Women's Literature
The Midnight University
บทบาทของผู้หญิงในงานวรรณกรรม
สำรวจวรรณกรรมสตรีนิยม:
ฉันไม่ยอม ฉันไม่ยอม
วิศัลย์ศยา กิติรัตน์ตระการ
นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้
กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสำรวจบทบาทของผู้หญิงในแวดวงวรรณกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง
การวิเคราะห์วรรณกรรม์เชิงเสียดสีผู้ชายของนักเขียนหญิงร่วมสมัย
ในบทความชิ้นนี้จะให้ภาพบางส่วนเกี่ยวกับอดีตของหญิงไทยที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อความเป็นธรรม
และบทบาทของผู้หญิงจากฐานะผู้หญิงในฐานะแม่ เมีย และโสเภณี ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป
จนกระทั่งเข้ามามีบทบาทในวงวรรณกรรม และพัฒนาการต่อมา
ในส่วนของภาคผนวกจะให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเกี่ยวกับแนวคิดสตรีนิยม
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1091
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๕ ธันวาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
12.5 หน้ากระดาษ A4)
สำรวจวรรณกรรมสตรีนิยม:
ฉันไม่ยอม ฉันไม่ยอม
วิศัลย์ศยา กิติรัตน์ตระการ : หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาพอดีตของหญิงไทยที่ลุกขึ้นมาต่อสู้
ในอดีตเท่าที่มีปรากฎหลักฐาน พบว่าได้มีความพยายามของผู้หญิงไทยบางคนที่ออกมาเรียกร้องเพื่อสิทธิของตนเอง
แม้จะเป็นการเรียกร้องในฐานะปัจเจกชน แต่การเรียกร้องในครั้งนั้นก็ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
กรณีแรกคือ กรณี"อำแดงเหมือน"ที่รักใคร่กับ"นายริด"และได้เสียกันแล้ว
แต่ถูกพ่อแม่ของอำแดงเหมือนบังคับให้แต่งงานกับนายภู
แต่อำแดงเหมือนไม่ยินยอม และต่อสู้โดยการทำเรื่องฎีการ้องต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงตัดสินให้อำแดงเหมือนเป็นภรรยาของนายริด เพราะทรงพิจารณาว่า การที่พ่อแม่บังคับบุตรให้แต่งงานครั้งนั้นมีลักษณะเป็นการขายบุตร อีกทั้งพระองค์ยังทรงประกาศพระราชบัญญัติลักภา จ.ศ. 1227 (พ.ศ. 2408) ซึ่งระบุว่า บิดามารดาจะขายบุตรได้ก็ต่อเมื่อบุตรยินยอมให้ขาย และชายที่ฉุดคร่าหญิงไป จะถือว่าหญิงนั้นเป็นภรรยาก็ต่อเมื่อหญิงนั้นยินยอมเท่านั้น
ข้อที่น่าสังเกตคือการให้สิทธิหรือไม่ให้สิทธิผู้หญิงในการเลือกคู่ในครั้งนั้น ตั้งอยู่บนคำอธิบายที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับเครือญาติคือให้สิทธิในการเลือกคู่แก่ผู้หญิงชั้นล่าง เพื่อปกป้องลูกจากพ่อแม่ชนชั้นล่างที่เห็นแก่เงินและไม่ให้สิทธิแก่ผู้หญิงชนชั้นสูง เพราะป้องกันการเสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูล มิให้ได้สิทธิดังกล่าวโดยคำนึงถึงผู้หญิงในฐานะปัจเจกที่มีสิทธิเลือกทางเดินชีวิตของตนเอง
การต่อสู้ของผู้หญิงอีกกรณีที่ได้มีการบันทึกไว้ คือ "อำแดงจั่น"ได้ทำฎีกาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวโทษ"นายเอี่ยม"ซึ่งเป็นผัวว่าลักเอาชื่อของตนไปขายไว้กับผู้อื่นโดยตนไม่รู้เห็นด้วย ซึ่งตามกฎหมายเดิมกำหนดให้ผัวขายเมียได้ เพราะเมีย "มิได้เปนอิศรแก่ผัว" รัชกาลที่ 4 จึงทรงมีพระราชดำริว่า "กฎหมายนี้ เมื่อพิเคราะห์ดูเหมือนผู้หญิงเปนควาย ผู้ชายเปนคนไป หาเป็นยุติธรรมไม่ ให้ยกเสีย" และให้ประกาศในพระราชบัญญัติผัวขายเมีย จ.ศ. 1229 (พ.ศ. 2410) ว่าผัวจะขายเมีย (ที่มิใช่เมียทาส) ได้ก็ต่อเมื่อ เมียยอมให้ขายโดยลงลายมือเมียไว้เป็นหลักฐานและให้มีพยานรู้เห็นด้วย การแก้ไขครั้งนั้นถือได้ว่าให้ผู้หญิงสามารถกำหนดชีวิตของตนได้ในระดับหนึ่ง (วารุณี, 2545 : 183-184)
ผู้หญิงในฐานะผู้รับสาร
อาจกล่าวได้ว่าในกระบวนการสื่อสารตั้งแต่อดีต ซึ่งฐานะของผู้หญิงเดิมทีจะถูกกำหนดให้มีสถานะเพียงอย่างเดียวคือ
การเป็นผู้รับสารที่ไม่มีอิสระในการเลือกรับสาร เพราะสารเหล่านั้นส่วนมากเป็นคำสั่งสอน
ข้อห้าม และข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงพร้อมซึ่งการเป็นกุลสตรี ผู้หญิงจะไม่มีสิทธิ์โต้แย้งหรือขัดขืนมีหน้าที่เพียงทำตามเท่านั้น
หลังจากเหตุการณ์การต่อสู้ของผู้หญิงทั้งสองครั้งนั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอื่นๆ
ที่มีความสำคัญและได้ก่อให้เกิดการเรียกร้องสิทธิต่างๆ ของผู้หญิงเป็นที่รับรู้มากขึ้น
และได้กลายเป็นขบวนการทางสังคมในเวลาต่อมา
