บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๑๐๒ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙
15-12-2549

 

 

 

 

 

 

H
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น



World's Politics
The Midnight University

มองมุมต่างทางการเมืองเรื่องรัฐประหาร
ขบวนการสิทธิสตรีกับการรัฐประหารในฟิจิและประเทศไทย
สุภัตรา ภูมิประภาส : เขียน

กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม

บทความวิชาการชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตอบโต้ต่อการทำรัฐประหารโดยขบวนการสิทธิสตรีในฟิจิและประเทศไทย
ขณะที่ขบวนการดังกล่าวกลุ่มหนึ่งออกแถลงการณ์ต่อต้าน ในอีกด้านหนึ่งกับเข้าหาด้วยความนบนอบ
ขณะที่กลุ่มหนึ่งถูกคุกคามข่มขู่ อีกกลุ่มหนึ่งกลับได้รับรางวัล
ซึ่งสะท้อนถึงวุฒิภาวะเกี่ยวกับความเติบโตและสำนึกในประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๐๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๘ หน้ากระดาษ A4)



"ขบวนการสิทธิสตรีฟิจิ" กับ "ขบวนการผู้หญิงและการปฏิรูปการเมืองไทย"
จุดยืนที่แตกต่างในสถานการณ์รัฐประหาร
สุภัตรา ภูมิประภาส : นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ประชาไทออนไลน์ เดือนธันวาคม ๒๕๔๙
ผู้เขียนเป็นนักข่าวที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน ปัจจุบันทำงานที่หนังสือพิมพ์ The Nation


เหตุการณ์รัฐประหารที่ประเทศฟิจิ หรือสาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ (Republic of the Fiji Islands) ในมหาสมุทรแปชิฟิกตอนใต้นั้น เพิ่งเกิดขึ้นหมาดๆเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา สองเดือนเศษหลังรัฐประหารในประเทศไทยที่อยู่ห่างไกลกันหลายร้อยพันไมล์ จริงๆแล้วรัฐประหารทั้งสองประเทศไม่ได้มีความเกี่ยวพันอะไรกัน แต่มีความเหมือนและความต่างที่น่าสนใจที่อยากเล่าให้ฟัง โดยเฉพาะในประเด็นผลกระทบของการรัฐประหารที่เกี่ยวกับกลุ่มนักรณรงค์เพื่อสิทธิสตรีของทั้ง 2 ประเทศ

หลังเหตุการณ์รัฐประหาร, อิมรานา จาลาล (Imrana Jalal) สมาชิกของกลุ่มสิทธิสตรีฟิจิได้รับโทรศัพท์จากชายคนหนึ่งข่มขู่ว่าจะข่มขืนเธอ และจะทำให้เธอหยุดส่งเสียงอีกต่อไป. จาลาลเป็นกรรมการบริหารของ "ขบวนการสิทธิสตรีฟิจิ" (Fiji Women's Rights Movement- FWRM) และเป็นทนายความสิทธิมนุษยชนที่ออกมาส่งเสียงคัดค้านการทำรัฐประหารทั้งผ่านแถลงการณ์ขององค์กร และผ่านข้อเขียนที่ตีพิมพ์ในสื่อ

ขณะเดียวกัน ฟริซิลา บัวโดรโม (Virisila Buadromo) ผู้ประสานงานของ ขบวนการสิทธิสตรีฟิจิ ก็ได้รับโทรศัพท์จากชายคนหนึ่งที่อ้างตัวว่าเป็นทหาร ข่มขู่ให้เธอ "หุบปาก" และหยุดการกระทำใดๆที่ทำอยู่ นั่นก็คือการออกมาวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐประหารนั่นเอง

