โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 31January 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๔๒ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ (January, 31,01.2007)
R

Globalization
The Midnight University

การปะทะของโลกาภิวัตน์ 2 ทิศทางในประเทศกำลังพัฒน
Globalization from below:
โลกาภิวัตน์จากข้างล่าง กรณีอินเดียและไทย ภาค ๒

ดร. โดม ไกรปกรณ์
นักวิชาการอิสระ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
จากเดิมชื่อ: การปะทะของโลกาภิวัตน์ ๒ ทิศทางในประเทศกำลังพัฒนา:
เปรียบเทียบกรณีขบวนการสิ่งแวดล้อมในอินเดียและไทย
เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของแนวคิดโลกาภิวัตน์ ซึ่งได้ขยายตัวจากเดิมสู่ภาคประชาชนในยุคสังคมข้อมูล
ทำให้เกิดการก่อตัวของขบวนการสิ่งแวดล้อม ที่ลุกขึ้นมาสวนกระแสกับอำนาจนำในการจัดการทรัพยากร
โดยศึกษากรณีขบวนการชิปโก้ และขบวนการนรมทา บาจาโอ อานโทลัน
ในอินเดีย
รวมถึงการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจน ในไทย
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๔๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๓ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

การปะทะของโลกาภิวัตน์ ๒ ทิศทางในประเทศกำลังพัฒนา:
เปรียบเทียบกรณีขบวนการสิ่งแวดล้อมในอินเดียและไทย
(ภาค ๒)
โดม ไกรปกรณ์

โลกาภิวัตน์จากข้างบนกับการต้านโลกาภิวัตน์และขบวนการสิ่งแวดล้อม
ในไทย: กรณีการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี?
(C)
ระบบการเมืองแบบรัฐชาติและระบบทุนนิยมโลก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของโลกาภิวัตน์จากข้างบนได้ปรากฏในไทยในช่วงศตวรรษที่ 19 (หากพิจารณาเฉพาะส่วนของระบบทุนนิยมโลก กล่าวได้ว่า สยามประเทศหรือไทยเกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศกับจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าของโลกตะวันออกและโลกตะวันตก ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 13 และได้ปรากฏว่ามีการค้ากับโลกตะวันตกโดยตรงตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 15) เมื่อมีการทำสัญญาการค้ากับชาติตะวันตกทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ โดยเฉพาะสัญญาการค้ากับอังกฤษที่รู้จักกันในนาม "สัญญาเบาว์ริง" และการที่ชนชั้นนำรับวัฒนธรรมตะวันตก และทำให้ประเทศเปลี่ยนจากรัฐราชาธิราชเป็นรัฐชาติ

โลกาภิวัตน์จากข้างบนที่ปรากฏในช่วงดังกล่าว ทำให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเปลี่ยนไปสู่การผลิตเพื่อขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตข้าว ไม้สัก ดีบุก และความเสื่อมลงของการผลิตของใช้ในครัวเรือน เช่น การทอเสื้อผ้าโดยหันมาใช้สินค้าต่างประเทศในตลาดที่มีราคาถูก (38)

เมื่อวาทกรรมการพัฒนาที่แบ่งประเทศในโลกเป็นประเทศพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนา และเน้นความเติบโตของทุนนิยมได้ขยายอิทธิพลตลอดช่วงทศวรรษ 1940-ทศวรรษ1980 (หรืออีกนัยหนึ่งตลอดช่วง 50 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง) ปรากฏว่าประเทศไทยได้สมาทานและอยู่ภายใต้อิทธิพลของวาทกรรมการพัฒนา โดยจัดวางทิศทางเศรษฐกิจของประเทศมุ่งเน้นที่การพัฒนา และอยู่ในสถานะของประเทศด้อยพัฒนา (ซึ่งเรียกให้ดูดีขึ้นว่า "ประเทศกำลังพัฒนา") ที่รับความช่วยเหลือจากประเทศพัฒนาโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950 ไทยได้เข้าสู่ยุคสมัยของการพัฒนาประเทศ (39)

