Free Documentation
License
Copyleft : 2006,
2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document, but changing it is not allowed.
หากนักศึกษา
และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
The Midnight
University
คอลัมน์โลกาภิวัตน์แบบไม่ผูกขาด
เอฟทีเอ.เกาหลีกับสหรัฐฯ
บทเรียนที่เรียนรู้กันได้
รวบรวมโดยกอง
บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ชุดความรู้เที่ยงคืน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ทางกองบรรณาธิการเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืน
ได้รับมาจากกองบรรณาธิการ เอฟทีเอว็อทช์
ซึ่งเป็นการติดตามรายงานผลกระทบการเจรจาเอฟทีเอที่ผ่านมา
ระหว่างเกาหลีกับสหรัฐอเมริกา
จากกรณีดังกล่าวทำให้ชาวเกาหลีในหลายสาขาอาชีพได้ร่วมกันออกมาประท้วง
และมีบางส่วนได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชนเกาหลี
บินไปประท้วงที่ทำเนียบขาว สหรัฐอเมริกา
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
หมายเหตุ : ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1031
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๐ กันยายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
16.5 หน้ากระดาษ A4)
เอฟทีเอ.เกาหลีกับสหรัฐฯ
บทเรียนที่เรียนรู้กันได้
รวบรวมโดยกอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
คอลัมน์โลกาภิวัตน์แบบไม่ผูกขาด
บทเรียนจากต่างประเทศที่คนไทยยืมได้ ปรับใช้ได้ และเลียนแบบได้โดยไม่มีลิขสิทธิ์
โดย กอง บก. เอฟทีเอว็อทช์ จาก http://www.ftawatch.org/autopage1/show_page.php?t=40&s_id=4&d_id=4
(ไม่เอา) เอฟทีเอเกาหลีใต้-สหรัฐฯ: การต่อสู้ของคนหน้าตาธรรมดาและไม่ธรรมดา
5 กันยายน 2549
คอลัมน์โลกาภิวัตน์ฯฉบับ 3 จั่วหัวเรื่องไว้ค่อนข้างคลุมเครือ เพราะไม่บอกว่าคนที่หน้าตาธรรมดาและไม่ธรรมดานั้นหมายถึงใครกันแน่
(และใช้เกณฑ์วัดแบบไหน) แต่เป็นเรื่องของเอฟทีเอระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา
อย่างที่ใครหลายคนเคยบอกไว้ สหรัฐฯ ไม่ได้ทำเอฟทีเอกับไทยเพียงประเทศเดียว เขาทำกับหลายประเทศทั้งในภูมิภาคนี้และภูมิภาคอื่น เกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่กำลังเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐฯอยู่ โดยเริ่มเจรจารอบแรกและรอบสองไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2549 ที่ผ่านมา และกำลังจะเริ่มเจรจารอบสามในวันที่ 6 กันยายนนี้ หลังจากที่รัฐบาลสองประเทศประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ก่อนหน้านั้นต่อหน้าสาธารณชนว่า จะเจรจาและจะให้เสร็จภายในมีนาคม 2550 รวมเสร็จสรรพใช้เวลาในการเจรจาไม่ถึง 1 ปี (เปรียบเทียบกับเอฟทีเอที่เกาหลีใต้ทำกับชิลีก่อนหน้านี้ใช้เวลาเจรจา 3 ปี)
เหตุผลก็คือสหรัฐฯต้องการให้เสร็จทันก่อนที่กฎหมาย
Trade Promotion Authority (หรือเรียกสั้นๆว่า Fast Track ซึ่งให้อำนาจประธานาธิบดีในการเจรจาการค้าได้โดยสะดวก)
จะหมดอายุลง
นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ตกลงกับสหรัฐฯว่า
จะไม่เปิดเผยรายละเอียดในข้อตกลงภายหลังจากข้อตกลงมีผลบังคับใช้ไปแล้ว 3 ปี
ภายหลังจากข้อตกลงมีผลบังคับใช้ไปแล้ว 3 ปีกว่าที่ประชาชนจะมีสิทธิรู้ว่าเขาไปแอบตกลงอะไรกันไว้บ้าง จึงไม่แปลก หากชาวท่องเที่ยวเว็บบอร์ดรายหนึ่งจะเขียนว่า "คือผมเห็นข่าวนี่มาหลายวันแล้วครับ แต่ไม่รู้ว่าเขาประท้วงอะไรกัน" พร้อมกับโพสต์รูปจำนวนนับไม่ถ้วนไว้ รูปพวกนั้นเป็นรูปของคนในวงการภาพยนตร์เกาหลีทั้งสิ้น แต่ในอีกหลายเว็บไซต์ ปรากฎว่ามีรูปของคนเกาหลีเดินดินธรรมดายืนถือป้ายอะไรสักอย่างด้วยเหมือนกัน ท่านอาจจะตั้งคำถามเดียวกันว่า "จริงๆ ด้วย เขาประท้วงอะไรกัน"
ประสบการณ์ของเกาหลีใต้บอกเราว่า "ช่วงแรกที่ต่อต้านเอฟทีเอ คิดว่าเป็นปัญหาเฉพาะเกษตรกร แต่ยิ่งศึกษายิ่งพบว่า เอฟทีเอมีผลกระทบต่อคนงาน ทำลายภาคบริการและภาคสาธารณะ" "ภาคประชาชนจินตนาการเกินไปว่าจะสามารถฝากความหวังไว้กับนักการเมืองได้" "การต่อสู้กับเอฟทีเอโดยเกษตรกรอย่างเดียวไม่มีทางชนะ ต้องมีคนส่วนใหญ่กับฝ่ายเรา"
เอฟทีเอเกาหลีใต้-สหรัฐฯ:
อะไร
ที่ทำให้ใครต่อใครต้องสู้
เกาหลีใต้เป็นประเทศในคาบสมุทรเกาหลี มีคู่แฝดคือเกาหลีเหนือซึ่งยังมีระบบการปกครองประเทศแบบเผด็จการอยู่
เกาหลีใต้เคยเป็นหนึ่งในเจ้าของฉายา "ประเทศนิกส์" หรือประเทศพัฒนาเกิดใหม่
ซึ่งใช้เวลาไม่กี่ทศวรรษก็พัฒนาก้าวกระโดดจากประเทศกำลังพัฒนาไปเป็นประเทศพัฒนา
จะกระโดดเร็วขนาดไหน ดูได้จากรายได้เฉลี่ยต่อประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราด
ในปี 2506 ยังอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต่อปี มาในปี 2548 รายได้เฉลี่ยเพิ่มเป็นกว่า
20,000 ดอลลาร์ ปัจจุบันเกาหลีใต้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 14 ของโลก
การทำเอฟทีเอระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯนั้นมีหลายเหตุผลประกอบกัน และแน่นอนว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในนั้น สำหรับสหรัฐฯแล้ว เกาหลีใต้เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 7 เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรลำดับที่ 5 ในทางกลับกัน สหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 3 ของเกาหลีใต้ รองจากจีนและสหภาพยุโรป
งานศึกษาของสถาบันเกาหลีเพื่อนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (Korean Institute for International Economic Policy) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลคาดการณ์ว่า เอฟทีเอระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (real GDP) เพิ่มขึ้น 2% จะเพิ่มการส่งออกของเกาหลีใต้ไปยังสหรัฐฯได้ 15% (ขณะที่สหรัฐฯจะส่งออกมาเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 54%) ทำให้การค้าขายระหว่างกันขยายตัวจาก 73 พันล้านดอลลาร์ เป็น 90 พันล้านดอลลาร์ และสามารถเพิ่มการจ้างงานในภาคการผลิตได้ 6.5%
ขณะที่รายงานฉบับย่อของผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ระบุว่า ภายใน 15 ปีเกาหลีใต้จะเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ การทำเอฟทีเอจะทำให้สหรัฐฯมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น โดยการลดกำแพงทั้งที่เป็นภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีลง (เช่น กฎระเบียบต่างๆ มาตรฐานสุขอนามัย) ในตลาดสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมและบริการ
แต่ยังไม่ทันที่การเจรจารอบแรกจะเริ่มขึ้น สถานะของสหรัฐฯ ก็ดูเหมือนจะก้าวหน้ากว่าเกาหลีใต้แล้วไปหลายแต้ม เมื่อรัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศผ่านข้อตกลงที่จะเป็นประโยชน์กับสหรัฐฯอย่างน้อย 6 เรื่อง ได้แก่
- ข้อตกลงว่าด้วยการยับยั้งการปรับลดราคายา (รัฐบาลเกาหลีใต้จะไม่เสนอนโยบายการกำหนดราคายาใหม่ในอนาคตอันใกล้)
- ข้อตกลงว่าด้วยการลดมาตรฐานเครื่องยนต์ที่หมดอายุแล้ว (ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะกระทบต่อมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม)
- การระงับข้อพิพาทแบบบังคับในสมัชชาแห่งชาติว่าด้วยมาตรการลงโทษกรณีข้าว
- ข้อตกลงว่าด้วยการคืนสู่สภาพการนำเข้าเนื้อวัวสหรัฐฯ (แม้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้และประชาชนจะยังไม่ไว้วางใจว่าเนื้อวัวปลอดภัยจากโรควัวบ้า)
- ข้อตกลงว่าด้วยความยืดหยุ่นทางยุทธศาสตร์ของกองกำลังทหารสหรัฐฯในเกาหลี (การส่งกองกำลังทหารสหรัฐฯและเกาหลีใต้อย่างทันที ไปยังพื้นที่ที่มีปัญหาใดๆในโลก)- และการประกาศลดโควต้าภาพยนตร์ (การลดข้อกำหนดให้ต้องมีการฉายหนังเกาหลีในโรงภาพยนตร์ลงจากเดิมครึ่งหนึ่ง)
ข้อตกลงหลายข้อข้างต้นเป็นเรื่องที่สหรัฐฯยืนยันให้เกาหลีใต้ตกปากรับคำก่อน มิเช่นนั้นจะไม่คุยเรื่องเอฟทีเอด้วย ขณะที่ผู้แทนเจรจาด้านแรงงานของเกาหลีใต้บอกว่า "เรากำลังเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ขณะที่เราเจรจากับตัวแทนขอสหรัฐฯ" แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า แม้ประเทศพัฒนาด้วยกันมาเจรจากัน ก็ยังเป็นมวยคนละชั้นอยู่ดี ภาพดาราที่ไปนั่งกลางแจ้ง ยืนถือไมค์ ซึ่งเรามักไม่ค่อยเห็นจึงผุดขึ้นเพื่อโต้ตอบกับการตัดสินใจลดโควต้าภาพยนตร์ที่เป็นเงื่อนไขหนึ่งของการ "เริ่ม" เจรจาเอฟทีเอนั่นเอง
อย่างที่ใครบางคนเคยกล่าวไว้ "หากไม่รู้ผลกระทบ จะเข้าใจการต่อสู้ของคนกลุ่มหนึ่งได้อย่างไร" แต่การพูดถึงผลกระทบเอฟทีเอเกาหลีใต้-สหรัฐฯนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีรายละเอียดและความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมแบบเกาหลีอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องการเมืองการทหารของสหรัฐฯ ในคาบสมุทรเกาหลีที่เข้ามามีบทบาทอยู่ไม่น้อยในการทำเอฟทีเอระหว่างสองประเทศ ดังนั้น ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างผลกระทบบางเรื่องที่มองจากมุมมองทางเศรษฐกิจเป็นหลัก
ผลกระทบจากโควต้าภาพยนตร์
โควต้าภาพยนตร์เป็นมาตรการที่เริ่มตั้งแต่ปี 2510 ซึ่งกำหนดให้โรงภาพยนตร์ต้องฉายหนังที่ผลิตในประเทศเป็นเวลาอย่างน้อย
146 วันต่อปี มาตรการนี้สร้างขึ้นเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมหนังภายในประเทศจากการไหลบ่าของหนังจากฮอลลีวู้ด
ความพยายามของฮอลลีวู้ดในการลดกฎระเบียบนี้ลงปรากฎในการเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐ
ในข้อตกลงการลงทุนทวิภาคี (Bilateral Investment Treaty: BIT) มาตั้งแต่ปี 1998
แต่ได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากคนในอุตสาหกรรมจนมาสำเร็จเมื่อจะมีการเจรจาเอฟทีเอ
ซึ่งทำให้โควต้าภาพยนตร์เกาหลีเหลือเพียง 73 วันต่อปี
หลายคนเชื่อว่า เบื้องหลังความสำเร็จของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลี ซึ่งในปัจจุบันได้รับความนิยมในระดับนานาชาตินั้นมาจากมาตรการกำหนดโควต้านี้ ทำให้ส่วนแบ่งตลาดในประเทศของหนังเกาหลีเพิ่มขึ้นจาก 15% มาอยู่ที่ 47% ภายในช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา และการส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบ 900%
