นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
R
related topic
250948
release date

คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด

เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

ทุนใหญ่ การเมือง สื่อ และความรับผิดชอบต่อสังคม
ปฏิบัติการยึดพื้นที่สื่อสาธารณะกรณีมติชน
รวบรวมโดย กอง บก. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รวบรวมมาจากบทความในหนังสือพิมพ์มติชน
เพื่อนักศึกษาและผู้สนใจเรื่องสื่อ การเมือง และสังคม


บทความชิ้นนี้ประกอบด้วยบทความย่อย ๓ เรื่องที่เกี่ยวข้องกัน กรณีการเข้าซื้อหุ้นหนังสือพิมพ์มติชน
๑.
ปฏิบัติการยึดพื้นที่สื่อสาธารณะ โดยพันธมิตรรัฐกับทุนใหญ่ (เกษียร เตชะพีระ)
๒. บทเรียนและความเสียหาย หลังปฏิบัติการ"ฮุบมติชน" (คอลัมน์รายงานพิเศษใน นสพ.มติชน)
๓. ในท่ามกลางทุน 2 กระแส
(จุฬาลักษณ์ ภู่เกิด)

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 680
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9 หน้ากระดาษ A4)




1. ปฏิบัติการยึดพื้นที่สื่อสาธารณะ โดยพันธมิตรรัฐกับทุนใหญ่
โดย เกษียร เตชะพีระ

เมื่อสองปีกว่าที่แล้ว ก่อนที่บรรดาบรรณาธิการ นักข่าว และนักจัดรายการตามสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผู้ขุดคุ้ยเจาะลึกและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทั้งหลายจะทยอยกันถูกย้าย ปลด ไล่ออก และยุบเลิกรายการราวใบไม้ร่วง ผมได้เอ่ยทักแนวโน้มทางการเมืองวัฒนธรรมที่น่าเป็นห่วง ซึ่งกำลังเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลทักษิณว่า มันมีลักษณะ

อำนาจนิยมปฏิปักษ์ปฏิรูป!

บัดนี้ ปฏิบัติการรุกคืบเข้ายึดพื้นที่สื่อสาธารณะโดยพันธมิตรรัฐกับทุนใหญ่ตามแนวโน้มดังกล่าว ได้ก้าวไปสู่ขั้นพยายาม "เทกโอเวอร์" สองฐานที่มั่นสำคัญของสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งโดยทั่วไปในประวัติศาสตร์ค่อนข้างจะอิสระกว่า เพราะใช้ทุนดำเนินงานน้อยกว่าสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นอันตรายยิ่ง ต่อการปกป้องรักษาผลประโยชน์สาธารณะในระบอบเสรีประชาธิปไตย เพราะระบอบที่ถือหลักการให้เสียงข้างมากของประชาชน มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจจะทำงานของมันได้ดีและมีประสิทธิภาพ ก็ต้องพึ่งพาสื่อมวลชนที่เป็นกลางและอิสรเสรี ในการเปิดพื้นที่สาธารณะให้แก่เสียงของบุคคลกลุ่มฝ่ายต่างๆ อันหลากหลายในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อที่พวกเขาพวกเราจะได้แสดงตัวและเปล่งประกาศทรรศนะ ผลประโยชน์ ความทุกข์ยากเดือดร้อน และความเรียกร้องต้องการประการต่างๆ ออกมาให้ได้ยินได้ฟังทั่วๆ กัน เสมือนหนึ่งร่างกายต้องพึ่งพาอากาศบริสุทธิ์ เพื่อหายใจต่อชีวิตนั่นเทียว

ปราศจากซึ่งสื่อที่เป็นกลางและเสรีเสียแล้ว ระบอบอะไรที่เหลืออยู่จะเป็นได้อย่างมากก็แค่เศษซากประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยซอมบี้-ผีดิบเท่านั้น

ผลร้ายผลลัพธ์ของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสูญเสียสื่อที่เป็นกลางและเสรีไปเป็นอย่างไร?
ผมขออนุญาตนำมากล่าวย้ำในที่นี้…

1) การสร้าง "เสียงข้างมาก" และ "ผลประโยชน์ส่วนรวม" เสมือนจริงขึ้นมา(the manufacture of virtual majority & virtual public interest) โดยผ่านการเลือกหรี่กลบและ / หรือขยายเสียงสาธารณะบางเสียง(selective silencing & amplifying of the public voices) ซึ่งทำได้โดยการควบคุมครอบงำสื่อมวลชนอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐ, เทกโอเวอร์สื่ออิเล็กทรอนิกส์เสรี และทุ่มซื้อโฆษณาและบัดนี้พยายามเทกโอเวอร์สื่อสิ่งพิมพ์เอกชน

