บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๓๗ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙
16-09-2549

Midnight's Thai Culture

ปัญหาสังคมไทยร่วมสมัย
เครือข่าย, ภาวะฉุกเฉิน, ศาสตร์และการครอบงำ
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีสงศ์
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความที่ปรากฎบนหน้าเว็บเพจนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วบนสิ่งพิมพ์เครือมติชน
ประกอบด้วยบทความที่พูดถึงปัญหาสังคมไทยร่วมสมัย ๓ เรื่องคือ
๑. เครือข่าย ๒. ภาวะฉุกเฉินของประชาชน
๓. ศาสตร์และการครอบงำ
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1037
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10.5 หน้ากระดาษ A4)

 

เครือข่าย, ภาวะฉุกเฉิน, ศาสตร์และการครอบงำ
นิธิ เอียวศรีวงศ์ - นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยง
คืน

1. เครือข่าย
ผมได้ยินคำโฆษณาของโรงพยาบาลเกี่ยวกับจิตประสาทของรัฐแห่งหนึ่งในรถแท็กซี่ หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลแห่งนั้นกล่าวว่า ไม่แต่เพียงโรงพยาบาลจะบำบัดผู้ติดยาเสพติดชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน หรือยาม้า เท่านั้น แต่รวมถึงช่วยผู้เสพติดเหล้า และบุหรี่ด้วย

หน่วยงานประชาสัมพันธ์นี้เองคงรู้ว่าการรณรงค์เพื่อลดการใช้ยาเสพติดสองอย่างหลังนี้เป็นเรื่องใหญ่และยากมาก ทำคนเดียวไม่มีทางสำเร็จ ฉะนั้น ต้องแสวงหาความร่วมมือจากภาคสังคม ฉะนั้นหน่วยงานนั้นจึงพยายามประสานเชื่อมโยงกับกลุ่มองค์กรประชาชนที่รณรงค์เรื่องเดียวกัน โดยให้บริการด้านเอกสารการรณรงค์ต่างๆ เช่น สติ๊กเกอร์, แผ่นปลิว, โปสเตอร์ ฯลฯ ตลอดจนวัสดุโสตทัศนูปกรณ์ เป็นต้น ใครต้องการก็ติดต่อขอได้ฟรี

แม้ว่าโรงพยาบาลแห่งนั้นเดินมาถูกทาง แต่ก็เดินมาเผชิญกับสิ่งที่อ่อนแอที่สุดในวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน นั่นก็คือ การสร้างความสัมพันธ์เชิงเครือข่าย เพราะเราทำไม่ค่อยเป็น เมื่อไรที่ต้องใช้ความสัมพันธ์แบบนี้ในการดำเนินงานจึงไม่ค่อยได้ผล ขอยกตัวอย่างให้เห็นเพียงบางเรื่อง เช่น เอกสารรณรงค์ที่ทางหน่วยงานของโรงพยาบาลแจก ใครเป็นคนคิดเนื้อหาครับ องค์กรภาคสังคมที่เข้ามาขอเอกสารเพื่อรณรงค์เลิกเหล้าบุหรี่ ได้มีส่วนในการร่วมคิดหรือไม่

หากหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลเป็นคนคิดเนื้อหาเอง หรือตั้งกรรมการจากภายนอกมาร่วมคิด คำถามคือ คิดจากอะไรครับ คิดจากความหวังดีต่อส่วนรวม ไม่อยากให้ผู้คนใช้เหล้าบุหรี่อย่างผิดๆ หรือคิดจากความรู้และประสบการณ์ในการรณรงค์ด้านนี้ในชุมชนประเภทต่างๆ มานานแล้ว สองอย่างนี้ต่างกันมากนะครับ เพราะความรู้ ประสบการณ์ทำให้เกิดความละเอียดอ่อน รู้ว่าในคนกลุ่มไหนการรณรงค์ที่กระทบใจได้มากเป็นอย่างไร อะไรที่ไม่ควรใช้สำหรับรณรงค์กับคนกลุ่มไหน เป็นต้น

ความหวังดีต่อส่วนรวมก็สำคัญ แต่เท่านั้นไม่พอ

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง หน่วยงานนั้นได้ร่วมมือกับองค์กรภาคสังคมในการรณรงค์เรื่องนี้มานานพอสมควร ป่านนี้ก็น่าจะรวบรวมความรู้ประสบการณ์ที่องค์กรภาคสังคมได้มาไว้เยอะแยะ จนสามารถที่จะเข้าไปร่วมแลกเปลี่ยนกับองค์กรใหม่ๆ ที่เข้ามาขอเชื่อมเครือข่าย หรือทำตัวเป็น "ปม" (node) สำหรับเชื่อมโยงเครือข่ายเก่า-ใหม่เข้าหากัน หรือยิ่งไปกว่านั้นสนับสนุนให้เกิด "ปม" อื่นๆ ในที่ต่างๆ ขึ้นเอง

ทั้งหมดที่ผมยกตัวอย่างมานี้ ไม่ได้ต้องการทำให้หน่วยงานของโรงพยาบาลดังกล่าวหมดกำลังใจแต่อย่างไร ตรงกันข้าม อยากให้ประสบความสำเร็จมากๆ ด้วยซ้ำ แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้วว่าความอยากเฉยๆ ไม่พอ

ความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายเป็นสิ่งที่ขัดกับวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย จึงไม่แปลกที่ "ปม" ของเครือข่ายต่างๆ มักอยู่เหนือเครือข่าย เหนือทั้งด้านทรัพยากรและอำนาจบริหาร จนกระทั่งองค์กรที่เข้ามาเชื่อมกลายเป็นเพียงหน่วยงานในสังกัดเท่านั้น หมดความคิดริเริ่ม, หมดความสามารถที่จะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์เฉพาะ และที่สำคัญกว่าอะไรหมดคือหมด "ไฟ"

