นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
R
related topic
280948
release date

คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด

เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

ทบทวนประวัติศาสตร์ที่ประกอบสร้าง
ปรีดี พนมยงค์ กับการเล่นตลกของประวัติศาสตร์
เมธัส บัวชุม : เขียน
สาระจากกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความชิ้นนี้นำมาจาก

http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=midnightuniv&topic=7816
หัวข้อที่ 07816 เรื่อง - ปรีดี พนมยงค์ : กับการเล่นตลกของประวัติศาสตร์ -18 ก.ย. 2548
ทางกองบรรณาธิการเว็ปไซต์ ม.เที่ยงคืน สำรวจแล้วพบว่า
บทความนี้เคยเผยแพร่บน
http://www.14tula.in.th/webboard/00032.html
ผู้นำเสนอคือ [email protected] - 18 พ.ค. 2003


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 683
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7.5 หน้ากระดาษ A4)


 

หมายเหตุ : เนื่องจากบทความนี้ได้มีการอ้างถึงแถลงการณ์คณะราษฎร ฉบับที่ ๑ (ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑) ทางกอง บก.ม.เที่ยงคืน จึงนำมาต่อท้ายบทความ เพื่อประโยชน์ทางด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังได้นำเอาบทสัมภาษณ์ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งให้แก่นิตยสาร Asia Week เมื่อปี พ.ศ. 2523 มานำเสนอด้วย เพื่อสะท้อนถึงการทบทวนตัวเองของอาจารย์

ปรีดี พนมยงค์ : กับการเล่นตลกของประวัติศาสตร์

การจัดวางภาพลักษณ์ของปรีดี พนมยงค์ ไว้ภายใต้บริบทของปัจจุบันที่เข้าได้กับทุกสถาบัน และทำให้ปรีดีสะอาดเกินจริงนั้น ดูไปก็แห้งแล้งและไม่ให้แรงดลใจ ซ้ำยังไม่อาจก่อให้เกิดการเรียนรู้อะไรขึ้นมาได้ แม้ว่า ปรีดี พนมยงค์ จะเคยเป็นบุคคลที่ถูกป้ายสีด้วยข้อกล่าวหาอันหนักหน่วงรุนแรงมากที่สุดคนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ จนต้องลี้ภัยและสิ้นใจในต่างแดน

แต่ในปัจจุบัน ภาพลักษณ์ของปรีดี พนมยงค์ ได้ถูกชำระล้างเสียจนขาวสะอาด แทบไม่มีรอยมลทินใดๆ เหลืออยู่ และกลายเป็นบุคคลที่น่าเคารพยกย่องของสังคมไทยไปเสียได้ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะศิษยานุศิษย์และองค์กรต่างๆ ได้ร่วมกันกอบกู้สถานะและเชิดชูปรีดี พนมยงค์ จนมีลักษณะเป็นสถาบันไปแล้ว คนที่ครั้งหนึ่งเคยว่า กล่าวโจมตีผู้อภิวัฒน์อย่างดุเดือดกลับกลายมาเป็นผู้ผลักดันให้ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องในระดับโลกเสียเอง

แต่ภาพลักษณ์ที่แปรเปลี่ยนของผู้ก่อการท่านนี้มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนอยู่พอสมควร เพราะเกี่ยวโยงอยู่กับสถาบันอื่นๆ และค่านิยมที่ไหลเวียนของสังคมในปัจจุบันด้วย

ภาพลักษณ์ของผู้อภิวัฒน์ที่ผันแปรไปตามวันเวลา และความเปลี่ยนแปลงของสังคม จากดำเป็นขาวเช่นนี้ เป็นเรื่อง "ตลกดี" เรื่องหนึ่งของประวัติศาสตร์ในแง่ที่ว่าช่วยให้รอดพ้นจากการตกเป็นจำเลยไปในหลายๆ คดี

อย่างไรก็ตาม "ตลกดี" เรื่องนี้ ก่อให้เกิด "ตลกร้าย" เรื่องอื่นๆ ตามมา เพราะการแปรเปลี่ยนสถานะกลายเป็นผู้ที่สังคมยกย่องบูชานั้น ทำให้ภาพลักษณ์ หรือการสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับปรีดี พนมยงค์ ดูขาวสะอาดและบริสุทธิ์เกินจริง ความขัดแย้งและบาดแผลที่ครั้งหนึ่งปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎรได้ร่วมกันก่อขึ้นกับสถาบันสำคัญๆ กลับถูกลืมเลือนและกลืนหายไปในระหว่างทางเดินของประวัติศาสตร์

จากปรีดีหนุ่ม ที่มีอุดมการณ์ อุดมคติ และร้อนแรงไปด้วยไฟแห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อการมีชีวิตอยู่อย่างเท่าเทียม เสมอภาคของราษฎร และใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่า กลายมาเป็นปรีดีในช่วงวัยตอนปลายของชีวิต ผู้ซึ่งจงรักภักดี และคอยปกป้องคุ้มครองสถาบันหลักของประเทศชาติเอาไว้

