บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๑๐๙ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙
22-12-2549

 

 

 

 

 

 

H
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น



Media in South Korea
The Midnight University

เสรีภาพของคนทำสื่อในเกาหลีใต้
สื่อเกาหลีใต้ : อิสระที่งอกงามจากสังคมที่เจ็บแล้วรู้จักจำ
เพ็ญนภา หงษ์ทอง - สมเกียรติ ตั้งนโม

(รวบรวมโดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

บทความวิชาการชิ้นนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอิสรภาพที่ได้มาของคนทำสื่อในเกาหลีใต้ ประกอบด้วย
๑. สื่อเกาหลีใต้ : อิสระที่งอกงามจากสังคมที่เจ็บแล้วรู้จักจำ
๒.ชะตากรรมอันขมขื่นของสื่อเกาหลีใต้ ก่อนได้รับอิสรภาพ
เรื่องแรกเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับไอทีวีในเมืองไทย
โดยมองภาพสะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ นสพ.ฮังเกียวเรห์ ของเกาหลีเปรียบเทียบ
ส่วนเรื่องที่สองเกี่ยวกับชะตากรรมอันขมขื่นที่สื่อเกาหลีได้ถูกเซนเซอร์อย่างหนัก
ก่อนที่จะได้รับอิสรภาพและเสรภาพอย่างทุกวันนี้
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๐๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๓.๕ หน้ากระดาษ A4)



สื่อเกาหลีใต้ : อิสระที่งอกงามจากสังคมที่เจ็บแล้วรู้จักจำ
เพ็ญนภา หงษ์ทอง - สมเกียรติ ตั้งนโม (เขียน - เรียบเรียง)

1. สื่อเกาหลีใต้ : อิสระที่งอกงามจากสังคมที่เจ็บแล้วรู้จักจำ : เพ็ญนภา หงษ์ทอง
คำถามถึงอนาคตของไอทีวีในลักษณะนี้ดังกระหึ่มไปทั่วทั้งในสังคมสื่อและสังคมสาธารณะในวงกว้าง อนาคตของไอทีวีไม่ได้เป็นเพียงอนาคตของสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ไม่ได้เป็นเพียงอนาคตของกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้เป็นเพียงอนาคตของพนักงานกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้เป็นเพียงอนาคตของรายได้รัฐบาลจากการเก็บค่าสัมปทาน แต่มันคืออนาคตของประเทศไทย อนาคตของประชาชนไทยที่เกือบทุกบ้านมีโทรทัศน์ไว้รับชมเรื่องราวความเป็นไปในโลกนี้และในประเทศนี้ โครงสร้างในอนาคตของไอทีวี หมายถึงทิศทางการคัดสรรข่าวสาร สาระ ความรู้ และความบันเทิงไปสู่จอโทรทัศน์ของคนนับสิบล้าน หมายถึงการปลูกฝังค่านิยม ทัศนคติ และความเชื่อให้กับคนรุ่นปัจจุบันและรุ่นอนาคต หมายถึงส่วนหนึ่งของวันพรุ่งนี้ของชาติ

อนาคตของไอทีวีจึงเป็นเรื่องใหญ่และซับซ้อนเกินกว่าจะให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาชี้เป็นชี้ตาย เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะยึดติดอยู่กับความแคบๆ เพียงแค่สองทางจะเอากลับมาเป็นของรัฐบาลหรือจะให้อยู่ในกำมือของเอกชน. อำนาจรัฐและอำนาจทุนไม่ควรจะเป็นเงื่อนไขในการกำหนดอนาคตของสื่อโดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ที่มีอิทธิพลมากมายมหาศาลต่อสังคมไทย

เพื่อเสนอแนวทางหนึ่งในการร่วมกันหาอนาคตให้กับไอทีวี รวมทั้งสื่ออื่นๆ ในสังคมไทยเพื่อให้เป็นสื่อเสรีที่ปราศจากการครอบงำของกลุ่มอิทธิพลอย่างแท้จริง ผู้เขียนขอแนะนำให้สังคมไทยได้รู้จักกลุ่มสื่อในเกาหลีใต้กลุ่มหนึ่งที่มีประวัติการเกิด โครงสร้างผู้ถือหุ้น และเงื่อนไขการควบคุมในการทำหน้าที่สื่อมวลชนน่าสนใจและควรแก่การศึกษา นั่นคือกลุ่ม 'ฮังเกียวเรห์' (Hankyoreh)

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1980 เมื่อครั้งเกาหลีใต้ยังอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารชุน ดู ฮวาน ที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจ ในเดือนธันวาคม 2522 ด้วยการทำรัฐประหารรัฐบาลของชอย กิว ฮา ซึ่งสืบทอดอำนาจมาจากเผด็จการปาร์ก จอง ฮี ที่ปกครองประเทศมาถึง 18 ปีอีกทีหนึ่ง เช่นเดียวกับเผด็จการทหารในประเทศอื่นๆ ทำเมื่อก้าวขึ้นมามีอำนาจ ชุน ดู ฮวาน ปกครองประเทศด้วยกฎอัยการศึก แก้รัฐธรรมนูญที่แม้จะมีบทบัญญัติให้การรองรับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในด้านต่างๆ รวมทั้งสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นประเด็นที่ใหม่มากในตอนนั้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็สงวนสิทธิให้กับผู้ปกครองประเทศอย่างมหาศาล เช่นให้อำนาจสิทธิขาดประธานาธิบดีในการยุบสภาและควบคุม "สถานการณ์ฉุกเฉิน" รวมทั้งไม่ให้สิทธิทางการเมืองใดๆ กับประชาชนเลย

การรัฐประหารของชุน ดู ฮวาน ก่อให้เกิดการรวมตัวกันครั้งใหญ่ของนักศึกษาและประชาชน ที่ออกมาคัดค้านเผด็จการ นำไปสู่การล้อมปราบนักศึกษาอย่างโหดร้ายที่รู้จักการในนามเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เมืองกวางจู ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2523

ภายใต้กฎอัยการศึก นักการเมืองฝ่ายค้าน นักข่าวนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าจำนวนมากถูกจับ สื่อต่างๆ ถูกสั่งปิด นับเป็นช่วงเวลาที่ทั้งประชาชน นักการเมือง และสื่อมวลชนในเกาหลีใต้ (ยกเว้นที่สนับสนุนและเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาล) ถูกคุกคามและกดดันอย่างหนักจากรัฐบาลเผด็จการ องค์กรสื่อหลายองค์กรเอาตัวรอดในภาวะวิกฤติด้วยการไล่พนักงานหัวก้าวหน้าที่เรียกร้องเสรีภาพออก นักข่าวจำนวนนับพันคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพ ไม่สามารถปฏิบัติวิชาชีพของตนเองได้

