The Midnight University
เรื่องเกี่ยวกับ UNHCR
และกำพืดเศรษฐี
พระเอกบนหลังม้าแกลบกับเศรษฐีใหม่
เขียนโดย
ศ.ดร.นิธิ
เอียวศรีวงศ์
อาจารย์อาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รวมผลงานที่เคยตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์มติชน(รายวัน-รายสัปดาห์)ปลายเดือนกันยายน
๒๕๔๘
ประกอบด้วย ๑. พระเอกบนหลังม้าแกลบ ๒. วัฒนธรรมเศรษฐีใหม่
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 688
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒ ตุลาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7.5 หน้ากระดาษ A4)
1. พระเอกบนหลังม้าแกลบ
เมื่อใดก็ตามที่เราลงนามร่วมเป็นภาคีขององค์กรระหว่างประเทศ
สนธิสัญญา อนุสัญญา หรือพิธีสารใดๆ ก็ตาม เราได้ยอมสละบางส่วนของอธิปไตยของชาติไปแล้ว
นั่นคือยอมรับการผูกมัดด้วยกติกาซึ่งได้ตกลงไว้กับนานาประเทศนั้น ซึ่งเท่ากับลิดรอนอำนาจของเราเองที่จะทำอะไรนอกเหนือกติกานั้นไปพร้อมกัน
อธิปไตยของชาติในโลกสมัยใหม่ แตกต่างจากอธิปไตยของรัฐสมัยพระนเรศวร เพราะเราหลีกไม่พ้นที่จะต้องอยู่ร่วมกับชาติอื่นๆ จึงไม่มีชาติใดในโลกสักชาติเดียวที่มีอธิปไตยสมบูรณ์เด็ดขาดในตัวเอง
นักการเมืองที่นิยมปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมเพื่อกลบเกลื่อนความล้มเหลวของตน มักใช้แนวคิดอธิปไตยของรัฐสมัยพระนเรศวรมาสร้างความเป็นวีรบุรุษให้แก่ตนเอง เพื่อให้ประชาชนสับสนว่าปัญหาภายในซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง มีต้นตอของปัญหามาจากภายนอก
นายกรัฐมนตรีอับดุลลาห์ บาดาวี ได้มองเห็นมาตั้งแต่เกิดเหตุการณ์กรือเซะเมื่อปีกลายนี้แล้วว่า ความหวาดกลัวของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ อาจผลักดันให้มีผู้อพยพหลบหนีภัยจากประเทศไทยเข้าไปสู่มาเลเซีย คำพูดของท่านคือ "จำเป็นต้องเตรียมการบางอย่างไว้ เผื่อจะมีการไหลบ่าของ ประชาชนผู้ตระหนกกลัว ข้ามพรมแดนมาหาที่หลบภัย ประชาชนเหล่านั้นย่อมต้องการที่สักแห่งไว้หลบภัยจนกว่าความสงบสุขจะกลับคืนมาสู่พื้นที่ของตน และด้วยความไม่แน่นอนในปัจจุบัน ย่อมเป็นธรรมดาที่ประชาชนเหล่านั้นย่อมอยากข้ามมาที่นี่"
คำพูดนี้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์กรือเซะ ซึ่งทั้งนานาชาติและรัฐบาลไทยเองยอมรับในภายหลังว่า การปราบปรามของฝ่ายความมั่นคงเป็นการกระทำเกินเหตุ ฉะนั้น วลีที่ว่า "ประชาชนผู้ตระหนกกลัว" จึงมีความหมายกว้าง ถ้ารัฐบาลไทยไม่ "เอาคืน" ด้วยการตอบโต้อย่างแรงทำนองว่า เราไม่ได้ขอข้าวใครกิน ถ้าอธิบายแล้วไม่เข้าใจ ก็เป็นปัญหาของเขาเอง รัฐบาลไทยควรถามตัวเองว่าประชาชนตระหนกกลัวอะไรบ้าง ถ้าตระหนกกลัวฝ่ายก่อความไม่สงบ รัฐบาลย่อมต้องให้ความคุ้มครองประชาชน แม้จำเป็นต้องใช้กำลังอาวุธก็จำเป็น แต่ถ้าตระหนกกลัวการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐเองเล่า รัฐจะคุ้มครองประชาชนอย่างไร
