เว็บไซต์ใช้เวลาพัฒนามาตลอดเวลา ๖ ปี กว่า ๒,๑๙๐ วัน แต่ละวันใช้เวลากว่า ๖ ชั่วโมง รวมเวลากว่า ๑๓,๐๐๐ ชั่วโมง เพื่อสร้างอุดมศึกษาทางเลือกสำหรับทุกคนที่อ่านไทย















บทความลำดับที่ ๑๑๑๖ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความวิชาการบนหน้าเว็บเพจนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์
ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ ภายใต้ลิขซ้าย ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นักศึกษาและสมาชิกได้รับอนุญาตให้คัดลอกไปได้คำต่อคำ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร เมื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
R
H
010150
release date
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น... midnight's
ร่วมกันสร้างสรรค์ความรู้และความเสมอภาคเพื่อเตรียมตัวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาธิปไตยในคริสตศตวรรษที่ ๒๑
สำหรับผู้ที่สนใจบทความวิชาการก่อนหน้า ท่านสามารถคลิกที่ภาพประกอบ เพื่อย้อนกลับไปอ่านบทความที่เพิ่งผ่านมาได้จากที่นี่

นักศึกษา สมาชิก สามารถคลิกเพื่อค้นหาบทความต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้จากแถบสีฟ้า
โดยใส่คำค้นที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่ต้องการค้นหา
midnightuniv(at)gmail.com

Thai Politics
The Midnight University

การเมืองและประชาธิปไตยไทย
เรื่องของคำถามที่ไร้คำตอบ และคำตอบที่ไม่ตั้งคำถาม
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความวิชาการ ๒ ชิ้นต่อไปนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้ว บน นสพ.มติชน
ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการเมืองและสังคมไทย ประกอบด้วย
๑. คำถามที่ไร้คำตอบ และ ๒.คำตอบที่ไม่ตั้งคำถาม
เรื่องแรกเขียนโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความแตกร้าวของสังคมไทยระหว่างเมืองกับชนบท
ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว และยุคทักษิณเองก็ไม่อาจก้าวข้าม
ส่วนเรื่องที่สองเขียนโดย เกษียร เตชะพีระ เป็นเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยไทยที่ทุกฝ่ายกำลังเรียกร้อง
ในฐานะที่เป็นคำตอบ แต่ไม่ได้ตั้งคำถาม ซึ่งจะนำไปสู่ความสลดและน่าสังเวช
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๑๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๗.๕ หน้ากระดาษ A4)

 

เรื่องของคำถามที่ไร้คำตอบ และคำตอบที่ไม่ตั้งคำถาม
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ - นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ - คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์8e

1. คำถามที่ไร้คำตอบ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
หลายคนพูดไว้อย่างน่าเชื่อถือว่า ความแตกแยกในสังคมไทยซึ่งเห็นได้ชัดในสมัยรัฐบาลทักษิณนั้น ที่จริงแล้วไม่ใช่ความแตกแยกของคนที่เอาหรือไม่เอาทักษิณ แต่เป็นความแตกแยกในวิถีชีวิต, วิถีเศรษฐกิจ, จนรวมแม้กระทั่งระบบคุณค่าของคนไทยซึ่งอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ต่างกัน

ความแตกแยกดังกล่าวไม่ได้เริ่มในสมัยรัฐบาลทักษิณ แนวโน้มของความแตกแยกนี้เริ่มมานานพร้อมกับนโยบายพัฒนา ซึ่งมีเจตนาแต่แรกที่จะดูดเอาทรัพยากรของคนระดับล่างมาเสริมให้คนระดับบน สามารถสร้างอุตสาหกรรมและพาณิชย-กรรมทันสมัยขึ้น แต่ระบบการเมืองไทย (ทั้งในระบอบเผด็จการและระบอบเลือกตั้ง) ประสบความสำเร็จที่จะสถาปนาความ "รู้รักสามัคคี" ขึ้นเป็นอุดมการณ์ในการอธิบายสังคม ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ข้อขัดแย้งทั้งหลายอาจถูกระงับลงได้ แม้ด้วยความเป็นธรรมหรือไม่ก็ตาม เพื่อรักษาความ "รู้รักสามัคคี" ของชาติไว้ แต่เนื้อแท้ของการพัฒนาซึ่งเติบโตเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่อนุญาตให้ความขัดแย้งเหล่านั้นสงบระงับลงได้ กลับยิ่งร้าวลึกหนักขึ้นไปอีก และสัญญาณแห่งความแตกร้าวเช่นนี้ก็เห็นได้มากขึ้นมาก่อนที่คุณทักษิณ ชินวัตร จะขึ้นเป็นนายกฯ แล้ว

