆ บ่อยครั้ง ลูคัชเขียนหนังสือไว้มากกว่า 30 เล่ม บทความและคำบรรยายในการสอนอีกหลายร้อยชิ้น งานเขียนของเขาครอบคลุมทั้งนักประพันธ์ นักปรัชญาและนักทฤษฎีสังคม ตั้งแต่เกอเธ่, เฮเกล, เลนิน, ไฮเดกเกอร์ ไปจนถึงลัทธิมาร์กซ์และสุนทรียศาสตร์

(7) เยฟเกนี โบรนิสลาโววิช ปาชูกานิส (Yevgeniy Bronislavovich Pashukanis 1891-1937) นักปรัชญากฎหมายมาร์กซิสต์ที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ หัวใจหลักในแนวคิดของปาชูกานิสคือ ภารกิจของสังคมนิยมคือการรื้อทำลายหลักนิติธรรมของกฎหมาย (rule of law)

ปาชูกานิสเกิดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1891 ในประเทศลิธัวเนีย ศึกษาด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยปีเตอร์สเบิร์ก แต่ถูกไล่ออกเพราะกิจกรรมและความเชื่อในแนวทางปฏิวัติ เขาเดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยมิวนิคแทน โดยเรียนทั้งกฎหมายและเศรษฐศาสตร์การเมือง ในปี ค.ศ. 1912 ปาชูกานิสเข้าร่วมพรรคบอลเชวิก ทำงานในด้านกฎหมายให้พรรคอีกหลายปีจนได้เป็นรองกรรมาธิการด้านยุติธรรม

งานเขียนชิ้นเอกของปาชูกานิสคือ General Theory of Law and Marxism (1924) แม้ว่าตัวเขามีบทบาทและมีคุณูปการอย่างยิ่งในแวดวงกฎหมายของรัสเซียยุคหลังการปฏิวัติ แต่หนังสือเล่มนี้กลับกลายเป็นหนังสือต้องห้ามในสหภาพโซเวียตยุคสตาลิน และไม่ได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์อีกเลยจนกระทั่งปี ค.ศ. 1982 ปาชูกานิสถูกบีบคั้นให้ประกาศ "ทบทวนวิธีคิด" ต่อสาธารณะหลายครั้ง แต่เขายืนกรานปฏิเสธ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1937 เขาถูกจับ ขึ้นศาลและถูกยิงเป้า

ทฤษฎีกฎหมายของปาชูกานิสมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเข้าใจธรรมชาติของกฎหมาย ทั้งในแง่รูปแบบและเนื้อหา เขาอธิบายว่ากฎหมายถูกสร้างขึ้นพร้อม ๆ กับการเกิดความแปลกแยกและความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างชนชั้น โดยเกี่ยวโยงแนบแน่นกับจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนทางวัตถุในรูปแบบสินค้า มนุษย์กลายเป็นผู้มีสิทธิในฐานะผู้ผลิตในชนชั้นหนึ่ง ๆ ซึ่งแตกต่างจากอภิสิทธิ์ตามธรรมเนียมประเพณีในสังคมดั้งเดิม ประเด็นสำคัญในแนวคิดของปาชูกานิสอยู่ตรงที่การยืนยันว่า หลักนิติธรรมของกฎหมายในระบบทุนนิยมจะตกทอดไปสู่ระบบสังคมนิยมด้วย ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านจากระบบทุนนิยมไปสู่สังคมนิยมจนไปสู่ระบบคอมมิวนิสต์นั้น ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า กฎหมายของชนชั้นแรงงาน มีแต่การรื้อทำลายกฎหมายของระบบทุนนิยมลงจนกว่าจะหมดสิ้นเท่านั้น

แน่นอน นี่เองเป็นต้นเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ปาชูกานิสถูกฝ่ายสตาลินโจมตีอย่างหนัก เพราะฝ่ายหลังเชื่อในการเพิ่มอำนาจรัฐและหลักนิติธรรมของกฎหมาย รวมไปถึงการสร้างระบบราชการขนาดมหึมาเพื่อรองรับกฎเกณฑ์และข้อบังคับจำนวนมหาศาล ฝ่ายสตาลินพยายามโต้แย้งว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือปกครองของชนชั้น ชนชั้นแรงงานจึงควรใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเช่นเดียวกับชนชั้นอื่น ๆ ในอดีต พวกเขาไม่ยอมรับว่า หัวใจในการปกครองของชนชั้นแรงงานคือการรื้อทำลายรัฐ ส่วนการเพิ่มอำนาจรัฐคือการทำลายการปกครองของชนชั้นแรงงาน ปาชูกานิสยืนยันว่า หลักนิติธรรมของกฎหมายไม่ใช่สิ่งที่เป็นกลาง กฎหมายเป็นสิ่งที่ผูกติดกับเศรษฐศาสตร์การเมือง ถ้าการขูดรีดไม่มีทางเป็นกลางในเชิงชนชั้น กฎหมายก็ไม่มีทางเป็นกลางเฉกเช่นกัน สถาบันทั้งสองนี้ --คือการขูดรีดและกฎหมาย-- จะต้องรื้อทำลายลงในระหว่างขั้นตอนของสังคมนิยม

(8) เธโอดอร์ อดอร์โน (Theodor Adorno 1903-1969) นักปรัชญาชาวเยอรมัน มีผลงานทางด้านสังคมวิทยา, จิตวิทยาและคีตวิทยา

