Free Documentation
License
Copyleft : 2006,
2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document, but changing it is not allowed.
หากนักศึกษา
และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
The Midnight
University
วิถีมุสลิมในยามเจ็บป่วย
การแพทย์ในวิถีมุสลิม
บทเรียนจากโรงพยาบาลรามัน ยะลา
น.พ.สุภัทร์
ฮาสุวรรณกิจ
รองประธานชมรมแพทย์ชนบท
บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้เคยเผยแพร่แล้ว
ข้อมูลจาก ศูนย์ข่าวอิศรา
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
เรียบเรียงจากเรื่อง
"โรงพยาบาลรามัน จังหวัดยะลา การแพทย์ในวิถีมุสลิมกลางไฟใต้"
โดยชมรมแพทย์ชนบทซึ่งได้ลงพื้นที่โรงพยาบาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้บทความดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสารโรงพยาบาลชุมชน
ฉบับเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ๔๙
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1023
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑ กันยายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
9.5 หน้ากระดาษ A4)
การแพทย์ในวิถีมุสลิม บทเรียนจากโรงพยาบาลรามัน
ยะลา
น.พ.สุภัทร์ ฮาสุวรรณกิจ รองประธานชมรมแพทย์ชนบท
ความนำ
วิกฤตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ 4 ม.ค.47
มีคนร้ายซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นชายลอบวางเพลิงเผาโรงเรียนรัฐบาล 20 แห่งในจังหวัดนราธิวาส
ก่อนที่จะนำกำลังพร้อมอาวุธราว 100 คนบุกปล้นปืน จากค่ายทหารกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ที่อำเภอเจาะไอร้อง ต่อจากนั้นก็ได้มีการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง
เป็นภาวะวิกฤติที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกระดับอย่างรุนแรง
ภาวะวิกฤติเช่นนี้เป็นภาวะคุกคามต่อระบบบริการสุขภาพอย่างมาก บุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบบริการสุขภาพ
ต้องมีการปรับการให้บริการสุขภาพในหลายแนวทางเนื่องจากปัญหาความปลอดภัย ต้องมีการดูแลขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน
เพื่อลดปัญหาการขอย้าย ลาออก ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งย่อมส่งผลต่อปัญหาประสิทธิภาพของการให้บริการ
กระทบต่อระบบสุขภาพของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
โรงพยาบาลรามัน จ.ยะลา เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง ตั้งอยู่ใจกลางของ จ.ยะลา ห่างจากตัวเมืองยะลา 30 กม. ถือเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่มีระดับของการพัฒนาสูงที่สุดในจังหวัด มีการจัดบริการด้านสุขภาพที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมมุสลิมได้อย่างลงตัว ดูแลประชากร 79,000 คน เกือบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยาง มีสถานีอนามัยในพื้นที่จำนวน 16 แห่ง
รามันเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ใจกลางของปัญหาความรุนแรงในพื้นที่
แต่ในท่ามกลางวิกฤตที่ไม่มีที่ท่าว่าจะดีขึ้นนั้น โรงพยาบาลรามันยังสามารถจัดบริการที่มีคุณภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างน่าชื่นชม
สิ่งนี้คือบทพิสูจน์ของการเป็นโรงพยาบาลเพื่อชุมชน ในท่ามกลางสถานการณ์ไฟใต้
20 ปีที่โรงพยาบาลรามัน
นพ.รอซาลี ปัตยะบุตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามัน เป็นลูกชาวบ้านธรรมดาในอำเภอเมือง
จังหวัดยะลา ได้รับการส่งให้เรียนหนังสือตามระบบโรงเรียนสายสามัญ จนสามารถสอบเข้าโครงการแพทย์ชนบทของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
เมื่อจบการศึกษาในปี 2529 มาแล้ว ก็มุ่งมั่นกลับบ้านเกิด เพื่อให้การดูแลสุขภาพของพี่น้องมุสลิม
