บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๙๙ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙
12-12-2549

 

 

 

 

 

 

H
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น



Globalization Is Changing the World's Culture
The Midnight University

โลกาภิวัตน์กำลังเปลี่ยนวัฒนธรรมโลก
โลกาภิวัตน์ ตลาด และความหลากหลายของสินค้าวัฒนธรรม
วรดุลย์ ตุลารักษ์ : เรียบเรียง

สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตอบโต้เรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมในยุคโลกาภิวัตน์
ในขณะที่นักวิชาการหลายคนมีความเห็นว่า โลกาภิวัตน์ การค้าเสรี
เป็นที่มาของการทำลายความหลากหลายทางวัฒนธรรม
แต่ใบทความชิ้นนี้มีข้อสังเกตในมุมแย้งที่น่าสนใจ
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1099
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8.5 หน้ากระดาษ A4)



โลกาภิวัตน์ ตลาด และความหลากหลายของสินค้าวัฒนธรรม
วรดุลย์ ตุลารักษ์ : เรียบเรียง - สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

Tyler Cowen เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สนใจศึกษาวิจัยตลาดสินค้าวัฒนธรรม เขียนหนังสือชื่อ "Creative Destruction: How Globalization Is Changing the World's Culture" หรือ " โลกาภิวัฒน์กำลังเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของโลก ด้วยการทำลายอย่างสร้างสรรค์" โดยนำเอาแนวคิดเรื่อง "การทำลายอย่างสร้างสรรค์" ของ Joseph Schumpeter มาอธิบายว่า แม้โลกาภิวัฒน์ได้ทำลายบางอย่างลงไป มันก็ได้สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา ผลการศึกษาของเขา เกิดจากการวิเคราะห์การค้าสินค้าวัฒนธรรมระหว่างประเทศ อาทิ ดนตรี, งานเขียน, ภาพยนตร์, อาหาร, งานศิลปะ

Cowen วิเคราะห์บทบาทของตลาดที่มีต่อสินค้าวัฒนธรรม เพื่อตอบคำถามว่า ตลาดเอื้อต่อเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในลักษณะใดบ้าง โดยไม่เลือกระหว่างความมีคุณค่าภายใน (intrinsic value) กับการสร้างสรรค์ที่ถูกทำให้เป็นสินค้า และก็ไม่ถกเถียงในประเด็นทางสังคมอื่นๆ เช่น โลกาภิวัตน์มีอิทธิพลต่อบรรทัดฐานของครอบครัวและศาสนาอย่างไร เป็นต้น

นักวิชาการและนักคิดจำนวนมากเห็นว่า ตลาดทำลายวัฒนธรรม และความหลากหลายลงไป

- Benjamin Barber กล่าวถึงโลกาภิวัตน์ว่า ในโลกสมัยใหม่เป็นความขัดแย้งระหว่าง "ญิฮาด : การเมืองเปื้อนเลือด เพื่อการสร้างอัตตลักษณ์" กับ " โลกของแม็คโดนัล : การแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ"

- John Gray นักคิดอนุรักษ์นิยมกล่าวว่า การค้าเสรีทำลายโลก ทำลายการเมือง ทำลายเศรษฐกิจ และทำลายวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ (False Dawn: The Delusions of Global Capitalism)

- Jeremy Tunstall นิยามว่า จักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม ได้ทำลายวัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่นลงไป ด้วยการส่งออกสินค้าอเมริกันในปริมาณมหาศาลไปในประเทศต่างๆ โดยไม่เลือกปฏิบัติ

- Federic Jameson กล่าวว่า การค้าเสรีกำลังทำให้วัฒนธรรมของโลก กลายเป็นวัฒนธรรมมาตรฐานเดียวกัน สินค้าท้องถิ่นถูกเบียดออกไป เพื่อเปิดทางให้โทรทัศน์ อาหาร เสื้อผ้า ดนตรี และภาพยนตร์อเมริกัน เข้ามาแทนที่

