บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๑๒๗ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๙
16-01-2549

 

 

 

 

 

 

H
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น



Freedom against Censorship Thailand
The Midnight University

พรบ.อำนาจนิยมของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ร่างพระราชบัญญัติตาเดียวเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ของ MICT
กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน

รวบรวมเพื่อให้สังคมไทยพิจารณาเกี่ยวกับ พรบ.คุกคามเสรีภาพสื่อ

บทความวิชาการชิ้นนี้ได้รับการรวบรวมมาจากจดหมายอีเล็กทรอนิค บทวิจารณ์ของกอง บก. ม.เที่ยงคืน
และเว็บไซต์ FACT (FREEDOM AGAINST CENSORSHIP THAILAND) ในเรื่องเกี่ยวกับ
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กำลังสืบสวน การเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย
โดยได้มีการลำดับหัวข้อนำเสนอดังต่อไปนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
๒. ร่างพระราชบัญญัติตาเดียวเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ของ MICT
๓. มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จะสืบสวน การเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย
๔. นับถอยหลัง..บทลงโทษ "อาชญากรรมคอมพ์"/กรุงเทพธุรกิจ
ทั้งหมดเพื่อสะท้อนให้เห็นความคิดหลากหลายในสังคมไทยเกี่ยวกับการดูแลและการจัดการสื่อ
เพื่อสะท้อนให้ผู้รับผิดชอบในทุกภาคส่วนและทุกระดับเห็นถึงความแตกต่างและการมีส่วนร่วม
ที่ปรากฏอยู่ในสังคมประชาธิปไตยไทยที่จำเป็นต้องบริหารให้ได้
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๒๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๒.๕ หน้ากระดาษ A4)



ร่างพระราชบัญญัติตาเดียวเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ของ MICT
กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน
รวบรวมเพื่อให้สังคมไทยพิจารณาเกี่ยวกับ พรบ.คุกคามเสรีภาพสื่อ


๑. ร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ร่างพระราชบัญญัติ
ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
พ.ศ. .................

................................................
................................................
................................................

...............................................................................................................................................................

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙, ประกอบกับมาตรา ๓๑, มาตรา ๓๗, มาตรา ๓๙ , มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
...............................................................................................................................................................

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. …."

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับหลังจากหนึ่งร้อยแปดสิบวัน จากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
เหตุผลในการแก้ไข : หากมีผลบังคับทันที เกรงว่าการเตรียมการจะไม่ทัน และประชาชนยังขาดความรู้และความเข้าใจในกฎหมายดังกล่าว

มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

"ระบบคอมพิวเตอร์" หมายความว่า อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ที่เชื่อมการทำงานเข้าด้วยกัน โดยได้มีการกำหนดชุดคำสั่งและแนวทางปฏิบัติงานให้อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลโดยอัตโนมัติ

"ข้อมูลคอมพิวเตอร์" หมายความว่า ข้อมูล ข้อความ หรือชุดคำสั่ง บรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้

"ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์" หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งแสดงถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง ปลายทาง เส้นทาง เวลา วันที่ ปริมาณ ระยะเวลา ชนิดของบริการ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์นั้น

"ผู้ให้บริการ" หมายความว่า :ดูข้อ (๑) และ (๒)

(๑) ผู้ซึ่งให้บริการแก่บุคคลทั่วไปในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่น ทั้งนี้โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น

(๒) ผู้ซึ่งให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลตาม (๑)

"ผู้ใช้บริการ" หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการไม่ว่าต้องเสียค่าใช้บริการหรือไม่ก็ตาม

"พนักงานเจ้าหน้าที่"
หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

"รัฐมนตรี"
หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑
ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

มาตรา ๕ ผู้ใดเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตนโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าของ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นความผิดอันยอมความได้
(เหตุผลในการแก้ไข :เพิ่มในเรื่องเจตนาเพื่อให้ชัดเจนขึ้น และ โทษต่ำเกินไป รวมมาตรา 7 เข้าไว้ด้วยกัน)

มาตรา ๖ ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะโดยไม่ได้รับอนุญาต ถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(เหตุผลในการแก้ไข : เพิ่มในเรื่องเจตนาเพื่อให้เกิดความชัดเจน)

มาตรา ๗ (ข้อความที่ได้รับมา ไม่มีข้อความในมาตรา ๗)

มาตรา ๘ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการดักรับข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามคำสั่งเฉพาะของเจ้าของข้อมูลคอมพิวเตอร์
(เหตุผลในการแก้ไข : เพิ่มในเรื่องเจตนาเพื่อให้เกิดความชัดเจน)

มาตรา ๙ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น โดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นความผิดอันยอมความได้

มาตรา ๑๐ ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ โดยมิชอบอันเป็นการทำให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การกระทำตามวรรคหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลอันเป็นความเสียหายแก่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลทั่วไปไม่ว่าความเสียหายนั้น จะเกิดขึ้นในทันทีหรือในภายหลังและไม่ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๑ ถ้าการกระทำตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะ หรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท

ถ้าการกระทำความผิดวรรคหนึ่ง ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของประชาชน ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี
(เหตุผลในการแก้ไข : แก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายอาญา หมวด 2 (ความผิดต่อร่างกาย)

มาตรา ๑๒ ผู้ใดผลิต จำหน่ายหรือเผยแพร่ ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือซึ่งมุ่งหมายในการกระทำความผิดตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(เหตุผลในการแก้ไข : เพิ่มในเรื่องของการผลิต และแก้ไขเพื่อให้เรื่องเจตนาชัดเจนขึ้น)

มาตรา ๑๓ ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ดังต่อไปนี้

(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเป็นของบุคคลที่สามหรือจัดทำโดยบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลที่สามนั้นหรือประชาชนเสียหาย

(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์รู้กันโดยทั่วไปอันเป็นเท็จ อันมิใช่การกระทำในมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่การแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต โดยประการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกกับประชาชน

(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันมีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(๔) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่า เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันลามกตาม (๔) เป็นภาพของบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(รอดูกฎหมายของอังกฤษเปรียบเทียบและกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้อง)

