คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
้
The Midnight University
รวมบทความสั้นๆ ของ
อ.นิธ เอียวศรีวงศ์
การเมืองเกาะเกี่ยววัฒนธรรม
เขียนโดย
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความ ๔ ชิ้นนี้เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วบนหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
และรายสัปดาห์
ประกอบด้วย
๑. อำนาจประชาชนในรัฐธรรมนูญ
๒.สมานฉันท์ในทางปฏิบัติ
๓. Spoke English ๔. ประณามพจน์หนังสือ
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 673
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๘ กันยายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 15 หน้ากระดาษ A4)
(ภาคการเมือง)
1. อำนาจประชาชนในรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เราเคยมีมา ล้วนไม่ไว้ใจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งทั้งนั้น
และด้วยเหตุดังนั้น จึงต้องวางเงื่อนไขที่จะมีการตรวจสอบควบคุมและจำกัดอำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
ส่วนใหญ่ของเงื่อนไขดังกล่าวมอบให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้ตรวจสอบควบคุม เช่น เป็นผู้แต่งตั้งวุฒิสภาขึ้นมากำกับอีกชั้นหนึ่ง ให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารในการอนุมัติให้นำร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงินเข้าสภา โดยมีอำนาจวินิจฉัยเองเสร็จว่า ร่าง พ.ร.บ.ใดเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการเงิน รวมทั้งไม่ได้ให้กลไกตรวจสอบควบคุมฝ่ายบริหารแก่สภา เช่น คณะกรรมการตรวจสอบเงินแผ่นดินก็ตาม คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตในราชการก็ตาม เคยเป็นเพียงหน่วยงานของฝ่ายบริหารเท่านั้น เป็นต้น
ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นมรดกตกทอดมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มากบ้างน้อยบ้าง นับว่าน่าประหลาดอยู่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้รู้อยู่แล้วว่า ฝ่ายบริหารย่อมประกอบด้วยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่ไม่น่าไว้วางใจนั่นเอง จะให้เป็นผู้กำกับควบคุมพรรคพวกเดียวกันในสภาได้อย่างไร นอกจากเอาอำนาจนั้นไปใช้ในทางที่ทำให้เสียงของประชาชนไม่อาจดังผ่านสภาได้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่ดึงเอาอำนาจอื่นนอกฝ่ายบริหาร เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมือง โดยสรุปประกอบด้วยอำนาจสามอย่างคือ อำนาจของประชาชนโดยตรงหรือที่เรียกกันว่าการเมืองภาคประชาชน, อำนาจขององค์กรอิสระซึ่งพยายามสร้างที่มาให้สลับซับซ้อนขึ้น(แต่ไม่ค่อยเกี่ยวกับประชาชน), และอำนาจของพรรคการเมือง
ผลเป็นอย่างไรก็เห็นกันอยู่
องค์กรอิสระต่างๆ ถูกตั้งข้อสงสัย(จากเดิมที่มีความเชื่อมั่นอย่างสูง) ว่าไม่ได้อิสระจริง แต่ถูกแทรกแซงจากอิทธิพลภายนอกอย่างหนัก แม้แต่วุฒิสภาเองก็ไม่มีใครเชื่ออีกแล้ว ว่าเป็นองค์กรอิสระที่มีสมรรถภาพจะตรวจสอบถ่วงดุลกำกับอะไรได้ ส่วนพรรคการเมืองซึ่งได้อำนาจล้นเหลือในการควบคุมนักการเมืองในสังกัด เอาอำนาจนั้นไปทำให้สภาผู้แทนราษฎรกลายเป็นสภา "ผู้เลือก" (Assembly of Electors) คือเลือกฝ่ายบริหารเสร็จแล้วก็เป็นอันหมดหน้าที่ไปโดยปริยาย
การเมืองภาคประชาชนซึ่งเหลือรอดมาเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้มีพลังมากนัก เพราะขาดเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางสังคม โดยเฉพาะสื่ออิสระ(จากอำนาจการเมืองและทุน) ในขณะเดียวกัน การเชื่อมต่อระหว่างการเมืองภาคประชาชนและการเมืองในระบบที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้ ก็ถูกบิดเบือนจนไม่อาจนำเอาอำนาจประชาชนแทรกเข้าไปในการเมืองในระบบได้ เช่นการเสนอร่างกฎหมายเอง ก็ถูกระเบียบสภาและฝ่ายราชการใช้กระบวนการพิจารณากฎหมายจนทำให้ตกไปในที่สุด องค์กรอิสระไม่บังเกิดขึ้นทั้งหมด ประชาพิจารณ์ยังใช้ความรวบรัดเป็นเกณฑ์ ฯลฯ
ทั้งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญสร้างกลไกการเชื่อมโยงระหว่างการเมืองภาคประชาชน และการเมืองในระบบไว้โดยขาดความสมดุลของอำนาจ กล่าวคือเมื่อใดที่การเมืองภาคประชาชนเข้าไปเชื่อมโยงกับการเมืองในระบบ อำนาจของภาคประชาชนจะสูญหายไปทันที เช่นเมื่อเสนอร่างกฎหมายใดก็ตามเข้าสู่สภาแล้ว ก็หมดอำนาจที่จะจัดการกับร่างกฎหมายฉบับนั้นในทางใดได้อีกเลย ร่างกฎหมายจะถูกเตะถ่วง, ถูกแก้จนไม่เหลือเค้าเดิม, หรือถูกทำให้ตกไป โดยประชาชนไม่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องได้อีก ในขณะที่กระแสกดดันทางสังคมของภาคประชาชนก็ไม่มีพลังดังที่กล่าวแล้ว
การเมืองภาคประชาชนจะมีความสำคัญมากขึ้น หากรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ภาคประชาชนมีอำนาจในการกำกับควบคุมนักการเมืองโดยตรงในทางอื่นๆ นอกจากการหย่อนบัตรลงหีบบัตรเลือกตั้งตามวาระ ไม่ใช่ปล่อยให้การกำกับควบคุมอยู่ในมือพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องมีดุลแห่งอำนาจระหว่างพรรคการเมือง(ของนายทุนหรืออยู่ภายใต้อุปถัมภ์ของผลประโยชน์ทางธุรกิจ) และประชาชนในการกำกับควบคุม ส.ส.ของตนด้วย
