นักศึกษา สมาชิก สามารถคลิกเพื่อค้นหาบทความต่างๆ
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้จากแถบสีฟ้า
โดยใส่คำค้นที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่ต้องการค้นหา
midnightuniv(at)gmail.com
Politics & Contemporary
Culture in Thailand
The Midnight University
การเมือง สังคม วัฒนธรรม:ในความเปลี่ยนแปลง
ทางตันของวัฒนธรรมอำนาจ
ดุลยภาพในความเปลี่ยนแปลง
ศ.ดร.นิธิ
เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความวิชาการ
๓ เรื่องต่อไปนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วบน นสพ.มติชน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง สังคม วัฒนธรรมไทยร่วมสมัย
ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ประกอบด้วย
๑. ทางตันของวัฒนธรรมอำนาจ
๒. ระเบิดความคิด
และ
๓. ดุลยภาพในความเปลี่ยนแปลง
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๒๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๙ มกราคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๘.๕ หน้ากระดาษ A4)
ทางตันของวัฒนธรรมอำนาจ
ดุลยภาพในความเปลี่ยนแปลง
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ - นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
1. ทางตันของวัฒนธรรมอำนาจ
รัฐธรรมนูญปี
40 ออกแบบมาให้ได้ฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลจากองค์กรอิสระ
และวุฒิสภาที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดๆ อันเป็นกลวิธีใหม่ที่ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับอื่น
แต่ได้ผลเพียงครึ่งเดียว เพราะใน 9-10 ปีที่ผ่านมา เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและอยู่จนครบวาระถึง
2 ชุดต่อกัน ไม่อาจปฏิเสธได้ว่านโยบายใหม่ๆ หลายอย่างของคุณทักษิณ ชินวัตร
นั้น - ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ - ทำได้สำเร็จ ส่วนหนึ่งก็เพราะรัฐธรรมนูญเอื้อให้ทำได้ด้วย
แต่อีกครึ่งหนึ่งที่สร้างกลไกการตรวจสอบนอกเหนือจากสภาผู้แทนราษฎร กลับไม่ได้ผลนัก (แปลว่าที่ได้ผลบ้างก็พอมี) ข้อสรุปของเหตุผลที่หลายฝ่ายมองเห็นก็คือ องค์กรอิสระถูกแทรกแซง และที่องค์กรอิสระถูกแทรกแซงได้ก็เพราะวุฒิสภาซึ่งเป็นผู้คัดเลือกกรรมการขององค์กรอิสระถูกแทรกแซงก่อน นอกจากนี้ก็มีเรื่องของกฎหมายลูกที่กำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระไม่เหมาะสม
ฉะนั้นสองเรื่องนี้ คือองค์กรอิสระและวุฒิสภา จึงเป็นเรื่องซึ่งคนที่คิดถึงการปฏิรูปการเมือง (ด้วยความจริงใจ ไม่ใช่ใช้เพื่อแย่งอำนาจกัน) คำนึงถึงมาก ไม่ว่าจะเกิดการรัฐประหารหรือไม่ สองเรื่องนี้คงต้องถูกทบทวนอย่างแน่นอน
วุฒิสภานั้นทำหน้าที่สองอย่าง ตรวจสอบร่างกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนฯอย่างหนึ่ง และแต่งตั้งถอดถอนกรรมการขององค์กรอิสระอีกอย่างหนึ่ง
เป็นความเข้าใจผิดมานานในสังคมไทยว่า ตรวจสอบร่างกฎหมายคือการตรวจสอบเชิงเทคนิค ฉะนั้นจึงมักคิดว่าคนที่มีความรู้ทางกฎหมายควรเป็นวุฒิสมาชิก ที่จริงแล้วงานตรวจสอบทางเทคนิคใช้ความชำนาญเฉพาะด้าน หากไว้ใจคณะกรรมการกฤษฎีกา (แม้อยู่กับฝ่ายบริหาร) ก็อาจใช้คณะกรรมการชุดนี้ตรวจสอบได้ หรือหากไม่เป็นที่ไว้วางใจของรัฐสภา ก็อาจตั้งหน่วยงานของตัวขึ้นสำหรับทำเรื่องนี้โดยเฉพาะได้
การตรวจสอบซึ่งสำคัญกว่าก็คือ ตรวจสอบว่าหากกฎหมายนั้นๆ ถูกใช้บังคับ จะก่อให้เกิดผลอย่างไรต่อสังคม หรือต่อกลุ่มคนบางกลุ่ม เป็นธรรมดีหรือไม่ จะให้ผลดีมากกว่าผลร้ายหรือกลับกัน จะต้องปรับต้องแก้อย่างไรจึงจะทำให้ดีขึ้น ฯลฯ ความรู้ที่จะทำอย่างนี้ได้ ไม่ใช่ความรู้ทางกฎหมาย แต่เป็นความรู้ความเข้าใจสังคมไทย (และสังคมโลก) แน่นอนพร้อมด้วยจินตนาการที่แหลมคม