มาตรา ๑๔ ความผิดตามมาตรานี้จะไม่นำมาปรับใช้กับผู้ให้บริการที่ให้บริการตามปกติธุระโดยทั่วไป เว้นแต่ผู้ให้บริการดังกล่าวรู้เห็นและยินยอมให้ความผิดนั้นเกิดขึ้น

ผู้ให้บริการผู้ใดสนับสนุนการกระทำตามมาตรา ๑๓ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน หรือเพิกเฉยมิได้จัดการลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น ในโอกาสแรกที่รู้และสามารถจัดการลบได้เป็นความผิด ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๓

มาตรา ๑๕ ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้

ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย
ข้อสังเกต : มาตรา 15 เหมือน มาตรา 328 ในกฎหมายอาญา แต่เพิ่มในเรื่องความอับอาย ซึ่งยังไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจน โทษลักลั่นกับกฎหมายอาญา ซึ่งอำนาจหน้าที่ของพนักงานจ้าหน้าที่ของกฎหมายอาญามีอยู่แล้ว และกฎหมายอาญามีกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลที่ดี 333333333333

หมวด ๒
การบังคับใช้กฎหมาย

มาตรา ๑๖ ในกรณีมีหลักฐานโดยชัดแจ้งหรือมีผู้แจ้งว่า มีบุคคลใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลอนุญาตให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) เรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากผู้ให้บริการเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์หรือจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงเนื้อหาของข้อมูลที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน

(๒) ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด อันเป็นหลักฐานหรืออาจใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือเพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดในกรณีจำเป็นจะสั่งบุคคลนั้นให้ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นให้ด้วยก็ได้

(๓) ทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์จากระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

(๔) สั่งให้บุคคลซึ่งครอบครองหรือควบคุมข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ ส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ดังกล่าว ให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ เฉพาะเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการหาตัวผู้กระทำความผิด

(๕) ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทราบรายละเอียดแห่งความผิด และผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

ในการวินิจฉัยเพื่ออนุญาตให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการดังกล่าวให้ศาลพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้ประกอบกัน

๑. ความหนักเบาของข้อหา
๒. พยานหลักฐานและความน่าเชื่อถือของผู้แจ้ง
๓. พฤติการต่างๆ แห่งคดี
๔. พฤติการของผู้กระทำความผิดว่า น่าจะมีเหตุทำลายซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด
๕. ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกระทำความผิด

ทั้งนี้ ให้ศาลพิจารณาอนุญาตให้ดำเนินการตาม (๑) - (๕) ใหม่ ตามลำดับเท่าที่จำเป็น ในกรณีที่ศาลเห็นว่า การดำเนินการตาม (๑) - (๕) ไม่เพียงพอต่อการรวบรวมพยานหลักฐาน ศาลอาจอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ได้ด้วย

(๖) ถอดรหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำการถอดรหัสลับ หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการถอดรหัสลับ

(๗) สั่งให้ผู้ให้บริการส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ ที่ต้องเก็บตามมาตรา ๒๔ หรือที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมของผู้ให้บริการ ให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่

(๘) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้มาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสาร ข้อมูล หรือหลักฐานอื่นใดที่อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้

มาตรา ๑๗ การสั่งให้บุคคลซึ่งครอบครองอุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ส่งมอบอุปกรณ์ดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๖(๔) การยึดหรืออายัดตามมาตรา ๑๖(๕) พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องทำหนังสือแสดงการรับมอบหรือการยึดหรืออายัดมอบให้กับเจ้าของ หรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐาน ทั้งนี้ การครอบครองอุปกรณ์ที่บุคคลได้ส่งมอบตามมาตรา ๑๖(๔) หรือการยึดหรืออายัดไว้ตามมาตรา ๑๖(๕) จะนานเกินสามสิบวันมิได้ ในกรณีจำเป็นที่ต้องครอบครองหรือยึดหรืออายัดไว้นานกว่านั้น ให้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอขยายเวลาครอบครองหรือยึดหรืออายัดได้ แต่ศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งรวมกันได้อีกไม่เกินหกสิบวัน เมื่อหมดความจำเป็นที่จะครอบครองหรือยึดหรืออายัดหรือครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องส่งคืนอุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่รับมอบหรือระบบคอมพิวเตอร์ที่ยึดหรือถอนการอายัดโดยพลัน

หนังสือแสดงการรับมอบหรือยึดหรืออายัดไว้ตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในการยึดหรืออายัดตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำสำเนาข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นด้วย

มาตรา ๑๘ การทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา ๑๖ (๓) ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และต้องไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินกิจการของเจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเกินความจำเป็น

มาตรา ๑๙ ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พบว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดมีชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์รวมอยู่ด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งห้ามจำหน่ายหรือเผยแพร่ หรือสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นระงับการใช้ ทำลาย หรือแก้ไขข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขการใช้ มีไว้ในครอบครอง หรือเผยแพร่ชุดคำสั่งดังกล่าวก็ได้

ชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์ตามวรรคหนึ่งหมายถึงชุดคำสั่งที่มีผลทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์หรือชุดคำสั่งอื่นเกิดความเสียหาย ถูกทำลาย ถูกแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติม ขัดข้อง หรือปฏิบัติงานไม่ตรงตามคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือโดยประการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นชุดคำสั่งที่มุ่งหมายในการป้องกันหรือแก้ไขชุดคำสั่งดังกล่าวข้างต้น ตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๒๐ ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยหรือส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่ได้มาตามมาตรา ๑๖ ให้แก่บุคคลใด

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการกระทำเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ หรือเป็นการกระทำตามคำสั่งของศาลในการพิจารณาคดี

ในกรณีที่มีกฎหมายให้อำนาจบุคคลใดในการเรียกเอกสารหลักฐานหรือข้อมูลใด ๆ หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามกฎหมายนั้น และมิใช่เป็นกรณีตามวรรคสอง ห้ามมิให้นำกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้กับข้อมูลที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตามมาตรตา ๑๖ และกับพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วแต่กรณี

พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดฝ่าฝืนวรรคหนึ่งต้อระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๒๑ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใด กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่ได้มาตามมาตรา ๑๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๒๒ ผู้ใดล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตามมาตรา ๑๖ และเปิดเผยข้อมูลนั้นต่อบุคคลที่สาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการกระทำเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเป็นการกระทำตามคำสั่งของศาลในการพิจารณาคดี

มาตรา ๒๓ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการที่ได้มา เนื่องจากการกระทำความผิดตามมาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๒๒ จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินการใดๆ อันเป็นโทษแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลดังกล่าวไม่ได้

มาตรา ๒๔ (มี ๒ แบบ)

แบบที่ ๑
มาตรา ๒๔ ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน นับแต่วันที่ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในกรณีจำเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้ผู้ให้บริการผู้ใดเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้เกินสิบห้าวันแต่ไม่เกินสี่สิบห้าวัน เป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายและเฉพาะคราวก็ได้

ในกรณีที่ผู้ให้บริการมีสัญญาหรือข้อตกลงในการให้บริการกับผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการต้องเก็บสัญญาหรือข้อตกลงนั้นไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่สัญญาหรือข้อตกลงนั้นสิ้นอายุ

ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ในวรรคหนึ่งจะใช้กับผู้ให้บริการประเภทใด และเมื่อใดและมีรายละเอียดอย่างใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ผู้ให้บริการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

แบบที่ ๒
มาตรา ๒๔ ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ไว้
ในกรณีที่ผู้ให้บริการมีสัญญาหรือข้อตกลงในการให้บริการกับผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการต้องเก็บสัญญาหรือข้อตกลงนั้นไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่สัญญาหรือข้อตกลงนั้นสิ้นอายุ

ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ในวรรคหนึ่งจะใช้กับผู้ให้บริการประเภทใด และเมื่อใดและมีรายละเอียดอย่างใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ผู้ให้บริการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

มาตรา ๒๕ ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๑๙ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดตามมาตรา ๑๙ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่อำนาจสั่งให้ผู้นั้นชำระค่าปรับทางปกครองไม่เกินสองแสนบาท และปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

ถ้าผู้ถูกสั่งให้ชำระค่าปรับทางปกครองตามวรรคหนึ่งไม่ยอมชำระค่าปรับ ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
เมื่อผู้ถูกสั่งให้ชำระค่าปรับทางปกครองแล้ว ให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ

มาตรา ๒๖ การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีความรู้และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์และเข้ารับการอบรมและผ่านการสอบตามหลักสูตรที่คณะกรรมการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เสนอโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

มาตรา ๒๗ ในการปฏิบัติหน้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๒๘ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่รัฐมนตรีกำหนด เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ในการจับ ควบคุม ค้น สอบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ บรรดาที่เป็นอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือพนักงานสอบสวนตามกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือพนักงานสอบสวนดำเนินการได้เฉพาะตามที่ได้รับการร้องขอจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้

ให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติและรัฐมนตรีมีอำนาจร่วมกันกำหนดระเบียบเกี่ยวกับแนวทางและวิธีปฏิบัติในการดำเนินการตามวรรคสอง

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
..........................................

นายกรัฐมนตรี

 

๒. ร่างพระราชบัญญัติตาเดียวเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ของ MICT
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเสนอโดยกระทรวง ICT ข้างต้น จะเห็นว่ามีเนื้อหาไม่ครอบคลุม และทันสมัยเพียงพอ ซึ่งยังคงยืนอยู่บนหลักการแห่งการใช้อำนาจ(อำนาจนิยม) อันเนื่องมาจากการหลงยุคและการยึดติดอยู่ในกระบวนทรรศน์เก่า โดยการละเลยความมีส่วนร่วมของผู้ผลิตและผู้บริโภคสื่อ นักวิชาการสื่อ และบรรดานักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ ดังตัวอย่างที่ปรากฏในหน้าสื่อมวลชนหลายแขนง ที่ได้นำเสนอ พรบ.ฉบับคู่ขนาน ออกมาในทันทีเมื่อกระทรวง ICT ได้มีการนำเสนอร่าง พรบ.ฉบับนี้เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ในรายละเอียด หากพิจารณาดูเป็นรายมาตรา จะเห็นว่า "หมวด ๑ อันเกี่ยวเนื่องกับความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์" ตั้งแต่มาตราที่ ๕, ๖, ๗, ๘, ๙, และ ๑๐ ไม่มีการระบุให้มีการตีความอย่างกว้าง ซึ่งรวมถึงการกระทำผิดของพนักงานเจ้าหน้าที่กระทรวง ICT เองแต่อย่างใด และเมื่อพิจารณาถึงมาตรา ๑๓ (๓) ที่กล่าวถึงสื่อลามก กลับไม่เห็นมีข้อความใดที่ครอบคลุมไปถึงสื่อที่นำเสนอหรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรงต่างๆ ในสังคม รวมไปถึงสื่อที่นำเสนอข้อความในเชิงกดขี่ แบ่งแยก และความไม่เสมอภาคทางเพศ เชื้อชาติ และศาสนา

นอกจากนี้ในหมวดเดียวกัน ก็ไม่มีมาตราใดใน พรบ.ฉบับตาเดียวนี้ กล่าวถึงความผิดของหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานรัฐ รวมไปถึงองค์กรต่างๆ ทางการเมือง ที่มีการใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือจงใจใช้ข้อมูลบิดเบือนเพื่อหวังผลในทางการเมือง ในการทำลายฝ่ายตรงข้าม หรือเพื่อกำจัดประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง รวมไปถึงความพยยามปิดกั้นเสรีภาพในการเข้าถึงสื่อ(อย่างที่กระทรวง ICT ยังคงกระทำอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้) คงมีแต่มาตรการเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ และเศรษฐกิจเท่านั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการปกปักษ์รักษาอำนาจที่อาจไม่ชอบธรรมให้ธำรงอยู่ต่อไปในสังคม อันเป็นการขัดต่อหลักการประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง

ปัจจุบัน การเซ็นเซอร์สื่ออิเล็กทรอนิกโดยกระทรวง ICT ยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา นับจากการรัฐประหาร 19 กันยาเป็นต้นมา (ดูภาคผนวก 1)จากข้อมูลที่ได้รับระบุว่า มีการเซ็นเซอร์สื่ออิเล็กทรอนิกเพิ่มขึ้นถึง 500% ตามข้อมูลของ FACT (Freedom Against Censorship Thailand) (สำหรับผู้สนใจเว็บไซต์ของ FACT คลิกไปดูได้ที่ http://facthai.wordpress.com/) (ดูภาคผนวก 3) ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 3 ซึ่งว่าด้วย… (เนื้อความโดยละเอียด) ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีแห่งประเทศ ที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้

จะเห็นได้ว่า การกระทำของกระทรวง ICT ในการปิดกั้นสื่อทุกวันนี้ และ พรบ.ฉบับตาเดียวที่กล่าวถึง ไม่ได้เคารพต่อมาตรา ๓ ในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด

การกระทำข้างต้น เป็นการขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย และการปิดกั้นหลายๆ ครั้ง อาจส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์และความเข้าใจผิดกับนานาประเทศ ที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพดังกล่าว อันจะเป็นการบ่งถึงความป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม ขาดความเท่าทันทางการศึกษา และกำลังทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐตำรวจมากขึ้น ซึ่งไม่ช่วยส่งเสริมและไม่สอดคล้องต่อหลักการประชาธิปไตย ที่เป็นป้ายฉลากของรัฐบาลชั่วคราวชุดนี้ที่จะเข้ามาฟื้นฟูตามที่แถลงกับสาธารณชน

ดังนั้น เราจึงไม่อาจสนับสนุน พรบ.ฉบับตาเดียวนี้ได้ เนื่องจากขัดกับหลักการธรรมรัฐ(good governance) ขาดการมีส่วนร่วม ขลาดกลัวต่อเสรีภาพของประชาชน และปกป้องการใช้อำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรม รวมไปถึงจุดยืนที่ พรบ.ฉบับนี้มองคนไทยเป็นคนชั่วร้ายเกินปรกติ ซึ่งต้องอาศัยกฎข้อบังคับมาข่มขืนใจให้ยอมตาม อันไม่ใช่หลักการแห่งประชาธิปไตย ที่เคารพในสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพตามธรรมชาติแห่งหลักการสากล ด้วยเหตุนี้ จึงขอให้ประชาชนไทยร่วมกันคัดค้าน พรบ. ฉบับนี้ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่เราไม่มีส่วนร่วมอย่างถึงที่สุด (ดูภาคผนวก 2)


๓. มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จะสืบสวน การเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย
December 30th, 2006
(Harvard University to Investigate Internet Censorship in Thailand)

สำหรับเผยแพร่ทันที - 2 มกราคม พ.ศ. 2550
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจะสืบสวนการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย
ดร. บอนนี่ โดเฮอตี้ อาจารย์ผู้ดูแลประจำแผนงานสิทธิมนุษยชน ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จะเป็นผู้นำทีมคณะนักวิจัยมายังประเทศไทยในช่วงต้นเดือนมกราคม 2550 ร่วมกันกับ ศูนย์เบิร์กมานเพื่ออินเทอร์เน็ตและสังคม (Berkman Center for Internet and Society) ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และโครงการโอเพนเน็ตอินิชิเอทีฟ(OpenNet Initiative) ทีมงานจะทำการสืบสวนประเด็นการแสดงออกอย่างเสรีในประเทศไทย

ทีมงานจะพิจารณาการปิดกั้นและคัดกรองเว็บในปัจจุบัน ซึ่งกระทำโดยหน่วยงานรัฐบาลไทยจำนวนหนึ่ง ที่เด่นชัดก็คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, และการสื่อสารแห่งประเทศไทย

ทีมงานจะสืบสวนหาความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกอย่างเสรี และจะใช้ข้อมูลเหล่านี้ในบริบทที่กว้างกว่า เกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน

เนื่องจากการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยทั้งหมดนั้น กระทำอย่างปกปิดเป็นความลับ เราจึงตั้งใจอย่างจดจ่อ ที่จะรอรับฟังเสียงตอบรับจากรัฐบาลไทย ต่อการพิจารณาอย่างละเอียดระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยที่เป็นที่เคารพนับถืออย่างฮาร์วาร์ด ที่ซึ่งเชื้อพระวงศ์ไทยจำนวนมากเคยศึกษา

ทีมฮาร์วาร์ดจะเข้าพบและสอบถาม องค์กรพัฒนาเอกชน นักหนังสือพิมพ์ นักกฎหมาย นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย จะจัดเวทีสาธารณะเพื่อหารือประเด็นนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ สิทธิมนุษยชนในการสื่อสารอย่างเสรี ในสังคมประชาธิปไตย

โลกทั้งโลกกำลังจับตาอยู่…
ไม่เอาเซ็นเซอร์! ไม่ยอมประนีประนอม!

กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย
FREEDOM AGAINST CENSORSHIP THAILAND (FACT)

ติดต่อ : ซีเจ ฮินเก้ <facthai AT gmail.com> โทร 0-879-761-880 (ภาษาอังกฤษ)
สุภิญญา กลางณรงค์ <freemediafreepeople AT gmail.com> โทร 0-867-889-322 (ภาษาไทย)


Harvard University to Investigate Internet Censorship in Thailand

December 27th, 2006

FOR IMMEDIATE RELEASE - 2 January 2007

Dr. Bonnie Docherty, a clinical instructor in Harvard University's Human Rights Program is leading a team of researchers to Thailand in early January.

In conjunction with Harvard's Berkman Center for Internet and Society and its OpenNet Initiative project, the team will be investigating free expression in Thailand.

They will be examining the current Web-blocking and filtering done by several Thai government bodies, notably, the Royal Thai Police, the Ministry of Information and Communications Technology and the Communications Authority of Thailand.

The team will also be investigating how the status of the Internet relates to free expression in Thailand and using this information in the greater context of human rights.