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดเจนได้แก่ การจัดการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของรัฐไทย ในยุคการพัฒนาประเทศที่มองธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะ "ทรัพยากร" ที่ใช้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ (40) เช่น การลดลงอย่างมากของพื้นที่ป่าไม้ในช่วงปลายทศวรรษ 1950 - ปลายทศวรรษ1970 จากการให้สัมปทานป่าไม้เชิงพาณิชย์ (41) หรือการจัดการน้ำในลักษณะของโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ที่มุ่งประโยชน์ด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าและการพัฒนาแหล่งน้ำตลอดช่วงปลายทศวรรษ 1950 - ต้นทศวรรษ1990 โดยได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ตลอดจนองค์กรการเงินนานาชาติอย่างธนาคารโลก (42)

การคัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี (ค.ศ.1982-1988)
การคัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี ถูกจัดให้เป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการสิ่งแวดล้อมของไทย โดยกลุ่มคัดค้านได้ปรากฏตัวอย่างชัดเจนในปี ค.ศ.1982 เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ขออนุมัติก่อสร้างโครงการเขื่อนน้ำโจนซึ่งเป็น "เขื่อนเอนกประสงค์" ที่ให้ผลตอบแทนโดยตรงด้านการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งผลตอบแทนด้านอื่น (ที่จะตามมาหลังสร้างเขื่อนเสร็จ) ต่อคณะรัฐมนตรี และดำเนินการปรับปรุงแผนการด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโครงการเพื่อสร้างเขื่อนอย่างจริงจัง

ในระยะแรกนั้น กลุ่มคัดค้านประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ กลุ่มนักศึกษา กลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่ง องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน และกลุ่มชาวบ้านในบริเวณพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งการคัดค้านของกลุ่มคนเหล่านี้อยู่บนพื้นฐานของการมีประเด็นคัดค้านร่วมกันในหลายประเด็น เช่น ปัญหาความเสียหายของพื้นที่ป่าและสัตว์ป่าในเขตทุ่งใหญ่นเรศวร ปัญหาแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นหลังจากการสร้างเขื่อน ผลกระทบต่อการเกษตรและวิถีชีวิตของชาวบ้าน

และในระยะทีสองของการคัดค้าน(ค.ศ.1985-1988) หลังจากที่การเคลื่อนไหวค่อนข้างเงียบหายไปช่วงหนึ่ง(1984) ได้มีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการและจะถูกอพยพออกจากพื้นที่ รวมทั้งกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติระดับนานาชาติ เข้าร่วมการเคลื่อนไหวโดยที่กลุ่มคัดค้านที่หลากหลาย ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ความเคลื่อนไหวต่างๆ ยึดโยงด้วยการมีประเด็นคัดค้านร่วมกันได้แก่ ความเสียหายของพื้นที่ป่าและสัตว์ป่า ปัญหาแผ่นดินไหว ประโยชน์ของเขื่อนที่มีด้านเดียวคือการผลิตไฟฟ้า และการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานอื่น

กิจกรรมของกลุ่มคัดค้านได้แสดงออกในลักษณะกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่น การนำเสนอข้อมูลเชิงวิชาการที่ตั้งคำถาม และท้าทายการพัฒนากระแสหลัก การใช้พิธีกรรมการอุปสมบทหมู่ของกลุ่มนักศึกษา 9 คน เพื่อสักการะดวงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวรให้ดลบันดาลไม่ให้มีการสร้างเขื่อน และการออกจาริกเทศนาเกี่ยวกับผลเสียของเขื่อนให้ประชาชนรับรู้ ฯลฯ กระทั่งการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อให้มีการดำเนินคดีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ที่เข้าไปตัดไม้เพื่อสร้างทางในเขตป่าสงวน และอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้

การเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจน กล่าวได้ว่า ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งโดยในปี ค.ศ.1988 โครงการได้ถูกระงับไป และสิ่งที่ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของการนี้โดยแง่ที่สำคัญกว่าเป็นดังที่กล่าวแล้วว่า การคัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจนเป็นการเริ่มต้นของขบวนการสิ่งแวดล้อมในไทย

มุมมองเชิงเปรียบเทียบต่อขบวนการสิ่งแวดล้อมในอินเดียและไทย:
โลกาภิวัตน์จากข้างล่างของขบวนการทางสังคมข้ามพรมแดน