เมื่อสื่อมวลชนถูกคุมอย่างเบ็ดเสร็จ ก็จะมีสื่อสำหรับส่งเสียงที่หนุน แต่ไม่มีสื่อสำหรับเสียงที่ค้านซึ่งจะถูกกลั่นกรองออกไป

ภายใต้ภาวะที่แม้สาธารณชนจะไม่ได้ถูกปิดปาก แต่ก็ถูกผู้คุมสื่อผูกขาดตัดตอนเสียงที่ตนจะเปล่งแสดงมติส่งถึงสาธารณะเช่นนี้ ความเห็นแย้งใดที่มีจึงปรากฏเป็นทรรศนะส่วนตัวไว้บ่นเงียบๆ ในบ้าน ในห้องนอน หรือในส้วม แต่ไม่มีสิทธิร่วมส่วนอย่างเสรีในพื้นที่สื่อสาธารณะ. ไม่มีส่วนร่วมในมติมหาชน(public opinion) เหมือนเสียงแย้งของตนถูกขจัดจากเวทีสาธารณะ(de-publicized) และกักบริเวณไว้ในพื้นที่ส่วนตัว จึงเกิดมีหุบเหวช่องว่างที่มิอาจก้าวข้ามได้ ระหว่างสาธารณชนกับเสียงสะท้อนแทนทรรศนะของตน (ระหว่าง the public กับ "public voice" or "public representation)

อุปมาอุปไมยเหมือนท่านอยู่ในฝันร้าย อ้าปากร้องตะโกนสุดเสียง แต่ไม่มีใครได้ยิน เห็นแต่ปากท่านพะงาบๆ ทว่าดันได้ยินเสียงที่สาม ซึ่งท่านไม่ได้พูดเลยดังพากย์ทับแทน(dubbing) ตลอดเวลา, บุคคลในฝันร้ายนั้นฉันใด เสียงมหาชนในสังคมที่สื่อถูกผูกขาดตัดตอนก็ฉันนั้น

เมื่อสื่อสาธารณะ-เสียงสาธารณะถูกคุม ก็เป็นการง่ายที่จะเสกสรรปั้นแต่งเสียงส่วนน้อยบางเสียงให้กลายเป็น "เสียงข้างมาก" และผลประโยชน์เฉพาะบางกลุ่มบางบุคคลให้กลายเป็น "ผลประโยชน์ส่วนรวม"(majoritization of minority voice & interest)

ระบบแทนตนเสียงสาธารณะหรือเสียงประชาชนในสังคมการเมืองไทยซึ่งบกพร่องอยู่แล้ว แต่เดิมโดยขีดจำกัดของประชาธิปไตยแบบตัวแทน(representative democracy) มาถูกซ้ำเติมให้หนักข้อขึ้น โดยระบอบสื่อมวลชนที่เลือกปฏิบัติหรือเลือกสื่อเฉพาะบางเสียง บางภาพ บางผลประโยชน์ บางข้อเท็จจริง บางความจริง ต่อสาธารณะตามอำนาจควบคุมของรัฐ เจ้าของสถานี หรือเอกชน เจ้าของกิจการ

ช่องโหว่ข้อบกพร่องในโครงสร้างการแทนตนเสียงสาธารณะในสังคมไทยอันเป็นความรุนแรนเชิงโครงสร้างชนิดหนึ่งนี้ เป็นฐานให้พฤติการณ์ ผลประโยชน์ขัดกันและมาตรฐานสองหน้า(conflict of interest & double standard) ทำได้ ทำง่าย และลุกลามขยายวงออกไป

ผลประโยชน์ขัดกันระหว่างฐานะเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ต้องรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม กับฐานะบุคคลเอกชนที่มีผลประโยชน์ส่วนตน ส่วนครอบครัว ส่วนพวกพ้อง ส่วนบริษัทบริวาร ไม่ถูกสื่อ ไม่ถูกแทนตนออกมาให้เห็นในสาธารณะ. การปราบปรามทุจริตประพฤติมิชอบที่เน้นเล่นงานฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แต่ละเลยพันธมิตรพรรคพวกฝ่ายเดียวกัน ไม่ถูกสื่อ ไม่ถูกแทนตนให้สังคมตระหนักเท่าทัน