นอกจากนี้จากพัฒนาการทางสังคม การได้รับการศึกษาจากระบบโรงเรียนซึ่งหลักสูตรอิงอยู่กับการศึกษาแบบตะวันตก ทำให้ผู้หญิงชนชั้นกลางในยุคสมัยต่อมามีข้อเรียกร้องที่คล้ายคลึงกับการเรียกร้องของนักสตรีนิยมชาวตะวันตกในยุคแรกเริ่ม โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการศึกษารวมทั้งเหตุผลที่นำมากล่าวอ้างเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ และการประกอบอาชีพนอกบ้าน
อาจกล่าวได้ว่าผู้หญิงเหล่านั้นได้รับอิทธิพลทางความคิดสตรีนิยมตะวันตก แต่ในขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่า การที่ผู้หญิงสามารถอ่านออกเขียนได้ทำให้ผู้หญิงเปลี่ยนบทบาทกลายมาเป็นผู้ส่งสาร มีโอกาสรับรู้ถึงความเป็นไปต่างๆ นอกบ้านมากขึ้น มีประสบการณ์และมุมมองที่กว้างขึ้น และมีโอกาสได้คิดเรื่องที่นอกเหนือจากเรื่องครอบครัว อีกทั้งยังมีโอกาสเลือกสิ่งที่ตนเองต้องการรวมทั้งสามารถเขียนเพื่อแสดงถึงความต้องการของตนต่อสาธารณชนมากขึ้น ซึ่งเป็นการถ่ายทอดและเผยแพร่ความคิดทัศนคติของผู้หญิง เพื่อทำให้เกิดการยอมรับผู้หญิงในฐานะอื่นที่ไม่ใช่เฉพาะฐานะภรรยาเพียงอย่างเดียว
ผู้หญิงในฐานะแม่ เมีย
และโสเภณี
จิตราภรณ์ วนัสพงศ์ ซึ่งมองประเด็นผู้หญิงกับครอบครัวนั้น ได้ชี้ให้เห็นว่าสถานภาพของผู้หญิงที่ดูจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
แท้จริงแล้วยังมีเงาแห่งความเหลื่อมล้ำในครอบครัวอยู่ พร้อมทั้งยกตัวอย่างผู้หญิงที่เป็นเหยื่อแห่งความรุนแรงจากผู้ชายในครอบครัว
ทั้งทางกายและจิตใจให้เห็นเป็นหลักฐานประกอบ นอกจากนั้นยังสรุปมุมมองของเธอว่า
แม้สภาพเศรษฐกิจสังคมจะรุดหน้าแต่สถานภาพของผู้หญิงกลับถดถอย และความก้าวหน้าของเศรษฐกิจและสังคมกลับกลายเป็นพันธนาการร้อยรัดผู้หญิงหนาแน่นยิ่งขึ้น
เนื่องจากสังคมยังคงดำรงวัฒนธรรมความคิดแบบเก่าๆ ในเรื่องอำนาจเหนือกว่าของผู้ชายไว้อย่างครบถ้วนทำให้สถานภาพ
"แม่และเมีย" ยังก้าวหน้าไม่ถึงไหน
นอกจากนี้ สุกัญญา หาญตระกูล ยังได้ชี้ให้เห็นบทความว่าด้วยการกระจายอำนาจทางเพศของเธอว่า สตรีเพศในสังคมไทยระบอบศักดินาถูกกำหนดให้อยู่ในรูปแบบการประเวณี ที่ชายกำหนดไว้เป็นทางเลือกสองแพร่งเท่านั้นคือ "สถาบันเมีย"และ"สถาบันโสเภณี" ซึ่งในสังคมปัจจุบันก็ได้พัฒนารูปแบบ อย่างไม่หยุดยั้ง เช่น จากเมียสามประเภทที่ถูกต้องตามกฏหมายมาเป็นเมียหลวง เมียน้อย เมียเก็บ เมียเช่า และจากโสเภณีก็มาเป็นหญิงโรงนวด อะโกโก้ นางโทรศัพท์ ฯลฯ
สุกัญญา จึงเสนอแนะว่า การที่ผู้หญิงจะมีบทบาทเป็นผู้กระทำร่วมกำหนดเงื่อนไข ในแต่ละสถานการณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างเพศเท่านั้น จึงจะสามารถเพิ่มทางเลือกให้แก่ตนเองนอกเหนือไปจากทางสองแพร่งแบบเดิม และเป็นหน้าที่ของผู้หญิงโดยตรงที่จะต้องเป็นผู้เรียกร้องและกระทำให้เกิดทางเลือกใหม่ด้วยตัวเอง โดยต้องทำตนให้เป็นอิสระ และกระจายอำนาจทางเพศออกจากผู้ชายที่เป็น "ศูนย์กลาง" ให้กลายเป็น "ศูนย์" โดยแท้จริง. เหมือนกับที่ มิเชล ฟูโกต์ กล่าวไว้ให้เรามองการต่อต้านอำนาจเสียใหม่ว่า ที่แท้แล้วมันเป็นส่วนหนึ่งของตรรกะของอำนาจ, ที่ใดมีอำนาจที่นั่นก็ย่อมมีการต่อต้าน. สุกัญญา ยังได้ย้ำถึงการกระจายอำนาจทางเพศโดยถือว่าเพศเป็นปัจจัยตัวแปรที่สำคัญปัจจัยหนึ่งในสิทธิเสมอภาค ระหว่างบุคคลกับบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาบันครอบครัวอันเป็นหน่วยหนึ่งในสังคม
บทบาทของผู้หญิง ยังเป็นฝ่ายถูกกระทำ
เท่าที่ผ่านมา สังคมไทยได้ให้ความสนใจต่อบทบาทของผู้หญิงมากขึ้น ดังเห็นได้จากสังคมไทยก็มีประวัติการต่อสู้เพื่อสถานะที่ดีขึ้นของผู้หญิงอยู่ไม่ใช่น้อย
กระแสการเคลื่อนไหวของผู้ หญิงที่เน้นความต้องการมีสิทธิเท่าเทียมกันระหว่างเพศในทางกฎหมาย
มีโอกาสที่เท่าเทียมในการได้รับการศึกษา ในแง่สิทธิทางการเมือง และในส่วนของหน้าที่การงาน
อีกทั้งมีความพยายามที่จะหาองค์ความรู้เกี่ยวกับผู้หญิงที่เป็นของตนเองอยู่
มีกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสตรีจำนวนไม่น้อยหรือเกิดขบวนการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของผู้หญิงไทย โดยมีออกมาให้เห็นในรูปแบบต่างๆ อย่างในงานวรรณกรรมที่ผลิตขึ้นให้เห็นมากมายโดยผู้หญิง ซึ่งภายใต้กระบวนการเหล่านี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของผู้หญิงไทยที่ออกมาเรียกร้องเพื่อสิทธิของตนเอง แม้จะเป็นการเรียกร้องในฐานะปัจเจกบุคคล ซึ่งถือว่าเป็นการต่อสู้ที่มีฐานความคิดแนวเสรีนิยม (ชลิดาภรณ์, 2539) คือต่อสู้ในระดับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