คำตอบที่ใครๆ ก็สามารถเห็นได้ชัดก็คือ รัฐต้องขจัดการกระทำใดๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจตามกฎหมายคุกคามประชาชน จำเป็นต้องลงโทษกันยกแก๊งก็ต้องทำ สร้างกลไกการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างรัดกุม ซึ่งควรรวมถึงการนำเอาประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม และการดึงองค์กรอิสระเข้าไปช่วยรัฐ
ถ้ารัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จที่จะขจัดความตระหนกกลัวเช่นนี้จากประชาชนได้ ทางออกก็เหลืออยู่ทางเดียวดังที่นายกฯบาดาวีกล่าว นั่นก็คือหนีข้ามพรมแดนไปมาเลเซีย
ในความเป็นจริง มีรายงานมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่า คนหนุ่มจำนวน 12 คน เบื่อหน่ายกับการที่ถูกตำรวจหมายหัว จึงหนีไปหลบภัยในมาเลเซีย(Nation, May 6, 2004) บัดนี้เวลาผ่านไปกว่าปีแล้ว คำถามก็คือยังมีประชาชน "ผู้ตระหนกกลัว" จากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในภาคใต้อีกหรือไม่ คำตอบของประชาชนในพื้นที่ซึ่งไม่มีโอกาสส่งเสียงผ่านกระบอกเสียงทีวีของรัฐ ยืนยันว่าเขายังตระหนกกลัวเจ้าหน้าที่รัฐ อาจจะมากกว่าเดิมเสียอีก ทั้งๆ ที่มีคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ และการประกาศใช้แนวทางสมานฉันท์ในการจัดการกับปัญหาแล้วก็ตาม
ฉะนั้น เหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้จึงไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในอนาคตอันใกล้ สิ่งที่รัฐบาลวิตกกังวลก็คือสถานการณ์อาจเลวร้ายลงได้อีกมาก ถ้าถูกแทรกแซงจากภายนอก ไม่ว่าผู้แทรกแซงอาจเป็นรัฐ องค์กรก่อการร้ายข้ามชาติ รัฐมุสลิม หรือสหรัฐก็ตาม เพราะการแทรกแซงของทั้งหมดนี้ย่อมเกี่ยวโยงกระทบกันและกันอย่างแน่นอน
รัฐบาลมองว่า การอพยพของประชาชน 131 คน จากนราธิวาสไปหลบภัยในมาเลเซีย จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแทรกแซงดังกล่าว หากรัฐบาลสามารถยุติปัญหานี้ได้โดยเร็วที่สุด ก็จะเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ท่าทีของรัฐบาลไทยต่อกรณีนี้ก็คือ ยืนยันว่าประชาชนเหล่านี้ถูกยุยงจากผู้ไม่ประสงค์ดี ให้อพยพข้ามพรมแดน เพื่อทำให้ประเด็นปัญหาความขัดแย้งภายในของไทยกลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศ ฉะนั้น มาเลเซียจึงไม่ควรรับประชาชนเหล่านี้ไว้ แต่ปัญหาไม่ได้มีเพียงเท่านี้ เพราะสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยขององค์กรสหประชาชาติ(UNHCR) ได้ส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งประจำอยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ เข้ามาสัมภาษณ์สอบถามคนไทยซึ่งอพยพข้ามพรมแดนไปเป็นเวลา 4 วัน จนถึงเมื่อเขียนบทความนี้ ยังไม่มีรายงานที่เป็นทางการของสำนักงาน UNHCR ประจำมาเลเซีย