การประท้วงรัฐบาลเผด็จการดำเนินไปควบคู่กับการกดขี่ของรัฐบาล วาระสุดท้ายของชุน ดู ฮวาน มาถึงในวันที่ 29 มิถุนายน 2530 เมื่อประชนชนชาวเกาหลีใต้นับสิบล้านคนเดินขบวนประท้วง กดดันรัฐบาลทหารซึ่งสุดท้ายยอมมอบตัวและคืนอำนาจในการปกครองประเทศให้กับรัฐบาลที่กำลังจะมาจากการเลือกตั้งทางตรง (ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาในตอนนั้นคือ ความไม่เข็มแข็งและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มนักการเมืองฝ่ายค้าน ดังนั้นผลของการเลือกตั้งในครั้งนั้น ทำให้ชาวเกาหลีใต้ได้ประธานาธิบดีที่ชื่อว่า โรห์ แต วู ซึ่งเป็นคู่หูร่วมปฏิวัติของชุน ดู ฮวาน และเป็นผู้นำทหารที่ออกมาเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เมืองกวางจู ในปี 2523)

ในช่วงระหว่างที่นักศึกษาและประชาชนออกมาลุกขึ้นสู่เพื่อขับไล่ชุน ดู ฮวาน ในเดือนมิถุนายน ปี 2530 นั้น นักหนังสือพิมพ์ชื่อ ซอง กุน โฮ ได้ค่อยๆ รวบรวมเพื่อนพ้องในวงการสื่อมวลชนที่แสวงหาเสรีภาพของสื่อมวลชน เพื่อรวมตัวกันจัดตั้งสื่อเสรีที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง. วันที่ 30 กันยายน 2530 ซอง กุน โฮ และเพื่อนนักข่าวอีก 195 ชีวิตก็ออกมาประกาศกับสังคมเกาหลีใต้ว่า พวกเขาพร้อมแล้วที่จะ "ปกป้องเสรีภาพและเป็นป้อมปราการให้กับประชาธิปไตยของเกาหลีใต้" ด้วยการก่อตั้งสื่อของประชาชน

ตลอดระยะเวลา 8 ปี ของการกดขี่ข่มเหงโดยรัฐบาลเผด็จการทหารชุน ดู ฮวาน ไม่นับย้อนไปอีก 18 ปี ในกำมือ ปาร์ก จอง ฮี ชาวเกาหลีใต้เรียนรู้ร่วมกันประการหนึ่งถึงความสำคัญของการมีสื่อมวลชนที่มีเสรีภาพอย่างแท้จริง พวกเขาเริ่มพูดคุยกันถึงการมีสื่อที่ปลอดจากการคุกคามของอำนาจทางการเมือง อำนาจทหารและอำนาจทุน ข้อเสนอของซอง กุน โฮ ที่จะจัดตั้งสื่อเสรีที่ไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จึงเป็นสิ่งที่ได้รับการตอบรับจากสังคมอย่างกว้างขวาง

หนึ่งเดือนถัดมา ซอง กุน โฮ กับเพื่อนนักข่าวอีก 195 คน และผู้คนจากภาคส่วนอื่นๆ ของเกาหลีใต้อีกรวมจำนวน 3,344 คน ซึ่งมีชื่อของนักการเมืองฝ่ายค้านหัวก้าวหน้าอย่างคิม แด จุง และ คิม ยอง ซัม ซึ่งภายหลังก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ตามลำดับอยู่ด้วย ก็ร่วมกันประกาศโครงการจัดทำสื่อประชาชนให้สังคมเกาหลีใต้รับรู้

ผู้คนจำนวน 3,344 คน บริจาคเงินกันภายใต้ข้อกำหนดว่าต้องไม่เกินคนละ 10 ล้านวอน หรือประมาณ 312,500 บาท (เทียบอัตราการแลกเปลี่ยนในตอนนั้น) และคนทั้ง 3,344 คนนี้มีทั้งผู้นำขบวนการแรงงาน, ชาวนา, นักวิชาการ, นักข่าว, ผู้นำศาสนา, ศิลปิน, หมอ, นักศึกษา, นักการเมือง, ก็มีฐานะเป็นกรรมการผู้ก่อตั้งบริษัทฮังเกียวเรห์ (ตามกฎหมายของเกาหลีใต้ องค์กรสื่อทุกองค์กรต้องมีฐานะเป็นบริษัท) มีหน้าที่กำหนดบทบาทและวางกรอบเพื่อให้ฮังเกียวเรห์ห์เป็นสื่อที่คงความเป็นอิสระ และรับใช้สังคมเกาหลีใต้อย่างแท้จริง

คนทั้ง 3,344 คน รวมทั้งผู้ที่เข้ามาร่วมในภายหลัง ไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นผู้ถือหุ้น แต่เป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงิน (sponsors) และเงินที่พวกเขาเอามารวมกัน ก็ไม่ได้เรียกว่าเป็นการลงทุนหรือการซื้อหุ้น แต่เรียกว่าเป็นการบริจาค (donation) หมายความว่า หากฮังเกียวเรห์ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ คนกลุ่มนี้ก็จะไม่ได้รับเงินปันผลหรือผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด พวกเขาเป็นเพียงผู้ที่ให้การสนับสนุนให้ประเทศเกาหลีใต้มีสื่อดีๆ ที่ประชาชนเป็นเจ้าของ และเป็นสื่อที่รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริงเท่านั้น สื่อที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น

นับจากวันที่กลุ่มผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินกลุ่มแรกเปิดตัวสู่สาธารณชน เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมาร่วมกันบริจาค ยอดเงินบริจาคก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนวันที่ 15 พฤษภาคม 2531 ฮังเกียวเรห์ก็พร้อมที่จะผลิตสื่อสิ่งพิมพ์อย่างเต็มตัว เพราะวันนั้นเป็นวันที่ยอดเงินบริจาคขึ้นสูงถึง 5 พันล้านวอน หรือประมาณ 8 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพียงพอสำหรับการเป็นสายป่านให้กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งแล้ว หลังจากนั้นไม่นานหนังสือพิมพ์ฮังเกียวเรห์รายวันฉบับแรก ก็ปรากฏตัวสู่สังคมเกาหลีใต้ด้วยยอดพิมพ์ 5 แสนฉบับ จำหน่ายในราคาฉบับละ 100 วอน

ฮังเกียวเรห์ กลายมาเป็นคำตอบของคนเกาหลีใต้ ที่ต้องการให้สื่อมีความเป็นอิสระจากเงื้อมมือของรัฐบาลและทุน ยอดบริจาคของฮังเกียวเรห์เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี 2541 สิบปีนับจากวันเปิดตัวหนังสือพิมพ์ บริษัทฮังเกียวเรห์ก็กลายเป็นบริษัทเอกชนนอกตลาดหุ้น ที่มีผู้ร่วมทุนมากที่สุดบริษัทหนึ่งในโลก คือมีผู้ร่วมทุนถึง 30,000 คน คิดเป็นเงินลงขันรวมประมาณ 11,700 ล้านวอน (ประมาณ 445 ล้านบาท) และล่าสุดในปี 2548 เมื่อฮังเกียวเรห์ระดมเงินบริจาคครั้งใหญ่เป็นครั้งที่สอง ผู้บริจาคเงินเพื่อร่วมเป็นเจ้าของฮังกียวเรห์ก็พุ่งขึ้นไปสูงถึงมากกว่า 61,000 คน และมีการแตกแขนงประเภทของสื่อที่ผลิตไปมากมาย เช่น นิตยสารข่าวการเมืองรายสัปดาห์, วารสารข่าวเศรษฐกิจ, นิตยสารเกี่ยวกับศิลปะและภาพยนตร์