ที่รัฐธรรมนูญ 40 บังคับไม่ให้วุฒิสมาชิกเกี่ยวพันกับการเมือง (ในระบบ) ก็เพราะเหตุนี้ นั่นคือพรรคการเมืองย่อมเป็นตัวแทนของกลุ่มคนหรือกลุ่มผลประโยชน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหตุฉะนั้นการตรวจสอบร่างกฎหมายจึงอาจพิจารณาจากฐานผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม มากกว่าของสังคมโดยรวม. คำถามที่มีการกล่าวถึงกันมากในช่วงนี้ก็คือ ถ้าอย่างนั้นเหตุใดจึงไม่ใช้การแต่งตั้งวุฒิสมาชิกแทนการเลือกตั้ง โดยมีสมมติฐานว่าการแต่งตั้งย่อมต้องเลือกคนหลากหลายอาชีพ และหากผู้แต่งตั้งเป็นผู้ที่อยู่พ้นการเมือง (ในระบบ) ออกไป เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์, องคมนตรี, มหาเถรสมาคม ฯลฯ ย่อมทำให้ได้วุฒิสมาชิกที่เป็นกลางทางการเมืองมากขึ้นไปอีก
หากฝ่ายบริหารเป็นผู้แต่งตั้งดังที่มักเป็นเช่นนั้นตลอดมาก่อนรัฐธรรมนูญ 40 ก็เป็นธรรมดาที่จะแต่งตั้งคนซึ่งมีสายสัมพันธ์โยงใยกับพรรคหรือพวก และแต่งตั้ง "คนนอก" เพียงน้อยคนเพื่อให้ได้ภาพที่ไม่น่าเกลียดเกินไป
หากผู้แต่งตั้งอยู่พ้นการเมือง (ในระบบ) ปัญหาก็คือคนที่ถูกเลือกสรรมานั้น คือคนที่เข้าถึงและเข้าใจสังคมหลากหลายกลุ่มจริงหรือ? ในความเป็นจริง ไม่มีใครในโลกนี้ที่อยู่พ้นการเมืองในความหมายกว้างไปได้ ทุกคนย่อมมี "ผลประโยชน์" ทั้งสิ้น แม้แต่สิ่งที่เป็นนามธรรมก็ถือว่าเป็นผลประโยชน์อย่างหนึ่ง เช่นมีความคิดทางการเมืองว่า ระบอบปกครองของไทยควรจะดำเนินไปตามแบบที่เรียกกันว่า "ไทยๆ" กล่าวคือเฉพาะคนบางหมู่บางเหล่าเท่านั้นที่ควรมีอำนาจ ส่วนที่เหลือเป็นแค่พลเมืองที่เคารพเชื่อฟัง ทุกอย่างก็จะดีเอง เช่นนี้ก็ถือเป็นผลประโยชน์อย่างหนึ่ง เรียกในทางวิชาการว่าผลประโยชน์ทางอุดมการณ์
การเลือกตั้ง แม้เป็นกระบวนการที่ถูกบิดเบี้ยวได้ง่าย (ไม่เฉพาะแต่การซื้อเสียงเท่านั้น) แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดการถ่วงดุลขึ้นภายใน ได้มากกว่าการแต่งตั้งอย่างแน่นอน (เช่น ส.ว.เสียงข้างน้อยจำนวนหนึ่งที่ลุกขึ้นมายืนขวางฝ่ายบริหารในวุฒิสภาที่ถูกล้มไปด้วยอาวุธปืน) ปัญหาอยู่ที่ว่าจะให้สังคมเข้ามาตรวจสอบวุฒิสภาอย่างไรให้เข้มข้นขึ้น และมีประสิทธิผลมากขึ้นต่างหาก เพื่อควบคุมให้ ส.ว.ที่ถูก "ซื้อ" ไม่หน้าด้านจนเกินไป
เราต้องไม่ลืมด้วยว่า วุฒิสภาในการเมืองไทยก่อนรัฐธรรมนูญ 40 นั้น ถูกใช้เป็นกลไกที่จะช่วยให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็ง จึงต้องให้ฝ่ายบริหารแต่งตั้ง ฉะนั้นหากใช้กลไกอื่นเพื่อให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งแทนดัง รัฐธรรมนูญ 40 แล้ว วุฒิสภาก็ไม่จำเป็นต้องเป็นกลไกประกันความเข้มแข็งให้ฝ่ายบริหารอีก นอกจากนี้จากกรณีที่เกิดขึ้นในอดีต ก็จะเห็นได้ว่าแม้ฝ่ายบริหารแต่งตั้งวุฒิสมาชิกเอง ก็หาได้เป็นหลักประกันความเข้มแข็งของฝ่ายบริหารได้เสมอไป รัฐบาลบางชุดต้องประกาศลาออกกลางสภาเพราะวุฒิสมาชิกยุติการสนับสนุนกะทันหัน
ยิ่งหากต้องการรักษาหน้าที่ของ ส.ว.ในการแต่งตั้งถอดถอนองค์กรอิสระไว้ดังเดิม วุฒิสภาแต่งตั้งมิเพิ่มอำนาจของฝ่ายบริหาร และทำให้องค์กรอิสระทั้งหมดไร้ความหมายไปตั้งแต่แรกแล้วหรือ ก็ไหนว่าจะหาทางควบคุมฝ่ายบริหารไม่ใช่หรือ คำถามคือจะให้ใครควบคุมสังคมไทยหรือพวกมึงเอง
การแทรกแซงวุฒิสภาและองค์กรอิสระเป็นเรื่องปกติ แต่ปัญหาไม่ได้เกิดจากช่องโหว่ของกฎหมายเพียงอย่างเดียว ซ้ำนั่นอาจไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่สุดด้วย สาเหตุที่สำคัญกว่าก็คือสังคมไทยอ่อนแอเกินไป จะทำให้สังคมเข้มแข็งขึ้นพอจะควบคุมรัฐได้ สิ่งหนึ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปกับเรื่องอื่น (เช่นการศึกษา, สื่อ ฯลฯ) ก็คือเปิดโอกาสให้สังคมเข้ามาตรวจสอบและถ่วงดุลกลไกของรัฐได้โดยตรง
