ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




12-12-2551 (1665)

ข้าม, ลอด, อ้อม, มุด: โลกาภิวัตน์ อุปลักษณ์เชิงเทศะและคำถามเกี่ยวกับอำนาจรัฐ
โลกาภิวัตน์อันตราย? : อุปลักษณ์เชิงเทศะและคำถามเกี่ยวกับอำนาจรัฐ
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปลและเรียบเรียง
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

แปลจาก: Peter Bratsis, "Over, Under, Sideways, Down: Globalization, Spatial Metaphors, and the Question of State Power,"
in Stanley Aronowitz and Heather Gautney (eds.), Implicating Empire (New York: Basic Books, 2003), p. 123-131.

บทแปลและเรียบเรียงต่อไปนี้ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งใน
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่าง
และกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก
มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน
และสิทธิชุมชนในประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้ลิขซ้าย (copyleft)

บทแปลและเรียบเรียงต่อไปนี้ ได้รับการนำมาเน้นประเด็นเป็นหัวข้อที่สำคัญ คือ
- ข้ออ้างและความหมายคำว่า "เหนือรัฐ" หมายถึงอะไร ?
- สังคมศาสตร์, สังคมวิทยา, เกิดขึ้นหลังจากวิทยาศาสตร์
- ข้อพิจารณาทางสังคมศาสตร์ ไม่ได้มองจากกฎหมายเพียงมุมเดียว
- แนวคิดแบบกฎหมายนิยม / รูปแบบนิยม กับความเสื่อมถอยของรัฐ
- การเมืองถูกเปลี่ยนโฉมหน้าไปพร้อม ๆ กับการต่อสู้ทางสังคม
- ข้างใน-ข้างนอก" บอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการเมืองสมัยใหม่
- อัตลักษณ์ของชาติยิ่งเข้มแข็งมากขึ้นในช่วงระยะหลัง
- เหรียญกษาปน์ยูโรใหม่ มีด้านหนึ่งเป็นภาพของประเทศที่เป็นสมาชิก
- Polis หาใช่อะไรอื่นนอกจากพลเมือง ไม่มีความเกี่ยวข้องกับอาณาเขต
- เทศะของโลกยุคโบราณ กับเทศะในโลกยุคทุนนิยมสมัยใหม่
- การปฏิเสธจุดยืนเชิงยุทธศาสตร์ ๓ ประการ ซึ่งมีอยู่ในงานเขียน"โลกาภิวัตน์"
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๖๕
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๖.๕ หน้ากระดาษ A4)


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ข้าม, ลอด, อ้อม, มุด: โลกาภิวัตน์ อุปลักษณ์เชิงเทศะและคำถามเกี่ยวกับอำนาจรัฐ
โลกาภิวัตน์อันตราย? : อุปลักษณ์เชิงเทศะและคำถามเกี่ยวกับอำนาจรัฐ
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปลและเรียบเรียง
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

ความนำ
นักคิดจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนในปัจจุบันต่างแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐและอำนาจทางการเมือง โดยมักให้เหตุผลว่า ภายใต้บริบทของโลกาภิวัตน์ รัฐจะมีอำนาจน้อยลงเรื่อย ๆ ข้อถกเถียงแบบนี้ส่วนใหญ่มักเดินตามตรรกะว่า อำนาจทางการเมืองในปัจจุบันดำรงอยู่ "เหนือ" รัฐและ "พ้นจาก" รัฐ ยิ่งวันรัฐยิ่ง "กลวงเปล่า" ลงเรื่อย ๆ และอำนาจในปัจจุบันครอบงำเหนือเทศะทางการเมืองแห่งชาติที่มีการจัดอาณาเขตใหม่ จนนำไปสู่การลดทอนอำนาจอัตตาณัติของรัฐและทำให้การเมืองระดับชาติเกิดอาการลัดวงจร

บทความนี้เป็นความพยายามโดยสังเขปที่จะทำความเข้าใจกับข้ออ้างเหล่านี้ และชี้ให้เห็นสมมติฐานเบื้องหลังบางประการที่ซุกซ่อนอยู่ข้างใต้ ข้อถกเถียงสำคัญของบทความนี้มีอยู่ว่า การบรรยายลักษณะเฉพาะของรัฐในยุคโลกาภิวัตน์ในแบบดังกล่าวข้างต้น สะท้อนถึงการใช้กฎหมายมาทำความเข้าใจว่า รัฐคืออะไรมากเกินไป รวมทั้งยังพยายามบ่งชี้สถานะตำแหน่งและวงจรของอำนาจทางการเมืองในปัจจุบันด้วยอุปลักษณ์เชิงเทศะที่ไม่ถูกต้อง. ในตอนท้ายที่เป็นข้อสรุป ผู้เขียนจะชี้ให้ว่า การวิพากษ์งานเขียนเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ จะทำให้เราได้ข้อสรุปบางประการที่สามารถนำไปใช้เป็นยุทธศาสตร์และการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ข้ออ้างเกี่ยวกับเทศะในงานเขียนเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ มีลักษณะเชิงอุปลักษณ์ในแง่ไหน? เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่า ข้อความเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวและตำแหน่งเชิงเทศะไม่ได้มีลักษณะเชิงอุปลักษณ์ไปเสียทั้งหมด เมื่อเรากล่าวว่า มีอะไรบางอย่างอยู่ใต้ก้อนหิน บนพื้น ฯลฯ ข้อความเช่นนี้มีความหมายตามตัวอักษร อย่างไรก็ตาม เทศะเชิงกายภาพในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นมีความแตกต่างอย่างยิ่งจากเทศะของรัฐ เราเห็นได้ว่า ฝูงนกอพยพ พายุเฮอร์ริเคน และฝนกรด ต่างก็ไม่แยแสสนใจเทศะของรัฐ ไม่ว่าเราจะขีดเส้นพรมแดนทางการเมืองขึ้นมาใหม่กี่ครั้งก็ตาม ก็ไม่มีความแตกต่างอะไรเลยสำหรับปรากฏการณ์ธรรมชาติ เทศะของรัฐมีความหมายเฉพาะต่อมนุษย์เท่านั้น มันเป็นเทศะเชิงสัญลักษณ์และเชิงญาณวิทยา เป็นข้อเท็จจริงเชิงสังคม (1)

(1) โปรดดู Durkheim (1982) เกี่ยวกับมาตรฐานคำนิยามว่า ข้อเท็จจริงเชิงสังคมคืออะไร และโปรดดู Bratsis (2000) ซึ่งพิจารณาโดยละเอียดว่า ทำไมรัฐจึงเป็นข้อเท็จจริงเชิงสังคม

ข้ออ้างและความหมายคำว่า "เหนือรัฐ" หมายถึงอะไร ?
ดังนั้น เวลาพูดว่า "เหนือ" รัฐ มันหมายถึงอะไร? ข้อความที่ยืนยันว่า อำนาจในปัจจุบันดำรงอยู่ "เหนือ" รัฐ มีความหมายภายใต้เงื่อนไขแบบไหน? แน่นอน สำหรับการเมืองปัจจุบัน กฎหมายคือสิ่งที่กำหนดความแตกต่างพื้นฐานระหว่าง "ข้างใน-ข้างนอก" ให้เรา สนธิสัญญาทางกฎหมายและปฏิญญาต่าง ๆ คือสิ่งที่กำหนดขอบเขตและขีดจำกัดเชิงอาณาเขตของอำนาจอธิปไตยทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ ข้อถกเถียงในปัจจุบันที่อ้างถึงความเสื่อมถอยของรัฐและอำนาจอธิปไตยของรัฐ จึงเน้นประเด็นที่พรมแดนเชิงอาณาเขตของรัฐต่าง ๆ ถูกลดทอนความสำคัญลงอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากข้อตกลงในเชิงกฎหมายที่เป็นทางการระหว่างรัฐ เช่น นาฟตา สหภาพยุโรป สหประชาชาติ ไอเอ็มเอฟ ฯลฯ