ภาพด้านเดียวที่ไม่แสดงความขัดกันของผลประโยชน์เพราะเห็นผลประโยชน์ด้านเดียว ไม่แสดงมาตรฐานสองหน้า เพราะเห็นพฤติกรรมด้านเดียวเหล่านี้ ช่วยธำรงรักษาผลิตซ้ำพฤติการณ์ผลประโยชน์ขัดกันและมาตรฐานสองหน้าไปเรื่อยๆ ในทางปฏิบัติ

2) ในนามของ "เสียงข้างมาก" เสมือนจริง (เพราะเสียงข้างมากตัวจริงถูกหรี่กลบเสียงและพากย์ทับแทน ได้แต่อ้าปากพะงาบๆ ไปเรียบร้อยแล้ว) และ "ผลประโยชน์ส่วนรวม" เสมือนจริง (เพราะผลประโยชน์ส่วนรวมถูกปิดช่องทางที่จะสื่อ), ย่อมง่ายที่จะเบียดผลักเสียงที่เห็นต่างและผลประโยชน์ของผู้ที่เห็นต่าง (dissenting voices & interest) ให้กลายเป็น "เสียงส่วนน้อย" และ "ผลประโยชน์ของคนข้างน้อย" ไป (minoritization of dissenting voices & interest)

และแล้วผู้ถูกทำให้เป็น "คนส่วนน้อย" ดังกล่าวก็ถูกเอามาตั้งประจันกับ "เสียงข้างมาก" เสมือนจริง และ "ผลประโยชน์ส่วนรวม" เสมือนจริงที่ได้จัดตกแต่งไว้อย่างดีแล้วนั้น เพื่อให้ประชาชน-สาธารณชนพิจารณาเลือกข้าง. แน่นอนตามตรรกะของระบอบประชาธิปไตย เสียงข้างมากย่อมชนะ ผลประโยชน์ของส่วนรวมย่อมอยู่เหนือผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย

ผู้ถูกทำให้เป็นคนส่วนน้อยจึงถูกเขี่ยปัดไปในนามของคนส่วนใหญ่ ด้วยฝีมือคนส่วนน้อยอีกกลุ่มหนึ่ง-โดยข้อต่างระหว่างคนส่วนน้อยสองกลุ่มนี้ อยู่ตรงฝ่ายหนึ่งมีอำนาจรัฐ อำนาจทุน และอำนาจสื่อ แต่อีกฝ่ายไม่มีนั่นเอง. ภาพโดยรวมก็คือ ให้ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีพื้นที่อิสระจากรัฐและทุน คนส่วนน้อยผู้กุมอำนาจรัฐและอำนาจทุนย่อมสามารถคืบเข้าผูกขาดอำนาจสื่อมวลชน เพื่อเบียดขับผลักไสเสียงและผลประโยชน์ของบุคคลกลุ่มฝ่ายต่างๆ ที่เข้าไม่ถึงอำนาจรัฐ อำนาจทุน และอำนาจสื่อ แถมตีตราพวกเขาว่าเป็น "คนส่วนน้อย" ไปทีละกลุ่มๆ โดยอ้างนามของ "คนส่วนใหญ่"

ขณะที่คนส่วนใหญ่ทุกกลุ่มถูกทำให้ไม่แคร์ ถูกทำให้รู้สึกมั่นคงปลอดภัยว่าตนคงไม่ประสบชะตากรรมเหมือนคนส่วนน้อยพวกนั้น, โดยหาตระหนักไม่ว่าตนมีสิทธิกลายเป็นคนส่วนน้อยได้เสมอ เพราะเอาเข้าจริงพวกเขาก็ไม่ต่างจากคนส่วนน้อยเหล่านั้นคือด้อยอำนาจรัฐ ด้อยอำนาจทุน และด้อยอำนาจสื่อเหมือนกัน

ขณะที่มีคนส่วนน้อยกลุ่มเดียวผู้ผูกขาดอำนาจรัฐกับทุนใหญ่ได้เป็นหรือเสมือนเป็น "คนส่วนใหญ่" ไปตลอดกาล

3) เมื่อได้ทำให้เสียงและผลประโยชน์ของผู้เห็นต่างและฝ่ายค้าน กลายเป็นเสียงและผลประโยชน์ของคนข้างน้อย ที่ตั้งประจันกับ "เสียงข้างมาก" และ "ผลประโยชน์ส่วนรวม" ไปแล้ว ก็ย่อมดูชอบธรรมที่ผู้กุมอำนาจรัฐและทุนใหญ่จะบิดพลิ้ว ปัดปฏิเสธ กระทั่งบดขยี้ สิทธิและการพยายามใช้สิทธิของเสียงข้างน้อยและของบุคคล(minority & individual rights) ลงไปด้วยกำลัง ในนามของการปกครองโดยเสียงข้างมาก(majority rule) และผลประโยชน์ส่วนรวม(the public good or the general welfare)

