บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๙๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙
08-12-2549

 

 

 

 

 

 

H
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น



Law and Politics
The Midnight University

มุมมองประวัติศาสตร์เชิงเปรียบเทียบ
ฐานะทางประวัติศาสตร์ของศาลในวิกฤตประชาธิปไตยไทย
ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

บทความวิชาการบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นบทความเก่าที่เสนอข้อคิดประวัติศาสตร์เชิงเปรียบเทียบเพื่อการศึกษาในแวดวงตุลาการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างศาลรัฐธรรมนูญไทย กับศาลสูงของสหรัฐอเมริกา
ในเหตุการณ์ยุคนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร์ เกี่ยวกับคดีซุกหุ้น
กับคดีประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า Marbury v. Madison (๑๘๐๓)
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1095
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9.5 หน้ากระดาษ A4)



ฐานะทางประวัติศาสตร์ของศาลในวิกฤตประชาธิปไตยไทย
ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

หมายเหตุ: บทความวิชาการบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้รับมาจากผู้เขียน เป็นบทความเก่าที่เสนอข้อคิดประวัติศาสตร์เชิงเปรียบเทียบเพื่อการศึกษาในแวดวงตุลาการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างศาลรัฐธรรมนูญไทย กับศาลสูงของสหรัฐอเมริกา ในเหตุการณ์ยุคนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร์ เกี่ยวกับคดีซุกหุ้น กับคดีประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า Marbury v. Madison (๑๘๐๓)

1: อะไรที่เป็นระบบต้องมีความเป็นมา
นับแต่วิกฤตทางการเมืองของระบอบทักษิณตั้งแต่เดือนมกราคม 2549 เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้(ต้นกรกฎาคม 2549) ลู่ทางและกรรมวิธีในการคลี่คลายและแก้ปมเงื่อนของวิกฤตการณ์การเมืองดังกล่าว กลายเป็นสิ่งใหม่และค่อยก่อรูปเป็นปัญหาของระบบประชาธิปไตยไทยใหม่ ที่แปลกและไม่เหมือนปรากฏการณ์ทำนองเดียวกันนี้ในอดีต

กล่าวโดยรวม การคลี่คลายวิกฤตดังกล่าวยังไม่ประสบความสำเร็จดีนัก นับตั้งแต่การประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยนายกฯทักษิณเอง อันนำไปสู่การบอยคอตการเลือกตั้งโดยพรรคการเมืองใหญ่ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งนำไปสู่อีกปมเงื่อนของวิกฤตการเมืองแรก ทำให้ผลการเลือกตั้งวันที่ ๒ เมษายนตกที่นั่งอิหลักอิเหลื่อ จนคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติหรือ กกต. ต้องตกเป็นเป้าและกลายเป็นวิกฤตอีกปมหนึ่งไป ยังไม่ต้องพูดถึงรัฐสภาซึ่งก็หมดวาระในเดือนมีนาคมนี้อีกเช่นกัน มีผลให้สถาบันหลักๆของระบบการเมืองประชาธิปไตยคือสถาบันบริหารและ นิติบัญญัติไร้สภาวะของการดำรงอยู่ กลายเป็นสถาบันในนามแต่ทำอะไรที่มีผลทางกฎหมายออกมาไม่ได้ ระบบและกลไกประชาธิปไตยจึงกลายเป็นเป็ดง่อยไปโดยปริยาย ราวกับต้องมนต์สาป โดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน

นี่เองคือที่มาของการเข้ามาให้คำแนะนำในการแก้วิกฤตของสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นบทบาทโดยชอบธรรมของสถาบันที่ได้กระทำมา ทรงให้คำแนะนำในวันที่ 25 เมษายน 2549 ผ่านตุลาการศาลปกครองสูงสุดและผู้พิพากษาประจำศาล ไปให้ช่วยแก้วิกฤตเหล่านั้น อันนำไปสู่การเกิดบทบาทใหม่ของสถาบันตุลาการ ซึ่งเป็นอำนาจหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตย ตามทฤษฎีลัทธิรัฐธรรมนูญตะวันตก และที่ชัดๆ คือมาจากระบบการปกครองแบบอเมริกา ที่เน้นการแบ่งและถ่วงดุลอำนาจใหญ่ทั้งสามไว้ด้วยกัน

เพื่อความเข้าใจและความกระจ่างในการวิเคราะห์ กระทั่งวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาและวิกฤตการเมืองปัจจุบัน ผมคิดว่าการมองภาพของเรื่องราวอย่างรอบด้าน ทั้งมิติเวลาและประเด็นปมเงื่อนของความขัดแย้งเป็นความจำเป็น นั่นคือการปฏิบัติต่อปัญหาและความขัดแย้งทางการเมืองอย่างที่มันเป็นจริง และเป็นระบบ ที่มีพัฒนาการและการเคลื่อนไหว ไม่เช่นนั้นการมองและการวิเคราะห์ก็จะเป็นเพียงความต้องการทางอัตวิสัยของแต่ละคนไปเท่านั้น ซึ่งเท่ากับทำให้การมองและหาทางออก เป็นการย่ำเท้าอยู่กับที่และอิงอยู่กับสถาบันและวิธีการเก่าๆตามสามัญสำนึกหรืออคติไม่กี่อย่างไปเท่านั้น

ดังนั้นผมจึงนำเอาบทความเก่าที่เคยพิมพ์ก่อนแล้วในเรื่องที่กำลังเป็นวิกฤตดังกล่าวมานำเสนอก่อน บทความเรื่องแรกคือ "ทำไมไม่มองด้วยหลักทางประวัติศาสตร์บ้าง" ผมเขียนลง ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ส่วนบทความชิ้นที่สอง "ว่าด้วยโศกนาฏกรรมสองอย่าง" เขียนเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2544 ปีเดียวกัน นั่นคือเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเรื่องคดีซุกหุ้นของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรออกมา

2: "ทำไมไม่มองด้วยหลักทางประวัติศาสตร์บ้าง"
การเผชิญหน้าระหว่าง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะที่มีตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี อันเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระใหม่ล่าสุด ผลิตผลของรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง 2540 กำลังเป็นหนังฟอร์มใหญ่เทียบได้กับเพิร์ลฮาร์เบอร์ ที่ยิงถล่มกันหูดับตับไหม้เกือบชั่วโมงเต็มๆ

ในที่สุดแล้ว เหยื่ออันแรกและตลอดกาลของสงครามหรือความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ใช่ทหารและชาวบ้านที่ตายและบาดเจ็บ แต่ในทางประวัติศาสตร์แล้วมันได้แก่ความจริง

ต่อปัญหาขัดแย้งและทางออกนี้ ฝ่ายหนึ่งเสนอว่าศาลรัฐธรรมนูญควรใช้หลักนิติศาสตร์ ซึ่งมีคนตีความให้ว่าแปลว่าให้ตัดสินตามตัวบทกฎหมาย ในขณะที่อีกฝ่ายแย้งว่าควรใช้หลักรัฐศาสตร์ตัดสิน ซึ่งก็มีคนตีความให้อีกว่า แปลว่าให้ตัดสินโดยยึดหลักการเมือง ซึ่งก็ต้องตีความต่อไปอีก แปลว่าไม่ต้องตัดสินตามตัวบทกฎหมาย
ในอีกทางหนึ่ง ฝ่ายที่เห็นว่าคุณทักษิณต้องผิดตามคำตัดสินของปปช. ก็เสนอว่าศาลและประชาชนต้องคิดถึงระบบ อย่าไปรักษาคน เพราะจะทำให้ระบบพัง

ส่วนอีกฝ่าย ที่เห็นว่าคุณทักษิณไม่ผิดตามกติกาการเมืองใหม่ แม้จะ"บกพร่องแต่ก็โดยความสุจริต" จึงควรคิดรักษาคนเอาไว้ เป็นต้น

จริงๆ แล้ววิธีคิดแบบสองขั้วสองทางแยก ที่ต้องเลือกทางหนึ่งและปฏิเสธอีกทางหนึ่ง เป็นแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางสังคมมากนัก แต่กลับเป็นวิธีคิดและแนวคิดที่ฮิตมากอันหนึ่งในการวิจารณ์ทางการเมืองระยะหลังๆ มานี้ วิธีคิดแบบผิดถูกชั่วดีดำขาว เลือกเอาอย่างหนึ่ง และปฏิเสธอีกอย่างหนึ่งอย่างเด็ดขาด ว่าไปแล้วก็สะดวกและง่ายในการรับรู้และปฏิบัติ (แต่จะทำหรือไม่ ทำได้จริงหรือไม่ และทำแล้วได้ผลอะไร ยังไม่มีการวิเคราะห์วิจารณ์ออกมา) แนวคิดทำนองนี้ เข้าใจว่าจะได้รับอิทธิพลการคิดแบบศาสนา คือต้องมีสัจธรรมอยู่เพียงหนึ่ง ชัดเจน แน่นอน ตายตัว เข้าใจได้ทันที ไม่ต้องคิด ขอให้เชื่อ

วิธีคิดอย่างนี้เหมาะกับความสัมพันธ์ทางสังคมแบบแนวดิ่ง คือจากบนลงล่าง หรือต่ำขึ้นไปหาสูง เพราะจะมีความชอบธรรมที่อิงอยู่กับความเหลี่อมล้ำ ทั้งนี้เพราะจุดหมายของแนวคิดดังกล่าว อยู่ที่คำตอบอันเด็ดขาด ชัดเจน ไม่ต้องเถียง ฟังและรับทราบแล้วเป็นพอ ยุติ หากจะให้ได้อย่างนี้ ก็ต้องมีอำนาจอันชอบธรรมหรือสิทธิอำนาจอันเป็นที่ยอมรับหรือยำเกรงของคนที่มากที่สุดเอาไว้ ในธรรมเนียมไทย อำนาจใหญ่โตและน่านับถือก็ยังอยู่ที่ผู้เป็นใหญ่ ซึ่งก็คือผู้มีอาวุโส

ผมจึงไม่ค่อยชอบและไม่เชื่อวิธีคิดและแนวทางแบบสองเลือกหนึ่งทั้งหลาย ดังนั้นจึงขอเสนอแนวการมองปัญหาใหม่ตามแบบของผมว่า ทำไมไม่คิดและพิเคราะห์โดยยึดหลักทางประวัติศาสตร์บ้าง นอกเหนือจากหลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์แล้ว

มองจากทางประวัติศาสตร์ การเกิดขึ้นและปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หรือฉบับปฏิรูปการเมืองนั้น เป็นภาวะทางการเมืองใหม่ที่ไม่ใคร่เกิดขึ้นบ่อยนักในการเมืองไทย ที่ว่าใหม่นั้นคือเป็นครั้งแรกก็คงได้ ที่จะมีองค์กรการเมืองที่เป็นอิสระค่อนข้างมากจากอำนาจฝ่ายบริหาร ทำหน้าที่ในการตรวจสอบและพิพากษาผู้มีตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับได้

