Thai Buddhist Reformation
The Midnight University
ประวัติการปฏิรูปองค์กรคณะสงฆ์ไทย
๑๐๐
ปีพุทธทาสภิกขุ: การปฏิรูปพุทธศาสนาของไทย
ดร. ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชาศาสนาเปรียบเทียบ
คณะสังคมศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทความวิชาการชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณูปการของท่านพุทธทาสภิกขุในการศาสนา และประวัติการปฏิรูปองค์กรคณะสงฆ์ไทย
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา
หลังจากนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงองค์กรคณะสงฆ์มาโดยตลอด ตามความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
กล่าวได้ว่า ยิ่งเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าใด องค์กรคณะสงฆ์ไทยยิ่งตกต่ำลงเท่านั้น
สุดท้ายจึงมีการเสนอให้ยกเลิก พรบ.คณะสงฆ์เสีย
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๐๓
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๖.๕ หน้ากระดาษ A4)
๑๐๐ ปีพุทธทาสภิกขุ: การปฏิรูปพุทธศาสนาของไทย
ดร. ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ ซ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล
ความนำ
วันที่ 27 พฤษภาคม พุทธศักราช 2549 เป็นวันครบรอบ 100 ปีแห่งชาตกาลของพุทธทาสภิกขุ
(เงื่อม อินฺทปญฺโญ) นักปราชญ์ทางพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา
พุทธทาสภิกขุได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลก
รัฐบาลไทยและประชาชนทุกหมู่เหล่าต่างเฉลิมฉลอง เนื่องในวาระครบรอบวันเกิด 100
ปีของท่านในปีนี้
พุทธทาสภิกขุ (พ.ศ. 2449 - 2536) เป็นผู้นำพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูปของไทย ท่านได้ปฏิรูปพุทธศาสนาด้วยการลดทอนเรื่องราวแบบเทพนิยายในศาสนาลงให้เหลือน้อยที่สุด และตีความคำสอนทางอภิปรัชญาให้อยู่ในรูปของจิตวิทยา หรือตีความให้อยู่ในรูปอุปมาอุปมัยที่ชี้ไปที่ตัวปัญญาหรือความพ้นทุกข์ (นิพพาน) เช่น ท่านอธิบาย "สวรรค์" (สุคติ) และ "นรก" (ทุคติ) ว่า เป็นเพียงอุปมาอุปมัยของความสุขและความทุกข์ในทางจิตใจ นอกจากนี้ท่านยังได้ตีความสวรรค์ชั้นต่างๆ เช่น กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ และภพภูมิที่ต่ำ เช่น นรก เปรต อสุรกาย ว่ามิได้หมายถึงรูปธรรมที่มีอยู่เหนือธรรมชาติ แต่หมายถึงประสบการณ์ทางจิตใจของมนุษย์ ที่อาจเป็นความสุขเหมือนอยู่ในสวรรค์ชั้นต่างๆ หรือความทุกข์ที่เหมือนกับตกนรกขุมต่างๆนั้นได้
พุทธทาสภิกขุเน้นให้มนุษย์ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ในชีวิตนี้ แต่เดิมนั้นถือกันว่า "นิพพาน" เป็นจุดหมายที่บรรลุถึงได้ยาก จะสามารถเข้าถึงได้ก็แต่เฉพาะนักบวชที่สละโลกและบำเพ็ญเพียรเป็นระยะเวลาอันยาวนานหลายภพหลายชาติเท่านั้น แต่พุทธทาสภิกขุกลับเห็นว่า "นิพพาน" อันเป็นสภาพความพ้นทุกข์ทางใจนั้นเป็นสากล ถ้ามีการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็สามารถเข้าถึงได้เช่นเดียวกัน และ "นิพพาน" ก็เป็นปัจจุบันธรรมที่สามารถเข้าถึงได้ในชีวิตนี้หรือแม้ในขณะปัจจุบัน (ที่นี่และเดี๋ยวนี้)
พุทธทาสภิกขุและนักปฏิรูปพุทธศาสนารุ่นใหม่ให้เหตุผลว่า ความเชื่อทางอภิปรัชญาในรูปของ "ลัทธิกรรมเก่า" นั้นเกิดจากอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามาปะปน และบดบังคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าไว้ หรือเกิดจากการตีความของอรรถกถาจารย์รุ่นหลังที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ พุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูปจึงได้หันกลับไปหาพระไตรปิฎก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "พระสูตร" (สุตตันตะปิฎก) และ "พระวินัย" (วินัยปิฎก) ว่าอยู่ในรูปของพระพุทธวัจนะ และเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า
