บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๓๙ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙
18-09-2549

Midnight's law & Justice

เรียนรู้เท่าทันกฎหมายและความยุติธรรม
ละเมิดอำนาจศาล กฎหมายมหาชน และคนขี่เสือ
ชำนาญ จันทร์เรือง : เขียน
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : เรียบเรียง

บทความที่ปรากฎบนหน้าเว็บเพจได้รับมาจากผู้เขียนและเคยได้รับการตีพิมพ์แล้วในกรุงเทพธุรกิจ
ประกอบด้วยบทความ ๓ เรื่องที่พูดถึงกระบวนการศาล
กระบวนการทางกฎหมาย และปิดท้ายด้วยเรื่องอุทาหรณ์ของคนขี่เสือ
๑. ละเมิดอำนาจศาล : ถึงเวลาแก้กฎหมายแล้วหรือยัง
๒. นักกฎหมายมหาชนคือใคร
๓. คนขี่เสือ ; He Who Rides a Tiger
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
หมายเหตุ : ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1039
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7.5 หน้ากระดาษ A4)

 

ละเมิดอำนาจศาล กฎหมายมหาชน และคนขี่เสือ
ชำนาญ จันทร์เรือง : เขียน / กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : เรียบเรียง

1. ละเมิดอำนาจศาล
ในหลาย ๆ ครั้งที่เรามักจะถูกขู่หรือถูกปรามจากผู้หวังดีว่า การวิพากษ์วิจารณ์หรือการกระทำใดใดของเราว่าระวังจะเข้าข่าย"ละเมิดอำนาจศาล" ซึ่งในความเป็นจริงหลาย ๆ ครั้งที่ว่านั้นมิได้เข้าข่ายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลแต่อย่างใด

เหตุแห่งการบัญญัติให้มีบทลงโทษว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาล ก็เนื่องเพราะในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลมีบุคคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคู่ความ พยาน หรือแม้แต่บุคคลภายนอกที่ศาลเรียกเข้ามาหรือร้องสอดเข้ามาในคดีเองก็ตาม ฉะนั้น การที่บุคคลหลาย ๆ ฝ่ายเข้ามาอยู่ด้วยกัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมอบอำนาจให้ศาลตามสมควร เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและดำเนินกระบวนการพิจารณาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงได้มีการบัญญัติมาตรา ๓๐ ถึงมาตรา ๓๓ ไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความแพ่ง

บทบัญญัติที่ว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาลประกอบไปด้วยเนื้อหาหลัก ๆ ๓ ส่วน ซึ่งจะนำมาเสนอเฉพาะส่วนที่เห็นว่าสำคัญโดยย่อ คือ

๑. การออกข้อกำหนดของศาล
มาตรา ๓๐ ให้อำนาจแก่ศาลในการออกข้อกำหนดใด ๆ แก่คู่ความ หรือบุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาล ตลอดจนมีอำนาจสั่งห้ามคู่ความดำเนินกระบวนพิจารณาในทางที่จะก่อความเดือดร้อนรำคาญ หรือในทางประวิงคดีให้ชักช้า หรือฟุ่มเฟือยจนเกินสมควร

อย่างไรก็ตามการออกข้อกำหนดต้องเป็นข้อกำหนดที่ชอบด้วยกฎหมาย หากเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายถึงแม้จะกระทำไป ก็ไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เช่น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามมิให้ ท. เข้ามาในบริเวณศาลในวันเปิดทำการ เว้นแต่จะเป็นคู่ความในคดีหรือถูกหมายเรียกมาเป็นพยาน ทั้งนี้ เนื่องมาจาก ท. ได้เรียกร้องเงินค่าเขียนคำร้องจากคู่ความเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ต่อมา ท. เข้ามาในบริเวณศาล ศาลชั้นต้นจึงลงโทษ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการที่ศาลจะออกข้อกำหนดใด ๆ โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา ๓๐ ต้องเป็นไปเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในศาล และเพื่อให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเที่ยงธรรมและรวดเร็ว ฉะนั้นการที่ศาลชั้นต้นออกข้อกำหนดห้าม ท. เข้ามาในบริเวณศาลในวันเปิดทำการไม่ว่ากรณีใด แม้กระทั่ง ท. มีเหตุจำเป็น เป็นการเกินเลยบทบัญญัติดังกล่าว เป็นการไม่ชอบ การที่ ท. เข้ามาในบริเวณศาล มิใช่เพื่อสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้แต่ประการใด การกระทำของ ท. ไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล (คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๗/๒๕๒๐)