- Alexis de Tocqueville นักคิดในศตวรรษที่ 19 ผู้แต่งหนังสือ Democracy in America
ถึงเขาไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ แต่ได้พยายามโต้แย้งแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ของ Adam Smith ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์บางคนนำมาขยายความว่า ขนาดของตลาดนำไปสู่ความหลากหลายของสินค้า

การเติบโตของตลาดทำหน้าที่คล้ายแม่เหล็ก ดึงดูดให้ผู้สร้างสรรค์ทั้งหลายหันมาทำการผลิตสินค้าจำนวนมากๆ ซึ่งทำให้ยิ่งออกห่างไปจากตลาดจำเพาะ สหรัฐคือประเทศผู้ผลิตวัฒนธรรมที่ทำให้โลกคล้ายกัน ที่สำคัญ ตลาดสินค้าวัฒนธรรมที่กว้างขวางขึ้น จะลดคุณภาพของสินค้าวัฒนธรรมลงไป

แนวคิดวิจารณ์วัฒนธรรมกระแสหลัก นับตั้งแต่ มาร์กซิสท์, โครงสร้างนิยม, แฟรงค์เฟิร์ต, โพสต์โมเดิร์น, ได้วิจารณ์ทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ว่า ตลาดได้สร้างอุดมการณ์ครอบงำ สร้างความแปลกแยก และสร้างรสนิยมที่เลวลง

ในอีกด้านหนึ่ง Robert Nozick เขียนหนังสือชื่อ Anarchy, State and Utopia ถกเถียงว่า ตลาดได้เสนอสังคมอุดมคติทางวัฒนธรรม ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพในการเลือกที่กว้างขวางขึ้น โลกเสรีนิยมจึงเป็นสถานที่ซึ่งปัจเจกบุคคลสามารถเลือกใช้ชีวิตทางวัฒนธรรมได้อย่างเสรีขึ้น ด้วยตัวเลือกที่มากขึ้น ตราบใดที่การเลือกของเขาไม่เบียดบังการเลือกของผู้อื่นในสิ่งเดียวกัน

โลกาภิวัตน์ทำให้สินค้าวัฒนธรรมหลากหลายมากขึ้นหรือน้อยลง?
กระแสความคิดต่อต้านโลกาภิวัตน์ได้ปรากฏอยู่ในประเทศต่างๆ บนฐานแนวความคิดที่ว่า การค้าเสรีกำลังทำลายขนบธรรมเนียมและประเพณีท้องถิ่น และทำให้วัฒนธรรมที่แตกต่างกันของประเทศต่างๆ มีลักษณะเหมือนกันไปหมด และที่สำคัญ โลกาภิวัฒน์ทำให้สินค้าวัฒนธรรมมีมาตรฐานต่ำลง

Phillip Adams ประธานคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติออสเตรเลีย เคยกล่าวไว้ว่า " ประเทศใดสร้างภาพยนตร์ได้อย่างสตาร์วอร์ส ประเทศนั้นสมควรที่จะครองโลก". ในขณะที่ผู้คนอีกจำนวนหนึ่งต่อต้านวัฒนธรรมอเมริกัน ชาวเม็กซิกันไม่พอใจที่วัฒนธรรมฮอลโลวีนเข้ามาแทนที่ การเฉลิมฉลองวันคนตาย (Day of Dead) ซึ่งเสมือนกับวันครอบครัวของชาวเม็กซิกัน. เมื่อชาวนาฝรั่งเศสไม่พอใจนโยบายการค้าสหรัฐ พวกเขาก็ดูถูกสินค้าจากแมคโดนัลด์ มากกว่าที่จะรังเกียจสถานทูตสหรัฐ

จักรวรรดิ์ทางวัฒนธรรมเป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อคนทั่วโลก
หลายประเทศแสดงความกังวลในการเปิดเสรีในสาขาเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม อาทิ ประเทศฝรั่งเศสเป็นผู้นำในการยืนยันมาโดยตลอดว่า วัฒนธรรมนั้นต้องเป็นข้อยกเว้นจากข้อตกลงการค้าเสรี รัฐบาลฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมสูงมาก ดังเห็นได้จากการที่รัฐบาลได้จ้างเจ้าหน้าที่รัฐมากถึง 12,000 คนในการทำงานที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมฝรั่งเศสเอาไว้ ประชาชนชาวฝรั่งเศสเองก็ได้ใช้จ่ายเงินมากถึง 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในการบริโภคสินค้าและบริการด้านวัฒนธรรม