การปฏิรูปคำสอนในพุทธศาสนาด้วยระบบ "เหตุผลนิยม" (Rationalism) ซึ่งริเริ่มขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และได้รับการสานต่อโดยพระภิกษุทั้งฝ่ายธรรมยุติและมหานิกายนั้น มาเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในงานของพุทธทาสภิกขุ พุทธทาสภิกขุไม่เพียงแต่วิพากษ์วิจารณ์ไสยศาสตร์ของชนชั้นล่างเท่านั้น แต่ยังได้วิพากษ์วิจารณ์อภิปรัชญาแห่ง "ลัทธิกรรมเก่า" ของชนชั้นปกครองอีกด้วย ทำให้ระบบเหตุผลนิยมครบถ้วนสมบูรณ์ในงานของท่าน
นอกจากนี้พุทธทาสภิกขุยังได้เติมเต็มการปฏิรูปคำสอนพุทธศาสนาในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นพลังสร้างสรรค์ของท่านเองโดยแท้ ด้วยการตีความพุทธศาสนาตรงไปยังสภาวะทางจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความเรื่อง "ปฏิจจสมุปบาท" อันโดดเด่นของท่าน ซึ่งท่านเน้นวงจรทั้งฝ่ายเกิดทุกข์และฝ่ายดับทุกข์ ว่าเป็นเรื่องสภาวะทางจิตใจ "ปฏิจจสมุปบาท" สายหนึ่งจึงกินเวลาเพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น
พุทธทาสภิกขุได้ริเริ่มการกลับไปใช้ชีวิตของหมู่สงฆ์ตามแบบครั้งพุทธกาล ท่านได้จัดตั้ง "สวนโมกขพลาราม" (สวนแห่งความหลุดพ้น) ขึ้นที่ตำบลพุมเรียงในปี พ.ศ. 2475 และต่อมาได้ย้ายมาที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อันเป็นสถานที่ตั้งในปัจจุบันท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ พุทธทาสภิกขุกล่าวอยู่เสมอว่า "พระธรรมก็คือธรรมชาติ ธรรมชาติก็คือพระธรรม" ท่านจึงสอนให้เฝ้าสังเกตความเป็นไปในธรรมชาติ พร้อมกับการปฏิบัติ "อานาปานสติ" (สติเฝ้าดูลมหายใจ)
วิธีการปฏิบัติ "อานาปานสติ" ตามแนวทางของพุทธทาสภิกขุนั้น ขั้นแรกผู้ปฏิบัติจะเฝ้าดูลมหายใจด้วยวิธีการต่างๆ (สมถะ) ในขั้นต่อมาผู้ปฏิบัติจะใช้สมาธิที่เกิดจากการดูลมหายใจ มาพิจารณาถึงธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง (วิปัสสนา) นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติพึงแสวงหา "ปัญญา" ด้วยการศึกษาหาความรู้จากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์ต่างๆ นอกเหนือจากการอ่านและฟังพระธรรมคำสั่งสอนจากท่านผู้รู้ และประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมที่ดี
ยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาจถือได้ว่าเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของสยามประเทศก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นยุคที่ยุโรปได้ผ่านการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ, ผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรม และชาวตะวันตกได้ออกล่าอาณานิคมไปทั่วโลก รวมทั้งในทวีปเอเชีย ด้วยเทคโนโลยีทางทหารที่เหนือกว่าชนพื้นเมืองทั้งปวงอย่างเทียบกันไม่ได้
ความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคอาณานิคม
- การปฏิรูปการพระศาสนา
ยุคสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากตะวันตกอย่างน้อย 3 ประการด้วยกันคือ
ลัทธิอาณานิคม, ศาสนาคริสต์, และวิทยาศาสตร์จากตะวันตก. พร้อมๆ ไปกับลัทธิอาณานิคม
บาทหลวงมิชชันนารี่ได้ออกเผยแพร่ศาสนาคริสต์ และชาวตะวันตกก็ได้นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาเผยแพร่ด้วย
เมื่อต้องทรงเผชิญกับภัยคุกคามเช่นนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสำรวจตรวจสอบสังคมไทย
ว่าจะมีสิ่งใดที่พอจะเป็นฐานแห่งสติปัญญาในการต่อสู้กับภัยคุกคามดังกล่าว ในที่สุดพระองค์ทรงไม่เห็นสิ่งใดนอกไปจากพุทธศาสนา
แต่พุทธศาสนาในสังคมไทยขณะนั้น
เต็มไปด้วยเรื่องราวของเทพนิยาย อิทธิปาฏิหาริย์ สิ่งเหนือธรรมชาติ และไสยศาสตร์
สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดล้วนเป็นเหตุให้พุทธศาสนาอยู่ในสภาพอ่อนแอ ไม่อาจเป็นฐานปัญญาในการต่อสู้กับภัยคุกคามจากตะวันตกได้.
