โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 27 January 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๓๘ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ (January, 27,2007)
R

Reforming Thailand
The Midnight University

การปฏิรูปการเมืองไทยโดยภาคประชาชน
ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยพหุอำนาจ
โดย: นพ. ประเวศ วะสี
วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๐

บทความของหมอประเวศ วะสี : (ประกอบการร่างรัฐธรรมนูญ) ประชาธิปไตยพหุอำนาจชิ้นนี้
เป็นการมองย้อนอดีตถึงระบอบการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา
โดยลึกลงไปถึงแก่นความล้มเหลว
ของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้มีฐานรากมาจากชุมชน ท้องถิ่น สังคม
ด้วยเหตุนี้ จึงอ่อนแอและง่ายต่อการที่นักเลือกตั้งทั้งหลายจะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
โดยผ่านการหย่อนบัตรเลือกตั้ง และสร้างประชาธิปไตยแบบกินรวบขึ้น
ทางออกสำหรับปัญหานี้ ได้ถูกนำเสนอเอาไว้อย่างเป็นระบบแล้วในบทความ
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๓๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๙ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไปให้พ้นระบบการเมืองแบบกินรวบ
ในการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่คราวนี้ คนไทยควรจะมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง และต้องไปให้พ้นระบบการเมืองอันเลวร้ายที่ทำให้บ้านเมืองติดขัด บอบช้ำ ขัดแย้ง และรุนแรงมากขึ้นๆ จนอาจถึงขั้นนองเลือดและเกิดมิคสัญญี. ระบบการเมืองอันเลวร้ายเกิดจากความเชื่อและการปฏิบัติผิดๆ ที่ทางพระเรียกว่า "สีลัพพต-ปรามาส" สีลัพพตปรามาสนำไปสู่วิกฤตและความรุนแรง ความเชื่อและปฏิบัติที่ผิดๆ นั้นคือ

(๑) ความเชื่อว่าประชาธิปไตยมีแต่การเลือกตั้งเท่านั้น
(๒) เชื่อว่าประชาธิปไตยมีแต่ประชาธิปไตยระดับชาติเท่านั้น ไม่มีประชาธิปไตยชุมชนท้องถิ่น (Local Democracy)
(๓) ลดทอนการเมืองเหลือเพียง "ทำอย่างไรก็ได้ให้ชนะเลือกตั้งแล้วกินรวบ" คือเอาอำนาจไปหมดเลย
แบบที่เขาเรียกว่า Winner takes all

ระบบที่ว่าทำอย่างไรก็ได้ให้ชนะเลือกตั้งแล้วเอาอำนาจไปหมดเลย มันง่ายเกินไปและยั่วยวนให้คนทำชั่ว ที่ว่าง่ายเกินคือ ไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองว่ามีความดีหรือความสามารถอะไร เพียงแต่มีเงินมากๆ แล้วไปทำทุกรูปแบบให้ชนะเลือกตั้งแล้วกินรวบ เมื่อกินรวบก็ไม่ต้องใช้ความดีความสามารถอะไร แต่ใช้อำนาจครอบงำระบบทั้งหมด แล้วทำชั่วได้ตามอำเภอใจ จึงเกิดความเน่า หนอนชอนไชเต็มบ้านเต็มเมือง

ที่ว่ากินรวบหรือเอาอำนาจไปหมดเลยเพราะ ระบบอำนาจรัฐหรือระบบราชการเป็นอำนาจรวมศูนย์ครอบงำไปทั้งประเทศ การเลือกตั้งจึงเป็นเพียงพิธีกรรม ๒-๓ นาที ผู้ชนะเลือกตั้งเอาอำนาจรัฐไปหมดเลย แต่เมื่ออำนาจรัฐเป็นอำนาจเผด็จการ ประชาธิปไตยก็เลยเป็นประชาธิปไตยทางดิ่ง หรือประชาธิปไตยเผด็จการ ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง และเนื่องจากมีการทุ่มทุนเข้ามายึดอำนาจการเมือง บางคนจึงเรียกว่าเป็น "ธนาธิปไตย" หรือธนกิจการเมือง