รัฐบาลแคนาดามักแสดงความห่วงใยว่า การเปิดเสรีทางการค้าจะกระทบกับวัฒนธรรมเช่นกัน รัฐบาลแคนาดาไม่สนับสนุนการเข้ามาเปิดร้านหนังสือบาร์นส แอนด์ โนเบิล ของสหรัฐฯในแคนาดา เนื่องจากเกรงว่า ร้านดังกล่าวจะไม่วางหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนแคนาดาในปริมาณที่มากพอ รัฐบาลแคนาดายังกำหนดให้มีการเปิดเพลงแคนาดาในรายการวิทยุในสัดส่วนที่เหมาะสม และโดยทั่วไปแล้ว ชาวแคนาดาก็จะสนับสนุนภาพยนตร์ภายในประเทศ

สเปน เกาหลีใต้ และบราซิล ต่างกำหนดให้ภาพยนตร์ (ที่สร้าง หรือที่ฉาย) ต้องมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความเป็นท้องถิ่น (local content requirement) ในขณะที่ ฝรั่งเศสและสเปนกำหนดให้รายการโทรทัศน์ต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับท้องถิ่นในสัดส่วนที่สูง

คำถามต่างๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับสินค้าวัฒนธรรม
การค้าสินค้าวัฒนธรรมสนับสนุนหรือทำลายความหลากหลายทางศิลปะของโลก? การสร้างสรรค์และคุณภาพของศิลปะจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง? หรือว่า วัฒนธรรมกำลังจะเหมือนกันทั้งโลก?

"อเมริกันยัปปี้ ดื่มไวน์ฝรั่งเศส ฟังเพลงเบโธเฟนด้วยเครื่องเสียงจากญี่ปุ่น ใช้อินเทอร์เน็ตเลือกซื้อผ้าเปอร์เซียจากผู้ขายในลอนดอน ดูหนังฮอลลีวูดที่ผู้กำกับเป็นชาวยุโรป และไปเที่ยวบาหลี คล้ายกันกับชนชั้นกลางระดับสูงของญี่ปุ่น วัยรุ่นไทยดูภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เรียนภาษาญี่ปุ่น ฟังเพลงป็อบจากฮ่องกง และลาติน อย่าง ริคกี้ มาร์ติน"

ในมุมหนึ่ง ปัจเจกบุคคลได้ถูกปลดปล่อยจากทรราชของสถานที่ ปัจเจกบุคคลมีโอกาสเข้าถึงขุมทรัพย์ทางวัฒนธรรมของโลกได้มากกว่าในอดีต ในแง่นี้ก็คือ เสรีภาพ

รากฐานของตะวันตก (และอารยธรรมอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ ) มาจากการแลกเปลี่ยนสินค้า การบริการ และแนวความคิด วัฒนธรรมตะวันตกสร้างขึ้นมาจากมรดกตกทอดของปรัชญากรีก ศาสนามาจากตะวันออกกลาง พื้นฐานวิทยาศาสตร์มาจากจีนและโลกอิสลาม ประชากรและภาษาส่วนใหญ่มาจากยุโรป กระดาษมาจากจีน ตัวหนังสือตะวันตกมาจากชาวโฟนิเชี่ยน ตัวเลขหน้ามาจากอาหรับและอินเดีย การพิมพ์มาจากชาวเยอรมัน ชาวจีน และชาวเกาหลี เป็นต้น

หากแต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์กลับไม่ใช่การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่เท่าเทียมกัน กล่าวคือ แนวความคิดที่ต้องการให้ระดับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน ต้องเท่าเทียมกัน เป็นมายาคติ และไม่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ ประโยชน์ที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ส่วนใหญ่มาจากการเคลื่อนตัวของวัฒนธรรมที่ไม่สมดุลกัน