การกำกับควบคุม ส.ส.ด้วยกระบวนการทางสังคมอย่างเดียว เช่นการก่นประณามสาปแช่งก็ตาม, การใช้สื่อก็ตาม, การแสดงการกดดันด้วยวิธีอื่นก็ตาม ไม่ได้ผล เพราะถ้าไม่นับกรณียกเว้นเพียงไม่กี่อย่างแล้ว ยากมากที่สังคมจะเคลื่อนไหวโดยขาดการจัดตั้ง และอย่างมีพลัง เพื่อไปกำกับควบคุม ส.ส.ของตนได้ ทั้งนี้ ไม่ใช่ยากเฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น แต่รวมถึงสังคมสมัยใหม่ทั่วๆ ไปด้วย
เราไม่สามารถกำกับควบคุมนักการเมืองกลางถนนราชดำเนินได้ตลอดไป
ฉะนั้นถ้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันในอนาคต เรื่องอำนาจของประชาชนในการเข้าไปมีบทบาทในการเมืองในระบบ เพื่อตรวจสอบควบคุมและกำกับนักการเมือง จึงควรเป็นประเด็นที่สังคมไทยต้องคิดไตร่ตรองกันให้มากว่า จะมีมาตรการอะไรบ้างที่จะทำให้เกิดอำนาจและบทบาทเช่นนี้ได้จริง
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างเท่าที่จะนึกได้ให้ดูเป็นตัวอย่างบางประการ
1. สิทธิการเรียกคืน "ผู้แทน" ตราบเท่าที่ ส.ส.และ ส.ว.ยังคิดว่าตัวเป็นผู้แทนของประชาชน อำนาจของประชาชนในการกำกับควบคุม "ผู้แทน" ของตนจะขาดไปเสียโดยสิ้นเชิงไม่ได้ ด้วยเหตุดังนั้นประชาชนจึงควรมีสิทธิในการ "เรียกคืน" บุคคลที่เป็นผู้แทนของตนได้ทุกเมื่อ ฉะนั้นการลงมติของ ส.ส.และ ส.ว.ในสภา จึงจำเป็นต้องเหลียวมองประชาชนซึ่งเป็นผู้เลือกตั้งตนเข้ามาอยู่ตลอดเวลา จะฟังเฉพาะมติพรรคเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ในขณะที่มติพรรคก็ไม่อาจผ่านออกมาได้ง่ายๆ โดยไม่คำนึงถึงความคิดความต้องการของประชาชน เพราะจะทำให้ ส.ส.ในสังกัดต้อง "แหกคอก" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กระบวนการที่จะ "เรียกคืน" ผู้แทนของตนนั้น พึงทำได้อย่างไร เป็นรายละเอียดเชิงเทคนิค ซึ่งต้องคิดและถกเถียงกันในภายหน้า แต่ถึงอย่างไรก็หนีไม่พ้นการลงมติผ่านการลงคะแนนทั่วไปในกลุ่มประชากรจำนวนหนึ่ง(เช่นเขตเลือกตั้งของตนเป็นต้น)
2. เพิ่มขีดความสามารถของนักการเมือง ในการติดต่อสื่อสารกับประชาชน ในการนี้จำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถของนักการเมืองที่เป็นผู้แทน ในการติดต่อสื่อสารกับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในเขตเลือกตั้งของตน ฉะนั้นจึงควรงดการให้สวัสดิการที่ไม่จำเป็นแก่นักการเมืองเสียที เช่นการเดินทางนอกเหนือหน้าที่(ไปตีกอล์ฟ หรือพาลูกเมียไปเที่ยว เป็นต้น) แต่ควรเอาเงินมาลงทุนกับการที่จะทำให้ประชาชนกับผู้แทนสามารถติดต่อกันได้สะดวก เช่นจดหมายเข้า และโทรศัพท์เข้าสำนักงานของนักการเมืองในพื้นที่ทั้งหมด สภาจะเป็นผู้ออกให้โดยสิ้นเชิง(เฉพาะสำนักงานทางการเมือง ไม่นับสำนักงานธุรกิจซึ่งต้องแยกออกไปให้ชัด)
นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่กิจกรรมของผู้แทนที่ทำให้ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน เช่น ส.ส.อาจจัดการประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเขตเลือกตั้งของตนเกี่ยวกับโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนเอง หรือเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลที่มีผลกระทบต่อบ้านเมืองทั่วไปในกรณีต่างๆ แม้แต่ในกรณีที่สมควร ส.ส.จะจัดทำการลงประชามติในพื้นที่ ก็ควรได้รับการสนับสนุน
3. เลิกใช้งบประมาณให้การอุดหนุนทางการเงินแก่พรรคการเมือง จำเป็นต้องพยายามรักษาการตัดสินใจทางการเมืองเอาไว้กับ "ผู้แทน" ของประชาชน ไม่ใช่ตัวองค์กรพรรคการเมืองซึ่งควรเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับการดำเนินการทางการเมืองอย่างมีพลังเพิ่มขึ้นเท่านั้น
ที่เคยคิดกันว่าหากรัฐให้การอุดหนุนทางการเงินแล้ว จะปลดปล่อยพรรคการเมืองออกจากการอุปถัมภ์ของภาคธุรกิจ ซึ่งลงทุนกับพรรคการเมืองเพื่อหวังผลตอบแทนทางธุรกิจนั้น ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งในเมืองไทยและในต่างประเทศ อุดมคติเดิมของการสนับสนุนพรรคการเมืองนั้นคือ เงินจำนวนเล็กน้อยที่ประชาชนซึ่งเห็นด้วยกับแนวทางของพรรคบริจาค อันไม่ใช่การ "ซื้อ" บริการจากพรรค เราควรหันกลับมาสู่อุดมคติเดิม คือพรรคการเมืองต้องเสนอแนวทางและนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นจากประชาชน หากพรรคการเมืองไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ก็ไม่ควรดำรงอยู่ต่อไปอยู่แล้ว
งบประมาณจำนวนนี้ควรเอามาสนับสนุน ส.ส.และ ส.ว.มากกว่า นั่นก็คือให้พลังแก่นักการเมืองในการติดต่อสื่อสัมพันธ์กับประชาชนให้มากขึ้นดังที่กล่าวแล้ว แน่นอนว่า การใช้เงินไปในการสร้างความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับประชาชนย่อมไม่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐ
4. มาตรการที่จะเพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชน ในการตรวจสอบและกำกับ เรายังสามารถช่วยกันคิดถึงมาตรการที่จะเพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชน ในการตรวจสอบและกำกับนักการเมืองที่ตัวเลือกเข้าไปได้โดยตรงได้อีกมาก แต่ประเด็นหลักก็คือ ไม่ควรปล่อยให้หน้าที่กำกับควบคุม ส.ส.ต้องผ่านมือองค์กรอิสระและพรรคการเมืองโดยทางอ้อมแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนนั้นก็ดีและมีประโยชน์ แต่ต้องมีส่วนที่ประชาชนสามารถกำกับควบคุมโดยตรงอยู่ด้วย
หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในอนาคต อย่าปล่อยให้นักการเมือง, บุคคลในองค์กรอิสระ และขุนนาง พล่าทึ้งรัฐธรรมนูญไปตามใจชอบ แต่ความเห็นจากภาคประชาชนจะต้องเป็นหลักในการปรับปรุงแก้ไข
