Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

ความรู้จากประสบการณ์การปฏิบัติ
อุดมธรรมจากวงสนทนา ๒ (การวิจัยด้วยฝ่าเท้าภาค ๒)
ดร. ประมวลเพ็งจันทร์
กับการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับเพื่อนๆจากกลุ่มจิตวิวัฒน์

หมายเหตุ : บันทึกการประชุมนี้ กองบรรณาธิการได้รับมาจาก อ. ชลนภา อนุกูล
เป็นบันทึกการประชุมจิตวิวัฒน์ ครั้งที่ ๓๔ (๖/๒๕๔๙)
เรื่อง การเดินทางสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้
บรรยายโดย ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
วันจันทร์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๙
เวลา ๐๙.๓๐ - ๑๕.๐๐ น. ณ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1015
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)





อุดมธรรมจากวงสนทนา ๒ (การวิจัยด้วยฝ่าเท้าภาค ๒)
ดร. ประมวลเพ็งจันทร์ กับการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับเพื่อนๆจากกลุ่มจิตวิวัฒน์


การประชุมช่วงบ่าย (ต่อ)
นายแพทย์วิธาน: ที่ฟังอาจารย์ประมวลพูดเมื่อเช้า มีประเด็นเรื่องความช้า ก็ตลกดี คือเมื่อเช้าผมเขียนบทความชิ้นหนึ่งบนรถแท๊กซี่ ว่า "ทำไมชีวิตต้องช้าลง" ควรจะต้องช้าลงเพื่อมีเวลาได้ใคร่ครวญอะไรต่ออะไร มีสิ่งหนึ่งที่จะเสริมในส่วนของงานที่เชียงราย คือช่วงหลังมีการศึกษาเรื่องคลื่นสมองใน ๔ แบบ (alpha, beta, theta, delta) ซึ่งไปโยงกับเรื่องของทฤษฎีตัวยู (U Theory - ดูหนังสือ Presence ประกอบ) ของจาวอสกี้ด้วย ว่า ถ้าคลื่นสมองเราช้าลงจะมีโอกาสใคร่ครวญแล้วเข้าไปสู่จิตใต้สำนึก และอาจจะเชื่อมโยงสู่จิตเหนือสำนึก ซึ่งเป็นบริบทของสมุหภาพ จิตใต้สำนึกอาจจะเป็นบริบทแค่ปัจเจก ถ้าเราช้าลงอาจจะลงมาลึงถึงคลื่นเธตา หรืออาจจะลงมาถึงคลื่นเดลตา ซึ่งเป็นสมุหภาพ ก็จะเกิดการเชื่อมโยงแล้วจะเกิดความบังเอิญ

เมื่อเช้าได้ยินเรื่องความบังเอิญหลายครั้งว่า บังเอิญคนนั้นมาช่วยคนนี้มาช่วย ถ้ามองในแง่วิทยาศาสตร์ ซินโครนิซิตีคือการจับจังหวะของจักรวาลที่เหมาะสม เพื่อเอื้อให้เราได้ใช้ชีวิตไปได้ แล้วเกิดการเรียนรู้ ผมเห็นด้วยกับจ๋าว่าเชียงรายและเชียงใหม่มีโอกาสในเรื่องแบบนี้เยอะกว่า เพราะว่าเรามีเวลา แต่ส่วนหนึ่งผมคิดว่าเพราะเราเลือกที่จะมีเวลาด้วย ช่วงหลังผมเปลี่ยนเวลาพักใหม่ ลดเวลาทำงานลง ช่วงเช้าผมไม่ทำงาน เอาแค่ให้มีเวลาคุย ทำให้รู้สึกว่าบางครั้งเป็นการที่เราเลือกตัวเองด้วย ว่าจะทำให้เรามีเวลาหรือไม่มีเวลา

นายแพทย์ประเวศ: อีกนิดเดียวฝากกลุ่มเชียงราย คือปักษ์ใต้เขาจะกินกาแฟด้วยกัน คุยกันมากใต้เสาไฟฟ้า ลองไปดูมา เป็นจริงๆ ทุกเช้าเลย เขาจะมานั่งกินกาแฟกันเป็นกลุ่ม แต่ผมเคยถามเขาดูทราบว่า มักจะคุยกันเรื่องของคนอื่น ไม่คุยเรื่องของตัวเอง (หัวเราะ)

นายแพทย์วิธาน: มันเป็นที่วัฒนธรรมการพูดคุยด้วยหรือเปล่าครับ ที่เชียงรายจะเป็นวัฒนธรรมของสุนทรียสนทนา คือไม่ใช่การโต้เถียงด้วยเหตุผลว่าใครถูกใครผิด หรือว่าความคิดไหนถูกความคิดไหนผิด พรรคการเมืองไหนถูกพรรคการเมืองไหนผิด แต่ว่ามันเป็นการรับฟังกัน

อาจารย์จุมพล: ผมขออนุญาตแบ่งปันสิ่งที่ผมทำในปัจจุบัน โดยพยายามที่จะเผยแพร่แนวคิดที่พวกเราคิดกันอยู่ แต่ปัจจุบันทำยากขึ้น เพราะถูกกำกับด้วยตัวกดทับที่เรียกว่า "การมอบหมายภาระงาน" แล้วแบ่งเป็นการเรียนการสอนกี่ชั่วโมง บริหารกี่หน่วยภาระงาน วิจัยกี่หน่วยภาระงาน บริการวิชาการกี่หน่วยภาระงาน รวมแล้วทั้งหมด ๓๖ ภาระงาน มันต้องมาแตกลูกซอง ไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่น และจะถูกประเมินตามนั้นจริงๆ

แต่ว่าผมจะใช้วิธีไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมาก ไม่ต้องไปสร้างพื้นที่และเวลาใดๆ ทั้งสิ้น คือภายในกระบวนวิชาของผม มันมีพื้นที่และมีเวลาของผมที่จัดสรรอยู่แล้วโดยไม่ต้องสร้างขึ้นมา ผมจะใช้วิธีทำให้เขาเข้าใจสิ่งที่เรากำลังทำกันอยู่ในกลุ่มจิตวิวัฒน์ โดยใช้เทคนิคการตั้งคำถามกับกลุ่มนิสิตปริญญาโทและปริญญาเอก ให้เขาเห็นความสัมพันธ์การเชื่อมโยงสรรพสิ่ง แล้วมองอะไรที่ก้าวข้ามจากสิ่งที่เขาเคยมอง ด้วยการตั้งคำถามเพื่อให้เขาคิดว่าไม่มีอะไรที่จะให้เขาจับได้เป็นคู่ๆ อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นสิ่งที่ผมทำต่อเนื่องสม่ำเสมอ ผมตั้งคำถามค่อนข้างเยอะและผมสอนหลายวิชาที่เหมาะกับการตั้งคำถาม คือวิชาปรัชญาการศึกษา และวิชาอนาคตศึกษา