โดยเฉพาะสิทธิที่จะเห็นต่างและสิทธิที่จะดื้อแพ่ง (the right to dissent & civil disobedience) ต่อนโยบายและการตัดสินใจของรัฐบาลที่ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้งโดยเสียงข้างมาก, ภายใต้ฉายาเลวร้ายต่างๆ อาทิ "อภิสิทธิ์", "อนาธิปไตย", "พวกไม่เคารพกฎหมายหรือกติกา", "พวกค้านยัน ค้านไม่รู้จบ" ฯลฯ

การใช้สิทธิโดยชอบของบุคคลและกลุ่มเสียงข้างน้อยที่เห็นต่าง อันเป็นธรรมเนียมของระบอบเสรีประชาธิปไตยก็จะถูกทำลายความชอบธรรมลงไป จนกลายเป็นเรื่องของคนไม่ฟังเหตุ ฟังผล พวกม็อบ พวกเถื่อน ลูกดื้อที่พ่อต้องตีบ้าง ด้วยความหวังดีเพื่อลูกอื่นจะไม่เอาเยี่ยงอย่าง. สิทธิภายใต้ระบอบทักษิณจึงกลายเป็นสิ่งที่ประชาชนมีตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ควรใช้โต้แย้งคัดค้านรัฐบาล หากควรเก็บเอาไว้โชว์ประชาคมโลกเฉยๆ เพราะขืนใช้เมื่อใดก็จะกลายเป็นคนผิดปกติ พวกอภิสิทธิ์ พวกเล่นไม่เลิก พวกอนาธิปไตย พวกไม่เคารพกติกาประชาธิปไตย โดยอัตโนมัติ

กลายเป็นว่า ระบอบประชาธิปไตยที่ดี คือระบอบประชาธิปไตยที่มีสิทธิไว้เพื่อที่จะไม่ใช้ หรือนัยหนึ่งปราศจากสิทธิในทางปฏิบัติ i.e. practically rightless democracy ยกเว้นตอนเลือกตั้งเท่านั้นเอง.....

ในระบอบเสรีประชาธิปไตย มีทรัพยากรบางอย่างในสังคมที่สำคัญเกินกว่าจะปล่อยให้เอกชนครอบครองผูกขาดควบคุม หนึ่งในทรัพยากรนั้นคือสื่อสารมวลชน

ได้เวลาที่จะต้องคิดถึงการสร้างองค์การอำนาจสาธารณะที่อิสระจากรัฐและทุนอย่างแท้จริง เพื่อมากำกับ ควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของสังคมแทนที่พันธมิตรของรัฐกับทุนใหญ่แล้ว


2. บทเรียนและความเสียหาย หลังปฏิบัติการ"ฮุบมติชน"
คอลัมน์ รายงานพิเศษใน นสพ.มติชน

"ถ้าปล่อยให้ตลาดหลักทรัพย์เสรีจนเกินไปจะเป็นการก่อการร้ายทางธุรกิจได้"
นั่นเป็นข้อคิดเห็นของนายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หลังเกิดกรณี บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด(มหาชน) ประกาศซื้อหุ้นมติชนและบางกอกโพสต์ โดยมีเป้าหมายเข้าไปเทกโอเวอร์กิจการในเครือมติชนอย่างเบ็ดเสร็จ

แม้วันนี้ทางแกรมมี่จะยอมถอยทางธุรกิจ ลดการถือหุ้นจาก 32.23 % เหลือ 20% ที่เหลือ 12.23 % ขายคืนให้มติชนก็ตาม

นับแต่วันเกิดเหตุวันที่ 12 ก.ย. มาจนถึงวันนี้ บางคนอาจเห็นว่า การที่แกรมมี่ เข้าซื้อหุ้นมติชนและบางกอกโพสต์ เป็นเรื่องของเสรีภาพทางธุรกิจที่ทำได้ แต่ในความเห็นของนายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนามูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่าเป็นความเข้าใจของระบบทุนนิยมแบบเถื่อนๆ ทุนนิยมที่ถูก ต้องมีกฎกติกา และไม่ได้แปลว่าคุณจะทำอะไรก็ได้

