FTA: Thailand & Japan
The Midnight University
ข้อพิจารณาแนวทางเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่
FTA
ไทย-ญี่ปุ่น: เรื่องของสัตว์ประหลาด Godzilla ตายยาก
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน
รวบรวมโดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความวิชาการชิ้นนี้
รวบรวมมาจากข้อมูลที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิก
เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อพิจารณาในการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-ญี่ปุ่น
โดยมีการเสนอว่า การเจรจาตกลงทวิภาคีดังกล่าว ต้องผ่านการประชาพิจารณ์
นอกจากนี้กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรฯ ยังเสนอให้มีการร่างกฎหมายการเจรจา
เอฟทีเอ.ด้วย
พร้อมทั้งให้มีการกำหนดให้มีมาตราต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรณีข้างต้น
ตราไว้ในบทบัญญัติแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๓๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๐ มกราคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๔.๕ หน้ากระดาษ A4)
FTA ไทย-ญี่ปุ่น
- เรื่องของสัตว์ประหลาด Godzilla ตายยาก
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน - กองบรรณาธิการ
ม.เที่ยงคืน : รวบรวม
บทความนี้ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญดังต่อไปนี้
1. FTA Watch เตือนรัฐบาล อย่าหลงกลรับมรดกบาป
ควรตั้งต้นพิจารณาเนื้อหาเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่นใหม่ทั้งฉบับ (คลิกอ่าน)2. ข้อเสนอต่อการมีกฎหมายกำกับการเจรจาและการจัดทำความตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และการร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องของกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) (คลิกอ่าน)
3. สร้างหลักประกันให้ประชาชนผ่านกฎหมายการเจรจา FTA ไทย-ญี่ปุ่น
สิ่งที่ต้องกล้าทบทวน (คลิกอ่าน)4. แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ TDRI กรณี FTA ไทย-ญี่ปุ่น (คลิกอ่าน)
ย้อนอดีต - ความเป็นมา (คลิก)
1. FTA Watch เตือนรัฐบาล
อย่าหลงกลรับมรดกบาป
ควรตั้งต้นพิจารณาเนื้อหาเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่นใหม่ทั้งฉบับ
ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ
โดยนายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หัวหน้าคณะเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น
(JTEPA) ชี้แจงว่า กระทรวงการต่างประเทศจะเสนอร่างความตกลง JTEPA ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเท่านั้นว่า
การเจรจายกร่างความตกลงได้เสร็จสิ้นแล้ว ตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว(รัฐบาลทักษิณ-พรรคไทยรักไทย)
ดังนั้น เพื่อความรอบคอบโปร่งใส กระทรวงการต่างประเทศจึงเสนอให้คณะรัฐมนตรี(รัฐบาลสุรยุทธ์
- รัฐบาลชั่วคราวหลังรัฐประหาร 19กันยา)รับทราบเพิ่มเติมว่า จะมีการทำประชาพิจารณ์ใหญ่โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันศุกร์ที่
22 ธันวาคม 2549 จะมีการถ่ายทอดทั้งโทรทัศน์และวิทยุทั่วประเทศ เพื่อฟังเสียงประชาชน
และกระทรวงการต่างประเทศยังเสนอให้คณะรัฐมนตรีนำร่างความตกลงฯ ไปเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติถกแถลง
อภิปราย ให้ข้อคิดเห็นในเดือนมกราคมศกหน้าว่า สมควรมีการลงนามทั้งฉบับหรือไม่
หลังจากนั้น คาดว่าคณะรัฐมนตรีจึงจะพิจารณามีมติว่าจะลงนามหรือไม่
ทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ซึ่งถูกกระทรวงการต่างประเทศอ้างถึงมาโดยตลอดว่า ได้รับโอกาสเข้าไปตรวจสอบร่างความตกลงฯ ขอชี้แจงว่า
การเข้าไปดูร่างความตกลงฯ เกิดขึ้นจากการที่กลุ่มศึกษาฯ ทำหนังสือถึงคณะผู้รับผิดชอบจัดเวทีประชาพิจารณ์ ว่าต้องมีการเปิดเผยร่างความตกลงฯ ต่อประชาชนผู้ที่จะเข้าร่วมการประชาพิจารณ์ โดยเปิดเผยทั้งฉบับ และให้ผู้เข้าร่วมมีเวลาศึกษาก่อน แต่ทางกระทรวงการต่างประเทศกลับต่อรองให้ทางกลุ่มศึกษาฯ ส่งตัวแทนเข้าไปดูร่างความตกลงฯที่กระทรวงฯ โดยต้องแจ้งชื่อก่อนล่วงหน้า 1 วัน
ทางกลุ่มศึกษาฯ ได้ส่งตัวแทนเข้าไปดูร่างความตกลงฯ 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่ามีเงื่อนไขไม่อนุญาตให้นำเอกสารออกมาศึกษาได้เลย ซึ่งไม่มีทางที่ผู้เชี่ยวชาญท่านใดสามารถศึกษาร่างความตกลงหนา 900 หน้าในเวลาอันจำกัดเช่นนั้นได้ และยังผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการรับฟังความเห็นประชาชน 2548 ที่กำหนดไว้ว่า ต้องเปิดเผยสาระสำคัญล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 15 วัน จึงปฏิเสธที่จะเข้าไปดูความตกลงฯ ด้วยวิธีการเช่นที่ว่าอีก