๒. การกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
มาตรา ๓๑ ได้กำหนดการกระทำต่าง ๆ ที่ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล คือ

(ก) ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตรา ๓๐ อันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล

(ข) เมื่อได้มีคำขอและได้รับอนุญาตจากศาลให้ฟ้อง หรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถาแล้วปรากฏว่าได้นำคดีนั้นขึ้นสู่ศาล โดยตนรู้อยู่แล้วว่าไม่มีมูล หรือได้สาบานตัวให้ถ้อยคำตามมาตรา ๑๕๖ ว่าตนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระค่าฤชาธรรมเนียมได้ ซึ่งเป็นความเท็จ

(ค)
หลีกเลี่ยงไม่รับคำคู่ความหรือส่งเอกสารอื่น ๆ ถึงตนแล้วจงใจไปเสียให้พ้น
หรือหาทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นโดยสถานอื่น

(ง) ตรวจเอกสารทั้งหมดหรือฉบับใดฉบับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในสำนวนความหรือคัดเอาสำเนาเอกสารเหล่านั้นไป
โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา ๕๔

(จ) ขัดขืนไม่มาศาลเมื่อศาลได้มีคำสั่งตามมาตรา ๑๙ หรือมีหมายเรียกตามมาตรา ๒๗๗

๓. การละเมิดอำนาจศาลของผู้ประพันธ์ บรรณาธิการ หรือผู้พิมพ์โฆษณา ซึ่งหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์อันออกโฆษณาต่อประชาชน
มาตรา ๓๒ ได้กำหนดการกระทำที่ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล คือ

(ก) ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์อันออกโฆษณาต่อประชาชน ได้กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใด และไม่ว่าเวลาใด ซึ่งข้อความหรือความเห็นอันเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริง หรือพฤติการณ์อื่น ๆ แห่งคดี หรือกระบวนพิจารณาใด แห่งคดี ซึ่งเพื่อความเหมาะสมหรือเพื่อคุ้มครองสาธารณประโยชน์ ศาลได้มีคำสั่งห้ามการออกโฆษณาสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าโดยวิธีเพียงแต่สั่งให้พิจารณาโดยไม่เปิดเผย หรือโดยวิธีห้ามการออกโฆษณาโดยชัดแจ้ง

(ข) ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ได้กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ในระหว่างการพิจารณาแห่งคดีไปจนมีคำพิพากษาเป็นที่สุด ซึ่งข้อความหรือความเห็นโดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชนหรือเหนือศาล หรือคู่ความหรือเหนือพยานแห่งคดี ซึ่งพอเห็นได้ว่าจะทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป เช่น การนำคำพยานหรือข้อเท็จจริงบางตอนมาลงพิมพ์โฆษณา หรือวิพากษ์วิจารณ์คำพยาน หรือการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลโดยไม่เป็นธรรม และไม่ถูกต้องต่อความเป็นจริง รวมทั้งการแถลงข้อความอันเป็นการเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของคู่ความหรือพยาน ถึงแม้ว่าข้อความต่าง ๆ เหล่านั้นจะเป็นความจริงก็ตาม

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า การที่ศาลจะลงโทษผู้ใดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น มิใช่เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่าย ต้องมีการกระทำที่เข้าข่ายดังที่กล่าวมาข้างต้นเสียก่อน

2. นักกฎหมายมหาชนคือใคร
นับแต่ประเทศไทยเราได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งมีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองขึ้นมา ได้มีการตื่นตัวในวงการนักกฎหมายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการของนักกฎหมายมหาชน ซึ่งได้รับสมญานามว่าเป็น "นักกฎหมายพันธุ์ใหม่"

กอรปกับเวลามีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองขึ้นมาคราใด ก็จะมีผู้ที่เป็นนักกฎหมายมหาชนและรวมถึงผู้ที่เข้าใจว่าตนเองเป็นนักกฎหมายมหาชน เกิดอาการอยากที่จะแก้รัฐธรรมนูญกันอยู่ร่ำไป โดยเสมือนหนึ่งว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถูกผูกขาดเป็นของนักกฎหมายมหาชนแต่เพียงกลุ่มเดียวไปแล้ว จึงเป็นคำถามตามมาว่า จริง ๆ แล้ว นักกฎหมายมหาชนคือใคร และคนที่จะสามารถเรียกตนเองว่าเป็นนักกฎหมายมหาชนนั้น จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?

ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจว่า กฎหมายนั้นเราอาจแบ่งหรือจำแนกได้เป็นหลายประเภท สุดแต่จะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการแบ่งแยก ถ้าเราใช้เนื้อหาของกฎหมายเป็นเกณฑ์ในการแบ่งแยก ก็อาจแบ่งแยกได้เป็น

- กฎหมายสารบัญญัติ (substantive law)
ซึ่งกำหนดสิทธิและหน้าที่ของบุคคลโดยตรง และ
- กฎหมายวิธีสบัญญัติ (procedural law)
ซึ่งกำหนดวิธีการเยียวยาเมื่อมีการละเมิดสิทธิหน้าที่เกิดขึ้น

แต่ถ้าเรายึดเอาลักษณะของนิติสัมพันธ์เป็นเกณฑ์ ในการพิจารณาแยกประเภทกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจ กับลักษณะพิเศษอันเป็นผลของการแบ่งแยก ตลอดจนการใช้นิติวิธีในเชิงคดีและการศึกษาวิจัยแล้วก็สามารถแบ่งประเภทกฎหมายเป็น ๒ ประเภท คือ
- กฎหมายมหาชน (public law)
ซึ่งกำหนดสถานะและนิติสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับเอกชนหรือกับหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง และ
- กฎหมายเอกชน (private law)
ซึ่งกำหนดสถานะและนิติสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกันในสถานะที่เท่าเทียมกัน

นอกจากวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้ว การแบ่งประเภทกฎหมายเป็น"กฎหมายมหาชน"กับ"กฎหมายเอกชน" ก็อาจมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น เพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอน เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติ หรือเพื่อประโยชน์ในการแบ่งเขตอำนาจศาลในกรณีที่ประเทศนั้นมีหลายระบบศาล เช่น ถ้าเป็นคดีเกี่ยวกับกฎหมายเอกชนจะขึ้นศาลยุติธรรม แต่ถ้าเป็นคดีเดียวกับกฎหมายมหาชนจะขึ้นศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง เป็นต้น แต่ในระบบกฎหมายบางระบบหรือในบางประเทศ ก็ไม่มีหรือไม่ยอมรับการแบ่งประเภทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

ในระบบกฎหมายหรือในประเทศที่มีการแบ่งประเภทกฎหมายออกเป็น กฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชนเอง ก็ยังมีความเข้าใจหรือมีการให้ความหมายของกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชนที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่ยุคสมัยหรือแล้วแต่ความเห็นของนักกฎหมายแต่ละคน อย่างเช่น

ในฝรั่งเศสถือว่า กฎหมายอาญาก็ดี กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ดี กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก็ดี ล้วนเป็นกฎหมายเอกชนทั้งสิ้น โดยมีเหตุผลว่า แม้กฎหมายเหล่านี้จะมีอำนาจรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น ในกฎหมายอาญามีการจับกุมผู้กระทำผิดโดยตำรวจ ไต่สวนและฟ้องคดีโดยอัยการ พิจารณาโดยศาล ซึ่งล้วนเป็นองค์กรของรัฐในกระบวนการยุติธรรมก็ตาม แต่นักกฎหมายฝรั่งเศสก็ยังถือว่าเป็นกฎหมายเอกชน

เพราะความผิดอาญาส่วนใหญ่ กำหนดขึ้นเพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อกัน อาทิ ไม่ให้เอกชนลักทรัพย์กัน ฆ่ากัน ฯลฯ รัฐเป็นเพียงผู้รักษากติกา และกฎหมายอาญาก็มิใช่กฎหมายที่กำหนดนิติสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชนโดยตรง นอกจากนั้น การยอมให้ผู้เสียหายเข้าร่วมฟ้องคดีได้ก็ดี การกำหนดความผิดอันยอมความได้ไว้ก็ดี รวมถึงกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ก็มีลักษณะเหตุผลคล้ายคลึงกันนี้

