University & Privatization
The Midnight University
การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
ข้อพิจารณาบางประการก่อนนำมหาวิทยาลัยขายทอดตลาด
ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ใจ อึ้งภากรณ์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทความวิชาการชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน
๒ ท่านข้างต้น ประกอบด้วย
๑. แลไปข้างหน้า แนวทาง ๑๐ ประการในการปฏิรูปมหาวิทยาลัยฯ
๒. คัดค้านกลไกตลาดในมหาวิทยาลัย
เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และเบื้องหลังกรณีที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ
พยายามนำมหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบ
ด้วยเหตุผลเพื่อการปฏิรูปการศึกษาและเสรีภาพทางวิชาการ
อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เสนอการปฏิรูปการอุดมศึกษาโดยไม่จำเป็นต้องแปรรูปมหาวิทยาลัยโดยหลัก
๑๐ ประการ
ส่วน อ.ใจ อึ้งภากรณ์ ขุดคุ้ยให้เห็นเบื้องหลังความพยายามแปรรูปมหาวิทยาลัย โดยที่ทั้งสองมองเห็นร่วมกันว่า
ทั้งหมดมาจากผู้บริหารกลุ่มเล็กๆ ในมหาวิทยาลัยเป็นตัวชักนำและมีอิทธิพลเชิงเผด็จการต่อเรื่องดังกล่าว
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1100
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
8.5 หน้ากระดาษ A4)
ข้อพิจารณาบางประการก่อนนำมหาวิทยาลัยขายทอดตลาด
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน รวบรวมจากข้อมูลที่ได้รับมา
1. "แลไปข้างหน้า"
แนวทาง ๑๐ ประการใน "การปฏิรูป" มหาวิทยาลัย/อุดมศึกษาไทย
แทนการ "ขายทอดตลาดหรือเซ้ง"
ศ.ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัย/อุดมศึกษา คือ"ศูนย์กลางทางปัญญา"ของสังคม มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ที่รวมบรรดา
"ครูบาอาจารย์" ผู้ทรงความรู้และสติปัญญาเข้ามาร่วมสรรค์สร้างศิลปวิทยาการนานาแขนง
ไม่ว่าจะเป็น "ศาสตร์" (sciences) หรือ "ศิลป์" (arts)
มหาวิทยาลัย/อุดมศึกษาเป็นสถานที่ที่สร้าง "คนรุ่นใหม่" รุ่นแล้วรุ่นเล่าออกไปเป็น "ผู้นำ" ของสังคม ยิ่งสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างสลับซับซ้อนมากขึ้นเพียงใด มหาวิทยาลัยก็ยิ่งทวีคุณค่า และความสำคัญเด่นชัดขึ้นเพียงนั้น
นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงชาวอังกฤษท่านหนึ่ง คือ Alfred North Whitehead กล่าวถึงคุณค่าของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย/อุดมศึกษาไว้ว่า "ในสภาวะการของชีวิตมนุษย์สมัยใหม่ มีกฎที่แน่นอนตายตัวอยู่ข้อหนึ่ง คือ มนุษย์เผ่าใดก็ตาม ที่มองไม่เห็นคุณค่าของการศึกษาอบรมทางปัญญาแล้ว เผ่าพันธุ์มนุษย์นั้นก็จักถึงจุดจบและการล่มสลาย"
กล่าวโดยย่อ มหาวิทยาลัย/อุดมศึกษา ทรงความสำคัญอย่างยิ่งยวด ไม่เพียงแต่เพื่อความเจริญก้าวหน้าของสังคมเท่านั้น แต่หมายถึงเพื่อ "การดำรงอยู่" หรือ "การอยู่รอด" ของสังคมอีกด้วย
ในระยะเวลา 4 ทศวรรษ หรือตั้งแต่ประมาณกลางทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา เราได้ยิน ได้ฟัง และได้เห็นกระบวนการที่จะธำรงรักษาไว้ซึ่ง "ศูนย์กลางทางปัญญา" นี้ ไม่ว่าในนามของ "การปฏิรูป" หรือในนามของมหาวิทยาลัย "นอกระบบ" หรือ "ในกำกับ" หรือ "อิสระ" ฯลฯ เราเห็นการนำมหาวิทยาลัย/อุดมศึกษาไปขึ้นไว้กับสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วก็โยกไปอยู่กับ "ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ" ที่กลายเป็น "ทบวงมหาวิทยาลัย" (เฉยๆ) แต่ก็ถูกยุบสลายตัวไปรวมกับ "กระทรวงศึกษาธิการ" เช่นในปัจจุบัน
