การเมือง
ศาสนา และประชาชน
สัมภาษณ์มูนีร์ : ศาสนาต้องอำนวยประโยชน์แก่มนุษยชาติ
รศ.ดร.เกษียร
เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หมายเหตุ
: บทความชิ้นนี้เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 643
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 5.5 หน้ากระดาษ A4)
มูนีร์ ซาอิด ธาลิบ (ค.ศ.1965-2004)
ภาพประกอบนำมาจาก
http://www.suaramerdeka.com/harian/0406/06/bincang02.htm
หมายเหตุ
สัปดาห์ที่แล้ว
ผมแนะนำประวัติโดยสังเขปของ มูนีร์ ซาอิด ธาลิบ (ค.ศ.1965-2004) (สำหรับผู้สนใจสามารถหาอ่านได้ในบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับ 630
- กองบรรณาธิการ) นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนชั้นนำ ผู้เปรียบเสมือน ทนายสมชาย
นีละไพจิตร+สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ของอินโดนีเซีย เขาถูกฆาตกรรมทางการเมืองด้วยสารพิษ
arsenic อย่างอุกอาจ ระหว่างเดินทางด้วยสายการบิน Garuda ไปศึกษาต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์
เมื่อวันที่ 7 กันยายน ศกก่อน และทางการยังจับตัวฆาตกรและผู้บงการไม่ได้ตราบเท่าทุกวันนี้
ก่อนมูนีร์เสียชีวิตไม่นาน เขาเปิดใจให้สัมภาษณ์แก่ อูลิล อับชาร์-อับดัลลาห์-อดีตรองประธานองค์การ Nahalathul Ulama (NU) อันเป็นองค์การชาวมุสลิมใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย ระหว่างปี ค.ศ.1994-1999 และปัจจุบันเป็นประธานเครือข่ายอิสลามเสรี(Jaringan Islam Liberal, JIL) กับสถาบันศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์(Lakpesdam) - เกี่ยวกับปรัชญาการดำเนินชีวิตและศรัทธาศาสนาของเขา
ที่สำคัญมูนีร์ได้เล่าความหลังครั้งเป็นนักศึกษา
ที่เคยเข้าร่วมเคลื่อนไหวในองค์การอิสลามหัวรุนแรง รวมทั้งข้อคิดและประสบการณ์ที่ได้
ซึ่งทำให้เขาเปลี่ยนใจหันมาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนแทนในเวลาต่อมา บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาอินโดนีเซีย
เมื่อวันที่ 13 กันยายน ศกก่อน และแปลเป็นอังกฤษลงในเว็บไซต์ของเครือข่ายอิสลามเสรีภายหลัง
(ดู http://islamlib.com/en/page.php?page=article&id=724)
อูลิล : ในฐานะนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน คุณคงเคยครุ่นคิดเกี่ยวกับความหมายของอิสลามในชีวิตการทำงานของคุณมาแน่ๆ คุณเล่าให้เราฟังหน่อยได้ไหมครับ?
มูนีร์ : ผมเข้าไปพัวพันกับแนวทางศาสนาสุดโต่งหรือหัวรุนแรงจากปี ค.ศ.1984-1989 ตอนนั้นผมถึงกับพกมีดติดตัวไปไหนต่อไหน ในนามของการต่อสู้ขัดแย้งทางศาสนา แต่อันที่จริงแล้วผมอดรู้สึกไม่ได้ว่า มีอะไรบางอย่างขาดหายไปเกี่ยวกับหน้าที่ที่ศาสนาพึงมี
จนถึงจุดหนึ่ง ผมก็เริ่มตั้งคำถามว่า อิสลามบัญชาการให้ผมแยกตัวออกมาต่างหากและโดดเดี่ยวตัวเองจากชุมชนอื่นจริงหรือ มันเหมือนเกิดการสู้รบกันในใจผมเกี่ยวกับประเด็นที่ว่า : เอาเข้าจริงศาสนาอิสลามดำรงอยู่เพื่ออัลลอฮ์ หรือว่าดำรงอยู่เพื่อมวลมนุษย์ ในอันที่จะสรรค์สร้างสังคมที่ดีกว่านี้โดยทั่วไปขึ้นมากันแน่?
