บรรณาธิการแถลง:
บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน
สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ
หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่
midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
Coup
d' etat
Midnight University
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
บทความชิ้นนี้
เป็นการพิจารณาการทำรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อ
วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ในแง่มุมสิทธิเสรีภาพและระเบียบทางการเมือง
โดยบทความนี้เดิมชื่อ ไม่มีรัฐประหารไหนพิเศษกว่ารัฐประหารอื่น:
พิจารณารัฐประหาร ๑๙ กันยายน ในแง่สิทธิเสรีภาพและระเบียบการเมือง
ประกอบด้วยสาระสำคัญดังหัวข้อสังเขปต่อไปนี้
- สิทธิเสรีภาพพลเมืองและสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ
- สิทธิเสรีภาพมีอยู่โดยธรรมชาติ
- สิทธิเสรีภาพพลเมืองเป็นเส้นแบ่งการเมืองสมัยใหม่กับการเมืองโบราณ
- สิทธิเสรีภาพของพลเมืองในทัศนะนักกฎหมายไทย
- ประวัติความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ
- รัฐประหาร 19 กันยายน ในทฤษฎีรัฐประหาร
- ความแตกต่างของรัฐประหาร การก่อจลาจล และการปฏิวัติ
- การรัฐประหาร = Official Revolution - ต้นทุนต่ำ กำไรสูง
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๓๕๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๐๗ กันยายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๔.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีรัฐประหารไหนพิเศษกว่ารัฐประหารอื่น:
(ตอน ๑)
พิจารณารัฐประหาร 19 กันยายน ในแง่สิทธิเสรีภาพและระเบียบการเมือง
ความนำ
ในทันทีที่เกิดการยึดอำนาจเมื่อคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ปัญญาชนและผู้ประกอบวิชาชีพวิชาการจำนวนมาก
พากันยืนยันว่ารัฐประหารนี้แตกต่างจากรัฐประหารในอดีต เพราะเป็นรัฐประหารที่เกิดจากความต้องการของประชาชนจริงๆ,
เป็นรัฐประหารที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพพลเมืองมากกว่าทุกครั้ง, เป็นการยึดอำนาจโดยปราศจากการใช้ความรุนแรง,
เป็นรัฐประหารที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญการปกครองว่า จะเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ฯลฯ จึงไม่ควรต่อต้านหรือวิจารณ์การยึดอำนาจครั้งนี้ เพราะมีความเป็นไปได้ที่รัฐประหารนี้
จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างประชาธิปไตยที่แท้ในสังคมไทย
แน่นอนว่าทรรศนะคตินี้มีปัญหา เพราะไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงง่ายๆ ว่ารัฐประหาร 19 กันยายน เริ่มต้นด้วยการประทุษร้ายบุคคลในรัฐบาลที่แล้ว, การปกครองประเทศด้วยกฎอัยการศึกและกำลังพลติดอาวุธ [1] , พรรคการเมืองถูกห้ามดำเนินกิจกรรม, สิทธิในการเข้าถึงและกระจายข่าวสารถูกควบคุมทางตรงและทางอ้อม, เสรีภาพในการแสดงความเห็นถูกลิดรอนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง [2] , เสรีภาพในการชุมนุมเป็นเรื่องที่โดยพื้นฐานแล้วผิดกฎหมาย, การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติ และสภาร่างรัฐธรรมนูญ ล้วนกระทำไปโดยการพูดคุยและตกลงเป็นการภายในระหว่างผู้นำรัฐประหารไม่กี่ราย จากนั้นก็ตามมาด้วยการร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่มีผู้แทนปวงชนเข้าไปเกี่ยวข้อง สิทธิในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรถูกระงับชั่วคราว รวมทั้งหลักการปกครองโดยกฎหมายถูกบิดเบือนเป็นเครื่องมือกำจัดฝ่ายตรงข้ามตามอำเภอใจ
ถ้าพฤติกรรมเหล่านี้แสดงถึงสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยได้
ประชาธิปไตยก็คงไม่มีความหมายต่อไป
ที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่าทัศนคตินี้ผิดจนไม่มีอะไรน่าสนใจ ในทางตรงกันข้าม
ทัศนคติแบบนี้น่าสนใจเพราะเกี่ยวพันกับฐานความคิดที่สมควรอภิปรายให้กว้างขวางต่อไป
3 ข้อ
- ข้อแรกคือ ความเข้าใจว่าสิทธิเสรีภาพของพลเมืองมีความหมายเท่ากับสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ
- ข้อสองคือ รัฐประหาร 19 กันยายน เป็นรัฐประหารที่พิเศษกว่ารัฐประหารที่ผ่านมาทั้งหมด และ
- ข้อสามคือ มีความเป็นไปได้ที่รัฐประหารจะวางหลักประกันให้สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย
สิทธิเสรีภาพพลเมืองและสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ
ในบรรดาประเด็นปัญหาทั้ง 3 ข้อ นั้น ประเด็นแรกนับว่าตอบได้ง่ายที่สุด เพราะผู้ที่สนใจความเคลื่อนไหวทางสังคมคงทราบเป็นอย่างดีว่า
สิทธิเสรีภาพระดับลายลักษณ์อักษรไม่จำเป็นต้องหมายถึงสิทธิเสรีภาพซึ่งปฏิบัติกันอยู่จริง
ในทางตรงข้าม สิทธิเสรีภาพลักษณะนี้เป็นเพียงตัวบทที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญสามารถเขียนให้วิจิตรพิสดารจากความเป็นจริงอย่างไรก็ได้
รวมทั้งจะเขียนให้เป็นสัญลักษณ์ของอุดมคติแบบใดก็ได้ทั้งนั้น ไม่ต้องพูดถึงอุปสรรคหลายต่อหลายข้อ
ที่อาจขัดขวางไม่ให้สิทธิเสรีภาพตามตัวอักษรแปรสภาพเป็นมาตรการคุ้มครองพลเมืองได้จริง
รายงานข่าวของเว็บไซต์ประชาไทต่อการประทุษร้ายที่บ้านปางแดงเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2550 เป็นภาพสะท้อนของช่องว่างระหว่างสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญกับสิทธิเสรีภาพของพลเมืองได้เป็นอย่างดี [3]