อดอร์โนจบการศึกษาสาขาปรัชญาจากมหาวิทยาลัยโยฮันน์ วูล์ฟกัง เกอเธ่ ที่ฟรังก์ฟูร์ตเมื่อปี ค.ศ. 1924 งานเขียนในช่วงแรก ๆ ของเขาได้รับอิทธิพลจากวอลเตอร์ เบนจามิน ในแง่ของการใช้ลัทธิมาร์กซ์มาวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรม เขาสอนที่มหาวิทยาลัยฟรังก์ฟูร์ตได้ 2 ปี ก็ต้องลี้ภัยนาซีไปอยู่ที่อังกฤษและสอนที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด จากนั้นจึงย้ายไปสหรัฐอเมริกาและสอนที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน อดอร์โนกับมักซ์ ฮอร์กไฮเมอร์ (Max Horkheimer) ย้ายกลับไปสอนที่มหาวิทยาลัยฟรังก์ฟูร์ตในปี ค.ศ. 1949 และฟื้นฟูทฤษฎีวิพากษ์ของสำนักฟรังก์ฟูร์ตขึ้นมาอีกครั้งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งในงานเขียนของอดอร์โนคือ แนวโน้มของอารยธรรมที่จะนำไปสู่การทำลายตัวเอง ดังที่ลัทธิฟาสซิสต์เป็นหลักฐานชี้ชัดอย่างดี ในผลงานที่อดอร์โนเขียนร่วมกับฮอร์กไฮเมอร์ Dialectic of Enlightenment (1947) ชี้ให้เห็นว่า แรงผลักดันไปสู่การทำลายตัวเองนั้น แฝงฝังอยู่แล้วในแนวคิดของเหตุผล ยุคแสงสว่างทางปัญญา (Enlightenment) และแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้แปรเปลี่ยนเหตุผลให้กลายเป็นพลังที่ไร้เหตุผล ซึ่งมุ่งเอาชนะธรรมชาติและครอบงำมนุษย์ สังคมจึงเดินหน้าเข้าหาลัทธิฟาสซิสต์และระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับเสรีภาพของมนุษย์ อดอร์โนสรุปว่า ความเป็นเหตุเป็นผล (rationalism) ให้ความหวังเพียงน้อยนิดต่อการปลดปล่อยมนุษยชาติ แต่การปลดปล่อยที่แท้จริงน่าจะมาจากศิลปะ ซึ่งทำให้มนุษย์เป็นอิสระและมีความสุข ผลงานอื่น ๆ ของอดอร์โน มีอาทิเช่น Philosophy of Modern Music (1949), Negative Dialectics (1966), Aesthetic Theory (1970)

(9) แฮร์แบร์ต มาร์คูเซ (Herbert Marcuse 1898-1979) นักปรัชญาการเมืองชาวสหรัฐฯ เชื้อสายเยอรมัน แนวคิดของเขาที่ประสานลัทธิมาร์กซ์เข้ากับจิตวิทยาของฟรอยด์เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่นักศึกษาหัวก้าวหน้าตอนปลายทศวรรษ 1960

มาร์คูเซเป็นสมาชิกของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยไฟรบวร์ก เขาเข้าร่วมสำนักฟรังก์ฟูร์ตในปี ค.ศ. 1932 และกลายเป็นวาจกคนสำคัญของสำนัก เขาหนีภัยนาซีไปเจนีวาในปี ค.ศ. 1933 แล้วย้ายไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาจนกลายเป็นพลเมืองชาวอเมริกัน สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ฯลฯ และเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณด้านปรัชญาไปจนเสียชีวิต

มาร์คูเซประสานแนวคิดของเฮเกล, ฟรอยด์และมาร์กซ์เข้าด้วยกัน เขาชี้ให้เห็นรูปแบบทางวัฒนธรรมของการกดขี่ บทบาทของเทคโนโลยีและการขยายตัวของการผลิตสินค้าบริโภคนิยมเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบทุนนิยม มาร์คูเซวิจารณ์ว่า ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจหลังสงครามโลก เป็นหลุมพรางที่กักขังมวลชนไว้ ทั้งในด้านปัญญาและจิตวิญญาณ ผลงานในช่วงหลัง ๆ ของเขาจึงค่อนข้างมองโลกในแง่ร้าย

แม้ว่ามาร์คูเซจะเป็นที่นิยมอ่านในขบวนการนักศึกษายุค1968 แต่เขากลับไม่ค่อยนิยมยินดีกับการประท้วงของนักศึกษาเท่าไร เขาเชื่อว่าขบวนการนักศึกษาหลงทางไปไม่น้อย งานเขียนชิ้นสำคัญของมาร์คูเซประกอบด้วย Reason and Revolution (1941), Eros and Civilization (1955), One-Dimensional Man (1964)

(10) อันตอน ปันเนอคุก (Anton Pannekoek 1873-1960) นักสังคมนิยมและนักดาราศาสตร์ชาวดัทช์ (เกร็ดย่อย: นามสกุลของเขาแปลว่า แพนเค้ก) ผู้ก่อตั้งพรรคมาร์กซิสต์ในประเทศเนเธอร์แลนด์ และมีบทบาทในพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเยอรมันระหว่างที่อาศัยอยู่ในเยอรมนีช่วงปี ค.ศ. 1906-14

ปันเนอคุกศึกษาทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่เมืองไลเดน เขาสนใจดาราศาสตร์มาตั้งแต่ยังเด็กและเขียนบทความด้านนี้ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา หลังจากได้อ่านหนังสือเรื่อง Eqality ของ Edward Bellamy ทำให้เขานิยมในลัทธิสังคมนิยมและเริ่มศึกษางานเขียนของคาร์ล มาร์กซ์ เขาเขียนงานในแนวลัทธิมาร์กซ์ให้วารสารทั้งในเนเธอร์แลนด์และเยอรมนี ลาออกจากงานในห้องทดลองวิทยาศาสตร์และย้ายไปอยู่เบอร์ลิน เพื่อสอนในโรงเรียนของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเยอรมัน

สงครามโลกครั้งที่หนึ่งทำให้เขาต้องย้ายกลับไปเนเธอร์แลนด์ แม้ว่าสถาบันวิทยาศาสตร์ที่ทำงานเดิมยังต้องการตัว แต่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เข้ามาขัดขวาง อันสืบเนื่องมาจากการที่เขาเป็นมาร์กซิสต์ แต่ในที่สุดเขาก็ได้เป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม

ในด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์นั้น ปันเนอคุกเป็นผู้มีผลงานโดดเด่นและมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ จนได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี ค.ศ. 1936 แต่เกียรติสูงสุดที่เขาได้รับน่าจะเป็นชื่อหลุมอุกกาบาตปันเนอคุกบนดวงจันทร์ที่ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่เขา รวมทั้งกลุ่มดาวเคราะห์น้อย 2378 ปันเนอคุกด้วย

ในด้านทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์นั้น ปันเนอคุกเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งแนวทางคอมมิวนิสต์สภาแรงงาน (council communism ดูข้างล่าง) และเป็นบุคคลสำคัญของฝ่ายซ้ายสายราดิกัลในเนเธอร์แลนด์และเยอรมนี งานเขียนของเขามีจุดใหญ่ใจความอยู่ที่สภาของคนงาน ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นรูปแบบการจัดตั้งที่สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดของสหภาพแรงงานและพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยแบบเดิม ๆ ได้ เมื่อดูบทเรียนของการปฏิวัติรัสเซียแล้ว ปันเนอคุกยืนยันว่า การปฏิวัติของชนชั้นแรงงานและการเปลี่ยนผ่านจากระบบทุนนิยมไปสู่ระบบคอมมิวนิสต์ที่แท้จริง จะบรรลุได้ก็ด้วยชนชั้นแรงงานเอง โดยอาศัยการจัดตั้งแบบประชาธิปไตยในสภาของคนงาน

ปันเนอคุกวิจารณ์เลนินและลัทธิเลนินนิสต์อย่างแหลมคม เขาวิเคราะห์ความล้มเหลวของการปฏิวัติรัสเซียว่า หลังจากเลนินและพรรคบอลเชวิกขึ้นสู่อำนาจ พวกเขาก็ทำลาย "โซเวียต" ลง ("โซเวียต" หมายถึงสภาปฏิวัติของคนงานและชาวนาในรัสเซียก่อนการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1917) แทนที่จะสนับสนุนสภาของคนงาน พรรคบอลเชวิกกลับสถาปนากฎเกณฑ์ของพรรค ทำให้พรรคบอลเชวิกกลายเป็นชนชั้นปกครองใหม่ ทัศนะดังกล่าวนี้มีปรากฏอยู่ในหนังสือที่ปันเนอคุกเขียนในปี ค.ศ. 1938 ชื่อ Lenin as Philosopher

(11) ลัทธิคอมมิวนิสต์สภาแรงงาน (council communism) เป็นฝ่ายซ้ายราดิกัล (หรือฝ่ายซ้ายของลัทธิคอมมิวนิสต์) ที่มีต้นกำเนิดในเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ในช่วงทศวรรษ 1920 แนวทางของคอมมิวนิสต์สภาแรงงานยังมีตกทอดมาถึงทุกวันนี้ภายในลัทธิมาร์กซ์ ลัทธิสังคมนิยมเสรี (Libertarian Socialism) และลัทธิอนาธิปไตย

แนวคิดหลักของลัทธิคอมมิวนิสต์สภาแรงงานตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับแนวคิดของสังคมนิยมประชาธิปไตยและลัทธิคอมมิวนิสต์สายเลนิน ลัทธิคอมมิวนิสต์สภาแรงงานยืนยันว่า สภาของคนงานที่เกิดขึ้นในโรงงานและชุมชนต่าง ๆ เป็นรูปแบบตามธรรมชาติของการจัดตั้งชนชั้นแรงงานและอำนาจรัฐ ทัศนะนี้จึงไม่เห็นด้วยกับการมีพรรคหัวหอกการปฏิวัติ (vanguard) รัฐสภาหรือรัฐบาล

หัวใจหลักของลัทธิคอมมิวนิสต์สภาแรงงานคือ สภาของคนงานเท่านั้นที่ควรเป็นผู้บริหารรัฐและระบบเศรษฐกิจ โดยใช้ระบบตัวแทนที่เลือกตั้งขึ้นมาจากสถานที่ทำงาน และสามารถถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ทุกเมื่อ แนวทางนี้ปฏิเสธ "ระบบสังคมนิยมแบบราชการ" ที่ดำเนินการโดยรัฐ ปฏิเสธแนวคิดของการมี "พรรคปฏิวัติ" เพราะเชื่อว่าการปฏิวัติที่มีพรรคหัวหอกเป็นผู้นำ ลงท้ายแล้วก็จะกลายเป็นระบอบเผด็จการโดยพรรค ลัทธิคอมมิวนิสต์สภาแรงงานสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยของคนงาน ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยการสร้างสหพันธ์ของสภาคนงานขึ้นมา

