Midnight's globalization
Globalization
from below
อเมริกาใต้กับโลกาภิวัตน์
- เอเชียกับโรคมินามาตะ
จักรชัย โฉมทองดี - ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวม
บทความที่ปรากฎบนหน้าเว็บเพจนี้
ประกอบด้วยบทความ ๒ เรื่องคือ
"ระบอบโลกาภิวัตน์ นายทุนไม่ใช่คำตอบสุดท้าย"
โดย: จักรชัย โฉมทองดี
โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส)
"๗๔ ปีโรคมินามาตะ กับการต่อสู้ของผู้ป่วยโรคมินามาตะ"
โดย: ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล
โครงการทุนปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1025
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๔ กันยายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
10.5 หน้ากระดาษ A4)
อเมริกาใต้กับโลกาภิวัตน์
- เอเชียกับโรคมินามาตะ
จักรชัย โฉมทองดี - ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวม
๑. ระบอบโลกาภิวัตน์
นายทุนไม่ใช่คำตอบสุดท้าย : เสียงกู่ก้องจากอีกฝั่งฟากของโลก
จักรชัย โฉมทองดี : โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา
(โฟกัส)
ผืนทวีปละตินอเมริกาอยู่ห่างจากแผ่นดินไทยกว่าครึ่งโลก ยังมิต้องกล่าวถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่ดำรงอยู่
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายครั้งคนไทยโดยส่วนใหญ่ รวมถึงนักวิชาการเป็นจำนวนมากจะไม่เห็นความสำคัญเพียงพอที่ต้องเสียเวลามาทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับภูมิภาคนี้ของโลก
อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศของทวีปแห่งนี้
ทำให้ผู้คนโดยเฉพาะนักสำรวจทางเศรษฐกิจการเมืองไม่สามารถปฏิเสธนัยสำคัญของละตินอเมริกาที่มีต่อประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ
และต่อโลกได้อีกต่อไป
ขณะที่ประเทศจำนวนมากกำลังขมีขมันเร่งการเจรจาและลงนามการจัดทำเขตการค้าเสรี หรือที่เรารู้จักกันดีในนามเอฟทีเอ (FTA) ประธานาธิบดีของโบลิเวียกลับลงนามร่วมกับผู้นำของเวเนซูเอลาและคิวบา ในการสร้าง "เขตเศรษฐกิจของประชาชน" (Bolivarian Alternative for the Americas, ALBA) พร้อมหันหลังให้กับการทำเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกา
ขณะที่ผู้นำรัฐบาลของหลายประเทศพยายามเอาอกเอาใจนักลงทุนต่างชาติ ประธานาธิบดีเนสเตอร์ คิชเนอร์ (Nester Kirchner) แห่งอาร์เจนตินากลับประกาศว่า ทุกหนึ่งดอลล่าร์สหรัฐ ที่นักธุรกิจข้ามชาตินำเข้ามาลงทุนให้กู้ยืมและเก็งกำไรในอาร์เจนตินา จะได้รับการใช้คืน 25 เซนต์ หรือเพียงหนึ่งในสี่เท่านั้น เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่ประเทศต้องเผชิญ อันเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากเงินทุนเก็งกำไรเหล่านี้
ขณะที่รัฐบาลต่างๆ ในทุกทวีปเดินหน้าขายรัฐวิสาหกิจให้กับนักลงทุนเอกชน ที่มักเรียกกันว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เช้าวันที่ ๑ พฤษภาคมที่ผ่านมา นายอีโว โมราเลส (Evo Morales) ผู้นำโบลิเวียได้ส่งทหารเข้ายึดแหล่งขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน คืนจากผู้รับสัมปทานซึ่งส่วนใหญ่เป็นบรรษัทข้ามชาติ พร้อมประกาศว่า "เป็นเวลานานเกินไปแล้วที่ต่างชาติได้เข้ามากอบโกยทรัพยากรธรรมชาติจากแผ่นดินโบลิเวีย"
จะว่าไปแล้วนี่ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงหรือปรากฏการณ์ธรรมดาๆ เท่านั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้น อาจเรียกได้ว่าเป็นการ 'ปฏิวัติ' ทางนโยบายกันเลยทีเดียว เนื่องจากหลายนโยบายที่ถูกนำมาใช้นั้นเปรียบได้กับการขุดรากเหง้าของการครอบงำทางความคิดในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา ถึงที่สุดแล้วการเกาะกุมของลัทธิเสรีนิยมโลกาภิวัตน์ในประเทศเหล่านี้ได้ถูกทำให้สั่นคลอนจนถึงแกนกลาง
คำถามมีอยู่ว่า การ 'ปฏิวัติ' นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมจึงเกิดขึ้นในละตินอเมริกา สาเหตุนั้นอาจมีหลากหลาย แต่ปัจจัยสำคัญคงจะหนีไม่พ้นการที่ประเทศในภูมิภาคแถบนี้ ตกอยู่ภายใต้การคุกคามทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองจากสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน โดยที่ผู้นำหลายยุคหลายสมัยของสหรัฐฯ ต่างมองว่าผืนดินจากเม็กซิโกไปจนถึงอาร์เจนตินานั้นเป็น 'สวนหลังบ้าน' ของตน