"ทหารชุดเฉพาะกิจร่วมกับป่าไม้ ใช้กฎอัยการศึก เข้าปิดล้อมหมู่บ้านปางแดง บุกรื้อถอนบ้าน และจับกุมชาวบ้าน เผยเป็นพื้นที่เป้าหมายบุกรุกป่า-ยาเสพติด ขณะที่เอ็นจีโอประณามเจ้าหน้าที่รัฐเลือกปฏิบัติ เหมือนจงใจสร้างสถานการณ์ กระทำการคุกคามชาวบ้านปางแดงซ้ำซาก
วันนี้ (22 ม.ค.) เจ้าหน้าที่ทหารจากชุดเฉพาะกิจกองพันทหารม้า กองทัพภาคที่ 3 พร้อมเจ้าหน้าที่ป่าไม้จากหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชม.5 (ปิงโค้ง) และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนากว่า 20 นาย นำกำลังเข้ารื้อค้นบ้านชาวบ้านปางแดงนอก ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยรื้อค้นบ้านก่อนทำการยึดไม้ พร้อมจับกุมชาวบ้านข้อหามีไม้เถื่อนในครอบครอง
เมื่อผู้สื่อข่าวได้เข้าไปสอบถาม นายสนั่น โกฏแก้ว หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชม.5 (ปิงโค้ง) เปิดเผยว่า เนื่องจากหมู่บ้านปางแดงเป็นหนึ่งในหมู่บ้านเป้าหมายในเรื่องปัญหาการบุกรุกป่าและยาเสพติด ของ อ.เชียงดาว ซึ่งจากการสืบเบาะแส พบว่าพื้นที่ปางแดงถือว่ายังมีปัญหาเรื่องการบุกรุกป่าอยู่ และยังมีกลุ่มพ่อค้าไม้เข้าไปแอบแฝงอยู่ในหมู่บ้านนั้นด้วย จึงจำเป็นต้องเข้าไปค้นและจับกุม "แต่ว่าการเข้าไปปิดล้อม มันต้องมีหมายค้น ซึ่งบางครั้งมันไม่ทันการ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยชุดกำลังเฉพาะกิจของทหาร เพราะทางทหารไม่ต้องใช้หมายค้น สามารถใช้กฎอัยการศึกเข้าไปได้เลย"
รายงานนี้มีความสำคัญหลายข้อ
- หนึ่ง ข่าวนี้แสดงให้เห็นการประทุษร้ายที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อชาวบ้านโดยมีลักษณะเลือกปฏิบัติทางชาติพันธุ์และชนชั้นมาเกี่ยวข้อง
- สอง การประทุษร้ายนี้เกิดขึ้นในนามของเหตุผลสาธารณะที่รัฐอ้างว่าชาวบ้านละเมิดประโยชน์ส่วนรวม
- สาม ชาวบ้านกลุ่มนี้ถูกประทุษร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยรัฐบาลทุกยุคสมัย
- สี่ ข่าวนี้แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีสิทธิในการใช้อำนาจเหนือกฎหมายต่อชาวบ้านได้ตามอำเภอใจ และ
- ห้า ข่าวนี้เป็นตัวอย่างของการละเมิดสิทธิเสรีภาพ โดยอำนาจอภิสิทธิ์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับจากกฎอัยการศึกในปัจจุบัน
หากเงี่ยหูฟังเสียงของคนที่มีสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจอ่อนด้อยต่อไป ก็คงได้ยินเรื่องราวทำนองนี้ดังขึ้นอีกมาก สิทธิเสรีภาพที่เป็นลายลักษณ์อักษรจึงมีช่องว่างเหลือคณาจากสิทธิเสรีภาพในระดับปฏิบัติจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่ชีวิตจริงของพลเมืองอยู่ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ผิดไปจากสภาวะปกติธรรมดา
สิทธิเสรีภาพมีอยู่โดยธรรมชาติ
แน่นอนว่า การพิจารณาสิทธิเสรีภาพโดยคำนึงแต่บทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นทำให้มืดบอดต่อความเป็นจริง
แต่ที่อันตรายไม่น้อยกว่าความมืดบอดคือ การทำให้สิทธิเสรีภาพของพลเมืองเสื่อมความสำคัญลงไปด้วย
เหตุผลคือหลักสิทธิเสรีภาพพลเมืองเป็นข้อความคิดที่แตกต่างในระดับมูลฐาน จากหลักสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญจนไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้
หลักคิดนี้เห็นว่าสิทธิเสรีภาพเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบเชิงปทัสถานสากล (Nomos)
มนุษย์ทุกคนจึงมีสิทธิเสรีภาพอยู่แล้วโดยธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรับรองจากรัฐบาล,
กฎหมาย, หรืออำนาจทางโลก ขณะที่สิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญนั้นคือสิทธิเสรีภาพที่มนุษย์บัญญัติขึ้นเพื่อเป้าหมายรวบยอดบางอย่าง
(interpretive concept) ทำให้สิทธิเสรีภาพประเภทนี้มีความหมายก็ต่อเมื่อ มีระเบียบทางโลกให้การประทับรับรองสถานะทางกฎหมายขึ้นมา
ในทางปรัชญานั้น การนำสิทธิเสรีภาพของพลเมืองไปเทียบเคียงเท่ากับสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญเป็นการลดทอนสิทธิเสรีภาพที่มนุษย์ทุกคนมีโดยธรรมชาติ ให้กลายเป็นแค่ข้อตกลงที่เกิดจากบทบัญญัติทางกฎหมาย กระบวนการนี้ทำให้สิทธิเสรีภาพและความเป็นพลเมืองไม่ใช่หลักการที่มีมาก่อนและอยู่เหนืออำนาจ แต่กลายเป็นอำนาจ (Authority) ที่ให้กำเนิดสิทธิเสรีภาพและความเป็นพลเมือง [4]
การตระหนักว่าพลเมืองมีสิทธิเสรีภาพโดยธรรมชาติเป็นเรื่องสำคัญ เพราะความข้อนี้เป็นพื้นฐานของความเข้าใจต่อไปว่า รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นเพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้กับสิทธิเสรีภาพที่พลเมืองมีโดยกำเนิดอยู่แล้ว เป้าหมายของรัฐธรรมนูญคือ การสร้างหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพพลเมืองโดยบทบัญญัติทางกฎหมาย นั่นหมายความว่าสิทธิพลเมือง เป็นอาณาบริเวณที่โดยปกติแล้วรัฐไม่สามารถลิดรอนหรือล่วงละเมิดเข้าไปได้ และฉะนั้น รัฐและเจ้าหน้าที่รัฐจึงพึงมีอำนาจเหนือพลเมืองในระดับจำกัดที่สุด ประเด็นนี้เท่ากับว่าความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นระเบียบการเมืองสูงสุดโดยดุษฎี ในทางตรงกันข้าม ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญเป็น กฎทางโลก ซึ่งขึ้นต่อระบบคุณค่าที่สำคัญกว่ารัฐธรรมนูญไปมาก วิธีคิดแบบนี้เห็นว่าพลเมืองไม่ได้มีหน้าที่ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะพันธะของพลเมืองในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนั้น เกิดขึ้นเมื่อรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับระบบคุณค่าที่อยู่เหนือขึ้นไป นั่นก็คือรัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์ของข้อความคิดที่มีหลักสิทธิเสรีภาพพลเมืองเป็นแกนกลาง เป็นส่วนสำคัญ