กริมชอว์ (Grimshaw) (1986) มองว่า เป็นความเชื่อที่ว่าผู้หญิงถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายและพวกเธอได้รับความทุกข์ทรมานจากระบบสังคมที่ไม่เป็นธรรมจากการเป็นเพศหญิง และจำเป็น ต้องมีการทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ไขสิ่งที่เป็นอยู่ แม้ในปัจจุบันได้มีการแก้ไขกฏหมายครอบครัวและกฎหมายอื่นๆ ให้เป็นธรรมแก่ผู้หญิงขึ้นบ้างแล้ว แต่การควบคุมผู้หญิงด้วยจารีตและกฏหมายที่ไม่เป็นธรรม ต่าง ๆ ซึ่งส่งผ่านจากคนชั้นสูงสู่ส่วนล่างก็ยังคงดำรงอยู่
ที่สำคัญที่สุดก็คือทัศนคติที่เห็นผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ ซึ่งได้แพร่กระจายและครอบงำสังคมฝังรากลึกจนยากจะแก้ไข โดยที่ผู้หญิงมีศักยภาพพิเศษคือสามารถอุ้มท้อง และให้กำเนิดทารกได้ แต่ความสามารถนี้กลายเป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงตกเป็นฝ่าย "ถูกกระทำ" ในสังคมชายเป็นใหญ่ ที่สืบเนื่องมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
ความเป็นจริงที่ว่า การกระทำรุนแรงต่อผู้หญิงโดยผู้ชายมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นตลอดเวลา เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดกรอบและจัดวางให้ผู้หญิงมีสถานภาพทางสังคมในระดับหนึ่ง การนิยามว่าผู้หญิงเป็นเหยื่อตลอดกาล เป็นการจัดให้ผู้หญิงอยู่ในสถานะของ "ผู้ถูกกระทำ - ผู้ต้องปกป้องตัวเอง" และกำหนดให้ผู้ชายเป็น "ผู้กระทำ - ผู้ซึ่งสืบสานความรุนแรง" และกำหนดให้สังคมประกอบด้วยกลุ่มไร้อำนาจ (หมายถึงผู้หญิง) และกลุ่มมีอำนาจ (หมายถึงผู้ชาย)
ดังที่จูเลียต มิตเชล (Juliet Mitchell) เสนอว่า ในประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของมนุษยชาติผู้หญิงถูกเปรียบเสมือนวัตถุทางเพศ วัฒนธรรมที่ผูกติดอยู่กับกามารมณ์ที่ผ่านมา ได้สร้างความเลวร้ายต่อความเป็นตัวของตัวเองของผู้หญิง และก่อให้เกิดรูปแบบการกดขี่ผู้หญิงอย่างที่สุด นอกจากนั้นความเป็นมาในเรื่องเพศสภาวะในสังคมจนถึงปัจจุบัน เมื่อผนวกรวมกับความเสื่อมโทรมทางสังคมวัฒนธรรม และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ ทำให้สังคมไทยกำลังเปลี่ยนมุมมองเรื่องเพศสภาวะตามการเปลี่ยนแปลงในสังคมอีกครั้ง
บทบาทของผู้หญิงมาจากวัฒนธรรมมากกว่าชีวภาพ
กล่าวโดยรวมคือความแตกต่างระหว่างเพศที่เข้าใจกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบทบาทที่สำคัญหรือบุคลิกลักษณะมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมมากกว่าชีวภาพ
วัฒนธรรมดังกล่าวคือวัฒนธรรมระบบชายเป็นใหญ่ และถ้าเมื่อใดที่ผู้หญิงไม่ปฏิบัติตามลักษณะ
"ความเป็นหญิง" เธอจะถูกทำร้ายในลักษณะต่างๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ เคท
มิลเลท เสนอคือต้นเหตุของการกดขี่อยู่ที่ระบบชายเป็นใหญ่
ลูซ อีริกาเรย์ (Luce Irigarey)เชื่อว่า ภายในโครงสร้างอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่นี้ มีพื้นที่ชายขอบที่เหลืออยู่พอที่ผู้หญิงสามารถทำให้ตัวเองมีความหมายขึ้นมาได้บ้าง โดยที่ผู้หญิงต้องให้ความสนใจต่อธรรมชาติของภาษา. ผู้หญิงต้องกล้าพูดในฐานะเป็นผู้กระทำ กล้าพูดในสิ่งที่ตัวเองคิด และต้องไม่หลบเลี่ยงที่จะพูดและรับผิดชอบกับคำพูดของตน
ผู้หญิงกับบทบาททางวรรณกรรม
มีนักเขียนหญิงกลุ่มหนึ่งที่เขียนถึงเรื่องราวทางเพศ สุกัญญา หาญตระกูล (อ้างอิงใน
ปถรส บุญศรีโรจน์, 2539) ได้แปลและอธิบายในเอกสาร "สู่ศาสตร์แห่งวิธีการศึกษาเกี่ยวกับผู้หญิง"
ว่า การเขียนหนังสือคือการทำงานไม่ใช่การอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่เป็นการปลดปล่อยตัวเองประกาศให้ผู้อื่นรับรู้
และเป็นการจุดไฟแห่งการรวมตัวของสตรีที่ทุกข์ทรมานเช่นเดียวกับเธอ ให้เข้าใจเห็นใจ
และรวมตัวกันเพื่อต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบในสังคม อันเกิดจากการเลือกปฏิบัติทางเพศและทัศนคติเก่าๆ
ที่มีต่อเพศ
อย่างไรก็ดี "เรื่องเพศ" ได้ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมผู้หญิงเป็นบรรทัดฐานในการจัดระเบียบให้สังคม ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าทุกๆ ครั้งที่เรื่องเพศถูกกล่าวถึง หรือถูกเปิดเผยขึ้น นั่นหมายถึงความกล้าที่จะปฏิวัติในเรื่องเพศ กล้าที่จะออกนอกกรอบของสังคม เป็นการขบถอย่างหนึ่งที่ตัดโซ่ตรวนชีวิตเราให้สะบั้นลงอย่างกล้าหาญ ซึ่งอันเป็นก้าวแรกอันนำไปสู่การปฏิวัติอื่นๆ ทั้งมวล ดังนั้นเมื่อมิติทางสังคมของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปทั้งเพศหญิงและเพศชาย พฤติกรรมในการรับรู้และยอมรับเรื่องราวต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสของโลก
เมื่อผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง ลุกขึ้นมาเขียนงานที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ในเรื่องทางเพศ ต้องถือว่าเป็นความกล้าหาญเป็นอย่างยิ่ง ที่พวกเธอเหล่านั้นกล้าออกมาเปิดเผยรูปแบบความสัมพันธ์ในเรื่องทางเพศซึ่งถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว (เนื่องจากค่านิยมที่ถูกปลูกฝังกันมาหลายชั่วอายุคน กล่าวคือ เพศหญิงไม่ควรแม้แต่จะคิดถึงเรื่องเพศ หรือการมีสัมพันธ์ทางเพศ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกปิดเป็นเรื่องไม่งามหรือแม้แต่จะแสดงความรู้สึกได้อย่างโจ่งแจ้ง - ความคิดแบบวิกตอเรียน) และกล้าที่จะโต้แย้งหรือออกมายอมรับว่าตนเองนั้นโง่ ถูกหลอก เหมือนเขียนออกมาเพื่อประจานตนเอง อีกทั้งใช้ชื่อจริงๆ เป็นนามปากกาพร้อมกับมีภาพของผู้เขียนขึ้นปกหนังสือในการแสดงตัวอีกด้วย
นักเขียนสตรีเหล่านี้เป็นเสมือนกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง ที่พยายามทำให้ความเท่าเทียมกันของเพศหญิงและเพศชายเกิดขึ้น และเป็นที่ยอมรับในสังคมการแสดงออกทางเอกสารหรืองานเขียนต่างๆ สะท้อนถึงความต้องการรวมตัวกันของผู้หญิง บนพื้นฐานของความเป็นเพศเดียวกันที่มีความทุกข์ยากและถูกกดขี่ข่มเหงโดยผู้ชาย
ความรู้สึกเช่นว่านี้คงไม่สามารถเกิดขึ้นเพียงเพราะทำตามอย่างสตรีตะวันตก แต่คงมีประสบการณ์บางอย่างในกลุ่มผู้หญิง ที่สามารถทำให้พวกเธอมารวมตัวกันเพื่อแก้ไขสิ่งที่พวกเธอเห็นว่าไม่เป็นธรรมทางเพศ แม้จะไม่สามารถพูดได้ว่าพวกเธอเหล่านั้นเป็นผู้หญิงส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ข้ออ้างนี้คงไม่สามารถนำมากล่าวเช่นกันว่า ประสบการณ์ร่วมที่ไม่น่าพอใจเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องจริงที่เกิดขึ้น อย่างน้อยกับผู้หญิงไทยกลุ่มหนึ่ง (วารุณี, 2545 : 189-190)
"..ถ้ามีผู้ชายเลว ๆ (ไม่ว่าจะเลวแบบไหน) ผู้หญิงเราก็ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะทำร้ายตัวเองด้วยการยอมรับความระยำของเขา ขอบอกเลยว่า อยู่คนเดียวยังดีกว่าอยู่กับผู้ชายเห็นแก่ตัว และไม่รับผิดชอบ.."(1)
"..เห็นแล้วก็ปลงว่า ทำไมสังคมเดี๋ยวนี้ ผู้ชายเลวๆ จึงเยอะ หรือว่าผู้หญิงมีเยอะกว่าผู้ชาย พวกผู้ชายเลยคิดว่าเพศตัวเองวิเศษ ทำตัวเป็นสัตว์สังคม ที่คอยตอดต้อนผู้หญิงให้เป็นเหยื่ออย่างสบายใจเฉิบ สังเกตไหม หน้าตาเห่ย ๆ อุบาทว์ นิสัยเลวๆ แต่ถ้าคารมดี มาเอาอกเอาใจ ตื้อๆ หน่อย ก็จีบหญิงติดเกือบทุกราย.."(2)
ดังนั้นการทำความเข้าใจสังคมโดยพิจารณาถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม จะมีส่วนช่วยในการอธิบายปรากฏการณ์สังคมในด้านต่างๆ ได้สมบูรณ์ขึ้น จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่สังคมควรทำความเข้าใจต่อบทบาทในเรื่องเพศสภาวะในสังคมไทยร่วมสมัย ว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างจากอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากในปัจจุบันนี้ได้มีผลงานเขียนของสตรีที่เรียกได้ว่าเป็นนักเขียนอิสระ ทำการเขียนหนังสือที่เป็นพ็อกเก็ตบุคส์ออกมามากมาย โดยส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการแสดงออกในเรื่องรูปแบบความรักความสัมพันธ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของเพศหญิงที่มีต่อเพศชาย ซึ่งถ่ายทอดออกมาจากประสบการณ์จริงและจากบุคคลใกล้ตัว และมักเป็นเรื่องที่ออกมา "แฉ" ถึงการแสดงออกทางด้านรูปแบบพฤติกรรมทางเพศของผู้ชาย ที่นักเขียนสตรีเหล่านี้เขียนออกมาได้สะใจ มีทั้งแนะนำกลเม็ดการรู้เท่าทันผู้ชาย แก้เผ็ดผู้ชายหรือไม่ก็เป็นเรื่องก่นด่าเพศชายว่ามักง่าย เอาแต่ได้ โหดร้าย เห็นแก่ตัว แล้วสรุปว่าผู้ชายเลวหมด
ปรากฏการณ์ทางด้านเพศสภาวะและเพศวิถีทั้งหลายในสังคมไทยทุกวันนี้เกิดอะไรขึ้น
สถานภาพและบทบาทของสตรีไทยต่างไปจากสมัยก่อนเพียงใดจึงเป็นเรื่องที่ควรศึกษา
ทั้งนี้เนื่องจากวรรณกรรมร่วมสมัย เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของมนุษย์ วรรณกรรมและมนุษย์ต่างเป็นผลผลิตของสังคม
เราจึงสามารถศึกษาสังคมได้จากวรรณกรรม เพราะงานวรรณกรรมเป็นสื่ออีกชนิดหนึ่งที่เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้,
ความเข้าใจ, ทัศนคติ, ความเชื่อ, ค่านิยม, วัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นการสะท้อนความคิดผ่านตัวอักษร