จากผู้ที่ชิงสุกก่อนห่ามในปี 2475 กลายเป็นบุคคลที่มีคุณูปการต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในแง่ที่ว่า ช่วยลดแรงเครียดในการเผชิญกับความคาดหวังของสังคมต่อสถาบันนี้ลง

ซึ่งก็คงสอดคล้องโครงเรื่องหลักว่าด้วยการสถาปนาบุคคลสำคัญแห่งชาติ ที่ใครก็ตามจะได้รับการยกย่องก็ต่อเมื่อเขาหรือเธอผู้นั้นเป็นผู้ปกปักรักษาสถาบันหลักของชาติเอาไว้ ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับส่วนกลางหรือรัฐ เป็นผู้จงรักภักดี และไม่เปลี่ยนแปลงจารีตประเพณีอันดีงามที่สืบทอดกันมายาวนาน

เพราะฉะนั้นคนที่เชื่อว่า ประชาธิปไตยมีรากฐานมาก่อนการปฏิวัติ 2475 นั้น ก็ไม่มีความกระอักกระอ่วนใจแต่ประการใดทั้งสิ้นในการชื่นชมศรัทธาและร่วมงานรำลึกถึงปรีดี พนมยงค์

นี่นับว่าเป็น "ตลกร้าย" เรื่องหนึ่งของประวัติศาสตร์ เพราะปรีดี พนมยงค์ หนุ่มนักเรียนนอกผู้มีจิตใจปฏิวัติ ต้องการการเปลี่ยนแปลงได้กลายเป็น "ข้าราชการ" (ที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง) หรือ "รัฐบุรุษอาวุโส" ผู้รับใช้ประเทศชาติอย่างสุดกำลัง แม้ว่าจะถูกกล่าวหาจากฝ่ายตรงข้าม หรือมีอุปสรรคมากเพียงใดก็ตาม หรือเป็นปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้ประนีประนอมผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองต่างๆ

ถือได้ว่าเป็นความสามารถอย่างหนึ่งของสังคมไทยที่สามารถกลืนกลายความบาดหมาง และการไม่ลงรอยทางประวัติศาสตร์ให้มีความกำกวมไม่แน่นอน และจับเอามาวางไว้เป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงเรื่องแม่บทเก่าแก่ที่มุ่งเชิดชูชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ส่วนเรื่องใดหรือความไม่ลงรอยใดที่ไม่สามารถรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งได้ ก็ทำให้ตกขอบเวทีของประวัติศาสตร์และความทรงจำของสังคมไป

แต่บางทีอาจสัมผัสถึงความร้อนแรง และอุดมการณ์ทางการเมือง ของท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และแลเห็นภาพลักษณ์ที่ถูกหลงลืมไปแล้วของท่านผู้นี้ได้อีกครั้ง หากกลับไปอ่านแถลงการณ์ของคณะราษฎร ฉบับที่ 1 (ทัศนคติที่ปรากฏในแถลงการณ์ฉบับนี้ จะว่าไปก็เป็นทัศนคติของสังคมในเวลานั้น ปรีดี พนมยงค์ เป็นเพียงผู้เก็บมาเรียบเรียง)

และถ้าว่าไปแล้ว เนื้อหาใจความของแถลงการณ์ฉบับนี้นั้น อาจสามารถนำมาเปรียบเทียบได้กับคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว เพราะในเวลานั้นแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ก็นับได้ว่าเป็น "คำประกาศอิสรภาพชนิดหนึ่ง"

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ได้เมินเฉยในความสำคัญของแถลงการณ์ฉบับนี้ไปอย่างน่าเสียดาย และอิสรภาพที่ถูกประกาศในเวลานั้น ก็กลายเป็นเพียงวาทกรรมที่ไร้พลังจนปัจจุบัน คนรุ่นหลังไม่เคยแม้แต่จะนึกถึงคำประกาศอิสรภาพชนิดนี้และไม่รู้แม้กระทั่งว่ามีอยู่ด้วยและยิ่งไม่อาจมีได้ในปัจจุบัน

