ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2009
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๒ : Release date 24 April 2009 : Copyleft MNU.

สำหรับคนที่สามารถฝึกสติ-ตัวรู้จนสามารถ "ตื่น" ในระหว่างความฝันหรือที่เราเรียกว่า "ฝันแบบตื่น" (lucid dreaming) โลกแห่งความฝันก็เป็นเหมือนโลกช่วงที่เขาตื่นอยู่ ในบางครั้งโลกแห่งความฝันยังเหมือนจริงมากกว่าเสียอีก เหตุผลที่เราคิดว่า โลกในขณะตื่นนั้นเหมือนจริงมากกว่า เพราะเรามีประสบการณ์ต่อมันคล้ายๆ กัน อย่างเช่น เราเห็นต้นไม้แบบเดียวกัน คิดเหมือนๆ กัน แต่ในการฝันแบบตื่น เราสามารถเข้าไปในโลกแห่งความฝันและแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ทั้งยังเป็นไปได้ที่เราจะเข้าไปในโลกแห่งความฝันของคนอื่น มีกรณีของคนสองคนที่ได้รับการฝึกมาอย่างดี เพื่อให้สามารถเข้าไปอยู่ในโลกแห่งความฝันอันเดียวกันได้ คืนแล้วคืนเล่าพวกเขาได้พบกันในสถานที่แห่งความฝันที่จัดเตรียมไว้ มีการผจญภัยร่วมกัน และอื่นๆ

H



24-04-2552 (1724)
ชุดความรู้เที่ยงคืน: แนวคิดทฤษฎีกายา โลกมีชีวิต
Blind Sight, Lucid Dream: การตีความโลกและนาฏนฤมิตรกรรมของบุคคล
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ : นักแปลและนักวิชาการอิสระ

บทความเกี่ยวกับการภาวนาและความเข้าใจชีวิตด้านในของมนุษย์

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทความนี้ แปลจาก ผลงานเขียนเกี่ยวกับโลกธรรมชาติอันงดงาม ชวนพิศวงของ Jeremy W. Hayward
เรื่อง Letters to Vanessa: On Love, Science and Awareness in an Enchanted World
สาระสำคัญของงานเขียนนี้ พยายามชี้ให้เห็นถึงโลกธรรมชาติอันมีชีวิตชีวา ตายลงได้อย่างไร?
แน่นอนด้านหนึ่งคือคำอธิบายโลกฟิสิกส์วิทยาศาสตร์ แต่มันมีอย่างอื่นที่ซับซ้อนมากกว่านั้น
งานเขียนอันงดงามอธิบายโลกมีชีวิตนี้ ได้แสดงออกผ่านงานเขียนในรูปจดหมาย และใช้ภาษาที่เรียบง่าย
ทำให้เราหันกลับมาทบทวนกับความเชื่อ คำอธิบายที่เราได้รับจากโรงเรียน และกระบวนทัศน์แบบยุคสว่าง
สู่การภาวนา และตรวจดูจิตใจภายใน

ในส่วนของบทความบนหน้าเว็บเพจนี้ ประกอบด้วยจดหมายสองฉบับ คือ
๑. จดหมายฉบับที่ 8 : การตีความสีในโลก

๒. จดหมายฉบับที่ 9 : นาฏนฤมิตรกรรมของบุคคล
(บทความนี้จัดอยู่ในหมวดทฤษฎีกายาและการภาวนา)

บทความก่อนหน้านี้ที่เกี่ยวเนื่อง
1448. โลกตายหรือโลกเป็น: อำนาจของฟิสิกส์กับความดิบงามของธรรมชาติ
1450. Enchanted World: โลกที่มีชีวิตอันชวนพิศวง โลกที่มีวิญญาน

1603. จดหมายถึงวาเนสสา: โลกพิศวงแต่เดิมเป็นอย่างไร?

1621. เวลาและอากาศสัมบูรณ์ ลางสังหรณ์ และช่วงปัจจุบันขณะ
1638.
ภาวนาและสติ: บทคั่นรายการโทรทัศน์และเนื้อสมองของเรา?


สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๒๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๘ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ชุดความรู้เที่ยงคืน: แนวคิดทฤษฎีกายา โลกมีชีวิต
Blind Sight, Lucid Dream: การตีความโลกและนาฏนฤมิตรกรรมของบุคคล
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ : นักแปลและนักวิชาการอิสระ

บทความเกี่ยวกับการภาวนาและความเข้าใจชีวิตด้านในของมนุษย์
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word


จดหมายฉบับที่ ๘ : การตีความสีในโลก

วาเนสสาลูกรัก
ในจดหมายฉบับเมื่อวาน พ่อได้อธิบายโดยย่อเกี่ยวกับเส้นทางเดินของการเห็นในสมอง เราได้เห็นว่า ข้อมูลส่งจากจอตา พร้อมกับภาพของใบหน้ามาร์กาเร็ต ในรูปของกระแสไฟฟ้านับร้อยล้านหน่วย และเคลื่อนตัวเข้าสู่ระบบประสาทที่ซับซ้อนอย่างไร ข้อมูลเหล่านั้นเดินทางผ่านส่วนต่าง ๆ ของสมองที่ดูจะเกี่ยวข้องกับการตีความและปฏิกิริยาด้านอารมณ์ สิ่งที่พ่ออยากจะบอกลูกก็คือว่า การรับรู้ของเราได้รับการปรุงแต่งอย่างมากจากอารมณ์และทัศนะพื้นฐานที่มีต่อโลก

เราไม่ได้เห็นแค่นก เราชอบนกและเราคิดว่ามันสวย เราไม่ได้ยินแค่เสียง เราได้ยินเสียงที่เราไม่ชอบ อย่างเช่น เสียงสุนัขเห่าอีกฟากหนึ่งของทะเลสาบ และมีความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าฟัง ทุกสิ่งที่เราได้ยิน เห็น ลิ้มรส และอื่น ๆ จะมาพร้อมกับความรู้สึกที่ว่า "ฉันชอบ" หรือ "ฉันไม่ชอบ" หรือ "ฉันไม่สนใจอะไรหรอก" มันเป็นกระบวนการที่ใกล้ชิดกับการรับรู้ตัวเองของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่จะจำแนกเป็นขั้นตอน แต่เราจำเป็นจะต้องเข้าใจและรับรู้ต่อสิ่งนี้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อโลกอย่างแท้จริง

ในจดหมายฉบับนี้ พ่ออยากช่วยให้ลูกเห็นมุมมองอีกอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เรารับรู้เป็นสิ่งที่ได้รับการปรุงแต่งจากการตีความ ความคาดหวัง และอารมณ์ของเราอยู่แล้ว โดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ และอาจมีการกระทำที่ฉลาดที่เกิดขึ้นจากการรับรู้โดยไม่มีสติ พูดอีกอย่างหนึ่ง เราตระหนักถึงความหมายของสิ่งใดสิ่งหนึ่งในระดับหนึ่ง แม้ว่าเราจะไม่รู้ตัวว่ากำลังทำเช่นนั้นก็ตาม

มีปรากฏการณ์น่าสนใจที่เรียกว่า blind sight ซึ่งสะท้อนให้เห็นกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว บางคนซึ่งมีสมองพิการและทำให้เกิดอาการตาบอด หมายถึงเขาไม่สามารถมองเห็นอะไรเลย แต่กลับสามารถรับลูกบอลที่ขว้างมาใส่เขาได้ หากบอกให้เขา "เดา" ว่าวัตถุอยู่ตรงไหน และให้ชี้ไปที่วัตถุ เขาก็สามารถทำเช่นนั้นได้ด้วยความแม่นยำมากกว่าเป็นความบังเอิญ

ลองสมมติว่าเกิดสถานการณ์ขึ้นสองอย่าง

(1) ลูกกำลังนั่งบนเก้าอี้ในห้องครัวและคุยกับเพื่อน ลูกกำลังเพลิดเพลินอยู่กับการสนทนา ลูกสามารถลุกขึ้นและปิดก๊อกน้ำได้โดยไม่ขัดจังหวะสายธารของความคิดตนเอง สักพักหนึ่งเพื่อนของลูกทักขึ้นว่า "เสียงน้ำหยดมันทำให้ฉันรำคาญเหมือนกันแหละ" ถึงตรงนั้นเองลูกถึงมีสติว่าลูกได้เดินไปปิดน้ำ แม้ว่าตอนที่ปิดลูกจะมีการรับรู้เหมือนกับทำสิ่งนั้นอยู่ (เราจะกลับมาพูดถึงความแตกต่างที่สำคัญระหว่างสติกับการรับรู้อีกครั้งหนึ่ง)

(2) ลูกกำลังนั่งบนเก้าอี้ในห้องครัวและคุยกับเพื่อน ลูกกำลังเพลิดเพลินอยู่กับการสนทนา ลูกมีสติถึงเสียงที่เกิดขึ้น และรู้ว่าเป็นเสียงน้ำหยด จึงได้เดินไปปิดน้ำ จากนั้นก็กกลับมาสนทนาต่อไป

ในสถานการณ์ทั้งสองแบบ ลูกทำสิ่งเดียวกันนั่นคือการปิดก๊อกน้ำ แต่ในสถานการณ์แรกเป็นการทำแบบไม่มีสติ

หรือลูกเคยดื่มน้ำผลไม้ในระหว่างที่เพลิดเพลินกับการอ่านหนังสือหรือเปล่า? ลูกเอื้อมมือไปจับแก้วน้ำ ยกมันขึ้นมาที่ริมฝีปาก กระดกขึ้น และพบด้วยความประหลาดใจว่าเป็นแก้วเปล่าแล้ว ลูกไม่มีสติกับการดื่มน้ำผลไม้ก่อนหน้านั้นเลย