แม้ว่าคนจำนวนหนึ่งจะเห็นด้วยกับการตัดลดโควต้าเพราะเชื่อว่า อุตสาหกรรมหนังเกาหลีครองตลาดในประเทศในสัดส่วนที่มากพอที่จะไปแข่งขันกับสหรัฐฯได้แล้ว แต่ผู้อำนวยการของพันธมิตรเกาหลีเพื่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Korean Coalitions for Cultural Diversity) นาย Yang Gi-hwan กล่าวในงานแถลงข่าวที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศสว่า
"หนังฮอลลีวู้ดครองส่วนแบ่งตลาดโลกประมาณ
80% ผลิตผลจากทีวีอเมริกาครองส่วนแบ่งเวลาออกอากาศทั่วโลกประมาณ 90% ดนตรีอเมริกาทำกำไรคิดเป็นประมาณ
85% ของกำไรในอุตสาหกรรมดนตรี สถานการณ์อย่างนี้น่าจะกระตุ้นให้มวลมนุษยชาติเกิดอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาได้แล้ว''
นอกจากนี้เรื่องของโควต้ายังมีนัยยะไปถึงประเด็นวัฒนธรรม เครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม
(INCD) ได้เขียนจดหมายถึงสภาคองเกรสสหรัฐฯและรัฐบาลเกาหลีใต้ สนับสนุนการรักษาไว้ซึ่งโควต้าภาพยนตร์
ซึ่ง Gary Neil ผู้อำนวยการของเครือข่ายนี้บอกว่า "แม้แต่ในยุโรป ซึ่งคุณมีประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแรงมากและมีบริษัทด้านสื่อขนาดใหญ่
หนังของสหรัฐฯ ก็ยังมีอิทธิพลและครองส่วนแบ่งการตลาดในทุกที่อยู่ระหว่าง 60-85%
การต่อสู้เพื่อรักษาโควต้าหนังเกาหลีไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของคนเกาหลีเท่านั้น
แต่เพื่อขบวนการเคลื่อนไหวด้านวัฒนธรรมทั่วโลก"
ผลกระทบจากการเปิดเสรีสินค้าเกษตร
ภาคเกษตรของเกาหลีใต้ เป็นผลิตผลของการทิ้งขว้างจากรัฐในระหว่างการเร่งรัดพัฒนาประเทศไปสู่อุตสาหกรรม
ภาคเกษตรกรรมถูกทำให้หดตัวอย่างรุนแรง ในเวลานั้นเกาหลีใต้มีอัตราการอพยพย้ายถิ่นของชาวนาสู่เมืองมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
คือ ประมาณ 400,000 คนต่อปี ปัจจุบัน ภาคเกษตรคิดเป็นเพียง 3% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ
ทิ้งห่างภาคอุตสาหกรรมและเกษตร
อัตราการพึ่งพาตัวเองด้านอาหารของเกาหลีใต้อยู่ที่ 25% เพราะอาหารส่วนใหญ่ที่บริโภคภายในประเทศมาจากการนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ซึ่งสหรัฐฯเป็นผู้ส่งออกในลำดับต้นๆ หากตัด "ข้าว"ออกไป อัตราการพึ่งพิงตัวเองจะตกลงไปอยู่ที่ 5% เท่านั้นเอง การเปิดเสรีด้านการเกษตรจึงหมายถึงการกระโจนไปพึ่งพิงแหล่งผลิตอาหารจากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงขึ้น
รายงานข้อเท็จจริงทางการค้าเรื่องเกษตรของ USTR ระบุไว้ว่า เกาหลีเป็นตลาดสินค้าเกษตรหลักแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ แม้ว่าจะมีมาตรการจำกัดการนำเข้าในสินค้าหลายชนิด สหรัฐฯยังสามารถส่งออกได้ถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของสินค้าเกษตรนำเข้าทั้งหมดของเกาหลีใต้
เพราะฉะนั้น การลดภาษีและกำจัดมาตรการหรือกฎระเบียบในภาคเกษตรของเกาหลีใต้ จึงเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ที่ถูกระบุไว้อย่างชัดเจน ความมุ่งมั่นในการเปิดตลาดเกษตรของสหรัฐฯ ยังอาจสังเกตได้จากการเรียกร้องให้แยกการเจรจาเกษตรออกต่างหาก จากการเจรจาเรื่องสินค้าอุตสาหกรรม ขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องการให้รวมการเจรจาเข้าไว้ด้วยกัน
ผลการวิจัยของสถาบันเศรษฐกิจชนบทเกาหลี (Korea Rural Economic Institute: KREI) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยอีกแห่งหนึ่งของรัฐพบว่า เอฟทีเอระหว่างเกาหลีใต้-สหรัฐฯ จะทำให้เกาหลีใต้ต้องมีต้นทุนประมาณ 100 พันล้านวอนหรืออาจจะถึง 211 พันล้านวอนต่อปี (ประมาณ 104-219 ล้านดอลลาร์ต่อปี) แม้ว่าจะไม่เจรจาเปิดเสรีเรื่องข้าวเลย เพราะว่าข้อตกลงเอฟทีเอจะทำให้อัตราภาษีในสินค้าเกษตรหลายชนิดลดลง ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและทรัพยากรออกไปจากภาคเกษตร
เอฟทีเอยังส่งผลให้ประชาชนหันไปบริโภคอาหารชนิดอื่นที่มีราคาถูกกว่าข้าว ส่งผลให้ความต้องการบริโภคข้าวลดลง และไปทำลายโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตข้าวที่เคยมีอยู่ สุดท้ายเกาหลีใต้จะต้องนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ (ซึ่งประชากรไม่ได้บริโภคข้าว แต่กลับผลิตและส่งออกข้าว) เพิ่มขึ้นจำนวน 1.83 - 3.17 ล้านล้านวอนและประมาณการณ์ว่าภาคเกษตรต้องสูญเสียอาชีพประมาณ 71,000-142,000 คน
ผลกระทบที่มีต่อราคายาและสาธารณสุข
ถ้าในประเทศไทย เรื่องยาและสาธารณสุขถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายในการเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐฯ
ในเกาหลีใต้เรื่องยาก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนพอๆ กัน