นอกจากนี้ การประชาพิจารณ์ต้องมีหลักการและกติกาที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า หากผลการจัดทำประชาพิจารณ์ นำไปสู่ข้อสรุปว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่ไม่อาจรับได้จากร่างความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น จะต้องนำไปสู่การเจรจาขอแก้ไขร่างความตกลงในส่วนนั้นๆ มิฉะนั้นแล้ว การจัดทำประชาพิจารณ์จะเป็นเพียงการให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น หรือแสดงความกังวล แต่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในความตกลง
การประชาพิจารณ์แบบนี้จึงเป็นเพียงรูปแบบกิจกรรมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่คณะเจรจาเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นการทำประชาพิจารณ์ที่มีความหมายแต่อย่างใด ซึ่งเท่ากับเป็นการผลาญเงินภาษีของประชาชนไปในการจัดกิจกรรม และยังไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม
ทั้งนี้ ทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน
(เอฟทีเอ ว็อทช์) ขอเรียกร้องต่อคณะรัฐมนตรีที่นำโดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลลานนท์
นายกรัฐมนตรี ให้ตระหนักถึงความไม่โปร่งใสที่ปรากฏอยู่ตลอดกระบวนการนับตั้งแต่เริ่มเจรจา
จนกระทั่งเตรียมส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ในชั้นนี้ เพื่อที่จะไม่ไปซ้ำรอยปัญหาที่รัฐบาล
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำเอาไว้
18 ธันวาคม 2549
สำหรับผู้สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม
ติดต่อ
บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ 085-6115152
สารี อ๋องสมหวัง 085-6685240
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล 085-0708954
2. ข้อเสนอต่อการมีกฎหมายกำกับการเจรจาและการจัดทำความตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
และการร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องของกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน
( FTA Watch)
วันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐
ความสำคัญ
วิกฤติทางสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับปัญหาความโปร่งใส
และการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในนโยบายสาธารณะสำคัญ ปัญหาซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากประการหนึ่งคือ
กระบวนการเจรจาและการจัดทำความตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี
ที่กีดกันการรับรู้และการมีส่วนร่วมของสาธารณะ จนส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากเกิดความระแวงสงสัย
อย่างไรก็ตามภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อเดือนกันยายน วันที่ 19 กันย่ยนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้การแก้ไขที่ถูกจุดและจริงจัง แม้ว่าหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องนี้จะได้พยายามทุ่มงบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ รวมไปถึงการจัดสัมมนา แต่ความพยายามดังกล่าวไม่ได้มีความแตกต่างจากสิ่งที่เคยดำเนินการมาในอดีต ซึ่งมีเนื้อหาเกือบทั้งหมดเป็นการโฆษณาให้เห็นถึงประโยชน์ของการค้าเสรี โดยที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นักวิชาการ ฝ่ายนิติบัญญัติ และประชาชนผู้สนใจทั่วไป ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลความตกลงฯ และมีเวลาเพียงพอที่จะทำให้สามารถแสดงความคิดเห็นที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แท้จริงได้
ตัวอย่างความล้มเหลวล่าสุดของวิธีการที่ผ่านมาคือการพยายามจัดทำประชาพิจารณ์ของหน่วยงานรัฐ ในประเด็นความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๙ โดยที่ผู้รับเชิญร่วมอภิปราย ผู้ดำเนินการอภิปราย นักวิชาการ ผู้ร่วมรับฟัง และสุดท้ายผู้จัดเองได้แสดงความเห็นตรงกันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นวันนั้นเป็นเพียงอีกสัมมนาหนึ่งที่จัดขึ้นเท่านั้น หาใช่การทำประชาพิจารณ์ไม่
เพื่อไม่ให้ปัญหาเช่นนี้ดำเนินต่อไป และเพื่ออำนวยให้ทั้งภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายสามารถมีกระบวนการที่ชัดเจนมีความโปร่งใส ที่จะร่วมกันคิด หาจุดยืนร่วม อันจะนำไปสู่ท่าทีของประเทศไทยในการเจรจา และการได้มาซึ่งความตกลงทางเศรษฐกิจที่เสริมสร้างความเสมอภาคทางสังคม และความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยสมควรจะต้องมีกฎหมายการเจรจา และการจัดทำความตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และมีข้อกำหนดที่เหมาะสมในรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้อง. การมีกฎหมายที่ช่วยสร้างธรรมาภิบาลในเรื่องนี้ นอกจากจะช่วยให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายได้ ยังจะอำนวยให้ภาครัฐสามารถเจรจาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งลดความระแวงสงสัยในกรณีของผลประโยชน์ทับซ้อน
