บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๙๐ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙
04-12-2549

 

 

 

 

 

 

H
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น



Distribution and Consumption
The Midnight University

รู้จักเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน
ข้างหลังภาพในยุคโลกาภิวัตน์: คนจนรุ่นใหม่ในสิงคโปร์
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
นักวิชาการอิสระประเด็นโลกาภิวัตน์

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาพความจริงของคนจนในประเทศสิงค์โปร์ ประเทศที่ถือว่าร่ำรวยเป็นอันดับสองของเอเชีย
แต่ในสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ มีหลายครอบครัวที่กำลังถูกให้ออกจากงาน บางคนต้องขายรถยนต์ของตนทิ้ง
บางคนต้องไปอยู่ใต้สะพาน และบางคนนอนบนกล่องกระดาษที่มีท้องฟ้าเป็นหลังคา
นักการเมืองฝ่ายค้านพยายามนำเสนอประเด็นความยากจนนี้ แต่ถูกฝ่ายรัฐบาลตอบโต้อย่างหนัก
ดังนั้นความยากจนที่กำลังก่อตัวขึ้น จึงยังคงดำเนินอยู่ต่อไป
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1090
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)



ข้างหลังภาพในยุคโลกาภิวัตน์: คนจนรุ่นใหม่ในสิงคโปร์
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล : นักวิชาการอิสระประเด็นโลกาภิวัตน์

Global report - New Poor in Singapore
ความนำ
สิงคโปร์ ประเทศที่พัฒนาแล้วแห่งอาเซียน เกาะเล็กๆ ที่เป็นแม่แบบให้กับผู้นำประเทศต่างๆ และประเทศไทย ภายใต้ภาพตึกระฟ้า ความทันสมัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และศิวิไลซ์ อันมีราคาค่างวดพอที่จะประเทศอื่นเดินตามนี้ ภาพลักษณ์ความเจริญเหล่านี้กลับมีราคาที่ต้องจ่าย สำหรับบทความชิ้นนี้ผู้เขียนจะช่วยเราทั้งหลายเดินออกจากทางเท้า ลัดเลาะเข้าไปในตรอกซอกซอย เพื่อรู้จักสิงคโปร์ที่แท้จริง

สังคมสิงคโปร์ทุกวันนี้ เป็นสังคมของชนชั้นสูง ไม่ใช่สังคมของประชาชน เป็นระบบที่สิงคโปร์สามารถเป็นประเทศได้โดยไม่ต้องมีคนสิงคโปร์ และก็ไม่มีหลักประกันอะไรที่จะบอกว่า รัฐบาลสนใจที่จะทำให้ชีวิตของคนธรรมดาซึ่งมีรายได้ไม่มากมาย มีอะไรดีขึ้น. ที่ 'เต้าปาโย' มีสามีภรรยากว่า 30 คู่นอนกอดกันบรรเทาความหนาว…ใต้สะพาน ท่ามกลางวงล้อมของตึกระฟ้าอันงามสง่า จุดใต้สะพานนี้เป็นบ้านของพวกเขามานานแล้วกว่า 1 เดือน พวกเขากินอาหารที่ร้านกาแฟหรือตามฟู้ดเซ็นเตอร์ และปลดทุกข์ทั้งหนักและเบาตามห้องน้ำสาธารณะ

แม้สิงคโปร์จะเป็นประเทศที่ร่ำรวยตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่รัฐบาลไม่เชื่อในเรื่องสวัสดิการสังคม และพยายามป้องกันไม่ให้ประชาชนคิดพึ่งรัฐบาล มีคนไม่กี่พันเท่านั้นที่ถูกพิจารณาว่าเป็นคน 'จนจริง' พอที่จะได้รับความช่วยเหลือ 300-400 เหรียญต่อเดือน ซึ่งแทบไม่พอที่จะดำรงชีวิต แล้วก็ยังมีขั้นตอนยาวนานและยุ่งยากกว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือ

เนื้อเรื่อง
สิงคโปร์ เกาะเล็กๆ ทางตอนใต้ของประเทศมาเลเซีย มีประชากรเพียง 4 ล้านคน แต่การพัฒนาเศรษฐกิจด้วยมันสมองของ ลี กวน ยู และพรรคพีเพิลแอ็คชั่น (People Action - PAP) ของเขา เพียงแค่ 40 ปีเศษ 'ซิตีสเตท' (City-State) แห่งนี้สามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่ร่ำรวยอันดับ 2 ในเอเชีย รองจากญี่ปุ่น รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนสิงคโปร์ 24,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณเกือบล้านบาท อยู่ในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างอังกฤษและเบลเยียม

ไม่แปลก ภาพที่ใครต่อใครจะนึกถึงเมื่อพูดถึงสิงคโปร์ก็คือ เมืองของคนรวย คนมีความรู้ พูดภาษาอังกฤษได้ทุกคน ใช้ชีวิตหรูหรา เดินช็อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมกันทุกวี่ทุกวัน จนทำให้รัฐบาลหลายต่อหลายประเทศพยายามดำเนินรอยตามสิงคโปร์อย่างหัวปักหัวปำ, แต่นั่นไม่ใช่ความจริงทั้งหมดที่คนสิงคโปร์ส่วนใหญ่กำลังเผชิญอยู่

คนที่ตกรถไฟสายร่ำรวย
หลังเข้าสู่สหัสวรรษใหม่เพียงไม่นาน นิตยสาร Asia week ได้ตีพิมพ์รายงาน For Richer or Poorer : Who will care for the city-state's deprived? (สำหรับคนรวยหรือคนจน: ใครจะไปสนใจการตัดสิทธิกีดกันของรัฐ?) เพื่อสะท้อนภาพมุมอับของเกาะสวรรค์แห่งนี้