ศิลปะ
ในปัจจุบัน ศิลปะของโลกที่สาม ศิลปะของชนพื้นเมืองต่างๆ ได้เบิกบานในโลกาภิวัตน์ วัฒนธรรมโลกที่สามได้ผสมผสาน ประกอบขึ้นกัน จากอิทธิพลของวัฒนธรรมต่างๆ ในโลก รวมทั้งอิทธิพลจากตะวันตก ยกตัวอย่างเช่น งานศิลปะของชาวอินนุท (Inuit) ในแคนนาดา ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง. James Houston ซึ่งเป็นชาวตะวันตก ได้แนะนำเทคนิคการแกะสลักที่เรียกว่า soap stone (หินสบู่) ให้กับชาวอินนุทในปี 1948. หลังจากนั้น ชาวอินนุทได้สร้างงานแกะสลักระดับโลก ซึ่งงานแกะสลักจำนวนมากเหล่านี้ ได้ถูกส่งออกไปขายยังตลาดยุโรป การส่งออกทำให้ชาวอินนุทดำรงชีวิตและประเพณีสืบต่อมาได้ เมื่อไม่นานมานี้ พวกเขาเริ่มทำงานศิลปะภาพพิมพ์

เครื่องมือที่ทำจากโลหะที่มาจากตะวันตก เป็นอุปรณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการปั้นและการแกะสลักในโลกที่สามอย่างมาก สีอะคริริคและสีน้ำมันมาจากการติดต่อกับชาวตะวันตก ในอาฟริกาใต้ ศิลปะผ้าผืนหลายชนิดใช้ลูกปัด ซึ่งนำเข้ามาจากเชคเกสโลวาเกียในช่วงต้นศตวรรษที่ 19. มีตัวอย่างทำนองนี้อีกมากมายทั่วโลก ศิลปะโลกของโลกที่สามเฟื่องฟู ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจาก ความต้องการซื้อ ของชาวตะวันตก แต่ส่วนสำคัญมาจากความเป็นจักรวาลทรรศน์ (cosmopolitan) หรือ รสนิยมในแบบสากล ที่กำลังขยายตัวไปทั่วโลก

ดนตรี - ภาพยนตร์
ในปัจจุบัน สินค้าวัฒนธรรม เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ เป็นสินค้าได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ๆ จำนวนมหาศาล อันเป็นผลผลิตของการผสมผสานข้ามวัฒนธรรม ดนตรีไฮติสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในทวีปอเมริกา และประเทศแถบแคริบเบียน กลุ่มดนตรีที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบันคือกลุ่ม Kassav ซึ่งได้พัฒนาแนวดนตรีมาจากดนตรีไฮติดั้งเดิม สไตล์คอมบ์ป้า (compass) (ฟังตัวอย่างดนตรีได้ที่ www.minirecord.com)

ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Kassav เคยกล่าวถึงความนิยมต่อดนตรีของตนเองว่า "นี่คือจักรวรรดินิยมของดนตรีไฮติ ทั้งๆ ที่ในช่วงเริ่มต้น เราต่อสู้กับดนตรีไฮติดั้งเดิม" ในปัจจุบัน นักดนตรีไฮติไม่ลังเลที่จะสร้างสรรค์ดนตรีของตนด้วยการผสมผสานกับดนตรีจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ดนตรีไฮติ สไตล์คอมป้า ได้พัฒนามาจากดนตรีของคิวบา และโดมินิกัน

ดนตรีสไตล์ world music มีชีวิตชีวาและมีความหลากหลายอย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งไม่ใช่การครอบครองตลาดโดยกลุ่มบรรษัทข้ามชาติ แต่นักดนตรีทั่วโลกได้นำอิทธิพลทางดนตรีระหว่างประเทศมาใช้ และได้รับความนิยมจากทั้งต่างประเทศและในประเทศตนเอง เช่น ในอินเดีย 96% ของตลาดดนตรี เป็นที่ดนตรีผลิตในประเทศ เช่นเดียวกันกับดนตรี 81% ในอียิปต์ และ 73% ในบราซิล