จากที่กล่าวถึงขบวนการสิ่งแวดล้อมในอินเดียและไทย เมื่อมองในเชิงเปรียบเทียบหาลักษณะร่วม (อันที่จริงแล้วการเปรียบเทียบจะต้องหาลักษณะต่างด้วย แต่ในที่นี้จะเน้นที่จุดร่วม เพราะความแตกต่างหลักๆ ของขบวนการสิ่งแวดล้อมในอินเดียและไทยนั้นอยู่ที่รายละเอียดของการเคลื่อนไหว) อาจกล่าวได้ว่าขบวนการชิปโก้และขบวนการนรมทา บาจาโอ อานโทลันในอินเดีย และการคัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจนในไทยมีลักษณะร่วมกัน 3 ประการได้แก่

1. เป็นการเคลื่อนไหวที่คัดค้านต่อต้านโลกาภิวัตน์จากข้างบนหรือระบบทุนนิยมโลก / การพัฒนา

2. เป็นปฏิบัติการรวมหมู่ของกลุ่มคนที่มาเคลื่อนไหวร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายคือ ประท้วงนโยบายป่าไม้ที่ไม่เป็นธรรมและให้บริษัทเอกชนยุติการทำลายป่า (ในกรณีขบวนการชิปโก้) หรือยุติการดำเนินงานโครงการก่อสร้างเขื่อน (กรณีขบวนการนรมทา บาจาโอ อานโทลัน และการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจน) และมีการขยายตัวของสมาชิกในวงที่กว้างขึ้นในลักษณะที่ถือได้ว่าเป็น "ขบวนการทางสังคมแบบใหม่" (New Social Movement) กล่าวคือ กลุ่มคนที่มาเข้าร่วมมาจากหลายกลุ่มหลายชนชั้น และกิจกรรมของกลุ่มเป็นการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมที่คัดค้านการคุกคามของทุนนิยม/การพัฒนา (43)

3. การที่ชาวบ้านในท้องถิ่นเป็นตัวตั้งสำคัญของการเคลื่อนไหว (กรณีขบวนการชิปโก้และขบวนการนรมทา บาจาโอ อานโทลัน) หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นส่วนหนึ่งของเฟืองสำคัญของการเคลื่อนไหว (กรณีการคัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจน ซึ่งกรณีนี้การเคลื่อนไหวในระยะแรกๆ เป็นการเคลื่อนไหวของคนหลายกลุ่มโดยชาวบ้านในท้องถิ่น และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหว ในขณะที่กลุ่มที่เป็นหัวใจของการเคลื่อนไหวคือกลุ่มนักศึกษา )(44)

แง่มุมสำคัญที่ควรพิจารณาจากลักษณะร่วม 2 ประการแรก ที่รวมความได้ว่าขบวนการสิ่งแวดล้อมในอินเดียและไทยที่ยกมาทั้ง 3 กรณี เป็นขบวนการทางสังคมแบบใหม่ที่ต่อต้านคัดค้านโลกาภิวัตน์จากข้างบน คงอยู่ที่ว่าการต่อต้านขัดขืนโลกาภิวัตน์เป็นส่วนที่แยกไม่ออกจากโลกาภิวัตน์และเป็นอีกด้านหนึ่งของโลกาภิวัตน์ที่เรียกว่า "โลกาภิวัตน์จากข้างล่าง" (Globalization from Below) โดยที่โลกาภิวัตน์จากข้างล่างและโลกาภิวัตน์จากข้างบน จะร่วมกันกำหนดและประกอบกันขึ้นเป็นกระแสโลกาภิวัตน์ในโลก (45)

(ถ้าจะใช้ภาษาที่ง่ายขึ้น(?)คือ โลกาภิวัตน์จากข้างล่างเป็นมุมกลับของโลกาภิวัตน์จากข้างบนที่คงอยู่ในเวลาเดียวกัน เหมือนเหรียญที่มีด้านหัวและด้านก้อย) โดยนัยดังกล่าวนี้ขบวนการสิ่งแวดล้อมในอินเดียและไทย ได้แสดงให้เห็นว่ามีปรากฏการณ์การปะทะกันของโลกาภิวัตน์จากข้างบน (ระบบทุนนิยมโลก/การพัฒนา/การทำให้เป็นตะวันตก) และโลกาภิวัตน์จากข้างล่าง (ขบวนการทางสังคม) ขึ้นในอินเดียและไทย

