บรรณาธิการแถลง:
บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน
สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ
หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่
midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
Premier
League
Midnight University
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
บทความชิ้นนี้
กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ
จากโลกาภิวัตน์ถึง ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก
ปรับปรุงจากรายงานสัมมนา สังคมศาสตร์กับโลกาภิวัฒน์
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา ๒๕๔๙
เสนอต่อ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ยาวะประภาษ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
- โลกาภิวัตน์ - Global interdependencies - กำเนิดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก
- Jean-Marc Bosman - ผู้เล่น / ผู้จัดการทีม / เจ้าของทีมฟุตบอล
- ธุรกิจฟุตบอล - บทส่งท้าย (ฟุตบอลโลกาภิวัตน์)
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๓๔๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๐๖ กันยายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๙ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
จากโลกาภิวัตน์ถึงฟุตบอลพรีเมียร์ลีก
(1)
โลกาภิวัตน์
"โลกาภิวัตน์"แม้คำๆ นี้ จะถูกทำให้กลายเป็นหนึ่งในคำสามัญสำหรับชีวิตประจำวันของผู้คนโดยทั่วไปแล้ว
แต่กับคำถามที่ว่า "โลกาภิวัตน์คืออะไร?" นั้น ก็ยังคงไม่สู้จะง่ายนักต่อการให้คำตอบได้อย่างชัดเจน.
ในมุมมองกระแสหลัก แน่นอน โลกาภิวัตน์ (Globalization) ย่อมหมายถึงกระบวนการเชื่อมโยงส่วนต่างๆ
ของโลกเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยที่กระบวนการดังกล่าวนี้มีมาเป็นเวลาช้านานแล้ว
นับเนื่องจากลัทธิอาณานิคม (colonialism) แผ่ขยาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษและยุโรปตะวันตกใช้แสนยานุภาพทางทหารที่เหนือกว่าเข้ายึดครองประเทศต่างๆ
ในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา เพื่อแสวงหาแหล่งผลิตอาหาร วัตถุดิบ หรือทรัพยากรธรรมชาติ
รวมทั้งแรงงานทาสจากอาณานิคม และเพื่อเป็นตลาดระบายสินค้าอุตสาหกรรมจากประเทศแม่
ซึ่งมีลักษณะเป็นจักรวรรดินิยม (imperialism) โดยตัวของมันเอง
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การเชื่อมโยงโลกโดยอาศัยการล่าอาณานิคมได้คลายความสำคัญลงไปเรี่อยๆ พร้อมกันกับที่เริ่มมีการเชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าด้วยกัน ในห้วงนี้ 'วาทกรรมการพัฒนา'(1) (Development) ตามแบบตะวันตก ถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งที่เป็นแนวคิดและทฤษฎี เช่น ทฤษฎีความทันสมัย (modernization) (2) จนถึงขึ้นอุดมการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ 'อุดมการณ์เสรีนิยมใหม่' (Neo-liberalism) หรือที่รู้จักกันในนาม 'ฉันทามติวอชิงตัน' (Washington Consensus) (3) ซึ่งนำเสนอถึงเมนูนโยบายอันประกอบด้วยนโยบายนับสิบๆ ชุด สำหรับการปฏิรูประบบเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนาทั่วๆ ไป
นโยบายที่สำคัญๆ ก็เช่น การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ (Liberalization), การลดการควบคุมและการกำกับโดยภาครัฐ (Deregulation), การถ่ายโอนการผลิตไปสู่ภาคเอกชน (Privatization), การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (Stabilization) เป็นต้น ส่งผลให้บทบาทของบรรษัทข้ามชาติ (Multinational Corporations - MNC) ของมหาอำนาจต่างๆ เช่น Microsoft, McDonald's ฯลฯ เริ่มทรงพลังอิทธิพลมหาศาลขึ้นมา (4) พร้อมๆ กันกับที่ภาครัฐค่อยๆ ลดบทบาทการแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจลงเรื่อยๆ ขณะที่ก็เกิดการขยายตัวของกระบวนการสากลานุวัตรของทุน (Internationalization of Capital) ปกคลุมไปทั่วโลก โดยนัยนี้ โลกาภิวัตน์ จึงเปรียบเสมือนแค่ "เหล้าเก่าในขวดใหม่" (5) ของอุดมการณ์ตลาดเสรี (free market) เท่านั้น
กล่าวคือ กระแสโลกาภิวัตน์ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันนั้น กระตุ้นให้เกิดการประสานเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจระหว่างนานาประเทศ ส่งผลให้มีการไหลเวียนของสินค้า บริการ เงินทุน ผู้คน และทรัพยากรที่ข้ามพ้นกำแพงรัฐชาติ ในแต่ละวันๆ เป็นจำนวนมหาศาล และรูปแบบการผลิตแบบห่วงโซ่ข้ามชาติก็เป็นที่แพร่หลาย เมื่อสินค้าชิ้นเดียว แต่มีส่วนประกอบต่างๆ ที่ถูกผลิตขึ้นในหลายๆ ประเทศ บางครั้งก็รู้จักกันในนาม 'Macdonaldisation'
นอกเหนือจากอุดมการณ์ดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีอุดมการณ์ร่วมกันอื่นๆ อีกไม่ใช่น้อยที่เพิ่งจะถูกสร้างขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้เอง อาทิ 'ความเป็นประชาธิปไตย' (Democratization หรือ กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย), สิทธิมนุษยชน (Human right), 'การจัดการปกครองที่ดี' (Good Governance), 'การค้าเสรี' (Free Trade) เป็นต้น ในฐานะอุดมการณ์หลักแห่งยุคสมัย ซึ่งผู้คนโดยทั่วไปเรียกกันอย่างเต็มปากเต็มคำว่า "ยุคโลกาภิวัตน์"
แม้นการเชื่อมโยงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จะมีส่วนผลักดันให้โลกาภิวัตน์ขับเคลื่อน ทว่า ความรวดเร็วของกระบวนการนี้ถูกเร่งรัดชัดเจน เนื่องจากความจำเริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ในทุกๆ มิติ การเชื่อมโยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกลายเป็นจักรกลสำคัญ ซึ่งได้มีส่วนทำลายพรมแดนใดๆ ในความหมายดั้งเดิมลงไปอย่างสิ้นเชิง โลกใบนี้ จึงต้องถูกย่อลงทั้งทางด้านกาล (Time) และเทศะ (Space) และถูกทำให้เล็กลงจนมีขนาดไม่ใหญ่ไปกว่าหมู่บ้าน ซึ่งใครหลายคนเรียกลักษณะเช่นนี้ว่าเป็น "หมู่บ้านโลก" (Global Village) ซึ่งก็คือ "โลกาภิวัตน์" ในความหมายปัจจุบันนั่นเอง
โดยทางราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติศัพท์คำนี้ขึ้นให้มีความหมายใกล้เคียงกับต้นศัพท์ในภาษาอังกฤษที่ว่า Globalization หรือ "โลกาภิวัตน์" ให้หมายถึง การแพร่กระจายไปทั่วโลก; การที่ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใด สามารถรับรู้ สัมพันธ์ หรือ รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง ซึ่งเนื่องมาจากการพัฒนาระบบสารสนเทศ เป็นต้น หรือ "โลกานุวัตร" ที่ว่า ความประพฤติตามโลก (6) ใกล้เคียงกันกับพจนานุกรมฉบับมติชนที่ได้ให้นิยามเอาไว้ว่าเป็น "ลักษณาการที่ดินแดนส่วนต่างๆ ของโลก ซึ่งต่างมีลักษณะทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม เป็นแบบเฉพาะของตน ก้าวเข้ามามีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างใกล้ชิด และค่อยๆ มีลักษณะร่วมกันตามแบบแผนอารยธรรมยุคใหม่" (7)
จากพัฒนาการหลากหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการติดต่อสื่อสาร คอมพิวเตอร์ รวมถึงการคมนาคมขนส่ง โลกาภิวัตน์ในสมัยปัจจุบัน จึงนับว่าแตกต่าง โดดเด่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะเป็นเรื่องของการทำตามกันของคนทั้งโลกในแทบจะทุกๆ เรื่องนั่นเอง อาจกล่าวได้ว่าโลกาภิวัตน์อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้นั้น เกิดขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990. ในปี 1989-91 จากการล่มสลายของระบบสังคมนิยมในสหภาพโซเวียต ทำให้ต้องมีการจัดระเบียบโลก (The New World Order) กันใหม่ หลังยุคสงครามเย็นสิ้นสุด โดยสหรัฐอเมริกามีบทบาทสำคัญในการเข้าไปแทรกแซงในตลาดการค้าและการเงินทั่วโลก มีการริเริ่มเทคโนโลยีใหม่ๆ พร้อมกันกับเผยแพร่เทคโนโลยีนั้นๆ ออกไปโดยรวดเร็ว เช่น
- เหตุการณ์ล่าสุด เมื่อ 11 กันยายน 2001 (9/11) ที่ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินโดยสารชนตึก World Trade Center นั้น ผู้คนทั่วทั้งโลกสามารถรับรู้ได้อย่างรวดเร็ว โดยผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ และนอกจากจะเกิดการรับรู้แล้ว ยังส่งผลให้ทั่วทั้งโลกต้องตกอยู่ในภาวะหวาดวิตกต่อภัยคุกคามจากการก่อการร้ายข้ามชาติ เป็นต้น
- ก่อเกิดวัฒนธรรมโลกาภิวัตน์ (Cultural Globalizing) เช่น การใช้ภาษาอังกฤษ การใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ขับดันให้ลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) ขยายตัว กล่าวคือ ผู้คนในแทบจะทุกประเทศต่างพากันเลียนแบบการใช้ชีวิตของประชาชนในประเทศใหญ่ๆ โดยรับรู้ผ่านสื่อสารมวลชนไร้พรมแดนนานา ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก Hollywood) ดนตรี (เช่น MTV) ข่าวสาร จากทั้งทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม (เช่น CNN, BBC ฯลฯ) หรือทางอินเตอร์เน็ตตามเว็บไซด์ต่างๆ จนมีความใกล้เคียงคล้ายคลึงกันทั่วโลก ทั้งในแง่วิธีคิด และวิธีชีวิต
กล่าวโดยสรุป โลกาภิวัตน์ในความหมายทั่วไป ก็คือ ปรากฏการณ์ที่ความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ได้ถูกเปลี่ยนรูปหรือแปลงเข้าหากันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ทั้งในด้านของการรับรู้และการกระทำในเรื่องราวต่างๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เรื่องหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในที่ซึ่งห่างไกลมากและข้ามพรมแดนของรัฐชาติ สามารถถูกรับรู้และมีผลต่อตัวเราอย่างรวดเร็ว โดยมีเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นตัวช่วย ลักษณะนี้เท่ากับว่าแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องกาลเทศะในชีวิตของมนุษย์ได้ถูกแปรรูปไปจากเดิม โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นห่างไกลออกไป ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม หรือวัฒนธรรม สามารถที่จะมีผลกระทบต่อตัวเราโดยตรงและรวดเร็วมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการสัมผัสกับกาลเทศะของมนุษย์ได้ถูกรวบมัดและรวมตัวให้เป็นไปในทางเดียวกันมากยิ่งกว่าในอดีต และช่วงห่างที่มีนั้นได้ถูกย่นย่อเข้ามา ทำให้คนเราตระหนักถึงกันและกันมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น เราสามารถเห็นได้ว่าในยุคโลกาภิวัตน์นั้น เหตุการณ์และรูปแบบทางสังคมที่อยู่ห่างออกไปจะมีกระบวนการแผ่ขยายเข้าหากันและล้อรับกัน กระบวนการนี้จะเชื่อมโยงทำให้สังคมที่แตกต่างกันกลายมาเป็นเครือข่ายที่คล้ายคลึงกัน ดังนั้น โลกาภิวัตน์ก็คือการทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมในระดับโลกเข้มข้นขึ้น และความสัมพันธ์ที่เข้มข้นนี้จะเชื่อมโยงระยะห่างในลักษณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นจะเกิดขึ้นจากอิทธิพลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่ซึ่งไกลออกไป ในทางตรงข้าม เหตุการณ์ในท้องถิ่นอาจจะมีผลกระทบต่อที่ที่อยู่ไกลออกไปด้วย (8)
ท่ามกลางความกังวลในทางวิชาการจากทุกแขนงวิชา บ้างว่าจะทำให้รัฐชาติ (Nation-State) ตามแนวคิดเดิมๆ ลดคุณค่าความหมายลง เพราะองค์ประกอบทั้ง 4 ประการของรัฐ ได้แก่ ดินแดน ประชากร อำนาจอธิปไตย และรัฐบาล จะถูกรื้อสร้างกันขนานใหญ่ กระทั่งกลับกลายเป็น "รัฐที่ไร้พรมแดน" เนื่องจากการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เขตแดนของรัฐไม่มีเส้นแบ่งชัดเจน ไม่ได้ตั้งอยู่กับที่ตายตัวอีกต่อไป ประชากรของแต่ละรัฐประสานสัมพันธ์กันข้ามรัฐลอดรัฐกันอย่างมหาศาล หรือ "รัฐที่ไร้อธิปไตย" เพราะถูกอิทธิพลแทรกแซงจากองค์กรโลกบาล หรือ สถาบันเหนือรัฐในระดับโลกต่างๆ เช่น WTO, IMF ที่มีบทบาทกำกับเพิ่มสูงขึ้นมาก ผ่านทางระเบียบเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวิกฤติการณ์เศรษฐกิจเอเชีย ในห้วงปี 1997 เป็นต้น จนกล่าวได้ว่ารัฐชาติกลายมาเป็นเพียงแค่ "นิยาย" ปรัมปราเรื่องหนึ่ง (9)
ขณะที่บ้างก็กลัวการล่มสลายทางวัฒนธรรม อันเป็นผลสืบเนื่องจากการรุกล้ำและแทรกซึมของวัฒนธรรมตะวันตก ทั้งเรื่องการแต่งกาย อาหารการกิน ความบันเทิงรูปแบบต่างๆ ฯลฯ ทั้งที่อันที่จริงแล้ว น่าจะเรียกว่าเป็นการกลมกลืนกันทางวัฒนธรรมมากกว่า ยกตัวอย่าง ในกรณีของร้าน McDonald's ที่เป็นอนุสาวรีย์ของอเมริกาซึ่งปรากฏอยู่ทั่วโลกนั้น นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีลักษณะของโลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรม (ถ้าเราคิดว่าอาหารคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม) McDonald's ได้สะท้อนถึงความซับซ้อนในการผสมผสานของมิติต่างๆ และในขณะเดียวกัน เราจะเห็นได้ว่านอกจาก McDonald's จะผลิตแฮมเบอเกอร์ที่เป็นอาหารอเมริกันให้เรากินแล้ว (ซึ่งสะท้อนถึงกระแสโลกที่มีต่อท้องถิ่น) ในชนิดต่างๆ ของแฮมเบอร์เกอร์ยังมีรสกะเพราหมู (ในไทย) และหมูเปรี้ยวหวาน (ในสิงคโปร์)
จุดนี้แสดงให้เห็นกระแสของท้องถิ่นที่มีอิทธิพลต่อกระแสโลกด้วยเช่นกัน ลักษณะดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่า นอกจากโลกาภิวัตน์จะมีความซับซ้อนของการผสมผสานในมิติต่างๆ แล้ว ตัวมันเองยังมีความขัดแย้งในตัวเอง กล่าวคือ ในกระบวนการโลกาภิวัตน์ที่ดูเหมือนว่ากระแสโลกจะมีอิทธิพลต่อท้องถิ่นนั้น จะมีกระบวนการทำให้เป็นท้องถิ่น (localization) หรือการที่มีกระแสท้องถิ่นแฝงฝังอยู่ในโลกาภิวัตน์อยู่เสมอๆ เราจะเห็นได้ว่าโลกาภิวัตน์จะมีทั้งสิ่งที่เป็นการรวมศูนย์ (centralization) เข้าสู่กระแสโลก และมีการกระจายตัวออกจากกระแสโลก (decentralization) ไปพร้อมกัน ความซับซ้อนและความขัดแย้งในตัวของโลกาภิวัตน์นี้ได้ทำให้โลกาภิวัตน์เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นได้โดยบังเอิญและไม่คาดคิด (contingent) และมีรูปแบบของวิภาษวิธี (dialectical) เพราะโลกาภิวัตน์ไม่ได้นำมาซึ่งความแน่นอนของทิศทางและรูปแบบของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น แต่มันมักจะมีองค์ประกอบที่ตรงกันข้ามและขัดแย้งเกิดขึ้นด้วยเสมอ (10)
Global interdependencies
(11)