คุณยายลี ชอง เพ็ง วัย 84 ปี เป็นสัญลักษณ์ของฝันสลายในสิงคโปร์ คุณยายอาศัยอยู่ในแฟลตเล็กๆ ราคา 3 เหรียญต่อวัน (72 บาท) "ฉันใช้เวลาส่วนใหญ่ดูโทรทัศน์ และเดินเล่นในระยะทางสั้นๆ ขาของฉันไม่ดีนัก เดินไกลไม่ได้" แต่ทุกบ่ายวันพุธ คุณยายจะลงลิฟต์มาจากชั้น 8 มารวมกับเพื่อนวัยเดียวกันหลายสิบคนเพื่อนั่งรอ, ระหว่างรอ คุณยายลีจะพูดคุยกับเพื่อนๆ ไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ ในบริเวณเดียวกันนั้นมีอีกหลายคนยืนรอ แต่พวกเขาดูโดดเดี่ยวและแววตาโกรธขึ้งคนทั้งโลก

จนถึงเวลา 5 โมงเย็น ทุกคนก็จะมาตั้งแถวรอเพื่อรับบริจาคถุงพลาสติก ในนั้นบรรจุไข่ 6 ฟอง ข้าว 1.5 กิโลกรัม ถั่วต้ม 1 กระป๋อง ข้าวโพดหวาน 1 กระป๋อง ช็อกโกแลตร้อน 1 ถุง กาแฟ 1 ถุง ซีเรียลและกระดาษชำระอีก 1 ห่อ คุณยายลีและเพื่อนๆ บอกว่า ถ้าไม่ได้รับการบริจาคสิ่งของจากกลุ่มสังคมสงเคราะห์ พวกเขาคงมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก

เอเชียวีค ตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับสิงคโปร์ ประเทศที่มีแต่ความมั่งคั่ง จากประเทศอุตสาหกรรมใหม่จนมาสู่เศรษฐกิจแบบไฮเทค เหตุใด 'ซิตีสเตท' แห่งนี้แทบไม่เหลียวหลังมาดูว่ามีใครถูกปล่อยทิ้งข้างทางบ้าง

ลี กวน ยู รัฐบุรุษของสิงคโปร์ได้สร้างระบบที่ทุกคนต้องทำงานหนัก และมุ่งส่งเสริมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม คนสิงคโปร์หวังว่าพวกเขาจะได้ผลตอบแทนจากการทุ่มเท ผลจากการทุ่มเททำให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่ร่ำรวยอันดับ 2 ของเอเชียรองจากญี่ปุ่น แต่การเข้ามาของโลกาภิวัตน์และการทะลักของแรงงานต่างชาติราคาถูก ทำให้ระบบเศรษฐกิจของสิงคโปร์ทวีความอำมหิต จากตัวเลขของทางการสิงคโปร์เองยอมรับว่า คนรวยในสิงคโปร์รวยขึ้น ขณะที่คนจนจนลง

สำหรับคนสิงคโปร์ขณะนั้น ภาพชีวิตของคุณยายลี ชอง เพ็งและเพื่อนๆ ที่ยืนรอรับของบริจาคทำให้พวกเขาช็อก และแทบไม่เชื่อสายตาว่า มีเรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้นในเกาะอันมั่งคั่งของเขาด้วยหรือ. ช่องว่างของรายได้ที่ถ่างกว้างขึ้นทุกขณะอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กำลังตีแสกหน้าแบบจำลองการพัฒนาของสิงคโปร์อย่างจัง เสียงของคนรุ่นใหม่ที่เกิดจากครอบครัวชนชั้นกลางในสิงคโปร์เริ่มถามหาความรับผิดชอบจากรัฐบาล

จากสถิติของปี 2543 คนชั้นล่าง 10 เปอร์เซ็นต์ของสังคม มีรายได้เพียงเดือนละ 75.81 เหรียญ แต่รัฐบาลอ้างว่าตัวเลขดังกล่าวสร้างภาพที่บิดเบือน เพราะคนเหล่านี้ที่จริงไม่ได้ยากจนเท่าไรนัก. จอร์จ โหยว รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมระบุว่า "คนเหล่านี้มีทั้งโทรทัศน์และโทรศัพท์ มีเงินสะสมในกองทุนบำนาญของรัฐเฉลี่ยประมาณ 11,500 เหรียญ (276,000 บาท) กว่า 3 ใน 4 ของคนเหล่านี้อาศัยอยู่ในแฟลตขนาด 3 ห้องหรือใหญ่กว่านั้น จึงไม่สามารถถือว่า คนระดับล่างสุดของสังคมสิงคโปร์เป็นคนจน"

ประเด็นนี้ทวีความร้อนแรง เมื่อขณะนั้นรัฐบาลตัดสินใจขึ้นค่าสาธารณูปโภคและบริการต่างๆ. โก๊ะ จ๊ก ตง นายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ซึ่งมีเงินเดือน 1.1 ล้านเหรียญ (24.6 ล้านบาท) ประมาณ 3,000 เหรียญ (72,000 บาท) ต่อวัน และเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13 เปอร์เซ็นต์ ทุกปี กล่าวว่า ค่าสาธารณูปโภคและบริการต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น เฉลี่ยแล้วแค่ปีละ 6 เหรียญ เท่ากับราคาของหมี่ผัด 5 จานเท่านั้น

เจียม ซี ทง นักการเมืองฝ่ายค้าน 1 ใน 2 คนของสภาสิงคโปร์กล่าวว่า ประธานาธิบดีสหรัฐได้เงินเดือนประมาณ 600,000 เหรียญสิงคโปร์ แค่เงินเดือนของรัฐมนตรีของสิงคโปร์. แต่ โก๊ะ จ๊ก ตง แย้งว่า คนสิงคโปร์ไม่สนใจเงินเดือนนักการเมืองเพราะน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับรายได้ที่พวกเขาจะหาได้