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระดำริที่จะให้มีการปฏิรูปพุทธศาสนาในสังคมไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทย
การปฏิรูปของพระองค์ดำเนินไปใน 2 แนวทางคือ การปฏิรูปคำสอนของพุทธศาสนา และการปฏิรูปองค์การของพุทธศาสนา
ซึ่งพระองค์ทรงกระทำไปพร้อมๆกัน
การปฏิรูปคำสอนของพุทธศาสนานั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำวิธีวิทยา (Methodology) จากตะวันตกเองมาใช้ กล่าวคือ ทรงนำ "เหตุผลนิยม" (Rationalism) มาตีความพุทธศาสนาของไทยเพื่อให้เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ทรงตัดทอนเรื่องราวอันเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ สิ่งเหนือธรรมชาติ และไสยศาสตร์ออก เพื่อให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุผลอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อที่งมงายแบบไสยศาสตร์ของท้องถิ่นไทยในเขตรอบนอกและในชนบท ทำให้ไสยศาสตร์กลายเป็นคนละสิ่งกับพุทธศาสนา
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งทรงเป็นเชื้อพระวงศ์และต่อมาได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในการสานต่องานปฏิรูปพระพุทธศาสนาของรัชกาลที่ 4 โดยนอกจากจะนิพนธ์หนังสือเรื่อง "นวโกวาท" แล้ว ยังทรงแต่งหนังสือ "พุทธประวัติ" ตามแนวทางปฏิรูปอีกด้วย หนังสือ "พุทธประวัติ" ดังกล่าว ได้กลายเป็นหนังสือของไทยเล่มแรก ที่เล่าเรื่องราวของพระพุทธเจ้าในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ที่ทรงออกค้นคว้าหาความจริง และในที่สุดทรงค้นพบพระธรรมอันเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ โดยไม่มีเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์ใดๆ เจือปน
การปฏิรูปคำสอนของพุทธศาสนา ได้รับการสานต่อสืบทอดกันมาโดยพระสงฆ์สายธรรมยุติในระยะแรกเป็นหลักใหญ่ เนื่องจาก "ธรรมยุติกนิกาย" ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดตั้งขึ้นนั้น พระองค์ได้ทรงชักชวนกุลบุตรของขุนนาง ให้ออกบวชเพื่อสืบทอดงานปฏิรูปพุทธศาสนาที่พระองค์ได้ทรงริเริ่มขึ้น พระภิกษุในสายธรรมยุติในระยะแรกจึงเป็นผู้มีการศึกษาสูง สามารถทำหน้าที่สานต่องานปฏิรูปพุทธศาสนาได้อย่างดียิ่ง
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูประบบการศึกษาสมัยใหม่ขึ้น มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในวัดทั่วประเทศ และมีพระภิกษุทำหน้าที่เป็นครูผู้สอนและอบรมศีลธรรมจรรยาไปด้วยในตัว การศึกษาที่ควบคู่กับศาสนาจึงขยายลงสู่สามัญชนอย่างกว้างขวาง เมื่อระบบการศึกษาพัฒนาขึ้น เกิดวิชาชีพครู และเกิดความรู้เฉพาะด้านมากขึ้น ทำให้โรงเรียนต่างๆ เริ่มแยกตัวออกจากวัด อย่างไรก็ตามระบบการศึกษาสมัยใหม่นี้ทำให้ประชาชนได้รับการศึกษามากขึ้น ส่งผลให้พระภิกษุสายมหานิกายอันเป็นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ของประเทศ พลอยได้รับการศึกษามากขึ้นด้วย
เมื่อสังคมก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ลูกขุนนางที่จะออกบวช (แบบตลอดชีวิต) ในสายธรรมยุติเริ่มหายากขึ้นทุกที (รูปสุดท้ายที่มีชื่อเสียงได้แก่ พระยานรรัตน์ราชมานิตย์ หรือเจ้าคุณนรฯ) ทำให้นิกายธรรมยุติต้องอนุโลมให้ลูกชาวบ้านเข้ามาบวชแทนเพื่อเป็นการแก้ปัญหาพระสงฆ์ขาดแคลน อภิสิทธิ์ทั้งหลายที่พระภิกษุลูกขุนนางเคยได้รับอย่างไร พระภิกษุลูกชาวบ้านที่เข้ามาบวชในนิกายธรรมยุติก็พลอยได้รับอานิสงค์นั้นไปด้วย และเนื่องจากนิกายธรรมยุติอยู่ใกล้ชิดอำนาจในส่วนกลาง จึงทำให้แนวคิดค่อนไปทางอนุรักษ์นิยม (conservative) งานปฏิรูปพุทธศาสนาในระยะหลังจึงตกอยู่ที่พระภิกษุสายมหานิกายเป็นหลักใหญ่ พระภิกษุซึ่งเป็นลูกชาวบ้านที่มีการศึกษามากขึ้นและอยู่ห่างไกลจากอำนาจ ทำให้แนวคิดค่อนไปทางเสรีนิยม (liberal) มากกว่า
