The Midnight University
สังคมไทย
สังคมโลก
สัญญาประชาคมและสี่ทันสมัยโลก
ชำนาญ จันทร์เรือง
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 659
บทความวิชาการลำดับที่ ๖๕๙ จากสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ประกอบด้วย ๒ บทความคือ
๑. สัญญาประชาคมที่นายกฯทักษิณไม่ได้พูดถึง ๒. สี่ทันสมัย
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7 หน้ากระดาษ A4)
"...ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าประเทศไทยเราอยู่ระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อ จะเป็นประเทศพัฒนาแล้วก็ไม่ใช่ เป๊นประเทศด้อยพัฒนาก็ไม่ใช่ เพราะว่าพัฒนามาถึงระดับหนึ่งแล้ว ระดับการพัฒนากับระดับสิทธิมนุษยชนจะต้องไปควบคู่กัน ไม่ใช่ว่าสิทธิมนุษยชนไปตามกระดาษไปเทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ว่าตามเศรษฐกิจและสังคมมันยังอยู่ในระดับประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ขณะเดียวกันผู้ปฏิบัติยังอยู่ในระดับประเทศด้อยพัฒนาอยู่อย่างนี้มันไม่ได้ ระดับมันจะต้องไปด้วยกันคือระดับการพัฒนา ระดับความรู้ การศึกษาของประชากร ระดับการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ และระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนจะต้องไปด้วยกันให้ได้นะครับ
ทั้งนี้ทั้งนั้นมันต้องย้อนกลับไปที่สัญญาประชาคมซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีไว้นานมากแล้ว หลักมันคือว่ารัฐจะต้องเป็นผู้ที่ดูแลให้การอยู่ร่วมกันของประชาชนเกิดความสันติ ไม่เกิดการเบียดเบียนข่มเหงรังแกซึ่งกันและกัน เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน ด้วยการนี้รัฐจึงต้องออกกฎหมายเพื่อที่จะให้มีกติกาของการอยู่ร่วมกันให้ได้ แต่กติกาการอยู่ร่วมกันที่ออกมานี้มันจะไปริดรอนสิทธิบางส่วนของประชาชนนะครับ เช่น เมาเหล้าขับรถไม่ได้ อันนี้ริดรอนสิทธิแต่การริดรอนสิทธิเหล่านี้เพื่ออะไร เพื่อให้การอยู่ร่วมกันมีสันติสุข ไม่ให้มีการเบียดเบียนข่มเหงรังแกทำร้ายซึ่งกันและกัน แต่กติกาการอยู่ร่วมกันที่จะเอาสิทธิมาออกกฎหมายนึ้จะต้องเอามาเท่าที่จำเป็นนะครับ
ไม่ใช่บอกว่าเอาละดื่มเหล้าขับรถไม่ได้
เรากลับไปบอกว่ากินกาแฟมากขับรถไม่ได้ ยังงี้มันผิดล่ะ มันไปเอาสิทธิเขามามากเกินไป
อะไรทำนองนี้ เพราะมันไม่เสียหายอะไร เพราะฉะนั้นก็ละเมิดสิทธิบางส่วนเพื่อมาออกกติกา
แต่เอามาเท่าที่จำเป็น ถ้าเมื่อไหร่ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป สิ่งที่เอามามันมากไป
ก็ต้องเอาคืนกลับไปนะครับ อันนี้ก็คือเราจะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายตลอดเวลา..............."