สิทธิเสรีภาพพลเมืองเป็นเส้นแบ่งการเมืองสมัยใหม่กับการเมืองโบราณ
เรามักเข้าใจว่าเส้นแบ่งระหว่างการเมืองโบราณกับการเมืองสมัยใหม่อยู่ที่ หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ
และหลักการปกครองโดยกฎหมาย แต่แท้จริงแล้ว สิทธิเสรีภาพพลเมืองต่างหากที่เป็นเส้นแบ่งแยกการเมืองสมัยใหม่ออกจากการเมืองโบราณ
เหตุผลคือการปกครองโดยรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายเป็นเรื่องที่ปรากฏในสังคมการเมืองก่อนสมัยใหม่หลายต่อหลายสังคม
นักปรัชญาโบราณอย่างเพลโตและอริสโตเติลเองก็พูดมานับพันปีว่ารัฐบาลควรอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และกฎหมาย
แต่ประเด็นคือการเมืองแบบก่อนสมัยใหม่และการเมืองสมัยใหม่คิดถึงการปกครองโดยกฎหมายในแง่มุมที่ต่างกัน
กล่าวคือ
- การเมืองก่อนสมัยใหม่เห็นว่ากฎหมายเป็นพื้นฐานของความยุติธรรม ส่วนความยุติธรรมก็เป็นมูลฐานของชีวิตที่ดีของมนุษย์ การเมืองแบบก่อนสมัยใหม่จึงเห็นว่าการปกครองโดยกฎหมายมีความสำคัญในฐานะ มรรควิธี เพื่อไปสู่ชุมชนการเมืองที่มีระเบียบที่ดี (well-ordered community)
- ขณะที่การเมืองสมัยใหม่ไม่ได้เห็นความสำคัญของการปกครองโดยกฎหมายด้วยเหตุผลข้อนี้ แต่เห็นว่าการปกครองโดยกฎหมายเป็นเครื่องมือสำหรับปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง [5]
แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความโลกก่อนสมัยใหม่จะปราศจากร่องรอยของความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ เพียงแต่เสรีภาพในเวลานั้นไม่ได้หมายความถึงเสรีภาพด้านความคิด ความเชื่อ สิทธิมนุษยชน หรือการแสดงความเห็นอย่างที่เข้าใจกันในปัจจุบัน
- เสรีภาพในภาษาสุมาเรียนคือคำว่า Ama-gi ซึ่งหมายถึงการกลับไปหามารดาผู้ให้กำเนิด
- คำว่าเสรีภาพในภาษาอังกฤษมีรากมาจากคำในภาษาอินโด-ยูโรเปียน ซึ่งหมายถึงความรัก
- แม้กระทั่ง ทูซีดิดีส ใน Peloponnesian Wars ก็ใช้คำว่าเสรีภาพในความหมายของอิสรภาพและ
ความสุขอันเกิดจากการได้ดื่มด่ำกับความงามและปัญญา [6]
สิทธิเสรีภาพของพลเมืองในทัศนะนักกฎหมายไทย
แนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในฐานะสิทธิโดยธรรมชาตินั้น แตกต่างจากความเข้าใจที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักกฎหมายของไทยที่อยู่ใต้อิทธิพลของนิติปรัชญาแนวปฏิฐานนิยม
ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว คนเหล่านี้เห็นว่ากฎหมายไม่ใช่ หลักการ (Principles)
จึงไม่มีความจำเป็นที่กฎหมายจะต้องอยู่ภายใต้หลักจริยศาสตร์หรือหลักการนามธรรมชนิดใดชนิดหนึ่ง
เช่น ความยุติธรรม ความดี หรือประชาธิปไตย แต่กฎหมายคือองค์รวมของ กฎ (Rules)
และขั้นตอนการปฏิบัติ (Procedures) ซึ่งถึงที่สุดแล้วก็เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงทางสังคมในแต่ละห้วงเวลา
[7]
- นักกฎหมายมหาชนของไทยนับตั้งแต่รุ่นบุกเบิกอย่าง ขุนประเสริฐศุภมาตรา จึงไม่เคยกล่าวถึงสิทธิเสรีภาพพลเมืองในฐานะสิทธิที่มีโดยธรรมชาติ แต่กลับให้คำอรรถาธิบายว่า สิทธิคืออำนาจหรือความสามารถซึ่งกฎหมายรับรองให้บุคคลผู้หนึ่งมีอำนาจร้องให้ผู้อื่นมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม
- ส่วนนักกฎหมายรุ่นถัดมาอย่าง ศาสตราจารย์ หยุด แสงอุทัย ก็ให้ความเห็นในลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ นั่นก็คือ สิทธิ ก่อให้เกิด หน้าที่ แก่บุคคลอื่นที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายรับรอง [8]
พูดอย่างรวบรัดแล้ว คติแบบปฏิฐานนิยมเห็นว่าสถานะของสิทธิเสรีภาพขึ้นอยู่กับการรับรองในรัฐธรรมนูญและระบบกฎหมาย ขณะที่แนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพพลเมืองนั้น เห็นว่าแม้สิทธิเสรีภาพของพลเมืองจะต้องได้รับการค้ำประกันโดยกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิทธิเสรีภาพพลเมืองมีต้นกำเนิดมาจากระบบกฎหมาย และยิ่งไม่ได้เท่ากับว่าสิทธิเสรีภาพเท่าที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญและตัวบทกฎหมายนั้น คือ นิยามความหมาย ของสิทธิเสรีภาพทั้งมวล
ประวัติความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ
นักกฎหมายแนวปฏิฐานนิยมมักอ้างว่าสิทธิเสรีภาพพลเมืองเป็นแนวคิดที่ปราศจากแก่นสาร
ไม่มีนิยามชัดเจน และนำไปปฏิบัติไม่ได้ จึงจำเป็นต้องยอมรับให้บทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็นแหล่งที่มาของสิทธิเสรีภาพพลเมืองที่เชื่อถือได้แต่เพียงแหล่งเดียว
ซึ่งแม้จะเป็นความจริงว่าสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในแง่ประวัติศาสตร์ความคิดนั้นเป็นข้อความคิดที่มีความเปลี่ยนแปลงมาตลอด
แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นก็ไม่ได้ออกไปจากกรอบพื้นฐานที่มีลักษณะร่วมอย่างคร่าวๆ
ในแง่ของการคิดถึงสิทธิเสรีภาพในเชิงการปลอดจากสภาวะคุกคามบังคับที่เกิดจากอำนาจภายนอกตัวมนุษย์
ตัวอย่างเช่น
- สิทธิเสรีภาพพลเมืองแบบที่เข้าใจกันในปัจจุบันนั้น เป็นผลผลิตของความคิดเสรีนิยมสกุลที่เฟื่องฟูขึ้นโลกตะวันตกในช่วงหลังคริสตศตวรรษที่ 18 ที่พิจารณามนุษย์ในฐานะองค์ประธานซึ่งมีอิสรภาพในตัวเอง (autonomy) โดยก่อนหน้าก็มีคติเรื่องสิทธิเสรีภาพพลเมืองแบบอื่นดำรงอยู่ในโลกตะวันตกอีกเป็นอันมาก เช่น
- คติแบบนีโอโรมัน ในคริสตศตวรรษ 17 ซึ่งมีประเด็นใจกลางที่การสร้างสมดุลระหว่างเสรีภาพของพลเมือง
กับพันธะหน้าที่ของเอกบุคคลต่อสาธารณรัฐ [9],- คติแบบภราดรภาพนิยมและสังคมนิยม ในครึ่งหลังของคริสตศตวรรษที่ 19 ซึ่งเน้นความสำคัญของสิทธิเสรีภาพในความหมายของความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม
- คติชุมชนนิยม ซึ่งโจมตีสิทธิเสรีภาพแบบเสรีนิยมในแง่ที่ถือว่า สิทธิ มีคุณค่าทางศีลธรรมสูงกว่าเรื่องอื่น (the primacy of rights) เช่น หน้าที่, คุณธรรม, หรือผลประโยชน์ส่วนรวม จนสมควรพิจารณาประเด็นสิทธิเสรีภาพควบคู่ไปกับหลักคิดเรื่องสังคม (social thesis) [10] ฯลฯ
ในแง่นี้แล้ว วิธีหนึ่งที่จะทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง "หลักสิทธิเสรีภาพของพลเมือง" และ "สิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ" ได้ดีขึ้น ก็คือการพิจารณาคำสองคำนี้โดยเทียบเคียงกับคำที่ใช้ในทฤษฎีกฎหมายเยอรมัน ซึ่งพวกเขาแทนที่คำว่า "กฎหมาย" (law) และ "สิทธิ" (rights) ในภาษาอังกฤษ ด้วยการระบุลงไปอย่างชัดเจนว่า
- "กฎหมาย" หมายถึง "กฎหมายเชิงรูปธรรม" (objective law) อันเป็นกฎระเบียบที่เอกบุคคลทั้งมวลต้องประพฤติปฏิบัติตาม
- "สิทธิ" นั้นหมายถึง "สิทธิเชิงอัตวิสัย" (subjective rights) อันได้แก่อำนาจซึ่งเอกบุคคลทุกรายได้รับจากปทัสถานชุดใดชุดหนึ่ง [11]
ซึ่งหากมองในกรอบนี้ สิทธิเสรีภาพของพลเมืองย่อมเป็น อำนาจ ซึ่งเอกบุคคลได้รับจากปทัสถานทางการเมืองที่มีเป้าหมายเพื่อปกป้องพวกเขาจากการคุกคามของอำนาจภายนอก ขณะที่รัฐธรรมนูญคือ ระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรมทางโลก ซึ่งมีเป้าประสงค์ให้คนทุกฝ่ายในสังคมปฏิบัติตามเป้าหมายนี้ตลอดเวลา
ความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิเสรีภาพพลเมืองและตัวบทกฎหมายแบบนี้ ทำให้ไม่สามารถคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพโดยคำนึงแต่แง่มุมนิติศาสตร์ล้วนๆ เพราะการอาศัยกฎหมายไปค้ำประกันสิทธิเสรีภาพของพลเมืองเป็นเรื่องที่ต้องกระทำผ่านรัฐและกลไกการปกครองของรัฐ สิทธิเสรีภาพของพลเมืองจึงเป็นประเด็นปัญหาที่มีแง่มุมทางการเมือง ดังนั้น จำเป็นต้องนำมาขบคิดในมิติความเป็นการเมืองให้มากขึ้น เพราะถึงที่สุดแล้วก็เกี่ยวข้องกับคำถามพื้นฐานว่า ทำอย่างไรที่อำนาจการเมืองจะถูกใช้ไปเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพพลเมือง หรือถามให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของสังคมไทยในขณะนี้ ก็คือ เป็นไปได้จริงหรือที่รัฐประหาร 19 กันยายน จะเป็นรัฐประหารเพื่อยกระดับปทัสถานด้านสิทธิเสรีภาพของพลเมือง
รัฐประหาร 19 กันยายน
ในทฤษฎีรัฐประหาร
ผู้สนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยายน เกือบทั้งหมดมักอ้างว่ารัฐประหารครั้งนี้ไม่เหมือนรัฐประหารครั้งอื่น
นักรัฐศาสตร์บางคนอ้างว่า ความไม่เหมือนนี้ทำให้เป็นไปได้ที่รัฐประหารครั้งนี้จะสร้างประชาธิปไตย
นักพัฒนาเอกชนบางฝ่ายอ้างว่า ความไม่เหมือนนี้ทำให้รัฐประหารที่เพิ่งผ่านมาทำเพื่อส่วนรวมได้มากกว่ารัฐประหารทุกครั้ง
(รวมทั้งต้านโลกาภิวัตน์, สร้างเศรษฐกิจชุมชน หรือระบบสวัสดิการสังคมที่ก้าวหน้าขึ้นก็ได้ด้วย)
นักกฎหมายเห็นว่าความไม่เหมือนนี้ทำให้เป็นไปได้ที่รัฐประหารนี้ จะปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน,
เทคโนแครตภาคเอกชนบางกลุ่มเชื่อว่า รัฐประหารเปิดโอกาสให้การปฏิรูปสื่อมีความเป็นไปได้มากกว่าที่ผ่านมา
โดยยิ่งการรัฐประหารผ่านไป คนหลายฝ่ายก็ยิ่งตอกย้ำความเห็นทำนองนี้ให้ทวีความซับซ้อนขึ้นไปอีก
ตัวอย่างเช่น การเชื่อมโยงพฤติกรรมการใช้อำนาจอย่างละมุนละม่อมกับสถานการณ์การเมืองเฉพาะหน้า
[12] , การพิจารณารัฐประหารในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างทางการเมืองในสังคมไทย
ที่มีประชาธิปไตยต่อเนื่องเป็นเวลา 14 ปี [13] ฯลฯ
บทความเรื่อง "ปฏิวัติงดงาม" ของ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ วุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ผู้ถูกคณะรัฐประหารแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในเวลาต่อมา แสดงความรู้สึกทำนองนี้ไว้อย่างดี
"ประเทศไทยผ่านการปฏิวัติรัฐประหารมาหลายต่อหลายครั้ง แทบทุกครั้งจะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแนวลบเกือบทั้งสิ้น แต่ล่าสุดของการปฏิวัติในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และคณะ กลับได้รับความชื่นชมยินดีจากประชาชนอย่างล้นหลาม...เป็นการปฏิวัติที่เรียบร้อย ไม่มีการปะทะและเสียเลือดเสียเนื้อแต่ประการใด เป็นการปฏิวัติที่มาได้ในจังหวะอันพอเหมาะพอควร มีสัญญาณหลายประการที่เป็นความงดงามของการปฏิวัติ" [14]