คราวนี้ลองมองให้ใกล้ชิดมากขึ้นถึงกระบวนการวิเคราะห์โลกที่เกิดขึ้นในจิต ที่เกิดขึ้นโดยที่ปราศจากสติ จำจดหมายฉบับที่ 7 (บทความลำดับที่ 1638) ได้หรือเปล่า พ่ออธิบายถึงเส้นทางของภาพที่เคลื่อนเข้าสู่สมอง พ่อบอกว่าภาพเหล่านั้นเดินทางผ่านระบบลิมบิกก่อนจะไปถึงเปลือกสมอง ระบบลิมบิกเป็นส่วนหนึ่งของสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่าการรับรู้ภาพได้รับการปรุงแต่งจากสภาวะอารมณ์ (ในทำนองเดียวกับการรับรู้ผ่านอายตนะอื่น ๆ) ต่อไปนี้เป็นการทดลองที่แสดงให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง (และยังมีการทดลองแบบนี้อีกมาก) เป็นการแสดงให้เห็นว่า การรับรู้ต่อบางสิ่งของเราได้รับการปรุงแต่งจากปฏิกิริยาด้านอารมณ์ โดยที่เราไม่มีสติต่อการปรุงแต่งเช่นนั้นเลย

ในการทดลองครั้งหนึ่ง มีการแสดงคำพูดที่ต้องห้ามหรือหยาบคายอย่างเช่น คำว่า ควย เย็ด หรือ กะหรี่ ให้กับอาสาสมัครได้เห็นในระดับจิตไร้สำนึก (เป็นระดับที่ไม่อาจเห็นคำพูดนั้นได้ในระดับจิตสำนึก) ในขณะที่ให้อาสาสมัครมองภาพที่งดงามหรือเป็นกลางหลายชิ้น ก็มีการแทรกคำพูดเหล่านี้เข้ามาระหว่างภาพต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว จนพวกเขาไม่อาจสังเกตเห็นได้โดยตรง คำต้องห้ามเหล่านี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาของกระแสไฟฟ้าทางผิวหนัง ในลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นในระหว่างการใช้เครื่องจับเท็จ ซึ่งเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนว่าอาสาสมัครของเราได้รับการกระตุ้นเร้าอารมณ์จากคำพูดเหล่านี้ แม้ว่าพวกเขาจะไม่เห็นคำพูดเหล่านี้อย่างชัดเจนก็ตาม

ในการทดลองอีกครั้งหนึ่ง มีการนำภาพที่แสดงอารมณ์กลาง ๆ อย่างเช่น ภาพเด็กกำลังสีไวโอลินให้อาสาสมัครดู สำหรับอาสาสมัครครึ่งหนึ่งภาพที่เห็นจะมีภาพของศีรษะและไหล่ของชายอัปลักษณ์ที่ดูน่ากลัวตรงมุมหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของอาสาสมัครจะเห็นภาพของชายพร้อมกับใบหน้าที่มีรอยยิ้ม ซึ่งในการทดลองครั้งนี้ก็มีการแทรกภาพเหล่านี้อย่างรวดเร็วจนเกินกว่าจะเห็นโดยตรงได้ หลังจากที่มีการเปลี่ยนภาพอย่างรวดเร็วในแต่ละครั้ง อาสาสมัครจะเขียนความเห็นถึงสิ่งที่เขาได้เห็น ข้อเขียนจากอาสาสมัครกลุ่มแรกส่วนใหญ่สะท้อนให้เห็นภาพการมองที่บิดเบือนและเป็นลบ อย่างเช่น พวกเขาวาดภาพของสิ่งที่ตาย ถูกหักโค่นหรือนอนราบลงในเงามืด ผลลัพธ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่แน่นอน และมีการใช้การทดลองแบบนี้ในขั้นตอนการคัดเลือกผู้สมัครเข้าเป็นนักบินในกองทัพอากาศแห่งนอรเวย์และสวีเดนด้วย

การทดลองเหล่านี้สะท้อนให้เห็นผลกระทบของตัวกระตุ้นอารมณ์ในระดับจิตไร้สำนึกที่มีต่อการรับรู้(สัญญา) การทดลองครั้งอื่น ๆ สะท้อนให้เห็นว่าตัวกระตุ้นอารมณ์ในระดับจิตไร้สำนึกอาจมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเราได้ ในการทดลองครั้งหนึ่ง มีการสลับด้วยป้ายแสดงคำว่า เนื้อวัว ด้วยระดับความเร็ว 1/200 วินาที (ซึ่งเร็วเกินกว่าที่นักศึกษาจะเห็น) โดยทำทุก 7 วินาทีในขณะที่นักศึกษากลุ่มนี้กำลังดูภาพยนตร์ หลังจากฉายหนังจบ มีการขอให้นักศึกษาจัดระดับความหิวที่พวกเขารู้สึก นักศึกษาที่ได้เห็นป้ายคำว่า เนื้อวัว สลับกับภาพยนตร์ให้ความเห็นว่าตัวเองรู้สึกหิวมากกว่ากลุ่มนักศึกษาที่ชมภาพยนตร์โดยไม่เห็นป้ายดังกล่าว

การทดลองครั้งอื่น ๆ ชี้ให้เห็นว่าความรู้สึกมักมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ซึ่งในบางครั้งเกิดขึ้นอย่างค่อนข้างไร้เหตุผล ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราบอกคนอื่นว่า "สมมติว่าคุณกำลังจะซื้อเครื่องคิดเลขในราคา 15 เหรียญ คนขายเครื่องคิดเลขบอกคุณว่ามีเครื่องคิดเลขที่คุณต้องการจะซื้อประกาศลดราคาอยู่อีกที่สาขาหนึ่งของห้าง ซึ่งอยู่ห่างออกไป 20 นาทีโดยลดราคาลงเหลือ 10 เหรียญ คุณจะลงทุนเดินทางไปหรือไม่?" คนส่วนใหญ่คงบอกว่าจะไป

มีการตั้งคำถามแบบเดียวกันกับอีกกลุ่มหนึ่ง แต่คราวนี้ราคาของเครื่องคิดเลขอยู่ที่ 125 เหรียญ ในร้านที่กำลังจะซื้อ และมีการลดราคาเหลือ 120 เหรียญในอีกสาขาหนึ่ง คนส่วนใหญ่ที่ได้รับคำถามแบบนี้จะบอกว่าพวกเขาคงไม่ลงทุนเดินทางไปหรอก ทั้ง ๆ ที่ในสองกรณีพวกเขาจะสามารถประหยัดเงินได้ในจำนวนเท่ากันคือ 5 เหรียญต่อการเดินทางอีก 20 นาที แต่พวกเขากลับพอใจที่จะประหยัดเงิน 5 เหรียญสำหรับการซื้อสินค้าในราคา 15 เหรียญมากกว่าการซื้อสินค้าในราคา 125 เหรียญ คนส่วนใหญ่จะตัดสินใจจากความพึงพอใจมากกว่าใช้เหตุผล

การทดลองหลายครั้งรวมทั้งการทดลองเหล่านี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า การรับรู้และการตัดสินใจของเราได้รับอิทธิพลจากอารมณ์โดยที่เราไม่รู้ตัว คราวนี้ลองดูว่าการตีความและความคาดหวังมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของเราอย่างไรบ้าง การปรุงแต่งด้านภาพทำให้เกิดการตีความของจิตต่อสิ่งที่เราเห็นอย่างหลากหลาย

ลองดูภาพที่สาม ลูกคิดว่าเส้นขีดขวางทั้งสองเส้นมีความยาวเท่ากันหรือไม่? คนส่วนใหญ่คงตอบว่าเส้นบนมีความยาวมากกว่า และแม้ว่าเราจะรู้แล้วว่าเส้นทั้งสองเส้นมีความยาวเท่ากัน แต่เราก็ยังคงมองว่าเส้นบนมีความยาวมากกว่า ครั้งหนึ่งในขณะที่พ่อกำลังจะบรรยายในเรื่องนี้ พ่อกำลังเตรียมวาดภาพแบบภาพที่สาม โดยการใช้ปากกาเมจิขีดเส้นด้วยไม้บรรทัดบนกระดาษแผ่นใหญ่ พ่อวัดความยาวของเส้นและวาดอย่างระมัดระวัง เมื่อวาดเสร็จ พ่อก็ถอยหลังและมองดูที่ภาพ และก็เห็นว่าเส้นบนมีความยาวมากกว่าเส้นล่าง แม้ว่าพ่อรู้ว่านั่นเป็นภาพหลอน แต่พ่อก็รู้สึกเชื่อมั่นในสิ่งที่เห็นมากว่าเส้นบนยาวกว่า และเอาไม้บรรทัดไปวัดมันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจจริง ๆ ว่าพ่อขีดเส้นทั้งสองเส้นด้วยความยาวเท่ากัน

เรามักคุ้นเคยกับการเห็นเส้นคู่ขนานที่วิ่งเข้าไปจนสุดสายตา อย่างเช่นเส้นจราจรบนถนนทางหลวงหรือทางรถไฟที่มีไม้หมอนวางขวางในระยะเท่า ๆ กัน ในตัวอย่างหลัง ยิ่งทางรถไฟไกลออกไปเท่าไรเราก็มีความรู้สึกว่าเส้นของทางรถไฟบรรจบเข้าหากันในขณะที่ไม้หมอนมีระยะใกล้กันมากยิ่งขึ้น เมื่อเรามองภาพที่สาม สมองของเราตีความว่าเส้นด้านข้างทั้งสองเส้นเป็นเส้นที่ขนานกันและทอดยาวเข้าไปจนสุดสายตาจนเป็นเส้นที่บรรจบกันบนกระดาษ (ซึ่งเป็นเหตุให้สมองคิดว่าเส้นขวางด้านบนในทำนองเดียวกับไม้หมอนบนรางรถไฟ) ดูเหมือนจะสั้นกว่าเส้นล่าง แต่เพราะเส้นขวางทั้งสองเส้นดูเหมือนจะมีความยาวเท่ากันบนกระดาษแผ่นเรียบ ทำให้สมองคิดว่าเส้นบน ซึ่งควรจะสั้นกว่า อันที่จริงมีความยาวกว่า

ตัวอย่างง่าย ๆ แบบนี้ให้ความคิดกับเราหลายอย่าง ลูกยังจำภาพของห้องนอน ฟานโกะ (vanGogh) ที่พ่อเขียนถึงในจดหมายฉบับที่ 1 ได้หรือเปล่า? ลองกลับไปมองดูสิ จำได้ไหมที่พ่อบอกว่าภาพบนดูเหมือนของจริงมากกว่าเพราะเราคุ้นเคยกับการเห็นเส้นทัศนมิติทอดยาวออกไป ภาพหลอนตรงนี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนสิ่งที่พ่อบอก