เมื่อระบบการเมืองมันง่ายๆ เพียงแต่ให้ชนะเลือกตั้ง จึงเกิดมี "นักเลือกตั้ง" ซึ่งบางคนเรียกว่า "แก๊งเลือกตั้ง" ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่นักการเมือง เพราะนักการเมืองคือผู้ที่ตั้งใจจะทนุบำรุงประเทศ แต่นักเลือกตั้งต้องการชนะเลือกตั้งแล้วเสวยอำนาจ. ที่จริงก็มีนักเลือกตั้งอยู่ประมาณ ๒-๓ พันคนเท่านั้น บางคนก็เป็นคนดี แต่ส่วนใหญ่มีความสุจริตน้อย มีความสามารถน้อย เมื่อชนะเลือกตั้งแล้วเอาอำนาจไปหมดก็ทำงานไม่ได้ผล แต่ทุจริตคอร์รัปชั่นมาก บ้านเมืองก็ติดขัด แล้วก็เกิดปฏิวัติรัฐประหาร ซ้ำซากกันอยู่อย่างนี้

พูดไปแล้ว เป็น"ระบบการเมืองที่มัดตราสังประเทศไทยให้เสือสิงห์กระทิงแรดอีแร้งลงกิน" คือเรามัดบุคคล, องค์กร, สถาบันต่างๆ ให้ทำอะไรไม่ได้ มีแต่นักเลือกตั้งที่เป็นประดุจเสือสิงห์กระทิงแรดอีแร้งเท่านั้น ที่ทำการอยู่ได้ (ต้องขอประทานโทษนักการเมืองที่ดีๆ ด้วยครับ)

ในการออกแบบระบบการเมืองใหม่คราวนี้ นอกเหนือไปจากการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจำเป็นต้องมี เราจะต้องเปิดพื้นที่ทางการเมือง, เปิดพื้นที่ทางสังคม, เปิดพื้นที่ทางปัญญา, เปิดพื้นที่ทางความดีหรือทางคุณภาพอย่างกว้างขวาง ให้ออกไปจากระบบการเมืองแบบกินรวบ ที่มีแต่เสือสิงห์กระทิงแรดและอีแร้งเป็นส่วนใหญ่

ในการที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ คนไทยทั้งประเทศควรจะมีส่วนร่วมคิดร่วมทำ ขอให้ส่งเสริมการระดมความคิด และรับฟังความคิดเห็นกันทั้งประเทศ ถือเป็นการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยไปในตัว ประเด็นต่างๆ มีมากมาย ซึ่งคงจะต้องรวมถึงการหาทางตัดความเกี่ยวโยงระหว่างธนกิจกับการเมืองให้ได้ และป้องกันปราบปรามคอร์รัปชั่นให้ได้อย่างจริงจัง โดยมีระบบและกระบวนการตรวจสอบที่เป็นอิสระ มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และมีบทลงโทษที่รุนแรง ในที่นี้จะกล่าวถึงประเด็นเดียวคือ ระบบการเมืองที่เลิกการกินรวบ

ประชาธิปไตยพหุอำนาจ (เลิกการกินรวบ)
ระบบใดๆ ก็ตามถ้ามีเส้นทางเดี่ยว (single pathway) ถ้าเส้นทางนั้นตีบตันระบบนั้นจะตาย ระบบร่างกายของเราซึ่งเป็นระบบที่ดีที่สุด ไม่ว่าตับ ปอด หัวใจ หรืออวัยวะใดๆ จะไม่ใช้เส้นทางเดี่ยวเป็นอันขาด เพราะจะตายได้ง่าย แต่จะใช้หลายเส้นทางเป็นพหุบท (multiple pathways) เสมอ ถ้าเส้นทางหนึ่งอุดตันก็ยังมีเส้นทางอื่นมาช่วยให้ระบบอยู่ได้

ระบบการเมืองของเราเป็นเส้นทางสายเดี่ยว
คือ การเลือกตั้งแล้วก็กินรวบหมดดังกล่าวแล้ว เมื่อเส้นทางนั้นอุดตัน คือมีการใช้เงินกันมาก ก็อักเสบกันไปทั้งระบบ. ในเมื่อการเลือกตั้งก็ต้องมี ไม่มีไม่ได้ และก็ยังไม่สามารถขจัดอิทธิพลของเงินออกไปได้ การเมืองเรื่องเลือกตั้งจึงเป็นการเมืองที่ไม่บริสุทธิ์และขาดคุณภาพ

ถ้าประชาธิปไตยจะมีแต่การเลือกตั้งอย่างเดียว เราก็จะวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์ จึงควรที่จะคิดถึงประชาธิปไตยพหุอำนาจ คือมีการแตกตัวของอำนาจไปหลายอย่างและหลายระดับ จริงๆ แล้วประชาธิปไตยควรเป็นประชาธิปไตยพหุอำนาจ ไม่ใช่อำนาจเดี่ยว

ประชาธิปไตยพหุอำนาจหรือเลิกการกินรวบ อาจนึกถึงประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

