Media Art & Design
The Midnight University
ส่วนหนึ่งของงานวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษา
พื้นที่สาธารณะ
พื้นที่ส่วนตัว และเรื่องตัวตนบนไซเบอร์สเปซ
เอมอร
ลิ้มวัฒนา : นักวิจัย
นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้
เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง
การวิเคราะห์ตัวตนและการซ้อนทับกันของพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ
กรณีศึกษาไดอารี่ออนไลน์
โดยได้ตัดตอนมาบางส่วนจากงานวิจัยฉบับสมบูรณ์
เพื่อทำความเข้าใจเรื่องของพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ส่วนตัว และเรื่องตัวตน
ซึ่งอยู่ในความสนใจของวงวิชาการปัจจุบัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับสังคมวิทยาร่วมสมัย
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1059
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
12 หน้ากระดาษ A4)
พื้นที่สาธารณะ
พื้นที่ส่วนตัว และเรื่องตัวตนบนไซเบอร์สเปซ
เอมอร ลิ้มวัฒนา : นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
มช.
แนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว
ความหมายของ "พื้นที่สาธารณะ" ประกอบไปด้วยคำ 2 คำ คือ "พื้นที่"
และ "สาธารณะ" คำว่า "พื้นที่"มีความหมาย 2 นัยยะ ในความหมายแรกนั้นเป็นความหมายในแง่ของรูปธรรม
ซึ่งหมายถึง อาณาบริเวณแห่งใดแห่งหนึ่ง (area) ที่มีการแบ่งกั้นเขตเอาไว้แน่นอน
(boundary) และอีกความหมายหนึ่งในแง่ของนามธรรมหมายถึง เวทีทางสังคมที่มีการช่วงชิงอำนาจ
เช่นพื้นที่ทางวัฒนธรรมในสื่อสารมวลชน
ส่วนคำว่า
"สาธารณะ" หมายถึงส่วนรวม (public) ซึ่งมักถูกเปรียบเทียบกับคำว่า
"ส่วนตัว" (private) โดยความหมายของสาธารณะนี้อาจขยายออกไปถึงเรื่องผลประโยชน์ของส่วนรวมสำหรับคนหมู่มากที่สอดคล้องหรือขัดกับผลประโยชน์ส่วนตัว
(กาญจนา แก้วเทพ, 2543, 171-173) สุธาริน คูณผล ได้สรุปคุณสมบัติในการจำกัดความพื้นที่สาธารณะว่า
คือความเปิดกว้างให้เข้าถึงได้สำหรับทุกคน
พัฒนาการของพื้นที่สาธารณะนั้นเริ่มขึ้นในยุคสมัยศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นยุคที่สังคมยุโรปยังคงเป็นยุคสมัยสังคมศักดินา
จนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 17 ถึง 18 กลุ่มชนชั้นกลางเช่น พ่อค้า ช่างฝีมือ ขุนนาง
ปัญญาชน จึงได้มีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะ อันได้แก่ ร้านกาแฟ โรงเหล้า โดยจะทำการพบปะพูดคุยอย่างอิสระและใช้เหตุผลในเรื่องกฎหมาย
การเมือง การปกครอง และมีสื่อมวลชนประเภทหนังสือพิมพ์เป็นศูนย์กลาง อีกทั้งยังมีการนำเอาเรื่องราวที่พูดคุยถกเถียงไปนำเสนอต่อขุนนาง
กษัตริย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอภิสิทธ์ในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะแต่เดิม พื้นที่สาธารณะในแง่นี้จึงได้เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นเวทีให้คนชนชั้นกลางได้แสดงตัวในฐานะพลเมือง
ภายหลังพื้นที่สาธารณะได้ปรับเปลี่ยนไปเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมในยุคสมัยต่าง ๆ เช่นการกลายเป็นพื้นที่สำหรับฟังดนตรี เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ของคนในเมืองจากระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม และยังรวมไปถึงความมีชีวิตชีวา ชีวิตกลุ่มของคนในเมืองที่สายสัมพันธ์ขาดหายไป พื้นที่สาธารณะจึงเป็นแนวคิดที่จะช่วยให้เกิดกิจกรรมขึ้นเรื่อยมา อาทิเช่น กิจกรรมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคม กิจกรรมสำหรับเด็ก ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน (กาญจนา แก้วเทพ, 2543, 173-178)
สำหรับการเกิดขึ้นของสื่อกับ "พื้นที่สาธารณะ" สามารถพิจารณาแบ่งได้เป็น 3 สมัย ดังนี้ (กาญจนา แก้วเทพ, 2543, 183-185)