ข่าวคราวที่หน่วยสืบราชการลับของสหรัฐฯ เข้าไปมีส่วนจัดตั้งหรือล้มล้างรัฐบาลต่างๆ มีมากจนเกินกว่าจะปฏิเสธได้ นอกจากนี้ ทั้งโดยทางตรงหรือผ่านทางสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ประเทศในละตินอเมริกาต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยม กล่าวได้ว่าพื้นที่นี้เป็นแหล่งที่ได้มีการใช้นโยบายการค้า การเงิน และการลงทุนเสรีอย่างเข้มข้นที่สุดในโลก
แต่เรื่องน่าเศร้าใจก็คือ ภูมิภาคแห่งนี้คือพยานแห่งความล้มเหลวของลัทธิเสรีนิยมโลกาภิวัตน์ที่ชัดเจนที่สุดเช่นกัน ประชาชนคนธรรมดาถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากทั้งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จนนำไปสู่ค่าน้ำค่าไฟที่ราคาสูงขึ้น และการลดค่าเงินจนสินค้าจำเป็นที่นำเข้าราคาเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว นอกจากนี้การก่อหนี้และการตัดลดงบประมาณของภาครัฐ รวมไปถึงการเปิดการค้าเสรีให้เหล่าทุนข้ามชาติเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ภายในประเทศ ก็มีผลให้ประชาชนต้องทุกข์ยากมากขึ้นเรื่อยๆ
ความกดดันต่าง ๆ เหล่านี้เองได้ถูกแปรเป็นพลังขับดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว หากพิจารณากันในรายละเอียดจะเห็นได้ว่า แนวคิดของการก่อเกิดเขตเศรษฐกิจของประชาชน ปฏิเสธชัดเจนต่อการสยบยอมกับกลไกตลาด และการใช้กำไรสูงสุดเป็นเป้าหมายของการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ โดยหลักการพื้นฐานของเขตเศรษฐกิจนี้คือ
หนึ่ง เป้าหมายระยะยาวในการพัฒนาประเทศ และการใช้นโยบายปกป้องตลาดเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ จะต้องมีความสำคัญเหนือกว่าข้อตกลงทางการค้า
สอง สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงสาธารณูปโภคจำเป็น เช่น น้ำ จะต้องมีหลักประกันที่เหนือกว่าสิทธิของบรรษัทข้ามชาติ
สาม ข้อตกลงทางการค้าต้องแสวงหาความสมานฉันท์และการหนุนเสริมกัน มากไปกว่าการแข่งขัน
สี่ ข้อตกลงทางการค้าควรปกป้องและส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของชุมชน
อย่างไรก็ตาม เขตเศรษฐกิจของประชาชนนี้มิได้เป็นโครงการสำเร็จรูปเหมือนอย่างเอฟทีเอ หากแต่เป็นแนวคิดที่ค่อยๆ พัฒนาและเติบโตขยายวงไปเรื่อยๆ โดยรูปธรรมที่เกิดขึ้นแล้วคือการที่เวเนซูเอลาและคิวบา จะรับซื้อถั่วเหลืองจากโบลิเวีย (โบลิเวียเพิ่งสูญเสียตลาดถั่วเหลืองหลักของตนเองในโคลัมเบียไป เนื่องจากถูกแย่งชิงจากถั่วเหลืองราคาถูกจากสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการอุดหนุนด้านราคา) โดยที่เวเนซูเอลาจะส่งน้ำมันราคาถูกให้กับโบลิเวียและคิวบา ขณะเดียวกันคิวบาก็จัดส่งบุคลากรทางการแพทย์ไปทำงานและให้การอบรมในเวเนซูเอลาและโบลิเวีย
นอกจากนี้ ความร่วมมือยังได้รับการขยายวงไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอีกด้วย เช่น โครงการ "เปโตรคาริป" (Petro Caribe) ที่เวเนซูเอลาขายน้ำมันให้กับ ๑๓ ประเทศคาริเบียนในราคาลดลงร้อยละ 40 จากตลาดโลก รวมถึงโครงการ "เปโตรซัว" (Petro Sur) ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างน้ำมันของเวเนซูเอลากับลูกวัวจากอาร์เจนตินา เพื่อสร้างอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในเวเนซูเอลา และบรรเทาการขาดแคลนน้ำมันในอาร์เจนตินาไปพร้อม ๆ กัน
ที่น่าสนใจคือ การตั้งสถานีโทรทัศน์ร่วมกันของหลายประเทศนำโดยเวเนซูเอลาที่มีชื่อว่า "เทเลซัว" (Tele Sur) ซึ่งผลิตรายการทางเลือก โดยมีจุดเน้นที่ความเป็นอิสระและความก้าวหน้าของรายการ เพื่อถ่วงดุลสื่อพาณิชย์ตะวันตกต่างๆ อย่างเช่น ซี เอ็น เอ็น (CNN) ล่าสุดยังมีความคิดริเริ่มที่จะดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซร่วม และการจัดตั้งธนาคาร "บองโก เดล ซัว" (Banco del Sur) เพื่อเป็นทางเลือกของธนาคารเพื่อการพัฒนาทวีปอเมริกา (Inter-American Development Bank) ซึ่งทำหน้าที่เหมือน เอ ดี บี ของเอเชียที่เราคุ้นเคย