ขณะเดียวกัน การที่ชาวบ้านเป็นตัวตั้งหรือเป็นหนึ่งในเฟืองสำคัญของโลกาภิวัตน์จากข้างล่าง ซึ่งเป็นลักษณะร่วมประการที่ 3 ของขบวนการสิ่งแวดล้อมในอินเดียและไทย ก็พิจารณาได้ในฐานะสิ่งหนึ่งที่ทำให้โลกาภิวัตน์จากข้างล่างซึ่งปรากฏในท้องถิ่นหนึ่ง ไปยังอีกท้องถิ่นหนึ่งที่อยู่ในพรมแดนทางภูมิศาสตร์ที่เรียกว่า "ประเทศ/รัฐ" เดียวกัน และข้ามพรมแดนของประเทศไปยังอีกท้องถิ่นหนึ่งในอีกประเทศหนึ่ง

ดังที่อรชุน อัปปาดูรัย นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย (อินเดียพลัดถิ่น) ได้อธิบายถึงการที่รัฐชาติ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์จากข้างบน) ได้สร้างความเป็นชุมชนระดับประเทศภายใต้ขอบเขตทางภูมิศาสตร์ที่ตายตัว และความเป็นชาติที่มีเอกภาพให้แก่ผู้คนในประเทศนั้นต่างจากผู้คนในชุมชน (ประเทศ/ชาติ) อื่น, ในขณะเดียวกัน ด้านหนึ่งก็ได้ทำลายความเป็นท้องถิ่นในระดับที่ต่ำกว่าชาติลง แต่อีกด้านหนึ่งนั้นโลกาภิวัตน์จากข้างบนกลับเป็นสิ่งที่ทำให้คนในท้องถิ่นมีจินตนาการในทางที่ต่างออกไป และเป็นเงื่อนไขสำคัญของการก่อเกิด "ท้องถิ่นข้ามท้องถิ่น" (Translocalities) ที่เชื่อมต่อ/พาดทับ/ถูกพาดทับและกระทำต่อโลกกว้างในหลายรูปแบบ (46)

กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ โลกาภิวัตน์จากข้างล่างที่มีชาวบ้านเป็นตัวตั้งหรือหนึ่งในเฟืองสำคัญ ได้ทำให้มีสิ่งที่เรียกว่า"พื้นที่สังคมข้ามพรมแดน"(Transnational Social Space) ซึ่งมีตัวกระทำที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actors) เป็นตัวกระทำในพื้นที่และมีการสร้างเครือข่ายสายสัมพันธ์ข้ามพรมแดนของประเทศ ทั้งในรูปของความสัมพันธ์ของความเป็นเครือญาติ ความสัมพันธ์ด้านการแลกเปลี่ยน และความสัมพันธ์ในรูปของชุมชนข้ามพรมแดน (47)

ประเด็นที่อยากจะเน้นในที่นี้คือ ปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์จากข้างล่าง ในกรณีของขบวนการสิ่งแวดล้อมในอินเดียและไทย เป็นสิ่งที่เชื่อมต่อกันข้ามพรมแดนภูมิศาสตร์รัฐชาติด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้และมุมมองของกลุ่มคนข้ามเส้นแบ่งทางชนชั้นหรืออาชีพและเส้นแบ่งความเป็นชาติ (ทั้งกรณีขบวนการชิปโก้, ขบวนการนมทา บาจาโอ อานโทลัน, และกรณีการคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน) ตลอดจนการที่ความรู้และประสบการณ์การเคลื่อนไหวของขบวนการหนึ่ง ได้ไหลผ่านข้ามพรมแดนมายังขบวนการทางสังคมในอีกประเทศหนึ่ง ที่ได้เรียนรู้และปรับใช้ในการเคลื่อนไหวของตน ดังปรากฏว่ามูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ (เดิมใช้ชื่อว่า "โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ") ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรพัฒนาเอกชนที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจนนั้น นักเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีบทบาทในองค์กรได้มีการเรียนรู้เกี่ยวกับประสบการณ์และแนวคิดของขบวนการชิปโก้ (48)