จากที่คัดมาข้างต้นพอที่จะแยกออกได้เป็นสองประเด็นคือเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนกับเรื่องสัญญาประชาคมที่นายกฯทักษิณพยายามยกมาอธิบายการออก
พรก.ฉุกเฉินแบบอ้อมๆโดยไม่ระบุชื่อ พรก.โดยตรง
เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนที่นายกฯทักษิณบอกว่าระดับการพัฒนาประเทศกับระดับสิทธิมนุษยชนจะต้องไปควบคู่กันนั้น นับได้ว่าเป็นความรู้ใหม่ที่เพิ่งได้ยินเป็นครั้งแรก และเป็นความรู้ที่น่ากลัวมาก เพราะโดยนัยนี้เราสามารถแปลความกลับได้ว่าในเมื่อเรายังไม่ใช่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเต็มที่ ฉะนั้น เรื่องสิทธิมนุษยชนเราก็ต้องยังไม่เต็มที่ไปด้วยกระนั้นหรือ การอุ้มการฆ่าตัดตอนแค่พันสองพันคนเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยเพราะเรายังไม่ใช่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ทนๆเอาหน่อยก็แล้วกัน รอให้ประเทศเราพัฒนาเต็มที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวเท่าคนอเมริกันหรือญี่ปุ่น เราค่อยมีสิทธิมนุษยชนกันอย่างเต็มที่ก็แล้วกัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องสิทธิมนุษยชนกับการพัฒนามันเป็นคนละเรื่องกัน
ประเทศเล็กๆที่อยู่แถบภูเขาหิมาลัยอย่างภูฏานหรือประเทศแถบหมู่เกาะทะเลใต้ที่ผู้คนอยู่กันอย่างญาติมิตรก็ไม่เห็นจะต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วแต่อย่างใด ที่สำคัญคือสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิพื้นฐานขั้นต่ำที่ทุกคนมี ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศด้อยพัฒนาก็ตาม การที่ผู้นำประเทศมองว่าสิทธิมนุษยชนต้องควบคู่ไปกับการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงเป็นสิ่งที่อันตรายมาก
วกกลับมาเรื่องที่สองที่ต่อเนื่องมาจากเรื่องสิทธิมนุษยชนก็คือเรื่องของสัญญาประชาคมที่นายกฯทักษิณยกเอามาอ้าง เพื่อเป็นเหตุในการออก พรก.ฉุกเฉินซึ่งในความเป็นจริงแล้วทฤษฎีสัญญาประชาคม(Social Contract Theory) นั้นเป็นทฤษฎีที่ใช้อธิบายการก่อกำเนิดของรัฐทฤษฎีหนึ่งในหลายๆทฤษฎี อาทิ ทฤษฎีเทวสิทธิ์(Divine Theory) ทฤษฎีแสนยานุภาพหรือทฤษฎีพลกำลัง(Force Theory) ทฤษฎีธรรมชาติ(Nature Theory) ทฤษฎีวิวัฒนาการ(Evolution Theory) ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่อธิบายการก่อกำเนิดของรัฐแตกต่างกันออกไป โดยแต่ละทฤษฎีมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่ไม่เหมือนกันแต่ที่นิยมกันเป็นพิเศษก็คือทฤษฎีสัญญาประชาคมซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพื้นฐานของการปกครองในระบอบบประชาธิปไตย
ทฤษฎีสัญญาประชาคมมีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อว่ารัฐมีต้นกำเนิดมาจากมนุษย์โดยวิธีการที่เรียกว่าสัญญาประชาคมที่บุคคลแต่ละคนได้ลงความเห็นไว้ด้วยกัน ทฤษฎีนี้มีสาระสำคัญพอที่จะสรุปได้ ๓ ประการ คือ