จะสังเกตได้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบเขตเศรษฐกิจของประชาชน ซึ่งริเริ่มโดยเวเนซูเอลาและคิวบา มิได้ดำเนินไปเพื่อช่วงชิงตลาด หรือการแสวงหากำไรสูงสุดให้ภาคเอกชนของประเทศตนเอง ผ่านทางการเบียดขับผู้ผลิตในประเทศอื่นและกระตุ้นการใช้จ่ายเกินความจำเป็นของผู้บริโภค หากแต่เป็นการเติมเต็มสิ่งที่ขาดซึ่งกันและกัน แสดงให้เห็นว่าการค้าและการแลกเปลี่ยนทักษะวิทยาการระหว่างประเทศเป็นเรื่องจำเป็น แต่วิธีในการจัดการนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ระบบแข่งขันภายใต้กลไกตลาดเป็นตัวนำเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลไกตลาดแทบจะไม่เคยได้ทำงานอย่างสมบูรณ์เลยในโลกใบนี้
โบลิเวียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในทวีปละตินอเมริกา ทั้งๆ ที่อุดมไปด้วยแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สามารถผลิตรายได้อย่างมหาศาล ชาวโบลิเวียโดยเฉพาะคนยากคนจนตระหนักดีว่า ความมั่งคั่งนี้สามารถช่วยพวกเขาได้ แต่ที่ผ่านมากลับถูกผ่องถ่ายออกนอกประเทศโดยเหล่าบรรษัทข้ามชาติ ความเข้าใจนี้ได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลจะต้องจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดกับวิสาหกิจ และสัมปทานด้านพลังงานของประเทศ
นายโมราเลส ชนพื้นเมืองอดีตชาวไร่โคคาซึ่งได้ร่วมขบวนการเรียกร้องดังกล่าว ได้ประกาศชัดเจนขณะหาเสียงเพื่อรับการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปลายปีที่แล้วว่า เขาจะดำเนินนโยบายให้รัฐได้กลับเข้าไปจัดการทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ สัญญาประชาคมที่นักการเมืองคนหนึ่งให้ไว้กับประชาชน คือสัญญาศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องถือปฏิบัติตามและให้ประชาชนร่วมตรวจสอบได้ และแล้วนายโมราเลสก็ไม่ได้หักหลังประชาชน
สี่เดือนกว่าภายหลังได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี รัฐบาลโบลิเวียใช้มาตรการ 'ยึดแล้วค่อยเจรจา' กับเหล่านายทุนสัมปทาน จนถึงปัจจุบันการเจรจาทั้งหมดยังไม่จบสิ้น แต่ที่ชัดเจนแล้วก็คือรัฐบาลจะได้รายได้เพิ่มขึ้นมหาศาล ซึ่งนายโมราเลสได้ให้คำมั่นไปก่อนหน้านี้แล้วเช่นกันว่า เงินก้อนโตนี้จะถูกใช้ไปเพื่อช่วยคนยากจน และพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน
แน่นอนว่าผู้นำโบลิเวียได้รับทั้งการท้วงติงและประณามจากนักการเมือง และสื่อกระแสหลักในประเทศพัฒนาแล้วอย่างมาก แต่นายโมราเลสนอกจากจะไม่ได้เขียนจดหมายไปอธิบายเหตุผลการกระทำของตนเองแล้ว เขากลับไม่หยุดเพียงเท่านั้น ต่อมานายโมราเลสได้ประกาศใช้นโยบายปฏิรูปที่ดินขนานใหญ่ โดยชี้ว่าที่ดินจำนวนมหาศาลตกอยู่ภายใต้กลุ่มคนรวยเพียงหยิบมือ แถมพื้นที่จำนวนมากถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า ขณะที่เกษตรกรกลับไม่มีที่ไร่ที่นาเพียงพอในการยังชีพ ดังนั้นที่ดินเหล่านี้จะต้องถูกจัดสรรให้กับคนยากคนจน
การปฏิรูปที่ดินขนานใหญ่เช่นนี้ ถูกดำเนินการมาแล้วโดยประธานาธิบดีฮูโก ชาเวส (Hugo Chavez) แห่งเวเนซูเอลาเช่นกัน เวเนซูเอลานั้นถือได้ว่าเป็นหัวหอกในการ 'ปฏิวัติ' ทางนโยบายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประธานาธิบดี ชาเวส ได้ปรับเปลี่ยนสัดส่วนงบประมาณใหม่โดยมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างศักยภาพ และให้โอกาสกับคนจน ตัวอย่างเช่น ระบบการศึกษาและสาธารณสุขของเวเนซูเอลานั้น ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นมหาศาล รวมไปถึงทหารที่ถูกทำให้ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข กับประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารอย่างเป็นจริงเป็นจัง
ประเด็นที่ผู้นำประเทศละตินอเมริกาเหล่านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงจากผู้นำชาติมหาอำนาจ และน่าสนใจต่อประเทศไทยอย่างยิ่งก็คือ นโยบายที่ทั้งนายชาเวสและนายโมราเลสนำมาใช้คือ นโยบายประชานิยมพื้นๆ นี่เอง ซึ่งมุ่งปรนเปรอคนยากจนเพื่อหวังเพียงเสียงสนับสนุนโดยขาดเป้าหมายการพัฒนาระยะยาวโดยรวม เช่นเดียวกับที่เคยล้มเหลวมาแล้วสมัยนายฮวน โดมิงโก เปรอน (Juan Domigo Perón) แห่งอาร์เจนตินา
สำหรับประเทศไทยนั้นคำว่านโยบายประชานิยมเป็นที่รู้จักแพร่หลายกันในช่วงห้าปีที่ผ่านมานี้เอง และกับความเข้าใจทั่วไปของคนไทยโดยเฉพาะคนเมือง ก็คงจะไม่ต่างอะไรมากนักกับนิยามกระแสหลักที่ได้อ้างถึงข้างต้น แต่นโยบายในละตินอเมริกาในปัจจุบันเป็นเช่นที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ แล้วประชานิยมในละตินอเมริกาเหมือนหรือต่างจากของไทยอย่างไร?