นอกจากนี้แล้วเงื่อนไขอีกประการหนึ่ง ที่สนับสนุนให้โลกาภิวัตน์จากข้างล่างหรือขบวนการทางสังคมข้ามพรมแดน สามารถเชื่อมต่อกับองค์กรพัฒนาเอกชนหรือกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติระดับนานาชาติ (ซึ่งมีลักษณะเป็นขบวนการทางสังคมข้ามพรมแดนรัฐชาติเช่นเดียวกัน) ได้แก่ การที่มีแนวคิดว่าด้วยขบวนการทางสังคม ได้เป็นที่ถกเถียงในวงกว้างจากสหรัฐอเมริกาสู่ยุโรป ลาตินอเมริกา อินเดีย ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1960 เรื่อยมาถึงปลายทศวรรษ1980 (49) ตลอดจนการที่กระแสความคิดสภาพแวดล้อมนิยม (Environmentalism) ที่ท้าทายและวิพากษ์การพัฒนาในฐานะตัวทำลายสภาพแวดล้อม และเป็นที่มาของปัญหาสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม รวมทั้งวาทกรรมการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ที่ท้าทายวาทกรรมการพัฒนาที่เน้นความเจริญเติบโตของระบบทุนนิยม ซึ่งได้ก่อและขยายตัวในประเทศพัฒนาและประเทศโลกที่สามตั้งแต่ทศวรรษ1980 (50) (แน่นอนที่ว่ากระแสความคิดและวาทกรรมเหล่านี้จะข้ามพรมแดนมาสู่ไทยด้วยลักษณะ"โลกาภิวัตน์")

ปัจฉิมลิขิต: ข้อคิดว่าด้วยการพัฒนาชุมชนจากกรณีศึกษา
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ประเทศมหาอำนาจตะวันตกได้เผยแพร่แนวคิดการพัฒนาชุมชนสู่ประเทศต่างๆ ผ่านการแทรกแซงนโยบาย และ/หรือการส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือผ่านองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลก จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการสนับสนุนให้นักวิชาการจากประเทศหนึ่งๆ ไปศึกษายังประเทศตะวันตก (51)

ในแง่นี้จึงกล่าวได้ว่าแนวคิดการพัฒนาชุมชน ที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาชุมชนในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของ "โลกาภิวัตน์จากข้างบน" ซึ่งจากกรณีขบวนการสิ่งแวดล้อมในอินเดียและไทยที่ได้กล่าวมา จะเห็นได้ว่า นโยบายหรือโครงการพัฒนาตามแนวทางโลกาภิวัตน์จากข้างบน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการป่าไม้ หรือโครงการเขื่อน ล้วนแต่เป็นการจัดการ/วางแผนการจัดการ ที่ไม่ยุติธรรมต่อประชาชนในชุมชนท้องถิ่นหรือเป็นดังที่ อมาตยา เซ็น นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล(เศรษฐศาสตร์)ชาวอินเดีย ผู้บุกเบิกเศรษฐศาสตร์แนวสังคมสงเคราะห์ได้ชี้ประเด็นไว้ว่า…

โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์สูงสุดต่อคนจนยังไม่มีในโลก คนจนยังไม่สามารถมีฐานะที่ดีขึ้นมากด้วยกระบวนการโลกาภิวัตน์ และเรียกร้องให้มีการแบ่งปันประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ (52)

นอกจากนี้หากมองในด้านที่เป็น "โลกาภิวัตน์จากข้างล่าง" หรือขบวนการทางสังคมที่คัดค้านการพัฒนาแนวทางทุนนิยมอย่างพินิจพิจารณา จะเห็นได้ว่า การคัดค้านโครงการพัฒนาของประชาชนในชุมชนท้องถิ่น และกลุ่มคนที่เข้าร่วมนั้นด้านหนึ่งมีที่มาจากสิ่งที่ขาดหายไปจากนโยบาย/โครงการพัฒนา คือ กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังที่ วันทนา ศิวะ ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับระบบการปกครอง และการบริหารจัดการแบบรัฐชาติที่เป็นอยู่ในเอเชีย และในโลกโดยรวมว่า เป็นระบบที่ปฏิเสธสิทธิทางเศรษฐกิจ หรือเสรีภาพในฐานะพลเมืองของประชาชนที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น (53) ทั้งที่กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาในทุกระดับ ตั้งแต่องค์กรชุมชนในชุมชนเล็กๆ ในชนบท จนถึงการพัฒนาประเทศที่ต้องใช้มติของภาคประชาชนในการจัดการและการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจการดำเนินการ และในผลประโยชน์ที่ได้ / จะได้จากการพัฒนา (54)

