Islamophobia
The Midnight University
ความหวาดระแวงอิสลามและความตกตื่น
อิสลาโมโฟเบียในสังคมไทยยุครัฐประหาร
๑๙ กันยา
อ. อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์ดินอะ
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา
บทความวิชาการชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน
เดิมชื่อ
อิสลาโมโฟเบียในสังคมไทยยุค คมช.
เป็นเรื่องเกี่ยวกับอาการหวาดระแวงต่ออิสลาม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
และมีคนบางกลุ่มพยายามที่จะปลุกปั่นแนวคิดดังกล่าวขึ้นมาในประเทศไทย
สำหรับผู้เขียนได้นำเสนอข้อพิจารณาและวิธีการวิพากษ์ตนเองของมุสลิม
รวมถึงพยายามที่จะเสนอทางออกด้วยวิธีการสานเสวนา
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๒๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๖ มกราคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๘ หน้ากระดาษ A4)
อิสลาโมโฟเบียในสังคมไทยยุครัฐประหาร
๑๙ กันยา
อ.อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์ดินอะ
(อับดุลสุโก ดินอะ)
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา
ความนำ
ความหวาดกลัวอิสลาม(Islamophobia) เป็นศัพท์ใหม่ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ และได้รับการนิยามในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์อันหนึ่ง
เกี่ยวกับความมีอคติที่มีต่อชาวมุสลิมในฐานะปีศาจร้าย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว แสดงถึงท่าทีในเชิงลบ,
ความรุนแรง, ความรู้สึกกลัดกลุ้ม, การแบ่งแยก, และทัศนคติตายตัว (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การประณามและสบประมาทในสื่อต่างๆ). สำหรับศัพท์คำนี้ย้อนวันเวลากลับไปได้ถึงปลายทศวรรษที่
1980 หรือช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 แม้ว่ามันจะถูกนำมาใช้มากขึ้นนับจากเหตุการณ์การโจมตีในวันที่
11 กันยายน 2001 เป็นต้นมาก็ตาม
นายโคฟี อานันน์ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวกับที่ประชุมยูเอ็นในปี 2004 ว่า "เมื่อโลกได้ถูกบีบบังคับให้ประดิษฐ์ศัพท์คำใหม่คำหนึ่งขึ้นมา เพื่ออธิบายเกี่ยวกับการแสดงความรู้สึกหรือความเชื่ออย่างไม่มีเหตุผลที่แพร่กระจายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นเป็นความน่าเศร้า และกำลังสร้างปัญหาต่อการพัฒนาขึ้นตามลำดับ ตัวอย่างเช่นกรณีเกี่ยวกับคำว่า"อิสลาโมโฟเบีย"(Islamophobia - ความหวาดกลัวอิสลาม) เป็นต้น
แนวความคิดนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ ในด้านหนึ่งนั้น นักวิจารณ์บางคนมองอิสลาโมโฟเบียในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นจริง ซึ่งได้เข้ามาแทนที่รูปแบบเก่าๆ ของเชื้อชาติ/เผ่าพันธุ์นิยม(racism) ยกตัวอย่างเช่น Anja Rudiger หัวหน้าผู้ประสานงานของศูนย์ European Monitoring Centre on Racism and Xenophobia, (ศูนย์ดูแลตรวจสอบยุโรปเกี่ยวกับเผ่าพันธุ์นิยมและความรังเกียจคนต่างชาติ) ได้ให้เหตุผลว่า มันไม่มีการยอมรับอีกต่อไปแล้วที่จะใช้เรื่องของสีผิวในฐานะที่เป็นเหตุผลหรือคุณลักษณะการแบ่งแยกผู้คน ปัจจุบัน ศาสนา-วัฒนธรรม ดูเหมือนว่าได้กลายมาเป็นเครื่องหมายต่างๆ ของการจำแนกแตกต่างโดยธรรมชาติ" เธอได้บันทึกว่า อิสลามได้กลายเป็นคนอื่นใหม่(the new other)ขึ้นมา "
หลายคนได้เรียกมันว่าเป็นมายาคติ โดยให้เหตุผลอ้างอิงถึงความสับสนในอิสลาโมโฟเบีย การวิพากษ์วิจารณ์อย่างชอบธรรมเกี่ยวกับอิสลามด้วยความคิดแบ่งแยก(discrimination) ต่อชนชาวมุสลิมทั้งหลาย และบางครั้งบางคราว โลกได้ถูกชักนำไปในหนทางที่ผิดๆ เพื่อโจมตีความเป็นปรปักษ์ทั้งหมดของลัทธิอิสลามหัวรุนแรง(Islamic radicalism)
(กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน
: เรียบเรียง)
(ต้นฉบับ Islamophobia
บางส่วนจากสารานุกรม)
Islamophobia is a controversial neologism defined as the phenomenon of prejudice
against or demonization of Muslims, which manifests itself in general negative
attitudes, violence, harassment, discrimination, and stereotyping (particularly
vilification in the media). The term dates back to the late 1980s or early
90s, although its use has increased since the September 11, 2001 attacks.[7][8]
Kofi Annan, Secretary-General of the United Nations, told a UN conference
in 2004: "[W]hen the world is compelled to coin a new term to take account
of increasingly widespread bigotry, that is a sad and troubling development.