ที่เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมายังขาดโอกาสในการได้รับการดูแลรักษาโรคภัยไข้เจ็บจากการแพทย์แผนปัจจุบัน
โรงพยาบาลรามันจังหวัดยะลา จึงเป็นที่ปฏิบัติงานที่เดียวตั้งแต่เลือกมาใช้ทุนจนถึงปัจจุบัน
เพราะรู้สึกว่าตนโชคดีที่ได้เรียนหมอ มีโอกาสมากกว่าคนอื่น ต้องอาสาทำงานให้กับแผ่นดินเกิด
และเป็นพลังที่ทำให้สามารถทำงานที่รามันนานถึง 20 ปีโดยที่ไฟยังไม่มอด
โรงพยาบาลรามันสมัยที่คุณหมอรอซาลีมาอยู่ใหม่นั้นมีขนาด 10 เตียง แต่ในสายตาของชาวบ้านที่นี่เป็นเสมือนสถานีอนามัย คำว่า "โรงพยาบาล" นั้นชาวบ้านจะหมายถึง โรงพยาบาลยะลา ส่วนใหญ่เมื่อมีการเจ็บป่วย ชาวบ้านจะนึกถึงหมอบ้านหรือโรงพยาบาลยะลา ในแต่ละวันมีผู้มาใช้บริการที่ OPD เพียงไม่กี่คน เพราะโรงพยาบาลนั้นแม้จะอยู่ใกล้ชุมชนในแง่ระยะทาง แต่ในด้านการเชื่อถือศรัทธานั้นห่างไกลกันมาก
ในอดีตการทำงานทุกโรงพยาบาลชุมชนมีความเหมือนกันคือ
อยากได้รั้วก็ต้องสร้างด้วยตนเอง อยากได้สวนสวยๆ ก็ต้องลงมือปลูกเอง ความสามัคคีในองค์กรจึงมีสูง
ภายใต้การนำที่มุ่งมั่นของคุณหมอรอซาลี
คุณหมอรอซาลีพยายามที่จะจัดบริการที่สร้างความเชื่อมั่นศรัทธา แก่ประชาชนในพื้นที่ให้มาใช้บริการโรงพยาบาล
เปลี่ยนวิถีจากเดิมที่ประชาชนเดินทางผ่านหน้าโรงพยาบาลรามันไปโรงพยาบาลศูนย์ยะลา
โดยใช้จุดแข็งในด้านการจัดบริการที่ใส่ใจในทุกบริบทของวัฒนธรรมมุสลิมเป็นธงนำ
จนบัดนี้กล่าวได้ว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดมาใช้บริการที่นี่ หลายคนแม้จำเป็นต้องส่งต่อ
แต่ขอไม่ไปขอให้หมอรักษาให้เต็มที่ที่โรงพยาบาลรามันเท่านั้นก็ยังมี
คุณหมอรอซาลีมีความละเอียดในการจัดบริการในทุกบริบทที่ใส่ใจกับวัฒนธรรมชุมชน เช่นการให้การดูแลหรือตรวจร่างกายผู้ป่วยสตรีชาวมุสลิมนั้น มีความละเอียดอ่อนที่ต้องมีการปฏิบัติที่จำเพาะเป็นพิเศษ กล่าวคือ หากผู้ตรวจร่างกายเป็นเพศชายแล้ว ต้องมีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงอยู่ด้วยเสมอ การตรวจร่างกายต้องทำในห้องที่มีความมิดชิด ไม่ควรมีประตูที่ใครก็เปิดเข้าออกได้ และหากสามารถจัดให้มีแพทย์สตรีในการดูแลผู้ป่วยสตรีจะดีที่สุด ทั้งนี้เพราะการปฏิบัติตนระหว่างชายและหญิงในวัฒนธรรมมุสลิมนั้น มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนตามหลักศาสนาอิสลาม
การเข้าสุนัตหรือการขลิบปลายหนังหุ้มอวัยวะเพศ เป็นข้อปฏิบัติสำหรับชายชาวมุสลิมทุกคน ดังนั้นในแต่ละปีจะมีเด็กชายมุสลิมจำนวนมากเข้ารับการสุนัต โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมใหญ่ของทุกปี ในอดีตชาวบ้านนิยมเข้าสุนัตกับแพทย์พื้นบ้าน เพราะการเข้าสุนัตในโรงพยาบาลนั้นมีความไม่สะดวกอยู่มาก และหลายโรงพยาบาลก็ไม่มีแพทย์มุสลิม แต่โรงพยาบาลรามันได้มีการรณรงค์การเข้าสุนัตหมู่อย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันความนิยมในการพาลูกหลานมาเข้าสุนัตตามหลักการแพทย์สมัยใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งนอกจากลดการติดเชื้อลงแล้ว ยังช่วยให้ลดความแออัดและการเสียเวลาของผู้ปกครองและเด็กในการมารับบริการที่โรงพยาบาลได้ด้วย
นอกจากการให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยตามวัฒนธรรมท้องถิ่นแล้ว คุณหมอรอซาลีเองก็ให้ความสำคัญกับการดูแลขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่อย่างมากเช่น กีฬาสี งานเลี้ยงสังสรรค์ การจัดฉิ่งฉับทัวร์ การดูแลค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับปริมาณงาน เป็นต้น โรงพยาบาลรามันทำกิจกรรมคุณภาพแทบทุกประเภทที่มีอยู่ และด้วยความตั้งใจของทีมงานทำให้โรงพยาบาลรามัน ผ่านการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลตามมาตรฐาน HA เป็นโรงพยาบาลแรกของจังหวัดยะลา
