บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๗๒ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๙
17-11-2549



Media and Politics
The Midnight University

สื่อพม่าพลัดถิ่น การต่อสู้เพื่อมาตุภูมิ
รายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับสื่อพลัดถิ่นของพม่าและชนกลุ่มน้อย
อัจฉรียา สายศิลป์
นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรภฺมิภาคศึกษา
บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมาของสื่อพม่าพลัดถิ่น ซึ่งพยายามต่อสู้เพื่อเสรีภาพ และประชาธิปไตย
และการหวนกลับไปฟื้นฟูประเทศมาตุภูมิ
สำหรับบทความชิ้นนี้เป็นเพียงการรายงานเบื้องต้น
ซึ่งนำมาจากส่วนหนึ่งของงานวิจัยของผู้เขียนเรื่อง
การจัดการความสัมพันธ์ในพื้นที่สื่อพลัดถิ่น: กรณีศึกษาองค์กรข่าวพลัดถิ่นจากประเทศพม่าในประเทศไทย
midnightuniv(at)gmail.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1072
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11 หน้ากระดาษ A4)

 



รายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับสื่อพลัดถิ่นของพม่าและชนกลุ่มน้อย
อัจฉรียา สายศิลป์ : นักศึกษาปริญญาโท สาขาภูมิภาคศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การเมืองร่วมสมัยของประเทศพม่า
นับจากเหตุการณ์นองเลือดเมื่อปี ค.ศ. 1988 ในกรุงร่างกุ้ง ที่รัฐบาลทหารพม่าได้ทำการปราบปรามนักศึกษาและประชาชนอย่างรุนแรง จนทำให้ประเทศพม่ากลายเป็นประเทศที่ทั่วโลกให้ความสนใจติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองจนถึงปัจจุบัน ที่แม้ว่าความพยายามผลักดันพม่าไปสู่ประชาธิปไตยจากนานาประเทศจะเป็นความพยายามที่ยังไม่สัมฤทธิ์ผล แต่อย่างไรก็ตาม ความหวังและความพยายามของชาวพม่าส่วนหนึ่งที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศพม่าในทางที่ดีขึ้นยังมีอย่างต่อเนื่อง

ในเวลาเดียวกัน สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทหารพม่า หรือที่รู้จักกันในชื่อ State Peace and Development Council (SPDC) กับชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม ที่ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าพยายามที่จะควบคุมก็ยังอยู่ในภาวะล่อแหลม ทำให้พม่าเป็นอีกประเด็นที่ยังอยู่ในความสนใจของประชาคมโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาที่แสดงความคิดเห็นต่อต้านรัฐบาลพม่าอย่างชัดเจน และสนับสนุนกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในเรื่องพม่า

ในทางตรงสหรัฐอเมริกาได้อนุญาตและรับผู้ลี้ภัยทางการเมืองไปพำนักอาศัยในประเทศของตน ส่วนทางอ้อม คือ การสนับสนุนทางการเงินผ่านองค์กรต่างๆ และการใช้สื่อกระแสหลักของตนนำเสนอความเคลื่อนไหว การต่อสู้ที่เด่นชัดในสายตาของนานาชาติคือ พรรคเอ็นแอลดี (National League for Democracy) ซึ่งมีนางออง ซาน ซู จี ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการในพรรค ที่ถูกนำเสนอจากสื่อมวลชนทั่วโลก ในฐานะนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย(ปัจจุบันยังถูกสั่งกักบริเวณในบ้านพักโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร อันเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าที่รุนแรงและต่อเนื่อง)

สำหรับการต่อสู้ที่เกี่ยวข้องกับประเทศพม่านั้น ไม่ได้มีเพียงนางออง ซาน ซู จี ที่ใช้การต่อต้านแบบสงบ (Passive Resistance) เท่านั้น หากแต่ยังมีกลุ่มคนอีกหลายกลุ่มที่แสดงตัวตนและจุดยืนในการต่อสู้อย่างชัดเจนเช่นกัน ตั้งแต่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมือง กลุ่มชนกลุ่มน้อยที่เรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเอง และกลุ่มองค์กรเพื่อประชาธิปไตย ในหลายๆประเทศ ซึ่งมีการเคลื่อนไหวในรูปแบบที่หลากหลาย

ในทางตรงข้ามก็มีกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าให้คงอำนาจอยู่ได้จนกระทั่งในปัจจุบัน ได้แก่ กลุ่มทุนจากประเทศในเอเชียที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่รัฐบาลทหาร เช่นจากประเทศจีน อินเดียกับประเทศต่างๆ ที่เป็นประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะไทย (โกสุมภ์ สายจันทร์ 2549)และชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มในพม่าเองที่เข้าร่วมกับรัฐบาลทหารพม่า ขณะที่ประชาชนในประเทศพม่าส่วนใหญ่มักจะไม่มีโอกาสแสดงตนในฐานะผู้ต่อสู้ แม้กระทั่งการรวมกลุ่มทางสังคมและวิชาชีพต่างๆ ก็แทบจะไม่ปรากฏนักเพราะถูกควบคุมด้วยอำนาจรัฐอย่างเข้มงวด(Liddell 1999)