ผมพบว่าศาสนาถูกเผยประกาศเพื่อเป้าประสงค์ประการหลัง ผมเห็นด้วยกับกุสดูร์ (อดีตประธานาธิบดีอับดูร์ราห์มาน วาฮิด) ว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่จำเป็นต้องมีองค์รักษ์มาปกป้องพระองค์ดอก ศาสนาต้องอำนวยประโยชน์แก่มนุษย์ เราพร่ำพูดถึงพรที่อิสลามประทานให้แก่เอกภาพ(rahmatan lilalameen) โดยไม่เข้าใจแก่นแท้ของมัน
ท้ายที่สุด ผมจึงออกจากกลุ่มอิสลามสุดโต่งดังกล่าว เนื่องจากมันเหลือวิสัยที่ผมจะอยู่รอดต่อไปไหวในชุมชนที่แยกตัวต่างหากแบบนั้น ก็เพราะอิสลามเกื้อหนุนอารยธรรมนี่เอง อิสลามจึงพึงดำเนินงานเพื่อปรับปรุงชีวิตมนุษย์ให้ดีขึ้น. ตรงกันข้าม ทรรศนะสุดโต่งและไม่อดกลั้น อดออมทางศาสนา จะทำลายอารยธรรมของมนุษย์ลง คนจำนวนมากคิดว่าตนกำลังสร้างสรรค์สังคม กระนั้นก็ตาม ความจริงพวกเขากำลังสร้างสัญลักษณ์ที่ทำลายอารยธรรมต่างหาก
อูลิล : ประสบการณ์ของคุณน่าสนใจ ในแง่ที่มันเป็นเรื่องของบุคคลที่เป็นสมาชิกของชุมชนอันดับสอง - หมายถึงชุมชนทางศาสนาหรือชาติพันธุ์ - แทนที่จะถือตนเป็นคนอินโดนีเซียอันดับแรกก่อนอื่นใดหมด?
มูนีร์ : บางครั้ง ความหลากหลายก็กระตุ้นให้เกิดทรรศนะสุดโต่งทางศาสนาหรือชาติพันธุ์ขึ้นมาเหมือนกัน ซึ่งพอเกิดแล้วมันก็จะถือว่ากลุ่มของตัวเองสำคัญอย่างเด็ดขาดสมบูรณ์ และมองข้ามกลุ่มอื่น นอกจากทรรศนะสุดโต่งระหว่างต่างศาสนาแล้ว ทรรศนะอย่างเดียวกันก็เกิดภายในหมู่สำนักคิดต่างๆ ร่วมศาสนาด้วย ในอินโดนีเซียเราได้เห็นการนองเลือดมากมาย เนื่องจากความหลากหลายของวิธีเข้าสู่ปัญหาของสำนักต่างๆ ทางศาสนา จนชีวิตดูเหมือนเป็นสงครามแย่งชิงพื้นที่ในสวรรค์กัน อันนี้แหละคือปัญญา
อูลิล : ตอนไหนครับที่คุณตีตัวออกห่างทรรศนะสุดโต่ง?
มูนีร์ : มันเกิดจากคำถามหนึ่งที่ มาลิค ฟาจาร์ อาจารย์ของผมตั้งขึ้นตอนนั้น (มาลิค ฟาจาร์ ได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการต่อมา-บรรณาธิการ) แกบอกว่า "ฉันไม่เคยเจอนักศึกษาโง่เง่าอย่างเธอเลย เที่ยวพกจิตใจสู้รบไปไหนต่อไหนในนามศาสนา เพื่อจะได้ควบคุมครอบงำคนอื่น"
สำหรับผมตอนนี้ อิสลามนั้นเสรีและยอมรับความหลากหลาย อิสลามจะไม่มีสิทธิอำนาจอันใดเมื่อไม่เผื่อแผ่พื้นที่ให้คนอื่น คำถามนี้กลายเป็นบทแย้งความคิดกระแสหลักของหลายกลุ่มตอนนั้น นิกายสุดโต่งที่ผมเคยสังกัดก็ไม่เผื่อแผ่พื้นที่ให้คนอื่นเหมือนกัน
อูลิล : คุณช็อคไหมครับตอนที่มาลิก ฟาจาร์ ดุคุณเรื่องนี้?