นักการเมืองรุ่นใหม่เริ่มมองว่า ความยากจนกำลังเป็นปัญหาที่กำลังทวีความรุนแรงในสิงคโปร์ พวกเขาจึงเริ่มคิดถึงโครงการให้ความช่วยเหลือเรื่องที่พัก การศึกษา บริการสาธารณสุข และระบบขนส่ง เพื่อที่คนยากจนจะได้ไม่อดตาย ไร้บ้าน หรือขาดการรักษาพยาบาล. แต่แนวความคิดนี้ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับหลักการของลี กวน ยู ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโสนับตั้งแต่ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่เชื่อว่า "ไม่มีของฟรีบนโลกใบนี้ ไม่มีอาหารฟรี ไม่มีของแจก และไม่มีการอุดหนุน"

อย่างไรก็ตาม นักการเมืองรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งยังคิดว่า ถ้ารัฐบาลสิงคโปร์ยังอยากมีมนุษยธรรม และศิวิไลซ์ในสายตาคนทั่วโลก เราก็ต้องช่วยเหลือคนจนมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นี้

สิงคโปร์ทอดทิ้งคนจนอย่างไร? เพื่อให้สามารถเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่หยุดยั้ง รัฐบาลสิงคโปร์อนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างชาติราคาถูกเพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงานในประเทศ ทั้งจากสาเหตุอัตราการเกิดต่ำ และค่าแรงของคนสิงคโปร์ที่สูงเกินไป. คนงานต่างชาติยอมรับรายได้เพียง 11 เหรียญต่อวัน และอยู่กันอย่างแออัดในแคมป์ซึ่งมีคนงานต่างชาติอยู่รวมกันร่วม 3,200 คน

มูกุล อัชเชอร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าวว่า "สิงคโปร์ไม่เชื่อในเรื่องการกระจายรายได้ แต่เชื่อในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจว่าจะแก้ปัญหาความยากจน ฉะนั้นสิงคโปร์จึงใช้ประโยชน์แรงงานต่างชาติราคาถูก ซึ่งไม่จำเป็นต้องให้สวัสดิการมากมาย เพื่อคงความได้เปรียบทางการแข่งขันของตัวเองต่อไป"

เมื่อตกงาน คนสิงคโปร์บางส่วนต้องยอมลดค่าแรงตัวเองเพื่อแข่งขันกับแรงงานต่างชาติ ขณะที่รัฐบาลเกรงปัญหาสมองไหล จึงพยายามขึ้นเงินเดือนให้ผู้บริหารระดับสูง ฉะนั้นช่องว่างรายได้จึงถ่างสูงขึ้นทุกขณะ "อย่าไปอิจฉาคนที่รวย แต่เราควรแสวงหาโอกาสให้เป็นอย่างเขา อยากก้าวหน้าในชีวิตก็ต้องทำงานหนัก" นายกฯโก๊ะ จ๊ก ตง กล่าว

แม้ในที่สุด รัฐบาลสิงคโปร์ตั้งโครงการช่วยเหลือคนจน 'เอื้ออาทร' ผ่านองค์กรสาธารณกุศล อย่างไรก็ตาม เจียม ซี ทง ส.ส.ฝ่ายค้านมองว่า เป็นการใช้เงินเชิงการเมือง ซื้อเสียงประชาชน ไม่ต่างอะไรกับซานตาคลอส แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริง

สิงคโปร์มีกฎหมายบังคับให้ลูกต้องเลี้ยงดูบิดามารดา แต่ส่วนใหญ่พวกเขาไม่สามารถทำตามกฎหมายนี้ได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นคนที่มีรายได้ไม่มากมายนัก แถมยังเป็นลูกคนเดียว. ปี 2542 มีคนแก่สิงคโปร์มีคุณสมบัติตรงตามที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล (เดือนละ 115 เหรียญ = 2,760 บาท) ทั้งสิ้น 2,238 คน ซึ่งจำนวนคนที่เดือดร้อนมาขอรับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นทุกปี. แล้วจะทำอย่างไรในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้าที่คนชราจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น 4 เท่า นี่นับเป็นปัญหาเศรษฐกิจการเมืองที่รุนแรงที่สุดเท่าที่สิงคโปร์เคยประสบมา แต่ยังเป็นประเด็นต้องห้าม เพราะนั่นหมายถึงการฉีกหน้ารัฐบาล

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เอเชียวีคเสนอในช่วงนั้น เป็นเพียงมุมอับมุมเดียวของสิงคโปร์

ทรัพย์สิน + ไลฟ์สไตล์ = อำนาจ
เจมส์ โกเมซ นักวิจัยและนักวิเคราะห์การเมืองที่น่าจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม 'คนรู้ทันรัฐบาลฯ' มองว่า แม้ว่ารัฐบาลสิงคโปร์พยายามสร้างความเป็นปึกแผ่นของสังคมด้วยอะไรต่อมิอะไรที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ เช่น ดอกไม้ประจำชาติ, ลายเสื้อผ้า, มหาวิทยาลัย, การแบ่งโควตาอาคารสังคมตามสัดส่วนของเชื้อชาติ, แต่ถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ทำให้คนรู้สึกว่าเป็นหนึ่งเดียวกับสังคม คนส่วนใหญ่ถูกแปลกแยกด้วยฐานะทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคม และที่สำคัญคือ คนสิงคโปร์ถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง

จากการที่รัฐบาลกังวลว่า การรวมกลุ่มทางการเมืองและเสรีภาพของประชาชนจะส่งผลกระทบในทางลบต่อพัฒนาทางเศรษฐกิจ จึงได้สร้างกฎหมายและกฎระเบียบมากมายเพื่อจำกัดฝ่ายค้านและการวิจารณ์รัฐบาล แล้วหันไปเน้นที่การสร้างค่านิยมและความเชื่อที่ว่า สินทรัพย์เป็นตัววัดความสำเร็จ