สื่อมวลชนใต้เงารัฐบาลทหารพม่า
นอกจากกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าแล้ว กลุ่มสื่อมวลชน เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่รัฐบาลทหารพม่าควบคุมการทำงานอย่างเข้มงวด ดังจะเห็นว่าปัจจุบัน สื่อหลักที่นำเสนอเรื่องราวเหตุการณ์ของประเทศพม่า จึงมีเพียงสื่อที่ผลิตโดยรัฐบาล ส่วนสื่ออื่นๆ ในพม่านั้น ต้องผ่านการควบคุมตรวจสอบเนื้อหาอย่างเข้มงวด ก่อนการนำเสนอกิจการของประเทศ

โดยเหตุที่รัฐบาลทหารพม่าได้มีการควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ทำให้ข่าวสารเหตุการณ์ของประเทศพม่าที่นำเสนอออกสู่ภายนอกมีปริมาณน้อยมาก และการผลิตสื่อโดยรัฐบาลทหารพม่าเอง เช่น หนังสือพิมพ์ "นิวไลท์ออฟเมียนมาร์" ก็นำเสนอข่าวสาร เรื่องราวต่างๆ ในฐานะสื่อของรัฐ รวมทั้งสภาพสังคม เศรษฐกิจภายในประเทศ มีการนำเสนอไม่ครอบคลุมทุกประเด็น นำมาซึ่งการไม่สามารถประเมินปัญหาที่เกิดขึ้นในพม่าได้อย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในภูมิภาคเดียวกัน และในระดับประชาคมโลกด้วย

ตัวอย่างเช่น สถานการณ์โรคติดต่อ ที่มีการระบาดอย่างรุนแรง เช่น มาลาเรีย ไข้เลือดออก เป็นต้น, ปัญหายาเสพติด, และการกลายเป็นผู้พลัดถิ่นของประชาชนในพม่า จนเกิดการอพยพเข้าไปยังประเทศใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย อินเดีย บังกลาเทศ ในฐานะแรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัยจากการสู้รบ(Refugees) ที่เข้าไปอาศัยในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เฉพาะเพียงในประเทศไทยมีจำนวนผู้ลี้ภัยจากพม่าเข้ามาพักพิงกว่า 150,000 คนในปี ค.ศ. 2003 จากรายงานของ Burmese Border Consortium (อ้างในพรพิมล 2548)

Bertil Lintner (2001) ได้เขียนบทความชื่อ "Denial of Access" นำเสนอสถานการณ์การควบคุม ปิดบังข่าวสารของรัฐบาลทหารพม่าว่า ในปี ค.ศ. 1997 คณะกรรมการปกป้องผู้สื่อข่าวได้กล่าวถึงผู้นำประเทศพม่าคือพลเอก Than Shwe กับ ผู้นำของอินโดนีเซียขณะนั้นคือพลเอก Soeharto ว่าเป็น "ศัตรูสองคนที่สำคัญที่สุดของสื่อมวลชน" ในทวีปเอเชีย และหลังจากนั้นพลเอก Soeharto ได้ลงจากอำนาจทำให้อินโดนีเซียได้เปิดสู่ยุคของเสรีภาพและการเปิดกว้าง แต่สำหรับพม่านั้นสถานการณ์ กลับยิ่งเลวร้ายลง ทั้งนี้เพราะไม่เพียงแต่การเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารแล้ว ข้อมูลที่เป็นสถิติทางการ แม้กระทั่งข้อมูลพื้นฐานเช่น ปริมาณผลผลิตข้าวการเติบโต,ด้านอุตสาหกรรม, และอัตราการรู้หนังสือของประชาชน ฯลฯ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นความลับทางราชการทั้งสิ้น

ดังนั้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of Expression) ของประชาชนในพม่า โดยเฉพาะสื่อมวลชน อันเป็นปัจจัยสำคัญของกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยนั้น ได้ถูกปิดกั้นโดยรัฐบาลทหารพม่า จนอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง จากการรายงานขององค์กรสื่อไร้พรมแดน (Reporter Sans Frontier) รายงานว่า ในปี ค.ศ.2005 ประเทศพม่าให้สิทธิเสรีภาพแก่สื่อมวลชนอยู่ในอันดับที่163 จาก167 อันดับ (RSF Worldwide Press Freedom Index: 2005) ซึ่งการคุกคามและจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนของรัฐบาลพม่านั้น ยิ่งทำให้ทั่วโลกเล็งเห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่ามากขึ้นนั่นเอง

ข่าวสารที่เกี่ยวกับพม่าในสื่อมวลชนกระแสหลัก
1. ข่าวสารที่เกี่ยวกับพม่าสื่อมวลชนไทย แม้ว่าประเทศพม่ากับประเทศไทยจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนยาวติดต่อกันถึง 1, 609 กิโลเมตร นับตั้งแต่จังหวัดเชียงรายจนถึงจังหวัดระนอง และมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมายาวนาน แต่ความเข้าใจระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศยังยึดติดอยู่กับตำราประวัติศาสตร์ ซึ่งเน้นย้ำอยู่กับเรื่องราวของชนชั้นปกครอง สถาบันกษัตริย์ การสู้รบ ดังนั้นปัจจุบันข่าวสารจากประเทศพม่าในประเทศไทย ก็ยังมีปรากฏอย่างจำกัด