ความเห็นเชิงสนับสนุนรัฐประหารเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ซ้ำยังเป็นความรู้สึกที่พบได้ทั่วไป ดังปรากฎว่าเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย และผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็แสดงความรู้สึกต่อรัฐประหารอย่างเปี่ยมด้วยความปลื้มปิติว่า
"ผ่านไปแค่ชั่วข้ามคืนของการรัฐประหาร สัญญาณหลายๆ อย่างในทางบวก ก็เริ่มปรากฏอย่างที่ผมไม่คิดมาก่อน การรัฐประหารครั้งนี้ไม่มีเหตุการณ์นองเลือดเกิดขึ้นกับฝ่ายใด และคำประกาศกระทั่งคำสั่งของคณะปฏิรูปก็มีท่วงทำนองที่ระมัดระวังในการใช้อำนาจ มีลักษณะยืดหยุ่น อะลุ้มอล่วยกับทุกฝ่าย อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในการรัฐประหารที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย...หัวหน้าคณะปฏิรูปฯ ให้สัญญาฯ กับประชาชนว่า จะถืออำนาจไว้เพียง 2 สัปดาห์ และจะเร่งคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว" [15]
แน่นอนว่ารัฐประหาร 19 กันยายน ไม่เหมือนการรัฐประหารที่เกิดขึ้นหลายครั้งในอดีต แต่ประเด็นที่ควรพิจารณาก็คือ ความไม่เหมือนนี้หมายความว่ารัฐประหาร 19 กันยายน แตกต่างจากรัฐประหารครั้งอื่นถึงขนาดที่พูดกันจริงหรือไม่ เพราะถ้าคำตอบคือใช่ ก็เป็นไปได้ที่จะเห็นว่ารัฐประหารครั้งนี้เคารพสิทธิเสรีภาพพลเมือง และเป็นหนทางไปสู่การฟื้นฟูประชาธิปไตย แต่ถ้าคำตอบเป็นอีกแบบ ก็คงเข้าใจรัฐประหารครั้งนี้เปลี่ยนไปพอสมควร
รัฐประหารคือความรุนแรงทางการเมือง เพราะพื้นฐานของรัฐประหารคือการใช้กำลังและความรุนแรงเพื่อเป้าประสงค์ทางการเมืองในการแทนที่ผู้ปกครองที่มีอยู่ในขณะนั้น กำลังและความรุนแรงในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการใช้กำลังประทุษร้ายฝ่ายที่ครองอำนาจด้วยวิธีการอันรุนแรงแต่เพียงอย่างเดียว หากยังครอบคลุมถึงการข่มขู่ว่าจะใช้กำลังและความรุนแรง แต่ก็มีการใช้กำลังทหารไปทำการข่มขู่บังคับเพื่อผลลัพธ์ทางการเมืองจนเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น รัฐประหารของนายพลมูชาราฟแห่งปากีสถาน เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2539 หรือรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ของคณะปฏิรูปการปกครองเพื่อประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขในประเทศไทย
เพราะเหตุนี้ การยึดอำนาจที่ปราศจากการนองเลือดจึงไม่ใช่เรื่องผิดประหลาด ซ้ำยังเป็นประเภทหนึ่งของรัฐประหารและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยความรุนแรง ต่อให้จะยังไม่ได้มีการฆ่าฟันและทำลายล้างชีวิตของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ตามที [16]
มักเข้าใจว่ารัฐประหารเป็นเรื่องของการแทนที่ผู้ปกครองกลุ่มเดิมด้วยผู้ปกครองกลุ่มใหม่ แต่แท้จริงแล้ว มีรัฐประหารหลายครั้งที่ไม่ได้นำไปสู่การมีอำนาจของผู้ปกครองกลุ่มใหม่โดยแท้จริง ส่วนใหญ่ของรัฐประหารประเภทนี้เกิดจากความไม่พอใจที่ผู้ปกครองเดิมมีต่อสถานการณ์การเมืองบางห้วงขณะ หรือแม้กระทั่งเกิดจากความไม่พอใจต่อคนบางฝ่ายที่อยู่ในกลุ่มผู้ปกครองด้วยกัน จึงต้องการเพิ่มอำนาจให้ตัวเองควบคุมระบบการเมืองและพลังฝ่ายอื่นได้มากขึ้น โดยอาศัยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญอย่างการรัฐประหาร (auto-golpe) ตัวอย่างเช่น
- รัฐประหาร พ.ศ.2514 ซึ่งจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร เพื่อทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ตัวจอมพลถนอมเองเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นจึงยกเลิกการร่างรัฐธรรมนูญ ยุบสภาผู้แทนราษฎร และปกครองประเทศภายใต้ระบอบเผด็จการทหารต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลาอีก 2 ปีเศษ หรือ
- รัฐประหารเปรู เมื่อ พ.ศ.2535 ซึ่งคณะรัฐประหารของประธานาธิบดีฟูจิโมริ ทำการยึดอำนาจรัฐบาลของประธานาธิบดีฟูจิโมริเอง จากนั้นก็ระงับการใช้รัฐธรรมนูญ ยุบรัฐสภา และยื่นมือเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมอย่างกว้างขวาง [17]
กล่าวโดยเปรียบเทียบแล้ว รัฐประหารประเภทนี้มีลักษณะการข่มขู่หรือเผชิญหน้าทางทหารไม่มากนัก เพราะเกิดขึ้นโดยน้ำมือของผู้นำ หรือคนกลุ่มที่กุมอำนาจทางการเมืองและการทหารได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่แล้ว แต่ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยความรุนแรง เพราะเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังและความรุนแรงไปเพื่อผลักดันเป้าหมายทางการเมืองบางอย่างโดยตรง
ถ้ายอมรับว่ารัฐประหารเป็นความรุนแรงทางการเมือง คำถามคือความรุนแรงทางการเมืองประเภทนี้แตกต่างจากความรุนแรงทางการเมืองประเภทอื่นอย่างไร
ความแตกต่างของรัฐประหาร
การก่อจลาจล และการปฏิวัติ
นักรัฐศาสตร์ด้านประวัติศาสตร์และการเมืองเปรียบเทียบคนสำคัญอย่าง ซามูเอล ไฟเนอร์
เห็นว่ารัฐประหารแตกต่างจากการยึดอำนาจและความรุนแรงทางการเมืองอื่นๆ ตรงที่รัฐประหารเป็นการยึดอำนาจด้วยพลังภายในระบบการเมืองนั้นเอง
[18] ขณะที่การยึดอำนาจวิธีอื่น เช่น การก่อจลาจล , การปฏิวัติ ฯลฯ อาจเกิดจากพลังที่อยู่ภายนอกระบบการเมืองนั้นก็เป็นได้
ไม่ว่าพลังนั้นจะเป็นการลุกฮือของมวลชนที่มีลักษณะปฏิวัติสังคมอย่างการปฏิวัติโซเวียต