ผลกระทบด้านสาธารณสุขเกิดขึ้นได้ในหลายทาง เช่น ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯก่อนเริ่มเจรจาที่รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องอนุญาตให้นำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐฯ อีกครั้ง การขยายอายุสิทธิบัตรยายาวนานขึ้น การปรับกฎระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพให้เทียบเท่าของสหรัฐฯ เป็นต้น ซึ่งเอกสารของกระทรวงสุขภาพและสวัสดิการของเกาหลีใต้ระบุว่า "หากรัฐบาลของเรายอมรับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ตามที่ขอ จะกระตุ้นให้ราคายาตามใบสั่งและต้นทุนด้านประกันเพิ่มสูงขึ้นในระยะกลางและระยะยาว"
ตัวอย่างผลกระทบที่น่าจะเข้าใจได้ง่ายที่สุดในเวลาอันสั้น ปรากฏอยู่ในการเจรจาเอฟทีเอรอบสองที่มีอันต้องเลิกก่อนกำหนด เกาหลีใต้กำลังนำเสนอร่างกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการประกันที่มีจุดมุ่งหมายให้ยาในระบบมีคุณภาพและราคาไม่แพงในเวลาเดียวกัน ข้อเสนอของร่างกฎหมายนี้คือให้ยาใหม่ต้องผ่านการตรวจสอบและอนุมัติจากกระทรวงสุขภาพและสวัสดิการ ก่อนจะเข้าไปอยู่ในรายชื่อยาที่จะได้สิทธิเบิกจ่ายจากระบบประกันสุขภาพของรัฐ ซึ่งทำให้ผู้แทนเจรจาฝ่ายสหรัฐฯ ไม่พอใจมากถึงกับต้องประท้วงเดินออกจากห้องประชุม
กฎหมายนี้ให้ประโยชน์กับประชาชนและเป็นผลดีต่องบประมาณภาครัฐ แต่สร้างผลเสียต่อบริษัทยาซึ่งจะต้องยื่นเรื่องเสนอทุกครั้ง เพื่อขอเข้าไปอยู่ในบัญชีรายชื่อยา ขณะที่ยาราคาแพงซึ่งส่วนมากเป็นยาที่มีสิทธิบัตรก็มีแนวโน้มที่จะไม่เข้าไปอยู่ในบัญชีรายชื่อยา หากว่ายาชื่อสามัญที่ให้ผลการรักษาแบบเดียวกันมีราคาถูกกว่า ดังนั้น การเจรจาเอฟทีเอจึงเข้าไปบั่นทอนกฎระเบียบภายในที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้บริโภค และละเมิดอธิปไตยของรัฐในการจัดการกับระบบสาธารณสุขภายในประเทศ
"การต่อสู้เพื่อปะทะกับความไม่เป็นธรรม"
ภาพของคนนับหมื่น เต็มอยู่ทั่วท้องถนนใจกลางกรุงโซล ภาพคนในชุดกันฝนที่ยังยืนชูกำปั้นอย่างเข้มแข็ง
ภาพกองทัพรถที่ถูกนำมากั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินต่อ ภาพการปะทะกันระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุมเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเจรจาเอฟทีเอรอบสอง
ซึ่งมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
จากผลกระทบมาสู่การต่อต้านเอฟทีเอกับสหรัฐฯนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ เอฟทีเอที่เกาหลีใต้ทำกับชิลีก่อให้เกิดกระแสประท้วงมาแล้วครั้งหนึ่งเพราะข้อตกลงที่จะลดภาษีสินค้าเกษตร การประท้วงการเจรจาเอฟทีเอกับชิลีเริ่มขึ้นในปี 2546 โดยมีเกษตรกรเป็นแกนหลัก เกษตรกรพันกว่าคนเดินทางมาประท้วงที่หน้ารัฐสภาทุกวันเป็นเวลาหนึ่งเดือน บางครั้งเกษตรกรได้บุกเข้าไปในรัฐสภาเพื่อเอาหมูไปปล่อย มีการยึดสะพานแม่น้ำฮันมีเป็นเวลา 8 ชั่วโมง รถบรรทุก 6,000 คันถูกขับให้ไปปิดถนนหลวง 10 ชั่วโมง ปิดอุโมงค์ 6 ชั่วโมง และไม่ให้วิ่งผ่านจนเมื่อมีคนป่วยขอเดินทางจึงเปิดถนน
เกษตรกรพยายามเรียกร้องให้สมาชิกสภาไม่รับรองเอฟทีเอ พวกเขาล้อมสำนักงานไว้ไม่ให้คนเข้าออกจนสมาชิกสภาสูงและสภาล่างมากกว่าครึ่ง สัญญาที่จะไม่รับรองเอฟทีเอ การประท้วงสามารถชะลอการลงนามเอฟทีเอได้หลายครั้ง แต่สุดท้ายสมาชิกสภาที่เคยรับปากไว้ก็กลับคำ ในช่วงเวลาดังกล่าว เกษตรกรได้เดินทางไปเมืองหลวงเพื่อประท้วงรวมเป็นจำนวน 144 ครั้ง
ประสบการณ์ครั้งนั้นได้สอนพวกเขาอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ
หนึ่ง พวกเขาไม่สามารถฝากความหวังไว้ที่นักการเมืองได้ และ
สอง การคัดค้านเอฟทีเอต้องร่วมมือกับคนส่วนใหญ่
พันธมิตรเกาหลีต้านเอฟทีเอเกาหลีใต้-สหรัฐฯ (Korean Alliance against the KorUS FTA) อาจถือได้ว่าเป็นผลผลิตของบทเรียนในครั้งนั้น พันธมิตรฯประกอบด้วยสหภาพแรงงาน องค์กรเกษตรกร องค์กรพัฒนาเอกชน พรรคการเมือง และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอื่นๆ ที่อยู่ในภาคสุขภาพ ภาพยนตร์ ดนตรี สื่อมวลชน การศึกษา และผู้บริโภค เกือบ 300 องค์กรเข้าร่วมในการต่อต้านเอฟทีเอระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ
ก่อนโรงละครเปิดม่าน
ก่อนที่จะเริ่มเจรจา การประท้วงหลากหลายรูปแบบโดยเฉพาะจากคนในอุตสาหกรรมหนัง
ก็เริ่มต้น ทันทีที่รัฐบาลประกาศตัดลดโควต้าภาพยนตร์ลง เหล่านักแสดงและผู้อยู่ในอุตสาหกรรมหนังเกาหลีประมาณ
800 คน ทั้งนั่งประท้วงและเดินขบวนไปยังโบสถ์แห่งหนึ่ง Choi Min-sik
นักแสดงนำเรื่อง Old Boy ซึ่งได้รับเหรียญยกย่องจากกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว จากการแสดงนำยอดเยี่ยมจนหนังเรื่องนี้ได้รับรางวัล Grand Jury Prize ในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปี 2547 ประท้วงรัฐบาลด้วยการคืนเหรียญ และประกาศนียบัตรไว้ที่โต๊ะประชาสัมพันธ์ชั้นหนึ่งของกระทรวง ในมือถือป้ายเขียนว่า "ไม่มีโควต้าภาพยนตร์ ไม่มี Old Boy" นักแสดงอีกบางส่วนยืนประท้วงเป็นเวลาหลายชั่วโมงคนเดียว
พันธมิตรเพื่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภาพเคลื่อนไหวในเกาหลีใต้ ประท้วงด้วยการสร้างเต็นท์กลางแจ้งเป็นเวลา 146 วันและจุดเทียนประท้วงทุกวัน บางวัน เกษตรกรและนักกิจกรรรมต่อต้านสหรัฐฯ เข้ามาร่วมจุดเทียนด้วยถึง 2,000 คน ที่เทศกาลหนังที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดาราและผู้อำนวยการจากเรื่อง The Unforgiven'' และ ``The Host'' 3 คนประท้วงหน้าโรงภาพยนตร์ Palais du Cinema ซึ่งเป็นที่จัดงานหลักเป็นเวลาสามคืนติดต่อกัน ที่นั่น พวกเขาชูป้าย "ไม่เอาเอฟทีเอ เอาโควต้าภาพยนตร์"