นอกจากที่จุฬาฯ ซึ่งผมมีพื้นที่และเวลาโดยไม่ต้องคิดเอง ผมยังได้รับการจัดสรรจากบริษัทห้างร้านต่างๆ เพราะเขาเชิญผมไปเป็นวิทยากรในหลายๆ หลักสูตร ที่เขาชอบเชิญผมไปคือเรื่องการฝึกงาน และเรื่องการแก้ไขปัญหาและตัดสินใจ ส่วนในระดับผู้บริหาร เขาจะเชิญให้ไปพูดเรื่องการบริหารตามแนวอนาคตนิยม

ไม่ว่าจะเรื่องอะไรผมจะสอดแทรกแนวความคิดพวกนี้ลงไปให้กับพวกเขาตลอดเวลา และแปลกที่พวกเขากลับชอบแนวความคิดของพวกเรา ตื่นเต้นอยากรู้อยากฟัง โดยเฉพาะว่าวิชาแก้ปัญหาและตัดสินใจ เขายังชอบวิธีการของผม เพราะผมไม่เคยสอนให้พวกเขาแก้ ผมบอกเลิกคิดแบบแก้ได้หรือเปล่า ลองมาคิดแบบสร้าง เพราะถ้าคิดแบบแก้คุณจะพยายามหาแพะรับบาปและต้องตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น วิธีคิดแบบนี้มันเหมาะกับการแก้เครื่องยนต์เพื่อให้กลับมาเหมือนเดิม แต่ลองดูสิว่าคุณมีปัญหาอะไรและลองเปลี่ยนเป้าหมายที่ต้องการจะบรรลุ แล้วมาช่วยกันหาวิธีสร้าง พอเปลี่ยนจากแก้มาเป็นวิธีสร้างสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น ทุกฝ่ายต้องมาช่วยเหลือกัน ตรงนี้คือเทคนิคหรืออุบายในการที่จะทำให้เขามามีส่วนร่วม

ตรงนี้เป็นสิ่งที่เขาชอบ เพราะว่าผมจะคอยย้ำอยู่เป็นระยะๆ ว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ขอให้เราคิดว่า เราสามารถจะเป็นเหตุในการสร้างสิ่งที่ต้องการให้เกิด ในวงเล็บว่าน่าจะดีหรือเชื่อว่าดี โดยมีเราเป็นเหตุแต่ไม่ได้เป็นเหตุเดียว แต่ละฝ่ายมาช่วยกันคิดว่าเราจะทำอะไร คิดอย่างนี้จะไม่มีการกล่าวโทษ ไม่มีการบอกว่าใครผิด แต่เรามาคิดว่าเราจะสร้างเหตุแห่งความสำเร็จอย่างไร ตามอำนาจหน้าที่ที่เรามีอยู่ แล้วลองมาดูว่าแต่ละฝ่ายจะทำให้เกิดอะไรกับองค์กรได้บ้าง ผู้บริหารชอบแนวคิดทำนองนี้มาก ท้ายที่สุดกลุ่มผู้บริหารเองขอมาเข้ากระบวนการทำนองนี้ ซึ่งผมว่าเป็นวิธีการที่เราไม่ต้องบรรยาย แต่ทำให้เป็นกระบวนการเกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง เขาจะชอบ แล้วคิดว่าองค์กรจะเปลี่ยน และเขาจะเล่าต่อๆ กันไป ตรงนี้ผมว่าน่าจะเป็นประโยชน์

อีกเรื่องหนึ่งที่คุณหมอประเวศถามคือ เรามีคำอะไรที่จะมาใช้แทนคำนี้บ้าง ช่วงหลังผมมาใช้คำว่า "การก้าวข้าม" บ่อยๆ ในบทความ เพราะว่าใช้คำว่าเปลี่ยนแปลง ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงหมด แต่ถ้าเราใช้คำว่าก้าวข้าม มันมีความหมายที่น่าสนใจแต่อาจจะมีปัญหาในการถูกตีความผิด เพราะว่าเราได้ก้าวข้ามบางอย่าง ละเลยบางอย่าง ทำให้มานึกถึงอีกคำหนึ่งที่เราเคยพูดกัน คือคำว่า "เปลี่ยนผ่าน" แต่ฟังดูอาจจะนิ่มไปสักนิด เลยคิดว่าถ้าเราเอาสองคำนี้มาผสมผสานโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะสื่อว่า หนึ่ง ไม่ยึดติดอยู่กับของเดิม สอง มีการเปลี่ยนแปลง สาม มีการต่อเนื่องไม่ติดอยู่กับที่ เลยมีคำกลางขึ้นมาอีกคำ คือ "ก้าวผ่าน" อะไรทำนองนี้ เพื่อจะสื่อคำว่าการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลง ลองเสนอเข้ามาในกลุ่มดูว่า ถ้าเราจะไม่ใช้คำเดิม เพราะถ้าเมื่อไรใช้คำที่เคยใช้กันมาก่อน มันจะถูกตีความในความหมายเก่ามากกว่าความหมายใหม่

อาจารย์ประมวล: ไม่ได้มีอะไรมากเพียงแค่จะปรารภถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้นเอง บังเอิญผมนึกออกในตอนต้นว่า กระบวนการของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมันมีลักษณะที่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ผมเข้าใจว่าการเรียนรู้อะไรก็แล้วแต่ ถ้าเป็นการเรียนรู้จากความปรารถนาส่วนตัว ก็จะนำไปสู่ความรู้หรือความสำเร็จเป็นส่วนตัว แต่ผมเข้าใจว่ากระบวนการเรียนรู้ที่กำลังคิดกันอยู่ ไม่น่าจะเป็นเรื่องการเรียนรู้ส่วนตัว

ผมยกตัวอย่างกรณีที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนสนใจเรื่องทางปักษ์ใต้ แล้วไปจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เรียกว่า "มลายูศึกษา" เพราะส่วนหนึ่งเรารู้สึกว่าขาดแคลนความรู้ คำว่า "เรา" ไม่ได้หมายความจำเพาะเจาะจงว่าคนใดคนหนึ่ง แต่มีความรู้สึกว่า ประเทศไทย สังคมไทยเราขาดแคลนความรู้ชุดนี้ เราถึงจัดมลายูศึกษาที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และพยายามเชิญคนหลายฝ่ายหลายกลุ่มที่มีความรู้มาเชื่อมโยงกัน

ผมคิดว่ากระบวนการเรียนรู้ที่ว่านี้ทำให้เราเกิดความรู้สึกหนึ่งที่ว่า ไม่ใช่การที่เราเรียนรู้อย่างนี้แล้วเราจะเป็นเจ้าของความรู้หรือเราจะเป็นผู้ซึ่งมีความรู้ ผมเข้าใจว่าในสังคมไทยเรามีผู้รู้เยอะ แต่เราไม่ค่อยมีความรู้ซึ่งเป็นสาธารณะ เช่นเราอาจจะมีหมอที่เก่ง แต่สังคมไทยไม่ค่อยมีความรู้ทางการแพทย์ เราอาจจะมีเภสัชกรที่มีความรู้เรื่องยาดี แต่สังคมไทยไม่ค่อยมีความรู้เรื่องยาเท่าไร เพราะฉะนั้นเรามักจะวิ่งไปหาผู้รู้ที่เป็นบุคคลอยู่เสมอ และถ้าความรู้นั้นเป็นสิ่งที่มีความหมายในเชิงธุรกิจการค้า ก็จะทำให้ความรู้นั้นมีคุณค่า ผมเข้าใจว่าสิ่งที่กำลังคิดกันเรื่องระบบการเรียนรู้ที่ว่า น่าจะตั้งอยู่บนฐานของสิ่งที่เรียกกันว่า ความรู้ที่มิใช่เป็นสมบัติส่วนตัวหรือเป็นความรู้ของคนใดคนหนึ่ง

