Violation & Human Right
The Midnight University
เรื่องของสิทธิ
อำนาจ และกฎหมาย
รายงานจากเทือกเขาบรรทัด
ชาวบ้านยังคงถูกรังแก
เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด
รวบรวมโดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความวิชาการชิ้นนี้
รวบรวมมาจากข้อมูลที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิก
เป็นเรื่องเกี่ยวกับรายงานความเดือดร้อนของชาวบ้านเทอกเขาบรรทัด
เนื่องจากถูกข้าราชการบางส่วนรังแก ยึดที่ทำกิน ตัดฟันต้นไม้ และเผาบ้าน
ดังนั้นจึงมีการรวมตัวกันออกมาชุมนุมเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อน และได้มีการออกแถลงการณ์โดยลำดับ
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอกรณีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของชาวบ้านที่ถูกทางการละเมิด
พร้อมทั้งมีการลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ในเชิงประจักษ์ในท้ายบทความ
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๓๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๑ มกราคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๑.๕ หน้ากระดาษ A4)
รายงานจากเทือกเขาบรรทัด
ชาวบ้านยังคงถูกรังแก
เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด
บทความนี้ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญดังต่อไปนี้
(1). รายงานเหตุการณ์ ชุมชนเทือกเขาบรรทัดมุ่งหน้าปักหลักศาลากลาง จ.ตรัง (คลิกอ่าน)
(2). แถลงการณ์เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ฉบับที่ ๑ (คลิกอ่าน)
(3). แถลงการณ์เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ฉบับที่ ๒ (คลิกอ่าน)
(4). ชุมชนเขาบรรทัดปักหลักค้างคืนศาลากลางตรัง - ผู้ว่าฯอาสาเคลียร์ปัญหา (คลิกอ่าน)
(5). ตัวอย่างครอบครัวสมาชิกเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดที่ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ (คลิกอ่าน)
(6) สรุปสถานการณ์ภาพรวมเหตุการณ์ตามลำดับเวลา (คลิกอ่าน)
เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด
(1) รายงานเหตุการณ์
ชุมชนเทือกเขาบรรทัดมุ่งหน้าปักหลักศาลากลาง จ.ตรัง เพื่อรับประกันการแก้ไขปัญหา
วันนี้ (17 มกราคม 2550) เวลา 12.00 น. เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด
ประกอบไปด้วยสมาชิกผู้มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในบริเวณเทือกเขาบรรทัดตั้งแต่จังหวัด
พัทลุง - นครศรีธรรมราช และตรัง ได้ออกมาร่วมชุมนุม และยื่นหนังสือเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด
เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านต่อ นายอานนท์ มนัสวนิช ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง
ณ ศาลากลางจังหวัดตรัง โดยผ่านไปถึง ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี
และพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ให้แก้ไขปัญหา เนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า
และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ได้ทำการจับกุม ข่มขู่ คุกคาม เผาทำลายทรัพย์สินบ้านเรือน
ตัดฟันต้นยางของชาวบ้าน รวมทั้งขัดขวางการพัฒนาสาธารณูปโภคของชุมชน ในเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดในระหว่างเดือนกรกฎาคม
2549 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยเครือข่ายรักเทือกเขาบรรทัดยืนยันจะชุมนุมจนกว่าข้อเรียกร้องจะบรรลุผล
และมั่นใจว่าปัญหาหนักอกที่เผชิญอยู่ได้รับการแก้ไข
(2) แถลงการณ์เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด
ฉบับที่ ๑
ถึงพี่น้องชาวจังหวัดตรังผู้รักความเป็นธรรมทุกท่าน
พวกเราที่มาร่วมชุมนุมครั้งนี้เป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
พวกเราได้ตั้งบ้านเรือนทำมาหากินบนที่ดินดั้งเดิม ทำสวนสมรม สวนยางพาราสืบเนื่องมาช้านาน