และที่เป็นเรื่องแรกสุดด้วยเลย คือการที่องค์กรนี้กำลังพิพากษาตัดสินการดำรงอยู่ในฐานะของนายกรัฐมนตรี หัวหน้าอำนาจบริหารด้วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะคุณทักษิณเกิดได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่มีการตรวจสอบการชี้แจงทรัพย์สินหลังจากออกจากตำแหน่งการเมืองก่อนหน้าโน้น นัยของความขัดแย้งทางการเมืองเหล่านี้ ซึ่งควรต้องเกิด จะมีผลต่อการปรับทิศทางและอนาคตของการเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองด้วย ส่วนจะมากน้อยและเป็นผลบวกหรือลบ ขึ้นอยู่กับท่าทีและความปรารถนาร่วมกันในจุดหมายใหญ่ข้างหน้า
พูดอย่างชาวบ้านก็คือ ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เพียงแต่พิจารณาการปฏิบัติที่ละเมิดข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากแต่ยังกินความไปถึงการพิพากษาหัวหน้าฝ่ายบริหารด้วย

จุดนี้เองที่เป็นประเด็นที่นำมาสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างใหญ่โต ระหว่างกลุ่มและขบวนการที่พิทักษ์ปกป้องและสนับสนุนนายกฯ ทักษิณ กับกลุ่มและขบวนที่ปกป้องและพิทักษ์เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อันรวมไปถึงคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ชอบและไม่ต้องการนายกฯ ที่ชื่อชินคอร์ป และก็เป็นจุดที่ทำให้เกิดคำถามและคำปรามว่า นี่เป็นการสร้างแรงกดดันต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือเปล่า

การเกิดขึ้นของกลุ่มทักษิณนิยมหรือชูทักษิณนั้น น่าสังเกตว่ามาจากกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองเป็นหลัก อาจเปรียบได้กับกลุ่ม "ม็อบมือถือ" สมัยพฤษภาดำได้ แม้อาจไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะคิดว่ากลุ่มเช่น "ธงเหลือง" เป็นตัวแทนของชนชั้นนายทุนระดับชาติ เป็นนักธุรกิจที่รวยหรือเคยรวย ไปถึงคนอย่างเจ้าสัวซีพีเป็นต้น
สิ่งที่คนชั้นกลางแต่มีฐานะสูงนี้เห็นในคุณทักษิณคือ ความสามารถในการจัดการ ข้อนี้นับว่าเป็นจุดเด่นของนายกฯทักษิณ ในการแสดงให้สังคมเห็นถึงฝีมือในการบริหารเชิงจัดการของเขาอย่างเป็นรูปธรรม ผลงานคือจุดหมายของการทำงานแบบนักธุรกิจ ไม่ใช่การพูด ไม่ใช่การประชุมอันยืดยาวและมากมาย และก็ไม่ใช่การปล่อยให้นโยบายกระทำไปตามครรลองของการทำงานแบบราชการ เช้าชามเย็นชาม ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง
ส่วนผลที่แท้จริงจะเป็นอย่างไรนั้น ก็คงต้องรอดูอีกระยะหนึ่ง แต่คนไทยก็รอมาหลายสิบปีด้วยความอดทนและทนอดแล้วไม่ใช่หรือ

อีกอย่างที่คุณทักษิณเรียกร้องการเห็นใจและสนับสนุนจากนักคิดและราษฎรอาวุโสบางท่าน จากสื่อมวลชน จากองค์การพัฒนาเอกชนและประชาชนทั่วไปอีกจำนวนหนึ่งได้ คือการแสดงออกซึ่งความจริงใจ (sincerity) คุณทักษิณงัดไม้ตายอันนี้ออกมาใช้อย่างตั้งใจสุดชีวิต ในวันแถลงปิดคดีซุกหุ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนนี้ และก็ดูเหมือนเรียกคะแนนสงสารและเห็นใจ ได้ไม่น้อยทีเดียว แน่นอนย่อมได้จากกลุ่มที่สนับสนุนอยู่แล้วเป็นสำคัญ คนที่ไม่เห็นด้วยมาก่อน เท่าที่ฟังข่าว ก็ยังคงไม่เห็นใจและไม่ร้องไห้ตามไปด้วยอยู่เหมือนเดิม

ทั้งหมดนั้นย่อมไม่อาจทำให้คำพิพากษาตัดสินสุดท้ายของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นคำตอบสุดท้ายจริงๆ ที่หลายคนเห็นด้วยและยอมรับโดยดี ตรงนี้เองที่ทรรศนะทางประวัติศาสตร์อาจช่วยได้ กล่าวคือคนเข้าใจว่าการทำประวัติศาสตร์คือการทำแต่เรื่องของอดีตที่ผ่านไปแล้ว อันนั้นก็ถูกแต่ไม่ทั้งหมด เพราะในทางเป็นจริง ความต้องการที่จะรู้และเข้าใจอดีตของตนเองนั้น ย่อมแยกไม่ออกจากความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน และยิ่งกว่านั้น ยังต้องมาพร้อมกับความปรารถนาหรือผูกพันที่จะต้องการเห็นอนาคตอะไรสำหรับตน ยิ่งมีความมุ่งมั่นต่ออนาคตมากเพียงใด คนๆ นั้นก็ยิ่งมีความพยายามที่จะเข้าใจและรู้จักประวัติศาสตร์ของตนมากขึ้นเท่านั้น