1. ยุคแรก ประเภทของการสื่อสารและสื่อหนังสือพิมพ์เป็นสื่อที่เอื้อต่อการเกิด communication rationality ตามแนวคิดของ Habermas แต่เมื่อหนังสือพิมพ์เปลี่ยนแปลงไปเป็นเชิงธุรกิจ และสนใจที่จะขายผู้อ่านให้แก่โฆษณามากกว่า หนังสือพิมพ์ก็เริ่มห่างหายจากภารกิจดังกล่าว
2. ยุคที่สอง ยุคของสื่ออิเลคทรอนิกส์ เช่น วิทยุและโทรทัศน์นั้นได้เข้ามาทำหน้าที่สร้างพื้นที่สาธารณะได้น้อยมาก เนื่องมาจากรูปแบบการใช้สื่อวิทยุและโทรทัศน์เป็นสื่อที่ใช้อยู่ภายในบ้านแบบส่วนตัว / เป็นครอบครัว (domestic media) และแม้ว่าจะเป็นสื่อที่มีความเร็วกว่าหนังสือพิมพ์ แต่ก็มีลักษณะแตกแยก ประเด็นต่าง ๆ เข้ามาสู่ความสนใจแล้วก็ถอยห่างออกไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นการเปิดตัวของสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ก็ยังค่อยข้างเน้นหนักไปทางเป็นสื่อเพื่อความบันเทิงมากกว่าการถกเถียงทางการเมือง
3. ยุคที่สาม หรือยุคปัจจุบัน เป็นยุคของการสื่อสารเสมือนจริง (virtual communication) โดยมีสื่อคอมพิวเตอร์เข้ามาเป็นสื่อกลาง ในด้านหนึ่ง การสื่อสารแบบเสมือนจริงนี้จะเป็นรูปแบบการรื้อฟื้นการสื่อสารแบบเผชิญหน้า (face-to-face communication) ขึ้นมาใหม่ เพราะผู้ส่งสารและผู้รับสารจะสนทนาพูดคุยกันได้แบบตัวต่อตัว ข้อที่แตกต่างไปจากการสื่อสารแบบเผชิญหน้าอย่างเดิมก็คือ การเผชิญหน้านั้นเป็นการเผชิญกันในโลกของคอมพิวเตอร์ (cyberspace) ไม่ใช่โลกของกายภาพ
สำหรับข้อที่แตกต่างอย่างมากระหว่างการสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์ (computer mediated communication - CMC) กับการสื่อสารผ่านสื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่ออิเลคทรอนิกส์ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ก็คือ การสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์นั้นเป็นการสื่อสารแบบสองทาง ในขณะที่หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์จะเป็นการสื่อสารทางเดียว นอกจากนั้น โดยเปรียบเทียบแล้ว ผู้ที่จะเข้ามาใช้สื่อคอมพิวเตอร์ จะต้องมีส่วนร่วมอย่างเอาการเอางาน (active participation) มากกว่าการเข้ามาใช้สื่อมวลชน
ตัวอย่างง่าย
ๆ ก็เช่น ผู้ชมทางบ้านอาจจะนอนหลับอยู่หน้าจอโทรทัศน์ที่เปิดอยู่ แต่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์
ผู้ใช้จะต้องคลิกเมาส์อยู่ตลอดเวลา คุณลักษณะเรื่องการสื่อสารแบบสองทางและการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของผู้ใช้สาร
เอื้ออำนวยต่อการสร้างอินเทอร์เน็ตที่สามารถเชื่อมต่อไปยังข้อมูลอื่น ๆ / ผู้ใช้อื่น
ๆ (Hypertext) ก็ยิ่งทำให้ขอบเขตของการสร้างพื้นที่สาธารณะนั้นสามารถขยายได้อย่างกว้างขวางโดยไร้ข้อจำกัดด้านกายภาพ
การสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์ทำให้พื้นที่สาธารณะที่เกิดขึ้นในชุมชนออนไลน์หรือสังคมไซเบอร์สเปซ
( The public sphere in cyberspace) ได้กลายเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์(electronic
marketplace) ประชาชนสามารถท่องไปยังเว็บต่าง ๆ ได้ ซึ่งทำให้เกิดการตีความหมายใหม่ตามแนวคิดของ
Habermas คือสื่อใหม่ถูกมองว่าทำให้พื้นที่ส่วนบุคคล (sphere of private people)
มาเป็นพื้นที่สาธารณะ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่การนำเสนอความเสมอภาคระหว่างสมาชิก
ซึ่งรวมถึงการถกเถียงโดยอาศัยประสบการณ์ส่วนบุคคลในการใช้หรือเริ่มจากการตีความข้อมูลที่ได้นำเสนอผ่านระบบสื่อ
(มนทกานติ์ ตปนียางกูร, 2545, 24)
Jurgen Habermas ผู้ริ่เริ่มเกี่ยวกับมณฑลสาธารณะ เน้นการศึกษาวิเคราะห์สังคมโดยใช้เกณฑ์ "ความมีเหตุมีผล" (Rationalization) และ "ความมีเหตุมีผลในการสื่อสาร" (Communicative action) ซึ่ง Habermas อธิบายว่า ด้วยความมีเหตุมีผลในการสื่อสารนี้จะทำให้ "ความเป็นตัวตน" (Selfhood) ทั้งระดับปัจเจกและระดับสังคมเกิดขึ้นได้ เพราะคนที่จะต้องการเสรีภาพนั้นต้องเป็นคนที่ตระหนักในความเป็นตัวของตัวเองเสียก่อน (บุญญาภรณ์ วาณิชยชาติ, 2544, 15)
ลักษณะดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นการปฏิวัติรูปแบบของการสื่อสารซึ่งเดิมบุคคลหนึ่งที่ติดต่อสัมพันธ์กันย่อมมีตัวตน (Identity) ของตนเอง โดยการแสดงออกทางสีหน้า แววตา ลักษณะท่าทาง ทำให้บุคคลที่แสดงความคิดเห็นนั้น ๆ ต้องรับผิดชอบต่อจุดยืนของตนเอง แต่การสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์จะไม่มีปรากฏการณ์เช่นนั้น ผู้สื่อสารไม่จำเป็นต้องพบหน้าค่าตากัน จึงทำให้มีอิสระอย่างสูงในการแสดงตัวตนของตนได้อย่างเต็มที่ผ่านทางสื่ออินเทอร์เน็ต
แนวคิดเกี่ยวกับการแสดงตัวตนในวัฒนธรรมสมัยนิยม
ตัวตน (Self) และอัตลักษณ์ (Identity) เป็นคำที่มีความหมายเกี่ยวข้องกัน และมีความสัมพันธ์กับวิชาหลากหลายแขนงทางสังคมศาสตร์
ทั้งสังคมวิทยา มานุษยวิทยา จิตวิทยา และปรัชญา (อภิญญา เฟื่องฟูสกุล, 2543,
หน้า 2-3)
ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) จิตแพทย์ผู้คิดค้นแนวคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ทฤษฏีของเขาได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ "ฟรอยด์" ได้ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์มิได้เป็นสัตว์ที่มีเหตุผลดังเช่นที่พวกเขาเชื่อหรืออยากเป็น หากแต่ความคิดของมนุษย์ถูกกำหนดโดยพลังแห่งจิตไร้สำนึก ที่ซ่อนเร้นและหลุดรอดจากความเข้าใจของมนุษย์ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย" ฟรอยด์พบว่าการกระทำ ความคิด ความเชื่อ หรือเรื่องเกี่ยวกับตัวตนนั้น ถูกกำหนดแสดงออกโดยไร้จิตสำนึก (unconscious), แรงขับ (driver) และความปรารถนา (desire) มนุษย์ขจัดประสบการณ์และความทรงจำอันเจ็บปวดโดยการเก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึกอันจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของเขา และก่อให้เกิดกลไกที่ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันตัวเองที่เรียกว่า "Ego Defense Mechanism" ขึ้นมา ประกอบไปด้วย (กาญจนา แก้วเทพ, 2547, 93-95)
1. การไม่ตัดสินใจเลือกข้างใดข้างหนึ่ง (Ambivalence) เป็นสภาวะที่ Ego ไม่ตัดสินใจเลือกข้างใดข้างหนึ่งให้เด็ดขาดลงไป แต่อยู่ในสภาวะสองจิตสองใจ เอียงไปข้างนั้นทีข้างนี้ที
2. ปฏิกิริยาการหลบหนี (Avoidance) เป็นปฏิกิริยาการหลบหนีจากวัตถุ ผู้คน หรือเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องเจ็บปวด เนื่องจากต้องข่มความรู้สึกที่พลังทางเพศและความก้าวร้าวอันแฝงอยู่ในจิตไร้สำนึกถูกระตุ้นให้สำแดงความปรารถนาออกมา
3. การหยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง (Fixation) เป็นสภาวะที่หยุดอยู่กับที่ไม่ยอมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปเพราะประสบการณ์อันเจ็บปวด (Trauma) เช่น เด็กที่เคยสูญเสียพ่อแม่ก็จะไม่สร้างความรักกับใครอีกเลยหากจะเกาะยึดอยู่กับความรู้สึกสูญเสียที่เกิดขึ้น
4. การเลียนแบบ (Identification) คือการปรับตัวโดยการเลียนแบบบุคคล หรือสิ่งของที่ตนชื่นชอบ โดยการพยายามปรับเปลี่ยนด้วยความรู้สึกทางจิตใจ มิใช่เพียงพฤติกรรมเท่านั้น เช่นการแสดงพฤติกรรมให้เหมือนกับบุคคลต้นแบบ ซึ่งอาจเป็นดารา นักแสดงหรือตัวละครต่างๆ
5. การป้ายความผิดให้ผู้อื่น (Project) คือการลดความวิตกกังวล โดยการโยนหรือป้ายความผิดไปให้กับผู้อื่น
6. การแสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกับความปรารถนาที่แท้จริง (Reaction Formation) คือการที่แสดงออกในสิ่งที่ตรงข้ามกับที่ตนรู้สึก เพราะคิดว่าสังคมอาจยอมรับไม่ได้