ความเป็นปึกแผ่นของสังคมที่รัฐบาลสิงคโปร์สร้างได้คือ ความเป็นปึกแผ่นที่อยู่ภายใต้คำจำกัดความที่ว่า ต้องรวมตัวกันเพื่อสนับสนุนรัฐบาลของพีเอพี เพื่อให้สินทรัพย์ต่างๆ มีมูลค่าสูงต่อไปเรื่อยๆ. ผลลัพธ์ก็คือ สิงคโปร์กลายเป็นสังคมที่วัตถุนิยมเป็นใหญ่แบบสุดๆ ทุกคนต้องดิ้นรนเพื่อไปสู่มาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ถึงจะถือว่าทำให้ชีวิตมีความหมาย ทำให้ต่างคนต่างเป็นปัจเจกและแก่งแย่งแข่งขันกันมากขึ้น ขณะที่ความเป็นชุมชน (ดีและเจริญรุ่งเรืองไปพร้อมๆ กัน) ขาดหายไป

นักวิชาการสาย 'รู้ทัน' ผู้นี้มองว่า นับตั้งแต่พรรคพีเอพีของ ลี กวน ยู ปกครองประเทศตั้งแต่ปี 2492 ระบบที่เชิดชูชนชั้นสูงถูกพัฒนาเป็นลำดับ ชนชั้นสูงเหล่านี้จะขึ้นมาควบคุมทุกอย่าง โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ใครได้ตรวจสอบ ซึ่งระบบนี้พัฒนาคนของตัวเองโดยผ่านทางการให้ทุนศึกษาต่อในต่างประเทศ เพื่อกลับมาทำงานในหน่วยงานของรัฐ ชนชั้นนำของสังคมเหล่านี้จะวนเวียนอยู่แต่ในกลุ่มของพวกพ้องตัวเอง แล้วก็ทำหน้าที่ปกครองประเทศโดยไม่ต้องสนใจใคร เนื่องจากไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะการจัดทำและใช้จ่ายงบประมาณของประเทศ

ฉะนั้นสามารถพูดได้ว่า สังคมสิงคโปร์ทุกวันนี้ เป็นสังคมของชนชั้นสูง ไม่ใช่สังคมของประชาชน เป็นระบบที่สิงคโปร์สามารถเป็นประเทศได้โดยไม่ต้องมีคนสิงคโปร์ และก็ไม่มีหลักประกันอะไรที่จะบอกว่า รัฐบาลสนใจที่จะทำให้ชีวิตของคนที่อาจมีรายได้ไม่มากมายนัก มีอะไรดีขึ้น

ความสามารถในการใช้จ่ายถูกจัดเป็นตัวชี้ความสำเร็จ ยิ่งมีวัตถุมากเท่าไรก็จะมีอำนาจมากเท่านั้น นี่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล, "มีทรัพย์สินมากเท่าไร ชีวิตคุณก็มีค่าเท่านั้น" หากใช้ชีวิตในสิงคโปร์ คุณก็จะได้ยินคำว่า up เต็มไปหมด up-market, up-grading, up-lift, up-ward looking อัพ อัพ อัพ

แม้แต่นักศึกษาในมหาวิทยาลัย ขณะที่พวกเขายังไม่สามารถหาเงินได้ด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่ก็รูดบัตรเครดิตใช้จ่ายเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศกันแล้ว สุดยอดปรารถนาคือการเดินทางเรียนต่อต่างประเทศ เป็นภาระที่พ่อแม่ 'ที่ดี'ควรเตรียมหาไว้ให้ นี่แหละ คือความหมายที่แท้จริงของชีวิต

แต่ค่านิยมที่ผลักดันโดยนโยบายของรัฐบาลส่งผลในเชิงสังคมด้วย
ถ้าคุณไม่มีทรัพย์สินหรือไลฟ์สไตล์ที่ดีพอ คุณก็คงไม่ดึงดูดพอที่สาวๆ คนไหนจะสนใจแต่งงานด้วย คู่แต่งงานก็ไม่อยากจะมีลูกเพราะค่าใช้จ่ายมันแพงเกินไป ถ้าต้องบวกเข้ามาอีก เพราะอย่างน้อยก็ต้องมีคนรับใช้มาช่วยเลี้ยงลูก คนรุ่นใหม่จะไม่อยู่กับพ่อแม่ จะแยกอยู่ต่างหาก เพราะค่านิยมความเป็นส่วนตัว

ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างนั้น สำหรับลูกจ้าง ถ้าเงินเดือนไม่ขึ้น คุณก็พร้อมจะไปทำงานที่ใหม่ทันที หรือทันทีที่มีคนเสนอข้อเสนอที่ดีกว่า นายจ้างก็จะจ้างเฉพาะคนที่มีประสิทธิภาพเต็มที่เท่านั้น ไม่ได้ใส่ใจว่าแต่ละคนต้องมีภาระครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ

แต่ผลกระทบที่มีต่อคนรุ่นใหม่รุนแรงกว่า คนรุ่นใหม่ในสิงคโปร์จะมีลักษณะเด่นคือ เป็นคนพันธุ์ที่สนใจแต่เรื่องของตัวเอง (Self-centeredness) งานอาสาสมัคร การบริการสังคมไม่อยู่ในหัว ทำให้องค์กรเหล่านี้ขาดแคลนคนรุ่นใหม่มาร่วมงานอย่างมาก และที่สำคัญ คนรุ่นใหม่จะมีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์น้อยลง ต้องทำตัวเองให้ไปอยู่จุดสูงสุด ดูถูกและรังเกียจคนที่ผิดพลาด ล้มเหลว