มูนีร์ : ช็อคครับ แต่ผมก็รู้สึกได้แรงดลใจด้วย. ตอนนั้นผมเป็นนักกิจกรรมในสมาคมนักศึกษาอิสลาม(HMI) คำวิจารณ์ประการที่สองของอาจารย์มาลิค แกว่าอย่างนี้ครับ : "เรียนรู้ศาสนาอิสลามที่แท้จริงซะ! ช่วยไปอ่านธรรมนูญของสมาคมนักศึกษาอิสลามทีเถอะ จริงหรือเปล่าที่สมาคมนี้เอาแต่สร้างความขัดแย้ง หรือว่ามันมีภารกิจทางสังคมอยู่?"
ตอนหลังผมถึงพบว่า อิสลามตระหนักความจริงเรื่องความยุติธรรมในความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่อยู่ และอิสลามควรเข้าข้างผู้ถูกกดขี่ เพื่อสร้างความยุติธรรมขึ้นมา ผมคิดว่าอิสลามเป็นเรื่องของความยุติธรรม ไม่ใช่การแยกตัวออกไปต่างหากอย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ นี่แหละที่ทำให้ผมทิ้งทรรศนะสุดโต่งไว้เบื้องหลัง และผมได้พบชุมชนใหม่ที่ยอมรับความหลากหลายแทน
อูลิล : คุณโชคดีที่ผ่านพ้นทรรศนะสุดโต่งโดยอาศัยได้กัลยาณมิตรที่ดีและตื่นรู้ขึ้นมา แล้วกับพวกหัวสุดโต่งทุกวันนี้ล่ะ จะมีทางตื่นรู้เหมือนคุณไหม?
มูนีร์ : ผมคิดว่ามีทางนะครับ ปัญหาหลักอยู่ตรงทรรศนะสุดโต่งนั้นมุ่งหน้าหาอำนาจการเมืองแทนที่จะพยายามเข้าใจความไม่ยอมอดกลั้น อดออมต่อคนอื่นอันเจ็บแค้นขมขื่นให้ลึกซึ้ง อันที่จริงทรรศนะสุดโต่งที่เกิดจากกิเลสตัณหาทางการเมือง เป็นอันตรายยิ่งกว่าความตื้นเขินทางศาสนาเสียอีก
ทุกวันนี้น่ะ ผมคิดว่าพวกหัวสุดโต่ง โน้มเอียงไปทางการเมืองมากกว่าเทววิทยาครับ
ผมคิดว่าทรรศนะสุดโต่งเกิดขึ้นเมื่อสถานการณ์ทางสังคม-การเมือง สร้างแรงกดดันที่คุกคามชุมชน อย่างไรก็ตาม มันก็มีเหตุผลทางศาสนาต่างๆ นานาที่ให้ความชอบธรรมกับแรงกดดันทางการเมืองด้วย ตัวอย่างเช่น ผู้คนให้ความชอบธรรมกับการใช้โศลกที่ว่าชาวยิวและคริสเตียนจะเป็นศัตรูกับอิสลามตลอดไป ผู้คนใช้โศลกทำนองนี้โดยไม่ดูเลยว่าบริบททางประวัติศาสตร์ของมันเป็นอย่างไร พวกเขาใช้มันราวกับว่าความเป็นศัตรูกับยิวและคริสเตียนนั้นเป็นเรื่องถาวรอยู่เสมอ
ผมคิดว่ามีการนำเหตุผลมากมายมาใช้ให้ความชอบธรรมกับความกลัว ว่าจะเกิดอิสลามภิวัตน์ หรือคริสเตียนภิวัตน์ ความหวาดวิตกแบบนั้นมีอยู่ในทุกศาสนา บางคนทึกทักว่าพื้นที่ทางศาสนาจะถูกปิดกั้น ถ้าหากอิสลามพ่ายแพ้ทางการเมือง พวกเขากังวลว่าจะมีคนที่ละหมาดในมัสยิดไม่เป็น หรืออ่านคัมภีร์อัลกุรไม่ออก ความกังวลเช่นนี้อาจกลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรง ที่ล่อใจเราให้พยายามควบคุมและบังคับคนอื่นให้นับถือศาสนา ในบริบทแบบนี้แหละที่บังเกิดแนวคิดว่า รัฐจะต้องบังคับใช้ศาสนาทำนองเดียวกับที่ทรรศนะสุดโต่งเกิดขึ้น เนื่องจากความหวาดวิตกว่า จะถูกประเทศอื่นครอบงำ
อูลิล : ถ้าเช่นนั้นก็หมายความว่าพวกหัวสุดโต่งเชื่อว่าอิสลามกำลังถูกคุกคาม ดังนั้น ก็เลยต้องตีโต้กลับไปใช่ไหม?