ปัญหาเริ่มต้นขึ้นเมื่อราชการได้ประกาศเขตอนุรักษ์ทับที่ดินของชาวบ้าน โดยประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดใน
พ.ศ. ๒๕๑๘ และประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่าใน พ.ศ. ๒๕๒๕ รวมทั้งการออกมติ
ครม. ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ ตั้งแต่นั้นมาเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้ข่มขู่คุกคาม ขัดขวางการพัฒนาทำให้ได้รับความเดือดร้อนมาโดยตลอด
นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๙ มาจนปัจจุบันเจ้าหน้าที่ของรัฐยิ่งข่มขู่คุกคามพวกเรามากขึ้น คือ
๑. เจ้าหน้าที่ได้จับกุม ข่มขู่ คุกคาม พวกเราไม่สามารถตัดโค่นต้นยางเมื่อยางหมดอายุ ไม่สามารถขอทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ผู้ที่โค่นต้นยางก็ไม่สามารถขายต้นยางได้ บางคนได้รับคำสั่งให้ทำลายหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่บางคนได้ใช้กรณีต่างๆเหล่านี้ เป็นช่องทางในการข่มขู่เรียกเงินจากชาวบ้านโดยทุจริต
๒. เจ้าหน้าที่ได้ทำลายทรัพย์สิน ผู้ที่ปลูกยางใหม่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่และตัดฟันต้นยาง บางคนถูกเจ้าหน้าที่เผาบ้านที่อยู่อาศัย๓. เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีชาวบ้านในเครือข่ายฯ ที่ถูกจับกุมและส่งฟ้องศาลโดยขาดความเป็นธรรม
๔. พวกเราถูกเจ้าหน้าที่ขัดขวางการพัฒนาสาธารณูปโภคของชุมชน เช่น ไม่ยอมให้ดำเนินโครงการติดตั้งแผงโซล่าร์เซล เป็นต้น
พวกเราได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมมายาวนาน ที่ผ่านมาพวกเราอดทนมาโดยตลอด แต่เจ้าหน้าที่ก็กระทำกับพวกเรารุนแรงขึ้นตามลำดับ จนครอบครัวลูกเมียพ่อแม่พี่น้องในเทือกเขาบรรทัดเดือดร้อนทั่วทุกหัวระแหง พวกเราสุดที่จะทนต่อไป จึงต้องลุกขึ้นมาทวงถามศักดิ์ศรีและวิถีชีวิตที่สืบทอดมาแต่ปู่ย่าคืนมา
พวกเรายืนยันที่จะชุมชนเรียกร้องอย่างสงบ และขออภัยหากเกิดความไม่สะดวกกับพี่น้องชาวเมืองตรัง จนกว่าข้อเรียกร้องของพวกเราบรรลุผล และมั่นใจได้ว่าปัญหาหนักอกที่เผชิญอยู่ได้รับการแก้ไข
เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด
๑๗ มกราคม ๒๕๕๐
ประกาศ ณ ศาลากลางจังหวัดตรัง
(3) แถลงการณ์เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด
ฉบับที่ ๒
ถึงพี่น้องคนไทยผู้รักความเป็นธรรมทุกท่าน
การชุมนุมของเราสมาชิกเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด
เนื่องจาก ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ข่มขู่ คุกคาม เผาทำลายทรัพย์สินบ้านเรือน ตัดฟันต้นยางของชาวบ้าน
รวมทั้งขัดขวางการพัฒนาสาธารณูปโภคของชุมชน ทั้งที่ที่ดินแปลงเหล่านั้น เป็นที่ทำกินซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ
มีความชอบธรรมและทำกินโดยสุจริต ทางเครือข่ายฯ ขอให้รัฐบาลได้ทำการตรวจสอบ การดำเนินการของเจ้าหน้าที่
และดำเนินการดังต่อไปนี้
1) ยุติการจับกุม ข่มขู่ คุกคาม
2) ยุติการทำลายทรัพย์สิน เช่น ตัดฟันต้นยาง เผาบ้าน
3) ยุติการดำเนินคดีชาวบ้านในเครือข่ายฯ อย่างขาดความชอบธรรม
4) หยุดขัดขวาง และสนับสนุนการพัฒนาสาธารณูปโภคของชุมชน
5) เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านระยะยาว เครือข่ายฯจึงขอให้ท่านมีคำสั่งยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ เรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นทีป่าไม้
เนื่องจากกระทั่งบัดนี้ ข้อเรียกร้องของเราไม่ได้รับความสนใจที่จะแก้ไข ต่อไปความรุนแรงที่เราได้รับจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แล้วจะให้เรากลับบ้านไปแล้วลูกเมียนอนตาหลับได้อย่างไร ? ปัจจุบันนี้มีผู้ที่เดือดร้อนจำนวน 5 คน ได้ตัดสินใจที่จะปักหลักอย่างถาวรที่หน้าศาลากลางจังหวัดตรัง เพื่อนของเราทั้ง 5 รายเป็นตัวอย่างของปัญหาบางส่วนที่เราประสบอยู่ คือ... การปักหลักต่อสู้ยืดเยื้อของเรา กระทำเพื่อจะได้มีโอกาสบอกเล่าเท่าความเข้าใจกับพี่น้องที่รักความเป็นธรรมทุกท่าน และเพื่อให้ราชการตื่นตัวมาแก้ไขปัญหาตามที่เครือข่ายฯเสนอ เพราะนี่คือทางออกที่ดีที่สุด