ยิ่งในสถานการณ์ความไม่สงบที่เรื้อรังและรุนแรง ความดีงามที่คุณหมอและทีมงานโรงพยาบาลรามันได้ทำไว้ก็ยิ่งโดดเด่น จนได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทของศิริราชพยาบาลในปี 2543 อันเป็นเกียรติยศยืนยันในความมุ่งมั่นดูแลแผ่นดินเกิดมาตลอด 20 ปีเต็ม
ความเข้าใจเบื้องต้นในวิถีแห่งอิสลาม
คำว่า "อิสลาม" มีความหมายว่า "หนทางทางสู่ความสงบสันติ"
ส่วนผู้นับถือศาสนาอิสลามเรียกว่า มุสลิม แปลว่าผู้ยอมมอบตนต่อพระประสงค์ของอัลลอฮฺ
หรือผู้ใฝ่หาสันติ
ชาวมุสลิมศรัทธาว่า อิสลามคือวิถีแห่งความครบถ้วนและสมบูรณ์แล้วในการดำรงชีวิต ศาสนาคือ วิถี ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเท่านั้น ศาสนาเป็นหนึ่งเดียวกับวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ การศึกษาและระบอบการปกครอง
หลักปฏิบัติที่สำคัญ 5
ประการของมุสลิม
ชาวมุสลิมมีหลักปฏิบัติที่สำคัญ 5 ประการ ที่ทุกคนต้องถือปฏิบัติ กล่าวคือ
- การปฏิญาณตน (Shahadah) มุสลิมทุกคนต้องกล่าวคำปฏิญาณตนว่า "ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมูฮัมหมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ"
- การละหมาด (Namaz) คือ การแสดงความเคารพต่อองค์พระอัลลอฮฺ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นศาสนกิจที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติ ตั้งแต่บรรลุศาสนภาวะจนวันสุดท้ายของชีวิต แม้ยามเจ็บป่วยหนักนอนรักษาในโรงพยาบาล ก็สามารถทำละหมาดได้ โดยการนำฝุ่นดินสะอาดมาเตะที่มือของผู้ป่วย
- การถือศีลอด (Swan) ซึ่งเป็นการอดอาหารในช่วงเดือนรอมฎอน เป็นการเสริมสร้างความสดใส ความแข็งแกร่งทางจิตใจและความเคารพสักการะต่อองค์พระอัลลอฮฺ
- การจ่ายซะกาต (Zakat) คือการบริจาคทาน เพื่อช่วยเหลือคนยากจน
- การประกอบพิธีฮัจญ์ (Hajj) หากมุสลิมคนใดที่มีความสามารถในการประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะได้ ก็ต้องหาโอกาสในการประกอบพิธีนี้อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต
เรื่องของความเจ็บป่วย
อิสลามถือว่า" ร่างกายเป็นของขวัญจากพระผู้เป็นเจ้า " ดังนั้นเพื่อให้บรรลุสู่ความดีที่แท้จริง
การรักษาสุขภาพนั้นเป็นหน้าที่ (วายิบ) สำหรับมนุษย์ ดังนั้นเมื่อร่างกายเป็นสิ่งต้องดูแลรักษา
เมื่อเจ็บป่วยจึงต้องรักษา ไม่ใช่ปล่อยไปตามยถากรรม ส่วนการหายของโรคนั้น ขึ้นอยู่กับการกำหนดสภาวการณ์จากพระผู้เป็นเจ้า
กระบวนการรักษาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลการรักษานั้น มุสลิมยังเชื่อว่า การเกิดโรคหรือความเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่พระอัลลอฮฺทรงกำหนดมา
เพื่อเป็นบททดสอบว่า จิตใจของคนๆ นั้นมีความยึดมั่นในวิถีทางของมุสลิมมากเพียงใด
บริการด้วยบุคลากรคุณภาพ
ที่โรงพยาบาลรามัน จังหวัดยะลา มีการรับเจ้าหน้าที่ใหม่ทุกปี ทั้งที่ทดแทนคนเก่าที่ย้ายไปและรับใหม่มาโดยตรง
สิ่งสำคัญที่ทางโรงพยาบาลให้ความสำคัญคือ การปฐมนิเทศเจ้าหน้าที่คนใหม่ทุกคนที่เพิ่งเข้ามาทำงาน
ให้รู้จักและเข้าใจวัฒนธรรมของชุมชน รู้ถึงความมุ่งมั่นของโรงพยาบาลในเรื่องการให้บริการด้วยคุณภาพ
เข้าใจในระบบที่ทางโรงพยาบาลได้วางไว้ และใช้การดูแลผู้ป่วยโดยยึดหลัก Patient
Center หรือการมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง
นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลรามันยังมีการแนะนำมิติการดูแลผู้รับบริการ ที่ใส่ใจในวัฒนธรรมพื้นถิ่น ซึ่งแม้แต่เจ้าหน้าที่ที่เป็นมุสลิมหลายคนก็ไม่ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งหากไม่ได้รับการปฐมนิเทศ รวมทั้งมีการจัดการอบรมเพื่อสอนภาษามลายูเบื้องต้นแก่เจ้าหน้าที่ทุกคน รวมถึงได้จัดทำคู่มือภาษามลายูด้วย การสื่อสารกับประชาชนชาวมุสลิมด้วยภาษามลายูถิ่นซึ่งเป็นภาษาถิ่นนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดูแลสุขภาพของผู้รับบริการ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่ไม่สู้จะเข้าใจภาษาไทยนัก การสื่อสารด้วยภาษาถิ่นผ่านล่ามแปล ซึ่งอาจจะเป็นญาติของผู้ป่วยหรือเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล นอกจากทำให้การสื่อความหมายบอกกล่าวอาการทำได้อย่างตรงใจของผู้ป่วยแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยเข้าใจคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาอย่างชัดเจนกว่าด้วย
ทั้งนี้ผู้ป่วยและญาติจะรู้สึกประทับใจมาก หากว่าเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนไทยพุทธได้พยาบาลพูดสื่อสารในภาษายาวี แม้จะกระท่อนกระแท่น สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน เจ้าหน้าที่หลายคนในโรงพยาบาลเคยคิดว่า ทำไมคนไข้ไม่หัดพูดไทยบ้างจะได้คุยกันรู้เรื่อง แต่ในทางกลับกัน ในเมื่อเราต้องการการให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับวัฒนธรรมชุมชนแล้ว ทำไมเราจึงไม่ยอมเรียนรู้และพูดจาสื่อสารด้วยภาษาของเขาบ้าง
นอกจากทางโรงพยาบาลรามันจะส่งเสริมการใช้ภาษาถิ่นที่สื่อสารผ่านการพูดแล้ว โรงพยาบาลรามันยังได้ให้ความสำคัญในการปรับระบบบริการ เพื่อการสร้างศรัทธาจากชุมชนและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่โรงพยาบาลในระยะยาวด้วยการสื่อสารผ่านการกระทำ โดยการสร้างความตระหนักแก่เจ้าหน้าที่ทุกคนให้มีจิตบริการ (service mind) ที่เต็มใจให้บริการดุจญาติมิตร ทุกจุดบริการต้องให้บริการอย่างมีคุณภาพมาตรฐานด้วยรอยยิ้ม ทุกคนต้องช่วยกันสร้างศรัทธาให้กับชุมชน
โรงพยาบาลรามันได้จัดให้มีพยาบาลที่เรียกว่า exit nurse ซึ่งมีหน้าที่ดูแลผู้รับบริการในโรงพยาบาลให้ทั่วถึง คอยดูแลปัญหาของผู้รับบริการ โดยยึดหลักการที่ว่า ปัญหาทุกปัญหาต้องทิ้งไว้ในโรงพยาบาล อย่าให้เอากลับไปที่บ้าน พยาบาลจะช่วยอธิบายโรค อธิบายการใช้ยา การดูแลตนเอง หรือการนัดหมายมารับการตรวจรักษาในครั้งต่อไป เพื่อสร้างความประทับใจให้กับประชากรทั้ง 80,000 คนที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาล คอยไกล่เกลี่ยบรรเทาความรุนแรงของปัญหาและชี้แจงเหตุผลแก่ชาวบ้าน หรือเป็นตัวแทนสะท้อนปัญหาที่โรงพยาบาลควรแก้ไขแก่ผู้อำนวยการโรงพยาบาล
นอกจากนี้ที่โรงพยาบาลรามันยังได้มีการเชิญผู้นำศาสนาที่ชุมชนให้การยอมรับ มาให้ข้อเสนอแนะในการจัดบริการให้แก่คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล เพื่อเก็บตกในทุกรายละเอียด เพื่อการจัดบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน
หญิงมีครรภ์และการคลอด
ปัญหาอนามัยแม่และเด็กของชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเป็นประเด็นที่คล้ายกัน
หญิงตั้งครรภ์บางส่วนยังนิยมคลอดบุตรกับผดุงครรภ์โบราณหรือโต๊ะบีแด เมื่อคิดจะคลอดกับหมอตำแย
การฝากท้องที่โรงพยาบาลจึงลดความสำคัญจำเป็นลงไป ทำให้การฝากท้องนั้นมีความครอบคลุมที่ต่ำ
การคลอดจะเกิดขึ้นที่บ้านด้วยความอบอุ่นของครอบครัว ญาติมิตร ที่ห้อมล้อมให้กำลังใจ
ทันทีที่เด็กเกิดมา เสียงแรกที่เด็กได้ยินจะเป็นเสียงของผู้เฒ่าที่เป็นที่เคารพนับถือในชุมชนมากล่าวอาซานแก่เด็ก
รกจะถูกนำไปฝังใกล้บ้าน เด็กไม่ต้องถูกเจาะเลือด ถูกฉีดวัคซีนในช่วงเวลาแห่งความบอบบางนั้น
เด็กไม่ถูกแยกไปอยู่ห้องเด็กอ่อนโดดเดี่ยวแต่ตามลำพัง แม่จะได้รับการดูแลอยู่ไฟในแบบที่การแพทย์ตะวันตกดูแคลน
ในเมื่อการคลอดที่บ้านกับการคลอดที่โรงพยาบาลมีความแตกต่างราวฟ้ากับดิน จึงไม่แปลกที่กว่าครึ่งของหญิงตั้งครรภ์ในสังคมมุสลิมชนบท จึงยังนิยมคลอดบุตรที่บ้าน ถึงแม้ว่าโต๊ะบีแดในรุ่นสุดท้ายนี้จะมีอายุมากและไม่มีการสืบต่อการเป็นโต๊ะบีแดอีกแล้ว แต่คนรุ่นที่เหลืออยู่นี้ก็ยังสามารถทำคลอดได้อีกนับสิบปี