As all Internet censorship in Thailand is done in absolute secrecy, we are eagerly awaiting the Thai government's responce to international scrutiny from such a prestigious university as Harvard which numbers Thai Royals among its alumni.

The Harvard team will be interviewing NGOs, journalists, lawyers, academics and other experts.
Freedom Against Censorship Thailand will organise a public forum to discuss this issue regarding human rights to free communication in a democratic society.

The world is watching…
FREEDOM AGAINST CENSORSHIP THAILAND (FACT)
NO CENSORSHIP! NO COMPROMISE!

Contact
CJ Hinke <facthai AT gmail.com> Tel. 0-879-761-880 (English)
Supinya Klangnarong <freemediafreepeople AT gmail.com> Tel. 0-867-889-322 (Thai)
http://facthai.wordpress.com/

๔. นับถอยหลัง..บทลงโทษ "อาชญากรรมคอมพ์"/กรุงเทพธุรกิจ

เมื่อไม่นานมานี้ "รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม" อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ได้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติวาระ 1 ไปแล้วโดยเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทบทวนเนื้อหา รวมทั้งจัดเวทีสาธารณะเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสาร และเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากจนเกินไป
เร่งพิจารณาม.13 สัปดาห์หน้า
(มหาวิทยาลัยเเที่ยงคืน'ค้านร่าง พรบ.คุมเว็บไซต์ ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ)

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับดังกล่าว อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาแก้ไขเรียงตามมาตรา ของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขา โดยมาตราที่มีการพูดถึงมากที่สุด คือ มาตรา 13 ที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่เนื้อหา และผู้นำเนื้อหาเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือเนื้อหาก่อให้เกิดความตื่นตระหนกกับประชาชน

รวมไปถึงเนื้อหาลามก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ และมาตรา 16 ที่เกี่ยวข้องกับการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุม

นายวันฉัตร ผดุงรัตน์ หนึ่งในที่ปรึกษา กรรมการ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ บอกว่า ขณะนี้ทางคณะอนุกรรมาธิการ ที่ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายสาขา อยู่ระหว่างพิจารณาเรียงตามมาตรา

โดยยังไม่ถึงมาตราที่ดูเป็นปัญหามากที่สุดอย่าง มาตราที่ 13 และ 16 ซึ่งคาดว่า ราวสัปดาห์หน้าจะเริ่มการพิจารณามาตราที่ 13 และหลังจากนั้น ตลอดทั้งเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะมีการนัดประชุมเพื่อพิจารณาแก้ไขในมาตราที่เหลืออย่างต่อเนื่อง

"เท่าที่ทราบ ขณะนี้ยังไม่มีเส้นตายที่จะบอกว่า ขั้นตอนการพิจารณาแก้ไขเรียงตามมาตราจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ คงต้องพิจารณากันไปเรื่อยๆ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ไม่ควรเร่งรีบพิจารณา ที่สำคัญช่วงเวลานี้ก็จะเปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันได้อย่างเต็มที่" นายวันฉัตรกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแล้วเสร็จ คาดว่า จะนำเสนอต่อยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้พิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป

ชี้ร่างพ.ร.บ.ฯ ช่องโหว่เพียบ

ขณะที่ นายปรเมศวร์ มินศิริ นายกสมาคมผู้ดูแลเวบไทย และกรรมการ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ... กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับสภาวิชาชีพผู้ดูแลเวบไทย นักวิชาการและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ยังมีหลายมาตรามีช่องโหว่อันจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และวงการไอซีทีในอนาคต

โดยสรุปได้ 5 กลุ่มสาระดังนี้

1. การให้อำนาจการบังคับใช้กฎหมายแก่พนักงานเจ้าหน้าที่มากเกินไป โดยในมาตรา 16 ของร่างกฎหมายดังกล่าว ให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่กว้างขวางในการรบกวนสิทธิ หรือจำกัดสิทธิของผู้ให้บริการ เช่น การยึดอายัดระบบคอมพิวเตอร์ โดยอาศัยเพียงเหตุอันควรสงสัยและไม่ต้องมีพยาน หลักฐาน ผู้แจ้งและหมายศาลที่ถือว่า ขัดต่อหลักการวิธีพิจารณาความอาญาที่จำเป็นต้องขออำนาจศาลในการตรวจค้น หรือ จับกุมผู้ต้องสงสัยที่ไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า

2.การเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดตัวจริงไม่ต้องรับโทษ เพราะในมาตรา 23 ของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ... เป็นบทบัญญัติยกเว้นการลงโทษเจ้าของ หรือผู้ครอบครองข้อมูลที่กระทำความผิด เพราะหากข้อมูลที่ได้จากการกระทำความผิดนั้น ถูกเปิดเผยโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจ หรือ ประมาทเลินเล่อก็ตาม ผู้ครอบครองข้อมูลที่กระทำความผิด ไม่ต้องรับผิดตามที่กำหนดไว้

3. ฐานความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซ้ำซ้อนกับฐานความผิดในประมวลกฎหมายอาญา โดยในมาตรา 15 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นฐานความผิดเดียวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทในประมวลกฎหมายอาญา ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น และมีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิของผู้บริสุทธิ์ เพราะไม่มีกลไกล การตรวจสอบถ่วงดุลที่ดีเช่นเดียวกับกฎหมายอาญา ขณะที่การเพิ่มเรื่องความอับอายอาจสร้างปัญหาในการพิสูจน์ความผิด และการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาคดี

4. ความไม่ชัดเจนและความไม่รัดกุมของถ้อยคำตามบทบัญญัติ เพราะในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ... มีบทบัญญัติหลายมาตราไม่มีความชัดเจน เช่น ในมาตรา 3 เรื่องนิยามของผู้ให้บริการ มาตรา 5 เรื่องการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าของ และมาตรา 6 เรื่องการเปิดเผยมาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต

5. ระยะเวลาในการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากการปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ... จำเป็นจะต้องใช้ระยะเวลาตามสมควร

ดังนั้น การที่มาตรา 2 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว บัญญัติให้กฎหมายมีผลทันทีถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ย่อมทำให้ผู้ให้บริการทั้งหลายไม่สามารถปรับเปลี่ยนระบบคอมพิวเตอร์ได้ทันจนอาจจะเป็นช่องว่างให้ถูกเจ้าพนักงานกลั่นแกล้งได้

เดินสายแจง กมธ.

