คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
้
The Midnight University
สาร ที่ลึกไปกว่า สื่อ
Media
Literacy : การรู้เท่าทันสื่อ
เขียนโดย
สุชาดา จักร์พิสุทธิ์
อาจารย์-นักวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความประกอบการบรรยายถวายพระนิสิตปริญญาโท
มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย - เชียงใหม่
กระบวนวิชา"พุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่"
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 674
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๙ กันยายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8.5 หน้ากระดาษ A4)
บทนำ
กลายเป็นกิจวัตรและความจำเป็นอย่างหนึ่งสำหรับชีวิตยุคใหม่เสียแล้ว ที่ต้องเสพข่าวสารผ่านช่องทางสื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง
ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต เคเบิ้ล และแม้กระทั่งมือถือ
จนแทบจะกล่าวได้ว่าข่าวสารคือลมหายใจ แต่ท่ามกลางความท่วมท้นของข่าวสารที่ทวีการแข่งขันตลอด
24 ชั่วโมง ก็มีคนที่เพิ่มพูนความเบื่อหน่ายและวิตกกังวลต่อข่าวสารเหล่านี้มากขึ้นทุกทีเช่นกัน
"ขยี้กามฆ่าเปลือยสาวศพยัดตู้เย็น"
"โจรใต้เหิมบึ้มป่วนเมืองนราฯเละ"
"โจ๋ไทยเหลวแหลกเสพเซ็กส์บนรถเมล์" ฯลฯ
คนที่อ่านหนังสือพิมพ์หรือติดตามข่าวทีวีทุกวันด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ เชื่อได้ว่าน่าจะบังเกิดความรู้สึกสลดหดหู่ จนถึงคิดไปว่าสังคมช่างมืดมน เต็มไปด้วยวิกฤตที่แก้ไขไม่ได้ สู้เอาตัวรอดเฉพาะตนดีกว่า ทัศนคติเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย ดังที่งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า
ท่ามกลางครัวเรือนไทย 96% ที่มี โทรทัศน์ ร้อยละ 71 ของข่าวสารทางโทรทัศน์และวิทยุ เป็น"ข่าวร้าย" หรือเรื่องที่ชวนให้รู้สึกหมดหนทางต่อสู้ (helplessness - invoking) ในขณะที่ "ข่าวดี"หรือเรื่องที่ชวนให้มีความหวัง มีเพียงร้อยละ 12 เช่นกันกับที่ "โครงการวิจัยระยะยาวในเด็กไทย " โดย พญ. จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ พบว่า
- เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี ชมภาพความรุนแรง เช่น ตีกัน ฆ่ากันทั้งจากข่าวและละครหรือโฆษณาวันละ 501 ครั้ง
- เด็กประถมทั้งชาย-หญิง ชมรายการการ์ตูนที่เน้นไปในทางเพศเป็นอันดับ 1 ชมละคร อันดับ 2 และชมรายการเกมโชว์ เป็นอันดับ 3
- วัยรุ่นทั้งหญิง-ชาย ชมละครอันดับ 1 เกมโชว์อันดับ 2 และเพลงอันดับ 3
- วัยรุ่นหญิงที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัย ใช้เวลาดูโทรทัศน์เฉลี่ยวันละ 4 ชั่วโมง
- เด็กๆ ทั่วไปใช้เวลาเรียนหนังสือในโรงเรียนปีละ 900 - 1,000 ชั่วโมง ในขณะที่ใช้เวลาดูโทรทัศน์ ปีละ 1,000 - 1,200 ชั่วโมง
- เว็บไซต์ที่มีทั่วโลก 7 ล้านเว็บ เป็นเว็บโป๊ 2 ล้านเว็บ โดยเด็ก 1 ใน 5 ทั่วโลกที่ใช้อินเตอร์เน็ตได้รับเมล์ที่ส่อการล่อลวงทางเพศ
เราไม่ปฏิเสธความสำคัญของข่าวสารในฐานะกลไกการสื่อสารของสังคม
แต่เราต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า สื่อสารมวลชนที่ทำหน้าที่สื่อข่าวสารดังกล่าวคือผลผลิตของสังคมเช่นกัน