ว่าเฉพาะวุฒิสภาและองค์กรอิสระ ควรเปิดโอกาสในทางกฎหมายให้ประชาชนมีสิทธิถอนคืนวุฒิสมาชิกได้ ส่วนวิธีการออกเสียงถอนคืน จะกำหนดอย่างไรให้เป็นธรรมและเป็นไปได้นั้นต้องคิดกันดู เช่นเดียวกับองค์กรอิสระ จะต้องถูกสังคมตรวจสอบการทำงานโดยตรง และมีผลในการเพิกถอนคณะกรรมการทั้งชุดหรือบางส่วนได้เช่นกัน ในปัจจุบันสภาผู้แทนฯเท่านั้นที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเฉพาะเวลาของบประมาณ ซ้ำยังตรวจสอบอย่างไม่มีประสิทธิภาพอีกด้วย เนื่องจากสภาผู้แทนฯไม่มี (และอาจไม่สนใจ) ที่จะสร้างกลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพขึ้นเพื่อการประเมินอย่างเที่ยงธรรม
กล่าวโดยสรุปก็คือ ต้องเลิกความคิดประชาธิปไตยแบบปล่อยเสือเข้าป่าปล่อยหมาเข้าวัด คือเลือกตั้งหรือเลือกสรรเสร็จ ก็ให้ไปทำอะไรได้ตามใจชอบเป็นเวลา 4-6 ปี แต่ต้องสร้างกลไกที่สังคมสามารถควบคุม "ตัวแทน" ของเขาได้ตลอดเวลา. ในทางตรงกันข้าม เมื่อวุฒิสภาและองค์กรอิสระรู้ว่าตัวถูกตรวจสอบและควบคุมโดยสังคม ก็จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับสังคมในการทำงานให้มากขึ้น รวมทั้งอ่อนไหวต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมด้วย การหมั่นรายงานกิจกรรมของตนด้วยวิธีที่ได้ผล จะยิ่งทำให้สังคมใส่ใจกับการควบคุมตรวจสอบองค์กรเหล่านี้มากขึ้นไปพร้อมกัน
ปัญหาหลายอย่างที่เกิดกับรัฐธรรมนูญ 40 ไม่ได้เกิดขึ้นจากกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นจากการที่สังคมไม่มีพลังเข้าไปตรวจสอบควบคุมได้โดยตรง ทางออกที่เป็นไปได้ ไม่ใช่การแก้กฎหมายกลับไปกลับมาเหมือนพายเรือในอ่าง แต่อยู่ที่ต้องช่วยกันคิดว่าจะทำให้สังคมมีพลังมากขึ้นในการตรวจสอบควบคุมอย่างไร
เป็นเรื่องที่แก้ปัญหาด้วยอำนาจไม่ได้ แต่ต้องแก้กันด้วยปัญญา อันเป็นสิ่งที่หายากมากภายใต้วัฒนธรรมอำนาจนิยม
2. ระเบิดความคิด
ผมมีข้อสังเกตอยู่
5 ประการต่อกรณีระเบิดส่งท้ายปีเก่า
1. โอกาสที่ใช้ในการก่อวินาศกรรมคือวันส่งท้ายปีเก่า ซึ่งมีคนจำนวนมากมีแผนการณ์จะสนุกสนานกันอย่างเต็มที่ ฉะนั้น จุดมุ่งหมายของผู้กระทำจึงชัดเจนว่า ต้องการให้เกิดผลกระทบแก่คนจำนวนมาก ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่โดนระเบิดโดยตรงเท่านั้น วิถีชีวิตที่ใครๆ เห็นว่าปกตินั้น ไม่ปกติไปเสียแล้วภายใต้รัฐบาลของคณะรัฐประหาร เป็นเป้าหมายทางการเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้. น่าสังเกตด้วยว่าเป้าหมายทางการเมืองนั้นไม่ได้มุ่งเป็นศัตรูกับรัฐไทย เท่ากับเป็นศัตรูกับรัฐบาลปัจจุบัน แต่ที่พูดนี้ไม่ต้องการให้ตัดประเด็นผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ไปโดยสิ้นเชิง
2. ใครทำ? คนทำน่าจะมีการจัดองค์กรภายในระดับที่ดีกว่านักเลงหัวไม้ทั่วไป เพราะสามารถปฏิบัติการในพื้นที่กว้างขวาง ไม่เฉพาะแต่กว้างในกรุงเทพฯ เท่านั้น หากรวมไปถึงเมืองใหญ่เช่นเชียงใหม่ด้วย (พบกล่องวัสดุที่มีชนวนและนาฬิกาแต่ไม่มีวัตถุระเบิด) ฉะนั้น คนที่จะทำอย่างนั้นได้จึงมีอยู่เพียงสองกลุ่มคือกองกำลังติดอาวุธของรัฐ (ทหาร, ตำรวจ, ป่าไม้, ฯลฯ) หรือผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้
ในด้านผู้ก่อความไม่สงบฯ มีรายงานข่าวในสื่อต่างประเทศ (ซึ่งไม่แน่ว่าเชื่อถือได้แค่ไหน) ว่า ฝ่ายทหารเคยพบแผนที่กรุงเทพฯ ในการตรวจค้นบ้านของผู้ต้องสงสัยในจังหวัดยะลาสักเดือนหนึ่งมาแล้ว ในแผนที่นั้นมีกาเครื่องหมายบางสถานที่ไว้ด้วย และบางสถานที่ซึ่งถูกกาไว้นั้นก็เป็นจุดที่เกิดระเบิดขึ้น เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นต้น แต่การด่วนสรุปว่าเป็นฝีมือของผู้ก่อความไม่สงบ ก็จำเป็นต้องตอบคำถามว่า ปราศจาก "น้ำ" ในกรุงเทพฯ "ปลา" เหล่านั้นจะว่ายวนอย่างแข็งแกร่งถึงขนาดนี้ได้อย่างไร อย่าลืมว่าการปฏิบัติภารกิจวางระเบิดในพื้นที่กว้างขวาง และเป็นจุดที่มีผลในการสร้างความตื่นตระหนกขนาดนี้ ต้องอาศัยกำลังคน, กำลังการจัดการในพื้นที่, กำลังในการประกอบ, ปิดลับ, ขนส่งหรือส่งต่อ, ซึ่งอาวุธระเบิด, ฯลฯ เพียงใด