จึงขอเชิญชวนพี่น้องทุกท่านไปแลกเปลี่ยนพูดคุย ให้กำลัง และร่วมกันต่อสู้ ที่หน้าศาลากลางจังหวัดตรังตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพราะนี่คือรูปธรรมของการปฏิรูปการเมืองภาคประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยที่กินได้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสังคมอย่างแท้จริง
ต่อความความอยุติธรรมตรงหน้า พวกเราจะทำอย่างไรได้ นอกจากร่วมยืนหยัดต่อสู้จนกว่าจะได้ชัยชนะ
เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด
๑๗ มกราคม ๒๕๕๐
ประกาศ ณ ศาลากลางจังหวัดตรัง
(4) ชุมชนเขาบรรทัดปักหลักค้างคืนศาลากลางตรัง
- ผู้ว่าฯอาสาเคลียร์ปัญหา
วันนี้ (17 มกราคม 2550) เวลา 13.00 น. เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด
ประกอบไปด้วยสมาชิกผู้มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในบริเวณเทือกเขาบรรทัดตั้งแต่จังหวัด
พัทลุง - นครศรีธรรมราช และตรัง กว่า 500 คนได้ออกมาร่วมชุมนุมเพื่อยื่นหนังสือและหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน
โดยเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดได้ยื่นหนังสือดังกล่าว ต่อ นายอานนท์
มนัสวนิช ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ณ ศาลากลางจังหวัดตรัง เพื่อผ่านไปถึง ฯพณฯ
พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
ให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน
เนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ได้จับกุม ข่มขู่ คุกคาม ชาวบ้านจนไม่สามารถตัดโค่นต้นยางเมื่อยางหมดอายุ ไม่สามารถขอทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ผู้ที่โค่นต้นยางก็ไม่สามารถขายต้นยางได้ บางคนได้รับคำสั่งให้ทำลายหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่บางคนยังใช้ความเดือดร้อนนี้เป็นช่องทางในการข่มขู่เรียกเงินจากชาวบ้านโดยทุจริต รวมทั้งเจ้าหน้าที่ได้ทำลายทรัพย์สิน ผู้ที่ปลูกยางใหม่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่และตัดฟันต้นยาง บางคนถูกเจ้าหน้าที่เผาบ้านที่อยู่อาศัย
ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าหน้าที่ได้มีการดำเนินคดีชาวบ้านในเครือข่ายฯ ด้วยการจับกุมและส่งฟ้องศาลโดยขาดความเป็นธรรม และถูกเจ้าหน้าที่ขัดขวางการพัฒนาสาธารณูปโภคของชุมชน เช่น ไม่ยอมให้ดำเนินโครงการติดตั้งแผงโซล่าร์เซล เป็นต้น ซึ่งในเวลา 14.30 น. นายอานนท์ มนัสวนิช ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้ออกมารับหนังสือทั้ง 3 ฉบับ พร้อมทั้งกล่าวว่า ปัญหานี้ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ โดยตรง แต่ยินดีจะรับจดหมายเพื่อทำเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรี และประธาน คมช. รวมทั้งจะยื่นเรื่องไปยัง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพรรณพืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจโดยตรง เพื่อมาประชุมหาทางออกร่วมกันและจะชวนตัวแทนเครือข่ายฯ เข้าร่วมประชุมด้วย
เครือข่ายฯ ได้มีมติและข้อสรุปหลังจากได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ ว่าจะยืนยันปักหลักชุมนุมอย่างสงบ ณ ศาลากลางจังหวัดตรัง จนกว่าการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายจะบรรลุผล และมั่นใจว่าปัญหาหนักอกที่เผชิญอยู่ได้รับการแก้ไข...
ติดต่อเพิ่มเติม บุญ แซ่จุ่ง
081-272-9851
สินธุ แก้วสินธุ์ 083-174-7719
+++++++++++++++++++++++++++
(5) ตัวอย่างครอบครัวสมาชิกเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดที่ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ
1. กรณี นายเสิด แท่นมาก
มีหนังสือจากอุทยานเขาปู่เขาย่า ให้ชำระหนี้ 1,434,575 บาท