จุดนี้เองที่ทรรศนะหรือหลักทางประวัติศาสตร์ อาจให้ข้อคิดและแนวทางการคลี่คลายปัญหาขัดแย้งระหว่างกลุ่มและฝ่ายต่างๆ ทางการเมืองได้ ด้วยการที่สังคมการเมืองไทย จำต้องสร้างความคิดเกี่ยวกับอนาคตของการเมืองประชาธิปไตยนี้ขึ้นมา นั่นคือการที่เราจะต้องมีเจตจำนงทางการเมืองร่วมกัน ว่าจุดหมายของสังคมการเมืองนี้คืออะไร

วิธีการอะไรก็ไม่ดีที่สุด อย่างน้อยก็ไม่ดีตลอดกาล อาจดีเพียงชั่วเวลาหนึ่งในช่วงบริบทหนึ่ง ในสถานการณ์หนึ่ง เมื่อสภาพทางภววิสัยและทางอัตวิสัยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว หนทางและการปฏิบัติใหม่ๆ ก็จะต้องเกิดขึ้นมาอีก แต่อย่างน้อยไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากปราศจากเจตจำนงอันแน่วแน่ร่วมกันของคนส่วนใหญ่ การปฏิบัติอะไรก็ยากที่จะบรรลุและเป็นจริงขึ้นมาได้

คนกับความคิด
"การทำให้คนวิพากษ์วิจารณ์นั้นไม่ยาก แต่การทำให้คนคิดอย่างสร้างสรรค์นั้นยากยิ่งกว่า"
รศ. ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
ประธานร่วมที่ประชุมหารือเพื่อระดมความคิดเห็น กรณีขยายการเรียนการสอนไปศูนย์รังสิต
20 มิถุนายน พ.ศ. 2544

3: "ว่าด้วยโศกนาฏกรรมสองอย่าง" (13 สค. 44)
ผมเพิ่งรู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะตัดสินคดี "ซุกหุ้น" นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อบ่ายวันศุกร์ที่แล้ว ในรถแท๊กซี่ทิ่วิ่งไปรับมาญาที่โรงเรียน ผมตกข่าวเพราะตอนเช้าก็ไม่ทันได้อ่านหรือชำเลืองดูหัวข่าว ก่อนตื่นนอนตอนเช้า ก็ไม่ได้ฟังข่าวจากพรชัย วีระณรงค์ "สำนักร่วมด้วยช่วยกัน" เพราะนอนดึก จึงต้องเก็บข่าวจากโชเฟอร์ ซึ่งอดแปลกใจไม่ได้ว่า ผมไปอยู่เสียที่ไหนถึงช่างไม่ทันข่าวสารบ้านเมือง เรื่องใหญ่ๆขนาดนี้ พลาดได้ยังไง… พลาดได้ค่ะ ตอบมาญากับสรันยา สองดรุณีน้อยในบ้านผม

บัดนี้คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญก็ผ่านไปแล้ว เหลือแต่ฝุ่นและม่านหมอกเท่านั้นที่ยังไม่พ้นไป และอาจยังเกาะติดตาหรือบังใจคนหลายคนไปอีกนาน โดยเฉพาะอดีตนักการเมืองที่เคยถูกพิพากษาโดยศาลนี้ไปก่อนแล้ว ด้วยเรื่องและข้อหาเดียวกัน แต่ผลของคำตัดสินตรงข้ามกันไป อย่างนรกกับสวรรค์

เป็นครั้งแรกที่สาธารณชนมีส่วนในการแสดงความเห็นและความรู้สึกจากใจและจากหัว ต่อคำพิพากษาของศาล ซึ่งตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้นจึงมีฐานะเป็นศาลการเมือง มากกว่าศาลยุติธรรมปกติ ที่ตั้งขึ้นมาในระบบการปกครองโดยรัฐบาลหรือรัฐสภา

ผมคิดว่าการที่คนนอกมีโอกาสร่วมคิดร่วมแย้งกับตุลาการ ทำให้แง่มุมและเนื้อหาของกฎหมายเป็นที่เข้าใจและเข้าถึงได้มากกว่าแต่ก่อน แต่ผลอีกด้านของมันก็คือ การทำให้คนทั่วไปเชื่อและยอมรับในมติสุดท้ายอันเป็นคำตัดสินของศาลยากขึ้น คำตัดสินสุดท้ายจึงต้องไต่ระดับให้ลึกซึ้งและกุมหัวใจของข้อบัญญัตินั้นๆ ให้ดี เพราะต่อไปนี้การเคารพเชื่อฟังในคำพิพากษา จะต้องมาจากเหตุผลและตรรกของความเป็นจริงในสังคม ไม่ใช่เป็นเรื่องของตรรกและเทคนิคในการวินิจฉัยตามตัวอักษร ของผู้ชำนาญการกฎหมายในชุมชนเดียวอย่างแต่ก่อนอีกต่อไป

หากเปรียบเทียบกันในแง่ของกำเนิดและฐานะของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็น่าจะเทียบได้กับศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา (Supreme Court) ซึ่งเป็นศาลเดียวที่ตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ(ฉบับเดียว) ดำรงอยู่และปฏิบัติหน้าที่และจุดหมายตามข้อกำหนดและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องฟังเสียงและอยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของใครในแผ่นดิน ไม่ว่าฝ่ายบริหาร(ประธานาธิบดี) หรือนิติบัญญัติ(คองเกรส)

ศาลการเมืองแบบนี้ มีปัญหาเหมือนกันคือ ไม่รู้ว่าอำนาจหน้าที่และกระทั่งจุดหมายของตนเองมีอยู่แค่ไหนและเพื่ออะไร แม้ในรัฐธรรมนูญจะพูดถึง แต่ก็กว้างและเป็นนามธรรม การสร้างและแปรข้อความในรัฐธรรมนูญให้เป็นความจริงจึงต้องมาจากการเคลื่อนไหวและประกาศจุดยืนของศาลนั้นเอง