นักกฎหมายบางท่านอาจจะเห็นว่าสาขากฎหมายใดที่รัฐเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องด้วยแล้ว ก็ถือว่าสาขากฎหมายนั้นเป็นกฎหมายมหาชนไปหมด ซึ่งความจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นสาขากฎหมายอะไร รัฐย่อมจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เพียงแต่จะเกี่ยวข้องมากหรือน้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สาขากฎหมายที่นักกฎหมายส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันแล้วว่า เป็นกฎหมายมหาชนอย่างแน่แท้ก็คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ(constitutional law) และกฎหมายปกครอง(administrative law)ที่หมายความรวมถึงกฎหมายการคลัง(public financial law)ด้วย

กฎหมายรัฐธรรมนูญ นั้นจะกำหนดการจัดอำนาจและองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในรัฐ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญจะครอบคลุมการจัดองค์กร, การดำเนินการ, อำนาจหน้าที่, และความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรดังกล่าวต่อกันและต่อประชาชน

โดยปกติ สาระของกฎหมายรัฐธรรมนูญจะปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญเป็นหลัก แต่ยังมีกฎเกณฑ์อื่นที่ไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือเป็นลายลักษณ์อักษรแต่ไม่ได้รวมอยู่ในรัฐธรรมนูญด้วย เช่น กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งขยายรัฐธรรมนูญในรายละเอียด อาทิ กฎหมายรัฐสภา กฎหมายเลือกตั้ง เป็นต้น. รวมถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรแต่เป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเรียกว่า ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ (convention of the constitution)นั่นเอง

กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่กำหนดสถานะและความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายปกครองของรัฐต่อกันและต่อประชาชน ซึ่งในหลายกรณีผู้ดำรงตำแหน่งอาจมีสองฐานะได้ เช่น รัฐมนตรีในฐานะฝ่ายการเมือง และในฐานะผู้บังคับบัญชาระดับสูงของฝ่ายปกครอง กล่าวคือ เมื่อใดรัฐมนตรีกระทำการอันเป็นเรื่อง "การกระทำของรัฐบาล" (act of government) ซึ่งจะมีระบบควบคุมและตรวจสอบทางการเมืองโดยรัฐสภาหรือโดยวิธีอื่นแล้ว ก็ต้องถือว่ารัฐมนตรีกระทำในฐานะฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องของกฎหมายรัฐธรรมนูญ

แต่เมื่อใดรัฐมนตรีทำนิติกรรมทางปกครอง อันเป็นการใช้อำนาจในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกระทรวงนั้น ๆ เช่น การแต่งตั้งข้าราชการ การอนุมัติ อนุญาต ฯลฯ ก็ต้องถือว่ารัฐมนตรีเป็นฝ่ายปกครอง ต้องอยู่ภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมายและการควบคุมโดยศาล ซึ่งเป็นเรื่องของกฎหมายปกครอง

ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญมีส่วนคล้ายกับกฎหมายปกครองที่ว่า ต่างเป็นกฎหมายมหาชนและวางระเบียบการปกครองของรัฐ แต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่นั่นเอง กล่าวคือ

๑. ในด้านเนื้อหา กฎหมายรัฐธรรมนูญวางระเบียบการปกครองรัฐในระดับสูงและกว้างขวางกว่ากฎหมายปกครอง เช่น กล่าวถึงทั้งการเข้าสู่อำนาจ การสิ้นอำนาจ และระเบียบเกี่ยวกับฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ในขณะที่กฎหมายปกครองวางระเบียบรัฐในทางปกครองหรือการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น โดยไม่เกี่ยวกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ

ยิ่งกว่านั้น กฎหมายปกครองเพ่งเล็งการดำเนินการของฝ่ายปกครองที่เรียกว่า "บริการสาธารณะ" เป็นพิเศษ ในขณะที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดเพียงว่า การให้บริการสาธารณะเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองหรือฝ่ายบริหาร ส่วนที่ว่าจะกำหนดรูปแบบและวิธีการจัดบริการสาธารณะอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ต้องกำหนดกันในกฎหมายปกครองต่อไป