ในปัจจุบัน ขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามหาทางกำหนดความเป็นอิสระจากทุนขององค์กรสื่อที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นว่า จะไม่ให้มีผู้ใดเป็นเจ้าของสื่อใดสื่อหนึ่งเกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุนทั้งหมด สื่อนอกตลาดหุ้นอย่างฮังเกียวเรห์ก็ไปไกลกว่า ด้วยหลักเกณฑ์ว่า ห้ามใครบริจาคเงินเกินกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่ลงขันอยู่ทั้งหมด มีอยู่หลายครั้งที่กลุ่มทุนพยายามติดต่อเข้ามาขอเป็นผู้บริจาครายใหญ่ แต่ก็ถูกผู้บริหารของบริษัทปฏิเสธไป

เนื่องจากเจ้าของทั้ง 61,000 คนของฮังเกียวเรห์ ไม่ได้มุ่งหวังผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ทำให้ฮังเกียวเรห์ห์เป็นสื่อที่พิเศษคือไม่เน้นการทำธุรกิจขององค์กรสื่อตัวเอง ยอดจำหน่ายของฮังเกียวเรห์ห์รายวันอาจจะไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับสื่อฉบับอื่น คือประมาณ 400,000 ฉบับต่อวัน นับเป็นยอดขายอันดับสี่ของหนังสือพิมพ์รายวันทั้งหมดในเกาหลีใต้ แต่ฮังเกียวเรห์ห์ก็เป็นหนังสือพิมพ์มืออาชีพที่มีอิทธิพลสูงในเกาหลีใต้ ทั้งอิทธิพลทางความคิดต่อประชาชนจากการที่ฮังเกียวเรห์ห์ไม่คิดตามกระแสหลัก และทำงานในระดับที่เรียกว่ามืออาชีพ และทั้งมีอิทธิพลต่อวงการสื่อด้วยกัน แม้จะเป็นสื่อเล็กๆ แต่ในครั้งหนึ่งก็เป็นผู้ลุกขึ้นมาปฏิวัติธรรมเนียมในการจัดหน้าของหนังสือพิมพ์ที่ตัวอักษรจะเรียงจากบนลงล่างมาเป็นการเรียงจากซ้ายไปขวา และแบ่งเป็นคอลัมน์เพื่อให้สะดวกต่อคนอ่าน ทุกวันนี้หนังสือพิมพ์ในเกาหลีใช้วิธีการพิมพ์จากซ้ายไปขวาเหมือนกันหมด

ผู้เขียนเคยถามเพื่อนที่เป็นนักข่าวอาวุโสคนหนึ่งของสื่อในเครือฮังเกียวเรห์ห์ว่าพวกเขารู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่จะเป็นสิ่งที่เจ้าของบริษัททั้ง 61,000 คนต้องการ เพราะไม่เคยมีการเรียกประชุมเจ้าของทุกคน คำตอบที่ได้รับก็คือ "เจ้าของฮังเกียวเรห์คือสังคมเกาหลีใต้ ทุกคนที่เข้ามาทำงานในบริษัทก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเกาหลีใต้ ดังนั้นหากเราเห็นว่าดี นั่นแปลว่าสังคมก็เห็นว่าดี"

เช่นเดียวกับบริษัทที่ทำธุรกิจด้านสื่ออื่นๆ หลายครั้งที่ฮังเกียวเรห์ ต้องประสบปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างกองบรรณาธิการและฝ่ายการตลาดและแผนกโฆษณาที่มุ่งเน้นจะขายโฆษณา. กวน แต ซุน บรรณาธิการจัดการของฮังเกียวเรห์ ได้ให้สัมภาษณ์กับเอเซีย มีเดีย ฟอรั่ม เมื่อไม่นานมานี้ ยอมรับว่าหลายครั้งแผนกโฆษณาพยายามจะบอกกองบรรณาธิการให้ลดความเข้มข้นของเนื้อหาลง เพื่อให้ถูกใจกลุ่มทุน และสามารถหาโฆษณาได้ง่ายขึ้น

"เมื่อไรที่มีเสียงจากฝ่ายโฆษณามา ดิฉันก็จะเตือนความทรงจำพวกเขาถึงประวัติศาสตร์และหลักการของหนังสือพิมพ์เราเมื่อเริ่มก่อตั้ง แต่ในกรณีที่มันไม่มากมายนักเราก็จะยอมอะลุ้มอะล่วย ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจเป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญยิ่ง แต่เพื่อนร่วมงานของเราทุกคนไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน พวกเขาเชื่อว่าศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิคนทำข่าวสำคัญกว่าเงิน" กวน แต ซุน ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ผู้หญิงคนหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนของเกาหลีใต้ บอกกับเอเซีย มีเดีย ฟอรั่ม

เพื่อนนักข่าวจากฮังเกียวเรห์คนหนึ่งเคยบอกกับผู้เขียนว่า นักข่าวส่วนหนึ่งของฮังเกียวเรห์ เป็นอดีตนักข่าวจากค่ายอื่น ที่ทิ้งเงินเดือนเดือนละกว่า 2,500 เหรียญสหรัฐ เพื่อมากินเงินเดือนเดือนละ 300 เหรียญที่ฮังเกียวเรห์

นับจากวันที่ก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน ฮังเกียวเรห์มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งเติบโตในแง่ของสื่อ จากหนังสือพิมพ์รายวันเพียงหัวเดียว ก็มีนิตยสารข่าวการเมืองรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นมา มีนิตยสารเกี่ยวกับศิลปะ และภาพยนตร์ นิตยสารข่าวเศรษฐกิจ ตั้งสำนักพิมพ์ ไปจนถึงการก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรม และสถาบันวิจัยทางวัฒนธรรมของตัวเองเพื่อให้การสนับสนุนกิจกรรมทางวัฒนธรรม จากการที่ไม่ใช่สื่อที่มุ่งสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ยอมหยุดขยายตัว ทำให้ฮังเกียวเรห์ กลายเป็นองค์กรสื่อที่ยังไม่สามารถยืนได้ด้วยขาของตัวเอง

ต้นปี 2549 นี้เอง การเปิดโครงการรับบริจาครอบที่ 3 ก็เกิดขึ้น ท่ามกลางเสียงไม่เห็นด้วยของนักข่าวรุ่นอาวุโสหลายคนที่คิดว่าฮังเกียวเรห์ห์ไม่ควรร้องขอจากสังคมอีกแล้ว แต่ควรหาทางยืนอยู่ให้ได้ด้วยตนเองโดยไม่ทิ้งหลักการเดิมของตนเอง โดยเฉพาะสาเหตุหนึ่งของการเปิดรับบริจาคในรอบที่ 3 ก็คือการหาเงินทุนเพื่อไปสร้างสิ่งที่กวน แต ซุน เรียกว่า "สวนสันติภาพ" ในเวียดนาม เพื่อเป็นการไถ่บาปกับการที่เกาหลีเคยเป็นพันมิตรกับสหรัฐในคราวสงครามเวียดนามที่สร้างความเสียหายให้กับเวียดนามอย่างมากมาย สำหรับนักข่าวรุ่นใหญ่ที่เคยผ่านช่วงเวลาของการถูกกดขี่ และคุกคามเสรีภาพ การสร้าง "สวนสันติภาพ" ไม่ได้เป็นภาระหน้าที่ของสื่อเพื่อประชาชน และการระดมเงินบริจาคครั้งที่ 3 ก็เป็นสิ่งที่ "น่าละอาย"