นายเสิด แท่นมาก อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 68 หมู่ที่ 1 ตำบลนาหมื่นศรี
อำเภอนาโยง จังหวัด อาชีพเกษตรกรทำสวนยางพาราในที่ดินทำกิน 1 แปลง มีเนื้อที่ประมาณ
30 ไร่ ตั้งอยู่ หมู่ที่ 9 ตำบลละมอ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ได้รับมรดกมาจากบิดา
เมื่อปี 2513 มีสภาพเป็นสวนยางพารา และสวนผลไม้ ซึ่งต้นยางพาราพื้นเมืองมีอายุร่วม
50 ปี จนเมื่อต้นปี 2547 นายเสิด แท่นมากได้ทำการโค่นยางที่หมดสภาพเพื่อปลูกใหม่ทดแทน
และเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 47 เจ้าหน้าที่อุทยานเขาปู่เขาย่าได้ประกาศตรวจยึดที่ดินของนาย
เสิด แท่นมาก จำนวน 9-2-25 ไร่ และแจ้งความดำเนินคดีกับนายเสิด แท่นมาก ในข้อหาบุกรุกแผ้วถางป่าในเขตอุทยานฯ
นายเสิด แท่นมาก ได้รวบรวมหลักฐานและไปให้การกับพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ จนเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 49 พนักงานอัยการมี คำสั่งไม่ฟ้อง นายเสิด แท่นมาก ต่อมาวันที่ 31 ก.ค 2549 ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 จังหวัดสงขลา ได้มีหนังสือให้นายเสิดไปชำระเงินเป็นค่าเสียหาย จำนวน 1,434,575 บาท และหากไม่ไปชำระเงินดังกล่าวทางกรมอุทยานฯ จะฟ้องร้องจนถึงที่สุด
2. กรณีนายประเทือง-นางเจียร
บำรุง
ที่ถูกรื้อถอนผลอาสิน (สวนสมรม)
นางเจียร บำรุง อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 93 หมู่ที่ 1 ต.ท่างิ้ว อ.ห้วยยอด
จ.ตรัง มีอาชีพรับจ้างกรีดยาง มีสวนสมรมแต่ปัจจุบันไม่ได้ให้ผลผลิต สมรสกับนายประเทือง
บำรุง อายุ 67 ปี. นางเจียร ไม่มีรายได้จากที่ดินทำกิน จึงต้องช่วยนายประเทือง
รับจ้างกรีดยาง แต่ก็ทำงานหนักไม่ได้ เพราะกำลังป่วยเป็นโรคหัวใจ มีรายได้จากการรับจ้าง
ปีละ 40,000 บาท หรือเดือนละประมาณ 3,000 บาท
นางเจียรและครอบครัวมีที่ดินทำกิน
2 แปลง ดังนี้
แปลงที่ 1. แปลงที่ถูกรื้อถอนผลอาสิน เป็นที่ดินทำกิน(สวนสมรม) และที่อยู่อาศัย
มีเนื้อที่ 4 ไร่ อาณาเขตที่ดิน ทิศตะวันออกจดที่ดินของนายณรง หนูทอง, ทิศเหนือจดที่ดินของนายนิกร
หนูทอง, ทิศใต้จดสายน้ำ, ทิศตะวันตกจดที่ดินของนางอุษา แพ่งโยธา, โดยได้ซื้อที่ดินผืนนี้ต่อจากนายกระจ่าง
จิตรอักษร เมื่อปี พ.ศ. 2532. สำหรับประวัติที่ดิน นายกระจ่างได้บุกเบิกที่ดินเมื่อปี
พ.ศ.2505 ขณะขายที่ดินให้นางเจียร โดยที่ดินดังกล่าวมีผลไม้ เช่น เงาะ ทุเรียน
เป็นต้น ต่อมานางเจียรได้ปลูกต้นยางพันธุ์ดี และผลไม้เพิ่มเติม
ต่อมาปี พ.ศ. 2538 นางเจียรได้ปลูกสร้างที่พักพร้อมกับย้ายเข้ามาอาศัยในที่ดินผืนดังกล่าว เนื่องจากเจ้าหน้าที่เวนคือที่ดินเดิมเพื่อนำไปสร้างเขื่อนท่างิ้ว มีสิทธิทำกิน ภ.บ.ท. 5 ปัจจุบันมีผลอาสิน ดังนี้ ยางพันธุ์ดี 350 ต้น, ทุเรียน 16 ต้น, เงาะ 5 ต้น, หมาก 30 ต้น, สะตอ 10 ต้น, มะม่วง 2 ต้น, ละมุด 5 ต้น, กล้วย 2 ต้น และเนียง 4 ต้น
แปลงที่ 2. เป็นที่ดินทำสวนยางพารา มีเนื้อที่ 20 ไร่ ซื้อที่ดินต่อจากนายย่อง เมื่อปี พ.ศ.2535 ขณะซื้อที่ดินมียางพาราเป็นผลอาสินประมาณ 4 ไร่ ต่อมาได้ปลูกยางพันธุ์ดีเพิ่มจนเต็มพื้นที่ นางเจียรไม่มีรายได้จากที่ดินแปลงนี้ เนื่องจากได้แบ่งให้ลูก 3 คนกรีดยาง และลูกไม่ได้แบ่งรายได้ให้แต่อย่างใด สำหรับสิทธิทำกิน คือ ภ.บ.ท.5 ยังเป็นของนางเจียร ไม่ได้โอนสิทธิทำกินให้ลูก
ขั้นตอนและวิธีการจับกุม
- ก.พ. 2549 มีการนำหนังสือระบุคำสั่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า แจ้งให้ทำลายหรือรื้อถอนผลอาสิน มาติดที่ต้นเนียงบริเวณบ้านนางเจียร
- 14 มี.ค. 2549 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ประมาณ 100 นาย นั่งรถกะบะจำนวน 5 คัน รถ 6 ล้อ 1 คัน มาที่บ้านนางเจียร ขณะที่นางกำลังนอนหลับ หลังจากรู้ว่าเจ้าหน้าที่จะรื้อถอนผลอาสิน ได้ขอร้องให้เจ้าหน้าที่ผ่อนผันไว้ก่อน เนื่องจากที่ดินแปลงนี้มีการบุกเบิกก่อนประกาศเขตอุทยาน และตนกับสามีก็มีอายุมากแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่รับฟัง รีบทำการรื้อถอนต้นไม้ประมาณ 100 ต้น พร้อมทำการปลูกใหม่