รัฐบาลทักษิณอาจเป็นรัฐบาลแรกที่มองเห็นว่า อุดมการณ์ "รู้รักสามัคคี" ไม่อาจระงับความแตกร้าวในสังคมได้เสียแล้ว และระบอบทุนนิยมไทยจะเติบโตต่อไปอย่างราบรื่นไม่ได้ หากไม่สมานรอยร้าวนี้ จำเป็นต้องมีอะไรที่เป็นรูปธรรมกว่านั้นในการทำให้คนระดับล่างจำนนต่อทุนนิยม นั่นคือที่มาของนโยบายที่ถูกเรียกว่า "ประชานิยม" ต่างๆ บางคนอาจแย้งว่า รัฐบาลทักษิณไม่ได้คิดอะไรมากถึงขนาดนั้น การผลักทรัพยากรกลางไปยังชนบทบ้าง ก็เพียงเพื่อเรียกคะแนนเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ไว้กับพรรคตนเท่านั้น

ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร รัฐบาลทักษิณบอกให้เรารู้ว่า การเมืองไทยจะไม่สามารถกลบความขัดแย้งที่มากับการพัฒนาและการเติบโตของทุนนิยมไว้ภายใต้อุดมการณ์ "รู้รักสามัคคี" อีกต่อไป ทุนนิยมไทยเติบโตต่อไปไม่ได้ด้วยซ้ำ หากไม่จัดการกับรอยร้าวนี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะจัดการเพื่อคะแนนเสียงหรือจัดการเพราะเข้าใจปัญหาก็ตาม

แท้จริงแล้ว รัฐบาลทักษิณน่าจะเป็นตัวแทนที่ดีที่สุดที่ทุนนิยมไทยจะหาได้ในช่วงนี้ กล่าวคือเปิดทางให้ทุนนิยมได้เติบโตและได้ดูดทรัพยากรของคนเล็กคนน้อยต่อไป โดยสร้างระบบสวัสดิการของรัฐที่ทุนนิยมไทยพอรับไหวขึ้นเพื่อสงบรำงับคนระดับล่าง เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคมไทยที่ทุนต่างชาติชอบ แต่ในขณะเดียวกันแข็งกร้าวกับศัตรูของทุนนิยมที่ไม่ยอมอยู่ในกติกาซึ่งทุนกำหนดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักเคลื่อนไหวในภาคใต้ หรือสมัชชาคนจน และกลุ่มอนุรักษ์ฯ จะนะ, อุดรธานี ฯลฯ

แต่มีปัญหาสองสามอย่างที่รัฐบาลทักษิณก้าวข้ามไม่พ้น

ประการแรก คือ รัฐบาลทักษิณ "หยาบ" เกินไป นโยบายหลายประการของรัฐบาลซึ่งน่าจะสร้างความพึงพอใจแก่คนระดับล่างได้มากกว่านี้ ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะดำเนินการอย่างหยาบๆ บ้างก็เพื่อหาผลประโยชน์ให้แก่เครือข่ายหัวคะแนน (อดีตนายกฯ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายคุณประโยชน์ของนโยบายเงินผันว่า ผู้ใหญ่ในส่วนกลางได้โกงกินงบประมาณมามากแล้ว เงินผันทำให้ผู้นำของคนระดับล่างได้โกงกินบ้าง - ดูเหมือนเป็นตรรกะประเภทเดียวกัน) บ้างก็มีการทุจริตกันตั้งแต่ระดับบนลงไป ทำให้นโยบาย "ประชานิยม" ขาดความชอบธรรมแก่คนชั้นกลางซึ่งไม่ค่อยได้อะไรอยู่แล้ว