๑. คณะกรรมการอิสระเพื่อการสรรหาแห่งชาติ
เพื่อให้การสรรหาบุคคลไปดำรงตำแหน่งที่สำคัญต่างๆ เช่น กรรมการในองค์กรอิสระ, ผู้ว่าราชการจังหวัด, อธิบดี, ปลัดกระทรวง, เป็นไปอย่างมีคุณภาพ ควรมีคณะกรรมการอิสระเพื่อการสรรหาแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่น่าเชื่อถือ โดยได้มาจากการเสนอชื่อขององค์กรที่เป็นอิสระ เช่น ศาล, มหาวิทยาลัย, องค์กรวิชาชีพสื่อ, ให้มีจำนวนสองเท่าของจำนวนที่ต้องการ แล้วให้วุฒิสภาหรือรัฐสภาออกเสียงลงคะแนนเลือก ไม่ว่าสภาจะลงคะแนนเลือกอย่างไรๆ ก็ควรได้คนที่มีคุณภาพทั้งสิ้น ถ้าองค์กรที่เสนอชื่อเสนอมาได้ดี คณะกรรมการอิสระเพื่อการสรรหาแห่งชาติ ก็จะมีหน้าที่สร้างคุณภาพให้แก่อำนาจทางการเมือง การเมืองไม่ควรมีแต่อำนาจเท่านั้น แต่ต้องมีความดีหรือคุณภาพด้วย

๒. คณะกรรมการอิสระเพื่อการประเมินแห่งชาติ
องค์กรของรัฐทุกชนิดควรได้รับการประเมินที่เชื่อถือได้ ถ้าองค์กรที่ประเมินอยู่ภายใต้ฝ่ายบริหาร ก็จะประเมินได้ไม่จริงจัง หรืออาจถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งผู้ที่รัฐบาลคิดว่าเป็นศัตรู คณะกรรมการอิสระเพื่อการประเมินแห่งชาติ มีที่มาทำนองเดียวกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการสรรหาแห่งชาติ หากองค์กรของรัฐทุกชนิดได้รับการประเมินโดยองค์กรอิสระที่เชื่อถือได้ บ้านเมืองจะดีขึ้นมาก

อนึ่ง พรรคการเมืองเกือบทั้งหมดขาดความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค เพราะมีนายทุนเป็นเจ้าของพรรค ถ้ารัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีประชาธิปไตยภายในพรรค พรรคการเมืองก็ต้องได้รับการตรวจสอบด้วยทั้งโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการประเมินแห่งชาติ พรรคใดไม่มีระบบประชาธิปไตยในพรรคควรถูกยุบ พรรคการเมืองไม่ใช่บริษัทค้าขายส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง ที่ลงทุนเพื่อจะไปแสวงกำไร, แต่เป็นสถาบันสาธารณะที่มีความสำคัญของชาติ

๓. ความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างระบบราชการกับระบบการเมือง
ในปัจจุบันที่อำนาจทางการเมืองครอบงำระบบราชการโดยสิ้นเชิง ทำให้ระบบราชการหมดศักดิ์ศรีและหมดศักยภาพลง เมื่อถูกนักการเมืองบังคับให้คอร์รัปชั่นก็ตกในฐานะลำบากมาก จะไม่ร่วมมือเขาก็ย้าย ถ้าร่วมมือถึงเวลานักการเมืองหนีเอาตัวรอด ข้าราชการก็ตกที่นั่งรับกรรมไป ดังนั้นจึงควรจะจัดความสัมพันธ์ระหว่างระบบราชการและระบบการเมืองใหม่ เช่น

(๑) ในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด, อธิบดี, และปลัดกระทรวง, ให้มีการสรรหาโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการสรรหาแห่งชาติดังกล่าวข้างต้น

(๒) ให้มีวาระในการดำรงตำแหน่งที่แน่นอน เช่น ๔-๕ ปี จะได้ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกรัฐมนตรีปลดหรือย้ายเป็นรายวัน

(๓) มีการแบ่งเส้นความสัมพันธ์ให้ชัดเจนว่า รัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดนโยบาย ข้าราชการเป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบาย รัฐมนตรีต้องไม่มาล้วงลูกในการปฏิบัติ

(๔) ฝ่ายการเมืองสามารถปลดย้ายปลัดกระทรวงได้ ถ้าไม่สามารถปฏิบัติสนองนโยบาย แต่ทั้งนี้ต้องผ่านการประเมินโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการประเมินแห่งชาติที่กล่าวถึงในข้อ ๒

ระบบราชการที่มีอิสระและมีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ จะคานการใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรมของนักการเมืองไปได้มาก การทุจริตคอร์รัปชั่นก็จะทำได้ยากขึ้น