หน้าที่ขององค์กรนี้ในกรณีดังกล่าวก็คือ ต้องวินิจฉัยให้ได้ว่า ผู้อพยพเหล่านี้พึงได้สถานะผู้ลี้ภัยหรือไม่(สถานะของผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยผู้ลี้ภัย 1951 ก็คือ "หวั่นเกรงอย่างสมเหตุผลว่าจะถูกลงโทษด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สังกัดกลุ่มทางสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือทรรศนะทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง" แล้วเข้ามาอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่ของตน) เพราะถ้าใช่ พวกเขาจะได้รับสิทธิบางประการจากประเทศที่เป็นภาคีของอนุสัญญา และจากองค์กรเอง รวมทั้งจากประเทศเจ้าบ้านซึ่งอาจไม่ได้เป็นภาคีก็ตาม และในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ใช่ชะตากรรมของเขาก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลมาเลเซียแต่ผู้เดียว กล่าวคือจะผลักดันกลับ หรือรับให้อาศัยอยู่ชั่วคราวก็ได้
จะเห็นได้ว่า UNHCR ปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง โดยไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อประเทศไทย นอกจากนี้ หน้าที่ซึ่งเขาต้องปฏิบัติก็ไม่ใช่การแสวงหาข้อมูลจากรัฐบาลไทยฝ่ายเดียว เพราะหากรัฐบาลไทยเป็นต้นเหตุให้เกิดความหวาดกลัวเอง ข้อมูลทางฝ่ายรัฐบาลไทยจะน่าเชื่อถือได้สักเพียงใด ฉะนั้น การสัมภาษณ์ประชาชนผู้อพยพจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการค้นหาความจริงประกอบการวินิจฉัยสถานะเท่านั้น
แม้ไทยไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญา แต่คนไทยเคยได้ประโยชน์จากอนุสัญญานี้หลายคน เช่น กลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลัง 6 ตุลาคม 2519 เข้าไปอาศัยหลบภัยอยู่ในประเทศยุโรป นอกจากนี้ นับตั้งแต่ พ.ศ.2518 เป็นต้นมา เมื่อมีผู้อพยพจำนวนมากจากอินโดจีนหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทย เราก็ยอมรับทั้งความช่วยเหลือและการจัดการขององค์กรนี้ ฉะนั้น แม้ไม่ได้เป็นภาคีสมาชิก เราก็ยอมรับบทบาทขององค์กรนี้ตลอดมา เขาก็ทำอย่างเดียวกันอย่างนี้ในบ้านเราต่อประชากรเวียดนาม เขมร ลาว พม่า ฯลฯ ซึ่งหลบหนีเข้าสู่ประเทศไทย
ความวิตกกังวลของรัฐบาลไทยว่า การเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ของ UNHCR ยิ่งทำให้ประเด็นมีลักษณะระหว่างประเทศมากขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ แต่เราสามารถจำกัดความเสียหายด้วยวิธีอื่นๆ ได้อีกมาก เช่น เชิญเจ้าหน้าที่ของ UNHCR เข้ามาเก็บข้อมูลในพื้นที่ประเทศไทยโดยตรงเลย เพื่อทำให้รายงานของสำนักงานที่กัวลาลัมเปอร์มีน้ำเสียงที่เป็นมิตรต่อไทยมากขึ้น
หากเกรงว่าการเข้ามาเก็บข้อมูลจะยิ่งเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยกระทำต่อประชาชน ก็ต้องยอมรับว่า ประชาชนผู้อพยพเหล่านั้นจะได้สถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แต่เนื่องจากมาเลเซียมิได้เป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาเช่นเดียวกัน สถานะนี้จึงไม่กระทบต่อการปฏิบัติของรัฐบาลมาเลเซียต่อประชาชนเหล่านี้(เช่นรัฐบาลไทยไม่เคยยอมรับว่ามี "ผู้ลี้ภัย" เป็นทางการ รัฐบาลไทยยืนยันที่จะเรียกผู้อพยพเหล่านี้ว่า "ผู้พลัดถิ่น") ดังนั้น ทางฝ่ายไทยสามารถส่งคนเข้าไปเจรจาเกลี้ยกล่อมประชาชนเหล่านี้ได้ ในขณะที่ต้องปรับปรุงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ไทยในพื้นที่ ระวังมิให้เกิดการอพยพลี้ภัยเช่นนี้อีก