ดังนั้น จึงอาจเต็มไปด้วยอวิชชา อคติและกิเลส ที่เราในฐานะ"ผู้รับสาร"ต้องรู้เท่าทันและสร้างภูมิคุ้มกันตนเองและลูกหลานเรา
นี่คือสิ่งที่แวดวงวิชาการเรียกว่า "การรู้เท่าทันสื่อ" หรือ Media
Literacy
น่าเสียใจอยู่บ้าง ที่ทั้งแวดวงวิชาการและวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนของไทย ยังไม่ได้ให้ความสนใจต่อเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ
อันเป็นทั้งศาสตร์ ( knowledge )และทักษะชีวิต ( life skill ) ที่สำคัญยิ่งต่อยุค
"ข่าวสารคืออำนาจ"นี้ และเป็นคุณสมบัติของประชาชนผู้กระตือรือร้น
( active citizen ) เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ในขณะที่นานาประเทศในโลก
ได้สร้างและใช้องค์ความรู้ด้านนี้กันอย่างแพร่หลาย
ตั้งแต่การบรรจุเป็นหลักสูตรทักษะชีวิต หรือหลักสูตรสร้างเสริมประสบการณ์แก่เด็กๆ นับแต่อนุบาลขึ้นมา ส่วนในระดับมหาวิทยาลัย ก็มีทั้งงานวิจัย พัฒนา และเป็นหลักสูตรสาขาวิชาและ course work นอกจากนี้ เฉพาะเว็บไซต์ว่าด้วย Media Literacy ที่พบในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ก็มีมากกว่า 9,000 เว็บ
นิยามของ Media Literacy ที่ว่าคือ The ability to Access , Analyze ,Evaluate and Communicate information in a variety of form .เราอาจถอดความได้ว่า คือความสามารถในการเข้าถึง การวิเคราะห์วิพากษ์ การประเมินคุณค่า และทักษะการตอบสนอง (สื่อสาร) ต่อข่าวสารในรูปแบบต่างๆ โดยนัยนี้ เราจำเป็นต้องติดตั้งความคิดไว้เป็นสมมุติฐานในการเสพข่าวสารเสมอว่า"กูไม่เชื่อมึง"
อันหมายถึงการตั้งคำถามต่อที่มาที่ไปของข่าวสารนั้น สงสัยว่าทำไมจึงสัมภาษณ์คนนั้นไม่สัมภาษณ์คนนี้ ตัวละครใดที่หายไปในข่าว ความเกี่ยวข้องของข่าวนี้ต่อข่าวนั้น ทำไมคนคนนี้เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เป็นประจำ ทำไมไม่พูดถึงคนจนๆ ที่ได้รับผลกระทบ ทำไมจึงระบุว่าแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผย เป็นต้น รวมถึงการขวนขวายที่จะได้รับข่าวสารจากหลากหลายทิศทางเพื่อถ่วงดุล เช่น สอบถามข้อมูลจากญาติมิตร ตรวจสอบข่าวสาร( message )จากสื่อ (media)ที่แตกต่างกัน เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปคือ การรู้เท่าทันสื่อจำต้องอิงอาศัยฐานคิดของคนที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ไม่ชอบตกอยู่ภายใต้อิทธิพล ไม่ประมาท แต่ชอบใช้ปัญญาและการคิดเชิงวิเคราะห์ ซึ่งในที่สุดก็คือการยึดหลักกาลามสูตร ของพุทธศาสนานั่นเอง
แนวทางการรู้เท่าทันและวิเคราะห์สื่อ
( code of conduct ) ประมวลได้ดังนี้
1. สื่อคือสิ่งที่สร้างขึ้น - Media are Constructions
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อคือสถาบันที่เกิดจากเทคโนโลยีของโลกยุคใหม่ และได้กลายเป็นสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของสังคม
ดังนั้น สื่อจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในตัวของมันเอง ในขณะเดียวกันสื่อก็ได้วิวัฒน์ไปสู่การเป็นผู้ผลิตความรู้
ความจริงและวาทกรรมแก่สังคม ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ทว่า คำถามคือสื่อสร้างความรู้และความจริงชนิดไหน
?