คำว่า "สภา" ในภาษารัสเซียคือ "โซเวียต" และในช่วงต้น ๆ ของโซเวียตรัสเซียนั้น สภาของคนงานมีความสำคัญทางการเมืองมาก อันที่จริง คำว่า "Supreme Soviet" ที่เป็นชื่อของรัฐสภาแห่งชาติของสหภาพโซเวียต รวมไปจนถึงชื่อประเทศที่เรียกว่า "สหภาพโซเวียต" มีความหมายว่า การปกครองโดยสภาของคนงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในช่วงต้น ๆ ของการปฏิวัติ แต่ไม่นานต่อมา สภาคนงานก็สูญเสียอำนาจและความสำคัญ รัฐสภา "Supreme Soviet" กลายเป็นแค่ตรายาง ในขณะที่อำนาจแท้จริงตกอยู่ในกำมือของพรรคคอมมิวนิสต์

ด้วยเหตุนี้เอง นักคอมมิวนิสต์สภาแรงงานจึงวิพากษ์วิจารณ์สหภาพโซเวียตว่าเป็นรัฐทุนนิยม และการปฏิวัติของพรรคบอลเชวิกในรัสเซียกลายเป็นแค่ "การปฏิวัติกระฎุมพี" โดยที่ระบบราชการแบบพรรคเข้ามาแทนที่ระบบการปกครองแบบฟิวดัลของชนชั้นสูงเท่านั้นเอง นักคอมมิวนิสต์แนวทางนี้เห็นว่า แม้ว่าการปฏิวัติรัสเซียในตอนแรก ๆ จะเป็นการปฏิวัติของชนชั้นแรงงานก็จริง แต่ในเมื่อความสัมพันธ์แบบทุนนิยมยังดำรงอยู่ เพราะคนงานไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการบริหารระบบเศรษฐกิจ สุดท้ายสหภาพโซเวียตก็กลายเป็นแค่ระบอบทุนนิยมโดยรัฐ กล่าวคือรัฐทำตัวเป็นนายทุนแทนปัจเจกบุคคล ลัทธิคอมมิวนิสต์สภาแรงงานจึงสนับสนุนการปฏิวัติของชนชั้นแรงงาน แต่ต่อต้านระบอบเผด็จการพรรคเดียว

ลัทธิคอมมิวนิสต์สภาแรงงานยังเชื่อในการลดบทบาทของพรรค ให้เหลือแค่การปลุกระดมและเผยแพร่อุดมการณ์ ปฏิเสธการเลือกตั้งและระบบรัฐสภา สนับสนุนให้คนงานผละจากสหภาพแรงงานที่เป็นปฏิกิริยา และก่อตั้งสหภาพแรงงานปฏิวัติที่เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ขึ้นมา

นักคิดที่สำคัญในแนวทางนี้มีอาทิ อันตอน ปันเนอคุก, แฮร์มัน กอร์เตอร์ (Herman Gorter), ออตโต รึอห์เล (Otto Rehle), ปอล มัททิค (Paul Mattick) เป็นต้น

(12) ลัทธิมาร์กซ์สายการปกครองตัวเอง (Autonomism หรือ Autonomist Marxism) เป็นขบวนการและทฤษฎีทางการเมืองปีกซ้ายของลัทธิมาร์กซ์ Autonomism หรือ Autonomia เกิดขึ้นในอิตาลีช่วงทศวรรษ 1960 จากลัทธิคอมมิวนิสต์สาย workerist (operaismo) นักทฤษฎีในสายนี้ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ อันโตนิโอ เนกรี ผู้ร่วมเขียนหนังสือเรื่อง Empire แนวคิดนี้มีอิทธิพลต่อขบวนการศูนย์สังคมที่เกิดขึ้นทั่วโลก และยังมีอิทธิพลจนถึงทุกวันนี้ในอิตาลี สหรัฐอเมริกาและประเทศที่พูดภาษาอังกฤษอีกบางประเทศ

ลัทธิมาร์กซ์สายการปกครองตัวเองมีอิทธิพลในอิตาลีช่วงปี ค.ศ. 1968-1975 ถึงขนาดที่สั่นคลอนความมั่นคงทางการเมืองในประเทศ นักปฏิวัติกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งกลายเป็นผู้นำของขบวนการมวลชนที่ลุกฮือขึ้นหลายครั้ง ปัญญาชนอย่างอันโตนิโอ เนกรี และมารีโอ ตรอนติ (Mario Tronti) ยืนยันว่า คนงานสามารถล้มล้างระบบได้โดยไม่ต้องอาศัยพรรคปฏิวัติ แต่ในปี ค.ศ. 1976 กลุ่มการเมืองเก่าของอิตาลีสามารถตั้งหลักและรุกกลับได้ โดยหันมาจับมือร่วมกับกลุ่มพลังฝ่ายตรงข้าม กล่าวคือสหภาพแรงงานและพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อล้อมกรอบและหยุดยั้งการต่อสู้ของกลุ่มพลังแรงงานสายการปกครองตัวเอง ส่งผลให้กลุ่มแรงงานถูกทำลายลงจนยับเยิน ตัวเนกรีเองต้องติดคุกอยู่หลายปี

ทฤษฎีของ Autonomism นั้น มีความแตกต่างจากลัทธิมาร์กซ์สายอื่น ๆ กล่าวคือ เน้นความสามารถของชนชั้นแรงงานในการสร้างแรงกดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อการจัดองค์กรของระบบทุนนิยม โดยไม่ต้องอาศัยรัฐ, สหภาพแรงงานหรือพรรคการเมือง ลัทธิมาร์กซ์สายการปกครองตัวเองเป็นทฤษฎีแบบ "จากล่างขึ้นบน" ("bottom up") นั่นคือ แสวงหาวิธีการที่คนในชนชั้นแรงงานจะต่อต้านลัทธิทุนนิยมได้โดยตรง

