The Midnight University
คำถาม
คำตอบใหม่ เกี่ยวกับเหตุการณ์ภาคใต้
หรือเราควรจะตั้งคำถามเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้กันใหม่?
ศิริจินดา
ทองจินดา
มหาวิทยาลัยพายัพ
- เชียงใหม่
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 651
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 4 หน้ากระดาษ A4)
หมายเหตุ
บทความเรื่องนี้บางส่วนได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ section คอลัมน์นิสต์
ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2548 ภายใต้ชื่อเดียวกัน แต่เนื้อหาในหนังสือพิมพ์ถูกตัดทอนลงเพื่อให้เข้ากับพื้นที่ของหน้ากระดาษ สำหรับการนำเสนอบนหน้าเว็ปเพจของ ม.เที่ยงคืนนี้ ได้คงรักษาข้อความทุกส่วนเอาไว้อย่างสมบูรณ์
หรือเราควรจะตั้งคำถามเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้กันใหม่?
จากการที่รัฐพยายามหาทางออกหรือหาคำตอบเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ในทุกๆ วิถีทาง ทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ
การออก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาดังกล่าว
(ที่มองซ้ายมองขวาก็เห็นแต่นายทหารเต็มไปหมด)
ความพยายามที่จะยุติปัญหาภาคใต้ ไม่ใช่ความพยายามที่เพิ่งเกิดขึ้น หากแต่เป็นความพยายามที่ยาวนานมาพอๆ กับการอยู่ในอำนาจของรัฐบาลนายกทักษิณ (ถ้านับจากจุดของการ "ปะทุขึ้นใหม่" ในรอบหลายสิบปีแห่งความสงบ) การมุ่งหน้าที่จะยุติปัญหาภาคใต้ เพื่อพบกับคำตอบว่า ยังไม่สำเร็จ ได้นำไปสู่การระดมทุกยุทธวิธีในการแก้ปัญหาใส่เข้าไปในพื้นที่
ล่าสุดกับปัญหาการข่มขู่หยุดงานในวันศุกร์ กับข้อเสนอของนายกที่ว่าด้วยการส่งกำลังทหารเข้าไปคุ้มกันในบริเวณที่เป็นปัญหามากขึ้น หรือถ้าความหวาดกลัวยังดำรงอยู่ ก็อาจมีการชดเชยแรงงานไทยด้วยแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้ภาคธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ คำถามคือ การใส่แรงงานต่างด้าวลงไปเกี่ยวข้องอย่างไรกับปัญหาด้านความรู้สึกของผู้คนในพื้นที่ภาคใต้ ต่อความหวาดกลัวคำข่มขู่ในการห้ามทำงานวันศุกร์! หรือวิธีการแก้ปัญหาด้วยการส่งกำลังทหารเข้าไปคุ้มกันเพิ่มมากขึ้นนั้น เอื้อหรือจำกัดศักยภาพในการแก้ปัญหาภาคใต้กันแน่
ตัวอย่างที่ยกมาก็เพื่อจะนำไปสู่คำถามหลักที่ต้องการถามว่า เราตั้งคำถามเกี่ยวกับภาคใต้ไว้อย่างไร ภายใต้การระดมคำตอบ (วิธีแก้ปัญหา) สารพัดอย่างเข้าไปในพื้นที่ "ในรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน" จริงอยู่ที่ท่านนายกก็พูดเองว่า จำเป็นต้องดำเนินการทั้งสองด้านควบคู่กันไป คือ ทั้งสมานฉันท์และรักษาความสงบเรียบร้อย เพราะยุทธวิธีแรกเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ยุทธวิธีหลังเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งจำเป็นต้องทำควบคู่กันไป