ภาพหลอนของหญิงชรา/หญิงสาวในภาพที่ 4 เป็นตัวอย่างหนึ่งของความคลุมเครือ ในครั้งแรกลูกอาจจะเห็นเป็นภาพหญิงชราผู้อัปลักษณ์ จากนั้นก็อาจจะเห็นศีรษะของหญิงสาว จากนั้นจิตของลูกก็จะสลับไปมาระหว่างการเห็นหญิงสาวกับหญิงชรา การเห็นภาพสลับไปมาไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของดวงตา ซึ่งคงเป็นผลมาจากการทำงานของสมองในระดับสูงที่มีการตีความสิ่งที่เป็นไปได้สองแบบสำหรับภาพนี้ ดูเหมือนว่าสมองได้รับการกำหนดโดยธรรมชาติให้พยายามเอาชนะความคลุมเครือด้วยการเลือกภาพใดภาพหนึ่ง

อีกตัวอย่างหนึ่งของความคลุมเครืออยู่ในภาพที่ 5 ซึ่งการตีความจะขึ้นอยู่กับบริบท ตัวหนังสือที่เห็นตรงกลางเป็นเลข 13 หรือตัว B ? ก็ขึ้นอยู่กับว่าลูกอ่านตัวหนังสือจากบนลงล่างหรือซ้ายไปขวาจริงหรือไม่? ตัวหนังสือสีดำบนกระดาษอาจมองว่าเป็นตัวเลข 13 หรือเป็นตัว B ก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริบทของการมอง

พ่อเองก็มีตัวอย่างของความคลุมเครือของการรับรู้ที่เกิดขึ้นเมื่อเช้าวานนี้ ในระหว่างยืนขึ้นหลังจากการนั่งภาวนาเมื่อตอนก่อนรุ่งเช้า พ่อมองออกไปที่หน้าต่างไปยังทะเลสาบและได้เห็นหมอกที่กำลังเคลื่อนตัวขึ้น อุณหภูมิในขณะนั้นอยู่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งมาได้ระยะหนึ่งและทะเลสาบเริ่มกลายเป็นน้ำแข็ง แต่ในช่วงสองวันที่ผ่านมาอากาศอบอุ่นขึ้นมาก จึงไม่น่าแปลกที่อย่างน้อยมีความเป็นไปได้ว่าพ่อจะเห็นหมอกเคลื่อนตัวขึ้นจากหิมะที่ละลาย แต่มันก็ดูไม่เหมือนจะเป็นเช่นนั้น เส้นของหมอกมีความคมชัดมาก และที่น่าแปลกก็คือมันไม่ขยับไปไหนเลย ในตอนนั้นพ่อถึงตระหนักว่าอันที่จริงมันไม่ได้เป็นหมอกแต่ว่าเป็นเส้นของน้ำแข็งที่ทอดขวางอยู่บนผืนน้ำนั่นเอง

แต่ไม่สิ! มันคงไม่ถูกอีกแหละ จิตของพ่อคิดสลับไปมาระหว่างหมอกที่กำลังเคลื่อนตัวขึ้นกับเส้นน้ำแข็งที่ทอดตัวบนพื้นน้ำ จนทำให้พ่อรู้สึกไม่สบายใจนิดหน่อย ทั้งสองคำตอบดูเหมือนจะไม่ถูกต้องที่สุด และในจิตของพ่อเองก็ไม่ต้องการความคลุมเครือเช่นนี้ จากนั้นสายตาของพ่อก็เหลือบขึ้นไปเห็นเส้นของทิวสนที่อยู่ตรงขอบฟ้าอีกด้านหนึ่งของทะเลสาบ และรูปแบบของสิ่งที่เห็นตรงทิวสนเป็นรูปแบบเดียวกับสิ่งที่พ่อพยายามคิดว่ามันคืออะไร อันที่จริงสิ่งที่พ่อกำลังมองดูอยู่เป็นเงาสะท้อนของทิวสนในน้ำแข็งที่กำลังละลายบนผิวน้ำของทะเลสาบที่ยังเป็นน้ำแข็ง ทันใดนั้นพ่อรู้สึกเหมือนกับปิ๊งขึ้นมา คราวนี้มันเป็นคำตอบที่สมบูรณ์มาก และที่น่าประหลาดก็คือหลังจากนั้นเป็นต้นมา เมื่อพ่อมองออกไปนอกหน้าต่างอีกครั้ง พ่อก็จะเห็นมันเป็นลักษณะเดียวเท่านั้น

เช้าวันนี้มีสิ่งที่น่าตลกเกิดขึ้น นกตะขาบสีน้ำเงินบินมาเกาะที่นอกหน้าต่างและร่อนลงตรงระเบียง พ่อหันไปมองนก และสงสัยว่ามันมาหาอะไร มันกระโดดลงมาที่ระเบียง จากนั้นก็กระโดดข้ามไปยังก้อนหินแผ่นเรียบสีน้ำตาล ซึ่งมีความกว้างประมาณสองนิ้วและความสูงประมาณครึ่งนิ้ว นกตะขาบสีน้ำเงินเอาปากจิกที่ก้อนหินสองสามครั้ง จากนั้นก็บินไปทันที พ่อเดาว่านกคงคิดว่าก้อนหินก้อนนั้นเป็นขนมปังนั่นเอง นกก็เห็นภาพหลอนเหมือนกันนี่!

ในภาพที่ 6 ลูกเห็นสามเหลี่ยมสีขาวที่เชื่อมจุดทั้งสามเข้าด้วยกันหรือเปล่า? แม้ว่าเราจะพยายามไม่ให้เห็นสามเหลี่ยมสีขาว แต่เราก็ยังเห็นมันอยู่ดี บางครั้งเราเรียกสิ่งนี้ว่าภาพหลอนสมมติ การถมลงในช่องว่างแบบนี้เกิดขึ้นในสภาพธรรมชาติทั่วไป เช่นเดียวกับภาพของหมาลายจุดที่อยู่ในภาพที่ 7 ในภาพนี้เช่นกัน สมอง/จิตของเรากำลังคาดเดาถึงสิ่งที่เห็นว่าเป็นหูและปลอกคอของสุนัข จากนั้นเราก็ถมลงในช่องว่างที่เหลือของสุนัขตามการคาดเดาเช่นนั้น แม้ว่าจุดต่าง ๆ ในภาพจะไม่เกี่ยวข้องกับสุนัขเลยก็ตาม

ภาพหลอนเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่เราเห็นอาจไม่เพียงพอที่จะบอกให้เราเชื่ออย่างชัดเจนว่า สิ่งนั้นคืออะไร จิต-สมองของเราจึงสรุปตีความถึงสิ่งที่ "ปรากฏอยู่ด้านนอกนั้น" โดยผ่านกระบวนการปรับภาพให้ตรงกับที่คิด กระบวนการปรับภาพนี้ได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่เราคาดว่าน่าจะเป็น

ลูกจำได้ไหมถึงสิ่งที่พ่อพูดถึงในจดหมายฉบับแรกเกี่ยวกับการทดลองของ เจโรม บรูเนอร์ (Jerome Bruner) ซึ่งเป็นภาพของไพ่ที่มีสีผิดจากธรรมดา? การทดลองเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเรามีแนวโน้มที่จะรับรู้ต่อสิ่งต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อมตามแบบที่เราคุ้นเคยเนื่องจากสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราคาดว่าจะเป็น และเรามักมีปัญหากับการพยายามมองดูสิ่งนั้นให้ต่างออกไปจากสิ่งที่เราคาดว่าจะเป็นในใจ ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับอายตนะส่วนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

ลูกพร้อมจะเห็นการเต้นระบำอย่างงดงามที่ทำให้เกิดโลกนี้ขึ้นมาหรือเปล่า? กาย-จิตของเรารับรู้ภาพที่แว่บขึ้นมา เสียงแว่ว และการสัมผัสแบบเบาบางผสมผสานกับความรู้สึกชอบและไม่ชอบ จากนั้นก็ตีความข้อมูลเหล่านั้นเพื่อให้เรารู้สึกอบอุ่นอยู่ในโลกที่เราคุ้นเคยให้มากที่สุด และก็สร้างโลกที่เราอยู่ขึ้นมา และมันกลายเป็นการเต้นระบำเป็นวงกลมแบบแปลก ๆ เพราะว่าโลกใบนั้นก็ ประกอบด้วย กาย-จิตของเราเช่นกัน กาย-จิตของเรากลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่มันสร้างและจินตนาการขึ้นมา มันทำให้ลูกรู้สึกหลอนหรือเปล่า? กระบวนการปรับภาพที่เห็นไม่ได้เกิดขึ้นกับโลกภายนอกเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับการตีความพลังด้านในของเรา ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกและอารมณ์ โดยเฉพาะตอนที่เรารู้สึกถึงพลังของอารมณ์ที่เพิ่มขึ้น เราพยายามตีความสิ่งนั้นแบบที่คุ้นเคย ตั้งชื่อที่คุ้นเคยให้กับมัน และบอกกับตัวเองถึงเรื่องราวที่คุ้นเคย ซึ่งทำให้เราสามารถกำกับพลังงานให้แปรเป็นอารมณ์ที่คุ้นเคยและสามารถจัดการได้

การทดลองเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าในขณะที่เราท่องไปในโลก เราไม่เห็นถึงสิ่งที่อยู่ภายนอกจริง ๆ เราสัมผัสการผสมผสานกันระหว่างสิ่งที่อยู่ระหว่างภายนอกกับความคิดและอารมณ์ที่ดูจะเหมาะสมในชั่วขณะนั้น ตราบใดที่เรายังอยู่ในโลกที่คุ้นเคย ระบบการรับรู้ของเราก็สามารถจะจับคู่สิ่งที่อยู่ภายนอกกับสิ่งที่เราคุ้นเคยในความทรงจำได้รวดเร็วเกินกว่าที่เราจะมีสติทันสังเกต