ดังนั้น ศตวรรษที่ 20 จึงเป็นการนำมาซึ่งคลื่นของการสร้างสรรค์ดนตรีไปสู่สังคมส่วนใหญ่ในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่ใหญ่และเปิดเสรี ศูนย์กลางดนตรีของโลกที่สาม อย่าง ไคโร ลาโกส์ และริโอ เดอ จาเนโร เป็นเมืองที่เปิดรับความคิด และเทคโนโลยีใหม่ๆ จากต่างประเทศมาก

ภาพยนตร์เป็นหนึ่งในประเด็นที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงมากที่สุดในกระบวนการโลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรม ความสำเร็จของฮอลลีวูดในการส่งออกภาพยนตร์ถูกมองว่าเป็นการครอบงำวัฒนธรรม แต่อย่างไรก็ตามในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ฮ่องกง อินเดีย จีน เดนมาร์ก อิหร่าน ไต้หวัน ได้ผลิตภาพยนตร์ที่มีคุณภาพสูง และได้รับรางวัลจำนวนมาก ภาพยนตร์จากยุโรป ก็มีสัญญาณของการกลับมาได้รับความนิยมในโลกอีกครั้ง

หนังสือ
ในตลาดหนังสือ ประเทศต่างๆ หลายประเทศยังคงนิยมอ่านหนังสือที่ใช้ภาษาของตนและหนังสือที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมของตน นักเขียนจากประเทศโลกที่สามหลายคน เช่น มาเกวซ ชาวโคลัมเบีย มาฟูส ชาวอียิปต์ และนักเขียนชาวอินเดียอีกจำนวนมาก ได้รับความนิยมในตลาดวรรณกรรม นอกจากนี้ หนังสือนิยายขายดีส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้เป็นหนังสือของนักเขียนอเมริกัน

โลกาภิวัฒน์กับการขยายทางเลือก
อาจกล่าวได้ว่า โลกาภิวัฒน์ได้ทำให้สินค้าวัฒนธรรม ถูกเสนอให้กับผู้บริโภคในประเทศต่างๆ มากยิ่งขึ้น และโลกาภิวัตน์ได้ขยายทางเลือก (menu of choices) ให้กับผู้บริโภค ซึ่งเป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ที่กำลังเกิดขึ้นในใจกลางของตลาดทุกๆ แห่งในโลก

ปัจเจกชนที่เข้าสู่การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมคาดหวังว่า การแลกเปลี่ยนจะทำให้เขาดีขึ้น และสร้างความมั่งมีทางวัฒนธรรม และเพิ่มรายการของตัวเลือกให้กับเขา การแลกเปลี่ยนข้ามวัฒนธรรมได้ช่วยแพร่หลายนวัตรกรรมใหม่ๆ ทางด้านวัฒนธรรม และสร้างสรรค์สินค้าวัฒนธรรมให้มีคุณภาพสูงขึ้น ทั้งด้านชนิด ความหลากหลาย และสไตล์ของสินค้า การแลกเปลี่ยนข้ามวัฒนธรรมจึงทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น และสร้างให้การค้าและตลาดเฟื่องฟู

อย่างไรก็ตาม มีการโต้แย้งกันใน 2 แนวทาง กล่าวคือ แนวความคิดในเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโลกาภิวัตน์ชี้ว่า การเปิดเสรีการค้าสินค้าวัฒนธรรมจะทำให้สังคมหนึ่ง เหมือนกับสังคมอื่นๆ ในแง่ของการเสนอตัวเลือกให้กับผู้บริโภค

แต่อีกแนวคิดหนึ่งเป็นการมองไปที่ความหลากหลายภายในสังคมเอง ซึ่งการค้าเสรีได้เสนอตัวเลือกที่หลากหลายภายในสังคม โดยความหลากหลายทั้ง 2 แบบ มักจะเคลื่อนไปในทิศทางตรงกันข้ามกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อสังคมหนึ่งได้ขายงานศิลปะชนิดใหม่ให้แก่สังคมอื่น ความหลากหลายภายในสังคมอื่นเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีตัวเลือกที่มากขึ้น แต่จะเห็นว่าความหลากหลายโดยเปรียบเทียบระหว่างสังคมลดลง เนื่องจากสองสังคมเหมือนกันมากขึ้น