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เป็นกลุ่มของผู้มีความสนใจและห่วงใยกับแนวทางการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา โดยมีสมาชิกประกอบด้วย นักวิชาการ องค์กรพัฒนาอกชน และเครือข่ายภาคประชาชน เชื่อมั่นว่ากฎหมายการเจรจาและการจัดทำความตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตย จะเป็นส่วนสำคัญซึ่งจะยังผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทางกลุ่มจึงได้ประสานรับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายประชาชนต่างๆ รวมถึงนักวิชาการในประเด็นนี้ และได้จัดทำหลักการ ข้อเสนอ และบทบัญญัติสำคัญ ในกฎหมายเจรจาการค้าระหว่างประเทศของทางกลุ่ม นอกจากนี้ยังได้ประชาสัมพันธ์ และนำเสนอกับภาคส่วนต่างๆ ของสังคมด้วย
ณ ขณะนี้ เป็นที่น่ายินดีว่าทางสถาบันวิจัยพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI - ทีดีอาร์ไอ) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกระทรวงต่างประเทศเองต่างได้ดำเนินการศึกษายกร่างกฎหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมในวงที่กว้างขึ้น จะได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และร่วมผลักดันร่างกฎหมายที่จะสามารถกำกับให้การเจรจาและการจัดทำความตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มีความโปร่งใส มีส่วนร่วมจากประชาชน และมีความเป็นประชาธิปไตย อย่างแท้จริงได้
นอกจากนี้เพื่อความโปร่งใสและป้องการปัญหาที่จะตามมา การเจรจาและการลงนามความตกลงทางเศรษฐกิจทั้งหมดควรจะระงับไว้จนกว่าจะมีกฎหมายและกระบวนการที่เหมาะสมรองรับ
2.1 หลักการ
๑. กระบวนการจัดทำความตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต้องเป็นการถ่วงดุล
ตรวจสอบระหว่างอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และภาคประชาสังคม
๒. การเจรจาและการจัดทำความตกลงฯ จะต้องดำเนินไปบนหลักการความเป็นธรรม โปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน๓. ความตกลงจะต้องอยู่ภายใต้หลักการความเสมอภาค เศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาที่ยั่งยืน
2.2 ข้อเสนอ
๑. บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญต้องไม่มีข้อกำหนดใดๆ ให้รัฐต้องส่งเสริมระบอบการค้าทุนนิยมเสรีเป็นการเฉพาะ
๒. เสนอให้มีการกำหนดในรัฐธรรมนูญให้การเจรจาและทำความตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่มีผลผูกพันหรืออาจนำไปสู่มาตรการการตอบโต้ทางการค้า ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาโดยไม่มีข้อยกเว้น
๓. เสนอให้กำหนดในรัฐธรรมนูญ และออกกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิออกเสียง ทั้งนี้โดยเปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ สามารถนำเสนอข้อมูลได้อย่างรอบด้านและเป็นธรรม๔. เสนอให้มีกฎหมายกำกับเจรจาการค้าหรือกระบวนการจัดทำความตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (รวมถึงการลงทุน ฯลฯ) เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยมีหลักการสำคัญระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีกำหนดเวลาระบุไว้แน่ชัดว่า ต้องดำเนินการให้มีการออกกฎหมายแล้วเสร็จในระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งผู้รับผิดชอบในการออกกฎหมายนี้
2.3 บทบัญญัติสำคัญในกฎหมายเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
๑. รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เป็นผู้ว่าจ้างหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับในความเป็นกลาง ทำการศึกษาเชิงสหวิชาการ ถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยการศึกษาจะต้องมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป ตั้งแต่กระบวนการกำหนดโจทย์และขอบเขตการวิจัย โดยการศึกษาวิจัยจะแบ่งเป็นสองขั้นตอนคือ
หนึ่ง, ศึกษาจากกรอบการเจรจาก่อนการทำประชาพิจารณ์และนำเข้าสู่รัฐสภา และ
สอง, ศึกษาผลการเจรจาภายหลังจบสิ้นการเจรจา เพื่อประกอบการทำประชาพิจารณ์และการพิจารณาของรัฐสภา๒. รัฐบาลจะต้องนำกรอบการเจรจา และผลการศึกษาผลกระทบเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างแพร่หลาย และจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
๓. กรอบการเจรจาที่ผ่านการศึกษาผลกระทบ และการทำประชาพิจารณ์ จะต้องนำเข้าเพื่อขอรับการเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนเริ่มการเจรจา โดยรัฐสภาต้องใช้เวลาพิจารณาไม่ต่ำกว่า ๙๐ วัน ก่อนลงมติ และเมื่อเจรจาเป็นผลสำเร็จแล้ว ผลความตกลงจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนการลงนาม โดยรัฐสภาจะต้องไม่ลงมติก่อน ๑๘๐ วัน หลังรับเรื่องเข้าพิจารณา และสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขเนื้อหาความตกลงได้ รวมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องจัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ ก่อนการให้หรือไม่ให้ความเห็นชอบ และฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องสามารถติดตามตรวจสอบระหว่างการเจรจาอย่างเป็นจริงได้ เช่น การเรียกเอกสารสำคัญของการเจรจา