ประการที่สอง การทุจริตคอร์รัปชั่นไม่เป็นอุปสรรคต่อการเป็นตัวแทนที่ดีของทุนนิยมไทย แต่จำเป็นต้องทำให้คนทุกกลุ่มในระบบทุนไทย เชื่อว่ากินแบ่ง ไม่ใช่กินรวบ รัฐบาลทักษิณไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้ทุนไทยเชื่อว่ากินแบ่ง ภาพของการกินรวบกลับปรากฏชัดขึ้นตลอดมา จนมาถึงจุดสุดยอดในการขายหุ้นชินคอร์ปฯ แก่ต่างชาติ (ซึ่งอาจมีเบื้องหลังลึกลับซับซ้อนกว่าที่เรารู้กันอยู่ในปัจจุบัน) ผลักให้ผู้นำของทุนไทยกับคนชั้นกลางซึ่งรังเกียจการคอร์รัปชั่นจับมือเป็นพันธมิตรกันง่ายขึ้น

ประการที่สาม อุดมการณ์ "รู้รักสามัคคี" นั้นเป็นอุดมการณ์เก่าแก่ในสังคมไทยพอสมควร อย่างน้อยเราก็ได้เห็นการย้ำอุดมการณ์นี้มาตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว (สุขา สังฆัสสะ สามัคคี เป็นคาถาบนตราอาร์มแผ่นดินสมัย ร.๕) ฉะนั้นจึงเป็นธรรมดาที่มีสถาบันทางสังคมแวดล้อมอยู่กับอุดมการณ์นี้มากมายหลายสถาบัน การนำเอานโยบาย "ประชานิยม" ที่เป็นรูปธรรมเข้ามาแทนที่ ย่อมเท่ากับถอยลำดับความสำคัญ (relegate) ของสถาบันต่างๆ เหล่านั้นลง ความไม่ไว้วางใจไปจนถึงความเป็นอริกับรัฐบาลทักษิณของสถาบันเหล่านั้นจึงก่อรูปขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนในบั้นปลาย ก็มีการเชื่อมโยงกันเป็นแนวร่วมออกมาเผชิญหน้ากับรัฐบาลทักษิณอย่างเปิดเผย

การรัฐประหารยุติความ "หยาบ" , ความไม่โปร่งใส, และการละทิ้งอุดมการณ์ "รู้รักสามัคคี" ได้ แต่หาได้ยุติความแตกร้าวที่อยู่ในระดับโครงสร้างของสังคมไม่. "ทางเลือก" ของรัฐบาลทักษิณ (ถ้านั่นเป็นการเลือกด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่เพียงเพื่อรักษาอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งไว้โดยไม่ต้องแสวงหาความชอบธรรมทางอื่น) เป็น "ทางเลือก" ที่สังคมไทยเปราะบางเกินกว่าจะรับได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราไม่จำเป็นต้องหา "ทางเลือก" อื่นที่เป็นไปได้มากกว่า เพื่อสมานความแตกร้าวที่มีอยู่

คณะรัฐประหารและกลไกรัฐต่างๆ ที่สร้างขึ้นรองรับ ยังไม่ได้เปลี่ยนนโยบายที่เรียกกันว่า "ประชานิยม" ของรัฐบาลทักษิณ เพียงแต่ทำให้ภาพของความ "หยาบ" ลดลง แม้กระนั้นโดยเนื้อแท้แล้วก็ยัง "หยาบ" อยู่เหมือนเดิม กล่าวคือไม่ได้สร้างกระบวนการและกลไกอะไรใหม่ ที่จะทำให้ทรัพยากรกลางนั้นตกไปถึงมือคนจนคนไร้อำนาจ หรือถึงมือคนที่มีศักยภาพจะพัฒนาทรัพยากรที่ได้ไปให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น