บัวโดรโม กล่าวว่าสิ่งที่กลุ่มของเธอกำลังทำนั้น คือ "การเรียกร้องให้มีการเคารพหลักการพื้นฐานของนิติรัฐ และหลักการประชาธิปไตย" ซึ่งในแถลงการณ์ของกลุ่มฯไม่ได้เรียกร้องแค่ให้นักรัฐประหารเคารพกติกา แต่ขบวนการสิทธิสตรีฟิจิยังได้เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคม ยึดหลักนิติรัฐโดยไม่เข้าไปมีตำแหน่งหรือร่วมกิจกรรมใดกับคณะรัฐประหารที่ละเมิดกฎหมาย

ขบวนการสิทธิสตรีของฟิจิ
ขบวนการสิทธิสตรีของฟิจิ เป็นองค์กรพัฒนาสังคมภาคเอกชน จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2529 (1986) เป็นองค์กรที่ผู้หญิงจากต่างชาติพันธุ์และจากหลากหลายวัฒนธรรมในฟิจิมาร่วมกันทำงาน เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ ผ่านการปฏิรูปองค์กรและการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่างๆ ในสังคมที่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง และเช่นเดียวกับขวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีทั่วโลก ที่ต้องการเห็นผู้หญิงได้โอกาสที่เท่าเทียมในสังคม แต่ขบวนการผู้หญิงฟิจิบอกว่า พวกเธอไม่ได้ต่อสู้เพียงเพื่อโอกาสและความเท่าเทียมของผู้หญิงเท่านั้น แต่พวกเธอต้องการอยู่ร่วมกับคนทุกเพศในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย มีธรรมาภิบาล เคารพต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเคารพสิทธิมนุษยชน

บัวโดรโม ได้เรียกร้องต่อภาคประชาสังคมไว้ในแถลงการณ์ของกลุ่มของเธอด้วยว่า "โปรดรำลึกไว้ว่า การยอมรับตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาลชั่วคราวของคณะรัฐประหารนั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย"

ฉะนั้น เมื่อการรัฐประหารได้ทำลายหลักการทั้งปวงที่พวกเธอเคารพและเรียกร้อง พวกเธอจึงต้องออกมาพูดและเขียน จนถูกข่มขู่ว่าจะถูกข่มขืน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่ก็มีผลกระทบทำให้การต่อสู้รณรงค์ของกลุ่มผู้หญิงฟิจิยากลำบากและสุ่มเสี่ยงมากขึ้น ทั้งการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และการต่อสู้กับทัศนคติว่าด้วย "การข่มขืน" และ "การถูกข่มขืน" ที่ในหลายสังคมยังเชื่อว่าคุณค่าของความเป็นมนุษย์ผู้หญิงจะถูกทำลายไปเมื่อเธอถูก "ข่มขืน" ทั้งชายลึกลับและชายผู้อ้างตัวเป็นทหารที่โทรมาข่มขู่นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีของฟิจิ ก็คงจะใช้ทัศนคติแบบนี้

คราวนี้ลองย้อนมาดูผลกระทบของการรัฐประหารในประเทศไทย กับกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีของไทยกันบ้าง อันนี้ต้องขอทำความเข้าใจไว้ตรงนี้ว่า ไม่ได้หมายรวมทุกกลุ่ม

WeMove หรือ "ขบวนการผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง
กลุ่มที่จะกล่าวถึงคือ กลุ่ม WeMove หรือ "ขบวนการผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง" ซึ่งโชคดีกว่าขบวนการผู้หญิงฟิจิจำนวนมาก คือนอกจากไม่ถูกข่มขู่ใดๆ แล้ว ยังดูว่าน่าจะมีสัมพันธภาพที่ดีกับคณะรัฐประหาร อันนี้ตีความได้จากภาพที่ทางกลุ่มเอามาตีพิมพ์โชว์อยู่ในแผ่นพับของกลุ่มฯ คือ ภาพที่ตัวแทนกลุ่มเข้าพบพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยายน ที่ตอนนี้แต่งตั้งตัวเองเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