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นางเจียร ซึ่งป่วยเป็นโรคหัวใจ ขวัญเสีย เป็นลม นอนละเมอทั้งคืน เนื่องจากภาพที่เจ้าหน้าที่ทำการฟันสวนสมรมที่นางได้ทำการปลูก และเก็บเกี่ยวผลผลิตมากินยังคงติดตา หลังจากวันนั้น เจ้าหน้าที่อุทยานได้พูดกับชาวบ้านรายอื่นว่า "ถ้านางเจียรจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ ก็ไม่ถูกฟันต้นยาง"
3. กรณีนายประพันธ์ ทองไทย
ถูกส่งหนังสือยึดและสั่งรื้อทำลายสวนยาง หลังจากอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีบุกรุกที่ดินในเขตป่า
นายประพันธ์ ทองไทย อายุ 37 ปี อยู่บ้านเลขที่ 265 ม.3 ต.หนองปรือ อ.รัษฎา จ.ตรัง
มีอาชีพทำสวน(แต่ยังไม่มีรายได้จากสวน เนื่องจากอยู่ระหว่างรอให้ยางพันธุ์ดีเติบโตพร้อมกรีด)
และรับจ้างกรีดยาง รายได้เดือนละประมาณ 5,000 บาท และเก็บผลไม้และผักในป่ามากิน
เช่น ลูกหว้า หมากเหมก นอกจากนั้นของป่า(เช่น ลูกประ หอยโล่) นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์การรักษาโดยใช้ยาสมุนไพร
เช่น นำน้ำผึ้งมาเป็นส่วนผสมของยาเกือบทุกชนิด แม้แต่แผลถลอกก็ใช้น้ำผึ้งทา ยี่หร่ารักษาแผลสด
เป็นต้น
ประพันธ์มีที่ดินทำกิน 1 แปลง เนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา เป็นสวนยางพาราพันธุ์ดี มีสิทธิทำกิน คือ ภ.บ.ท. 5 ที่ดินแปลงดังกล่าวได้ส่งมอบสืบต่อกันมาหลายชั่วคน. ประพันธ์ ได้รับที่ดินจากนายสม ซึ่งเป็นน้า เมื่อ พ.ศ.2543 สภาพที่ดินขณะที่ได้รับเป็นสวนยางพาราพร้อมกรีด อายุประมาณ 2 ปี พร้อมทั้งขนุน สะตอ หมาก ปัจจุบันต้นขนุน สะตอ หมาก มีอายุ 49 ปี นายประพันธ์ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตจากสวนยางแปลงดังกล่าวระยะหนึ่ง ต่อมาได้โค่นยางเสื่อมโทรม เพื่อปลูกยางพันธุ์ดีทดแทน
ประวัติที่ดิน
นายสม ซื้อที่ดินจากนายประทวน กิ้มจู ซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน เมื่อประมาณปี พ.ศ.
2530 สภาพที่ดินขณะที่ซื้อเป็นสวนยางพาราพร้อมกรีด นายสมได้เก็บเกี่ยวผลผลิตอยู่ระยะหนึ่ง
จึงขายที่ดินให้นายประพันธ์
ก่อนหน้านั้น นายประทวน ได้ซื้อที่ดินต่อจากนางลบ จุลละเอียด ซึ่งนายประทวนมีความสัมพันธ์เป็นหลานเขย เมื่อ พ.ศ. 2505 สภาพที่ดินขณะที่ซื้อเป็นสวนสมรม มียางพาราพื้นเมือง และผลไม้ นายประทวนได้เก็บเกี่ยวผลผลิตอยู่ระยะหนึ่ง จึงขายที่ดินให้นายสม
นางลบ ได้รับที่ดินเป็นมรดกจากบิดา สภาพที่ดินขณะที่ซื้อเป็นสวนสมรม มียางพาราพื้นเมือง และผลไม้ นางลบ เก็บเกี่ยวผลผลิตจากสวนยางมาระยะเวลาหนึ่ง จึงขายให้นายประทวน
บิดาของนางลบ คือนายม่อน ได้บุกเบิกที่ดินแปลงดังกล่าวก่อน พ.ศ. 2500 แล้วปลูกข้าวไร่ ผักพื้นบ้าน เช่น มะเขือ พริก ตลอดจนหมาก ขนุน และสะตอ ซึ่งต้นหมาก ขนุน และสะตอ ได้สืบทอดมาจนถึงนายประพันธ์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในปัจจุบัน
สรุป
ที่ดินแปลงดังกล่าวได้บุกเบิกก่อน พ.ศ. 2500 และส่งมอบโดยประเพณีและการซื้อขายมา
4 ทอด ได้แก่ นางลบ, นายประทวน, นายสม, และนายประพันธ์ เป็นเจ้าของที่ดินรายปัจจุบัน
ปัญหาข้อพิพาทกับอุทยาน
วันที่ 11 สิงหาคม 2546 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ได้เข้ามาตรวจยึดแปลงยางพาราของนายประพันธ์
หลังจากนั้นได้แจ้งความดำเนินคดีต่อสถานีตำรวจภูธรอำเภอ (สภ.อ.)รัษฎา เมื่อวันที่
14 สิงหาคม 2546 ผลการดำเนินคดีปรากฏว่าอัยการสั่งไม่ฟ้องนายประพันธ์ อัยการได้ส่งหนังสือระบุไม่สั่งฟ้อง
ถึง สภ.อ.รัษฎา ลงวันที่ 8 กันยายน 2547
ต่อมา สภ.อ.รัษฎา ได้ส่งหนังสือรายงานคดีนายประพันธ์ ถึงหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2548 ระบุว่า "บัดนี้คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดย พนักงานอัยการได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา...."