จึงไม่มีใครในบรรดาคนระดับล่าง "ได้" จากคณะรัฐประหาร มีแต่คน "เสีย" โดยเฉพาะคนซึ่งเคยอยู่ในเครือข่ายหัวคะแนนของรัฐบาลเก่า ดังนั้น คณะรัฐประหารและรัฐบาลจึงไม่มีมิตรเพิ่มขึ้น ในขณะที่มีศัตรูเท่าเดิม หรืออาจจะมากขึ้นด้วย

สิ่งที่คงจะถูกใจคนชั้นกลาง (ซึ่งสำนักโพลต่างๆ เข้าถึงสะดวก) คือดูเหมือนจะมีความโปร่งใสมากขึ้นในการดำเนินนโยบาย แต่ก็เป็นความโปร่งใสแปลกๆ เพราะเป็นความโปร่งใสที่เกิดจากการหาพยานหลักฐานมาชี้ว่ารัฐบาลเก่าโกง ไม่ได้เกิดจากการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารให้มีการตรวจสอบจากประชาชนได้สะดวกขึ้นแต่อย่างไร ฉะนั้น แม้แต่ภาพของความโปร่งใสที่คณะรัฐประหารสร้างขึ้นนี้ ก็ทำนายไม่ถูกเหมือนกันว่าจะได้รับการรับรองจากคนชั้นกลางต่อไปได้นานสักเท่าไร

ตรงกันข้าม กลุ่มที่น่าจะพอใจคณะรัฐประหารและรัฐบาลที่สุดน่าจะเป็นกลุ่มทุน แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนตัวบุคลากรที่คุมเค้กก้อนใหญ่ๆ ในรัฐวิสาหกิจมาเป็นคนของคณะรัฐประหาร แต่ดังที่กล่าวแล้วว่ากลุ่มทุนไทยซึ่งเติบโตมากับการจ่าย "ค่าต๋ง" ตลอดยุคสมัยแห่งการพัฒนา หาได้รังเกียจการทุจริตกินสินบาทคาดสินบนแต่อย่างใด สิ่งที่สำคัญกว่าแก่พวกเขา คือต้องเปิดโอกาสให้แก่ทุกกลุ่มอย่างค่อนข้างเท่าเทียมกัน (เช่นกินสินบนให้เสมอหน้ากันหน่อย) รัฐบาลปัจจุบันได้ทำอะไรหลายอย่างที่จะทำให้ธุรกิจที่เคยเสียเปรียบในสมัยรัฐบาลเก่าได้เงยหน้าอ้าปาก ในขณะที่ก็ไม่ตัดโอกาสธุรกิจที่เคยร่วมกับรัฐบาลเก่าเสียทีเดียว การกินแบ่งกำลังกลับมาแทนที่การกินรวบ

อุดมการณ์ "รู้รักสามัคคี" กลับมาเป็นแกนกลางของการแก้ปัญหาความแตกร้าวในสังคม สถาบันต่างๆ ที่แวดล้อมอุดมการณ์นี้ได้รับการส่งเสริมเต็มที่ กลับมามีสถานะและบทบาทเก่าอย่างไม่มีผู้ใดท้าทาย (อย่างน้อยก็อย่างเปิดเผย) แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้แก้ปัญหาความแตกร้าวเชิงโครงสร้าง และความไม่เพียงพอ (inadequacy) ของอุดมการณ์ต่อความสลับซับซ้อนของสังคมปัจจุบันซึ่งได้เปลี่ยนไปมากแล้วได้ (เช่นคนที่ถูกเขื่อน, ท่อก๊าซ, เหมืองโปแตช, โรงไฟฟ้าถ่านหิน, เอฟทีเอ, การเก็งกำไรที่ดิน, โรงงานอุตสาหกรรม, ฯลฯ ทำลายชีวิตลงโดยสิ้นเชิง จะ "รู้รักสามัคคี" กับใคร ในเมื่อไม่มีใครอยาก "รู้รักสามัคคี" กับเขามาแต่ต้นแล้ว)