ประวัติศาสตร์ของศาลสูงและศาลรัฐธรรมนูญดำเนินมาต่างกัน - คือหน้าที่และจุดหมายของศาลสูงสหรัฐฯ นั้น เขาค้นพบและสร้างมันขึ้นมาแต่ระยะแรกของการก่อตั้งประเทศเลย คือในปี 1803 หลังจากได้รัฐธรรมนูญมาในปี 1787 ในคดีประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า Marbury v. Madison (1803) ประธานศาลสูงตอนนั้นคือนายจอห์น มาร์แชล เป็นลูกชาวไร่จากเวอร์จิเนีย เคยเข้าร่วมสงครามปฏิวัติ ต่อมาในทางการเมืองเขาเอียงอยู่ข้างพรรคเฟเดอรัลลิสต์ ซึ่งตอนมีปัญหากับศาล เป็นพรรคฝ่ายค้าน(เหมือนประชาธิปัตย์ตอนนี้) ท่านประธานศาลสูงมาร์แชลนำศาลสูงในการตัดสินว่า คองเกรสและรัฐบาลพรรครีพับลิกันภายใต้การนำของเจฟเฟอร์สัน ซึ่งตรงข้ามกับพรรคเฟเดอรัลลิสต์ ไม่มีความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญในการยกเลิกกฎหมายว่าด้วยตุลาการ

การฮึดสู้ครั้งนั้นคือการสถาปนาบทบาทศาลสูงในการใช้อำนาจพิจารณาว่า กฎหมายที่ผ่านโดยคองเกรสนั้นสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากนั้นมาอำนาจตุลาการจึงเป็นอีกอำนาจที่คานและถ่วงดุลย์กับอำนาจบริหารและนิติบัญญัติได้จริงๆ

ในทางตรงกันข้าม ผลจากการพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ช่วยอุ้มนายกรัฐมนตรีให้พ้นความผิดตามคำฟ้องและพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) ทำให้บทบาทและจุดหมายของศาลสูงไทย กลายเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ให้ความคุ้มครองและปกป้องฝ่ายบริหาร มากกว่าที่จะทำหน้าที่คานหรือถ่วงดุลย์ ตามทฤษฎีการเมืองประชาธิปไตยแบบอเมริกัน

แต่ในระบบรัฐสภา ทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจและการคานอำนาจนั้น จริงๆ แล้วใช้ไม่ค่อยได้ ไม่ว่าจะที่อังกฤษหรือไทยก็ตาม เพราะในทางปฏิบัติอำนาจในรัฐสภา เป็นการผสมผสานอำนาจฝ่ายต่างๆ มากกว่าการแบ่งแยกหรือถ่วงดุลย์กันอย่างเด็ดขาด ข้อสังเกตเชิงเปรียบเทียบ เป็นการทำให้มองเห็นนัยและผลในทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตเท่านั้น ไม่ได้บอกว่าระบบของใครถูกหรือใครผิด หรือดีกว่ากัน

อีกประการหนึ่งคือการจะทำให้ศาลสูงสามารถพิพากษาผู้นำฝ่ายบริหารได้อย่างจริงจังนั้น เป็นเรื่องที่ยาก ยากทั้งในแง่กฎหมายและที่สำคัญกว่าก็คือ ยากอย่างยิ่งในทางการเมือง ไม่ว่าในระบบประธานาธิบดีอย่างสหรัฐฯ หรือระบบรัฐสภาแบบไทยก็ตาม กรณีคุณทักษิณก็แสดงให้เห็นถึงความลำบากและแรงกดดันไปถึงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม ที่มองต่างมุมกันอย่างน่าสนใจ

ผมอ่านทั้งสองฝ่ายและก็เห็นเหตุผลของทั้งสองฝ่าย การตัดสินใจขั้นสุดท้ายของคนที่สนใจปัญหานี้ หนีไม่พ้นที่จะต้องมาจากจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองของแต่ละคน ว่าใครมีค่านิยม ความเชื่อและรสนิยมต่อผู้นำ ระบบปกครองและความยุติธรรมอย่างไหน ก็จะเอนเอียงไปตามคำวินิจฉัยทางกฎหมายแบบนั้น

ปัญหาไม่ได้อยู่เพียงว่า ฝ่ายไหนมีความเข้าใจในเจตนารมณ์หรือลายลักษณ์อักษรตามรัฐธรรมนูญดีกว่ากัน หากแต่ที่สำคัญได้แก่การที่คำพิพากษาและคดีนั้น จะมีผลกระทบยาวไกลต่อศรัทธา ความเชื่อมั่น ไปถึงการสนับสนุนระบบการเมืองการปกครองหรือไม่อย่างไรด้วย ในที่สุดแล้ว นัยที่สำคัญของคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อยู่เพียงว่า ศาลตีความรัฐธรรมนูญ(ในกรณีนี้คือมาตรา 295)(1)อย่างไร หากอยู่ที่การตอกย้ำถึงทิศทาง เนื้อหาและความถูกต้องของการต่อสู้ทางการเมืองนี้ ว่ามันจะนำไปสู่การสร้างความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยของประชาชนมากขึ้นหรือเปล่า ว่ามันจะทำให้วุฒิภาวะและภูมิปัญญาทางการเมืองของสังคมเติบใหญ่ขึ้นหรือเปล่า