พุทธณี กางกั้น (2544) ได้เสนอไว้ในบทความเรื่อง "พม่า: รากอันหยั่งลึกของการไม่เป็นข่าว"ว่า เรื่องราวของพม่าในสื่อไทยนั้นมีปรากฏอยู่บ้าง แต่ก็มักจะเป็นการตอกย้ำอคติในด้านลบ ที่ถูกปลูกฝังมาจากระบบการศึกษา ประวัติศาสตร์ และละเลยที่จะมองในเรื่องราวอื่นๆ ซึ่งคนที่มาจากพม่าต้องประสบเมื่อต้องพลัดถิ่นมาอยู่ในไทย ดังนั้น จากการทำงานของสื่อที่มีความเข้าใจในประเด็นพม่าที่มีความซับซ้อนแต่เพียงผิวเผิน ประกอบกับนโยบายของรัฐไทยที่มีต่อพม่าก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และธรรมชาติของงานข่าวที่ต้องรวดเร็วมาก ทำให้ความเข้าใจในประเด็นเกี่ยวกับพม่าเพื่อนบ้านปราศจากความต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การสัมมนาเรื่อง "สื่อสันติภาพ ในลุ่มแม่น้ำโขง" จัดโดยคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2006 มีนักวิชาการและนักสื่อสารมวลชนซึ่งเข้าร่วม ในฐานะวิทยากรบางท่านแสดงความเห็นว่า สื่อไทยนำเสนอเรื่องเพื่อนบ้านน้อย โดยเฉพาะประเด็นพม่า อันเนื่องมาจากการประสานงานระหว่างองค์กรสื่อยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ ขาดความเข้าใจในสถานการณ์ และที่สำคัญคือความไม่เข้าใจภาษาซึ่งกันและกัน ทำให้สื่อไทยมีขีดจำกัดในการทำข่าวของเพื่อนบ้านและต้องพึ่งพิงข่าวจากสำนักข่าวต่างชาติอื่นๆ เป็นหลัก

2. ข่าวสารที่เกี่ยวกับพม่าในสื่อมวลชนสากล ประเด็นเกี่ยวกับประเทศพม่าที่ปรากฏในสื่อมวลชนสากล ในภาษาอังกฤษนั้น มีความต่อเนื่องทั้งในประเด็นของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มฝ่ายต่อต้านรัฐบาล, ข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชน, การเรียกร้องของกลุ่มองค์กรช่วยเหลือต่างๆ, ประเด็นผู้ลี้ภัย, การสู้รบของชนกลุ่มน้อย, แต่อย่างไรก็ตาม ก็จำกัดเฉพาะข่าวที่เป็น "ประเด็น" โดยการจัดวาระของสื่อสากลเหล่านั้น

ณัฐวดี ดวงตาดำ (2549)ได้นำเสนอใน "การสร้างภาพลักษณ์นางอองซาน ซูจี ผ่านการรายงานข่าวของสื่อมวลชนข้ามชาติ ค.ศ.1988-2003" กล่าวถึงการรายงานข่าวสารของสื่อมวลชนข้ามชาติในเรื่องของประเทศพม่า โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของนางออง ซาน ซูจี ไว้ว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้นางออง ซาน ซูจี เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เนื่องมาจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชนข้ามชาติ ที่คอยติดตามและรายงานความเคลื่อนไหวของเธอให้โลกได้รับรู้ตลอดมา นับตั้งแต่เธอเริ่มมีบทบาททางการเมืองเมื่อปี ค.ศ. 1988 จนถึงปัจจุบัน การรายงานข่าวของสื่อมวลชนข้ามชาตินี้ เป็นหนึ่งในกระบวนการสื่อสารระหว่างประเทศในปัจจุบัน อันเป็นการแสวงหาความสนับสนุนและร่วมมือทางการเมืองของนางอีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากนั้น การสื่อสารระหว่างประเทศดังกล่าว ยังได้ทำให้โลกกลายเป็นหมู่บ้านโลก (Global Village) ที่เชื่อมชีวิตวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง เข้าด้วยกัน ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ จนอาจกล่าวได้ว่า ปรากฏการณ์ด้านการสื่อสารระหว่างประเทศในปัจจุบัน คือ ทรัพยากรแห่งอำนาจทางการเมืองที่สำคัญที่สุดในบรรดาทรัพยากรแห่งอำนาจทั้งปวง และณัฐวดี ( 2549) ได้ให้คำนิยามองค์กรข่าวที่ก่อให้เกิดกระแสการไหลเวียนของข่าวสารทั่วโลก ว่า องค์กรสื่อข้ามชาติ ที่เป็นหลักและครอบครองการนำเสนอข่าวไปทั่วโลก ด้วยปัจจัยทางด้าน ประสบการณ์ ความชำนาญ บุคลากร และเทคโนโลยีทันสมัย ที่ทำให้เข้าถึงเหตุการณ์ และรายงานข่าวได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตามจากการศึกษาในเรื่องการสร้างภาพลักษณ์ของนางออง ซาน ซูจี ผ่านการรายงานข่าวของสื่อข้ามชาติเหล่านี้ ณัฐวดี (2549) ได้ให้ความเห็นว่า เป็นมุมมองในฐานะที่เป็น "คนนอก" ผู้มองเข้าไปในสังคมพม่า มากกว่าที่จะศึกษาวิเคราะห์จากคนในหรือสื่อในสังคมพม่าเอง