ดังนั้นทางโรงพยาบาลจึงเน้นไปที่การเพิ่มศักยภาพของโต๊ะบีแด มีการอบรมโต๊ะบีแด สนับสนุนอุปกรณ์การทำคลอดเช่นกรรไกรตัดสายสะดือ แอลกอฮอล์ไปให้ มีกิจกรรมพบปะแลกเปลี่ยนกันทุก 6 เดือนที่โรงพยาบาล โดยมีการเยี่ยมชมห้องคลอด ทำความรู้จักกับพยาบาลห้องคลอด เพื่อให้แพทย์และพยาบาลมีความเป็นพันธมิตรกับโต๊ะบีแด ยอมรับการมีอยู่และบทบาทของเขา มอบผ้าปาเต๊ะหรือผ้าโสร่งเป็นของกำนัลในความเป็นมิตร เพื่อให้ช่องว่างของการส่งต่อลดลง เขากล้าที่จะรีบนำผู้คลอดหรือเด็กแรกคลอดส่งโรงพยาบาลหากมีข้อขัดข้อง แล้วใช้โอกาสนั้นเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
ยิ่งถ้าหากแพทย์หรือพยาบาลได้เรียนรู้วิธีทำคลอด วิธีการดูแลแม่และเด็กแรกคลอดในวิถีของโต๊ะบีแด จะทำให้เราเองมีความเข้าใจในสถานการณ์เมื่อต้องรับผู้ป่วยมาดูแลต่อเนื่องมากขึ้น รวมทั้งสามารถให้ข้อเสนอแนะแก่โต๊ะบีแดได้อย่างตรงจุดมากกว่า การปฏิเสธบอกว่าเขาคือหมอเถื่อน ทั้งๆ ที่เป็นภูมิปัญญาที่สืบต่อมากว่าพันปีนั้น ย่อมไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคม
นอกจากนี้การที่โรงพยาบาลวางกติกาให้สามารถเฝ้าคนคลอดได้เพียง 1-2 คนในยามราตรีนั้น ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของชุมชน การเปิดกว้างให้สามารถเฝ้ารอการเกิดได้ตามสมควรโดยไม่รบกวนผู้ป่วยและเตียงข้างเคียง รวมทั้งการอนุญาตให้ญาติผู้หญิงหรือโต๊ะบีแด สามารถเข้าไปให้กำลังใจผู้คลอดขณะกำลังเบ่งคลอดในห้องคลอดได้ มีการจัดให้มีการนวดแผนไทยสำหรับหญิงหลังคลอด เมื่อเด็กเกิดมาก็ถ่ายรูปพ่อแม่ลูกให้เป็นที่ระลึกก่อนกลับบ้าน ซึ่งสำหรับชาวบ้านที่แทบไม่มีใครมีกล้องถ่ายรูปส่วนตัวนั้น เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก นับเป็นมาตรฐานการบริการที่เกือบทุกโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เปิดกว้างให้สอดคล้องผสมผสานกับวัฒนธรรมของชุมชน
การแก้ปัญหาอนามัยแม่และเด็กในบริบทวัฒนธรรมมุสลิมนั้น ทำให้วันนี้ปัญหาแม่และเด็กได้ลดลงไปอย่างมาก โรงพยาบาลและชุมชนเป็นหนึ่งเดียวกัน
อาซาน เสียงแรกของชีวิต
หลังจากที่เด็กคลอดและเช็ดตัวทำความสะอาดแล้ว บิดาหรือผู้มีความรู้ทางศาสนาจะกล่าวคำว่า
อะซาน (Adhan) ที่ข้างหูขวา และ คำว่า อิกอมะฮ์ (Iqamah) ที่ข้างหูซ้ายของเด็ก
ซึ่งคำว่า อาซาน (Adhan) และคำว่า อิกอมะฮ์ (Iqamah) เป็นเสียงเชิญชวนสู่การละหมาด
เป็นคำสรุปของคำปฎิญาณตนของคนมุสลิมที่ว่า "ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ
และพระมูฮัมมัดคือศาสนทูตของอัลลอฮฺ" เป็นการให้พร และมีความหมายถึง การชี้นำให้เด็กคนนั้นมีจิตใจที่ศรัทธาต่อพระอัลลอฮฺ
และดำรงตนอยู่ในวิถีทางของพระผู้เป็นเจ้า
เพื่อให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติดังกล่าว ทุกโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีแนวปฏิบัติที่ใกล้เคียงกันในการเอื้ออำนวยให้บิดาหรือญาติผู้ใหญ่สามารถทำพิธีอาซานแก่เด็กแรกเกิดให้ได้เร็วที่สุด โดยทันทีที่มารดาคลอดบุตร หากทารกแข็งแรงดีก็จะได้รับการทำความสะอาด เช็ดตัว ห่อผ้าให้เรียบร้อย แล้วมอบเด็กคนนั้นแก่บิดาหรือญาติโดยเร็ว เพื่อทำพิธีอาซานต่อไป ทางโรงพยาบาลรามันจัดให้มีมุมที่สงบตกแต่งด้วยภาพการประกอบพิธีฮัจจ์และแต่งฉากหลังไว้อย่างสวยงาม เพื่ออำนวยโอกาสและความสะดวกในการทำพิธีอาซาน และแสดงถึงความประณีตในการส่งเสริมมิติทางศาสนาธรรมที่ใครๆ ไปเห็นก็ต้องชื่นชม
โรงพยาบาลรามันในเดือนถือศีลอด
ในรอบปีหนึ่งๆ มุสลิมทุกคนทั้งชายหญิง ทุกฐานะจะต้องถือศีลอดคนละ 1 เดือน คือเดือนที่
9 ของฮิจเราะห์ศักราช ซึ่งเรียกว่าเดือน "รอมฎอน" (Ramadan) และในวันสิ้นสุดการถือศีลอดนั้น
จะเป็นวันบริจาคทาน
ดังนั้นในช่วงเดือนรอมฎอมซึ่งมีการถือศีลอดนั้น ทางโรงพยาบาลรามันจะมีการจัดบริการพิเศษ