น่าเสียดายที่ว่า ในสังคมสมัยใหม่อย่างที่คนไทยเผชิญอยู่ในทุกวันนี้ หน่วยงานของรัฐทำอะไรได้ไม่มากนัก หากยังทำตัวเป็นผู้สั่งเอง, ทำเองอย่างที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นงานอะไร นับตั้งแต่เก็บขยะ, จับขโมย, ไปจนถึงเจรจาเอฟทีเอหรือนำความสงบกลับมาสู่ภาคใต้

การทำเครือข่ายเพื่อดึงภาคสังคมเข้ามาร่วมทำภารกิจจึงมีความสำคัญอย่างมาก ถ้าทำเครือข่ายไม่เป็น หน่วยงานของรัฐก็ทำภารกิจของตัวได้ไม่เกิน 30% (พื้นที่ชลประทานในประเทศไทยมีเพียง 25%, อาชญากรถูกจับได้ประมาณ 30%, เก็บภาษีเงินได้ได้ประมาณ 25%, เก็บรักษาป่าไว้ได้ประมาณ 20% ฯลฯ) ยิ่งทำก็ยิ่งท้อ เพราะเห็นๆ อยู่ว่าไม่ได้ผล ในที่สุดก็เลยหันไปทำอย่างอื่นที่สนุกกว่าเช่นโกง หรือประจบนายเพื่อเหยียบหัวเพื่อน

ผลก็คือ ทั้งสังคมและรัฐอ่อนแอหมด มีแต่ปัญหา และทางแก้ แต่ไม่มีทางที่จะแก้ได้สำเร็จสักเรื่องหนึ่ง รัฐคิดว่าตัวเก่งพอจะแก้เองคนเดียวได้ ในขณะที่สังคมเองก็พร้อมจะผลักให้รัฐทำคนเดียว

แม้มีกลุ่มต่างๆ ในสังคมเกิดขึ้นเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปถึงระดับชาติ แต่เมื่อไม่มีความสัมพันธ์เชิงเครือข่าย พลังก็มีน้อยและพอปัญหาเปลี่ยนไปก็ไม่อาจปรับตัวทันกับความเปลี่ยนแปลง หรือส่วนที่ซับซ้อนขึ้นของปัญหาได้

โรงพยาบาลแห่งนั้นก็อยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย ที่ไม่รู้จักสร้างความสัมพันธ์เชิงเครือข่าย

ลักษณะสำคัญที่ขาดไม่ได้ของความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายประกอบด้วย

1. เป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน ข้อนี้ไม่เป็นเพียงหลักการลอยๆ แต่ตัวโครงสร้างของเครือข่ายต้องเอื้อให้เป็นอย่างนั้นด้วย เช่น ทำให้แต่ละองค์กรในเครือข่ายเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นได้โดยไม่ต้องรอการอนุมัติแต่เพียงอย่างเดียว จะโดยการหาเอง, ได้มาตามสิทธิที่มีกฎหมายรองรับ (เช่น สสส. หรือ สกว., ฯลฯ เป็นต้น) หรือโดยวิธีอื่นใดก็ตาม ฉะนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างกันจึงไม่มีลักษณะของอำนาจบังคับบัญชาแต่อย่างใด ทุกอย่างเป็นเรื่องของความร่วมมือและความเห็นพ้องกันทุกฝ่าย อีกทั้งความสัมพันธ์นั้นก็ดำรงอยู่ได้ด้วยความสมัครใจ ไม่มีใครต้องพึ่งใครร้อยเปอร์เซ็นเต็ม

2. ยืดหย่อนผ่อนปรนเป็นลักษณะสำคัญของเครือข่ายเพราะไม่มีใครครอบงำใคร เป้าหมาย, การดำเนินงาน, หรือสมาชิกอาจเพิ่ม อาจลด อาจเปลี่ยนจุดเน้นไปได้เรื่อยๆ ตามแต่ความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่างๆ เครือข่ายจึงไม่ต้องการซีอีโอ ไอ้ที่มาคนเดียว คิดคนเดียว ทำคนเดียวแบบนั้น ไม่เหมาะกับการทำงานแบบเครือข่าย ให้ไปรับราชการอยู่กับคุณทักษิณเท่านั้น
และด้วยเหตุดังนั้น เราจึงไม่ประเมินความสำเร็จของเครือข่ายแบบตั้งเป้าตายตัว จะต้องได้ของแค่นั้นชิ้น, ต้องลดจำนวนคนจนไปได้กี่เปอร์เซ็นต์, แจกของเอื้ออาทรไปได้กี่คน ฯลฯ แต่ต้องไปดูที่ศักยภาพของคนแทน คือคนซึ่งเครือข่ายเข้าไปทำงานด้วยมีเพิ่มขึ้นหรือไม่ คนที่เสพยาม้าโดยไม่เคยสงสัยว่าผิดหรือถูกเลย แค่หันมาถามตัวเองบ่อยขึ้น แม้ว่ายังเลิกไม่ได้ ก็ถือว่ามีศักยภาพเพิ่มขึ้นที่จะเปลี่ยนไปทางที่ดีแล้ว

3. หัวใจสำคัญของการทำงานเชิงเครือข่ายคือการเรียนรู้ เนื่องจากมีองค์กรที่เข้ามาร่วมหลากหลาย จึงทำให้เครือข่ายได้เรียนรู้ประสบการณ์และความรู้จากกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลายมาก สามารถเลือกไปปรับใช้กับกรณีเฉพาะของตนเองได้เยอะแยะ ข้อนี้มีประโยชน์ทั้งสมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ซึ่งเพิ่งเข้ามาเชื่อมโยง ก็สามารถเรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ในการทำงานของตนเองทันที ความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายจึงต้องจัดให้เกิดการเรียนรู้เป็นเรื่องหลัก

ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่การจัดความสัมพันธ์ของระบบราชการไทย นับตั้งแต่เราปฏิรูประบบราชการในสมัย ร.5 เป็นต้นมา เราก็ตั้งหน้าตั้งตาลอกระบบบริหารของอาณานิคมมาจนป่านนี้ไม่เลิก ระบบความสัมพันธ์เชิงราชการของไทยจึงมีลักษณะบนลงล่างเสมอ ต้องมีอธิบดี, หัวหน้ากอง, หัวหน้าแผนก ไล่ลงมาเป็นลำดับ ถึงลูกกระจ๊อกข้างล่าง จะไปเชื่อมโยงกับใครที่อยู่นอกระบบราชการ ก็ต้องดึงเขาเข้ามาในพีระมิดแห่งอำนาจนี้ให้ได้ ไม่งั้นไม่รู้จะสัมพันธ์กับเขาอย่างไร

จุดมุ่งหมายของระบบราชการในสมัยเริ่มแรกมีแคบๆ เพียงสถาปนาอำนาจของรัฐส่วนกลางลงให้เต็มราชอาณาจักร ก็พอทำกันไปได้ แต่พอเราต้องการให้ระบบราชการทำอะไรมากกว่านั้น ก็พบว่าทำอะไรไม่ได้ นับตั้งแต่เก็บขยะเป็นต้นไปดังที่กล่าวแล้ว

ประเทศไทยสมัยใหม่เติบโตมาในแนวนี้ โดยผ่านระบบการศึกษาและสื่อมวลชนที่ราชการเป็นผู้จัดและควบคุม จึงไม่ใช่แต่เพียงระบบราชการเท่านั้น ผมคิดว่าสังคมไทยเองก็ใช้ระบบราชการเป็นแนวคิดในการจัดความสัมพันธ์ด้วย "ใครเป็นใคร" ในสังคมไทยจึงผูกพันอยู่กับอำนาจบริหารเสมอ. ในทุกสังคมมีการจัดว่า "ใครเป็นใคร" ทั้งนั้น แต่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับอำนาจบริหาร คนบางคนมีไว้กราบไหว้ แต่ไม่ต้องไปบริหารอะไรหรอก บางคนมีไว้ฟังบางเรื่องแต่ไม่ใช่ทุกเรื่อง บางคนมีไว้สำหรับเล่นดนตรีให้ฟัง แต่ไม่ควรไปฟังการตัดสินของเขาในเรื่องคีตศิลป์เป็นอันขาด

แต่ของเราจัดให้ "ใครเป็นใคร" ในพีระมิดแล้ว ก็จะมอบอำนาจบริหารจัดการให้แก่คนอยู่บนๆ ของพีระมิดด้วยเสมอ จะทำอะไรแล้วเรียกหา "เจ้าภาพ" จึงดูโก้เสียเต็มประดา อันเป็นวิธีคิดโบราณนับตั้งแต่ ร.5 มาแล้ว ไม่ใช่ของใหม่อะไร เพราะการมีเจ้าภาพคือการทำงานในความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ไม่ใช่ความสัมพันธ์เชิงเครือข่าย เป็นการทำงานที่สิ้นเปลืองทรัพยากรของกลาง แต่มักไม่ค่อยได้ผล

สมัยก่อนนี้นักวิชาการฝรั่งมักจะเรียกระบอบปกครองของไทยว่า "อมาตยาธิปไตย" หรือภาษาฝรั่งว่า bureaucratic polity อันที่จริง polity มีความหมายถึงระบบการเมืองการปกครองบวกกับระบบสังคม ไม่ได้หมายถึงระบอบปกครองเพียงอย่างเดียว. ปัจจุบัน นักวิชาการมักบอกว่าการเมืองไทยได้พ้นสภาพของรัฐราชการไปแล้ว (เพราะฝ่ายทุนได้เข้ามาครอบตัวระบบราชการเอาไว้) จริงหรือไม่คงเถียงกันได้ แต่ผมคิดว่าสังคมไทยยังไม่พ้นนะครับ วัฒนธรรมไทยยังมีลักษณะ bureaucratic อยู่อย่างมาก และทำให้คนไทยยิ่งมีการศึกษามากเท่าไรก็ยิ่งทำงานเชิงเครือข่ายไม่เป็นเท่านั้น

ข้อนี้นับว่าน่าเสียดายนะครับ เพราะผมคิดว่าคนไทยสมัยก่อนที่รัฐจะเข้ามาจัดการชีวิตของเขามากมายอย่างนี้ ล้วนทำงานเชิงเครือข่ายทั้งนั้น กว่าที่ชุมชนเกษตรกรรมเลี้ยงตนเองจะสามารถผลิตและดำรงชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวมาได้นานๆ นั้น ต่างต้องร่วมมือกันไม่เฉพาะแต่ในชุมชนเดียว แต่อีกหลายชุมชนรอบตัว สร้างความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายเพื่อทำงานที่ช่วยให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์พอสมควรแก่อัตภาพ และสมควรแก่ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

เพราะการขยายรัฐไปครอบสังคมอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ ร.5 มาต่างหาก ที่ทำให้ความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายในการจัดการด้านการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคมของประชาชนไทย ถูกพีระมิดแห่งอำนาจแบบราชการเข้ามาแทนที่จนหมดไม่หลือหลอ

2. ภาวะฉุกเฉินของประชาชน
ความเป็นปึกแผ่นของสังคมไทยจะรู้สึกได้ดีตอนเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่ ไม่แต่เพียงมีของและเงินบริจาคจำนวนมากมายหลั่งไหลไปยังพื้นที่ซึ่งประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ รัฐจะวางนโยบายทุ่มความช่วยเหลือและการป้องกันไปขนาดไหน ก็ไม่มีใครตำหนิ อย่างน้อยก็ไม่ได้ตำหนิว่าใช้เงินมากเกินไป สังคมไทยพร้อมจะทุ่มเทอย่างไม่อั้นให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งจากกระเป๋าตัวเองและจากกระเป๋าของรัฐ