ผู้ศึกษาเห็นว่า แม้ว่ามุมมองจากชาวพม่าที่เป็น "คนใน" มีความสำคัญในเรื่องการให้ข้อมูลที่ชัดเจน แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องการสื่อสารที่ถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดในพม่าดังกล่าว ทำให้การสื่อสารจากภายในอย่างชัดเจนเป็นไปได้ยาก "สื่อพลัดถิ่น" จึงเป็นช่องทางในการสื่อสารที่สำคัญอีกทางหนึ่งระหว่างภายในและภายนอกประเทศ และเชื่อมเครือข่ายต่างๆเข้าด้วยกัน

สื่อพลัดถิ่น : นิยามความหมาย
สื่อพลัดถิ่น
เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาเรื่องสื่อพลัดถิ่นโดยตรงในประเทศไทยมาก่อน ผู้ศึกษาจึงเริ่มศึกษาในเรื่องนี้จากการแสวงหานิยามความหมายของสื่อพลัดถิ่น โดยสำรวจจากมุมมองทางทฤษฎีและแนวคิดจากงานวิจัยและเอกสารที่เกี่ยวข้องสองชุด

ชุดแรก เกี่ยวข้องกับแนวคิด "สื่อ" ที่สัมพันธ์กันคือการนิยามลักษณะของสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือก เพื่อนิยามจากมุมมองในกรอบของแนวทางการศึกษาสื่อ (Media study) และ
ชุดที่สอง สำรวจจากมุมมองของการพลัดถิ่น (Exiles) ตามแนวทางการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนิยามความหมายของสื่อพลัดถิ่น

๑. แนวคิดเรื่องลักษณะของสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือก
Noam Chomsky ได้บรรยายที่สถาบัน Z media Institute เมื่อปี ค.ศ.1997 และสรุปปัจจัยที่ทำให้สื่อกระแสหลักอยู่ในกระแสหลัก Chomsky ยกตัวอย่างสื่อสำคัญๆ อาทิ สื่อภาคบันเทิงเช่น ฮอลลีวู้ด หรือละครน้ำเน่า สื่อชั้นสูง หรือบางครั้งก็เรียกกันว่า เป็นสื่อที่กำหนดวาระข่าวสารในสื่ออื่นที่เหลือ ตัวอย่าง เช่น หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ และ CBS

Chomsky จัดสื่อชั้นสูงเหล่านี้ว่าอยู่ในกลุ่มสื่อกระแสหลัก มีลักษณะที่เห็นได้ชัดคือ เป็นสื่อหลักสำคัญในกลุ่มสื่อด้วยกัน ทำกำไรได้ องค์กรอยู่ในรูปของบริษัทและมีกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่กว่าเป็นเจ้าของซ้อนอยู่ หรือมีหุ้นส่วนในธุรกิจสื่อ ทิศทางและความโน้มเอียงขององค์กรสื่อเป็นไปในทางเดียวกับแนวคิดของขั้วอำนาจใหญ่ๆ ทั้งหลายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล นักวิชาการ บริษัทเอกชน เนื่องจากสื่อได้เรียนรู้และมีการปะทะสังสรรค์กับขั้วอำนาจเหล่านี้เสมอในฐานะแหล่งข่าว ตัวสื่อหรือเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านสื่อไม่ใช่ผลผลิตที่องค์กรสื่อขายให้กับผู้รับสาร แต่ผู้รับสารต่างหากที่เป็นผลผลิต

Michel Albert (2003) ได้ให้ทรรศนะว่า สิ่งที่แยกสื่อทางเลือกออกจากสื่อกระแสหลัก น่าจะอยู่ที่วิธีการจัดตั้งและทำงานขององค์กร ซึ่งวิธีก่อจัดตั้งและทำงานของสถาบันสื่อกระแสหลัก มี 3 ประการคือ

1. เป็นสถาบันที่จัดตั้งโดยมีจุดประสงค์เพื่อหากำไรสูงสุด เช่น การขายผู้รับสารให้แก่บริษัทที่จะลงโฆษณา
2. มีการจัดตั้งที่สอดคล้องกับและเสริมความเข้มแข็งให้แก่ความสัมพันธ์แบบมีลำดับชั้นที่เป็นอยู่ในสังคม
3. มักควบคุมโดยสถาบันสังคมที่สำคัญอื่น โดยเฉพาะบรรษัทขนาดใหญ่

ส่วนสื่อทางเลือก มีวิธีการจัดตั้งและทำงานดังนี้

1. ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อแสวงหากำไรสูงสุด ไม่ขายผู้รับสารให้แก่บริษัทที่ลงโฆษณา
2. มีโครงสร้างเพื่อกลบเกลื่อนลบความสัมพันธ์แบบลำดับชั้นทางสังคมที่เป็นอยู่
3. เป็นอิสระจากสถาบันสังคมอื่น โดยเฉพาะบรรษัทขนาดใหญ่