แต่คำถามอีกคำถามหนึ่งก็คือ วิธีแก้ปัญหาทั้งสองแบบเป็นไปโดยเอื้อประโยชน์ต่อกันหรือขัดขวางกันเอง เพราะถ้ารูปแบบการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่มีอยู่ เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการแก้ปัญหาระยะยาว มันก็ไม่ต่างอะไรกับการไม่ได้แก้ปัญหา
การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยยุทธวิธีทางการทหาร ไม่ได้แปลว่าจะเป็นการขัดขวางการแก้ปัญหาระยะยาวที่ว่าด้วยการสมานฉันท์เสมอไป ถ้าหากว่าทั้งสองยุทธวิธีนั้นเป็นไปบนเงื่อนไขของการตั้งคำถามเดียวกันต่อปัญหาภาคใต้ ซึ่งจะนำไปสู่การมุ่งหน้าหาคำตอบเดียวกัน แม้จะด้วยยุทธวิธีที่ต่างกันก็ตาม
แต่ดูเหมือนกับว่าสถานการณ์ปัจจุบัน จะเป็นไปในทำนองของยุทธวิธีที่ต่างกัน เพราะมาจากการตั้งคำถามต่างกัน การมุ่งหน้าหาคำตอบจึงต่างกัน ภายใต้การคิดไป (เอง) ว่าทั้งสองยุทธวิธีนั้นมาจากการให้คุณค่าอันเนื่องมาจากการมีโลกทัศน์ชุดเดียวกัน หากแต่ในความเป็นจริงนั้น ไม่ใช่เลย
การแก้ปัญหาที่ได้รับจากการลงพื้นที่แต่ละครั้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นไปในลักษณะของการส่งทหารเข้าไปดูแลเพิ่มมากขึ้น ในบริเวณที่ชาวบ้านร้องเรียนเรื่องความปลอดภัย เช่น กรณีปัญหาสะพานปลา การแก้ปัญหาในทำนองนี้หนึ่งครั้งก็ไม่ต่างอะไรกับการ "ฉีก" ความสมานฉันท์ที่อีกกลุ่มกำลังพยายาม "เชื่อม" ให้ห่างออกไปอีก
และแม้ว่าจะมีโครงการมวลชนสัมพันธ์จากกลุ่มผู้ดูแลความสงบในพื้นที่ ก็ไม่ได้แปลว่าจะนำไปสู่ความสมานฉันท์ได้เสมอไป เพราะคงต้องถามต่อไปว่า มวลชนสัมพันธ์ชุดนี้คลอดมาจากโลกทัศน์แบบไหน เป็นโลกทัศน์ชุดเดียวกับที่ใช้ในการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือไม่ การย้อนกลับไปสำรวจโลกทัศน์ที่เรามีอยู่เพื่อตรวจสอบดูว่า มันเป็นส่วนหนึ่งที่มาซ้ำเติมปัญหาที่เรากำลังต้องการแก้ไขอยู่หรือไม่ อย่างไร จึงเป็นสิ่งจำเป็น
ไม่อย่างนั้น หน้าตาของคำตอบในการสมานฉันท์จากกลุ่มผู้ดูแลรักษาความสงบในพื้นที่ ก็จะออกมาในหน้าตาของการ "แจกของ" เช่น โทรทัศน์ หรือดาราพาเหรด ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้ว ความสัมพันธ์ในระดับนี้เพียงพอต่อการสมานฉันท์ในกรณีปัญหาภาคใต้หรือไม่ และจริงๆ แล้วรูปร่างหน้าตาของความสัมพันธ์ที่ยึดโยงคนในพื้นที่ให้เกิดความสมานฉันท์กันนั้น เป็นอย่างไร แน่ใจได้อย่างไรว่าเขาสานสัมพันธ์กันด้วยโลกทัศน์แบบเดียวกันกับเหล่ากองทัพและนายพล ที่กระจายกำลังกันไปอยู่ในทุกจุดที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาภาคใต้ ตั้งแต่มหาดไทยยันกลาโหม