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจคร่าวๆ พบว่า มีกรอบทฤษฎีอธิบายโลกาภิวัตน์อยู่ 2 ด้านด้วยกัน
ด้านหนึ่งเป็นด้านที่ทำให้โลกหมุนตามกันเข้าสู่แกนกลางของโลก ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นแรงเหวี่ยงที่ทำให้บางส่วนหมุนออกไปจากแกนกลางของโลก
ด้านแรกหมายถึงการทำตามตะวันตก หรือ กระบวนการโลกาภิวัตน์ (globalization) ตามกลุ่มทฤษฎีพึ่งพิง
(Modernization Theory) ด้านที่สองเป็นความพยายามต่อต้านตะวันตก หรือ กระบวนการท้องถิ่นนิยม
(localism) หรือภูมิภาคนิยม (regional) ตามกลุ่มทฤษฎีพึ่งพา (Dependency Theory)
ในประเด็นเดียวกันนี้ Rainondo Strassoldo มองว่า กระบวนการโลกาภิวัตน์หมายถึง การที่โลกเชื่อมต่อและหลอมรวมเข้าด้วยกันเป็นเอกภาพหรือเป็นโลกเดียว ส่วนกระบวนการท้องถิ่นนิยมจะเป็นการตอบโต้ต่อกระแสโลกาภิวัฒน์ โดยการสร้างจุดแตกต่างอันเป็นอัตลักษณ์ (Identity) เฉพาะตัวของท้องถิ่นขึ้นมา พร้อมกับยอมรับในความแตกต่างและหลากหลายทางวัฒนธรรมของแต่ละแห่ง เขาย้ำอีกว่าการจำเริญเติบโตของโลกาภิวัตน์นี้ หาได้ทำให้ความเป็นท้องถิ่นนิยมเสื่อมคลายลงไปไม่ ทว่า ในทางกลับกัน มันอาจจะส่งผลให้ท้องถิ่นเข้มแข็งยิ่งขึ้นก็เป็นได้ (12)
Strassoldo อธิบายด้วยว่ากระบวนการโลกาภิวัตน์นั้น มีทั้งส่วนที่เก่า (ซึ่งเกิดขึ้นมาช้านานแล้ว) และส่วนที่ใหม่ เช่น บทบาทของเทคโนโลยี (the role of technology) การมองโลกเป็นระบบนิเวศ (the ecological world view) ความคิดเรื่องพหุนิยมทางวัฒนธรรม และการมีศูนย์กลางหลายศูนย์ของโลก (cultural pluralism and structural polycentrism) (13)
ประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ก็คือ โลกาภิวัตน์กับการต่อต้านโลกาภิวัตน์ (globalization and anti-globalization) ซึ่งสาเหตุของการต่อต้านก็เนื่องมาจากความไร้น้ำใจในโลกาภิวัตน์ (โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ ภายใต้อุดมการณ์เสรีนิยมใหม่) โดยที่พวกต่อต้านโลกาภิวัตน์ส่วนมากประกอบด้วยองค์กรภาคประชาชน (Non-Governmental Organization: NGO) ซึ่งพยายามแสดงออกอย่างรุนแรง เพราะเห็นว่ากระบวนการดังกล่าวจะสนับสนุนให้เกิดการขูดรีด และก็หาได้ก่อให้เกิดการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) จริงๆ ไม่ ตลอดทั้งไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของการใช้แรงงาน การไม่เหลียวแลคนจน การก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การตักตวงผลประโยชน์ทางธุรกิจที่มากเกินไป รวมถึงการผลิตอาหารที่มีการดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) ซึ่งส่งผลกระทบถึงวิถีการผลิตทางการเกษตรแบบเดิม ตลอดทั้งยังก่อให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนในรูปแบบต่างๆ (14)
กล่าวให้ถึงที่สุด โลกาภิวัตน์นั้นไม่ได้มีด้านเดียว โลกาภิวัตน์ยังคงมีเงา ซึ่งหมายถึงปฏิกิริยาต่อต้าน และผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาต่อต้านอย่างเป็นลูกโซ่ เพื่อที่จะปฏิเสธคุณค่าชุดเดียว (Uniformity) ท่ามกลางแนวโน้มการขยายตัวของกลุ่มต่อต้านโลกาภิวัตน์ตามที่ต่างๆ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการสะท้อนให้เห็นถึงปฏิกิริยาสวนกลับ และความขัดแย้งที่มีอยู่ในตัวของโลกาภิวัตน์เอง ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น เพราะโลกาภิวัตน์นอกจากจะสร้างการครอบงำของกระแสโลกแล้ว ตัวโลกาภิวัตน์เองก็ได้สร้างแรงต้านให้เกิดขึ้นต่อตัวโลกาภิวัตน์เองอีกด้วยฉะนั้น การจะทำความเข้าใจต่อปัญหาภายในประเทศหนึ่ง จึงไม่อาจจะกระทำได้ด้วยบริบทเดิมๆ เพียงเท่านี้
ฉะนั้น "อะไรๆ ก็คือโลกาภิวัตน์" แม้กระทั่งเกมส์กีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ "ฟุตบอล" ด้วยแล้ว ก็หาได้พ้นจากกรอบความคิดนี้ไม่ คำถามคือ แล้วมันเกี่ยวพันกันอย่างไร และเพียงใดนั้น นั่นเป็นความพยายามที่จะให้คำตอบสำหรับบทความชิ้นนี้
(2) ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก
การก่อกำเนิดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก
ฟุตบอลสมัยใหม่ก่อเกิดในประเทศอังกฤษ แล้วแพร่ระบาดไปสู่ภาคพื้นยุโรป จากนั้นการขยายตัวของจักรวรรดิอังกฤษก็ก่อให้เกิด
กระบวนการสากลานุวัตร (Internationalization) ของฟุตบอล จักรวรรดิอังกฤษแผ่อาณาจักรไปสู่ดินแดนใด
ฟุตบอลก็ตามไปสู่ดินแดนนั้น พร้อมๆ กันกับที่สโมสรกีฬาฟุตบอลก็ผุดขึ้นในดินแดนที่ตกเป็นอาณานิคมเหล่านั้น
และความเป็นสากลของกีฬาฟุตบอลก็ได้รับการเสริมส่งยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผสานเทคโนโลยีด้านอวกาศกับเทคโนโลยีสารสนเทศ จนสามารถที่จะถ่ายทอดโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมได้
ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้กีฬาฟุตบอลขยายตัวกว้างไกลมากยิ่งกว่ายุคใดก่อนหน้านี้
ในที่สุด ฟุตบอลก็ถีบตัวขึ้นมาเป็นกีฬาสากล พร้อมๆ กับการแปรเปลี่ยนจากกีฬาสมัครเล่นไปเป็นกีฬาอาชีพ
เติบโตควบคู่กันไปกับยุคการค้าพาณิชย์เฟื่องฟู (15)
ฟุตบอลอาชีพในประเทศอังกฤษมีอายุ 100 ปีกว่าแล้ว แต่ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก (Premier League) ที่มีผู้คนสนใจติดตามมากมายนี้ ก็เพิ่งจะก่อตั้งในปี 1992 นี่เอง สืบเนื่องจากการ Rupert Murdoch นายทุนสื่อมวลชนคนสำคัญของโลกชาวออสเตรเลีย เจ้าของธุรกิจโทรทัศน์ดาวเทียม BSkyB (British Sky Broadcasting Corp.) ผลักดันให้บรรดาสโมสรฟุตบอลต่างๆ ในระดับดิวิชั่น 1 ถอนตัวออกจาก Football League เพื่อมาจัดตั้ง The Football Association (FA) Premier League Champions โดย BSkyB หรือ Sky TV ยื่นข้อเสนอขอซื้อสิทธิผูกขาดในการถ่ายทอดการแข่งขันด้วยผลตอบแทนราคามหาศาล (16) จึงมิใช่เรื่องแปลกอะไรที่บรรดาสโมสรเหล่านี้ตอบรับข้อเสนอครั้งนี้อย่างดียิ่ง ในห้วงเวลาเดียวกันกับที่หลายคนเชื่อว่า โลกกำลังเดินมาถึงจุดจบทางประวัติศาสตร์ (The End of History) (17)
เมื่อดิวิชั่น 1 เดิม แยกตัวออกจากฟุตบอลลีก เพื่อมาจัดตั้งพรีเมียร์ลีกให้เป็นการแข่งขันฟุตบอลลีกระดับสูงสุดของประเทศแทน ทำให้ภายในฟุตบอลลีกเองก็จำต้องมีการปรับแถวขบวนกันขนานใหญ่ เช่น ดิวิชั่น 2 เปลี่ยนเป็นดิวิชั่น 1 (ต่อมาเรียกว่า ลีกวัน) ดิวิชั่นอื่นๆ ก็ปรับตัวเลขตาม ปัจจุบันใช้ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Barclays English Premier League (ระหว่างปี 2004-2010) โดยที่ชื่อจะถูกเปลี่ยนไปตามผู้สนับสนุนในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งบาร์เคลส์ถือเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านการเงินของอังกฤษ
การยอมรับให้พรีเมียร์ลีกสามารถจะดำเนินการทางธุรกิจต่างๆ ได้ โดยการก่อตั้งโดยจดทะเบียนในรูปบริษัทจำกัด (Corporation) ซึ่งดึงเอาสโมสรฟุตบอลสมาชิกทั้ง 20 แห่ง (18) มาเป็นหุ้นส่วนด้วยนั้น ก็ช่วยเปลี่ยนโฉมหน้าฟุตบอลอังกฤษเป็นอันมาก รายได้จากการขายสิทธิผูกขาดในการถ่ายทอดโทรทัศน์แก่ BSkyB ในครานั้น ช่วยเพิ่มพูนเกื้อกูลให้สโมสรฟุตบอลดิวิชั่นที่ 1 มีทรัพยากรทางการเงินเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก สโมสรยักษ์ใหญ่เริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น กระตุ้นให้สโมสรอังกฤษเริ่มกล้าลงทุนซื้อนักฟุตบอลต่างชาติชั้นนำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ถึงกระนั้น การจัดตั้งพรีเมียร์ลีกก็มีผลกระทบต่อแฟนฟุตบอลชาวอังกฤษโดยตรง