ที่เอื้อต่อการปฏิบัติตนในเดือนรอมฎอน เช่น มีการเตรียมน้ำดื่มและอินทผลัม ไว้ที่หน้าห้องฉุกเฉินและในโรงพยาบาล
เพื่อให้ผู้มารับบริการ สามารถละศีลบวชได้สะดวกในทันทีที่มีเสียงอาซาน
ผู้ป่วยที่มาจะรับบริการที่โรงพยาบาลในช่วงกลางวันที่มีการถือศีลอดจะมีปริมาณน้อยลง กรณีโรคเรื้อรังมักจะนัดหมายให้เป็น 2 เดือน เพื่อให้พ้นช่วงเวลาการถือบวชนี้
สำหรับผู้ป่วยที่มารับการรักษาหากมียากลับไปรับประทานนั้น ก็ควรต้องมีการสั่งใช้ยาให้สอดคล้องกับการถือศีลอด เช่น การสั่งยาที่รับประทานวันละ 2 เวลา แทนวันละ 3 หรือ 4 เวลา งดยาสอดช่องคลอด หรือยาเหน็บทวาร อาจเปลี่ยนยาที่ออกฤทธิ์สั้น (short-acting) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยาว (long-acting) การรักษาจะไม่ฉีดยา เจาะเลือด ตรวจภายในโดยไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามหากมีความจำเป็นก็สามารถทำได้ โดยผู้ป่วยก็จะต้องถือศีลอดชดเชยในโอกาสต่อไป มีการให้ความรู้กับผู้ป่วยเช่น คนตั้งครรภ์นั้น การถือศีลอดอย่างไรจึงจะดีที่สุด เป็นต้น
สำหรับการจัดกิจกรรมด้านต่างๆไม่ว่าด้านส่งเสริมสุขภาพหรือการจัดโครงการพิเศษในชุมชนในช่วงเดือนรอมฎอนนั้น โดยทั่วไปก็จะงดการจัดกิจกรรมในชุมชน เพื่อให้เวลาส่วนใหญ่ได้ใช้ไปกับการประกอบกิจทางศาสนา
การดูแลผู้เดินทางไปฮัจจ์
(Hajj)
"ฮัจจ์"หมายถึงการเดินทางไปประกอบศาสนากิจ ณ อัลกะอ์บะฮ์ ในนครมักกะฮ์
ประเทศซาอุดิอารเบีย เป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญ 1 ใน 5 ข้อในศาสนาอิสลาม การเดินทางไปแสวงบุญที่นครมักกะฮ์นั้นซึ่งใช้เวลาประมาณประมาณเดือนเศษ
คนไทยมักไปอยู่อย่างแออัด การต้องเดินทางมากและใช้การเดินเท้าในการประกอบพิธีกรรม
ทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อยมาก ผู้สูงอายุหลายคนเสียชีวิตที่นั่น ดังนั้นการเตรียมตัวและการให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพและการเตรียมพร้อม
จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
ที่โรงพยาบาลรามันจึงมีการจัดบริการสำหรับผู้ที่จะไปประกอบพิธีฮัจจ์ อาจเรียกว่า " คลินิกฮัจจ์ " ก็ได้ คือนอกจากให้บริการฉีดวัคซีนตามมาตรฐานแล้ว ก็ยังมีการตรวจสุขภาพ จัดยาประจำตัวไปให้เพียงพอ ให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ หากเป็นสตรีก็จะแนะนำการใช้ยาเลื่อนประจำเดือน เพราะมามีประจำเดือนจะไม่สามารถประกอบพิธีฮัจจ์ได้
การจัดบริการที่ใส่ใจในรายละเอียดของวิถีมุสลิมนี่เอง ที่เป็นเกราะคุ้มกันภัยของโรงพยาบาลรามันได้อย่างดีที่สุด
การส่งเสริมสุขภาพในบริบทมุสลิม
เพราะมนุษย์คือสิ่งประเสริฐสุดที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานมาให้ ในคำสอนของศาสนาอิสลาม
จึงมีคำสอนด้านการมีพฤติกรรม เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพอยู่ในทุกแง่มุมของวิถีชีวิต
แม้หลักการตามหลักศาสนาได้มีวิถีที่สอดคล้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ แต่ในทางปฏิบัติในสภาพสังคมในปัจจุบันนั้น
ได้ทำให้หลักปฏิบัติที่ดีงามหลายประการถูกละเลยไป ทำให้ชาวมุสลิมมีสุขภาวะที่มีปัญหาไม่ต่างจากคนไทยโดยรวม
อย่างไรก็ตาม ด้วยวิถีปฏิบัติตามหลักคำสอนที่ชัดเจนนั้น การแนะนำความรู้สุขศึกษาในการดูแลสุขภาพ ตามวิถีปฏิบัติของศาสนาหลังการฟังคุตบะห์วันศุกร์ในทุกมัสยิดอย่างสม่ำเสมอ สื่อทุกชนิดจะผลิตออกเป็น 2 ภาษา หากมีคำกล่าวในพระคัมภีร์กล่าวนำไว้ด้วยจะช่วยให้ชาวบ้านเชื่อถือ เพราะเป็นวิถีชีวิตที่เป็นไปในแนวทางของพระศาสนา ซึ่งส่งผลต่อสุขภาวะที่ดีไปด้วย การจัดให้มีการ screening โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ก็สามารถทำได้สะดวกที่มัสยิด