++++++++++++++++++++++++++++
2. สมานฉันท์ในทางปฏิบัติ
นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้มาปีครึ่ง ปรากฏการณ์นี้เป็นครั้งแรกที่ชี้ให้เห็นว่า
ประชาชนคนเดินดินธรรมดานี่แหละที่ประท้วงรัฐไทย (ซึ่งย่อมมีรัฐบาลเป็นหัวขบวนตามธรรมดาของรัฐสมัยใหม่ทั่วไป)
ไม่ใช่กบฏแยกดินแดน, พ่อค้ายาเสพติดและของหนีภาษี, ฯลฯ เท่านั้น
กระบวนการประท้วงรัฐ อาจมีมาจากหลายสาเหตุและหลายกลุ่ม แต่ที่สำคัญที่สุดคือประชาชนธรรมดา ซึ่งกลับเป็นปัจจัยที่รัฐบาลทักษิณให้ความสำคัญน้อยที่สุด ผมหมายถึงการอพยพหนีออกจากประเทศของประชาชนจำนวน 131 คน เพื่อขอหลบภัยในประเทศมาเลเซีย
สะตอปา ยูโซะ โต๊ะอิหม่ามที่มีชื่อเสียง และได้รับความเคารพนับถือกว้างขวางทั้งในและนอกหมู่บ้านละหาน ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตหน้ามัสยิด ด้วยเหตุใดก็ตาม ชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ยิง แม้ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะปฏิเสธอย่างแข็งขัน ชาวบ้านก็ไม่เชื่อ และเรียกร้องให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่จับตัวคนร้ายให้ได้โดยเร็ว (เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นผู้ฆ่าโต๊ะอิหม่าม)
ปฏิกิริยาในขั้นต้นของชาวบ้านคือปิดหมู่บ้าน ด้วยการปิดถนนทุกสายที่จะเข้าไปสู่หมู่บ้าน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของรัฐ. ท่านนายกรัฐมนตรีประกาศผ่านการสัมภาษณ์สื่อว่า ดินแดนประเทศไทยทุกตารางนิ้วย่อมเปิดแก่คนภายนอกเท่าๆ กัน ตัวท่านซึ่งมีกำหนดจะลงภาคใต้อยู่แล้ว จะเป็นคนเข้าไปเอง เป็นไงก็เป็นกัน
หากพยายามจะเข้าใจ ก็เข้าใจได้ไม่ยากว่า การประกาศปิดหมู่บ้านของชาวบ้านเป็นปฏิกิริยาที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้า ไม่ใช่การตั้งรัฐอิสระ (ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางภูมิศาสตร์, เศรษฐกิจ, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฯลฯ ที่จะเกิดรัฐใหม่เท่ากับหนึ่งหมู่บ้าน) แม้กระนั้น ก็แน่นอนว่าในฐานะรัฐที่มีเอกภาพ ประเทศไทยย่อมยอมรับปฏิกิริยาเช่นนี้ของชาวบ้านไม่ได้
แต่จะแก้ปัญหาอย่างไรถึงจะได้ผลที่สุด การประกาศรักษาทุกกระเบียดนิ้วของดินแดนไทยให้มีเอกภาพสร้างได้แต่วีรบุรุษของผู้เลือกตั้ง แต่อาจทำให้ปัญหาเลวร้ายลงไป เพราะเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นได้รับสัญญาณว่าต้องเพิ่มการกดดันลงไปให้หมู่บ้านนั้น "เปิด" ให้ได้
แทนที่จะค้นหาวิธีอื่นที่ต้องใช้ความอดทนนุ่มนวล เพราะถึงอย่างไร การปิดหมู่บ้านก็เป็นไปไม่ได้ในสมัยปัจจุบันเสียแล้ว (แม้แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ไม่เคยมีหมู่บ้านอะไรที่ "ปิด" ตายมาก่อน ยกเว้นเมืองแม่หม้ายในนิทานลับแลเท่านั้น) ฉะนั้นอย่างไรเสีย การเจรจาและความพยายามพิสูจน์ให้เห็นความบริสุทธิ์ของฝ่ายเจ้าหน้าที่ว่า ไม่มีส่วนในการฆาตกรรมโต๊ะอิหม่าม ก็ย่อมประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่มีส่วนจริง
และด้วยการกดดันอย่างหนักเพื่อตอบสนองสัญญาณของท่านนายกรัฐมนตรีเช่นนี้ ความหวาดกลัวของชาวบ้านจึงยิ่งทวีคูณขึ้น ครอบครัวจากหมู่บ้านละหาน รวมทั้งเครือข่ายของโต๊ะอิหม่ามในอำเภอใกล้เคียง (เครือข่ายทางสังคมของผู้นำศาสนาในหมู่ชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ เป็นประเด็นที่ยังไม่มีการศึกษาจริงจัง) จำนวน 131 คน จึงพาครอบครัวอพยพหลบภัยไปยังมาเลเซีย
ทั้งนี้ก่อให้เกิดความอึดอัดแก่รัฐบาลกัวลาลัมเปอร์อย่างยิ่ง ในด้านหนึ่งมาเลเซียย่อมรู้ดีว่าเหตุการณ์นี้ทำความเพลี่ยงพล้ำให้แก่ฝ่ายรัฐบาลไทยอย่างมาก โดยเฉพาะในสายตาของนานาชาติ (อย่างเดียวกับที่รัฐบาลทหารที่ย่างกุ้งเผชิญอยู่เวลานี้) และยังเปิดทางให้การเมืองระหว่างประเทศเข้ามาแทรกแซงได้สะดวกขึ้น (ใครก็ได้นะครับ ไม่จำเป็นต้องหมายถึงกลุ่มก่อการร้ายสากลเพียงฝ่ายเดียว เช่น สหประชาชาติ, โลกมุสลิม, สหรัฐ, อียู ฯลฯ) และถ้าเป็นเช่นนั้น การนำความสงบกลับคืนมาสู่ภาคใต้ก็ยิ่งยากลำบากและยาวนานขึ้น อันไม่เป็นผลดีทั้งต่อความสัมพันธ์กับประเทศไทย หรือเศรษฐกิจของมาเลเซียเอง
นอกจากนี้ควรเข้าใจด้วยว่า มาเลเซียมีประชากรเชื้อสายมลายู นับถือศาสนาอิสลามเป็นกลุ่มใหญ่สุด ประชากรเหล่านี้มีความไม่พอใจสภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศอยู่เหมือนกัน หากนโยบายรัฐบาลที่กระทำต่อผู้อพยพชาวไทยเชื้อสายมลายู และเป็นมุสลิมด้วยกันไม่เป็นที่พอใจ ก็อาจแปรเปลี่ยนความไม่พอใจนี้ไปในทางที่ก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองและสังคมในมาเลเซียเองได้มาก
เอาง่ายๆ แค่ว่า รัฐบาลกัวลาลัมเปอร์ต้องไม่ทำอะไรที่เป็นการส่งสัญญาณผิดๆ ให้ประชาชนไทยในสามจังหวัดภาคใต้เลือกการอพยพหนีไปมาเลเซียเป็นหนทางหนึ่งในการประท้วงรัฐไทย เพราะมาเลเซียไม่พร้อมในทุกทางที่จะต้อนรับผู้อพยพจำนวนมาก เป็นปัญหาละเอียดอ่อนที่กัวลาลัมเปอร์ต้องจัดการอย่างสุขุมรอบคอบเหมือนกัน
ผมพูดเรื่องนี้เพื่อเตือนว่า หากรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็ไม่ควรรีบทะเลาะกับรัฐบาลมาเลเซีย ตราบเท่าที่ไทยและมาเลเซียยังพูดกันได้ (แม้พูดกันใต้โต๊ะอย่างที่เคยทำกันอยู่บ่อยๆ) ปัญหานี้แก้ได้แน่ โดยไม่มีฝ่ายใดต้องบอบช้ำด้วย