ในช่วงเวลาเดียวกับการประท้วงเรื่องการตัดโควต้าหนัง การประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเรื่องเอฟทีเอ (ซึ่งจัดขึ้นภายหลังที่สองประเทศตกลงใจที่จะเริ่มและจบการเจรจาภายในต้นปีหน้าเรียบร้อยแล้ว) เกษตรกรประมาณ 100 คนบุกขึ้นไปบนเวทีเพื่อนั่งประท้วงเอาเสียดื้อๆ ในมือถือป้ายผ้าเขียนว่า "เราคัดค้านการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ)ระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีใต้" ผลสุดท้าย ผู้จัดตัดสินใจเลิกประชุมกลางคัน และหลังจากนั้นหนึ่งวัน ประธานาธิบดี Roh กล่าวว่าจะให้ประชาชนส่งความคิดเห็นมายังรัฐบาลผ่านจดหมายอีเล็คโทรนิค (อีเมล์) หรือไปรษณีย์ โดยหวังว่าการรวบรวมความคิดเห็นสาธารณะนั้นจะทำให้ "กระบวนการเจรจาโปร่งใสมากขึ้นและสะท้อนเสียงของประชาชนได้ดีขึ้น" (วิธีแบบนี้คล้ายคลึงกับของไทยเช่นเดียวกัน)
ที่อดชื่นชมไม่ได้ก็คือ ในเดือนเมษายน สมาชิกสหภาพแรงงานประมาณ 3,000 คนในภาคการสื่อสารและเทคโนโลยี พยายามถล่มกล่องรับอีเมล์ของประธานาธิบดีบุช ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลของสหรัฐฯ ทำเนียบขาวและเพนตากอน ด้วยไฟล์ขนาดมหึมาเพื่อประท้วงการเจรจาเอฟทีเอ ข้อความส่วนหนึ่งในอีเมล์เขียนว่า "ระหว่างการเจรจาเอฟทีเอเกาหลี-สหรัฐฯ ข้อเรียกร้องของประเทศคุณตามกรอบข้างเดียวของคุณ มันช่างไร้เหตุผลอย่างไม่น่าเชื่อ"
รอบหนึ่ง: มีแต่คณะเจรจาเท่านั้นหรือที่บินได้
การเจรจาเอฟทีเอ ซึ่งจัดขึ้นในสถานที่ไกลออกไปจากแรงกดดันของประชาชนนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง
แม้ว่าจะมีคนร่วมคัดค้านในประเทศที่ได้รับผลกระทบมากเพียงใด ก็อาจไม่ส่งผลอะไรเลยถ้าคณะเจรจาไม่รู้สึกว่ามี
"ตัวตน" ของผู้ประท้วงอยู่จริง
ก่อนการเจรจารอบแรกจะมีขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐฯ ไม่ถึงเดือน กระทรวงต่างๆ ในเกาหลีใต้ 5 กระทรวงออกมาเรียกร้องให้ชาวเกาหลีใต้ประมาณ 100 คนเลิกล้มความคิดที่จะไปประท้วงที่วอชิงตัน ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงได้ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในสหรัฐฯ เพื่อขออนุญาตเดินขบวนและประกาศว่าจะประท้วงอย่างสงบ อย่างไรก็ตาม ตำรวจวอชิงตันร่วมกับสถานทูตเกาหลีในสหรัฐฯ ประกาศจะปฏิบัติกับผู้ประท้วงในฐานะผู้ต้องสงสัยการก่อการร้าย ภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย หากพบว่ามีการพกพาวัตถุอันตราย
การบินไปยังวอชิงตัน ดีซี ของผู้คัดค้านเอฟทีเอซึ่งมีทั้งเกษตรกรและสมาชิกสหภาพแรงงานในภาคการผลิตและบริการ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสหภาพแรงงาน เกษตรกรรายย่อยและสมาชิกสภาคองเกรสในสหรัฐฯ มีทั้งการแถลงข่าวจากตัวแทนสหภาพแรงงานในบริการทางการแพทย์ และโรงพยาบาล จากสหพันธ์เกษตรกร และจากพรรคแรงงานประชาธิปไตย มีการเดินขบวนที่มีสีสันตามจังหวะกลอง ทำพิธีแห่ศพตามประเพณีโบราณจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ รวมถึงการบุกเข้าไปในสำนักงานของคาร์กิล ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติด้านเกษตรของสหรัฐฯที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรเกาหลีใต้ แล้วตีกลองเพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริหารบริษัทจะได้ยิน ขณะเดียวกัน ที่กรุงโซล มีการประท้วงตามถนนย่านต่างๆ โดยมีคนเข้าร่วมกว่า 1,000 คน
รอบสอง: ขอต้อนรับสู่เกาหลีใต้
ในวันแรกของการเจรจารอบสองซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโซลนั้น รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องใช้ตำรวจถึง
3,000 นายในการปฏิบัติการ และเกิดการปะทะกันเพียงเล็กน้อยเมื่อตำรวจพยายามขัดขวางไม่ให้มีการจัดการแถลงข่าวของกลุ่มผู้ประท้วง
การประท้วงใหญ่ที่สุดมีผู้เข้าร่วมประมาณ 50,000 ประกอบด้วยผู้คนจากหลากหลายสาขาอาชีพ
รวมถึงแรงงานต่างชาติด้วย
สิ่งที่พวกเขาเรียกร้อง คือ ให้รัฐบาลเกาหลีใต้หันหลังให้กับการเจรจาเสีย ในวันนั้น มีกำลังตำรวจออกปฏิบัติงานถึง 24,000 นาย และมีการนำรถบัสมาขวางผู้ชุมนุมบริเวณสี่แยก ขณะเดียวกัน ผู้ใช้แรงงานกว่า 70,000 คนจาก กว่า 100 บริษัทภายใต้สมาพันธ์สหภาพแรงงานเกาหลี (KCTU) นัดประท้วงหยุดงาน 1 วันเพื่อร่วมคัดค้านเอฟทีเอ
แม้ว่าจะมีการปะทะกับตำรวจหนักขึ้นในวันที่มีผู้ประท้วงมากที่สุด และตำรวจเข้าจัดการด้วยการฉีดน้ำใส่ผู้ประท้วง การคัดค้านเอฟทีเอของพวกเขาก็ยังคงดำเนินต่อไป การเจรจารอบที่สาม จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 6-9 กันยายน ที่เมืองซีแอตเติล สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นสมรภูมิเก่าของการต่อสู้กับการเปิดเสรีระดับพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลกมาแล้วในปี 2542