นโยบายหลายข้อของรัฐบาลไทยช่วงที่ผ่านมา แม้จะพุ่งเป้าไปที่ผู้มีรายได้น้อยก็จริง หากแต่ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อกระตุ้นการบริโภค อันที่จริงการบริโภคไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ความพอดีนั้นเป็นสิ่งสำคัญ การใช้จ่ายเงินที่ได้มาเพื่อการบริโภค กับการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสที่ยั่งยืนสำหรับอนาคต ในสัดส่วนที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่กลับไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองไทย นอกจากนี้ มีโครงการจำนวนน้อยกว่ามาก ที่มุ่งเน้นไปยังสวัสดิการพื้นฐานของประชาชนจริงๆ
หากจะกล่าวกันอย่างถึงที่สุดแล้ว นโยบายประชานิยมของไทยนั้นเป็นการใช้ภาษีของประชาชนไปอุดหนุนนายทุน หาใช่การส่งเสริมความเข้มแข็งของชาวบ้านไม่ เนื่องจากเม็ดเงินที่ลงไปในพื้นที่อย่างรวดเร็วโดยขาดแนวทางที่ชัดเจนและความพร้อมของผู้รับ ส่งผลให้เงินถูกผ่องถ่ายไปในการบริโภค และจำนวนมากเป็นการบริโภคสินค้าจำพวกประกอบรูปแบบชีวิตสมัยใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกใช้ไปเพื่อก่อให้เกิดรายได้ เงินที่ลงไปจึงอยู่ในมือชาวบ้านเพียงชั่วระยะเวลาอันสั้น ก่อนที่จะถูกส่งต่อไปยังนายทุน เช่นกลุ่มบริษัทมือถือ ฯลฯ แล้วยิ่งถ้าการเพิ่มปริมาณการขายของสินค้าเหล่านี้ ไม่ได้นำไปสู่การจ้างงานภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นตาม ก็ยิ่งจะทำให้เม็ดเงินที่หมุนอยู่ในระบบเศรษฐกิจไทยหดหายไป
อีกตัวอย่างที่น่าจะกล่าวถึงคือ งบประมาณประชานิยมที่ลงไปในพื้นที่ชนบทนั้น ส่วนหนึ่งได้ส่งผลต่อการไปลดแรงกดดันของราคาผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งช่วยให้กลุ่มธุรกิจการเกษตรสามารถกดราคาผลผลิตหน้าไร่ที่ซื้อจากเกษตรกรได้ต่อไป
จากที่กล่าวมานี้ทำให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนยิ่ง ระหว่างปรากฏการณ์ประชานิยมไทย กับประชานิยมของนายชาเวส และโมราเลส, กล่าวคือ นโยบายประชานิยมของเขานำไปสู่การท้าทายกลุ่มนายทุนชนชั้นนำของประเทศ ไม่ว่าการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติกลับมาดูแลโดยรัฐ และนำรายได้มาพัฒนาด้านการศึกษาและสาธารณสุขสำหรับคนจน ซึ่งต่างจากการ 'แจกเงินให้ไปซื้อของ' หรือการปฏิรูปที่ดินซึ่งเป็นการช่วงชิงปัจจัยการผลิตสำคัญจากนายทุนให้มาอยู่ในมือของคนส่วนใหญ่
การปฏิรูปการศึกษาในเวเนซูเอลานั้นได้ดำเนินการอย่างจริงจัง จนกระทั่งกลุ่มชนชั้นนำในประเทศออกมาต่อต้าน เนื่องจากกลัวว่าเมื่อคนจนจำนวนมากมีการศึกษาสูงแล้ว พวกตนและลูกหลานจะต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันเพื่อหางานทำและโอกาสอื่นๆ ทางสังคมที่เข้มข้นมากขึ้น การท้าทายเพื่อจัดสรรผลประโยชน์ใหม่นี้มิได้ถูกตีเส้นจำกัดเพียงภายในประเทศเท่านั้น นอกจากจะต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มทุนข้ามชาติที่เกาะกุมผลประโยชน์ในประเทศอยู่แต่เดิมแล้ว ในเวทีระหว่างประเทศก็ยังถูกกดดันอย่างหนักจากผู้นำกลุ่มประเทศมหาอำนาจ ซึ่งใกล้ชิดกับทุนข้ามชาติเหล่านี้ ประเทศอย่างเวเนซูเอลาแสดงท่าทีชัดเจนว่า การทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ นอกจากตนจะสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปแล้ว ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการขัดขวางการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่เท่าเทียมกว่า
เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วพบว่า ประชานิยมในบ้านเรากลับเป็นเพียงเครื่องมือของนายทุนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้นำมาใช้เพื่อแย่งชิงพื้นที่ทางเศรษฐกิจและการเมืองจากชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ เท่านั้น โดยไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมแต่อย่างใด