แต่การเผชิญหน้ากับ UNHCR ด้วยการบุกไปวิพากษ์วิจารณ์เขาถึงองค์การสหประชาชาติ นอกจากดูเป็นเรื่องตลกระหว่างประเทศแล้ว ยังไม่มีวันจะได้ผลอีกด้วย คิดหรือว่า UNHCR จะละเว้นการปฏิบัติงานของตนด้วยคำบริภาษของผู้นำประเทศเล็กๆ ซึ่งไม่ได้เป็นแม้ภาคีสมาชิกของอนุสัญญา ยิ่งไปกว่านี้ไทยต้องการ UNHCR เป็นคนกลางสำหรับการส่งคืนผู้ลี้ภัยชาวพม่ากลับคืนในอนาคตอันไกลข้างหน้าอย่างแน่นอน
เพราะไทยไม่มีแรงบีบพอจะทำให้รัฐบาลเผด็จการพม่ายอมรับคนเหล่านี้กลับคืนได้
ในโลกนี้ หนทางที่จะจำกัดความเสียหายให้อยู่ในระดับที่พอรับได้นั้นมีหลายวิถี การเผชิญหน้าฟาดฟันอย่างไม่ดูตาม้าตาเรือดังที่อัตติลาและเจงกีสข่านใช้ ไม่นับรวมอยู่ในวิถีที่ได้ผล มหาอาณาจักรของเขาล่มสลายไปโดยแทบไม่ได้ทิ้งมรดกอะไรให้เหลือสืบมาอีกเลย
องค์การสหประชาชาตินั้นทำอะไรที่ไม่น่าพอใจ ทั้งแก่มหาอำนาจ เช่น สหรัฐ และประเทศเล็กๆ อย่างไทยอยู่เสมอ แต่สิ่งที่ประเทศเล็กๆ อย่างเราไม่ควรลืมก็คือ อย่างน้อยองค์การโลกที่พิกลพิการอันนี้ ก็เป็นหลักอันหนึ่งที่จะช่วยประกันความเป็นธรรมให้แก่ประเทศเล็กๆ ท่ามกลางโลกที่ขาดดุลในการเหนี่ยวรั้งมหาอำนาจอีกแล้ว
สหประชาชาตินั้น "ด่าได้"
และได้สร้างวีรบุรุษจอมปลอมขึ้นในโลกจากการด่าสหประชาชาติมาหลายคนแล้ว แต่นั่นเป็นเพียงความพึงพอใจของบุคคล
ส่วนที่จะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ประเทศเล็กๆ ทั่วโลก คือการผลักดันอย่างสุขุม
และชาญฉลาด ให้สหประชาชาติเข้มแข็งมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อทำให้หลักประกันที่ไม่สู้จะมั่นคงของเรามีความมั่นคงมากขึ้นต่างหาก
2. วัฒนธรรมเศรษฐีใหม่
คําว่าเศรษฐีใหม่หรือ
Nouveau Riche ล้วนมีความหมายในเชิงเหยียดหยาม แต่น้ำหนักไม่เท่ากันนะครับ
ผมคิดว่าคาดหมายเชิงเหยียดในภาษาไทยว่า "เศรษฐีใหม่" เบากว่า Nouveau
Riche ในภาษาฝรั่ง เพราะรากเศรษฐีเก่าหรือผู้ดีเก่าของเราไม่ลึก ซ้ำยังร่วมผลประโยชน์กับเศรษฐีใหม่ตลอดมาเสียด้วย
ผู้ดีเก่าไทยที่เหยียดเศรษฐีใหม่ หาความต่างทางรสนิยม, วัฒนธรรม, วิถีชีวิต ฯลฯ ของตัวที่แตกต่างจากของเศรษฐีใหม่ไม่ค่อยได้ หรือได้ก็ไม่ค่อยชัด จึงเหยียดได้ไม่ค่อยเต็มปาก
ผมขอพูดเรื่องนี้ก่อน คือยกตัวอย่างให้ดูว่า ผู้ดีเก่าฝรั่งนั้นดูถูกรสนิยม, วัฒนธรรม, วิถีชีวิต ฯลฯ ของเศรษฐีใหม่อย่างไร
ผู้ดีเก่าฝรั่งเหยียดการดื่มไวน์ฝรั่งเศสทีละมากๆ อย่างที่เศรษฐีใหม่ชอบ ไม่ว่าขวดละเท่าไรก็ตาม เครื่องดื่มของผู้ดีเก่าคือแชมเปญ หากจะมีไวน์ฝรั่งเศสบ้าง ก็เป็นปริมาณที่น้อย ทั้งไม่ดื่มน้ำเปล่าด้วย เพราะเขาจะดื่มโซดาหรือน้ำแร่แทน เครื่องดื่มที่ผู้ดีเก่ารังเกียจมากคือกาแฟครับ เศรษฐีใหม่เท่านั้นที่นั่งดื่มกาแฟตามโรงแรมหรูๆ ถ้วยละ 2,000 บาท หากกระหายเครื่องดื่มร้อนตอนบ่ายๆ ผู้ดีเก่าจะดื่มชา