เพราะแต่เดิมชาวอังกฤษ สามารถชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลลีกสูงสุดทางโทรทัศน์ได้โดยไม่ต้องเสียเงิน
แม้อาจจะต้องอดทนต่อการถูกคั่นรายการด้วยการโฆษณา ทั้งทางช่อง BBC (The British
Broadcasting Corporation) หรือทางช่อง ITV (Independent Television) ในฐานะที่เป็นเจ้าของสิทธิการถ่ายทอดเดิม
แต่ทว่า การรุกล้ำเข้ามาของ BSkyB ย่อมทำให้โอกาสในการชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลลีกสูงสุดของชาวอังกฤษทางฟรีทีวีถูกลิดรอนลงโดยสิ้นเชิง
เพราะหากผู้ใดยังประสงค์จะชมก็จะต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นในส่วนของการติดตั้งจานดาวเทียม
และการเป็นสมาชิกของ BSkyB (19)
ณ เวลานี้ ในสหราชอาณาจักร สิทธิการถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกก็ยังคงเป็นของ
BSkyB ส่วนนอกสหราชอาณาจักรนั้น ตกเป็นสิทธิของ Transworld International ร่วมกับ
Canal Plus (บริษัทลูกของ Vivendi Universal แห่งฝรั่งเศส ให้บริการ Pay-TV)
ในปี 1998 และจำนวนประเทศที่รับสัญญาณการถ่ายทอดการแข่งขันเพิ่มขึ้นจาก 27 ประเทศ
ในปี 1991 เป็น 127 ประเทศในปี 2001 ซึ่งต่อมาในการเจรจาทำสัญญาฉบับใหม่ก็ยังมี
Fox Television ของอเมริกา (ที่มีนาย Rupert Murdoch เป็นเจ้าของ) กระโดดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์อีกด้วย
(20) ว่ากันว่าในปัจจุบันนี้ น่าจะมีมากกว่า 1,000 ล้านคนใน 195 ประเทศที่มีโอกาสสัมผัสกับลีกแห่งนี้ในแต่ละปี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากชาติในเอเชียที่มีความคลั่งไคล้ในฟุตบอลพรีเมียร์ลีกกันอย่างมโหฬาร
(21)
ผลกระทบจากการกระบวนการข้างต้น ส่งผลให้จารีตประการสำคัญของฟุตบอลอังกฤษต้องแปรเปลี่ยนไปตามกลไกตลาด จากหลักการเดิมที่การแข่งขัน (ส่วนใหญ่) ทุกคู่ในลีกสูงสุด (แทบจะ) ทั้งหมด 10 คู่ จะลงเตะพร้อมกันในเวลา 15:00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของอังกฤษ (ซึ่งในบางสัปดาห์ อาจจะมีอยู่บ้างบางนัดที่กำหนดให้ลงเตะในเย็นวันอาทิตย์ และในค่ำวันจันทร์) แต่ด้วยเหตุผลด้านความต้องการของผู้ชมการถ่ายทอด ทั้งของอังกฤษ และในทวีปอื่นๆ ถึงตอนนี้ กำหนดการของการแข่งขันเลยถูกทำให้กระจายทั้งเวลาและวันออกไปอีก จนครอบคลุมตั้งแต่วันเสาร์ถึงวันจันทร์ ทั้งในช่วงสาย บ่าย และค่ำ เท่ากับเป็นการสร้างช่องทางในการถ่ายทอดสดๆ ออกไปสู่สายตาชาวโลกให้ได้จำนวนมากคู่ที่สุด เมื่อเป็นดังนี้ เราจึงสามารถที่จะชมการถ่ายทอดสดได้มากขึ้น มากจนเกือบจะครบทุกคู่การแข่งขันในแต่ละสัปดาห์เลยทีเดียว
ในประเด็นดังกล่าว รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ว่า "การเติบโตของบริการโทรทัศน์ระหว่างประเทศอันเป็นผลจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศผสมผสานกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ผลักดันให้กระบวนการสากลานุวัตรของกีฬาฟุตบอลขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยที่การขยายตัวในช่วงสองทศวรรษหลังนี้ มีมากกว่าการขยายตัวตลอดศตวรรษก่อนหน้านี้ การเติบโตของกระบวนการโทรทัศนานุวัตรยังผลให้รายได้จากการถ่ายทอดโทรทัศน์กลายเป็นรายได้หลักของสโมสรฟุตบอลชั้นนำในยุโรป" (22)
สโมสรฟุตบอลพัฒนาจากวิสาหกิจที่มีเจ้าของผู้เดียว
(Single Proprietorship) มาเป็นบริษัทมหาชน โดยที่จำนวนไม่น้อยจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์
การแปรสภาพเป็นบริษัทจดทะเบียนเกื้อกูลให้สามารถระดมทุนจากแหล่งภายนอกสโมสร (External
Finance) ได้ ผ่านการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (London Stock Exchange)
ถึงร่วมสิบสโมสรในตอนนั้น
อย่างไรก็ดี พรีเมียร์ลีกก็ถือเป็นลีกที่รวม 20 ทีมเก่งสุดในเกาะอังกฤษเข้าด้วยกัน
ซึ่งนับแต่ก่อตั้งมาจนถึงฤดูกาลล่าสุด ปี 2006-2007 ก็ยังคงมีเพียง 4 ทีมเท่านั้นที่เคยชนะเลิศในการแข่งขันนี้
ก็คือ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (9 ครั้ง) อาร์เซนอล (3 ครั้ง) เชลซี (2 ครั้ง) และแบล็กเบิร์นโรเวอร์ส
(1 ครั้ง) เท่านั้น จากการแข่งขั้นทั้ง 38 นัดของทุกทีมในแต่ละฤดูกาล
Jean-Marc Bosman
จุดเปลี่ยนในวงการฟุตบอล
อีกจุดเปลี่ยนสำคัญที่มีผลกระทบมหาศาลต่อวงการฟุตบอลยุโรปมหาศาล
ได้แก่ กรณีของ Jean-Marc Bosman (23) ที่ปัญหาเริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงกลางปี 1990
เมื่อสโมสร RFC Li?ge (ทีมในเบลเยี่ยม) ต้นสังกัดของบอสแมนได้ลดค่าเหนื่อยของเขาลงถึง
60 % ด้วยเหตุนี้ เขาจึงต้องการย้ายทีมไปยังทีมอื่นๆ ที่สนใจในตัวเขา ก็คือ Dunkerque
(ทีมในฝรั่งเศส) แต่ว่าลีแอชกลับเรียกค่าตัวจากในการขายเขาออกไปอย่างเกินความเป็นจริง
ทำให้เดิงแกร์เกเลิกล้มความตั้งใจที่จะซื้อตัวเขาไป จากนั้นบอสแมนก็แทบจะไม่ได้ลงเล่นให้กับทีม
แต่เขาก็ยังคงถูกดองไว้ในทีม เขาก็เลยจะต้องอาศัยกลไกทางศาลต่อสู้กับทีมของตนเอง
และสมาคมฟุตบอลเบลเยียม ซึ่งต่อมา เขาก็ได้รับชัยชนะ ทว่า สมาคมฟุตบอลเบลเยียมก็ขอยื่นอุทธรณ์ในทันที
ส่งผลให้เขาจะต้องรอคอยคำตอบอยู่อีกเกือบหนึ่งปีเต็มๆ ถึงที่สุด ศาลอุทธรณ์ก็ยังคงตัดสินยืนยันตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ส่งผลให้เขาสามารถจะย้ายทีมได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องมีการจ่ายเงินค่าตัว หรือ ค่าชดเชยใดๆ ให้กับต้นสังกัดเก่าทั้งสิ้น ถึงกระนั้น เหตุการณ์ดังกล่าวก็ยังไม่ยุติ เมื่อเขาถูกปฏิเสธคำขอรับเงินบำนาญในฐานะบุคคลว่างงาน เมื่อเขาหมดสัญญาค้าแข้งกับเดิงแกร์เก และเดินทางกลับบ้านเกิดในปี 1992 ส่งผลให้เขาต้องหันไปพึ่งศาลแห่งสหภาพยุโรป (EU: European Union) และแล้วศาลแห่งนี้ก็ได้ตัดสินให้เขาเป็นฝ่ายชนะคดี พร้อมด้วยเงินชดเชย คิดเป็นเงินไทยแล้วตกประมาณ 22 ล้านบาท และให้คำพิพากษานี้ถือเป็นที่สุด ไม่อาจจะมีการอุทธรณ์ใดๆ ได้อีก (24)
+++++++++++++++++++++++++
Judgment of the Court of 15 December 1995. (25)
Union royale belge des soci?t?s de football association ASBL v Jean-Marc Bosman,
Royal club li?geois SA v Jean-Marc Bosman and others and Union des associations
europ?ennes de football (UEFA) v Jean-Marc Bosman.
Reference for a preliminary ruling: Cour d'appel de Li?ge - Belgium.
Freedom of movement for workers - Competition rules applicable to undertakings - Professional footballers - Sporting rules on the transfer of players requiring the new club to pay a fee to the old club - Limitation of the number of players having the nationality of other Member States who may be fielded in a match.
Case C-415/93.