มูนีร์ : ผมคิดว่าทีทรรศน์ทางศาสนาถูกกำหนดจากบริบทที่ผู้คนดำรงชีวิตอยู่ สำนักคิดอิสลามต่างๆ ดำรงอยู่ในบริบทและประวัติศาสตร์เฉพาะเหมือนกัน ในบริบทนี้ ศาสนาอาจกลายเป็นรูปแบบการต่อต้านสำหรับผู้ถูกกดขี่ได้ แต่พวกหัวสุดโต่งทางศาสนา ไม่ควรโจมตีมนุษย์ที่ดูยังไงก็ไม่ใช้ผู้กดขี่ไปได้
ผมเห็นด้วยว่าอิสลามต้องสนองพลังงานให้การต่อสู้กับการกดขี่ แต่ไม่ใช่เพื่อเอาไปสู้กับบางศาสนา ตัวอย่างเช่น ที่เรายากจนไม่ใช่เพราะถูกคริสต์ศาสนาครอบงำ แต่เพราะถูกทุนหรือโครงสร้างครอบงำต่างหาก ฯลฯ
ผมคิดว่าศาสนาสามารถสนองพลังงานใหม่ให้ผู้คนต่อต้านการกดขี่ได้ตราบที่มีเป้าที่ชัดเจน แต่ศาสนาไม่ควรฉวยใช้สิทธิอำนาจของตนไปสู้กับคู่อริด้วยการร้องตะโกนว่า คาฟีร์ (kafir หมายถึงพวกนอกศาสนา) บ้างละ มูร์ทาดบ้างละ (murtad หมายถึงพวกทรยศศาสนา) เป็นต้น
อูลิล : ดูเหมือนศาสนาจะเป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อต้านใช่ไหมครับ?
มูนีร์ : ผมเชื่อว่าอิสลามเป็นศาสนาของผู้ถูกกดขี่ อิสลามให้คำตอบแก่ปัญหาทางสังคมของพวกเขา ขณะเดียวกันบรรดาผู้ไม่ได้ถูกกดขี่ ก็มีหน้าที่ช่วยเหลือพวกเขา และประกันว่าการกดขี่จะสิ้นสุดลง นั่นแหละคือสังคมอิสลามที่แท้จริง
การต่อสู้กับความยากจนเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากความยากจนนำพาผู้คนไปสู่การละทิ้งศาสนา ดังนั้น การต่อสู้กับความยากจนจึงเป็นบัญชาสำคัญสำหรับสังคมมุสลิม อิสลามไม่ได้บัญชาการเราให้สู้กับศาสนาอื่น แต่ให้สู้กับการกดขี่และความยากจน ผมคิดว่านี่เป็นรากฐานสำคัญสำหรับสังคมและอารยธรรมมุสลิม
อูลิล : ถ้างั้นก็หมายความว่าวิธีมองทางศาสนาเช่นนี้ ผลักดันคุณให้ปกป้องผู้ถูกกดขี่และต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนใช่ไหมครับ?