อย่างไรก็ตาม ทั้งท่านนายกฯ และพรรคพวกของท่าน เช่นท่านรองนายกฯ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลด้านความมั่นคงในภาคใต้ กลับเห็นว่าการอพยพหลบภัยของประชาชนในครั้งนี้ เป็นการกระทำของฝ่ายที่ต้องการทำให้สถานการณ์ในภาคใต้กลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศ (internationalized) หรือเป็นการ "สร้างราคา" (ให้แก่กลุ่มที่ต่อต้านรัฐด้วยอาวุธ, ให้แก่การต่อรอง - ?) ในขณะที่ท่าน รมต.ต่างประเทศยอมรับในการสัมภาษณ์ว่า คนเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ
เป็นไปได้หรือที่คน 131 คน รวมเด็กถึงกว่า 40 ยอม "พลัดที่นาคาที่อยู่" เพื่อเป็นเครื่องมือให้แก่กลุ่มคนที่ทำร้ายตัวเขาเอง หรือถูกยุยงให้ทำเช่นนั้นโดยใครก็ไม่ทราบที่เขาไม่รู้จักดี ถ้าไม่คิดว่าประชาชนกินแกลบ คงไม่มีใครยอมทำเช่นนั้น เว้นแต่มีเหตุที่เขาเห็นว่าเป็นอันตรายต่อเขาและครอบครัวจริง และเหตุที่ว่านั้น ไม่ว่าจะมีมูลความจริงอยู่หรือไม่ เจ้าหน้าที่รัฐสามารถขจัดปัดเป่าได้ เจ้าหน้าที่รัฐได้ทำหรือยัง และทำอย่างไร
นอกจากนี้ รายงานข่าวยังบอกว่าประชาชน 131 คนที่หลบภัยในครั้งนี้ ล้วนมาจากหมู่บ้านในอำเภอสุไหงปาดี และจะแนะ รวมทั้งหมู่บ้านละหานที่โต๊ะอิหม่ามถูกฆาตกรรม และประกาศปิดหมู่บ้านด้วย ชี้ให้เห็นว่าเป็นกรณีท้องถิ่นระดับแคบๆ เท่านั้น ไม่มีเหตุผลที่จะไปคิดว่ามาจากการวางแผนของกลุ่มที่กำลังต่อสู้กับรัฐด้วยอาวุธในขณะนี้
อันที่จริงการประท้วงรัฐด้วยเท้า คือเดินหนีไปเสียจากอำนาจของรัฐ เป็นวิธีประท้วงที่ประชาชนทั่วภูมิภาคอุษาคเนย์ใช้มาแต่โบราณ ในประเทศไทยสมัยโบราณ มี "ซ่อง" ของ "ข้าหนีเจ้า ไพร่หนีนาย" อยู่เกือบทั่วทุกหัวระแหง ประเพณีนี้เมื่อนำมาปฏิบัติในโลกยุคที่มีแต่รัฐสมัยใหม่ อาจทำให้การประท้วงกลายเป็นประเด็นนานาชาติขึ้นมาได้
เกิดความวิตกห่วงใยกันในหมู่ข้าราชการและนักการเมืองว่า จะมีประชาชนไทยอพยพข้ามแดนไปลี้ภัยในมาเลเซียเพิ่มขึ้นกว่านี้อีก ในขณะที่ UNHCR เข้ามาสัมภาษณ์ผู้อพยพไทยในมาเลเซียอยู่เวลานี้ หากจำนวนเพิ่มมากขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่องค์กรระหว่างประเทศอีกอเนกอนันต์ จะเข้ามาดูแลและเชื่อมต่อกับผู้อพยพ ประเด็นก็จะยิ่งถูกทำให้เป็น "นานาชาติ" มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
น่าเสียดายที่ความวิตกห่วงใยไปเน้นกันที่เรื่องนี้เรื่องเดียว เพราะไปเชื่อเสียแล้วว่าเป็นแผนของผู้ก่อความไม่สงบ หรือเป็นการ "สร้างราคา" จึงไม่สนใจที่จะกลับไปตรวจสอบดูว่า ความหวาดกลัวต่อความปลอดภัยของตนเองในหมู่ประชาชนผู้อพยพ (รวมทั้งที่ยังไม่ได้อพยพด้วย) นั้น จริงหรือไม่ และถ้ามีเหตุอันควรหวาดกลัวจริง เหตุนั้นคืออะไร และจะแก้ไขได้อย่างไร เฉพาะความไม่สงบที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะทำให้ใครยอมทิ้งที่นาคาที่อยู่ขนาดนั้น เพราะความไม่สงบได้เกิดติดต่อกันมาปีครึ่งแล้ว
นี่เป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจนว่า รัฐไทยประสบความล้มเหลวที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับประชาชนที่นั่น ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มีส่วนในการฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามจริง สาเหตุก็เป็นแค่เรื่องความเข้าใจผิด (อย่างที่ฝ่ายทหารกล่าวในตอนแรก) แต่รัฐไทยกลับไม่สามารถจัดการกับความเข้าใจผิดเล็กน้อยเช่นนี้ได้ สะท้อนให้เห็นความหวาดระแวงที่ประชาชนมีต่อรัฐอย่างสูง
อย่างน้อยในการประเมินผลกระทบของพระราชกำหนดในเดือนกว่าข้างหน้า ควรตราไว้ด้วยว่า ผลอย่างหนึ่งของการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐอย่างไร้ขอบเขตเช่นนี้ ยิ่งสร้างความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนต่อรัฐสูงขึ้นได้ถึงขนาดนี้
ประเด็นความไว้วางใจระหว่างกันนี่แหละคือจุดเริ่มต้นที่จำเป็นที่สุดในการแก้ปัญหา ข้อเสนอของท่านรองนายกฯจาตุรนต์ ฉายแสง เมื่อปีที่แล้วก็คือ ทำให้กลไกของรัฐในพื้นที่มีประสิทธิภาพ, ความยุติธรรม และสามารถร่วมมือกับประชาชนในท้องถิ่นได้ทุกหมู่ทุกเหล่า ข้อเสนอนี้เป็นบันไดขั้นแรกที่ต้องทำก่อนจะไปสู่การสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน ขั้นต่อไปคือดึงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น รวมทั้งกำหนดอนาคตของตนเองโดยผ่านการเจรจาต่อรองระหว่างกัน โดยมีรัฐเป็นคนกลางที่เที่ยงธรรมและทรงภูมิพอจะป้อนข้อมูลให้แก่ทุกฝ่ายได้เท่าๆ กัน
กลไกของรัฐจะทำเช่นนั้นได้ ต้องมีอำนาจน้อย ไม่ใช่อำนาจล้น เพราะคนมีอำนาจล้นไม่ฟังใคร ไม่แคร์ใคร และไม่เมตตาใครด้วย
ทางข้างหน้าที่จะบังเกิดความสงบสุขอย่างยั่งยืนคงอีกยาวไกล แต่อย่างน้อยเราต้องแลเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์บ้าง ไม่ใช่มืดตื๊อมาปีครึ่ง และดูจะมืดต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดดังนี้ เพราะแม้ได้เกิดปรากฏการณ์ประท้วงรัฐโดยชาวบ้านขนาดนี้ ท่าทีของบุคคลระดับนำก็ยังเหมือนเดิม ไม่ได้แสดงความเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริงในพื้นที่เพิ่มขึ้นเลย
+++++++++++++++++++++++++++
(ภาควัฒนธรรม)
3. Spoke England
เวลานี้กระทรวงศึกษาฯ กำลังทบทวนนโยบายการเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนประถม นั่นก็คือเคยมีระเบียบให้โรงเรียนหลวงทั้งหมดสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้น