ไม่เป็นหนี้ แล้วเมื่อไรจะรวย!!
เมื่อคนเริ่มเดินตามค่านิยมที่รัฐบาลสร้างขึ้น การสะสมวัตถุ ไลฟ์สไตล์ของชีวิตที่ต้องไล่ตามให้ทัน ทำให้ตัวเลือกการดำเนินชีวิตของคนสิงคโปร์มีไม่มากนัก และสุดท้ายก็ต้องเป็นหนี้. บัตรเครดิตไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป เพราะหลายคนล้มละลายโดยที่ไม่สามารถจ่ายหนี้เหล่านั้นได้ ซึ่งจากรายงานล่าสุด หนี้เสียของธนาคารเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 12 ปี และเชื่อว่าจะแย่กว่านี้อีกถ้าอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น

ชนชั้นกลางเคยถูกชูว่านี่คือ 'คนรวยรุ่นใหม่' แต่จริงๆ แล้วพวกเขากำลังเป็น 'คนจนรุ่นใหม่' ต่างหาก. ความยากจนของพวกเขา ยังมีสาเหตุหลักจากการเปลี่ยนโครงสร้างของสังคม เช่น การสร้างเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้เป็นหลัก (Knowledge-based Economy) ฉะนั้นคนที่ไร้ทักษะ หรือแรงงานมีฝีมือปานกลาง โดยเฉพาะพวกที่อายุเกิน 40 ปีขึ้นไป จะถูกให้ออกจากงาน ถ้าไม่ไปอัพเกรดตัวเอง หรือเป็นคนพันธุ์ไอที ทั้งที่คนเหล่านี้เป็นผู้ที่แบกรับภาระครอบครัว ทั้งคนแก่และเด็ก รวมทั้งภาระที่สังคมคาดหวัง (สินทรัพย์และไลฟ์สไตล์)

การปลดและลดพนักงาน, การลดขนาดองค์กร, การย้ายฐานการผลิต, ทำให้คนตกงานหางานทำได้ยาก. อัตราการว่างงานในปี 2546 สูงถึง 4.5 - 5.5 เปอร์เซ็นต์ ค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายต่างๆ สูงขึ้นทุกขณะ, คนที่จบใหม่ยากที่จะหางานประจำ หรือต้องได้รับเงินเดือนที่ต่ำกว่า หลายครอบครัวไม่มีปัญญาผ่อนส่งบ้าน หรือแม้กระทั่งจ่ายค่าน้ำค่าไฟ

เมื่อพรรคฝ่ายค้าน ชูประเด็นเรื่องความทุกข์ของคนจนรุ่นใหม่ในสิงคโปร์ขึ้นมาในช่วงการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 สื่อและรัฐบาลไม่ยอมรับและโจมตีหาว่า คนเหล่านี้ไม่ขยันเองต่างหาก ไร้ความสามารถและโง่ เมื่อมีการชี้ปัญหาการกระจายรายได้ รัฐบาลก็จะตอบโต้ว่า เป็นการเมืองของคนขี้อิจฉา

สำหรับคนที่ไม่อยากจะตกเป็นคนจนรุ่นใหม่ พวกเขาทำยังไงกัน ก็ต้องออกนอกประเทศ. นับตั้งแต่ปี 2543 ในแต่ละปี มีคนสิงคโปร์มากกว่า 2,000 คน สมัครขอรับสิทธิอาศัยถาวรในออสเตรเลีย ซึ่งจำนวนตัวเลขนี้กำลังก้าวกระโดด เช่นเดียวกับการอพยพไปสหรัฐอเมริกา

คนจนรุ่นใหม่
ในระยะแรกๆ สื่อใหญ่ๆ ในสิงคโปร์ซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่ในความดูแลของรัฐ ไม่ได้ใส่ใจ 'คนจนรุ่นใหม่' มากนัก หนำซ้ำยังผสมโรงรัฐบาลประณามฝ่ายค้านและนักวิชาการ 'สายรู้ทัน' ว่าวิตกจริต แต่สุดท้าย ความจริงก็คือความจริง. เดอะ สเตรท ไทมส์ รายงานในเดือนกันยายน 2546 โดยเกริ่นว่า "นี่ไม่ใช่เรียลลิตี้โชว์ แต่คือความจริงที่ชนชั้นกลางสิงคโปร์กำลังเผชิญ"

เอส เอช ทาน เจ้าของธุรกิจเครื่องไฟฟ้าได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ รายได้ของเขาลดลงจาก 5,000 เหรียญเหลือ 3,000 เหรียญ "ปีหน้า ผมคงต้องขายรถ ถ้าเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น" ค่าผ่อนรถตกเดือนละ 1,000 เหรียญ ภรรยาของเขาไม่ได้ทำงาน ส่วนลูกชายอายุ 27 ปี ทำงานในโรงแรมมีรายได้เดือนละ 1,000 เหรียญ. สำนักงานสถิติแห่งชาติสิงคโปร์ นิยามครอบครัวชนชั้นกลางคือครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 2,200 - 5,700 เหรียญ

ปีเตอร์ ชิว อายุ 52 ปี อดีตช่างเทคนิค มีภรรยาเป็นข้าราชการ รายได้ของครอบครัวเฉลี่ยเดือนละ 3,000 เหรียญ (72,000 บาท) อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมขนาด 4 ห้องนอนกับลูกสาว 2 คน, อายุ 12 และ 10 ปี, ทั้งครอบครัวมีค่าใช้จ่ายดังนี้ :

ค่าอาหารของครอบครัว 1,000 เหรียญ, ค่าเดินทางด้วยรถสาธารณะ 300 เหรียญ, ค่าประกัน 300 เหรียญ, ค่าอาหารกลางวัน 320 เหรียญ, ค่าเรียนเปียโนของลูก 320 เหรียญ, ค่าน้ำไฟ 300 เหรียญ, ค่าเล่าเรียน 150 เหรียญ, ค่าเสื้อผ้า 100 เหรียญ, ค่ายารักษาโรค 30 เหรียญ, เงินเก็บ 200 เหรียญต่อเดือนสำหรับลูกๆ ที่จะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