ดังนั้นงานวรรณกรรมจึงมีหน้าที่สะท้อนสิ่งที่มีอยู่ในสังคมให้คนในสังคมได้รับรู้ว่า
สังคมเป็นอย่างไร อันจะสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าหรือค่านิยมในเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศที่กำลังเกิดเป็นกระแสขึ้นมาในสังคมไทยขณะนี้
งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมผู้หญิง
งานศึกษาประเด็น 'ผู้หญิง' ในสังคมไทยและในวรรณกรรมไทยได้มีการศึกษากันมาแล้วมากพอสมควร
ซึ่งสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้
วีรวรรณ ศรีสำราญ, ทำการศึกษาเรื่องสถานภาพสตรีไทยในนวนิยายของ กฤษณา อโศกสิน (2497-2530) ปี 2533 เป็นการวิเคราะห์สถานภาพสตรีในสังคมไทยที่ปรากฎในนวนิยาย ของกฤษณา อโศกสิน, ในช่วงระยะเวลา 2497-2530 โดยศึกษาจากงานทั้งสิ้น 70 เรื่อง โดยงานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาถึงสถานภาพและบทบาทของสตรีทั้งในสังคมและในนวนิยาย เพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของนวนิยายกับสังคม
ซึ่งจากการศึกษานวนิยายของกฤษณา อโศกสิน ในช่วงเวลาดังกล่าวพบว่า สถานภาพของสตรีเริ่มเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ จากที่เคยมีหน้าที่สำคัญคือการเป็นแม่บ้านแม่เรือน ก็เริ่มมีการศึกษาสูงขึ้นและมีบทบาททางเศรษฐกิจ. และช่วงปี 2522-2530 บทบาทสตรีก็หลากหลายขึ้นทั้งอาชีพ บทบาททางสังคมและด้านอื่นๆ ภาพสะท้อนสตรีในยุคนี้แสดงถึงสถานภาพที่ใกล้เคียงกับบุรุษทั้งในด้านการศึกษาอาชีพและสังคม
นอกจากนี้ ปถรส บุญศรีโรจน์, ก็ได้ทำการวิเคราะห์นักเขียนสตรีกับงานเขียนเรื่องทางเพศ (2539) เพื่อวิเคราะห์ทัศนคติของนักเขียนที่ปรากฎในงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องเพศ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผลงานของนักเขียนสตรีที่เขียนเรื่องเพศ และวิเคราะห์ปฏิกิริยาของผู้อ่านที่มีต่อผลงานและนักเขียนสตรีที่นำเสนอเรื่องดังกล่าว โดยการสัมภาษณ์และศึกษาผลงานของนักเขียนสตรี 3 คนที่เขียนเรื่องเพศ คือ ม.ล. เบญจมาศ ชุมสาย, กิ่งฟ้า เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา, และ สุจินดา ขันตยาลงกต
ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยส่วนตัวมีอิทธิพลต่อทัศนตคิทางเพศของนักเขียนทั้ง 3 คน โดยที่ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ทัศนคติของนักเขียนแต่ละคนแตกต่างกัน ดังนี้ ม.ล.เบญจมาศ ชุมสาย, ต้องการขยายสิทธิ์ในการรับรู้เรื่องเพศแก่ผู้อ่านและให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา แต่ยังยึดถือค่านิยมและความเชื่อดั้งเดิมของสตรีไทยเกี่ยวกับสิทธิสตรี. กิ่งฟ้า เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา, ต้องการขยายสิทธ์ในการแสวงหาประสบการณ์เรื่องเพศ. สุจินดา ขันตยาลงกต ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เพศชายมีความสำคัญเหนือเพศหญิง. ผู้อ่านที่สำรวจมีปฏิกริยาต่องานเขียนของนักเขียนแต่ละคนแตกต่างกัน ตามความเข้มข้นของการแสดงทัศนคติด้านเพศในงานเขียน
สายสมร เฉยตรองการ, ได้ทำการศึกษาสถานภาพทางสังคมของผู้หญิงไทย (ในช่วงปี พ.ศ. 2475-2493) ในนวนิยายของดอกไม้สด และ ก.สุรางคนางค์ ปี 2528, เป็นการวิจัยเชิงพรรณาวิเคราะห์ ที่ศึกษาสถานภาพทางสังคมของสตรีในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา โดยแยกให้เป็นสถานภาพทางครอบครัวของผู้หญิง สถานภาพทางการศึกษา ซึ่งมีผลทำให้ผู้หญิงมีสถานะที่แตกต่างกับผู้ชายอย่างมาก รวมทั้งสถานภาพทางสังคมของผู้หญิงในชนชั้นสูง และชนชั้นกลาง
อรอนงค์ สวัสดิ์บุรี (2533), ได้ศึกษาคอลัมภ์ตอบปัญหาชีวิตในการสะท้อนบทบาทและสถานภาพของสตรีไทย ผลการศึกษาพบว่า สำหรับในด้านความรัก สตรีมีอิสระในการแสดงความพอใจต่อเพศตรงข้ามมากขึ้น แต่ก็ยังมีสตรีบางกลุ่มที่ยังยึดติดกับค่านิยมเรื่อง "กุลสตรี" และ "พรหมจารี" ทำให้สตรีต้องสับสนในพฤติกรรมของตนกับค่านิยมที่ได้รับการสั่งสอนมาตั้งแต่เด็ก
ภัทรพร หงษ์ทอง (2538) ทำการศึกษาแนวคิดสตรีนิยม ในนวนิยายของทมยันตีระหว่าง พ.ศ. 2506-2534 เพื่อวิเคราะห์นวนิยายของทมยันตี โดยยึดกรอบแนวคิดสตรีนิยมเป็นทฤษฎีวิเคราะห์ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าวรรณกรรมหรือนวนิยายของทมยันตี มีลักษณะเป็นวรรณกรรมสตรี และทมยันตีเป็นนักเขียนสตรีไทยที่มีพัฒนาการทางความคิดเพื่อสิทธิสตรีอย่างชัดเจน