แน่นอนว่า ปัญหาและข้อจำกัดของการปฏิวัติเชิงนโยบายที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ย่อมมีอยู่ เช่นในเวเนซูเอลานั้น หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนที่ผ่านมาอยู่ที่ตัวประธานาธิบดีฮูโก ชาเวส แต่ผู้เดียว แม้ว่าภาคประชาสังคมจะได้รับการยอมรับ แต่ยังขาดโอกาสในการเข้าไปสรรค์สร้างนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม จึงยังคงเป็นการเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่างเป็นสำคัญ นอกจากนี้ งบประมาณส่วนใหญ่ที่ถูกนำมาใช้ยังยึดโยงอยู่กับรายได้จากน้ำมันในกรณีของเวเนซูเอลา และก๊าซในกรณีของโบลิเวีย การสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจยังมีอยู่อย่างจำกัด เป็นผลให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถหวั่นไหวไปตามการโยกตัวของราคาพลังงานเชื้อเพลิงในตลาดโลกได้โดยง่าย และเมื่อการบริหารยังถูกรวมศูนย์อยู่มาก ทำให้น่าเป็นห่วงว่าความยั่งยืนของนโยบายที่กล่าวถึงมานี้จะมีมากน้อยเพียงไร
อย่างไรก็ตาม
สิ่งที่เกิดขึ้นในละตินอเมริกาชี้ให้เห็นว่าเส้นทางเดินที่ไม่ใช่การตามก้นเสรีนิยมโลกาภิวัตน์นั้น
มีอยู่จริง และไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศร่ำรวยจึงจะมีสิทธิเลือกเดินทางนี้ นโยบายประชานิยมก็ยังอาจเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมได้
หากใช้ให้เกิดคุณค่า อย่างน้อยที่สุด เวเนซูเอลาและโบลิเวียในทศวรรษนี้ ก็น่าที่จะเป็นตัวช่วยให้นักนโยบายและผู้บริหารประเทศของไทยไม่จนตรอกอยู่กับกรอบการพัฒนาแบบเดิมๆ
ที่ถูกบรรจุข้อมูลมาจากสำนักคิดกระแสหลักตะวันตกตลอดไป
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
๒. 74 ปีโรคมินามาตะ กับการต่อสู้ของผู้ป่วยโรคมินามาตะที่ยังคงดำเนินต่อไป
ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล : โครงการทุนปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย
(พฤษภาคม ๒๕๔๙)
พร้อมๆ กับเสียงรัวจากชัตเตอร์กล้องของนักข่าวกลุ่มใหญ่ ชิโนบุ ซากาโมโต กำลังฉีกจดหมายที่บริษัทชิสโสะตอบกลับมายังกลุ่มผู้ป่วยโรคมินามาตะ
มีเสียงตะโกนบอกเจ้าหน้าที่ของชิสโสะว่า "เอาเศษกระดาษพวกนี้ ไปคืน ให้เจ้านายด้วย"
นั่นคือภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนสายของวันที่ 1 พฤษภาคม 2006 ณ บริเวณประตูหน้าบริษัทชิสโสะในเมืองมินามาตะ ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้น ชิโนบุและกลุ่มผู้ป่วยโรคมินามาตะจำนวนหนึ่งก็นำตระเวณไปยังจุดต่างๆ ของเมืองมินามาตะเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ส่งผลให้พวกเขาต้องเจ็บป่วยด้วยโรคที่มีชื่อเดียวกันกับเมือง ในช่วงบ่าย-เป็นงานพิธีเล็กๆ เพื่อรำลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคมินามาตะ ณ เชิงเขานอกตัวเมือง-อนุสรณ์สถานที่เก็บของใช้ส่วนตัวบางชิ้นของผู้ป่วยที่เสียชีวิต
ภาพเหตุการณ์ข้างต้น สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับความรับรู้ของคนทั่วไปที่ว่า กรณีของมินามาตะนั้นจบไปแล้ว ผู้ป่วยโรคดังกล่าวได้รับการชดเชยและเยียวยาความเสียหายแล้ว อ่าวมินามาตะ (Minamata bay) และทะเลชิรานุย (Shiranui sea) ได้รับการฟื้นฟูแล้ว
ข้อมูลจากเอกสารและการสัมภาษณ์ พบว่า ผู้ป่วยโรคมินามาตะนี้อาจแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ
- กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคมินามาตะ โดยมีสาเหตุจากการบริโภคเนื้อปลาหรืออาหารทะเล ที่ปนเปื้อนสารปรอทในปริมาณที่มากและต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- กับอีกกลุ่มซึ่งไม่ได้บริโภคอาหารทะเลที่ปนเปื้อนสารปรอทโดยตรง แต่ได้รับผลกระทบเนื่องจากแม่บริโภคอาหารทะเลที่ปนเปื้อนสารปรอทในระหว่างที่ตั้งครรภ์ หรือเกิดจากการตั้งครรภ์ของผู้ป่วยกลุ่มแรกนั้นเอง มักเรียกผู้ป่วยกลุ่มที่สองนี้ว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคมินามาตะตั้งแต่กำเนิด (Congenital Minamata disease Patient)