เราเห็นการตั้งคณะกรรมการฯ แล้ว คณะกรรมการฯ เล่า เราได้ยินและได้ฟังด้านบวกของ "การปฏิรูป" จากนักวิชาการนักบริหารกลุ่มเล็กๆ ที่ทรงอำนาจอยู่ในวงวิชาการมหาวิทยาลัย/อุดมศึกษา ที่พร่ำบอกกับเราให้เชื่อและเดินตามพวกเขาทั้งหลาย (ไม่ค่อยจะมีเธอเท่าไรนัก) ที่ได้วางแผนไว้ให้ และถ้าเราทำตามที่เขาบอก มหาวิทยาลัย/อุดมศึกษาของไทยก็จะเจริญก้าวหน้า วิชาการก้าวไกล อาจารย์จะได้ทั้ง (กล่อง) วิชาการ ได้ทั้ง "เงิน" เดือน (เพิ่ม)
แต่ในรอบ 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่ความเปลี่ยนแปลงในแวดวงของเรา เป็นไปในด้านปริมาณ มากกว่าคุณภาพ เราเห็นความตกต่ำของมหาวิทยาลัย/อุดมศึกษาไทยเรื่อยมา เมื่อมีการจัดอันดับใน เอเชียเมื่อใด มหาวิทยาลัยชั้นนำของเรา ก็ติดอันดับล่างๆ ของ 50 และเมื่อมีการประเมินความสามารถ ทางภาษาอังกฤษของเยาวชนของเรา ก็ตกอยู่อันดับ 9 ใน 10 ชาติของอาเซียน
ในเวลาเดียวกัน เราก็ได้ยินด้านลบ และสิ่งที่ไม่เป็นมงคลอันจะเกิดตามมาจาก "การปฏิรูป" ที่ถ้าใช้ภาษาธรรมดาๆ ก็เปรียบเสมือนกับ "การขายทอดตลาด" หรือ "เซ้ง" มหาวิทยาลัยนั่นเอง และ ผลสุดท้ายมหาวิทยาลัยก็จะตกไปอยู่ในอุ้งมือของ "เผด็จการทางวิชาการ" หรือนักวิชาการนักบริหาร กลุ่มเล็กๆ ที่ทรงอำนาจกลุ่มนั้น
ขอเรียนว่าในการแสดงความเห็นในเรื่องนี้นั้น ขอใช้สิ่งที่ได้พบ ได้เห็น และได้ประสบมาเองเป็นที่หลัก ผู้เขียน "รับราชการ" เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ต้นปี 2516 รวมแล้ว 28 ปี เคยมีตำแหน่งบริหารตั้งแต่เป็นรองอธิการบดีฯ ในปี 2518-19 (สมัย ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็น อธิการบดี) เคยเป็นคณบดีคณะศิลปศาสตร์ปี 2534-37 และเคยเป็นอธิการบดีระยะสั้นๆ 9 เดือนในปี 2537-38 ผู้เขียนภูมิใจในความเป็น "ข้าราชการ" ของตนจนวาระสุดท้าย และเกษียณอายุราชการในปี 2544
ผู้เขียนเรียนจบรัฐศาสตร์การทูต มธ. ปี 2506 แล้วทำงานเป็น "พนักงานชั้นตรี" ของ กทม. อยู่พักหนึ่ง ก่อนย้ายไปเป็น "ข้าราชการชั้นจัตวา" ที่ กต. แล้วจึงไปเรียนต่อต่างประเทศด้าน "ประวัติศาสตร์อุษาคเนย์" เมื่อมีฐานะเป็น "พนักงานชั้นตรี" (กทม. สมัยนั้นยังไม่ได้เป็นราชการ) ผู้เขียนขอบอกว่ามีความรู้สึก "ปมด้อย" เป็น "ชั้นสอง" หรือ second class ไม่ภูมิใจเท่าเป็น แม้ "ข้าราชการ" ชั้นจัตวา
"การออกนอกระบบ" มองต่างมุม เป็นได้ทั้งทางบวกว่า คือ "การปฏิรูป" หรือในทางลบ คือ "ขายทอดตลาดกับเซ๊ง" นั้น เป็นเรื่องใหญ่มาก มีผลกระทบต่อ "ศูนย์กลางทางปัญญา" กับอนาคตของ ประเทศชาติ สังคมและเผ่าพันธุ์ไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ฉะนั้น การขาดความชัดเจน การขาดความร่วมมือของประชาคม และที่สำคัญคือการมีความเห็นต่าง ก็เป็นสิทธิทางธรรมชาติของผู้ "ถูกกระทำ" (คืออาจารย์ ข้าราชการ นักศึกษา และประชาชน โดยทั่วไป) จะตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัย หรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อ "ผู้กระทำ" (อาจเป็นเจ้ากระทรวงฯ ทบวงฯ หรือคณะกรรมการฯ หรือสภามหาวิทยาลัย หรือผู้บริหารระดับอธิการบดีและรองอธิการบดีฯ ) ได้
ในการเสนอเรื่องนี้ ผู้เขียนขอใช้ประสบการณ์ที่ได้อยู่วงวิชาการมาจนเกษียณอายุราชการ และขอเสนอแนะเป็นแนวทางเพื่ออนาคตอย่างรวบรัดและสั้นๆ ดังนี้