European Court reports 1995 Page I-04921
+++++++++++++++++++++++++
คำพิพากษาของศาลแห่งสหภาพยุโรปในคดีบอสแมน หรือที่มักเรียกสั้นๆ ว่า กฎบอสแมน (Bosman Ruling) ในปี 1995 นี้ เสมือนการปฏิวัติตลาดซื้อขายนักเตะของยุโรปโดยสิ้นเชิง
ประแรกแรก เมื่อนักฟุตบอลสิ้นสัญญากับสโมสรต้นสังกัดแล้ว ก็ย่อมจะมีอิสระเสรีเต็มที่ในอันที่จะย้ายสโมสร โดยไม่มีค่าตัว และมิได้ถือว่านักฟุตบอลเป็นสินทรัพย์ของสโมสรต้นสังกัดอีกต่อไป เพราะก่อนหน้านี้ การจะโยกย้ายสโมสรแต่ละครั้งของผู้เล่นทั้งที่อยู่ในสัญญาหรือหมดสัญญาแล้ว จักต้องขึ้นอยู่กับการตกลงเจรจาในเรื่องค่าตัวระหว่างสโมสรกับสโมสรเท่านั้น ดังนั้น หากนักเตะคนใดหมดพันธะกับต้นสังกัดแล้ว และต้องการย้ายออกจากสโมสร ๆ จะไม่มีสิทธิใดๆ ในการเซ็นสัญญากับสโมสรใหม่ได้ จนกว่าต้นสังกัดจะเห็นชอบอนุญาตในการย้ายทีมนั้นๆ เสียก่อน ในแง่นี้ นักเตะจึงถือเป็นแรงงานทางธุรกิจที่ไม่มีสิทธิมีเสียงใดๆ ตามสมควร เปลี่ยนมาเป็นว่านักฟุตบอลสามารถจะเลือกต้นสังกัดใดก็ได้ตามความสมัครใจ หากเหลืออายุงานกับต้นสังกัดเดิมไม่ถึง 1 ปี เพียงแต่ว่าต้องทำการตกลงในเรื่องค่าจ้างกับสโมสรใหม่ให้ได้เสียก่อนเท่านั้น จึงเท่ากับเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับนักเตะโดยตรง (26)
ประการที่สอง คือ การยอมรับให้ผู้เล่นชาวต่างชาติแต่อยู่ในกลุ่มอียูเช่นเดียวกันไม่ถือว่าเป็นโควตาของนักเตะต่างชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของอียูที่ต้องการความเป็นหนึ่งเดียวของชาติสมาชิก อีกทั้งทาง UEFA ก็ยังมิอาจที่จะจำกัดจำนวนนักฟุตบอลต่างชาติของแต่ละสโมสรในยุโรปได้อีกต่อไป เนื่องจากก่อนหน้านี้ ได้มีการจำกัดจำนวนนักเตะต่างชาติที่จะลงเล่นให้กับแต่ละสโมสร โดยที่ UEFA (The Union of European Football Associations) กำหนดให้แต่ละทีมสามารถจะมีนักเตะต่างชาติที่อยู่นอกอียูลงเล่นให้กับทีมได้เพียงแค่ 3 คนต่อเกมส์หนึ่งๆ เท่านั้น เพราะถือเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติ (27)
คำพิพากษานี้เองที่ทำให้ตลาดการซื้อขายนักฟุตบอลในฤดูกาล 1996-1997 เป็นต้นมามีความคึกคักต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันนี้ ในอีกด้านหนึ่งก็บ่งชี้ชัดถึงอิทธิพลของกฎกติการะหว่างประเทศ ที่สามารถจะส่งผลกระทบต่อความเป็นไปในด้านต่างๆ ถึงแต่ละรัฐได้ ซึ่งก็ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ แม้แต่กับลีกฟุตบอลภายในของตน
ผู้เล่น / ผู้จัดการ /
เจ้าของทีมฟุตบอล
กฎข้อนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ลีกแห่งนี้ได้กลายเป็นที่ชุมนุมของนักฟุตบอลต่างชาติมากหน้าหลายตาไปแล้ว
โดยมีแนวโน้มพุ่งขึ้นต่อเนื่องรวดเร็วนับตั้งแต่บัดนั้น และแล้วในนัดสำคัญๆ หลายทีมก็กลับสร้างความแปลกใหม่ให้วงการลูกหนังผู้ดีด้วยการจัดตัวผู้เล่นที่ไม่ใช่อังกฤษเลยลงสนามโดยพร้อมเพรียงกันทั้ง
11 คน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมกันไปต่างๆ นานา
จากฤดูกาลแรก ปี 1992-1993 ที่มีนักเตะต่างชาติรวมกันทั้งหมดแล้ว เพียง 22 % ต่อมาภายหลังจากที่กฎบอสแมนมีผลใช้บังคับ ในปี 1996-1997 ก็เพิ่มขึ้นเป็น 32 % (28) จนถึงฤดูกาลนี้ ปี 2006-2007 จากรายชื่อผู้เล่นทั้งหมด (เฉพาะทีมชุดใหญ่) ของบรรดา 20 สโมสรพรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2006-2007 จำนวน 556 คน มีนักเตะถึง 285 คนที่มิใช่พลเมืองสหราชอาณาจักร [The United Kingdom หรือ U.K. ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ (England) สกอตแลนด์ (Scotland) เวลส์ (Wales) และไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland)] ซึ่งรวมกันแล้วมีเพียง 271 คนเท่านั้น โดยที่ใน 285 คน หรือคิดเป็น ร้อยละ 51 แบ่งเป็นนักเตะจากชาติสมาชิกสหภาพยุโรปด้วยกันเองมากถึง 219 คน และเป็นนักเตะสัญชาติอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ อีก 66 คน. โดยเฉลี่ยแล้ว แต่ละทีมจะมีนักเตะต่างชาติตกราวๆ ทีมละ 14.5 คน
เป็นที่น่าสังเกตว่า มีถึง 12 ทีมด้วยกันที่มีนักเตะต่างชาติมากกว่าครึ่ง อนึ่ง สโมสรที่ใช้นักฟุตบอลชาวต่างชาติมากที่สุด ก็คือ อาร์เซนอล ขณะที่ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด เป็นสโมสรที่ใช้น้อยที่สุด ส่วนสโมสรใดจะใช้นักเตะชาวต่างชาติจำนวนกี่มากน้อยนั้น ย่อมแตกต่างกันไปตามปรัชญาการบริหาร และฐานะการเงินของแต่ละสโมสรเป็นสำคัญ โดยมีแนวโน้มว่า สโมสรยักษ์ใหญ่จะมีศักยภาพในด้านนี้มากกว่า นั่นเองที่เป็นสัญญาณบ่งบอกหลายสิ่งหลายอย่าง
อาจกล่าวได้ว่าธรรมเนียมการกว้านซื้อตัวนักฟุตบอลต่างชาติ ของสโมสรฟุตบอลอังกฤษที่เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่มีการก่อกำเนิดพรีเมียร์ลีกขึ้น กอปรกับมีกฎบอสแมนข้างต้นออกมา จารีตการสร้างนักฟุตบอลของตัวเองก็พ้นสมัยไปเสียแล้ว หรือแม้จะยังคงมีอยู่บ้าง แต่ก็กำลังลดความสำคัญลงไปทุกขณะ การทุ่มเงินซื้อนักฟุตบอลชื่อดังระดับโลกมาร่วมสังกัด ส่งผลดีต่อทุกสโมสรในระยะเวลาอันสั้น ทั้งในแง่ของการเพิ่มศักยภาพให้กับทีม และในแง่ของการดึงดูดแฟนบอลให้กว้างไกลออกไปอย่างรวดเร็ว ปรากฏการณ์เช่นนี้ จึงถือเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ สถิติของนักเตะค่าตัวแพงที่สุดบนเกาะอังกฤษในตอนนี้ตกเป็นของ Andriy Shevchenko จากเอซีมิลานสู่เชลซีด้วยค่าต้ว 30 ล้านปอนด์ ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในปี 2006 ที่ผ่านมานี้เอง
โดยนัยนี้ ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกกำลังผงาดขึ้นมาเป็นศูนย์อำนาจใหม่ของโลกกีฬาฟุตบอล นักฟุตบอลชั้นยอด จากทั้งยุโรป ละตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย ต่างมุ่งหน้าเพื่อเข้าไปค้าแข้งในอังกฤษเพิ่มขึ้นในแต่ละปีๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าฟุตบอลอังกฤษจะเปิดกว้างอ้าแขนรับนักเตะต่างชาติทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เพราะยังมีข้อกำหนดที่ว่า นักเตะนอกประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปหากประสงค์จะมาค้าแข้งในอังกฤษ ก็จะต้องติดทีมชาตินั้นอย่างสม่ำเสมอ และเป็นที่น่าพอใจเสียก่อน ทางการอังกฤษก็ถึงจะออกใบอนุญาตทำงาน (work permit) ให้แก่นักเตะเหล่านั้นต่อไป อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์การไหลบ่าของชาวต่างชาติในฟุตบอลอังกฤษ ก็ยังรุกคืบเข้าสู่ตลาดการว่าจ้างผู้จัดการทีมชาวต่างชาติอีกด้วย