จุดแข็งที่สำคัญประการหนึ่งของชาวมุสลิมคือ ความเป็นชุมชนนั้นยังมีสูง และด้วยวิถีการดำเนินชีวิตที่มีโต๊ะอิหม่ามประจำชุมชนเป็นเสมือนผู้ใหญ่ในชุมชนที่ทุกคนเคารพนับถือ ดังนั้นการที่จะดำเนินการกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพให้ได้ผลดีนั้น การทำความเข้าใจหรือการสนับสนุนให้โต๊ะอิหม่ามเหล่านี้ได้เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง นับว่าเป็นกลวิธีที่มีความสำคัญยิ่งในการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคในชุมชนมุสลิม
การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
ในวัฒนธรรมการบริโภคของชาวมุสลิมในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่ชอบทานอาหารหวานจัด
ซึ่งทำให้คุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน บางส่วนชอบทานอาหารเค็มและมัน
ซึ่งทำให้ยากต่อการควบคุมโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและอัมพาต ผู้ชายมุสลิมส่วนใหญ่สูบบุหรี่ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของปอดในระยะยาว
เกิดโรคถุงลมโป่งพองตามมา
สำหรับในกลุ่มผู้หญิงนั้น ด้วยข้อจำกัดในการออกกำลังกายที่สอดคล้องกับหลักปฏิบัติทางศาสนา ทำให้ภาวะอ้วน ( over-weight or obesity ) นั้นพบเห็นได้ทั่วไปในหญิงวัยกลางคน
ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ว่าโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์อัมพาต หรือโรคถุงลมโป่งพอง นอกจากต้องการการใช้ยาที่เหมาะสมกับโรคตามหลักวิชาการแล้ว การให้สุขศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและนำไปปฏิบัติได้จริงนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังดังกล่าว และควบคุมผลการรักษาให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดีได้
ที่โรงพยาบาลรามัน จังหวัดยะลา ได้มีการสร้างสรรค์นวตกรรมในการให้สุขศึกษาด้วยการให้เจ้าหน้าที่ซื้ออาหารปรุงเสร็จ ผลไม้ ขนมในตลาดที่ประชาชนนิยมรับประทานมาเป็นสื่อในการสอนสุขศึกษาในคลินิกเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง บอกอย่างเป็นรูปธรรมว่า อันนี้กินไม่ได้ อันนี้พอจะกินได้ แต่อันนี้ทานแล้วจะดีมาก ทำให้เห็นปริมาณความหวานความมันที่จะได้รับจากอาหารให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ผู้ป่วยและญาติมีความเข้าใจต่อการควบคุมอาหารมากขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลดีในการควบคุมโรคเรื้อรังนั้นๆ
การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต
ในอิสลามความตายมิได้เป็นการสิ้นสุดหรือเป็นจุดสุดท้ายของชีวิต หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการที่มนุษย์จะก้าวไปสู่ชีวิตที่แท้จริงและนิรันดร์
ดังนั้นในระยะเวลาสุดท้ายของชีวิต เสียงสุดท้ายที่ผู้ป่วยควรได้ยินคือเสียงสวดจากคัมภีร์อัลกุรอาน
ที่โรงพยาบาลรามันที่การนำคัมภีร์อัลกุรอานและยาซีน หรือบทสวดมาวางไว้ให้หยิบได้ง่ายที่ตึกผู้ป่วยใน
เพื่อญาติพี่น้องที่มาเยี่ยมจะได้สะดวกในการหยิบมาอ่านและขอพรให้กับผู้ป่วย
เพราะการตายเป็นการเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ของโลกหน้า ดังนั้นหากผู้ป่วยและญาติเห็นว่า ตัวผู้ป่วยนั้นใกล้ถึงวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเป็นภาวะที่ไม่อาจรักษาได้แล้ว การขอกลับไปนอนพักอย่างสงบที่บ้าน ท่ามกลางความอบอุ่นของญาติมิตร ปราศจากเครื่องมือแพทย์และสายยางโยงใยต่างๆ มักเป็นความประสงค์ที่ผู้ป่วยและญาติต้องการ การช่วยฟื้นคืนชีพหรือ CPR จึงเป็นเรื่องที่ต้องขออนุญาตและทำความเข้าใจกับญาติทุกครั้ง การจากไปอย่างสงบนั้นภายใต้การดูแลอย่างเข้าใจในวิถีมุสลิม ทำให้เรื่องขัดแย้งระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยและญาติ จนถึงกับต้องเซ็นในใบยินยอมไม่สมัครใจอยู่ ซึ่งเท่ากับเป็นการสิ้นสุดการรักษาที่ไม่นำมาสู่ความสมานฉันท์ระหว่างวัฒนธรรมนั้นมีน้อยมาก