ลัทธิมาร์กซ์สายนี้แตกต่างจากลัทธิมาร์กซ์กระแสหลัก ตรงที่มันมีคำนิยามของชนชั้นแรงงานที่กว้างกว่า โดยครอบคลุมทั้งชนชั้นแรงงานในระบบและนอกระบบ มันไม่ค่อยสนใจการจัดตั้งพรรคการเมือง และไม่สนใจการสร้างความชัดเจนทางด้านทฤษฎี แต่มีจุดเน้นหนักอยู่ที่การดำเนินงานจัดตั้งด้วยตัวเอง และการพัฒนาเครื่องมือทางทฤษฎีที่สอดรับกับการต่อสู้ที่เกิดขึ้นจริง แนวคิดนี้มีอิทธิพลต่อนักวิชาการมาร์กซิสต์บางคนในปัจจุบัน อาทิเช่น แฮร์รี คลีฟเวอร์ (Harry Cleaver), จอห์น ฮอลโลเวย์ ฯลฯ

Workerism เป็นลัทธิมาร์กซ์อีกสายหนึ่งที่เชื่อว่า ชนชั้นแรงงานสามารถปลดปล่อยตัวเองก็ด้วยการจัดตั้งในฐานะคนงานเท่านั้น ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มันปิดกั้นตัวเองจากขบวนการสังคมอื่น ๆ เช่น เฟมินิสต์หรือชนชั้นกลาง

(13) ฌียส์ เดอเลอซ (Gilles Deleuze 1925-1995) เป็นนักปรัชญาคนสำคัญของฝรั่งเศสในยุคปลายศตวรรษที่ 20 หนังสือที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาคือ Anti-Oedipus และ A Thousand Plateaus ซึ่งเขียนร่วมกับ ปิแอร์-เฟลิกซ์ กัวตารี (Pierre-Felix Guattari) แต่เดอเลอซยังมีผลงานเดี่ยวอีกหลายเล่ม ที่มีอิทธิพลในด้านปรัชญา วรรณกรรม ภาพยนตร์ การเมืองและศิลปะ

เดอเลอซจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ รอบรู้ทั้งปรัชญายุคคลาสสิกและยุคสมัยใหม่ ทั้งเฮเกล, ฮิวม์, ซาร์ตร์ ฯลฯ เขามีแนวคิดวิพากษ์วิจารณ์ต่อลัทธิเหตุผลนิยมและสารัตถนิยม เรื่องที่น่าแปลกคือ เดอเลอซเป็นนักปรัชญาบนหอคอยงาช้างแท้ ๆ เขาแตกต่างจากปัญญาชนฝรั่งเศสสมัยนั้น กล่าวคือไม่ได้สนใจแนวคิดของลัทธิคอมมิวนิสต์, ปรากฏการณ์วิทยาหรือโครงสร้างนิยมเลย

จุดเปลี่ยนที่มีอิทธิพลพอสมควรต่อแนวคิดของเขาเกิดขึ้นในยุคทศวรรษ 1960 แต่หาใช่การประท้วงครั้งใหญ่ของนักศึกษาไม่ หากเป็นการรู้จักและสนิทสนมกับมิเชล ฟูโกต์ แม้ว่าเขาไม่ได้เข้าร่วมกับการกบฏของนักศึกษาในเดือนพฤษภาคม 1968 แต่งานเขียนของเขาสองเล่มคือ Difference and Repetition และ Expressionism in Philosophy: Spinoza กลับสามารถนำมาใช้ทำความเข้าใจการลุกฮือของขบวนการนักศึกษาในเชิงปรัชญาได้

ในปี ค.ศ. 1969 เขาเริ่มสนิทสนมกับกัวตารี และกลายเป็นเพื่อนร่วมเขียนงานกันยาวนาน ช่วงนี้เองที่เดอเลอซเริ่มมีอาการป่วยไข้เรื้อรัง จนกระทั่งฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดตึกโรงพยาบาลในปี ค.ศ. 1995

แม้ว่าเดอเลอซไม่ได้สนใจการเมืองโดยตรง แต่แนวคิดทางปรัชญาของเขาทำให้เขาต่อต้านลัทธิเผด็จการอย่างฟาสซิสต์หรือนาซี รวมไปจนถึงระบบทุนนิยม ปรัชญาของเขาสามารถนำมาประยุกต์เข้ากับการเมืองแบบอนาธิปไตยได้

(14) ปิแอร์-เฟลิกซ์ กัวตารี (Pierre-Felix Guattari 1930-1992) เป็นนักจิตวิทยาผู้บุกเบิกด้านจิตบำบัดสำนักใหม่ แต่กลับไม่ค่อยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก เขามีแนวคิดขัดแย้งกับทฤษฎีและวิธีการของฌาคส์ ลากอง (Jacques Lacan)นักจิตวิเคราะห์คนสำคัญของฝรั่งเศส ทั้ง ๆ ที่กัวตารีเคยเป็นลูกศิษย์ของลากองมาก่อน เขาจึงหันไปศึกษาความคิดในสาขาอื่น ๆ ไม่ว่าปรัชญา, ชาติพันธุ์วิทยา, ภาษาศาสตร์, สถาปัตยกรรม ฯลฯ เพื่อขยายแนวคิดของจิตวิทยาให้กว้างขวางขึ้น

กัวตารีวิจารณ์ว่า สำนักจิตวิเคราะห์มีลักษณะเผด็จการและนักจิตวิเคราะห์วางตนอยู่เหนือคนไข้ กัวตารีถึงกับประกาศว่า จิตวิเคราะห์เป็น "ยาขนานเอกของระบบทุนนิยม"