ในความเป็นจริง สื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่าความรู้แฝง ( tacit knowledge ) และความจริงเทียม ( virtual reality ) ผ่านตัวบุคคลผู้ประกอบอาชีพสื่อ (ดังที่กล่าวแล้วว่าเป็นผลผลิตของสังคม) โดยข่าวสารที่ส่งผ่านเทคโนโลยีสื่อมาถึงตัวเรา ได้ผ่านการคิดค้น จัดทำวิธีการนำเสนอตามข้อจำกัดของเครื่องมือ/สื่อ เช่น ต้องแข่งกับเวลา (จึงหาข้อมูลได้เพียงเท่านี้) มีเนื้อที่น้อย (จึงต้องตัดต่อและคัดเลือก) อยากให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย (จึงต้องนำเสนอแบบหวือหวาโดนใจวัยรุ่น)
แม้กระนั้น สื่อก็ได้สร้างความรู้แฝงและความจริงเทียม ที่ทำให้ผู้รับสารซึมซับรับรู้เสมือนหนึ่งเป็นความจริงหรือประสบการณ์ของตน ความข้อนี้ เราคงเห็นได้ชัดเจนจากโฆษณาที่ปรากฏเป็นภาพและเสียงที่แสนจะน่าเชื่อถือ เป็นจริงในทีวี ทำให้สาวๆยุคใหม่มีค่านิยมความงามที่จะ"ขาวอมชมพู" และเชื่อว่าบันดาลได้จริงด้วยสินค้าที่ปรากฏในโฆษณา
ส่วนภาพที่เราเชื่อว่า camera never lies ในหน้าหนังสือพิมพ์ก็เช่นกัน เราคงไม่ลืมเหตุการณ์กรือเซะที่ปัตตานี เมื่อหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงรูปหน้าหนึ่ง เป็นผู้ตายในเหตุการณ์ที่กำมีดสปาตาร์ไว้ในมือ ซึ่งสื่อสารถึงความเป็นโจรก่อการร้ายที่โหดเหี้ยมและมีขบวนการหนุนหลัง นำมาซึ่งความประหวั่นพรั่นพรึงของสังคม ที่มีผลส่งเสริมความชอบธรรมในการปราบปรามอย่างรุนแรง แม้ว่าในที่สุด หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นจะได้ออกมาขอขมาลาโทษต่อผู้อ่าน และสารภาพว่าใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการตัดแต่งภาพ แต่ผลกระทบคือ มีคนจำนวนมากซึมซับรับรู้ทัศนคติและเชื่อว่าเป็นความจริงไปเสียแล้ว
ยังไม่นับข่าวสารทางเดียวที่ถูกสร้างขึ้นแบบมี "พระเอก-ผู้ร้าย" โดยเฉพาะในเหตุการณ์การวมกลุ่มของชาวบ้านที่คัดค้านโครงการขนาดใหญ่ หรือเรียกร้องการแก้ปัญหาจากรัฐด้วยกลวิธีการรายงานข่าวแต่เพียงตัวเหตุการณ์ ใคร ทำอะไร ฯ ก็ได้สั่งสมความรู้แฝงแก่สังคมไทยว่า นี่เป็นความวุ่นวายอันเกิดจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี ขัดขวางการพัฒนา เป็นต้น
2. สื่อมีเป้าหมายทางธุรกิจ/โฆษณา
- Media Constructions have Commercial purposes
เนื่องเพราะสื่อไม่ใช่องค์กรสาธารณะกุศล หากแต่เป็นองค์กรธุรกิจที่ต้องแสวงหากำไร
ด้วยขนาดการลงทุนค่อนข้างสูงและต้องจ้างบุคลากรจำนวนมาก ว่ากันว่าถ้ากู้เงินได้ไม่ถึง
100 ล้าน ก็อย่าหวังจะลงทุนด้านโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ ยิ่งเมื่อสื่อต้องระดมทุนโดยการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
สื่อก็หมดสิ้นความเป็นพื้นที่สาธารณะไปแล้ว สื่อทุกชนิดจึงอยู่ได้ด้วยรายได้จากธุรกิจโฆษณา