แต่น่าเศร้าที่ว่า ไม่ว่าในพื้นที่ใดซึ่งประสบหายนภัยจากธรรมชาติ ประชาชนจำนวนมากไม่ได้รับความช่วยเหลือในเวลาอันควร บางกรณีไม่ได้รับเลยตลอดมา ร้ายไปกว่านั้นอาจประสบหายนภัยทางสังคมซ้ำเติมเข้าไปอีก เช่นที่ดินซึ่งตัวอยู่อาศัยมานานในนามของที่ดินสาธารณะ กลับถูกออกเอกสารสิทธิให้แก่นายทุน ผู้เข้ามาล้อมรั้วผลักไสด้วยกำลังเจ้าหน้าที่รัฐ มิให้ประชาชนกลับมาอยู่อาศัยได้อีก

หากจะมีประชาชนผู้ถูกทอดทิ้งในพื้นที่ประสบภัยสามารถฟื้นฟูชีวิตของตัวกลับคืนมาได้ ก็เป็นความอดทนและความมานะพยายามของเขาเอง อันที่จริงเกือบครึ่งหรือบางกรณีกว่าครึ่งของการฟื้นตัวของพื้นที่ประสบภัย มาจากความอดทนและมานะพยายามของประชาชนในพื้นที่นั้นเอง ท่ามกลางของและเงินบริจาคของสังคมอย่างท่วมท้น และท่ามกลางการทุ่มเทงบประมาณลงไปอย่างไม่อั้นของภาครัฐ

เพราะเมื่อทรัพยากรดังกล่าวหลั่งไหลลงไปสู่พื้นที่ (อย่างขาดระบบและไร้ประสิทธิภาพของการจัดการ) ก็จะมีลักษณะเหมือนทรัพยากรอื่นๆ ในประเทศไทย นั่นก็คือถูกปล่อยให้คนมือยาวสาวได้สาวเอาไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรที่มาจากการบริจาคหรือทรัพยากรที่มาจากงบประมาณของรัฐ

ดังที่เห็นอยู่แล้วว่า แนวทางการจัดสรรทรัพยากรของไทยโน้มนำที่จะเอื้อให้เกิดสภาพดังกล่าวอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นป่า, ที่ดิน, พลังงาน, ที่อยู่อาศัย, ทุน, ฯลฯ ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยธรรมชาติก็เป็นทรัพยากรที่ถูกจัดสรรในลักษณะเดียวกัน

ความเป็นปึกแผ่นของสังคมมีความสำคัญในการเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างแน่นอน แต่ความเป็นปึกแผ่นเพียงอย่างเดียวไม่พอ เพราะสิ่งที่ประเทศไทยขาดแคลนอย่างยิ่งไม่ใช่ทรัพยากรสำหรับช่วยเหลือพี่น้องผู้เคราะห์หามยามร้าย ไม่ว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติจะมีขนาดใหญ่แค่ไหน สังคมไทยก็รวยพอจะช่วยเหลือกันได้ แต่สิ่งที่เราขาดแคลนอย่างยิ่งคือการจัดการที่มีประสิทธิภาพ และการจัดการอย่างเป็นธรรม

ถ้าดูจากกรณีสึนามิ การจัดการทรัพยากรที่ไร้ประสิทธิภาพ ทำให้มีประชาชนจำนวนมากไม่ได้รับวัสดุสิ่งของที่จำเป็นในช่วงที่กำลังเดือดร้อนที่สุด คนกลุ่มหนึ่งได้หม้อหุงข้าว, เสื้อผ้า, รองเท้า, อาหาร ฯลฯ จนไม่รู้จะเอาไปทำอะไร คนอีกกลุ่มหนึ่งขาดแคลนสิ่งเหล่านี้ และไม่รู้จะไปหาที่ใด จนถึงวันนี้เมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 2 ปีแล้ว ยังมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือเป็นชิ้นเป็นอัน และไม่สามารถเริ่มเดินเข้าสู่เส้นทางที่จะฟื้นฟูชีวิตของตัวกลับมาได้ในอนาคต

เครื่องมือทำกินที่พังพินาศไปกับคลื่นยักษ์ โดยเฉพาะเรือประมง ได้รับความช่วยเหลือทั้งจากภาครัฐและเอกชน แต่การจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพทำให้คนที่ต้องใช้เรือประมงสำหรับหากินอีกมากไม่ได้เรือ ในขณะที่คนซึ่งไม่ใช้หรือเลิกใช้เครื่องมือนี้แล้ว เพราะหันไปทำอาชีพอื่น กลับได้เรือ

ดูเหมือนรัฐขยายปรัชญาการพัฒนาไปใช้กับพื้นที่ประสบภัยสึนามิด้วย นั่นคือเร่งการฟื้นตัวของทุนท่องเที่ยว ด้วยความหวังว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนระดับล่างที่ประสบภัย ฉะนั้นจึงมีการทุ่มเงินลงไปกับการฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างไม่อั้น นับตั้งแต่การโฆษณาในต่างประเทศ, การจัดมหกรรมนานาชนิด, การเร่งฟื้นฟูสาธารณูปโภคเพื่อการท่องเที่ยวก่อน, แม้แต่การลงทุนกับระบบเตือนภัย ก็เพื่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวค่อยๆ ฟื้นขึ้นมาอย่างช้าๆ ตามธรรมชาติของมันหรือตามการลงทุนลงแรงของภาครัฐก็ตาม แต่จนถึงทุกวันนี้ การท่องเที่ยวก็ยังไม่กลับมาเฟื่องฟูเท่าเก่า หากชาวบ้านผู้ประสบภัยจะอยู่รอดได้เฉพาะจากการจ้างงานเพียงอย่างเดียว ป่านนี้พวกเขาคงอดตายไปหมดแล้ว เพราะแม้ว่าธุรกิจท่องเที่ยวมีการจ้างงานสูง แต่ไม่ได้หมายความว่าแรงงานทุกประเภทจะสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ได้ จำเป็นต้องมีทักษะบางอย่างซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ชาวบ้านคนเล็กๆ ซึ่งประสบภัยมีอยู่

โศกนาฏกรรมทำนองนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกในทุกพื้นที่ซึ่งประสบภัยธรรมชาติ ไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ น้ำท่วมใหญ่ที่บ้านกรูดเมื่อปีกลาย และน้ำท่วมใหญ่กับดินถล่มที่อุตรดิตถ์ในปีนี้, ฯลฯ ทรัพยากรจากภาครัฐและเอกชนหลั่งไหลเข้าไปจำนวนมากเหมือนกัน แต่ก็กระจายไม่ทั่วถึงเหมือนเดิม และจำนวนมากไหลไปอยู่ในมือคนที่มือยาวอยู่แล้ว ยังไม่นับสภาวะที่ปริ่มๆ จะเกิดจลาจลในช่วงที่เกิดอุบัติภัยหรือหลังจากนั้น

บัดนี้ความเห็นทางวิทยาศาสตร์ค่อนข้างสอดคล้องกันแล้วว่า ความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศของโลกทำให้อุบัติภัยทางธรรมชาติมีแนวโน้มจะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น ฉะนั้นสังคมไทยจึงกำลังก้าวเข้าสู่ยุคภัยพิบัติระดับโลก โดยไม่มีวิธีจัดการกับผลของมันอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

ถึงเวลาที่เราควรคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังว่าจะปรับปรุงความสามารถในภาครัฐและเอกชน เพื่อการบูรณะฟื้นฟูภัยพิบัติอย่างไร? หากภาครัฐจะตั้งหน่วยงานเพื่อการนี้ขึ้นโดยเฉพาะก็สมควรอยู่ และตรงตามที่รัฐบาลนี้ชอบเรียกหา "เจ้าภาพ" อยู่เสมอด้วย อย่างไรก็ตาม หากเจ้าภาพมีความหมายเพียงหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง และคอยแสดงปาหี่ในระหว่างเกิดเหตุการณ์ ก็คงไม่มีประโยชน์เท่าไรนัก เพราะสิ่งที่จะมีประโยชน์มากกว่าในการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม คือการสั่งสม-สืบทอดความรู้และประสบการณ์ และอำนาจที่จะทำให้เกิดการประสานงานกันระหว่างหน่วยราชการและภาคเอกชน-ประชาชน

ฉะนั้นหากจะมีหน่วยงานสำหรับการนี้โดยเฉพาะ หน้าที่หลักจึงน่าจะเป็นการสั่งสมและสืบทอดความรู้ว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติอย่างใหญ่ขึ้น อะไรต้องทำก่อน และใครควรทำ, ต้องทำอย่างไร, จะใช้กลไกการปกครองให้เป็นประโยชน์ในเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างไร, จะขอความร่วมมือจากภาคเอกชนได้อย่างไร, จะทำให้ความช่วยเหลือจากภาคเอกชนและประชาชนไหลเข้าสู่พื้นที่อย่างไร จึงจะเป็นไปโดยประหยัด และถึงมือคนอย่างทั่วถึง ฯลฯ

หากมีการเก็บข้อมูลเหล่านี้มาทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ ป่านนี้เราคงมีคำตอบสำหรับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเหล่านี้มากมายแล้ว แม้กระนั้นก็ยังไม่สายเกินไปที่จะมีหน่วยงานเกิดขึ้นเพื่อบริหารจัดการความรู้ด้านนี้โดยเฉพาะขึ้น แต่หน่วยงานดังกล่าวไม่ควรเป็นผู้ลงมือปฏิบัติแต่ผู้เดียว เพราะหน่วยงานราชการซึ่งมีธรรมชาติแยกส่วนจากกันเช่นนี้ ย่อมไม่สามารถปฏิบัติงานที่ต้องข้ามกรมข้ามกระทรวงในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ได้ เช่นหากเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ก็แทบจะไม่สามารถประสานงานกับหน่วยราชการอื่นให้ทันต่อความฉุกเฉินได้

ผู้ลงมือปฏิบัติจริงจึงควรเป็นนายกรัฐมนตรี แต่อย่านึกเอาเองเพราะเชื่อในอัจฉริยภาพของตัว (เช่นสั่งทุบฝายที่เชียงใหม่) หากควรตัดสินใจสั่งการบนพื้นฐานของความรู้และข้อมูลที่หน่วยงานดังกล่าวป้อนให้ เช่นกรณีน้ำท่วมและดินถล่มที่อุตรดิตถ์ในครั้งนี้ รัฐบาลน่าจะสั่งทหารให้เคลื่อนเข้าไปก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะรับสั่งด้วยซ้ำ เพราะสถานการณ์คับขันขนาดที่หน่วยงานซึ่งมีกำลังคนและเครื่องมือที่ระดมได้อย่างรวดเร็วทันทีมีเพียงหน่วยเดียวคือทหาร

เป็นเวลาอีกหลายวันต่อมากว่าที่ประชาชนซึ่งได้ทราบข่าวภัยพิบัติ จึงทราบว่าจะส่งสิ่งของหรือเงินบริจาคไปที่ใคร ประชาชนจำนวนมากในพื้นที่ประสบภัย ไม่อาจย้ายออกจากเคหสถานซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักได้ เพราะเกรงขโมยขโจรจะกวาดทรัพย์สมบัติที่เหลืออยู่ ทหารหรือตำรวจจำเป็นต้องมีอำนาจพิเศษที่จะสามารถปกป้องทรัพย์สินของประชาชนได้ในกรณีนี้