7. การเก็บกด (Repression) เป็นการเก็บความรู้สึกผิด ความคับข้องใจเอาไว้ในจิตใต้สำนึกจนกระทั่งลืม ซึ่งการเก็บกดนี้หากต้องเก็บความรู้สึกเอาไว้มากอาจทำให้เป็นโรคประสาทได้
8. การขจัดความรู้สึก (Supersession) มีลักษณะคล้ายกับ Repression แต่เป็นกระบวนการขจัดความรู้สึกดังกล่าวออกไปจากความคิด และเป็นกระบวนการที่เกิดอย่างที่ผู้กระทำมีความรู้ตัวและตั้งใจ ในขณะที่ Repression นั้นไม่รู้ตัว
9. การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) คือการหาเหตุผล หาคำอธิบาย มาอ้างอิง มาประกอบการกระทำของตนเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น
10. การชดเชยหรือการทดแทน (Substitution/Compensation) การชดเชยหรือการทดแทนด้วยการหาทางออก ในอันที่จะแสดงความต้องการของตน เช่นการต้องการระบายความก้าวร้าวก็หันไปเล่นกีฬาทดแทน หรือวิพากษ์วิจารณ์ศิลปะ เป็นการชดเชยในสิ่งที่สังคมยอมรับได้
11. การถดถอย (Regression) คือการหนีกลับไปอยู่กับสภาพอดีตที่ตนเคยมีความสุข เช่น ผู้ใหญ่เมื่อเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดก็แสดงอาการกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง
12. การสร้างวิมานในอากาศ หรือการฝันกลางวัน (Fantasy / Day Dreaming) คือการคิดฝัน หรือสร้างวิมานขึ้นเองเพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่สามารถเป็นจริงได้
13. การแยกตัว (Isolation) คือการแยกตัวให้พ้นจากสถานการณ์ที่นำความคับข้องใจมาให้ โดยการแยกตนออกไปอยู่ตามลำพัง
14. การหาสิ่งที่มาแทนที่ (Displacement) คือ การระบายอารมณ์โกรธ หรือคับข้องใจต่อคนหรือสิ่งของที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของความคับข้องใจ (อ้างใน ปิยเนตร ขาวโต, 2547, 50-51)
ฟรอยด์ยังเชื่ออีกว่า มนุษย์มีธรรมชาติดังเดิมที่เป็นความดิบ / เถื่อน คือ อิด(id) ที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตไร้สำนึกของมนุษย์ ซึ่งผลักดันให้มนุษย์กระทำการต่าง ๆ ที่เป็นพฤติกรรมของสัตว์ หรือกระทำไปโดยสัญชาตญาณ ฟรอยด์สร้างทฤษฎีจิตวิเคราะห์ขึ้นมาโดยเชื่อว่า ซูเปอร์อีโก้ (superego) บรรทัดฐานคุณงามความดีหรือระบบศีลธรรมที่เป็นวัฒนธรรมของมนุษย์จะควบคุมมิให้อีโก้ (ego) หรือตัวตน ของมนุษย์ตกอยู่ใต้แรงขับที่ชั่วร้ายนั้น การนำสาระของจิตไร้สำนึกมาตีแผ่ในจิตไร้สำนึก เช่น การปฏิบัติการทางจิตวิเคราะห์ การตีความฝัน หรือการบำบัดผู้ป่วยทางจิต นั้นก็คือการควบคุมธรรมชาติด้วยวัฒนธรรมนั่นเอง
ริชารจ์ เจนกินส์ (Richard Jenkins) (อ้างใน ประสิทธิ์ ลีปรีชา, 2547, หน้า 22-23) กล่าวว่า อัตลักษณ์ (Identity) มีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน คือ identitas เดิมใช้คำว่า idem ซึ่งมีความหมายว่าเหมือนกัน (the same) ซึ่งในพื้นฐานภาษาอังกฤษ อัตลักษณ์มีความหมายสองนัยยะ คือ ความเหมือนและความเป็นลักษณะเฉพาะที่แตกต่างออกไป นั่นคือ การตีความหมายของความเหมือนกันบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ และการเปรียบเทียบกันระหว่างคนหรือสิ่งของในสองแง่มุมมอง คือความคล้ายคลึงและความแตกต่าง
อัตลักษณ์ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ในตัว หรือเกิดมาพร้อมกับคนหรือสิ่งของ แต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นและเป็นพลวัต ซึ่งทำให้เราเข้าใจและรับรู้ว่าเราเป็นใคร คนอื่นเป็นใคร โดยอาศัยสังคมที่สัมพันธ์กับคนนั้น ๆ เป็นตัวสร้างและสืบทอดอัตลักษณ์
ปริตตา เฉลิมเผา กออนันตกูล ได้ให้คำอธิบายความเกี่ยวเนื่องและจุดเน้นที่ต่างกันของอัตลักษณ์และตัวตน โดยได้ใช้คำว่าอัตลักษณ์แทน Identity และคำว่า ตัวตนหรือสำนึกเกี่ยวกับความมีตัวตนครอบคลุมหลายคำ ได้แก่ self, subjectivity, identification คำทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับความสำนึกเกี่ยวกับตนเอง การนิยามตนเอง หรือการตอบคำถามว่า เราคือใคร จุดเน้นที่แตกต่างกันระหว่างอัตลักษณ์และตัวตนคือ อัตลักษณ์ หรือ identity อ้างอิงอยู่กับการจำแนกกลุ่มคนด้วยป้ายทางสังคมวัฒนธรรม เช่นคนไทย(อัตลักษณ์ทางเชื้อชาติ) ชาย หญิง(อัตลักษณ์ทางเพศ) คนชั้นกลาง ชาวบ้าน(อัตลักษณ์ทางชนชั้น)