ป.1 มาตั้งแต่สมัย คุณสุขวิช รังสิตพล เป็น รมต. มาในภายหลังผู้เชี่ยวชาญบอกว่าไม่ค่อยได้ผล
เพราะเด็กควรเรียนเมื่อ "พร้อม" ซึ่งไม่ได้หมายถึงความพร้อมของตัวเด็กเองอย่างเดียว
แต่ควรรวมถึงความพร้อมของโรงเรียนและครอบครัวด้วย (อันที่จริง ควรรวมของสังคมที่เด็กมีชีวิตอยู่ด้วย)
ผมไม่เชี่ยวชาญทั้งภาษาต่างประเทศและการสอนภาษาต่างประเทศ แต่ในชีวิตมีเหตุจำเป็นต้องเรียนภาษาต่างประเทศถึง 6 ภาษา ผลปรากฏว่าเหลวเป๋วทั้ง 6 ภาษา คือเอาไปใช้จริงไม่ได้สักภาษาเดียว ผมจึงตั้งตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความล้มเหลวในการเรียนภาษาต่างประเทศ และในฐานะนี้แหละครับที่อยากออกความเห็นกับเขาบ้าง
ประสบการณ์ส่วนหนึ่งของการเรียนภาษาต่างประเทศของผมได้มาจากสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความล้มเหลวในการเรียนภาษาต่างประเทศพอๆ กับผม ในหลายรัฐของอเมริกา เขาบังคับเด็กมัธยมเรียนภาษาต่างประเทศ (ที่เด็กสนใจอยากเรียน หรือที่โรงเรียนมีปัญญาจะสอน) ฉะนั้น คนอเมริกันส่วนใหญ่จึงเคยเรียนภาษาอื่นที่ไม่ใช่อังกฤษมาแล้วเกือบทั้งนั้น เช่น สเปน, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, จีน, ญี่ปุ่น หรือบางโรงเรียนในแคลิฟอร์เนียสอนได้แม้แต่ภาษาไทย
แต่คนอเมริกันส่วนใหญ่ก็เหมือนคนจบมัธยมไทยแหละครับ คือไม่ได้กระดิกหูภาษาอื่นเอาเลย
ยิ่งเอาไปเปรียบเทียบกับฝรั่งในยุโรปตะวันตกแล้ว ก็จะยิ่งเห็นความล้มเหลวของอเมริกัน ครูที่สอนภาษาดัตช์ให้ผมบอกว่าในเนเธอร์แลนด์คนส่วนใหญ่สามารถพูดได้ 4-5 ภาษาเป็นปรกติ เขาอธิบายว่าเพราะประเทศของเขาอยู่ได้ด้วยการค้า ในขณะที่ภาษาดัตช์ไม่ "สากล" เอาเลย จึงต้องให้พลเมืองพูดภาษาต่างประเทศได้แยะๆ
ถ้าไม่นับฝรั่งเศสแล้ว คนในยุโรปตะวันตกมักพูดภาษาต่างประเทศได้อย่างน้อยก็หนึ่งภาษา เช่น อิตาเลียน, สเปน, โปรตุเกส มักพูดฝรั่งเศสได้ และอีกมากทีเดียวที่พูดอังกฤษได้ด้วย เยอรมันไปจนถึงออสเตรียนพูดอังกฤษได้ เช่นเดียวกับแถบสแกนดิเนเวีย เป็นต้น การพูดได้เกินหนึ่งภาษาจึงเป็นธรรมดาสำหรับคนยุโรปตะวันตกภาคพื้นทวีป ในขณะที่มีคนทำงานอย่างนั้นได้น้อยมาก โดยเปรียบเทียบในอเมริกา
อันที่จริง ผมจะยกแต่สหรัฐว่าล้มเหลวในการเรียนภาษาต่างประเทศก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะว่ากันไปที่จริงแล้ว ผม "รู้สึก" ว่า (คือไม่ได้สำรวจตรวจสอบจริง-เอาเฉพาะที่เป็นประสบการณ์ส่วนตัว) สังคมที่ใช้ภาษาอังกฤษทั่วไป ไม่ว่าอังกฤษ, นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย ล้วนมีคนพูดภาษาต่างประเทศได้น้อยทั้งนั้น ปัญหาจึงไม่น่าจะอยู่ที่วิธีการสอน เท่ากับสภาพสังคม
ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษากลางของโลกที่ใหญ่ที่สุด ใหญ่เสียจนกระทั่งไม่จำเป็นต้องรู้ภาษาอื่นอีกเลย ในสังคมที่ใช้ภาษาอังกฤษ โอกาสที่จำเป็นต้องรู้ภาษาต่างประเทศจึงแทบไม่มี
ดังนั้น ความสำเร็จในการเรียนภาษาต่างประเทศอย่างหนึ่ง ที่ผมคิดว่าสำคัญมากก็คือ"สังคม" ถ้าเกิดความจำเป็นขึ้นจริงๆ ที่จะต้องใช้ภาษาต่างประเทศในการดำเนินชีวิต คนก็จะเรียนภาษาต่างประเทศอย่างได้ผล เพราะมีโอกาสและถูกบังคับให้ใช้ภาษานั้นในชีวิตจริงนอกห้องเรียนและห้องแล็บ และเราเคยพบกรณีอย่างนี้มาแยะแล้วในหมู่แท็กซี่, เมียเช่า และไกด์ผี เป็นต้น
ความจำเป็นดังกล่าวต้องเกิดในชีวิตจริงของคนนะครับ ไม่ใช่สิ่งที่ "ผู้ใหญ่" ในบ้านเมืองซึ่งไม่ว่าจะมีสายตายาวแค่ไหนคิดเอาเองจากชีวิตของตัวและลูกตัว ฐานสำคัญที่สุดในการวางนโยบายภาษาต่างประเทศจึงควรเป็นชีวิตของผู้เรียน
ถ้าเห็นด้วยกับหลักการข้อนี้ ปัญหาที่ตามมาทันทีก็คือ ถ้ากระนั้น ทำไมเราไม่สอนภาษาอังกฤษเมื่อผู้เรียนต้องการเรียน พูดอย่างชาววัดก็คือ ต้องเกิดฉันทะขึ้นก่อน จะเกิดขึ้นเพราะอะไรก็ตามเถิด แต่เมื่อเกิดฉันทะแล้วค่อยไปสมัครเรียนในโรงเรียน หรือสถาบันสอนภาษาอังกฤษที่กระจายอยู่ตามโรงเรียนทั่วไป
เพราะเขาว่ากันว่า ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาที่ยากเกินไป (สำหรับคนในภาษาอื่นทุกภาษาหรือเฉพาะบางภาษาก็ไม่ทราบ) ไม่มีเหตุจำเป็นอะไรที่จะต้องนั่งเรียนกันตั้งแต่เด็กจนโต แล้วก็ใช้อะไรไม่ได้ เพราะไม่ได้ใช้
ผมมีประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับการเรียนภาษาต่างประเทศในสหรัฐมาเสริมตรงนี้หน่อย ในท่ามกลางความล้มเหลวของการเรียนภาษาต่างประเทศในอเมริกานั้น เขาประสบความสำเร็จอย่างหนึ่งคือการบังคับให้นักศึกษาปริญญาเอกต้องสอบผ่านภาษาต่างประเทศสองภาษา
ทุกภาษาใช้เวลาเรียนเพียงปีเดียว แล้วก็บังคับสอบเลย ยกเว้นภาษาจีน, ญี่ปุ่น และรัสเซีย ที่อนุญาตให้เรียนได้ 2 ปี เพราะถือว่ายาก (สำหรับคนที่มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาน้ำนมกระมัง)
ฉันทะของนักเรียนปริญญาเอกที่จะเรียนภาษาต่างประเทศ ก็อยู่ที่งานวิจัยเพื่อทำวิทยานิพนธ์ของตัวในภายหน้า และส่วนใหญ่ที่ผมรู้ก็ประสบความสำเร็จจากการเรียนเพียงปีเดียวนี่แหละครับ แต่ไม่ได้หมายความว่าปีเดียวกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษานั้นๆ นะครับ เพียงแต่ว่าต่างก็รู้อยู่แล้วว่าตัวจะรู้ภาษานั้นไปใช้ทำอะไร บางคนต้องเอาไปใช้ในการสัมภาษณ์ ก็จะฝึกทักษะด้านการพูด การฟัง เป็นพิเศษ บางคนต้องการเอาไปใช้เพื่ออ่านเอกสาร ก็ฝึกทักษะด้านการอ่านเป็นพิเศษ