พ.ศ.2460, การทำสงครามกลางเมืองอย่างการปฏิวัติจีน พ.ศ.2492, การรุกรานจากภายนอกอย่างการล้มล้างรัฐบาลเขมรแดงโดยกองทัพเวียดนามใน
พ.ศ.2521 หรือแม้กระทั่งการยึดครองดินแดนต่างๆ โดยจักรวรรดินิยมตะวันตกในหลายคริสตศตวรรษที่ผ่านมา
โดยก็เป็นไปได้ว่าการรัฐประหารตามนัยนี้จะได้รับแรงสนับสนุนหรือความช่วยเหลือจากพลังภายนอกด้วย
ตัวอย่างเช่น รัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ เมื่อ พ.ศ.2500 และรัฐประหารของนายพลปิโนเช่ต์แห่งชิลี
เมื่อ พ.ศ.2516 ซึ่งทั้งสองกรณีล้วนมีสหรัฐอเมริกาสนับสนุนอยู่เบื้องหลังอย่างชัดเจน
[19]
การรัฐประหาร = Official
Revolution
นักวิชาการบางคนให้ความเห็นจำเพาะเจาะจงลงไปอีกว่า รัฐประหารไม่เพียงแต่เป็นการยึดอำนาจด้วยพลังในระบบเพียงอย่างเดียว
แต่ยังถือว่าเป็น "การปฏิวิติโดยพลังเจ้าหน้าที่" (Official Revolution)
ไม่ใช่ "การปฏิวัติโดยสังคม" (Social Revolution) [20] คำอธิบายนี้น่าสนใจเพราะชวนให้ตระหนักว่า
รัฐประหารไม่เกี่ยวข้องกับการมีพลังมวลชนที่มีเป้าหมายเชิงสังคมอุดมคติอะไรทั้งนั้น
ขณะที่การปฏิวัติสังคมส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับพลังและเป้าหมายแบบนี้ นั่นหมายความว่าการยึดอำนาจโดยวิธีรัฐประหารสามารถเกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่มีเป้าหมายระยะยาวต่อสังคมเลยก็เป็นได้
ทำให้แม้การรัฐประหารโดยส่วนใหญ่มักเริ่มต้นจากกลุ่มบุคคลซึ่งมีความยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อและอุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่งอย่างแน่นแฟ้น
แต่กระบวนการหลังรัฐประหารอาจดำเนินไปเพื่อแก้ประโยชน์ของฝ่ายผู้ยึดอำนาจโดยไม่คำนึงถึงอุดมการณ์อะไรแม้แต่นิดเดียว
ในแง่นี้แล้ว อุดมการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กษัตริย์นิยม, สังคมนิยม, อนุรักษ์นิยม, ศักดินานิยม, พวกคลั่งศาสนา หรือราชาชาตินิยม ล้วนมีศักยภาพจะทำให้ผู้ที่สมาทานอุดมการณ์นั้นกลายเป็นผู้ก่อรัฐประหารได้ทั้งนั้น [21] แต่ผลของการรัฐประหารนั้นไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์หรือเป้าหมายเพื่อส่วนรวมแต่อย่างใด
งานศึกษาบางชิ้นให้ความเห็นว่า จำนวน ไม่ใช่ประเด็นสำคัญของการรัฐประหาร ประวัติศาสตร์ของการรัฐประหารจึงมีทั้งรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จด้วยการใช้กำลังพลขนาดใหญ่ และรัฐประหารที่ใช้กำลังพลเพียงหยิบมือเดียว ตัวอย่างเช่นรัฐประหารในกานา เมื่อ พ.ศ.2509 ซึ่งฝ่ายรัฐประหารที่มีกำลังพลเพียง 500 ราย ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจจากรัฐบาลของประธานาธิบดี Kwame Nkrumah ซึ่งมีกำลังพล 10,000 คน [22] รัฐประหารตามนัยนี้จึงเป็นเรื่องของการชิงกระทำการจู่โจมทางทหาร, การกักบริเวณ และแม้กระทั่งการลอบสังหารผู้นำประเทศ จนกล่าวได้ว่ารัฐประหารในโลกสมัยใหม่มีแง่มุมที่ใกล้เคียงกับการก่อสงครามกลางเมือง และการเป็นกบฏ (rebellion) ล้มล้างรัฐธรรมนูญและกฎหมายของบ้านเมือง อันเป็นเหตุให้นักรัฐศาสตร์บางท่านถือว่า รัฐประหารเป็นประเภทหนึ่งของ "สงครามภายใน" (internal war) ซึ่งเกิดขึ้นในหลายสังคมการเมือง [23]
การทำรัฐประหาร: ต้นทุนต่ำ
กำไรสูง
อย่างไรก็ดี ขณะที่ "สงครามภายใน" ประเภทอื่นมีต้นทุนทางการเมืองและการทหารที่สูงอยู่มาก
เช่นสงครามกลางเมืองเกี่ยวข้องกับการระดมพลังมวลชนสนับสนุนอย่างกว้างขวาง หรือการปฏิวัติก็ต้องอาศัยการควบคุมทหารและการเคลื่อนกำลังที่เป็นเอกภาพพอสมควร
การยึดอำนาจด้วยวิธีรัฐประหารกลับมีต้นทุนไม่มากนัก เว้นเสียแต่ความเสี่ยงขณะริเริ่มทำการสมรู้ร่วมคิดภายในกลุ่มคนที่ไม่พอใจรัฐบาล
พ้นไปจากนั้นก็คือความเสี่ยงจากการวางแผนสร้างสถานการณ์ และขยายแนวร่วมไปสู่นายทหารฝ่ายที่ลังเลหรือไม่มีแรงผลักดันให้ก่อรัฐประหารมากนัก
แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ หากฝ่ายผู้สมคบคิดได้รับความร่วมมือจากนายทหารซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง
สภาวะของการเป็นปฏิบัติการยึดอำนาจต้นทุนต่ำนี้ทำให้รัฐประหารเป็น การลงทุนทางทหาร
ซึ่งให้ผลตอบแทนทางการเมืองและเศรษฐกิจที่คุ้มค่าในระดับที่ถือว่าเป็นจุดหักเหในชีวิตของผู้รัฐประหารเลยก็ว่าได้
จึงเป็นธรรมดาที่สัมฤทธิผลของการรัฐประหารย่อมนำไปสู่การเลื่อนสถานภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองของผู้รัฐประหารในบั้นปลาย
ต่อให้การเลื่อนสถานภาพนี้จะจำกัดแต่ในหมู่นายทหารจำนวนน้อยแค่ไหนก็ตามที [24]
+++++++++++++++++++++++++++++++ คลิกไปอ่านต่อตอนที่ ๒
เชิงอรรถ
[1] ในวันที่ 12 มกราคม 2550 ตัวแทนของสมัชชาคนจน 3 ท่าน คือนายสวาท อุปฮาด, นางผา กองธรรม และ นายบุญ แซ่จุง ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิเสรีภาพที่เกิดขึ้นแก่ชาวบ้านในช่วงหลังวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา หนังสือฉบับนั้นระบุถึงพฤติกรรมคุกคามและสอดแนมความเคลื่อนไหวของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ เช่นเทือกเขาบรรทัด, ป่าดงมะไฟ, อำเภอดงพระยา, เขตเขื่อนปากมูล, เขตเขื่อนราศีไศล ฯลฯ ซึ่งกระทำโดยทหารและตำรวจสันติบาลอย่างต่อเนื่อง นี่เป็นตัวอย่างว่ากฎอัยการศึกเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือชาวบ้าน ในลักษณะที่ไม่มีทางเป็นไปได้ในสถานการณ์การเมืองแบบปกติ และอำนาจเชิงอภิสิทธิ์แบบนี้เป็นศัตรูกับสิทธิเสรีภาพของพลเมืองโดยตรง