ข้ออ้างเช่นนี้มีทั้งแบบอ่อน (เช่น Strange, 1996; Shaw, 2000) ซึ่งอ้างว่า ตอนนี้เรากำลังเผชิญกับรัฐเหนือชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ อภิมหารัฐที่มีอำนาจครอบคลุมรัฐชาติอธิปัตย์จำนวนมาก ส่วนข้ออ้างแบบแข็ง (เช่น Hardt and Negri, 2000) อ้างว่า เรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนผันที่ค่อย ๆ ถอยห่างจากระบบอาณาเขตเป็นใหญ่ (territoriality) และรูปแบบของรัฐ เรากำลังก้าวเข้าสู่ตรรกะทางการเมืองใหม่ที่เรียกว่า "อภิจักรภพ" อีกทั้งตรรกะแบบ "ข้างใน-ข้างนอก" ของรัฐถูกแทนที่เป็นอย่างอื่นไปแล้ว ในข้ออ้างทั้งสองแบบ อำนาจทางการเมืองที่ดำรงอยู่ "เหนือ" และ "พ้นจาก" รัฐ ล้วนเกี่ยวเนื่องกับขีดจำกัดเชิงอาณาเขตอย่างเป็นทางการของรัฐชาตินั่นเอง

สังคมศาสตร์, สังคมวิทยา, เกิดขึ้นหลังจากวิทยาศาสตร์
แต่ "ข้างนอก" เชิงกฎหมายนี้เป็น "ข้างนอก" จริง ๆ หรือเปล่า? เราสามารถยึดถือว่ามี "ข้างนอก-ข้างใน" เกิดขึ้นจริง ๆ เพียงเพราะกฎหมายและปฏิญญาต่าง ๆ เขียนไว้เท่านั้นเองหรือ? ดังที่ Goran Therborn (1976) ให้เหตุผลไว้ว่า สังคมศาสตร์เริ่มมีขึ้นในช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่มีนัยยะพิเศษอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่สังคมศาสตร์เกิดขึ้นพร้อมกับยุคแสงสว่างทางปัญญา (The Enlightenment) แต่สังคมศาสตร์อย่างที่เรารู้จักกัน (โดยยกเว้นเศรษฐศาสตร์บางส่วน) เกิดขึ้นหลังฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และเคมีนานมาก สังคมศาสตร์เกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติกระฏุมพีในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 เมื่อกฎหมายกำหนดให้พลเมืองทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ทันทีที่กฎหมายประกาศให้พลเมืองทุกคนเท่าเทียมกัน สังคมศาสตร์ (โดยเฉพาะสังคมวิทยา) ก็เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่ประเมินความจริงเท็จของคำประกาศนี้ เพื่อตั้งคำถามว่าความเป็นจริงสอดคล้องกับคำกล่าวอ้างของกฎหมายหรือเปล่า

ในยุคก่อนหน้านี้ กฎหมายคือทางลัดในการทำความเข้าใจการเมือง คำถามเกี่ยวกับสถานะและการกระจายอำนาจทางการเมือง สามารถหาคำตอบได้ง่าย ๆ ด้วยการดูจากกฎหมาย การมองจากมุมสูงของกฎหมาย ทำให้เราเข้าใจสถานะอำนาจของทาส ไพร่ (serf) เจ้าที่ดิน และลอร์ดในระบบฟิวดัลอย่างชัดเจน แต่หลังจากการปฏิวัติกระฎุมพีเป็นต้นมา การวิเคราะห์ทางการเมืองไม่สามารถพึ่งการศึกษากฎหมายเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากตัวบทกฎหมายและสภาพการณ์ทางการเมืองจริง ๆ ได้แยกขาดออกจากกันเสียแล้ว

ข้อพิจารณาทางสังคมศาสตร์ ไม่ได้มองจากกฎหมายเพียงมุมเดียว
แต่มาถึงวันนี้ เราเห็นการถอยหลังกลับไปหาวิธีคิดทางสังคมยุคก่อนวิทยาศาสตร์ เรารู้ได้อย่างไรว่า อำนาจทางการเมืองอยู่พ้นไปจากรัฐ คำว่า "พ้นไปจาก" นี้อยู่ที่ไหน? อยากรู้ก็ดูกฎหมายสิ กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดความแตกต่างนี้ขึ้นมา กฎหมายบอกเราว่า อะไรอยู่ "ข้างนอก" กฎหมายบอกเราว่า รัฐชาติสูญเสียความเป็นผู้กระทำให้แก่สถาบันระหว่างประเทศหรือสถาบันยุค "หลังชาติ" (post-national institutions) กฎหมายบอกเราว่า รัฐเป็นผู้กระทำและการที่รัฐสูญเสียความสามารถในการกระทำและการตัดสินใจ ย่อมตามมาด้วยการสูญเสียอัตตาณัติในทันที กล่าวโดยสรุปคือ นักคิดยุคปัจจุบันทำความเข้าใจการเมืองราวกับวิธีคิดเชิงสังคมศาสตร์ตลอดสองร้อยปีที่ผ่านมาไม่เคยเกิดขึ้นเลย ทั้งยังไม่รักษาระยะห่างระหว่างตัวเรา กฎหมาย และสิ่งที่ปรากฏด้วย

เพราะการใช้ความแตกต่างที่กฎหมายกำหนดระหว่าง "ข้างใน-ข้างนอก" เราจึงมีแนวโน้มที่จะมองเทศะของรัฐราวกับมันมีลักษณะแบบเดียวกับเทศะในธรรมชาติและสถาปัตยกรรม เรายึดติดกับประสบการณ์เชิงเทศะในชีวิตประจำวัน และพลอยยืนยันไปด้วยว่า เทศะของการเมืองและรัฐก็เหมือนกับเทศะที่เราประสบในการดำรงอยู่ทุกวี่วันนั่นเอง เราอาศัยการใช้อุปลักษณ์ การกล่าวว่า ความเข้าใจเช่นนี้มีลักษณะเชิงอุปลักษณ์ ก็เท่ากับบอกว่าความเข้าใจแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและถอยหลังไปยุคก่อนวิทยาศาสตร์ มันเป็นการทำความเข้าใจการเมืองยุคปัจจุบันแบบ "ก่อนทฤษฎี" (pre-theories) (2)

(2) โปรดดู Bachelard (1987) เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างการคิดเชิงอุปลักษณ์ และการคิดแบบวิทยาศาสตร์

แทนที่เราจะสร้างความเข้าใจจากการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนและการอธิบายเชิงสาเหตุ-ผลลัพธ์ กลับไปคว้าเอาภาพสะท้อนผิวเผินของประสบการณ์ที่เรามีต่อโลกาภิวัตน์ และภาพที่โลกาภิวัตน์ปรากฏและเสนอตัวเองต่อเรา. ความเข้าใจ "ก่อนทฤษฎี" แบบนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป มันอาจมีประโยชน์ในการผลักดันการตั้งคำถามเชิงวิเคราะห์ไปสู่ทิศทางใหม่ ๆ มันอาจนำไปสู่ความใคร่รู้ และปรารถนาที่จะเข้าใจและอธิบายความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปัจจุบัน กระนั้นก็ตาม โดยตัวมันเองแล้ว นี่เป็นความเข้าใจแบบไร้เดียงสาและไขว้เขวอย่างยิ่ง

แนวคิดแบบกฎหมายนิยม / รูปแบบนิยม กับความเสื่อมถอยของรัฐ

รัฐคือผู้กระทำเพียงหนึ่งเดียว จริงหรือ ?