ผลการวิเคราะห์พบว่า นวนิยายของทมยันตีในช่วง พ.ศ. 2506-2534 มีลักษณะเป็นงานเขียนเกี่ยวกับสตรีที่เขียนขึ้นโดยนักเขียนสตรีมืออาชีพ มีวัตถุประสงค์เพื่อสตรีอย่างเด่นชัด โดยการนำเสนอแก่นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาสตรีมีแนวเรื่องหลักเกี่ยวกับ ปัญหาของสตรีในเรื่องชีวิตส่วนตัว, ครอบครัว, และการเมือง. ความคิดเพื่อสิทธิสตรีของทมยันตีเป็นอิทธิพลที่ทมยันตีได้รับจากประสบการณ์การรับรู้สภาพความเป็นจริงของสังคมไทย และประสบการณ์จริงในชีวิตของทมยันตีด้านครอบครัว และการมีบทบาททางการเมือง
นวนิยายของทมยันตี ยังสะท้อนให้เห็นพัฒนาการทางความคิดของทมยันตี ในการเรียกร้องต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีหรือสิทธิมนุษยชน เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ โดยให้เหตุผลชัดเจนว่าสตรีถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกดขี่จากบุรุษเพศ เพราะสภาพสังคมไทยเป็นสังคมที่ยอมรับอำนาจความเป็นใหญ่ของเพศชาย
นอกจากนี้ยังมีการวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทยและวรรณกรรมไทยของ เสนาะ เจริญพร (2546) โดยทำการศึกษาเรื่องภาพเสนอผู้หญิงในวรรณกรรมไทยช่วงทศวรรษ 2530 : วิเคราะห์ความโยงใยกับประเด็นทางสังคม ผลการศึกษาพบว่า มีทั้งด้านที่ประกอบสร้างให้ผู้หญิง "ก้าวหน้า" ทัดเทียมกับผู้ชายในพื้นที่ต่างๆ แต่ขณะเดียวกันก็ถูกคาดหวังให้เป็นเมีย แม่และลูกสาวที่ดีตามความเชื่อแบบปิตาธิปไตย
และเมื่อพิจารณาต่อไปในกรอบของวาทกรรมก็พบว่า แรงฉุดดึงหลักนั้นมาจากฟากของ ปิตาธิปไตย ความย้อนแย้งในตัวเองเช่นนี้จึงเป็นสภาวะเดียวกันกับสังคมไทยโดยรวมในช่วงทศวรรษ 2530 ในแง่ที่พยายามแสดงออกถึงความมีโลกทัศน์อันก้าวหน้าตามโลกสมัยใหม่ แต่พร้อมกันนั้น สังคมไทยก็ยังเต็มไปด้วยคติความเชื่อที่หล่อเลี้ยงด้วยอุดมการณ์อำนาจที่ฝังรากลึกมายาวนาน
+++++++++++++++++++++++++++++++++
ภาคผนวก
ความรู้เกี่ยวกับแนวคิดสตรีนิยม (Feminist)
ทฤษฎีด้านสตรีศึกษา ซึ่งโดยความหมายแล้วหมายถึง การศึกษาว่าด้วยเรื่องราวของสตรีเป็นการเฉพาะ
แต่เนื่องจาก"สตรี"ไม่เคยมีฐานะที่แยกอยู่อย่างเดี่ยวๆ ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใดหรือในสังคมแบบไหน
ดังนั้น การศึกษาเรื่องสตรีนั้นจึงครอบคลุมตั้งแต่การศึกษาเรื่องของตัวสตรีเอง
เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพศชายกับหญิง และการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสตรีกับสังคมในหลายมิติ
ในขณะเดียวกัน นักวิชาการด้านสตรีศึกษาของไทยก็อธิบายคำว่า "สตรีศึกษา" ของ ฟลอเรนซ์ เฮาว์ (Florence Howe) ว่า สามารถนำไปใช้วิเคราะห์งานวรรณกรรมได้ โดยมุ่งเน้นประเด็น"สตรี" ในวรรณกรรมเฉพาะประเภทหนึ่งที่เรียกว่า"วรรณกรรมสตรี"
ทั้ง"สตรีนิยม"และ"สตรีศึกษา"ต่างก็มีลักษณะร่วมกันคือ การศึกษาประเด็นเรื่อง"สตรี"เป็นหลัก ซึ่งนักวิชาการด้านสตรีศึกษาสรุปคำว่า "สตรีศึกษา" คือการศึกษาเรื่องสตรีที่สตรีมีปฏิสัมพันธ์ด้วย เพื่อเสนอความเป็นจริงของชีวิตสตรี ตลอดจนสามารถอธิบายและเข้าใจปัญหาความไม่เสมอภาคระหว่างบุรุษและสตรี เพื่อบรรลุเป้าหมายคือเปลี่ยนแปลงสถานภาพที่เสียเปรียบของสตรี สตรีศึกษาย่อมเป็นทั้งการศึกษา "เพื่อ" และ "เกี่ยวกับ" สตรี หรือเป็นการศึกษาเรื่องสตรีในแนวคิดสตรีนิยมนั่นเอง
เนื่องจากประเด็น 'ผู้หญิง' ถือเป็นประเด็นหลักที่ควรจะศึกษาในที่นี้ โดยมุ่งประเด็นไปที่ 'การเขียนโดยนักเขียนหญิง' ด้วยเหตุนี้ผู้ศึกษาจึงไม่อาจละเลยลักษณะของงานวรรณกรรมในแนวสตรีนิยมไปได้ เพราะเป็นกิจกรรมแขนงหนึ่งของความเคลื่อนไหวทางความคิด ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในโลกตะวันตกช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 อันได้แก่ ทฤษฎีสตรีนิยม (Feminism) อันเป็นที่ยอมรับในวาทกรรมทางสังคมและการเมืองทั่วๆ ไป และเป็นที่กล่าวถึงในวาระต่างๆ และในพื้นที่ต่างๆ ที่มีการพูดถึงความไม่เท่าเทียมกัน
ประเด็นคือเรื่องทางเพศซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากที่สุด สงครามทางเพศซึ่งอาจไม่รุนแรงเท่าสงครามทางชั้น หรือสงครามระหว่างประเทศ แต่ก็เป็นรูปแบบการต่อสู้ที่มีอยู่ในทุกระดับ ทุกปริมณฑลของสังคม การต่อสู้กับระบบสังคมวัฒนธรรมแบบปิตาธิปไตยที่ไม่เป็นธรรม และการปิดกั้นศักยภาพของผู้หญิงหรือการเรียกร้องสิทธิต่างๆ ดังนั้นผู้หญิงพึงมีจุดยืนดังกล่าวในการมีบทบาทกำหนดมุมมองทางวิชาการในแนวสตรีนิยม ดังเห็นได้จากคำกล่าวที่ว่า
