นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
R
related topic
250948
release date

คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด

เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

บทความนิธิในรอบสัปดาห์
ทวงคืนความมั่นคงจากทหาร - สึนามิกับเฮอร์ริเคน
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความชิ้นนี้ประกอบด้วยบทความย่อย ๒ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ทั้งทางด้านบุรณภาพดินแดน และภัยธรรมชาติ
๑. ทวงคืนความมั่นคงจากทหารเสียที, ๒. สึนามิกับเฮอร์ริเคน
บทความ ๒ เรื่องนี้เคยตีพิมพ์แล้วในหนังสือพิมพ์มติชน และมติชนสุดสัปดาห์


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 681
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7.5 หน้ากระดาษ A4)




1. ทวงคืนความมั่นคงจากทหารเสียที
รมต.กลาโหมให้สัมภาษณ์ว่า กลุ่มผู้นำของขบวนการก่อความไม่สงบในภาคใต้ ใช้ลังกาวีเป็นที่ประชุมกันมานาน ท่านยังกล่าวด้วยว่า มีนักการเมืองมาเลเซียซึ่งพ้นจากวงการเมืองไปแล้วอยู่เบื้องหลังขบวนการนี้ แม้ไม่เอ่ยชื่อโดยตรงแต่ทุกคนก็เข้าใจได้ว่าหมายถึงนายแพทย์มหาธีร์ โมฮัมหมัด. รมต.กลาโหมอ้างว่า ทั้งหมดเหล่านี้เป็นข้อมูลจากข่าวกรอง

ปฏิกิริยาตอบโต้ในเมืองไทยก็คือ คำกล่าวของท่านอาจกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและมาเลเซีย ท่าน รมต.กลาโหมมาเลเซียเองก็กล่าวเป็นนัยะให้เข้าใจด้วยว่า ไทยและมาเลเซียไม่ควรโยนอะไรที่ไม่ดีๆ ให้แก่กัน อะไรที่ไม่ดีในทรรศนะของมาเลเซียคืออะไรนั้นท่านไม่ได้กล่าวไว้ แต่ก็เข้าใจได้ไม่ยาก ในยามที่โลกกำลังถูกอเมริกันชักจูงบีบบังคับและล่อหลอกให้เข้าร่วมสงครามต่อต้านการก่อการร้าย คงไม่มีประเทศไหนสบายใจ หากถูกตราว่าเป็นฐานปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้าย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เป็นอย่างหนึ่งที่น่าห่วง ถ้าเรามีคนอย่างนี้เป็นรัฐมนตรี แต่ที่น่าห่วงอีกอย่างหนึ่ง อาจไม่เกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยตรง แต่เกี่ยวกับระบบข่าวกรองที่ประเทศเรามีอยู่และใช้อยู่. ใครก็ไม่ทราบได้ คงได้ยินคำสนทนาของคนทอดปาท่องโก๋ในหาดใหญ่คุยกับลูกค้าเรื่องลังกาวีและมหาธีร์ พลันคำสนทนานั้นก็ถูกตีค่าเป็นข่าว แล้วก็ส่งทอดต่อมาสู่ระดับสูงขึ้นๆ จนถึงระดับรัฐมนตรีจนได้ โดยไม่มีกระบวนการตรงขั้นใดเลยที่ข่าวนั้นจะถูก"กรอง"

โดยปราศจากข้อมูลอื่นจากการข่าวเพื่อใช้ในการ "กรอง" ผมขอใช้ข้อมูลธรรมดาๆ ที่ใครๆ ก็รู้กันอยู่แล้วเพื่อ"กรอง"ข่าวนี้แทน

มหาธีร์ โมฮัมหมัด ไม่ได้เป็นไอ้โม่งมาจากไหน เขามีบทบาททางการเมืองในมาเลเซียอย่างต่อเนื่องมากว่าสามทศวรรษ และด้วยเหตุดังนั้น จุดยืนของเขาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามก็ตาม เกี่ยวกับคนเชื้อสายมลายูที่เป็นพลเมืองไทยก็ตาม จึงไม่ใช่ความลับอะไรเลย