มูนีร์ : ผมเกิดในครอบครัวที่นับถือศาสนา ในความหมายที่ถือเป็นบรรทัดฐานการประพฤติปฏิบัติ แต่ผมคิดว่าแค่นั้นมันไม่พอ การนับถือศาสนาควรไปเกินกว่าบรรทัดฐานการประพฤติปฏิบัติ อาทิ สมมติฐานที่ว่า การนับถือศาสนาหมายถึงต้องละหมาดวันละ 5 ครั้ง เป็นต้น อันนี้ถูกวิจารณ์โดยคัก นูร์ (นูร์ โคลิส มาญิด) ว่าเป็นเพียงการเคร่งศาสนาแต่ในทางสัญลักษณ์และรูปแบบเท่านั้น เราต้องตระหนักว่า มีคำกล่าวในละหมาดที่บงการให้ต้องกระทำบางอย่างในชีวิต
อย่างเช่นผมนึกไม่ออกว่าจะให้ผมกล่าวละหมาดว่า "ด้วยความเที่ยงแท้, คำละหมาดของข้า, พิธีกรรมของข้า, ชีวิตของข้าและความตายของข้า..." และขณะเดียวกันก็ยังทำตัวทุจริตฉ้อฉลและมองข้ามความยากจน ฯลฯ ได้อย่างไร ในกรณีเช่นนั้น พระผู้เป็นเจ้าคงประณามผมว่าเป็นคนเพิกเฉย ไร้ค่า และน่าทุเรศ
ในบริบทที่ว่านี้ เมื่อผมละหมาด ผมก็ต้องเข้าข้างคนยากจน และกัดฟันเลือกเพื่อทำให้ได้ตามคำบัญชา -อาทิ ปกป้องผู้ตกเป็นเหยื่อเป็นต้น- ในเมื่อผมได้หันหน้าหาความยุติธรรมแล้ว สำหรับผมชุมชนมุสลิมต้องเข้าข้างผู้ถูกกดขี่ มันเป็นสิ่งที่ผมเลือกและความเชื่อของผม การสร้างสังคมที่ยุติธรรมนั้นเป็นการต่อสู้ทางศาสนา สังคมยุติธรรมไม่ได้กำหนดให้ทุกคนต้องเป็นมุสลิม แต่ให้แสดงออกซึ่งแนวคิดของอิสลามเรื่องความยุติธรรมภายในสังคม
อูลิล : คุณคิดว่าคุณยังต้องระบุเอกลักษณ์ตัวเอง ว่าเป็นมุสลิมที่เคร่งครัดเวลาต่อสู้เพื่อความยุติธรรมอีกไหม หรือว่าการต่อต้านความอยุติธรรมที่ว่านี้มันข้ามพ้นเรื่องชื่อฉายาและสัญลักษณ์ไปแล้ว?
มูนีร์ : ผมไม่รู้จะอ้างตัวว่าเคร่งศาสนาได้หรือเปล่า แต่ผมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่เชื่อว่าการสถาปนาความยุติธรรม ซึ่งครอบคลุมและไม่เห็นแก่ตัวนั้นเป็นพลังงานสำคัญที่สุดในอิสลาม ผมคงละทิ้งอิสลามไปแล้วถ้าอิสลามไม่ส่งเสริมสิ่งนี้ และด้วยเหตุนี้แหละที่ผมชอบที่จะเลือกนับถืออิสลาม และผมไม่สามารถจะไปบังคับเคี่ยวเข็ญใครได้ ยอมรับว่าอิสลามเป็นศาสนาที่ครอบคลุม และดังนั้น เขาหรือเธอต้องกอดรับนับถืออิสลามได้
สำหรับผม เวลาผมชอบที่จะเลือกอะไรสักอย่าง
นั่นควรจะกำกับควบคุมการกระทำและท่าทีของผมด้วย
ไม่ควรจะไปบังคับใครให้เข้ามาร่วม และใครก็มีสิทธิจะสถาปนากระบวนการอื่นๆ ขึ้นมาเหมือนกัน
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ศาสนาเป็นพลังงานสำคัญสำหรับต่อสู้กับความอยุติธรรม ในเรื่องนี้
ผมเชื่อว่าอิสลามมีอนาคตอันสดใส อิสลามที่ครอบคลุมไม่ได้มีไว้แสวงหาอำนาจ หากแต่เป็นพลังงานสำคัญสำหรับคนชายขอบต่างหาก
อูลิล : คุณรู้สึกอย่างไรเรื่องสัญลักษณ์ของเอกลักษณ์ที่เปิดเผยโจ่งแจ้งมากๆ?