ความแตกร้าวของสังคมในระดับโครงสร้างเป็นปัญหาที่แท้จริงของสังคมไทย คำตอบแบบรัฐบาลทักษิณ ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ก็เป็นไปไม่ได้ในการเมืองไทย เพราะในที่สุดกลับทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้นด้วยความเห็นชอบของคนชั้นกลาง แต่คณะรัฐประหารก็ไม่มีแม้ความเข้าใจว่า แท้จริงแล้วประเทศไทยกำลังเผชิญอะไรอยู่ ฉะนั้นการ "ปฏิรูปการเมือง" ภายใต้การนำของกลุ่มทหารที่ไม่ประสีประสาเหล่านี้ จึงยากที่จะนำไปสู่คำตอบที่เป็นไปได้ที่สุดทางการเมือง ในการแก้ปัญหาความแตกร้าวของสังคม

คนไทยคงต้องร้องเรียกหาความสมานฉันท์กันต่อไปอีกนาน

2. "คำตอบที่ไม่ตั้งคำถาม"
โดย เกษียร เตชะพีระ
หลังจากคิดกลับไปกลับมาพักใหญ่เรื่อง "ประชาธิปไตยตามหลักการสากล" กับ "ประชาธิปไตยแบบภูมิปัญญาไทย", "กระบวนท่าประชาธิปไตยสากลนิยม" กับ "กระบวนท่าประชาธิปไตยสัมพัทธ์นิยม" ฯลฯ ผมก็ชักเอะใจว่าสงสัยตัวเองจะกลายเป็นพวก Pragmatist หรือสัมฤทธิผลนิยมเข้าให้อีกคนแล้วล่ะครับ เพียงแต่จะเป็นตามนิยามความหมายของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล หรือไม่ ก็ยังไม่แน่ใจ (ดูบทความของเขาเรื่อง "สัมฤทธิผลนิยม (Pragmatism) ของปัญญาชนไทยกับการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549", กรุงเทพธุรกิจ, 9 พ.ย. พ.ศ. 2549)

คือผมเห็นว่าทางเลือกที่ถูกนำเสนอทั้ง 2 ทางกล่าวคือ

1) จงเปลี่ยนแปลงตัวท่านเองโดยปฏิเสธอัตลักษณ์ตัวตนของท่านเสีย (หรือ "ประชาธิปไตยตามหลักการสากล") มิฉะนั้นก็....
2) จงเป็นตัวของตัวเองดังเดิมนี่แหละและเลิกคิดจะเปลี่ยนแปลงตัวเองเสีย (หรือ "ประชาธิปไตยแบบภูมิปัญญาไทย") นั้น

ประทานโทษที ด้วยความเคารพ มันงี่เง่าทั้งคู่ กล่าวคือ กลุ่มอาการยึดมั่นถือมั่นหลักมูลฐานทั้งสอง (the two fundamentalist syndromes) มันเป็นประตูปิดตาย, ทางตันและวงจรอุบาทว์ทางวัฒนธรรมและสติปัญญาที่ป้อนเลี้ยงซึ่งกันและกันไปมาทั้งคู่ (mutually-reinforcing cultural and intellectual closure, impasse & vicious circle) แม้ว่ามันอาจเป็นคำขวัญโฆษณาที่กิ๊บเก๋ และข้อวิพากษ์ทางการเมืองที่เฉียบแหลมทรงพลังก็ตาม

ตรงกันข้าม ผมเห็นว่าสิ่งที่น่าทำกว่าคือ เปิดประตูแห่งการตีความ "ประชาธิปไตย" ให้กว้างขวางออกไปแก่ทุกสังคมวัฒนธรรมในโลกและชนทุกหมู่เหล่าในสังคมเดียวกัน เพื่อการนี้ เราไม่ควรถือ "ประชาธิปไตย" เป็นสมบัติผูกขาดที่จดสิทธิบัตรโดยตะวันตก หรือสินค้านำเข้าที่ผูกขาดการตีความครอบครองโดยรัฐและชนชั้นปกครองในประเทศหนึ่งๆ