หลังจากนั้น หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ได้ส่งหนังสือถึงสำนักงานอัยการจังหวัดตรัง ขอทราบคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องอาญาต่อนายประพันธ์ ต่อมาสำนักงานอัยการจังหวัดตรัง ได้ส่งหนังสือถึงหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า โดยระบุคำสั่งไม่ฟ้องนายประพันธ์ ลงวันที่ 6 กันยายน 2548 โดยระบุคำวินิจฉัยว่า "พิจารณาแล้ว...ที่ดินแปลงที่เกิดเหตุมีการครอบครองทำประโยชน์มากว่า 40 ปี มีการโอนต่อๆ กันมาหลายทอดจนถึงมือผู้ต้องหานี้ ผู้ที่ครอบครองมาก่อนเคยเสียภาษีที่ดินแล้ว ผู้ต้องหารับโอนมาในสภาพที่มีสวนยางพารา ไม่มีร่องรอยป่าหลงเหลือ ต่อมาได้โค่นต้นยางพาราเพื่อเตรียมปลูกยางพาราใหม่ ที่ดินใกล้เคียงติดกันรอบด้านก็เป็นสวนยางพารา ผู้ต้องหาไม่ทราบว่าที่เกิดเหตุเป็นอุทยาน จึงขาดเจตนาในการกระทำผิด....จึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง...นายประพันธ์ ทองไทย"
ต่อมา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ได้ส่งหนังสือแจ้งผลการดำเนินคดี ถึงนายประพันธ์ ลงวันที่ 13 มกราคม 2549 และระบุให้ออกไปจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ด้วยข้อหายึดถือหรือครอบครองที่ดิน รวมตลอดถึงก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า เก็บหา นำออกไป ทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตราย หรือทำให้ป่าเสื่อมสภาพฯ
นายประพันธ์ รู้สึกกังวลและกังขาที่ถูกอุทยานฯ สั่งยึดที่ดินผืนดังกล่าว เนื่องจากขัดแย้งกับคำสั่งไม่ฟ้องของสำนักอัยการจังหวัดตรัง
- 20 เม.ย. 2549 ทางเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ได้ร่วมกับชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัด ตรัง ยื่นเสนอปัญหาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแก้ไข ผู้ว่ารับเรื่องและตอบเสนอในเชิงหลักการ พร้อมทั้งจะดำเนินการภายใน 30 วัน
- 6 มิ.ย. 2549 ตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดและชมรมฯ ได้ประชุมร่วมกับทางผู้ว่าฯเพื่อติดตามและกำหนดแนวทางแก้ไข. ที่ประชุมโดยท่านผู้ว่าฯ ได้เสนอให้นำปัญหา ไปคุยในระดับอำเภอ โดยให้นายอำเภอเป็นประธาน พร้อมทั้งเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยให้องค์กรชุมชนเสนอแผนการแก้ไขปัญหามายังอำเภอเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม โดยทางผู้ว่าฯ จะอนุมัติงบ ซีอีโอ. สนับสนุน
- มิ.ย. 2549 เจ้าหน้าที่อุทยานได้ปักป้ายยึดแปลงยาง แจ้งดำเนินคดี
- ก.ค. 2549 เจ้าหน้าที่อุทยานมีหนังสือแจ้งให้รื้อถอนผลอาสินภายในวันที่ 10 ส.ค. 2549
- ส.ค.-ก.ย.2549 องค์กรชุมชนบ้านน้ำปลิว ตำบลหนองปรือ อำเภอรัษฎา ได้เสนอแผนการจัดการทรัพยากรขององค์กรชุมชนฯ เพื่อแก้ไขปัญหา และผลักดันปัญหาของนายประพันธ์ ทองไทย ว่าเป็นปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของครอบครัว ชุมชน. นายอำเภอจึงนำปัญหาของนายประพันธ์เข้าที่ประชุม หน่วยงานความมั่นคงของอำเภอ และมีมติให้ทางอุทยานฯ ยุติการรื้อทำลายต้นยางของนายประพันธ์ แต่ทางอุทยานฯ ยังมีหนังสือแจ้งให้ทำลายหลังมีมติ