มูนีร์ : บางทีผมก็พยายามจินตนาการนะว่า คนที่ไม่ใช่มุสลิมจะเป็นยังไง เวลาเขาเจอมุสลิมที่สำแดงออกให้เห็นซึ่งบุคลิกลักษณะทางกายภาพของอิสลาม และอวดอ้างว่าตนครอบครองสัจธรรมหนึ่งเดียวที่มีอยู่ ผมเองยังรู้สึกเหมือนคนส่วนน้อยเลยเวลาผมเจอผู้ชายไว้เครายาว และหน้าผากมีรอยดำคล้ำ(เนื่องจากกระทบพื้นเวลาละหมาดเป็นประจำ-ผู้แปล) บางทีผมก็รู้สึกกังวลว่า จะถูกครอบงำโดยมาตรวัดสัจธรรมจำพวกนั้นเหมือนกัน
สำหรับผมแล้ว สัญลักษณ์เหล่านี้กลับเป็นผลเสียต่อพันธกรณีที่จะแนะนำศาสนาอิสลามให้คนอื่น และถึงไงบุคลิกลักษณะเหล่านี้ มันก็เป็นผลผลิตที่เกิดจากวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อีกด้วย เราต้องจำแนกแยกแยะระหว่างวัฒนธรรมต่างๆ ของอาหรับในยุคท่านบีมุฮัมมัด กับอิสลามในฐานะที่เป็นศาสนา มันเป็นสองอย่างที่แตกต่างกัน
ฉะนั้น สัญลักษณ์วัฒนธรรมของอาหรับ อย่างการสวมเสื้อคลุมจึงไม่ใช่โองการของอิสลาม ของพวกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในตะวันออกกลาง คนอัฟกันสวมเสื้อคลุมไว้เครามานมนานแล้ว แต่นี่ไม่ใช่มาตรวัดของอิสลาม. สำหรับผม การใช้สัญลักษณ์สร้างความห่างเหินให้เกิดขึ้นและส่งผลเสียต่ออิสลามเอง ฉะนั้นเราต้องหลีกเลี่ยงมัน จะผูกไทหรือสวมเสื้อคลุมก็ไม่คุกคามหรือครอบงำสัจธรรมด้วยกันทั้งนั้น เสื้อผ้าเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรม ไม่ใช่มีไว้ให้ความชอบธรรมกับการครอบงำดอก
บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 640 เรื่อง หนากว่า 8400 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน
กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
อย่างเช่นผมนึกไม่ออกว่าจะให้ผมกล่าวละหมาดว่า "ด้วยความเที่ยงแท้, คำละหมาดของข้า, พิธีกรรมของข้า, ชีวิตของข้าและความตายของข้า..." และขณะเดียวกันก็ยังทำตัวทุจริตฉ้อฉลและมองข้ามความยากจน ฯลฯ ได้อย่างไร ในกรณีเช่นนั้น พระผู้เป็นเจ้าคงประณามผมว่าเป็นคนเพิกเฉย ไร้ค่า และน่าทุเรศ
ในบริบทที่ว่านี้ เมื่อผมละหมาด
ผมก็ต้องเข้าข้างคนยากจน และกัดฟันเลือกเพื่อทำให้ได้ตามคำบัญชา -อาทิ ปกป้องผู้ตกเป็นเหยื่อเป็นต้น-
ในเมื่อผมได้หันหน้าหาความยุติธรรมแล้ว สำหรับผมชุมชนมุสลิมต้องเข้าข้างผู้ถูกกดขี่
มันเป็นสิ่งที่ผมเลือกและความเชื่อของผม การสร้างสังคมที่ยุติธรรมนั้นเป็นการต่อสู้ทางศาสนา
สังคมยุติธรรมไม่ได้กำหนดให้ทุกคนต้องเป็นมุสลิม แต่ให้แสดงออกซึ่งแนวคิดของอิสลามเรื่องความยุติธรรมภายในสังคม