นี่คือคุณูปการและความหมายอันสำคัญของระบบปกครองโดยกฎหมายหรือนิติธรรม คือลักษณะสำคัญของลัทธิรัฐธรรมนูญ ว่าในที่สุดแล้วความศักดิ์สิทธิ์และอำนาจอันสูงสุดของรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่เพียงแค่การปกครอง และการคลี่คลายปัญหาการเมืองปัจจุบันเท่านั้น หากที่สำคัญกว่าคือการสร้างความหมาย ความเข้าใจ ความรับรู้ร่วมกันของสังคมที่มีต่อรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในเวลาและสถานที่ซึ่งพวกเราอาจนึกไม่ถึงและไม่รู้ด้วยว่าอะไรจะเกิดขึ้นในสังคมนี้ แต่ถ้าระบอบรัฐธรรมนูญทำงานได้ อย่างน้อยเราพอคาดการณ์ได้ว่า หลักการอันเป็นวิญญาณของรัฐธรรมนูญ จะยังคงอยู่ต่อไปอย่างมีชีวิตชีวา โดยที่ไม่มีนักการเมืองและอำนาจในโลกนี้ที่จะบิดเบือนทำลายมันลงไปได้

คนที่น่าเป็นห่วงจึงไม่ใช่คุณทักษิณ หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หากแต่คือประชาสังคม กับอนาคตการเมืองของคนรุ่นหลัง

ออสการ์ ไวลด์กล่าวไว้อย่างสวยงามว่า "ในโลกนี้มีเพียงโศกนาฏกรรมสองอย่าง
อย่างแรก คือโศกนาฏกรรมที่คนไม่ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ
อย่างที่สอง คือโศกนาฏกรรมที่คนๆ นั้นได้ในสิ่งที่เขาต้องการ"
(In this world there are only two tragedies. One is not getting what one wants, and the other is getting it." --Oscar Wilde)

ใครได้อย่างแรก และใครได้อย่างหลัง เวลาเท่านั้นจะเป็นผู้บอกเราได้. (13 สค. 2544)

4: วิกฤตหรือการพัฒนา
เมื่ออ่านบทความเก่าเมื่อห้าปีที่แล้วใหม่ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ในปัญหาความชอบธรรมของตัวนายกรัฐมนตรีคนเดียวกัน ผมคิดว่าประเด็นและข้อสังเกตต่อผลกระเทือนและพัฒนาการของระบบการเมืองประชาธิปไตยในสังคมไทยก็ยังยืนอยู่ กล่าวคือต่อบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในการดำเนินการเพื่อคลี่คลายปัญหาของคุณทักษิณนั้น มาบัดนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า จุดยืนและการตัดสินใจของเสียงข้างมากในศาลรัฐธรรมนูญครั้งประวัติศาสตร์นั้น ได้สร้างแบบแผนและบรรทัดฐานอันหนึ่งขององค์กรอิสระขึ้นมา ที่ไม่ได้เป็นอิสระและอยู่เหนืออคติทางการเมืองอย่างแท้จริงขึ้นมาได้ ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะเรื่องของผลประโยชน์หรืออะไรที่คนเล่าลือกัน อันไม่อาจหาใบเสร็จหรือบิลมาแสดงได้ ดังนั้นเราควรต้องเชื่อในความบริสุทธิ์ก่อน

แต่ที่ผมกล่าวว่าองค์กรดังกล่าวไม่อาจเป็นอิสระและอยู่เหนืออคติทางการเมืองนั้น หมายความว่าเพราะองค์กรสูงสุดเหล่านั้นไม่มีจุดหมายของการเมืองระดับชาติอันเป็นของตนเอง ที่จะใช้ยืนหรือยันในการวินิจฉัยตัดสินปัญหาทางการเมืองต่างๆ ออกมา ที่สำคัญการที่ศาลหรือองค์กรอิสระสูงสุดจะแสดงบทบาททางการเมืองอย่างจริงจังได้ ก็จะต้องมีการต่อสู้ขัดแย้งอย่างสันติกับฝ่ายบริหารด้วย ไม่เช่นนั้นก็ไม่รู้จะแสดงวิสัยทัศน์หรือจุดยืนการเมืองในประเด็นอะไรออกมาอย่างเป็นรูปธรรมได้

ไม่ช้าก็เร็วการวินิจฉัยแสดงจุดยืนทางการเมืองอะไรที่สำคัญๆ ของบรรดาองค์กรสูงสุดก็จะงวดจุดหมายทางการเมือง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่มีทางเลือกมาก นอกจากดำเนินไปบนหนทางและแนวทางของการตีความตามตัวบท แต่ในทางปฏิบัติการตีความอะไรก็จำเป็นต้องมีบริบทหรือมีเรื่องให้ตี โดยเฉพาะในระบบประชาธิปไตยเสรีนิยมนั้น การเมืองไม่อาจหลีกเลี่ยงจากการเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดหรือเสียหายอะไร ประเด็นอยู่ที่ว่าเป็นผลประโยชน์แก่ใครของใคร แม้คนส่วนมากก็ยังเป็นปัญหาว่า ส่วนมากของใคร ของคนมีการศึกษา หรือส่วนใหญ่ของคนชนบท

ในขณะที่ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายกุมรัฐบาล มีความได้เปรียบเพราะเป็นผู้ที่กำหนดและถือเอาจุดหมายทางการเมืองของประเทศชาติและสังคมมาเป็นของตนไว้อย่างชัดเจนและแข็งขันได้ โดยผ่านการปฏิบัติทางนโยบายเช่น ๓๐ บาทรักษาโรค นโยบายเอื้ออาทร กองทุนหมู่บ้าน ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ฯลฯ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยาก ที่คำตัดสินและจุดยืนทางการเมืองขององค์กรอิสระ ในที่สุดหากไม่มีกำลังภายในและวิญญาณที่อิสระจริงๆ ก็ยากที่จะปฏิเสธจุดหมายของการเมืองแห่งชาติในทางเดียวหรือใกล้กันกับของฝ่ายบริหารเสียเองได้