“จากการที่สมาคมฯ ได้ร่วมกับ สภาวิชาชีพผู้ดูแลเวบไทย นักวิชาการและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องประชุมระดมความคิดเห็นพบว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ...หลายมาตรามีช่องโหว่อันจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และวงการไอซีที ดังนั้น สมาคมฯ จะเดินสายชี้แจง กมธ.เพื่อแปรญัตติร่างกฎหมายต่อไป” นายปรเมศวร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ดูแลเวบไทย ยังได้มีการสรุปประเด็นแก้ไขร่างกฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ในมาตราที่ได้พิจารณาแก้ไขไปบ้างแล้วไว้ที่เวบไซต์ www.webmaster.or.t

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

(ภาคผนวก ๑)
สรุปสถานการณ์สื่อถูกข่มขู่คุกคามภายหลังการรัฐประหาร

19 ก.ย. 2549 คณะรัฐประหารส่งทหารพร้อมอาวุธเข้าไปควบคุมสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง

20 ก.ย. 2549 ผู้นำคณะรัฐประหารสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีควบคุม บล็อก หรือทำลายเนื้อหาที่ปรากฏในสื่อเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาต่อต้านการรัฐประหาร

21 ก.ย. 2549 ผู้นำคณะรัฐประหารเรียกผู้บริหารสื่อไปที่กองบัญชาการทหารบกเพื่อขอความร่วมมือในการนำเสนอข่าวที่ “สร้างสรรค์” คณะรัฐประหารยังได้สั่งให้วิทยุชุมชนกว่า 300 แห่งในเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอนระงับการออกอากาศ โดยระบุว่าวิทยุชุมชนเหล่านั้นสนับสนุนทักษิณ ชินวัตร

22 ก.ย. 2549 กระทรวงไอซีทีปิดเว็บต่อต้านรัฐประหาร www.19sep.org

24 ก.ย. 2549 กองทัพภาคที่ 3 สั่งให้สถานีวิทยุชุมชน 17 แห่งในภาคเหนือระงับการออกอากาศ

25 ก.ย. 2549 ผู้นำคณะรัฐประหารสั่งให้สื่อทุกแขนงนำเสนอข่าวเฉพาะที่เป็นข้อมูลและข่าวสารที่มาจากคณะรัฐบาลทหารเท่านั้น

26 ก.ย. 2549 คณะผู้บริหาร อสมท.ถูกกดดันให้ลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อกรณีที่เปิดโอกาสให้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่มีการรัฐประหารผ่านสถานีโมเดิร์นไนน์ทีวี ซึ่งอยู่ภายใต้การดูและของ อสมท.

29 ก.ย.2549 กระทรวงไอซีทีปิดเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน www.midnightuniv.org ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มนักวิชาการ ปัญญาชนที่มีชื่อเสียงทาง เชียงใหม่ ซึ่งวิพากษ์การรัฐประหารและนำเสนอเนื้อหาเชิงวิชาการอื่นๆ ด้วย

1 พ.ย. 2549 คณะรัฐประหารได้ใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวในการสั่งสถานีโทรทัศน์ไอทีวีให้ระงับการแพร่ภาพและถ่ายทอดคำสัมภาษณ์ของนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ที่ฆ่าตัวตายเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร และสถานีโทรทัศน์ไอทีวีปฏิบัติตามคำสั่ง

15 พ.ย. 2549 กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACTHAI-freedom against censorship Thailand) ยื่นข้อเรียกร้อง ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้แสดงบทบาทเพื่อลดการเซ็นเซอร์สื่อในอินเตอร์เน็ต

28 ธ.ค.2549 เวบไซด์ต่อต้านรัฐประหาร www.19sep.org ถูกบล็อกเป็นครั้งที่ 6

30 ธ.ค. 2549 สามเดือนหลังการรัฐประหาร กองกำลังทหารยังคงประจำการอยู่ที่สถานีไอทีวี

10 ม.ค. 2550 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้เรียกประชุมผู้แทนสื่อมวลชนสาขาวิทยุ-โทรทัศน์ เพื่อขอความร่วมมือ และให้ระมัดระวังในการนำเสนอข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึงอดีตแกนนำพรรครัฐบาลที่ผ่านมา หากผู้ใดฝ่าฝืนให้ผู้บริหารสถานีสั่งถอดรายการได้ทันที ไม่เช่นนั้น คมช.จะดำเนินการเอง โดยใช้อำนาจคณะปฏิรูปฯฉบับที่ 10 และมาตรา 11 ของกฎอัยการศึก

15 ม.ค. 2550 เซ็นเซอร์เวบไซด์ CNN ที่นำเสนอบทสัมภาษณ์อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ

(ข้อมูลจากกระดานข่าว ม.เที่ยงคืน : http://midnightuniv.tumrai.com/forum/index.php?topic=2416.0)

(ภาคผนวก ๒)
มหาวิทยาลัยเเที่ยงคืน'ค้านร่าง พรบ.คุมเว็บไซต์ ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ
๑๔ มกราคม ๒๕๕๐ - กรุงเทพธุรกิจ
"สมเกียรติ ตั้งนโม" จี้กระทรวงไอซีที ทบทวนร่าง พ.ร.บ.MICT ชี้ขัดรธน.(ชั่วคราว) มาตรา 3 ละเมิดจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ วอนสื่อมวลชนร่วมตัวค้าน ระบุถึงห้ามออกกฎกระทรวงตามอำเภอใจ พร้อมเสนอจัดเวทีสาธารณะวิพากษ์

รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เปิดเผยถึงกรณี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ได้เสนอร่างพ.ร.บ.MICT ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวกับการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ต่อสภานิติบิญญัติแห่งชาติ(สนช.) ว่า เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) มาตรา 3 ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นประกอบด้วยหรือไม่