Such is the case with Islamophobia."
The concept is controversial. On the one hand, some commentators see Islamophobia as a real phenomenon that has replaced older forms of racism. For example, Anja Rudiger, Executive Coordinator of the European Monitoring Centre on Racism and Xenophobia, argues that it is no longer acceptable to use skin color as an attribute to distinguish people, and that religion and culture have become the "markers of seemingly 'natural' kinds of differences." She writes that Islam has become "the new 'other' ..."
Others have called it a myth, arguing that references to Islamophobia confuse legitimate criticism of Islam with discrimation against Muslims. An intermediate position characterises Islamophobia as a real phenomenon, even if the word is sometimes misused to attack all opponents of Islamic radicalism.
นำมาจาก : http://en.wikipedia.org/wiki/Islamophobia
อิสลาโมโฟเบียในสังคมไทยยุค
คมช.
อ.อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์ดินอะ (อับดุลสุโก ดินอะ)
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ ขอความสันติจงมีแด่ศาสดามุฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่าน
อิสลาโมโฟเบีย" ไม่ใช่ศัพท์ใหม่
ซึ่งถือกำเนิดมาตั้งแต่ช่วงท้ายทศวรรษ 1980 แล้ว แต่กลับฟื้นคืนชีพอีกครั้งหนึ่งหลังการก่อการร้ายครั้งสะเทือนโลกในประเทศสหรัฐอเมริกา
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 (พ.ศ.2544)
อิสลาโมโฟเบีย หมายถึงทัศนคติและความรู้สึกในแง่ลบที่มีต่อศาสนาอิสลามและชาวมุสลิม
หรือกล่าวกันง่ายๆ ก็คือ "อคติและรังเกียจ"ต่อชาวมุสลิม ซึ่งอาจแสดงออกผ่านพฤติกรรมในรูปแบบต่างๆ
ทั้งทางวาจา ข้อเขียนและอาจร้ายแรงถึงขั้น ทำร้ายร่างกาย และศาสนสถาน
หลังจากเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 มีผลสำรวจของแกลลัพ โพลล์ (Gallup Poll) ซึ่งได้สอบถามความคิดเห็นของชาวอเมริกัน พบว่า ชาวอเมริกันจำนวนมากถึง 22% ไม่ต้องการมีเพื่อนบ้านเป็นชาวมุสลิม และ 34% เชื่อว่า ชาวมุสลิมในสหรัฐอเมริกานั้นสนับสนุนกลุ่มอัลกออิดะห์ และ 39% เสนอว่าชาวมุสลิมในสหรัฐอเมริกา ควรมีบัตรประจำตัวประชาชนที่ทำขึ้นเป็นพิเศษอีกด้วย
ส่วนในยุโรปเช่นอังกฤษหลังระเบิดรถไฟใต้ดินสามแห่ง และรถประจำทางสองชั้นคันหนึ่งในกรุงลอนดอน เมื่อช่วงเวลารีบด่วนของสายวันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2548 ทำให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวนมาก รวมถึงบาดเจ็บอีกเกือบพันคน และเหตุการณ์ระเบิดรถไฟใต้ดิน และรถประจำทาง 4 จุด เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 ได้สร้างความไม่พอใจของคนอังกฤษต่อมุสลิม ในประเทศอังกฤษจำนวนมาก จนทำให้เกิดการทำลายศาสนสถาน มัสยิด หรือแม้กระทั่งคนมุสลิมเองรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิต ละทรัพย์สิน ใครที่เป็นมุสลิมจะถูกจับตามองเป็นพิเศษจากตำรวจและหน่วยสืบราชการลับ
หนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน ได้รายงานว่า หน่วยงานราชการอย่างกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษ ยังได้ขอความร่วมมือคณาจารย์และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ในอังกฤษ คอยจับตานักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากหวั่นเกรงว่าจะมีส่วนร่วมกับกลุ่มหัวรุนแรงหรือสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้าย. ในสเปน ก็มีการทำผลการสำรวจในปีที่ผ่านมาของ"สถาบันแอลคาโน"ในสเปน ซึ่งระบุว่า ชาวสเปนถึง 68% มองว่าสังคมมุสลิมเป็นสังคมแห่งความรุนแรง และอีก 74% เชื่อว่าได้เกิดการปะทะทางอารยธรรมระหว่างประเทศตะวันตกและโลกมุสลิมแล้ว
ในอิตาลี, ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี, ผู้นำอิตาลี ได้เคยกล่าวถ้อยแถลงแสดงความไม่พอใจกลุ่มมุสลิมหลายครั้ง และยกย่อง อารยธรรมตะวันตกว่ามีความเหนือกว่าอารยธรรมอิสลาม. ในออสเตรเลียผลการสำรวจของแกลลัพ โพลล์ ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ซันเดย์ เฮอรัลด์ ซัน ในออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมาระบุว่า คนออสเตรเลีย 4 ใน 10 เชื่อว่าศาสนาอิสลามถือเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงชีวิต และ 1 ใน 3 คน ยอมรับว่ารู้สึกกลัวชาวมุสลิมมากขึ้น นับตั้งแต่เกิดโศกนาฏกรรม 11 กันยายน 2544 ที่สหรัฐฯ เป็นต้นมา
นั่นคือภาพรวมของคำว่าอิสลามโฟเบียในอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย ขณะเดียวกัน อิสลามโฟเบียกำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการปฏิวัติภายใต้การนำของนายทหารมุสลิมชื่อพล.อ.สนธิ บุณยรัตกรินทร์
สำหรับเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากสถิติ
ตลอดเกือบสามปี (35 เดือนกว่า) นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 - พฤศจิกายน 2549
พบว่า มีการฆ่ารายวัน วางระเบิด วางเพลิง และการก่อเหตุก่อกวนอื่นๆ ที่ก่อความไม่สงบในพื้นที่
จำนวนรวมทั้งสิ้น 5,769 ครั้ง เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองดังกล่าว ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวม
4,828 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิต 1,908 คน และผู้บาดเจ็บ 2,920 คน
เป้าหมายของการก่อเหตุอยู่ที่ราษฎรทั่วไปมากที่สุด จำนวน 1,646 ครั้ง รองลงมาคือกลุ่มตำรวจ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) และตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) รวมประมาณ 530 ครั้ง เป้าหมายถัดมาคือทหาร 420 ครั้ง คนงาน และลูกจ้างราชการ 270 ครั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 201 ครั้ง
แนวโน้มของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะหลัง มีหลายเหตุการณ์บ่งชี้ว่า คนไทยพุทธและชุมชนพุทธในพื้นที่อาจจะถูกคุกคามหรือเป็นเป้าหมายในการโจมตีมากขึ้น ดังเช่นเหตุการณ์ที่บ้านสันติ 1 อำเภอบันนังสตาร์ และบ้านสันติ 2 อำเภอธารโต จังหวัดยะลาในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2549 ที่ผ่านมา