การปฏิรูปคำสอนของพุทธศาสนา ที่ริเริ่มขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการสานต่อโดยพระภิกษุทั้งสายธรรมยุติและมหานิกาย และมาสำเร็จสมบูรณ์ในงานของท่านพุทธทาสภิกขุ นักปฏิรูปพุทธศาสนาคนสำคัญของไทยในยุคปัจจุบัน
สำหรับการปฏิรูปองค์การของพุทธศาสนานั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับการจัดองค์การของศาสนาคริสต์ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่สำนักวาติกัน กรุงโรม ประเทศอิตาลี จึงทรงดำริที่จะปฏิรูปองค์การคณะสงฆ์ไทยขึ้นเป็นครั้งแรก โดยให้สอดคล้องกับโครงสร้างทางสังคมการเมืองของสยามประเทศ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงนำเอาโครงสร้างของฝ่ายอาณาจักรเป็นแบบอย่าง ในการกำหนดรูปแบบการปกครองของฝ่ายศาสนจักร ดังนี้
ฝ่ายอาณาจักร 1. พระมหากษัตริย์, 2. ขุนนาง, 3. ประชาชน
ฝ่ายศาสนจักร 1. สมเด็จพระสังฆราช, 2. ธรรมยุติกนิกาย, 3. พระสงฆ์
ฝ่ายอาณาจักรมีประมุขสูงสุดคือ "พระมหากษัตริย์" ฝ่ายศาสนจักรก็มีประมุขสูงสุดคือ "สมเด็จพระสังฆราช" แต่ในขณะที่พระมหากษัตริย์ทรงมีเหล่า "ขุนนาง" ช่วยทำหน้าที่ในการปกครองประชาชนทั่วประเทศ ฝ่ายศาสนจักรสมเด็จพระสังฆราช กลับไม่มีพระสงฆ์ที่เป็นขุนนางมาช่วยเหลือในการปกครอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงจัดตั้ง "ธรรมยุติกนิกาย" ขึ้น โดยทรงชักชวนกุลบุตรของเหล่าขุนนางให้ออกบวช เพื่อให้เป็นพระสงฆ์ในฝ่ายขุนนาง ทำหน้าที่ช่วยเหลือสมเด็จพระสังฆราชในการปกครองพระสงฆ์ทั่วประเทศ
โครงสร้างของคณะสงฆ์นี้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบ "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" ในขณะนั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับแรกขึ้นในปี พ.ศ. 2445 (ร.ศ. 121) โดยให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปตามโครงสร้างดังกล่าวข้างต้น
เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ในปี พ.ศ. 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบ "ประชาธิปไตย" โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้ออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับที่ 2 ขึ้น โดยมีโครงสร้างที่สอดคล้องกับระบอบ "ประชาธิปไตย" ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ดังนี้
ฝ่ายอาณาจักร 1. รัฐสภา, 2. นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี, 3. ศาล
ฝ่ายศาสนจักร 1. สังฆสภา, 2. สังฆนายก และคณะสังฆมนตรี, 3. คณะวินัยธร
อาณาจักรมี "รัฐสภา" ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ, ทางศาสนจักรก็มี "สังฆสภา" ทำหน้าที่ออกกฎหมายในฝ่ายคณะสงฆ์. อาณาจักรมี "นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี" ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร, ทางศาสนจักรก็มี "สังฆนายกและคณะสังฆมนตรี" ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารคณะสงฆ์ โดยแบ่งออกเป็น 4 องค์การ (คล้ายกระทรวง) คือ องค์การปกครอง, องค์การศึกษา, องค์การเผยแผ่, และองค์การสาธารณูปการ. อาณาจักรมี "ศาล" ทำหน้าที่ฝ่ายตุลาการ, ทางศาสนจักรก็มี "คณะวินัยธร" ทำหน้าที่วินิจฉัยคดีและอธิกรณ์ต่างๆ ของฝ่ายสงฆ์