แนวคิดแบบกฎหมายนิยม / รูปแบบนิยม (legalism / formalism) ที่มีอิทธิพลต่อข้ออ้างเกี่ยวกับความเสื่อมถอยของรัฐข้างต้น นำไปสู่ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับรัฐและอำนาจทางการเมือง ทำให้เรายอมรับแนวคิดเกี่ยวกับรัฐในแบบประวัติศาสตร์นิยม (historicism) ที่เชื่อว่า รัฐคือผู้กระทำเพียงหนึ่งเดียว เช่นเดียวกับจุดยืนแบบสัจนิยม (realism) ในทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนทำให้ทึกทักไปว่า อำนาจอธิปไตยก็คือความสามารถในการตัดสินใจอย่างอิสระของรัฐ แต่การที่รัฐเป็นผู้กระทำที่มีอัตตาณัติในกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ได้หมายความว่าเราควรเชื่อว่ามันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ

เราทุกคนรู้ดีว่า ตลอดทั่วทั้งโลก นับตั้งแต่เม็กซิโกและแอลจีเรียไปจนถึงเกาหลีและญี่ปุ่น ล้วนแล้วแต่มีขีดจำกัดที่เข้มงวดและอำนาจควบคุม "ข้างนอก" ว่าทำอะไรได้อะไรไม่ได้เสมอ แม้แต่รัฐที่ "ทรงอำนาจ" มากที่สุด กล่าวคือ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อดีตสหภาพโซเวียต ฯลฯ ก็ตกอยู่ภายใต้ "ขีดจำกัด" เช่นกัน สิ่งที่เกิดขึ้นจริงไม่ใช่การที่รัฐกระทำในเชิงอุปลักษณ์เหมือนบุคคลที่ "เลือก" นโยบายนั้นหรือนโยบายนี้ แต่สิ่งที่เป็นความจริงก็คือ การต่อสู้ทางสังคม และการกระจายอำนาจภายในแต่ละรัฐ คือกลไกที่กำหนดกฎหมายและนโยบาย

ถึงแม้การต่อสู้เหล่านี้อาจเกิดขึ้นภายในบริบทจำกัดเชิงสถาบัน และมีโอกาสประสบความสำเร็จแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับรูปแบบและการเลือกที่รักมักที่ชังของสถาบันที่เกี่ยวข้อง แต่มันจะกลายเป็นความเข้าใจไขว้เขวและหยาบง่ายเกินไป หากบอกว่า คราวก่อนสหรัฐอเมริกาเลือกที่จะเป็นนักคุ้มครอง (protectionist) และแยกตัวเองโดดเดี่ยว แล้วตอนนี้ก็เลือกที่จะเป็นตรงกันข้าม (3) นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น

(3) ประเด็นเกี่ยวกับการเลือกที่รักมักที่ชังของสถาบันรัฐ โปรดดู Offe (1973), Poulantzas (1978) และ Jessop (1990)

การเมืองถูกเปลี่ยนโฉมหน้าไปพร้อม ๆ กับการต่อสู้ทางสังคม
ตรงกันข้ามกับการทำความเข้าใจรัฐด้วยกฎหมายเพียงอย่างเดียว หากเราตั้งสมมติฐานว่า การเมืองถูกปั้นเปลี่ยนโฉมหน้าไปพร้อม ๆ กับการต่อสู้ทางสังคม เราก็จะไม่ตั้งคำถามเกี่ยวกับ "อัตตาณัติ" ของรัฐอีกต่อไป ทั้งนี้เพราะในทุกที่ทุกเวลา รัฐย่อมไม่มีอัตตาณัติที่แท้จริง เนื่องจากรัฐไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากบทสรุปอันเข้มข้นของการต่อสู้และความขัดแย้งของกลุ่มและชนชั้นในสังคม

ในทำนองเดียวกัน ทั้งฝ่ายที่อ้างว่ารัฐกำลังมีความสำคัญเสื่อมถอยลง และฝ่ายที่เถียงว่าไม่จริง (เช่น Weiss, 1998) ต่างก็เน้นไปที่จุดเดียวกัน กล่าวคือ ความสามารถของรัฐในการออกกฎหมายและกำกับดูแลสังคม อีกนั่นแหละ นักคิดเหล่านี้ยังคงนำเสนออำนาจอธิปไตยในฐานะความสามารถในการตัดสินใจอย่างเป็นอิสระอยู่ดี อย่างไรก็ตาม อำนาจที่แท้จริงหรือความไร้อำนาจของรัฐไม่ใช่สิ่งที่เรามองเห็นได้จากการมีอยู่หรือไม่มีการตัดสินใจและการกำกับดูแล ทั้งนี้เพราะการไม่มีการกำกับดูแลก็คือ การมีอยู่ของการกำกับดูแลในอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง (4) เราไม่ควรพูดถึงรัฐ ราวกับรัฐเป็นผู้กระทำที่รู้จักคิดคำนวณ ซึ่งมีความโน้มเอียงชอบทำแบบนั้นหรือทำแบบนี้ แล้วมาสูญเสียความสามารถในการตัดสินใจอย่างอิสระแก่สถาบันและผู้กระทำข้ามชาติ

(4) มีนักคิดหลายคนใช้ข้อถกเถียงนี้ นับตั้งแต่ Gramsci (1971, 160) ไปจนถึง Katznelson (1986)

ข้างใน-ข้างนอก" บอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการเมืองสมัยใหม่
การใช้อุปลักษณ์ว่าอำนาจทางการเมืองดำรงอยู่ "เหนือ" รัฐชาติ จึงเท่ากับอ้างถึงเทศะที่สมมติขึ้นมาและไม่มีอยู่จริง เทศะที่พ้นไปจากรัฐนั้นไม่มีอยู่ให้ค้นพบที่ไหน เราไม่เคยอยู่ "นอกรัฐ" จริง ๆ เลย ต่อให้เราอาจอยู่นอกหรือในรัฐใดรัฐหนึ่ง กระนั้นก็ตาม ความแตกต่างระหว่าง "ข้างใน-ข้างนอก" นี้ บอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการเมืองสมัยใหม่และการจัดการเทศะของสังคมในยุคปัจจุบัน

ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า เทศะของรัฐเป็นข้อเท็จจริงทางสังคม เป็นสัญลักษณ์ในเชิงญาณวิทยา ถ้าเช่นนั้น เราวาดมโนภาพเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง "ข้างนอก-ข้างใน" ในความคิดของเราอย่างไร? สิ่งที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่าง "ข้างใน-ข้างนอก" ในเชิงกฎหมายนิยม/รูปแบบนิยมก็คือ ชุมชนทางการเมืองแห่งชาติ

คำว่า "ข้างใน" จริง ๆ แล้วก็คือภายในสังคมของเรา ซึ่งก็คือชุมชนทางการเมืองนั่นเอง การทำให้เป็นปัจเจกบุคคลมีความเป็นชาติ (nationalization of individuals) คือกระบวนการที่ทำให้พรมแดนทางการเมืองตามกฎหมายมีอำนาจบังคับและชอบธรรม เมื่อเรายอมรับว่า เราเป็นชาวแคนาดา, ไอริช, ไซปรัส, หรืออิสราเอล, พรมแดนทางการเมืองแห่งชาติย่อมได้รับการยอมรับและกลายเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่กอปรกันขึ้นเป็นโลกสังคมของเรา การกบฏต่ออำนาจอย่างแท้จริงและก้าว "พ้นไปจาก" เทศะของรัฐ ย่อมหมายถึงวิกฤตการณ์ทางอัตลักษณ์ของชาติ หมายความว่าอัตลักษณ์ของชาติต่าง ๆ ถูกกระบวนการโลกาภิวัตน์ทำลายลง รวมทั้งวิภาษวิธีของ "ข้างใน-ข้างนอก" ของรัฐได้รับการยอมรับน้อยลง ๆ และมีความสำคัญต่อการเมืองลดน้อยลงไปด้วย