เหยื่อของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งหมด จะเป็นทั้งคนไทยพุทธและมุสลิมในจำนวนที่มากพอๆ กัน โดยเฉพาะในกลุ่มเหยื่อผู้เสียชีวิตที่ระบุไว้ว่าเป็นคนมุสลิมจำนวน 979 คน (51%) ส่วนคนพุทธที่เสียชีวิตจำนวน 820 คน (43%) ทำให้มองเห็นภาพว่าเป็นการก่อเหตุที่มีจุดมุ่งหมายสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้น ทั้งในกลุ่มคนพุทธและมุสลิม แม้ว่าในระยะหลังคนพุทธจะมีแนวโน้มถูกคุกคามมากขึ้นก็ตาม แต่โดยรวมแล้วคนมุสลิมเอง ก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกคุกคามเช่นเดียวกัน. กล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกระทบกระเทือนอย่างถึงที่สุด ขณะที่ความรู้สึกซึ่งผู้คนนอกพื้นที่มีต่อคนต่างศาสนา ต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม ก็อยู่ในจุดที่อันตราย
ตัวอย่างคณะสงฆ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ออกแถลงการณ์จำนวน 20 ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลทักษิณขณะนั้น แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องดังกล่าว มีการเสนอให้ยุติบทบาทการทำงานของ"
คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ"หรือ(กอส.) รวมอยู่ด้วย เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความเป็นกลาง
โดยมักเข้าข้างและเห็นใจกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและมุสลิม. ปรากฏการณ์ดังกล่าวนับเป็นบทสะท้อนความรู้สึกพระสงฆ์
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อบทบาทการแก้ปัญหาความไม่สงบ ในฐานะศิษย์ตถาคตผู้เฝ้าดูการแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยความนิ่งเงียบมานาน
เป็นเสียงสะท้อนที่ทุกฝ่ายไม่อาจดูดาย
"พระมหาภูษิต ฐิตสิริ" พระนักเทศชื่อดังและครูสอนนักธรรมแห่ง "วัดพระศรีมหาโพธิ์" ตำบลโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี แสดงความเห็นถึงการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ กอส. ช่วงที่ผ่านมาว่า
"เกิดปัญหาขึ้นแต่ละครั้งจะสอบถามคนไทยพุทธไม่ค่อยจะมี ถามแต่คนมุสลิม หากคนไทยพุทธเกิดปัญหาจะไม่มีอะไรมากนัก เสนอข่าวแล้วก็เงียบไป แต่พอเกิดกรณีกรือเซะ ตากใบ ทำไมยกปัญหาขึ้นมาดีเด่นซึ่งตรงนี้มันก็ดี แต่ยกเป็นเรื่องสำคัญมากเกินไป" "ที่ผ่านมามีชาวบ้านมาบ่นว่าทีคนไทยพุทธโดนทำร้ายทำไมไม่ให้ความสำคัญ บางคนบ่นว่าเขาไปสมานฉันท์แต่ฝ่ายอื่น ส่วนตัวอาตมาไม่ได้คิดอะไรมาก การแก้ปัญหาที่ผ่านมาเป็นระบบที่เอื้อต่อการเมือง แม้ไม่มีใครมาให้ความสนใจแต่เชื่อว่าในหมู่ชาวไทยพุทธจะดูแลไม่ทอดทิ้งกัน"
จากความคิดของคณะสงฆ์ดังกล่าวย่อมสะท้อนความตึงเครียด ความหวาดระแวง ความไม่ไว้วางใจกันจนนำไปสู่ความแค้นระหว่างประชาชนมุสลิม-พุทธ (ดังเช่นเหตุการณ์ที่บ้านสันติ 1 อำเภอบันนังสตาร์, และบ้านสันติ 2 อำเภอธารโต จังหวัดยะลา,ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2549และล่าสุดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่คือ การเกิดขึ้นของกลุ่มชาวพุทธจังหวัดชายแดนใต้ ที่เรียกร้องให้เผชิญหน้าและใช้ความรุนแรงเข้าแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก และอาจลุกลามขยายตัวออกไป)