หากพระราชกำหนด (ซึ่งกลายเป็นพระราชบัญญัติไปแล้ว) บริหารราชการแผ่นดินในภาวะฉุกเฉิน ออกมาเพื่อการเผชิญกับภัยพิบัติทั้งทางธรรมชาติและทางสังคม ตามสภาพที่เป็นจริงเช่นนี้ ทุกฝ่ายคงเห็นดีเห็นงามด้วย นายกรัฐมนตรีและผู้ปฏิบัติงานตามคำสั่ง (ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ-ทหารหรือข้าราชการพลเรือน) ควรมีอำนาจพิเศษสำหรับสภาวะฉุกเฉินเร่งด่วนเช่นนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติ หรือชดเชยความเสียหายตามควร (เช่นถูกระเบิดหรือยิง-ไม่ว่าจากฝ่ายใด-ย่อมสะท้อนความอ่อนแอของรัฐ ซึ่งรัฐต้องรับผิดชอบต่อเหยื่อและครอบครัวของเขา)

ในโลกปัจจุบัน ภาวะฉุกเฉินควรมีความหมายอื่นๆ มากกว่าเมื่ออำนาจรัฐถูกคุกคาม เพราะเป็นภาวะฉุกเฉินของประชาชน ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินของรัฐฝ่ายเดียว และในภาวะฉุกเฉินของประชาชนเช่นนี้แหละ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือสังคม ที่จำเป็นต้องมีอำนาจพิเศษสำหรับจัดการ ในระยะเวลาอันสั้นฉุกละหุก ก่อนที่จะถ่ายมอบภาระหน้าที่กลับไปสู่สภาพปกติ

แต่ตราบเท่าที่รัฐยังคิดถึงภาวะฉุกเฉินแต่แง่เดียวคือ เมื่ออำนาจรัฐถูกคุกคาม ประชาชนก็ต้องเผชิญกับภัยพิบัติไปอย่างทุลักทุเล ประหนึ่งเป็นคนที่ไม่มีรัฐ

ความบ้าอำนาจคือความอยากได้อำนาจไว้มากๆ โดยไม่รู้จะเอาอำนาจนั้นไปทำอะไร

3. ศาสตร์และการครอบงำ
คงได้ทราบเคราะห์กรรมที่เกิดแก่ดาวเคราะห์แล้วนะครับว่า ในที่สุดที่ประชุมนักดาราศาสตร์โลกก็ลงมติให้ดาวพลูโตไม่ใช่ดาวเคราะห์ของดวงอาทิตย์ของเราไปแล้ว และทำให้ดาวเคราะห์ของระบบสุริยจักรวาลของเราเหลือเพียง 8 ดวง. ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ผมขออนุญาตไม่อธิบายนะครับ เพราะผมอ่านแล้วก็ไม่แน่ใจว่าจะรู้เรื่องพออธิบายได้

หลายคนเป็นห่วงว่าจะกระทบโหราศาสตร์อย่างไร และหลายคนห่วงว่าที่เด็กท่องจำเอาไว้จะใช้ไม่ได้ จนถึงกับต้องแก้ไขตำราเรียนกัน ผมไม่ได้ห่วงเรื่องเหล่านั้นหรอกครับ แต่กลับสะใจดีเสียอีกด้วยซ้ำ ไม่ใช่นะครับ ผมไม่ได้มีเรื่องบาดหมางอะไรกับดาวพลูโต แต่สะใจเพราะมันแฉให้เราเห็นถึงกระบวนการสร้างความจริงได้โจ่งแจ้งดีกว่าการค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่มากมาย

คืออย่างนี้ครับ คนไทยมักเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์เป็นความจริง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ค้นพบทีละเล็กทีละน้อย สะสมรวมกันเป็นก้อนใหญ่แล้วเรียกมันว่าวิทยาศาสตร์ เป็นของจริงชนิดปฏิเสธไม่ได้ พูดแล้วไม่ต้องมาเถียงให้ยากเลย ฉะนั้น แต่เดิมนักวิทยาศาสตร์อาจพบว่ามีดาวเคราะห์อยู่เพียง 7 ดวง แล้วส่องกล้อง, คำนวณ, หรืออะไรก็ตาม จนพบว่ามันมี 8 และ 9 ไปเรื่อยๆ การเพิ่มดาวเคราะห์จึงไม่ถ่ายถอนความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของคนไทยไปได้ เพราะเราเชื่อว่าวิทยาศาสตร์นี่เก่งกาจพอจะสั่งสมความจริงไปได้ไม่สิ้นสุด

แต่คราวนี้เขากลับลดจำนวนของดาวเคราะห์ลงไป 1 ดวง ซึ่งมีนัยะว่า ที่บอกแต่เดิมว่ามีดาวเคราะห์อยู่ 9 ดวงนั้นผิด หรือไม่จริง เพราะที่ถูกหรือที่จริงมี 8 ดวงเท่านั้น

เอาล่ะสิครับ วิทยาศาสตร์ก็ผิดได้ หรือพูดแล้วไม่ตรงกับความจริงได้เหมือนกัน ความ "ศักดิ์สิทธิ์" ของวิทยาศาสตร์จึงคลอนคลายลง พอที่เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์กันใหม่ได้. เหตุที่นักดาราศาสตร์ลดจำนวนดาวเคราะห์ไปหนึ่งดวงนั้น คุณศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ เรียกว่าสร้าง "นิยาม" ที่ผิดแผกไปจากเดิม

ผมชอบคำนี้ครับ เพราะทำให้เราเห็นได้ว่าความจริงที่วิทยาศาสตร์เสนอให้เรานั้นเกิดขึ้นจาก "นิยาม" ซึ่งหาได้มีอยู่ในธรรมชาติไม่ หากเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นเอง เห็นได้ชัดในกรณีมติตัดดาวพลูโตออกไปของที่ประชุมนักดาราศาสตร์โลกครั้งนี้ เพราะ "นิยาม" ใหม่นี้ไม่ได้เป็นที่ยอมรับของทุกคน เพียงแต่เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบด้วย จึงทำให้ต้องตัดดาวพลูโตออกไปเท่านั้น