ดังนั้นในขณะที่นักข่าวรุ่นใหม่ไฟแรงจำนวนมากกำลังเดินเข้าสู่ฮังเกียวเรห์ห์ องค์กรสื่อที่มีความเป็นอิสระเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ปฏิบัติวิชาชีพได้อย่างเต็มที่ต่างจากองค์กรสื่ออื่นๆ ที่มีในเกาหลีใต้ นักข่าวรุ่นอาวุโสจำนวนหนึ่งก็ค่อยๆ เดินออกจากฮังเกียวเรห์

อันที่จริงจะว่าไปแล้ว ผู้เขียนเองไม่ค่อยจะแน่ใจเท่าใดนักกับอนาคตของฮังเกียวเรห์ เคยคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากวันหนึ่งฮังเกียวเรห์เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ไฟแรง ที่เติบโตมากับสังคมทุนนิยมของเกาหลีใต้ เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยลิ้มรสความเจ็บปวดของการมีชีวิตอยู่ภายใต้เผด็จการทหาร อะไรจะเกิดขึ้นหากนิยามของ 'ความไม่มากมายนัก' ของข้อเรียกร้องของแผนกโฆษณาที่ทำให้ผู้บริหารอย่างกวน แต ซุน ต้องยอมอะลุ้มอะล่วย ถูกขยายตัวกว้างขึ้น ผู้เขียนเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ฮังเกียวเรห์ห์คงความเป็นสื่อของประชาชน เพื่อประชาชนมาได้ถึง 18 ปี เป็นเพราะทั้งคนทำข่าวและคนบริโภคข่าวต่างก็ยังจดจำความเจ็บปวดของสังคมยุคที่สื่ออยู่ในกำมือรัฐเผด็จการได้ และอีกส่วนหนึ่งก็คือความยึดมั่นในพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับสังคมที่เป็นผู้บริจาคเงินให้พวกเขาได้เข้ามาเพื่อปฏิบัติวิชาชีพ

แม้อนาคตของฮังเกียวเรห์จะยังไม่แน่นอน และแม้ฮังเกียวเรห์ห์จะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ไม่จำเป็นต้องมีภาระผูกพันกับรัฐในเรื่องของการจ่ายค่าสัมปทานคลื่น เหมือนสื่อโทรทัศน์ แต่เรื่องราวของฮังเกียวเรห์ห์ก็เป็นสิ่งที่เราควรศึกษาเพื่อช่วยกันแสวงหาทางออกให้กับไอทีวี สื่อที่เกิดขึ้นมาจากความบอบช้ำของสังคมไทยหลังเหตุการณ์สังหารประชาชนในเดือนพฤษภาคม ปี2535 อย่างน้อยโครงสร้างที่ให้ประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกันโดยไม่ได้มุ่งหวังผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สำหรับผู้เขียนแล้วถือเป็นทางเลือกโครงสร้างสื่อที่น่าสนใจทีเดียว

อนาคตของไอทีวีเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องช่วยกันคิด ช่วยกันเสนอทางเลือก และช่วยกันพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้สถานีโทรทัศน์ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและเข้าสู่ประชาชนกลุ่มใหญ่ได้ในเวลาเดียวกัน เป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อประชาชนและปราศจากการครอบงำของกลุ่มอิทธิพลต่างๆ ทั้งอิทธิพลทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางความคิด เรื่องราวของฮังเกียวเรห์ห์เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ยืนยันให้เห็นว่าสื่อของประชาชน ทำเพื่อประชาชนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง หากสื่อและทุกคนในสังคมจดจำและเรียนรู้จากบทเรียนความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความข้างต้น ได้รับเผยแพร่ครั้งแรกที่หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท เดือนธันวาคม ๒๕๔๙
ผู้เขียน - เพ็ญนภา หงษ์ทอง เป็นนักข่าวที่สนใจประเด็นสื่อ-เสรีภาพ-บทบาท และความรับผิดชอบของสื่อ ปัจจุบันทำงานที่หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น (The Nation)


2. ชะตากรรมอันขมขื่นของสื่อเกาหลีใต้ ก่อนได้รับอิสรภาพ : สมเกียรติ ตั้งนโม
ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของสื่อเกาหลีใต้
สื่อของเกาหลีใต้ประกอบด้วยช่องทางที่หลากหลายในการสื่อข่าวสู่สาธารณชน นั่นคือ มีทั้งโทรทัศน์, วิทยุ, ภาพยนตร์, หนังสือพิมพ์, นิตยสาร, และอินเตอร์เน็ต(เว็บไซต์)ต่างๆ. นักหนังสือพิมพ์ชาวเกาหลีสมัยใหม่ เริ่มต้นขึ้นหลังจากการเปิดตัวของเกาหลีในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา สิ่งพิมพ์มีลักษณะของนักปฏิรูปที่เข้มแข็งและชื่นชมในความเป็นชาตินิยมนับจากเริ่มต้นมาเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับความพยายามต่างๆ ที่จะควบคุมและเซนเซอร์ทางการเมืองอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาส่วนใหญ่ระหว่างคริสตศตวรรษที่ 20

ในเกาหลีใต้ นักหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมากได้สร้างขนบจารีตอันหนึ่งขึ้นมา เกี่ยวกับการคงความเป็นอิสระของพวกเขาเอาไว้ บ่อยครั้งบรรดานักทำสื่อได้วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับรัฐบาล และก่อการประท้วงต่อความพยายามต่างๆ ที่จะมีการเซนเซอร์สิ่งพิมพ์ทั้งหลายอย่างถึงพริกถึงขิง

ประวัติศาสตร์ช่วงต้น : ค.ศ. 1876 จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ค.ศ.1945
เมื่อสนธิสัญญาผนวกรวมญี่ปุ่นและเกาหลี(Japan-Korea Annexation Treaty)ได้รับการเซ็นสัญญาในปี ค.ศ.1910, ผู้ปกครองชาวญี่ปุ่นได้เข้าควบคุมโดยตรงกับสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมไปถึงสถาบันทั้งหลายทางสังคม. การเคลื่อนไหวในวันที่ 1 มีนาคม (March 1st Movement) ปี 1919, ผู้มีอำนาจชาวญี่ปุ่นได้มีการผ่อนปลนการควบคุมอย่างเปิดเผยต่อกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ และอนุญาตให้หนังสือพิมพ์ทั้งหลายของเกาหลีมีบทบาทมากขึ้น ขณะที่ยังคงธำรงการกำกับดูแลอยู่เบื้องหลังบางอย่างในประเด็นปัญหาทางการเมืองต่างๆ ที่มีความอ่อนไหว