๔. ในคณะเจรจาต้องมีตัวแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้มีส่วนได้เสีย นักวิชาการ และตัวแทนองค์กรประชาสังคม เข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในการเจรจา
๕. จะต้องมีนักวิชาการ ผู้แทนองค์กรประชาสังคม ผู้มีส่วนได้เสีย ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการเจรจา จัดรับฟังความคิดเห็น และพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
๖. ความตกลงระหว่างประเทศจะต้องมีฉบับภาษาไทยที่ใช้ลงนามอย่างเป็นทางการ ควบคู่กับฉบับภาษาต่างชาติด้วย ภายหลังถ้ามีการตีความขัดแย้งของข้อความในภาษาทั้งสองในข้อใด ให้ถือว่าข้อนั้นไม่มีผลทางปฏิบัติแล้วให้ทำการเจรจาตกลงทำความเข้าใจกันใหม่ในข้อ
ดังกล่าวนั้น๗. ความตกลงการค้าระหว่างประเทศจะต้องเป็นไปเพื่อส่งเสริมความเสมอภาค เศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาที่ยั่งยืน
๘. รัฐบาลจะต้องกำหนดมีมาตรการรองรับผลกระทบ จากการบังคับใช้ข้อตกลงที่ระบุถึงกรอบเวลาและผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนเสนอต่อรัฐสภาทั้งก่อนเริ่มการเจรจา และก่อนการลงนาม โดยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านลบได้เข้ามีส่วนร่วมในการพิจารณา
๙. หากมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งในห้า หรือสมาชิกรัฐสภาจำนวนหนึ่งในเจ็ด หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นคนลงชื่อเสนอให้มีการทำประชามติ ก็ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจการผูกพันในความตกลงระหว่างประเทศโดยวิธีการทำประชามติ แทนการลงคะแนนเสียงในรัฐสภา โดยต้องได้สัดส่วนเกินกว่าร้อยละ ๖๐ ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (หรือร้อยละ ๘๐ ของผู้มาลงประชามติ)
3. สร้างหลักประกันให้ประชาชนผ่านกฎหมายการเจรจา
FTA ไทย-ญี่ปุ่น สิ่งที่ต้องกล้าทบทวน
จากบทบรรณาธิการเอฟทีเอว็อทช์
http://www.ftawatch.org/autopage1/show_page.php?t=34&s_id=25&d_id=25
12 มกราคม 2550
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างพื้นที่สาธารณะให้กับภาคประชาชนและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการเข้าไปรับรู้
ตรวจสอบและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกำหนดนโยบายเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ
ตั้งแต่แรกที่เราได้เริ่มเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะถึงผลกระทบของเอฟทีเอไม่ว่าจะเป็นเอฟทีเอไทย-จีน, ไทย-ออสเตรเลีย, หรือไทย-สหรัฐอเมริกา การเข้าถึงข้อมูลและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเป็นธงของเรามาโดยตลอด และจนถึงวันนี้ หลักการนี้ก็ไม่เคยเปลี่ยน การที่รัฐบาลจะตัดสินใจลงนามหรือไม่ลงนามในเอฟทีเอฉบับใดฉบับหนึ่ง คำถามที่สำคัญคือ กระบวนการได้มาซึ่งความตกลงนี้เป็นอย่างไร ประชาชนมีส่วนร่วมหรือไม่ เพียงใด การศึกษาผลดีและผลเสียมีหรือไม่ ทำอย่างรอบคอบทั่วทุกด้านหรือไม่ เมื่อเจรจาเสร็จแล้ว มีการเปิดเผยข้อมูลความตกลงฯ ที่จะไปลงนามผูกพันหรือยัง ได้มีการถกเถียงถึงผลดีและเสียผ่านกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและผ่านรัฐสภาที่ชอบธรรมแล้วเพียงใด
ในยุคที่ประชาชนตื่นตัวเรื่องการปฏิรูปการเมือง แนวคิดในการร่างกฎหมายการเจรจาข้อตกลงระหว่างประเทศเป็นทางออกหนึ่งที่หลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ทั้งในส่วนของกระทรวงต่างประเทศเอง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึง กลุ่มเอฟทีเอว็อทช์
งานวิจัยของ ดร. จันทจิรา เอี่ยมมยุรา และ ดร. ชาติชาย เชษฐสุมน เรื่อง "กลไกในการตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายบริหารในการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศ" ได้ให้รายละเอียดปัญหาทางกฎหมายและข้อเสนอหลายประการที่เป็นประโยชน์ ข้อคิดที่น่าสนใจที่สุดชิ้นหนึ่งปรากฎอยู่ในเชิงอรรถของงานชิ้นนี้ซึ่งระบุว่า
"รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้สร้างกระบวนการทางกฎหมายซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและทางการปกครองหลายประการ เช่น การลงประชามติในเรื่องสำคัญของประเทศ การเข้าชื่อกันห้าหมื่นรายชื่อเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ
อย่างไรก็ดี จะเห็นว่ากระบวนการทางกฎหมายเหล่านี้มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมกับรัฐในกิจการภายในรัฐเท่านั้น ทั้งที่ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่โลกกลายเป็นหนึ่งเดียว การดำเนินนโยบายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศอย่างใดอย่างหนึ่งของรัฐบาล ย่อมมีผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายการบริหารประเทศและการตรากฎหมายของรัฐ และในหลายกรณี รัฐบาลได้ลงนามผูกพันกับข้อตกลงไปก่อนแล้ว รัฐสภาจึงทำหน้าที่เพียงให้ความเห็นชอบข้อตกลงและผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องเท่านั้นโดยไม่อาจแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงได้แม้แต่คำเดียวโดยเหตุนี้นักกฎหมายระหว่างประเทศจึงกล่าวว่า รัฐบาลอาจบังคับให้รัฐสภาตรากฎหมายที่ฝ่ายบริหารต้องการได้โดยทางอ้อม โดยผ่านการทำสนธิสัญญา
ปัจจุบันรัฐสภาของหลายประเทศ จึงเรียกร้องให้รัฐสภาและประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทำสนธิสัญญาของรัฐบาลให้มากขึ้น ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ในโอกาสต่อๆ ไป จึงสมควรจะได้พิจารณาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง"
ในช่วงเวลาที่รัฐบาลเลือกเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นโจทย์ให้กับสังคมไทย โดยมีคำตอบอยู่ที่ จะลงนามหรือไม่ลงนามนั้น สังคมไทยกำลังถูกทำให้อยู่บนทางสองแพร่ง ระหว่าง "การสร้างความชอบธรรมให้กับกระบวนการมีส่วนร่วม แบบคับแคบและตื้นเขินที่ผ่านมาของความตกลงฯฉบับนี้" กับ "การแก้ไขยกเครื่องเครื่องในของกระบวนการทำความตกลงฯ ให้ถูกต้อง เพื่อที่ว่าช่วยลดปัญหาและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับลูกหลานและประเทศของเราในอนาคต จากทั้งกระบวนการและเนื้อหาความตกลงฯ"
การประชาพิจารณ์ในวันที่ 22 ธันวาคม 2550 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในทางปฏิบัติแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้าใจกระบวนการที่เรียกว่า "การมีส่วนร่วมของประชาชน" และ ประชาชน ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงเพียง เอฟทีเอว็อทช์ หรือ กลุ่มผู้ส่งออก เท่านั้น แต่ยังมีนัยยะรวมถึงประชาชนทั่วทุกภูมิภาค ในทุกสาขา อาชีพ ที่จะต้องแบกรับผลของการทำความตกลงเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น
การมีส่วนร่วมของประชาชนต้องการองค์ประกอบมากกว่าการเปิดเวที แล้วให้ตัวแทนแต่ละ 7-8 กลุ่มขึ้นมาพูดถึงผลดีผลเสียในเวลา 2 ชั่วโมง ในทำนองเดียวกัน การมีส่วนร่วมของประชาชนก็ไม่ได้มีความหมายเพียงการเชิญตัวแทนกลุ่มบางกลุ่ม เข้าไปเสนอความเห็นหรือทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่รัฐในประเด็นที่สงสัย
การกำหนดนโยบายที่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวางในสังคมประชาธิปไตย ต้องการเครื่องมือและกลไกที่ไปไกลและเข้าถึงหัวใจประชาธิปไตยมากกว่านั้น ความคิดเห็นของผู้คนที่หลากหลายหรือแม้กระทั่งขัดแย้งกัน ควรจะถูกมองว่าเป็นสิ่งท้าทาย ท้าทายว่า สังคมเราจะสามารถประสานผลประโยชน์ที่แตกต่างกันของกลุ่มต่างๆ และในขณะเดียวกันก็สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นไปพร้อมกันได้อย่างไร
ยิ่งเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น กำลังถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงผลกระทบทางลบ ไม่ว่าจะเป็น ผลกระทบจากการลดภาษีให้ของเสียที่เป็นอันตราย การให้เอกชนสามารถฟ้องรัฐสำหรับการยึดทรัพย์ทางอ้อม สิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต มาตรการปกป้องที่ไม่รัดกุม ฯลฯ เวลานี้ จึงสมควรที่สังคมไทยจะให้เวลากับการทบทวนรวมทั้งการวางรากฐานที่เหมาะสมสำหรับอนาคต
เอฟทีเอว็อทช์ ได้จัดทำข้อเสนอการมีกฎหมายกำกับการเจรจา และการจัดทำความตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และการร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีหลักเกณฑ์ คือ
- มีการถ่วงดุลและตรวจสอบ
- มีความโปร่งใสและมีส่วนร่วมของประชาชน
- มีความเสมอภาค ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาที่ยั่งยืน
(รายละเอียดดูได้ที่ข้อ 2. บนเว็บไซต์นี้)
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ ก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาและร่างข้อเสนอ, ส่วนกรมสนธิสัญญากระทรวงการต่างประเทศก็ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วเช่นกัน
การปฏิรูปกระบวนการเจรจาเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ภารกิจนี้ไม่ใช่ภารกิจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นงานของประชาชนที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนดังกล่าว
4. แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ
TDRI กรณี FTA ไทย-ญี่ปุ่น
จักรชัย โฉมทองดี : โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา(โฟกัส)
และสมาชิกกลุ่ม FTA Watch
12 มกราคม 2550
จากบทความ "ตอบกลุ่มเอ็นจีโอเรื่องผลศึกษาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA)"