อาจกล่าวได้ว่า มหาธีร์เป็นผู้นำประเทศมุสลิมคนแรกๆ ที่ประกาศอย่างชัดเจนว่า ชาวมุสลิมจะก้าวหน้าและพัฒนาตนเองให้มีศักดิ์ศรีและอำนาจทัดเทียมกับคนอื่นได้ ก็ต้องไม่ใช้การก่อการร้าย, ไม่ใช้วิธีรุนแรง, หรือแม้แต่ยอมรับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกสมัยปัจจุบัน ตลอดชีวิตทางการเมืองของเขา ศัตรูถาวรของเขาคือกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง, กลุ่มที่มีอุดมคติจะสร้างรัฐอิสลาม (ถือชาริอะห์เป็นกฎหมายสูงสุด), รวมทั้งกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะแทรกแซงสกัดกั้นอำนาจของรัฐไทย(ในระดับใดระดับหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องหมายถึงการแยกดินแดนไปรวมกับมาเลเซียเพียงอย่างเดียว) เหนือดินแดนที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมลายูมุสลิมในประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ มาเลเซียภายใต้นายกรัฐมนตรีมหาธีร์ ได้เคยร่วมมือกับไทยในการส่งคนที่รัฐบาลไทยกล่าวหาว่าเป็นผู้นำก่อความไม่สงบเพื่อแยกดินแดน เป็นผู้ร้ายข้ามแดนใต้โต๊ะมาไม่รู้จะกี่ครั้งกี่หนแล้ว ไม่นับความร่วมมือทางอ้อมอื่นๆ (ที่ไม่เป็นผลร้ายทางการเมืองแก่ผู้นำมาเลเซียเอง) เพื่อช่วยให้ไทยรักษาความสงบในดินแดนของตัว

ถ้ามองโลกตามความเป็นจริง ไม่สับสนกับละครน้ำเน่าทางทีวี ข่าวจากพ่อค้าปาท่องโก๋นี้ไม่จำเป็นต้อง "กรอง" ด้วยซ้ำ คือโยนทิ้งไปได้เลย เพราะไม่มีใครหรอกที่เลือกเดินทางเส้นหนึ่งอย่างเปิดเผยมาตลอดชีวิต แต่กลับสนับสนุนเส้นทางลับอีกอันหนึ่ง ซึ่งขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับแนวเส้นทางเปิดเผยของตัวอย่างเป็นตรงกันข้ามเช่นนี้ เพื่ออะไร? และจะเป็นผลดีต่อตนเองหรือต่อประเทศชาติซึ่งตัวเคยนำมายาวนานนั้น?

พ่อค้าปาท่องโก๋ อาจคิดว่าการประชุมแกนนำต้องจัดขึ้นตามแหล่งพักผ่อนชายทะเล อย่างที่ "ผู้ใหญ่" ไทยมักทำเช่นนั้นที่พัทยาอยู่เนืองๆ และด้วยเหตุดังนั้น สถานที่ประชุมพบปะวางแผนจึงต้องเป็นลังกาวี (รวมทั้งเป็นบ้านของมหาธีร์ด้วย) ทั้งๆ ที่แกนนำน่าจะเลือกที่ประชุมพบปะได้อีกหลายแห่ง ซึ่งประเจิดประเจ้อน้อยกว่า สิ้นเปลืองน้อยกว่า และไม่ถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลมาเลเซียเกินไป

อย่างไรก็ตาม ข่าวซึ่งควรถูกโยนทิ้ง กลับถูกส่งต่อมาเป็นทอดๆ จนถึงคนขนาดรัฐมนตรีกลาโหม ย่อมสะท้อนให้เห็นกระบวนการ "กรอง" ข่าวของไทยว่าเหลวแหลกเลอะเทอะเพียงใด ยังไม่พูดถึงกระบวนการที่จะเลือกนำข่าวกรองนี้ไปใช้ในทางการเมืองด้วย

ยิ่งกว่านี้ นอกจากข่าวไม่ได้ถูกกรอง หรือถูกกรองอย่างไร้ประสิทธิภาพแล้ว ยังไม่ทราบว่ามีการนำข่าวเหล่านี้ไปเป็นฐานสำหรับการวิเคราะห์ให้เกิดภาพรวมหรือไม่ ถ้าถูกนำไปวิเคราะห์ ก็กลับยิ่งน่าห่วงไยว่า ภาพรวมที่มีอยู่ในหัวของผู้บริหารระดับสูงไทยนั้น บิดเบี้ยวและห่างไกลจากความเป็นจริงอย่างน่าตกใจ เพราะล้วนวางอยู่บนฐานของข่าวที่ไม่ได้กรอง หรือข่าวที่กรองอย่าง (ขอประทานโทษ) เฮงซวยแค่ไหน