ผู้ดีเก่าไม่ไปทัศนาจรปารีส, มอสโคว์ล หรือซานฟรานซิสโก (ซึ่งเศรษฐีใหม่ชอบเรียกว่าฟริสโก แต่ผู้ดีเก่าต้องเรียกเต็ม) แต่ต้องเที่ยวในที่ซึ่งคนทั่วไปไม่คิดถึงเลย เช่น ไปตกปลาแซลมอนที่อะลาสกา หรือไปล่าสัตว์ในแอฟริกา ผู้ดีเก่าไม่สวมเสื้อผ้าแบรนด์เนมครับ ไม่ว่าจะแพงแค่ไหนก็ตาม เพราะผู้ดีเก่าสั่งตัดเย็บเสื้อผ้ากับร้านโด่งดังที่ไม่ได้เปิดบริการแกค่คนทั่วไป อีกทั้งไม่นิยมสีจัดจ้าน ส่วนใหญ่แล้วจะใช้สีเรียบและค่อนข้างทึม เช่น ดำหรือเทา มีเพียงบางครั้งเท่านั้นที่ใช้สีสด สีเสื้อผ้าที่ผู้ดีเก่ารังเกียจที่สุดคือสีม่วง อีกทั้งผู้ดีเก่าไม่นิยมใช้เครื่องประดับเพชรพลอย ยกเว้นโอกาสพิเศษจริงๆ เท่านั้น
ผู้ดีเก่าไม่ขี่เบนซ์หรือบีเอ็มหรอกครับ เขาใช้รถธรรมดาเหมือนคนทั่วไป แต่นิยมสีขาว
ผู้ดีเก่าไม่ใส่ใจกับการศึกษาในระบบนัก การศึกษาที่แท้จริงของเขาอยู่ที่บ้าน โดยมีครูพิเศษมาสอน และก็เรียนกันเรื่องการฟันดาบ, ขี่ม้า, มารยาท และอะไรอื่นๆ ที่จะทำให้ไม่แปลกแยกจากสมาชิกวงผู้ดีเก่าด้วยกัน เพลงคลาสสิค โดยเฉพาะตั้งแต่เพลงรุ่นที่จัดว่าเป็นยุค "คลาสสิค" ลงมา (ตั้งแต่รุ่นโมซาร์ตลงมาโดยประมาณ) นั้นไม่เป็นที่นิยมของผู้ดีเก่านัก ฟังก็พอฟังได้ แต่เขานิยมชมอุปรากรมากกว่า
หัวใจสำคัญก็คือ เงินไม่ใช่คุณสมบัติสำคัญที่สุดของผู้ดีเก่า แม้ว่าเขาจะมีมากก็ตาม ที่สำคัญกว่าคือรสนิยมครับ (แต่ตั้งสติให้ดีด้วยนะครับว่า อะไรคือรสนิยมที่ดีนั้น ผู้ดีเก่าเป็นคนวางมาตรฐานขึ้นเอง) นัยยะของความนับถือที่มีต่อรสนิยมอันดีนี้ก็คือ เศรษฐีใหม่มีแต่เงิน และด้วยเหตุดังนั้น ผู้ดีเก่าจึงไม่ดูถูกคนจน เพียงแต่ไม่คบค้าหรือสุงสิงด้วยเท่านั้น (เพราะทนรสนิยมและกลิ่นของ "มัน" ไม่ไหวกระมัง)
ความดัดจริตทั้งหมดของผู้ดีเก่าที่ผมยกเป็นตัวอย่างมานี้ ไม่ใช่ประสบการณ์ตรงของผมนะครับ ผมเที่ยวเก็บจากโน่นจากนี่เท่านั้น เพราะตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเจอะเจอผู้ดีเก่าฝรั่งสักคน ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเป็นคนหรือเจตภูติกันแน่ อย่างไรก็ตาม ผมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ดีเก่าฝรั่งอยู่สองสามอย่าง
ประการแรก เห็นได้ชัดอยู่แล้วนะครับ รสนิยมทั้งหมดเหล่านี้สถาปนากันขึ้นเพื่อกีดกันเศรษฐีที่ไร้รากเหง้าในหมู่ชนชั้นสูงออกไป เศรษฐีที่ว่านี้คือคนที่เกิดใหม่ในสังคมฝรั่ง อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั่นเอง
ทรัพย์ในสังคมฝรั่งเคยอยู่กับที่ดิน แล้วจู่ๆ ก็มีคนแปลกหน้าที่ทำเงินได้มโหฬารจากการค้าและอุตสาหกรรมโผล่ขึ้นมา มีอำนาจทางเศรษฐกิจที่จะทำอะไรอย่างเดียวกันกับคนชั้นสูง หรือทำให้เหนือกว่าก็ยังได้ ร้ายไปกว่านั้นได้สิทธิทางการเมืองเหมือนคนชั้นสูง ซ้ำยังช่วงชิงเอาอำนาจทางการเมืองไปถือไว้เสียเองอีกด้วย จึงหาอะไรที่น่ารังเกียจแก่คนชั้นสูงเท่าพวกนี้ยาก คนจนผู้ขายแรงงานยังต้องเจียมเนื้อเจียมตัวเหมือนเดิม จึงน่ารักกว่าอ้ายพวก Nouveau Riche เป็นกอง