ฝึกทักษะนี้เป็นเรื่องฝึกกันเอาเอง ไม่ได้ฝึกในห้องเรียนเพราะในห้องเรียนเขาก็สอนทักษะทั่วๆ ไปเป็นพื้น ตัวผมเองก็เป็นเหยื่อของการถูกฝึกทักษะจากคนที่เรียนภาษาไทยอยู่ไม่น้อย เพราะผมชอบพูดไทย จึงอดทนที่จะฟังและพูดซ้ำกับเขา แทนที่จะสลับไปพูดอังกฤษซึ่งรู้เรื่องกันง่ายกว่า แล้วเขาก็เอาภาษาต่างประเทศที่เรียนนี้ไปใช้ในการวิจัยได้
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากฉันทะของนักเรียนเอง ไม่ใช่จากวิธีการสอนล้วนๆ (ไม่ได้ปฏิเสธว่าบางภาษาก็สอนดีด้วยนะครับ) แต่ผมไม่ทราบว่านักเรียนปริญญาเอกที่สอบภาษาต่างประเทศผ่าน แต่ไม่คิดจะเอาไปใช้งานวิจัยเลยนั้น อ่าน-พูด-ฟังภาษานั้นๆ ได้แค่ไหน พบเพื่อนคนไทยที่เรียนปริญญาเอกทางวิศวกรรมศาสตร์ หูไม่ค่อยกระดิกกับภาษาเยอรมันที่เขาถูกบังคับให้สอบเลย เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าไม่ต้องใช้ในงานวิจัยของเขา
สรุปอีกครั้งก็คือ ความสำเร็จในการเรียนภาษาต่างประเทศอยู่ที่ฉันทะของผู้เรียนมากกว่าอะไรอื่น และลงมีฉันทะเสียอย่าง ก็ไม่ต้องใช้เวลามากมายอะไร เทคโนโลยีต่างๆ เช่น แล็บภาษาและคอมพิวเตอร์ก็ไม่ใช่ความจำเป็นที่ขาดไม่ได้ด้วย
ครูที่สอนภาษาอินโดนีเซียผมซึ่งเป็นนักภาษาศาสตร์ เคยบอกผมว่า การเรียนภาษาต่างประเทศคือการเรียนที่จะลืม (unlearn) ภาษา จะลืมภาษาของตัวหรือลืมที่เรียนมาผิดๆ ก็ตาม. จนถึงบัดนี้ผมก็ยังไม่ประสบความสำเร็จที่จะ unlearn ภาษาไทยได้ แม้กระนั้น ผมก็คิดว่าเรียนผิดมีความหมายลึกกว่าผิดคำ ผิดไวยากรณ์ ซึ่งสามารถ unlearn ได้ไม่สู้จะยากนัก แต่ต้องรวมถึง "การเข้าหา" (approach) ภาษานั้นๆ ด้วย
ยกตัวอย่างที่คนไทยมองเป็นปัญหาในภาษาอังกฤษตลอดคือการผันกริยา พอเป็นเอกพจน์บุรุษที่สามมักจะลืมเปลี่ยนรูปของกริยาไปบ่อยๆ เพื่อนอเมริกันของผมบอกว่า เขาไม่เคยรู้สึกว่ากริยามันแยกออกจากประธาน ฉะนั้น เมื่อพูดว่า She reluctantly sits down. คำที่ติดอยู่กับปากเขาคือ She sits ไม่ได้แยกเป็น She คำหนึ่ง to sit อีกคำหนึ่ง
จะแปลงคำบอกเล่าของเพื่อนอเมริกันคนนี้ให้เป็นการสอนภาษาอังกฤษที่มีประสิทธิภาพได้อย่างไร ผมไม่มีความรู้จะบอกได้ แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องของ "การเข้าหา" ไวยากรณ์อังกฤษที่แตกต่างกัน อันหนึ่งเป็นความพยายามจะ "บรรยาย" ว่า ภาษาอังกฤษเป็นอย่างไร อีกอันหนึ่งเป็นการเรียนเพื่อใช้โดยตรง
ยังมีปัจจัยทางสังคมที่กระทบต่อการเรียนภาษาต่างประเทศ ซึ่งเรามักไม่ค่อยคำนึงถึง กล่าวคือ ภาษาทุกภาษาย่อมสะท้อนระบบความสัมพันธ์ทางสังคม (หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือวัฒนธรรม) ของเจ้าของภาษาออกมาด้วย
เราพูดถึงปัจจัยทางวัฒนธรรมในภาษากันแค่ มีหิมะตกหรือไม่, ฤดูใบไม้ผลิให้ความรู้สึกอย่างไรแก่ฝรั่ง, หรือประเพณีปฏิบัติต่อเพศตรงข้าม ฯลฯ แต่ผมคิดว่ามีความหมายกว้างกว่านั้น เช่นภาษาอังกฤษ (ปัจจุบัน) เป็นภาษาของสังคมที่ไม่เน้นลำดับขั้นทางสังคม (social hierachy - ซึ่งต้องแยกระหว่างลำดับขั้นทางสังคม และความสุภาพนะครับว่าไม่ใช่อันเดียวกัน) แต่ภาษาไทย, ภาษาชวา, ภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ เน้นเรื่องนี้สูงมาก รวมทั้งสังคมเหล่านี้ก็เป็นสังคมที่ให้ความสำคัญแก่ลำดับขั้นทางสังคมมากกว่าสังคมฝรั่งด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ในสังคมไทย ภาษาอังกฤษถูกใช้เป็นเครื่องหมายของสถานภาพทางสังคมที่สูงมากว่าศตวรรษครึ่งแล้ว การเรียนภาษาอังกฤษจึงเป็นอะไรที่มากกว่าการเรียนภาษาต่างประเทศ เครียดชิบเป๋ง ไหนจะวิธีคิดอีกล่ะครับ คนไทยและฝรั่งมีวิธีคิดที่แตกต่างกันมาก เอาวิธีคิดฝรั่งมาเปล่งออกในภาษาไทย ก็ทำให้มีกลิ่นนมเนยฉุน เอาวิธีคิดไทยไปเปล่งในภาษาอังกฤษ ก็ทำให้ภาษาอังกฤษมีกลิ่นกะปิฉุนเฉียว
ครูที่สอนภาษาอินโดนีเซียผมเหมือนกันที่บอกว่า การเรียนภาษาต่างประเทศคือเรียนการแสดง (acting) ผมคิดว่าคนไทยกระทำการ "แสดง" ภาษาต่างประเทศได้หมดแหละครับ แต่จะให้ "แสดง" ภาษาอังกฤษยาก เพราะเป็นการ "แสดง" ที่ใฝ่สูงให้เกินศักดิ์ไปพร้อมกัน ถ้าถูกจับได้กลางคันก็จะหน้าแตกจนหมอไม่รับเย็บ ในขณะที่ทำการ "แสดง" ในภาษาต่างประเทศอื่นๆ ทั้งหมดหากถูกจับได้ก็เป็นเรื่องเฮฮากันเท่านั้น
ทั้งหมดนี้ไม่ช่วยให้ใครทบทวนนโยบายสอนภาษาอังกฤษได้หรอกครับ แต่ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเรียนภาษาต่างประเทศ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมักไม่ค่อยคำนึงถึง เพราะมันไม่สำคัญ หรือเพราะมันสำคัญเสียจนกระทั่งถ้าคำนึงถึงแล้ว จะต้องไปปรับเปลี่ยนอะไรอีกมากเกินกว่าที่อำนาจของความเชี่ยวชาญจะเอื้อมไปถึง ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน
+++++++++++++++++++++
4. ประณามพจน์หนังสือ
เด็กในรุ่นผมจะไม่กล้าข้ามตัวหนังสือ ไม่ว่าจะอยู่ในกระดาษหนังสือพิมพ์หรือถุงกล้วยแขก
เพราะถูกสอนว่าจะทำให้อ่านหนังสือไม่ออก (ทั้งๆ ที่อ่านออกแล้ว) ความนับถือตัวหนังสือนั้นพบได้ในหลายชาติหลายภาษาทั่วทั้งโลก
เช่น ผมได้ยินมาว่าชาวอาหรับจะเก็บอะไรที่เป็นตัวหนังสือซุกไว้ตามฝาเรือน ด้วยเกรงว่าอาจเป็นข้อความในพระคัมภีร์
จึงต้องป้องกันไม่ให้ถูกเหยียบย่ำ