อนุช อาภาภิรม (2545) ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การทำงานของสื่อทางเลือกนั้น มีลักษณะของการเคลื่อนไหวทางสังคมอยู่ในตัว ในขณะที่สื่อกระแสหลักดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อกำไรและคงสถานะเดิม สื่อทางเลือกดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อผู้รับฟังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในระยะหลังได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนกันและกัน ซึ่งเห็นได้ว่าสื่อทางเลือกขยายตัวและเข้มแข็งขึ้นตามขบวนการทางสังคม ขณะเดียวกันขบวนการทางสังคมก็ขยายตัวและเข้มแข็งขึ้นตามสื่อทางเลือก นั่นคือขบวนการสังคมกับการสื่อสารและรณรงค์ได้บรรจบเข้าด้วยกัน บางคนเรียกว่าเป็นขบวนการสังคมใหม่ (New Social Movements)

จากคำจำกัดความของยูเนสโก (Lewis 1993 อ้างใน พิรงรอง รามสูตร รณะนันทน์ 2547) สื่อทางเลือก หมายถึงโครงสร้างการสื่อสารและแนวปฏิบัติ ที่ถูกสร้างเพิ่มเติม เนื่องจากแนวทางของสื่อสารกระแสหลักไม?สามารถตอบสนองความต้องการสื่อสารของคนบางกลุ่มได้ คำจำกัดความสื่อทางเลือกจึงมักถูกเปรียบเทียบในลักษณะคู่ตรงข้ามกับสื่อกระแสหลัก. ในประเทศไทยนั้นได้มีการแยกย่อยสื่อทางเลือกออกไปอีกเช่น สื่อภาคประชาชน สื่อชุมชน(อ้างในพิรงรอง รามสูตร รณะนันทน์ 2547)

เมื่อจำแนกตามประเภทสื่อดังกล่าวมา จากการสำรวจเบื้องต้นผู้ศึกษามีความเห็นว่า สื่อพลัดถิ่นจากประเทศพม่า มีลักษณะหลายประการที่ใกล้เคียงกับสื่อทางเลือก กล่าวคือ ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อแสวงหากำไรสูงสุด, ไม่ขายผู้รับสารให้แก่บริษัทที่ลงโฆษณา, นำเสนอเนื้อหาสาระที่โดยมากจะแตกต่างจากเนื้อหาที่พบได้ทั่วไปในสื่อกระแสหลัก, แต่อย่างไรก็ตามก็มีบางส่วนที่เหมือนกับสื่อกระแสหลัก หรือสื่อกระแสหลักนำไปอ้างอิงและเผยแพร่ซ้ำ มีความพยายามเป็นอิสระจากสถาบันสังคมอื่น โดยเฉพาะบรรษัทขนาดใหญ่ แต่มีความสัมพันธ์กับองค์กรที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย (pro-democracy) และส่งเสริมทางด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเรื่องเงินทุน มีความสัมพันธ์กับผู้?รับสารแตกต่างจากสื่ออื่น กล่าวคือผู้อ่านผู้ฟังเข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมสื่อหรือเปิดให้ผู้รับสารรับสารเข?ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิด เห็นความต้องการได้

ระดับการแพร่?กระจาย ของสื่อมีความหลากหลาย อาจมีทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระดับโลก แต่ในบางประเด็นผู้ศึกษายังต้องศึกษาข้อมูลต่อไปให้ชัดเจนขึ้น นั่นคือ เรื่องแนวคิด, เป้าหมาย, โครงสร้างองค์กร และวิธีการทำงาน และในข้อที่กล่าวถึงความเกี่ยวข้องกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งอนุช อาภาภิรม (2545) ได้ให้ความเห็นว่าสื่อทางเลือกนั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

๒. ในบริบทของการพลัดถิ่น
แนวคิดเรื่องการพลัดถิ่นนั้น มีการถกเถียงและทำการศึกษาอยู่ในหลากหลายแนวทาง คนพลัดถิ่นในฐานะ "คำศัพท์ (term)"นั้น ด้านหนึ่งทำให้เกิดการขยายกว้างออกไปของกลุ่มคนที่อาจเรียกได้ว่าเป็นคนพลัดถิ่น ดังคำกล่าวของ Tololyan (อ้างใน ฐิรวุฒิ เสนาคำ2547)

คำนิยามในภาษาไทยในเรื่องสื่อพลัดถิ่น อาจไม่สามารถจำแนกได้ชัดเจนถึงลักษณะของการพลัดถิ่น ที่อาจจะมีทั้งความหมายแคบและความหมายกว้าง งานศึกษาจำนวนมากยังคงผูกโยงคนพลัดถิ่นไว้กับ "การถูกขับหรือบังคับให้ออกจากมาตุภูมิ" ซึ่งมีตัวอย่างที่เด่นชัด เช่น ชาวยิวพลัดถิ่น, ชาวอาร์เมเนียนพลัดถิ่น, ชาวคาริบเบียนพลัดถิ่น เป็นต้น โดยมีประสบการณ์ความเจ็บปวด ขมขื่นและเป็นเหยื่อ

สำหรับ Cohen (1996) ได้พยายามอธิบายภาพการอพยพของคนพลัดถิ่นอื่นๆ ด้วยการจัดจำแนกประเภทออกเป็น