(คำว่า Nouveau Riche เป็นคำฝรั่งเศสซึ่งอังกฤษยืมมาใช้เมื่อประมาณสมัยนโปเลียน-ทำไมต้องฝรั่งเศส ก็เพราะพวกเศรษฐีใหม่ไม่รู้จักล่ะสิ อีกทั้งถ้าแปลเป็นอังกฤษว่า New Rich ก็กลายเป็นคำบรรยายกลางๆ ที่ไร้อารมณ์เหยียดหยาม ผมควรบอกด้วยว่า คำว่า millionaire หรือคนมีเงินเป็นล้าน ก็เป็นคำยืมจากฝรั่งเศสเหมือนกัน และก่อนหน้าคริสต์ศตวรรษที่ 19 อังกฤษก็ไม่มีใครเป็น millionaire หรือมีเงินถึงล้านกันสักคน เพราะอย่างที่กล่าวแล้วว่าทรัพย์ของคนชั้นสูงอยู่ที่ที่ดิน ไม่ใช่เงิน คำนี้จึงมีความหมายถึงเสี่ยที่เกิดใหม่ในอังกฤษและอเมริกาเหมือนกัน)
ประการที่สอง ก็คือคุณสมบัติสำคัญของความเป็นผู้ดีเก่าคือเก่าครับ ในยุโรปพวกนี้อ้างกำพืดตัวเองได้เป็นหลายศตวรรษ สมบัติที่ตัวมีอยู่ก็เก่าทั้งนั้น ไม่ว่าบ้านเรือนที่อยู่อาศัยไปจนถึงเครื่องเพชร (แต่ชะชุดย่อมมีประวัติอันยืดยาวของตัวมันเอง ไม่ใช่เพิ่งซื้อมาจากร้านเพชร) คอกม้า หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ประดับบ้าน
น่าสังเกตด้วยนะครับว่า ส่วนใหญ่ของรสนิยมที่ผู้ดีเก่าถือว่าประเสริฐเลิศหรู ดังที่ผมยกตัวอย่างไปนั้น เอาเข้าจริงก็เพราะมันเก่าเท่านั้น เช่นเพลงคลาสสิครุ่น "คลาสสิค" ลงมานั้น ย่อมใหญ่กว่าอุปรากรซึ่งมีจารีตที่เก่ากว่า (และที่จริงมีผลต่อดนตรีคลาสสิครุ่น "คลาสสิค" อย่างมาก เช่น การประกอบวงที่ใหญ่ขึ้น เป็นต้น)
หรือระหว่างกาแฟกับน้ำชา ความนิยมกาแฟเป็นแฟชั่นที่เกิดทีหลังชาในยุโรป ก็เท่านั้นเอง หรือผู้ดีเก่าต้องพูดฝรั่งเศสเป็น ก็เพราะครั้งหนึ่งภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาสากลและสัญลักษณ์ของอารยธรรมในยุโรป ถึงปัจจุบันไม่ใช่แล้ว แต่คนที่พูดไม่ได้เลยก็แสดงว่า "พ่อแม่ไม่สั่งสอน"
ประการที่สาม คือการเน้นคุณสมบัติของผู้ดีเก่าไว้ที่รสนิยม, วิถีชีวิต, วัฒนธรรม ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้ย่อมละเอียดอ่อนเกินกว่าที่คนอื่นจะทำตามได้ (ซึ่งไม่จริงนะครับ คงจำนางเอกบทละครของ เบอร์นาร์ด ชอว์ ที่ภายหลังมาทำหนังเรื่อง My Fair Lady ได้ ชอว์กำลังบอกว่าผิวที่เคลือบผู้ดีเก่านั้นบางมาก ใครๆ ก็ทะลุเข้าไปได้) และคนที่จะหมายรู้ว่าใครคือผู้ดีเก่าจริง ก็คือคนที่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างผู้ดีเก่าเท่านั้น เพราะมันละเอียดอ่อนมากเสียจนคนทั่วไปแยกไม่ออก พวกเขาเท่านั้นที่เอาปูนแดงป้ายหัวได้เลย เพียงแค่เห็นวิธีเอาอาหารเข้าปากเท่านั้นก็รู้แล้วของแท้หรือไม่
อย่างเดียวกันกับที่ปัญญาชนไทยคนหนึ่ง ซึ่งพยายามเน้นความเป็นผู้ดีเก่าของตัวเคยพูดว่า ราชาศัพท์สำหรับเพ็ดทูลเจ้านายนั้น ถ้าไม่ได้เพ็ดทูลมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยแล้ว ถึงจะเรียนรู้มาลึกซึ้งกว้างขวางเพียงใดก็จับได้ว่าของปลอม ในยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์ทำลายสีน้ำเงินของเลือดลงจนหมดแล้ว ราชาศัพท์จึงกลายเป็นดีเอ็นเอของการอ้างความเป็นผู้ดีเก่าแทน...