หากเป็นฝีมือของผู้ก่อความไม่สงบจริง ก็นับเป็นก้าวกระโดดของกำลังทางการเมืองและการทหารของฝ่ายเขา ซึ่งทั้งคณะรัฐประหารและรัฐบาลไม่มีทางจะแก้ตัวใดๆ ได้ทั้งสิ้น
ในด้านกองกำลังติดอาวุธ ผู้อยู่เบื้องหลังอาจเป็นนักการเมืองที่เคยมีอำนาจ หรือลูกสมุนซึ่งปฏิบัติการโดยพลการก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีคำถามซึ่งต้องการคำตอบอยู่เหมือนกัน พวกเขาจะได้ประโยชน์อะไรทางการเมือง นอกจากเพิ่มศัตรูซึ่งมีอยู่มากแล้วของตนเท่านั้น
ต้องไม่ลืมด้วยว่าคนเหล่านั้นล้วนเป็นนักการเมือง ถึงจะมีเส้นสายในกองทัพและกองกำลังตำรวจ แต่ก็พิสูจน์ให้เห็นจากการรัฐประหารแล้วว่า ไม่อาจระดมออกมาใช้เพื่อต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายตรงข้ามได้ นักการเมืองเหล่านี้ไม่เคยใช้กำลังอาวุธเข้าสู่อำนาจ แต่ใช้การทุจริตฉ้อฉลในการเลือกตั้ง และการประจบสอพลอกองทัพในยามที่กองทัพยึดอำนาจ ดังเช่นการกระทำของพรรคชาติไทยในปัจจุบันเป็นต้น หากมีการใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธเช่นนี้ จึงไม่น่าจะมาจากการกระทำของคนกลุ่มนี้
หากทว่าเป็นการกระทำของคนกลุ่มนี้จริงดังที่อ้างกัน ก็แสดงว่ายังมีบางกลุ่มในกองกำลังติดอาวุธของรัฐยังฝักใฝ่กับนักการเมืองกลุ่มดังกล่าวอยู่ แม้ว่าเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ยุทธวิธีที่ใช้เปลี่ยนไปแล้วจากการทำรัฐประหารซ้อน กลายเป็นการก่อการร้ายด้วยเป้าหมายทางการเมือง และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ฝ่ายที่มีอำนาจเวลานี้จะตอบโต้อย่างไรจึงจะปั่นป่วนน้อยที่สุด แต่อย่าหวังว่าทุกอย่างจะผ่านไปโดยสงบ
ในทางตรงกันข้าม เหตุระเบิดอาจมาจากการกระทำของฝ่ายที่ยึดอำนาจอยู่เองเวลานี้ เพื่อเป็นเหตุผลในการขยายการควบคุมของกองทัพเหนือสังคมไทยให้มากขึ้นและชัดเจนขึ้น นี่เป็นข้อสันนิษฐานที่พบได้ในการวิเคราะห์ของนักข่าวต่างประเทศบางราย รวมทั้งการวิเคราะห์ว่าเป็นสัญญาณความแตกแยกระหว่าง คมช. และรัฐบาล ซึ่งเป็นข่าวลือมาร่วมเดือนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม บอกได้เพียงว่าอนาคตของประเทศมืดมนหนักขึ้นไปอีก
หากเป็นเหมือนการวิเคราะห์อย่างแรก สังคมไทยได้เปลี่ยนไปเกินกว่าจะขยายอำนาจควบคุมของกองทัพมากไปกว่านี้ได้ และคงหนีการนองเลือดได้ยาก หากเป็นอย่างหลัง จะไม่เหลือรัฐบาลอะไรที่ได้รับความไว้วางใจจากคนไทยอีกเลย ยังไม่พูดถึงต่างประเทศ ยกเว้นแต่ คมช.ต้องขึ้นมาเป็นรัฐบาลเอง ซึ่งอาจพังเร็วขึ้น และที่น่ากลัวกว่าการพังของคณะรัฐประหารก็คือ หนทางที่จะกู้บ้านกู้เมืองให้กลับคืนมาจะยิ่งไม่เหลืออะไร
ไม่ว่าผู้อยู่เบื้องหลังการระเบิดส่งท้ายปีเก่าจะเป็นใคร ทั้งรัฐบาล และ คมช.ไม่อยู่ในฐานะจะบอกได้ทั้งสิ้น ฉะนั้น การประกาศว่าเป็นการกระทำของนักการเมืองที่สูญเสียอำนาจจึงเป็นคำอธิบายเดียวที่ผู้มีอำนาจในเวลานี้มีอยู่
3. ความรู้และการจัดการความรู้. เมื่อเกิดเหตุขึ้น ผู้คนในสังคมมืดแปดด้าน ไม่เฉพาะแต่มืดในเรื่องผู้ลงมือก่อเหตุเท่านั้น แต่มืดว่า แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหนดี, เราอยากช่วยรายงานสิ่งผิดสังเกตแก่เจ้าหน้าที่, แม้แต่เมื่อพบวัสดุผิดสังเกตแล้ว ควรทำอย่างไรจึงจะปลอดภัยแก่ตนเองและผู้อื่น, หรือเมื่อเกิดระเบิดขึ้นแล้ว ควรช่วยกันทำอะไรบ้าง เพื่อให้การปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและฝ่ายปราบปรามทำได้สะดวก ฯลฯ