อัตลักษณ์ของชาติยิ่งเข้มแข็งมากขึ้นในช่วงระยะหลัง
คำถามคือ เราเห็นอะไรแบบนี้เกิดขึ้นแล้วหรือ? ผู้เขียนกลับคิดในทางตรงกันข้าม เราพอจะพูดได้เต็มปากด้วยซ้ำไปว่า ความเป็นอัตลักษณ์ของชาติยิ่งเข้มแข็งมากขึ้นในช่วงระยะหลัง ๆ หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 อเมริกาตกอยู่ท่ามกลางกระแสหวนคืนของลัทธิชาตินิยม ความเป็นจริงข้อนี้เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็เห็นได้เมื่อเดินไปตามท้องถนนในกรุงนิวยอร์กซิตี ยิ่งไม่ต้องพูดถึงในเมืองดิมอยน์ (รัฐไอโอวา) หรือเมืองทัลซา (รัฐโอคลาโฮมา) ความเข้มข้นที่ชาวอเมริกันแสดงออกถึงผลประโยชน์แห่งชาติ และชุมชนทางการเมืองอย่างเป็นธรรมชาติและชัดเจนเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด. แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายหัวก้าวหน้าอย่าง The Nation และ Dissent ก็ยังสะท้อนเสียงที่บ่งบอกถึงจิตใจรักชาติในแบบชาตินิยม (5)

(5) จุดยืนแบบลัทธิรักชาติที่หนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับแสดงออกมา เห็นได้จากการนำเสนอว่า วินาศกรรม 11 กันยายน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ หรือความไม่เท่าเทียมในระบบทุนนิยม หนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับคล้อยตามข้ออ้างของประธานาธิบดีจอร์จ บุช ที่กล่าวว่า วินาศกรรมครั้งนี้คือ การเผยตัวตนของ "ความชั่วร้าย" หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือ การเผยตัวของกลุ่มคน วัฒนธรรมและอุดมการณ์ที่ "เลว"

ตัวอย่างที่เห็นชัดมีอาทิ Christopher Hitchens (2001) ที่อ้างว่า ความพยายามที่จะอธิบายวินาศกรรม 11 กันยายน คือการสร้างเหตุผลชอบธรรมให้แก่การก่อการร้ายและการต่อต้านอเมริกาด้วยความรุนแรง และ Mitchell Cohen (2002) บรรณาธิการร่วมของ Dissent ที่อ้างว่า การเชื่อมโยงการก่อการร้ายเข้ากับปัญหาโลกาภิวัตน์ อำนาจบรรษัทและการต่อสู้ทางชนชั้น เป็นสิ่งที่เลวร้าย ใครก็ตามที่พยายามเชื่อมโยงเช่นนี้เป็นแค่ปัญญาชนโง่เง่าฉวยโอกาส ซึ่งไม่สมควรได้รับความเชื่อถือ "เราคงแทบคาดหมายได้ว่า พวกเขาจะอธิบายการที่ลูกน้องบินลาเดนโจมตีเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ว่า เป็นเพราะโธมัส เจฟเฟอร์สันก็เคยมีทาส (ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า พวกไซอันนิสต์เป็นคนขายทาสให้เขา)"

ในทำนองเดียวกัน ยุโรปตะวันออกยุคหลังสหภาพโซเวียตก็เต็มไปด้วยโครงการชาตินิยมมากมาย หลาย ๆ คนที่อุปโลกน์ตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภูมิภาคนี้ต่างก็ออกมาประสานเสียงบอกเราว่า ความคลั่งไคล้ในลัทธิชาตินิยมเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวมาแต่เกิดในหมู่กลุ่มชนแถบนั้นที่ค่อนข้างล้าหลัง ซึ่งแตกต่างตรงกันข้ามจากลัทธิชาตินิยม "อารยะ" ของโลกตะวันตกพัฒนาแล้วที่มีพหุวัฒนธรรม การที่ลัทธิชาตินิยม "ชาติพันธุ์" ของยุโรปตะวันออกหวนกลับมาปรากฏในตอนนี้ ก็เพราะการกดขี่ของคอมมิวนิสต์หมดไปแล้ว และความเป็นจริงของสังคมประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้กำลังปรากฏออกมาให้ทุกคนได้เห็น (แน่นอน ความแตกต่างระหว่างคำว่า "อารยะ"/"ชาติพันธุ์" เป็นแค่เกมเชิงอรรถศาสตร์ [semantic] ที่นักวิเคราะห์การเมืองยุคใหม่ชอบเล่น เพียงเพื่อจะได้สร้างความชอบธรรมให้ลัทธิชาตินิยมและลัทธิคลั่งชาติของตะวันตก พร้อม ๆ กับนำเสนอภาพลัทธินี้ในตะวันออกให้ดูเหมือนอาการทางจิต)

แม้แต่งานเขียนเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ (ดังที่ได้อภิปรายมาแล้วข้างต้น) ก็ไม่สามารถสร้างความรู้ที่ทะลวงกรอบออกไปจากมโนทัศน์พื้นฐานเกี่ยวกับรัฐ ทั้งนี้เนื่องจากข้ออ้างจำนวนมากในงานเขียนเหล่านี้ล้วนวางพื้นฐานอยู่บนการดำรงอยู่ และความเป็นศูนย์กลางของรูปแบบและการอ้างอิงเชิงเทศะที่รัฐสร้างขึ้นมาเพื่อตัวมันเอง ทั้งการวิเคราะห์และการปฏิบัติทางการเมืองคอยตอกย้ำเราเสมอว่า ด้วยการใช้มโนทัศน์พื้นฐานเกี่ยวกับรัฐชาติเท่านั้น เราจึงจะเข้าใจและดำรงชีวิตในโลกสมัยใหม่ได้

เหรียญกษาปน์ยูโรใหม่ มีด้านหนึ่งเป็นภาพของประเทศที่เป็นสมาชิก
อุปลักษณ์เชิงเทศะเกี่ยวกับ "ข้าม" และ "เหนือ" จึงจำต้องพาดพิงถึงระบบอาณาเขตของรัฐชาติ แม้กระทั่งสหภาพยุโรปก็ตอกย้ำความสำคัญสูงสุดของรูปแบบรัฐชาติมาตลอด เหรียญกษาปน์ยูโรใหม่มีด้านหนึ่งที่เป็นภาพเฉพาะของประเทศที่เป็นสมาชิก การกำกับดูแลของสหภาพยุโรปก็มีขีดจำกัดในลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของแต่ละชุมชนประเทศ อุดมการณ์ทางการเมืองของการรวมสหภาพยุโรปทำงานมาได้ดีจนถึงบัดนี้ ก็เพราะทุกคนรู้ดีว่าเราไม่ควรยึดถืออุดมการณ์นี้อย่างจริงจังเกินไปนั่นเอง