พ่อจะให้ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าการปรุงแต่งมีอิทธิพลต่อเราอย่างมากเพียงใด พ่อจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับงานของมาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) ซึ่งเป็นนักจิตวิทยา เซลิกแมนเสนอว่า แบบแผนบุคลิกภาพที่สะท้อนถึงความรู้สึกสิ้นหวังที่บางคนพัฒนาขึ้นมา เป็นผลลัพธ์มาจากการปรุงแต่งของเขาเอง เขาแสดงให้เห็นถึงความข้อนี้อย่างน่าสนใจและชัดเจน

เซลิกแมนจัดสุนัขออกเป็นสามกลุ่ม สุนัขกลุ่มแรกจะได้รับกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ ที่พวกมันสามารถปิดได้ด้วยการใช้จมูกไปดันสวิตซ์ สุนัขในกลุ่มที่สองได้รับกระแสไฟฟ้าในระดับเดียวกันกับสุนัขกลุ่มแรก แต่พวกมันไม่สามารถหยุดกระแสไฟฟ้าได้ ส่วนสุนัขกลุ่มที่สามไม่ได้รับกระแสไฟฟ้า

หลังจากถูกจัดให้อยู่ในสภาพแบบนี้ สุนัขแต่ละกลุ่มจะถูกจัดให้อยู่ในกล่องที่แบ่งออกเป็นสองห้อง กั้นด้วยกำแพงเตี้ย ๆ เมื่อมีการปล่อยกระแสไฟฟ้าพวกมันสามารถกระโดดข้ามกำแพงเพื่อหลบจากกระแสไฟฟ้าได้อย่างง่ายดาย แต่สิ่งที่น่าสนใจกลับเกิดขึ้น เมื่อมีการปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ ให้กับสุนัขในกลุ่มที่หนึ่งและกลุ่มที่สามพวกมันสามารถเรียนรู้ที่จะกระโดดข้ามกำแพงเพื่อหลบกระแสไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อมีปล่อยกระแสไฟฟ้าให้กับสุนัขในกลุ่มที่สอง เนื่องจากสุนัขกลุ่มนี้ได้เรียนรู้จากการทดลองในครั้งแรกว่าไม่สามารถทำอย่างไรเพื่อที่จะหยุดกระแสไฟฟ้าได้ พวกมันจึงไม่พยายามกระโดดข้ามกำแพง และเอาแต่นอนลงร้องครางเอ๋ง ๆ ช่างน่าเศร้า พวกมันสามารถจะกระโดดออกมาได้ แต่พวกมันไม่เชื่อว่าสามารถทำได้ พวกมันเรียนรู้ที่จะไม่สามารถช่วยตนเอง นั่นก็เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งตัวเราเช่นกัน

เซลิกแมนสามารถปรุงแต่งเพื่อช่วยให้สุนัขพ้นออกจากบ่วงของความไม่สามารถช่วยตนเองที่มันเรียนรู้ได้ และนั่นเป็นสิ่งสำคัญไม่ใช่เฉพาะสำหรับสุนัขที่น่าสงสารเท่านั้น สิ่งนี้เป็นหัวใจของสิ่งที่พ่อพยายามบอกในจดหมาย ในจดหมายฉบับต่อ ๆ ไปเราจะพูดถึงวิทยาศาสตร์มากขึ้นและพ่อจะชี้ให้เห็นแนวคิดที่ปรุงแต่งการรับรู้ของเราอย่างลึกซึ้ง พร้อมกับเสนอทางเลือกที่จะช่วยให้ลูกปรับเปลี่ยนการปรุงแต่งนี้ได้ แต่ความรู้เหล่านี้จะไม่มีประโยชน์หากปราศจากความเข้าใจซึ่งการรับรู้ถึงการเต้นระบำอย่างสร้างสรรค์

โปรดอย่าเข้าใจพ่อผิด พ่อไม่ได้กำลังพูดเหมือนกับพรรคพวกที่ชอบแนวการบำบัดทางเลือกในทศวรรษ 1980 พวกเขาบอกว่า อะไรก็ตามแม้เพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นกับเราเป็นผลมาจากกรรมที่เราทำไว้ ความคิดในเชิงศีลธรรมเช่นนี้ทำให้ผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งเชื่อว่า "คงเป็นเพราะเราได้ทำอะไรในอดีต และถ้าเราสามารถค้นพบว่าสิ่งที่เราทำนั้นคืออะไร และแก้ไขให้มันถูกต้อง เราก็คงสามารถรักษาตัวเองจนหายได้" ผลลัพธ์ของความเชื่อเช่นนี้รังแต่จะทำให้ผู้ป่วยเกิดทุกขเวทนามากขึ้น คำถามก็คือ "ตัวเรา" คืออะไรในขณะที่กำลังพูดเรื่องนี้? ใครหรืออะไรที่กำลังเต้นระบำอย่างสร้างสรรค์จนทำให้เกิดการรับรู้ขึ้น? มันคงไม่ใช่สติอย่างเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะเราได้เห็นในจดหมายฉบับก่อนหน้านี้แล้วว่า มันไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการกระทำตามปรกติที่เกิดขึ้นหลายอย่าง

วาเนสสาลูกรัก ยังมีสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตัวเราอีกมากที่เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย เรามักมีปฏิกิริยากับอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ว่าเหตุใดจึงทำเช่นนั้น โดยไม่วิเคราะห์ถึงความหมายของการรับรู้ที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ เราถอนตัวออกมาเมื่อรู้สึกถูกคุกคาม หรือเราเดินหน้าต่อไปในสภาพที่ดูเย้ายวนใจ ก่อนที่เราจะมีสติรับรู้ด้วยซ้ำว่าสถานการณ์นั้นอันที่จริงเป็นภัยคุกคามหรือเป็นสิ่งที่เย้ายวนใจ เรารับรู้ถึงคุณภาพของโลกและสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งมนุษย์ในโลก และเรามีปฏิกิริยาต่อคุณภาพเหล่านั้นโดยมักไม่มีสติต่อความรู้สึกและการกระทำที่เกิดขึ้น

ความคิดที่ว่าเราสามารถเป็นหรือควรจะเป็นผู้ที่ใช้เหตุผล ทำทุกอย่างอย่างมีเหตุผล ก็เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่เราสามารถทำได้ ได้แก่ การรู้จักตัวเราเองให้ดียิ่งขึ้น เราสามารถทำความรู้จักกับปฏิกิริยาด้านอารมณ์ที่มักจะเกิดขึ้น และวิธีการตีความโลกที่มักจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ด้วยวิธีการเช่นนี้ เราสามารถเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงสมองเข้ากับหัวใจ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตนต่อโลกได้อย่างเป็นองค์รวม การจะทำเช่นนั้นได้ต้องเริ่มจากการพิจารณาประสบการณ์ของเราอย่างตรงไปตรงมา พิจารณาความคิด อารมณ์ ความรู้สึกทางร่างกายและกระบวนการตีความและปฏิกิริยาของเราที่มีต่อการรับรู้โดยรวม วิธีการหนึ่งที่จะทำได้ก็คือการฝึกปฏิบัติความมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม พรุ่งนี้ พ่อจะเขียนถึงวิปัสสนาจารย์ซึ่งได้ค้นพบกระบวนการที่เกิดการรับรู้ขึ้น


จดหมายฉบับที่ ๙ : นาฏนฤมิตรกรรมของบุคคล

วาเนสสาลูกรัก
วันนี้พ่ออยากชวนให้ศึกษาให้ลึกซึ้งขึ้นว่า วิปัสสนาจารย์ให้คำอธิบายต่อการรับรู้ของการเต้นรำอย่างสร้างสรรค์หรือนาฏนฤมิตรกรรมอย่างไร แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น พ่ออยากเล่าให้ฟังเกี่ยวกับงานศึกษาทางการแพทย์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิปัสสนาจารย์ ซึ่งแสดงให้เห็นการรับรู้ในระดับเดียวกับที่นักจิตวิทยาปริชาน (cognitive psychologist)ได้ค้นพบ ในทำนองเดียวกับงานศึกษาที่พ่อพูดถึงเมื่อวาน เดเนียล บราวน์ (Daniel Brown) นักจิตวิทยาที่จบจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดเปรียบเทียบประสบการณ์ของการฝึกสติ-ความรู้ตัวทั่วพร้อมในสามจารีตที่แตกต่างกัน เขาพบว่าสามจารีตดังกล่าวให้คำอธิบายเกี่ยวกับระดับของการฝึกปฏิบัติด้านวิปัสสนาที่คล้ายคลึงกันมาก เขาทำการทดสอบกับวิปัสสนาจารย์และพบว่า ประสบการณ์ของท่านเหล่านั้นสอดคล้องกับระดับของการภาวนาตามที่อธิบายในพระคัมภีร์

ระดับต้นของการปฏิบัติทั้งสามจารีตสอดคล้องอย่างยิ่งกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับกระบวนการรับรู้ ผู้ทำสมาธิสามารถรับรู้ อย่างเช่น กระบวนการเรียกชื่อในส่วนของการรับรู้ อาทิ "กลมแค่ไหน" "สีตอนอรุณรุ่ง" และ "หวานสนิท" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ "นั่นคือส้ม"

ผู้ทำสมาธิสามารถรับรู้ความเป็นไปของจิตในขณะที่ประมวลข้อมูลที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะต่าง ๆ กลับมาที่เรื่องส้ม ผู้ทำสมาธิสามารถเห็นกระบวนการที่จิตประกอบมโนทัศน์ต่าง ๆ ของสีตอนอรุณรุ่ง ความกลมและกลิ่นของความหวานและความเปรี้ยวจี๊ด ซึ่งเป็นระดับที่สำคัญก่อนที่จะไปถึงประสบการณ์ "นั่นคือส้ม"

บราวน์พบว่าผู้ทำสมาธิสามารถจำแนกกระบวนการรับรู้ได้จนถึงระดับที่เขาไม่เห็นโลกของวัตถุเลย หากสัมผัสโลกของข้อมูลที่ไหลเวียนเข้ามาผ่านอายตนะต่าง ๆ ในแต่ละขณะ การรับรู้ของพวกเขาแทรกซึมอย่างลึกซึ้งไปยังกระบวนการรับรู้ ทั้งนี้เพื่อสัมผัสกับกระบวนการที่พวกเรามักไม่สามารถรับรู้ได้โดยปรกติ และนี่เป็นสิ่งที่เกิดในการฝึกสมาธิระดับต้น