ผมเชื่อว่าทั้งหมดนี้ ทั้งตำรวจและทหารล้วนมีความรู้ที่ได้สั่งสมมาจากประสบการณ์ (แม้ไม่มีกลไกที่จะทำให้ประสบการณ์นั้นกลายเป็นองค์ความรู้ที่เรียนได้สืบทอดได้ก็ตาม) ถ้ามีใครจัดการก็จะสามารถกลั่นเอามาให้คำแนะนำแก่ประชาชนได้ในชั่วโมงแรกที่เกิดเหตุการณ์ เช่น ควรหลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชนหรือไม่, ควรสังเกตความผิดสังเกตของวัสดุก็ตามหรือบุคคลก็ตาม ตรงไหนบ้าง, หากอยู่ในที่เกิดเหตุ ควรทำอย่างไรจึงจะได้รับความปลอดภัยหรือเป็นอันตรายแต่น้อย, และควรสังเกตจดจำอะไรบ้างที่จะเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายสืบสวน ฯลฯ
คนไทยที่อยากเป็นพลเมืองดี จะดีได้อย่างไร ที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยแก่สังคม ไม่ใช่เคียดแค้นชิงชังก่นประณามผู้กระทำตามผู้มีอำนาจ กำลังใจนั้นเกิดจากการที่รู้สึกว่าอยู่ภายใต้การดูแลของผู้รู้ และตัวเองก็มีความรู้ที่จะจัดการกับปัญหาได้บ้าง
ผมเชื่อด้วยว่า เมืองไทยนั้นมีความรู้อะไรต่อมิอะไรอีกเยอะแยะ นอกจากการเผชิญกับการก่อการร้ายในเมือง แต่ความรู้เหล่านั้นไม่เคยถูกจัดการให้เป็นระบบที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้เลย กลายเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้เชี่ยวชาญเพียงไม่กี่คน ซึ่งมีหน้าที่รับใช้นาย ในขณะที่นายก็ไม่ฉลาดพอจะจัดการความรู้ให้มีประโยชน์ต่อสังคมด้วย
4. (2 วันหลังเหตุการณ์) ผมพบว่าสื่อไทยนั้นไม่พยายามเจาะข้อมูลมากไปกว่าที่ทางการบอก ฉะนั้น จึงไม่มีอำนาจในการวิเคราะห์ เพราะไม่มีข้อมูลเพียงพอจะวิเคราะห์อะไรได้ แต่ใช่ว่าสื่อไทยอยากเป็นกระบอกเสียงให้แก่ผู้มีอำนาจ หลังสองวันก็เริ่มรายงานผลการวิเคราะห์ของฝรั่ง ซึ่งที่จริงก็ไม่ได้เจาะข้อมูลเหตุการณ์ได้ลึกอะไรนักหนา เพียงแต่เก็บรวบรวมข้อมูลเก่าอย่างเป็นระบบ จนสามารถดึงเอาข้อมูลเก่าเหล่านั้นมาใช้ในการให้ความสว่างบางจุดได้ ทั้งหมดนี้บอกสองอย่าง หนึ่งสื่อไทยต้องคิดถึงการสร้างระบบให้แก่ความรู้ของตนขึ้นอย่างจริงจัง และสองเพื่อจะทำให้สังคมไทยและตัวสื่อเองมีอำนาจต่อรองกับผู้มีอำนาจได้จริง สื่อต้องทำงานหนักกว่านี้ นี่เป็นราคาของเสรีภาพและความน่าเชื่อถือ ซึ่งร้องขอจากผู้มีอำนาจไม่ได้
5. พ่อค้าที่อยู่ในหอการค้าไทย, สมาคมอุตสาหกรรม, สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว ฯลฯ เรียกร้องให้รัฐเร่งจัดการเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะบรรยากาศทางธุรกิจเสียหาย เสียงนี้ก้องสะท้อนไปสะท้อนมาในสื่อต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ผมไม่ได้ยินผู้ทำธุรกิจเก็บขยะหรือที่เราเรียกว่า "ซาเล้ง" คนใดพูดอะไรบ้างเลย ทั้งๆ ที่เขาคือผู้เสี่ยงภัยจากธุรกิจมากกว่าใครทั้งหมด ถ้าจะพูดว่าพ่อค้าพวกแรกคือพวกที่มีประโยชน์เพราะจ้างงานได้แยะ ผมก็อยากจะเตือนว่าซาเล้งคือคนที่พ่อค้าพวกแรกนั้นไม่ได้จ้าง และเขาคือคนที่ช่วยทำให้ขยะในเมืองไทยซึ่งมีการจัดการที่ห่วยแตกที่สุดได้ถูกนำไปหมุนเวียนหรือใช้ใหม่ได้จำนวนหนึ่ง ช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศ และช่วยให้เราไม่ถูกขยะท่วมทับ ส่วนการจ้างงานนั้น ด้วยเงินทุนกระจิริด ซาเล้งจ้างทั้งตัวเอง, เมีย, ลูกและอาจจะแม่ยายให้มีกินมีใช้ไปตามอัตภาพได้ หากเทียบสัดส่วนการจ้างงานจากทุนแล้ว ใครจ้างงานมากกว่ากัน
ผมไม่ได้หมายความว่า ฉะนั้น รัฐจึงควรทอดหุ่ย ไม่ต้องจัดการอะไรกับเรื่องระเบิด ควรจัดการโดยเร็วอย่างมีประสิทธิภาพและยุติธรรม แต่ต้องจัดการด้วยสำนึกถึงซาเล้งด้วย ไม่ใช่พ่อค้าใหญ่ๆ ในสมาคมผลประโยชน์เหล่านั้นเท่านั้น
3. ดุลยภาพในความเปลี่ยนแปลง
ผมขอพูดอะไรที่ใครๆ ก็รู้แล้วเป็นการเริ่มต้นสักนิดหนึ่ง
ในการวิเคราะห์อะไรทางวิชาการนั้น เขามักจะสมมุติให้สิ่งนั้นหยุดนิ่งกับที่
เพื่อจะแยกส่วนและความสัมพันธ์ระหว่างกันของแต่ละส่วนออกมาได้ถนัด ทั้งๆ ที่เขาก็รู้ว่าในความเป็นจริงนั้น
ไม่มีอะไรหยุดนิ่งกับที่อย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นส่วนต่างๆ ที่แยกออกมาวิเคราะห์หรือความสัมพันธ์ระหว่างกัน