ความจริงจะมาจากการโหวตได้อย่างไรครับ

โดยอาศัยการนิยามซึ่งนักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นเองนี้ นักวิทยาศาสตร์ก็จินตนาการว่าสิ่งต่างๆ นั้นสัมพันธ์กันอย่างไร เช่น เพราะดาวเคราะห์ต่างๆ โคจรรอบดาวฤกษ์ที่ชื่อดวงอาทิตย์ ดาวเหล่านี้จึงมีความสัมพันธ์กันใน "ระบบ" ชนิดหนึ่ง เรียกว่าสุริยจักรวาล. แม้แต่ "ระบบ" ก็ไม่ได้มีอยู่ในธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นมาเองจากจินตนาการของตัว เพื่อทำให้สิ่งต่างๆ มีความสัมพันธ์กันในเชิงสาเหตุ-ผลลัพธ์ หรือในเชิงกระบวนการก็ตาม

พูดให้ถึงที่สุดแล้ว ธรรมชาติทั้งหมดที่เราเรียนรู้จากวิทยาศาสตร์นั้น ล้วนถูกจินตนาการขึ้นมาโดยมนุษย์เอง เพื่อให้สามารถอธิบายธรรมชาติได้ หรือทำความเข้าใจกับธรรมชาติได้ ทั้งๆ ที่อาจไม่ใช่ความจริงเลยก็ตาม. ไม่ต่างจากจินตนาการเรื่องเดียวกันนี้ในสมัยโบราณซึ่งเกิดจากศาสนา, ปรัมปราคติ, คำสอนของหมอผี, ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม คือจินตนาการหรือสร้างขึ้นเพื่อทำความเข้าใจกับธรรมชาติ และทำให้เราสามารถสัมพันธ์กับธรรมชาติได้ (อย่างยอมจำนนหรืออย่างคิดจะควบคุมมันก็ตาม)

จินตนาการเหล่านี้เราเรียกว่า "ความรู้" ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่ความจริงนะครับ และการเรียนวิทยาศาสตร์คือเรียนเพื่อจะได้ "ความรู้" ดังกล่าวนี้ แต่ไม่ใช่รู้เนื้อหาโน่นเนื้อหานี่ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ แต่ต้องเรียนเพื่อให้เข้าถึง "ความรู้"

"เข้าถึง" หมายความว่า "รู้เท่าทันจินตนาการหรือกระบวนการสร้างจินตนาการ" ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องโน้นเรื่องนี้ รู้เท่าทันก็คือรู้จุดอ่อนของมันด้วย และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ฝึกให้ตัวสามารถสร้างจินตนาการได้เองว่าอะไรสัมพันธ์กับอะไรอย่างไร หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือสร้าง "ความรู้" ได้ใหม่ไปพร้อมกัน

ถ้าเรียนวิทยาศาสตร์แล้ว ได้แต่รู้โน่นรู้นี่ แต่ไม่รู้เท่าทันจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ของโน่นนี่ หรือไม่สามารถเข้าถึงจินตนาการนั้นๆ ได้ ก็เท่ากับไม่มี "ความรู้" ทางวิทยาศาสตร์

ในเมืองไทย การเรียนวิทยาศาสตร์ทำให้เข้าถึง "ความรู้" หรือไม่ ก็จะเห็นได้ดีจากความห่วงใยว่าตำราเรียนวิทยาศาสตร์จะล้าสมัย เพราะดาวเคราะห์ได้ลดจำนวนไปแล้ว 1 ดวง แต่ไม่เห็นมีใครแคร์ที่จะบอกให้เด็กเข้าถึงจินตนาการที่จะลดหรือเพิ่มดาวเคราะห์เลย. เราสอน "ช่าง" วิทยาศาสตร์มานาน เมื่อไหร่จะเริ่มสอนวิทยาศาสตร์กันเสียที

ผมควรกล่าวด้วย่า "ศาสตร์" ทั้งหลายนั้น ก็ไม่ต่างจากวิทยาศาสตร์นะครับ คือไม่ใช่ความจริง แต่เป็นจินตนาการของมนุษย์ที่จะสร้างระบบเพื่อสัมพันธ์สิ่งที่ตัวคิดเองว่า น่าจะเกี่ยวข้องไว้ภายใต้ระบบอันใดอันหนึ่งเท่านั้น

ความรู้ทางประวัติศาสตร์ไม่ใช่ความจริงเกี่ยวกับอดีต แต่เป็นการผูกโยงข้อเท็จจริงปลีกๆ เข้าหากันเพื่อสร้าง "เรื่อง" (หรือจะเรียกนิยายก็ได้นะครับ) ที่ทำให้เราอธิบายอดีตได้ลงร่องลงรอยดีที่สุด ทั้งๆ ที่ไม่มีใครรู้หรอกครับว่าจริงหรือไม่จริง. ฉะนั้น พ่อขุนรามคำแหงย่อมทรงรู้ประวัติศาสตร์สุโขทัยน้อยกว่าท่านอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เพราะประวัติศาสตร์สุโขทัยของอาจารย์ศรีศักร ท่านเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง (อย่างที่พ่อขุนท่านก็อาจทรงสร้างขึ้นเองอีกสำนวนหนึ่ง ถ้าขอให้ท่านเล่า) แล้วพ่อขุนจะทรงทราบดีไปกว่าอาจารย์ศรีศักรได้อย่างไรเล่าครับ

และอย่างที่กล่าวแล้ว และขอย้ำอีกครั้งว่า ศาสตร์ทุกชนิดล้วนเป็นจินตนาการทั้งนั้น ไม่ใช่ความจริง การเล่าเรื่องวิชาความรู้จึงต้องเรียนเพื่อให้เข้าถึงจินตนาการ ไม่ใช่เรียนตัวเนื้อหา ซึ่งมักจะลืมไปในเวลาไม่นาน อย่างที่กวีข้างถนนชอบพูดแหละครับว่า "โลกคือความฝัน" เพียงแต่ความหมายของมันอาจลึกกว่าที่กวีข้างถนนจะนึกไปได้ถึง

ที่พูดมานี้ ผมไม่ต้องการให้มีนัยะว่า นักวิชาการชั่วร้ายพอที่จะยัดเยียดความฝันของพวกเขาให้กลายเป็นจินตนาการร่วมของมนุษย์ทั่วไป ถึงนักวิชาการจะสร้างหรือไม่สร้างจินตนาการขึ้นมา มนุษย์โดยธรรมชาติย่อมต้องสร้างจินตนาการเกี่ยวกับสิ่งโน้นสิ่งนี้ ที่ตัวต้องเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะอยู่นอกร่างกายเรา หรือเป็นเพียงอารมณ์ความรู้สึกของเราเอง มนุษย์ย่อมสร้างหรือรับเอา "ภาพ" ของโลกและชีวิตที่มีอยู่ เพื่อตัวจะได้สัมพันธ์กับโลกและชีวิตได้

ส่วนการที่ในปัจจุบันนักวิชาการค่อนข้างผูกขาด หรือสร้างจินตนาการของตัวให้มีสถานะสูงกว่าจินตนาการของช่างตัดผม การนี้ทำให้โลกดีขึ้นหรือไม่ และนักวิชาการได้ประโยชน์อะไรจากการนี้ ผมจะไม่พูดถึงล่ะครับ แต่จะบอกสั้นๆ เพียงว่าคำตอบไม่ใช่ขาวหรือดำล้วนๆ แน่

เมื่อพูดถึงจินตนาการ คนในสมัยปัจจุบันมักคิดว่า เกิดแก่คนแต่ละคนอย่างอิสระเสรี ต่างคนต่างคิดต่างคนต่างฝันไปตามใจชอบ แต่ที่จริงแล้วคนเราคิดฝันอยู่ในกรอบอันหนึ่งเสมอ คนในวัฒนธรรมที่ไม่มีพระอินทร์ย่อมไม่เคยคิดฝันถึงพระอินทร์เป็นต้น กรอบที่กำหนดจินตนาการ โดยเฉพาะจินตนาการทางวิชาการนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยไม่เกี่ยวข้องกับการครอบงำทางความคิดที่เป็นอยู่ในเวลานั้นเสียเลย

ผมอยากจะยกตัวอย่างซึ่งอาจจะหยาบไปสักหน่อย แต่เห็นได้ชัดดีว่า การมองธรรมชาติเป็นกลไกที่แน่นอนตายตัว อย่างที่เรียกกันว่ากระบวนทรรศน์แบบนิวตันนั้นสอดคล้องกับพัฒนาการทางการเมือง, สังคม, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่เกิดต่อมาพอดี ไม่ว่าจะเป็นการรวมอำนาจทางการเมืองเข้าศูนย์กลาง, วัฒนธรรมกระแสเดียว, การผลิตเชิงอุตสาหกรรม, โลกาภิวัตน์, เสรีนิยม ฯลฯ ซึ่งล้วนตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า ทุกอย่างล้วนอยู่ในระบบที่ต่างมีความสัมพันธ์กันในเชิงกลไก แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่านิวตันถูกครอบงำจากสิ่งเหล่านี้ หรือสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการครอบงำของนิวตัน แต่สองอย่างมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างยากจะปฏิเสธได้

ด้วยเหตุดังนั้น การเรียน "ศาสตร์" ต่างๆ โดยเข้าไม่ถึงความรู้ หรือจับกระบวนการจินตนาการซึ่งเป็นที่มาของเนื้อหาที่เรียนไม่ได้ จึงทำให้ผู้เขียนถูกครอบงำ และเป็นเครื่องมือแห่งการครอบงำไปโดยไม่รู้ตัว

หากการปลดปล่อยคือจุดมุ่งหมายของการศึกษา หนึ่งในสิ่งที่ต้องปลดปล่อยก็คือพันธนาการของ "ศาสตร์" ทั้งหลาย ที่รัดรึงให้ผู้เรียนเป็นเหยื่อของการครอบงำ และเป็นเครื่องมือของการครอบงำไปพร้อมกัน

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H

ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่การจัดความสัมพันธ์ของระบบราชการไทย นับตั้งแต่เราปฏิรูประบบราชการในสมัย ร.5 เป็นต้นมา เราก็ตั้งหน้าตั้งตาลอกระบบบริหารของอาณานิคมมาจนป่านนี้ไม่เลิก ระบบความสัมพันธ์เชิงราชการของไทยจึงมีลักษณะบนลงล่างเสมอ ต้องมีอธิบดี, หัวหน้ากอง, หัวหน้าแผนก ไล่ลงมาเป็นลำดับ ถึงลูกกระจ๊อกข้างล่าง จะไปเชื่อมโยงกับใครที่อยู่นอกระบบราชการ ก็ต้องดึงเขาเข้ามาในพีระมิดแห่งอำนาจนี้ให้ได้ ไม่งั้นไม่รู้จะสัมพันธ์กับเขาอย่างไร ? จุดมุ่งหมายของระบบราชการในสมัยเริ่มแรกมีแคบๆ เพียงสถาปนาอำนาจของรัฐส่วนกลางลงให้เต็มราชอาณาจักร ก็พอทำกันไปได้ แต่พอเราต้องการให้ระบบราชการทำอะไรมากกว่านั้น ก็พบว่าทำอะไรไม่ได้ นับตั้งแต่เก็บขยะเป็นต้นไปดังที่กล่าวแล้ว

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R