เช่นที่หนังสือพิมพ์มีราคาขายฉบับละ 8 บาท หากแต่ต้องลงทุนเฉลี่ยฉบับละ 80
- 100 บาท
ความจริงที่เกิดขึ้นคือ สื่อย่อมไม่สามารถทำหน้าที่โดยเที่ยงธรรม หากข่าวสารใดมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และธุรกิจของผู้มีอำนาจ สื่อก็อาจหลีกเลี่ยงหรือนำเสนอแต่เพียงผิวเผิน หรือแม้กระทั่งจงใจบิดเบือนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อุปถัมป์โฆษณาเสียด้วยซ้ำ
ทุกวันนี้ อัตราการเติบโตของรายได้จากโฆษณาของโทรทัศน์และวิทยุ มีสัดส่วนถึง 4.4 ซึ่งมากกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ( GDP) ของประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจที่โทรทัศน์ช่องต่างๆ แอบเพิ่มเวลาโฆษณาและรายการบันเทิงจนล้นจอ เพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่โฆษณา ทั้งโดยเปิดเผยและยัดเยียดอย่างแยบยล เราคงเห็นได้ชัดเจนจากรายการเกมโชว์
ส่วนละครก็มักมีฉากห้างสรรพสินค้าหรือโต๊ะอาหารที่ปรากฏตราสินค้า อันเป็นเทคนิคการโฆษณาที่เรียกว่า การสร้างความคุ้นเคยและภักดีต่อสินค้า ( product royalty ) ลามปามไปจนถึงข่าวธุรกิจการตลาด ที่นำเสนอเสมือนหนึ่งเป็นข่าวสารหรือเหตุการณ์ในรอบวัน แต่เนื้อแท้คือการโฆษณาที่บริษัทธุรกิจต้องจ่ายเงินซื้อเวลา หรือแม้แต่การที่สื่อทำเสมือนหนึ่งการให้ผู้รับสาร มีส่วนร่วมในรายการอย่างการส่ง SMS เพื่อตอบคำถามไร้สาระหรือแสดงความคิดเห็น ที่แท้ก็เป็นความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างสื่อกับบริษัทมือถือ ที่มีวัตถุประสงค์หารายได้จากบริการโทร SMS นั่นเอง
3. สื่อสร้างค่านิยมและอุดมคติ
- Media messages contain Values and Ideologies
วัฒนธรรมและระบบคุณค่าของสังคมหนึ่งๆ ย่อมเกิดจากการสั่งสม ผลิตซ้ำและการยอมรับจนเป็นแบบแผนในการคิดและการดำเนินชีวิต
ฉะนั้น ความรู้แฝงและความจริงเทียมที่สื่อผลิตขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งกระทบโสตประสาททุกส่วนของเรา
จึงมีผลประทับรับรู้อย่างยิ่ง โดยเฉพาะแก่ผู้ที่มีวุฒิภาวะน้อยอย่างเด็กและเยาวชน
ดังเช่นละครโทรทัศน์ที่มีแนวเรื่องพาฝัน ชิงรักหักสวาท หมกมุ่นอยู่กับความร่ำรวยสวยงาม
หรือตัวประกอบละครที่มักเป็นผู้เบี่ยงเบนทางเพศ ก็มีส่วนปรับแต่งทัศนะของสังคมที่มีต่อเพศที่สาม
และทำให้พฤติกรรมเพศที่สามขยายตัวขึ้น
ไม่มากก็น้อย ที่สื่อเป็นผู้ชี้นำทัศนะและท่าทีต่อความดี ความงามและความจริงของสังคม
ตัวอย่างกรณีดาราสาว "แหม่ม"แคทลียา แม็คอินทอช ที่ปรากฏเป็นข่าวว่าท้อง
5 เดือนโดยปิดบังและอ้างว่าไม่รู้ สื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และวิทยุ พากันประโคมข่าวถี่ยิบราวกับเกิดเหตุสำคัญระดับประเทศ!