วันที่ 11 พฤษภาคม เป็นวันคล้ายวันเกิดของสามัญชนที่มีเชื้อสายจีนอย่าง ปรีดี พนมยงค์ แน่นอนว่าในชีวิตของคนๆ หนึ่งย่อมมีทั้งความสำเร็จและล้มเหลว การพูดถึงความสำเร็จอย่างฉาบฉวยหรือการยกย่องในความสามารถนั้นมีอยู่มากมายแล้ว ในหน่วยงานของรัฐและสื่อมวลชนบางส่วนในปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการรำลึกถึงท่านผู้นี้ หาใช่การกล่าวถึงความสำเร็จ หรือการยกย่อง และทำให้สถานะทางประวัติศาสตร์ของแกนนำคณะราษฎรผู้นี้คลุมเครือเสียจนกระทั่ง สอดคล้องกับความนิยมในสถาบันหลักของประเทศ อย่างชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน ของสังคมไทยในปัจจุบัน หากแต่น่าจะเป็นการทบทวนถึงความล้มเหลวของท่านผู้นี้มากกว่า ซึ่งไม่แน่ว่าอาจมีมากกว่าความสำเร็จ

สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะได้การเรียนรู้ชีวิตของบุคคล หรือประวัติศาสตร์ คือ "บทเรียน" และการเรียนรู้ในความปรารถนาที่ล้มเหลวของคนไม่ธรรมดาอย่างปรีดี พนมยงค์ ย่อมให้บทเรียนอย่างมหาศาล

ปรีดี พนมยงค์ เองก็ยอมรับถึงความผิดพลาดทางการเมืองหลายประการ ในชีวิตอันโลดโผนราวกับนิยายของท่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเจตนารมณ์การปฏิวัติ 2475 การสถาปนานิติรัฐ กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ การปกครองท้องถิ่น การสหกรณ์ ฯลฯ จะเห็นได้ว่า หลายเรื่องเป็นการพลิกกลับตาลปัตรทางประวัติศาสตร์ หลายเรื่องไม่สามารถรักษาเอาไว้ได้ และหลายเรื่องเป็นความใฝ่ฝันที่มาก่อนกาล

บางทีคนรุ่นหลังอาจได้อะไรจากการมองปรีดี พนมยงค์ ในฐานะปัญญาชนนักปฏิวัติที่มีความมุ่งหวังถึงสิ่งที่ดีกว่า และพยายามเต็มความสามารถเพื่อให้ได้มาแต่ทว่าล้มเหลว

เพราะเงื่อนไขทางสังคมการเมืองและความอ่อนด้อยขาดประสบการณ์ หรือมองโลกในแง่ดีมากเกินไป มากกว่าที่จะเห็นปรีดี พนมยงค์ ถูกยกย่องอย่างว่างเปล่า โดยหน่วยงานของรัฐและองค์กรต่างๆ รวมทั้งตลาดที่ทำให้ผู้อภิวัฒน์ไม่ต่างไปจากคุณหญิงโม หรือชาวบ้านบางระจัน ซึ่งไม่มีพิษมีภัยใดๆ ต่อสังคม และใครก็ได้สามารถหยิบฉวยไปใช้อย่างไม่เคอะเขิน

การจัดวางภาพลักษณ์ของปรีดี พนมยงค์ ไว้ภายใต้บริบทของปัจจุบันที่เข้าได้กับทุกสถาบัน และทำให้ปรีดีสะอาดเกินจริงนั้น ดูไปก็แห้งแล้งและไม่ให้แรงดลใจ ซ้ำยังไม่อาจก่อให้เกิดการเรียนรู้อะไรขึ้นมาได้ นอกจากก่อให้เกิดความยำเกรง ที่จะหาญคิดเปลี่ยนแปลงสังคมที่อยุติธรรม และยำเกรงที่จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองใดๆ ในปัจจุบัน

ประเด็นไม่ใช่การเสนอให้เลิกรำลึกอย่างที่บางคนเสนอให้เลิกรำลึก 6 ตุลาคม 2519 หรือ14 ตุลาคม 2516 เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หากแต่ต้องช่วงชิงทางวาทกรรมในการเสนอภาพลักษณ์ของปรีดี พนมยงค์ ให้ออกมาอย่างมีพลัง ก่อให้เกิดการเรียนรู้ เป็นบทเรียนราคาแพงให้กับคนรุ่นหลัง ไม่เป็นดำ เป็นขาว

เพราะถึงที่สุดแล้วสงครามเงียบทางประวัติศาสตร์อันเกี่ยวกับปรีดี พนมยงค์ ไม่ใช่สิ่งที่ยุติแล้ว ในทางตรงข้ามการต่อสู้เพื่อสถาปนาวาทกรรมทางประวัติศาสตร์ชุดใดชุดหนึ่ง ยังคงดำเนินอยู่อย่างเงียบเชียบและซ่อนเร้น

ประวัติศาสตร์อาจจะเล่นทั้งตลกร้ายและตลกดีจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ที่แน่ๆ ประวัติศาสตร์ได้ชำระล้างปรีดี พนมยงค์ สะอาดเสียจนแทบไม่เหลือคราบของนักปฏิวัติผู้รักการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็คงเป็นสิ่งที่เหมาะควรแล้วกับสังคมไทยที่มีอารมณ์แบบอนุรักษ์นิยม !