(หมายเหตุ: ในสหรัฐอเมริกา การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เช่น รัฐมนตรี, ผู้พิพากษาศาลสูง, อัครราชทูต, ต้องผ่านการตรวจตราทางสาธารณะอย่างถี่ถ้วน และได้รับการรับรองจากคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา ของเราที่ผ่านมามีการตั้งรัฐมนตรี "ยี้" เยอะ ทำลายขวัญและกำลังใจคนทั้งประเทศ การแต่งตั้งรัฐมนตรีของเราในระบบการเมืองใหม่จะลองบัญญัติให้ต้องได้รับการตรวจสอบทางสาธารณะดูบ้างก็น่าจะดี

๔. องค์การสื่อสารสาธารณะที่เป็นอิสระ
ในสมัยปัจจุบันการสื่อสารเป็นอำนาจที่สำคัญยิ่ง ถ้ามีการสื่อสารที่ทำให้ประชาชนรู้ความจริงอย่างทั่วถึง และประชาชนสื่อสารถึงกันได้ จะเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างก้าวกระโดด และบ้านเมืองจะมีพลังในการแก้ปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงไปได้ ทุกวันนี้พื้นที่ในการสื่อสารปิดสำหรับประชาชน เพราะถูกอำนาจรัฐและอำนาจเงินครอบงำเกือบจะโดยสิ้นเชิง

ควรมีองค์การสื่อสารสาธารณะที่เป็นอิสระ อิสระจากอำนาจรัฐและไม่ต้องพึ่งพาการโฆษณา โดยมีงบประมาณที่ได้มาอย่างแน่นอนและมั่นคง เช่นจากกองทุน หรือภาษีจากธุรกรรมบางอย่าง อยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการที่ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการอิสระเพื่อการสรรหาแห่งชาติตามข้อ ๑

องค์การนี้มีสถานีวิทยุและโทรทัศน์ของตัวเอง ที่กระจายเสียงและแพร่ภาพ ๒๔ ชั่วโมง โดยเป็นข่าว, ความรู้, สาระบันเทิง, และการนำเรื่องดีๆมาเผยแพร่ ทั้งนี้ด้วยความเป็นกลางทางการเมือง อีกทั้งมีเครือข่ายวิทยุชุมชนที่ครอบคลุมหมดทุกตารางนิ้วของประเทศ ที่ประชาชนจะสามารถสื่อสารถึงกันและต่อสาธารณะ วันหนึ่งๆ จะมีการสื่อสารเป็นแสนๆ ชิ้น อาจจะเป็นการร้องเรียนเรื่องเจ้าหน้าที่ของรัฐ, เล่าประสบการณ์, แลกเปลี่ยนเรื่องการทำมาหากิน, หรือความคิดอ่านต่างๆ

การเปิดพื้นที่การสื่อสารสาธารณะอย่างกว้างขวางเช่นนี้ จะทำให้ประเทศออกจากความมืดไปสู่ความสว่าง ซึ่งจะทำให้ความชั่วทำได้ยาก เพราะความชั่วอาศัยความมืดและกลัวความสว่าง. สิ่งเลวร้ายจะลดลง สิ่งดีจะเพิ่มขึ้น การมีการสื่อสารสาธารณะที่ดีจึงเป็นการปฏิวัติประชาธิปไตยที่จะทำให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด

๕. ประชาธิปไตยชุมชน (Community Democracy)
ไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนเป็นไปได้โดยปราศจากประชาธิปไตยของชุมชนท้องถิ่น ตลอดเวลากว่า ๗๐ ปี ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เราสนใจแต่ประชาธิปไตยระดับชาติแล้วก็ล้มลุกคลุกคลานเรื่อยมา เพราะเราไม่คิด มันแต่จะ"สร้างพระเจดีย์จากยอด"

ไม่มีพระเจดีย์องค์ใดสร้างจากยอดได้สำเร็จโดยไม่พังลงมาเสียก่อน พระเจดีย์ต้องสร้างจากฐานฉันใด ประชาธิปไตยก็เช่นเดียวกัน ฐานของประชาธิปไตยคือประชาธิปไตยชุมชนท้องถิ่น ถ้าประชาธิปไตยชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งและมีคุณภาพ จะแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศไปได้เกือบหมด และทำให้ประชาธิปไตยระดับชาติมีคุณภาพ. ในการออกแบบระบบการเมืองใหม่คราวนี้ ต้องทำความเข้าใจและบัญญัติประชาธิปไตยชุมชนท้องถิ่นให้ได้