ป้ายเหล่านี้มิได้เป็นเพียงความคิดหรือคำที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างเดียว แต่มีกลไกทางปฏิบัติการของการสร้างความหมายที่จะทำให้เกิดความสำนึกขึ้นภายในบุคคลว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่มีลักษณะร่วมบางอย่าง เช่น มีลักษณะทางกายภาพเหมือนกัน มีประวัติศาสตร์หรือความทรงจำร่วมกัน หรือมีเป้าหมายเดียวกัน
ส่วนคำว่า "ตัวตน" หรือ "สำนึกเกี่ยวกับความมีตัวตน" เน้นการดำรงอยู่ของตัวเราในฐานะที่เป็นบุคคล(person) ประธานหรือผู้กระทำ (subject, agent) อันเป็นที่ตั้งของการรับรู้ทางปัญญาและอารมณ์และเป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำต่าง ๆ นอกจากนี้แล้วอัตลักษณ์และตัวตนยังมีความเกี่ยวข้องกันมากขึ้นในกระแสความคิดร่วมสมัย อัตลักษณ์มีการเปลี่ยนแปลงตามสถานที่ เวลา และปรับตัวไปตามสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งทำให้เห็นว่าอัตลักษณ์และตัวตนก็คือการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับกลุ่ม หรือระหว่างกลุ่มกันคนนั่นเอง (ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, 2545 : 201-202)
อีริค อีริคสัน (Erik Erikson) (อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล, 2543, 17-19) นักจิตวิทยาเห็นว่า การก่อรูปของอัตลักษณ์เป็นกระบวนการตลอดทั้งชีวิต (a life-long process) และคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะสำคัญของตนเองได้ โดยเขาให้ความสำคัญกับกระบวนการของจิตสำนึก และเน้นเสรีภาพในการเลือกของปัจเจก ซึ่งปัจเจกแต่ละคนจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อทางเลือกในชีวิตและรูปแบบอัตลักษณ์ที่ตนเลือกจะเป็น โดยจะมีพัฒนาการของอัตลักษณ์ด้วยกันทั้งหมดแปดขั้น แต่ละขั้นจะมีความสัมพันธ์กับขั้นก่อนหน้า
ซึ่งขั้นที่อีริคสันเห็นว่ามีความสำคัญมากที่สุดคือ
ช่วงของวัยรุ่น เนื่องจากเป็นช่วงวิกฤติของการมีอัตลักษณ์ที่ลงตัวการความสับสนในบทบาท
วัยนี้เป็นวัยที่ต้องสวมหมวกทางสังคมหลายใบ ที่อาจขัดแย้งกันและต้องหลอมหลวมให้เกิดเป็นเอกภาพ
อีริคสันเน้นบูรณาการและดุลยภาพของพลังที่ขัดแย้งกัน อัตลักษณ์จึงเป็นความต่อเนื่องของคุณสมบัติที่เป็น
"เอกลักษณ์"ของคนคนหนึ่ง ทำให้เกิดความรู้สึกว่าอัตลักษณ์คือแก่นแกนของบุคคลและเป็นผลจากปฏิสัมพันธ์ที่สมดุลและสอดคล้องระหว่างปัจเจกและสังคม
เป็นผลผลิตของการต่อรองและเลือกสรรของปัจเจก
ชาร์ลศ์ คูลีย์ (Charles Cooley) (อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล, 2543, 25-26) เชื่อว่าสังคมและปัจเจกบุคคลเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ สังคมเกิดจากการผสมผสานของตัวตนเชิงจิต (mental selves) ของคนที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ซึ่งตัวตนที่พัฒนามาจากความรู้สึกนี้เรียกว่ากระบวนการ "ตัวตนในกระจกเงา" (the looking glass self) ประกอบไปด้วยภาพลักษณ์ของเราที่เรามีต่อตนเอง และจินตนาการเกี่ยวกับความเห็นของผู้อื่นที่มีต่อภาพลักษณ์นั้น ซึ่งจะหลอมหลวมกันเป็นความรู้สึกที่เรามีต่อตนเอง เช่นความรู้สึกภูมิใจ รู้สึกต่ำต้อย
คูลีย์เห็นว่ากลุ่มสังคมที่ใกล้ชิดกับปัจเจกมากที่สุด เช่น กลุ่มปฐมภูมิ อันได้แก่ครอบครัวและเพื่อนบ้าน จะเป็นสิ่งแวดล้อมที่สามารถดึงเอาคุณสมบัติด้านบวกต่าง ๆ เช่น มิตรภาพ และความสมานฉันท์ออกมาจากปัจเจกได้