(1) ควรธำรงรักษาไว้ซึ่งระบบราชการ (ที่ดี) และจงภูมิใจในความเป็น "ข้าราชการ" (ที่ดี) ซึ่งแปลตามลายลักษณ์อักษรว่า คือ "ผู้รับใช้กิจการของพระราชา" หรือของพระเจ้าแผ่นดิน การเป็น "ข้า" หรือเป็น "ทาส" หาได้มีความหมายเป็น "ลบ" อย่างที่มีการกล่าวหาผิดๆ ว่าพวกเรา "เป็นทาส ที่ปล่อยไม่ไป" ไม่ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงขนานนามพระองค์เองว่า "ปิยะทาส" และเราก็มีนาม ที่เป็นมงคล เช่น "พุทธทาส" ฯลฯ
(2) ดำเนินการปฏิรูปหรือแก้ไขระบบราชการที่เป็นอยู่ ให้คล่องตัว ให้ทันสมัย ให้มีเกียรติศักดิ์ศรีและสถานภาพสมกับการเป็นครูบาอาจารย์ หรือ "ข้าราชการอาจารย์" เช่นเดียวกับที่ได้มีการทำ ไปแล้ว เช่นในกรณีของ "ข้าราชการ" ผู้พิพากษาหรืออัยการ(3) ดำเนินการบริหารและจัดการในระบบคู่ขนาน หรือมีบทเฉพาะกาลในระยะ 10 ถึง 20 ปีข้างหน้า ให้ระบบที่ดำเนินมาทั้งในรูปแบบของราชการปกติ กับระบบที่สร้างขึ้นใหม่และซ้อนกันในบางมหาวิทยาลัย ในปัจจุบัน ให้ดำเนินคู่ขนานกันไป และใช้เวลากับการปฏิรูปให้โน้มเป็นหนึ่งเดียว กันในรูปแบบของ "ราชการมหาวิทยาลัยที่ทันสมัย" ในที่สุด
(4) ยึด "ความเป็นเลิศทางวิชาการ" หรือ academic excellence เป็นหลักการสำคัญอันดับหนึ่งในการปฏิรูป กล้าที่จะไปให้ถึงที่สูงสุด (dare to reach the highest) ในขณะเดียวกันต้องทำเรื่องของ "ธุรกิจ การศึกษา" หรือ commercialization of education ให้เป็นรอง
(5) สร้างสมดุลระหว่าง "ศาสตร์และศิลป์" หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ดำเนินการใช้สมองทั้งสองด้าน (ทั้งซ้ายและขวา) ของเราเพื่อสังคมและประเทศชาติ ให้ความสนับสนุน ให้งบประมาณ จัดการเรียนการสอนและการวิจัย ให้ทัดเทียมกันทั้งวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์และบริสุทธิ์ (pure and applied sciences) กับวิชาการด้านสังคมและมนุษย์ (social science and arts) ไม่ใช่ 80:20 อย่าง ในปัจจุบัน
(6) ปฏิรูปองค์กรภายในของมหาวิทยาลัย ทำให้สภามหาวิทยาลัยเป็น "สภานโยบาย" อย่างแท้จริง มีการประชุมเพียงปีละ 2 ครั้ง แทนการทำงานบริหารประจำและประชุมกันถึงปีละ 12 ครั้ง คัดเลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากผู้ที่ทรงคุณวุฒิและสนใจในเรื่องของการศึกษาอย่างแท้จริง แทนการแต่งตั้งนักการเมืองหรือนักธุรกิจการค้า หรือการเข้ามาดำรงตำแหน่งเพียงเพื่อเกียรติยศ ชื่อเสียง และดำรงตำแหน่งมากมายหลายมหาวิทยาลัยอย่างที่เป็นกันในปัจจุบัน ปฏิรูปสภาอาจารย์ และองค์การนักศึกษา ฯลฯ ให้มีส่วนร่วม มีบทบาท และมีการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารในทำนองของ check and balance
(7) ยุติการสร้าง "อาณาจักร" หรือ "อาณานิคมทางวิชาการ" (academic colonialism) หรือ การ "ขยาย" อย่างไม่มีขอบเขตตามนโยบาย "โลกาภิวัตน์สุดขั้ว" ถือนโยบาย "จิ๋วแต่แจ๋ว" (small is beautiful) เป็นหลัก ยึดหลักที่ว่ามหาวิทยาลัยที่เด่นและดัง ไม่มีความจำเป็นจะต้องเป็น "comprehensive university" หรือต้องมีทุกสาขาวิชา
(8) กระจายอำนาจ หรือให้มีการปกครองตนเอง (autonomy) หรือให้อิสรภาพ (independence) ให้กับมหาวิทยาลัย/อุดมศึกษา (หรือสาขา) ในส่วนภูมิภาค (ดำเนินการตามแบบ อย่างที่ดีของ "วิทยาลัยการศึกษา" หรือ มศว. ในอดีต ที่ให้มีการแยกตัวไปเติบโตเป็น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยบูรพา ฯลฯ) รวมทั้งจัดการให้เกิดการมีส่วนร่วมกับสถาบันในระดับเดียวกัน เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ และ/หรือมหาวิทยาลัยเอกชน (ในรูปแบบของ "แซนวิชด์" และ MOU)