หรือว่าปัญหาที่แท้จริงอาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาไม่ได้เสียที หรือหาคำตอบต่อปัญหาไม่ได้เสียที บางทีเราอาจจะต้องย้อนคิดกลับไปถึงคำถามที่เราตั้งไว้ตั้งแต่ต้นว่า เราตั้งคำถามถูกแล้วหรือยัง เพราะในปัจจุบันดูเหมือนรัฐมุ่งที่จะแก้ปัญหาและมีทิศทางการแก้ปัญหาเฉพาะทางบางอย่าง จนทำให้ละเลยที่จะตรวจสอบคำถามที่ตนเองตั้งขึ้นมา ผ่านหน้าตาของคำตอบในทำนองเหล่านี้ เช่น กลุ่มผู้ไม่หวังดี กลุ่มแบ่งแยกดินแดน กลุ่มคลั่งศาสนา กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ฯลฯ รวมไปถึงการแก้ปัญหาด้วยการมุ่งส่งกำลังเข้าไป "ดูแลความสงบ" และเสริมสร้างมวลชนสัมพันธ์บนฐานของการแบ่งข้างอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งก็คงไม่แปลกหากรัฐไทยจะเผชิญหน้ากับสภาวะที่เรียกว่า "ตอบไม่ตรงคำถาม" เพราะติดปัญหาที่ว่าด้วย "ถามไม่ตรงคำตอบ" เช่นเดียวกัน นั่นคือ ทั้งคำถามและคำตอบอาจจะไม่ถูกต้องด้วยกันทั้งคู่ อาจจะต้องมีการตั้งคำถามใหม่ เพื่อนำไปสู่แนวทางของคำตอบอื่นๆ ที่มากกว่าแนวทางสายสันติภาพด้วยน้ำมือของทหารหาญ ที่อย่างไรก็คงปฏิเสธวัฒนธรรมทางความคิดในแบบทหารไม่ได้ (ซึ่งไม่ผิด แต่ไม่แน่ใจว่าจะถูกกับสถานการณ์นี้หรือไม่และมากน้อยเพียงไร)
ย้อนกลับไปดูรอบโลกของเรา วิกฤตการณ์ความไม่เข้าใจรูปแบบความสัมพันธ์อื่นๆ นอกเหนือไปจากแบบที่กลุ่มตนเองมี ได้นำไปสู่ความ การสู้รบระหว่างจักวรรดินิยมอย่างอเมริกากับ "กลุ่มผู้ก่อการร้าย" ก็เป็นไปในตรรกะเดียวกันกับรัฐไทยกับปัญหาภาคใต้ คือ แต่งตั้งตัวเองเป็นพระเอกแล้วอุปโลกภ์ผู้ร้ายขึ้นมา พร้อมกับสถาปนาความชอบธรรมของฝั่งตน ในการที่จะผดุงความยุติธรรมให้กับพลเมือง ด้วยวิธีการต่างๆ
ต่อเมื่อโดนตอบโต้หนักเข้าจากรอบทิศทาง ผ่านมือระเบิดพลีชีพสัญชาติต่าง ๆ เช่นที่เกิดขึ้นที่อังกฤษ (มือระเบิดสัญชาติอังกฤษเชื้อสายปากีสถาน) ก็อธิบายมันด้วยการครอบงำ มอมเมาเยาวชนให้หลงผิดจนเข้าร่วมกระบวนการก่อการร้ายดังกล่าว
ไม่ใช่เพียงแค่ "ง่ายดาย" หากแต่เป็นคำอธิบายหรือคำตอบที่มักง่ายเกินไป กับการละเลยชุดความสัมพันธ์ของคนกลุ่มต่างๆ บนโลกใบนี้ที่เดินทางข้ามผ่านประวัติศาสตร์มา ให้พอย้อนไปศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกันได้ แต่ก็ไม่ค่อยจะมีใครย้อนไป หรือถ้าย้อนไปก็มักนำอคติที่แฝงนัยยะทางการเมืองบางอย่างไปด้วยเสมอๆ มันจึงเป็นการดำรงคงอยู่ของ "คำตอบที่ไม่ใช่" สำหรับ "คำถามที่ไม่เคยเข้าใจ" เสมอมา