สารปรอทที่สะสมในร่างกายจะทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ผู้ป่วยจะสูญเสียประสาทรับสัมผัสบริเวณปลายมือปลายเท้า มีปัญหาในการเคลื่อนไหวของมือและเท้าให้สัมพันธ์กัน เสียสมดุลในการทรงตัว มีปัญหาเรื่องการมองเห็น การได้ยิน การพูด บางรายมือ-เท้าและตัวจะสั่น ผู้ป่วยกลุ่มแรกที่มีปริมาณปรอทในร่างกายสูงจะมีอาการสั่นอย่างรุนแรง คลุ้มคลั่งและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ฯลฯ
ชิโนบุ เป็นผู้ป่วยโรคมินามาตะในกรณีของกลุ่มที่สอง สภาพร่างกายภายนอกของเธอไม่แตกต่างไปจากคนพิการ เธอไม่สามารถยืดตัวและคอให้ตรง ขา ข้อเท้าและเท้าที่บิดงอทั้งสองข้าง ทำให้เธอไม่สามารถเดินให้ตรงทางได้ เธอมีปัญหาในการออกเสียง พูดได้ทีละคำและไม่ชัด ไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ด้านข้างได้ เว้นเสียว่าจะต้องหันไปทั้งตัว ฯลฯ แต่นั่นก็เป็นเพียงสภาพความอ่อนแอทางกายภาพ ในขณะที่จิตใจของเธอกลับเด็ดเดี่ยวเข้มแข็ง
ตลอดเวลาที่ผ่านมาเธอร่วมกับผู้ป่วยคนอื่นๆ เรียกร้องความรับผิดชอบที่เป็นธรรมจากหน่วยงานภาครัฐและบริษัทชิสโสะ - โรงงานที่เป็นต้นเหตุของการปนเปื้อนสารปรอทในทะเลชิรานุย - ทั้งนี้มิใช่เพียงเพื่อตัวเธอและครอบครัว แต่เป็นไปเพื่อผู้ป่วยโรคมินามาตะทุกคน ...วันนี้ ชิโนบุในวัย 50 ปี เธอได้กลายเป็นตัวแทนการต่อสู้ของผู้ป่วยที่เป็นโรคมินามาตะตั้งแต่กำเนิดไปแล้ว
ล่าสุด เธอและกลุ่มผู้ป่วยส่วนหนึ่งช่วยกันร่างจดหมายเพื่อเรียกร้องให้บริษัทชิสโสะแสดงความรับผิดชอบ โดยการชดเชยความเสียหายแก่กลุ่มผู้ป่วยโรคมินามาตะกลุ่มใหม่ ที่อยู่ระหว่างการยื่นคำร้องฯ รวมถึงทวงคำสัญญาที่บริษัทแห่งนี้บอกว่า จะไม่ก่อมลพิษใดๆ ให้แก่ชุมชนมินามาตะอีก เพราะล่าสุดมีข่าวว่าการดำเนินการของชิสโสะได้ก่อให้เกิดการปล่อยสาร dioxin ออกสู่นอกโรงงาน เมื่อจดหมายที่ตอบกลับมาไม่มีข้อความใดๆ ที่แสดงถึงความรับผิดชอบ หรือให้ความกระจ่างต่อคำถามของกลุ่มผู้ป่วยฯ สิ่งที่เธอเลือกที่จะทำก็คือ ฉีกมันทิ้งไป และยืนยันที่จะต่อสู้เพื่อทวงถามความรับผิดชอบทั้งจากบริษัทชิสโสะและรัฐบาลญี่ปุ่นต่อไป
ชัยชนะที่ผ่านมากับปมปัญหาเดิมๆ
ที่ยังคงรุนแรง
ก่อนหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะประกาศอย่างเป็นทางการว่า โรคมินามาตะเป็นโรคที่เกิดจากมลพิษจากอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนในอาหารทะเล
โดยมีสาเหตุมาจากการที่บริษัทชิสโสะ ปล่อยน้ำเสียซึ่งปนเปื้อนสารปรอทลงสู่อ่าวและปากแม่น้ำมินามาตะในปี
1968 ความไม่ชัดเจนถึงสาเหตุของโรคดังกล่าว ลักษณะอาการของโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้ป่วย
ทั้งยังมีการแยกผู้ป่วยโรคมินามาตะออกจากผู้ป่วยทั่วไป รวมถึงผู้ป่วยหลายรายมีลักษณะภายนอกเหมือนคนพิการ
ฯลฯ
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ได้สร้างความเข้าใจที่ผิดว่าโรคมินามาตะนั้นเป็นโรคติดต่อ ผู้ป่วยโรคมินามาตะจึงถูกตั้งข้อรังเกียจจากสมาชิกภายในชุมชนด้วยกันเอง ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยต้องพยายามปิดบังและปฏิเสธอาการเจ็บป่วยของตัวเอง รวมถึงเก็บตัวลูกที่ป่วยด้วยโรคมินามาตะให้อยู่แต่ในบ้าน หลายคนถึงกับต้องอพยพครอบครัวหรือไปหางานทำที่จังหวัดอื่น
ท่ามกลางการตั้งข้อรังเกียจและตั้งแง่กีดกันจากเพื่อนบ้าน ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจึงตัดสินใจรับเงินช่วยเหลือจากบริษัทชิสโสะ ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเลือกที่ฟ้องบริษัทชิสโสะต่อศาลแขวงคุมาโมโต (the Kumamoto District Court) เพื่อเรียกร้องให้ชดเชยความเสียหายจำนวน 642,390,444 เยน ในวันที่ 14 มิถุนายน 1969
เดือนมีนาคม 1973 ศาลแขวงคุมาโมโตพิพากษาว่า บริษัทชิสโสะมีความผิดฐานละเว้นความรับผิดชอบในการดูแลกิจการของตนมิให้สร้างความเสียหายแก่สุขภาพและสิ่งแวดล้อม และกำหนดบริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้ป่วยเป็นเงิน 927,300,000 เยน
แม้จะเป็นเงินค่าชดเชยความเสียหายที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์กระบวนการยุติธรรมของญี่ปุ่น (ในช่วงเวลานั้น) แต่สำหรับกลุ่มผู้ป่วยแล้ว นัยสำคัญของชัยชนะแรกนี้ กลับเป็นประเด็นที่ว่า การต่อสู้อันยาวนานของพวกเขานั้น ได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญอย่างกระบวนการยุติธรรมว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ชอบธรรม เนื่องจากบริษัทชิสโสะได้กระทำความผิดจริง