นายแพทย์ประเวศ: นิยามของคำว่าวิทยาศาสตร์ แปลว่าความรู้สาธารณะ แต่มันเอามาทำจนเป็นความรู้ส่วนตัว ถ้าเป็นความรู้สาธารณะ คนจะมาร่วมสร้าง ร่วมพิสูจน์ ร่วมใช้ได้ แต่เดี๋ยวนี้ทำเพื่อการค้า เขาจะทำเก็บไว้ ต้องจ่ายเงิน เชิญอาจารย์ต่อครับ

อาจารย์ประมวล: ผมมานึกเปรียบเทียบตัวเองตอนเรียนหนังสือ และมีเพื่อนร่วมชั้นเป็นมุสลิม ตอนนั้นผมไม่ได้คิดอะไรมาก แต่พอผ่านมาผมถึงสำนึกรู้ได้ว่าผมกับเขาต่างกัน คือผมยังมีความสำนึกแบบปัจเจกชน อยากมุ่งเรียนให้ประสบความสำเร็จ สอบให้ได้คะแนนดีๆ และตัวเองจะได้จบปริญญา แต่เพื่อนผมที่เป็นชาวมุสลิมเขามีความสำนึกของชุมชน ว่าเขาจะต้องเรียนเพื่อนำความรู้ไปใช้ประโยชน์กับชุมชน เวลาที่เขาจะเลือกเรียนวิชาอะไร โจทย์จึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาต้องการจะรู้อะไร แต่เขาตั้งโจทย์ว่าสังคมของเขาควรได้รู้อะไร

ในขณะที่สมมตินะครับ พวกเราที่เป็นพุทธศาสนิกชน รู้สึกเบื่อที่จะไปเรียนวิชาพระพุทธศาสนา คือไม่โก้ จบมาคงไม่ได้รับการยกย่องเท่าไร มีหลายคนที่พอไปเรียนแล้วก็ไม่ได้เรียนทางสายพระพุทธศาสนา แต่เพื่อนผมชาวมุสลิมที่มาเรียนในอินเดีย ผมยกย่องเขาในเวลาต่อมาว่าเขามีความสำนึก ว่าเขาจะต้องเรียนเพื่อให้เกิดความรู้ที่มีประโยชน์ต่อชุมชนต่อสังคมเขา เข้าใจตรงนี้เองว่าเป็นที่มาของการสำนึกรู้อะไรบางสิ่งบางอย่าง ที่ก่อให้เกิดความรู้ที่เป็นพลังให้เขาจะทำสิ่งที่มิใช่เพื่อความสำเร็จส่วนตัว

ถ้าเราจะพูดขึ้นมาเป็นประเด็นสักนิดคือ ในสังคมปัจจุบันผมว่าลัทธิปัจเจกชนนิยมที่ปรากฏออกมามากๆ มันทำให้คนแต่ละคนสำนึกการเป็นตัวตน และการเรียนหนังสือกลายเป็นความรู้ส่วนตัว ความสำเร็จก็เป็นความสำเร็จส่วนตัว ความดีความงามก็เป็นเรื่องส่วนตัว ผมยังแปลกใจมากเลยกับนักศึกษาที่เป็นคนรุ่นใหม่ เขารักนับถือกับผมดีมาก แต่เขามักจะคิดอะไรว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แม้กระทั่งเขาจะมีความรัก เขาคิดว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะฉะนั้นพ่อแม่พี่น้องไม่น่าจะมายุ่ง

ผมเลยบอกว่าความรักของคุณไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ความรักของคุณเป็นเรื่องวงศาคณาญาติมากมายมหาศาล ไม่มีทางที่ความรักจะเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะทันทีที่คุณเลือกใครสักคนมาเป็นแฟน นั่นคือหมายความว่าคุณกำลังหาลูกสะใภ้ให้คุณพ่อคุณแม่ กำลังหาพี่สะใภ้น้องสะใภ้ให้พี่น้องคุณ หาสะใภ้ให้กับวงศาคณาญาติ ที่สำคัญคือสิ่งที่คุณกำลังหา มีผลกระทบต่ออารมณ์และความรู้สึกของทุกคน ผมเลยเล่าให้เขาฟังว่าสมัยผมเด็กๆ การเรียนรู้ของผมไม่ใช่เรื่องส่วนตัว บ้านผมพี่น้องจบมาสักคนเหมือนจบกันทั้งตระกูล เพราะจะมีความสำนึกว่าคนเป็นพี่ที่เขาไม่ได้เรียนเพราะเสียสละให้น้อง และคนที่เป็นน้องเรียนหนังสือจบกลับมา ต้องสำนึกว่าความรู้ที่ได้มาเป็นผลผลิตที่พี่เสียสละให้มา ผมเข้าใจว่ากระบวนการเรียนรู้แบบนั้นมันอาจจะหดแคบลงมาเรื่อยๆ

สิ่งที่เราคิดเรากำลังจะพูดถึงความรู้ของชุมชน และความรู้ของชุมชนถ้าเกิดมาจากฐานของความรู้สึกว่า ชุมชนกำลังขาดแคลนอะไร ต้องการอะไร ไม่ใช่เราขาดแคลน ผมเข้าใจว่ามันเป็นจิตสำนึกของการเรียนเหมือนเพื่อนชาวมุสลิมของผม ที่เขามีจิตสำนึกเหมือนกับว่าเขากำลังทำหน้าที่เป็นผู้เรียนเพื่อจะรู้แทนคนในชุมชน

ผมเคยทดลองในห้องเรียนโดยมีข้อกำหนดง่ายๆ อย่างนี้ว่า ใครที่มาเรียนหนังสือกับผมถ้ามีแฟนแล้วให้มาแจ้งผมให้ทราบ แล้วคนที่มาเรียนจะเรียนด้วยตัวเองหรือให้แฟนมาเรียนก็ได้ มีนักศึกษาหลายคนที่หัวไม่ค่อยดีเท่าไร แต่โชคดีมีแฟนเป็นนักศึกษาคณะแพทย์บ้าง คณะวิศวะบ้าง เขาเลยให้แฟนมาเรียนแทน ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะการที่มาเรียนแทน เขาจะสำนึกว่าเขากำลังเรียนรู้อะไรเพื่อคนที่เขารัก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นดีมาก สุดท้ายกลายเป็นว่าเขาลงทะเบียนคนเดียวแต่สุดท้ายมาเรียนทั้งคู่ (เสียงหัวเราะ) เป็นความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้น