[2] ตัวอย่างของการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการเผยแพร่และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนี้ได้แก่การปิดการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์จาก CNN และ BBC อย่างเต็มรูปแบบในสัปดาห์แรกของการรัฐประหาร รวมทั้งการปิดแบบลักปิดลักเปิดที่เกิดขึ้นอีกหลายต่อหลายครั้งจวบจนปัจจุบัน, การระงับการเข้าถึงเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากประเทศไทย, การสั่งการให้สถานีโทรทัศน์ ITV ยุติการแพร่ภาพคำสัมภาษณ์นายนวมทอง ไพรวัลย์ หลังการทำอัตวินิบาตกรรมเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร รวมทั้งการปิดและยึดเว็บไซต์ของผู้คัดค้านรัฐประหาร (www.midnightuniv.org และ www.19sep.net) ด้วยวิธีต่างๆ ขณะที่ตัวอย่างของการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นได้แก่การ "ขอร้อง" ให้เว็บไซต์พันธ์ทิพย์ หยุดบริการห้องสนทนาการเมืองตั้งแต่วันรัฐประหาร, การส่งกำลังทหารไปควบคุมสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ เป็นเวลาหลายสัปดาห์, การเรียกวิทยุชุมชนในภาคเหนือไป "ขอร้อง" ให้รายงานข่าวอย่างเหมาะสม, การ "หารือ" ร่วมกับผู้บริหารสื่อวิทยุโทรทัศน์เมื่อวันที่ 10 มกราคม เรื่องการรายงานข่าวที่ควรจะเป็นจนกว่าจะถึงสิ้นปี 2550 , รวมทั้งการเซ็นเซอร์เว็บไซต์ที่สูงขึ้นถึง 500 เปอร์เซ็นต์ หลังการยึดอำนาจเป็นต้นมา
[3] http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=6697&
SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai[4] ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับความเป็นพลเมืองนั้น เป็นปัญหาที่มีความสำคัญทางปรัชญาการเมืองมาตั้งแต่สมัยกรีก ตัวอย่างเช่น เพลโตนั้นถือว่าชีวิตที่ดีขึ้นอยู่กับการเมืองที่ดี และการเมืองที่ดีก็เป็นสิ่งที่จะได้มาด้วยการแสวงหาในระดับรวมหมู่ร่วมกัน ไม่ใช่การแยกตัวออกไปอยู่เป็นเอกบุคคลอิสระหรือครัวเรือนเอกเทศ
ส่วนอริสโตเติลก็เห็นว่าอำนาจในรูปของนครรัฐนั้นสำคัญกว่าครัวเรือนและเอกบุคคล เพราะนครรัฐเปรียบเสมือนร่างกาย ส่วนครัวเรือนและเอกบุคคลนั้นเทียบได้กับมือและเท้า ซึ่งหากร่างกายแตกดับ อวัยวะเหล่านี้ก็ปราศจากความหมาย (Aristotle , Politics, trans. C.D.C. Reeve, Hackett : Indianapolis, 1998, pp.4-5)
แต่คติการเมืองแบบสภาวะสมัยใหม่นั้นเห็นว่าเอกบุคคลไม่ได้เป็นแค่เพียงลักษณะทางกายภาพ แต่เอกบุคคลมีแก่นสารบางอย่าง ซ้ำยังสามารถคิด, มีเหตุมีผล และมีอิสรภาพในตัวเอง พลเมืองบนฐานการคิดแบบนี้จึงเป็นหน่วยที่เป็นเอกเทศและอยู่ขั้วตรงข้ามกับอำนาจ ซึ่งบทความชิ้นนี้จะอธิบายสิทธิเสรีภาพของพลเมืองผ่านคตินี้เป็นสำคัญ
[5] สนใจประเด็นนี้เพิ่มเติม ดู Carl J. Friedrich, Limited Government : A Comparison (New Jersey : Prentice-Hall, 1974), pp.25-32.
[6] Thucydides, Peloponnesian War , Book II, trans. Jeffrey S. Rusten (New York :Cambridge University Press, 1989) โดยเฉพาะ
บทที่ 35 และ บทที่ 43[7] คำว่าหลักกฎหมายแบบปฏิฐานนิยม ในที่นี้มีความหมายแตกต่างจากที่นักรัฐศาสตร์หรือปัญญาชนแนววิพากษ์สังคมไทยมักเข้าใจ ตัวอย่างเช่น เสน่ห์ จามริก ในงานเขียนชิ้นสำคัญของเขา เรื่อง การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐูธรรมนูญ เห็นว่าหลักกฎหมายแบบปฏิฐานนิยม คือหลักกฎหมายที่ยอมรับคำสั่งและกฎระเบียบของผู้มีอำนาจโดยปราศจากข้อกังขา ถึงแม้ผู้มีอำนาจนั้นจะมาจากกการรัฐประหารและดำเนินการนิติบัญญัติโดยอาศัยอำนาจพิเศษและกฎอัยการศึกก็ตามที หลักกฎหมายแบบปฎิฐานนิยมตามนัยนี้จึงเป็นพื้นฐานของการปกครองโดยอำเภอใจและการใช้อำนาจโดยพลการ
ปัญหาทางทฤษฎีของคำวิจารณ์ตามแนวทางนี้ก็คือ แม้จะเป็นความจริงว่า แนวคิดกฎหมายแบบปฏิฐานนิยมจะเห็นว่ากฎหมายไม่จำเป็นต้องมีรากมาจากอภิปรัชญาและปัญหาเชิงคุณค่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐและผู้มีอำนาจในคตินี้ สามารถจะออกกฎเกณฑ์และคำสั่งต่างๆ ได้โดยเสรี ตัวอย่างเช่น นักนิติปรัชญาคนสำคัญอย่าง ฮานส์ เคลเซน ก็พูดอยู่ตลอดว่า กฎหมายต้องขึ้นอยู่กับปทัสถานพื้นฐาน หรือ basic norm บางอย่าง กฎหมายจึงไม่ใช่ตัวกฎเกณฑ์ข้อหนึ่งข้อใด แต่คือชุดของกฏเกณฑ์จำนวนมากที่มีเอกภาพร่วมกันในฐานะระบบหนึ่งๆ ส่วนการบอกว่า กฎหมายคือคำสั่งของผู้มีอำนาจนั้นเป็นสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นปฏิฐานนิยมที่มีลักษณะลดทอนเกินไป ดู Hans Kelsen, General Theory of Law and State , trans. A.Wedberg (New York : Russell and Russell, 1961)
[8] ดู ขุนประเสริฐศุภมาตรา, หนังสือว่าด้วยกฎหมายภาคสิทธิ (ม.ป.ท., 1477), หน้า 1 และ หยุด แสงอุทัย, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ประกายพรึก, 2535), หน้า 224. อย่างไรก็ดี ความเห็นของอาจารย์หยุดในเรื่องนี้ มีเหตุผลทางการเมืองที่ซับซ้อนจนผู้เขียนหวังว่าจะได้กล่าวถึงในโอกาสต่อไป
[9] Quentin Skinner, Liberty Before Liberalism. (Cambridge : Cambridge University Press, 1988), p.17.
[10] Will Kymlicka, Liberalism, Community, and Culture. (Oxford : Clarendon Press, 1989), pp.74-99.