และด้วยเหตุดังนั้น ในทางวิชาการจึงจำเป็นต้องเอาสิ่งที่วิเคราะห์ด้วยสภาพสมมุตินั้นกลับไปสู่สภาพความเป็นจริง นั่นก็คือดูว่าในท่ามกลางความแปรผันของสรรพสิ่งนั้น ส่วนต่างๆ ที่แยกออกมาจากกันและความสัมพันธ์ระหว่างกันนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ตลอดจนทำให้เกิดผลรวมที่แปรผันมาตามลำดับอย่างไร ในการทำงานวิชาการจริงนั้น สองขั้นตอนนี้อาจแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเดียวกัน
ผมนำเรื่องนี้ขึ้นมาพูดเพราะเพิ่งได้อ่านปาฐกถาของท่านอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักรัฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงและความสามารถเกี่ยวกับการเมืองไทยในปัจจุบัน ท่านกล่าวว่า องค์ประกอบสำคัญของการเมืองไทยมีอยู่สามส่วนคือ
- เอกบุรุษ (ในปัจจุบันคือพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้รับความเคารพเชื่อฟังจากประชาชนอย่างกว้างขวาง)
- อภิชนาธิปไตย ซึ่งรวมทหาร, ข้าราชการ, คนชั้นกลาง ฯลฯ และ
- ประชาธิปไตย อันประกอบด้วยนักการเมือง, พรรคการเมือง, และประชาชนทั่วไป
การเมืองไทยที่ดำเนินไปได้นั้นต้องมีดุลยภาพของสามส่วนนี้ และการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมาคือการปรับดุลยภาพของการเมือง ท่านพูดทีเล่นทีจริงว่าดุลยภาพของสามส่วนนี้แหละคือระบบตรวจสอบถ่วงดุลของการเมืองไทย
(ผมขอสมมุติว่าผมเห็นด้วยกับองค์ประกอบสามส่วนและดุลยภาพของท่านนะครับ)
ท่านยอมรับว่าการเมืองนั้นเปลี่ยนแปลง แม้แต่รัฐประหารครั้งนี้ก็มีลักษณะแตกต่างไปจากที่ผ่านมาหลายอย่าง แต่สรุปรวมแล้ว "ความเป็นจริง" ของการเมืองไทยคือสามส่วนนี้ ฉะนั้นประชาธิปไตยแบบไทยก็คือดุลยภาพของสามส่วนดังกล่าว ซึ่งทำงานภายใต้รัฐธรรมนูญสองฉบับ ฉบับหนึ่งคือฉบับที่มีการเลือกตั้ง และฉบับที่มีการยึดอำนาจ ผลัดกันใช้ตามแต่จะทำให้เกิดสมดุลทางการเมืองดังกล่าว
ผมคิดว่าเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจมากครับ เพียงแต่ผมเห็นว่าท่านให้ความสำคัญแก่ความเปลี่ยนแปลงน้อยเกินไป หรือไม่จริงจังกับการนำองค์ประกอบเหล่านี้เข้าไปในสภาพของความแปรผันอย่างเพียงพอ. ดุลยภาพไม่ได้เกิดในองค์ประกอบสามส่วนที่หยุดนิ่ง แต่เกิดในสามส่วนที่เปลี่ยนแปลงในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาอย่างมาก การรัฐประหารเป็นการรักษาดุลยภาพที่ใช้ได้ผลน้อยลงทุกที เช่น สิ้นเปลืองชีวิตและทรัพย์สินเกินไปเช่น 6 ตุลาหรือพฤษภาทมิฬ จนถึงที่สุดอาจเป็นเครื่องมือที่ใช้ไม่ได้แล้วก็ได้ เป็นต้น
ผมขอยกตัวอย่างความไม่หยุดนิ่งกับที่ขององค์ประกอบทั้งสามส่วนให้เห็นเป็นตัวอย่างนะครับ
เอกบุรุษหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยใน พ.ศ.2549 กับ พ.ศ.2516 เหมือนกันหรือไม่ ผมคิดว่าไม่ แต่ไม่มีเนื้อที่จะชี้แจงโดยละเอียด เอาเพียงเรื่องเดียวที่ท่านอาจารย์เอนกให้ความสำคัญอย่างมาก นั่นคือความเคารพนับถือเชื่อฟังที่ประชาชนมีต่อสถาบัน ผมไม่ทราบในแง่ปริมาณหรอกครับ คือเมื่อชั่งตวงวัดออกมาเป็นตัวเลขแล้วอาจจะมากขึ้นกว่าเดิมก็ได้ แต่ผมสงสัยว่าในแง่คุณลักษณะ (qualitative attribute) ของความเคารพนับถือเชื่อฟังอาจเปลี่ยนไปแล้ว อย่าลืมนะครับว่าหนึ่งในข้ออ้างการทำรัฐประหารก็คือ การกระทำของทักษิณนั้นหมิ่นเหม่ต่อการลบหลู่เบื้องสูง แต่ในขณะเดียวกันคณะทหารก็ยอมรับว่ามีประชาชนจำนวนมากในภาคเหนือและอีสานที่ยังฝักใฝ่และชื่นชอบคุณทักษิณ
ผมไม่ได้หมายความว่าคนอีสานและคนเหนือไม่ได้จงรักภักดีต่อเบื้องสูง แต่คุณลักษณะของความจงรักภักดีนั้นเปลี่ยนไปแล้วจากที่เคยมีในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อย่างที่เพื่อนผมคนหนึ่งพูดมาก่อนที่คุณทักษิณจะหมดอำนาจว่า คนไทยเวลานี้ "รักในหลวง ห่วงทักษิณ" ถ้าเป็นจริงอย่างที่ผมสงสัย ท่านอาจารย์เอนกคงเห็นด้วยกับผมว่า ฉะนั้นดุลยภาพทางการเมืองย่อมเปลี่ยนแปลงไป บทบาทของเอกบุรุษในการเป็นส่วนหนึ่งของดุลยภาพนั้นย่อมเปลี่ยนไปด้วย หรือถ้าไม่เปลี่ยนก็อาจไม่ได้ผลดังเดิม เป็นต้น