ทั้งยังแสดงความคิดเห็นจาบจ้วงล้วงลึกไปในชีวิตส่วนตัวพร้อมกับตัดสินเธอให้สังคมคล้อยตามว่า
เธอโกหกและประพฤติไม่สมกับความชื่นชอบที่ผู้ชมมีให้ ทั้งที่ในความเป็นจริง
เธอก็คือหญิงสาวคนหนึ่งในวัยเจริญพันธุ์ที่มีความรักและอยู่ก่อนแต่งกับชายคนรัก
เช่นเดียวกับหญิงชายอีกจำนวนมากมายมหาศาลของยุคสมัยปัจจุบัน
ที่สำคัญไปกว่านี้ อย่างกรณี 3 จังหวัดภาคใต้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยได้สั่งสม อคติ ความไม่เข้าใจและโลกทัศน์ต่อวัฒนธรรม ความเชื่อและความแตกต่างทางเชื้อชาติของมุสลิม จาก"สาร"ที่ส่งผ่านสื่อและระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เป็นความรุนแรงที่ไร้รูปรอย หากแต่ฝังลึกและส่งทอดแก่กันได้
เช่นกันกับที่เรามีทัศนะต่อความจนและคนจนว่า เพราะขี้เกียจหรือเป็นกรรมเก่า เมื่อใดที่คนจนรวมตัวกันเรียกร้องต่อสู้ เราก็พร้อมจะเชื่อว่ามีมือที่สามยุยง เราจึงเอือมระอาต่อการต่อสู้ของสมัชชาคนจน และเห็นว่ารัฐย่อมมีสิทธิกระทำการอย่างใดกับคนของรัฐได้ !
แล้วก็มาถึงพัฒนาการของการชี้นำจากสื่ออีกขั้นหนึ่ง เมื่อโทรทัศน์ทุกช่องเข้าสู่สงครามแข่งขันด้านข่าวร้อนข่าวด่วน โดยมีกลยุทธ์คือผู้ประกาศข่าว เล่าข่าว รายงานข่าว ที่เป็นที่นิยม มานั่งอ่านข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ทุกเช้า พร้อมด้วยลีลาการวิจารณ์ แสดงความคิดเห็นต่อเนื้อข่าวและบุคคลในข่าวอย่างเผ็ดมันฮา สิ่งที่น่าวิตกคือ ผู้รับสารกำลังได้รับสารสำเร็จรูปที่ผ่านการย่อยแล้ว จากมุมมองและการแสดงของผู้ดำเนินรายงาน ยิ่งนักเล่าข่าวที่เป็นที่นิยมสูงได้รับความเชื่อถือมาก ยิ่งน่าเป็นห่วงว่าการใส่ความคิด อุดมการณ์และการชี้นำในข่าวสาร ซึ่งจะมีผลครอบงำผู้รับ โดยเฉพาะผู้หญิงและเยาวชนที่มีพื้นฐานด้านข่าวน้อย เช่นที่เมื่อเกิดเหตุหญิงคนหนึ่งจะกระโดดตึกฆ่าตัวตาย ตำรวจเกลี้ยกล่อมอย่างไรก็ไม่ยอม แต่เธอเรียกร้องขอพูดกับคนที่เธอไว้ใจและเชื่อถือ นั่นคือ"สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา" !