ในปี พ.ศ. 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำรัฐประหารและนำบ้านเมืองเข้าสู่ยุคมืดแห่ง "ระบอบเผด็จการทหาร" หลังจากเสร็จสิ้นภาระกิจในการกำจัดศัตรูทางการเมืองแล้ว จอมพลสฤษดิ์ได้ประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับ "ประชาธิปไตย" เสีย แล้วออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับที่ 3 ขึ้นในปี พ.ศ. 2505 โดยมีโครงสร้างที่สอดคล้องกับ "ระบอบเผด็จการทหาร" ของตนดังนี้
ฝ่ายอาณาจักร 1. ผู้นำสูงสุด, 2. คณะรัฐมนตรี, 3. ประชาชน
ฝ่ายศาสนจักร 1. สมเด็จพระสังฆราช, 2. มหาเถรสมาคม, 3. พระสงฆ์
อาณาจักรมี "ผู้นำสูงสุด" เป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง, ทางศาสนจักรก็คือ "สมเด็จพระสังฆราช" เป็นประมุขสูงสุด. อาณาจักรมี "คณะรัฐมนตรี" ที่มาจากการแต่งตั้ง ทำหน้าที่ช่วยผู้นำสูงสุดในการปกครองประชาชนทั่วประเทศ, ศาสนจักรก็คือ "มหาเถรสมาคม" ที่มาจากการแต่งตั้งเช่นเดียวกัน ทำหน้าที่ช่วยเหลือสมเด็จพระสังฆราชในการปกครองพระสงฆ์ทั่วประเทศ
เมื่อคณะ ร.ส.ช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2535 นั้น มีการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับที่ 3 ในบางมาตรา ที่สำคัญคือ พระราชาคณะที่จะมาดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น ให้เปลี่ยนการพิจารณาจาก "อาวุโสสูงสุดโดยพรรษา" มาเป็น "อาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์" แทน พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับที่ออกโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และแก้ไขเพิ่มเติมโดยคณะ ร.ส.ช. นั้น จึงเป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่เป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ ไม่อาจจะแก้ปัญหาของคณะสงฆ์ในสังคมยุคใหม่ได้ แต่ก็ยังคงใช้มากระทั่งถึงปัจจุบัน
กระทรวงศึกษาธิการได้ร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ขึ้น โดยใช้โครงสร้างของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับ ปี พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 เป็นหลักใหญ่ โดยมี "มหาเถรสมาคม" ทำหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษา และให้มี "มหาคณิสสร" (มหา+คณะ+อิสระ) ซึ่งเป็นองค์กรใหม่ทำหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์แทน โดยชูประเด็นที่ว่า "มหาคณิสสร" จะประกอบด้วยพระสงฆ์ที่หนุ่มกว่า จึงย่อมจะบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ก็เกิดคำถามขึ้นในหมู่ประชาชนว่า เมื่อโครงสร้างเป็นเผด็จการแล้ว เผด็จการโดยคนหนุ่มจะแตกต่างอะไรไปจากเผด็จการโดยคนแก่ ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
การปฏิรูปพุทธศาสนาซึ่งริเริ่มขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งดำเนินไปเป็น 2 แนวทางนั้น นับได้ว่าการปฏิรูปคำสอนพุทธศาสนาของไทยประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ทำให้พุทธศาสนาของไทยมีคำสอนที่ลึกซึ้งทันสมัย ไม่น้อยหน้าชาติใดๆ ในโลก และพุทธศาสนาก็หวนคืนมาสู่ความสนใจของประชาชนผู้มีการศึกษาอย่างกว้างขวาง