ความข้อนี้เห็นได้จากประวัติศาสตร์การสร้างบทบาทและฐานะทางการเมืองระดับชาติของศาลสูงสหรัฐฯในสมัยจอห์น มาร์แชลดังกล่าวถึงข้างต้นนี้แล้ว ที่สำคัญคือการที่ศาลสูงสุดซึ่งก่อตั้งโดยรัฐธรรมนูญให้เป็นสถาบันองค์กรเดียวในการพิจารณาตัดสินปัญหาตุลาการของชาติ สามารถหาจุดยืนทางการเมืองของสถาบันตนเองผ่านการขัดแย้งและต่อสู้มากับสถาบันบริหารหรือฝ่ายประธานาธิบดีนั่นเอง

ในระยะแรกของการก่อตั้งสหรัฐอเมริกา ศาลสูงโดยเฉพาะภายใต้การนำของนายจอห์น มาร์แชลเองก็มีจุดหมายของการเมืองแห่งชาติในตัวเองด้วย นั่นคือการสร้างให้ชาติใหม่นี้เข้มแข็งและมีอำนาจในการปกครองอย่างแท้จริง นั่นคือการช่วยทำให้รัฐบาลกลางหรือเฟดเดอรัลมีอำนาจปกครองทั้งประเทศอย่างแท้จริง

อีกประการหนึ่งได้แก่ การที่ศาลสูงจะต้องนิยามและกำหนดให้ชัดเจนว่า เอาเข้าจริงๆ แล้วบทบาทหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของศาลสูงสุดนั้นมีอะไร ทำได้แค่ไหนเพราะรายละเอียดรูปธรรมเหล่านี้ไม่มีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ คำตอบจึงต้องเสาะแสวงหาเอาจากการคลี่คลายดำเนินงานของระบบ และสถาบันหลักทั้งสามอำนาจอธิปไตยกันเอง จะรอให้ประธานาธิบดีมาบอกว่าศาลสูงควรทำอะไรอย่างไรเพื่ออะไร ก็จะได้ศาลสูงที่ไม่มีน้ำยาอะไรมากไปกว่าสภาตรายางเท่านั้นเอง ตรงนี้เองคือหัวเลี้ยวของประวัติศาสตร์ศาลสูงสุดและประชาธิปไตยอเมริกา ที่กลายเป็นจุดเด่นและมีฐานะทางการเมืองอันสูงส่งไม่น้อยไปกว่าสถาบันบริหารและนิติบัญญัติ

สิ่งที่มาร์แชลได้กระทำไปในคดีประวัติศาสตร์ Marbury v. Madison (1803) คือการสถาปนาบทบาทในการรีวิวตรวจสอบการออกกฎหมายของคองเกรสว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ บทบาทดังกล่าวหากไปขอตรงๆจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ แน่นอนว่าศาลสูงไม่ว่าในสหรัฐฯหรือในสยามประเทศ ก็ไม่มีวันได้รับคำตอบที่รับรองแน่ๆ ดังนั้นการสร้างฐานะและบทบาททางการเมืองของศาลสูงสุดสหรัฐฯ จึงเป็นของจริงและเป็นของแท้ ก็ด้วยการหาช่องทางและจังหวะยุทธิวิธีอันแนบเนียนที่สองฝ่ายนั้นไม่อาจทำการต่อต้านขัดขวางและปฏิเสธได้ แล้วตัดสินใจเด็ดเดี่ยวลุกขึ้นยืนประกาศจุดยืนและเป้าหมายทางการเมืองแห่งชาติของตนออกมาอย่างเต็มปากเต็มคำ

คดีมาร์เบอรี่ กับแมดิสันนั้น มีเรื่องมาจากการที่นายวิลเลียม มาร์เบอรี่ผู้ได้รับแต่งตั้งจากอดีตประธานาธิบดีจอห์น แอดัมส์ให้เป็นผู้พิพากษาสมทบ (justice of the peace)ฟ้องร้องต่อศาล ให้บังคับรัฐบาลประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สันทำการแต่งตั้งตน โดยที่ตำแหน่งเหล่านี้เป็นการแต่งตั้งให้รางวัลบรรดาผู้สนับสนุนพรรคเฟเดอรัลลิสต์อย่างล้นหลามในคืนสุดท้ายก่อนออกจากทำเนียบ รัฐบาลใหม่จึงเก็บเรื่องไว้เสียไม่เดินเรื่องแต่งตั้งให้เจ้าตัว เมื่อคำร้องมาถึงศาลสูง มาร์แชลซึ่งก็เป็นสมาชิกพรรคเฟเดอรัลลิสต์และได้รับแต่งตั้งโดยแอดัมส์ก่อนหน้านี้ ก็รู้ว่าคดีนี้เป็นการเผชิญหน้ากับฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล แต่ถ้าไม่รับดำเนินเรื่องหรือปล่อยให้แพ้ไป ก็จะถูกพรรคพวกเล่นงานเอาอีก เขาจะทำอย่างไร

มาร์แชลตัดสินใจสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่สถาบันตุลาการและระบบการเมืองประชาธิปไตยอเมริกา ด้วยการรับคดีนี้มาพิจารณาอย่างจริงจัง เขาเป็นผู้ริเริ่มการพิพากษาโดยให้ผู้พิพากษาแต่ละคนเขียนคำวินิจฉัยออกมาแสดงต่อสาธารณชน แทนที่จะเป็นการใช้นับคะแนนเสียงข้างมากดังที่กระทำกันมา วิธีการดังกล่าวต่อมากลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของศาลสูงสหรัฐฯไป ทำให้คำตัดสินกลายเป็นเอกสารการเมืองและภูมิปัญญาการเมืองอเมริกันไปด้วย สามารถนำมาศึกษาได้