ส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกกันว่า "ความมั่นคง" ของชาติไทย ตั้งอยู่บนขี้เลนอย่างนี้แหละ (แต่ทั้งนี้ผมไม่ได้หมายความว่า ไม่มีผู้เชี่ยวชาญและรู้จริงในหน่วยงานที่ทำงานด้านการข่าวเสียเลย ผมเชื่อว่ามี และคงไม่น้อยด้วย เสียแต่ว่าคนเหล่านั้นไม่ได้ทำอะไรนอกจากนั่งไล่แมลงวันที่โต๊ะเท่านั้น เพราะระบบบริหารที่เล่นพรรคเล่นพวกของเรา ขจัดคนเก่งคนดีออกไปจากงานสายหลักๆ จนหมด)

ไม่เฉพาะแต่ประเด็นเรื่องข่าวกรองเท่านั้น แม้แต่ประเด็นเรื่องความมั่นคง ก็ถึงเวลาเสียทีที่จะทบทวนทำความเข้าใจกันใหม่ เพื่อนำไปสู่การยกเครื่องกันขนานใหญ่

ความมั่นคงถูกตีความไว้แคบมาก คือมีความหมายเฉพาะอธิปไตยและบุรณภาพทางดินแดนเป็นหลัก แม้ในภายหลังมีความเข้าใจความหมายที่กว้างขึ้น ว่ารวมเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม และสังคมอยู่ด้วย แต่ก็มองภาพไม่ชัดว่าความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ, สังคม, และวัฒนธรรม หรือการเมืองนั้น คืออะไรกันแน่

ตามนิยามที่แคบเช่นนี้ เอดส์, วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540, สึนามิ, ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ถดถอยลง, ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรอย่างรวดเร็ว ฯลฯ จึงไม่เกี่ยว หรือแทบจะไม่เกี่ยว นอกจากมีผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดต่ออธิปไตยหรือบุรณภาพทางดินแดน

และเพราะนิยามที่แคบเช่นนี้ จึงสรุปกันง่ายๆ มาแต่ไหนแต่ไรว่า เรื่องของความมั่นคงเป็นเรื่องของทหาร เพราะอธิปไตยและบุรณภาพทางดินแดน ย่อมถูกคุกคามได้จากการใช้กำลังทหารเท่านั้น ที่มีความสามารถจะใช้กำลังสกัดกั้นได้

อันที่จริง ถ้าย้อนกลับไปในอดีตไม่นานมานี้เอง คือการรักษาความมั่นคงของรัฐในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จากภัยคุกคามภายนอก ที่ว่ากันว่าประสบความสำเร็จในการปกป้องอธิปไตยของชาติไว้ได้นั้น หาได้ใช้กำลังทหารไม่ รัฐบาลไทยสมัยนั้นมีนโยบายที่แน่ชัดว่าจะไม่ใช้กำลังทหารเพื่อการนี้ แต่วางใจไว้กับการดำเนินนโยบายต่างประเทศแทน กำลังทหารใช้เฉพาะการรักษาความมั่นคงภายใน เช่นปราบกบฏไพร่, อั้งยี่ หรือข่มขู่มิให้เจ้าประเทศราชแข็งข้อ เท่านั้น จะพูดว่านโยบายใช้กำลังทหารเช่นนี้ยังดำรงสืบมาจนถึงปัจจุบันก็ได้

แต่ที่สำคัญกว่าความสำเร็จในอดีตก็คือ สภาพของการเมืองปัจจุบัน ทั้งการเมืองภายในและการเมืองภายนอก ได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว สิ่งที่กระทบความมั่นคงของไทยไม่ได้มาจากภัยที่จะทำให้เราต้องสูญเสียอธิปไตยหรือบูรณภาพทางดินแเดน การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดนับตั้งแต่รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณเป็นต้นมา ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจชนิดที่ไทยไม่เคยประสบมาก่อน ถึงขนาดที่เรียกกันว่าเป็นการเสียกรุงครั้งที่สาม