ในช่วงระหว่างทศวรรษที่ 1920s หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาษาเกาหลี อย่างเช่น Tonga ilbo (East Asia Daily), และ วารสารทางวิชาการ อย่างเช่น Kaebyok (Creation) ได้ทำการต่อสู้กับการเซนเซอร์ของญี่ปุ่น. ผู้มีอำนาจชาวญี่ปุ่นได้มีการสั่งห้ามการวางจำหน่ายสิ่งพิมพ์ต่างๆ ทางวิชาการหลายร้อยครั้งในช่วงระหว่างปี 1926 ถึงปี 1932. การระดมสรรพกำลังเพื่อการสงครามของญี่ปุ่นในช่วงปีที่ตามมา ได้ยับยั้งอะไรก็ตามที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอิสระสำหรับสิ่งพิมพ์ของเกาหลี และการเผยแพร่ภาษาเกาหลีทั้งหมดได้ถูกทำให้เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในปี ค.ศ.1941

สื่อเกาหลีปี ค.ศ.1945 (ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2)
ตามมาด้วยช่วงปีรัฐบาลทหารสหรัฐฯในเกาหลี (1945-1948) ซึ่งได้ทำให้เห็นถึงความงอกงามและเฟื่องฟูของหนังสือพิมพ์ต่างๆ และสิ่งพิมพ์รายสัปดาห์ทั้งหลายได้ผลิบานออกมาทุก ๆแขนง เช่นเดียวกับการเซนเซอร์เป็นครั้งคราวเกี่ยวกับสื่อต่างๆ และต่อมาภายหลัง รัฐบาลต่างๆ เกือบทั้งหมดของเกาหลีใต้ ได้พยายามที่จะควบคุมสื่อต่างๆ ของตนเองเอาไว้

รัฐบาลของ Syngman Rhee ยังคงพระราชบัญญัติมาตรา 88 ของรัฐบาลทหารเอาไว้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย. Rhee ยังได้ปิดหนังสือพิมพ์สายกลาง และจับกุมผู้สื่อข่าวและผู้พิมพ์ผู้โฆษณามากมายหลายครั้งในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1948-1960 ด้วย

ในการได้มาซึ่งอำนาจปี ค.ศ.1961, ปาร์กจองฮี ในฐานะประธานสูงสุดในการฟื้นฟูประเทศ(Park Chung Hee's Supreme Council for National Reconstruction) ได้ทำการปิดหนังสือพิมพ์รายวันของกรุงโซล และปฏิเสธที่จะอนุญาตให้มีการจดทะเบียนให้กับสำนักข่าวต่างๆ รวมไปถึงสิ่งพิมพ์รายสัปดาห์และรายเดือน ในขณะเดียวกัน เขาได้ใช้สถานีวิทยุและสำนักข่าวของตนเองเพื่อส่งเสริมสนับสนุนแนวทางของทางราชการ

รัฐบาลปาร์กจองฮียังได้ใช้กฎหมายคณะกรรมการจริยธรรมสื่อในปี 1964 (the Press Ethics Commission Law of 1964), และภายหลัง 1972 ใช้พระราชกำหนดต่างๆ(emergency decrees)ลงโทษการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เพื่อทำให้สื่อต่างๆ กลับมาเข้าแถวเป็นที่เป็นทาง. ในปี 1974 รัฐบาลได้มีกดดันนักหนังสือพิมพ์จำนวนมากออกจากงาน และใช้ KCIA (Korea Central Intelligence Agency - หน่วยข่าวกรองกลางของเกาหลี)
เพื่อบีบบังคับหนังสือพิมพ์ Dong-a Ilbo ให้ยุติการายงานข่าวเกี่ยวกับประชาชนฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลปาร์กจองฮี โดยการข่มขู่และคุกคามโฆษณาบนหน้าหนังสือพิมพ์

ช่วงระหว่างการบริหารการปกครองของปาร์กจองฮีและตามมาด้วย ชุนดูฮวาน(Chun Doo Hwan) รัฐบาลได้ทำการควบคุมและตรวจตราสื่อต่างๆ ค่อนข้างมาก โดยผ่านพระราชบัญญัติความมั่นคงแห่งชาติที่มีอำนาจอย่างกว้างขวาง. ในปลายปี ค.ศ.1980, รัฐบาลของชุนดูฮวาน ได้มีการออกกฎหมายขึ้นมาควบคุมอย่างเต็มที่เกี่ยวกับข่าวและสื่อต่างๆ มากกว่ากฎหมายทั้งหลายที่เคยมีอยู่ในเกาหลีใต้นับจากสงครามเกาหลีเป็นต้นมา. สำนักข่าวอิสระทั้งหลายได้ถูกดูดกลืนเข้าไปในสำนักงานข่าวที่ดำเนินการโดยรัฐแต่เพียงผู้เดียว หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเป็นจำนวนมากได้ถูกปิดตัวลง. ส่วนหนังสือพิมพ์ส่วนกลางถูกห้ามไม่ให้มีการตั้งสำนักงานตัวแทนในต่างจังหวัด

เครือข่ายระบบการสื่อสารคริสเตียนถูกสั่งห้ามการรายงานข่าว และบริษัทสื่อสารที่เป็นอิสระ 2 บริษัทได้ถูกดูดกลืนเข้าไปสู่ระบบการสื่อสารของเกาหลี KBS ((Korean Broadcasting System (KBS) ที่ดำเนินการโดยรัฐ ยิ่งไปกว่านั้น กองบัญชาการรักษาความมั่นคง ซึ่งขณะนั้นบังคับบัญชาโดย โรห์แตวู(Roh tae Woo) และเขายังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและการสื่อสาร ได้มีคำสั่งให้ไล่นักหนังสือพิมพ์หลายร้อยคนออก นอกจากนี้ยังสั่งห้ามเขียนบทความและเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ด้วย

พระราชบัญญัติสิ่งพิมพ์เดือนธันวาคม 1980 ถือเป็นกฎหมายสูงสุดของระบบการควบคุมสื่อของชุนดูฮวาน ซึ่งได้ให้อำนาจการเซนเซอร์และควบคุมหนังสือพิมพ์, สิ่งพิมพ์รายสัปดาห์, และการสื่อสารหรือการออกอากาศทางสถานีต่างๆ นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิมืออาชีพทางด้านหนังสือพิมพ์ขึ้นมาดูแลด้วย การเซนเซอร์สื่อนี้ได้ประสานกันกับเจ้าหน้าที่ข่าวกรองต่างๆ ซึ่งเป็นตัวแทนของหน่วยงานรัฐบาล และสต๊าฟของประธานาธิบดี โดยสำนักงานนโยบายสื่อสารสาธารณะ ตั้งอยู่ภายในกระทรวงวัฒนธรรมและการสื่อสาร และมีการชี้แนะแนวทางการรายงานข่าวประจำวัน(podo chich'im) ส่งไปถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต่างๆ