จอร์ช เฮอร์เบิร์ต มี้ด (George Herbert Mead) (อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล, 2543, 26) เห็นว่า กลไกสำคัญของการสร้างตัวตนคือการเรียนรู้ที่จะสวมบทบาท(role-taking)ของผู้อื่น และหัวใจสำคัญในการเรียนรู้คือภาษา ซึ่งเป็นช่องทางถ่ายทอดระบบสัญลักษณ์และกฎเกณฑ์ร่วมของสังคม โดยอาศัยการเรียนรู้จากการเลียนแบบและการเล่นจากการสวมบทบาทของคนอื่นใกล้ตัว และหลอมหลวมเอาทัศนคติของบุคคลอื่นทั่วไป รวมทั้งซึมซับเอากฎเกณฑ์ร่วมของสังคมมาเป็นส่วนหนึ่งของเขา ตัวตนในทัศนะของมี้ดมี 2 ด้านที่ปะทะสังสรรค์กันเองตลอดเวลาคือ "me" ซึ่งเป็นตัวตนที่เกิดจากความเห็นและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และ "I" ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นลักษณะเฉพาะของเราเอง
ฌากส์ ลากอง(Jacques Lacan) (นภาพร หงษ์ทอง, 2547) กล่าวว่า มนุษย์เป็นความว่างเปล่า (nothingness) มนุษย์ต้องผ่านกระบวนการบันทึกความรู้หรือกระบวนการทำให้เป็นมนุษย์ใน 3 ประการ ซึ่งส่งผลให้มนุษย์มีความแปลกแยกในตัวเอง หรือมีบุคลิกภาพเป็น "3 คนในร่างเดียว"
- คนแรก เกิดขึ้นในกระบวนการบันทึกจินตนาการ จึงมีนิสัยเพ้อฝัน ชอบคิดเข้าข้างตัวเอง และตัดสินอะไรจากภายนอก
- คนที่สอง เกิดในกระบวนการบันทึกสัญลักษณ์เป็น "เด็กดี" ชอบอ้างเหตุผล กฎหมาย และศีลธรรม
- คนที่สาม เกิดขึ้นในกระบวนการบันทึกความจริง เป็นคนอารมณ์อ่อนไหวชอบหมกมุ่นอยู่กับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง ดื้อรั้น เก็บตัว
แต่ทั้งสามคนมีนิสัยเหมือนกันตรงที่ ก้าวร้าว หลงตัวเอง บ้าอำนาจ เห็นแก่ตัว และไม่เคยรักใครเลย อาจกล่าวได้ว่า ตัวตน ของมนุษย์แท้จริงในทัศนะของลากองคือ negativity ที่ซ่อนลึกอยู่ในความจริง
สำหรับทัศนะเรื่อง อัตบุคคล(subject) ลากองได้พิจารณามนุษย์ออกเป็น 3 ส่วนคือ
1. มนุษย์ คือความคิด ความคิดเกี่ยวกับตัวเองหรือ "ฉัน" ซึ่งถูกสร้างจากจินตนาการของการรับรู้ด้วยตา จากภาพหรือแบบในกระจกเงา เกิดขึ้นเพียงแต่ในความคิด เป็นจินตนาการหรือภาพแทนตัวเองที่อยากให้คนอื่นเห็น ลากองเรียกชั้นกระจกเงานี้ว่า "โลกแห่งจินตนาการ" (the realm of the Imaginary)
2. มนุษย์ เป็นวัฒนธรรม มนุษย์เริ่มที่ความว่างเปล่าใน "ขั้นกระจกเงา"(the Mirror stage) มนุษย์ได้สร้างอัตลักษณ์ขึ้นด้วยความเข้าใจตัวเอง จากการเลียนแบบจากภาพหรือเปลือกนอกของสิ่งอื่น แต่ก็ทำให้สิ่งนั้นกลายเป็นอัตลักษณ์เป็นตัวของตัวเอง กระบวนการขัดเกลาทางสังคมทำให้มนุษย์กลายเป็นวัตถุ(objectify) คือกลายเป็นผู้ถูกกระทำ มนุษย์มิใช่ผู้กระทำ(subject) อย่างแท้จริง เพราะในทุกการกระทำของมนุษย์เป็นผลมาจากการถูกกระทำของสังคม กฎเกณฑ์/อุดมคติ/ค่านิยม/วาทกรรม ลากองจึงกล่าวว่าจิตไร้สำนึกของมนุษย์เต็มไปด้วยวาทกรรมของสิ่งอื่น หรือของสังคม ความเป็นมนุษย์ของอัตบุคคลเป็นเพียงประดิษฐกรรมของวัฒนธรรมหรือ มนุษย์เป็นวัฒนธรรม
3. มนุษย์อยู่ในปรารถนา สิ่งที่ถูกบันทึกลงในจิตไร้สำนึกของมนุษย์ หรือที่ลากองเรียกว่าความรู้ของมนุษย์ (human knowledge) ที่บันทึกในกระบวนการแห่งจินตนาการ (the imaginary)เกิดจากการถ่ายแบบจากภาพของสิ่งอื่น ซึ่งให้ผลลัพธ์เป็นอัตลักษณ์(identity) หรืออีโก้ในอุดมคติ (ideal ego) เมื่อมนุษย์เข้าสู่กระบวนการขัดเกลาของทางสังคม (social dialectic)
เมื่อกล่าวโดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่าในทัศนะของลากอง อัตลักษณ์แรกเริ่มของมนุษย์เริ่มในจินตนาการ เป็นอัตลักษณ์ที่แปลกแยกจากตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์ กระบวนการขัดเกลาของสังคมได้ปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของมนุษย์ให้มีความแปลกแยกจากธรรมชาติที่แท้จริงมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือเมื่อวัฒนธรรมได้รับการยอมรับ ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์
โดยอัตลักษณ์มีลักษณะเป็นทวิลักษณ์ (binary opposition) คือมีสองด้านเช่นเดียวกับเหรียญที่เป็นเหรียญเดียวกัน แต่มีด้านหัวและด้านก้อย คือ การสงวน (preservation) และการปรับเปลี่ยน(sublimation)