ยิ่งมองลงมาถึงระดับอภิชนาธิปไตยหรืออภิชน ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงมันมโหฬารมากนะครับ เริ่มจากการ "แตกตัว" ของกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า "ชนชั้นกลาง" ก็จะเห็นได้ว่ามีหลายประเภทหลายอนุชนชั้น หลายอะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด คิดเพียงบทบาทของผู้หญิงในหมู่คนชั้นกลางอย่างเดียว ผมคิดว่าคนชั้นกลางในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 กับ 2549 ก็มีกลิ่นหอมผิดกันแยะแล้วนะครับ นอกจากกลิ่นแล้ว โลกทรรศน์ทางการเมืองของคนชั้นกลางก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งเท่ากับว่ามองอะไรที่เป็นดุลยภาพไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว
ดูคนชั้นกลางระดับบน ซึ่งผมคิดว่ามีโลกทรรศน์ทางการเมืองต่างจากคนชั้นกลางระดับกลางอย่างมาก คนกลุ่มนี้ก็เปลี่ยนอย่างมากเหมือนกัน โดยเฉพาะหลังวิกฤตปี 40 ก่อนหน้านั้นเรามองเห็นความเป็นปึกแผ่นของคนกลุ่มนี้อย่างมาก รวมทั้งความเชื่อมโยงกับเอกบุรุษด้วย คนนามสกุลนี้ก็มีสะใภ้สกุลโน้น มีป้าสะใภ้สกุลนู้น วนกันไปวนกันมาอยู่ไม่กี่ตระกูล แม้ว่าในเชิงธุรกิจจะเป็นคู่แข่งกันก็ตาม แต่วิกฤตปี 40 กวาดล้างคนกลุ่มนี้ลงไปไม่น้อย เปิดให้คนกลุ่มใหม่ซึ่งไม่ได้รับความเสียหายจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเงยหน้าอ้าปากในระดับบนได้
คุณทักษิณเองแม้ว่ารวยอยู่แล้ว แต่คุณทักษิณรอดจากวิกฤตออกมาในฐานะที่เหนือคู่แข่งทั้งหมด ไหนจะอาเฮียเจ้าของค่ายเพลง เจ้าของธุรกิจสื่อบันเทิงและกึ่งบันเทิง ฯลฯ แล้วลองดูเมียของคนพวกนี้สิครับ ล้วนนามสกุลธรรมด๊าธรรมดาเหมือนเราท่านทั้งหลาย ความเป็นปึกแผ่นของคนชั้นกลางระดับบนหายไปแล้วนะครับ และการเชื่อมต่อกับคนชั้นกลางในระบบราชการหรือกับเครือข่ายของเอกบุรุษก็ยังไม่เกิดอย่างเป็นกิจจะลักษณะนัก
ดุลยภาพอะไรล่ะครับ จึงจะสามารถทำความพอใจให้กับอภิชนเหล่านี้ได้ถ้วนหน้า ในเมื่อผลประโยชน์ของเขาไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ท่ามกลางความไร้ปึกแผ่นของเขาเองเสียด้วย นอกจากนโยบายทางการเมืองที่แต่ละกลุ่มของพวกเขาได้มีโอกาสต่อรองด้วยอำนาจที่ใกล้เคียงกัน และเมื่อพูดถึงนโยบายทางการเมือง การต่อรองก็ไม่อาจจำกัดอยู่กับเหล่าอภิชนาธิปไตยและเอกบุรุษได้อีกแล้ว เพราะส่วนที่เรียกว่าประชาธิปไตยไม่ได้ยินดีกับบทบาทเก่าของตนอีกต่อไปแล้ว และส่วนนี้แหละครับที่ผมเห็นว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
ในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างมากในสังคมไทยแต่มองไม่เห็นถนัดเหมือนตึกสูงในเมืองคือ"ชนบท" ผมไม่แน่ใจว่าเรายังมีสังคมที่อาจเรียกว่า "ชนบท" เหลืออยู่จริงด้วยซ้ำ ความผูกพันกับเมืองทั้งแง่เศรษฐกิจ, สังคม, วัฒนธรรม, วิถีการบริโภค และการเมืองเพิ่มขึ้นจนไม่รู้จะแยกเมืองและชนบทออกจากกันได้อย่างไร เขาดูรายการทีวีเดียวกับเอกบุรุษและอภิชนในเมือง แน่นอนว่าคนบางกลุ่มสัมพันธ์กับเมืองมากกว่าบางกลุ่ม แต่โดยรวมแล้วเมืองไปตั้งอยู่กลางหมู่บ้านมานานแล้ว
และเช่นเดียวกับองค์ประกอบสองส่วนที่พูดไปแล้ว ที่เรียกว่าส่วนประชาธิปไตยนี้ก็ไม่ได้มีน้ำเนื้อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หากมีการ "แตกตัว" อย่างสลับซับซ้อนมากทีเดียว ไม่ใช่เฉพาะฐานะทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ในทุกๆ ด้านเลยทีเดียว
ว่าเฉพาะในด้านการเมือง การจัดตั้งองค์กรส่วนท้องถิ่นอย่างจริงจังซึ่งดำเนินมากว่า 20 ปีแล้ว ทำให้เกิดนักการเมืองท้องถิ่นที่มีหลากหลายสีสันอย่างมาก ทั้งเป็นกลุ่มที่เข้าถึงอำนาจทางการเมืองโดยไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้นำชุมชนเดิม กลุ่มเหล่านี้เข้ามาเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองในส่วนกลาง และกับกลุ่มอภิชนในหลายลักษณะ