นอกจากนี้กลุ่ม WeMove ยังได้รับงบประมาณ 38 ล้าน จากงบรวม 200 ล้านบาทที่รัฐบาลภายใต้กำกับของคณะรัฐประหารจัดสรรมาให้สำหรับ "การปฏิรูปการเมือง" ภาคประชาชนทั่วประเทศ นอกจากเป็นความโชคดีของขบวนการผู้หญิงไทยแล้ว ยังเป็นความโชคดีของคณะรัฐประหารของไทยด้วยที่กลุ่มรณรงค์สิทธิสตรีของไทยไม่รังเกียจเดียจฉันท์ว่าพวกเขาทำลายหลักการประชาธิปไตย เหมือนกับที่ขบวนการผู้หญิงฟิจิประณามคณะรัฐประหารในประเทศของพวกเธอ

เรื่องที่น่าสนใจและสะดุดตาสะดุดใจจนอยากเล่าต่อ คือ ตัวแทนของกลุ่ม WeMove ที่ไปนั่งเจรจาสันถวไมตรีในห้องรับรองหรูหราอยู่กับหัวหน้าคณะรัฐประหารนั้น เป็น อดีตผู้สมัคร สส. และ สว. ถึง 3 คน คือ สองคนเป็นอดีต สส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตผู้สมัคร สส.ของพรรคประชาธิปัตย์ อีกหนึ่งคนเป็นอดีตว่าที่ สว. ที่เพิ่งชนะเลือกตั้งมาแต่ถูกคณะรัฐประหารตัดสิทธิ์ไป

น่าสนใจที่ "ขบวนการผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง" เป็นองค์กรที่เพิ่งเปลี่ยนรูปมาจาก "เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ" ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ.2540 ที่เพิ่งถูกคณะรัฐประหารชุดนี้ฉีกทิ้งไป น่าสนใจเพราะ สตรีทั้งสามท่านนี้ เป็นทั้งนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีและนักการเมืองที่เชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย เพราะทั้งสามท่านลงสมัครแข่งขันเพื่อเข้าสู่เส้นทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่ทั้งๆที่ถูกคณะรัฐประหารตัดสิทธิทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไป พวกเธอก็ยังสามารถปรับตัวมา "ปฏิรูปการเมือง"ภายใต้การสนับสนุนของคณะรัฐประหารได้

นี่ถ้าขบวนการผู้หญิงฟิจิใส่ใจแต่ประเด็นความเท่าเทียมระหว่างเพศ และการเข้าถึงโอกาสของผู้หญิงประการเดียวพวกเธออาจไม่ต้องเผชิญกับการข่มขู่คุกคามอย่างที่เป็นอยู่เวลานี้ !!!

แถลงการณ์ของขบวนการสิทธิสตรีฟิจิ
วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม 2549

ขบวนการสิทธิสตรีฟิจิขอประนามอย่างรุนแรงต่อผู้ที่จะเข้าร่วมในคณะรัฐมนตรี ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารที่ได้กระทำการละเมิดกฎหมายของประเทศ จากคำประกาศของ ผู้บัญชาการแฟรงค์ ไบนิมาราม (Commander Frank Bainimarama) เมื่อคืนที่ผ่านมาที่เชิญชวนให้ผู้ที่สนใจที่จะเข้าร่วมคณะรัฐมนตรีแสดงเจตจำนงค์
โปรดรำลึกไว้ว่า การยอมรับตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาลชั่วคราวของคณะรัฐประหารนั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย

ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2543 (2000) ซึ่ง George Speight [หัวหน้าคณะรัฐประหาร 2543] แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี มือของกฎหมายได้ลงโทษบุคคลเหล่านั้นด้วยความผิดที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งที่ได้มาโดยมิชอบ และพวกเขาถูกพิพากษาจำคุก เราขอเตือนว่าภาคประชาสังคมกำลังจับตาตรวจสอบและบันทึกวิกฤตการณ์การเมืองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ จะร่วมกันบันทึกการแต่งตั้งที่ผิดกฎหมาย และจะทำให้แน่ใจว่าบุคคลใดที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ละเมิดกฎหมายนี้จะต้องได้รับการลงโทษทางกฎหมาย