ประชาธิปไตยระบบชุมชนเป็นประชาธิปไตยที่บริสุทธิ์และมีคุณภาพที่สุด เพราะชุมชนมีขนาดเล็ก เช่น ๕๐๐-๑,๐๐๐ คน สมาชิกของชุมชนมีความเสมอภาคและมีส่วนร่วมโดยตรง ผู้นำชุมชนไม่ได้อาศัยการเลือกตั้ง แต่เป็นผู้นำตามธรรมชาติที่ผุดบังเกิดขึ้นจากกระบวนการทำงานร่วมกัน. ถ้าไม่ผ่านกระบวนการทำงานร่วมกัน แล้วไปเลือกตั้งหรือแต่งตั้งก็มักจะไม่ได้ผู้นำที่แท้ อาจจะได้ตัวปลอม

ผู้นำชุมชนเป็นผู้นำที่แท้มากกว่าผู้นำที่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง เพราะในการทำการใกล้ชิดกันจะปรากฏแก่คนทั้งหมดว่า

(๑) ใครเห็นแก่ส่วนรวม
(๒) ใครซื่อสัตย์สุจริต
(๓) ใครที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด
(๔) ใครที่ติดต่อสื่อสารและจัดการเก่ง
(๕) ใครที่เป็นที่ยอมรับของคนของคนทั้งหมด

ผู้นำชุมชนคือคนที่มีคุณสมบัติทั้ง ๕ ประการข้างต้น จึงมีคุณภาพสูงและทำงานได้คล่องตัวและราบรื่น เพราะเป็นที่ยอมรับของคนทั้งหมด เป็นประชาธิปไตยสมานฉันท์ ไม่แตกแยกเหมือนการเมืองเรื่องเลือกตั้ง. การเมืองเลือกตั้งไปที่ไหนมีการใช้เงินและทำให้แตกแยก ฉะนั้นในชุมชนจึงไม่ควรให้การเลือกตั้งลงไปทำให้คนแตกแยก. ชุมชนมีขนาดเล็กสมาชิกสามารถมีส่วนร่วมได้โดยตรง เป็นประชาธิปไตยโดยตรง ไม่ใช่ประชาธิปไตยตัวแทนซึ่งมีคุณภาพด้อยกว่า

ชุมชนเข้มแข็ง
ชุมชนเข้มแข็งเกิดจากการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ ร่วมทำวิจัยเรื่องของชุมชนเอง, ร่วมทำแผนแม่บทชุมชน, และร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาตามแผนแม่บทชุมชนทำเอง, เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งเศรษฐกิจ-จิตใจ-ครอบครัว-สังคม-วัฒนธรรม-สุขภาพ พร้อมกันไป. ไม่มีทางที่จะรักษาแผ่นดินไว้ได้ถ้าปราศจากความเข้มแข็งของชุมชน

ชุมชนควรมีสิทธิ์
ชุมชนควรมีสิทธิที่เคยมีมาแต่ดั้งเดิมบวกสิทธิใหม่ๆ เช่น สิทธิในการทำมาหากิน, สิทธิในการจัดการการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน, สิทธิในการสื่อสารชุมชน, สิทธิในการมีระบบการเงินชุมชน, สิทธิในการจัดการการศึกษาที่เหมาะกับชุมชน เป็นต้น

ระบบเศรษฐกิจชุมชน
ระบบเศรษฐกิจชุมชนรวมกันเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด. กองทุนสัจจะสะสมทรัพย์ของชุมชนรวมกันจะเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดและมีการจัดการดีที่สุด. เครือข่ายวิทยุชุมชนที่เชื่อมโยงชุมชนทั้งหมด จะเป็นพลังประชาธิปไตยที่ใหญ่และดีที่สุด. มหาวิทยาลัยชีวิตที่เชื่อมโยงการศึกษากับชีวิตจริงของชุมชน จะปฏิรูปการเรียนรู้ของมนุษยชาติที่เอาชีวิตและวิถีชีวิตร่วมกันเป็นตัวตั้ง, เด็กๆ และคนทุกอายุจะไม่ขาดแคลนการศึกษาอีกต่อไป และเป็นการศึกษาที่ดีกว่าในปัจจุบัน

ความยุติธรรมในชุมชน
ความยุติธรรมในชุมชนจะเข้ามาเป็นฐานของระบบความยุติธรรม ซึ่งในปัจจุบัน คนยากคนจน คนชายขอบ คนถูกทอดทิ้ง คนเสียเปรียบ เข้าไม่ถึง