ผมเคยคุยกับนักศึกษาคณะแพทย์กับคณะวิศวะเป็นกรณีส่วนตัวว่า เป็นอย่างไรบ้างที่มาเรียน เขาบอกว่าไม่เคยคิด ยังรู้สึกว่าตลกๆ ที่บอกว่าแฟนมาเรียนแทนได้ด้วย แต่พอมาเรียนแล้วกลับมีความรู้สึกที่ดี สิ่งที่ผมกำลังพูดอยู่เพราะต้องการจะบอกว่า ถ้าเรามีความรักความปรารถนาดีต่อใครสักคน ถ้าเราทำอะไรเพื่อเขา มันจะเป็นอะไรที่มหัศจรรย์ ถ้าคุณไปเรียนเองคุณจะมีความรู้สึกว่าไม่ต้องเรียนมากก็ได้ แค่นี้ก็สอบได้ แต่พอคุณไปเรียนให้แฟนคุณจะคิดว่าแฟนไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไร ก็ต้องฟังให้ดี เพื่อจะอธิบายให้ละเอียดให้เขามาตอบข้อสอบให้ได้ ผมเข้าใจว่านี่คือความรู้ที่ดี และคุณไม่ถูกกดดัน เพราะคุณไม่ได้เรียนเพื่อตัวเอง คุณเรียนเพื่อคนอื่น ผมเข้าใจว่ากระบวนการนี้ถ้าเรามาใช้กับชุมชน ความสำนึกว่าเรามาเรียนรู้สิ่งเหล่านี้เพื่อใครก็ไม่รู้ที่เรารักในชุมชน เพื่อเขาจะได้ผ่านพ้นข้ามพ้นอย่างที่อาจารย์พูดถึง

ผมเข้าใจว่าตอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราเสด็จออกมหาภิเนกษกรม ท่านระลึกนึกถึงความทุกข์ของสรรพสัตว์ และท่านเลยคิดว่าสิ่งนี้กระทำเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ เพราะฉะนั้นในคติของศาสนามหายาน ผู้เป็นพระโพธิสัตว์จึงมีสำนึกในการที่จะแสวงหาความรู้เพื่อจะช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นห้วงแห่งความทุกข์

นายแพทย์ประเวศ: ผมคิดว่าโลกปัจจุบันทำให้คนเรามองสั้น ผมอยู่บ้านนอก เด็กๆ เวลาอยากกินข้าวหลาม เราต้องช่วยกัน พ่อไปตัดไม้ไผ่ คนนี้แช่ข้าวเหนียว คนนี้ปอกมะพร้าว ช่วยกัน ตอนเผาข้าวหลามสนุกมาก ทั้งหมดเป็นความสนุก แต่ถ้าเป็นคนกรุงอยากกินข้าวหลามก็ใช้ตังค์แล้วได้ข้าวหลามมากิน มันหมดความสนุกและทำให้คนมองสั้น อย่างพูดถึงน้ำก็เห็นแต่ก๊อกน้ำ

แต่ถ้าเราเรียนรู้ฝึกจนเคยว่าอะไรต่ออะไรเชื่อมโยง มองว่าน้ำเชื่อมโยงกับอะไรบ้าง เชื่อมโยงกับเมฆ เชื่อมโยงกับป่า เชื่อมโยงกับต้นไม้ เห็นอะไรก็เชื่อมโยงทุกที เห็นข้าวก็เชื่อมโยงกับชาวนา กับป่า กับต้นไม้ กับไส้เดือน กับจุลชีพที่อยู่ในดิน ความรู้สึกของเราจะกตัญญูต่อสรรพสิ่งอยู่ตลอดเวลาและเกิดความเป็นอิสระ เพราะแต่เดิมมันถูกบีบคั้นอยู่ด้วยความไม่จริงที่แยกเป็นส่วนๆ แต่ความจริงจะเชื่อมกันทั้งหมด ต้องคอยฝึกให้เห็นความเชื่อมโยงอยู่ตลอด

อาจารย์จุมพล: จะขออนุญาตเอาความคิดนี้ไปใช้ ใครก็ได้ที่เป็นคนที่คุณรักหรือไว้ใจ มาเรียนแทนได้ ผมจะเอาไปใช้จริงๆ บริญญาโทปริญญาเอก จะลองวิธีนี้ดู ผมจะเปิดกว้างให้สามีภรรยามาหรือเอาลูกมาก็ได้ ถ้ามั่นใจว่าลูกจะฟังรู้เรื่อง ผมว่าน่าสนใจ มันจะสอนเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องการเชื่อมโยง เรื่องที่ความรู้เป็นสาธารณะโดยไม่ต้องพูดอะไรมาก เป็นวิธีการที่ท้าทายมาก ผมจะเอาไปใช้จริงๆ กลับไปพรุ่งนี้เริ่มเลย

นายแพทย์ประเวศ: ฝากทั้งกลุ่มเชียงรายและอาจารย์จุมพล คือต้องระวังอยู่อย่างว่าเวลาเราทำอะไรดี คนจะมาบริโภคเรา เพราะบริโภคแล้วมีความสุขและอยากบริโภคซ้ำอีก ที่จริงเขาควรได้แรงบันดาลใจแล้วไปสร้างตัวเอง ผมเคยวิจารณ์ว่าคนบริโภคพระธรรมปิฏก ผมสังเกตพฤติกรรมของหลายคน ถือว่ารู้จักท่าน นิมนต์ท่านมางานวันเกิด วันเกษียณอายุ แม่ตาย อะไรต่ออะไรแล้วให้ท่านพูด ถอดเทปให้ท่านแก้ คือคนบริโภคท่านมาก ถ้าเรารู้ว่าอะไรดี ได้ความบันดาลใจแล้วเราต้องสร้างเพิ่มพูน ไม่อย่างนั้นเราจะบริโภคซ้ำๆ

ทีนี้ผมคิดว่าสำคัญนะ พอมีความรู้ ส่วนบริการก็บริการไป เขาอาจจะชื่นชมมีความสุขมีความยินดี คือได้บริโภคของดีๆ ก็มีความสุข แต่ต้องคิดถึงระบบที่จะสร้างลูกศิษย์ด้วย แล้วทุ่มเทกับเขา ไม่ว่าจะเป็นปริญญาโท ปริญญาเอก ให้มันมีจำนวน critical mass และเขาสามารถไปค้นคว้าเอง เอามาแลกเปลี่ยนกัน ครูคอยให้แต่การบ้านและกำหนดเวลาส่งงาน สร้างลูกศิษย์ให้เก่งๆ