สมาชิกของภาคประชาสังคมไม่ควรที่จะร่วมในข้อผิดพลาดนี้ โดยคิดว่าพวกเขากำลังช่วยให้ฟิจิก้าวผ่านภาวะวิกฤติและคืนสู่สภาพปกติ พวกเขาอาจคิดว่าการกระทำที่ผิดกฎหมายนี้สามารถช่วยแก้วิกฤตของประเทศในระยะสั้นได้ แต่ในระยะยาวพวกเขากำลังช่วยรับรองวงจรอุบาทว์ของการทำรัฐประหาร และสมมติฐานว่าการใช้กำลังอาวุธแก้ปัญหาประเทศชาตินั้น เป็นเรื่องผิดกฎหมายที่อนุโลมให้ทำได้

ขบวนการสิทธิสตรีฟิจิขอเรียกร้องให้องค์กรวิชาชีพและภาคส่วนต่างๆ ได้ไตร่ตรองเกี่ยวกับการเข้ารับตำแหน่งที่ผิดกฎหมายนี้ และเรียกร้องให้สมาชิกของกลุ่มใดๆ ที่เข้าไปรับตำแหน่งลาออก

*เรื่องข้างล่างต่อไปนี้ไม่กี่ยวกับขบวนการผู้หญิงไทยหรือขบวนการผู้หญิงฟิจิ เป็นข้อมูลแถมเกี่ยวกับรัฐประหารในประเทศฟิจิที่ "บังเอิญเหมือน" รัฐประหารในราชอาณาจักรไทยอยู่หลายประการ รวมทั้งเป็นการทำรัฐประหารแบบไม่มีฝ่ายใดต้องสูญเสียเลือดเนื้อเหมือนกันด้วย

geopolitics - สาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ
สาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ ประกอบด้วยเกาะ 323 แห่งในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเกาะที่มีประชากรอาศัยอยู่จำนวน 110 แห่ง โดยประมาณร้อยละ 87 ของประชากรอาศัยอยู่บนสองเกาะหลักคือ เกาะฟิติ (Viti Levu) และเกาะเฟนัว (Venua Levu) ประชากรกลุ่มแรกที่มาอาศัยบนเกาะเหล่านี้อพยพมาจากภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

อังกฤษยึดฟิจิเป็นอาณานิคมในปี พ.ศ.2417 (1874) และได้นำประชากรเชื้อชาติอินเดียเข้ามาเป็นแรงงานในโรงงานน้ำตาลบนเกาะในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2422 (1879) - พ.ศ.2459 (1916) เมื่ออังกฤษให้อิสรภาพกับฟิจิในปี พ.ศ.2513 (1970) ความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนาระหว่างพลเมืองฟิจิเชื้อสายอินเดีย (Indo-Fijian) และชนพื้นเมืองดั้งเดิมของฟิจิ กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของฟิจิเป็นโปรแตสแตน์นิกาย "เมโทดิส" (Methodist) ส่วนพลเมืองเชื้อสายอินเดียนับถือฮินดู ซึ่งถูกเลือกปฏิบัติและจำกัดสิทธิทางการเมือง รัฐธรรมนูญของประเทศฟิจิ จำกัดจำนวนนักการเมืองฟิจิเชื้อสายอินเดียในสภาให้มีได้น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง และระบุห้ามไม่ให้พลเมืองเชื้อสายอินเดียดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ภายหลังได้รับเอกราช ประเทศฟิจิเผชิญกับการรัฐประหารมา 4 ครั้ง คือรัฐประหาร 2 ครั้งในปี พ.ศ.2530 (1987) รัฐประหารปี พ.ศ.2543 (2000) และครั้งล่าสุดเมื่อ 4 ธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา

การรัฐประหารในฟิจิเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา นำโดยนายพล Josaia Voreqe (Frank) Bainimarama ผู้นำทหารที่ไม่พอใจต่อนายกรัฐมนตรีไลเซเนีย คาเรส (Laisenia Qarase) และรัฐสภาฟิจิที่มีแนวโน้มจะผ่านร่างกฎหมาย "เพื่อความสมานฉันท์และความเป็นเอกภาพ"ที่เสนอให้นิรโทษกรรมผู้เกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2543 ซึ่งนายพลแฟรงค์กล่าวหาว่า การรัฐประหารครั้งนั้นทำให้เกิดการละเมิดกฎหมายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเขาได้อ้างถึง การข่มขืน การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการทำลายวัดฮินดู นอกจากนี้นายพลแฟรงค์ยังเรียกร้องให้รัฐสภาถอนร่างกฎหมายที่ให้สิทธิครอบครองทรัพยากรทะเลเป็นของพลเมืองเชื้อชาติฟิจิเท่านั้น

นายกรัฐมนตรีคาเรสตอบโต้ว่า คำพูดของนายพลแฟรงค์ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขู่ว่าจะนำเรื่องฟ้องร้องต่อศาลสูงสุดของฟิจิ และขอให้ศาลมีคำพิพากษากำหนดบทบาทที่ถูกต้องของทหารด้วย. ครั้งนี้ โฆษกของกองทัพออกมาตอบโต้นายกรัฐมนตรี โดยบอกว่าฝ่ายทหารมีความเป็นเอกภาพในการคัดค้านการนิรโทษกรรมบรรดาผู้เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2543 และตอกย้ำเรื่องที่กองทัพปัจจุบันไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอในร่างกฎหมายที่ให้สิทธิครอบครองทรัพยากรทางทะเลกับชนพื้นเมืองฟิจิเท่านั้น

หลังการตอบโต้กันไปมาระหว่างนายกรัฐมนตรีและผู้นำทหารเป็นเวลากว่าหนึ่งเดือน ในวันที่ 31 ตุลาคม 2549 ทางกองทัพก็ได้จัดการสวนสนามในเมืองหลวงซูวา [Suva] เพื่อแสดงพลังให้เห็นเป็นตัวอย่าง ทางนายกรัฐมนตรีคาเรส และประธานาธิบดีโจเซฟา อิโลอิโล ( Ratu Josefa Iloilo) พยายามที่จะปลดนายพลแฟรงค์ในช่วงที่นายพลแฟรงค์เดินทางไปเยี่ยมทหารฟิจิที่ถูกส่งไปเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพในอิรัก โดยนายกรัฐมนตรีและประธานบดีได้แต่งตั้งนายพันตรี Neumi Leweni ขึ้นมาแทน แต่ Leweni ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่ง ด้วยเหตุผลว่าทหารในกองทัพยังคงซื่อสัตย์ต่อนายพลแฟรงค์

วันที่ 4 พฤศจิกายน นายกรัฐมนตรีคาเรส ประกาศแขวนการพิจารณา "ร่างกฎหมายเพื่อความสมานฉันท์และความเป็นเอกภาพ" ในส่วนของบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมผู้เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหาร พ.ศ. 2543 ไว้ก่อน โดยให้เหตุผลว่าต้องการทบทวนรายละเอียดว่ามีข้อใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญบ้าง. ด้านนายพลแฟรงค์ได้เรียกตัวทหารนอกประจำการจำนวน 1,000 นายมารายงานตัวต่อกองทัพ หลังได้รับแจ้งข่าวว่ากำลังจะถูกดำเนินการในข้อหายุยงปลุกปั่นเพื่อให้เกิดการรัฐประหาร

หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีคาเรส พยายามที่จะเปิดการเจรจากับนายพลแฟรงค์ ในระหว่างที่นายพลแฟรงค์เดินทางไปพักผ่อนที่ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งนายพลแฟรงค์ยื่นคำขาดว่าให้นายกรัฐมนตรีเตรียมคำว่า "YES" หรือ "NO" มาแค่สองคำเท่านั้นพอ สำหรับข้อเรียกร้อง 9 ข้อของทางกองทัพ ซึ่ง 2 ในจำนวน 9 ข้อคือ ข้อเรียกร้องให้ถอนการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร 2543 และกฎหมายให้สิทธิครอบครองทรัพยากรทางทะเลกับชนพื้นเมืองดั้งเดิม