ประเทศไทยก็มีกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.การแข่งขันและการค้า พ.ศ.2542 ซึ่งมาตรา 26 ระบุถึงการควบรวมกิจการ ว่า ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการรวมธุรกิจ อันอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ตามที่คณะกรรมการการแข่งขันและการค้า ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการแข่งขันและการค้า แต่รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพิกเฉยการใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ หากนำกฎหมายนี้มาใช้ คณะกรรมการการแข่งขันและการค้า จะต้องเข้ามาพิจารณาว่า การควบกิจการครั้งนี้ มีประโยชน์และผลเสียต่อสาธารณชนอย่างไร

การเทกโอเวอร์มติชน-บางกอกโพสต์ เพื่อต่อยอดธุรกิจตัวเอง ยังทำให้แนวคิดการทำธุรกิจที่เป็นธรรมมีการหยิบยกมาพิจารณามากขึ้น

ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้อนุมัติเงินกู้ 2,200 ล้านบาทให้แกรมมี่ ออกมายอมรับถึงความผิดพลาด โดยนายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา นายกกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ และคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ระบุในทางเดียวกันว่า การพิจารณาวงเงินสินเชื่อ 2,200 ล้านบาทให้แกรมมี่เพื่อซื้อหุ้นมติชนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ปกติของธนาคาร โดยคำนึงถึงความเหมาะสมต่างๆ โดยเป็นที่เข้าใจว่าเป็นการเข้าถือหุ้นโดยความสมัครใจของผู้ขาย

"เมื่อมีบทเรียนครั้งนี้จะทำให้เรามีหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่มากขึ้น อย่างน้อยต้องมีเรื่องสินเชื่อสำหรับการเทกโอเวอร์โดยเฉพาะกิจการที่มีผลกระทบต่อสังคม เพราะเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน ซึ่งเราคงต้องกลับมาทบทวนดูว่าเราจะปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์อย่างไร หรือไม่ เพื่อให้โอกาสข้างหน้าเราทำได้ดีขึ้น และเราจะไม่ปล่อยให้บทเรียนนี้มันผ่านไปเฉยๆ"

โดยปกติการอนุมัติวงเงินกู้จำนวนมหาศาลเช่นนี้ ตามขั้นตอนจะมีการนำเรื่องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาสินเชื่อ ก่อนส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการชุดใหญ่ แต่กรณีของไทยพาณิชย์ กลับมีข่าวสะพัดออกมาว่า มีผู้บริหารคนหนึ่งทำหนังสือเวียนให้คณะกรรมการเซ็นอนุมัติ โดยไม่มีการนำเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุมแต่อย่างใด

ทั้งที่มีบทบัญญัติด้านจริยธรรมสำหรับคณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ที่แสดงในเว็บไซต์ http://www.scb.co.th ระบุว่ากรรมการธนาคารมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานด้านจริยธรรมที่สูงที่สุด เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ. สิ่งเหล่านี้บ่งบอกได้ว่าคณะกรรมการบางคนยึดมั่นใน "จริยธรรม-คุณธรรม" มากน้อยแค่ไหน

และจนถึงวันนี้ นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ยังไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบกับความผิดพลาดอย่างที่นายจิรายุ และคุณหญิงชฎา ยอมรับแต่อย่างใด

ปัญหาการเทกโอเวอร์มติชน ยังเกิดการฉวยโอกาสปั่นหุ้นทำกำไรโดยมือระดับเซียนในตลาดหุ้น จนมีข้อสงสัยว่ามีการใช้ข้อมูลภายในหรืออินไซเดอร์ มาซื้อขายหุ้นมติชนหรือไม่ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่บอสใหญ่แกรมมี่ จะคิดทำเรื่องนี้เพียงคนเดียว ประเด็นนี้ยังค้างคาและสรุปไม่ได้ เป็นหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯจะต้องสืบเสาะหาความกระจ่างต่อไป

คนดังที่มีประสบการณ์ในการรวมกิจการ ครอบงำกิจการมามาก อย่างนายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด(มหาชน) ออกโรงมาชี้แจงว่า "ผมยืนยันว่าไม่ได้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้จีเอ็มเอ็มฯ เข้าซื้อหุ้น เพื่อหวังเทกโอเวอร์มติชน ตามที่มีการตั้งข้อสังเกต แต่ยอมรับว่าทางจีเอ็มเอ็มฯ ได้มาปรึกษาหลังจากที่มีการเข้าซื้อหุ้นมติชนแล้ว"

แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ยืนยันไม่พบความผิดปกติในการใช้ข้อมูลภายใน มาซื้อขายหุ้นมติชน แต่ในส่วนของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ยังจะเดินหน้าตรวจสอบต่อไป ว่ามีใครเข้ามาซื้อขายหุ้นมติชนในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งขาขึ้นและขาลงหรือไม่ ซึ่งในส่วนของ ก.ล.ต.อาจจะสามารถหาข้อมูลได้มากกว่า เช่น การตรวจสอบเส้นทางการเงิน

อีกคนที่เป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาโต้ตอบหลังกลับจากสหรัฐเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 48. "สิ่งที่เกิดขึ้นพยายามจะลากผมเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย กรุณาอย่าลากผมเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ด้วยเหตุผลทางการเมืองถือว่าโง่ถ้าทำ เพราะไม่มีสื่อแค่ฉบับเดียว แต่มีสื่อเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด...และถ้าด้วยเหตุผลทางธุรกิจถ้าตัดสินก็โง่อีก ทำไมจะต้องไปลงทุนอย่างนี้ และตัวผมเองไม่ได้สนใจด้านธุรกิจมาแล้วตั้งแต่มาเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เคยคิดเรื่องธุรกิจเลย ดังนั้นทั้งเหตุผลทางการเมืองและเหตุผลทางด้านธุรกิจ ถ้าตัดสินใจแบบนั้นก็คือโง่"

พ.ต.ท.ทักษิณ ยังบอกอีกว่า สำหรับนายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม รู้จักกันดี เขาตัดสินใจก็เป็นเรื่องของเขา เงินของเขา ธุรกิจของเขา ไม่เกี่ยวกับผม เขาจะรวยหรือจะจนก็ไม่เกี่ยวกับผม เขาจะยิ่งใหญ่จะเล็กลงก็ไม่เกี่ยวกับผม ประเทศไทยแคบจะตายรู้จักกันทั้งนั้น ดังนั้นกรุณาอย่าลากผมไปเกี่ยวข้องด้วย

ไม่ว่าตัวละครแต่ละตัวจะยอมรับหรือปฏิเสธอย่างไร แต่ภาระหนักหน่วง ไปตกอยู่ที่นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริหารบริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) เพราะต้องกู้เงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) ถึง 1,000 ล้านบาท เพื่อไปใช้ในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์หรือเทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้นมติชน จากนักลงทุนทั่วไป

โดย ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ จันทรทัต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาการทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ให้มติชน แจงว่า การทำเทนเดอร์ฯ จะนับจากจำนวนหุ้นของนายขรรค์ชัยที่เพิ่มจากที่ถืออยู่เดิม 24% เป็น 36% และส่วนของแกรมมี่อีก 20% รวมแล้ว 56% เหลือหุ้นที่จะต้องทำเทนเดอร์ฯ 44 % หรือคิดเป็น 90 ล้านหุ้นในราคาที่จะต้องทำเทนเดอร์ฯ 11.10 บาท รวมมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท

ขณะที่นางชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) ยืนยันว่า การปล่อยกู้ครั้งนี้ เพราะทางมติชนเป็นลูกค้าเก่าแก่ของธนาคาร และถือว่าเป็นการปล่อยกู้ปกติเหมือนกับลูกค้าทั่วไป และการปล่อยกู้ครั้งนี้มีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากมีการนำเงินฝากจำนวน 1,000 ล้านบาท มาค้ำประกันเงินกู้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 48 แกรมมี่ได้ทำการโอนหุ้นมติชนให้แก่นายขรรค์ชัย จำนวน 25,420,000 หุ้น โดยนายขรรค์ชัย ได้ชำระเงินค่าหุ้นจำนวน 282 ล้านบาทให้แก่แกรมมี่ ส่วนที่เหลือคาดว่าจะสามารถยื่นคำเสนอซื้ออย่างเป็นทางการได้ในวันที่ 3 ต.ค.นี้ ขณะเดียวกันค่ายโพสต์ โดยนายชวลิต ธนะชานันท์ ประธานกรรมการ นายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหาร และกองบรรณาธิการ ได้เปิดแถลงข่าวกรณีแกรมมี่เข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทร้อยละ 23.6 เช่นกัน โดยยืนยันจะไม่มีการขายหุ้นในมือให้แกรมมี่เด็ดขาด การต่อสู้กับกลุ่มทุนเพื่อยืนหยัดการดำเนินธุรกิจสื่ออย่างแท้จริงยังคงต้องเดินหน้าต่อไป