"ไม่ว่าจะมีการประท้วงอย่างดุเดือดและกว้างขวางในระดับชาติหรือไม่ก็ตาม ผมจะอุทิศเวลาที่เหลือของผมในการเป็นประธานาธิบดีทำให้เอฟทีเอเกิดขึ้นจริง" เป็นคำกล่าวของประธานาธิบดี Roh ขณะเดียวกัน พันธมิตรเกาหลีต้านเอฟทีเอเกาหลีใต้-สหรัฐฯ ประกาศว่าจะส่งคนไปกว่า 100 คนเพื่อร่วมประท้วงกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและสหภาพแรงงานในสหรัฐฯ
นักวิชาการ 27 คนกับรายงาน
700 หน้า
แม้ว่าการประท้วงของชาวเกาหลีใต้ในความคิดของหลายคนอาจจะเต็มไปด้วยภาพของการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนยิ่งคือ ความมีวินัยและความมุ่งมั่นที่ไม่ถดถอยของพวกเขา
ในการรณรงค์เรื่องเอฟทีเอ พวกเขาไม่ได้เอาแต่เดินตามท้องถนนและสู้กับตำรวจเท่านั้น มีการทำงานอย่างหนักในระดับภูมิภาคและพื้นที่ต่างๆ การทัวร์เพื่อจัดกิจกรรมการแสดง สัมมนาเกิดขึ้นในเกือบทุกอำเภอ ในช่วงแรกของการรณรงค์ ผู้ไม่เห็นด้วยกับเอฟทีเอมีเพียง 20% เห็นด้วย 30% ส่วน 50% ไม่รู้เรื่องเอฟทีเอเลย หลังจากการรณรงค์ แม้แต่คนในรัฐบาลก็เริ่มคัดค้านการทำเอฟทีเอ เรื่องราวของสื่อที่นำเสนอผลกระทบของข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) นั้นทำให้คนตกใจมาก การสำรวจความเห็นครั้งหลังปรากฎว่าประชาชน 42% เห็นด้วยแต่ 45% ไม่เห็นด้วยกับการทำเอฟทีเอ
นอกจากนี้ ผลการสำรวจนักกฎหมายของพันธมิตรของพลเมืองเพื่อความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ (Citizens' Coalition for Economic Justice) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมชั้นแนวหน้าของประเทศพบว่า นักกฎหมาย 8 ใน 10 คนคิดว่า รัฐบาลกระโดดเข้าไปในการเจรจาโดยที่ขาดการเตรียมการอย่างเพียงพอ นักกฎหมาย 16% คิดว่าเอฟทีเอจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศ ขณะที่กว่า 60% ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น เนื่องจากไม่มีข้อมูลเพียงพอ
การศึกษาวิจัยเป็นหัวใจสำคัญของการคัดค้านเอฟทีเอ เครือข่ายนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งทำวิจัยศึกษาผลกระทบจากมุมมองของประชาชนนั้นนับแล้วอาจมีมากกว่า 300 คน งานวิจัยหนึ่งชิ้นซึ่งตีพิมพ์ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นความร่วมมือของนักวิชาการ 27 คน มีความหนากว่า 700 หน้า น่าเสียดายที่ผลการวิจัยชิ้นนี้มีแต่ในภาษาเกาหลี แต่ผลจากการวิเคราะห์ของพันธมิตรเกาหลีต้านเอฟทีเอเกาหลีใต้-สหรัฐฯ พบว่า
การเปิดเสรีการค้ามี 4
ขั้นตอน
หนึ่ง เปิดตลาดสินค้าเกษตร-อุตสาหกรรม ภาคเกษตรจะถูกทำลาย
รัฐบาลจะอ้างว่าผู้บริโภคได้ประโยชน์ เพราะสินค้าราคาถูกลง จะทำลายภาคเกษตรทำลายร้านค้าขนาดกลางขนาดย่อย
สอง เปิดตลาดเงิน ตลาดทุน เป็นเงื่อนไขของเอฟทีเอและสนธิสัญญาที่ไอเอ็มเอฟ
(กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ผลักดัน ตอนนั้นไอเอ็มเอฟเข้ามาดูเศรษฐกิจก็ดึงเงินทุนต่างประเทศเข้ามา
แทนที่จะทำให้ผู้คนมีงานทำ คนงานกลับถูกปลด มีการปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มมูลค่าของบริษัท
และผู้ที่ได้รับประโยชน์คือผู้ถือหุ้นต่างชาติ ไม่มีการเก็บภาษีผู้ทำกำไรมหาศาล
แทนที่จะเกิดการลงทุนโดยตรง ก็ไปลงทุนเก็งกำไรในตลาดหุ้น
ทุนต่างประเทศเข้าควบคุมภาคธนาคาร มีการลดการปล่อยกู้ให้ธุรกิจ แต่เพิ่มเงินกู้ให้ครัวเรือน
คนเกาหลีหนึ่งครัวเรือนเป็นหนี้ 30 ล้านวอน การเปิดตลาดทุนแบบนี้ทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน
ค่าเงินเกาหลีอ่อนตัว และแม้ว่าจะส่งออกได้มากขึ้น แต่ก็ยังขาดดุล
สาม
แปรรูปรถไฟ น้ำ ไฟฟ้า ยา สาธารณสุข สหรัฐเรียกร้องให้เปิดตลาดของสิ่งเหล่านี้
รัฐบาลเกาหลีถูกกดดันให้สัญญาว่าไม่แปรรูป แต่จริงๆแล้ว การแปรรูปยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สี่ ละเมิดอธิปไตยของประเทศ นักลงทุนได้รับอนุญาตให้ฟ้องรัฐได้
เราไม่สามารถถ่ายโอนเทคโนโลยีและรักษามาตรฐานสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องจ้างคนงานท้องถิ่น
สิ่งเหล่านี้หมายความว่าเราไม่มีอำนาจควบคุมอีกต่อไป และเราไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีก
กำไรทั้งหมดจะไหลออกจากประเทศ"
บทส่งท้าย
วันที่ 4 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา คณะเจรจาเกาหลีใต้จำนวน 218 คนจาก 26 กระทรวงและ
13 สถาบันวิจัยภาครัฐ ได้บินสวนทางกับพวกเรามุ่งหน้าสู่เมืองซีแอตเติ้ลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่วนผู้ประท้วงเอฟทีเอ 100 กว่าชีวิตก็ได้ไปรอต้อนรับคณะเจรจาอยู่ที่นั่นเป็นที่เรียบร้อยด้วยเช่นกัน
เรื่องราวจะเป็นเช่นไรต่อไป พันธมิตรเกาหลีต้านเอฟทีเอเกาหลีใต้-สหรัฐฯจะประสบความสำเร็จหรือไม่
ต้องคอยติดตามกันต่อไป
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
เอกสารอ้างอิง
- Wikipedia. "Economy of South Korea". http://en.wikipedia.org/wiki/Economy_of_South_Korea#Other_economic_indicators.
- Korea Times. "Free trade and movies: Officials Should Look at Culture as Strategic Industry". 22 January 2006. http://www.bilaterals.org/article.php3?id_article=3634.