ชัยชนะครั้งนั้นนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการต่อสู้ของกลุ่มผู้ป่วย อำนาจต่อรองอยู่ในมือของกลุ่มผู้ป่วยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน บริษัทชิสโสะยอมเจรจาโดยตรงกับกลุ่มผู้ป่วยด้วยท่าทีที่อ่อนลง และนำไปสู่ข้อตกลงร่วมระหว่างบริษัทกับกลุ่มผู้ป่วยที่มีใจความว่า บริษัทชิสโสะจะชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้ป่วยโรคมินามาตะ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามความรุนแรงของอาการ (กลุ่ม A, B และ C) โดยแต่ละกลุ่มจะได้รับค่าใช้จ่ายประจำเดือนในอัตราที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ดี การต่อสู้เรียกร้องของกลุ่มผู้ป่วยยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคเดิมๆ คือ แม้ผู้ป่วยจะต้องทนทุกข์ทรมานหรือเสียชีวิตลงด้วยโรคมินามาตะ แต่พวกเขาจะสามารถรับเงินค่าชดเชยได้ก็ต่อเมื่อ พวกเขาได้รับการรับรองว่าเป็นผู้ป่วยโรคมินามาตะ (Certified Minamata Disease Patient) แล้วเท่านั้น
ระยะเวลา 74 ปี นับจากจุดเริ่มต้นของการเกิดโรคมินามาตะในปี 1932 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยเพียง 2,200 คน ที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการว่าเป็นผู้ป่วยโรคมินามาตะ และตัวเลขผู้ป่วยที่ได้รับการรับรองว่าเป็นโรคมินามาตะก็หยุดนิ่งที่จำนวนนี้มาตั้งแต่ปี 2004. ล่าสุดคือเดือนมิถุนายน 2006 มีผู้ป่วยที่ยื่นคำร้องขอการรับรองฯ จำนวนประมาณ 3,000 คน อย่างไรก็ดี ทั้งนักวิชาการที่ติดตามเรื่องนี้ และกลุ่มผู้ติดตามช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมินามาตะประเมินว่า คนที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคอาหารทะเลในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณอ่าวมินามาตะ แม่น้ำมินามาตะ และรอบทะเลชิรานุยนั้นมีจำนวนประมาณ 200,000 คน
ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหากรณีมินามาตะที่ไม่เคยถูกรับฟัง
"กรณีมินามาตะเป็นเรื่องราวของการต่อสู้ที่ยาวนานของกลุ่มผู้ป่วย และยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด"
ดร.ฮาราดะ มาซาซูมิ (Harada Masazumi) หรือหมอฮาราดะแห่ง Kumamoto Gakuen University
เอ่ยขึ้นระหว่างเดินลงจากเนินเขา หลังเสร็จสิ้นงานพิธีการในช่วงบ่าย
ดร.ฮาราดะเป็นหมอที่ทุ่มเทและอุทิศเวลาในชีวิตให้กับการตรวจรักษา และเคียงข้างการต่อสู้ของผู้ป่วยโรคมินามาตะมายาวนานเกือบตลอดช่วงชีวิต ในวัย 21 ปี เขาเป็นหมอคนแรกที่เดินเยี่ยมผู้ป่วยตามบ้าน จากบ้านหนึ่งไปบ้านหนึ่ง จากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง ทั้งๆ ที่เวลานั้น หลายบ้านถึงกับปักป้ายตัวโตว่า "นักข่าว นักวิจัยและหมอ ไปให้พ้น" จนถึงวันที่เข้าสู่วัยเกษียณ หมอฮาราดะก็ยังคงเป็นแค่ "ฮาราดะเซนเซ" หรืออาจารย์ฮาราดะที่ไม่มีตำแหน่งทางวิชาการใดๆ นำหน้า ปัจจุบันหมอฮาราดะอายุ 72 ปี และยังคงเดินทางจากตัวเมืองคุมาโมโต มายังเมืองมินามาตะเพื่อตรวจรักษาผู้ป่วยโรคมินามาตะทุกอาทิตย์
หมอฮาราดะมีความเห็นว่า คณะกรรมการพิจารณาแต่เพียงว่าผู้ป่วยโรคมินามาตะจะต้องมีอาการหลักๆ ที่เด่นชัด คือสูญเสียประสาทรับสัมผัส มีปัญหาในการเคลื่อนไหวของมือและเท้า มีอาการมือ-เท้าสั่น มีปัญหาเรื่องการมอง ฯลฯ ในขณะที่ข้อมูลเบื้องต้นจากการศึกษาและตรวจผู้ป่วยโรคมินามาตะของหมอฮาราดะพบว่า ลักษณะอาการของผู้ป่วยโรคมินามาตะกลุ่มแรกนั้นมีอยู่ประมาณ 27 ลักษณะอาการ และลักษณะอาการของผู้ป่วยกลุ่มที่สองนั้นมีอยู่ประมาณ 11 ลักษณะอาการ