กัวตารีจึงร่วมก่อตั้งคลินิกบำบัดแนวใหม่ที่ใช้วิธีการ "วิเคราะห์" ซึ่งปลอดพ้นจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างนักจิตวิเคราะห์กับคนไข้ คลินิกนี้ยังกลายเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างนักศึกษาด้านปรัชญา จิตวิทยา ชาติพันธุ์วิทยาและการเคลื่อนไหวทางสังคม กัวตารียังร่วมก่อตั้งกลุ่มสหพันธ์เพื่อการศึกษาและวิจัยซึ่งมีขอบข่ายหลายสาขา ทั้งปรัชญา คณิตศาสตร์ จิตวิเคราะห์ การศึกษา สถาปัตยกรรม ฯลฯ

สหพันธ์นี้ประกอบไปด้วยกลุ่มที่หลากหลายทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรม ไปจนถึงมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามในแอลจีเรียและเวียดนาม สนับสนุนการปฏิวัติในอเมริกาใต้ ฯลฯ กัวตารีเองเป็นผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 1968 ด้วย ในช่วงนี้เองที่เขาพบกับฌียส์ เดอเลอซ และเริ่มเส้นทางอันยาวนานของการเขียนหนังสือร่วมกัน

(15) Politica Afectiva หรือ affective politics เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในละตินอเมริกา เป็นความพยายามที่จะสร้างสรรค์การเมืองแนวใหม่ที่ตั้งอยู่บนความรัก การเกื้อกูลกัน และความสัมพันธ์ทางสังคม การเมืองในแนวใหม่นี้เน้นย้ำในการเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน สร้างสรรค์พื้นที่เพื่อการรับฟังและรับรู้ อาจแปลได้ว่า "การเมืองเพื่อความสมานฉันท์"

(16) ริคาร์โด (ซ้าย) และเอนริเก ฟลอเรส มากอน (ขวา) ที่คุกเมืองลอสแองเจลิส, 1917
ริคาร์โด ฟลอเรส มากอน (Ricardo Flores Magon 1874-1922) เกิดในวันประกาศเอกราชเม็กซิโกในแคว้นอัวฮากา ประเทศเม็กซิโก เสียชีวิตในรัฐแคนซัส สหรัฐอเมริกา

ฟลอเรส มากอนสนใจงานเขียนและแนวคิดของนักอนาธิปไตย ตั้งแต่นักอนาธิปไตยรุ่นแรก ๆ อย่าง มิชาเอล บาคูนิน และ ปิแอร์-โจเซฟ พรูดอง จนถึงนักอนาธิปไตยร่วมสมัยกับเขา เช่น เอ็มมา โกลด์แมน และ แม็กซ์ สเตอร์เนอร์ (Max Stirner) เป็นต้น แต่ได้รับอิทธิพลทางความคิดมากที่สุดจากปีเตอร์ โครพอทคิน (Peter Kropotkin)

นอกจากนี้ เขายังอ่านงานของคาร์ล มาร์กซ์ และนักเขียนบทละครอย่าง เฮนริก อิบเสน (Henrik Ibsen) ฟลอเรส มากอนเป็นผู้นำคนหนึ่งในการปฏิวัติเม็กซิกัน ซึ่งเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับก้าวหน้าที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน (แต่ไม่ค่อยได้รับการปฏิบัติในความเป็นจริง) เขาเป็นบรรณาธิการของวารสาร Regeneracion ที่ปลุกเร้าคนงานให้ต่อต้านระบอบเผด็จการของประธานาธิบดีปอร์ฟิริโอ ดิอัซ

ฟลอเรส มากอนถือว่าหนังสือเรื่อง The Conquest of Bread ของโครพอทคิน เป็นเสมือนคัมภีร์ไบเบิลของนักอนาธิปไตย มีการนำมาปฏิบัติใช้ในคอมมูนปฏิวัติที่ดำรงอยู่ได้ชั่วระยะสั้น ๆ ในเมืองบาฮาคาลิฟอร์เนียของประเทศเม็กซิโกระหว่างการปฏิวัติเม็กซิกันในปี ค.ศ. 1911 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1904 มากอนอยู่ในสหรัฐอเมริกา ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในคุกตามเมืองต่าง ๆ

การเคลื่อนไหวของเขาจุดประกายให้นักอนาธิปไตยชาวอเมริกัน เขาถูกจับครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. 1918 ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 20 ปีในข้อหา "ขัดขวางการทำสงคราม" เสียชีวิตในเรือนจำ แต่อัฐิของเขาได้รับการเก็บไว้ที่ Rotonda de los Hombres Ilustres ในกรุงเม็กซิโกซิตี

(17) เอลิซาเบธ เกอร์ลี ฟลีนน์ (Elizabeth Gurley Flynn 1890-1964) เกิดในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาครอบครัวของเธอย้ายไปอยู่ที่เมืองนิวยอร์กและเอลิซาเบธได้รับการศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลท้องถิ่น บิดามารดาของเธอเป็นนักสังคมนิยมอยู่แล้ว และถ่ายทอดความคิดให้แก่เธอด้วย เธออายุเพียง 16 ปี เมื่อกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ สังคมนิยมให้อะไรแก่ผู้หญิง ที่สโมสรสังคมนิยมฮาร์เล็ม จากกิจกรรมทางการเมืองนี่เองทำให้เอลิซาเบธถูกไล่ออกจากไฮสกูล

ในปี ค.ศ. 1907 เอลิซาเบธทำงานเป็นนักจัดตั้งให้องค์กร Industrial Workers of the World - IWW เธอทำงานรณรงค์ในหมู่คนงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเพนซิลเวเนีย, ช่างทอผ้าไหมในนิวเจอร์ซีย์, พนักงานร้านอาหารในนิวยอร์ก, คนงานเหมืองแร่ในมินนิโซตาและคนงานทอผ้าในแมสซาชูเซตส์