- 18 ธ.ค. 2549 นายประพันธ์ ทองไทย ได้เข้าเจรจากับทางอำเภอ เนื่องจากรับทราบว่า เจ้าหน้าที่จะรื้อทำลายในวันที่ 19 ธ.ค. 2549. ทางอำเภอได้โทรศัพท์เจรจากับทางอุทยานฯ ให้ยุติการทำลาย ทางอุทยานฯ ต่อรองขอทำลายจำนวน 1 ต่อ 4, ทางอำเภอคล้อยตาม แต่นายประพันธ์ไม่ยอม
- 19 ธ.ค. 2549 สมาชิกเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ได้ไปชุมนุมปกป้องการทำลายต้นยางของนายประพันธ์ ณ แปลงยางนายประพันธ์ ทางเจ้าหน้าที่เห็นดังนั้นจึงพากำลังที่จะมาทำลาย เลี่ยงไปที่อื่น ทราบภายหลังว่าไปฟันทำลายต้นยาง ของชาวบ้านรายอื่น
4. กรณีนางปรีดา วรรณเดช
ผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีโดนเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดเผาบ้าน
นางปรีดา วรรณเดช อายุ 37 ปี ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ต้องอาศัยชั่วคราวอยู่บ้านพี่สาว
(นางอารีย์ มุดม่วง) อาชีพมาจากการกรีดยางพันธุ์ดั้งเดิม 130 ต้น ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ถูกเผาบ้าน
ส่วนรายได้อื่น ๆ มาจากการขายของชำ ณ บ้านพี่สาว(นางอารีย์ มุดม่วง) เพราะบ้านตัวเองถูกเผาเลยยังไม่มีที่อยู่อาศัยของตัวเอง
มีที่ดินในพื้นที่ที่ถูกเผาบ้าน 20 ไร่โดยซื้อมาจากนายปาน ช่วยชู ในราคา 15,000
บาท. ส่วนอีก 10 ไร่เป็นที่ดินทำกินที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากพ่อ-แม่(นายวุ่น-นางแคล้ว
จิตรบุญ) ที่ดินแปลงนี้เป็นสวนยางพาราดั้งเดิมซึ่งมีอายุประมาณ 50 ปี วัดวงรอบได้ประมาณ
100 เซนติเมตร เจ้าของเดิมชื่อนายปาน ช่วยชู(อายุถึงปี พ.ศ. 2549 มากกว่า 100
ปี ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)
ก่อนการเผาบ้าน
นางปรีดา วรรณเดช และสามี ได้เข้าไปประกอบอาชีพในที่ดินดังกล่าวเมื่อปี 2525
หลังจากนั้นเมื่อสามีเสียชีวิต นางปรีดา วรรณเดชจึงย้ายจากบ้านเดิมซึ่งปลูกสร้างไว้ในพื้นที่มรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ
ซึ่งเป็นเพียงบ้านไม้ชั้นเดียวทำด้วยลวดไม้(ขนำ) กั้นฝาด้วยไม้ไผ่ มุงหลังคาจาก
ต่อมาชาวบ้านเห็นว่าบ้านดังกล่าวผุพัง และไม่สามารถจะอยู่อาศัยต่อไปได้ จึงช่วยกันลงแรงสร้างบ้านหลังใหม่เป็นบ้านไม้ยกพื้นสูงให้
ในพื้นที่ 20 ไร่ซึ่งซื้อมาจากนายปาน ช่วยชู โดยไม่คิดค่าจ้างใดๆ
แต่พอสร้างเสร็จ ในวันที่ 30 สิงหาคม 2548 เวลาประมาณ 15.00 น. เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ เทือกเขาบรรทัด ได้เข้าไปในพื้นที่และเผาทำลายที่อยู่อาศัย โดยเจ้าของบ้านไม่ได้อยู่ที่บ้านแต่ไปประกอบอาชีพขายของชำ ณ บ้านนางอารีย์ มุดม่วง ซึ่งเป็นพี่สาวของตน
การกระทำของเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์ฯ เทือกเขาบรรทัด ถือเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจเป็นอย่างยิ่ง โดยถือว่าเจ้าของอาสินเป็นเพียงหญิงหม้าย สามีตายคงไม่มีปัญหาอะไร ตอนนี้นางปรีดา วรรณเดชได้อาศัยอยู่บ้านพี่สาว แต่ต่อมาพี่สาวกำลังจะย้ายเข้าไปอยู่ ก็เลยต้องหาแนวทางสร้างที่อยู่อาศัยหลังใหม่ให้นางปรีดา วรรณเดชและครอบครัวอย่างเร่งด่วน จึงขอให้ทางหน่วยงานราชการแสดงความรับผิดชอบ และรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาในสิ่งที่กระทำลงไป...