- คนพลัดถิ่นที่เกิดจากการบีบบังคับหรือตกเป็นเหยื่อ,
- ชุมชนพลัดถิ่นด้านแรงงาน,
- ชุมชนพลัดถิ่นที่เกิดจากกิจกรรมการค้า,
- ชุมชนพลัดถิ่นที่เกิดมาจากระบบจักรวรรดินิยม,
- และชุมชนพลัดถิ่นด้านวัฒนธรรม-ศาสนา,

ซึ่งทำให้ประสบการณ์ของคนพลัดถิ่นไม่ได้มีเพียงด้านลบหรือเต็มไปด้วยความเจ็บปวด เท่านั้น หากแต่กลับมีอีกแง่มุมของประสบการณ์ที่การเคลื่อนย้าย เป็นทางเลือกซึ่งอาจจะนำมาสู่การมีชีวิตที่ดีขึ้น เช่น แรงงานจากเอเชียใต้, พ่อค้าชาวจีน, กลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพสาขาต่างๆ จากประเทศแถบเอเชียที่ไปทำงานในประเทศยุโรป เป็นต้น (ฐิรวุฒิ เสนาคำ2547)

ในประเทศไทยก็มีคนพลัดถิ่นจากหลายประเทศและหลายกลุ่มเข้ามาตั้งรกราก ด้วยเหตุผลทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ ตั้งแต่ในสมัยโบราณ ทั้งชาวเอเชียและชาวยุโรป

สื่อพลัดถิ่นจากประเทศพม่า
การพลัดถิ่นของชนกลุ่มต่างๆ จากประเทศพม่าเข้ามาในประเทศไทยมีหลายรูปแบบ ดังจะเห็นได้จากงานวิจัยต่างๆ ทั้งผู้อพยพ, แรงงานข้ามชาติ, ผู้ลี้ภัยทางการเมือง, อันเนื่องมาจากภาวะทางการเมือง การสู้รบและความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ

ในกรณีของสื่อพลัดถิ่นอันมีจุดกำเนิดมาจากการลี้ภัยทางการเมืองนั้น ผู้ศึกษามีความเห็นว่า อยู่ในฐานะของ องค์กรสื่อ ที่ดำเนินงานโดยผู้ทำงานที่รวมตัวกันอยู่ในสถานะชุมชนคนพลัดถิ่น (Exile community) ตามความหมายของ Cohen (1996) (อ้างในฐิรวุฒิ เสนาคำ 2547 )ที่ได้แบ่งคนพลัดถิ่นออกเป็นห้าประเภท ประเภทที่ผู้ศึกษาเห็นว่าตรงกับกรณีศึกษาก็คือ คนพลัดถิ่นที่เกิดจากการบีบบังคับหรือตกเป็นเหยื่อ ซึ่งเป็นความหมายในแง่ลบ แต่ในกรณีของชาวพม่าพลัดถิ่น ที่ทำงานผลิตสื่อมีลักษณะที่เข้ากับทรรศนะของ Cohen คือ กระจายอยู่นอกมาตุภูมิ ตั้งแต่สองแห่งหรือสองประเทศขึ้นไป

การกระจายดังกล่าวเกิดจาการถูกขับหรือบังคับ มีความทรงจำร่วมกับถิ่นกำเนิด มีอุดมคติและพันธะร่วมกันในการรักษา ฟื้นฟู สร้างความปลอดภัยและมั่งคั่งแก่มาตุภูมิ มีสำนึกร่วมและกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อกลับสู่มาตุภูมิ มีสำนึกความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้มข้น มีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับสังคมของประเทศที่ตนอาศัยอยู่ในปัจจุบัน มีความเห็นอกเห็นใจและสมานฉันท์กับคนพลัดถิ่นชาติพันธุ์เดียวกันที่อาศัยอยู่ในอีกประเทศ

Lisa Brooten (2006) ได้นำเสนอในบทความเรื่อง Political Violence and Journalism in a Multi-ethnic State: A Case Study of Burma (Myanmar) ว่า สื่อ โดยเฉพาะในด้านวารสารศาสตร์นั้นเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่การเปิดกว้างมากขึ้น และแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในกระบวนการสู่ประชาธิปไตยและลดความรุนแรงทางการเมืองลง

การนำเสนอข่าวสารของสื่อ นับเป็นอีกพื้นที่หนึ่งของการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ อันเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีพลังน้อยกว่า เพื่อเป้าหมายในการเรียกร้องในเรื่องที่เป็นประเด็นร่วมกัน ดังที่ปรากฏอยู่ในสังคมประชาธิปไตยทั่วโลกตั้งแต่ ทศวรรษที่ 1970s ที่เห็นได้อย่างชัดเจนทั่วโลก อาทิ ขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิสตรี, การเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกร, ชนกลุ่มน้อย, และขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร2545)