ประการแรก รัฐเกิดมาจากมนุษย์หรือมนุษย์เป็นผูสร้างรัฐไม่ใช่พระเจ้าดังที่เคยเชื่อกันมาอีกต่อไป ซึ่งสาเหตุที่มนุษย์ต้องมาสร้างรัฐนั้น โทมัส ฮอบบ์ บอกว่าสภาพตามธรรมชาติของมนุษย์นั้น เป็นสภาพที่ชั่วร้าย ดังนั้นจึงต้องมีการรวมตัวเพื่อเป็นรัฐ. แต่ จอหน์ ล็อก บอกว่าสภาพเดิมของมนุษย์นั้นมีความสุข แต่สาเหตุที่จะต้องมีการรวมกันเพื่อที่จะประกันว่าหากมีปัญญหาจะได้มีการแก้ไขข้อขัดแย้งกันได้
ประการที่สอง มนุษย์มีเจตนาที่แน่นอนในการสร้างรัฐ โดยรุสโซบอกว่ามนุษย์ร่วมตกลงกันอย่างเอกฉันท์ที่จะสร้างชุมชนขึ้นมาให้เป็นชุมชนทางสังคม โดยยึดหลักเจตนารมณ์ร่วม(general will)เพื่อประโยชน์สุขร่วมกัน
ประการที่สาม วัตถุประสงค์ของรัฐต้องเป็นไปเพื่อประชาชน ได้แก่ การที่จะรักษาและส่งเสริมสิทธิตามธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับชีวิต เสรีภาพและทรัพย์สิน มนุษย์ทุกคนไม่ได้มอบสิทธิธรรมชาติให้แก่ผู้ใด สิทธินั้นยังคงอยู่กับมนุษย์ มนุษย์จึงยังมีสิทธิทุกประการในสังคมหรือรัฐที่ตนได้ก่อตั้งขึ้นมา รูปแบบของรัฐบาลจะเป็นเช่นใด ก็ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากที่ทุกคนที่เข้าร่วมสัญญาประชาคมยอมรับที่จะปฏิบัติตามเสียงข้างมากทุกประการ
และล็อกมีความเห็นว่า ในเมื่อรัฐบาลเป็นผลจากสัญญาประชาคม รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อประชาชนผู้เข้าทำสัญญา โดยประชาชนสามารถใช้สิทธิลบล้างรัฐบาลที่ใช้อำนาจไม่ชอบธรรม ล็อกเสนอว่า ประชาชนสามารถใช้สิทธินี้ได้อย่างรุนแรงเพื่อพิทักษ์เสรีภาพไม่ให้ถูกล่วงละเมิดโดยรัฐบาล
นอกจากนั้นรุสโซ ยังได้เขียนไว้ใน สัญญาประชาคม ว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับเสรีภาพแต่เขาได้ถูกพันธนาการไว้(Man is born free and everywhere he is in chains) ประโยคนี้เป็นประโยคขึ้นต้นของหนังสือสัญญาประชาคม เขามีความคิดว่ามนุษย์ถูกพันธนาการเพราะถูกผู้มีอำนาจบังคับ มนุษย์นั้นแท้จริงแล้วรักเสรีภาพเหนืออื่นใด มนุษย์อาจจะยอมทิ้งสิ่งใดๆทั้งปวงได้ หากยังเหลือไว้ซึ่งเสรีภาพ เขาจึงเรียกร้องให้มนุษย์กลับไปสู่ธรรมชาติ เพราะสภาพชีวิตในสังคมเต็มไปด้วยการลิดรอนเสรีภาพ การถูกกดขี่ข่มเหง และความไม่ยุติธรรมต่างๆ
ในเรื่องของการออกกฎหมายนี้รุสโซมีความเห็นว่า รัฐกับรัฐบาลมีความแตกต่างกัน เพราะรัฐบาลคือตัวกลางที่มนุษย์ตั้งขึ้นมาระหว่างรัฐกับประชาชน ส่วนรัฐมีอำนาจสูงสุดคืออำนาจอธิปไตย ดังนั้นอำนาจการออกกฎหมายจึงไม่ใช่อำนาจของรัฐบาล แต่เป็นหน้าที่ของประชาชน สิ่งที่ รุสโซเห็นด้วยที่สุดคือ การที่พลเมืองทุกคนมีโอกาสร่วมกันพิจารณาหรืออกกฎหมายพร้อมๆกันเหมือนนครรัฐกรีกในอดีตนั่นเอง
ถึงแม้ว่าทฤษฎีสัญญาประชาคมนี้จะเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตยโดยการให้ความสำคัญต่อเสียงข้างมาก แต่ก็มีจุดอ่อนหลายประการนอกเหนือจากการมองข้ามเสียงข้างน้อย ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุเคยยกตัวอย่างว่าประชาธิปไตยชนิดที่มีพระ ๑ รูป ไปกับโจร ๙ คน ยกมือเมื่อใด พระก็แพ้ทุกที แล้วทฤษฎีนี้ยังมีความสับสนและไม่น่าเชื่อถือหลายประการ เพราะทฤษฎีนี้เน้นเรื่อง "สภาพธรรมชาติ"และ "สัญญา" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสภาพธรรมชาตินั้นยากที่จะพิสูจน์ว่ามนุษย์ในสมัยโบราณ จะเข้ามาอยู่รวมกันเป็นชุมชนกันอย่างไร และธรรมชาติของมนุษย์นั้นจริงๆแล้วชั่วร้ายหรือดีงามก็ยากแก่การพิสูจน์แม้จนถึงปัจจุบัน