ดูจากพฤติกรรมทางเพศของยุคปัจจุบัน หากไม่จัดการให้ได้ผล โรคเอดส์อาจกลับมาระบาดหนักกว่าเดิม เรากำลังมีคนแก่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประชากรวัยทำงานลดลง จะเกิดอะไรกับระบบเศรษฐกิจไทยและเสถียรภาพในชีวิตของคนไทย คิดไปเถิดภัยคุกคามความมั่นคงของสังคมปัจจุบันไม่ใช่เรื่องของผู้เชี่ยวชาญทางทหารฝ่ายเดียวอีกแล้ว

เพราะไปผูกความมั่นคงไว้กับทหาร ซ้ำนิยามความหมายไว้แคบเช่นนี้ ฉะนั้นเมื่อไรก็ตามที่มีปัญหาซึ่งถูกตีความว่ากระทบต่อความมั่นคง เช่นกรณีความไม่สงบในภาคใต้ จึงยกงานให้ทหารทำเสียเป็นส่วนใหญ่ และใช้วิธีคิดแบบทหาร แต่กรณีความไม่สงบนี้มีสาเหตุมาก สลับซับซ้อนกว่ากลุ่มคนจำนวนน้อยที่ต้องการแยกดินแดน หรือต้องการก่อความไม่สงบ การจัดการจึงได้แต่เลาะเลียบอยู่กับชายขอบซึ่งเป็นเพียงขั้นปรากฏการณ์ความรุนแรง ไม่สามารถเจาะเข้าไปถึงรากฐานของปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนได้

ถึงเวลาที่เราควรกลับมาคิดเรื่องของงานเพื่อรักษาความมั่นคงกันใหม่ทั้งระบบ มองความมั่นคงให้กว้างกว่าอธิปไตยและบุรณภาพทางดินแเดน ชีวิตของพลเมืองต้องมีความมั่นคงในระดับหนึ่ง นั่นก็คือมีความสามารถที่จะคาดเดาอนาคตของตนเองได้ในระดับหนึ่ง โดยสภาพเช่นนี้เท่านั้นที่คนจะอยากและกล้าลงทุนกับอนาคต ถ้าใช้บรรทัดฐานเช่นนี้ก็จะเห็นว่าอธิปไตยและบูรณภาพทางดินแดน เป็นเพียงส่วนเดียวของความมั่นคง ชีวิตคนต้องการความมั่นคงหลากหลายด้านกว่านั้นอีกมาก ซึ่งประเทศไทยละเลยตลอดมา

และอย่างน้อย เราก็จะไม่ได้ยิน รมต.กลาโหมเอาข่าวของพ่อค้าปาท่องโก๋มาเป็นญัตติด้านความมั่นคงของชาติอีกเลย

2. สึนามิกับเฮอร์ริเคน
หลายคนเปรียบเทียบเฮอร์ริเคน ซึ่งเพิ่งถล่มสหรัฐไปเมื่อเร็วๆ นี้กับสึนามิที่เกิดในประเทศไทยเมื่อปลายปีที่แล้ว มีความแตกต่างที่มองเห็นได้ชัดอยู่มาก แต่ผมออกจะวิตกกับความต่างบางอย่างที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง

ภัยพิบัติธรรมชาติขนาดใหญ่เช่นนี้ไม่ได้เกิดบ่อยๆ ด้วยเหตุดังนั้นเกิดขึ้นทีจึงมักจะกลายเป็นครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ หรือในความทรงจำของมนุษย์อยู่บ่อยๆ ยิ่งในสังคมที่ไม่ได้เก็บบันทึกสถิติไปในอดีตได้ไกลนัก ก็ยิ่งจะเกิดใหญ่สุดใน "ประวัติศาสตร์" ได้ถี่ขึ้น และเพราะมันไม่ได้เกิดบ่อยนี่เองแหละครับ จึงไม่มีสังคมไหนสร้างกลไกอะไรไว้ป้องกันหรือบรรเทาผลของภัยพิบัติ

อันที่จริงมนุษย์มีชีวิตอยู่ท่ามกลาง "ภัย" ธรรมชาติตลอดเวลา (ธรรมชาติมันก็ดำเนินของมันไปตามครรลองนะครับ เราเป็นผู้กำหนดเองว่าอะไรเป็นภัย อะไรไม่ใช่) เราจึงสร้างกลไกทั้งในทางเทคโนโลยีและในทางสังคมไว้ป้องกันหรือบรรเทา "ภัย" เหล่านั้น เช่นสร้างหลังคาบ้านไว้กันแดดกันฝน เป็นต้น