แนวคิดเรื่องความหลากหลายในสายตาผู้ที่ต่อต้านโลกาภิวัตน์
มักจะเป็นการเปรียบเทียบความหลากหลายระหว่างสังคมหนึ่งกับอีกสังคมหนึ่งจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ แต่ความหลากหลายนั้น ควรจะเปรียบเทียบปัจเจกบุคคลหนึ่งกับปัจเจกบุคคลอื่นๆ หรือมองไปที่ทางเลือกที่มีอยู่ต่อปัจเจกบุคคล ซึ่งคือหัวใจของเสรีภาพ

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราข้ามพรมแดนประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ทั้งสองประเทศอาจจะดูเหมือนกันมากขึ้นกว่าอดีต แต่พิจารณาปัจเจกบุคคลในแต่ละประเทศ จะพบว่าปัจเจกบุคคลมีขอบเขตที่กว้างขึ้นที่จะเลือกในการบริโภคด้านวัฒนธรรม และมีความหลากหลายในตัวเลือกที่มากกว่าในอดีต ดังนั้นการค้าจึงเพิ่มความหลากหลายภายในสังคม และสร้างความเปลี่ยนแปลง ที่นำมาสู่สินค้าวัฒนธรรมใหม่ๆ

นอกจากนั้น เมื่อการตลาดขยายตัวมากขึ้นจากการค้าเสรี การตลาดซึ่งพัฒนาแนวทางการขายไปสู่ลูกค้ามวลชน (mass marketing) ยังได้สร้างช่องทางให้กับสินค้าเฉพาะกลุ่มลูกค้า (niche product) ช่องทางดังกล่าวได้แก่ การขายผ่านการสั่งของทางไปรษณีย์ การขายผ่านอินเทอร์เน็ต ยกตัวอย่างเช่น บริษัทดนตรีเล็กๆ สามารถทำรายได้จากการออกซีดีเพียง 500 แผ่น ให้แก่กลุ่มลูกค้าเฉพาะได้ โดยใช้การเสนอขายทางอินเทอร์เน็ต

ตลาดอาหารแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่าง กระบวนการที่ทำให้เกิดความแตกต่าง กับกระบวนการที่ทำให้เกิดความเหมือนกัน ในขณะที่ร้านอาหารแฟรนไชส์จากอเมริกาได้ขยายตัวไปทั่วโลก ซึ่งทำให้ความเหมือนกันในตลาดอาหารของโลกเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของการกินอาหารนอกบ้าน ก็นำไปสู่โอกาสที่จะเลือกอาหารชนิดต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฟาสต์ฟู้ด อาหารไทย เช่น ในสหรัฐฯ เมืองต่างๆ ได้เสนออาหารที่หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นอาหารเอเซีย ละตินอเมริกา แอฟริกา ยุโรป รวมทั้งอาหารแบบผสมผสาน (fusion) อีกด้วย

ดังนั้นวัฒนธรรมอาหารในระดับที่สูงและต่ำที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงไม่เป็นสินค้าที่ต่อต้านกัน แต่กลับเป็นสินค้าที่เสริมกัน เช่น ทั้งปารีสและฮ่องกงที่เป็นศูนย์กลางอาหารที่ดีที่สุดของโลก ก็มีร้านพิซซ่าฮัท ที่ขายดีจำนวนมาก

การแลกเปลี่ยนข้ามวัฒนธรรมนำมาสู่การปะทะกันของคุณค่าทางวัฒนธรรม แต่ที่สำคัญ โลกมีรายการของทางเลือกที่กว้างขึ้น วัฒนธรรมเก่าควรเปิดทางให้กับวัฒนธรรมที่ใหม่กว่า ประเทศต่างๆ จึงจะสามารถแบ่งปันสินค้าวัฒนธรรมได้มากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