"ทฤษฎีสตรีนิยม มุ่งหมายที่จะวิเคราะห์เงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดรูปวิถีชีวิตของผู้หญิงและมุ่งสำรวจดูว่า ความเป็นผู้หญิงนั้นสื่อความหมายทางวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง [ ] สำหรับพวกเรา (นักสตรีนิยม) ทฤษฎีมิใช่กิจกรรมทางปัญญาที่เป็นนามธรรมและตัดขาดจากชีวิตของผู้หญิง แต่มีเป้าหมายที่จะอธิบายว่าผู้หญิงใช้ชีวิตอยู่ในสภาวะเช่นไร การที่จะสร้างความเข้าใจดังกล่าวได้ ย่อมต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงทางเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของผู้หญิงในชีวิตประจำวัน และต้องตรวจสอบดูว่า ผู้หญิงเราถูกสร้างภาพเสนอ และสร้างภาพเสนอตนเองในบรรดาปฏิบัติการทางวัฒนธรรมต่างๆ เช่น ในศิลปะและสื่อสารมวลชนอย่างไร" ( Jackson and Jones,1998 : 1 อ้างใน เสนาะ เจริญพร, 2548 : 35)
แนวคิดสตรีนิยมจึงหมายถึง การเรียกร้องต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงกับเพศชาย ซึ่งมีรากฐานหลักๆ อยู่สองราก (ชลิดาภรณ์ , 2547: 12) โดยจะถูกพูดอยู่ในสองภาษาหลัก
ภาษาแรก คือภาษาของความเสมอภาคเท่าเทียม มองว่าสภาพที่เป็นอยู่และกฎกติกาของการดำเนินชีวิตทางสังคมในแนวของเสรีนิยมดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่การกีดกันผู้หญิง เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาก็คือ การพยายามที่จะกำจัดการกีดกันผู้หญิงและทำให้ผู้หญิงถูกรวมเข้าไปสู่พื้นที่ต่างๆ และกฎกติกาแบบเสรีนิยม
ภาษาที่สอง คือภาษาของการปลดปล่อย liberation การปลดปล่อยผู้หญิงจากโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ จากชุดของค่านิยมและวิถีปฏิบัติจารีตที่เป็นอยู่ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิง. สตรีนิยมที่พูดในภาษาของ liberation มองว่า โครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ วิถีปฏิบัติ รวมทั้งระบบค่านิยมความเชื่อที่เป็นอยู่นี้ ทั้งสะท้อนและผลิตซ้ำปิตาธิปไตย และการกดขี่เอารัดเอาเปรียบผู้หญิงหรือผู้ที่มีเพศหญิง เพราะฉะนั้นในตระกูลนี้จะพูดถึงผู้หญิงหรือความเป็นหญิงในฐานะที่เป็นสิ่งสร้างทางสังคม แล้วก็ถูกนิยามโดยโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันอย่างไร
คล้ายกับที่สตรีนิยมแนวสุดขั้ว (radical feminism) มองว่าการกดขี่เอารัดเอาเปรียบผู้หญิง มันไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ แต่ผู้หญิงประสบกับการเอาเปรียบเพราะเพศสภาพของตัวเองในพื้นที่ส่วนตัว ดังคำกล่าวว่า "The personal is political" ที่เป็นการบอกว่าเรื่องที่ถูกจัดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรักความสัมพันธ์ ครอบครัว การเจริญพันธุ์ และอะไรอีกหลายเรื่องนั้นมีความเป็นการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง. การเมืองในความหมายของการใช้อำนาจควบคุมกำกับ สตรีนิยมกระแสนี้ มองว่า โครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันมีระบอบปิตาธิปไตย(patriarchy) เกี่ยวข้องกับการควบคุมเนื้อตัวร่างกายผู้หญิงคือ การควบคุมการสืบพันธุ์ การเจริญพันธุ์ของผู้หญิง เพราะฉะนั้นผู้หญิงจึงถูกนิยามใน 2 ความหมายหลัก
- ความหมายแรกคือความเป็นหญิงถูกนิยามว่าคือ "การเป็นแม่"
เป็นอุดมการณ์ที่ควบคุมกำกับให้ผู้หญิงต้องท้อง คลอดลูก และเลี้ยงดูลูก และ
- ความหมายที่สอง ผู้หญิงถูกนิยามว่าเป็น "วัตถุทางเพศ" เพื่อที่จะสนองความต้องการของผู้ชาย
ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) ได้เขียนหนังสือชื่อ The Second Sex (1949) ที่อธิบายถึงสภาพความเป็นเพศหญิง มีสาระสำคัญคือ อธิบายความแตกต่างระหว่างเพศหญิงกับเพศชาย เช่น ความแตกต่างทางจิตใจและร่างกายรวมทั้งด้านเศรษฐกิจ โจมตีการกระทำรุนแรงที่เพศชายกระทำต่อเพศหญิงในทุกรูปแบบ ท่ามกลางสังคมของเพศชายเพศหญิงจะถูกแบ่งแยก สัมพันธภาพกับเพศชายด้วยความลำเอียง, บุรุษคือคนหนึ่งคน ส่วนสตรีคือคนอื่นในกลุ่มคนหรือเป็นเพียง"วัตถุ"เท่านั้น
โบวัวร์ต้อง การให้ผู้อ่านของเธอพิสูจน์ประวัติศาสตร์ของสตรีที่ว่า สตรีเป็น "ผู้ถูกกระทำ" ให้กลายเป็นผู้ต่ำต้อยด้อยค่า เธอเชื่อว่าสตรีถูกกำหนดให้ตกอยู่ในสถานภาพต่ำต้อยกว่าบุรุษ เนื่องมาจากการอบรมเลี้ยงดูที่มีการเลือกปฏิบัติต่อเพศ และเป็นอิทธิพลจากระบบรากเหง้าทางวัฒนธรรม ค่านิยมของสังคม มิใช่ผลที่มาจากความแตกต่างทางสรีระร่างกายหรือเป็นเรื่องปกติ