ตัวหนังสือเข้ามาแทนความทรงจำและเสียง นั่นก็คือสิ่งสำคัญที่ต้องจำกันอย่างคลาดเคลื่อนไม่ได้ เช่น กฎหมายหรือสัญญาการค้า และพระวจนะของพระเจ้า ย่อมเก็บไว้ได้อย่างมั่นคงที่สุดด้วยตัวหนังสือ ฉะนั้น "เสมียน" ในสังคมโบราณหลายแห่งด้วยกัน จึงเป็นคนมีเกียรติอันสูง อยู่ใกล้ชิดกับอำนาจ หรือมิฉะนั้นก็เป็นนักบวช (นางวันทองสอนพลายงามว่า "ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ")
เพราะก่อนสมัยใหม่ ในสังคมโบราณโดยส่วนใหญ่ ตัวหนังสือและการอ่านออกไม่ได้เป็นสมบัติของคนทั่วไป หนังสือสำหรับให้คนทั่วไปอ่านนั้นไม่มีเลย ยกเว้นอยู่เพียงสองสังคมคือกรีกและโรมันเท่านั้นที่อาจพูดได้ว่าพอมีอยู่บ้าง
ในส่วนที่ตัวหนังสือทำหน้าที่แทนเสียงนั้น ดูจะเป็นลักษณะเด่นของตัวหนังสือในโลกยุคปัจจุบัน (คือการสื่อสาร) แต่หน้าที่ส่วนนี้กลับไม่ค่อยสำคัญในสังคมโบราณนัก อย่างน้อยก็เพราะคนส่วนใหญ่อ่านหนังสือไม่ออก แต่มีหูที่ฟังเสียงได้ แม้แต่ในสังคมกรีกซึ่งใช้ตัวหนังสือแยะมาก แต่ก่อนหน้าสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ งานกวีนิพนธ์ส่วนมากไม่ได้เผยแพร่ผ่านตัวหนังสือ แต่ผ่านละครหรือความทรงจำ
ผมขอออกนอกเรื่องตรงนี้ว่า ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ของศิลาจารึกโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เขาเขียนให้ผีหรือเทวดาอ่านมากกว่าให้คนอ่าน ที่เขียนให้คนอ่านก็มีเหมือนกันเช่นหลักที่บอกกัลปนาที่ดินและข้าคนถวายเทวรูปหรือวัด เผื่อมีกรณีพิพาทในภายหน้าจะได้ใช้เป็นหลักฐาน
เมื่อตัวหนังสือในสังคมโบราณเป็นหลักเป็นตราให้แก่สิ่งที่สำคัญเช่นศาสนาหรือคำสั่งพระเจ้าแผ่นดินเช่นนี้ ตัวหนังสือจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ จนกระทั่งเหยียบย่ำไม่ได้ดังที่กล่าวแล้ว และการจารึกอะไรลงบนหินไปตั้งไว้ตามวัดหรือเทวสถาน (หรือจารึกเสาประตู, ฝาผนัง, ยอดโดม, ฯลฯ) จึงอาจไม่ใช่เรื่องเอาไว้ให้ใครอ่าน มันสำเร็จประโยชน์ในตัวของมันเองโดยไม่ต้องมีใครอ่านก็ได้นะครับ
ผมทราบดีว่าสำนึกเกรงกลัวตัวหนังสืออย่างที่ผมถูกสอนมานั้น คงหมดไปในคนรุ่นหลังเสียแล้ว เป็นธรรมดานะครับ ไม่มีอะไรจะต้องเสียใจ ในยุคสมัยที่ตัวหนังสือถูกใช้อย่างแพร่หลาย อีกทั้งใครๆ ก็อ่านหนังสือออก เขียนหนังสือได้ก็ทั่วไปเช่นนี้ จะให้ดำรงรักษาสำนึกเกรงกลัวตัวหนังสืออย่างนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้
ที่จริง สิ่งซึ่งเราเรียกว่า "หนังสือ" นั้น เป็นแค่รูปแบบเท่านั้น ถ้าว่ากันตามนิยามของยูเนสโก ม้วนปาปีรัสก็เป็นหนังสือ, สมุดไทยที่พับไปพับมาก็เป็นหนังสือ, แม้แต่แผ่นดินเหนียวของเมโสโปเตเมียก็เป็นหนังสือ (แต่ศิลาจารึกไม่ใช่-เพราะอะไรก็ไม่รู้) อีกทั้งจะเขียนมือหรือพิมพ์ขึ้นหรืออยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์ก็นับเป็นหนังสือทั้งสิ้น หนังสือจึงอยู่คู่เคียงมนุษย์มานานมากทีเดียว ประมาณว่าเกือบ 3,000 ปีก่อนคริสตกาลหรือเกือบ 5,000 ปีมาแล้ว จนกระทั่งเราอาจพูดได้ว่าอยู่คู่เคียงกับอารยธรรมตลอดมา
ความรู้สึกของคนเราที่มีต่อหนังสือจึงไม่ใช่แค่วัสดุที่แบกเอาข่าวสารข้อมูลมาส่งให้เราเท่านั้น (เหมือนวิทยุ, โทรทัศน์, หรือแผ่นปลิวโฆษณาพิซซ่า) แต่มีความรู้สึกผูกพันนับถือเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรายิ่งกว่าคนที่สมัยปัจจุบันรู้สึกต่อรถยนต์, เสื้อผ้า, หรือเครื่องคอมพิวเตอร์
ด้วยเหตุดังนั้น ห้องสมุด (หรือห้องเก็บเอกสาร-archive-แยกระหว่างสองอย่างไม่ได้ในสมัยก่อน) จึงเกิดขึ้นเก่าแก่เกือบๆ เท่าตัวหนังสือ นั่นคือกว่า 4,500 ปีมาแล้ว กษัตริย์บางแห่งแข่งเกียรติยศกันด้วยการสร้างห้องสมุดให้ใหญ่กว่าอีกฝ่ายหนึ่ง การมีห้องสมุดส่วนตัวถือเป็นเครื่องหมายแห่งเกียรติยศมาตั้งแต่ในสังคมกรีก-โรมันแล้ว
และเพราะความนับถือผูกพันที่มีตัวหนังสือเช่นนี้เอง ที่ทำให้มนุษย์ในทุกสังคมฝากฝังสิ่งที่ตัวคิดว่ามีคุณค่าอย่างสูงไว้กับหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นปรัชญาอันลึกซึ้ง, งานสร้างสรรค์ทางศิลปะ หรือความรู้วิทยาการที่ตัวค้นพบหรือสืบทอดมา
ผมคิดว่า สำนึกนับถือผูกพันกับหนังสือเช่นนี้แพร่หลายในหมู่คนทั่วไป ที่ไม่ใช่กวีหรือนักปราชญ์ราชบัณฑิตด้วย แต่ละคนอาจแสดงสำนึกนี้ในทางปฏิบัติไม่เหมือนกันก็ได้ เพียงแต่หนังสือไม่ใช่วัสดุธรรมดา แต่มีอิทธิฤทธิ์มากกว่ากระดาษเย็บหรือพับเป็นเล่ม คนต่างสถานะทางการศึกษาก็อาจเชื่ออิทธิฤทธิ์ของหนังสือไม่เหมือนกัน
เคยได้ยินใช่ไหมครับว่า หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐนั้น ถูกค้นพบโดยหลวงประเสริฐอักษรนิติ วันหนึ่งท่านเดินไปพบยายแก่กำลังเอาหนังสือเก่ามาเผา ท่านจึงเข้าไปตรวจดูว่ามีหนังสืออะไรบ้าง ได้พบพระราชพงศาวดารฉบับนี้ที่ยังไม่ถูกเผา จึงขอหรือซื้อจากยายแก่คนนั้น
ยายแก่ไม่ได้เผาหนังสือเล่น แต่กำลังจะเอาขี้เถ้าของกระดาษหนังสือเหล่านี้ไปผสมทำยาครับ... ก็อย่างที่บอกแล้วว่าหนังสือมีอิทธิฤทธิ์ เพียงแต่อิทธิฤทธิ์ที่ยายแก่เชื่อเกี่ยวกับหนังสือไม่ตรงกับอิทธิฤทธิ์ที่หลวงประเสริฐ (และนักปราชญ์ราชบัณฑิตไทย) เชื่อเท่านั้น เรื่องเอาสมุดข่อยไปเผาทำยานั้น ผมเคยได้ยินได้ฟังทั่วไปในภาคกลาง
ความรักหนังสืออีกอย่างที่คนรุ่นผมรู้จักดีคือ การสะสมหนังสือเหมือนการสะสมอย่างอื่นๆ แหละครับ คือนักสะสมต้องตัดสินใจเลือกด้วยว่า จะสะสมหนังสือประเภทไหน เพราะไม่มีใครสะสมหนังสือทุกประเภทได้หมด นักสะสมที่คนรุ่นผมรู้จักชื่อเสียงดีที่สุดเห็นจะไม่เกินท่าน อาจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ ซึ่งสะสมหนังสือที่เกี่ยวกับเมืองไทยเท่าที่มือท่านจะเอื้อมไปถึง แต่ท่านอาจารย์สุกิจแตกต่างจากนักสะสมบางคนที่ผมเคยพบ กล่าวคือ ท่านอ่านสิ่งที่ท่านสะสมไว้ด้วย บางคนสะสมหนังสือเหมือนสะสมวัตถุที่รักบางอย่างโดยไม่ได้อ่านเลย