สึนามิครั้งสุดท้ายก่อนปลายปีที่แล้วคงเกิดขึ้นจนสุดความจำของคนส่วนใหญ่ในภูเก็ต ยกเว้นก็แต่ชาวเลหรือมอเก็นบางกลุ่มเท่านั้น ที่บรรพบุรุษส่งผ่านความจำนั้นมาให้ จึงเป็นธรรมดาที่เราไม่ได้สร้างกลไกอะไรไว้เผชิญกับสึนามิ

เมืองนิวออร์ลีนนั้นอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล การถูกน้ำท่วมจึงเป็นธรรมดา เขาก็สร้างเทคโนโลยีไว้ป้องกันและบรรเทาน้ำท่วม เช่น มีพนังกั้นน้ำทะเลตลอดแนวยาว รวมทั้งสร้างระบบสูบน้ำออกที่มีประสิทธิภาพ แต่นั่นคือน้ำท่วมตามฤดูกาลธรรมดาๆ ไม่ได้สร้างไว้เผชิญกับการถล่มของเฮอร์ริเคน (ถ้าเกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกก็เรียกว่าไต้ฝุ่น) ขนาดใหญ่อย่างจังๆ เช่นนี้

ฉะนั้น ไม่ว่าภัยพิบัติธรรมชาติขนาดใหญ่เช่นนี้จะเกิดที่ไหน (ซึ่งมีคนอยู่มาก) ก็ล้วนแต่เละทั้งนั้นแหละครับ ทรัพย์สินเสียหายย่อยยับ ผู้คนอาจตายมากหรือน้อยแล้วแต่กรณีไป ทั้งรัฐไทยและรัฐอเมริกัน ไม่ได้เตรียมรับภัยพิบัติครั้งนี้อย่างเข้มแข็งสักรัฐเดียว

รัฐไทยไม่ได้เตรียมก็เพราะไม่รู้ ในขณะที่รัฐอเมริกาไม่ได้เตรียม หรือเตรียมแบบไร้ประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าเฮอร์ริเคนที่จะขึ้นฝั่งครั้งนี้ไม่ธรรมดา บางคนบอกว่าผู้นำประเทศไร้สมรรถภาพในการต่อสู้กับภัยคุกคาม "ภายใน" คือหาเป้าที่จะยกขึ้นเป็นศัตรูไม่ได้ บางคนบอกว่าเพราะกลไกของรัฐเช่นทหารอ่อนแอลง เนื่องจากไปติดภารกิจในอิรัก

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อเกิดภัยพิบัติจากธรรมชาติขนาดใหญ่ขึ้นเช่นนี้ ในช่วงเวลาหนึ่ง รัฐหายไปทั้งในอเมริกาและในประเทศไทย ตอนนี้แหละครับที่เกิดความแตกต่างอย่างน่าตกใจ

ในเมืองไทยก็อย่างที่รู้กันอยู่แล้วนะครับว่า การให้ความช่วยเหลือกันเองในหมู่ประชาชน ทั้งชาวไทยด้วยกันและชาวต่างชาติที่เป็นนักท่องเที่ยว สร้างความประทับใจให้แก่ผู้คนอย่างกว้างขวาง คนติดเกาะแบ่งปันอาหารและยากัน อาคารขนาดใหญ่หลายแห่ง ทั้งที่เป็นสาธารณะและของส่วนตัวเปิดรับผู้ไร้ที่อยู่ ผู้คนขนอาหารและน้ำไปส่งผู้ประสบภัย หมอตามโรงพยาบาลใกล้เคียงทำงานหนัก โดยไม่ต้องถามหาบัตรทองหรือเงินประกันใดๆ ทั้งสิ้น นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากเล่าถึงความกรุณาที่เขาได้รับจากชาวบ้านซึ่งมีฐานะยากจนอย่างมากในสายตาของเขา

การกระทำของคนไทยในครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือในนานาประเทศ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเกียรติยศของชาติยิ่งกว่าเหรียญทองโอลิมปิคทุกชนิด และยิ่งกว่าที่คนไทยจะได้ดำรงตำแหน่งใดๆ ในองค์กรระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผมอ่านเจอ ปรากฏการณ์ความเอื้อเฟื้อระหว่างมนุษย์เช่นนี้มีให้เห็นในประเทศเอเชียที่ประสบภัยพิบัติสึนามิร่วมกันครั้งนี้ทุกแห่ง เพียงแต่อาจไม่บันลือไกลเท่าไทย เพราะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่ประสบภัยน้อยกว่าไทยมากเท่านั้น

ผมจึงอยากสรุปเอาดื้อๆ ว่า ประเทศในเอเชียอาจไม่ได้สร้างกลไกทางเทคโนโลยีเพื่อเผชิญภัยพิบัติที่นานๆ เกิดครั้งหนึ่งเช่นนี้ แต่กลไกทางสังคมยังมีอยู่และสามารถปรับเอามาใช้กับภัยพิบัติขนาดใหญ่เช่นนี้ได้ดีทีเดียว

ตรงกันข้ามกับที่เกิดในบ้านเรา เมื่อรัฐหายไปในนิวออร์ลีนส์ ตำรวจกระจัดกระจาย สูญเสียเครื่องไม้เครื่องมือหมดแม้แต่เครื่องแบบ เท่ากับกำลังตำรวจอันตรธานไปเลย ทหารที่อยู่ใกล้ไม่มีเครื่องจักรกล เพราะถูกส่งไปอิรักหมด กองกำลังรักษาดินแดนยังไม่ถูกส่งเข้าไป ฯลฯ นิวออร์ลีนส์กลายเป็นแดนมิคสัญญี เด็กหนุ่มบางกลุ่มรวมตัวกันเป็นโจรผู้ร้าย เที่ยวเก็บรวบรวมทรัพย์สิ่งของตามร้านค้า รวมทั้งปล้นสะดมและข่มขืนประชาชนซึ่งยังติดค้างอยู่ในเมืองจำนวนมาก ต่างคนต่างต้องยึดบ้านซึ่งจมอยู่ในน้ำของตนเป็นป้อมปราการป้องกันตนเอง สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง

เฮอร์ริเคนไม่ได้ถล่มแต่เมืองและวัตถุสิ่งของ แต่พังทลายสังคมอเมริกันลงไปอย่างราบคาบ

การณ์เป็นไปอยู่เช่นนี้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ รัฐบาลกลางซึ่งถูกหนังสือพิมพ์และผู้คนก่นประณามด่าว่าอย่างหนัก จึงได้ "ขยับตูด" (ตามสำนวนอเมริกัน) เอากำลังของรัฐกลับมากอบกู้สถานการณ์ และทุกอย่างก็ค่อยๆ ขยับขยายไปในทางดีขึ้น

เมื่อรัฐกลับคืนมา ข้าวปลาอาหารหลั่งไหลเข้าไปสู่ศูนย์อพยพ และคนที่ติดค้างอยู่ในเมือง (การจะทำให้อาหารไหลไปถึงปากของคนที่กำลังหิว ต้องอาศัยการจัดองค์กรที่ดี กลไกของรัฐอเมริกันทำสิ่งนี้ได้) กำลังของรัฐเข้าไปกอบกู้สถานการณ์ โจรผู้ร้ายถูกปราบปรามด้วยวิธีเด็ดขาด (วิสามัญฆาตกรรม) ในขณะที่เครื่องจักรกลของทหารถูกขนเข้าไปสูบน้ำ และซ่อมแซมแก้ไขระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้าเริ่มกลับไปสู่บางส่วนของเมือง ฯลฯ

แต่ที่น่าสนใจก็คือ สังคมอเมริกันเริ่มกลับมาทำงานของมันใหม่ ประชาชนอเมริกันทั่วประเทศยื่นข้อเสนอนานาชนิดแก่ประชาชนที่ประสบเคราะห์กรรม โดยเฉพาะผ่านสื่อที่รัฐและทุนไม่อาจกำกับได้ นั่นก็คืออินเตอร์เน็ต