(9) ดำเนินการจัดการการศึกษาเสริมในลักษณะที่เป็น "สวัสดิการสังคม" (social welfare) แทน "บริการราคาแพง" (costly service) ทั้งนี้โดยจัดให้มี "ตลาดวิชา" (market of learning) ขึ้น เฉพาะด้านตามความเหมาะสมของภูมิภาคและท้องถิ่น และเพื่อประชากรในระดับรากหญ้า จัดให้ เป็นการศึกษาตลอดชีวิต ทั้งที่เป็นปริญญาและไม่เป็นปริญญา
(10) ท้ายที่สุดยึดมั่นในหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (ที่แม้จะถูกรัฐประหารฉีกทิ้งทำลายไปแล้วก็ตาม) ตามมาตรา 81 ดังข้อความที่ว่า "รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างเสริมความรู้และปลูกจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยในศิลปวิทยาการต่างๆ เร่งรัดพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาวิชา ชีพครูและส่งเสริม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ"
ผู้เขียนขอจบ "การแลไปข้างหน้า" เพื่อมหาวิทยาลัย/อุดมศึกษาไทย ด้วยคำสอนที่ได้มาจาก ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ที่ว่า "ของใหม่ เมื่อไม่แน่ใจและมีปัญหา ให้เอาของเก่าไว้ก่อน"
(หมายเหตุ: ดัดแปลงมาจากข้อเสนอต่อการสัมมนา
"เหลียวหลัง แลหน้า อุดมศึกษาไทย" เมื่อ 20-21 มีนาคม 2546 ของสภาคณาจารย์
4 ภาค ณ จังหวัดเชียงใหม่)
2. คัดค้านกลไกตลาดในมหาวิทยาลัย!!
รศ. ใจ อึ๊งภากรณ์ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นการนำกลไกตลาดเข้ามาสู่การเรียนการสอนอย่างเต็มที่
พยายามลดงบประมาณรัฐ เพิ่มภาระให้นักศึกษา เน้นการหากำไรเหนือคุณภาพการศึกษา
ตัดสวัสดิการและความมั่นคงของอาจารย์และเจ้าหน้าที่ในขณะที่เพิ่มอำนาจและเงินเดือนของผู้บริหาร
ทั้งหมดนี้คือหน้าตาแท้จริงของแนวเสรีนิยมที่ผลักดันเรื่องอื่นๆ เช่นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
การสนับสนุนสัญญา FTA และการทำลายสวัสดิการคนจน
ถ้าเราเข้าใจเศรษฐศาสตร์การเมืองของระบบทุนนิยมแล้ว เราจะไม่หลงใหลในการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เราจะทราบว่าแนวเสรีนิยม อ้างอย่างโกหกว่ากลไกตลาดเสรีของระบบทุนนิยมเป็นกลไกที่สร้างประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นพวก 'คลั่งตลาด' เสรีนิยม มักจะอ้างว่าการใช้รัฐในการควบคุมหรือการดำเนินการใดๆ เพื่อเป็นการ 'ฝืนธรรมชาติของตลาด' มักประสบความล้มเหลว แต่มันเป็นคำเท็จที่ปกป้องผลประโยชน์คนรวย
การบูชากลไกตลาดและการเห่าหอนให้ลดบทบาทรัฐของฝ่ายเสรีนิยมมีปัญหาทันที ถ้าเราตรวจสอบโลกจริง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ที่มาจากความล้มเหลวของกลไกตลาด หรือถ้าเราดูพฤติกรรมในโลกจริงของพวกเสรีนิยม เราจะเห็นว่าเขาเป็นพวกสองมาตรฐาน หน้าไหว้หลังหลอก พูดว่ารัฐไม่ควรใช้งบประมาณบริการคนจน แต่แอบใช้งบประมาณรัฐเพื่อการทหาร อุดหนี้คนรวยหลังวิกฤต หรือจ่ายเงินเดือนสูงๆ ให้ตนเองเสมอ
ยิ่งกว่านั้นเนื่องจากพวกเสรีนิยมมักถูกคัดค้านจากคนส่วนใหญ่ในสังคมที่เสียประโยชน์จากตลาดเสรี เขาไม่สามารถใช้ประชาธิปไตยในการผลักดันนโยบายได้ ต้องอาศัยอำนาจเผด็จการเพื่อผลักดันแนวของเขาเสมอ รัฐประหาร 19 กันยา 2549 เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะทำไปเพื่อทำลายการบริการคนจนโดยรัฐ ทำไปแล้วก็นำพวกเสรีนิยมไปเป็นรัฐมนตรีและสมาชิกสภาเถื่อน จ่ายเงินเดือนให้ตนเองเป็นแสน ขณะที่อ้างว่าการงบประมาณรักษาพยาบาลให้คนจน 'ทำลายวินัยการคลัง'