ในการทดลองครั้งอื่น ๆ มีการฉายไฟเพียงเสี้ยวของวินาที จนยากจะเห็นได้ในภาวะปรกติ แต่ผู้ที่ผ่านการทำสมาธิภาวนาอย่างเข้มข้นเป็นเวลาสามเดือนสามารถสังเกตเห็นแสงวาบได้ดีกว่าช่วงก่อนที่จะฝึกสมาธิ หรือดีกว่าผู้ที่ไม่ได้ฝึกสมาธิเลย

ในการทดลองซึ่งมีการส่องไฟสองดวงสลับกันอย่างรวดเร็วจนเหมือนกับเป็นไฟดวงเดียว ผู้ปฏิบัติที่ชำนาญสามารถสังเกตจุดเริ่มต้นของแสงวาบ ขณะที่เกิดแสงวาบ ช่วงที่แสงวาบกำลังหมดไป และช่องว่างก่อนที่จะมีแสงวาบต่อไปได้ โดยปรกติแล้วเรามักจะเห็นแสงวาบในลักษณะนี้แบบไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นหลักของภาพยนตร์ กล่าวคือการที่เราเห็นภาพเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเป็นเพราะเราไม่สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงในช่วงเฟรมหนึ่งไปยังอีกเฟรมหนึ่งได้ การรับรู้โดยปรกติของเรามักจะหยาบเกินไป แต่การทดลองครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าเราสามารถฝึกสมาธิของเราจนเห็นช่วงเวลาที่ละเอียดประณีตมากขึ้น

การสัมผัสกับกระบวนการของการรับรู้ไม่ใช่เป้าหมายหลักของการนั่งภาวนา แต่การศึกษาเหล่านี้น่าสนใจจากมุมมองของการศึกษาการรับรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ เป็นการยืนยันว่าระดับของการรับรู้ที่นักวิทยาศาสตร์สังเกตเห็น ซึ่งเป็นการสังเกตโดยทางอ้อมจากคนอื่น ไม่ใช่การสังเกตจากตัวเอง และเป็นการสังเกตในสภาพการณ์ที่มีการจัดตั้งขึ้นมา เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในระดับบุคคล เหมือนกับการที่นักวิทยาศาสตร์สังเกตหนูแพรรี่ด็อกในห้องทดลอง และบันทึกสิ่งที่พวกเขาเห็น จากนั้นก็มีชาวนาที่มาเห็นเข้าและบอกว่า "นั่นก็เป็นสิ่งที่พวกมันทำในชีวิตจริงด้วยนะ"

ในจดหมายสองฉบับก่อน พ่อได้อธิบายถึงการรับรู้ในฐานะเป็นผู้สังเกตกระบวนการที่เกิดขึ้นในบุคคลอื่น แล้วการรับรู้อันเป็นสิ่งที่เราสัมผัสได้ด้วยตัวเราเองล่ะ? นักวิทยาศาสตร์ปฏิเสธไม่ยอมรับความเป็นไปได้ของการสังเกตเช่นนี้อย่างแม่นยำ พวกเขาไม่รู้ว่ามีวิธีการอย่างเช่น การฝึกทำสมาธิเพื่อความรู้ตัวทั่วพร้อม ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้เราสามารถสังเกตกระบวนการรับรู้และการรู้ตัวอันเป็นประสบการณ์ส่วนบุคคล

แล้วผู้ทำสมาธิอธิบายถึงการรับรู้ที่เกิดขึ้นอย่างไร? ผู้ทำสมาธิในแนวพุทธมักเห็นประสบการณ์ที่สั่งสมขึ้นในแบบแผนที่ซ้ำกัน ประสบการณ์ในชีวิตมนุษย์ก็เป็นแบบแผนที่ซ้ำกัน เช่นเดียวกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นชั่วขณะ การมองหน้าเพื่อนแว่บหนึ่งไปจนถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดชีวิตเรา

ในจดหมายฉบับต่อไป พ่อจะเขียนถึงนักวิทยาศาสตร์ที่เริ่มพิจารณาแบบแผนอันซับซ้อนในโลก พวกเขากำลังพบว่าในหลายสถานการณ์ แบบแผนขนาดใหญ่เป็นเพียงแบบแผนที่ซ้ำกันในระดับเล็ก ซึ่งเป็นการซ้ำกันของแบบแผนเดียวกันในระดับเล็กลงไปและอื่น ๆ พวกเขาพบแบบแผนที่ซ้ำกันทั้งในก้อนเมฆ ทิวทัศน์ ต้นไม้และรูปทรงต่าง ๆ ในธรรมชาติ ทั้งในรูปทรงที่ตายตัวและรูปทรงที่เปลี่ยนแปลงอย่างเช่น แบบแผนของอากาศ ผู้ทำสมาธิในแนวพุทธก็สัมผัสกับแบบแผนที่ซ้ำกันเช่นเดียวกัน ตั้งแต่ในระดับเล็กจนไปถึงระดับใหญ่ จากประสบการณ์ในการปฏิบัติของเราเอง

แบบแผนพื้นฐานซึ่งเป็นเหมือนอิฐที่ก่อตัวเป็นแบบแผนขนาดใหญ่ในชีวิตมีองค์ประกอบห้าส่วนซึ่งเราเรียกว่า เบญจขันธ์ ซึ่งเป็นคำสันสกฤตที่หมายถึง องค์ประกอบ พ่อจะไม่พูดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเบญจขันธ์มากนัก แต่อยากจะบอกว่าพวกเราชาวพุทธได้ศึกษาเรื่องของขันธ์อย่างละเอียด การศึกษาเหล่านี้ให้ความรู้ที่สำคัญต่อวงการจิตวิทยา ทำให้เข้าใจกระบวนการรับรู้

พูดอย่างง่าย ๆ เบญจขันธ์มีลักษณะแบบนี้ ระดับแรกของแบบแผนที่เกิดขึ้นเรียกว่า รูป ในทุกประสบการณ์ที่พวกเราสัมผัส จะต้องมี "ฉัน" ที่นี่และ "เธอ" หรือ "มัน" ที่โน่น ในทุกประสบการณ์ ในทุกชั่วขณะอายตนะของเราแบ่งโลกออกเป็น "ฉัน" ซึ่งอยู่ที่นี่และ "มัน" ซึ่งอยู่ที่นั่น "ฉัน" คือตัวกาย-จิตของเราอยู่ที่นี่ "มัน" คือต้นไม้หรือเสียงของรถบรรทุกที่วิ่งบนทางหลวงที่นั่น ซึ่งเป็นวิธีการที่อายตนะทั้งห้าของเราทำงาน นั่นคือการแบ่งโลกออกเป็นสิ่งที่พวกมันรู้สึก และ"ฉัน"ซึ่งเป็นผู้รู้สึก

ไม่จำเป็นที่เราจะแบ่งโลกออกเป็นโลกที่อยู่ภายในว่าเป็น "ฉัน" และโลกที่อยู่ภายนอกว่าเป็น "มัน" ในบางครั้งเราก็สัมผัสบางส่วนของตัวเองว่าเป็น "ฉัน" และบางส่วนในตัวเราเองว่าเป็น "มัน" ยกตัวอย่างเช่น เรามักสัมผัสกับจิตของเราว่าเป็น "ฉัน" และกายของเราว่าเป็น "มัน" หรืออารมณ์ของเราว่าเป็น "มัน"

นี่เป็นองค์ประกอบขั้นพื้นฐานของทุกประสบการณ์ในชีวิต เรามักแบ่งแยกโลกออกไปในลักษณะเช่นนั้น สิ่งนี้เป็นองค์ประกอบแรกของแบบแผนของขันธ์ และเป็นส่วนยากที่สุดที่จะทำความเข้าใจ แต่เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่พื้นฐานที่สุด เราจึงมักไม่ค่อยใส่ใจพิจารณาอย่างจริงจัง

อีกส่วนหนึ่งที่ตามมาจากส่วนแรกซึ่งเป็นขันธ์ที่ 2 ได้แก่ เวทนา "ฉัน" มีความรู้สึกต่อ "มัน" ฉันอาจชอบสิ่งนั้นหรือฉันอาจไม่ชอบสิ่งนั้น หรือฉันอาจจะไม่สนใจสิ่งนั้นเลยก็ได้ "มัน" อาจเป็นเพื่อนในชั้นเรียน หรือ "มัน" อาจเป็นเสียงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันนอกห้อง หรือ "มัน" อาจเป็นสีหรือกลิ่น หรือ "มัน" อาจเป็นร่างกายของเราเอง กล่าวคือเป็นอะไรก็ตามที่ "ฉัน" มีความรู้สึกถึง "มัน" ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ หรือไม่ใส่ใจ

ทุกแง่มุมของโลกที่เรารับรู้ในแต่ละขณะ ทำให้เกิดคุณภาพของความรู้สึกบางประการ ทั้งในแง่บวกก็ดี ลบก็ดี หรือเป็นความรู้สึกที่เราไม่อยากเข้าไปยุ่งด้วยในชั่วขณะนั้น หากลูกหมั่นสังเกตความรู้สึกของตัวเอง ในขณะที่มองไปรอบห้อง ลูกจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกทั้งบวกและลบที่เกิดขึ้นจากการรับรู้แต่ละขณะ เรามีถ้วยใบโปรดที่ทำให้เรารู้สึกดีเสมอ เรามีเก้าอี้ตัวโปรดที่เราชอบนั่ง เรามีความทรงจำบางอย่างที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นเรืองรอง ในขณะเดียวกันเราก็มีสถานที่บางแห่งที่รู้สึกรังเกียจ ภาพถ่ายบางภาพที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดีและอื่น ๆ การรับรู้เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ โดยที่เราไม่รู้ตัวหรือไม่ทันตั้งชื่อให้มันด้วยซ้ำ