ธีโอดอร์ ไดรเซอร์ (Theodore Dreiser) นักเขียนชาวอเมริกันชื่อดังขนานนามเธอว่า "โจนออฟอาร์คแห่งอีสต์ไซด์" เอลิซาเบธถูกจับถึง 10 ครั้ง แต่ไม่เคยถูกลงโทษว่าทำความผิดทางอาญาแต่อย่างใด

เอลิซาเบธให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อปัญหาสิทธิสตรี สนับสนุนการคุมกำเนิดและสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของผู้หญิง เธอยังวิพากษ์วิจารณ์บทบาทการนำของสหภาพแรงงานที่ถูกครอบงำด้วยเพศชาย และเพิกเฉยต่อความต้องการของผู้หญิง ในปี ค.ศ. 1936 เอลิซาเบธเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ และเขียนคอลัมน์ในเชิงเฟมินิสต์ให้วารสาร Daily Worker สองปีต่อมา เธอได้รับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เธอมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์เพื่อความเท่าเทียมทางด้านโอกาสและค่าจ้างแรงงานของผู้หญิง รวมทั้งการจัดศูนย์ดูแลเด็กเล็กให้มารดาที่ต้องทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ในปี ค.ศ. 1942 เอลิซาเบธลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตนิวยอร์กและได้รับคะแนนเสียง 50,000 คะแนน

ในเดือนกรกฎาคม 1948 ผู้นำ 10 คนของพรรคคอมมิวนิสต์ถูกจับ และตั้งข้อหาว่าวางแผนล้มล้างรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยกำลังและความรุนแรง เอลิซาเบธรณรงค์ให้ปล่อยตัวพวกเขา แต่ตัวเธอถูกจับกุมในเดือนมิถุนายน 1951 ถูกดำเนินคดี 9 เดือนและถูกตัดสินจำคุก 2 ปีในทัณฑสถานหญิงอัลเดอร์สัน ที่รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ประสบการณ์ในคุก กลายเป็นหนังสือชื่อ The Alderson Story: My Life as a Political Prison (1955)

หลังจากพ้นคุกออกมา เธอขึ้นรับตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติในปี ค.ศ. 1961 เดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตหลายครั้งและเสียชีวิตที่นั่นในปี ค.ศ. 1964 พิธีศพของเอลิซาเบธ เกอร์ลี ฟลีนน์ ถูกจัดเป็นทางการอย่างสมเกียรติในจัตุรัสแดง เถ้าอัฐิของเธอถูกส่งกลับไปฝังไว้ในสุสานวัลด์ไฮม์ ในเมืองชิคาโก ใกล้กับหลุมฝังศพของ Eugene Dennis, Bill Haywood และ Haymarket Martyrs ตามความประสงค์ของเธอ


(18) เฟรเดอริค ดักลาส (Frederick Douglass 1818-1895) ชาวแอฟริกัน-อเมริกันผู้สนับสนุนการเลิกทาส, บรรณาธิการ, นักปราศรัย, นักเขียน, รัฐบุรุษและนักปฏิรูป มีฉายาว่า "นักปราชญ์แห่งอนาคอสเทีย" และ "สิงโตแห่งอนาคอสเทีย" เป็นนักพูดและนักเขียนที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์อเมริกันยุคนั้น

เฟรเดอริค ดักลาส เกิดเป็นทาสในรัฐแมริแลนด์ ตอนเป็นเด็ก เขาอาศัยห่างจากแม่ 12 ไมล์ และมารดาของเขาต้องเดินไปกลับถึง 24 ไมล์เพื่อมาหาเขา นางตายเมื่อดักลาสอายุ 9 ขวบ ดักลาสไม่รู้เลยว่าบิดาเป็นใคร ทราบเพียงอย่างเดียวว่าเป็นคนผิวขาว เจ้านายของเขาคือกัปตันอารอน แอนโธนี หลังจากเจ้านายผู้นี้ตาย เขาถูกส่งตัวไปรับใช้น้องชายของกัปตันในบัลติมอร์

เมื่อดักลาสอายุได้ 12 ปี ภรรยาของเจ้านายคนใหม่ฝ่าฝืนกฎและสอนให้เขาอ่านเขียน นายผู้ชายไม่พอใจมากและพูดว่า หากทาสรู้จักอ่านเขียน ทาสจะเริ่มไม่พอใจกับสภาพชีวิตของตัวเองและใฝ่หาเสรีภาพ ดักลาสมักกล่าวในภายหลังว่า นี่คือสุนทรพจน์เลิกทาสประโยคแรกที่เขาได้ยินในชีวิต นับแต่นั้นมา เขาก็สนใจในความรู้และหนังสือ โดยเฉพาะสุนทรพจน์ของซิเซโร นักพูดสมัยโรมัน

ในปี ค.ศ. 1838 ดักลาสหนีทาสโดยขึ้นรถไฟและปลอมตัวเป็นกลาสี เขาเดินทางไปจนถึงรัฐแมสซาชูเซตส์ เขาเข้าร่วมหลายองค์กร โดยเฉพาะองค์กรที่สนับสนุนการเลิกทาส ด้วยวัยเพียง 23 ปี ดักลาสเริ่มออกปราศรัยตามที่ต่าง ๆ เขามีชื่อเสียงมากขึ้นจนได้เข้าพบและหารือกับประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์นในปี ค.ศ. 1863 และกับประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน เกี่ยวกับสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของคนผิวดำ งานเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาคืออัตชีวประวัติชื่อ Narrative of the Life of Frederick Douglass, an American Slave (1845)