และล่าสุดก็รีบประกาศว่าจะนำมหาวิทยาลัยรัฐออกจากระบบไปอยู่ภายใต้กลไกตลาด เราจะสังเกตเห็นว่าการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ไม่เป็นที่ยอมรับโดยนักศึกษา อาจารย์ และพนักงานส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้รัฐบาลชวนและทักษิณมีปัญหาในการผลักดันนโยบายนี้ แต่พอเผด็จการทหารเข้ามาก็อนุมัติอย่างหน้าด้านหน้าตาเฉย ไม่ฟังเสียงคนส่วนใหญ่เลย
แต่คนอย่างรองอธิการบดีจุฬาฯโกหกว่ามี 'ประชามติเห็นชอบ' ทั้งๆ ที่ความจริงตรงกันข้าม และในกรณีหลายมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด ผู้ที่คัดค้านการออกนอกระบบจะถูกขู่และปรามจากผู้บริหารอีกด้วย สรุปแล้วเสรีภาพทางวิชาการกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นเรื่องตรงข้ามกันเสมอ
ในเรื่องประสิทธิภาพ ในประการแรกคำว่า 'ประสิทธิภาพ' จะมีหลายความหมาย คืออาจเน้นประสิทธิภาพในการกอบโกยกำไรเป็นหลัก (ประสิทธิภาพแนวเสรีนิยม) หรือประสิทธิภาพของการบริการคนส่วนใหญ่ที่ยากจน(ประสิทธิภาพแนวสังคมนิยม) ถ้าตามนิยามเสรีนิยมที่เน้นกำไร ประสิทธิภาพมาจากการลดจำนวนพนักงาน บังคับให้คนงานที่เหลือทำงานหนักขึ้น และมาจากการตัดการบริการที่ไม่สร้างกำไร พร้อมเพิ่มค่าบริการอีกด้วย นี่คือสิ่งที่นายทุนต้องทำกันเพื่อแข่งขันในกลไกตลาด
จากมุมมองนี้เราจะเห็นได้ว่าการนำกลไกตลาดเข้ามาในมหาวิทยาลัยผ่านการออกนอกระบบ จะมีผลในการนำการแข่งขันแบบตลาดเข้ามา จะต้องมีการตัดค่าจ้างสวัสดิการให้พนักงานมหาวิทยาลัย (แต่อาจเพิ่มให้ฝ่ายบริหารหรือครูเด็ดๆ บางคนที่เลียก้นผู้บริหารเก่ง) จะต้องมีการตัดรายวิชาที่ 'ไม่คุ้มทุน' เพราะมีคนเลือกเรียนน้อย เช่น ปรัชญาการเมืองฝ่ายซ้าย วรรณคดีไทย ฟิสิกส์แนวทฤษฏี ฯลฯ เป็นต้น พร้อมกันนั้นต้องมีการเพิ่มวิชาบริหารธุรกิจ วิชาที่จบง่ายๆ และรับประกันว่าไม่มี F (ดูมหาวิทยาลัยเอกชนไทยตอนนี้) และเริ่มสอนวิชาไร้สาระที่ขายได้ เช่น กอล์ฟสำหรับ C.E.O. ซึ่งมีในมหาวิทยาลัยที่ออสเตรเลีย!!
นอกจากนี้จะต้องมีการเพิ่มค่าเทอมและเพิ่มจำนวนนักศึกษา ในขณะที่ไม่เพิ่มจำนวนหนังสือในห้องสมุด และไม่เพิ่มอาจารย์ ผลคือการสอนในห้องใหญ่ๆ แบบท่องจำ แทนการแลกเปลี่ยนในห้องเล็กๆ และนักศึกษาจะต้องแย่งอุปกรณ์และหนังสือ ทั้งหมดนี้เพราะต้องการลดค่าใช้จ่ายรัฐที่มาจากการเก็บภาษี คนรวยจะได้จ่ายภาษีน้อยลงและรวยมากขึ้น บทสรุปจากการนำมหาวิทยาลัยไปอยู่ภายใต้กลไกตลาดจากประเทศตะวันตกคือ สัดส่วนนักศึกษาจากครอบครัวกรรมาชีพลดลงเพราะต้นทุนการเรียนสูงเกินไป ทั้งๆ ที่มีการอ้างอิงว่าจะมีทุนพิเศษให้คนจนซึ่งไม่เคยเพียงพอ และคุณภาพการเรียนการสอนลดลง
กลไกตลาดไร้ประสิทธิภาพในการบริการการศึกษาให้พลเมืองที่ไม่ใช่คนรวย ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ นี่คือสาเหตุที่รัฐทั่วโลกต้องเข้ามาจัดการเรื่องนี้ในระดับโรงเรียน ถ้าจะให้พลเมืองอ่านออกเขียนได้ แต่มันไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษา ระบบการขนส่งมวลชน และระบบการรักษาพยาบาลก็เป็นอย่างนั้นด้วย ถ้าเปรียบเทียบประสิทธิภาพการบริการสาธารณสุข ในระบบรัฐสวัสดิการอังกฤษ กับระบบตลาดเสรีในสหรัฐอเมริกา จะพบว่า ระบบอังกฤษใช้ค่าใช้จ่ายต่อหัวครึ่งหนึ่งของสหรัฐแต่บริการทุกคน ส่วนของสหรัฐแพงมากแต่พลเมืองหลายๆ ล้านคนไม่ได้รับการบริการเลย .