การชี้แนะแนวทางนี้เกี่ยวข้องกับคำถามหรือปัญหาที่ควรเน้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน, หัวข้อต่างๆ ที่ควรครอบคลุมถึงและควรหลีกเลี่ยง, การใช้ประโยชน์จากสิ่งพิมพ์ของรัฐบาล, และกระทั่งรวมไปถึงขนาดของพาดหัวข่าวควรจะมีขนาดใดด้วย. วิธีการบีบบังคับให้ปฏิบัติตามต่างๆ เรียงลำดับจากการใช้โทรศัพท์ โทรไปถึงบรรณาธิการ จนกระทั่งถึงรูปแบบที่จริงจังมากขึ้นเกี่ยวกับการข่มขู่ รวมถึงการซักไซ้ไล่เลียง และการยับยั้งด้วยนโยบาย. หนึ่งในเจ้าหน้าที่เก่าของกระทรวงวัฒนธรรมและการสื่อสาร ได้บอกกับคณะกรรมการประชาพิจารณ์แห่งชาติในปี 1988 ว่า การยอมอ่อนข้อและยอมทำตามดังกล่าว ในช่วงระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งนับจาก 1980 ถึง 1982 มีมากถึงประมาณ 70 เปอร์เซนต์เลยทีเดียว

โดยในช่วงกลางทศวรรษ 1980s การเซนเซอร์สิ่งพิมพ์และการปรามการออกอากาศของสื่อ กลายเป็นหนึ่งในปฏิบัติการของรัฐบาลชุนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งสำนักข่าว Yonhap ซึ่งควบคุมโดยรัฐบาล ได้บันทึกในปี 1989 เอาไว้ว่า "บริษัททีวีต่างๆ ประสบกับชะตากรรมที่เลวร้ายกว่าสื่อใดๆ กล่าวคือ มันตกเป็นเป้าหมายหลักของการวิจารณ์ทางสังคมอย่างเผ็ดร้อน สำหรับการรายงานข่าวที่บิดเบือนของมันเพื่อรัฐบาลในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980s"

บรรณาธิการทั้งหลายเรียกร้องให้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์และปฏิบัติการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง, โดยมีการร่างกฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่งและได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นเคย รวมไปถึงการรณรงค์สาธารณะเพื่อยับยั้งค่าธรรมเนียมผู้ดูในลักษณะบังคับด้วย มีการประท้วงการเซนเซอร์โดยเครือข่าย KBS ซึ่งได้รับความสนใจจากสิ่งพิมพ์ต่างๆ อย่างกว้างขวาง. ในฤดูร้อนปี 1986 พรรคการเมืองที่มีอำนาจในช่วงเวลาดังกล่าว ดูเหมือนว่าได้ให้การตอบรับต่อความเห็นสาธารณะอันนี้

ถือได้ว่าบรรยากาศเสรีภาพทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ 1980s นำมาซึ่งการผ่อนคลายเกี่ยวกับการควบคุมและการเซนเซอร์ต่างๆ ที่มีต่อสื่อสิ่งพิมพ์และบรรดานักหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่ ซึ่งค่อนข้างมีเจตจำนงที่จะสืบค้นในเรื่องราวต่างๆ ที่มีความอ่อนไหว อย่างเช่น เหตุการณ์การฆาตกรรมหมู่ที่เมืองกวางจูในเดือนพฤษภาคม ปี 1980 (May 1980 Gwangju massacre)(1). ประกาศข้อที่ 8 ของของ Roh วันที่ 29 มิถุนายน 1987, ตระเตรียมขึ้นมาเพื่อให้เสรีภาพกับสิ่งพิมพ์, รวมถึงยินยอมให้หนังสือพิมพ์ทั้งหลายตั้งสำนักข่าวในต่างจังหวัดได้ และได้มีการถอนเจ้าหน้าที่ความมั่นคงออกจากที่ทำการหนังสือพิมพ์ต่างๆ

หลังจากนั้น ภายใต้บรรยากาศที่มีเสรีภาพมากขึ้น สื่อของเกาหลีใต้ก็เริ่มแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง หนังสือพิมพ์โซลขยายขอบเขตการรายงานข่าวของตนออกไป และฟื้นคืนปฏิบัติการและสำนักข่าวในต่างจังหวัดขึ้นมา แม้ว่าบางครั้งบางคราวยังคงตกอยู่ภายใต้การควบคุมของโฆษกของทำเนียบรัฐบาล(Blue house)เก่าก็ตาม, the MBC(3) เครือข่ายสถานีโทรทัศน์พาณิชย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ KBS ที่บริหารจัดการโดยรัฐ นับจาก 1980, ได้มีการฟื้นคืนการเป็นสถานีวิทยุและโทรทัศน์ที่เป็นอิสระ. สถานีวิทยุกระจายเสียงจำนวนมากได้ผุดขึ้นจาก 74 สถานีในปี 1985 เพิ่มเป็น 111 สถานี (ทั้งสถานีวิทยุ AM และ FM) ในช่วงปลายปี 1988, และเพิ่มเป็น 125 สถานีในช่วงปลายปี 1989. วารสารและสิ่งพิมพ์ที่ออกรายประจำ เช่นพวกนิตยาสารรายสัปดาห์และรายเดือนได้ปรากฏตัวขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากรัฐบาลยกเลิกการห้ามปรามอุตสาหกรรมการพิมพ์นั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีความเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพในสื่อต่างๆ ของเกาหลีใต้ด้วย เช่น The Christian Broadcasting System, ซึ่งเป็นเครือข่ายสถานีวิทยุได้เริ่มส่งกระจายเสียง และนำเสนอข่าวอีกครั้งเช่นเดียวกับรายการทางศาสนาในปี ค.ศ.1987. ในปีเดียวกันนั้น รัฐบาลได้ยกเลิกยับยั้งผลงานต่างๆ ของบรรดาศิลปินและนักดนตรีเกาหลีเหนือที่ถูกห้ามมาเป็นระยะเวลายาวนาน จำนวนมากของคนเหล่านี้ อันที่จริงแล้ว มีรากกำเนิดในเกาหลีใต้

หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งซึ่งดำเนินการโดยนักหนังสือพิมพ์ที่ไม่เห็นพ้องกับรัฐบาลเริ่มตีพิมพ์ในปี 1988. มีสิ่งพิมพ์รายวันใหม่ๆ หลายๆ ฉบับได้ปรากฏตัวขึ้นในปี 1988. จำนวนมากของสิ่งพิมพ์รายสัปดาห์และรายเดือนได้กำไรทางอ้อมเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีนิตยสารต่างๆ ที่วางจำหน่ายทั่วไป ซึ่งเสนอการวิเคราะห์เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงของชาติอย่างระมัดระวังให้กับกลุ่มผู้อ่านกลุ่มเล็กๆ และเป็นการเฉพาะกิจเกิดขึ้น.