การปรับเปลี่ยนเป็นนิสัยของอัตลักษณ์ หรือ "ฉัน" ในสัญลักษณ์บุคลิกด้านนี้ของอีโก้ผลักดันให้มนุษย์เข้าสู่กระบวนการทางวัฒนธรรม ส่วนการสงวนนั้นเป็นนิสัยของอัตลักษณ์ในด้านตรงข้ามหรือ negativity คือ "ฉัน" ในความจริงที่มีนิสัยดื้อรั้น คิดเล็กคิดน้อย เอาแต่ใจตัวเอง ไร้เหตุผล ก้าวร้าว และเร่าร้อนด้วยราคะ หรือมีนิสัยทุกอย่างที่เป็นสิ่งที่ต้องห้ามในโลกแห่งสัญลักษณ์ มันจึงมักปรากฏตัวในความฝัน การพลั้งปาก การพูดตลกโปกฮา หรืออาการของคนไข้โรคประสาท
แนวคิดเกี่ยวกับตัวตนและอัตลักษณ์ที่ได้นำเสนอข้างต้น พอจะทำให้เห็นความเกี่ยวข้องกันของความหมายของทั้งสองคำว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยอาศัยสังคม สิ่งแวดล้อมเป็นตัวขัดเกลา สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามบริบทของสังคม ซึ่งตัวตนและอัตลักษณ์นั้นเป็นความรู้สึกที่ประกอบไปด้วยภาพลักษณ์ของเราที่มีต่อตนเอง และจินตนาการเกี่ยวกับความเห็นของผู้อื่นที่มีต่อภาพลักษณ์ของเรา แล้วหลอมหลวมกันเป็นความรู้สึกที่เรามีต่อตัวตนของเรา โดยตัวตนจะมีความหมายที่เน้นไปที่ตัวบุคคลและอัตลักษณ์จะเน้นไปที่กลุ่มหรือชุมชน
Popular
culture และตัวตน
Popular culture ในคำแปลภาษาไทยนั้นมีหลากหลายคำด้วยกันไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรมสมัยนิยม,
วัฒนธรรมป๊อป, วัฒนธรรมมวลชน, วัฒนธรรมประชานิยม, วัฒนธรรมประชาชน. กระแสป๊อป
หรือแม้แต่การใช้ทับศัพท์คำว่า ป๊อป-คัลเจอร์ ซึ่งในความหมายของคำเหล่านี้ล้วนเต็มไปด้วยกิจกรรม
ทุกอย่างในชีวิตประจำวันของเราที่สังคมให้ความนิยมชมชอบ แทบทุกกระแสที่อยู่ในความสนใจของคนจำนวนมากโดยการนำเสนอของสื่อมวลชน
หรือสินค้า และบริการยอดนิยม ที่อยู่รายรอบตัวเรา ล้วนจัดเข้าข่ายนิยามของวัฒนธรรมสมัยนิยม
ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรม, เพลงป๊อป, ดนตรี, ละคร, แฟชั่น, ศิลป, งานเขียนต่างๆ
ที่อยู่ในกระแสนิยม
จันทรา มุเกอร์จี และไมเคิล ชุดสัน (Chandra Mukeji and Michael Schudson) กล่าวว่า วัฒนธรรมสมัยนิยม หมายถึงความเชื่อและปฏิบัติการรวมถึงสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้รับการยอมรับหรือการนิยามอย่างแพร่หลาย โดยประชากรกลุ่มหนึ่ง และนันทขว้าง ศิริสุนทร ได้กล่าวเอาไว้ว่า ป๊อป คัลเจอร์ต้องเป็นสิ่งที่มหาชนนิยม เป็นอะไรที่ตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมชนชั้นสูง ไม่จำเป็นต้องเป็นชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง เป็นของที่นิยมได้ทุกชนชั้น และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
อลิซาเบธ จี. เทราบี (Elizabeth G. Traube) กล่าวว่า "popular culture" เริ่มใช้ในยุโรปในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 โดยโจฮันน์ กอตต์ปรายด์ เฮอร์เดอร์ (Johann Gottfried Herder) ซึ่งได้จำแนกวัฒนธรรมออกเป็นวัฒนธรรมชั้นสูง (high culture) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของผู้ที่มีการศึกษา เป็นวัฒนธรรมแห่งเหตุผล และวัฒนธรรมชั้นต่ำ (low culture) หรือวัฒนธรรมป๊อป คือวัฒนธรรมไร้เหตุผล ใช้ความรู้สึกดั้งเดิม
แม็ทธิว อาร์โนลด์ (Mathew Arnold) ผู้สร้าง Culture and Anarchy งานชิ้นบุกเบิกของวัฒนธรรมป๊อป ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของความปั่นป่วนอนาธิปัตย์ และภาวะแห่งความไร้ระเบียบและกฎเกณฑ์ของสังคม
จอนห์ ฟิสเก้ (John Fiske) ได้กล่าวเกี่ยวกับแนวทางในการศึกษาวัฒนธรรมสมัยนิยมเอาไว้ว่าประกอบไปด้วย 3 แนวทางได้แก่
1. พิจารณาวัฒนธรรมสมัยนิยมจากตัวแบบของการประนีประนอม (a consensual model) มองเห็นวัฒนธรรมสมัยนิยมว่า เป็นเพียงพิธีกรรมของการจัดการความแตกต่างและความตึงเครียดทางวัฒนธรรม และในที่สุดก็จะจบลงด้วยความสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของวัฒนธรรมร่วมกันของคนในชาติ