สิ่งนี้เป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับประสบการณ์ของเราที่พ่อจะกลับมาพูดถึงอีกครั้ง นั่นคือ เราไม่จำเป็นต้องมีความรู้สึกว่า "ฉัน" ชอบมันหรือไม่ชอบมันอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอไป เราสามารถสัมผัสกับคุณภาพของสิ่งต่าง ๆ ในแบบที่มันเป็น พ่อสามารถสัมผัสกับสีครามของท้องฟ้าโดยไม่ต้องมีความชอบหรือไม่ชอบ พ่อสามารถสัมผัสกับการดำรงอยู่ของแมวสามขาบนระเบียงบ้านโดยไม่ต้องรู้สึกว่าชอบหรือไม่ชอบ เพียงแต่กำหนดความรู้สึกถึงแมวที่เป็นแมว แต่โดยปรกติเรามักทำเช่นนั้นไม่ได้ เรามักเกิดความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบมากกว่าที่จะสัมผัสกับคุณภาพของสิ่ง ๆ นั้นอย่างที่มันเป็น

องค์ประกอบที่ 3 ของแบบแผนแห่งขันธ์มักเรียกว่า สัญญา เรามักมีปฏิกิริยาตามความจำได้หมายรู้ต่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก และปฏิกิริยาตามความจำได้หมายรู้นี้เกิดขึ้นกับทุกสิ่ง กับ"มัน" พูดอีกอย่างหนึ่งเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นตามความรู้สึกที่เรามีต่อสิ่งนั้น ถ้าเราชอบเราก็คว้ามันเอาไว้ และถ้าเราไม่ชอบเราก็อยากกำจัดมันให้หมดไป อธิบายได้ง่าย ๆ แบบนี้

องค์ประกอบที่ 4 ของแบบแผนนี้คือ สังขาร หรือการตีความของเราต่อทุกสิ่งในชีวิต ในทุกขณะเราตีความ ตัดสิน ประเมิน ทดสอบสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต ทั้งผู้คน ร้านกาแฟ ภาพยนตร์ ดนตรี ทุกสิ่ง การรับรู้ได้ถูกจัดเป็นหมวดหมู่และถูกตั้งชื่อตามแบบแผนความคิดในเชิงปรัชญา จิตวิทยา และในเชิงปฏิบัติที่ซับซ้อน โดยอิงกับแบบแผนความคิดที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์เดิมๆ กล่าวคือ เป็นระดับของภาษาและความคิดที่ยังอยู่ในขั้นจิตไร้สำนึก โดยประกอบด้วยข่ายใยที่ยิ่งใหญ่ของความเชื่อมโยงและระบบความคิดทั้งที่เป็นกุศลและไม่เป็นกุศล ทั้งที่เป็นศาสนาและฆราวาส ความเห็นและอคติทั้งหลายทั้งปวงของเรา สมมติฐานและความเชื่อพื้นฐาน ซึ่งล้วนแต่เป็นแบบแผนที่รองรับประสบการณ์ของเราในระดับจิตไร้สำนึก

และสุดท้ายคือขันธ์ที่ 5 ซึ่งเป็นส่วนที่ 5 ของแบบแผนที่ซ้ำกันและทำให้เกิดประสบการณ์ขึ้น นั่นคือ วิญญาณ เป็นระดับของการรับรู้ที่เกิดขึ้นในสายธารความคิดอย่างต่อเนื่องและเป็นการรับรู้ต่อทุกสิ่งที่ปรากฏ ความคิดเช่นนี้อาจเป็นความคิดเกี่ยวกับการรับรู้ ("นั่นเป็นดอกไม้สีแดง") ความขลัง ความหนัก คุณค่า ความคิดเชิงปรัชญา แสง การสั่นไหว ความคิดที่ง่อนแง่น ความทรงจำที่หายวับไป ความทุกข์ทรมานจากความหิว และอื่น ๆ แต่ทั้งหมดได้ถูกผูกรวมกันในลักษณะที่ความรู้สึกถึงความมั่นคงปลอดภัย โลกแห่งเหตุผลของวัตถุที่สัมผัสได้ ความสัมพันธ์อย่างมีความหมายและสิ่งอื่น ๆ ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสายธารความคิดที่ครอบคลุมและก่อตัวขึ้นในระดับก่อนหน้า ทำให้เรามักไม่สามารถสังเกตเห็นกระบวนการรับรู้ที่เกิดขึ้นในประสบการณ์แต่ละวัน เราไม่สามารถเห็นการเกิดขึ้นและดับไปของแต่ละชั่วขณะของประสบการณ์ มีแต่สายธารของความคิดที่เป็นตัวรู้ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกถึงความต่อเนื่องของประสบการณ์ ทำให้เกิดช่องว่างเพียงไม่กี่แห่ง ทำให้ไม่สามารถมองเห็นช่องทางของการฟื้นความสดใหม่หรือการเปิดจิตใจมากนัก

พ่อจะยกตัวอย่างว่าแบบแผนเช่นนี้ทำงานอย่างไร ในระดับกว้าง ลองนึกถึงการที่ทารกเติบโตขึ้นในโลก ขั้นแรกในขณะที่เป็นทารก เธอไม่รู้สึกถึงการแบ่งแยกระหว่างตัวเองกับโลก จากนั้นเธอเริ่มรู้สึกว่าตัวของเธอแยกออกจากวัตถุอื่น ๆ เธอเริ่มมีปฏิกิริยาในทางบวกหรือทางลบต่อวัตถุต่าง ๆ ในเวลาต่อมาเธอเรียนรู้ที่จะคว้าจับสิ่งที่ชอบและพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ชอบ แม้ว่าเธอจะยังไม่รู้จักชื่อของสิ่งเหล่านั้นก็ตาม เธอเริ่มเรียนรู้ชื่อของวัตถุทีละน้อย และรู้ว่ามันมีความหมายอย่างไรต่อเธอ และควรมีท่าทีต่อสิ่งนั้นอย่างไร และสุดท้ายเมื่อเธอมีอายุราวสามขวบ เธอเริ่มรู้สึกถึงความเป็นปัจเจก อัตลักษณ์ ในฐานะเป็นบุคลิกภาพของตนเอง ซึ่งเป็นจุดที่เราเห็นเบญจขันธ์ การอธิบายเช่นนี้เป็นการอธิบายอย่างง่าย ๆ ว่าเราเติบโตขึ้นในโลกอย่างไร แต่ถ้าเราอธิบายถึงสิ่งนี้ในรายละเอียด เราจะพบแบบแผนที่ซ้ำกันจำนวนมาก เพียงแต่มีรายละเอียดมากขึ้น

โปรดสังเกตว่าในการอธิบายถึงแบบแผนประสบการณ์จากวิปัสสนาจารย์ชาวพุทธ เรามักพบประเด็นสำคัญที่คล้ายคลึงกันกับการอธิบายเรื่องการรับรู้ของนักวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ ชาวพุทธเห็นว่าความรู้สึกอันเป็นปฏิกิริยาในทางบวกและลบ การไขว่คว้าเนื่องจากความจำได้หมายรู้ การตีความและการตัดสินมักจะเกิดขึ้นโดยที่ขาดสติรับรู้

อารมณ์และการตีความปรุงแต่งและสร้างอคติให้กับกระบวนการที่กาย-จิตสร้างโลกให้กับเรา โดยที่เรามักไม่รู้ตัว แต่เมื่อมีคนชี้ให้เห็น เรามักจะรับรู้ได้อย่างชัดเจน แต่ในการใช้ชีวิตประจำวันโดยทั่วไป เรามักจะหลงลืมสิ่งนี้ เรามักเหมาเอาว่าสิ่งที่เราเห็นคือสิ่งที่อยู่ที่นั่น เราเชื่อและกระทำราวกับว่าเราอยู่ในโลกที่แท้จริงโดยตรง ซึ่งพ่อได้ชี้ให้ลูกเห็นแล้วว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้น

พ่อคงเน้นจุดนี้มากเกินไปไม่ได้ เพราะว่าถ้าลูกยังจำได้ถึงความจริงพื้นฐานเมื่อมีบางสิ่งเกิดขึ้นกับลูก หรือเมื่อลูกได้เห็นหรือได้ยินบางสิ่ง ลูกก็มีการรับรู้ว่าตัวเองอยู่ที่นั่น และนั่นเป็นโลกของตัวเอง แต่โลกที่ลูกสร้างขึ้นมาไม่ได้อยู่แค่ที่นั่น หากเป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวลูกกับสิ่งที่อยู่ที่นั่น หากลูกมีความเกลียดในใจ โลกของลูกก็จะเป็นโลกแห่งความเกลียด หากลูกมีความรัก โลกของลูกก็จะเป็นโลกแห่งความรัก หากลูกตีความหรือสัมผัสกับโลกราวกับสิ่งที่ตายแล้ว มันก็จะเป็นสิ่งที่ตายแล้ว หากลูกสัมผัสกับโลกเหมือนมีชีวิต มันก็จะมีชีวิต

ลูกอาจประหลาดใจว่า "ถ้ากาย-จิตของหนูมีส่วนสัมพันธ์อย่างมากกับสิ่งที่ดูเหมือนจะ "อยู่ข้างนอก" ถ้าอย่างนั้นโลกที่หนูสัมผัสก็มาจากจินตนาการของหนูล้วน ๆ สิคะ?" แล้วทำไมหนูและพ่อ และเพื่อน ๆ อีกหลายคนดูเหมือนจะอยู่ในโลกใบเดียวกันล่ะคะ? หลายคนคิดแบบนี้เมื่อตระหนักว่าสมองไม่ได้ทำหน้าที่แค่รับภาพของโลกแบบเดียว หรือมันแค่ทำหน้าที่รับรู้ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างที่อธิบายในจดหมายฉบับก่อน หรือมันแค่ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาของผู้ทำสมาธิแนวพุทธ เป็นธรรมดาที่เราจะพูดว่า "ทั้งหมดก็เกิดจากจิตนั่นแหละ" ซึ่งพวกเขามักหมายถึงจิต-สมองเล็ก ๆ ของแต่ละบุคคลนั่นเอง