3.ในท่ามกลางทุน 2 กระแส
คอลัมน์ เดินหน้าชน โดย จุฬาลักษณ์ ภู่เกิด

จากกรณี "แกรมมี่ฮุบสื่อ" ทำให้พอจำแนกแยกแยะ "ระบบทุน" ที่อยู่ล้อมรอบตัวเราได้ชัดเจนขึ้นว่ามี 2 กระแส

กระแสหนึ่งคือ ทุนที่มุ่งแต่เอาเงินต่อเงิน เพื่อกำไรสูงสุด ไม่เคยเอื้ออาทรต่อสังคมแวดล้อมที่ตัวเองไปดูดกลืนทรัพยากรเขามา ไม่เคยมองคนในมิติที่มีจิตวิญญาณ นอกจากมองว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตที่ซื้อได้ด้วยเงิน ขายได้เพื่อเงิน หรือไม่ก็มองเพียงแค่ว่าเป็นเป้าหมายที่จะต้องกระตุ้นให้บริโภคสินค้าและบริการของตนอย่างไม่มีขอบเขต หากจะมีกลิ่นอายนึกถึงคนอื่น สิ่งอื่นบ้าง ก็ได้แค่การโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพอย่างผิวเผิน

ส่วนอีกกระแสคือ ทุนเชิงคุณธรรม ที่อย่างน้อยก็ตระหนักรู้ว่าตนอยู่ได้ เติบโตได้ด้วยสิ่งอื่น คนอื่น จึงพยายามที่จะแบ่งปันเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างพึ่งพาอาศัย โดยไม่ขัดแย้ง. น่าดีใจที่ขณะนี้แนวโน้มใหม่ของโลก เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมและสนับสนุนทุนประเภทหลัง ด้วยเห็นว่าจะทำให้ทั้งสังคมมีความมั่นคงและยั่งยืนกว่า

การลงทุนและสังคมธุรกิจที่รับผิดชอบ
แนวคิดที่เริ่มเป็นที่รู้จักนี้ เรียกย่อๆ สั้นๆ ว่า "ซีเอสอาร์" หรือ "ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ"(CSR- Corporate Social Responsibility) และ "เอสอาร์ไอ" หรือ "การลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม"(SRI- Socailly Responsible Invesment) ซึ่งสถาบัน ISO เตรียมจะจัดประชุมต่อยอดยกที่ 2 ในประเทศไทย ในวันที่ 24-30 กันยายน 48 หลังจากประชุมยกแรกไปเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ประเทศบราซิล คาดว่าจะนำไปสู่การกำหนดเป็นมาตรฐานที่ชัดเจน ภายใต้ ISO 26000 สำหรับให้องค์กรธุรกิจทั่วโลกต้องยึดถือปฏิบัติในเวลาไม่ช้าไม่นาน ต่อไปใครทำไม่ได้ตามมาตรฐานนี้ถือว่าเชยและล้าหลัง

ปรากฏการณ์ฮุบ 2 สื่อในเวลาพร้อมกันครั้งนี้ ไม่อยากสรุปเอาเองว่า แกรมมี่เข้าข่ายทุนแบบแรก และเครือมติชน-บางกอกโพสต์ ที่โดดเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ก้าวเดินต่อไปได้ในทางธุรกิจ เป็นทุนประเภทหลัง แต่ปฏิกิริยาของสังคมที่เป็นไปอย่างเหนือความคาดหมาย ก็ได้ตัดสินและจำแนกให้เห็นอย่างชัดเจนในระดับหนึ่งว่า อะไรเป็นอะไร ทุนแบบไหนที่สังคมไทยยอมรับและแบบไหนที่ต่อต้าน

ทั้งยังเป็นปฏิกิริยาที่จงใจกระทบชิ่งไปให้อำนาจผูกขาดที่อยู่เหนือขึ้นไป ได้รับรู้ถึงความอัดอั้นตันใจที่สั่งสมมานาน ภาพลักษณ์แกรมมี่จึงเสียหายหนักอย่างคาดไม่ถึงด้วยเหตุฉะนี้

แม้ทุนนิยมจะทะลุทะลวงสังคมไทยได้อย่างรวดเร็วและลงลึกถึงระดับรากหญ้า แต่สังคมไทยก็มีคุณลักษณะเฉพาะ นั่นคือมิติทางด้านจิตใจ มิติของความเป็นเพื่อน พี่ น้องในหมู่บ้านใหญ่แห่งหนึ่งในบริบทโลก ทุนนิยมที่อยู่บนพื้นฐานนี้เท่านั้นจึงสอดคล้อง เหมาะสม และได้รับการยอมรับ