๒. ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างราษฎรกับรัฐ แม้กฎหมายรัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายมหาชน แต่ก็แสดงความเกี่ยวพันระหว่างรัฐกับราษฎรเอาไว้ด้วย หากแต่เป็นรูปของกลุ่มราษฎรเป็นส่วนรวม ในขณะที่กฎหมายปกครองแสดงความเกี่ยวพันระหว่างราษฎรเป็นรายบุคคลกับรัฐ ทั้งนี้ เพราะฝ่ายปกครองมีความเกี่ยวพันกับราษฎรเป็นรายบุคคลอยู่เป็นนิจ กฎหมายปกครองจึงต้องวางหลักเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของราษฎร ในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำของฝ่ายบริหาร เพื่อปกป้องมิให้ฝ่ายปกครองบังคับเอาแก่ราษฎรตามใจชอบ

๓. ในด้านฐานะของกฎหมาย เมื่อกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดกฎเกณฑ์การปกครองประเทศเป็นส่วนรวมและในทุกทาง ไม่ว่าส่วนที่เป็นรัฐประศาสโนบายหรือรัฐวิเทโศบาย กฎหมายรัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญมากกว่ากฎหมายปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญนั้นโดยทั่วไปแล้ว ถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

จากขอบเขตและเนื้อหาที่กล่าวมาข้างต้นจึงเป็นที่พอจะอนุมานได้ว่า นักกฎหมายมหาชนหมายถึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหรือความถนัดในการใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครองนั่นเอง ส่วนที่ว่าจะร่ำเรียนเน้นหนักมาทางไหน วิชาเอกอะไรนั้น คงเป็นเรื่องของคุณสมบัติส่วนตัวของแต่ละคน และ การที่จะเป็นนักกฎหมายมหาชนหรือไม่ ก็มิใช่เรื่องที่จะไปผูกขาดเป็นการเฉพาะว่าต้องเป็นใคร จบจากสถาบันไหนหรือสังกัดอยู่ในองค์กรใดเท่านั้นเช่นกัน

3. ความย่อเรื่อง "คนขี่เสือ ; He Who Rides a Tiger"

"เขาได้ขึ้นควบขับความเท็จไป
เสมือนหนึ่งว่ามันคือเสือ
ซึ่งเขาไม่สามารถจะลงมาจากหลังของมันได้
เพราะเสือก็จะตะครุบตัวเขากินเสีย"

วรรณกรรมเรื่อง "He Who Rides a Tiger" หรือ "คนขี่เสือ" ของ Bhabani Bhattacharya นั้นเป็นเรื่องที่สะท้อนถึงอินเดียในยุคที่เกิดความอดอยาก ผู้คนหิวโหยและล้มตายเป็นอันมาก ในภาวะดังกล่าวนายทุนได้กักตุนข้าวสารและสร้างความร่ำรวยท่ามกลางความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมชาติ สินค้ามีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนต่างพยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด

"คนขี่เสือ" เป็นเรื่องราวของตัวละครเอก ๒ ตัว คือ "กาโล"ผู้เป็นพ่อซึ่งเป็นช่างตีเหล็ก และ"จันทรเลขา"ลูกสาวซึ่งอยู่ในชนชั้น"กมาร" (kamar) ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของวรรณะศูทร สองพ่อลูกได้ต่อสู้กับปัญหาของความอดอยาก วรรณะ และความเชื่อศาสนาอย่างถึงแก่น โดยปลอมแปลงวรรณะของตนเองจากวรรณะศูทรเป็นวรรณะพราหมณ์ และได้สร้างปาฏิหาริย์โดยการเอาหินที่มีขนาดพอเหมาะสำหรับแกะสลักเป็นพระศิวะ โดยทำให้กลวงแล้วเอาไปเผาไฟเพื่อให้ดูเก่า แล้วขุดหลุม