หากควรถือมันเป็น "ทรัพยากรร่วม" (common resource) ที่มีให้มนุษยชาติทั้งมวลได้ใช้และอาจถูกครอบครองและตีความได้โดยทุกสังคมวัฒนธรรมและชนทุกหมู่เหล่าในสังคมนั้นๆ
(ฟังตัวเองดูแล้ว มันคล้ายๆ ทรรศนะ Pragmatic Pluralism ของ Richard Rorty อาจารย์ปรัชญาอเมริกันคนนั้นอย่างไรชอบกล แต่ช่างเถอะครับ)

เพราะในความเป็นจริง "ประชาธิปไตย" ก็ได้กลายเป็นรูปแบบการปกครองมาตรฐานซึ่งเป็นที่แพร่หลายยอมรับในโลกปัจจุบันไปแล้ว อีกทั้งได้ถูกประชาชนผู้ถูกรังแกกดขี่นานาประเทศหยิบฉวยใช้เป็นอาวุธทางการเมือง เพื่อป้องกันปกปักรักษาสิทธิเสรีภาพ ผลประโยชน์และวิถีชีวิตของตน แม้แต่ระบอบอำนาจนิยมพลเรือนและเผด็จการทหารต่างๆ ก็ยังหนีไม่พ้นที่ต้องสำแดงอาการจำนนจงรักภักดีและประกาศถือ "ประชาธิปไตย" เป็นหลักความชอบธรรมและเป้าหมายทางการเมือง

ปัญหาอยู่ตรงรัฐและชนชั้นปกครองอำนาจนิยมพลเรือนและเผด็จการทหารเหล่านี้ พยายามโมเมรับเหมาผูกขาดการตีความครอบครอง "ประชาธิปไตย" ให้สนองอำนาจและประโยชน์ตนในระดับประเทศ ทำนองเดียวกับที่มหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาสถาปนาตนเป็น "จักรวรรดิประชาธิปไตย" ระดับโลก แล้วกรีธาทัพไปยัดเยียด "ประชาธิปไตย" ในนิยามความหมายของตัวให้ประเทศที่สำคัญต่อฐานะความมั่นคงและผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของตน เช่น อัฟกานิสถาน, อิรัก เป็นต้น

การสานเสวนา (dialogue) เรื่อง "ประชาธิปไตย" อย่างเปิดกว้าง เสรี เสมอภาคและเป็นธรรมในโลกของอำนาจนิยมพลเรือน, เผด็จการทหาร, และจักรวรรดินิยมตะวันตกเช่นนี้ย่อมยากเย็นแสนเข็ญ แต่นั่นก็ยิ่งเป็นเหตุผลให้ต้องรอบคอบระมัดระวังการใช้กระบวนท่าประชาธิปไตยต่างๆ ไม่ว่า "สากลนิยม" หรือ "สัมพัทธ์นิยม" ไปตราหน้าหรือแก้ต่างแก่โครงการทางการเมืองต่างๆ ให้จงดี เพราะง่ายที่จะกลายเป็นเครื่องเสริมหนุนกระแสอันไม่พึงประสงค์ที่ล้อมรอบเป็นกรอบแห่งความสัมพันธ์ทางอำนาจในระดับประเทศและระดับโลกอยู่

ผมพูดเช่นนี้ด้วยความรักนับถือและน้ำใจไมตรีที่มีมานานต่อทั้งอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี, เอนก เหล่าธรรมทัศน์, ธงชัย วินิจจะกูล และบางท่านอื่นๆ

เราจะเห็นความล่อแหลมสุ่มเสี่ยงในกรณีนี้ได้หากคิดถึงบรรดา "คำตอบที่ไม่ตั้งคำถาม" หลักๆ ซึ่งมีการเสนอให้แก่การเมืองไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยายน ศกนี้ที่ผ่านมา กลุ่มและเครือข่ายต้านรัฐประหารต่างๆ เสนอให้เร่งรื้อฟื้นประชาธิปไตย, จัดเลือกตั้ง, นำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มาใช้ใหม่โดยเร็วที่สุด, พูดง่ายๆ ท่านเรียกร้องให้เอา "ประชาธิปไตย" แบบที่เป็นอยู่ก่อน 19 กันยายน ศกนี้กลับคืนมา ท่านพูดราวกับว่านอนหลับคุดคู้ไม่รู้เรื่องรู้ราวอยู่สี่ซ้าห้าปี!