เนื่องจากประเทศไทย ยังอยู่ภายใต้มติของรัฐหรืออยู่ภายใต้กฎหมาย โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นนั้น เป็นที่ยอมรับกันว่า เป็นปฎิญญาสากล กระทรวงไอซีที ไม่สามารถจะออกมติ หรือออกกฎกระทรวงได้ตามอำเภอใจ แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กลับหมิ่นเหม่จะขัดกับ รัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 3 ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน

รศ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ดูเหมือนประเทศไทยกำลังมีรัฐบาลซ้อนรัฐบาลอยู่ จึงอยากเรียกร้องให้สื่อมวลชนร่วมพลังกันเคลื่อนไหว โดยการรวมตัวกันเพื่อให้กระทรวงไอซีที แก้ไขกฎหมายเซ็นเซอร์ รวมทั้งจัดเวทีสาธารณะเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยไม่ปล่อยให้กระทรวงไอซีทีคิดตามอำเภอใจ นอกจากนี้ ในการจัดเวทีสาธารณะควรมีการเปิดเวทีให้มีการพูดถึงบรรยากาศหลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมาด้วย

ส่วนความคืบหน้าคดีที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร้องต่อศาลปกครองขอให้มีการคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งศาลได้มีคำสั่งคุ้มครองห้ามบล็อกเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และยังได้บังคับคดีให้กระทรวงไอซีที มีจดหมายไปยังผู้ให้บริการไอเอสพี ในประเทศทั้ง 14 ราย ดำเนินการคลายบล็อกของเว็บไซต์ www.midnightuniv.org ภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2549 ที่ผ่านมา

"ล่าสุด ผมถูกศาลเรียกตัวไปไต่สวนแล้ว ส่วนอีก 2 คดีที่เหลือ คือการฟ้องร้องกรณีถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อ และการร้องสอดเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากกระทรวงไอซีที หลังจากมีคำสั่งให้ปิดเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คาดว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 นี้จะมีความคืบหน้า" เขาระบุ

แก้ไขข้อความเล็กน้อย
๑..คำว่ามติรัฐ หรือมติของรัฐ ตอนให้ข่าวเป็นการโทรศัพท์จึงอาจทำให้คาดเคลื่อน อันที่จริงคือต้องการจะกล่าวว่า นิติรัฐ หมายความว่ารัฐไทยอยู่ภายใต้กฎหมาย ด้วยเหตุดังนั้น กฎกระทรวงหรือกฎหมายใดๆ ที่ขัดต่อกรอบรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจเคารพหรือปฏิบัติตามได้

๒. เรื่องคำขอความคุ้มครองชั่วคราวนั้น ศาลปกครองได้ยกคำขอดังกล่าว อันเนื่องจากตัวแทนกระทรวง ICT สารภาพว่าบล็อคเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืนจริงเป็นเวลา ๒๐ ชั่วโมง หลังจากนั้น คมช.สั่งให้คลายบล็อค แต่เหตุที่ยังเข้าเว็บไซต์ไม่ได้ เพราะยังมี ISP บางส่วนไม่ทราบเรื่องการคลายบล็อค จึงยังคงบล็อคเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืนต่อไป จึงมีคำขอต่อตุลาการศาลปกครองให้มีการบังคับคดี โดยให้กระทรวง ICT ทำหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณอักษรไปยัง ISP ทั้ง ๑๔ แห่งทั่วประเทศให้คลายบล็อคอย่างเป็นทางการ

ด้วยเหตุดังนั้น ศาลปกครองจึงไม่มีเหตุต้องคุ้มครองเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืน เนื่องจากไม่มีการบล็อคแล้ว เพียงบังคับให้ปลัดกระทรวงทำหนังสืออย่างเป็นทางการแจ้งให้ ISP ต่างๆ คลายบล็อคภายใน 3 วัน หลังจากวันที่มีการไต่สวน และให้แนบสำเนาส่งไปยังศาลปกครองพร้อมสำเนาถึง ม.เที่ยงคืน

ปัจจุบัน เว็บไซต์ ม.เที่ยงคืนได้ย้ายกลับมาอยู่ที่ thaiis.com เช่นเดิม ตามเจตนารมย์ที่ ม.เที่ยงคืนประกาศต่อสังคม ที่จะยืนหยัดพูดเรื่องเสรีภาพ ประชาธิปไตย บนผืนแผ่นดินไทย ไม่ใช่ที่สวีเดน หรืออเมริกา

สมเกียรติ ตั้งนโม

(ภาคผนวก ๓)
สถิติการบล็อกเว็บไซต์เพิ่มสูงขึ้นกว่า 500 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร!
Freedom Against Censorship Thailand (FACT)
(ข้อความนี้นำมาจากต้นฉบับโดยไม่มีการแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น)

กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT)
เพิ่งได้รับรายชื่อเว็บไซต์ล่าสุดที่ถูกบล็อกโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(กระทรวงไอซีที)

เว็บไซต์ที่ถูกบล็อก ณ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2550 มีจำนวน 13,435 เว็บไซต์ เพิ่มขึ้นกว่า 500 เปอร์เซ็นต์จากรายชื่อเว็บไซต์ 2,475 แห่งที่ถูกกระทรวงไอซีทีบล็อก ณ วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2549 สถิติดังกล่าวรวบรวมหลังจากเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.
2549

นอกเหนือจากตัวเลขข้างต้น กรมตำรวจเปิดเผยว่าปัจจุบันมีเว็บไซต์กว่า 32,500 แห่งที่กรมฯ บล็อกโดยตรง ยังไม่นับเว็บไซต์อีกไม่ทราบจำนวนที่
บมจ. กสท. โทรคมนาคม บล็อกที่ระดับเกตเวย์อินเทอร์เน็ต (gateway) ของประเทศ ไม่มีใครเคยล่วงรู้ว่าเว็บไซต์ที่ถูกบล็อกแบบนี้คืออะไรบ้าง
กรมตำรวจและกสท. ก็ไม่เคยอธิบายเกณฑ์ที่ใช้ในการบล็อกเว็บ