ที่สำคัญคือในเรื่องของสัญญา
ซึ่งตามสายตาของนักกฎหมายหมายความว่า เป็นความสัมพันธ์ที่บุคคลกระทำขึ้นด้วยความสมัครใจ
แต่ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์พอลืมตามาดูโลก ไม่สามารถเลือกเกิดหรือเลือกสังกัดว่าจะอยู่ในรัฐใดด้วยตนเองได้
นอกจากนั้นตามหลักทั่วไปของสัญญานั้น จะผูกพันเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น มิใช่ผูกพันยืนยาวไปจนตราบชั่วกัลปวสานเช่นนี้
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ไม่มีเจตนาที่จะไปหักล้างหรือเอาชนะนายกฯทักษิณเพื่อความโก้เก๋หรืออยากดังหรอกครับ
แต่เกรงว่านิสิตนักศึกษาวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ทั้งหลายจะสับสนเหมือนกับนิสิตนักศึกษาแพทย์ที่มึนตึ้บกับทฤษฎีเบาหวานของนายกฯทักษิณมาแล้วนั่นเองครับ
2. สี่ทันสมัย
ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว แนวความคิดของแต่ละบุคคล
ก็ย่อมถูกกระแสของโลกฉุดดึงให้เข้าสู่กระแสของความเปลี่ยนแปลงหลักๆของโลก ซึ่งก็รวมถึงคนไทยทุกคนด้วย
หากใครตามไม่ทันหรือพยายามจะฝืน ย่อมจะกลายเป็นคนที่ล้าสมัย หรือเป็นคนขวางโลกไปเสีย
ซึ่งกระแสหลักๆที่ว่านี้ ก็คือ
1. กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization)
หรือแต่เดิมเรียกว่าโลกานุวัตร ซึ่งโดยนัยหรือความหมายที่แท้จริงตามศัพท์แล้วน่าจะเรียกโลกสันนิวาสจะถูกกว่า
แต่อย่างไรก็ตามก็เป็นที่ยอมรับว่า เป็นศัพท์สากลไปแล้วซึ่งก็หมายถึง ความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ของประเทศต่างๆในโลกนี้
ความไร้พรมแดนเนื่องจากความก้าวหน้าของวิทยาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็ว
ฉับไว ภายในเวลาไม่กี่วินาที ก็สามารถติดต่อสื่อสารกระจายข่าวได้ทั่วโลก ไม่ว่าจะเกิดขึ้น
ณ มุมไหนของโลกก็ตาม
โลกาภิวัตน์ เป็นปรากฎการณ์ที่มีความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกนี้ได้ถูกเปลี่ยนรูป
หรือปรับตัวเข้าหากันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ทั้งในด้านของการรับรู้ และการกระทำในเรื่องราวต่างๆอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
เรื่องหรือประเด็นที่เกิดขึ้นในที่ซึ่งห่างไกลมากและข้ามพรมแดนของรัฐชาติสามารถรับรู้และมีผลต่อตัวเราอย่างรวดเร็ว
โดยมีเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นตัวช่วยโดยข้ามพรมแดนของรัฐชาติ
โลกาภิวัตน์ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบและแนวคิดของคำว่าอำนาจอธิปไตยของรัฐ
กล่าวได้ว่า โลกาภิวัตน์ได้จัดรูปแบบใหม่ให้แก่สถาบันทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและรวมถึงชีวิตมนุษย์ขึ้นมาใหม่นั่นเอง