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราคิดในทำนองนี้ ผลก็คือเราจะหล่นไปอยู่ด้านใดด้านหนึ่งของคมมีดโกน คือการหลุดไปอยู่กับความคิดที่สุดโต่งสองข้าง ในข้างหนึ่งเป็นความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่ามีโลกภายนอกอยู่ ในขณะที่จิต-สมองทำหน้าที่เพียงถ่ายทอดภาพนั้นเข้ามาที่การรับรู้ของเรา อีกด้านหนึ่งเป็นความเชื่อที่ว่าสิ่งที่เราเห็น ล้วนแล้วแต่เป็นการจินตนาการขึ้นมา "ทั้งหมดก็เกิดจากจิตนั่นแหละ" เหมือนที่หลายคนมักจะคิดเช่นนั้น

เราเริ่มศึกษาการรับรู้จากการสำรวจแนวคิดทั่วไปที่เชื่อว่ามีโลกจริงอยู่ เหมือนโลกที่เรารับรู้ได้ เป็นโลกซึ่งอยู่ภายนอกล้วน ๆ ซึ่งดำรงอยู่และรอให้เรามารับรู้ จากนั้นเราพบว่าจิต-สมองดูเหมือนจะมีบทบาทอย่างสำคัญในการสร้างโลกที่เรารับรู้ คราวนี้เรามาถึงจุดที่จะหล่นไปที่อีกด้านหนึ่งของมีดโกนอันแหลมคม เราอาจเริ่มคิดว่าโลกภายนอกนั้นไม่มีอยู่จริง หากเป็นเพียงผลของการคิดจากจิต-สมองเล็ก ๆ ของเรานี่เอง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงผลลัพธ์ของสมอง แต่ความคิดแบบนี้ฟังดูเหมือนเรื่องเหลวไหล คนส่วนใหญ่จึงโน้มไปทางความคิดว่าต้องมีโลกอันแท้จริงอยู่ภายนอก

เป็นเรื่องยากที่เราจะเห็นความคิดซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างแนวคิดที่สุดโต่งทั้งสอง และเหตุผลที่คนส่วนใหญ่รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงไม่สามารถเห็นแนวคิดในระหว่างกลางนี้ได้ ก็เป็นเพราะวัฒนธรรมโลกสมัยใหม่ติดยึดอยู่กับการคิดแบบประธาน-กรรม ภายใน-ภายนอกเป็นอย่างมาก เมื่อคนเราเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าจิตนั้นสถิตอยู่แต่ในหัว พวกเขาย่อมเชื่อว่าโลกที่มีอยู่นั้นถ้าไม่ใช่โลกจริงก็เป็นโลกที่อยู่ในสมอง ถ้ามันไม่อยู่ภายในมันก็ต้องอยู่ภายนอก ไม่มีความเป็นไปได้อย่างอื่น ไม่มีทางสายกลาง

แต่ถ้ามีบางสิ่งมาเปลี่ยนมุมรับภาพของเรา ยกตัวอย่างเช่น มีแสงไฟวาบขึ้นในมุมรับภาพในตอนกลางคืน มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในหรือภายนอกล่ะ? ถ้าพ่อมองไปยังท้องฟ้าสีครามใสและได้เห็นแสงสีเป็นลายเส้นเล็ก ๆ อยู่ แสงที่เห็นนั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกหรือภายในกาย-จิตของพ่อล่ะ? ถ้าพ่อได้ยินเสียงเหมือนอะไรประทุขึ้นมา อย่างเช่น เสียงไฟฟ้าช็อต มันเป็นเสียงที่เกิดขึ้นภายในหรือภายนอกล่ะ?

ปรากฏการณ์ต่อไปนี้เป็นเรื่องประหลาด ลองฉายแสงสีแดงไปยังกำแพงสีขาว แล้วเอามือขึ้นไปบังลำแสงสีแดงสิ ลูกคิดว่าสีของลายเส้นมือที่สะท้อนบนผนังจะเป็นสีอะไรล่ะ? ก็ต้องเป็นสีขาวน่ะสิ เพราะนั่นเป็นสีของกำแพงและมือของลูกทำหน้าที่เพียงบังแสงสีแดงไว้ แต่ไม่จริงหรอก สิ่งที่ลูกจะได้เห็นจะเป็นมือสีน้ำเงิน-เขียวตรงกลางกำแพงสีแดง พ่อเห็นภาพแบบนี้มาแล้ว มันเป็นเรื่องน่าประหลาด แล้วสีน้ำเงิน-เขียวบนมือของลูกมาจากไหน? เพราะที่เรามีอยู่ก็คือกำแพงขาวที่มีแสงสีแดงส่องไปเท่านั้นเอง เราไม่ได้ฉายแสงสีน้ำเงิน-เขียวสักหน่อย จากนั้นลูกก็เอามือขึ้นไปบังแสงสีแดง ปรากฏว่าภาพของมือที่สะท้อนบนผนังกลับเป็นสีน้ำเงิน-เขียว แล้วสีน้ำเงิน-เขียวเป็นสีที่เกิดขึ้นภายนอกหรือภายในกาย-จิตของลูกล่ะ? มันเป็นสีจริงหรือไม่จริงล่ะ? บางคนอาจถามอย่างนั้น เราคงบอกปัดว่ามันเป็นเพียงภาพหลอน หรือว่าเราควรพยายามทำความเข้าใจในเรื่องนี้?

เรามักคุ้นเคยกับการคิดถึงสิ่งต่าง ๆ จากมุมมองในฐานะผู้สังเกตอย่างไม่มีส่วนร่วม เป็นมุมมองของ "บุคคลที่สาม" เรามักคิดถึงการรับรู้โลกในฐานะเป็นผู้สังเกตอยู่ภายนอก (อย่างเช่นพระเจ้าหรือนักวิทยาศาสตร์ในชุดสีขาว) ถ้าเราคิดแบบนั้น เราก็มักจะแบ่งโลกออกเป็นสอง นั่นคือกาย-จิตของเราซึ่งเป็นตัวสังเกต และสิ่งแวดล้อมภายนอก แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าลูกจินตนาการถึงสถานการณ์หนึ่งจากมุมมองของกาย-จิต คือจากโลกภายในเท่านั้น? เมื่อกาย-จิตของเราตื่นขึ้นอย่างฉับพลันเนื่องจากเสียงดัง ลูกคิดว่ามันเป็นปฏิกิริยาที่มีต่อบางสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอก หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันจากสภาวะภายใน?

โลกที่หมอไสยเวทพื้นบ้านหรือโยคีชาวพุทธทิเบตหรือวิปัสสนาจารย์ท่องเที่ยวไปเป็นเพียงภาพหลอนอย่างนั้นหรือ? โลกที่เราเห็นในความฝันก็เป็นเพียงภาพหลอนหรือ? หรือโลกที่เราตื่นขึ้นมาเห็นเป็นเพียงภาพหลอนหรือเป็นโลกจริงกันแน่?

สำหรับคนที่สามารถฝึกสติ-ตัวรู้จนสามารถ "ตื่น" ในระหว่างความฝันหรือที่เราเรียกว่า ฝันแบบตื่น (lucid dreaming)(*) โลกแห่งความฝันก็เป็นเหมือนโลกช่วงที่เขาตื่นอยู่ ในบางครั้งโลกแห่งความฝันยังเหมือนจริงมากกว่าเสียอีก เหตุผลที่เราคิดว่าโลกในขณะตื่นเหมือนจริงมากกว่าเพราะเรามีประสบการณ์ต่อมันคล้าย ๆ กัน อย่างเช่น เราเห็นต้นไม้แบบเดียวกัน คิดเหมือน ๆ กัน แต่ในการฝันแบบตื่น เราสามารถเข้าไปในโลกแห่งความฝันและแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ทั้งยังเป็นไปได้ที่เราจะเข้าไปในโลกแห่งความฝันของคนอื่น มีกรณีของคนสองคนที่ได้รับการฝึกเพื่อให้สามารถเข้าไปอยู่ในโลกแห่งความฝันอันเดียวกันได้ คืนแล้วคืนเล่าพวกเขาได้พบกันในสถานที่แห่งความฝันที่จัดเตรียมไว้ ผจญภัยร่วมกัน และพวกเขายืนยันได้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่ตื่นแล้ว มีอยู่คู่หนึ่งซึ่งตัดสินใจเลิกการทดลองไปในที่สุดเนื่องจากโลกแห่งความฝันที่พวกเขาท่องเที่ยวไปด้วยกันแต่ละคืน เริ่มมีความเหมือนจริงยิ่งกว่าโลกในขณะตื่น พวกเขากลัวว่าจะไม่อยากกลับมาสู่โลกขณะตื่นอีก คราวนี้โลกไหนกันแน่ที่เป็นโลกจริง?

(*) A lucid dream, also known as conscious dream, is a dream in which the sleeper is aware that they are dreaming. When the dreamer is lucid, they can actively participate in and often manipulate the imaginary experiences in the dream environment. Lucid dreams can be extremely real and vivid depending on a person's level of self-awareness during the lucid dream.