จากนั้นก็เอากระป๋องเปล่าที่มีขนาดและรูปร่างพอดีกันฝังลงไปแล้วเท "ถั่วจนา" ซึ่งเป็น
ถั่วชนิดหนึ่งที่งอกเร็วเป็นพิเศษ ใส่ลงไปข้างใน หลังจากนั้นได้เอาหินรูปพระศิวะวางลงบนกองถั่ว เว้นช่องระหว่างหินไว้เพื่อให้ถั่วงอกขึ้นมาโดยเอาดินร่วนใส่ข้างบน เมื่อรดน้ำลงไปถั่วก็งอกพร้อม ๆ กัน ถั่ว ที่งอกก็จะดันดินให้หินรูปจำลองพระศิวะโผล่ขึ้นมาทีละเล็กละน้อย ๆ ผู้คนพากันหลงเชื่อว่า
เกิดปาฏิหาริย์ขึ้น ลาภสักการะก็ไหลมาเทมาสู่สองพ่อลูก

แต่สองพ่อลูกก็ต้องเผชิญกับภาวะทุกข์ระทมจากลาภสักการะที่ได้มาจากความเท็จ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อใดความจริงที่ปกปิดเอาไว้จะถูกเปิดเผยออกมา จึงเสมือนหนึ่งการขึ้นหลังเสือ จะลงก็ลงไม่ได้ เพราะจะถูกเสือกัด แต่ในที่สุดเขาก็กระทำการเสมือนหนึ่งการ "ฆ่าเสือ" เสียให้ตายก่อนที่ตนเองจะถูกเสือกัด โดยการประกาศต่อหน้าคนที่มากราบไหว้สักการบูชา ที่มีทั้งคนในวรรณะพราหมณ์และคนชั้นสูง ตลอดจนนายทุนที่ขูดรีดเลือดเนื้อคนจนทั้งหลายว่า แท้จริงแล้วตนเองไม่ใช่ "พราหมณ์" พร้อมทั้งประกาศเยาะเย้ย ต่อพวกที่หลงบูชาหรือเลื่อมใสพิธีกรรมจอมปลอมที่ตนเองได้สร้างขึ้นมา

และจากวรรณกรรมชิ้นนี้เอง คนขี่เสือก็เลยเป็นที่มาของสำนวนที่หมายถึงคนที่อยู่กับความเท็จแล้วลงจากหลังเสือไม่ได้ ลงมาก็จะถูกเสือกัด ขี่ต่อไปก็ทุกข์ทรมาน นอกเสียจากว่า จะฆ่าเสือให้ตายดังเช่น กาโล ในเรื่องคนขี่เสือนี้เสียก่อน

"คนขี่เสือ" นอกจากจะให้ข้อคิดในเรื่องของการก้าวลงจากบัลลังก์แห่งอำนาจกลับสู่สามัญที่เป็นจริงแล้ว ยังให้ข้อคิดที่ว่า สองพ่อลูกนี้แต่เดิมเคยถูกทุบตี กลั่นแกล้ง แต่เมื่อปลอมตัวขึ้นมาหรือว่ามีอำนาจขึ้นมา ก็มีแต่คนมาสยบยอมเพียงเพราะการขยับวรรณะแบบปลอม ๆ

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H

ในฝรั่งเศสถือว่า กฎหมายอาญาก็ดี กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ดี กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก็ดี ล้วนเป็นกฎหมายเอกชนทั้งสิ้น โดยมีเหตุผลว่า แม้กฎหมายเหล่านี้จะมีอำนาจรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น ในกฎหมายอาญามีการจับกุมผู้กระทำผิดโดยตำรวจ ไต่สวนและฟ้องคดีโดยอัยการ พิจารณาโดยศาล ซึ่งล้วนเป็นองค์กรของรัฐในกระบวนการยุติธรรมก็ตาม แต่นักกฎหมายฝรั่งเศสก็ยังถือว่าเป็นกฎหมายเอกชน เพราะความผิดอาญาส่วนใหญ่ กำหนดขึ้นเพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อกัน อาทิ ไม่ให้เอกชนลักทรัพย์กัน ฆ่ากัน ฯลฯ รัฐเป็นเพียงผู้รักษากติกา และกฎหมายอาญาก็มิใช่กฎหมายที่กำหนดนิติสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชนโดยตรง นอกจากนั้น การยอมให้ผู้เสียหายเข้าร่วมฟ้องคดีได้ก็ดี การกำหนดความผิดอันยอมความได้ไว้ก็ดี รวมถึงกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ก็มีลักษณะเหตุผลคล้ายคลึงกันนี้

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R