[11] John Henry Merryman, The Civil Law Tradition: An Introduction to the Legal Systems of Western Europe and Latin America (Stanford : Stanford University Press, 1988), p.70. อย่างไรก็ดี ทฤษฎีกฎหมายเยอรมันวางอยู่บนการแบ่งแยกระหว่าง "สิทธิเชิงอัตวิสัย" และ "กฎหมายเชิงรูปธรรม" อย่างเคร่งครัด โดยที่การแบ่งแยกลักษณะนี้ก็เป็นพื้นฐานของการพิจารณาประเด็นสิทธิเสรีภาพ โดยแง่มุมแบบปฏิฐานนิยมซึ่งมีปัญหาดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การหยิบยืมคำๆ นี้มาใช้ในที่นี้ จึงไม่ได้คงการแบ่งแยกแบบเดิมเอาไว้ เพราะเห็นว่าเป็นต้นตอของความคิดที่อันตราย
[12] ไชยันต์ ไชยพร, "เหตุผล 8 ประการที่มัดรัฐบาลรัฐประหาร" ใน http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=6668&
SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai[13] เกษียร เตชะพีระ, "เผด็จการหน่อมแน้ม/เผด็จการครึ่งใบ", มติชนรายวัน, 26 มกราคม 2550
[14] วัลลภ ตังคณานุรักษ์, "ปฏิวัติงดงาม," มติชน ( 26 กันยายน 2549)
[15] สุริยะใส กตะศิลา, "ผมคิดอะไรกับรัฐประหาร 19 กันยายน," http://www.onopen.com/2006/01/1022[16] ผู้เขียนจงใจอภิปรายประเด็นนี้ เพื่อชี้ให้เห็นมิติความรุนแรงของรัฐประหารที่ปราศจากการนองเลือด เพราะความหมายพื้นฐานของการข่มขู่หมายถึงการใช้กำลัง หรือขู่ว่าจะใช้กำลัง เพื่อให้บุคคลกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนถือว่าเป็นความรุนแรง ต่อให้จะยังไม่ได้มีการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นจริงๆ ก็ตามที รัฐประหารที่ปราศจากการนองเลือดจึงไม่ได้หมายความว่า เป็นรัฐประหารที่ปราศจากความรุนแรง เว้นเสียแต่จะนิยามว่าความรุนแรงในความหมายแคบว่าหมายถึงการฆ่า หรือการข่มขู่ว่าจะฆ่าแต่เพียงอย่างเดียว อันเป็นบทเสนอทางทฤษฎีที่สำคัญของศาสตราจารย์ Glenn D. Paige ในหนังสือเล่มสำคัญของท่านเรื่อง Non-killing Global Political Science (Philadelphia: Xlibris, 2000) ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการแปลเป็นภาษาไทยโดยผู้เขียน
[17] Julio F. Carrion (ed.), .The Fujimori Legacy : the Rise of Electoral Authoritarianism in Peru (University Park: Pennsylvania State University Press , 2006)
[18] Samuel E. Finer's Introduction in Edward Luttwak, Coup D' Etat 2nd edition (London : Allen Lane, , 1979)
[19] ในกรณีรัฐประหารในประเทศไทย ดู Thak Chaloemtiarana, Thailand: The Politics of Despotic Paternalism Revised Edition (Ithaca : Cornell Southeast Asia Program, 2006) เทียบกับ Paul Handley, (The King Never Smiles : A Biography of Thailand's Bhumibol Adulyadej (New Haven: Yale University Press, 2006), pp. 139 -155 สำหรับรัฐประหารในชิลี น่าสนใจว่าแม้จะมีการเปิดเผยเอกสารต่างๆ ที่แสดงความปรารถนาของสหรัฐฯ ที่จะสนับสนุนรัฐประหารโค่นล้มประธานาธิบดีอัลเยนเด้มาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่ประธานาธิบดีผู้นี้เข้าดำรงตำแหน่ง โดยเฉพาะเอกสารในโครงการที่ชื่อว่า Project FUBELT แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ทุกชุดไม่เคยยอมรับเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดี นายพลคอลิน พาวเวลล์ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ใน พ.ศ.2546 เมื่อยังอยู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ว่า บทบาทของสหรัฐต่อรัฐประหารในชิลี เป็น "ประวัติศาสตร์ที่เราไม่อยากพูดถึง" อันมีนัยของการยอมรับอย่างเป็นทางการที่ชัดเจน
[20] Peter Calvert, Revolution (London: Macmillan, 1970), p.141.
[21] มีงานศึกษาทหารไทยจำนวนไม่น้อยที่ฉายให้เห็นภาพความคิดทางการเมืองของทหารไทยในประเด็นนี้ ตัวอย่างเช่น งานสำคัญของ ยศ สันตสมบัติ, อำนาจ บุคลิกภาพ และผู้นำการเมืองไทย (กรุงเทพ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2533) และ เฉลิมเกียรติ ผิวนวล, รายงานการวิจัยเรื่องประชาธิปไตยแบบไทย: ความคิดทางการเมืองของทหารไทย (2519-2529) (กรุงเทพ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์, 2531) ซึ่งช่วยให้เห็นภาพความเข้าใจตัวเองของผู้นำทางทหารที่ก่อรัฐประหาร และแทรกแซงการเมืองด้วยวิธีต่างๆ ว่า โดยส่วนใหญ่ของพวกเขาล้วนพิจารณาตัวเองเป็นพุทธศาสนิกชนผู้เปี่ยมไปด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อย่างแน่นแฟ้น การแทรกแซงการเมืองโดยทหารหลายหนจึงเกิดจากความรู้สึกว่าสถาบันหลักๆ ถูกท้าทาย จนเป็นหน้าที่ของตนเองที่ต้องปกป้องสถาบันเหล่านี้ด้วยวิธีใช้กำลังและความรุนแรง
อย่างไรก็ดี ควรพิจารณาประเด็นอุดมการณ์นี้โดยเปรียบเทียบกับงานศึกษาของ ชัยอนันต์ สมุทวณิช, การเลือกตั้ง พรรคการเมือง, รัฐสภา และคณะทหาร (กรุงเทพ: บรรณกิจ, 2525) และ สุรชาติ บำรุงสุข, ทหารกับประชาธิปไตยไทย : จาก 14 ตุลา สู่ปัจจุบันและอนาคต (กรุงเทพ: ศูนย์วิจัยและผลิตตำรา มหาวิทยาลัยเกริก, 2541) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ทหารไม่ได้แทรกแซงการเมืองหรือก่อรัฐประหารด้วยเหตุผลทางอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากอคติของพวกเขาต่อนักการเมือง และสถาบันการเมืองสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน
[22] William Frank Gutteridge, The Military in African Politics (London: Methuen, 1969) ข้อน่าสนใจก็คือประธานาธิบดีผู้นี้เริ่มต้นประสบความสำเร็จทางการเมือง ด้วยนโยบายต้านอาณานิคมและจักรวรรดินิยมใหม่ แต่ในที่สุดก็กลายเป็นประธานาธิบดีที่มีพฤติกรรมการใช้อำนาจแบบเผด็จการอำนาจนิยม
[23] Pitirim A Sorokin, "Fluctuations of Internal Disturbances," in George A.Kelly and Clifford W. Brown(eds.), Struggle in the State: Sources and Patterns of World Revolution (New York : John Wiley, 1970)
[24] Bruce W.Farcau, The Coup: Tactics in the Seizure of Power (Westport, Connecticut: Praeger, 1994), p.9.
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1,300 เรื่อง หนากว่า 25,000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548) เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
[email protected]
สารบัญเนื้อหา
1-200 I สารบัญเนื้อหา
201-400 I สารบัญเนื้อหา
401- 600
สารบัญเนื้อหา
601-800
I สารบัญเนื้อหา
801-1000 I
สารบัญเนื้อหา
1001-1200
สารบัญเนื้อหา 1201-1400
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
I webboard(1)
I
webboard(2)
e-mail
: midnightuniv(at)gmail.com
[email protected]
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com