ในแง่มุมของแนวคิดทฤษฎีที่น่าสนใจ คือ "โลกาภิวัตน์จากข้างล่าง" ที่ยกมาทั้งขบวนการชิปโก้และขบวนการนรมทา บาจาโอ อานโทลัน ในอินเดีย และการคัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจนที่จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้ถึงการนำเสนอแนวความคิด ว่าด้วย การพัฒนาทางเลือก (Alternative Development) ที่นำเสนอทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่การพัฒนาแบบทุนนิยม โดยให้ความสำคัญกับชุมชนในแบบชุมชนดั้งเดิม ที่ความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นตัวกำกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ครัวเรือนในชุมชนเป็นทั้งหน่วยการผลิตและหน่วยการบริโภคในตัวเอง ไม่ใช่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงด้านเดียว และการแลกเปลี่ยนในตลาด ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำไรแต่เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคสิ่งที่ผลิตเองไม่ได้ของชุมชน ตลอดจนเป็นการปฏิบัติการรวมหมู่ที่เรียกว่า "การเมืองภาคประชาชน" ในรูปของขบวนการทางสังคมแบบใหม่หรือประชาสังคม ที่เน้นให้ประชาชนมีความสำคัญในกระบวนการตัดสินใจ ในสิ่งซึ่งจะมีผลกระทบต่อตนเองโดยตรง แทนที่จะคอยรับฟังคำสั่งและการกำกับจากภาครัฐ (55) (รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ-ผม)

จึงกล่าวหรือพิจารณาได้ว่า "โลกาภิวัตน์จากข้างล่าง" เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาของการพัฒนาชุมชนที่ปราศจากกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนา และเป็นยุทธวิธีที่คนในชุมชนและคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมใช้เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนา

อีกประการหนึ่งที่ควรพิจารณา คือ ทั้ง "โลกาภิวัตน์จากข้างบน" และ "โลกาภิวัตน์จากข้างล่าง" ที่เข้าสู่และกระจายตัวในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสที่มาจากข้างล่าง เป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นว่าสภาวะความเป็นชุมชนในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ใช่การมีอยู่ของชุมชนแบบขั้วตรงข้าม ระหว่างชุมชนเมืองและชุมชนชนบท (Urban-Rural Continuum) ตามแนวคิดการพัฒนาชุมชนของประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป

โดยขบวนการสิ่งแวดล้อมในอินเดียและไทยที่ประกอบด้วยคนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์และวัฒนธรรม และมีการสร้างเครือข่าย/สื่อสารข้ามพรมแดนรัฐชาติ ได้แสดงให้เห็นว่า ความเป็นชุมชนในประเทศกำลังพัฒนา คือ ระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นกระบวนการในการปรับตัวและต่อสู้กับรัฐ ระบบทุนนิยม และพลังอื่นๆ จากภายนอกของชาวบ้าน หรือกลุ่มคนที่ถูกกระทำผ่านการเจรจาต่อรอง ความขัดแย้ง การเลื่อนไหลไปมาของผู้คนและวัฒนธรรม ทำให้ชุมชนท้องถิ่นมีการปรับเปลี่ยนและสร้างใหม่อยู่เสมอ ไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งตายตัว (56) และเป็นไปในลักษณะของชุมชนการสื่อสาร (communicative community) ชุมชนข้ามชาติข้ามภาษา(cosmopolitan community) ชุมชนข้ามชาติ (transnational community) ที่มีขอบเขตกว้างขวางไม่ถูกจำกัดด้วยพื้นที่(space) หรือกาลเวลา(time) รวมไปถึงมีการผสมผสานทางวัฒนธรรมและการสื่อสารที่มากมาย (57) ต่างจากวาทกรรมการพัฒนาและการพัฒนาชุมชนที่เป็นกระแสหลัก