คณะรัฐประหารที่นำโดยผู้บัญชาการทหารบก พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน มองว่าการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องสำคัญมากเสียจนออกคำสั่งฉบับที่
5 เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 แต่งตั้งให้กระทรวงไอซีทีดำเนินการ"ควบคุม ยับยั้ง สกัดกั้น และทำลายการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในระบบสารสนเทศ
ผ่านระบบเครือข่ายการสื่อสารทั้งปวง ที่มีบทความ ข้อความ คำพูดหรืออื่นใดอันอาจส่งผลกระทบ" ต่อคณะรัฐประหาร คำสั่งนี้แปลว่า ดร.
สิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีคือผู้ทำหน้าที่เซ็นเซอร์แทนคณะรัฐประหาร

กระทรวงไอซีทีบล็อกเว็บไซต์ด้วยการ "ร้องขอ"ให้บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) บล็อกเว็บไซต์ตามรายชื่อที่กระทรวงไอซีทีทำขึ้นเป็นครั้งคราว
ตามเงื่อนไขภายใต้ พ.ร.บ. กิจการโทรคมนาคม หลังจากนั้น กระทรวงไอซีทีจะ"ร้องขอ" การบล็อกด้วยการส่งอีเมล์แบบ "ไม่เป็นทางการ"
ไปยังไอเอสพีแต่ละราย
ปัจจุบันประเทศไทยมีไอเอสพีเชิงพาณิชย์กว่า 50 ราย และไอเอสพีที่ไม่แสวงหากำไรอีกประมาณ 10 ราย พ.ร.บ. กิจการโทรคมนาคม
กำหนดให้ไอเอสพีทุกรายต้องทำตามคำสั่งของรัฐบาลทุกข้อ มิฉะนั้นต้องเสี่ยงต่อการถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือบทลงโทษอื่นๆ เช่นการจำกัดช่วงความถี่ (bandwidth)

รายชื่อเว็บไซต์ดังกล่าวข้างต้น ไม่เคยปรากฏเป็นข้อมูลสาธารณะ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เมื่อมีเว็บไซต์ถูกบล็อกจำนวน 1,247 แห่ง อย่างไรก็ตาม กระทรวงไอซีทีต้องส่งรายชื่อนี้ให้กับไอเอสพีทุกรายเพื่อให้ดำเนินการบล็อกได้

งบประมาณประจำปี 2550 ของกระทรวงไอซีที เท่ากับ 5,011 ล้านบาท ดูเหมือนว่าการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตจะเป็นหน้าที่เพียงหนึ่งเดียวของกระทรวงแห่ง
"ข้อมูลข่าวสาร" แต่แล้วกระทรวงไอซีทีก็ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนไทยผู้เสียภาษีได้รับทราบ

หมวด 3 ในรัฐธรรมนูญ "ฉบับประชาชน" ปี 2540 ปกป้องเสรีภาพในการสื่อสารและการแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงอินเทอร์เน็ตด้วย คณะรัฐประหารได้ "ฉีก" รัฐธรรมนูญไปแล้ว แต่ทำให้ประเทศตกอยู่ในสูญญากาศทางกฎหมาย
ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังร่างไม่เสร็จ ดูเหมือนว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ยังเป็นรากฐานของกฎหมายไทยอยู่ จนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเป็นเจ้าของเว็บไซต์เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย โดยคำสั่งของศาลปกครอง
ระหว่างที่กระบวนการฟ้องร้องของมหาวิทยาลัยยังไม่เริ่มต้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คดีความลักษณะนี้จะใช้เวลานานกว่า 10
ปีก่อนที่ศาลจะตัดสิน

ทั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและ FACT ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้รัฐยุติการปิดกั้นเนื้อหาในอินเทอร์เน็ต คำร้องของ FACT ยังเปิดให้ลงชื่อสนับสนุนอยู่ ผ่านเว็บไซต์ http://facthai.wordpress.com

หลังจากเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน กระดานสนทนาในประเทศและช่องทางสื่อสารรูปแบบอื่นมากมายถูกบล็อก หรือได้รับคำสั่งให้เซ็นเซอร์ตัวเอง
เท่ากับปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการจับกลุ่มสนทนา ไม่นานมานี้ เว็บ 19sep.org ซึ่งมีจุดยืนต่อต้านคณะรัฐประหาร
ถูกใส่เข้าไปในรายชื่อเว็บไซต์ที่กระทรวงไอซีทีบล็อก เป็นครั้งที่หกในรอบไม่กี่เดือน

รายชื่อเว็บไซต์ที่ถูกบล็อกโดยกระทรวงไอซีที ยาวขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่ากลัว สะท้อนให้เห็นความพยายามที่จะควบคุมความคิด และการลิดรอนเสรีภาพของพลเมืองและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย แม้ว่าการบล็อกเว็บไซต์จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกภายใต้รัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกขับไล่

รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันได้นำเราเข้าสู่มิติใหม่แห่งการกดขี่ ปี ค.ศ. 2007 อาจเป็นปี 1984 ตามชื่อนิยายดังของจอร์จ ออร์เวลล์
สำหรับประเทศไทยในศตวรรษที่ 21.

2007 may well be the 21st century's 1984 in Thailand.


Freedom Against Censorship Thailand (FACT)
Website: <http://facthai.wordpress.com>

NO COMPROMISE! NO CENSORSHIP!

Contact details:
CJ Hinke email: <[email protected]>, tel: 07-976-1880 (English)
Supinya Klangnarong email: <[email protected]>, tel:
086-788-9322 (Thai)



คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com


 


 

 

ปัจจุบัน การเซ็นเซอร์สื่ออิเล็กทรอนิกโดยกระทรวง ICT ยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา นับจากการรัฐประหาร 19 กันยาเป็นต้นมา จากข้อมูลที่ได้รับระบุว่า มีการเซ็นเซอร์สื่ออิเล็กทรอนิกเพิ่มขึ้นถึง 500% ตามข้อมูลของ FACT (Freedom Against Censorship Thailand) ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 3 ซึ่งว่าด้วย… (เนื้อความโดยละเอียด) ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีแห่งประเทศ ที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ (คัดลอกมาจากบทความ)