ข้อเสนอที่น่าประทับใจสำหรับผมซึ่งมีอยู่มากมายทีเดียวก็คือ เสนอให้ที่พักพิงในบ้านเรือนของตนเอง บางคนมีห้องว่าง บางคนมีโรงรถซึ่งพอขยับขยายเข้าของให้พอแก่การอยู่อาศัยได้ บางคนมีแค่โซฟาตัวเดียวก็เสนอให้มาอาศัยหลับนอนไปก่อน ที่ผมประทับใจก็เพราะ การอนุญาตให้คนแปลกหน้าเข้าไปพักในบ้านเป็นเวลานานๆ นั้น เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนอเมริกัน วิถีความสัมพันธ์ในบ้านมันอึดอัดไปหมด แตกต่างจากการที่จะให้เขาควักสตางค์บริจาคซึ่งง่ายกว่ากันแยะ

ผมอยากสรุป (เอาดื้อๆ ตามเคย) ว่า สังคมอเมริกันนั้นทำงานได้เมื่อมีรัฐ ซึ่งมีประสิทธิภาพพอจะสร้างระเบียบและความยุติธรรม (ตามมาตรฐานที่คนอเมริกันยอมรับได้ หรือถูกหลอกให้ยอมรับได้) ปราศจากซึ่งรัฐเช่นว่าเสียแล้ว ดูเหมือนสังคมอเมริกันจะหยุดทำงานไปเฉยๆ

ตรงกันข้ามกับอเมริกา ในเมืองไทย เมื่อรัฐกลับเข้ามาใหม่อีกครั้ง ก็ปานประหนึ่งว่า ผู้คนเล็กๆ ระดับล่างในหกจังหวัดจะโดนถล่มด้วยสึนามิลูกที่สอง ข้าวปลาอาหารเสื้อผ้าและวัสดุสิ่งของอื่น ทั้งจากงบประมาณและจากการบริจาคของประชาชนจำนวนมาก ถูกแจกจ่ายซ้ำแล้วซ้ำอีกให้แก่ประชาชนที่เข้าถึง แต่มีประชาชนที่เข้าไม่ถึงอีกมากซึ่งขาดแคลน แม้แต่การบริจาค ก็ทำกันด้วยความเอื้ออารี โดยรัฐไม่ได้เข้ามาให้ข้อมูลหรือจัดการเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งของที่จำเป็น

รัฐเป็นสื่อกลางนำความช่วยเหลือจากหน่วยราชการและเอกชนเข้าไปสร้างบ้านเรือนให้แก่ประชาชน แต่บางครั้งก็ไม่สามารถสร้างบนที่ดินเดิม และจัด "หน้าที่" ของบ้านไว้สำหรับอยู่อาศัยอย่างเดียว เหมือนบ้านของคนชั้นกลางโดยไม่สามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการ "ผลิต" ของชาวบ้านได้เลย

ชาวบ้านที่ทำประมงจึงถูกลากให้เข้ามาอยู่ห่างทะเลเป็นกิโล และต้องอยู่ในบ้านที่มีขนาดไม่พอจะเก็บเครื่องมือประมงของตน ราชการของรัฐบอกชาวบ้านเหล่านี้ให้เปลี่ยนอาชีพ ด้วยการทำสินค้าโอท็อปใต้ถุนเรือน ฉะนั้น สึนามิจึงไม่ได้ทำลายบ้านเรือนและเครื่องมือหากินของเขาเท่านั้น แม้แต่ความชำนาญเฉพาะด้านซึ่งอยู่ในตัวของเขาเอง ก็ถูกทำลายย่อยยับไปด้วย

ทำเลที่ตั้งบ้านเรือนเดิมในหลายท้องที่กลายเป็นของต้องห้าม เพราะเป็นที่ราชพัสดุบ้าง หรือกลายเป็นที่นายทุนไปหน้าตาเฉย มีการล้อมรั้ว ปักป้ายกีดกันมิให้ชาวบ้านกลับเข้าไป แม้แต่จะกลับเข้าไปค้นหาทรัพย์สินของตนเอง ในบางท้องที่นายทุนสามารถใช้กำลังของรัฐ คือทหารหรือตำรวจเข้าไปปกป้องการอ้างสิทธิของตนเองได้ด้วย และบางครั้งถึงกับใช้กำลังนี้ในการข่มขู่คุกคามชาวบ้านแทนการจ้างนักเลง