เงื่อนไขสำคัญที่จะเกิด "ชนชั้น" ผู้ดีเก่าได้คือการสืบทอดมรดกได้อย่างมั่นคงครับ มรดกในทุกความหมายนะครับ นอกจากทรัพย์สมบัติแล้ว ยังรวมถึงตำแหน่ง, สถานะทางสังคม และอภิสิทธิ์ต่างๆ ด้วย
สังคมไทยโบราณไม่อนุญาตให้เกิดความมั่นคงด้านนี้นอกสถาบันพระมหากษัติรย์หรอกครับ ขุนนางอาจถูกริบราชบาทว์ได้ในพริบตา จากเจ้าพระยากลายเป็นฝีพายหลวงได้ในพริบตาเหมือนกัน (ถ้าหัวยังติดอยู่กับบ่า)
แม้สถาบันพระมหากษัติรย์มีความสืบเนื่องมั่นคง แต่องค์พระมหากษัตริย์ไม่ได้มั่นคงอย่างนั้น เพราะมีการเปลี่ยนราชวงศ์กันบ่อยมาก รากเหง้าของแต่ละราชวงศ์กับรากเหง้าของขุนนาง ซึ่งอาจถูกริบราชบาทว์ได้ตื้นลึกพอๆ กัน
ยิ่งไปกว่านั้น คนชั้นสูงไทยใช้การค้าเป็นส่วนหนึ่งในการแสวงหาโภคทรัพย์ ทั้งทำเอง ทั้งร่วมทำกับเจ๊ก ทั้งรีดไถจากเจ๊ก ในที่สุดก็ "ร่วมหลับนอน" (cohabit) ในทุกความหมายกับพ่อค้า จนแยกไม่ออกระหว่างกลุ่มคนที่จะเรียกได้ว่าเป็น "เศรษฐีใหม่" กับ "ผู้ดีเก่า" ถ้า คาร์ล มาร์กซ์ รู้จักเมืองไทย เขาจะงงกับสังคมไทยเสียยิ่งกว่าที่เคยงงกับสังคมอังกฤษ นี่มันกระฎุมพีที่ถูกทำให้เป็นศักดินา หรือศักดินาที่ถูกทำให้เป็นกระฎุมพีกันแน่หว่า อาจต้องสร้างศัพท์ใหม่ว่า "กระฎุมนา"
และเพราะผู้ดีเก่าไทยไม่ "เก่า" จริงนี่แหละครับ คนที่คิดว่าตัวเป็น "ผู้ดีเก่า" จึงประสบปัญหาอย่างมากในการแยกตัวเองออกจาก "เศรษฐีใหม่" ผู้ดีเก่าฝรั่งมีเงินใช้ได้ไม่น้อยไปกว่าเศรษฐีใหม่ ฉะนั้น ส่วนหนึ่งของการแยกจึงอาศัยการจับจ่ายใช้สอยเป็นเกณฑ์ เช่น มีคอกม้าแข่งของตัวเอง หรือใช้เสื้อผ้าที่สั่งตัดเฉพาะของตัว แต่ผู้ดีเก่าไทยไม่ได้มีเงินอย่างนั้น จึงใช้การจับจ่ายเป็นเครื่องแสดงกำพืดของตัวไม่ได้ ต้องหันไปอาศัยรสนิยม, วัฒนธรรม, วิถีชีวิตและการคุยโวแทน เช่น พิมพ์ประวัติของตระกูลแจกจ่าย พร้อมทั้งสาแหรกญาติพี่น้องตั้งแต่บรรพบุรุษลงมาจนถึงปัจจุบัน หรือนุ่งผ้าม่วง หรือไม่กินปลาร้า ฯลฯ
ครั้งสุดท้ายที่ผมได้ยินเกี่ยวกับรสนิยมของผู้ดีเก่าไทยคือ ใครกินข้าวแล้วไม่กินขนมหรือผลไม้ ย่อมแสดงกำพืดไพร่ชัดๆ เลย แต่ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เศรษฐีใหม่และคนชั้นกลางสามารถลอกเลียนไปปฏิบัติได้อย่างง่ายๆ ทั้งนั้น ซ้ำเพราะไม่มีสำนึกของผู้ดีเก่า จึงอาจดัดจริตได้เนียนกว่าเสียด้วย
เพราะไม่มีผู้ดีเก่า สังคมไทยจึงเป็นสังคมของเศรษฐีใหม่โดยแท้ แม้มีคนจนอยู่เต็มไปหมดก็จริง แต่เศรษฐีใหม่คือคนที่ถืออำนาจทางการเมือง และอาศัยกลไกของรัฐสมัยใหม่ สถาปนาวัฒนธรรมของเศรษฐีใหม่ขึ้นเป็นวัฒนธรรมชาติ โดยไม่มีวัฒนธรรมกระแสอื่นที่มีพลังพอจะต้านทานไหว