มาร์แชลในนามของเสียงเอกฉันท์ของศาลสูงดำเนินการพิจารณาอย่างง่ายๆ ด้วยการตั้งคำถามหลักๆ ๓ ข้อคือ หนึ่งมาร์เบอรี่มีสิทธิในการได้รับตำแหน่งที่มีการตั้งขึ้นมาหรือไม่? สองถ้าหากได้ มีกฎหมายรับรองในการทำให้เขาได้รับตำแหน่งนี้หรือไม่? สามหากได้อีก การแก้ไขให้เขาได้รับตำแหน่งนั้น เป็นอำนาจบังคับที่ศาลออกได้หรือไม่ (a writ of mandamus) คำตอบรับสองข้อแรกนั้นแน่นอนทำให้ศาลสูงต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับรัฐบาลพรรครีพับลิกันไปทันที แต่ในคำถามข้อที่ ๓ อันเป็นข้อที่สำคัญที่สุด มาร์แชลตอบว่าไม่ได้ อันเป็นการช่วยให้ศาลพ้นจากสภาวะเขาควายและจากการเป็นผู้แพ้ พลิกกลับมาเป็นผู้ชนะไปในที่สุด

ประธานศาลสูงสุดมาร์แชลประกาศว่า ศาลสูงไม่สามารถออกคำสั่งในคดีดังกล่าวได้ แม้จะเห็นด้วยกับคำร้องของนายมาร์เบอรี่ แต่ที่ไม่อาจทำได้ เพราะอำนาจในการออกคำสั่งนี้ ได้มาจากมาตรา ๑๓ ของกฎหมายว่าด้วยระบบศาลยุติธรรมออกในปี ๑๗๘๙ แต่มาตราที่กล่าวนี้ ไม่ได้มีการรับรองไว้ในบทว่าด้วยอำนาจของศาลสูงในรัฐธรรมนูญเลย ดังนั้นมาตรา ๑๓ จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบของสภาคองเกรสด้วย เป็นอันว่าวิลเลียม มาร์เบอรี่ก็ต้องเสียตำแหน่งผู้พิพากษาดังกล่าวไป แต่ศาลสูงสุดประสบความสำเร็จในการสถาปนาอำนาจตุลาการในการวินิจฉัยกฎหมายที่ออกมาโดยสภาคองเกรสไปโดยปริยาย. (โปรดดูรายละเอียดใน R. Kent Newmyer, The Supreme Court under Marshall and Taney, Illinois: Harlan Davidson, Inc., 1968)

สรุปก็คือ อำนาจตุลาการในฐานะที่เป็นอธิปไตยหนึ่งในระบบประชาธิปไตยอเมริกานั้น ไม่ได้มาด้วยการมอบให้หรือขอร้องให้เป็น หากได้มาด้วยการตัดสินใจเด็ดเดี่ยวของศาลสูงสุด ในอันที่จะดำรงฐานะและบทบาทอิสระในทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์และความสุขสันติของมหาชนแห่งชาติของเขานั่นเอง


 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

 

ประวัติศาสตร์ของศาลสูงและศาลรัฐธรรมนูญดำเนินมาต่างกัน - คือหน้าที่และจุดหมายของศาลสูงสหรัฐฯ นั้น เขาค้นพบและสร้างมันขึ้นมาแต่ระยะแรกของการก่อตั้งประเทศเลย คือในปี 1803 หลังจากได้รัฐธรรมนูญมาในปี 1787 ในคดีประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า Marbury v. Madison (1803) ประธานศาลสูงตอนนั้นคือนายจอห์น มาร์แชล เป็นลูกชาวไร่จากเวอร์จิเนีย เคยเข้าร่วมสงครามปฏิวัติ ต่อมาในทางการเมืองเขาเอียงอยู่ข้างพรรคเฟเดอรัลลิสต์ ซึ่งตอนมีปัญหากับศาล เป็นพรรคฝ่ายค้าน(เหมือนประชาธิปัตย์ตอนนี้) ท่านประธานศาลสูงมาร์แชลนำศาลสูงในการตัดสินว่า คองเกรสและรัฐบาลพรรครีพับลิกันภายใต้การนำของเจฟเฟอร์สัน ซึ่งตรงข้ามกับพรรคเฟเดอรัลลิสต์ ไม่มีความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญในการยกเลิกกฎหมายว่าด้วยตุลาการ. การฮึดสู้ครั้งนั้นคือการสถาปนาบทบาทศาลสูงในการใช้อำนาจพิจารณาว่า กฎหมายที่ผ่านโดยคองเกรสนั้นสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากนั้นมาอำนาจตุลาการจึงเป็นอีกอำนาจที่คานและถ่วงดุลย์กับอำนาจบริหารและนิติบัญญัติได้จริงๆ
ในทางตรงกันข้าม ผลจากการพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ช่วยอุ้มนายกรัฐมนตรีให้พ้นความผิดตามคำฟ้อง และพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) ทำให้บทบาทและจุดหมายของศาลสูงไทย กลายเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ให้ความคุ้มครองและปกป้องฝ่ายบริหาร มากกว่าที่จะทำหน้าที่คานหรือถ่วงดุลย์ ตามทฤษฎีการเมืองประชาธิปไตยแบบอเมริกัน