ควรมีสภาผู้นำชุมชน, ระดับตำบล, จังหวัด, และระดับชาติ ทั้งหมดไม่อาศัยการเลือกตั้ง แต่เป็นเวทีติดตามการพัฒนาและเสนอแนะนโยบาย รวมทั้งเสนอการออกกฎหมายเพื่อชุมชนซึ่งต้องทำให้เสนอได้สะดวก และรัฐสภาต้องพิจารณา

ประชาธิปไตยชุมชนจึงเป็นฐานของการเมือง สังคม เศรษฐกิจที่ดีงามขนาดใหญ่ รัฐธรรมนูญใหม่ต้องบัญญัติประชาธิปไตยชุมชน โดยเข้าใจเรื่องชุมชนจริงๆ ผู้นำชุมชนทั่งประเทศควรเคลื่อนไหวเรียกร้องและยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยชุมชน

๖. ประชาธิปไตยท้องถิ่น (Local Democracy)
ขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ประกอบไปด้วย อบต. เทศบาล และอบจ. รวมทั้งประเทศประมาณ ๘,๐๐๐ องค์กร แม้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการทำงานของ อปท.ในระยะแรก ความที่ อปท.ใกล้ชิดกับประชาชนงานขององค์กรเหล่านี้กำลังดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต่างจากราชการและการเมืองส่วนกลาง

มีปัญหาเกี่ยวกับ อปท. ๒ เรื่อง ใหญ่ๆ คือ

- หนึ่ง, รัฐยังครอบงำ อปท.ทำให้ขาดอิสรภาพในการตัดสินใจและการทำงานไม่คล่องตัว
- สอง, อปท. มีขนาดเล็กเกิน ทำให้ขาดพลังทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม

ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่คราวนี้ต้องให้ความสนใจประชาธิปไตยท้องถิ่นอย่างจริงจัง และควรแก้ไขปัญหา ๒ ประการดังกล่าวข้างต้น โดย

(หนึ่ง) กระจายอำนาจให้องค์กรท้องถิ่นสามารถตัดสินใจและดำเนินการเองให้มากที่สุด และ
(สอง) ให้จังหวัดใกล้เคียงที่มีวัฒนธรรมเหมือนกัน รวมตัวรวมตัวเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยจะเรียกว่าเป็นเทศาภิบาล หรือมณฑล หรือชื่ออื่นใดที่เหมาะสมกว่าก็สุดแล้วแต่
(คำว่า เทศบาล หมายถึงดูแลพื้นที่, ส่วนคำว่า"เทศาภิบาล" หมายถึงการดูแลพื้นที่ที่ใหญ่)

กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนอาจรวมกันเรียกว่า"เทศาภิบาลหรือมณฑลล้านนา" มีกลุ่มอีสานบน, อีสานใต้, อีสานกลาง, กลุ่มปัตตานี ยะลา นราธิวาส, กลุ่มศรีวิชัย, กลุ่มทวาราวดี เป็นต้น ประมาณ ๑๔-๑๕ กลุ่ม พยายามเข้าหาวัฒนธรรมหรืออารยธรรมดั้งเดิม เพราะวัฒนธรรมท้องถิ่นมีพลังในการรวมจิตใจผู้คนเข้าด้วยกัน

ให้เทศาภิบาลหรือมณฑลมีระบบบริหารจัดการท้องถิ่นในเรื่องต่างๆ ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและความต้องการของตนเอง ทั้งในเรื่องสังคม, เศรษฐกิจ, การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม, ความปลอดภัย, ซึ่งหมายรวมถึงระบบการศึกษาที่สอดคล้องกับท้องถิ่น รวมทั้งมีการสื่อสารคือ โทรทัศน์และวิทยุของตนเองด้วย

เมื่อท้องถิ่นมีขนาดใหญ่ มีศักดิ์ศรี และมีพลังทางเศรษฐกิจ หน่วยงานต่างๆ เช่น สถาบันการศึกษาและโรงพยาบาลจะได้ยินดีไปขึ้นกับท้องถิ่น ตำรวจก็ควรไปขึ้นกับท้องถิ่น เป็นโอกาสที่จะปรับปรุงระบบตำรวจอย่างสร้างสรรค์ ท้องถิ่นสามารถจัดระบบความปลอดภัยตั้งแต่ระบบชุมชนจนถึงเมืองใหญ่ พิถีพิถันในการคัดเลือกคนเข้าเป็นตำรวจ โดยตั้งอัตราเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการอื่นในระดับเดียวกัน เป็นต้น

ในการมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ ไม่ควรไปรื้อโครงสร้างของ อปท.เดิม แต่ให้ตัวแทนของ อปท.ทั้งหมดในเทศาภิบาลหรือมณฑล รวมตัวกันเป็นสภาท้องถิ่นขนาดใหญ่ และให้สภาท้องถิ่นนี้สรรหาสมุหเทศาภิบาล หรือผู้ว่าการมณฑล, หรือในชื่ออื่นใดของประธานบริหารองค์กรท้องถิ่นขนาดใหญ่นี้

การมีประชาธิปไตยท้องถิ่นขนาดใหญ่ดังกล่าว จะช่วยให้บ้านเมืองมีพลังในการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ลดภาระของรัฐซึ่งขณะนี้ทำไม่ไหว ลดความขัดแย้งระหว่างราชการที่รวมศูนย์กับท้องถิ่น ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้น่าจะยุติลง ใครอยากแยกประเทศในเมื่อได้ทั้งการพัฒนาที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม และประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ และการป้องกันศัตรูจากการอยู่ร่วมกันในพระราชอาณาจักรเดียวกันขนาดใหญ่

อนึ่ง การมีเขตการปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ จะเปิดโอกาสให้มีการสร้างผู้นำทางการเมืองขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ที่อาจมีศักยภาพที่จะไปเป็นนายกรัฐมนตรีได้. ที่ผ่านมาเพราะระบบการเมืองที่คับแคบเราจึงค่อนข้างตีบตันในการมองหาผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี. ในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีจำนวนมาก มาจากผู้ที่เคยเป็นผู้ว่าการรัฐมาก่อน เช่น คาร์เตอร์, เรแกน, คลินตัน, และบุช เป็นต้น

เรื่องประชาธิปไตยท้องถิ่นนี้ ได้ทราบมาว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำริในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๒๔๗๕ แต่หลังจากนั้นไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง คงมีแต่ประชาธิปไตยระดับชาติ ซึ่งล้มลุกคลุกคลานเรื่อยมาดังกล่าวแล้ว

เรื่องประชาธิปไตยท้องถิ่นนี้เป็นความเป็นความตายของประเทศ ขอให้เพื่อนคนไทยพิจารณาอย่างสงบลึกซึ้งรอบคอบ อย่าดูเพียงผิวเผิน องค์กรท้องถิ่นทั้ง ๘,๐๐๐ องค์กร ควรมีส่วนร่วมคิดในเรื่องนี้อย่างเต็มที่

๗. ความเป็นประชาสังคมจะทำให้เศรษฐกิจดี การเมืองดีและศีลธรรมดี
ในสังคมใดที่มีความสัมพันธ์ทางดิ่งคือระหว่างผู้มีอำนาจข้างบน กับผู้ไม่มีอำนาจข้างล่าง เศรษฐกิจจะไม่ดี การเมืองจะไม่ดีและศีลธรรมจะไม่ดี ซึ่งจะไม่มีวันดีตราบที่โครงสร้างของสังคมยังเป็นแนวดิ่ง ไม่ว่าจะรณรงค์เรื่องดีๆ เท่าไรๆ ก็ตาม สังคมไทยมีโครงสร้างแนวดิ่งมาแต่โบราณ ฉะนั้นจึงพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และศีลธรรม ได้ยากมาก

ความเป็นประชาสังคม หมายถึงผู้คนมีความเสมอภาค, มีศักดิ์ศรี, มีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในรูปต่างๆ และในเรื่องต่างๆ เต็มประเทศ สัมพันธภาพแบบนี้เป็นแนวราบเกิดพลังทางสังคม พลังของการเรียนรู้ และพลังของการจัดการสูงมาก ทำให้มีความสุขและความสำเร็จ

ในการยกร่างรัฐธรรมนูญคราวนี้ควรทำความเข้าใจเรื่องประชาสังคมให้ดี และมีข้อบัญญัติที่ส่งเสริมให้เกิดความเป็นประชาสังคมขึ้นโดยรวดเร็ว

๘. การเมืองภาคประชาชน (Popular Democracy)
ในรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. ๒๕๔๐ บัญญัติว่ารัฐต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางนโยบาย ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และมีบทบาทในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ นั่นคือการเมืองภาคประชาชน แต่รัฐบาลที่แล้วไม่ได้ทำ หรือทำตรงข้าม

เมื่อรัฐบาลทำไม่ถูกต้องก็เกือบไม่มีองค์กรใดของรัฐที่สามารถทัดทานได้เลย มีแต่ขบวนการภาคประชาชนเท่านั้นที่พอจะทำงานได้ผลอยู่บ้าง. ประชาธิปไตยใดๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้โดยปราศจากการเมืองของพลเมือง หรือการเมืองภาคประชาชน. รัฐธรรมนูญใหม่ควรบัญญัติความชอบธรรมของการเมืองภาคประชาชนและกลไกในการสนับสนุน