+++++++++++++++++++++++++++++

ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

ราษฎรทั้งหลาย

เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบจากพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่า กษัตริย์องค์ใหม่นี้จะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจเหนือกฎหมายอยู่ตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้าง ซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนราคาเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตายะถากรรมดังที่จะเห็นได้จากความตกต่ำในทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากิน ซึ่งพวกราษฎรได้รู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้

การแก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์นี้มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่นๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่า ไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดรฉานไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้นแทนที่จะช่วยราษฎรกลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่าภาษีอากรที่บีบคั้นเอามาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ส่วนตัวปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิกว่าจะหาได้แม้แต่เล็กน้อยแทบเลือดตากระเด็น ถึงคราวเสียเงินราชการหรือภาษีใด ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นได้โค่นราชบัลลังก์เสียแล้ว

รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าหลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอยๆ ก็เหลวไปหาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวคำหมิ่นประมาทราษฎร ผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กินว่า ราษฎรยังมีเสียงการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรยังโง่ คำพูดของพวกรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่ เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้เท่าไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังคน

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎรไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศมีอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่จะชุบมือเปิบและกวาดรวบรวมทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั่นเอง

บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนาเพราะทำไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนเรียนเสร็จแล้ว และทหารปลดกองหนุนแล้วไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยะถากรรม เหล่านี้เป็นผลของรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการผู้น้อย นายสิบและเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่กวาดรวบรวมไว้มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้
พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยๆ ไป เงินมีเหลือเท่าใดก็เอาฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย

เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการทหารและพลเรือนที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้วจึงรวมกำลังกันตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของรัฐบาลของกษัตริย์ไว้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิด ดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้นจึงได้ขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร

คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะได้ชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นความจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่าราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุกๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ

เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จะต้องจัดวางโครงการอาศัยหลักวิชชา ไม่ทำไปเสมือนคนตาบอดเช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว หลักใหญ่ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้มีอยู่ว่า

1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

2. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4. จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)

5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น

6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ราษฎรทั้งหลาย จงพร้อมใจกันช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วดินฟ้านี้ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือกฎหมาย พึงตั้งอยู่ในความสงบและตั้งหน้าทำมาหากิน อย่าทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎร การที่ราษฎรช่วยคณะราษฎรนี้เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลนของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสของพวกเจ้า

หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนา คือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกกันเป็นศัพท์ว่า "ศรีอาริย์" นั้นก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า
[email protected] - http://www.14tula.in.th/webboard/00032.html

+++++++++++++++++++++++++++++

อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์นิตยสารเอเชียวีค ๒๕๒๓

ก่อนถึงอสัญกรรมไม่ถึง 3 ปี ท่านปรีดี พนมยงค์ให้สัมภาษณ์นิตยสาร Asia Week ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม 2523 ไว้ตอนหนึ่งดังนี้...

ในปีค.ศ. 1925 เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกนของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้ว และได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี ข้าพเจ้าไม่มีความจัดเจน และโดยปราศจากความจัดเจน บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา

ข้าพเจ้าไม่ได้นำความเป็นจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย
ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ
ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี...

ในปีค.ศ. 1932 ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน...
และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ

(ให้สัมภาษณ์ เอเชียวีค ๒๘ ธันวาคม ๒๕๒๓)
จากบทความ ๑๐๐ ปี ของสามัญชนนามปรีดี พนมยงค์ โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
http://www.sarakadee.net/feature/2000/04/100y_pridi.htm

 

 

 

บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 680 เรื่อง หนากว่า 9500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
ข้าพเจ้าไม่ได้นำความเป็นจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย
ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์
มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี...
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี


นี่นับว่าเป็น "ตลกร้าย" เรื่องหนึ่งของประวัติศาสตร์ เพราะปรีดี พนมยงค์ หนุ่มนักเรียนนอกผู้มีจิตใจปฏิวัติ ต้องการการเปลี่ยนแปลงได้กลายเป็น "ข้าราชการ" หรือ "รัฐบุรุษอาวุโส" ผู้รับใช้ประเทศชาติอย่างสุดกำลัง...

ถือได้ว่าเป็นความสามารถอย่างหนึ่งของสังคมไทยที่สามารถกลืนกลายความบาดหมาง และการไม่ลงรอยทางประวัติศาสตร์ให้มีความกำกวมไม่แน่นอน และจับเอามาวางไว้เป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงเรื่องแม่บทเก่าแก่ที่มุ่งเชิดชูชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ส่วนเรื่องใดหรือความไม่ลงรอยใดที่ไม่สามารถรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งได้ ก็ทำให้ตกขอบเวทีของประวัติศาสตร์และความทรงจำของสังคมไป