ในกรณีการขนส่งมวลชน รถติดในกรุงเทพฯ มากกว่าในเมืองของตะวันตกหรือญี่ปุ่น เพราะในประเทศเหล่านั้นรัฐลงทุนสร้างระบบขนส่งมวลชน แต่ในกรณีไทย รัฐปล่อยวาง ตัวใครตัวมัน ใครมีรถเบนซ์กับคนขับรถก็สบาย ถ้าสร้างรถไฟไฟฟ้าก็สร้างระหว่างร้านค้าเท่านั้น และนักการเมืองก็กินส่วนแบ่งอีก นอกจากนี้รัฐมนตรีและชนชั้นสูงมีตำรวจกั้นรถให้ ไม่ต้องทนกับสภาพรถติด กลไกตลาดกับอภิสิทธิ์และความเหลื่อมล้ำไปด้วยกันเสมอ
กลไกตลาดไร้ประสิทธิภาพ เพราะมันมองเห็นแต่อำนาจการซื้อ ซึ่งแปลว่ามองไม่เห็นคนส่วนใหญ่ที่ยากจน มันจึงตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นตลาดจะสื่อความต้องการที่จะซื้อในปัจจุบัน ซึ่งกระตุ้นการผลิตในอนาคต มันตอบสนองความต้องการปัจจุบันไม่ได้ มันทิ้งช่วงเวลาห่าง ไม่เหมือนการวางแผน และเมื่อการผลิตถูกกระตุ้นจากตลาดโดยไม่วางแผน ในที่สุดมันนำไปสู่การผลิตล้นเกินเสมอ ตัวอย่างความล้มเหลวของตลาดมีมากมาย เช่น วิกฤตการผลิตล้นเกินที่ทำให้เศรษฐกิจเอเชียพังในปี 2540 การที่ไฟฟ้าดับในรัฐ California การที่รถไฟอังกฤษไม่มีความปลอดภัย หรือสภาพจราจรในกรุงเทพฯ แต่ทำไมพวกเสรีนิยมยังโกหกเราตลอดว่าตลาดมีประสิทธิภาพ?
เพราะอะไรด้วย ที่พวกเสรีนิยมเห่าหอนว่าต้องลดบทบาทรัฐ แต่กลับวิ่งเต้นเพิ่มงบประมาณรัฐในการทำสงคราม หรือเพิ่มศาล ทหาร ตำรวจ คุก และสวัสดิการสำหรับคนชั้นสูงของสังคม เช่น นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี และกษัตริย์? และทำไมมีการรณรงค์ให้ใช้รัฐเพื่อควบคุมเสรีภาพทางตลาดในการลอกแบบการผลิตภายใต้การอ้างลิขสิทธิ์??? มันขัดแย้งไหม? ขัดแย้งแน่ แต่มันมีเหตุผล ถ้าเราจะเข้าใจธาตุแท้ของแนวเสรีนิยม เราต้องใช้มุมมองชนชั้นมาจับ เพื่อให้เห็นว่าแนวเสรีนิยมเป็นแนวคิดที่รับใช้และกำเนิดมาจากผลประโยชน์ชนชั้นนายทุนล้วนๆ
นักเสรีนิยมส่วนใหญ่มองว่า ควรนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพื่อที่จะลดบทบาทและภาระของรัฐในเรื่องการบริการการศึกษาระดับอุดมศึกษา เขาเชื่อว่าถ้ารัฐลดงบประมาณลงในเรื่องนี้ และในเรื่องการบริการคนจนทั่วไป จะช่วยให้ธุรกิจเอกชนไทยฟื้นตัว ด้วยเหตุที่รัฐจะสามารถลดภาระภาษีที่เอกชนและคนรวยต้องจ่าย และรัฐจะได้ไม่แย่งกู้เงินจากก้อนเดียวกับเอกชน ซึ่งอาจช่วยให้เอกชนกู้เงินได้ง่ายขึ้นในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงด้วย ดังนั้นการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ กระทำไปเพื่อลดภาระงบประมาณรัฐและการเก็บภาษีจากกลุ่มทุนและคนรวยเป็นหลัก นี่คือความหมายแท้ของคำขวัญที่บอกว่า 'รัฐต้องสร้างวินัยทางการเงิน'
ลึกๆ แล้วนักเสรีนิยมที่มีสมองจะไม่ต้องการให้มหาวิทยาลัยต้องสูญเสียรายได้จากการลดงบประมาณรัฐ เพราะเขามองว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย ดังนั้นเขาจึงหวังว่ามหาวิทยาลัยจะหารายได้เองมาทดแทนส่วนที่ลดลงจากรัฐ (รัฐไทยต้องการลดภาระในงบประมาณมหาวิทยาลัยถึง 50%) การหารายได้เสริมดังกล่าวจะมาจากการเก็บค่าเล่าเรียนแพงขึ้น และการรับเหมาทำการวิจัย หรือการขายวิชาและปริญญา ซึ่งในที่สุดมีผลในการทำลายมาตรฐานทางวิชาการสำหรับสังคมทั่วไปอยู่ดี