๙. กองทุนส่งเสริมประชาสังคมและการเมืองภาคประชาชน
การสร้างระบบประชาธิปไตยพหุอำนาจที่กล่าวถึงทั้ง ๘ ข้อข้างต้นนั้น ไม่สามารถเกิดและได้ผลดีอย่างทันทีทันใด เพราะต้องการความเข้าใจ การเคลื่อนไหวส่งเสริม และการจัดการ. อันที่จริงรัฐธรรมนูญพ.ศ.๒๕๔๐ ก็มีเรื่องดีๆ อยู่มาก แต่ขาดการพัฒนาการเมืองอย่างต่อเนื่องจึงไม่ได้ผลเท่าที่ควร คราวนี้ควรสร้างกลไกที่จะพัฒนาการเมืองได้อย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนการขับเคลื่อน "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" คือการทำงานทางวิชาการ, การเคลื่อนไหวทางสังคม, และการสนับสนุนโดยอำนาจรัฐ

ควรมีการตั้งกองทุนส่งเสริมประชาสังคมและการเมืองภาคประชาชน โดยเป็นองค์กรอิสระที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณอย่างมั่นคง

สรุป
ขอย้ำว่านี้ไม่ใช่ทั้งหมดของการปฏิรูปการเมือง ไม่ได้กล่าวถึงการแก้ไขปรับปรุงการเมืองระดับชาติตามปรกติ ซึ่งคงจะมีผู้อื่นช่วยกันคิดมากอยู่แล้ว ที่เขียนเรื่องนี้เพราะไม่อยากเห็นเรากลับไปสู่ระบบการเมืองแบบมัดตราสังประเทศไทย ให้เสือสิงห์กระทิงแรดอีแร้งลงกิน. ต้องเปิดพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่ทางสังคม พื้นที่ทางปัญญา และพื้นที่ทางความดีอย่างกว้างขวาง ให้เป็นประชาธิปไตยพหุอำนาจ จึงจะเกิดความสงบสุขในบ้านเมืองได้ และช่วยให้การเมืองระดับชาติดีขึ้นด้วย

ขอฝากเพื่อนคนไทยไว้ช่วยกันพิจารณาดู



คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

เมื่อระบบการเมืองมันง่ายๆ เพียงแต่ให้ชนะเลือกตั้ง จึงเกิดมี "นักเลือกตั้ง" ซึ่งบางคนเรียกว่า "แก๊งเลือกตั้ง" ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่นักการเมือง เพราะนักการเมืองคือผู้ที่ตั้งใจจะทนุบำรุงประเทศ แต่นักเลือกตั้งต้องการชนะเลือกตั้งแล้วเสวยอำนาจ. ที่จริงก็มีนักเลือกตั้งอยู่ประมาณ ๒-๓ พันคนเท่านั้น บางคนก็เป็นคนดี แต่ส่วนใหญ่มีความสุจริตน้อย มีความสามารถน้อย เมื่อชนะเลือกตั้งแล้วเอาอำนาจไปหมดก็ทำงานไม่ได้ผล แต่ทุจริตคอร์รัปชั่นมาก บ้านเมืองก็ติดขัด แล้วก็เกิดปฏิวัติรัฐประหาร ซ้ำซากกันอยู่อย่างนี้ พูดไปแล้ว เป็น"ระบบการเมืองที่มัดตราสังประเทศไทยให้เสือสิงห์กระทิงแรดอีแร้งลงกิน" (ข้อความคัดลอกมาจากบทความ โดย นพ.ประเวศ วะสี)

ระบบที่ว่าทำอย่างไรก็ได้ให้ชนะเลือกตั้งแล้วเอาอำนาจไปหมดเลย มันง่ายเกินไปและยั่วยวนให้คนทำชั่ว ที่ว่าง่ายเกินคือ ไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองว่ามีความดีหรือความสามารถอะไร เพียงแต่มีเงินมากๆ แล้วไปทำทุกรูปแบบให้ชนะเลือกตั้งแล้วกินรวบ เมื่อกินรวบก็ไม่ต้องใช้ความดีความสามารถอะไร แต่ใช้อำนาจครอบงำระบบทั้งหมด แล้วทำชั่วได้ตามอำเภอใจ จึงเกิดความเน่า หนอนชอนไชเต็มบ้านเต็มเมือง (ข้อความคัดลอกจากบทความ - นพ.ประเวศ วะสี)

27-01-2550