จักรวรรตินิยมในแบบอเมริกา เกิดขึ้นภายใต้การเข้าไปจัดการความสัมพันธ์กับผู้คนในรัฐชาติต่างๆ ผ่านอำนาจอย่างเป็นทางการภายในรัฐนั้นๆ คือ ระหว่างผู้นำกับผู้นำ กองทัพกับกองทัพ ฯลฯ
ในขณะที่จักรวรรดิแบบโลกมุสลิม เริ่มต้นดำเนินความสัมพันธ์ต่างจากอเมริกา การเดินทางเพื่อเผยแพร่ศาสนา ได้นำไปสู่เครือข่ายทางสังคมผ่านการแต่งงาน การสร้างศาสนสถาน โรงเรียน การก่อรูปของระบบเครือญาติ การเข้าไปสัมพันธ์กับกลุ่มการเมือง ผ่านระบบเครือญาติ การเข้าไปมีส่วนร่วมกับอุดมการณ์ด้านอื่นๆ ผ่านการบริจาคเงินเพื่อการศึกษา ศาสนาและการพัฒนา เหล่านี้นำไปสู่รูปแบบความสัมพันธ์ที่แตกต่างจากจักรวรรดินิยมของอเมริกา
และนี่จึงไม่น่าแปลกใจ ถ้าจะพบว่าคนอังกฤษเชื้อสายปากีสถานจะเป็นมือวางระเบิดพลีชีพในประเทศที่ตนเองเกิดและเติบโต เพราะรัฐชาติและความสัมพันธ์กับรัฐชาติไม่ได้ถูกขีดอย่างเรียบง่ายในแบบที่แผนที่โลกกำหนดไว้ หากแต่ในความเป็นจริง รัฐชาติและผู้คนในรัฐชาติถูกยึดโยงเข้าไว้ด้วยความสัมพันธ์ชุดหนึ่งที่แนบแน่น เนิ่นนาน ใกล้ชิดที่มากไปกว่าแค่ความสัมพันธ์แบบเป็นทางการระหว่างรัฐกับรัฐ หรือรัฐกับประชาชน ที่อเมริกาและรัฐชาติในปัจจุบันจะเข้าใจได้
รัฐชาติอีกรูปแบบหนึ่งจึงมีหน้าตาที่ข้ามผ่านพรมแดนที่ขีดไว้ในแผนที่โลก โดยมีเส้นพรมแดนอยู่ที่เส้นของความสัมพันธ์ทางสังคมในระดับต่างๆ ซึ่งไม่ได้นิ่งและแช่แข็งอย่างที่เคยเข้าใจกันมาแต่เพียงอย่างเดียว และระเบิดพลีชีพที่เกิดขึ้นที่ลอนดอนก็ไม่ได้เป็นปฏิบัติการข้ามชาติแต่ประการใด หากแต่เป็นการบัญชาการภายใต้อาณาบริเวณรัฐชาติอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ซ้อนทับอยู่กับรัฐชาติในรูปแบบเดิม การงัดคำตอบมาว่าเป็นการครอบงำเยาวชนและพลเมืองของกลุ่มก่อการร้าย จึงเท่ากับเป็นการหลงทางผ่านการตั้งคำถามไม่ถูก เพราะละเลยความสัมพันธ์รูปแบบอื่นๆ ภายใต้กระบวนการก่อเกิดและดำรงคงอยู่ของรัฐชาติในรูปแบบอื่นๆ ไปอย่างน่าเสียดาย
การมุ่งคิดถึงความสัมพันธ์ของผู้คนกับรัฐชาติในลักษณะของการรวมศูนย์ และการทำให้เป็นหนึ่งเดียว (monopolize) จนเมื่อมีใครนอกกรอบนี้จึงมุ่งปราบปราม หรือมุ่งที่จะสานสัมพันธ์และยอมรับความหลากหลาย ภายใต้กรอบคิดของรัฐชาติในรูปแบบเดียวกับที่เป็นต้นตอของปัญหาความขัดแย้ง ผ่านตัวเชื่อมความสัมพันธ์ซึ่งเป็นเสมือนภาพตัวแทนของความคิดของรัฐชาติกระแสหลัก เช่น ทหาร จึงไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาหรือการเป็นคำตอบสำหรับสถานการณ์ในภาคใต้