ผมดูอย่างพระธรรมปิฎกท่านไม่มีเรื่องนี้ น่าเสียดายมาก ท่านไม่มีระบบ ไปถามว่ามีลูกศิษย์เก่งๆ ที่สร้างขึ้นมาได้กี่คน รู้สึกไม่มี เพราะฉะนั้นกลุ่มเชียงรายก็ตาม กลุ่มอาจารย์จุมพลก็ตาม อาจจะต้องดูและต้องมีการจัดการ ว่าทำอย่างไรจะให้คนมาเรียน ถึงจะได้คนเก่งมาสักจำนวนหนึ่ง แล้วเราทุ่มเทให้เขาเก่งขึ้นมา เก่งกว่าเราอีก ผมทำอะไรผมจะหาลูกศิษย์ที่เก่งกว่าผม และปล่อยให้เขาทำต่อไปเอง ผมคิดว่ากลุ่มเชียงรายมีค่ามาก แต่ว่าทำอย่างไรให้มีลูกศิษย์ สมมติมีชั้นเรียนหนึ่งเป็นปริญญาโทสัก ๑๐ คน เป็นมวลวิกฤตที่จะไปค้นคว้าเอง เขามีกลุ่มที่จะเรียนรู้ อาจารย์อาจจะคอยฟังเขาบ้างแนะนำบ้างรียนรู้จากเขาบ้าง เขาจะเก่งขึ้น

ผมเคยเล่าให้ฟัง เคยตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างพระเก่งๆ เพราะพระมีตั้งสองแสนห้าหมื่นรูป แต่เราได้ยินอยู่ ๒ องค์ แค่นี้ ท่านอาจารย์พุทธทาสกับพระธรรมปิฎก ไปสอนใครที่ไหนไม่เคยได้ ไม่เหมือนพระทิเบต เลยมาตั้งโจทย์ว่าการศึกษาของพระน่าจะมีอะไร คราวหนึ่งไปคุยที่สวนโมกข์ ท่านอาจารย์พุทธทาสยังอยู่ ร่วมคุยกับท่านธรรมปิฎก อาจารย์สุลักษณ์ และผม แต่สนทนาแลกเปลี่ยนไม่ได้ เพราะอาจารย์สุลักษณ์พูดคนเดียวหมด

อีกคราวหนึ่งไปหาพระธรรมปิฎกที่ฉะเชิงเทรา เพื่อคุยเรื่องการศึกษา บอกให้ประชา หุตานุวัตร จัดกลุ่มไป แต่ประชาไปบอกผู้คนเยอะแยะ และทุกคนไปด้วยพันธกิจของตัวเอง ไม่ได้ไปด้วยพันธกิจเรื่องการศึกษาของพระ เลยล้มเหลว อีกครั้งไปวัดมหาธาตุ พระธรรมปิฎกอยู่ด้วย พอไปถึงนักข่าวเดินเต็มห้องเลย ตายล่ะสิ เพราะการจะคุยเรื่องยากๆ เงียบๆ ลึกๆ ทำไมนักข่าวมาเต็มไปหมด ปรากฎว่าพระไปบอก เพราะอยากดัง เลยล้มเหลวอีกจนกระทั่งบัดนี้

นายแพทย์วิธาน: ขอบคุณอาจารย์มากครับ ตอนนี้เรามี ๘ คน แต่แซวๆ กันว่าเป็นเด็กฝึกงาน ๒ คน จริงๆ แล้วไม่ใช่เด็กฝึกงาน คือมีเพื่อน 2 คนเขามาอยู่ได้ ๔ เดือน กำลังฝึกเรียนรู้งานอยู่ เวลาทำการอบรมเขาจะไปด้วย และสามารถจะนำการอบรมในบางเรื่องและค่อยๆ พัฒนาขึ้น ตอนนี้มีคนหนึ่งสามารถนำการอบรมได้บางส่วนและทำได้ดีด้วย และกำลังจะมีน้องมาใหม่อีก ๒-๓ คนที่อยากจะเรียนรู้เป็นกระบวนกร เพราะงานอบรมมีเยอะ และสามารถนำพาไปเรียนรู้ร่วมกัน สมมติเรามีกระบวนกรหลัก ๒ คน เราก็จะนำผู้ช่วยไปอีก ๒ คน ทำให้เขาเห็นว่ากระบวนการต้องทำอย่างไร

เราจะเรียกว่ามหาวิทยาลัยรถตู้ เพราะทุกครั้งเราจะนั่งรถตู้ไปทำงาน เวลานั่งรถตู้ไป ๑๐-๒๐ นาที จะคุยกันเพื่อเป็นกระบวนการเรียนรู้ว่า เห็นกระบวนการเป็นอย่างไร เห็นผู้คนเป็นอย่างไร คิดว่าอยากให้เป็นอย่างไร เป็นสุนทรียสนทนากันในรถ พอทำเสร็จนั่งรถกลับมาเห็นอะไร เรียนรู้อะไร คิดว่าช่วงต่อไปควรทำอะไร แต่ไม่มีข้อสรุป เพราะเป็นหน้าที่ของกระบวนกรหลักว่าควรทำอะไรหรือว่ามองเห็นความสว่างแวบตรงไหนเอามาใช้ คือเป็นความคิดที่ทุกคนเห็นอย่างนี้ แล้วในช่วงนั้นให้กระบวนกรหลักเป็นคนเลือกใช้กระบวนการไหนในการเรียนรู้

เมื่อสักครู่ฟังอาจารย์ประมวลพูดถึงเรื่องชุมชน ผมมองเห็นประเด็นที่มีความแตกต่างระหว่างคำว่าชุมชนกับเครือข่าย คือถ้าเป็นชุมชนมันมีความผูกพันเหมือนอย่างที่อาจารย์บอกว่า ถ้าเป็นความรู้หรือความรักเพื่อชุมชน เราจะรู้สึกอยากจะหาความรู้ให้กับชุมชน แต่ถ้าเป็นเครือข่ายเหมือนกับว่าเราคบกับเขาเพื่อผลประโยชน์ของเรา ผมมีความรู้สึกว่าความลึกซึ้งระหว่างชุมชนกับเครือข่ายต่างกัน เครือข่ายเหมือนว่าเรามาเจอกันผิวๆ ใครเอื้อประโยชน์ใคร แต่หลักๆ คือประโยชน์ของเราในการคบกับคนนี้ แต่ถ้าเป็นชุมชนเรารู้สึกว่ามันก้าวทับไป

นายแพทย์ประเวศ: อย่าไปตัดมันขาดอย่างนั้น ปัจเจกบุคคลก็สำคัญ กลุ่มคือตัวชุมชนร่วมคิดร่วมทำ อาจจะน้อยคนอาจจะหลายคน แล้วมีเครือข่ายระหว่างบุคคลกับบุคคลก็ได้ กลุ่มกับกลุ่มก็ได้ ใกล้ก็ได้ไกลก็ได้ เหมือนโครงสร้างสมองเป็นเครือข่าย เซลล์สมองตัวหนึ่งอาจเป็นสมาชิกของหลายเครือข่าย เพราะฉะนั้นอย่าไปตัดมันออก ผมคิดอย่างง่ายๆ ว่าชุมชนคือการรวมตัวร่วมคิดร่วม อาจเป็นพื้นที่ เป็นหมู่บ้าน หรืออาจจะรวมตัวกันเป็นเรื่องๆ อาจจะเล็กหรือใหญ่ บางทีเราเรียกว่าประชาคม ถ้าใหญ่เรียกว่าประชาคมร่วม เราอยากเห็นชุมชนเกิดขึ้นทั่วไป ในวัด ในมหาวิทยาลัย ในบริษัท ในครอบครัว