- Korea Herald. "Korea-U.S. FTA remains contentious".http://www.bilaterals.org/article.php3?id_article=4531.
- Office of the United States Trade Representative. "FTA: United States and Republic of Korea Economic and Strategic Benefits". Trade Facts. http://www.ustr.gov/assets/Document_Library/Fact_Sheets/2006/asset_upload_file582_8880.pdf.
- Chang-seok, Song. Hankyoreh. "Seoul reveals a lack of experience in FTA negotiations". 1 August 2006. http://www.bilaterals.org/article.php3?id_article=5460
- Sung-jin, Kim. Korea Times. "Korea seeks screen quota reduction". 20 January 2006. http://www.bilaterals.org/article.php3?id_article=3624.
- Kyong-nyon, Kim and Ji-eun, Jeon. Oh My News International. "Interview: Protect Korean cinema". 15 June 2006. http://www.bilaterals.org/article.php3?id_article=5028&var_recherche=interview+protect+korea+cinema
- Hwan Yang, Gi. "Screen Quota System to Ensure Cultural Diversity". Seminar on
Why UNESCO Should Adopt a Convention on Cultural Diversity. The International Liaison Committee of Coalitions for Cultural Diversity. 12 September 2003. http://www.coalitionfrancaise.org/actus/doc/yang.pdf.- Bertolin, Paolo. Korea Times. "Koreans, French Fight Hollywood Domination". 21 May 2006.
http://www.bilaterals.org/article.php3?id_article=4796&var_recherche=korea+film- Kyong-nyon, Kim and Ji-eun, Jeon. Oh My News International. "Interview: Protect Korean cinema". 15 June 2006. http://www.bilaterals.org/article.php3?id_article=5028&var_recherche=interview+protect+korea+cinema
- Office of the United States Trade Representative.
"FTA: United States and Republic of Korea: Opportunities for Agriculture". Trade Facts. February 2006. www.ustr.gov/assets/Document_Library/Fact_Sheets/2006/asset_upload_file462_8881.pdf- Asia Pulse News. "S. Korean Rice Industry to be Hit Hard by FTA with U.S.: Report". February 15, 2006. http://www.bilaterals.org/article.php3?id_article=3835
-The Chosun Ilbo. 'Old Boy' Returns Medal in Screen Quota Protest. 7 February 2006.
http://english.chosun.com/w21data/html/news/200602/200602070007.html- WSQT Guerilla Radio. "Koreans storm Cargill Corp offices". 08 Jun 2006.
http://www.bilaterals.org/article.php3?id_article=4950- Korean Alliance against the KorUS FTA. "More than 50,000 people mobilized against Korea-US FTA". Korean Alliance against the KorUS FTA Newsletter #1. 1 August 2006. www.bilaterals.org/article.php3?id_article=5390.
- Korean Alliance against KorUS FTA. The 3rd round of Korea-US FTA talks coming..." Korean Alliance against the KorUS FTA Newsletter #2. 20 August 2006. http://www.bilaterals.org/article.php3?id_article=5616
- วอลเดน เบลโล และ สเตฟานี โรเซนเฟลด์ (เขียน). กรรณิการ์ พรมเสาร์ (แปล). มังกรกำสรวล: วิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ของเอเชีย. 2539.
- เอกสารสรุป "ประสบการณ์ประเทศเกาหลีใต้". การประชุมนานาชาติเพื่อวางยุทธศาสตร์การต่อสู้กับเอฟทีเอ. ระหว่างวันที่ 27-30 กรกฎาคม 2549.
ภาคผนวก
เมื่อเสียงกลองจากเกาหลีใต้ดังถึงหน้าทำเนียบขาว
9 มิถุนายน 2549
สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นการเจรจาเอฟทีเอรอบแรก
ระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาที่กรุงวอชิงตัน ดีซี จากนี้ไปจนถึงเดือนมีนาคม
2550 สหรัฐฯคาดหวังว่าจะเจรจากับเกาหลีใต้ให้เสร็จ เพื่อที่จะให้ทันกับการนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาคองเกรสของสหรัฐฯ
ก่อนที่กฎหมาย Fast Track จะหมดอายุ นั่นหมายถึงการเจรจาโดยใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี
ช่างเป็นความพยายามที่ทะเยอทะยานยิ่ง
เกาหลีใต้พัฒนาตนเองขึ้นไปเทียบชั้นกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ภายในเวลาไม่กี่ทศวรรษ สามารถพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองขึ้นมาได้และส่งออกไปยังประเทศอื่น เราคงหวังที่จะเห็นเกาหลีใต้เจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ โดยไม่ต้องห่วงกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมากนัก แต่ในความเป็นจริง ชาวเกาหลีใต้หลากหลายส่วนกำลังประท้วงการเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐฯ ไม่ต่างจากที่เราคนไทยประท้วงการเจรจาเอฟทีเอ ซึ่งทั้งมองไม่เห็นหัวคนไทยและไม่สนใจผลประโยชน์อย่างอื่นนอกจากเม็ดเงิน
ในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์
ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจากเราจะเห็นภาพตามปกติของดารานักแสดงและประชาชน
ที่มาร่วมงานแสดงความดีใจตื่นเต้นที่จะได้ชมหนังทุกรสชาติจากทั่วโลกแล้ว ภาพของนักแสดงชาวเกาหลี
ผู้กำกับหนัง และชาวฝรั่งเศสอีกจำนวนหนึ่งกำลังยืนถือป้ายหน้าโรงภาพยนตร์หลักของงาน
3 คืนติดต่อกัน เพื่อประท้วงการลดโควต้าการฉายหนังเกาหลีให้เหลือครึ่งหนึ่ง ภายใต้การเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐฯ
ธุรกิจอุตสาหกรรมหนังฮอลลีวูดจากสหรัฐฯ ได้พยายามล็อบบี้มากว่า 10 ปีเพื่อให้เกาหลีใต้ลดกฎระเบียบโควต้าการฉายหนังเกาหลีในโรงภาพยนตร์ลงจาก
146 วันต่อปี และมาสำเร็จผลเมื่อมีการเจรจาเอฟทีเอโดยเป็นหนึ่งในสี่เงื่อนไขที่ตกลงกันระหว่างรัฐบาลทั้งสอง
"ก่อน" ที่จะมีการเจรจา หลายคนเชื่อว่าระบบโควต้าหนังที่มีอยู่นั้น
เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ฟื้นขึ้นมามีศักยภาพอีกครั้ง
และแข่งขันกับหนังจากฮอลลีวู้ดที่ฉายภายในประเทศได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ
ดังนั้น การลดกฎระเบียบโควต้าลงนั้น จะทำให้อุตสาหกรรมต้องเผชิญกับการแข่งขันและเบียดขับจากหนังฮอลลีวู้ด
ซึ่งปัจจุบันมีอิทธิพลเหนือส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกประมาณ 80%
การเจรจารอบแรกระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯในอีกหนึ่งเดือนต่อมา อาจจะดำเนินการภายในห้องมิดชิดที่ห่างไกลจากประชาชน แต่ใจกลางกรุงวอชิงตันไปจนถึงหน้าทำเนียบขาวกลับดังสนั่นด้วยเสียงกลองพื้นเมืองที่ชาวนาเกาหลีใต้ตีเป็นจังหวะ ตามด้วยท่วงทำนองการเดินที่เป็นเอกลักษณ์ พร้อมกับป้ายประท้วงที่บอกให้สาธารณะชนในสหรัฐฯ รู้ว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการเจรจาเอฟทีเอโดยเฉพาะการเปิดเสรีภาคเกษตร
ปัจจุบัน ประชากรที่เป็นเกษตรกรในเกาหลีมีไม่ถึง 10% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ผลของการพัฒนาทำให้ภาคเกษตรหดตัวลงอย่างขนานใหญ่ เกิดการย้ายถิ่นอย่างมโหฬารเพื่อเข้าไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคเมือง ประมาณ 80% ของสินค้าเกษตรทุกวันนี้ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งรวมถึง "กิมจิ" อาหารประจำชาติที่ต้องมีอยู่ทุกมื้อก็นำเข้ามาจากประเทศจีน เพราะราคาที่ถูกกว่า
ตั้งแต่การเจรจาการค้าโลกรอบอุรุกวัยเป็นต้นมา ที่ให้มีการรวมภาคการเกษตรไว้ในการเปิดเสรี สถานะทางเศรษฐกิจของชาวนาเกาหลีกลับแย่ลง ในปี 2548 หนี้สินครัวเรือนเกษตรในชนบทโดยเฉลี่ยเกินกว่า 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และอาจจะมากถึง 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในกรณีครอบครัวเกษตรขนาดใหญ่ ชาวนาเกาหลีกลัวว่า เมื่อมีการเปิดเสรีภาคเกษตรโดยเฉพาะข้าวกับสหรัฐฯ จะทำให้ชาวนาจำนวน 3.5 ล้านคนต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ จากการที่ข้าวราคาถูกกว่าเข้ามาตีตลาดในประเทศ ซึ่งในรายงานฉบับหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเกาหลีชี้ให้เห็นว่า การเปิดเสรีภาคเกษตรสหรัฐฯ จะเกิดความเสียหายต่อตลาดในประเทศคิดเป็นมูลค่า 5.4 ล้านล้านวอน
เกษตรกรรมสำหรับชาวนาเกาหลีและที่อื่นๆ เป็นมากกว่าการค้าขาย แม้จะมีจำนวนประชากรชาวนาไม่มาก แต่ปริมาณข้าวที่ผลิตได้นั้นก็มากพอที่จะเลี้ยงคนทั้งประเทศ และอันที่จริงก็มากเกินความต้องการเสียอีก ปริมาณข้าวที่ผลิตได้มากนั้นเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มอัตราการพึ่งพิงตนเอง นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ยังมีนโยบายความมั่นคงด้านอาหารโดยการขยายผลผลิต รักษาระดับการนำเข้า และการสำรองอาหารให้เหมาะสม
ปัจจุบัน ชาวนาส่วนหนึ่งกำลังพยายามสร้างตลาดข้าวอินทรีย์ โดยร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคโดยตรง แต่ก็กำลังประสบปัญหาจากการเข้ามาตีตลาดของข้าวอินทรีย์จากจีนและนิวซีแลนด์ ดังนั้น หากมีการเปิดเสรีทางการค้าจริง การเข้ามาตีตลาดของข้าวราคาถูกจะทำให้ทางเลือกของชาวนาเกาหลีมีไม่มากนัก
รัฐบาลเกาหลีอาจจะใจดีกว่ารัฐบาลไทยอยู่เล็กน้อย เพราะเอาใจชาวนาโดยการให้เงินปรับปรุงโครงสร้างการผลิต 119 ล้านล้านวอน เพื่อลดกระแสความไม่พอใจ แต่สิ่งที่นับเป็นเงินไม่ได้คือ ความกังวลของคนเกาหลีที่จะให้สหรัฐฯ เข้ามามีอิทธิพลต่อประเทศตนเองมากเกินไป ทั้งในทางความมั่นคงด้านอาหาร สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ซึ่งจะส่งผลต่อประเด็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ด้วย
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I
สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
webboard (1)
webboard (2) ธนาคารนโยบายประชาชน
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ข้อความบางส่วนจากบทความ
ก่อนการเจรจารอบแรกจะมีขึ้นที่กรุงวอชิงตัน
ดีซี สหรัฐฯ ไม่ถึงเดือน กระทรวงต่างๆ ในเกาหลีใต้ 5 กระทรวงออกมาเรียกร้องให้ชาวเกาหลีใต้ประมาณ
100 คนเลิกล้มความคิดที่จะไปประท้วงที่วอชิงตัน ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงได้ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในสหรัฐฯ
เพื่อขออนุญาตเดินขบวนและประกาศว่าจะประท้วงอย่างสงบ อย่างไรก็ตาม ตำรวจวอชิงตันร่วมกับสถานทูตเกาหลีในสหรัฐฯ
ประกาศจะปฏิบัติกับผู้ประท้วงในฐานะผู้ต้องสงสัยการก่อการร้าย ภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย
หากพบว่ามีการพกพาวัตถุอันตราย
การบินไปยังวอชิงตัน ดีซี ของผู้คัดค้านเอฟทีเอซึ่งมีทั้งเกษตรกรและสมาชิกสหภาพแรงงานในภาคการผลิตและบริการ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสหภาพแรงงาน เกษตรกรรายย่อยและสมาชิกสภาคองเกรสในสหรัฐฯ มีทั้งการแถลงข่าวจากตัวแทนสหภาพแรงงาน...มีการเดินขบวนที่มีสีสันตามจังหวะกลอง ทำพิธีแห่ศพตามประเพณีโบราณจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ
โควต้าภาพยนตร์เป็นมาตรการที่เริ่มตั้งแต่ปี 2510 ซึ่งกำหนดให้โรงภาพยนตร์ต้องฉายหนังที่ผลิตในประเทศเป็นเวลาอย่างน้อย 146 วันต่อปี มาตรการนี้สร้างขึ้นเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมหนังภายในประเทศจากการไหลบ่าของหนังจากฮอลลีวู้ด ความพยายามของฮอลลีวู้ดในการลดกฎระเบียบนี้ลงปรากฎในการเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐ ในข้อตกลงการลงทุนทวิภาคี (Bilateral Investment Treaty: BIT) มาตั้งแต่ปี 1998 แต่ได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากคนในอุตสาหกรรมจนมาสำเร็จเมื่อจะมีการเจรจาเอฟทีเอ ซึ่งทำให้โควต้าภาพยนตร์เกาหลีเหลือเพียง 73 วันต่อปี