++++++++++++++++++++++++++++ (คลิกกลับไปทบทวน ภาค ๑)
เชิงอรรถ

(C) การกล่าวถึงโลกาภิวัตน์จากข้างบนและขบวนการสิ่งแวดล้อมในไทย กรณีการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจนในที่นี้ เป็นการกล่าวโดยสังเขป เพราะเรื่องโลกาภิวัตน์จากข้างบนหรือระบบทุนนิยมโลกในไทยมีงานจำนวนมากที่อธิบายเรื่องนี้แล้ว เช่น บทความของผาสุก พงษ์ไพจิตร และการอภิปรายของนักวิชาการอีกหลายท่านในเวทีสัมมนา "โครงการเปลี่ยนประเทศไทย" ที่ผู้เขียนอ้างในเชิงอรรถที่ 1และ 2 ของบทความนี้; ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ, เศรษฐศาสตร์กับนักประวัติศาสตร์ไทย (กรุงเทพฯ:สร้างสรรค์,2524), หน้า110-225; ฯลฯ

ส่วนเรื่องการคัดค้านเขื่อนน้ำโจนนั้น ผู้เขียนได้กล่าวไว้ค่อนข้างละเอียดใน 2 (หรือ3?) ที่ได้แก่ โดม ไกรปกรณ์, "ขบวนการสิ่งแวดล้อมในสังคมไทยระหว่าง พ.ศ.2525-2535: ศึกษาการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจน เขื่อนแก่งกรุง และเขื่อนปากมูล," (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2548), หน้า104-165; โดม ไกรปกรณ์, "ขบวนการทางสังคมกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ: ศึกษาการเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี (พ.ศ.2525-2535)," บทความชิ้นนี้เป็นเอกสารประกอบการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยาครั้งที่ 4 เรื่องวัฒนธรรมไร้อคติ ชีวิตไร้ความรุนแรง ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อปีที่ผ่านมา(2548) (เอกสารอัดสำเนา) และผมได้ปรับปรุงและเสนอให้บรรณาธิการรัฐศาสตร์สารพิจารณาเพื่อตีพิมพ์ (ล่าสุดผมได้รับการบอกกล่าวว่าจะได้รับการตีพิมพ์ในรัฐศาสตร์สารฉบับต่อๆไปอีก 2-3 ฉบับ)

(38) ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ, เศรษฐศาสตร์กับนักประวัติศาสตร์ไทย, หน้า123-181.

(39) โปรดดู รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ และ สมบูรณ์ ศิริประชัย (บรรณาธิการ), ทฤษฎีการพึ่งพากับสังคมเศรษฐกิจไทย (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2528); ชาตรี เพ็ญศรี, "วาทกรรมการพัฒนาของรัฐไทย: พ.ศ.2504-2539," (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543)

(40) อรรถจักร สัตยานุรักษ์, นิเวศประวัติศาสตร์:พรมแดนความรู้ (กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2545),หน้า25-27

(41) เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง (บรรณาธิการ), วิวัฒนาการของการบุกเบิกที่ทำกินในเขตป่า, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, 2535), หน้า61-77

(42) ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, "นิเวศวิทยาการเมืองของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทย: กรณีศึกษาโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น," (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2543), หน้า49-84.

(43) โปรดดูการอธิบายเกี่ยวกับ "ขบวนการทางสังคมแบบใหม่" เพิ่มเติมใน ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, วาทกรรมการพัฒนา..., หน้า 115-135; ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, รัฐ-ชาติ..., หน้า 68-91; สิริพรรณ นกสวน และ เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา(บรรณาธิการ), คำและความคิด..., หน้า 337-346

(44) ข้อมูลสัมภาษณ์ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี, 22 กุมภาพันธ์ 2549 และสัมภาษณ์ วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ, ผู้ก่อตั้งโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, 14 มิถุนายน 2548

(45) ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, รัฐชาติ..., หน้า183-186

(46) ฐิรวุฒิ เสนาคำ, "อรชุน อัปปาดูรัย...," หน้า 108-119; อย่างไรก็ตามการกล่าวในบทความนี้ผมได้ต่อเติมคำอธิบายของอาจารย์ฐิรวุฒิไปบ้าง ไม่ใช่การอ้างแบบไม่บิดเบือนคำอธิบายในข้อเขียนที่ใช้ในการอ้างอิง ความบกพร่องจึงเป็นความรับผิดชอบของผมไม่เกี่ยวข้องกับอาจารย์ฐิรวุฒิ เสนาคำ แต่อย่างใด