คุณชลนภา: กำลังนึกถึงเรื่องเครือข่ายกระบวนกร งานอีก ๓ ปีข้างหน้าจิตวิวัฒน์หรือจิตตปัญญาน่าจะมีพื้นที่ตรงนี้ด้วย ยังคิดอยู่ว่าอาจจะสนับสนุนให้เกิดศูนย์ฝึกอบรม นอกเหนือจากศูนย์จิตตปัญญาในมหิดล อาจจะมีการสนับสนุนของทางอาศรมศิลป์ เสมสิกขาลัย หรือทางเชียงราย ทำให้เกิดสำนักในเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่ให้โยงกัน และที่ฟังอาจารย์ประมวลยังนึกถึงความรู้ที่เป็นความรัก รู้สึกตื่นเต้นมาก คิดว่าจิตวิวัฒน์น่าจะทำปาร์ตีเชิญครอบครัวมาร่วมด้วย

ขอกลับมาเรื่องการศึกษา เดือนก่อนได้ไปคุยกับคุณเดวิด สปิลเลน ยังนึกถึงว่าในที่สุดแล้วการสั่งสมต้นทุนทางจิตวิญญาณของแต่ละคน ดูเหมือนว่าจะอาศัยคุรุเป็นหลักด้วย โดยเฉพาะการศึกษาของอินเดีย พอย้อนกลับมาดูของเรา รู้สึกว่าเด็กรุ่นใหม่เราขาดโอกาสตรงนี้ค่อนข้างเยอะ พอบอกว่าเราต้องการหาคุรุ เราไม่รู้จะหาใครเป็นต้นแบบ ถ้าหาเจอก็โชคดี ถ้าหาไม่เจอคงต้องเอาดารา นักร้อง เศรษฐี นักธุรกิจมาเป็นต้นแบบ

ตอนพักเที่ยงได้พูดคุยกับคุณหมอวิธาน ว่าคุรุของเราตอนนี้ไปอยู่ในระบบการศึกษา พอมาโยงเข้ากับเรื่องจิตตปัญญา ในที่สุดแล้วจะกลายเป็นว่าคุรุเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไปสู่เป้าที่เราประสงค์ แต่ไม่แน่ใจว่าจากประสบการณ์ของอาจารย์ประมวล คิดว่าพอจะมีอะไรอื่นที่เป็นเครื่องมือได้ไหม นอกเหนือจากการเป็นคุรุและการเป็นครูที่จะพยายามหล่อหลอมและเปิดพื้นที่ให้เขา เพราะไม่เช่นนั้นเราจะเห็นแต่คำว่าคุรุอย่างเดียวที่จะนำพาศิษย์ไปยังหนทางให้พ้นฝั่งได้

อาจารย์ประมวล: ประเด็นสำคัญผมเข้าใจว่ามันอยู่ตรงที่ความเป็นมนุษย์ เมื่อครู่นี้เราพูดถึงปัจเจก ถ้าความเป็นมนุษย์มันไม่เป็นปัจเจก แต่เป็นมนุษยชาติ คำถามคืออะไรเป็นสิ่งที่ยึดโยงมนุษย์แต่ละคนให้เป็นมนุษยชาติได้ ผมเข้าใจว่าความรัก ถ้าเราใช้ภาษาไทยง่ายๆ แต่ความหมายคงได้ว่า เมตตาธรรม การุณธรรม หรือมุทิตาธรรมที่งอกงามอยู่ในใจคน เพราะฉะนั้นเวลาที่เราพูดถึงคุรุหรือครูในความหมายที่ผูกโยงกับศิษย์ ก็คือกำลังจะถ่ายโอนหรือถ่ายทอดสิ่งที่เป็นความรู้ ซึ่งผมเข้าใจว่าไม่ใช่สิ่งสำเร็จรูป ที่เราบันทึกไว้แล้วจะมีใครมาศึกษาก็ได้ อย่างเช่นในคติของอินเดีย การเรียนรู้อะไรถ้าไม่เคารพครู วิชาการนั้นจะเสื่อม แม้รู้ไปแล้วแต่ถ้าเมื่อใดที่ไม่สำนึกในความเป็นครูผู้ถ่ายโอนมา ความรู้นั้นก็จะเสื่อม 3333333333

เข้าใจว่าความสำคัญคือการที่เรามองเห็นสิ่งที่เรียกว่าความรู้ เป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องในจิตใจของมนุษย์ เพราะฉะนั้นเมื่อเรารับมาแล้วเราก็ถ่ายทอดไป ผมเข้าใจว่าตรงนี้หัวใจสำคัญคือการสำนึกที่เรามีความรู้สึกเหมือนพ่อแม่ ถ้าเรามีความรู้สึกกังวลกับอนาคตที่ลูกจะลำบาก พ่อแม่จะยินยอมทำอะไรมากมายสารพัด ทั้งที่จริงท่านอาจจะมีอายุเหลืออยู่ไม่ยืนนานก็ได้ แต่ท่านก็ทำอะไรเพื่อให้มีผลนานนับเป็นสิบเป็นร้อยปี เพราะฉะนั้นถ้าเราสำนึกอย่างนี้ ผมถือว่าความเป็นครูคือความหมายที่จะสำนึกถึงความเป็นมนุษย์ซึ่งจะพึงมีและพึงขับเคลื่อนต่อไป และพยายามจะถ่ายทอดอะไรบางสิ่งบางอย่างที่เป็นพลังต่อสู้สิ่งนั้นได้ ตรงนี้ผมเข้าใจว่าพอเราทำให้สิ่งที่ได้รับเป็นความรู้สำเร็จรูป มันไม่มีความจำเป็น

มันเหมือนกับเวลาเรามีเงินตราเป็นสื่อกลาง มันทำให้ความหมายของความผูกพันไม่ได้มีอยู่ที่คนกับคน มันไปผูกพันกันโดยใช้เงินแทน เพราะฉะนั้นถ้าผมเอาเงินใส่กระเป๋าแล้วเดินทางไป ผมไม่จำเป็นต้องไปสำนึกรู้ว่าอาหารมื้อนี้ใครทำ และผมก็ไม่จำเป็นต้องรู้สึกผูกพันกับสิ่งที่กินไปแล้วว่าผมต้องนึกถึงใครบ้างเพราะผมมีเงินซื้อ มีเงินก็ได้กิน แต่วันหนึ่งถ้าผมไม่มีเงินเลย ผมกลับสำนึกว่าถ้าเพราะคนคนนั้นเขามีเมตตาธรรมอันสูงส่ง เพียงแค่เขามองหน้าผมก็รู้ว่าผมมีความต้องการอาหาร และเขาก็ให้อาหารผมด้วยความรู้สึกที่ไม่ใช่เพื่อเงิน แต่เพื่ออะไรบางสิ่งบางอย่างที่มากไปกว่านั้น เพราะฉะนั้นในกรณีที่เรามีความสัมพันธ์กันถึงเรื่องความรู้ก็เช่นเดียวกัน ที่เรียกว่าคุรุหรือครูสำคัญ เพราะมันไม่ใช่เรื่องเอาเงินมาเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดหรือถ่ายโอนชุดความรู้ แต่มันเป็นเรื่องของกระบวนการที่ผูกโยงกันระหว่างมนุษย์ ที่จะต้องถ่ายทอดสิ่งที่ดีที่สุดที่พึงจะเป็นไปในจิตใจมนุษย์ให้กับคนอื่น

เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงสิ่งนี้ จึงไม่ใช่เรื่องของเหตุผล คือเราเกิดมาบนโลกใบนี้เพราะมนุษย์ที่มีเมตตาธรรมกับเรา นั่นคือพบแม่พบพ่อที่ไม่ได้สั่งสอนอบรมอะไรเลย ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่ากระบวนการที่เราอยู่บนโลกใบนี้อบอุ่นน่าอยู่ต่อไป ในความสำนึกแบบนี้ผมเข้าใจว่ามันทำให้เกิดความหมายของคำว่าคุรุหรือครูขึ้น

ผมเคยไปฟังคุณหมอที่โรงพยาบาลแม่และเด็กจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากว่าเพื่อนผมที่เป็นอาจารย์แต่งงานกับสามีชาวออสเตรเลีย แล้วสามีไม่สามารถฟังที่คุณหมออธิบายได้ ทีนี้คุณแม่ใหม่ซึ่งคลอดโดยวิธีผ่าตัด พอคลอดเสร็จเขาไม่สามารถลุกจากเตียงได้เลย และที่โรงพยาบาลนี้มีข้อบังคับให้ลูกดื่มนมแม่ เพื่อนยังไม่มีน้ำนม เพราะฉะนั้นหมอต้องจัดอบรมให้กับแม่ที่มีปัญหา แล้วจะทำยังไงล่ะ แม่ก็นอนอยู่บนเตียง พ่อก็ฟังภาษาไทยไม่ได้ ผมเลยต้องไปนั่งฟังแทน ขณะที่ผมไปนั่งฟัง หมออธิบายดีมากๆ ดียิ่งกว่าพระเทศน์หลายๆ องค์ คุณหมอบอกว่า มีเหตุจำเป็น ๒ ประการที่จะต้องให้คุณแม่ให้นมลูก

ประการที่หนึ่ง เด็กที่เกิดมาใหม่ถ้าเขาดูดนมจากหัวนมวิทยาศาสตร์ที่บริษัทผลิตออกมาเพื่อให้พอดีกับปากของเด็ก เพียงแค่หยอดเข้าไปในปากแล้วเด็กออกแรงนิดหน่อยก็มีน้ำนมไหลเข้าปากได้เลย จะทำให้เด็กรู้สึกว่ามันง่ายที่จะได้กินได้ดื่ม ไม่มีความเพียรพยายามอะไร เป็นการแย่มากที่เด็กเริ่มต้นชีวิตของโลกใบนี้ด้วยความรู้สึกง่ายๆ เช่นนี้

ประการที่สอง น้ำนมที่ออกมาจากเต้านมของแม่เป็นน้ำนมที่ไม่มีรสชาติ ไม่อร่อย แต่น้ำนมที่เขาขายในท้องตลาดมันเป็นน้ำนมที่ศึกษาวิจัยแล้วว่า เด็กมีความชอบรสชาติแบบไหนอย่างไร แล้วเด็กดื่มอย่างนี้จะติดรสชาติและปฏิเสธน้ำนมจากแม่ เพราะฉะนั้นเขาจึงบอกว่า ภายใน ๔๘ ชั่วโมง แม้จะไม่มีน้ำนมก็ไม่ต้องกลัว เพราะตอนเด็กอยู่ในครรภ์แม่สะสมอาหารเพียงพอที่จะมีชีวิตอยู่ได้

ผมกลับไปอธิบายให้เพื่อนที่เป็นคุณแม่ฟังดีกว่าเดิมอีก (เสียงหัวเราะ) ว่านี่เป็นโอกาสอันประเสริฐแล้วที่ทำให้ลูกของเราสัมผัสกับบรมธรรมที่อาจารย์พุทธทาสได้เคยว่าไว้ เด็กสามารถสัมผัสรู้บรมธรรมได้ว่า ชีวิตนี้จะต้องสัมผัสสิ่งเหล่านี้ ต้องจิตใจเข้มแข็งอดทน ให้ลูกมาดูดจากเต้านม แม้จะไม่มีน้ำนมเลยก็เป็นการฝึกความเพียรพยายาม ทั้งที่แม่กลัวลูกหิว กลัวลูกร้อง สะเทือนใจ ผมเข้าใจว่ากระบวนการที่เรากำลังพูดถึงครู มันต้องมีความสำนึกรู้อะไรประมาณนี้ แล้วด้วยการเล็งเห็นถึงสิ่งที่เป็นความดีงาม ที่เราจะต้องทำให้เกิดการถ่ายเทจากเราไปสู่ชีวิตใหม่ได้ ผมเข้าใจว่าในกรณีนี้ คำว่าครูจึงมีความหมายสำคัญในระบบการเรียนรู้ครับ

นายแพทย์ประเวศ: ผมพยายามจะจับเรื่องการศึกษามานาน ผมคิดว่าการศึกษาของไทยในร้อยกว่าปีที่ผ่านมา จัดผิดทางและทำให้เกิดปัญหามาก เพราะว่าความรู้มี ๒ ประเภทใหญ่ๆ ความรู้ในตัวคนกับความรู้ในตำรา ทั้งสองอันมีความสำคัญ แต่ว่าที่มาและความหมายต่างกัน ความรู้ในตัวคนได้มาจากประสบการณ์ชีวิต จากทำงาน ถ้าบอกว่าความรู้ได้มาจากประสบการณ์ชีวิตเท่ากับว่ามันอยู่ในฐานวัฒนธรรม นี่คือชีวิต ส่วนความรู้ในตำราก็ไปเอามาจากต่างประเทศ จากการวิจัยจากอะไร อาจจะได้ว่ามาจากฐานวิทยาศาสตร์

ทีนี้การศึกษาของเราได้วางไว้ คิดว่าเอาความรู้ในตำราเป็นตัวตั้ง แล้วทิ้งความรู้ในตัวคนไปเลย จริงๆ แล้วควรจะเอาความรู้ในตัวคนเป็นฐาน แล้วเอาความรู้ในตำรามาต่อยอด การศึกษาของเราเอาความรู้ในตำรามาเป็นฐานเลยซึ่งผิด มันทำให้ขาดจากฐานวัฒนธรรม นักการศึกษาก็พูดว่า คนเราเรียนรู้ได้ดีที่สุดในฐานวัฒนธรรม แต่ก็ไม่พยายามตีตรงนี้