(6) สรุปสถานการณ์ภาพรวม
เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด
- พ.ศ. ๒๕๑๘ ราชการได้ประกาศเขตอนุรักษ์ทับที่ดินของชาวบ้าน โดยประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด
- พ.ศ. ๒๕๒๕ การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า
- ๓๐ มิ.ย ๒๕๔๑ ออกมติ ครม. แนวทางการแก้ไขปัญหาป่าไม้ ตั้งแต่นั้นมาเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้ข่มขู่คุกคาม ขัดขวางการพัฒนาทำให้ได้รับความเดือดร้อนมาโดยตลอด
- พ.ศ. ๒๕๔๓ มีการเคลื่อนไหวชุมนุมของชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ลงมาแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ทั้งนี้รัฐบาลนายชวนได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด โดยมีแนวทางในการเดินแนวเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้พ้นจากพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน รวมทั้งได้ทำข้อตกลงและลงนามร่วมกันไว้
- พ.ศ ๒๕๔๔ ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องร่วมกับสมัชชาคนจน จนกระทั่งวันที่ ๓ เม.ย ๒๕๔๔ รัฐบาลได้มีมติเห็นชอบให้ผ่อนผันราษฎรสามารถอยู่อาศัยทำกินได้ตามวิถีชีวิตปกติ และพัฒนาสาธารณูปโภคในพื้นที่ได้ โดยไม่มีการจับกุมคุกคามหรือโยกย้ายราษฎร รวมทั้งมีการแต่งตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาป่าไม้ภาคใต้ เพื่อทำงานพิสูจน์สิทธ์การครอบครองที่ดินโดยมีตัวแทนสมัชชาคนจนและตัวแทนรัฐในสัดส่วนที่เท่ากัน
- พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้มีการปฎิรูประบบราชการ โดยมีการโยกย้ายปัญหาป่าไม้ที่ดินของสมัชชาคนจน ไปอยู่ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ได้ส่งผลให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินถูกยกเลิกไป
เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้มีการจับกุมชาวบ้านในพื้นที่
- พ.ศ. ๒๕๔๖ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ได้เริ่มเดินแนวเขตป่าอนุรักษ์อีกครั้ง โดยมีการปักแนวเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์เข้าไปในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ในบางพื้นที่ได้มีการล้อมรั้วลวดหนาม รวมทั้งมีการข่มขู่ คุกคาม จับกุมชาวบ้านในพื้นที่
- พ.ศ. ๒๕๔๗ - ๒๕๔๘ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ยังคงจับกุม ข่มขู่ คุกคาม และห้ามไม่ให้ชาวบ้านในพื้นที่ตัดโค่นสวนยางและทำกินในพื้นที่ของตนเอง
ชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมตัวกันชุมนุมเรียกร้องกันในพื้นที่ต่างๆ หลายครั้ง รวมทั้งมีการร่วมกันผลักดันพรบ.ป่าชุมชนฉบับประชาชน แต่ในพื้นที่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด
- พ.ศ. ๒๕๔๙ - ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้คุกคามชาวบ้านในพื้นที่หนักขึ้น โดยในบางพื้นที่ได้มีการทำลายทรัพย์สิน ตัดโค่นสวนยาง และเผาบ้านเรือนของชาวบ้าน รวมทั้งมีการฟ้องร้องคดีแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายจากชาวบ้าน ชาวบ้านจึงได้มีการรวมตัวชุมนุมเรียกร้องระดับจังหวัดและระดับชาติ แต่การข่มขู่คุกคาม จับกุม ในระดับพื้นที่ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
เทือกเขาบรรทัด ชาวบ้านยังถูกรังแก
เนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า
และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ได้จับกุม ข่มขู่ คุกคาม ชาวบ้านจนไม่สามารถตัดโค่นต้นยางเมื่อยางหมดอายุ
ไม่สามารถขอทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ผู้ที่โค่นต้นยางก็ไม่สามารถขายต้นยางได้
บางคนได้รับคำสั่งให้ทำลายหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติ
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่บางคนยังใช้ความเดือดร้อนนี้เป็นช่องทางในการข่มขู่เรียกเงินจากชาวบ้านโดยทุจริต
รวมทั้งเจ้าหน้าที่ได้ทำลายทรัพย์สิน ผู้ที่ปลูกยางใหม่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่และตัดฟันต้นยาง
บางคนถูกเจ้าหน้าที่เผาบ้านที่อยู่อาศัย