ใครที่อ้างความเป็นเพื่อน พี่ น้องเพื่ออำพรางวัตถุประสงค์ที่หวังครอบครองหรือแสวงหากำไรสูงสุด จึงถูกมองอย่างหวาดระแวงว่าเป็นนักฉวยโอกาส

ยิ่งเมื่อทั้งสังคมขานรับว่าแนวคิด "เศรษฐกิจพอเพียง" น่าจะเป็นทางรอดจากวิกฤต ใครที่ปากท่องบ่น แต่มือยังมุ่งกอบโกยกำไรเกิน "ระดับที่เหมาะสม" โดยไม่คำนึงถึง "ความชอบธรรม" อันเป็นหลักสำคัญของการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง ก็คงถูกมองไม่ต่างกัน ทุกท่าทีจึงมีต้นทุน ไม่บวกก็ติดลบ ถ้าเผลอมักง่าย โลภมาก ก็มักจะติดหล่มไม่รู้ตัว

น่าคิดว่า อำนาจผูกขาด นำไปสู่ความมั่นคงยั่งยืนและความสุขจริงๆ หรือ ? หรือมันเป็นความยั่งยืนจริง ความสุขจริงของแค่บางองค์กร บางบริษัท แต่เป็นปัจจัยที่ทำร้ายและสร้างทุกข์ให้สังคมทั้งระบบ เพราะเมื่อไหร่ที่ยิ่งผูกขาด ความสมดุลก็ยิ่งถูกทำลาย ความขัดแย้งก็ยิ่งสะสม แล้วทั้งสังคมจะไปเหลืออะไร. ขณะที่หากคงไว้ซึ่งความหลากหลาย ก็จะช่วยสร้างความสมดุล และอิสระจากการถูกครอบงำ ย่อมนำความสุข ความงาม และปัญญามาสู่สังคม

ธุรกิจข้ามชาติระดับโลก เริ่มปรับมุมมองใหม่เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้กับชาวโลก องค์กรธุรกิจชั้นแนวหน้าของไทยหลายแห่ง ก็เริ่มขานรับและปรับลดภาพผูกขาด หันมาเน้นกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง เพราะตระหนักถึงภัยที่จะมาถึงตัว บทเรียนจากปรากฏการณ์แกรมมี่ฮุบสื่อเที่ยวนี้ จึงมีคุณค่ายิ่ง หากใครช่วงชิงแปรวิกฤตเป็นโอกาส

แต่ถ้าใครยังดันทุรังคิดจะเดินหน้าครอบงำผูกขาดด้วยมุมคิดเดิมๆ คงเหนื่อยหนักกว่าเก่า เพราะประชาชนและสังคมได้เรียนรู้มากขึ้น และมั่นใจในพลังตัวเองมากขึ้นว่า เมื่อเลือกที่จะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนใครแล้ว ผลออกมาอย่างไร

 

 

 

บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 670 เรื่อง หนากว่า 9000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
เมื่อสื่อสาธารณะ-เสียงสาธารณะถูกคุม ก็เป็นการง่ายที่จะเสกสรรปั้นแต่งเสียงส่วนน้อยบางเสียงให้กลายเป็น "เสียงข้างมาก" และผลประโยชน์เฉพาะบางกลุ่มบางบุคคลให้กลายเป็น "ผลประโยชน์ส่วนรวม"(majoritization of minority voice & interest)
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี


การลงทุนและสังคมธุรกิจที่รับผิดชอบ
แนวคิดที่เริ่มเป็นที่รู้จักนี้ เรียกย่อๆ สั้นๆว่า"ซีเอสอาร์" หรือ "ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ"(CSR- Corporate Social Responsibility) และ "เอสอาร์ไอ" หรือ "การลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม"(SRI- Socailly Responsible Invesment) ซึ่งสถาบัน ISO เตรียมจะจัดประชุมต่อยอดยกที่ 2 ในประเทศไทย ในวันที่ 24-30 กันยายน 48 หลังจากประชุมยกแรกไปเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ประเทศบราซิล คาดว่าจะนำไปสู่การกำหนดเป็นมาตรฐานที่ชัดเจน ภายใต้ ISO 26000 สำหรับให้องค์กรธุรกิจทั่วโลกต้องยึดถือปฏิบัติในเวลาไม่ช้าไม่นาน ต่อไปใครทำไม่ได้ตามมาตรฐานนี้ถือว่าเชยและล้าหลัง