2. กระแสประชาธิปไตย(Democracy) ประเทศใดที่ยังไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จะถูกตราหน้าว่าล้าหลัง เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยถึงแม้จะไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่ก็ถือว่าได้ว่าเป็นระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด เพราะการตัดสินใจในการบริหารประเทศจะดำเนินไปตามความต้องการของประชาชน ส่วนใหญ่ โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยที่ประกอบไปด้วย
1) การเลือกตั้ง
2) การตรวจสอบ โดยประชาชนมีสิทธิ์ตรวจสอบผู้บริหารโดยผ่านตัวแทนหรือสื่อมวลชน
3) การถอดถอน ในกรณีที่ประชาชนไม่พอใจก็สามารถถอดถอนได้
4) การเรียกร้องให้ผู้บริหารปฏิบัติตามความต้องการของกลุ่มชนส่วนใหญ่ โดยไม่ละเมิดสิทธิของคนส่วนน้อย แต่ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า เมื่อมีการเลือกตั้งก็เป็นประชาธิปไตยแล้ว โดยเข้าใจว่าการเลือกตั้งเป็นยาวิเศษที่จะรักษาโรคหรือปัญหาบ้านเมืองได้ทุกปัญหา
จริงอยู่ประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเลือกตั้งไปเสียทุกอย่าง เพราะการบริหารกับการเมืองนั้น เป็นคนละเรื่องเดียวกัน เหมือนกับเหรียญกษาปณ์มีสองหน้า แต่ก็ต้องไปด้วยกัน เพราะไม่เช่นนั้นมีโจรอยู่ 9 คน มีพระอยู่ 1 รูป ยกมือเมื่อไหร่โจรก็ชนะตลอด ต้องแยกให้ได้ว่าอันไหนการเมือง อันไหนการบริหาร
3. กระแสสิทธิมนุษยชน
(Human Rights)
อาจนับได้ว่าเป็นกระแสฝาแฝดกับกระแสประชาธิปไตยก็ว่าได้ ที่ไหนมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
จะมีการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนควบคู่ไปด้วย ซึ่งแนวคิดเรื่องสิทิมนุษยชนในโลกสมัยใหม่
ปรากฎในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights)
ซึ่งสหประชาชาติลงมติยอมรับและประกาศใช้เมื่อ 10 ธันวาคม 2491
สิทธิมนุษยชนแบ่งประเภทได้เป็น สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางสังคม
สิทธิทางเศรษฐกิจ และสิทธิทางวัฒนธรรม สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองนั้น มีตัวอย่างเช่น
สิทธิที่จะมีชีวิต เสรีภาพจากการถูกทรมาน เสรีภาพจากการถูกบังคับใช้แรงงาน เสรีภาพจากการถูกจับกุมตามอำเภอใจ
สิทธิที่จะได้รับการพิพากษาอย่างเป็นธรรม เสรีภาพทางความคิด มโนธรรม ศาสนาและความเชื่อ
สิทธิในอันที่จะดำเนินชีวิตส่วนตัว เสรีภาพในการออกความเห็นและในการที่จะร่วมกันเป็นสมาคม
อีกทั้งสิทธิในอันที่จะมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐกิจ
สิทธิเหล่านี้มักเป็นสิทธิชนิดกำหนดให้ละเว้นจากการละเมิดสิทธิของปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มเป็นส่วนใหญ่
แต่ก็อาจกำหนดให้รัฐมีพันธะอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยก็ได้ เช่น พันธะในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ยากไร้
ในการปกป้องสิทธิของเขาในศาล
สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ก็เช่น สิทธิที่จะมีอาหารกิน มีบริการสาธารณสุข
มีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่พอเพียง ได้รับค่าจ้างเท่ากันสำหรับงานที่เท่ากัน ได้รับการประกันสังคมว่าจะมีงานทำ
สามารถนัดหยุดงานได้ มีที่อยู่อาศัย ได้รับการศึกษาและมีโอกาสมีส่วนร่วมในชีวิตทางวัฒนธรรม
สิทธิเหล่านี้มักเป็นสิทธิชนิดที่กำหนดให้รัฐกระทำการเมื่อปัจเจกบุคคลไม่สามารถหามาได้เอง
เช่น เมื่อเขาทุพพลภาพหรือตกงาน ฯลฯ
อนึ่ง หลักสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งใช้กับสิทธิทุกสิทธิก็คือ ในการอ้างสิทธิที่ว่าบุคคลไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเพศ
เผ่าพันธุ์ ศาสนา หรือความเชื่อ
4. กระแสอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Environmental
Conservation) หมายความรวมไปถึงไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ของเก่าของโบราณ อนุรักษ์ศิลปวิทยาการ อนุรักษ์ทุกอย่างที่อยู่ตรงข้ามกับความเจริญทางวัตถุซึ่งต้องพยายามเข้าใจกระแสอนุรักษ์ว่ามีทั้งของจริงของปลอม
ถ้าที่ไหนมีของปลอมมากก็ปวดหัวมากที่ไหนมีน้อยก็ปวดหัวน้อย
กระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น
มีผลทำให้ในการจัดทำโครงการต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งทางชีวภูมิกายภาพและทางสุขภาพ(กาย-จิต) และสวัสดิภาพของมนุษย์ ที่อาจเกิดจากการดำเนินกิจกรรมประเภทต่างๆ
ข้อมูลผลกระทบที่ว่านี้ หมายความรวมถึงข้อมูลของผลทั้งในทางบวกและลบที่จะใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจและที่จะใช้พิจารณาประกอบการเตรียมการควบคุม
ป้องกันและแก้ไข
แตกต่างจากในอดีตที่ใครอยากจะทำโครงการอะไรเพียงแต่ได้รับอนุญาจากรัฐเท่านั้นก็ดำเนินการได้แล้ว
แต่สมัยนี้แม้แต่โครงการของรัฐเองก็ตาม หากจะมีผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว
จะต้องมีการศึกษาเสียก่อน ที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมหรือการยินยอมพร้อมใจของคนในพื้นที่
ที่จะได้รับผลกระทบด้วย เพราะหมดยุคที่จะทำตามอำเภอใจแล้ว
กล่าวโดยสรุปแล้ว ใครตามสี่กระแสที่ว่านี้ไม่ทันก็ย่อมถูกคลื่นลูกใหม่กวาดตกขอบเวทีไปเป็นของธรรมดา
บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 650 เรื่อง หนากว่า 8500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน
กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
นอกจากนั้นรุสโซ ยังได้เขียนไว้ใน สัญญาประชาคม ว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับเสรีภาพแต่เขาได้ถูกพันธนาการไว้(Man is born free and everywhere he is in chains) ประโยคนี้เป็นประโยคขึ้นต้นของหนังสือสัญญาประชาคม เขามีความคิดว่ามนุษย์ถูกพันธนาการเพราะถูกผู้มีอำนาจบังคับ มนุษย์นั้นแท้จริงแล้วรักเสรีภาพเหนืออื่นใด มนุษย์อาจจะยอมทิ้งสิ่งใดๆทั้งปวงได้ หากยังเหลือไว้ซึ่งเสรีภาพ เขาจึงเรียกร้องให้มนุษย์กลับไปสู่ธรรมชาติ เพราะสภาพชีวิตในสังคมเต็มไปด้วยการลิดรอนเสรีภาพ การถูกกดขี่ข่มเหง และความไม่ยุติธรรมต่างๆ