ไม่มีใครเคยนึกคิดจริงจังว่า ชาวกรีกควรถูกฟ้องร้องหรือควรถูกดัดนิสัย เพียงเพราะพวกเขาชอบกินไส้แพะไส้แกะ ซึ่งขัดต่อระเบียบข้อบังคับด้านอาหารของสหภาพยุโรป หากเมื่อไรมีเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปสักคนเกิดยืนกรานที่จะใช้ข้อบังคับของสหภาพยุโรปกับประเทศสมาชิกทุกประเทศอย่างเท่าเทียม หมอนั่นคงไม่เข้าใจความเป็นจริงทางการเมืองเลย ถึงได้ยึดถือจริงจังตามตัวอักษรในบทบัญญัติว่า ประเทศสมาชิกทุกประเทศมีความเป็น "ยุโรป" อย่างแท้จริงและเท่าเทียมกัน ลองนึกถึงความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าที่จะเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากมีคนเสนอให้ลดภาษีสุราในสวีเดน หรือขึ้นภาษีบุหรี่ในอิตาลี เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของสหภาพยุโรปดูสิ

เราเห็นภาพชัดขึ้นเรื่อย ๆ ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับมโนทัศน์เทศะในยุคโบราณ ระบบอาณาเขตของรัฐชาติเป็นสิ่งที่ฝังลึกและจำเป็นต่อการทำหน้าที่ในฐานะรัฐทุนนิยม มโนทัศน์เกี่ยวกับเทศะทางการเมืองในอารยธรรมตะวันตกยุคโบราณนั้น ไม่มีมิติเชิงเทศะแบบ "ข้างใน-ข้างนอก" แบบที่กล่าวถึงข้างต้นเลยแม้แต่น้อย ดังที่ Nicos Poulantzas (*) อภิปรายไว้ใน State, Power, Socialism ว่า:

(*) Nicos Poulantzas (1936-1979) was a Greco-French Marxist political sociologist. In the 1970s, Poulantzas was known, along with Louis Althusser, as a leading Structural Marxist and while at first a Leninist, he eventually became a proponent of eurocommunism. He is most well-known for his theoretical work on the state. But he also offered Marxist contributions to the analysis of fascism, social class in the contemporary world, and the collapse of the dictatorships in Southern Europe in the 1970s (e.g. Franco's rule in Spain, Salazar's in Portugal, and Papadopoulos's in Greece).

เทศนะในอารยธรรมตะวันตกยุคโบราณเป็นเทศะที่มี ศูนย์กลาง กล่าวคือ นครรัฐ (polis) (นครรัฐก็มีศูนย์กลางของมันเองอีกทีหนึ่ง นั่นคือ จัตุรัส (agora--พื้นที่เปิดโล่งที่ใช้ประชุมสภาหรือตลาด) แต่ไม่มีพรมแดนในความหมายแบบสมัยใหม่ แม้จะมีวงอำนาจซ้อนกันเป็นชั้น ๆ แต่เนื่องจากไม่มี "ข้างนอก" จริง ๆ มันจึงมีลักษณะเปิด

ศูนย์กลางนี้ (polis และ agora) ถูกวางตำแหน่งไว้ในเทศะซึ่งมีลักษณะพิเศษ นั่นคือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความสมมาตร ไม่ใช่ความแตกต่างและลำดับชั้น ยิ่งกว่านั้น แนวโน้มในเชิงเรขาคณิตนี้ยังถูกผลิตซ้ำในการจัดการทางการเมืองของนคร และความสัมพันธ์แบบ 'isonomy'* (ความเท่าเทียมเบื้องหน้ากฎหมาย-ประชาธิปไตย) ในหมู่พลเมือง....

(*) isonomy เป็นคำมาจากภาษากรีก มีความหมายว่า "ความเท่าเทียมเบื้องหน้ากฎหมาย. ในสมัยกรีก คำ ๆ นี้มักใช้ในความหมายเดียวและใช้แทนกันได้กับคำว่า "ประชาธิปไตย"

ในเทศะนี้ (ซึ่งมียูคลิดและสำนักไพธากอรัสเป็นตัวแทน) ประชาชนไม่เปลี่ยนแปลงสถานภาพของตัวเอง พวกเขาเพียงแต่เคลื่อนที่ไปรอบ ๆ พวกเขาไปสถานที่เดิมเสมอ เพราะแต่ละจุดในเทศะนี้ก็คือ "การทำซ้ำจุดก่อน" เมื่อพวกเขาก่อตั้งอาณานิคม อาณานิคมนั้นเป็นเพียงแบบที่จำลองมาจากเอเธนส์หรือกรุงโรมเท่านั้นเอง
(Poulantzas, 1978, 101)

Polis หาใช่อะไรอื่นนอกจากพลเมือง ไม่มีความเกี่ยวข้องกับอาณาเขต
สังคมกรีกโบราณมีลำดับชั้นก็จริง แต่ไม่ใช่การจัดการในเชิงเทศะ จริงอยู่ ผู้หญิง ทาส พ่อค้าและคนกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พลเมือง ล้วนมีสถานะทางการเมืองต่ำกว่าพลเมือง แต่สถานะของคนเหล่านี้ถูกลิขิตมาในร่างกายของพวกเขา ไม่ว่าพวกเขาจะไปที่ไหน ไม่ว่าในจุดไหนก็ตามในเทศะแบบวงกลมที่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ นี้ พวกเขาก็จะพบเจอตัวเอง พวกเขาจึงอยู่ที่จุดเดิมเสมอ ในทำนองเดียวกัน ชุมชนทางการเมืองในสมัยนั้นก็ไม่ได้ถูกกำหนดในเชิงเทศะ. polis หาใช่อะไรอื่นนอกจากพลเมืองนั่นเอง มันไม่มีความเกี่ยวข้องกับอาณาเขตเลย ดังที่ธูซีดิดีส (Thucydides) กล่าวไว้ว่า "Andres gar polis" (" 'polis' is the men")

เช่นเดียวกัน รัฐธรรมนูญที่อริสโตเติลเขียนถึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับกฎหมายที่ปกครองหน่วยทางอาณาเขตที่แน่นอนเลย คำแปลบทวิเคราะห์กฎหมายเอเธนส์ของอริสโตเติลที่ถูกต้องจริง ๆ ก็คือ รัฐธรรมนูญของชาวเอเธนส์ ไม่ใช่ รัฐธรรมนูญของอาณาจักรเอเธนส์. กล่าวคือ อริสโตเติลเขียนถึงการที่ชาวเอเธนส์รวมตัวกันเป็นการปกครอง สิ่งที่ชาวเอเธนส์ร่วมกันสร้างขึ้นมาคือ polis เมื่อพลเมืองเอเธนส์เข้าสู่สงคราม ทั้งเอเธนส์ก็เคลื่อนไหว การตัดสินใจทุกอย่าง เจตจำนงทุกประการ พลเมืองล้วนเป็นผู้สร้างขึ้น ทั้งนี้เพราะพลเมืองเท่านั้นที่เป็น polis และ polis ก็คือพลเมืองนั่นเอง (โปรดดู Castoriadis, 1991)

เทศะของโลกยุคโบราณกับเทศะในโลกยุคทุนนิยมสมัยใหม่
มีความแตกต่างห่างไกลมากระหว่างเทศะของโลกยุคโบราณกับเทศะในโลกยุคทุนนิยมสมัยใหม่. ในสังคมสมัยใหม่ เทศะของเราถูกแบ่งแยกและแตกเป็นส่วนเสี้ยว ลำดับชั้นทางสังคมของระบบทุนนิยมมีลักษณะสอดคล้องกับการแบ่งงานกันทำในการผลิตแบบทุนนิยม ทั้งในเชิงเทศะและเทคนิค ตำแหน่งแห่งที่ของคน ๆ หนึ่งในลำดับชั้นทางสังคม โดยมากมักถูกกำหนดโดยตำแหน่งแห่งที่ของคน ๆ นั้นภายในกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นสายพานการประกอบชิ้นส่วน ครัว หรือร้านขายปลีก มีการจัดการเทศะทั้งแบบต่อเนื่อง แบ่งกระจายออกเป็นส่วน ๆ และจำกัดเฉพาะที่ ซึ่งทั้งหมดนี้จำเป็นต่อการขูดรีดในระบบทุนนิยม