ส่วนการปฏิรูปองค์การพุทธศาสนาของไทยนั้น อาจกล่าวได้ว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะการจัดองค์การคณะสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบกว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมานั้นมีลักษณะถอยหลังเข้าคลอง กลับไปหายุคมืดแห่ง "ระบอบเผด็จการทหาร" (ซึ่งแย่ยิ่งกว่ายุคของ "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" เสียอีก) ทั้งๆที่บ้านเมืองได้ผ่านการปฏิวัติในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, และเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ 2535" มาแล้ว
ในปี พ.ศ. 2540 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งของโลก ทำไมเราจึงไม่ร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ให้มีโครงสร้างที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เพื่อให้การพระศาสนาทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ หรือมิฉะนั้นทำไมเราจึงไม่คืนอำนาจแก่พระสงฆ์และประชาชน โดยการยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เสีย เพื่อให้พระสงฆ์และประชาชนได้ร่วมกันแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อว่าพุทธศาสนาจะได้แตกหน่ออ่อนและเติบกล้าขึ้นอย่างเป็นอิสระ เพื่อเป็นประทีปแก่โลกในการเผชิญกับปัญหาวิกฤตการณ์ทั้งปวง
พุทธทาสภิกขุได้ทำการเผยแผ่พุทธศาสนาและสร้างสรรค์ผลงานอันยิ่งใหญ่ ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี สวนโมกขพลารามได้กลายเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 20 งานเผยแผ่พุทธศาสนาในชุด "ธรรมโฆษณ์" ของท่านนั้น เป็นผลงานทางความคิดอันยิ่งใหญ่ เป็นงานริเริ่มสร้างสรรค์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดทางพุทธศาสนา และเป็นงานซึ่งเมื่อรวบรวมสำเร็จสมบูรณ์แล้ว จะมีความยาวยิ่งกว่า "พระไตรปิฎก" ของพุทธศาสนาเถรวาทเสียอีก พุทธทาสภิกขุและสวนโมกขพลารามเป็นสัญลักษณ์และตัวแทนของพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูปของชนชั้นกลาง กลุ่มที่เป็นนักวิชาการ นักศึกษา และปัญญาชนในสังคมไทย
คลิกไปที่
กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
พุทธทาสภิกขุได้ริเริ่มการกลับไปใช้ชีวิตของหมู่สงฆ์ตามแบบครั้งพุทธกาล ท่านได้จัดตั้ง "สวนโมกขพลาราม" (สวนแห่งความหลุดพ้น) ขึ้นที่ตำบลพุมเรียงในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ และต่อมาได้ย้ายมาที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อันเป็นสถานที่ตั้งในปัจจุบันท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ พุทธทาสภิกขุกล่าวอยู่เสมอว่า "พระธรรมก็คือธรรมชาติ ธรรมชาติก็คือพระธรรม" ท่านจึงสอนให้เฝ้าสังเกตความเป็นไปในธรรมชาติ พร้อมกับการปฏิบัติ "อานาปานสติ" (สติเฝ้าดูลมหายใจ) วิธีการปฏิบัติ "อานาปานสติ" ตามแนวทางของพุทธทาสภิกขุนั้น ขั้นแรกผู้ปฏิบัติจะเฝ้าดูลมหายใจด้วยวิธีการต่างๆ (สมถะ) ในขั้นต่อมาผู้ปฏิบัติจะใช้สมาธิที่เกิดจากการดูลมหายใจ มาพิจารณาถึงธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง (วิปัสสนา) นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติพึงแสวงหา "ปัญญา" ด้วยการศึกษาหาความรู้จากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์ต่างๆ นอกเหนือจากการอ่านและฟังพระธรรมคำสั่งสอนจากท่านผู้รู้ และประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมที่ดี