ที่ได้มีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ เอฟทีเอไดเจสท์ (FTA Digest) ของทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
หรือ TDRI เป็นที่น่ายินดีที่ขณะนี้มีหลายส่วนของสังคม มีความเห็นพ้องกันชัดเจนว่า
กระบวนการเจรจาและจัดทำพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย (ซึ่งอาจรวมถึงนโยบายสาธารณะจำนวนมากด้วย)
ยังบกพร่องด้านความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมจากประชาชน นอกจากนี้ ยังมีความเห็นร่วมกันอีกว่าจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเพื่อกำกับกระบวนการเหล่านี้
ให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
ในด้านเนื้อหาหรือสารัตถะของความตกลงนั้น ก็น่ายินดีเช่นกันที่มีความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น โดยในบทความข้างต้นทาง TDRI ได้ชี้แจงตอบประเด็นการแถลงข่าวของภาคประชาชนในหลายข้อ ซึ่งผมจะขอให้ข้อมูลและความคิดเห็นเพื่อความกระจ่างมากขึ้นกับกรณีที่ผมได้แถลงไปแล้วแต่ยังมีความเห็นต่างกันอยู่
การที่มาตรการปกป้องสองฝ่ายใน JTEPA นั้น มีการใช้ระดับปริมาณการนำเข้าเป็นตัวกำหนด โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยด้านราคาอาจทำให้มีปัญหาตามมาได้ เนื่องจากในหลายกรณี การนำเข้าในปริมาณไม่มากอาจส่งผลดึงราคาภายในให้ตกลง จนก่อความเสียหายต่อผู้ผลิตได้ นอกจากนี้ แน่นอนว่าราคาภายในที่ตกต่ำลงของสินค้า ย่อมสามารถเกิดจากสาเหตุอื่นนอกเหนือจากผลของความตกลงทางการค้านั้นๆ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่ารัฐบาลยังควรคงความสามารถที่จะปกป้องผู้ผลิตภายในได้หรือไม่
เช่น เมื่อลงนาม FTA ไปแล้ว หากเกษตรกรไทยเดือดร้อนจากราคาผลผลิตตกต่ำ ด้วยสาเหตุด้านดินฟ้าอากาศ รัฐบาลจะไม่สามารถใช้มาตรการทางภาษีในการปกป้องเกษตรกรไม่ให้ถูกซ้ำเติมจากสินค้านำเข้าได้ สรุปคือ ถึงปัญหาไม่ได้เกิดจาก FTA หนึ่ง แต่การลงนาม FTA นั้นจะลดความสามารถของรัฐบาลไทยในการบรรเทาปัญหา ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม
ตัวอย่างของสินค้าเกษตรอาจไม่ชัดเจนกับกรณีของ JTEPA นัก แต่น่าจะเป็นบรรทัดฐานให้กับประเทศไทยในการวางท่าทีต่อไปกับสินค้าอื่นๆ หรือการเจรจาในอนาคต ดังนั้นสิ่งที่ควรพิจารณาคือ การมีมาตรการปกป้องที่สามารถใช้ได้ทั้งปริมาณและระดับราคาเป็นตัวกำหนด และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกระบวนการที่เปิดเผยโปร่งใสและชัดเจน ในการชี้วัดผลกระทบและปัญหาที่เกิดขึ้นจริง อันจะนำไปสู่การใช้มาตรการดังกล่าวของทั้งสองฝ่าย เพื่อป้องกันความไม่เป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกในประเทศคู่ภาคี
การเน้นการใช้มาตรการนี้ มิได้เป็นการให้ความสำคัญกับผู้ผลิตเหนือผู้บริโภค แต่เป็นการมองเสถียรภาพและประโยชน์ในภาพรวม ผู้ผลิตก็เป็นผู้บริโภคและผู้บริโภคจำนวนมากก็เป็นผู้ผลิต
ที่ผ่านมาในอดีตบ่อยครั้งเหลือเกินที่เมื่อผู้นำเข้าสินค้าสามารถนำเข้าในราคาถูกลงแต่ผู้บริโภคกลับไม่สามารถซื้อสินค้านั้นๆ ได้ในราคาที่ถูกลง รวมถึงในระยะยาวสินค้าที่ราคาถูกลงจริงจากการเปิดเสรี ระดับราคาอาจมีการผันผวนได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยนหรืออิทธิพลเหนือตลาดเป็นต้น จุดนี้เองเป็นความสุ่มเสี่ยงด้านสวัสดิการของผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้นจากการพึ่งพิงการนำเข้ามากเกินไป การคุ้มครองการผลิตภายในอย่างเหมาะสม จึงเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การมีระดับราคาภายในที่ไม่เหมาะสม อาจเกิดจากอำนาจเหนือตลาดหรือปัจจัยภายในอื่นๆ ได้ ซึ่งควรมีกฎหมายและกลไกในการดูแลควบคุมเช่นกัน เป้าหมายของรัฐบาลจึงควรสร้างสมดุลระหว่างการผลิต การนำเข้า กับการบริโภคภายใน ซึ่งมาตรการปกป้องที่รัดกุมจะสามารถช่วยได้
เรื่องของมาตรการปกป้องฉุกเฉิน หรือ ESM ในหัวข้อการค้าบริการนั้น การที่ผู้เจรจาฝ่ายไทยไม่สามารถให้มีการตกลงในเรื่องนี้เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นท่าทีของไทยในองค์การการค้าโลก (WTO) ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อจุดยืนของไทย และพันธมิตรในการเจรจาระดับพหุภาคีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าจะเปิดให้เจรจาเรื่องนี้หกเดือนหลังจาก JEPTA มีผลบังคับใช้ แต่นั่นมีความแตกต่างอย่างมาก กับการที่มีผลผูกพันอยู่ในความตกลงรอบแรก เนื่องจากรัฐบาลไทยต้องนำประเด็นอื่นๆ ไปแลกเพิ่มเติมอีกเพื่อให้ได้ความตกลงในส่วนนี้ ซึ่งอาจหมายถึงการที่ไทยต้องเปิดให้ญี่ปุ่นเกินกว่าที่กฎหมายภายในประเทศกำหนดในปัจจุบัน
หากเป็นเช่นนั้นก็ต้องตามดูว่า มาตรการปกป้องที่(หาก)ได้มาเมื่อเทียบเคียงกับเงื่อนไขการเปิดเสรีที่เพิ่มแล้ว มีความสมดุลหรือไม่ แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่งคือ แม้จะไม่ได้มีข้อตกลงเกินไปกว่าที่กฎหมายในปัจจุบันกำหนด แต่การลงนามเช่นนี้ มีจะผลในการจำกัดความสามารถในการปรับเปลี่ยนหรือออกกฎหมายใหม่ในอนาคตของไทย