4. สื่อทำให้มีผลที่ตามมาทางการเมืองและสังคม
- Media Messages have Social and Political Consequences
สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองและแสดงบทบาททางการเมืองเองอย่างไม่ต้องสงสัย
เพราะสื่อในทุกประเทศอ่านสังคมได้อย่างฉับไว และพร้อมจะเล่นบทยืนข้างประชาชน
ดังเช่นสื่อมวลชนไทยในช่วงเหตุการณ์"พฤษภาทมิฬ 2535" ที่นำมาซึ่งการเชิดชูอุดมการณ์สื่อเสรี
จนก่อเกิดโทรทัศน์ช่องใหม่ ที่บัดนี้เปลี่ยนสีแปรธาตุไปสู่ธุรกิจอย่างเต็มตัว
ภายใต้เม็ดเงินการถือหุ้นใหญ่จากกลุ่มบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น
วัฒนธรรมการทำข่าวของสื่อ โดยการเกาะติดกับนักการเมืองและศูนย์อำนาจ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สื่อตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง
ทำให้ข่าวสารทางเดียวจากปากนักการเมืองไหลลงสู่ประชาชนผู้รับสารเพียงข้างเดียว
สถานการณ์การรุกรานสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน และการยึดครองพื้นที่สื่อรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งการเข้าจัดการควบคุมเนื้อหาและกำราบบุคคลผ่านระดับบริหารของสื่อที่เป็นเครือญาติ
เช่น ไล่ออก ถอดบทความ หรือโดยการกว้านซื้อหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์เพื่อกุมอำนาจบริหารเอง
รวมถึงการตอบโต้ทั้งทางลับและทางแจ้งแก่สื่อมวลชน นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางสังคม
จนกล่าวได้ว่า พื้นที่ทางสังคมที่เหลืออยู่ของภาคประชาชนซึ่งคือ"สื่อ"
ตกอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ทุกวันนี้ เราจึงเสพข่าวสารจำนวนมากที่มีวาระซ่อนเร้น ( Hidden agenda) และเป็นข่าวที่ถูก"สร้าง" ขึ้น ( Agenda setting ) ด้วยอำนาจและการสมรู้ร่วมคิด ตัวอย่างข่าวครึกโครมกรณีนายกรัฐมนตรีดำริจะซื้อสโมสรฟุตบอล"ลิเวอร์พูล" ในห้วงเวลาเดียวกับความวุ่นวายในพรรคไทยรักไทยเพื่อปรับ ครม. ทำให้สังคมทั้งสังคมหันไปฮือฮาจับตาข่าวสร้างดังกล่าวนี้ทันที หรือตัวอย่างข่าวการระบาดของไข้หวัดนกรอบใหญ่ ที่สร้างความตื่นตระหนกจนคนไม่กล้าบริโภคไก่ พลันเมื่อปรากฏเกม"กินไก่โชว์" โดยนักการเมืองและดาราดังคับคั่ง สื่อก็ร่วมประโคมข่าวกันทั่วประเทศ โดยไม่ได้นำเสนอข้อมูลด้านแย้งหรือบทเรียนอื่นแต่อย่างใด
5. สื่อแต่ละชนิดมีเอกลักษณ์และข้อจำกัด
- Each Medium has a unique Aesthetic Form
หรือพูดอีกอย่างได้ว่า สื่อแต่ละชนิดมีธรรมชาติของมันเอง เพราะในทางศาสตร์และศิลป์ของสื่อทุกประเภท
แม้จะจำแนกเป็น สาร = Media content กับ สื่อ = Media form เท่านั้น หากแต่รายละเอียด
ขั้นตอน เทคนิคและเครื่องมือ มีความแตกต่างอย่างมาก ซึ่งในกระบวนการผลิตนี้แหละ
ที่ทำให้"สาร"บางอย่างถูกตัดตอน ปรับแต่ง ลดปริมาณและคุณภาพ รวมถึงอาจกลายเป็นการสร้างความจริงเทียมขึ้นในที่สุด