กล่าวโดยสรุปคือ เจ้าหน้าที่ไม่เชื่อใจไทยมลายูมุสลิม มุสลิมหวั่นระแวงว่าไทยพุทธจะมองในแง่ร้าย ไทยพุทธสงสัยความบริสุทธิ์ใจของไทยมลายูมุสลิม มุสลิมสูญเสียความเชื่อมั่นในความเที่ยงธรรมของฝ่ายบ้านเมือง ฯลฯ ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป สายสัมพันธ์ระหว่างคนทุกฝ่ายในสังคมก็คงพังลงไปอย่างไม่มีชิ้นดี
เหตุการณ์ความเคียดแค้นไม่เพียงจำกัดอยู่ในพื้นที่ แต่คนนอกพื้นที่ที่ทำกับรถซึ่งมีป้ายทะเบียนจากคนสามจังหวัด เมื่อไปจอดนอกพื้นที่สามจังหวัดก็เคยเกิดหลายครั้ง เว็บบอร์ดที่แสดงความคิดเห็นผ่านอินเตอร์เน็ตดูถูกเยียดยามตอบโต้ไปมาของคนสองศาสนาระหว่างพุทธ-มุสลิม ผ่านเวบบอร์ดนับจำนวนครั้งไม่ถ้วนตลอดสองปีที่ผ่านมา
ล่าสุดอิสลามโฟเบียเริ่มขยายสู่ภาคเหนือโดยพยายามดึงสู่เหตุการณ์ทางการเมืองหลังการปฏิวัติภายใต้การนำของนายทหารมุสลิมชื่อพล.อ.สนธิ บุณยรัตกรินทร์. โดยมีใบปลิว, สิ่งพิมพ์, ซีดีรอม, เผยแพร่ในภาคเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง โดยผู้อ้างตัวว่าเป็น 'ชาวพุทธ' และ 'พระสงฆ์' มีเนื้อหาโจมตีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ว่าเป็นรัฐบาลของมุสลิม, เพราะประธาน คมช. เป็นมุสลิม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็เป็นมุสลิม. ส่วน พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ไม่ใช่รัฐบาลของคนไทยแต่เป็นรัฐบาลของมุสลิม รัฐธรรมนูญที่กำลังจะทำขึ้น ก็เป็นรัฐธรรมนูญของอิสลาม ดูได้จากการที่นายกรัฐมนตรีที่ออกมาขอโทษมุสลิม หลังจากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่นานนั้น
และเมื่อ 11 มกราคม.2550 ได้มีจดหมายเวียน ที่ทำลักษณะใบปลิวเผยแพร่ไปยังเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือ หลังเผยแพร่ในจังหวัดเชียงใหม่ ต่อเนื่องลงมาในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยจดหมายมีเนื้อหา 3 หน้ากระดาษ ใจความหลักๆ โจมตี "ผู้มีบารมี" โดยหยิบยกศาสนา มาเป็นประเด็นให้คนในชาติแตกแยก โดยผู้จัดการออนไลน์อ้างว่า ตัวอย่างจดหมายล่าสุด จ่าหน้าซองถึง พระครูสถิตธรรมญาณ วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ โดยผู้ส่งคือ ปฐวี ศิริธรรม 342/45 หมู่บ้านนภาทรัพย์ ถ.พุทธมณฑลสาย 2 ตลิ่งชัน กทม. 10170 เนื้อหาใจความหลักๆ ระบุว่า
เรียน ท่านองคมนตรี ข้าราชบริพาร คณะรัฐมนตรี ทหาร ตำรวจ ข้าราชการและประชาชน
เมื่อนายพลเฒ่า ผู้หลงเงาตนเองว่าเป็นผู้มีบารมี ยกมุสลิมขึ้นเป็นใหญ่ในแผ่นไทย นายกฯ คนดี แต่ไม่มีไหวพริบยอมซูฮกให้มุสลิมอย่างศิโรราบด้วยนโยบายสมานฉันท์ ใช้ทีวีช่อง 5 ออกรายการโชว์โฆษณามุสลิมทุกวัน โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2549 เวลา 3-4 ทุ่ม ผบ.ทบ และประธาน คมช. มีอำนาจจะสั่งการอะไรก็ได้ทั่วประเทศ เป็นมุสลิม รมว.มหาดไทยก็เป็นมุสลิม
ก้าวต่อไปเขาคือ ยึดอำนาจอธิปไตย กฎหมายรัฐธรรมนูญ และวัดกำลังราชการ ทหาร ตำรวจ ว่า จะต้านทานต่อการร้ายได้หรือไม่ เมื่อเห็นว่า ไทยพุทธบ่มิไก๊ ก็ลงมือทำการวินาศกรรมถึงใจกลางกรุงเทพ เมื่อ 31 ธันวาคม แล้วก็โยนความผิดให้ผู้สูญอำนาจ เพื่อจะได้ใช้เงิน 500 ล้านบาท ตามงบประมาณที่ขอรัฐบาล ...