"สำนึกทางการเมือง" ของชาวบ้านก็เปลี่ยนไปจากความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่รุมล้อมเข้ามา รวมทั้งต้องเผชิญกับการปฏิบัติการทางการเมืองในระดับท้องถิ่นขึ้นมาอยู่ตลอดเวลาด้วย สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ในระหว่าง 2516-2519 เรียกร้องกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรมแก่สัญญาเช่าที่ดิน และการประกันราคาพืชผล แต่ชาวนาชาวไร่ในทุกวันนี้เรียกร้องกดดันทางการเมืองอย่างฉลาดต่ออภิชนาธิปไตยและเอกบุรุษในเรื่องสิ่งแวดล้อม, นโยบายพลังงาน, การบริหารจัดการโรงเรียน, โรงพัก, ที่ว่าการอำเภอ หรือแม้แต่ศาลากลางอยู่บ่อยๆ ด้วยการชุมนุมขับไล่ครู, ตำรวจ, นายอำเภอหรือแม้แต่ผู้ว่าฯ
ผมไม่ทราบว่าจะอธิบายความเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนระดับรากหญ้า (มันมีความหมายเฉพาะของมันซึ่งไปดัดจริตเรียกเป็นอื่น ก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเหมือนคำว่า "กระดูกสันหลังของชาติ" ซึ่งเรียกกันมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้ชาวนาดีขึ้นแต่อย่างไร) ซึ่งมีเพิ่มขึ้นอย่างเข้มข้นในสังคมไทยอย่างไร ถ้าเราไม่พูดถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งกว้างขวางซึ่งเกิดแก่พื้นที่ซึ่งเคยถูกเรียกว่าชนบทไทย
ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายในรอบ 30 ปีที่ผ่านมานั้น ทำให้เราไม่สามารถพูดถึงดุลยภาพทางการเมืองที่หยุดนิ่งได้ อันที่จริงหากลงไปดูในรายละเอียดก็จะพบว่าการปรับดุลแต่ละครั้งในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีลักษณะที่เหมือนกันไปหมดทุกอย่าง ดุลที่ดีที่สุดจึงเปลี่ยนจุดไปเรื่อยๆ ตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม ไม่ได้มีจุดตายตัวที่สามารถ "ยุติ" ความขัดแย้งไว้ชั่วคราว เพื่อรอโอกาสสมานฉันท์แล้วก็เปิดความขัดแย้งกันใหม่ จุดดังกล่าวนั้นเลื่อนไปเรื่อยๆ หากยังยืนยันจะใช้แต่จุด "ยุติ" อันเก่า โดยไม่สนใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ก็อาจทำให้เชื้อแห่งความสมานฉันท์ในวัฒนธรรมไทย ซึ่งท่านอาจารย์เอนกชื่นชมนั้นพังพินาศหมดเลยก็ได้
อนึ่ง คาถาสมานฉันท์นั้นใช้กันทุกรัฐในโลก ไม่ใช่คุณลักษณะพิเศษอะไรของไทยแต่ผู้เดียว แต่คาถานี้จะศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าจุดที่ใช้ "ยุติ" ความขัดแย้งนั้น คนทั่วไปเห็นว่า "ยุติธรรม" (คือยุติอย่างถูกต้องทำนองคลองธรรม) หรือไม่ ถ้าเห็นหรือถูกทำให้เห็นว่ายุติธรรม ความขัดแย้งหรือความไม่สมดุลก็อาจ "ยุติ" ลงได้ เพื่อปรับดุลยภาพกันใหม่
ปัญหาเวลานี้ก็คือ ไม่มีใครสามารถทำให้คนทั่วไปเห็นว่าการ "ยุติ" เพื่อปรับดุลยภาพทางการเมืองครั้งนี้ "ยุติธรรม" นี่สิครับ ทั้งนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าองค์ประกอบทางการเมืองได้เปลี่ยน ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบนั้นก็เปลี่ยน สังคมโดยรวมก็เลยเปลี่ยน และแน่นอนว่าจุดที่เป็นดุลยภาพก็เปลี่ยน
คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ในระยะ ๓๐ ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างมากในสังคมไทยแต่มองไม่เห็นถนัดเหมือนตึกสูงในเมืองคือ"ชนบท" ผมไม่แน่ใจว่าเรายังมีสังคมที่อาจเรียกว่า "ชนบท" เหลืออยู่จริงด้วยซ้ำ ความผูกพันกับเมืองทั้งแง่เศรษฐกิจ, สังคม, วัฒนธรรม, วิถีการบริโภค และการเมืองเพิ่มขึ้นจนไม่รู้จะแยกเมืองและชนบทออกจากกันได้อย่างไร เขาดูรายการทีวีเดียวกับเอกบุรุษและอภิชนในเมือง แน่นอนว่าคนบางกลุ่มสัมพันธ์กับเมืองมากกว่าบางกลุ่ม แต่โดยรวมแล้วเมืองไปตั้งอยู่กลางหมู่บ้านมานานแล้ว (คัดมาจากบทความ)