บรรดานักสังเกตการณ์บันทึกว่า มีเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นเร้าใจเพิ่มขึ้นในการรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องต้องห้ามก่อนหน้านี้ ยกตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์กันระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มทหาร, ก๊กต่างๆ ภายในกองทัพ, บทบาทของหน่วยงานความมั่นคงที่มีต่อองค์กรทางการเมือง และองค์กรกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล. โพล์แสดงความคิดเห็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหล่านี้ และประเด็นปัญหาทั้งหลายที่มีความอ่อนไหวเริ่มปรากฏตัวขึ้นมาด้วยด้วยความถี่ที่เพิ่มขึ้น. บรรดานักหนังสือพิมพ์จากสิ่งพิมพ์รายวันหลายฉบับของกรุงโซล ได้มีการก่อตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาในปลายปี 1987 จนถึงต้นปี 1988 และเริ่มต้นตีพิมพ์บทบรรณาธิการ และมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการจัดการหนังสือพิมพ์

ในปี 1989 หนังสือพิมพ์รายวันใหญ่ที่สุด 4 ฉบับ คือ Hanguk ilbo, Chungang ilbo, Choson ilbo, และ Tonga ilbo, รวมกันแล้วจำหน่ายได้มากกว่า 6.5 ล้านฉบับต่อวัน. ส่วนฮังเกียวเรห์ (Hangyore simmun - One Nation News) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ต่อต้านกระแสหลัก มีผู้อ่านมากถึง 450,000 คน - น้อยกว่าหนังสือพิมพ์รายวันหลักๆ หรือหนังสือพิมพ์ที่เล็กลงมาอย่าง Kyonghyang simmun หรือ Soul simmun, แต่ใหญ่กว่าหนังสือพิมพ์แนวเศรษฐกิจ 4 ฉบับที่มีวางจำหน่าย

หนังสือพิมพ์รายวันหลักๆ ทั้งหมดนี้เป็นเจ้าของโดยเอกชน เว้นแต่ Hanguk ilbo ที่ควบคุมโดยรัฐบาล. นอกจากนี้ยังมีหนังสือพิมพ์รายวันอื่นๆ ที่เผยแพร่เพื่อผู้อ่านเป็นการเฉพาะกลุ่ม อย่างเช่น หนังสือพิมพ์กีฬาและเยาวชน. หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ 2 ฉบับ อย่าง Korea Herald และ the Korea Times ที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาล ก็ถูกรับเข้าเป็นสมาชิก Soul simmun อิสระ, ซึ่งมีการอ่านกันอย่างกว้างขวางโดยสถานทูตต่างประเทศและบรรดานักธุรกิจทั้งหลาย. หนังสือพิมพ์จีนก็มีการตีพิมพ์และวางจำหน่ายสำหรับชุมชนชาวจีนกลุ่มเล็กๆ ในเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน

สำนักข่าว Yonhap News เสนอข่าวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศต่อหน่วยงานทั้งหลายของรัฐบาล, ทั้งหนังสือพิมพ์ และสถานีวิทยุและโทรทัศน์. นอกจากนี้สำนักข่าว Yonhap ยังเสนอข่าวการพัฒนาเกาหลีใต้เป็นภาษาอังกฤษด้วย โดยการถ่ายทอดผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายข่าวเอเชีย-แปซิฟิค. นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับสื่อต่างๆ ของโลก ที่ได้รับการสนับสนุนโดยสถานีสัญญานดาวเทียมอีก 4 สถานี. ศูนย์กลางการถ่ายทอดสัญญานวิทยุและโทรทัศน์นานาชาติ ได้รับการจัดตั้งขึ้นในเดือนมิถุนายน 1988 ซึ่งได้ให้บริการสถานีถ่ายทอดสัญญานต่างๆ กว่า 10,000 แห่งทั่วโลก สำหรับช่วงที่มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคในปี 1988 ที่กรุงโซล. เครือข่ายสถานีวิทยุ KBS ของรัฐบาลได้ถ่ายทอดสัญญานไปในต่างประเทศใน 12 ภาษาด้วยกัน เครือข่ายข่าววิทยุเอกชน 2 สถานีคือ the Asia Broadcasting Company and Far East Broadcasting Company, ได้ให้บริการแก่ผู้คนในภูมิภาคเอเชียอย่างกว้างขวาง รวมไปถึงตะวันออกไกลของโซเวียต, จีน และญี่ปุ่น

รัฐบาลเกาหลีใต้ยังให้การสนับสนุนหนังสือพิมพ์ Naewoe ด้วย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องราวต่างๆของเกาหลีเหนือ เดิมทีมันเป็นช่องทางในการโฆษณาชวนเชื่อที่ดำเนินตามแนวทางรัฐบาล ในประเด็นนโยบายเกี่ยวกับการรวมชาติ(unification policy issues) หนังสือพิมพ์ Naewoe ยังมีวัตถุประสงค์เพิ่มเติม และดำเนินการในสุ้มเสียงการตีความการพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของเกาหลีเหนือ ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980s . จุดที่ได้เปรียบของหนังสือพิมพ์ Naewoe ก็คือ มันตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษ ทำให้มีการเสนอการศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของเกาหลีเหนือได้อย่างลึกซึ้ง

เว้นแต่หนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ (ฉบับหนึ่งพิมพ์ในภาษาเกาหลี ส่วนอีกฉบับพิมพ์ในภาษาอังกฤษ)ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของและควบคุม รวมถึงเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ของรัฐ ความเป็นเจ้าของสื่อต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วเป็นไปในลักษณะที่แยกจากอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ. กรณีพิเศษอันหนึ่งคือหนังสือพิมพ์รายวันแนวอนุรักษ์นิยม, Chungang ilbo. ภายใต้การหลุดรอดไปจากการสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของของมัน ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Samsung ในช่วงหลัง และมหาเศรษฐีหลายคน Yi Pyong Ch'ol, เป็นกลุ่มทุนของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้และเครือข่ายโทรทัศน์ TBC (Taegu Broadcasting Corporation of South Korea) (4) โดยทั่วไปแล้ว มันให้การสนับสนุนรัฐบาลปาร์กจองฮี ในช่วงระหว่างทศวรรษที่ 1970s. ความสัมพันธ์ของนายทุนกลุ่มนี้กับรัฐบาลกลายเป็นความตึงเครียดขึ้นมาภายหลังปี 1980 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อชุนดูฮวานมีอำนาจ ก็ได้บีบบังคับให้ TBC หลอมรวมกับ KBS

นักหนังสือพิมพ์กลุ่มหนึ่งได้ก่อการสไตร์ค Chungang ilbo ในปี 1989 ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันที่เกิดขึ้นมากมายกับหนังสือิพมพ์หลักๆ ของเกาหลีใต้ และการประท้วงเหล่านี้นำมาซึ่งชัยชนะ ในการจัดการและความมีอิสระมากขึ้นของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต่างๆ

ส่วนใหญ่ของหนังสือพิมพ์หลักๆ ของเกาหลีใต้ ได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากการโฆษณา และจากเครือบริษัทของพวกเขากับสำนักพิมพ์ต่างๆ. Tonga Press, เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้คือ มันไม่ได้ตีพิมพ์เฉพาะหนังสือพิมพ์รายวันที่มีชื่อเสียงเท่านั้น, แต่ยังตีพิมพ์นิตยสารรายสัปดาห์และรายปักษ์อีกหลายฉบับ และรวมถึงหนังสือพิมพ์สำหรับเด็กๆ, นิตยสารรายเดือน Sin tonga (New East Asia), นิตยสารสำหรับผู้หญิง และหนังสืออ้างอิงพิเศษต่างๆ และวารสารสำหรับนักศึกษา. ตลอดช่วงเวลาหลังสงคราม, Tonga ilbo ได้รับการบันทึกว่า เป็นผู้ที่เห็นอกเห็นใจฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลเสมอมา

Hangyore simmun : ฮังเกียวเรห์ หนังสือพิมพ์ที่ต่อต้านกระแสหลัก
หนังสือพิมพ์ที่ต่อต้านกระแสหลักที่สำคัญที่สุดของเกาหลีใต้ คือ Hangyore simmun, เริ่มต้นตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคม 1988 มันได้รับการก่อตั้งขึ้นโดยบรรดานักหนังสือพิมพ์ ผู้ที่ไม่ลงรอยกับรัฐบาลซึ่งเป็นพวกที่ถูกกวาดล้างในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970s หรือในปี 1980; จำนวนมากของผู้สื่อข่าวและสต๊าฟบรรณาธิการฝ่ายซ้ายของหนังสือพิมพ์กระแสหลักได้เข้าร่วมกับธุรกิจใหม่นี้. โครงสร้างและการดำเนินการของสิ่งพิมพ์ฉบับนี้สะท้อนถึงทัศนะของผู้ก่อตั้ง ซึ่งในอดีตสื่อประเภทข่าวของเกาหลีใต้ ง่ายมากที่จะถูกเกณฑ์เข้าไปเป็นพวกโดยรัฐบาล. หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวมีคอลัมน์สิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกับคอลัมน์สื่อสารมวลชน ที่จะเฝ้ามองนโยบายสิ่งพิมพ์ของรัฐบาล และเสนอบทวิจารณ์เกี่ยวกับอคติทั้งหลายทางการเมืองและอุดมการณ์ต่างๆ ของ หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ

แนวคิดประชาชาติและความสนใจของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เกี่ยวกับนโยบายการรวมชาติ ถูกทำเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ในรูปของโลโก้ ซึ่งเป็นภาพ Lake Ch'onji ณ จุดยอดสุดของ Mount Paektu ในเกาหลีเหนือ; มีการใช้ตัวอักษรเกาหลีเป็นการเฉพาะ ในแบบตัวอักษรที่ถูกพิมพ์ในช่วงเวลาย้อนกลับไปยังยุคสมัยของการตีพิมพ์อันมีชื่อเสียงของเกาหลี ในราวคริสตศตวรรษที่ 18, ก่อนที่ประเทศจะถูกแบ่งแยกออกจากกัน

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้รับการตีพิมพ์ตัวอักษรตามแนวนอน ซึ่งต่างไปจากหนังสือพิมพ์รายวันของโซลฉบับอื่นๆ ที่ตีพิมพ์ในแนวตั้ง(5). ส่วนนวัตกรรมใหม่อื่นๆ the Hangyore Simmun วางใจในรายได้ต่างๆ ที่มาจากการขาย, การบริจาค, และช่วยเหลือของเอกชน, รวมไปถึงการขายสินค้าต่างๆ มากกว่าพึ่งพาการโฆษณาจากบริษัทสำคัญต่างๆ บรรดาคนทำงานหนังสือพิมพ์ฉบับนี้อ้างว่า มันเป็น "หนังสือพิมพ์ฉบับแรกในโลกอย่างแท้จริง ที่เป็นอิสระจากอำนาจทางการเมือง และทุนขนาดใหญ่". แต่อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันของรัฐบาลเพิ่มขึ้นในปี 1989

นอกจากนี้เกาหลีใต้ยังมีพัฒนาการที่ดีเยี่ยมและแพร่หลายในเรื่องสื่อภาพต่างๆ ด้วย. ภาพยนตร์เกาหลีเรื่องแรกได้รับการผลิตขึ้นในปี ค.ศ.1919 และภาพยนตร์ต่างๆ ได้รับการสร้างต่อๆ มาในเมืองใหญ่ต่างๆ. ผลลัพธ์ของการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์และวิทยุอย่างแพร่หลาย ทำให้เกิดการกระจายตัวทางวัฒนธรรมในแนวป๊อปปูล่าร์ออกไปอย่างทั่วถึง จนดูเหมือนว่าวัฒนธรรมจะถูกหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบและก่อให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับคุณค่าความเป็นเมือง ที่มีต่อชุมชนในชนบทและท้องถิ่นต่างๆ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เรียบเรียงจาก South Korean media
From Wikipedia, the free encyclopedia

เชิงอรรถ
(1) เหตุจลาจลในสมัยชุนดูฮวาน ที่มีการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการรายงานจากทางการว่ามีแรงบันดาลใจจากพวกคอมมิวนิสต์ แต่หลังจากนั้น ภายใต้การปกครองของพลเรือน เหตุการณ์นี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นความพยายามที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตยจากการปกครองของทหาร

(2) Blue House (ทำเนียบสีน้ำเงิน) ทำเนียบรัฐบาล ที่ทำงานของประธานาธิบดีเกาหลีใต้

(3) Munhwa Broadcasting Corporation (MBC) เป็นหนึ่งในสี่ของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงของเกาหลีใต้ ซึ่งรายการนำของสถานีดังกล่าวเน้นในเรื่องละคร ทั้งละครเศร้าและละครเบาสมอง สำหรับคำว่า Munhwa ในภาษาเกาหลีหมายถึง"วัฒนธรรม"

(4) The (Taegu)Daegu Broadcasing Corporation (TBC) เป็นสถานีวิทยุและโทรทัศน์ท้องถิ่น มีฐานที่ตั้งอยู่ที่เมือง Taegu, เกาหลีใต้} สถานีดังกล่าวได้รับก่อตั้งขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม 1994 ในฐานะที่เป็นเครือข่ายกับ Seoul Broadcasing System (SBS)

(5) ตัวอักษรเกาหลีพัฒนามาจากอักษรภาพ แต่ละตัวมีความหมายในตัวมันเองเป็นคำๆ ซึ่งแตกต่างจากอักษรไทยและอังกฤษซึ่งแต่ละตัวอักษร จะต้องนำมาประกอบกันขึ้นเพื่อสะกดให้เป็นคำ ดังนั้น การเรียงตัวอักษรของเกาหลีตามแนวนอนหรือแนวตั้ง จึงสามารถอ่านได้เช่นเดียวกัน

 


 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

 

ฮังเกียวเรห์ กลายมาเป็นคำตอบของคนเกาหลีใต้ ที่ต้องการให้สื่อมีความเป็นอิสระจากเงื้อมมือของรัฐบาลและทุน ยอดบริจาคของฮังเกียวเรห์เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี 2541 สิบปีนับจากวันเปิดตัวหนังสือพิมพ์ บริษัทฮังเกียวเรห์ก็กลายเป็นบริษัทเอกชนนอกตลาดหุ้น ที่มีผู้ร่วมทุนมากที่สุดบริษัทหนึ่งในโลก คือมีผู้ร่วมทุนถึง 30,000 คน คิดเป็นเงินลงขันรวมประมาณ 11,700 ล้านวอน (ประมาณ 445 ล้านบาท) และล่าสุดในปี 2548 เมื่อฮังเกียวเรห์ระดมเงินบริจาคครั้งใหญ่เป็นครั้งที่สอง ผู้บริจาคเงินเพื่อร่วมเป็นเจ้าของฮังกียวเรห์ก็พุ่งขึ้นไปสูงถึงมากกว่า 61,000 คน และมีการแตกแขนงประเภทของสื่อที่ผลิตไปมากมาย เช่น นิตยสารข่าวการเมืองรายสัปดาห์, วารสารข่าวเศรษฐกิจ, นิตยสารเกี่ยวกับศิลปะและภาพยนตร์