นอกจากนี้ยังระบุท้ายจดหมายอีกว่า ถึงเวลาที่พวกเราทั้งหลายผนึกกำลัง ขับไล่ให้พ้นแผ่นดิน ตบท้ายด้วย ...ตื่นเถิดชาวไทย ลงชื่อ ผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ พร้อมเขียนต่อท้ายอีกว่า ปล. ช่วยถ่ายเอกสารนี้ส่งต่อให้บุคคลผู้รักชาติทราบทั่วถึง เพื่อป้องกันอธิปไตยของไทยให้มั่นคงด้วย
(โปรดดู http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID
=6583&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai)
บทสรุปและทางออกของปัญหา
กล่าวโดยสรุป หากปล่อยให้สถานการณ์ดังกล่าวยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทย แน่นอนความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจก็จะแสดงถึงความหมางเมินเหินห่าง
เป็นร่องรอยของความไม่ผสมกลมเกลียวระหว่างคนแต่ละฝ่ายในสังคม เกิดความแตกแยก
บั่นทอนความสมานฉันท์นำไปสู่ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจดังกล่าวเริ่มต้นจากความ
"ไม่รู้" ที่บานปลายจนเห็นคนอื่นเป็น "คนแปลกหน้า" ถึงขั้นที่หวาดระแวงอย่างลึกซึ้ง
การแก้ปัญหาเบื้องต้นที่ดีที่สุดคือ มุสลิมเองจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี กล้าวิจารณ์ศาสนิกตนเองเมื่อประพฤติไม่ดี การที่สังคมนอก ที่ไม่ใช่มุสลิมเข้าใจสิ่งดังกล่าว ใช้คำว่า มุสลิมหัวรุนแรง, กลุ่มก่อร้ายมุสลิม, เครือข่ายก่อการร้ายมุสลิมสากล ถึงแม้มุสลิมส่วนใหญ่ยอมรับไม่ได้เมื่อสื่อไทยหรือเทศ รายงานข่าวหลังเหตุการณ์ก่อการร้าย แต่สิ่งหนึ่งที่มุสลิมเองจะต้องยอมรับคือ มีมุสลิมส่วนหนึ่งจริงๆ (ส่วนน้อยของประเทศไทย หรือทั่วโลก) เป็นผู้ปฏิบัติการ
ศาสนิกชนต้องกล้าวิจารณ์และก้าวให้พ้นจากการเป็นพวกเขาพวกเรา หรือขยายความเป็นพวกเราให้กว้าง คือต้องคิดว่าทุกศาสนาเป็นเพื่อนกัน ต้องเป็นกัลยาณมิตร ตอนนี้มีความไม่สมมาตรคือศาสนิกชนไม่กล้าวิจารณ์ตัวเอง ไม่กล้าวิจารณ์ความรุนแรงเพื่อรักษาชีวิตผู้อื่น
ความมีทิฐิทางความเชื่อและอุดมการณ์ในกลุ่มตนจนสุดโต่งหรือ "อะสอบียะห์" ในภาษาอาหรับซึ่งศาสดามุฮัมมัดเคยสาปแช่งไว้. การแก้ปัญหาก็คือ ทุกศาสนิกต้องกล้าที่จะวิจารณ์ตัวเองว่า ในศาสนิกของเราบางคนมีความผิดพลาด ต้องไม่ยึดติดกับการเป็นพวกเรา ตอนนี้ยึดติดตรงนี้มาก พอเป็นพวกเราก็ไม่วิจารณ์ แต่วิจารณ์ศาสนิกอื่น ที่ผ่านมา หากคนในศาสนาเรามีความผิดพลาดเรามักปกป้อง ไม่ยอมพูดว่าคนของเราทำความผิดพลาดอะไรบ้าง เราต้องไม่ปกป้องและไม่ควรกลัวพวกเขาด้วย
สถานการณ์ในขณะนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน มีสิ่งที่ไม่น่าดูทั้งในพุทธศาสนิกชนและอิสลามิกชน มีอยู่ในบางบุคคล แต่ศาสนิกชนไม่กล้าท้วงติงความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะกลัวถูกวิจารณ์ กลัวการถูกโจมตี จึงกลายเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะกลุ่มเหล่านี้กำลังถูกพวกหัวรุนแรงคลั่งชาติ คลั่งลัทธิศาสนาผูกขาดความคิดของสังคม กลุ่มผูกขาดนี้จะเริ่มต้นจากกลุ่มเล็กๆ และขยายให้ใหญ่โต ศาสนิกชนต้องกล้าท้วงติง ไม่มีการปกป้อง และต้องทำด้วยความเมตตา ทำด้วยสันติภาพ ทำด้วยความเข้าใจ