แต่อีกประเด็นที่มองข้ามไม่ได้ ก็คือ การตลาดได้ก้าวเข้ามามีบทบาทกับเกมกีฬาฟุตบอลเป็นอย่างสูง การซื้อผู้เล่นจากต่างชาติสู่เกาะอังกฤษ บางครั้งก็อาจเป็นเรื่องของคุณค่าทางการตลาดมากกว่าอื่นใด ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ก็คือ จำนวนนักฟุตบอลฝีเท้าดีจากชาติเอเชียในลีกอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในฤดูกาลนี้ รวมแล้วตัวเลขอยู่ที่ 8 คน จากเกาหลีใต้และจีนอย่างละ 4 คนเท่ากัน เช่น Park Ji Sung และ Sun Ji hai โดยที่ในฤดูกาลก่อนๆ ก็จะมีนักเตะคนดังของญี่ปุ่นรวมอยู่ด้วยหลายคน เช่น Hidetoshi Nakata และ Junichi Inamoto ตัวอย่างทำนองนี้เป็นกรณีศึกษาชั้นดีของการนำนักเตะจากประเทศที่มีกำลังซื้อสูงในธุรกิจฟุตบอล เพื่อนำกำไรเข้าสู่ทีมตนเองด้วยธุรกิจเกี่ยวเนื่องนอกสนามฟุตบอล ทั้งในแง่ของการท่องเที่ยว การโฆษณา ตลอดจนสินค้าที่ระลึกต่างๆ นานา ไม่เว้นแม้กระทั่งนักเตะแดนสยามที่ชื่อ "เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง" ซึ่งระหกระเหินไปทดสอบฝีเท้ากับทีมอย่าง Huddersfield Town ในลีกวัน แต่แล้วกลับไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องกลับมาตายรังแถวๆ บ้านเราในท้ายที่สุด
อาจกล่าวได้ว่าในขณะนี้ พรีเมียร์ลีกเป็นลีกฟุตบอลภายในประเทศที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ตัวชี้วัดคุณภาพที่ดีที่สุด ก็คือ จำนวนนักฟุตบอลที่เข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ซึ่งเยอรมันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 100 คน ที่กำลังเล่นฟุตบอลอยู่ในอังกฤษ หรือเคยผ่านการเล่นฟุตบอลในลีกแห่งนี้มาแล้ว
นอกจากความเป็นสหประชาชาติในแง่นักเตะแล้ว ในส่วนของผู้จัดการทีม ก็มีผู้จัดการทีมต่างชาติเข้ามามีบทบาทในพรีเมียร์ลีก ณ ปัจจุบันนี้ มีถึง 8 คนที่ไม่ใช่ชาวอังกฤษแท้ๆ จากทั้งหมด 20 คน คนสำคัญๆ ยกตัวอย่างเช่น Sir Alex Ferguson (Scots), Ars?ne Wenger (Frenchman), Jos? Mourinho (Portuguese), Rafael Ben?tez (Spanish) เป็นอาทิ แม้แต่ในสโมสรฟุตบอลที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยมสูงยิ่ง เช่น ลิเวอร์พูล ก็ยังต้องทำเช่นนี้ โดยมีข้อสังเกตสำคัญก็คือ นับตั้งแต่มีการตั้งพรีเมียร์ลีกขึ้นมา ก็ยังไม่เคยมีแม้แต่ครั้งเดียวเลยที่ผู้จัดการที่ประสบความสำเร็จในถ้วยใบนี้เป็นชาวอังกฤษแท้ๆ
สุดท้าย ในส่วนเจ้าของนั้น จะเห็นได้ชัดถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายระลอกด้วยกัน แน่นอน สโมสรฟุตบอลอังกฤษตกเป็นที่หมายปองของอภิมหาเศรษฐีต่างชาติจากทุกมุมโลก ไม่เว้นแม้แต่จากประเทศไทย (29) เจ้าของกิจการสโมสรฟุตบอลชาวอังกฤษแท้ๆ ไม่อาจจะทัดทานกระแสไหลเวียนของทุนมหึมาขนาดนี้ได้เลย ในวันนี้ จึงมีถึง 7 ทีมซึ่งมีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติ ทั้งที่เป็นอเมริกัน รัสเซีย และอื่นๆ โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า สโมสรเก่าแก่ชั้นนำ ถูกเทคโอเวอร์โดยชาวต่างชาติเกือบจะครบแล้ว ไม่ว่าจะเป็น
- แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (ตระกูล Gelzer/สหรัฐฯ)
- เชลซี (Roman Abramovich/รัสเซีย) และ
- รายล่าสุด ก็คือ ลิเวอร์พูล ที่เปลี่ยนมือไปเป็นของคู่หู Tom Hicks กับ George Gillett ในปีนี้เอง
ปรากฏการณ์ข้างต้น มักจะเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากแฟนพันธุ์แท้ และสังคมท้องถิ่นในพื้นที่นั้นๆ จนเกิดเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ อาทิ กลุ่ม IMUSA (Independent Manchester United Supporters Association), Shareholders United Against Murdoch (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น Shareholders United จนกลายมาเป็น the Manchester United Supporters Trust ในที่สุด) คัดค้านการเข้ามาฮุบกิจการสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดของนายมัลคอล์ม เกลเซอร์ และพันธมิตร
Malcolm Glazer / ManU Not For Sale
กล่าวให้ถึงที่สุด หากมองในด้านดี การเข้ามาของทุนมหาศาลของเศรษฐีต่างชาติเหล่านี้นั้น น่าจะมีส่วนช่วยเร่งให้ผลงานของแต่ละทีมดีขึ้นตามลำดับ ทว่า ในตรงกันข้าม มันก็คงค่อยๆ กัดกร่อนทำลายจิตวิญญาณของความเป็นฟุตบอลลงไปทีน้อยๆ
ธุรกิจฟุตบอลในยุคโลกาภิวัตน์
ความเปลี่ยนแปลงของฟุตบอลลีกอังกฤษไม่ได้มีเพียงเฉพาะในส่วนที่ได้กล่าวมาแล้วเท่านั้น
หากแต่มีความเป็นไปในทางที่เกี่ยวกับความมั่งคั่งของแต่ละทีมเช่นกัน วันนี้วงการกีฬาฟุตบอลอังกฤษมีความเป็นธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ เมื่อนำข้อมูลรายงานการเงินของสโมสรฟุตบอลต่างๆ มาวิเคราะห์ ก็จะพบว่ามีสโมสรฟุตบอลจากอังกฤษติดอันดับสโมสรฟุตบอลที่มีรายได้
(Income) สูงสุดใน 20 อันดับแรกของฤดูกาล 2005-2006 ถึง 8 ทีมด้วยกัน มากกว่าลีกอื่นใด
โดยที่ 4 ทีมยักษ์ใหญ่ล้วนติดอยู่ใน 10 อันดับแรกทั้งสิ้น ทั้งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
(4), เชลซี (6), อาร์เซนอล (9), ลิเวอร์พูล (10) จากการสรุปของ Deloitte Touche
Tohmatsu ที่นอกจากจะเป็นยักษ์ใหญ่ในแวดวงธุรกิจการบัญชีแล้ว ก็ยังถือเป็นผู้ชำนัญการเรื่องระบบการเงินของสโมสรฟุตบอลอีกด้วย
ทั้งในฐานะผู้รับจ้างตรวจสอบบัญชี และที่ปรึกษาทางด้านการเงินให้กับสโมสรฟุตบอลต่างๆ
ในยุโรป (ดูรายละเอียดจากตารางข้างท้ายนี้)
List of world's richest clubs :
ที่มา
: www.deloitte.com
ขณะที่หากลองพิจารณาในแง่มูลค่า (Value) ของทีม ก็จะพบว่า "ปีศาจแดง" แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ประจำปี 2006 จากการจัดอันดับโดยนิตยสาร Forbes ซึ่งเป็นนิตยสารธุรกิจชื่อดังของอเมริกา และยังมีทีมจากอังกฤษติด 25 อันดับแรกรวมถึง 10 ทีม มากที่สุดกว่าลีกแห่งใดๆ
Soccer Team Valuations :
ที่มา : http://www.forbes.com
การจัดตั้งพรีเมียร์ลีก ทำให้ดุลยภาพของตลาดฟุตบอลในยุโรปเปลี่ยนแปลงไป เพราะรายได้จากการขายสิทธิขาดการถ่ายทอดการแข่งขันทางโทรทัศน์ ได้ทำให้ฐานะทางการเงินของสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกดีขึ้นผิดหูผิดตา (30) ส่งผลให้มีพลังที่จะดึงดูดนักฟุตบอลฝีเท้าระดับโลกเข้ามาร่วมทีม อันถือเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่มีผลต่อชัยชนะของทีม และแน่นอน การมีผลการแข่งขันที่ดี ก็ย่อมจะนำมาซึ่งความนิยมในตัวสโมสร รวมถึงรายได้ ตลอดจนความคล่องตัวทางการเงินซึ่งมีมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความสำเร็จในถ้วยสโมสรยุโรป UEFA Champions League ที่ยิ่งเข้ารอบการแข่งขันได้ลึกมากเพียงใด ก็จะยิ่งเท่ากับเป็นการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่สโมสรมากเพียงนั้น แน่นอน รายได้จากการแข่งขันในรายการนี้ นับว่ามีผลต่อฐานะการเงินของสโมสรฟุตบอลอย่างชัดเจน อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้หลายสโมสรจากอังกฤษจะติดอันดับอยู่ในตารางสโมสรฟุตบอลที่มีรายได้สูงสุดดังกล่าว ทั้งๆ ที่ก็หาได้มีโอกาสเข้าร่วมการชิงชัยในถ้วยนี้ด้วยซ้ำ แสดงให้เห็นว่ารายได้จากค่าผ่านประตูจากการแข่งขันภายในประเทศเอง ก็ยังคงเป็นฐานรายได้ที่มีความสำคัญอยู่มิใช่น้อย (31)