สภาพแวดล้อมเชิงเทศะของการแบ่งชนชั้นและลำดับชั้นในสังคมปัจจุบัน มีความแตกต่างจากสังคมชนชั้นยุคก่อนสมัยใหม่ ตรงที่ปัจเจกบุคคลในปัจจุบันเปลี่ยนสถานะทางชนชั้นด้วยการย้ายข้ามระยะทางระหว่างการแบ่งแยกเหล่านี้ ประเด็นนี้แสดงออกมาอย่างชัดเจนในรายการโทรทัศน์ซิทคอมเรื่อง The Jeffersons ซึ่งเป็นรายการยอดนิยมในอเมริกาช่วงทศวรรษ 1970 การเปลี่ยนสถานะทางชนชั้นหมายถึง "การไต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ" ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรทีเดียว

เราใช้ชีวิตประจำวันกันตามปรกติในเทศะที่แบ่งออกเป็นส่วน ๆ ในระบบทุนนิยม ซึ่งถูกรวมให้เป็นหนึ่งเดียวกันด้วยวิธีการสองอย่างคือ

ประการแรก มีการสร้างจินตนากรรมของการรวมเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยตำนานแห่งชาติ กล่าวคือ สิ่งสมมติและความเชื่อโดยทั่วไปว่า เราเป็นประชาชาติเดียวกัน ถึงแม้เรามีสถานะที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วในลำดับชั้นทางสังคมและผลประโยชน์ที่แตกต่างกันไป แต่เราก็เชื่อว่าเรามีผลประโยชน์ร่วมกัน และมีการดำรงชีวิตที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันในฐานะประชาชนของประเทศหนึ่ง ๆ ในสังคมสมัยใหม่

ประการที่สอง มีการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันขึ้นด้วยกระบวนการแรงงานแบบทุนนิยม ซึ่งมีแนวโน้มที่ถูกนำไปใช้ทั่วโลก อันเป็นผลลัพธ์ของสิ่งที่มาร์กซ์เรียกว่า "กฎแนวโน้มที่อัตรากำไรจะลดลง" เมื่อระบบทุนนิยมแผ่ขยายไปทั่วโลก ทุกสังคมย่อมประสบกับเทศะแบบทุนนิยมที่แบ่งออกเป็นส่วน ๆ และจำกัดเฉพาะที่เหมือนกันหมด ในแง่นี้ การเคลื่อนไหวระหว่างประเทศของทุนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสร้างลักษณะข้ามชาติขึ้นมาเท่านั้น ทุนสามารถแผ่ขยายไปได้ก็ต้องอาศัยการครองความเป็นใหญ่ของรูปแบบรัฐชาติในทุกสังคม ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่เรียกว่า "ข้างนอก" รัฐชาติ จึงไม่มีอีกต่อไป

สิ่งที่ทุนนิยมแตกต่างจากวิถีการผลิตในสมัยก่อนก็คือ ทุนนิยมแบ่งแยกเทศะออกเป็นส่วน ๆ และแยกแรงงานออกจากปัจจัยการผลิต สองประการนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยสถาบันของรัฐ (ในความหมายกว้างที่สุด) เพื่อรักษาการผลิตซ้ำความสัมพันธ์ทางสังคมเอาไว้ (อ้างจาก Althusser, 1971) เทศะทางเศรษฐกิจไม่ได้ผลิตซ้ำตัวมันเองแบบง่าย ๆ เหมือนในสังคมทาสหรือสังคมฟิวดัลอีกต่อไป การประนีประนอมระหว่างชนชั้นที่เป็นปฏิปักษ์กันในระบบทุนนิยม การผลิตชุมชนทางการเมืองที่มองตัวเองเป็นหน่วยที่มีพรมแดนเชิงอาณาเขต ซึ่งรวมเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยความเชื่อเกี่ยวกับปิตุภูมิ การจัดการและการกำกับเทศะทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจในยุคสมัยใหม่ ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยและมีรูปแบบทางการเมืองของรัฐเป็นพื้นฐาน ระบบอาณาเขตของรัฐจึงไม่ใช่ปรากฏการณ์ลอย ๆ ที่เปลี่ยนไปได้ตามอำเภอใจทางการเมือง การจัดการเทศะของกระบวนการผลิตแบบทุนนิยม รวมทั้งเงื่อนไขจำเป็นในการกำกับดูแลเศรษฐกิจและสร้างความชอบธรรมทางการเมือง ก่อให้เกิดกลไกที่ทำให้รูปแบบเชิงเทศะของรัฐเป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมทุนนิยมสมัยใหม่

การปฏิเสธจุดยืนเชิงยุทธศาสตร์ 3 ประการ ซึ่งมีอยู่ในงานเขียน"โลกาภิวัตน์"
ข้อสังเกตคร่าว ๆ โดยสังเขปต่อโลกาภิวัตน์และรัฐข้างต้นนี้ ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นเพียงแค่การพิจารณาเชิงทฤษฎีและแนวความคิดเท่านั้น การสลัดหลุดจากการเข้าใจอำนาจทางการเมืองในปัจจุบันด้วยวิธีการเชิงอุปลักษณ์ ย่อมมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับคำถามเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ทางการเมืองและการขัดขืนของขบวนการ "ต่อต้านโลกาภิวัตน์" จุดยืนทางความคิดที่บทความนี้สาธยายมาจนถึงตอนนี้ ย่อมมีนัยยะที่นำไปสู่การปฏิเสธจุดยืนเชิงยุทธศาสตร์ 3 ประการ ซึ่งมีอยู่ร่วมกันในงานเขียนเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์จำนวนมาก

ประการแรก ตรงกันข้ามกับที่งานเขียนเหล่านี้อ้าง เราเห็นแล้วว่า โลกาภิวัตน์ไม่ได้สร้างประธานทางการเมืองหลังยุครัฐชาติที่เป็นอิสระจากพันธนาการของระบบอาณาเขต ปัญหาเก่าแก่ทางการเมืองเกี่ยวกับการสร้างขบวนการทางการเมืองระหว่างประเทศในโลกที่แบ่งแยกเป็นรัฐชาติ ยังคงเป็นประเด็นอยู่ ปัญหาที่มาร์กซ์, โรซา ลักเซมเบอร์ก, และกรัมชี หยิบยกขึ้นมา ยังคงเป็นประเด็นอยู่ นอกเหนือจากนั้น ดังที่เราทราบกันดีแล้วจากงานเขียนของลักเซมเบอร์ก, กรัมชีและคนอื่น ๆ ประธานของการปฏิวัติไม่ได้เกิดขึ้นมาจากวิถีเศรษฐกิจของสังคมโดยอัตโนมัติ

ความเป็นชาติ คือความพยายามรวมคน และกำราบศักยภาพทางการเมือง
ประชาชน หรือใช้คำของฮาร์ดท์และเนกรีก็ได้ว่า "มหาชน" (multitude) เองก็แตกแยกและแบ่งเป็นส่วนเสี้ยวเช่นเดียวกับเทศะที่พวกเขาดำรงอยู่ ความเป็นชาติ (nationhood) คือความพยายามในการรวบรวมพวกเขาเข้าด้วยกัน และกำราบศักยภาพทางการเมืองของพวกเขาเอาไว้ โดยอาศัยการสร้างอัตลักษณ์แห่งชาติ. แน่นอน ความพยายามเช่นนี้ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้โดยเด็ดขาด ย่อมมีบางส่วนที่กดข่มลงได้ไม่หมดอยู่เสมอ ส่วนทะลักล้นที่แตกแยกและแบ่งเป็นส่วนเสี้ยวนี้ถั่งท้นเข้าสู่ปริมณฑลทางการเมือง และกลายเป็นขบถและฝ่ายค้านทางการเมือง แต่มันเป็นการขบถขัดขืนที่กระจัดกระจายและไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มันกลายเป็นการเมืองเชิงอัตลักษณ์และการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ลัทธิพหุนิยมทางวัฒนธรรม (multiculturalism) นั่นเอง มันกลายเป็นการเมืองที่ไม่มีความเป็นการเมือง (apolitical politics) ทั้งนี้เพราะมันไม่ได้สร้างความท้าทายที่แท้จริงต่อมโนทัศน์และวิสัยทัศน์ของรูปแบบรัฐชาติที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างเบ็ดเสร็จ