มิเชล ชิว ลูกสาววัย 12 ปี เล่าให้สเตรทไทมส์ฟังว่า เธอเลิกกินก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาทุกวันแล้ว กินแค่ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อจะได้ช่วยทางบ้านประหยัด ตั้งแต่พ่อของเธอถูกให้ออกจากงานเงินเดือน 4,000 เหรียญเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ขณะนี้มีเพียงงานชั่วคราวเท่านั้น "เมื่อก่อนหนูใช้วันละ 80 เซ็นต์ ตอนนี้หนูพยายามให้ใช้แค่วันละ 50 เซ็นต์". ขณะที่มิลลี น้องสาววัย 10 ปี ช่วยประหยัดด้วยวิธีอื่น "ถ้าวันไหนหนูลืมเอากล่องดินสอไป หนูก็จะยืมเพื่อน ถ้าเป็นเมื่อก่อนหนูจะไม่ยอมยืม แต่จะซื้อใหม่เลย" . ตอนนี้คอร์สเปียโนเป็นความฟุ่มเฟือยเพียงสิ่งเดียวที่พวกเขาพอจะหาให้ลูกๆ ได้ แต่อีกไม่นานหากสถานการณ์ยังไม่มีอะไรดีขึ้น เด็กๆ ก็คงไม่ได้เรียนเปียโนอีกต่อไป

เดอะซันเดย์ไทมส์ ออกไปพูดคุยกับครอบครัวที่อาศัยอยู่ตามคอนโดขนาด 5 ห้องนอนในเขตไป่ซาน เพื่อสำรวจว่าพวกเขามีชีวิตอยู่กันอย่างไร? เพียงการสำรวจคร่าวๆ สถานการณ์ของพวกเขาหนักหนาสาหัส. มีอยู่ 40 ครอบครัวเต็มใจที่จะให้ข้อมูล, 7 ครอบครัวมีสมาชิกภายในบ้านถูกให้ออกจากงาน

ครึ่งหนึ่งของพวกเขาไม่มีรถส่วนตัว จำนวนนี้ 6 ครอบครัวขายไปเมื่อปี 2544, มี 13 ครอบครัวที่ยอมรับว่า พวกเขาไม่มีปัญญาที่จะมีรถอีกต่อไป. มีแค่ 9 ใน 40 ครอบครัวเท่านั้นที่บอกว่า พวกเขาไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ส่วนใหญ่เป็นคนเกษียณแล้ว เจ้าของกิจการ หรือครอบครัวที่ไม่ติดหนี้ผ่อนส่งบ้าน รถ และเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆ ขณะที่ครอบครัวอื่นๆ บอกว่า พวกเขากำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ

แม้แต่ครอบครัวที่มีรายได้ 4,000 เหรียญ (96,000 บาท) ไม่สามารถจ่ายเบี้ยประกันชีวิตที่ขณะนี้เกินกว่า 10,000 เหรียญต่อปี (240,000 บาท) ทำให้ต้องลดวงเงินประกัน หรือลดระดับการประกันลงมาเป็นแบบที่ไม่ครอบคลุมจนถึงวัยเกษียณ. คนพวกนี้รู้ดีว่า เขาไม่มีทางได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล อย่างมากพวกเขาก็จะของานทำ หรือขอให้ ส.ส.ช่วยเขียนจดหมายไปยังธนาคารยืดเวลาผ่อนส่งออกไป

- ไซนุดดิน นอร์ดิน, ส.ส.ในเขตเต้าปาโย เล่าว่า เมื่อปีที่แล้ว มีไม่น้อยว่า 10 ครอบครัวที่มาขอให้เขาช่วย ส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงาน มีการศึกษา มีลูกๆ ที่ยังศึกษาเล่าเรียน คนพวกนี้ตกงาน หรือไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ราบรื่น

- ชาร์ล ชง, ส.ส.อีกคนกล่าวว่า ครอบครัวชนชั้นกลางไม่ค่อยมาขอความช่วยเหลือจากรัฐ เพราะการช่วยเหลือของรัฐ จะช่วยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในคอนโดขนาด 3 ห้องนอนเท่านั้น

- แอนดี้ แกน, ส.ส. ระบุว่าทุกเดือนประมาณ 1 ใน 3 ของ 80 กรณีที่มาขอความช่วยเหลือ เป็นครอบครัวชนชั้นกลางซึ่งเมื่อ 2 ปีก่อนไม่เคยมี

ครอบครัวส่วนใหญ่ที่ให้สัมภาษณ์บอกว่า พวกเขาทำที่ว่ามาหมดแล้ว แม้กระทั่งขายรถทิ้งและเลิกจ้างคนใช้ แต่ 14 ครอบครัวบอกว่า พวกเขาอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีคนใช้และรถ ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานไกล ขณะที่ทั้งสามีภรรยาต้องทำงานนอกบ้าน ต้องมีคนใช้มาดูแลลูกและคนแก่ที่บ้าน. บางคู่รายได้รวมกัน 5,000 เหรียญ (120,000 บาท) ยังต้องประหยัดด้วยการกินข้าวบ้าน เลิกการไปดูหนังตามโรงภาพยนตร์ แต่กระนั้นก็ตาม จะมีเงินเหลือเก็บแค่เดือนละ 100 เหรียญ (2,400 บาท) ก็ยังยาก