ผู้นำฝ่ายพลเรือนและผู้นำทหารของฟิจิใช้เวลาเจรจากัน 2 ชั่วโมงที่นิวซีแลนด์ ทั้งสองบินกลับฟิจิโดยไร้ข้อสรุป
วันที่ 3 ธันวาคม นายพลแฟรงค์ประกาศว่าได้ยึดอำนาจการปกครองสาธารณรัฐฟิจิไว้หมดแล้ว ขณะที่นายกรัฐมนตรีคาเรส ประกาศว่าเขายังมีอำนาจบริหารประเทศอยู่ และได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 5 ธันวาคมเพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องของทางกองทัพ แต่ทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่ได้มาปรากฏตัวเมื่อถึงวันนัดหมาย มีแต่ประธานาธิบดีอิโลอิโล ที่ลงนามในคำประกาศยุบสภาโดยให้เหตุผลว่า "เป็นความจำเป็น"

ทหารล้อมบ้านของนายกรัฐมนตรีคาเรส
วันที่ 6 ธันวาคม นายพลแฟรงค์ประกาศอีกครั้งหนึ่งว่า ทหารได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศฟิจิไว้ได้โดยเบ็ดเสร็จแล้ว และได้ทำการควบคุมตัวคณะรัฐมนตรี และได้ประกาศปลดบรรดาข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ ที่ไม่ให้ความร่วมมือกับคณะรัฐประหาร ซึ่งรวมถึงอดีตประธานาธิบดีอิโลอิโล, ผู้บัญชาการตำรวจ, และประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง

เกาะติดสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหารในประเทศฟิจิ
ตามที่เกิดกรณีข่มขู่คุกคามผู้นำขบวนการสิทธิสตรีฟิจิให้หยุดต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐประหารนั้น เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ศูนย์วิกฤตการณ์ผู้หญิงฟิจิได้ออกแถลงการณ์ประณามการคุกคามดังกล่าว และเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการสอบสวนต่อกรณีนี้ เพื่อเป็นหลักประกันให้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและให้ความมั่นใจกับประชาชนในเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น

แถลงการณ์ศูนย์วิกฤตการณ์ผู้หญิงฟิจิ
วันที่ 11 ธันวาคม 2549

ศูนย์วิกฤตการณ์ผู้หญิงฟิจิ(1) ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฟิจิ ดำเนินการสอบสวนกรณีที่มีการข่มขู่นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีที่ออกมาต่อต้านคณะรัฐประหาร รวมทั้งการที่ทหารนำตัวบุคคลไปสอบสวนโดยพลการ "พฤติกรรมเช่นนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง และเราในฐานะที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนจะเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านพฤติกรรมดังกล่าวต่อไป" เอดวินา โกโตไอซูวา ผู้ช่วยผู้ประสานงานของศูนย์วิกฤตการณ์ผู้หญิงฟิจิ กล่าว

"เราเรียกร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนให้เข้ามาสอบสวนกรณีเหล่านี้ เพราะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นองค์กรที่มีอำนาจและหน้าที่ที่จะดำเนินการ" เธอกล่าวและเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิฯ ตระหนักถึงบทบาทสำคัญนี้ เช่นทีเคยปฏิบัติเมื่อเกิดการรัฐประหารปี พ.ศ.2543 เธอบอกว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนในฟิจิจะติดตามบทบาทและการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เกิดความแน่ใจว่ากรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นนั้นได้รับการตรวจสอบ