ควรมีการถักทอในการสร้างความเข้าใจระหว่างคนในพื้นที่ชายแดนใต้ และนอกพื้นที่ที่มีความแตกต่างด้านศาสนา ชาติพันธ์ และวัฒนธรรมด้วย สันติวิธีเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะองค์กรศาสนาต้องเป็นองค์กรนำ
สันติวิธี มิใช่ความอ่อนแอ การยอมจำนน หรือการหนีปัญหาดังที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นวิธีการอันกอปรด้วยพลังสติปัญญา ความกล้าหาญ จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในอันที่จะแสวงหาและพัฒนาวิธีจัดการปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง ที่เหมาะสมกับเงื่อนไขและบริบทของแต่ละสถาณการณ์ เพราะวิธีรุนแรงอาจดูเสมือนว่าสามารถกดข่มหรือระงับปัญหาลงได้ในระยะเวลาหนึ่ง กระนั้นความไม่พอใจ ความเกลียดชังหรือความเป็นปฏิปักษ์ที่ยังแฝงตัวอยู่เองจากข้อขัดแย้ง ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถึงรากเหง้า อาจจะประทุเป็นวัฎจักรใหม่ของความรุนแรงตามแต่เงื่อนไขปัจจัยจะนำพาไป
หนึ่งในเครื่องมือสำคัญของสันติวิธีที่จะต้องรีบทำคือ "ศาสนเสวนามุสลิม-พุทธ" หรือจัดเสวนาระหว่างไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู-กับมิใช่มลายู(ในประเทศไทยมีหลากหลายเชื้อชาติ) เพราะหากไม่รีบทำอาจจะนำไปสู่เหตุการณ์วิกฤตมากขึ้นๆ ได้
ศาสนเสวนาหรือสานเสวนา จะต่างกับการสนทนาทั่วไปตรงที่ไม่มีการคุกคาม"อัตลักษณ์"ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะมุ่งให้ผู้ร่วมศาสนเสวนารับฟังและเรียนรู้จุดยืนซึ่งกันละกัน บนพื้นฐานการให้เกียรติความแตกต่างโดยปราศจากการครอบงำ หรือบีบบังคับ ไม่มีการโน้มน้าวหรือบังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนแปลงความคิด ความศรัทธาของตน หากแต่เป็นการเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกัน
(เพิ่มเติม) อัลลอฮฺเจ้าได้โองการในคัมภีร์อัลกุรอานความว่า
ท่านทั้งหลายจงสานเสวนาด้วยวาจาที่สุภาพยิ่งด้วยเหตุและผล
(โปรดดูอัลกุรอานซูเราะฮอัลอันนะห์ลุ .16 : 125)
และอัลลอฮฺเจ้ายังได้โองการในคัมภีร์อัลกุรอานอีกความว่า
"ไม่มีการบังคับในเรื่องศาสนา"
(โปรดดูอัลกุรอานซูเราะฮอัล บะกอเราะฮฺ 2 : 256 )
คลิกไปที่
กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
แนวความคิดนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ ในด้านหนึ่งนั้น นักวิจารณ์บางคนมองอิสลาโมโฟเบียในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นจริง ซึ่งได้เข้ามาแทนที่รูปแบบเก่าๆ ของเชื้อชาติ/เผ่าพันธุ์นิยม(racism) ยกตัวอย่างเช่น Anja Rudiger หัวหน้าผู้ประสานงานของศูนย์ European Monitoring Centre on Racism and Xenophobia, (ศูนย์ดูแลตรวจสอบยุโรปเกี่ยวกับเผ่าพันธุ์นิยมและความรังเกียจคนต่างชาติ) ได้ให้เหตุผลว่า มันไม่มีการยอมรับอีกต่อไปแล้วที่จะใช้เรื่องของสีผิวในฐานะที่เป็นเหตุผลหรือคุณลักษณะการแบ่งแยกผู้คน ปัจจุบัน ศาสนา-วัฒนธรรม ดูเหมือนว่าได้กลายมาเป็นเครื่องหมายต่างๆ ของการจำแนกแตกต่างโดยธรรมชาติ" เธอได้บันทึกว่า อิสลามได้กลายเป็นคนอื่นใหม่(the new other)ขึ้นมา " (คัดลอกมาจากบทความ)