แหล่งรายได้ที่สำคัญๆ นอกเหนือจากนี้ ก็คือ รายได้จากการโฆษณาและสปอนเซอร์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้สนับสนุนชุดแข่งขัน ผู้สนับสนุนหลักบนอกเสื้อดังกล่าว ผู้สนับสนุนรองลงมา เช่น ขนม เครื่องดื่ม เครือข่ายโทรศัพท์ สถาบันการเงิน สายการบิน ตลอดจนร้านรับแทงพนันประจำสโมสร เป็นต้น ก็อาจจะปรากฏเป็นป้ายโฆษณาที่อยู่ข้างสนาม และในเว็บไซต์ ยิ่งไปกว่านั้น รายได้ส่วนใหญ่ของสโมสรต่างๆ ก็ยังจะมาจากการจำหน่ายสินค้าต่างๆ ของทางสโมสรเอง ทั้งชุดแข่งขัน ผ้าพันคอ หมวก ลูกฟุตบอล อุปกรณ์เชียร์ ของที่ระลึกต่างๆ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ใช้นักฟุตบอลคนสำคัญของทีมมาเป็นจุดขาย ซึ่งมักจะขายได้ชนิดเป็นกอบเป็นกำ แต่ก็มีบางสโมสรที่ก้าวล่วงไปผลิตสินค้าอื่นๆ โดยอาศัยตราสัญลักษณ์ของสโมสรมาเป็นเครื่องหมายการค้า ทำให้อาจจะจัดได้ว่าพรีเมียร์ลีกเป็นลีกฟุตบอลที่ร่ำรวยที่สุดของโลกไปแล้ว ถึงขนาดที่ว่าสโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่บางแห่งถึงกับจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ของสโมสรเองขึ้นมา มุ่งเสนอข่าวเกี่ยวกับสโมสรของตนโดยเฉพาะก็มี
ขณะที่หลายๆ สโมสรก็ใช้กลยุทธ์ในการขยับขยายฐานแฟนบอลของทีมไปยังตลาดใหม่ๆ ในอเมริกาก็ดี ในแอฟริกาก็ดี หรือในเอเชียเองก็ดี โดยพยายามดึงผู้ร่วมสนับสนุนจากทวีปต่างๆ ดังกล่าว รวมถึงการกำหนดให้มีการแข่งขันนัดพิเศษขึ้นในประเทศต่างๆ ช่วงปิดฤดูกาลเป็นประจำทุกปี หมุนเวียนกันไปในทวีปเหล่านี้ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะพอส่งเสริมยอดการจำหน่ายสินค้าต่างๆ ของสโมสรได้อีกทางหนึ่ง
กล่าวโดยสรุป หากพิจารณาโครงสร้างสัดส่วนรายรับของแต่ละสโมสรในพรีเมียร์ลีกแล้ว พบว่าแหล่งรายได้หลักนั้น เหมือนๆ กัน กล่าวคือ มักจะมีที่มาจาก 3 ทางด้วยกัน ได้แก่ รายได้จากค่าเข้าชม (Matchday) การขายสิทธิในการถ่ายทอดหรือแพร่ภาพทางโทรทัศน์ (Media) และรายได้เกี่ยวกับการค้า (Commercial) ต่างๆ ตามลำดับ อนึ่ง ปัจจัยทางการเงินในทุกด้านข้างต้น จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น จักขึ้นอยู่กับฐานแฟนบอลของแต่ละทีมเป็นสำคัญ
ตาราง
ชุดแข่งขัน / ผู้สนับสนุนบนหน้าอกเสื้อ
สโมสรฟุตบอล พรีเมียร์ลีกอังกฤษ ฤดูกาล 2006-2007 (32)
จากข้อมูลที่ได้ตามตารางแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องผู้สนับสนุนหลักคาดหน้าอกชุดแข่งขันข้างต้น
สะท้อนถึงความเป็นโลกาภิวัตน์ในฟุตบอลอังกฤษอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากพบว่ามีถึง
11 ทีมด้วยกันที่ผู้สนับสนุนบนหน้าอกเสื้อซึ่งไม่ใช่เป็นของชาวอังกฤษเอง แบ่งเป็นมาจากอเมริกา
ญี่ปุ่น และยิบรอลต้า อย่างละ 2 ตัวเท่ากัน นอกจากนั้นอีก 5 ตัว ก็จะมาจากทั้งยูเออี
(Fly Emirate) สเปน เกาหลีใต้ (Samsung Mobile) เดนมาร์ก รวมถึง "ประเทศไทย"
ที่เรามี "เบียร์ช้าง" ไปผงาดอยู่บนหน้าอกเสื้อทีมดังอย่าง "เอฟเวอร์ตัน"
ซึ่งหากพิจารณาจากประเภทสินค้า จะพบว่ามีถึง 4 ตัวที่เป็นธุรกิจด้านการพนัน (32Red.com,
bet24, 888.com, Mansion) นอกจากนี้ก็จะมีปะปนกันไป เช่น สายการบิน เสื้อผ้ากีฬา
เครื่องดื่ม ธนาคาร ฯลฯ (ดูรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมจากตาราง)
ขณะที่ชุดแข่งขันอย่างเป็นทางการของแต่ละสโมสรนั้น ก็เริ่มเห็นการรุกคืบเข้ามาของยี่ห้อต่างชาติทุกขณะ ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อว่าจะมียี่ห้อจากเยอรมันมากพอๆ กับยี่ห้อต่างๆ ในอังกฤษเอง ประเทศละ 6 ทีมเท่ากัน ส่วนในแง่ แบรนด์ ก็จะเป็น รีบอก กับ อาดิดาส ตัวละเท่ากัน 3 ทีม (ดูข้อมูลเพิ่มเติมในตาราง)
ปรากฏการณ์ที่สำคัญในระยะหลัง ก็คือ เริ่มมีการจับคู่ระหว่างทีมที่เป็นมหาอำนาจของฟุตบอลอังกฤษกับแบรนด์กีฬาระดับโลกแนบแน่นยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่อาร์เซนอลและแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดจับมือกับไนกี้ หรือกรณีของเชลซีและลิเวอร์พูลไปจับมือกับอาดิดาสนั้น นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำสัญญาพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Alliance Agreement) ในด้านต่างๆ ร่วมกันนั่นเอง
กระทั้ง ณ บัดนี้ ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษได้กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงไปทั่ว บรรยากาศต่างๆ ในสนามก็เป็นที่คุ้นชินสำหรับแฟนบอลทั้งโลก จนถึงกับมีสโลแกน "The Greatest Show on Earth" ออกมา สำหรับผู้คนกลุ่มหนึ่งแล้ว มันเป็นเพียงความบันเทิงเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต ขณะที่อีกหลายกลุ่มก็หาได้คิดเช่นนั้นไม่ จำพวกหลังนี้ บางทีฟุตบอลถือเป็นส่วนสำคัญของชีวิตพวกเขาไปแล้ว ซึ่งก็อาจจะมีความหมายทั้งของในเชิง "ธุรกิจ" หรือ "วิถีชีวิต" ก็เป็นได้
(3) บทส่งท้าย
กระแสหรือกระบวนโลกาภิวัตน์ดังกล่าวมาแล้ว ทำให้เอกลักษณ์ในความเป็นฟุตบอลอังกฤษลดน้อยถอยลงตามลำดับ
และในทุกๆ มิติ ความสำเร็จของหลายสโมสรยักษ์ใหญ่สะท้อนให้เห็นการเติบโตของระบบทุนวัฒนธรรม
(Cultural Capital) อย่างชัดเจนที่สุด ในฐานะนันทนาการหนึ่งซึ่งมีผู้คนต้องการจะเสพ
โดยมีฟุตบอลเป็น "สินค้าวัฒนธรรม" (Cultural Product) แต่ก็มีอีกหลายคนที่อาจจะมีส่วนได้เสียจากการพนันฟุตบอลมากกว่า
โลกาภิวัตน์กับฟุตบอลพรีเมียร์ลีกยังไม่จบสิ้น ดังเช่นที่ Dan Jones หุ้นส่วนในกลุ่มธุรกิจด้านกีฬาชั้นนำของโลก กล่าวเอาไว้ด้วยประโยคสั้นๆ แต่ตรงไปตรงมาว่า "Football remains a growth sport, especially at the highest level" (33) เพราะมันได้ช่วยบุกเบิกตลาดใหม่ๆ ให้แก่วัฒนธรรมฟุตบอล และขณะเดียวกันมันก็ยังเป็นพลังผลักดันให้กีฬาฟุตบอลมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น โดยความสามารถที่จะเชื่อมโยงมนุษย์ในส่วนต่างๆ ของโลกเข้าด้วยกัน ชนิดที่ว่าข้ามเขตพรมแดนใดๆ ผสมผสานกลมกลืนในความรู้สึกร่วมกัน อย่างน้อยก็สัปดาห์ละครั้ง
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
(1) ในประเด็นนี้ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร พยายามอธิบายว่า "...การพัฒนา ก็เป็นเพียงเทคนิควิทยาการของอำนาจแบบหนึ่งที่ประเทศมหาอำนาจตะวันตกคิดค้นขึ้นมาใช้ เพื่อเพิ่มการปกครอง/ควบคุม/จัดระเบียบประเทศด้อยพัฒนา เพียงแต่แยบยลและแนบเนียนกว่าเทคนิควิทยาการของอำนาจในอดีต ซึ่งใช้แต่กำลังเข้าบังคับในรูปของการล่าอาณานิคม..." ดูรายละเอียดได้จาก ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, วาทกรรมการพัฒนา, (กรุงเทพฯ: วิภาษา, 2545), เฉพาะ บทที่ 1 วาทกรรมกับการพัฒนา หน้า 16-62.(2) ตัวอย่างของทฤษฎีสำคัญในทางรัฐศาสตร์ ได้แก่ แนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาทางการเมือง (Political Development หรือ Political Modernization) โปรดดู สุจิต บุญบงการ, การพัฒนาทางการเมืองไทย: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2537), ใน บทที่ 2 หน้า 11-44.