เพราะถ้ามีบทเรียนอะไรที่ระบอบอำนาจนิยมขวาใหม่ ภายใต้รัฐบาลบุชที่อเมริกาและภายใต้รัฐบาลทักษิณที่เมืองไทยจะสอนเราได้บ้าง มันก็คือว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นสามารถป่าเถื่อนได้อย่างเหลือเชื่อ และอาจลื่นไถลกลายเป็นการปกครองแบบ "ทรราชของเสียงข้างมาก" (the tyranny of the majority) ได้อยากน่ากลัว

คำตอบ "ระบอบประชาธิปไตย" ที่ท่านอาสาเสี่ยงสู้เพื่อจะนำสังคมไทยกลับไปนั้น มีหลักประกันแตกต่างอย่างไรออกไปบ้างว่ามันจะไม่นำไปสู่.... การที่เจ้าหน้าที่รัฐฆ่าตัดตอนผู้ต้องสงสัยค้ายาเสพติด 2,596 คน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 1,432 คน (เมื่อผมยกตัวอย่างเรื่องนี้ให้นักศึกษาฟังในการบรรยายวิชาปรัชญาการเมือง ผมบอกให้เขาจินตนาการถึงห้องบรรยายรวมที่ใหญ่เท่านั้น 17 ห้อง ทุกห้องมีจำนวนคนเรียนพอๆ กับพวกเขาคือ ราวร้อยห้าสิบคน แล้วทั้งหมดถูกยิงทิ้งโดยไม่ขึ้นศาล)

- การที่เจ้าหน้าที่รัฐอุ้มหายทนายสิทธิมนุษยชนมุสลิม สมชาย นีละไพจิตร และประชาชนชายแดนภาคใต้นับสิบ

- การที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังรุนแรงเกินกว่าเหตุ จนมีผู้เสียชีวิตมากมายในกรณีกรือเซะ, กรณีตากใบ, กรณีสะบ้าย้อย

- การที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังทุบตีทำร้ายร่างกายทรัพย์สิน ละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้ชุมนุมประท้วงท่อก๊าซไทย-มาเลย์ที่หาดใหญ่
- การที่เจ้าหน้าที่รัฐซ้อมทรมานผู้ต้องหาก่อความไม่สงบภาคใต้หลายต่อหลายคดี

- ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

(ผมของดเว้นไม่กล่าวถึงบรรดาข้อกล่าวหาว่า รัฐบาลชุดที่แล้วทุจริตคอร์รัปชั่นนานัปการ เพราะในความเห็นผม เมื่อเทียบกับการละเมิดสิทธิมนุษชนฆ่าฟันคนไทยด้วยกันตายเป็นเบือนับพันๆ แล้ว มันเป็นเรื่องเล็กน้อยนัก หากมีใครจะร้องไห้ เขาควรหลั่งน้ำตาให้เหยื่อของการก่อการร้ายโดยรัฐเหล่านี้มากกว่า)

ถ้าจะบอกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่ได้สั่งการหรือรู้เห็นเป็นใจด้วย (ซึ่งยังต้องรอการพิสูจน์) แต่อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลนั้นหมายถึง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคน ก็ต้องร่วมรับผิดชอบทางการเมืองในฐานะที่กรณีเหล่านี้ทั้งหมดเกิดขึ้น ขณะพวกเขาอยู่เวรยามปกครองดูแลบ้านเมือง รักษากฎหมายรัฐธรรมนูญและสิทธิเสรีภาพของประชาชน และทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นภายใต้การปกครองใน "ระบอบประชาธิปไตย"

นี่น่ะหรือครับ "ระบอบประชาธิปไตย" ที่กลุ่มเครือข่ายต่อต้านรัฐประหารต่างๆ เสนอเป็นคำตอบแก่สังคมไทยโดยไม่ตั้งคำถาม และอาสาจะพาเรากลับไปสู่มัน? You must be kidding.