(47) ฐิรวุฒิ เสนาคำ, "แนวคิดคนพลัดถิ่นกับการศึกษาชาติพันธุ์," ใน ว่าด้วยแนวทางการศึกษาชาติพันธุ์ (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2547), หน้า193-197

(48) สัมภาษณ์ วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ, ผู้ก่อตั้งโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, 14 มิถุนายน 2548

(49) ผาสุก พงษ์ไพจิตร, "ว่าด้วยขบวนการทางสังคมและเมืองไทย," ใน ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคณะ, วิถีชีวิต วิธีสู้ ขบวนการประชาชนร่วมสมัย (เชียงใหม่: ตรัสวิน (ซิลค์เวอร์มบุคส์), 2545), หน้า8-15

(50) จามะรี เชียงทอง, สังคมวิทยาการพัฒนา, หน้า97-118; หนังสือที่ควรดูเพิ่มเติมได้แก่ ประชา หุตานุวัตร, การเมืองสีเขียว, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก,2544); นพนันท์ อนุรัตน์, พรรคกรีน จากปรัชญาสู่ปฏิบัติการ (กรุงเทพฯ: วิสดอมมีเดียส์, 2548); ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, วาทกรรมการพัฒนา: อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์และความเป็นอื่น, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: วิภาษา, 2545), หน้า232-291

(51) ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์, ชุมชนศึกษา: การศึกษาชุมชนในยุคหลังสมัยใหม่ (สงขลา: การผลิตเอกสารและตำรา มหาวิทยาลัยทักษิณ, 2544), หน้า3

(52) สฤณี อาชวานันทกุล, To think well is good To think right is better (กรุงเทพฯ: openbooks, 2549), หน้า60

(53) จิตสำนึกใหม่แห่งเอเชีย 4 บทสนทนาท้าทายแนวคิดตะวันตกในเรื่องการเมือง ธรรมชาติและการพัฒนา (ทัศนะจากคานธีใหม่), ประชา หุตานุวัตร และ รามู มณีวันนัน (สัมภาษณ์), พรรณงาม เง่าธรรมสาร (แปล) (กรุงเทพฯ:สวนเงินมีมา,2547), หน้า43-45, 57-58

(54) ปาริชาติ วลัยเสถียร และคณะ, กระบวนการและเทคนิคในการทำงานของนักพัฒนา (กรุงเทพฯ: โครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.), 2546), หน้า192-240

(55) จามรี เชียงทอง, สังคมวิทยาการพัฒนา, หน้า119-172

(56) ยศ สันตสมบัติ, พลวัตและความยืดหยุ่นของสังคมชาวนา: เศรษฐกิจชุมชนภาคเหนือและการปรับกระบวนทัศน์ว่าด้วยชุมชนในประเทศโลกที่สาม (เชียงใหม่: วิทอินดีไซน์ จำกัด, 2546), หน้า 282-286

(57) โปรดดู Gerard Delanty, Community (London: Roulteledge,2003) หรือ สุริชัย หวันแก้ว, "ชุมชนในสังคมโลก," เอกสารประกอบการสัมมนา "ทฤษฎีสังคมกับการปฏิรูปสังคมและสุขภาพ" วันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2547 ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า3-8, 21-31


 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

อินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียวาหระลาล เนห์รู (ค.ศ.๑๙๔๗-๑๙๖๔) ได้ริเริ่มโครงการขนาดใหญ่คือโครงการเขื่อนภากระ ซึ่งเป็นบริบทที่กล่าวได้ว่าอยู่เบื้องหลังการสร้างเขื่อนในอินเดีย รวมทั้งประเทศโลกที่สามประเทศอื่นๆ มาจากเงินกู้ยืมจากบรรษัทกองทัพสหรัฐอเมริกา, รัฐบาลสหรัฐอเมริกา, ธนาคารโลก, ที่เปิดตลาดการสร้างเขื่อนขึ้นทั่วโลก โดยที่อาจกล่าวเสริมได้ว่า การพัฒนาประเทศอินเดียอยู่ภายใต้วาทกรรมการพัฒนา-ทุนนิยม

31-01-2550