(3) คำๆ นี้ เป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นโดย John Williamson จากบทความเรื่อง "What Washington Means by Policy Reform" เมื่อปี ค.ศ.1989 อ้างถึงใน รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ฉันทมติวอชิงตัน, (กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2548), หน้า 51-52. และอ่านข้อคิดเห็นเกี่ยวกับฉันทมติวอชิงตันเพิ่มเติมจากบทความต่างๆ ใน ภาคที่ 2 Washington Consensus ของหนังสือเล่มเดียวกันนี้ หน้า 50-86.
(4) ชัยอนันต์ สมุทวณิช เห็นว่า " ปัจจุบัน ตลาด (market) กลายเป็นส่วนที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนเรามากเท่าๆ กับหรือมากกว่ารัฐเสียอีก ระบบเศรษฐกิจการตลาดมีพลวัตรสูงกว่าระบบการเมืองและหากปราศจากการเหนี่ยวรั้งจากอำนาจรัฐบ้างแล้ว ก็อาจเกิดเผด็จการโดยกลไกการตลาดก็ได้ เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่มักตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของการโฆษณาและยากที่จะรวมตัวกันทัดทานแรงกดดันที่มาจากพลังธุรกิจของบรรษัท โดยเฉพาะจากบรรษัทข้ามชาติที่มีทุนเหนือกว่า..." โปรดดู ชัยอนันต์ สมุทวณิช, จากรัฐชาติสู่รัฐตลาด แนวความคิดเกี่ยวกับรัฐและสังคมในยุคโลกานุวัตร, (กรุงเทพมหานคร: บ้านพระอาทิตย์, 2544).
(5) ดู เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา, "globalisation," ใน สิริพรรณ นกสวน และเอก ตั้งทรัพย์วัฒนา (บรรณาธิการ), คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546), หน้า 118.
(6) ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542, (กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คพับลิเคชั่นส์, 2546), หน้า 1044.
(7) มติชน, พจนานุกรมฉบับมติชน, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2547), หน้า 790-791.
(8) เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา, อ้างแล้ว, หน้า 117-118.
(9) เรื่องเดียวกัน, หน้า 118.
(10) ดู เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา, เพิ่งอ้าง, หน้า 121.
(11) อ่านคำอธิบายแผนภาพใน Andrew Heywood, Key Concepts in Politics, (New York: palgrave, 2000), pp. 243-244.(12) Rainondo Strassoldo, Globalism and localism: Theoretical reflections and some evidence, in Zdravko Mlinar, ed., Globalization and Territorial Identities, (Newcastle: Athernaeum Press, Ltd., 1992), pp. 35-59.
(13) Ibid
(14)g เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา, อ้างแล้ว, หน้า 126-126.
(15) รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, กีฬาในระบบทุนวัฒนธรรม, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์, 2544), หน้า 88-89.(16) โดยทางสถานี Sky Television ขอซื้อสิทธิผูกขาดในการถ่ายทอดสดการแข่งขันในราคาแพง ทำสัญญาฉบับแรกซื้อสิทธิผูกขาดในการถ่ายทอดการแข่งขันเป็นเวลา 5 ปี (ฤดูกาล 1992-1993 ถึง 1996-1997) จ่ายค่าตอบแทนให้ 191 ล้านปอนด์ และเพิ่มเป็น 670 ล้านปอนด์ในอีก 4 ฤดูกาลถัดมา และสูงสุดถึง 1,204 ล้านปอนด์ในอีก 3 ฤดูกาลต่อมา เทียบกับในอดีตที่ฟุตบอลลีกได้รายได้จากการขายสิทธิให้สถานี ITV เพียง 44 ล้านปอนด์ ในช่วงเวลา 4 ปี ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2006 มานี้ Sky Television ก็ไม่ได้สิทธิผูกขาดเบ็ดเสร็จอีกต่อไป เมื่อทาง Sentanta Sports สามารถเข้ามาแบ่งสิทธิบางส่วนไปได้ โปรดดู http://en.wikipedia/wiki/PremierLeague
(17) โปรดดู Francis Fukuyama, the End of History and the Last Man, (New York: Avon Books, 1992).
(18) แรกเริ่มเดิมทีในฤดูกาล 1992-1993 รวมแล้วก็ยังมี 22 ทีม เรื่อยมา จวบจนต่อมาได้มีนโยบายจาก FIFA ให้ภาคีสมาชิกลดจำนวนเกมส์การแข่งขันของฟุตบอลภายในแต่ละประเทศลง ในปี 1995 พรีเมียร์ก็ได้ทำการลดจำนวนทีมลงมาอยู่ที่ 20 ทีม นับแต่ฤดูกาลนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ข้อมูลจาก http://en.wikipedia/wiki/PremierLeague
(19) รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, กีฬาในระบบทุนวัฒนธรรม, อ้างแล้ว, หน้า 126.
(20) เรื่องเดียวกัน, หน้า 139.
(21) ที่มา: http://en.wikipedia/wiki/PremierLeague
(22) รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, กีฬาในระบบทุนวัฒนธรรม, อ้างแล้ว, หน้า 128.
(23) โปรดดู http://en.wikipedia.org/wiki/Jean-Marc_Bosman(24) เรียบเรียงจาก ธรรมศักดิ์ มีแสงเงิน, 10 ปี กฎบอสแมน 10 ปีแห่งการปลดสัญญาทาส, อ้างถึงใน http://www.nationweekend.com และ วิทยากร บุญเรือง, More Than Football: Jean-Marc Bosman (1) ผู้ปลดแอกนักฟุตบอล, อ้างถึงใน http://www.prachatai.com
(25) อ้างถึงใน http://en.wikipedia.org/wiki/Bosman_ruling
(26) วิทยากร บุญเรือง, อ้างแล้ว
(27) เรื่องเดียวกัน
(28) ที่มา: http://www.le.ac.uk (Centre for the Sociology of Sport, Department of Sociology, University of Leicester)(29) อ่านความคิดเห็นในแง่มุมอันหลากหลายต่อการที่รัฐบาลไทยจะขอซื้อหุ้นสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลจาก ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา (บรรณาธิการ), เช็กบิล: กรณีหวยหงส์และการลุกขึ้นยืนตรงของสังคมไทย, อ้างแล้ว.
(30) ระหว่างฤดูกาล 2007-2010 แต่ละทีมในพรีเมียร์ลีกจะมีรายได้ในส่วนนี้มากถึง 45 ล้านปอนด์ต่อปีเลยทีเดียว ข้อมูลจาก http://en.wikipedia/wiki/PremierLeague
(31) จากทั้ง 380 นัดการแข่งขันในฤดูกาล 2005-2006 โดยค่าเฉลี่ยแล้ว พบว่ามีจำนวนผู้ชมมากถึง 33,875 คนในแต่ละเกมส์ มากที่สุดเป็นลำดับต้นๆ ในบรรดาลีกกีฬาของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ข้อมูลจาก http://en.wikipedia/wiki/PremierLeague
(32) ที่มาของข้อมูล: http://www.footballeconomy.com, www.premierleague.com และ Official Website ของทุกสโมสรในพรีเมียร์ลีก
(33) อ้างถึงใน Real top football's rich list, (February 8, 2007).
ที่มา: http://www.worldsoccer.com/news/real_top_footballs_rich_list_news_109108.html
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1,300 เรื่อง หนากว่า 25,000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548) เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
[email protected]
สารบัญเนื้อหา
1-200 I สารบัญเนื้อหา
201-400 I สารบัญเนื้อหา
401- 600
สารบัญเนื้อหา
601-800
I สารบัญเนื้อหา
801-1000 I
สารบัญเนื้อหา
1001-1200
สารบัญเนื้อหา 1201-1400
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
I webboard(1)
I
webboard(2)
e-mail
: midnightuniv(at)gmail.com
[email protected]
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com