ในบางภูมิภาค การได้มาในการเข้าถึงขุมทรัพย์ทางวัฒนธรรมของโลก และความสามารถที่จะขายสินค้าของตนในต่างประเทศ อาจจะต้องแลกกับการสูญเสียลักษณะเฉพาะบางอย่างของตนไป

ไม่มีใครทุกคนที่ชอบความจริงนี้

เรียบเรียงจาก "Creative Destruction: How Globalization Is Changing the World's Culture"
Chapter 1, Princeton University Press, 2002

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ภาคผนวก
Joseph Schumpeter กล่าวว่า "การผลิตของทุนนิยมเป็นคลื่นตัวของการทำลายอย่างสร้างสรรค์" การเติบโตของวัฒนธรรมก็เหมือนกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพียงน้อยครั้งที่จะพัฒนาขึ้นอย่างสม่ำเสมอแก่ทุกฝ่ายในครั้งเดียว หากแต่เมื่อบางสาขาขยายตัว บางสาขาก็ถูกทำลายลงหรือหายไป

มองเตสกิเออร์มองว่า ประวัติศาสตร์ของการค้าทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้คน แต่เหตุการต่างๆ ในประวัติศาสตร์ ทำให้เรารู้ว่ามีการทำลายเกิดขึ้น มีการไหลบ่าของประชากร และมีหายนะต่างๆ เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ชาว Polynesian แม้จะมีความเจริญทางวัตถุมากขึ้นแต่ก็ การนิยมวัตถุ เทคโนโลยี่ตะวันตกและศาสนาคริสต์ ได้สร้างความเสียหายต่อวัฒนธรรมชาวโพลีนีเซียน ตาฮิติ การสร้างสรรค์งานศิลปะถูกปฏิเสธและสูญเสียสถานะไป เนื่องจากมีราคาไม่ถูก จากสินค้าตะวันตกที่ถูกกว่า

การท่องเที่ยว ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น การเคลื่อนย้ายของคนมักมีผลกระทบเช่นเดียวกับสินค้า ผู้ผลิตภาพยนตร์ รู้ว่าหนังแแอคชั่นทำเงินมากกว่าส่งออกได้ง่ายกว่าในแทบทุกประเทศ เช่น ฮีโร่ ความตื่นเต้น และความรุนแรง ยกเว้น หนังตลกซึ่งขายยากกว่า เพราะแต่ละประเทศมีวัฒนธรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้แตกต่างกัน

รัชดี อธิบายงานเขียนของเขาว่า เป็น การผสมผสานและเป็นความไม่บริสุทธ์ Kwame Anthony เชื่อว่า วัฒนธรรมความเป็นเมืองทันสมัยเสริมสร้างความมีรากมากว่าการทำลาย และรูปแบบที่สร้างสรรค์ที่จะทำให้ความหลากหลายของวัฒนธรรมโลกดำรงอยู่ สังคมอินเดียเป็นสังคมที่มีความสามารถในการสร้างวัฒนธรรมที่ประกอบขึ้นจากวัฒนธรรมต่างๆ จากตะวันตกและตะวันออก

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

 

มักจะเป็นการเปรียบเทียบความหลากหลายระหว่างสังคมหนึ่งกับอีกสังคมหนึ่งจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ แต่ความหลากหลายนั้น ควรจะเปรียบเทียบปัจเจกบุคคลหนึ่งกับปัจเจกบุคคลอื่นๆ หรือมองไปที่ทางเลือกที่มีอยู่ต่อปัจเจกบุคคล ซึ่งคือหัวใจของเสรีภาพ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราข้ามพรมแดนประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ทั้งสองประเทศอาจจะดูเหมือนกันมากขึ้นกว่าอดีต แต่พิจารณาปัจเจกบุคคลในแต่ละประเทศ จะพบว่าปัจเจกบุคคลมีขอบเขตที่กว้างขึ้นที่จะเลือกในการบริโภคด้านวัฒนธรรม และมีความหลากหลายในตัวเลือกที่มากกว่าในอดีต ดังนั้นการค้าจึงเพิ่มความหลากหลายภายในสังคม และสร้างความเปลี่ยนแปลง ที่นำมาสู่สินค้าวัฒนธรรมใหม่ๆ