เอกสารสิทธิ์เหนือที่ดินเหล่านี้ หน่วยราชการเคยตั้งข้อสงสัยว่าเป็นเอกสารที่ไม่ชอบ แต่นายทุนดังกล่าวเป็นนักการเมืองสังกัดพรรครัฐบาล การตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวจึงไม่ได้เริ่มขึ้นสักที และคงไม่มีวันได้ถูกตรวจสอบตลอดไป เหมือนที่ดินอีกมากในประเทศไทย. จนถึงทุกวันนี้รัฐก็ยังทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากพยายามไปฟื้นฟูการท่องเที่ยว ในขณะที่คนเล็กๆ ซึ่งยังยับเยินจากสึนามิทั้งสองลูกถูกลืมไปมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรื่องราวของเขาเลือนหายไปจากสื่อ

ผมขอสรุปว่า สังคมไทยนั้นสามารถทำงานได้ดีเมื่อไม่มีรัฐ แต่กลับอ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพเมื่อต้องปล่อยให้รัฐเป็นหัวโจก คือเละตามรัฐไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ผมควรกล่าวด้วยว่ามีความช่วยเหลือของภาคเอกชนบางกรณี ที่รัฐไม่เข้าไปเกี่ยว ยังทำงานได้ดีมาก เพราะเขาใช้พลังทางสังคมของท้องถิ่นเป็นหัวจักรสำคัญในการฟื้นฟูตนเอง เช่น การตั้งกองทุนซ่อมแซมเรือของบริษัทในมิชลินประเทศไทย โดยให้ชาวบ้านบริหารจัดการกองทุน และการซ่อมเรือเอง โดยใช้ช่างฝีมือในท้องถิ่น เมื่อชาวบ้านเริ่มทำมาหากินได้ดังเดิม เขาก็สามารถชดใช้หนี้สินกับกองทุนได้ และชีวิตที่เขาอยู่ได้แบบเดิมก็กลับคืนมาใหม่

ความต่างระหว่างสังคมไทย-อเมริกัน รัฐไทย-อเมริกัน ตรงนี้แหละครับที่ผมคิดว่าน่าวิตก เพราะนับตั้งแต่ ร.5 เป็นต้นมา รัฐไทยก็ขยายตัวเข้าไปทำงานแทนสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่แทนที่จะเป็นหัวขบวนขับเคลื่อนพลังทางสังคม รัฐไทยกลับเข้าไปแทนที่อย่างไม่มีประสิทธิภาพเลย ซึ่งทำให้ทั้งรัฐและสังคมไทยอ่อนแอมากขึ้นตามลำดับ

 

 

 

บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 670 เรื่อง หนากว่า 9000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
นายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัด ได้เคยร่วมมือกับไทยในการส่งคนที่รัฐบาลไทยกล่าวหาว่าเป็นผู้นำก่อความไม่สงบเพื่อแยกดินแดน เป็นผู้ร้ายข้ามแดนใต้โต๊ะมาไม่รู้จะกี่ครั้งกี่หนแล้ว ไม่นับความร่วมมือทางอ้อมอื่นๆ เพื่อช่วยให้ไทยรักษาความสงบในดินแดนของตัว
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี


เมื่อรัฐหายไปในนิวออร์ลีนส์ ตำรวจกระจัดกระจาย สูญเสียเครื่องไม้เครื่องมือหมดแม้แต่เครื่องแบบ เท่ากับกำลังตำรวจอันตรธานไปเลย ทหารที่อยู่ใกล้ไม่มีเครื่องจักรกล เพราะถูกส่งไปอิรักหมด กองกำลังรักษาดินแดนยังไม่ถูกส่งเข้าไป ฯลฯ นิวออร์ลีนส์กลายเป็นแดนมิคสัญญี เด็กหนุ่มบางกลุ่มรวมตัวกันเป็นโจรผู้ร้าย เที่ยวเก็บรวบรวมทรัพย์สิ่งของตามร้านค้า รวมทั้งปล้นสะดมและข่มขืนประชาชนซึ่งยังติดค้างอยู่ในเมืองจำนวนมาก ต่างคนต่างต้องยึดบ้านซึ่งจมอยู่ในน้ำของตนเป็นป้อมปราการป้องกันตนเอง สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง

เฮอร์ริเคนไม่ได้ถล่มแต่เมืองและวัตถุสิ่งของ แต่พังทลายสังคมอเมริกันลงไปอย่างราบคาบ