คนจนรุ่นใหม่ล่าสุด
นิวสเตรทไทมส์ มาเลเซีย เสนอรายงานช่วงเดือนตุลาคม 2546…
ตี 3 ของเช้าวันเสาร์ที่อากาศหนาวเหน็บ คนสิงคโปร์ส่วนใหญ่ยังอยู่ในนิทรา ซึ่งก็รวมทั้งชายชาวสิงคโปร์หลายสิบคนที่ร่างกายครบสามสิบสองเหล่านี้ด้วย บางคนนอนกรนอยู่บนกระดาษกล่องที่เรียงกันอย่างเป็นระเบียบ ไม่เหมือนคนสิงคโปร์อื่นๆ ที่นอนหลับสบายในบ้าน พวกเขานอนโดยมีท้องฟ้าเป็นหลังคาคุ้มหัวที่มุมมืดใกล้ๆ กับท่าเรือเฟอร์รีของตึกเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ พวกเขาตั้งชื่อสถานที่นี้กันเองว่า 'โรงแรมของคนอกหัก'

ห่างจากจุดนั้นไปจนถึงบริเวณที่พักอาศัย 'เต้าปาโย' มีสามีภรรยาอีกกว่า 30 คู่นอนกอดกันบรรเทาความหนาว…ใต้สะพาน ท่ามกลางวงล้อมของตึกระฟ้าสวยสง่า จุดใต้สะพานนี้เป็นบ้านของพวกเขามานานแล้วกว่า 1 เดือน พวกเขากินอาหารที่ร้านกาแฟหรือตามฟู้ดเซ็นเตอร์ และปลดทุกข์ทั้งหนักและเบาตามห้องน้ำสาธารณะ

ทั้งกลุ่มผู้ชายที่ 'โรงแรมคนอกหัก' และกลุ่มสามีภรรยาใต้สะพาน เป็นหนึ่งในจำนวนคนไร้บ้านที่กำลังเพิ่มมากขึ้นในสิงคโปร์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยพบเคยเห็นใน 'ซิตีสเตท' ที่มั่งคั่งแห่งนี้ แม้ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขคนไร้บ้านอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อว่าตัวเลขกำลังเพิ่มขึ้นทุกขณะ

คนส่วนใหญ่ คือส่วนหนึ่งของคนตกงานกว่า 100,000 คน แต่บางคนก็มีงานทำ เช่น คนทำความสะอาดของโรงพยาบาลสิงคโปร์ เขามีเงินเดือน 600 เหรียญ (14,400 บาท) ซึ่งเพียงพอแค่ค่าอาหารและค่าเดินทางประจำวันเท่านั้น. ชายอีกคนเป็นเจ้าของคอนโดขนาด 3 ห้องนอน แต่ตกงานมาแล้ว 2 ปี โดยที่แทบไม่มีเงินสะสม เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะรักษาคอนโดไว้ ในที่สุดจึงต้องปล่อยให้คนอื่นเช่า แล้วมีชีวิตอยู่ริมถนนด้วยค่าเช่า 700 เหรียญต่อเดือน (16,800 บาท)

สำหรับคนสิงคโปร์แล้ว พวกเขาไม่มีทั้งเงินช่วยเหลือระหว่างที่ว่างงานและสวัสดิการสังคมอื่นๆ คนสิงคโปร์จำนวนมากต้องตัดใจจากบ้านแล้วหาที่อยู่ใหม่ คนที่เดือนร้อนอีกพวกคือ คนที่มีรายได้แค่ประมาณ 400 เหรียญต่อเดือน (9,600 บาท) ซึ่งนับเป็น 9 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมด บางคนอาจโชคดียังพออาศัยอยู่บ้านเพื่อนบ้านญาติได้ บางคนต้องออกมาอยู่ริมถนน ในสวนสาธารณะ ใต้สะพาน และที่ว่างต่างๆ. จากภาวะการจ้างงานที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 17 ปี เชื่อว่าอีกไม่นาน อีกหลายชีวิตจะต้องมาร่วมชะตากรรมกับพวกเขาที่ใต้สะพาน หรือที่ 'โรงแรมของคนอกหัก'

นักข่าวของหนังสือพิมพ์นิวสเตรทไทมส์ มาเลเซีย ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุสำคัญเกิดจากสังคมสิงคโปร์ไม่มีตาข่ายรองรับทางสังคม (social safety net). แม้จะเป็นประเทศที่ร่ำรวยตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เชื่อในเรื่องสวัสดิการสังคม และพยายามป้องกันไม่ให้ประชาชนคิดพึ่งรัฐบาล มีคนไม่กี่พันเท่านั้นที่ถูกพิจารณาว่า 'จนจริง' พอที่จะได้รับความช่วยเหลือ 300-400 เหรียญต่อเดือน ซึ่งแทบไม่พอที่จะดำรงชีวิต แล้วก็ยังมีขั้นตอนยาวนานและยุ่งยากกว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือ ขณะที่รัฐบาลยืนยันว่า คนที่มีการศึกษาน้อยหรือไร้ทักษะจะต้องเข้าโครงการฝึกอบรมของรัฐบาล เพื่อ 'อัพเกรด' ตัวเองให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

คนรวยต้องมาก่อน
หากถามว่า รัฐบาลสิงคโปร์พยายามที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นหรือไม่? ข่าว บทความ และรายงานข้างต้นคงชี้อะไรอยู่พอสมควร… รัฐบาลสิงคโปร์ไม่เชื่อในเรื่องการกระจายรายได้ ไม่เชื่อในเรื่องสวัสดิการสังคม แต่เชื่อในการเติบโตทางเศรษฐกิจ เชื่อในความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคน ซึ่งวัตถุที่พวกเขาครอบครองคือเครื่องชี้วัดความสำเร็จ

แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็เหมือนรัฐบาลเกือบทั่วโลกที่ยังห่วงใย…คนร่ำรวย
วันที่ 3 พฤษภาคม 2545 ธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 24 เปอร์เซ็นต์ และภาษีเงินได้ส่วนบุคคลจาก 26 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 20 เปอร์เซ็นต์. แต่ในสิงคโปร์มีเพียง 1 ใน 3 ของประชากร 4 ล้านคนที่มีเงินเดือนมากถึงกำหนดที่ต้องจ่ายภาษี, ขณะรัฐบาลตัดสินใจขึ้นภาษีการค้าและบริการหรือ GST ขึ้นอีก จาก 3 เปอร์เซ็นต์เป็น 5 เปอร์เซ็นต์

นั่นหมายความว่า ชาวสิงคโปร์ 2 ใน 3 ของคนทำงานที่มีรายได้น้อยกว่ารายได้ต่ำสุดที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้, ไม่ได้ประโยชน์จากการลดภาษีเงินได้ แต่ต้องรับภาระจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น

"GST เป็นระบบภาษีถอยหลัง, ครอบครัวที่รายได้น้อยต้องแบกรับภาษีมากเมื่อเทียบสัดส่วนกับรายได้ของพวกเขา" รศ. เชีย งี ซุน จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าว "แต่วิธีการดังกล่าว เป็นแนวโน้มของโลก ที่จะลดภาษีรายได้เพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขันกับประเทศต่างๆ แล้วหันมาขึ้นภาษีการบริโภคแทนเพื่อรักษาระดับงบประมาณ ในแง่เศรษฐศาสตร์มันอาจมีประสิทธิภาพ แต่สำหรับคนเดินถนนแล้ว มันหนักหนาสาหัส"

ซี ซุน จวน หัวหน้าพรรคประชาธิปไตย (เป็นพรรคที่ไม่มี ส.ส.ในสภา) ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ฐานเดินขบวนประท้วงการขึ้นภาษี GST หน้าทำเนียบประธานาธิบดีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ ออกรายงานสถานการณ์แรงงานฉบับล่าสุดชี้ว่า คนสิงคโปร์ที่ยังมองหางานทำแม้ว่าจะถูกเลย์ออฟหรือเลิกจ้างงานมานานกว่า 6 เดือน เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้มีการศึกษาสูงมาก โดยกลุ่มคนที่มีการศึกษาระดับมัธยมและต่ำกว่าคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 66.7 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนที่มองหางานที่มีระดับการศึกษาสูงกว่ามัธยมมีสัดส่วนแค่ 10 เปอร์เซ็นต์

จากการศึกษาของ มุโคปัธยา ปุนดาริค จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ระบุว่า การกระจายรายได้ของสิงคโปร์เลวลงอย่างมาก นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ รายได้เฉลี่ยของครอบครัวระดับช่วงชั้นล่างสุดลดลง 48.4 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เฉลี่ยทั้งประเทศลดลงเพียง 2.7 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น

อัตราว่างงานในกลุ่มครอบครัวล่างสุดของสังคม เพิ่มขึ้นจาก 28.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2541 เป็น 44 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2542 เพิ่มขึ้นมากถึง 56 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานทั้งระดับที่เพิ่ม 42 เปอร์เซ็นต์. อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ ชี้ให้เห็นว่า รายจ่ายของผู้บริโภคครอบครัวระดับล่าง เพิ่มขึ้น 7 เท่า เมื่อเทียบกับรายจ่ายของครอบครัวชั้นบน

เมื่อพิจารณาถึงแรงจูงใจด้านภาษีที่รัฐบาลอ้างว่าออกมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตพบว่า มีคนทำงานเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่มีรายได้ถึงจำนวนที่ต้องจ่ายภาษี ฉะนั้นการลดภาษีมีเฉพาะคนรวยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ขณะที่คนจนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น จนนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมเชิงรายได้

จากการสำรวจสถิติแห่งชาติของสิงคโปร์เมื่อปี 2543 พบว่า ช่องว่างระหว่างรายได้ของคนส่วนบน (20 เปอร์เซ็นต์) เทียบกับคนส่วนล่าง (20 เปอร์เซ็นต์) เพิ่มขึ้นจาก 11.4 เท่าในปี 2533 เป็น 20.9 เท่าในปี 2543 ทำให้นักวิชาการสรุปว่า, การพัฒนาเศรษฐกิจตลอดระยะเวลา 40 ปีของสิงคโปร์ ทำให้ประเทศมีฐานะทางเศรษฐกิจแบบประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่มีการกระจุกตัวของรายได้ไม่ต่างอะไรกับประเทศด้อยพัฒนา

People of Singapore
Singapore has the second highest population density of all the independent countries in the world. Looking at the population, Singapore is truly a melting-pot of Asia. Though the population is predominantly of Chinese descent (77%), you will also see many Malays (14%) and Indians (8%). This is also reflected in the language; Singapore has four official languages (Malay, Mandarin, English and Tamil). Malay is the national language, while English is the language of administration.


 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

 

สังคมสิงคโปร์ทุกวันนี้ เป็นสังคมของชนชั้นสูง ไม่ใช่สังคมของประชาชน เป็นระบบที่สิงคโปร์สามารถเป็นประเทศได้โดยไม่ต้องมีคนสิงคโปร์ และก็ไม่มีหลักประกันอะไรที่จะบอกว่า รัฐบาลสนใจที่จะทำให้ชีวิตของคนธรรมดาซึ่งมีรายได้ไม่มากมาย มีอะไรดีขึ้น. ที่ 'เต้าปาโย' มีสามีภรรยากว่า 30 คู่นอนกอดกันบรรเทาความหนาว…ใต้สะพาน ท่ามกลางวงล้อมของตึกระฟ้าอันงามสง่า จุดใต้สะพานนี้เป็นบ้านของพวกเขามานานแล้วกว่า 1 เดือน พวกเขากินอาหารที่ร้านกาแฟหรือตามฟู้ดเซ็นเตอร์ และปลดทุกข์ทั้งหนักและเบาตามห้องน้ำสาธารณะ