ในการหยิบยกเรื่องมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช SPS ขึ้นมานำเสนอมีเป้าประสงค์สองข้อสำคัญคือ
หนึ่ง, ชี้ว่าการยกตัวอย่างผลประโยชน์จากการลดภาษีสินค้าเกษตรโดยไม่พูดถึงข้อจำกัดอันเกิดจาก SPS เป็นการให้ข้อมูลที่ขาดความครบถ้วนซึ่งมักปรากฏอยู่เสมอ
สอง, จุดยืนที่ผมนำเสนอมาโดยตลอดคือ ในความตกลงระหว่างไทยกับญี่ปุ่นหากทางญี่ปุ่นสามารถพิสูจน์ให้เรายอมรับได้ว่า การนำเข้าสินค้าเกษตรใดจะก่อให้เกิดความเสียหายกับเกษตรกรและความมั่นคงทางอาหาร เราก็ควรจะให้เกียรติเขา, แต่สินค้าใดที่ญี่ปุ่นต้องนำเข้าจากประเทศอื่นอยู่แล้ว ก็ควรให้สิทธิ์กับสินค้าไทยเป็นพิเศษโดยสิทธิพิเศษทางภาษีนั้น ควรเป็นไปเพื่อส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม การผลิตที่ยั่งยืน และไม่สลายความเข้มแข็งของชุมชนชนบทในทั้งสองประเทศ โดยที่เรื่อง SPS ไม่ควรนำมาใช้ในลักษณะกีดกันซึ่งเป็นการเบี่ยงเบนจากวัตถุประสงค์จริง ที่มีไว้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม การเจรจาในเรื่องนี้จึงไม่ควรมุ่งแต่การลดมาตรฐานของเขา แต่ควรปรับและพัฒนามาตรฐานที่มีการยอมรับร่วมกัน มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์รองรับและมีความคงเส้นคงวาในการบังคับใช้
สรุปคือ มาตรการเพื่อความมั่นคงทางอาหารของญี่ปุ่นควรจะชัดเจนโปร่งใสและไม่นำ SPS เข้ามาปะปน ดังนี้แล้วจะเห็นว่าการมีความผูกมัดเรื่อง SPS ที่เหมาะสมชัดเจน นอกจากจะส่งผลดีต่อไทยแล้ว จะยังไม่น่าคุกคามวิถีชีวิตของเกษตรกรญี่ปุ่นด้วย
ประเด็นสิ่งทอที่ได้นำเสนอไปนั้นชี้ว่า ควรจะมีการศึกษาผลการที่สินค้าจากจีนจะเข้าถึงตลาดโลกได้มากขึ้นด้วย เนื่องจากผลประโยชน์ที่ผู้ส่งออกไทยได้รับ จากการลดภาษีนำเข้าของญี่ปุ่นภายใต้ JTEPA และกับประเทศต่างๆ ในความตกลงอื่นๆ อาจมีอายุสั้นเพียงไม่กี่ปี ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถรักษาปริมาณการผลิตหรือรูปแบบการผลิตที่เป็นอยู่ได้ต่อไป การคำนึงถึงปัจจัยจากประเทศจีนนี้ จะทำให้เราเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะตกกับใครได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งด้านปริมาณและระยะเวลา
ประเด็นต่อมาคือใครเป็นผู้เสียประโยชน์หากส่งออกได้น้อยลง ก็ค่อนข้างแน่นอนว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานมีแนวโน้มที่จะต้องเป็นผู้แบกรับภาระนั้น มากกว่าผู้ประกอบกิจการหรือผู้ส่งออก เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองที่เป็นอยู่ ไม่ได้เอื้อให้คนกลุ่มใหญ่นี้มีอำนาจต่อรองเพียงพอได้ แต่คำถามที่น่าสนใจคือ ถ้าทำ FTA แล้ว แรงงานจะได้ประโยชน์ตามที่กล่าวอ้างจริงหรือ กลไกตลาดในไทยหรือที่อื่น ๆ ทรงประสิทธิภาพในการจัดสรรผลประโยชน์อย่างที่เราถูกทำให้เชื่อเสมอไปหรือไม่
ในกรณีนี้คำถามที่ผมถามคือ แม้ว่าในปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศจะยังคงหาทางกีดกันสิ่งทอจากจีนต่อไปภายหลังการสิ้นสุดลงของ "ข้อตกลงเส้นใยระหว่างประเทศ" (MFA) แต่หากจีนสามารถระบายสินค้าสิ่งทอราคาต่ำออกสู่ตลาดโลก อย่างที่เกรงกันได้จริงในอนาคตอันใกล้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้จาก FTA อาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยจนก่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาได้ ส่งผลให้ผู้ผลิตไทยอาจเปลี่ยนลักษณะการจ้างงานไปสู่แรงงานต่างด้าว หรือไปตั้งโรงงานในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นเพื่อลดต้นทุน ซึ่งจะทำให้แรงงานไทยประสบปัญหาอยู่ดี
รวมทั้งถ้าแนวโน้มนี้เกิดขึ้นจริง แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน น่าที่จะถูกจ้างในเงื่อนไขที่มาตรฐานความคุ้มครองอยู่ในระดับต่ำมาก นำมาสู่สถานการณ์ที่เรียกว่า แรงงานไทยถูกเลิกจ้างขณะที่แรงงานต่างชาติถูกขูดรีด (แนวโน้มนี้อาจกำลังเกิดขึ้นอยู่แล้ว แม้ไม่มี FTA แต่หากเป็นเช่นนั้นจริง ประโยชน์จาก FTA กับแรงงานก็คงไม่เกิดตามที่กล่าวอ้าง อีกทั้ง FTA จะยิ่งทำให้ไทยแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด) อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การสรุปสุดท้าย แต่เป็นข้อสังเกตที่มุ่งหวังให้มีการศึกษาเพิ่มเติม
เรื่องดุลการค้า แม้จะไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญที่สุดต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากร แต่เป็นประเด็นที่รัฐบาลที่ผ่านมาให้ความสำคัญ และมักจะหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างเป็นสาเหตุความจำเป็นในการทำ FTA นอกจากนี้คณะเจรจา JTEPA ของไทย พยายามชี้แจงให้มองในภาพรวมว่าการขาดดุลกับญี่ปุ่นที่จะเพิ่มขึ้นจากความตกลงนี้ อาจทำให้ไทยได้ดุลกับประเทศอื่น ๆ ตามมา
ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการมองในภาพรวม แต่ได้พยายามชี้ให้เห็นว่าการเร่งเปิดเสรีอาจไม่ได้นำมาซึ่งการได้ดุลในภาพรวมเสมอไป ข้อสังเกตก็คือ ไทยเป็นประเทศที่ระบบเศรษฐกิจพึ่งพิงการนำเข้าและส่งออกอยู่มาก และได้เปิดเสรีเพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับ แต่แนวทางเช่นนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้ไทยหลุดพ้นจากภาวการณ์ขาดดุลการค้าที่ต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี จนถึงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจเราก็เห็นว่า ภาวการณ์ได้ดุลนั้นหดแคบลงอีกจนขาดดุลในที่สุด คำถามที่ต้องถามคือว่าหากแนวทางโดยรวมของประเทศยังเป็นไปเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง เสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร
คงต้องกล่าวย้ำอีกครั้งว่า การแลกเปลี่ยนและถกเถียงในเนื้อหาของความตกลงนั้นเป็นสิ่งจำเป็น แต่ยังคงดำเนินไปด้วยความจำกัด หากกระบวรการเจรจายังเป็นที่รู้กันในแวดวงคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ผมจำเป็นต้องยืนยันสิทธิ์ที่ประชาชนทั่วไปจะสามารถรับรู้ร่างการเจรจาเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม การมีกฎหมายกำกับการเจรจาการค้าหรือการสร้างพันธกรณีระหว่างประเทศเป็นสิ่งทีขาดไม่ได้
กลุ่ม FTA Watch ในฐานะเครือข่ายภาคประชาสังคมจึงได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันหลักการนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดรับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายประชาชนต่าง ๆ รวมถึงนักวิชาการ และเมื่อได้ข้อสรุปหลักการ ก็ได้พยายามนำเสนอต่อสื่อมวลชนและสาธารณะ ซึ่งเป็นบทบาทของภาคประชาสังคมในการร่วมสร้างความเข้มแข็งกับการเมืองภาคพลเมือง รวมทั้งยังพยายามหาหนทางให้มีนักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญ ได้ยกร่างกฎหมายโดยคำนึงถึงข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนต่างๆ
อย่างไรก็ตามภาคส่วนต่างๆ ของสังคมนั้น มีงบประมาณ มีความชำนาญ และที่สำคัญมีบทบาทที่แตกต่างกันไป จึงไม่จำเป็นว่าจะต้องรอให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีบทบาทนำในทุกเรื่องหรือทุกขั้นตอน สำคัญที่ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ องค์กรเอกชน ภาคประชาชน รวมถึงหน่วยงานรัฐที่มีเป้าหมายคล้ายคลึงกัน จักสามารถร่วมไม้ร่วมมือในการสรรสร้างความก้าวหน้าได้
เป็นที่น่ายินดีที่ทราบว่าทาง TDRI และทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีงบประมาณและบุคลากรที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี และทาง FTA Watch ไม่เพียงยินดี แต่จะพยายามเข้าร่วมกับทุกกระบวนการที่มีเป้าหมาย เพื่อให้ได้มาซึ่งกฎหมายการเจรจาฯ ที่มีความโปร่งใส มีส่วนร่วมจากประชาชนและมีความเป็นประชาธิปไตย ด้วยความเชื่อที่ว่าการค้าการลงทุนที่เหมาะสม จะยังประโยชน์อย่างยิ่งกับเศรษฐกิจและสังคมไทย รวมทั้งข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ดี สามารถนำไปสู่การเสริมสร้างความเสมอภาคและความยั่งยืนได้
สุดท้ายต้องชี้แจงว่า FTA Watch ไม่ได้อ้างสิทธิ์เป็นตัวแทนของประชาชน แต่เป็นเพียงกลุ่มคนที่สนใจติดตามและห่วงใยในประเด็นการค้าเสรี จึงได้พยายามผลักดันการเจรจาให้เป็นที่รับรู้ในสังคม และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเท่าที่จะทำได้
สถานที่ติดต่อ
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน
801/ 8 ถ.งามวงศ์วาน ซ.งามวงศ์วาน 27 อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทร.02-952-7953 โทรสาร 02-591-5076
email: [email protected] www.ftawatch.org
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ข้อเสนอเกี่ยวกับการมีกฎหมายเจรจา
เพื่อไม่ให้ปัญหาเช่นนี้ดำเนินต่อไป และเพื่ออำนวยให้ทั้งภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายสามารถมีกระบวนการที่ชัดเจนมีความโปร่งใส
ที่จะร่วมกันคิด หาจุดยืนร่วม อันจะนำไปสู่ท่าทีของประเทศไทยในการเจรจา และการได้มาซึ่งความตกลงทางเศรษฐกิจที่เสริมสร้างความเสมอภาคทางสังคม
และความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยสมควรจะต้องมีกฎหมายการเจรจา
และการจัดทำความตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และมีข้อกำหนดที่เหมาะสมในรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้อง.
การมีกฎหมายที่ช่วยสร้างธรรมาภิบาลในเรื่องนี้ นอกจากจะช่วยให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายได้
ยังจะอำนวยให้ภาครัฐสามารถเจรจาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งลดความระแวงสงสัยในกรณีของผลประโยชน์ทับซ้อน
(ข้อความคัดมาบางส่วนจากบทความ)