"เงินไม่สามารถทำให้สุขภาพกลับมาดีดังเดิมได้ ความเจ็บป่วยและความทุพพลภาพมันอยู่กับคนคนนั้นตลอดไป เงินสักเท่าไหร่ก็ช่วยไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นระบบการรับรองตัวผู้ป่วย มันเป็นระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปฏิเสธผู้ป่วย (deny-patient system) ถูกใช้เพื่อปกป้องผู้สร้างความเสียหายทั้งในส่วนของรัฐและเอกชน ซ้ำผู้ป่วยยังต้องรอเป็นเวลานานกว่าจะได้รับการตรวจอีกด้วย" หมอฮาระดะกล่าว
ข้อเสนอที่หมอฮาราดะเสนอมาตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมาก็คือ ควรมีการสำรวจโดยละเอียดว่าโดยรอบบริเวณทะเลชิรานุยนี้ มีผู้ป่วยโรคมินามาตะและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคอาหารทะเลที่ปนเปื้อนสารปรอทจำนวนเท่าไร และให้มีการดำเนินการศึกษาโดยละเอียดว่าโรคมินามาตะนั้นมีลักษณะอาการอะไรบ้าง เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางรักษาและการชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้ป่วยอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
หมอฮาราดะเห็นว่า การเยียวยาและชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้ป่วยนั้น ควรเป็นลักษณะของระบบที่สนับสนุนปัญหาสุขภาพ (Health Support System) คือ นอกจากการตรวจรักษาแล้วจะต้องมีการสนับสนุนปัญหาสุขภาพในลักษณะอื่นๆ ด้วย เช่น การรักษาและให้ยาตามอาการและการฟื้นฟู รวมไปถึงบริการด้านสุขภาพด้านต่างๆ โดยพิจารณาถึงความต้องการของผู้ป่วย
บทส่งท้าย
จำเป็นต้องกล่าวถึงไว้ด้วยว่า ในวันเดียวกันนี้ หน่วยงานภาครัฐของจังหวัดคุมาโมโตก็ได้จัดงานเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์โรคมินามาตะด้วยเช่นกัน
โดยเป็นการรำลึกถึงโรคมินามาตะผ่านช่วงเวลา 50 ปี นับจากวันที่มีการพบผู้ป่วยด้วยโรคมินามาตะอย่างเป็นทางการ
ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีความเห็นว่าหากจะนับย้อนถึงเหตุการณ์สำคัญ ที่นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของโรคมินามาตะแล้ว ควรจะเริ่มต้นนับจากวันที่บริษัทชิสโสะปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารปรอทลงสู่อ่าวมินามาตะ เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของปัญหา
โยจิ ทานิ (Yoichi TANI) เลขาธิการเครือข่ายผู้สนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยโรคมินามาตะแห่งเอเชียและมินามาตะ (Minamata disease victims mutual aid society solidarity network Asia and Minamata) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มพลเมืองที่คลุกคลีอยู่กับปัญหานี้ ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและโรคมินามาตะในประเทศอื่นๆ มากว่า 30 ปี เอ่ยถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า
"...สำหรับผู้ป่วยแล้ว โรคนี้ไม่ได้มีอายุแค่ 50 ปีเท่านั้น ปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่ 74 ปีที่แล้ว แต่ไม่ว่าจะเป็น 74 ปี หรือ 50 ปีของโรคมินามาตะ ตอนนี้มันอาจเป็นแค่การเริ่มต้น 50 ปีที่สองของการต่อสู้ของกลุ่มผู้ป่วย เพราะข้อเรียกร้องอีกหลายข้อที่พวกเขาเรียกร้องกันมาร่วมครึ่งศตวรรษ รัฐบาลและบริษัทชิสโสะก็ยังคงไม่ได้ยิน การต่อสู้จึงยังไม่สิ้นสุด..."
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
แน่นอนว่า ปัญหาและข้อจำกัดของการปฏิวัติเชิงนโยบายที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ย่อมมีอยู่ เช่นในเวเนซูเอลานั้น หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนที่ผ่านมาอยู่ที่ตัวประธานาธิบดีฮูโก ชาเวส แต่ผู้เดียว แม้ว่าภาคประชาสังคมจะได้รับการยอมรับ แต่ยังขาดโอกาสในการเข้าไปสรรค์สร้างนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม จึงยังคงเป็นการเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่างเป็นสำคัญ นอกจากนี้ งบประมาณส่วนใหญ่ที่ถูกนำมาใช้ยังยึดโยงอยู่กับรายได้จากน้ำมันในกรณีของเวเนซูเอลา และก๊าซในกรณีของโบลิเวีย การสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจยังมีอยู่อย่างจำกัด เป็นผลให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถหวั่นไหวไปตามการโยกตัวของราคาพลังงานเชื้อเพลิงในตลาดโลกได้โดยง่าย