ความรู้ในตัวคนทุกคนมี ถ้าเราเคารพความรู้ในตัวคนก็เท่ากับคนทุกคนมีเกียรติ ความรู้ในตำรานี้มีไม่กี่คนหรอกที่จะเชี่ยวชาญ พอคนส่วนน้อยรู้ก็เลยไปทำการค้า เกิดความลำบาก หาครูยาก หาที่เรียนยาก วิ่งเต้นก็แล้วให้แป๊ะเจี๊ยก็แล้วยังหาโรงเรียนดีๆ ไม่มี แต่ถ้าเราเคารพความรู้ในตัวคนทุกคน ครูจะมีเยอะ อย่างอาจารย์เดินทางไปก็จะเจอคนมีน้ำใจ ทุกคนกลายเป็นคนมีเกียรติมีค่า เดี๋ยวนี้คนไทยไม่มีเกียรติ ชาวบ้านไม่มีเกียรติ ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นศีลธรรมพื้นฐาน คือการเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคน อย่างที่อาจารย์ไปจะเคารพขอทาน เคารพหมาขี้เรื้อน แต่ในระบบการศึกษาของเรา ตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย คือเครื่องทำลายศีลธรรมพื้นฐานของสังคม พอเราเข้าเรียนแล้วจะรู้สึกว่า สถาบันของเรามีเกียรติ ชาวบ้านไม่มีเกียรติ ตรงนี้ทำให้ขาดศีลธรรม

ตรงนี้ฟังดูเหมือนยาก แต่การปฏิบัติง่ายมากถ้าเราจับหลังตรงนี้ บางโรงเรียนให้นักเรียนไปเรียนกับชาวบ้าน เช่นช่างเสริมสวย คนขายก๋วยเตี๋ยว คนเหล่านั้นมีเกียรติขึ้นทันที และนักเรียนถ้าเรียนจากใครก็จะเคารพคนนั้นเป็นครู ตัวอย่างที่ประภาภัทร (นิยม) กำลังทำ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลง คือเขาไปทำแผนที่คนทุกคนบนเกาะลันตา ถือว่าคนทุกคนมีศักยภาพทั้งสิ้น สมมติว่าลุงคนนี้ทำเชือกผูกเรือเก่ง คนนี้ทำกับข้าวเก่ง ทุกคนมีคุณค่าทั้งสิ้น ผู้หญิงชื่อมิรา เดิมทำธุรกิจ แล้วเปลี่ยนมาทำตรงนี้ เธอไปนั่งฟังชาวบ้าน เหมือนสุนทรียสนทนา ถ้าเราฟังใครเท่ากับว่าเราเคารพคนนั้น ความรู้สึกดีๆ เกิดขึ้น เดิมชาวบ้านไม่เคยมีใครเคารพเขาเลย แล้วตัวมิราเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง แกยิ้มแฉ่งหน้ามีความสุขมาก เพราะเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับประชาชนใหม่ เดิมเรามองว่าประชาชนไม่มีค่าไม่มีเกียรติไม่มีความรู้ มันเปลี่ยนไปเพราะความรู้ในตัวคนเขามี ทุกคนมีเกียรติหมดซึ่งมันเป็นความจริง เพราะพอเข้าถึงความจริงก็จะหลุดพ้นจากการบีบคั้นจากความไม่จริง

ผมกำลังพยายามให้คนทำตรงนี้ให้มากขึ้น โดยให้ไปทำแผนที่คนดีของคนทุกคน ที่จริงเคยบอกคุณทักษิณตอนเป็นนายกใหม่ๆ เมื่อปี ๒๕๔๓ ว่าท่านนายกจัดงบประมาณสนับสนุน สกว. ให้เขาเอาเงินไปให้มหาวิทยาลัยทำแผนที่คนดี การศึกษาจะเปลี่ยนไป ผมคิดว่าคนจับตรงนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นรู้ว่าการศึกษานี้มีปัญหา แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร นอกจากเปลี่ยนรัฐมนตรีศึกษากันเรื่อยๆ จะติดขัดอยู่อย่างนั้น ผมคิดว่าต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์ของความรู้ใหม่ เอาความรู้ในตัวคน หรือฐานวัฒนธรรมเป็นตัวตั้งและวิทยาศาสตร์เป็นตัวต่อเติม ไม่ใช่เอาเป็นฐาน

ผมอาจจะผิดก็ได้ ภรรยาห้ามไม่ให้ทำอะไรมาก เพราะแก่แล้ว (เสียงหัวเราะ) ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ อาจจะพูดจาหลงๆ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ย้อนกลับไปทบทวน "อุดมธรรมจากวงสนทนา ๑" คลิก


 

 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



240849
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
การสนทนาการวิจัยด้วยฝ่าเท้าภาคบ่าย
บทความลำดับที่ ๑๐๑๕ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
ผมคิดว่ากระบวนการเรียนรู้ที่ว่านี้ทำให้เราเกิดความรู้สึกหนึ่งที่ว่า ไม่ใช่การที่เราเรียนรู้อย่างนี้แล้วเราจะเป็นเจ้าของความรู้หรือเราจะเป็นผู้ซึ่งมีความรู้ ผมเข้าใจว่าในสังคมไทยเรามีผู้รู้เยอะ แต่เราไม่ค่อยมีความรู้ซึ่งเป็นสาธารณะ เช่นเราอาจจะมีหมอที่เก่ง แต่สังคมไทยไม่ค่อยมีความรู้ทางการแพทย์ เราอาจจะมีเภสัชกรที่มีความรู้เรื่องยาดี แต่สังคมไทยไม่ค่อยมีความรู้เรื่องยาเท่าไร เพราะฉะนั้นเรามักจะวิ่งไปหาผู้รู้ที่เป็นบุคคลอยู่เสมอ...

...ผมมานึกเปรียบเทียบตัวเองตอนเรียนหนังสือ และมีเพื่อนร่วมชั้นเป็นมุสลิม ตอนนั้นผมไม่ได้คิดอะไรมาก แต่พอผ่านมาผมถึงสำนึกรู้ได้ว่าผมกับเขาต่างกัน คือผมยังมีความสำนึกแบบปัจเจกชน อยากมุ่งเรียนให้ประสบความสำเร็จ สอบให้ได้คะแนนดีๆ และตัวเองจะได้จบปริญญา แต่เพื่อนผมที่เป็นชาวมุสลิมเขามีความสำนึกของชุมชน ว่าเขาจะต้องเรียนเพื่อนำความรู้ไปใช้ประโยชน์กับชุมชน เวลาที่เขาจะเลือกเรียนวิชาอะไร โจทย์จึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาต้องการจะรู้อะไร แต่เขาตั้งโจทย์ว่าสังคมของเขาควรได้รู้อะไร

ผมไม่เคยสอนให้พวกเขาแก้ ผมบอกเลิกคิดแบบแก้ได้หรือเปล่า ลองมาคิดแบบสร้าง เพราะถ้าคิดแบบแก้คุณจะพยายามหาแพะรับบาปและต้องตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น วิธีคิดแบบนี้มันเหมาะกับการแก้เครื่องยนต์เพื่อให้กลับมาเหมือนเดิม แต่ลองดูสิว่าคุณมีปัญหาอะไรและลองเปลี่ยนเป้าหมายที่ต้องการจะบรรลุ แล้วมาช่วยกันหาวิธีสร้าง พอเปลี่ยนจากแก้มาเป็นวิธีสร้างสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น ทุกฝ่ายต้องมาช่วยเหลือกัน ตรงนี้คือเทคนิคหรืออุบายในการที่จะทำให้เขามามีส่วนร่วม (ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน)
ภาพซ้ายมือ : ดร.ประมวล เพ็งจันทร์