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมหลายกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับประเทศพม่านั้น มีเป้าหมายต่างๆ กัน แต่ขบวนการที่เห็นได้ชัดเจนผ่านสื่อต่างๆ ทั่วโลกนั้น ก็คือขบวนการเรียกร้องการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตย (Democratization) อันเป็นการเคลื่อนไหวที่มีระยะเวลายาวนานและขยายกลุ่มจาก กลุ่มของชาวพม่าทั้งบางส่วนในประเทศและส่วนใหญ่ที่พลัดถิ่นอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก แผ่ออกไปถึงรัฐบาลประเทศต่างๆ นอกจากนั้นยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มสิทธิมนุษยชน องค์กรระหว่างประเทศ พยายามเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยยุทธวิธีต่างๆ ทั้งต่อรัฐบาลพม่าเอง รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งให้นานาประเทศเข้าแทรกแซงรัฐบาลพม่า เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

จากการสำรวจเบื้องต้นในพื้นที่ศึกษาในประเทศไทย พบว่ามีองค์กรข่าวพลัดถิ่นจากพม่าอยู่หลายองค์กร ซึ่งผู้ศึกษาแบ่งตามผู้ผลิตสื่อได้สองกลุ่มใหญ่ คือ

- องค์กรที่ดำเนินงานโดยชาวพม่าพลัดถิ่น (Burman in exiles) และ
- องค์กรที่ดำเนินงานโดยชนกลุ่มน้อยจากประเทศพม่า (Ethnic or non-Burman people from Burma) ที่มีอยู่หลายกลุ่ม

เมื่อแบ่งตามวัตถุประสงค์ของการผลิตสื่อ ก็พบว่าสื่อที่ผลิตโดยชาวพม่าพลัดถิ่นนั้น เน้นการนำเสนอเรื่องราวจากประเทศพม่า โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่ง แต่นำเสนอเรื่องราวจากประเทศพม่า ในด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่องราวการต่อสู้ของกลุ่มขบวนการต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับพม่า และเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลทหารพม่า รวมทั้งความเคลื่อนไหวจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ รวมทั้งองค์การสหประชาชาติที่ต่อต้านนโยบายของรัฐบาลทหารพม่ามาตลอด

การทำงานของสื่อกลุ่มนี้ มีทั้งที่เป็นแบบการทำงานในลักษณะของ "องค์กรข่าว" (News Organization) ที่มีกระบวนการทำงานหาข่าว และนำเสนอข่าว บทความผ่านสื่อของตนเอง ทั้งยังนำเสนอผ่านสื่ออื่นๆ ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคและระดับโลก และการเป็นศูนย์รวบรวมข่าวสารจากองค์กรข่าวต่างๆ ด้วย

ในขณะที่สื่อที่ผลิตโดยชนกลุ่มน้อย มักจะเน้นนำเสนอในฐานะตัวแทนของกลุ่มนั้น และเปิดพื้นที่สำหรับเรื่องราวของชนชาตินั้น และความเกี่ยวข้องกับรัฐ โดยเฉพาะเรื่องการถูกกระทำในฐานะผู้ที่มีกำลังน้อยกว่า และความพยายามในการต่อต้าน(Resistance) กับอำนาจรัฐพม่า แม้ว่าสื่อกลุ่มนี้จะมีการนำเสนอเรื่องราวของชนกลุ่มอื่นจากประเทศพม่าบ้างแต่ก็ไม่มากนัก

อย่างไรก็ตามแม้ว่าสื่อเหล่านี้จะไม่ได้อยู่ในกลุ่มของสื่อกระแสหลักโดยตรง ไม่ว่าจะในประเทศพม่าเอง หรือในประเทศไทย แต่ก็มีหลายครั้งที่ข่าวที่ปรากฏในสื่อพลัดถิ่นได้ถูกนำเสนอซ้ำ ติดตามเหตุการณ์และเผยแพร่ไปทั่วโลก โดยสื่อมวลชนกระแสหลักของประเทศต่างๆ รวมทั้งสำนักข่าวสากลอย่าง BBC, AP, และ AFP เป็นต้น

ในงานศึกษาของ Chris Tenove (อ้างในปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี 2549) ได้ชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจของข่าวที่ผลิตโดยสื่อพลัดถิ่นหรือองค์กรพลัดถิ่นจากพม่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นสื่อที่ค่อนข้างเชื่อถือได้ในแง่เนื้อหาข่าว พัฒนาการที่เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้นในแง่ของเครือข่ายข้อมูลและการสื่อสาร ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเข้าถึงการสื่อสารที่เริ่มยืดหยุ่นมากขึ้นในพม่า และการเพิ่มขึ้นของการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน ตลอดจนการแข่งขันกันเองของบรรดาสื่อมวลชนในการเข้าถึงแหล่งข่าวและเนื้อหาข่าวที่ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น

เมื่อจำแนกตามรูปแบบของสื่อ พบว่ามีทั้งสื่อสิ่งพิมพ์, สื่อวิทยุ, วีดิทัศน์, และที่แพร่หลายที่สุดในปัจจุบันก็คืออินเตอร์เนต ซึ่งกลายเป็นเทคโนโลยีสื่อที่สร้างเครือข่ายของกระบวนการเคลื่อนไหวเรื่องพม่าทั่วโลก