เมื่อมีการตายเกิดขึ้น อิสลามได้กำหนดจัดการเรื่องฝังศพให้เสร็จเรียบร้อยโดยเร็วและประหยัดที่สุด เพื่อที่จะไม่เป็นภาระแก่คนที่อยู่ข้างหลัง โดยปกติแล้วพิธีการฝังศพของมุสลิมจะเสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง การเก็บศพของผู้ป่วยที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลอย่างน้อย 2 ชั่วโมงตามแนวปฏิบัติปกตินั้น ขัดต่อหลักปฏิบัติในศาสนาที่ต้องรีบจัดการศพโดยเร็ว ดังนั้นทุกโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนใต้รวมทั้งโรงพยาบาลรามันจะอนุญาตให้นำศพไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ในทันที
และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ญาติ การส่งศพกลับบ้านด้วยรถพยาบาลนั้นเป็นสิ่งที่กระทำกันเป็นปกติที่โรงพยาบาลรามัน โดยไม่ต้องมีการร้องขอเป็นกรณีพิเศษ สำหรับชาวบ้านแล้วการจะหารถเหมามาเพื่อส่งศพกลับบ้านนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก นับเป็นน้ำใจของโรงพยาบาลที่มีต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตที่สำคัญในวาระสุดท้ายของชีวิต
คนมุสลิมมีความเชื่อว่า ร่างกายของคนที่ตายไปแล้ว มีความรู้สึกเจ็บปวดเหมือนคนเป็น จึงต้องปฏิบัติต่อร่างกายของคนตาย ด้วยความเคารพเหมือนปฏิบัติต่อคนเป็น จะต้องไม่ให้ศพเป็นที่เปิดเผยในสภาพอุจาด การผ่าศพ (autopsy) จึงเป็นข้อห้ามในศาสนาอิสลาม หากศพมีบาดแผลต้องทำการเย็บให้สวยที่สุด เพื่อนำร่างกายอันเป็นของขวัญจากพระผู้เป็นเจ้ากลับคืนไปในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด
การปฏิบัติต่อศพนั้นจึงต้องปฏิบัติอย่างนุ่มนวลให้เกียรติแม้จะเป็นร่างที่ไร้ชีวิต เป็นการดูแลที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางจนวาระหลังความตาย
วันพุธที่ 26 กรกฎาคม
2006 14:58น.
http://www.tjanews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=1118&Itemid=56
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I
สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ข้อความบางส่วนจากบทความ
นพ.รอซาลี ปัตยะบุตร
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามัน เป็นลูกชาวบ้านธรรมดาในอำเภอเมือง จังหวัดยะลา ได้รับการส่งให้เรียนหนังสือตามระบบโรงเรียนสายสามัญ
จนสามารถสอบเข้าโครงการแพทย์ชนบทของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อจบการศึกษาในปี
2529 มาแล้ว ก็มุ่งมั่นกลับบ้านเกิด เพื่อให้การดูแลสุขภาพของพี่น้องมุสลิม ที่เมื่อ
20 ปีที่ผ่านมายังขาดโอกาสในการได้รับการดูแลรักษาโรคภัยไข้เจ็บจากการแพทย์แผนปัจจุบัน
โรงพยาบาลรามันจังหวัดยะลา จึงเป็นที่ปฏิบัติงานที่เดียวตั้งแต่เลือกมาใช้ทุนจนถึงปัจจุบัน
เพราะรู้สึกว่าตนโชคดีที่ได้เรียนหมอ มีโอกาสมากกว่าคนอื่น ต้องอาสาทำงานให้กับแผ่นดินเกิด
และเป็นพลังที่ทำให้สามารถทำงานที่รามันนานถึง 20 ปีโดยที่ไฟยังไม่มอด
โรงพยาบาลรามันสมัยที่คุณหมอรอซาลีมาอยู่ใหม่นั้นมีขนาด 10 เตียง แต่ในสายตาของชาวบ้านที่นี่เป็นเสมือนสถานีอนามัย คำว่า "โรงพยาบาล" นั้นชาวบ้านจะหมายถึง โรงพยาบาลยะลา ส่วนใหญ่เมื่อมีการเจ็บป่วย ชาวบ้านจะนึกถึงหมอบ้านหรือโรงพยาบาลยะลา
ปัญหาอนามัยแม่และเด็กของชาวมุสลิมใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเป็นประเด็นที่คล้ายกัน หญิงตั้งครรภ์บางส่วนยังนิยมคลอดบุตรกับผดุงครรภ์โบราณหรือโต๊ะบีแด เมื่อคิดจะคลอดกับหมอตำแย การฝากท้องที่โรงพยาบาลจึงลดความสำคัญจำเป็นลงไป ทำให้การฝากท้องนั้นมีความครอบคลุมที่ต่ำ การคลอดจะเกิดขึ้นที่บ้านด้วยความอบอุ่นของครอบครัว ญาติมิตร ที่ห้อมล้อมให้กำลังใจ ทันทีที่เด็กเกิดมา เสียงแรกที่เด็กได้ยินจะเป็นเสียงของผู้เฒ่าที่เป็นที่เคารพนับถือในชุมชนมากล่าวอาซานแก่เด็ก