เมื่อผมเรียนจุฬาฯ มีหนังสือของห้องสมุดส่วนพระองค์กรมพระจันทบุรีนฤนาถอยู่ในหอสมุดกลาง เสด็จในกรมท่านประทานเองหรือทายาทประทานให้แก่จุฬาฯ ผมก็จำไม่ได้แล้ว และใครที่เคยใช้ "ห้องกรมพระจันท์ฯ" ที่จุฬาฯ จะพบว่าเจ้านายพระองค์นี้ทรงเป็น scholar ของไทยคนหนึ่ง เพราะทรงหนังสือกว้างขวางมาก โดยเฉพาะด้านภาษาที่ทรงมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันก็คือด้านภาษาบาลี แต่สถานะนี้ของเจ้านายพระองค์นี้กลับไม่เป็นที่รู้จักในปัจจุบัน กลับไปเน้นเรื่องการเป็นเสนาบดีของท่าน ซึ่งตามหลักฐานที่มีอยู่ก็ใช่จะทรงประสบความสำเร็จเด่นเป็นพิเศษอะไร
ที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมากล่าวก็เพื่อจะย้ำสิ่งที่พูดไปแล้วว่า หนังสือเคยเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนเจ้าของ ตัวมันเองจึงเป็นอนุสาวรีย์ของเจ้า ของที่เหมือนกว่าที่ศิลปินคนใดจะปั้นได้
ความรักหนังสือในหมู่คนรุ่นผมอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราเคยชินกับการรับสารผ่านกระดาษมากกว่าจคอมพิวเตอร์ ฉะนั้น แม้ยอมรับว่าอินเตอร์เน็ตให้ข้อมูลได้มากมาย แต่เทียบกับหนังสือไม่ได้เลย. ยิ่งต้องการหา "ความรู้" ซึ่งไม่ใช่ "ข้อมูล" แล้ว มองไม่เห็นเอาเลยว่าจะหาสื่ออะไรมาแทนหนังสือได้ เพราะวางลงแล้วคิดใคร่ครวญก็ได้ ปิดหนังสือแล้วไปทำอย่างอื่นให้สมองได้เปลี่ยนอิริยาบถก็ได้ ขีดเส้นใต้บางบรรทัดก็ได้ เขียนเถียงกับคนเขียนก็ได้ จนถึงที่สุดขว้างมันลงกับพื้นแล้วกระทืบเสียสามทีก็ได้อีก
ผมยอมรับว่า ความรักตรงนี้ติดกับรูปแบบนะครับ คือต้องเป็นหนังสือเล่มๆ เท่านั้น ไม่รวมอะไรที่เป็นดิจิตอลและอิเล็กทรอนิกส์ ต้องอยู่บนกระดาษครับ ทั้งๆ ที่ในนิยามของยูเนสโก ดิจิตอลและอิเล็กทรอนิกส์ก็นับว่าเป็น "หนังสือ" เหมือนกัน แต่นั่นมันเป็นเรื่องของยูเนสโก ไม่ใช่เรื่องของความรู้สึกและสำนึกของคนรุ่นผม
นี่แหละครับ ความนับถือ, ความผูกพัน และความรักที่คนรุ่นผมมีกับหนังสือ ล้วนเป็นความรู้สึกและสำนึกซึ่งสืบทอดมาเป็นพันๆ ปี และเพราะมันฝังรากลึกอยู่ในอารยธรรมของเรานี่แหละครับ สื่อชนิดอื่นจึงเข้ามาแทนที่มันไม่ได้
ในโลกตะวันตก ปรากฏการณ์กลับเป็นตรงกันข้ามกับที่เคยคาดหวังไว้ นั่นคือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ยัง) ไม่มาแทนที่กระดาษ ยิ่งคนเข้าถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ง่ายเท่าไร หนังสือกระดาษยิ่งขายดีขึ้นเท่านั้น เว็บไซต์ขายหนังสือยิ่งยั่วยุให้คนอยากซื้อหนังสือกระดาษมาอ่าน และการขายตรงแก่ผู้ซื้อยิ่งทำให้หนังสือราคาถูกลง. แต่ทั้งนี้ อาจไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็ได้นะครับ เพราะว่าถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การอ่านของไทยเทียบกับของฝรั่งแล้ว จะเห็นว่าช่วงเวลาที่คนไทยอ่านหนังสือแพร่หลายนั้นสั้นมาก คือประมาณตั้งแต่ ร.5 ลงมาเท่านั้น ก่อนหน้านั้นเขา "ฟัง" หรือ "ดู" (การแสดง) หนังสือกันต่างหาก
ซ้ำในช่วงเวลาอันสั้นนี้ คนที่เข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมการอ่านก็มีจำนวนน้อยมาก แม้ฐานะเศรษฐกิจของคนไทยและระดับการศึกษาของไทยจะขยายตัวมากขึ้น แต่ก็เพิ่มคนในวัฒนธรรมการอ่านได้ไม่สมสัดส่วนกันนัก กล่าวโดยสรุปก็คือ วัฒนธรรมการอ่านยังเป็นสิ่งแปลกปลอมในเมืองไทยอยู่ พลันสื่อชนิดอื่นๆ ก็ถาโถมเข้ามา
ฉะนั้น ผมจึงคิดว่าหนังสือจะสูญเสียความรักของผู้คนไปก็ในสังคมแบบไทยนี่แหละครับ คือต้องไปแข่งกับสื่อชนิดใหม่อื่นๆ โดยปราศจากความรักความผูกพันของผู้คนเป็นพลังในการต่อสู้
และนั่นคือเหตุผลที่บรรณารักษ์ของห้องสมุดมหาวิทยาลัยหลายแห่งใช้นโยบาย "ถางหญ้า" หนังสือ คือเอาหนังสือเก่าที่มีคนยืมน้อยออกไปขายถูกๆ (หรือทิ้งไปเลย) ไม่มีนิตยสารปริทรรศน์หนังสือในภาษาไทยสักฉบับเดียว ห้องสมุดหนังสือไทย (ที่มาจากการพิมพ์) ที่สมบูรณ์ที่สุดไม่ได้อยู่ในประเทศไทย เมื่อผู้นำคิดถึงการเผยแพร่ความรู้ ก็คิดถึงสมิธโซเนียน ไม่ใช่ไลบรารี ออฟ คองเกรส ฯลฯ
รวมทั้ง คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ กำลังอ้วกแตกอยู่เพราะตัดสินใจพิมพ์หนังสือเรื่อง "ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง" เพียงไม่กี่พันเล่ม
+++++++++++++++++++++++++++++++
บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 670 เรื่อง หนากว่า 9000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ยิ่งเอาไปเปรียบเทียบกับฝรั่งในยุโรปตะวันตกแล้ว
ก็จะยิ่งเห็นความล้มเหลวของอเมริกัน ครูที่สอนภาษาดัตช์ให้ผมบอกว่าในเนเธอร์แลนด์คนส่วนใหญ่สามารถพูดได้
4-5 ภาษาเป็นปรกติ เขาอธิบายว่าเพราะประเทศของเขาอยู่ได้ด้วยการค้า ในขณะที่ภาษาดัตช์ไม่
"สากล" เอาเลย จึงต้องให้พลเมืองพูดภาษาต่างประเทศได้แยะๆ
ถ้าไม่นับฝรั่งเศสแล้ว คนในยุโรปตะวันตกมักพูดภาษาต่างประเทศได้อย่างน้อยก็หนึ่งภาษา เช่น อิตาเลียน, สเปน, โปรตุเกส มักพูดฝรั่งเศสได้ และอีกมากทีเดียวที่พูดอังกฤษได้ด้วย เยอรมันไปจนถึงออสเตรียนพูดอังกฤษได้ เช่นเดียวกับแถบสแกนดิเนเวีย เป็นต้น