นอกจากนั้นผู้ศึกษาพบว่า สื่อพลัดถิ่นจากพม่านั้น มีการจัดตั้งองค์กรในหลายประเทศ รวมทั้งในพื้นที่ประเทศไทย ที่มีปัจจัยเรื่องการมีเขตแดนใกล้ชิดกับพม่า และมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นตามชายแดนอยู่เสมอ มีชนกลุ่มต่างๆ จากพม่าเข้ามาอยู่ในประเทศไทยในลักษณะแตกต่างกันเป็นจำนวนนับล้านคน รวมทั้งการเป็นที่ตั้งขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานเกี่ยวกับพม่าหลายแห่ง ทำให้เป็นปัจจัยหนึ่งที่อำนวยต่อการสร้างเครือข่ายข้อมูลข่าวสารด้วย

รายชื่อสื่อพลัดถิ่นจากประเทศพม่า (สำรวจในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549)

1. ชื่อองค์กร British Broadcasting Corporation (BBC ) Burmese Service
ปีที่ก่อตั้ง (ค.ศ.) 1940, ผู้ดำเนินการ BBC

2. ชื่อองค์กร Democratic Voice of Burma (DVB)
ปีที่ก่อตั้ง (ค.ศ.) 1992, ผู้ดำเนินการ ชาวพม่าพลัดถิ่น

3. ชื่อองค์กร The Irrawaddy Publishing Group
ปีที่ก่อตั้ง (ค.ศ.) 1992, ผู้ดำเนินการ ชาวพม่าพลัดถิ่น


4. ชื่อองค์กร Independent Mon News Agency
ปีที่ก่อตั้ง (ค.ศ.) 1999, ผู้ดำเนินการ ชาวมอญพลัดถิ่น


5. ชื่อองค์กร Kachin News Group
ปีที่ก่อตั้ง (ค.ศ.) …., ผู้ดำเนินการ ชาวคะฉิ่นพลัดถิ่น


6. ชื่อองค์กร Kachin Today Group
ปีที่ก่อตั้ง (ค.ศ.) 1999, ผู้ดำเนินการ ชาวคะฉิ่นพลัดถิ่น

7. ชื่อองค์กร Kachin Post Group
ปีที่ก่อตั้ง (ค.ศ.) 2002, ผู้ดำเนินการ ชาวคะฉิ่นพลัดถิ่น

8. ชื่อองค์กร Kantarawaddy Times
ปีที่ก่อตั้ง (ค.ศ.) 2004, ผู้ดำเนินการ ชาวคะเรนนีพลัดถิ่น

9. ชื่อองค์กร Kao Wao News
ปีที่ก่อตั้ง (ค.ศ.) 2000, ผู้ดำเนินการ ชาวมอญพลัดถิ่น

10. ชื่อองค์กร Khitpyaing (The New Era) Journal
ปีที่ก่อตั้ง (ค.ศ.) 1993, ผู้ดำเนินการ ชาวพม่าพลัดถิ่น

11. ชื่อองค์กร Khonumthung News Group
ปีที่ก่อตั้ง (ค.ศ.) 2002, ผู้ดำเนินการ ชาวคะฉิ่นพลัดถิ่น

12. ชื่อองค์กร Mizzima News Group
ปีที่ก่อตั้ง (ค.ศ.) 1998, ผู้ดำเนินการ ชาวพม่าพลัดถิ่น

13. ชื่อองค์กร Narinjara News
ปีที่ก่อตั้ง (ค.ศ.) 2001, ผู้ดำเนินการ ชาวอารากันพลัดถิ่น

14. ชื่อองค์กร Radio Free Asia (RFA) Burmese Version
ปีที่ก่อตั้ง (ค.ศ.) 1996, ผู้ดำเนินการ RFA

15. ชื่อองค์กร Radio Free Asia (RFA) Burmese Version
ปีที่ก่อตั้ง (ค.ศ.) 1996, ผู้ดำเนินการ RFA

16. ชื่อองค์กร Shan Herald Agency for News
ปีที่ก่อตั้ง (ค.ศ.) 1991 (ในพม่า) ย้ายมาไทย 1996, ผู้ดำเนินการ ชาวไทใหญ่พลัดถิ่น

17. ชื่อองค์กร Voice of America (VOA) Burmese
ปีที่ก่อตั้ง (ค.ศ.) 1943, ผู้ดำเนินการ VOA

18. ชื่อองค์กร Yoma3
ปีที่ก่อตั้ง (ค.ศ.) 1998, ผู้ดำเนินการ ชาวพม่าพลัดถิ่น

 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H

การทำงานของสื่อทางเลือกนั้น มีลักษณะของการเคลื่อนไหวทางสังคมอยู่ในตัว ในขณะที่สื่อกระแสหลักดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อกำไรและคงสถานะเดิม สื่อทางเลือกดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อผู้รับฟังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในระยะหลังได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนกันและกัน ซึ่งเห็นได้ว่าสื่อทางเลือกขยายตัวและเข้มแข็งขึ้นตามขบวนการทางสังคม ขณะเดียวกันขบวนการทางสังคมก็ขยายตัวและเข้มแข็งขึ้นตามสื่อทางเลือก นั่นคือขบวนการสังคมกับการสื่อสารและรณรงค์ได้บรรจบเข้าด้วยกัน บางคนเรียกว่าเป็นขบวนการสังคมใหม่ (New Social Movements)

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น