ยกตัวอย่างการายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ ที่มักรายงานแต่เพียงตัวเหตุการณ์ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร โดยปราศจากบริบทแวดล้อมและความเกี่ยวข้องของปัญหาอื่นๆ รวมถึงการจำกัดบุคคลในข่าวแต่เพียงผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำและผู้เห็นเหตุการณ์ แต่ไม่สืบค้นคลี่คลายประเด็น "ทำไม / อย่างไร" ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดของ"สาร" ก็ด้วยข้ออ้างเรื่องความจำกัดของเวลา การเร่งรีบปิดข่าวให้ทันการตีพิมพ์ จนแม้กระทั่งตัดทอนรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญลงเหลือเพียงข้อมูลฉาบฉวยและสีสันทางอารมณ์ เช่น
การชุมนุมเรียกร้องการแก้ปัญหาเขื่อนและที่ดินของสมัชชาคนจน หน้าทำเนียบรัฐบาลเป็นเวลา 90 วัน สื่อก็ไปรายงานที่ตัวเหตุการณ์ มีคนมาชุมนุมเท่าไร ข้อเรียกร้อง 1,2,3 วันนี้ชาวบ้านสมัชชาคนจนลงไปอาบน้ำในคลองแสนแสบ วันนี้ ชาวบ้านยิงธนูเข้าทำเนียบโดยผูกจดหมายไว้ที่ปลายลูกศร และถ่ายรูปลงหน้าหนึ่งจนดูน่าตื่นเต้น เป็นต้น
แต่สำหรับผู้รับสารที่เท่าทันสื่อ ย่อมมีคำถามเกิดขึ้นทันทีว่า แล้วเนื้อหาสาระที่เขียนไว้ในจดหมายนั้นว่าอย่างไร ทำไมคนจนเหล่านี้จึงยืนหยัดตากแดดตากฝนอยู่หน้าทำเนียบแทนที่การนอนหลับอุ่นสบายในบ้านเกิด ? เราแทบไม่รู้เลยว่า ก่อนหน้าการชุมนุมหน้าทำเนียบของสมัชชาคนจน พวกเขาร้องเรียนตามขั้นตอนและรอคอยอย่างสิ้นเนื้อประดาตัวมา 13 ปีแล้ว !
โทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อที่ให้ทั้งเสียงและภาพ ดูเป็นจริงและน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง เราไม่มีโอกาสรู้เลยว่า ฝ่ายการตลาดของเขาสำรวจพฤติกรรมการรับชมทีวีของเราตลอดเวลา เพื่อจะผลิตรายการที่สะกดเราไว้หน้าจอ พร้อมกับที่สามารถอ้างกับบริษัทโฆษณาและเจ้าของสินค้าได้ว่า ช่องของตนมี rating สูง เหมาะแก่การจ่ายเงินโฆษณาเพียงใด และเรายิ่งไม่รู้เลยว่าการทำ spot โฆษณาแต่ละชิ้นนั้น ผ่านการวางแผน ออกแบบวิธีนำเสนอ การคิดถ้อยคำกินใจ การคัดเลือกตัวแสดง ฯ กันขนาดไหน รวมถึงการใช้เทคนิคปรับแต่งตัวแสดงโฆษณาให้มีผิวขาวอมชมพู หน้าตึงเนียนราวกับผิวพลาสติคในชั่วพริบตาได้อย่างไร ? ส่วนรายการเกมโชว์ที่มีเสียงปรบมือเฮฮาราวกับเป็นรายการที่มีผู้ชมในห้องส่งล้นหลาม และเป็นรายการที่แสนสนุกนั้น แท้จริงคือเสียงจากเครื่องอัดเทปเท่านั้นเอง
สำหรับวิทยุ ซึ่งปัจจุบันมักเป็นธุรกิจแตกขยายขององค์กรสื่อใหญ่ๆ ที่พยายามสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันข้ามสื่อ ก็ไม่ต่างไปจากหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ เพียงแต่ข้อจำกัดตามธรรมชาติของสื่อประเภทนี้ ที่คนมักหมุนเปลี่ยนคลื่นกันบ่อยๆ ทำให้เนื้อหารายการหลักของสื่อวิทยุยังคงเน้นไปที่การเปิดเพลงและโฆษณาสินค้า