ก็เหมือนเศรษฐีใหม่ในสังคมอื่นนะครับ คุณค่าสูงสุดของวัฒนธรรมเศรษฐีใหม่คือเงิน มีมากดีกว่ามีน้อย หาเงินเก่งดีกว่าหาเงินไม่เก่ง ทำอะไรก็ได้ แค่บอกว่านี่เป็นวิธีหาเงิน สังคมก็ยอมรับแล้ว เพราะการหาเงินเป็นความดีในตัวของมันเองอยู่แล้ว คุณทำอะไรที่คนจำนวนมากเห็นว่าไม่ชอบธรรม คุณก็อธิบายว่านี่เป็นการต่อยอดทางธุรกิจ เท่านั้นแหละก็จะมีคนอีกมากเหมือนกันโล่งอกไป ก็เขาแค่หาเงินเท่านั้น มันจะมีหรือไม่มีความชอบธรรมได้อย่างไร
เศรษฐีใหม่ที่เป็นนายกรัฐมนตรีอธิบายว่า การเทกโอเวอร์เป็นเรื่องปกติ โดยไม่ต้องจำแนกวิธีการและเป้าหมายของการเทกโอเวอร์ เมืองไทยยังไม่คุ้นเคย แต่เศรษฐีใหม่ที่ไหนๆ เขาก็ทำอย่างนั้นในตลาดต่างประเทศ วิธีไหนๆ เป้าหมายไหนๆ ก็เรื่องหาเงิน และหาเงินย่อมดีในตัวของมันเอง
อาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวณิชย์ พูดสิ่งสำคัญที่ไม่มีใครฟังทางทีวีว่า สังคมไทยเข้าใจผิดว่าระเบียบของทุนนิยมคือระเบียบของตลาด ที่จริงแล้วทุนนิยมก็มีระเบียบของมันเอง ซึ่งอยู่เหนือตลาด แม้เมืองไทยเองก็มีกฎหมายซึ่งคุมตลาดอีกหลายฉบับ ซึ่งรัฐบาลเศรษฐีใหม่ไม่ยอมประกาศใช้
ผมจึงขอสรุปอย่างที่เคยสรุปไปแล้วว่า คนไทยปัจจุบันนี้ "หน้าเงิน" เพราะเราต่างตกอยู่ใต้การครอบงำของวัฒนธรรมเศรษฐีใหม่ ในสังคมที่ไม่มีกระแสวัฒนธรรมอื่นที่มีพลังพอจะต้านทานวัฒนธรรมเศรษฐีใหม่ได้เลย ฉะนั้น สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่สำหรับคนส่วนใหญ่ซึ่งไม่ใช่เศรษฐีใหม่ไปทุกที จนกว่าเราจะสำนึกในเรื่องนี้ และช่วยกันสร้างกระแสทางวัฒนธรรมเพื่อต่อต้านวัฒนธรรมเศรษฐีใหม่อย่างได้ผล
++++++++++++++++++++++++++++
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 680 เรื่อง หนากว่า 9500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ทรัพย์ในสังคมฝรั่งเคยอยู่กับที่ดิน
แล้วจู่ๆ ก็มีคนแปลกหน้าที่ทำเงินได้มโหฬารจากการค้าและอุตสาหกรรมโผล่ขึ้นมา
มีอำนาจทางเศรษฐกิจที่จะทำอะไรอย่างเดียวกันกับคนชั้นสูง หรือทำให้เหนือกว่าก็ยังได้
ร้ายไปกว่านั้นได้สิทธิทางการเมืองเหมือนคนชั้นสูง ซ้ำยังช่วงชิงเอาอำนาจทางการเมืองไปถือไว้เสียเองอีกด้วย
จึงหาอะไรที่น่ารังเกียจแก่คนชั้นสูงเท่าพวกนี้ยาก คนจนผู้ขายแรงงานยังต้องเจียมเนื้อเจียมตัวเหมือนเดิม
จึงน่ารักกว่าอ้ายพวก Nouveau Riche เป็นกอง
คำว่า Nouveau
Riche เป็นคำฝรั่งเศสซึ่งอังกฤษยืมมาใช้เมื่อประมาณสมัยนโปเลียน-ทำไมต้องฝรั่งเศส
ก็เพราะพวกเศรษฐีใหม่ไม่รู้จักล่ะสิ อีกทั้งถ้าแปลเป็นอังกฤษว่า New Rich ก็กลายเป็นคำบรรยายกลางๆ
ที่ไร้อารมณ์เหยียดหยาม