การเมืองที่เป็นการเมือง ดังที่ปฏิบัติกันใน polis ของชาวเอเธนส์ รวมทั้งการเมืองอย่างที่มาร์กซ์และนักมาร์กซิสต์สร้างวิสัยทัศน์ไว้สำหรับชนชั้นกรรมาชีพ ล้วนมีจุดอ้างอิงอยู่ที่ความเป็นสากลเสมอ ซึ่งก้าวข้ามอัตลักษณ์และผลประโยชน์ที่เป็นลักษณะเฉพาะกลุ่ม (6)6 ยกตัวอย่างเช่น เพราะการมี polis เราจึงมีสำนึกในการแสวงหา "สิ่งที่ดี" เพื่อความก้าวหน้าในการดำรงอยู่ของหมู่คณะ ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องพยายามสกัดกั้นผลประโยชน์สามานย์เฉพาะกลุ่มเท่าที่จะทำได้ในทุกที่ทุกเวลา

(6) ประเด็นเกี่ยวกับความเป็นสากลและบริบททางการเมืองร่วมสมัย โปรดดู Butler, Laclau, and Zizek (2000)

โรมันเริ่มเสื่อม เพราะความมั่งคั่งส่วนตัวเป็นแรงจูงใจทางการเมือง
เราต้องไม่ลืมว่า ในสายตาของมาคีอาเวลลี สาธารณรัฐโรมันเริ่มเสื่อมทรามลง เมื่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของปัจเจกบุคคลกลายเป็นแรงจูงใจทางการเมืองแทนที่ความดีต่อส่วนรวม สำหรับชนชั้นกรรมาชีพในความคิดของมาร์กซ์ก็เช่นกัน ถึงแม้การต่อสู้ของพวกเขาจะมีลักษณะเฉพาะกลุ่ม แต่มันจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าต่อส่วนรวมทั้งหมด นั่นคือ การสิ้นสุดของลัทธิปิตาธิปไตย การสิ้นสุดของความแปลกแยกสภาวะ การสิ้นสุดของต้นตอการกดขี่มนุษย์ทั้งมวล

ทุกวันนี้ เมื่อเรามองดูการต่อสู้ของสหภาพแรงงาน แรงงานต่างด้าวและชนกลุ่มน้อย หรือการต่อสู้ของกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางนิเวศวิทยา เรามองเห็นแนวโน้มที่การต่อสู้จำกัดอยู่กับลักษณะเฉพาะกลุ่ม โดยไม่ยกระดับขึ้นเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่แท้จริงเสียที เพื่อต่อต้านการครองความเป็นใหญ่ของชนชั้นกระฎุมพี เราต้องหาทางอ้างความเป็นสากลให้ได้ บางขบวนการในปัจจุบันกำลังพยายามทำเช่นนี้อยู่

ขบวนการเฟมินิสต์-ขบวนการนิเวศวิทยา
ขบวนการเฟมินิสต์ที่ก้าวหน้าบอกเราว่า เพื่อเข้าใจและข้ามพ้นการกดขี่อย่างแท้จริง เราต้องทำความเข้าใจและก้าวข้ามรูปแบบการกดขี่ทางสังคมที่ลึกซึ้งที่สุดและมีอภิสิทธิ์ที่สุด นั่นคือ การกดขี่ทางเพศ. ส่วนขบวนการนิเวศวิทยาที่ก้าวหน้าบอกเราว่า เราต้องลืมสิ่งสมมติเกี่ยวกับปิตุภูมิและตลาดเสรี ความเป็นสากลที่แท้จริงของเราคือการดำรงอยู่ร่วมกันในเทศะ เราดำรงอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ในฐานะพลเมืองชาติใดชาติหนึ่ง แต่ในฐานะสมาชิกชุมชนที่แบ่งปันเทศะทางธรรมชาติร่วมกัน

อนาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ มีข้ออ้างถึงความเป็นสากล
ในบริบทนี้ แนวคิดที่ควรได้รับการกล่าวถึงเป็นพิเศษคือ ลัทธิอนาธิปไตยและลัทธิคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้เพราะสองลัทธินี้ล้วนมีข้ออ้างถึงความเป็นสากล และบอกให้เราลืมข้ออ้างทางการเมืองที่คับแคบให้หมดสิ้น ทั้งสองลัทธิยืนยันว่า จะบรรลุเสรีภาพที่แท้จริงได้ ก็ต่อเมื่อล้มล้างรูปแบบการครอบงำและการจัดการแบบลำดับชั้นให้หมดสิ้น โดยอาศัยการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง อันหมายถึงการล้มล้างรูปแบบรัฐชาติ และการแบ่งแยกระหว่างผู้นำกับผู้ตาม

ประการที่สอง ประเด็นแรกข้างต้นทำให้เราต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับองค์กรและความร่วมมือ องค์กรแบบประชาธิปไตยเป็นเช่นไร? ทำอย่างไรเราจึงจะจัดตั้งกลุ่มต่อต้านที่กระจัดกระจายและแตกแยกเป็นส่วนเสี้ยว ให้รวมตัวกันเป็นขบวนการต่อต้านที่มีความสมานฉันท์และมีความเป็นประชาธิปไตย เพื่อต่อสู้กับระบบทุนนิยมและรัฐ? ทำอย่างไรให้การต่อสู้และการเรียกร้องที่เกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ มีความเชื่อมโยงกันและได้รับความสนใจอย่างเป็นทางการ?

คำถามเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากความแตกแยกของเทศะและสถานะของการต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไป คำถามนี้ยังคงเป็นประเด็นที่เป็นหัวใจทางการเมืองและยุทธศาสตร์สำหรับขบวนการปฏิวัติทางการเมืองในยุคนี้ ยกตัวอย่างเช่น เรามักได้ยินข้อสังเกตในสื่อมวลชนว่า ขบวนการที่ถูกเรียกว่า ขบวนการ "ต่อต้านโลกาภิวัตน์" ไม่มีข้อเรียกร้องหรือเป้าหมายทางการเมืองที่เห็นได้ชัดเจน สืบเนื่องจากขบวนการนี้ครอบคลุมเสียงเรียกร้องและเป้าหมายทางการเมืองที่หลากหลายเกินไป เราจะรักษาความเป็นอิสระของเสียงเรียกร้องปัจเจกบุคคลภายในขบวนการแบบนี้ พร้อม ๆ กับสร้างจุดร่วมและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในระดับหนึ่งได้อย่างไร?