โกโตไอซูวา กล่าวว่า ประเทศฟิจิกำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงจากการที่มีการละเมิดหลักนิติรัฐ ซึ่งก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ละเมิดกฎหมายตามมา "ถึงแม้ว่าช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ดูเหมือนจะเป็นไปอย่าง "ไร้ความรุนแรง" ความจริงก็คือการกระทำรัฐประหารที่ละเมิดกฎหมายนี้ได้เปิดพื้นที่ต่อพฤติกรรมละเมิดกฎหมายอื่นๆตามที่กล่าวมา" เธอกล่าว

โกโตไอซูวา กล่าวว่าช่วงเวลานี้เป็นเวลาสำคัญที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหลายจำต้องร่วมกันต่อสู้เพื่อให้ประชาธิปไตยและนิติรัฐดำรงอยู่ได้ต่อไป "เป็นเรื่องสำคัญที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะต้องรู้สึกปลอดภัยในเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นในช่วงเวลานี้ เพราะว่าเสียงของพวกเขามีความสำคัญในฐานะหลักประกันที่จะทำให้เสียงของคนส่วนใหญ่ไม่ถูกลืม"

"รัฐธรรมนูญของประเทศฟิจิรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นเวลานี้ ได้ปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนที่จะแสดงความคิดเห็นได้อย่างเปิดเผยในสังคมประชาธิปไตย" พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการคุกคามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่ได้มีการรับรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศฟิจิ "ถ้าการคุกคามดังกล่าวมาจากกลุ่มผู้ยึดอำนาจอยู่ ณ เวลานี้แล้ว น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าประชาชนกำลังถูกปิดปากไม่ให้ส่งเสียงใดใดออกมา"

ศูนย์วิกฤตการณ์ผู้หญิงฟิจิจะร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนอื่นๆ และประชาชนทุกคนที่เข้าร่วมในนามของตัวเอง ต่อสู้เพื่อให้ประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐได้รับการเคารพและดำรงอยู่ต่อไปในประเทศฟิจิ

หมายเหตุ : ศูนย์วิกฤตการณ์ผู้หญิงฟิจิ (Fiji Women's Crisis Centre- FWCC) เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2527 (1984) โดยมีเป้าหมายต่อต้านความรุนแรงที่กระทำต่อเด็ก และสตรี และให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และการเยียวยาทางร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ยังจัดการให้บริการด้านการศึกษาในชุมชน ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระทำรุนแรงที่มีสาเหตุมาจาก "เพศสภาพ"เช่น การข่มขืน การทุบตี และการคุกคามทางเพศ

+++++++++++++++++++++++++++++++++

ภาพประกอบซ้าย พลเรือจัตวาแฟรงค์ ไบนิมารามา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
และหัวหน้าคณะปฏิวัติในฟิจิ ภาพประกอบขวา นายกรัฐมนตรีไลเซเนีย คาเรส

เพิ่มเติม : กองทัพฟิจิลั่น ยึดครองประเทศ 50 ปี
ที่มา: เดลินิวส์ ฉบับวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๙
16 ธันวาคม 2549 พลเรือจัตวาแฟรงค์ ไบนิมารามา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และหัวหน้าคณะปฏิวัติในฟิจิเผยเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ทหารอาจปกครองประเทศไปนานถึง 50 ปี จนกว่าหัวหน้าชนเผ่าต่างๆ ที่ทรงอิทธิพลจะเห็นด้วยต่อการจัดตั้งรัฐบาลที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะปฏิวัติ

นอกจากนี้พลเรือจัตวาไบนิมารามา ยังต้องการให้สภาผู้นำอาวุโสชนเผ่า ซึ่งมีอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่งตั้งประธานาธิบดีราตู โจเซฟา ไอโลอิโล อีกครั้ง โดยภายใต้แผนการของหัวหน้าคณะปฏิวัติ นายไอโลอิโล จะปฏิญาณตนเข้าสู่ตำแหน่งในรัฐบาลรักษาการของคณะปฏิวัติ ซึ่งจะทำหน้าที่บริหารประเทศไปจนกว่ามีการฟื้นฟูประชาธิปไตย