และในการศึกษาวิจัยแนวคิดของ Simone de Beauvoir ได้มีกล่าวถึง " ความเป็นผู้หญิง" ในหลายรูปแบบ ซึ่งแบ่งออกเป็นดังนี้
1. ความเป็นผู้หญิงสมัยเก่า เป็นลักษณะความเป็นผู้หญิงที่ผู้หญิงคิดว่าควรจะเป็น มีความเป็นแบบฉบับของผู้หญิงที่มีความคิดอยู่ในกรอบ มีลักษณะของความเป็นฝ่ายรับหรือผู้ถูกกระทำ (passive) มากกว่าจะเป็นฝ่ายรุกหรือผู้กระทำ (active). ซีโมน เดอ โบวัวร์ กล่าวถึงความเป็นผู้หญิงแบบนี้ว่า "ยอมจำนนต่อชะตาชีวิตของตนเอง โดยไม่พยายามต่อสู้แต่อย่างใด... ผู้หญิงจึงถูกเอาเปรียบ และเธอก็ยอมรับการเสียเปรียบนี้โดยอ้างว่าเป็นความรัก" (อ้างถึงใน อมรศิริ สัณห์สุรัติกุล, 2534 : 68)
2. ความเป็นผู้หญิงที่มีลักษณะผสมระหว่างเก่าและใหม่ เป็นลักษณะของผู้หญิงที่มีความคิดค่อนข้างสมัยใหม่ แต่ก็ยังมีกรอบของการดำเนินชีวิตให้เป็นไปตามที่สังคมกำหนด โดยไม่กล้าที่จะแสดงออกมากนัก ความเป็นผู้หญิงลักษณะดังกล่าวนั้นเป็น "ผู้หญิงที่ปรารถนาจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง แต่ก็ไม่ได้แสดงเจตนาที่จะปกป้องและไม่ยืนหยัดในเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่กลับยอมรับสภาพเดิมของตนเอง" ความมีลักษณะผสมทั้ง 2 อย่างนั้น ทำให้ผู้หญิงเริ่มมีลักษณะโต้แย้งหรือต่อรอง แม้ว่าจะไม่ชัดเจนนักก็ตาม
3. ความเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ ความเป็นผู้หญิงที่กล้าเป็นตัวของตัวเอง ทำให้ผู้หญิงสมัยใหม่นี้มีอิสระในการดำเนินชีวิตด้วยการตัดสินใจด้วยตัวเอง. ซีโมน เดอ โบวัวร์ กล่าวว่า ผู้หญิงสมัยใหม่จะปลดปล่อยตัวเองออกจากบทบาทเดิมๆ ที่สังคมกำหนด ให้เป็นอิสระจากการเอารัดเอาเปรียบจากผู้ชายไปสู่ความเป็นตัวเอง อันเป็นการเปิดจิตสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เป็นพลังในการสร้างสรรค์คุณค่าในชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงาน
+++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
(1) กมลชนก ปานใจ. "ทิ้งมันซะผู้ชายพรรค์นี้",
หน้า 22. กรุงเทพฯ : บริษัท ฐานการพิมพ์จำกัด, ____.
(2) นังงอาย. " เขตปลอดผู้ชายเต่าถุย ", หน้า 12. กรุงเทพฯ : เนชั่นบุ๊คส์,
2548.
เอกสารอ้างอิง
- ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์. ภาษาเพศ : อำนาจ เรื่องทางเพศกับพหุจริยศาสตร์.
ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2547.
- ปถรส บุญศรีโรจน์.
วิเคราะห์นักเขียนสตรีกับงานเขียนเรื่องทางเพศ. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะนิเทศศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539.
- วารุณี ภูริสินสิทธิ์.
สตรีนิยม : ขบวนการและแนวคิดทางสังคมแห่งศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ,
2545.
แนะนำหนังสืออ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับปรัชญาสตรีนิยม
- Marilyn Pearsall, Ed., Women and Values: Readings
in Recent Feminist Philosophy (Wadsworth, 1993)
- Mary Mahowald,
Ed., The Philosophy of Woman (Hackett, 1983)
- Patricia Williams,
The Alchemy of Race and Rights: Diary of a Law Professor (Harvard, 1991)
- Sandra Harding,
Ed., The "Racial" Economy of Science (Indiana, 1993)) Luce Irigaray,
This Sex Which Is Not One (Cornell, 1985)
คลิกไปที่
กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
การกดขี่เอารัดเอาเปรียบผู้หญิง มันไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ แต่ผู้หญิงประสบกับการเอาเปรียบเพราะเพศสภาพของตัวเองในพื้นที่ส่วนตัว ดังคำกล่าวว่า "The personal is political" ที่เป็นการบอกว่าเรื่องที่ถูกจัดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรักความสัมพันธ์ ครอบครัว การเจริญพันธุ์ และอะไรอีกหลายเรื่องนั้นมีความเป็นการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง. การเมืองในความหมายของการใช้อำนาจควบคุมกำกับ สตรีนิยมกระแสนี้ มองว่า โครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันมีระบอบปิตาธิปไตย(patriarchy) เกี่ยวข้องกับการควบคุมเนื้อตัวร่างกายผู้หญิงคือ การควบคุมการสืบพันธุ์ การเจริญพันธุ์ของผู้หญิง เพราะฉะนั้นผู้หญิงจึงถูกนิยามใน ๒ ความหมายหลัก - ความหมายแรกคือความเป็นหญิงถูกนิยามว่าคือ "การเป็นแม่" เป็นอุดมการณ์ที่ควบคุมกำกับให้ผู้หญิงต้องท้อง คลอดลูก และเลี้ยงดูลูก และความหมายที่สอง ผู้หญิงถูกนิยามว่าเป็น "วัตถุทางเพศ" เพื่อที่จะสนองความต้องการของผู้ชาย