หากดูในขณะนี้ ยุทธศาสตร์ของชาวอนาธิปไตยที่ใช้ "กลุ่มเครือสหาย" น่าจะตอบคำถามนี้ได้ โดยให้น้ำหนักไปที่กระบวนการประชาธิปไตยภายในองค์กรก่อนที่จะสร้างข้อเรียกร้องที่มีเนื้อหาใด ๆ วิธีการของการต่อสู้ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเป้าหมาย บทบาทของกลุ่มเครือสหายต่อการสร้างจุดร่วมเชิงยุทธศาสตร์ และการสร้างกระบวนการประชาธิปไตยให้สังคมยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปในระยะยาว แต่คำถามเกี่ยวกับการมีจุดร่วมและการจัดตั้งยังคงเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ถึงรากถึงโคน

ประการที่สาม และประการสุดท้าย ข้อสังเกตที่ว่า เทศะของรัฐเป็นเทศะเชิงสัญลักษณ์และญาณวิทยา มีนัยยะตามมาว่า แนวทางการต่อสู้ขัดขืนต่อรัฐที่ถูกต้องควรวางพื้นฐานอยู่ที่การให้ความรู้ โครงการต่อต้านการครองความเป็นใหญ่ดังที่กรัมชีนำเสนอไว้นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการต่อสู้กับการดำรงอยู่เชิงสัญลักษณ์ของรัฐในจิตใจของเรา ความพยายามเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคม ต้องไม่ใช่เพียงแค่ต่อต้านส่วนนี้หรือส่วนนั้นของระบบทุนนิยมโลก แต่ต้องสร้างทางเลือกใหม่ขึ้นมา โดยแสวงหาหนทางใหม่ ๆ ในการคิดและการสร้างกระบวนทัศน์ ซึ่งจะมาแทนที่การคิดและการสร้างกระบวนการทัศน์ที่เกิดจากรูปแบบรัฐชาติ

การประท้วงตามท้องถนนมีความสำคัญก็จริง แต่แค่นั้นไม่พอต่อการนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การต่อสู้เกี่ยวกับการศึกษา แนวความคิดและทฤษฎียังคงมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างยิ่งยวด โครงการต่อต้านการครองความเป็นใหญ่แบบนี้จะมีลักษณะและเนื้อหาอย่างไรบ้าง ยังเป็นเรื่องที่ต้องคิดค้นและทำให้เกิดขึ้นจริงต่อไป ทว่าความจำเป็นของโครงการนี้ยังคงมีอยู่เสมอ

บทสรุป
กล่าวโดยสรุป ทันทีที่เราสลัดหลุดจากสูตรสำเร็จเชิงอุปลักษณ์เกี่ยวกับโลกาภิวัตน์และอำนาจทางการเมือง ที่แพร่หลายอยู่ในแนวความคิดหลากหลายแนวในปัจจุบัน คำถามเชิงยุทธศาสตร์จำนวนหนึ่งจะย้อนกลับมามีความสำคัญ แม้ว่าก่อนหน้านี้อาจถูกละเลยไป หากโลกาภิวัตน์ไม่ได้ลบล้างระบบอาณาเขตและระบบรัฐชาติ ถ้าเช่นนั้น เราก็ยังต้องต่อสู้กับปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ที่เกิดจากระบบทั้งสอง หากเทศะของระบบทุนนิยมและของรัฐยังคงแตกแยกเป็นส่วนเสี้ยวและจำกัดเฉพาะที่ ถ้าเช่นนั้น เราก็ยังต้องต่อสู้กับปัญหาในการจัดตั้งและสร้างจุดร่วมให้แก่การต่อต้านขัดขืนที่ยังจำกัดเฉพาะที่ และกระจัดกระจายเพราะเทศะที่แตกแยก

หากเทศะของรัฐเป็นเทศะเชิงสัญลักษณ์และญาณวิทยาโดยพื้นฐาน ถ้าเช่นนั้น เราก็ต้องสร้างมโนทัศน์และวิธีคิดที่ปลดปล่อยเราจากรูปแบบรัฐชาติ รวมทั้งเอื้อต่อการสร้างสรรค์ความเป็นจริงใหม่ ๆ ในเชิงประชาธิปไตยขึ้นมา การผลักดันการวิเคราะห์และยุทธศาสตร์ทางการเมืองให้เดินหน้า หมายความว่าเราต้องถอยห่างจากแนวคิดเกี่ยวกับรัฐและโลกาภิวัตน์ที่ตื้นเขิน พร้อมกับหันไปหาการพิจารณาความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ด้วยวิทยาศาสตร์สังคมที่เข้มงวด

++++++++++++++++++++++++++++

บรรณานุกรม

Althusser, Louis. 1971. "Ideology and Ideological State Apparatuses," in Lenin and Philosophy and Other Essays. New York: Monthly Review Press.

Bachelard, Gaston. 1987. The Psychoanalysis of Fire. London: Quartet Books.

Bratsis, Peter. 2002. "Unthinking the State: Reification, Ideology, and the State as a Social Fact," in Paradigm Lost: State Theory Reconsidered, ed. Stanley Aronowitz and Peter Bratsis. Minneapolis: University of Minnesota Press.

Butler, Judith, Ernesto Laclau, and Slavoj ?i?ek. 2000. Contingency, Hegemony, Universality. New York: Verso Books.

Castoriadis, Cornelius. 1991. "The Greek Polis and the Creation of Democracy," in Philosophy, Politics, Autonomy. New York: Oxford University Press,

Cohen, Mitchell. 2002. "Editor's Page," Dissent, Vol. 49, No. 1.

Durkheim, Emile. 1982. The Rules of Sociological Method. New York: Free Press.

Gramsci, Anotonio. 1971. Selections from the Prison Notebooks. New York: International Publishers.

Hardt, Michael, and Antonio Negri. 2000. Empire, Cambridge, Mass.: Harvard University Press.

Hitchens, Christopher. 2001. "Against Rationalization" The Nation, October 8.

Jessop, Bob. 1990. State Theory. University Park: Pennsylvania State University Press.

Katznelson, Ira. 1986. "Rethinking the Silences of Social and Economic Policy." Political Science Quarterly, Vol. 101, No. 2, pp. 307-325.

Offe, Claus. 1973. "Structural Problems of the Capitalist State," in German Political Studies, ed. K. von Beyme. London: Russell Sage.

Poulantzas, Nicos. 1978. State, Power, Socialism. London: Verso Books.

Shaw, Martin. 2000. The Theory of the Global State. Cambridge, Eng.: Cambridge University Press.

Strange, Susan. 1996. The Retreat of the State. Cambridge, Eng.: Cambridge University Press.

Therborn, Goran. 1976. Science, Class and Society. London: Verso Books.

Weiss, Linda. 1998. The Myth of the Powerless State. Ithaca, N.Y.: Cornell University Press.

 

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ : Release date 12 December 2008 : Copyleft MNU.

ในทำนองเดียวกัน ยุโรปตะวันออกยุคหลังสหภาพโซเวียต ก็เต็มไปด้วยโครงการชาตินิยมมากมาย หลาย ๆ คนที่อุปโลกน์ตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภูมิภาคนี้ ต่างก็ออกมาประสานเสียงบอกกับเราว่า ความคลั่งไคล้ในลัทธิชาตินิยมเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวมาแต่เกิดในหมู่กลุ่มชนแถบนั้นที่ค่อนข้างล้าหลัง ซึ่งแตกต่างตรงกันข้ามจากลัทธิชาตินิยม "อารยะ" ของโลกตะวันตกพัฒนาแล้วที่มีพหุวัฒนธรรม การที่ลัทธิชาตินิยม "ชาติพันธุ์" ของยุโรปตะวันออกหวนกลับมาปรากฏในตอนนี้ ก็เพราะการกดขี่ของคอมมิวนิสต์หมดไปแล้ว และความเป็นจริงของสังคมประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้กำลังปรากฏออกมาให้ทุกคนได้เห็น แน่นอนความแตกต่างของคำว่า "อารยะ"และ "ชาติพันธุ์" เป็นแค่เกมเชิงอรรถศาสตร์ [semantic] เท่านั้น

H