กล่าวได้ว่า ยิ่งเทคโนโลยีด้านการสื่อสารก้าวหน้าไปมากเท่าไหร่ สื่อยิ่งต้องแข่งขันกันมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งทำให้สื่อใช้เทคโนโลยีขั้นสูงไปในการสร้างเทคนิควิธี กลยุทธ์เอาชนะใจ"ลูกค้า" คือผู้รับสารมากขึ้นเท่านั้น และแน่นอนว่า เทคโนโลยีคือเครื่องมือของการผลิตความจริงเทียมที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ เป็นการทำความเข้าใจสื่อและสารที่สื่อผลิตขึ้น ในมุมของการเรียนรู้และการวิเคราะห์ผู้กระทำ ยังไม่ได้พูดถึงส่วนของ"ผู้รับสาร" คือเราทั้งหลายที่ถูกกระทำในกระบวนการสื่อสารทางเดียวจากสื่อทุกประเภท โดยแนวทางของการรู้เท่าทันสื่อ อันได้แก่
- การตั้งคำถาม
- การวิจารณ์ วิพากษ์ และการคิดเชิงวิเคราะห์
- การเป็นผู้บริโภคที่กระตือรือร้น แสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม ความเห็นเพิ่มเติม
- การตอบสนอง / ตอบโต้ / สร้างผลสะท้อน ( Feed back ) ไปสู่สื่อมวลชน
- การรวมตัวจัดตั้ง เป็นกลุ่มหรือองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ
- การผลักดันกติกา กฎระเบียบเพื่อการควบคุม / ตรวจสอบสื่อ
- การณรงค์ การใช้มาตรการทางสังคมและจริยธรรม เช่น การคว่ำบาตรสื่อ (boycott)
- การมีส่วนร่วมผลักดันกฎหมายปฏิรูปสื่อ มาตรา 40 เป็นต้น
ยังเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนและลงมือสร้างปฏิบัติการณ์ด้วยตัวของผู้บริโภคสื่อทุกคนซึ่งไม่สามารถคาดหวังให้ใครรับเหมาทำแทนให้ การรู้เท่าทันสื่อจากการลงมือทำจึงเป็นเรื่องยาก และจำเป็นต้องอาศัยพลังจากภาคสังคม เช่น การสร้างกิจกรรมรู้เท่าทันสื่อในเด็กเล็ก ค่ายเยาวชนรู้เท่าทันสื่อ หลักสูตรรู้เท่าทันสื่อในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เว็บไซต์รู้เท่าทันสื่อ งานเขียนเผยแพร่ให้รู้เท่าทันสื่อ การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการรู้เท่าทันสื่อ การคิดค้นรูปแบบและกลยุทธ์การกระตุกเตือนสังคมให้รู้เท่าทันสื่อ ฯลฯ อีกมากมาย
คาถาที่ต้องท่องให้ขึ้นใจก่อนก็คือ
การรู้เท่าทันสื่อคือการรู้เท่าทันบริโภคนิยม
การรู้เท่าทันสื่อคือการรู้เท่าทันการเมือง
การรู้เท่าทันสื่อคือการรู้เท่าทันสังคมและตนเอง
บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 670 เรื่อง หนากว่า 9000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ท่ามกลางครัวเรือนไทย 96% ที่มี โทรทัศน์ ร้อยละ 71 ของข่าวสารทางโทรทัศน์และวิทยุ
เป็นข่าวร้ายหรือเรื่องที่ชวนให้รู้สึกหมดหนทางต่อสู้ ในขณะที่ข่าวดีหรือเรื่องที่ชวนให้มีความหวัง
มีเพียงร้อยละ 12 เช่นกันกับที่ โครงการวิจัยระยะยาวในเด็กไทย โดย พญ. จันทร์เพ็ญ
ชูประภาวรรณ พบว่า