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างจักรวรรดิอเมริกากับจักรวรรดิของโลกมุสลิม กำลังฟ้องเราว่า รัฐชาติไม่ได้มีรูปแบบเดียว และไม่ได้ก่อเกิดและดำรงคงอยู่ด้วยโยงใยความสัมพันธ์รูปแบบเดียวในฐานะรัฐกับพลเมือง หรือรัฐกับรัฐ ด้วยมาตรฐานจากรัฐชาติกระแสหลักแต่เพียงอย่างเดียว ผู้คนบนโลกใบนี้สัมพันธ์กันด้วยหลากเหตุผล หลากรูปแบบมากเกินกว่าเพียงแค่รูปแบบที่ถูกกำหนด ตามมาตรฐานรัฐชาติกระแสหลัก
และด้วยเหตุนี้เองเราจึงไม่สามารถอ้างได้ว่า การทำมวลชนสัมพันธ์กับพื้นที่ภาคใต้จะนำไปสู่ความสัมพันธ์กับมวลชนในพื้นที่นั้นๆ ได้จริง เพราะคำถามที่เราละเลยมาตลอดคือ ผู้คนในพื้นที่นั้นๆ สัมพันธ์กันบนตรรกะแบบใด? และมีโยงใยความสัมพันธ์กันในลักษณะใด? นอกเหนือไปจากการมุ่งหน้าส่งออกคำตอบให้แก่สังคมว่า เน้นกระบวนการแก้ปัญหาแบบมวลชนสัมพันธ์ โดยไม่ได้ลืมหูลืมตาว่ามวลชนต้องการจะสัมพันธ์ในแบบนั้นหรือไม่
เพราะท้ายที่สุด การยัดเยียดผู้คนให้สัมพันธ์กันภายใต้ตรรกะเดียวกับรัฐชาติกระแสหลัก ก็อาจจะไม่ต่างอะไรกับความรุนแรงที่มีอยู่ใน พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ออกมาก็เป็นได้
ตกลงจะย้อนกลับไปตั้งคำถามใหม่หรือจะเดินหน้าสาดคำตอบเข้าไปในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป ก็ลองหยั่งเชิงด้วยโลกทัศน์และการให้คุณค่าที่มีอยู่ของท่านผู้นำแห่งรัฐไทยก็แล้วกัน
ข้อมูลอ้างอิง
Ho, Engseng 2002 The View From The Boat: Empire Through The Eye of Diaspora. Harvard University.
บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 640 เรื่อง หนากว่า 8400 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน
กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
ในขณะที่จักรวรรดิแบบโลกมุสลิม
เริ่มต้นดำเนินความสัมพันธ์ต่างจากอเมริกา การเดินทางเพื่อเผยแพร่ศาสนา ได้นำไปสู่เครือข่ายทางสังคมผ่านการแต่งงาน
การสร้างศาสนสถาน โรงเรียน การก่อรูปของระบบเครือญาติ การเข้าไปสัมพันธ์กับกลุ่มการเมือง
ผ่านระบบเครือญาติ การเข้าไปมีส่วนร่วมกับอุดมการณ์ด้านอื่นๆ ผ่านการบริจาคเงินเพื่อการศึกษา
ศาสนาและการพัฒนา เหล่านี้นำไปสู่รูปแบบความสัมพันธ์ที่แตกต่างจากจักรวรรดินิยมของอเมริกา
และนี่จึงไม่น่าแปลกใจ ถ้าจะพบว่าคนอังกฤษเชื้อสายปากีสถานจะเป็นมือวางระเบิดพลีชีพในประเทศที่ตนเองเกิดและเติบโต
เพราะรัฐชาติและความสัมพันธ์กับรัฐชาติไม่ได้ถูกขีดอย่างเรียบง่ายในแบบที่แผนที่โลกกำหนดไว้
หากแต่ในความเป็นจริง รัฐชาติและผู้คนในรัฐชาติถูกยึดโยงเข้าไว้ด้วยความสัมพันธ์ชุดหนึ่งที่แนบแน่น
เนิ่นนาน ใกล้ชิดที่มากไปกว่าแค่ความสัมพันธ์แบบเป็นทางการระหว่างรัฐกับรัฐ หรือรัฐกับประชาชน