(19) เกลมองซ์ ลูอิซ มิเชล (Clemence Louise Michel 1830-1905) นักอนาธิปไตยชาวฝรั่งเศส มีฉายาว่า la Vierge rouge de Montmarte (The Red Virgin of Montmarte) มารดาของเธอเป็นสาวใช้ในคฤหาสน์ผู้ดี ส่วนบิดาของเธอเป็นลูกชายเจ้านาย เกลมองซ์เติบโตขึ้นมาโดยได้รับการเลี้ยงดูจากเจ้าของคฤหาสน์ที่มีศักดิ์เป็นปู่ และได้รับการศึกษาแบบสมัยใหม่

หลังจากปู่เสียชีวิต เธอต้องการเป็นครู แต่ความคิดทางการเมืองของเธอทำให้โรงเรียนรัฐบาลไม่ยอมรับเธอเข้าทำงาน เกลมองซ์เป็นสมาชิกคนหนึ่งของปารีสคอมมูน เธอมีแนวคิดและวิธีการแบบหัวรุนแรง จนถูกจำคุกอยู่ที่นิวคาลีโดเนียถึง 9 ปี ปัจจุบันมีสถานีรถไฟใต้ดินสถานีหนึ่งที่ตั้งตามชื่อของเธอ นั่นคือ สถานีลูอิซ มิเชล

(20) สตีเฟน บันตู บีโก (Stephen Bantu Biko 1946-1977) เป็นนักต่อต้านการเหยียดสีผิว ด้วยแนวทางสันติวิธีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของแอฟริกาใต้ เขาเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ก่อตั้งองค์กรนักศึกษาแอฟริกาใต้ในปี ค.ศ. 1968 และได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์กรคนแรก และเป็นประธานของ Black People's Convention ในปี ค.ศ. 1972

ในปี ค.ศ. 1973 บีโกกลายเป็นบุคคลต้องห้ามของทางการ หมายความว่า เขาไม่ได้รับอนุญาตให้พูดกับคนอื่นจำนวนมากกว่า 1 คนขึ้นไปในแต่ละครั้ง ไม่ได้รับอนุญาตให้ปราศรัยในที่สาธารณะ ห้ามผู้อื่นอ้างคำพูดหรือเอ่ยชื่อของเขา

ในปี ค.ศ. 1977 บีโกถูกตำรวจจับในข้อหาก่อการร้าย เขาถูกทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสที่ศีรษะและถูกล่ามไว้ทั้งวันทั้งคืน หลังจากนั้นเขาถูกตำรวจจับยัดใส่ท้ายรถและขับไปเป็นระยะทาง 740 ไมล์เพื่อนำเขาไปที่คุกพรีตอเรีย บีโกเสียชีวิตหลังจากไปถึงคุกได้ไม่นาน ตำรวจอ้างว่าเขาเสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วงนานเกินไป

หนังสือของเขาเรื่อง I Write What I Like มีถ้อยคำที่ถูกอ้างถึงมากมาย อาทิเช่น:

"อาวุธที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในมือของผู้กดขี่ก็คือ ความคิดจิตใจของผู้ถูกกดขี่นั่นเอง"
"ตายเพื่ออุดมคติที่ยั่งยืน ดีกว่ามีชีวิตเพื่ออุดมคติที่กำลังจะตาย"

ประวัติชีวิตของบีโกเคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 1987 เรื่อง Cry Freedom โดยผู้กำกับ เซอร์ริชาร์ด แอทเทนเบอโร นำแสดงโดยเดนเซล วอชิงตัน และ เควิน ไคลน์ เรื่องราวของเขายังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดบทเพลงอีกมากมาย

(21) โซลาโนเป็นพื้นที่เขตหนึ่งย่านชานเมืองของกรุงบูเอโนสไอเรส

 

 

 

บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 670 เรื่อง หนากว่า 9000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
เพื่อให้การต่อสู้ของเราเข้มแข็ง ผมคิดว่าเราต้อง "ต่อต้านการเมือง" หมายถึงมุ่งที่จะก้าวข้ามการแบ่งแยกการเมืองออกจากชีวิตประจำวัน (กล่าวคือ ต่อต้านการเมืองในความหมายที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า
การเมืองคือสถาบันที่เกิดจากการแยกรัฐออกจากสังคม)

ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี


ยิ่งกว่านั้น ไม่ใช่แค่รัฐบาล "ฝ่ายซ้าย" ทั้งหมดไม่สามารถทำให้ความคาดหวังของประชาชนที่สนับสนุนกลายเป็นความจริงขึ้นมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมในกระบวนการยึดอำนาจรัฐ ทำให้เราเห็นแต่การเล่นการเมืองในแบบราชการ, ลำดับชั้น, แปลกแยก ซึ่งแตกต่างห่างไกลสุดกู่จากสังคมที่เราวาดหวังจะสร้างสรรค์ การทุ่มโถมความคับแค้นใจต่อต้านลัทธิทุนนิยมเพื่อเป็นพลังในการยึดอำนาจหรือสร้างอิทธิพลภายในรัฐ กลับหมายถึงการที่เราชักนำกิจกรรมของตัวเองเข้าสู่ตรรกะของอำนาจ และตรรกะของอำนาจคือตรรกะของการประนีประนอมกับทุน

มีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนหันหน้าหนีจากรัฐ นั่นคือ รัฐเองก็กำลังเปลี่ยนไป ความก้าวร้าวที่นับวันจะรุนแรงขึ้นของทุน ทำให้การปฏิรูปโดยอาศัยรัฐที่เคยมีความหมายอยู่บ้าง กลับมีช่องทางเป็นไปได้น้อยลง ๆ ทุกที