ในทางกลับกัน คำตอบของ คปค.-คมช. และรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ สำหรับการเมืองไทยก็ส่อเค้ารอยชัดขึ้นทุกทีว่า จะเป็นระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบเหมือนสมัยรัฐบาลพลเอก เปรม เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มีกองทัพและสถาบันอำนาจนำตามประเพณีค้ำจุนหนุนหลัง ที่วุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง ที่ระบบราชการอำนาจนิยมรวมศูนย์ภายใต้การนำของกองทัพเป็นฐานและกลไกการใช้อำนาจเหนือเศรษฐกิจสังคม ที่รัฐราชการเป็นหุ้นส่วนกับกลุ่มทุนต่างๆ แทนที่จะเป็นเครื่องมือในการยึดกุมของกลุ่มทุนการเมืองใหญ่

ที่ม็อบจัดตั้งของมหาดไทย-กองทัพ-กอ.รมน.เป็นฐานมวลชนให้ระดมมาใช้แสดง "พลังประชาธิปไตย" และ "มติมหาชน" ได้ยามต้องการ ที่ความขัดแย้งและการต่อสู้ทางชนชั้นถูกบริหารจัดการผ่านอุดมการณ์ชาตินิยมราชการบวกการอุปถัมภ์ และควบคุมปราบปรามโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง-ความมั่นคง-ข่าวกรองของรัฐ-แทนที่และเป็นตัวแทนชนชั้นนายทุน โดยมีพรรคการเมืองและนักเลือกตั้งเป็นตัวประกอบในระบอบ, ในสภา, และในคณะรัฐมนตรี

โดยสรุป มันเป็นการฟื้นรัฐไทยในยุคสงครามเย็นที่เคยใช้ต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์และถ่วงดุลอำนาจนักเลือกตั้งในอดีต กลับมาใช้ทัดทานถ่วงดุลอำนาจกลุ่มทุนใหญ่ และปกครองควบคุมประชาชนในยุคโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน

ถ้าคำตอบของพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน และ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ แก่การเมืองไทยเป็นแบบนี้โดยไม่ตั้งคำถามใดๆ เลย ก็น่าที่ท่านทั้งสองจะนำพวกเราคนไทยร้องไห้ แสดงความสลดสังเวชใจแก่ปีใหม่ที่กำลังย่างกรายมาถึงกันทุกคน

(29 ธันวาคม 2549) กระแสทัศน์


 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์





สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

รัฐบาลทักษิณอาจเป็นรัฐบาลแรกที่มองเห็นว่า อุดมการณ์ "รู้รักสามัคคี" ไม่อาจระงับความแตกร้าวในสังคมได้เสียแล้ว และระบอบทุนนิยมไทยจะเติบโตต่อไปอย่างราบรื่นไม่ได้ หากไม่สมานรอยร้าวนี้ จำเป็นต้องมีอะไรที่เป็นรูปธรรมกว่านั้นในการทำให้คนระดับล่างจำนนต่อทุนนิยม นั่นคือที่มาของนโยบายที่ถูกเรียกว่า "ประชานิยม" ต่างๆ บางคนอาจแย้งว่า รัฐบาลทักษิณไม่ได้คิดอะไรมากถึงขนาดนั้น การผลักทรัพยากรกลางไปยังชนบทบ้าง ก็เพียงเพื่อเรียกคะแนนเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ไว้กับพรรคตนเท่านั้น ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร รัฐบาลทักษิณบอกให้เรารู้ว่า การเมืองไทยจะไม่สามารถกลบความขัดแย้งที่มากับการพัฒนาและการเติบโตของทุนนิยมไว้ภายใต้อุดมการณ์ "รู้รักสามัคคี" อีกต่อไป