นอกจากการลดภาระภาษีแล้ว นักเสรีนิยมมีอีกหนึ่งสาเหตุที่ต้องการแปรรูปบางสถาบันของรัฐ (ยกเว้นกองทัพ ศาล ตำรวจ และสถาบันกษัตริย์) ในเรื่องของการบริหารบุคคล นักเสรีนิยมต้องการ 'ตลาดแรงงาน' ที่มีความ 'คล่องตัว' เพราะเขามองว่าการซื้อแรงงาน 'อย่างเสรีและคล่องตัว' ในราคาถูกจะเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณ ทั้งหมดนี้หมายความว่าเขาไม่ต้องการกฎเกณฑ์ใดๆ หรือสหภาพแรงงาน ที่เป็นอุปสรรคในการปลดคนออก โยกย้ายตำแห่ง หรือให้คุณให้โทษเพื่อฝึกให้แรงงานเชื่อง ดังนั้นวิธีบริหารต้องเพิ่มแรงจูงใจทางการเงินให้กับผู้บริหารระดับสูง ต้องไม่มีสหภาพแรงงาน ต้องลดจำนวนลูกจ้าง ต้องทำลายความมั่นคงในการทำงาน ต้องตัดสวัสดิการ และงานใดเปลี่ยนเป็นการรับเหมาช่วงในราคาถูกก็ควรทำ
สรุปแล้ว หัวใจของแนวคิดที่จะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบคือการลดงบประมาณรัฐ และการเพิ่มอำนาจในการบริหารของผู้บริหารมหาวิทยาลัย แต่ทำไมไม่มีนักเสรีนิยมไหนกล้าสารภาพความจริงนี้?? ไม่ว่าจะเป็น อานันท์ ปันยารชุน, ชัยอนันต์ สมุทวณิช, นายกรัฐมนตรีเผด็จการ, อดีตนายกชวน, อดีตนายกทักษิณ, หรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั่วไป?? คนเหล่านี้ล้วนแต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพยายามนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
คงเป็นเพราะนักการเมืองและนักวิชาการเสรีนิยมต้องการหลอกประชาชนไทย เขากลัวว่าถ้าพูดตรงๆ ว่าหัวใจของเรื่องคือการลดงบประมาณรัฐ และการเพิ่มการขายบริการทางวิชาการในตลาด คนส่วนใหญ่จะไม่พอใจ เขาจึงไม่กล้าพูดตรงๆ และเลือกที่จะเบี่ยงเบนประเด็น ไปแกล้งเสนอว่ามันจะเพิ่ม 'เสรีภาพของมหาวิทยาลัย' พร้อมกับอาศัยกลไกเผด็จการในการผลักดัน
ในยุคนี้การมีเสรีภาพทางวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาของไทยน่าจะเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องสำคัญด้วยถ้าจะสร้างสังคมอารยะที่ก้าวหน้า แต่ต้องรายงานว่าทุกวันนี้มหาวิทยาลัยของเราขาดเสรีภาพ ไม่เชื่อก็ไปดูพฤติกรรมของฝ่ายบริหารต่อขบวนการนักศึกษาในจุฬาฯ และหลายมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดก็ได้ เผด็จการที่ว่านี้กระจายไปทั่วและกดขี่ทั้งนักศึกษา พนักงาน และอาจารย์ ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อระดับคุณภาพการศึกษา ตราบใดที่ไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนในไทยที่จะมีคุณภาพเทียบเท่ามหาวิทยาลัยดีๆ ในต่างประเทศได้ เพราะคุณภาพมาจากเสรีภาพที่จะคิดเองเป็น เสรีภาพที่จะถกเถียง และเสรีภาพที่จะรวมตัวกันและแสดงออก
แหล่งสำคัญของอิทธิพลมืดในมหาวิทยาลัยคือกลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐหรือเอกชน ซึ่งพวกเจ้าพ่อเหล่านี้สมคบคิดร่วมกับนักการเมืองในรัฐบาลเผด็จการปัจจุบัน เพราะเกือบทุกคนเข้าไปในรัฐสภาเถื่อนของทหาร รับเงินเดือนซ้ำซ้อนในลักษณะที่ขาดจริยธรรม และมีส่วนในการบริหารทรัพย์สินมหาศาลของบางมหาวิทยาลัยอย่างไม่โปร่งใส
สหภาพแรงงานเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นเรื่องน่ายกย่อง น่าภาคภูมิใจ ในหมู่อาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรป หรือออสเตรเลีย การมีองค์กรของลูกจ้างแบบนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเราไม่ใช่ทาส แต่พวกหัวศักดินาแบบไทยๆ รับไม่ได้ที่จะให้อาจารย์และพนักงานอื่นรวมตัวกัน เพื่อมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันในการบริหารมหาวิทยาลัย พวกนี้มักจะใช้ข้ออ้างหลอกลวงโกหกว่า อาจารย์หรือนักวิชาการไม่สมควรที่จะมีการรวมตัวแบบสหภาพแรงงาน แต่ลึกๆ แล้วสาเหตุแท้ก็เพราะเขากลัวว่า อำนาจเบ็ดเสร็จของฝ่ายบริหารจะถูกลดทอนให้น้อยลง และเขากลัวว่ากลุ่มทุนเอกชนจะไม่สนใจลงทุนในธุรกิจที่มีสหภาพแรงงาน ซึ่งตรงนี้ไม่แตกต่างอะไรจากการตั้ง 'เขตพิเศษ' สำหรับอุตสาหกรรมส่งออกที่ 'ปลอดสหภาพ' มันเป็นเรื่องของการคุมคนเพื่อใช้งานโดยตรงเท่านั้น ดังนั้น อาจารย์ทั้งหลายในมหาวิทยาลัยคงต้องคิดหนักว่าจะเป็นทาส เป็นวัวเป็นควาย หรือจะมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผ่านการสร้างสหภาพแรงงาน
ถ้าอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่มีสิทธิเสรีภาพในการตั้งสหภาพแรงงาน และถ้านักศึกษาไม่มีเสรีภาพที่จะเคลื่อนไหว คัดค้านการออกนอกระบบและสิ่งอื่นๆ ที่ชั่วร้าย ประชาธิปไตยจะรุ่งเรืองในสังคมทั่วไปได้อย่างไร? เราจะเห็นชัดว่าผู้ที่คัดค้านเผด็จการ 19 กันยา 2549 ต้องคัดค้านการที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบด้วย และผู้ที่คัดค้านการออกนอกระบบต้องสู้กับเผด็จการ มันเป็นเรื่องเดียวกัน
การต่อสู้กับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ จะไม่จบกับการผ่าน พ.ร.บ. แต่เราจะต้องต่อสู้ต่อไประยะยาว ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เราต้องลุกขึ้นกบฏ ต้องฝืนกฏหมาย และระเบียบเถื่อนที่ให้ประโยชน์กับนายทุนหรือผู้บริหาร เราต้องสร้างองค์กรเคลื่อนไหวหลากหลาย ต้องคัดค้านการขึ้นค่าเทอม ปกป้องความหลากหลายและคุณภาพการศึกษา ต้องผลักดันให้มีการสอนในห้องเล็ก เสนอให้ยกเลิกข้อสอบปรนัยที่ไม่ใช้ความคิดอาศัยแต่ท่องจำ ประท้วงเมื่อห้องสมุดมีหนังสือไม่พอ ต้องปกป้องมาตรฐานการจ้างงาน และต้องร่วมกันทำให้มหาวิทยาลัยปั่นป่วนอย่างสร้างสรรค์ ด้วยการเมืองของภาคประชาชน ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างเสรีภาพทางวิชาการ และเพื่อสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและมีความเป็นธรรม
คลิกไปที่
กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)gmail.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
การต่อสู้กับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ จะไม่จบกับการผ่าน พ.ร.บ. แต่เราจะต้องต่อสู้ต่อไประยะยาว ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เราต้องลุกขึ้นกบฏ ต้องฝืนกฏหมาย และระเบียบเถื่อนที่ให้ประโยชน์กับนายทุนหรือผู้บริหาร เราต้องสร้างองค์กรเคลื่อนไหวหลากหลาย ต้องคัดค้านการขึ้นค่าเทอม ปกป้องความหลากหลายและคุณภาพการศึกษา ต้องผลักดันให้มีการสอนในห้องเล็ก เสนอให้ยกเลิกข้อสอบปรนัยที่ไม่ใช้ความคิดอาศัยแต่ท่องจำ ประท้วงเมื่อห้องสมุดมีหนังสือไม่พอ ต้องปกป้องมาตรฐานการจ้างงาน และต้องร่วมกันทำให้มหาวิทยาลัยปั่นป่วนอย่างสร้างสรรค์ ด้วยการเมืองของภาคประชาชน ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างเสรีภาพทางวิชาการ และเพื่อสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและมีความเป็นธรรม