2. พิจารณาวัฒนธรรมสมัยนิยมจากตัวแบบของอำนาจ (a model of power) มองเห็นวัฒนธรรมสมัยนิยมว่าเป็นการกดบีบ การบังคับครอบงำมวลชนหรือกลุ่มคนที่ไร้อำนาจ และอยู่ในฐานะที่ไม่อาจต่อรองได้ในอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ
3. พิจารณาวัฒนธรรมสมัยนิยมในฐานะที่เป็น "สนามของการต่อรองช่วงชิง (a site of struggle) มองเห็นกระบวนการต่อรอง สร้างสรรค์และกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่คนในสังคมใช้ในการรับมือหรือสร้างความหมายทางสังคมให้กับประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของตน
การวิเคราะห์ตัวตนในกระแสวัฒนธรรมสมัยนิยม
การวิเคราะห์ตัวตนในกระแสวัฒนธรรมสมัยนิยมนั้น สามารถแบ่งการพิจารณาออกเป็น
5 ลักษณะ คือ (พัฒนา กิติอาสา, 2546, 46)
1. ตัวตนได้จากการเสพสื่อ มีประสบการณ์ผ่านสื่อแล้วนำมาสร้างความเป็นตัวตนให้กับตนเอง
2. ตัวตนเกิดในโลกความจริงเหนือความจริง โดยสื่อมักเป็นผู้สร้างความจริงเหล่านั้น เช่น ผู้หญิงสวยมักต้องมีสัดส่วนที่ผอมบาง
3. ตัวตนที่ถูกแยกย่อย เช่น กลุ่มเกย์ กลุ่มเด็กเซ็นเตอร์พ้อยท์
4. ตัวตนที่อยู่ในโลกที่ขัดแย้งกัน อันเกิดจากการสร้างความหมายที่ขัดแย้งกัน เช่นผู้หญิงต้องเป็นทั้งแม่ และเป็นสาวเปรี้ยวในกลุ่มเพื่อน
5. ตัวตนในโลกแห่งสุนทรียะที่มีระดับแยกไปตามอำนาจที่ผู้อื่นเป็นผู้กำหนด เช่นคนมีเงินดูหนังโรงชั้นหนึ่ง ผู้ใช้แรงงานดูหนังควบตามโรงสองชั้น
การสร้างความหมายให้กับตนจึงอาศัยการตีความ การเลือกเปิดรับสื่อ รูปร่างลักษณะภายนอกของตน จังหวะ โอกาส และสถานการณ์ ณ ช่วงเวลานั้น ๆ มาประกอบการสังเคราะห์เป็นตัวตนของคนแต่ละคนให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นตัวตน เพศสภาพ สัญชาติ สถานะทางสังคม และความหมายที่เกิดขึ้น ซึ่งตัวตนนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดตามยุคสมัยและบริบทของสังคม
วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ และคณะ(อ้างในพัฒนา กิติอาสา, 2546, 49)ได้นำเสนอว่า เครื่องมือที่สำคัญที่สุดของการสร้างตัวตนในกระแสวัฒนธรรมสมัยนิยม ประกอบด้วยกลวิธี 7 อย่าง ได้แก่
1. การใช้คำขวัญ หรือคำสั้น ๆ ที่จำง่ายซึ่งจะช่วยดึงดูดให้ผู้คนสนใจ
2. การตราหน้า การทำให้คนตัดสินใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่ใช้เหตุผลประกอบ
3. การเหมารวม การทำให้คนเกิดความรู้สึกดีหรือประทับใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยปราศจากการวิเคราะห์ ตรวจสอบ
4. การถ่ายโอนสัญลักษณ์ เป็นการใช้สัญลักษณ์ของสิ่งที่น่าเชื่อถือ เป็นที่เคารพมาเพื่อถ่ายโอนลงสู่อีกสิ่งหนึ่ง
5. การแห่ตาม การกระตุ้นความรู้สึกอยากมีพวกพ้อง ความเห็นด้วย
6. ความดึงดูดทางเพศ(sex appeal) การกระตุ้นความรู้สึกทางเพศให้คนหันมาสนใจ
7. เสียงดนตรี การนำเพลงประกอบ ทำให้รู้สึกคล้อยตาม และจดจำได้ง่าย
คลิกไปที่
กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
จอร์ช เฮอร์เบิร์ต มี้ด (George Herbert Mead) เห็นว่า กลไกสำคัญของการสร้างตัวตนคือการเรียนรู้ที่จะสวมบทบาท(role-taking)ของผู้อื่น และหัวใจสำคัญในการเรียนรู้คือภาษา ซึ่งเป็นช่องทางถ่ายทอดระบบสัญลักษณ์และกฎเกณฑ์ร่วมของสังคม โดยอาศัยการเรียนรู้จากการเลียนแบบและการเล่นจากการสวมบทบาทของคนอื่นใกล้ตัว และหลอมหลวมเอาทัศนคติของบุคคลอื่นทั่วไป รวมทั้งซึมซับเอากฎเกณฑ์ร่วมของสังคมมาเป็นส่วนหนึ่งของเขา ตัวตนในทัศนะของมี้ดมี 2 ด้านที่ปะทะสังสรรค์กันเองตลอดเวลาคือ "me" ซึ่งเป็นตัวตนที่เกิดจากความเห็นและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และ "I" ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นลักษณะเฉพาะของเราเอง