เราต้องเดินทางสายกลางระหว่างความคิดที่สุดโต่งทั้งสอง นั่นคือการเลือกระหว่างการเชื่อว่าโลกภายนอกเป็นเรื่องจริงหรือการเชื่อว่า "ทั้งหมดก็เกิดขึ้นจากการคิดนั่นแหละ" ทางสายกลางคือการมองเห็นว่าในขณะที่เราดำเนินชีวิตไป กาย-จิตของเราไม่ได้เพียงเดินทางผ่านโลกที่มีอยู่แล้วเท่านั้น หากยังเคลื่อนตัวผ่านโลกที่เป็นไปได้อีกมากมาย เราไม่ได้มีหน้าที่แค่ประมวลข้อมูลที่มาจากโลกสำเร็จรูป แต่เรายังทำหน้าที่แสดงภาพของโลกจากภายในซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่ไม่มีผู้อื่นรับรู้ ปราศจากขีดจำกัดและไม่ใช่โลกสำเร็จรูป

การฉายภาพสู่ภายนอกหรือการสร้างโลกจากภายในเป็นกระบวนการปรุงแต่งที่เหมือนกับ "การปั้นแต่งอย่างมีพลวัต" ตามคำพูดของฟรานซิสโก วาลีรา (Francisco Varela) นักประสาทวิทยาชั้นนำซึ่งสนับสนุนความเห็นสายกลาง เขาเสนอว่าการรับรู้ของเราสร้างให้เกิดโลกในทำนองเดียวกับน้ำที่ไหลลงมาจากยอดเขาน้ำแข็งที่หลอมละลายลงมาเป็นลำธารสายต่าง ๆ จนถึงด้านล่าง ในขณะที่น้ำไหลตามลำธารแต่ละสายทำให้เกิดร่องลึกมากขึ้น และน้ำที่ไหลมาภายหลังก็ไหลได้สะดวกมากขึ้น เช่นเดียวกับการรับรู้และการกระทำที่ทำจนเป็นนิสัยของเรา แต่ก็มีความเป็นไปได้เสมอว่าน้ำจะไหลออกนอกร่องธาร และทำให้เกิดร่องธารใหม่ขึ้นมา เป็นเหตุให้เกิดประสบการณ์ที่แปลกใหม่โดยสิ้นเชิงที่จะเกิดขึ้นกับเราได้เสมอ

โลกที่กาย-จิตของเรารับรู้ ซึ่งเราเป็นส่วนหนึ่งขององค์รวมตรงนั้น ถูกจำกัดด้วยประสบการณ์เดิมของเราและสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ แต่แม้จะมีขอบเขตจำกัดเช่นนั้น ก็มีความเป็นไปได้อย่างมากที่เราอาจประสบกับประสบการณ์อื่น เช่นเดียวกับการเดินหมากรุกซึ่งมีความเป็นไปได้มากมายหลายทาง แม้ว่าจะมีข้อจำกัดจากการเดินในตาที่ผ่านมาก็ตาม

แล้วลูกกับพ่อมีประสบการณ์ต่อโลกใบเดียวกัน หรือคิดว่ามันเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร? ประการแรกเป็นเพราะเราทั้งสองต่างมีกายเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อประสบการณ์ของเราอย่างมาก เป็นเหตุให้โลกของลูกและโลกของพ่อมีความเหมือนกันอย่างมาก ซึ่งต่างจากโลกของเรากับโลกของค้างคาวหรืออื่น ๆ เราเติบโตขึ้นมาในวัฒนธรรมแบบเดียวกันที่มีความเชื่อตายตัวเกี่ยวกับสิ่งที่มีอยู่กับสิ่งที่ไม่มีอยู่ ทั้งยังเรื่องภาษา เราต่างพบเห็นแบบแผนอย่างเดียวกันและตั้งชื่อแบบเดียวกัน อย่างเช่น บอกว่า "ส้ม" ในจดหมายฉบับที่ 10 เราจะได้เห็นว่าภาษาของเรามีอิทธิพลต่อโลกที่เราคิดว่า "อยู่ภายนอก" อย่างไร ด้วยปัจจัยทั้งสามอย่างรวมกัน นั่นคือการที่เรามีกายมนุษย์เหมือนกัน โตขึ้นมาในวัฒนธรรมเดียวกัน และพูดภาษาเดียวกัน ส่งผลให้เกิดความคล้ายคลึงกันระหว่างโลกของเราทั้งสอง และเพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติ เรามักเหมาเอาว่าเราอยู่ในโลกใบเดียวกัน

โลกจริงที่เรามักเรียกกันเช่นนั้นเป็นประสบการณ์ที่ปรุงแต่งขึ้นอย่างคล้ายคลึงกันจากโลกที่เป็นไปได้มากมาย เราซึ่งอยู่ในโลกทันสมัยไม่อาจมีประสบการณ์ต่อโลกใบอื่นได้ ทั้งนี้เพราะในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา สังคมมีอิทธิพลกำหนดไม่ให้เราสนใจกับโลกอย่างอื่น วิธีการของวิทยาศาสตร์คือการบอกว่าโลกที่เราสัมผัสได้เหมือน ๆ กันนั้นจึงจะเป็นโลกจริง อาชีพทางจิตแพทย์ซึ่งมีพื้นฐานจากวิทยาศาสตร์ก็ดำเนินไปตามหลักการนี้ อะไรที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนคนอื่นมักจะถูกกีดกันออกไปมากขึ้นเรื่อย ๆ เรามีความกลัวมากขึ้นต่อคนที่ดูเหมือนจะมีบุคลิกของตัวเอง อยู่กับตัวเอง เพราะพวกเขาตั้งคำถามต่อความจริงสำหรับโลกที่เราเห็นกันจนชาชิน

ประเด็นก็คือโลกสำเร็จรูปที่แยกจากตัวเราไม่ได้มีอยู่จริง โลกแบบที่บันทึกภาพโดยกล้องไม่มีอยู่จริง รวมทั้งโลกที่เราใช้จินตนาการสร้างขึ้นมาล้วน ๆ ก็ไม่ได้มีอยู่จริงเช่นกัน แต่ช่วงเวลาที่ผ่านไป โลกและตัวเราก็ถูกปลุกปั้นและคลุกเคล้าเข้าหากันมากขึ้นเรื่อย ๆ และความคิดและการปฏิบัติของเราก็สร้างสรรค์เส้นทางแห่งการดำรงชีวิตโดยผ่านการเป็นส่วนหนึ่งขององค์รวมดังกล่าว สิ่งที่เรารับรู้ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขปัจจัยต่าง ๆ แต่ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านั้น โลกที่เรารับรู้และโลกที่เราอาศัยอยู่เป็นโลกที่เราสร้างขึ้นมา

ก่อนที่พ่อจะจบจดหมายฉบับนี้ มีอีกอย่างหนึ่งที่พ่ออยากพูดถึงเกี่ยวกับแบบแผนของเบญจขันธ์ นั่นคือขันธ์ต่าง ๆ แยกจากกันอย่างไร ในประสบการณ์ระหว่างจิตและกาย เรามีความคุ้นเคยกับการแยกประสบการณ์ระหว่างกายและจิต เป็นเหตุให้มีการแยกเบญจขันธ์ให้เข้ากับการแบ่งแยกกาย-จิตเช่นนี้ ซึ่งอันที่จริงมันก็มีการแบ่งแยก แต่พ่ออยากชี้ให้เห็นว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่คงไม่พูดรายละเอียดมากมายในขั้นนี้ ขันธ์แรกคือความรู้สึกที่แบ่งแยกประสบการณ์ออกเป็น "ฉัน" ที่นี่กับ "มัน" ที่โน่น สอดคล้องกับสภาพกายภาพที่เราเป็นอยู่ ส่วนขันธ์ที่ 3 - 5 เกิดขึ้นในระดับจิตใจ เราเกิดความยึดมั่นต่อสิ่งนั้นและอยากไขว่คว้าสิ่งนั้น เราตีความทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเรา และเรามีวิญญาณการรับรู้ ส่วนขันธ์ที่ 2 ซึ่งได้แก่ เวทนา เป็นการเชื่อมโยงกายและจิตเข้าด้วยกัน พ่อจะกลับมาพูดเรื่องนี้ในจดหมายฉบับที่ 11 เมื่อพูดถึงการเชื่อมโยงกายและจิตซึ่งจะพาเราไปสู่ความรู้สึกในระดับใหม่

ลักษณะสำคัญของผู้ที่ขาดการปฏิบัติตามหลักของพุทธได้แก่ ผู้ที่มีแบบแผนของเบญจขันธ์ที่เกิดขึ้นแยกเป็นอิสระจากกัน นั่นคือการที่เราเกิดความรู้สึกชอบหรือชังโดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราได้เห็นหรือได้ยินในขณะนั้นจริง ๆ เรายึดมั่นถือมั่นต่อวัตถุและต่อบุคคลในชีวิตโดยไม่ได้มีความชอบพอในสิ่งนั้นอย่างแท้จริง และเราพยายามกำจัดบุคคลและสิ่งต่าง ๆ ที่อาจมีประโยชน์ต่อเรา เราตีความประสบการณ์ต่าง ๆ โดยไม่ได้ใส่ใจต่อความรู้สึกอย่างแท้จริง และอื่น ๆ รวมทั้งเราไม่มีสติรับรู้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นมากนัก

แต่ข่าวดีที่วิเศษเป็นอย่างยิ่งได้แก่ เราสามารถเชื่อมโยงแบบแผนของขันธ์ 5 เข้าด้วยกัน เราสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่เป็นองค์รวมและมีองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งทำงานอย่างบรรสานสอดคล้องกัน เราสามารถเชื่อมโยงความรู้สึกของเรากับสิ่งที่อยู่ภายนอก รับสิ่งที่ดีเข้าสู่ตัวและปล่อยสิ่งที่ไม่ดีออกไป สามารถตีความโลกอย่างเที่ยงตรง และอื่น ๆ แต่การทำเช่นนั้นได้ เราต้องตระหนักถึงแบบแผนทั้งหมด รวมทั้งกระบวนการทั้งหมดที่เบญจขันธ์มีอิทธิพลต่อประสบการณ์และความเป็นตัวของเรา

โดยธรรมชาติแล้วองค์ประกอบของแบบแผนพยายามที่จะทำงานอย่างบรรสานสอดคล้องร่วมกันเสมอ การขาดสติของเราต่างหากที่ทำให้สิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อเรามีสติต่อกระบวนการทั้งหมด เราก็ไม่ต้องทำอย่างอื่น เรานั่งเฉย ๆ ก็พอ

ในตอนบ่าย พ่อจะเขียนถึงลูกเกี่ยวกับการเชื่อมโยงกาย-จิตเข้าด้วยกัน พ่อจะเล่าให้ลูกฟังถึงคุณภาพใหม่ของความรู้สึก เป็นความรู้สึกที่ตื่นขึ้น เป็นจิตที่ตื่นขึ้น และเปิดรับเมื่อกายและจิตเชื่อมโยงกัน แต่ในตอนนี้ ประสบการณ์ของพ่อในปัจจุบันก็คือการที่ร่างกายกำลังส่งเสียงร้อง คร่ำครวญอย่างรุนแรงและชัดเจนในจิตว่า "ฉันตื่นแต่เช้าเมื่อเช้า และกินอาหารเช้านิดเดียว และตอนนี้ฉันหิวเหลือเกิน!"

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com