แผนการดังกล่าวนี้ จะทำให้พลเรือจัตวาไบนิมารามา อ้างดำเนินการตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ขณะที่ปลดอดีตนายกรัฐมนตรีไลเซเนีย การาเซ และเพื่อป้องกันการก่อกบฏหรือการกระทำการรุนแรงอื่นๆ ที่เป็นการต่อต้านตัวเขาในอนาคต ก่อนหน้านี้สภาผู้นำอาวุโสชนเผ่าได้ประณามการทำรัฐประหารของพลเรือจัตวาไบนิมารามาว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

วันเดียวกัน มีข่าวรั่วไหลออกมาว่า พรรครัฐบาลของอดีตนายกฯการาเซ กำลังวางแผนเตรียมประท้วงใหญ่ต่อต้านรัฐบาลรักษาการและขัดขวางไม่ให้ทหารควบคุมอำนาจทั้งหมด เอกสารว่ายุทธศาสตร์ลับที่ร่างโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติจากเอสดีแอล (SDL) พรรคของนายการาเซ ได้รั่วไหลไปถึงกองทัพฟิจิ ซึ่งโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อ 9 วันก่อน และหลังจากนั้นได้ถูกนำไปเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน

อย่างไรก็ตาม บรรดาลูกพรรคเอสดีแอล ได้ออกมาเคลื่อนไหวยืนยัน ว่าเอกสารนี้ร่างโดยสมาชิกหลายคนของพรรคจริง แต่เป็นเอกสารส่วนตัว ไม่ได้เอาไว้แจกจ่าย สอดคล้องกับข่าวก่อนหน้านี้ที่พลเรือจัตวาไบนิมารามากล่าวหาอดีตรัฐบาลของนายการาเซกำลังสร้างคลื่นใต้น้ำ เพื่อก่อความไม่สงบในประเทศ

ถึงกระนั้นมีกลุ่มผู้ชุมนุมกว่า 20 คนเดินขบวนประท้วงต่อต้านคณะปฏิวัติในกรุงซูวา เพื่อต้องการให้รีบคืนอำนาจประชาธิปไตย แต่ทหารที่ตั้งด่านตรวจตามจุดต่าง ๆ ทั่วเมืองหลวง ไม่ได้เข้าห้ามปรามหรือแทรกแซงการประท้วงครั้งนี้ ขณะเดียวกันมีทหารหลายสิบนายได้บุกค้นสำนักงานหลายแห่ง เพื่อหาเอกสารการทุจริตของรัฐบาลชุดที่แล้ว

แผนที่สาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ ประกอบด้วยเกาะ 323 แห่งในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้
ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเกาะที่มีประชากรอาศัยอยู่จำนวน 110 แห่ง โดยประมาณร้อยละ 87 ของ
ประชากรอาศัยอยู่บนสองเกาะหลักคือ เกาะฟิติ (Viti Levu) และเกาะเฟนัว (Venua Levu)
ประชากรกลุ่มแรกที่มาอาศัยบนเกาะเหล่านี้อพยพมาจากภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

 

ขบวนการสิทธิสตรีของฟิจิ เป็นองค์กรพัฒนาสังคมภาคเอกชน จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙(๑๙๘๖) เป็นองค์กรที่ผู้หญิงจากต่างชาติพันธุ์และจากหลากหลายวัฒนธรรมในฟิจิมาร่วมกันทำงาน เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ ผ่านการปฏิรูปองค์กรและการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่างๆ ในสังคมที่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง และเช่นเดียวกับขวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีทั่วโลก ที่ต้องการเห็นผู้หญิงได้โอกาสที่เท่าเทียมในสังคม แต่ขบวนการผู้หญิงฟิจิบอกว่า พวกเธอไม่ได้ต่อสู้เพียงเพื่อโอกาสและความเท่าเทียมของผู้หญิงเท่านั้น แต่พวกเธอต้องการอยู่ร่วมกับคนทุกเพศในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย มีธรรมาภิบาล เคารพต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเคารพสิทธิมนุษยชน