Free Documentation
License
Copyleft : 2006,
2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document, but changing it is not allowed.
หากนักศึกษา
และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
The Midnight
University
ความรู้จากประสบการณ์การปฏิบัติ
อุดมธรรมจากวงสนทนา ๑ (การวิจัยด้วยฝ่าเท้าภาค
๒)
ดร. ประมวลเพ็งจันทร์
กับการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับเพื่อนๆจากกลุ่มจิตวิวัฒน์
หมายเหตุ
: บันทึกการประชุมนี้ กองบรรณาธิการได้รับมาจาก อ. ชลนภา อนุกูล
เป็นบันทึกการประชุมจิตวิวัฒน์ ครั้งที่ ๓๔ (๖/๒๕๔๙)
เรื่อง การเดินทางสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้
บรรยายโดย ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
วันจันทร์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๙
เวลา ๐๙.๓๐ - ๑๕.๐๐ น. ณ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1014
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
12.5 หน้ากระดาษ A4)
อุดมธรรมจากวงสนทนา ๑ (การวิจัยด้วยฝ่าเท้าภาค ๒)
ดร. ประมวลเพ็งจันทร์ กับการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับเพื่อนๆจากกลุ่มจิตวิวัฒน์
การประชุมช่วงบ่าย
อาจารย์ประมวล: มีเรื่องเล่าว่า ลูกชายพราหมณ์ไปเรียนวิชาจบกลับมาบ้าน
บอกพ่อว่าเรียนจบครบถ้วนกระบวนวิชาทุกสิ่งทุกอย่าง แต่พราหมณ์บอกว่า ลูกยังมีลักษณะอหังการ
มมังการ ยังถือมั่นตัวตน นี่ไม่ใช่วิสัยของคนที่เรียนจบแล้ว ที่ผมเล่าเพียงต้องการจะบอกว่า
สุดท้ายสิ่งที่เรียกว่าความรู้นั้นถูกทำให้เป็นตัวตนที่สำคัญของคนๆ นั้น
ผมมาระลึกนึกถึงตอนที่เล่าไปแล้วว่า ผมเจอภาวะกดดันทางด้านกายภาพหนักมากจนถึงกับต้องภาวนามนต์ในปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรที่เคยใช้อยู่เสมอ
ถ้าไม่ติดความที่เป็นสันสกฤต แต่เอาเนื้อความที่เป็นไทย มนต์บทนั้นคือการภาวนาให้เราได้สำนึกรู้ว่า
เราต้องก้าวไปสู่ฟากฝั่งที่ตัวเราเป็นตัวความรู้ที่ไม่ถูกกำกับหรือสร้างเงื่อนไขโดยภาวะภายนอก
"โพธิสวาหะ" ที่เราพูดถึงในตอนสุดท้ายของมนต์บทนั้น คือการที่เราทำตัวเราให้มีจิตใจที่รู้แจ้ง
ผมเองมีความสำนึกอย่างนี้อยู่เสมอ เพราะฉะนั้นเมื่อตัวเองมีความใฝ่ฝันจะกลับมาเป็นครู ก็ตั้งใจปรารถนาที่จะเป็นครูในความหมายเช่นที่ว่านั้น ผมอยากจะเรียนว่าความหมายของคำ "ครู" ที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา จึงไม่ใช่เป็นเพียงการทำหน้าที่รับจ้างสอนหรือเป็นการประกอบอาชีพบางอย่าง แต่เหมือนประหนึ่งว่าเราได้ใช้ตัวเองเป็นสะพานเชื่อมไปสู่ฟากฝั่งหนึ่งที่ศิษย์สามารถข้ามผ่านไปได้
ระบบคิดของผมเช่นนี้ ถามว่ามาจากไหน ที่จริงผมน่าจะได้เรียนอยู่ในระบบการศึกษาของไทย แต่บังเอิญว่าผมโชคดีที่ไม่ได้เรียนเพราะโรงเรียนผมมีแค่ ป. ๔ แล้วผมต้องไปเป็นกรรมกรกีดยางพารา ๕ ปี ไปเป็นกรรมกรกินเงินเดือนอีก ๒ ปี สุดท้ายก็หวนกลับมาสู่ระบบของการเรียนแบบใหม่ คือเรียนในเพศภาวะของพระภิกษุ แล้วยังโชคดีที่ได้ไปเรียนต่อที่อินเดีย ผมสอบเทียบได้ชั้นมัธยมปลาย แต่พอไปถึงแล้วใช้งานไม่ได้ครับ เพราะผมไม่มีความรู้อะไรของมัธยมปลายเลย ผมไปสอบเทียบความรู้แล้วไม่ติดระดับ แต่เมื่อผมไปแล้วเขาก็พยายามให้ไปเรียนอะไรที่เป็นพื้นฐานเพียงเล็กน้อย เช่นเรียนภาษาเพื่อจะใช้ในการสื่อสาร เพราะในชั้นเรียนต้องใช้ภาษาอังกฤษ และเมื่อมีความรู้ทางด้านภาษาพอแล้ว เขาก็สามารถจัดระดับให้เข้าเรียนได้
ส่วนการที่ผมสามารถเดินทางไปเรียนที่อินเดียได้
เพราะมีหลวงพ่อท่านหนึ่งที่เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของผม พอท่านพบผมและได้สนทนากันระยะหนึ่ง
ท่านมีความรู้สึกว่านี่เป็นความใฝ่ฝันของผม ท่านมีสตางค์แต่ไม่สามารถจะทำสิ่งนี้ได้
ท่านจึงให้สตางค์ผมไปเรียน ผมจึงได้ไปด้วยบุญบารมีที่ท่านมอบให้ ปัจจุบันนี้ท่านยังมีชีวิตอยู่
เป็นพระสายปฏิบัติที่ไม่ค่อยจะออกสู่สังคมทั่วไปมากนักและไม่มีชื่อเสียง แต่ผมได้รู้จักท่านเหมือนเป็นเหตุบังเอิญ
ท่านบอกว่าผมมีความสามารถที่จะเรียนก็ขอให้ไปเรียน อย่ากังวลกับปัจจัยด้านนอก
และแม้กระทั่งผมบอกว่าผมไม่ไหวแล้วในอินเดีย ท่านก็บอกว่ากลับมาลาสิกขาและไปเรียนต่อ
นี่คือความเมตตาของท่าน
การไปเรียนที่อินเดียในสายมนุษยศาสตร์มีส่วนเปลี่ยนแปลงผมมาก เพราะยังมีระบบการเรียนที่ใช้ความเป็นศิษย์เป็นครูเป็นกระบวนการสำคัญอยู่
จึงไม่แปลกที่ผมจบการศึกษากลับมาแล้ว ผมจะต้องการเป็นครู แล้วผมได้ไปเป็นครูตามที่ผมคิด
ผมเข้าใจว่าการเป็นครูมีเงื่อนไขที่ดีสำหรับการพัฒนาสภาวะจิตใจไม่น้อยกว่าการบวชพระภิกษุในพุทธศาสนา
เพราะช่วงขณะแห่งการเป็นครูทำให้เราได้บำเพ็ญเพียรอะไรบางอย่าง
ผมประกาศกับนักศึกษาที่มาเรียนกับผมว่า จะเป็นครูจนกว่าวันหนึ่งลูกศิษย์ไม่มาเรียนหนังสือกับผม
จะไม่มีการเช็คชื่อเวลาเข้าห้องว่ามาหรือไม่มา คุณจะมาก็ได้ไม่มาก็ได้ วันไหนคุณไม่มาแสดงว่าผมไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นครูต่อไปอีกแล้ว
ผมจะเลิกเพียงแค่นี้ นักศึกษาก็เกรงใจผมเลยมาเรียนกัน และที่สำคัญในช่วงปลายๆ
ผมจะขอกับทางภาควิชาว่าถ้าวิชาไหนเป็นวิชาบังคับอย่าจัดให้ผมสอนเลย ผมจะขอสอนเฉพาะวิชาเลือกเสรีหรือถ้าเป็นวิชาพื้นฐานก็ไม่ใช่วิชาบังคับ
ให้มีตัวเลือกอย่างน้อยหนึ่งตัวขึ้นไป
ผมพยายามทำตรงนี้อย่างที่สุด ที่สำคัญผมต้องไปนั่งรอนักศึกษาก่อนเสมอ ผมจะบอกว่าคุณสำคัญมาก เพราะคุณทำให้ผมมีชีวิตเป็นครูอยู่ได้ ถ้าวันไหนไม่มีคุณก็คงไม่มีผมเป็นครู ผมบำเพ็ญอย่างนี้มาตลอด ทำให้รู้สึกว่าการเป็นครูไม่ต่างกับพระภิกษุในพุทธศาสนา ที่สำคัญคือเราได้อยู่กับคนหนุ่มสาวที่จะวนเวียนมาให้ผมได้เรียนรู้ทุกๆ ปี ผมขอบคุณเขาทุกครั้งในวันแรกและวันสุดท้ายของการเรียนการสอนว่า คุณให้บทเรียนที่ยิ่งใหญ่มากกับผม การที่ผมเป็นคนฉลาดขึ้นมาได้ขนาดนี้เพราะคุณเป็นผู้มีอุปการะคุณด้วย
กระบวนการเหล่านี้ผมไม่ได้พูดเพื่อต้องการจะบอกว่าระบบอุดมการศึกษาไทยไม่ดี แต่ผมต้องอธิบายให้นักศึกษาผมฟังก่อนว่า ผมประกาศไว้ก่อนหน้านี้นานแล้วว่า จะไม่ขอเป็นครูถ้ามหาวิทยาลัยของเราแปรรูปไปเป็นสถาบันที่มีเจตนาขายบริการทางการศึกษาให้นักศึกษา ผมไม่พร้อมที่จะเป็นบุคลากรในสถาบันการศึกษาลักษณะนั้น ผมไม่ได้ตำหนิว่ามหาวิทยาลัยดีไม่ดี ผมมีความรู้สึกว่าเป็นความคิดที่ไม่บังควรไปตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ แต่สิ่งที่พูดคุยเพียงเพื่อต้องการจะบอกว่าในความคิดและความเข้าใจของผม ความรู้ไม่ใช่เป็นสมบัติส่วนตัว แต่เป็นสิ่งที่สะสม สืบต่อ สืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน
ถ้าผมสอนวิชาทางพระพุทธศาสนา ผมจะบอกนักศึกษาเสมอว่า สัมมาสัมโพธิญาณที่พระศาสดาเราตรัสรู้ พวกเรารู้ไหมว่าพระองค์ต้องใช้เวลานานเท่าไร แล้วพระองค์ต้องผ่านภพหรือต้องผสมเป็นความรู้มากเท่าไร ผมพูดให้เขาฟังว่า ถ้านับเวลาที่พระพุทธเจ้าของเราตรัสรู้เป็น "นิยตโพธิสัตว์" (ผู้ที่ปรารถนาพุทธภูมิ และได้รับการพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว) ที่เสวยชาติเป็นสุเมธดาบส และได้รับการพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้านานถึง ๔ อสงไขยกับอีก ๑ แสนกัลป์ เมื่อพระพุทธเจ้าเกิดความรู้นี้แล้ว พระองค์ทรงระลึกนึกขึ้นมาว่า กว่าจะได้มีความรู้นี้ขึ้นมา พระองค์ต้องเกิดแล้วเกิดอีก ทุกข์ทรมานแล้วทุกข์ทรมานอีก ถ้าจะเทียบเคียงให้เห็นเป็นรูปธรรม กว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกขณะที่ทุกข์ทรมานและหลั่งน้ำตานั้นมีปริมาณรวมกันมากกว่าน้ำในมหาสมุทร
เพราะฉะนั้นพึงระลึกนึกถึงว่าสัมมาสัมโพธิญาณมิใช่สมบัติของใครเพียงคนเดียว พระพุทธเจ้าเกิดเป็นสัตว์ เกิดเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นสัมมาสัมโพธิญาณนี้จึงเป็นสมบัติของมนุษย์ ของเทวดา ของพวกเราทุกคน และพวกเรากำลังเป็นห่วงโซ่สืบต่อความรู้ที่มนุษย์ตั้งแต่บรรพกาลได้สะสมสืบทอดกันมาให้ดำรงคงอยู่ แล้วเราจะเอาความรู้นี้ไปขายได้อย่างไร ไม่ใช่สิ่งที่พึงกระทำ ความรู้จะต้องเกิดการสืบต่อทางด้านจิตใจที่อ่อนน้อมถ่อมตน ด้วยความรักและความเมตตา ความคิดแบบที่ว่านี้จึงทำให้ผมรู้สึกว่า ระบบการศึกษาที่จะทำให้มนุษย์เกิดครั้งที่สองได้นั้นต้องมีอะไรที่เป็นพิเศษ
ที่เกริ่นนำไปเมื่อครู่นี้ว่าระบบการศึกษาที่พูดถึงการเกิดครั้งที่สองนั้น ในระบบของอินเดียมีความเชื่อว่าการเกิดทางร่างกายยังไม่พอที่จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ มนุษย์จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้รับการศึกษา เป็นการเกิดทางจิตใจ ต้องผ่านการปฏิบัติอย่างเข้มข้น ดังนั้นในระบบการศึกษาของอินเดีย ตอนเริ่มต้นชีวิตที่เป็นพรหมจรรย์จึงเป็นช่วงของการเข้มงวดกวดขัน และพรหมจรรย์ที่พูดถึงคือการฝึกฝนอดทนที่จะงดเว้นบางสิ่งที่ยั่วยวน ในพระพุทธศาสนาของเราจึงมีระบบศีลในการบังคับหรือกำกับให้มีความอดทนต่อสภาวะที่เข้ามาบีบคั้น ผมเข้าใจว่าด้วยการคิดเช่นนี้เองจึงเป็นที่มาของฐานการศึกษาที่เราเคยเชื่อมั่นว่า ถ้าใครมีการศึกษาแล้วจะกลายเป็นคนดี จะมีความดีคู่กับความรู้ในใจของคนๆ นั้น
ผมจะไม่ขอพูดอะไรมากไปกว่านี้ แต่เป็นการพูดเปิดประเด็นว่า ด้วยการที่ผมผ่านการศึกษาเรียนรู้ที่มีอินเดียเป็นต้นแบบ ทำให้ผมมีความสำนึกทางการศึกษาแบบนี้ครับ
อาจารย์ประเวศ: ถ้าเราดูความเป็นจริงของโลกในปัจจุบันที่เคลื่อนด้วยวัตถุนิยม บริโภคนิยม เงินนิยม ซึ่งหลายคนเห็นด้วยว่ามันดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนอย่างปฏิเสธไม่ได้มี ๔ เรื่องคือ
หนึ่ง ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยห่างมากขึ้น นำมาสู่อำนาจที่ไม่ชอบธรรม คนหนึ่งมีเงินแสนล้าน อีกคนไม่มีเลย อำนาจที่จะใช้ทรัพยากร ใช้กฎหมาย ใช้อะไรมันต่างกันเยอะมาก ช่องว่างนี้นำไปสู่ความขัดแย้งต่างๆ ทางการเมืองและอะไรต่างๆ ร้อยแปด และช่องว่างนี้ห่างมากขึ้นในทุกประเทศที่พัฒนาสมัยใหม่และระหว่างประเทศด้วย
สอง ทำลายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมขนาดหนักสาม ทำลายวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ เพราะมันเป็นวัตถุนิยม จากข้อสามนำให้เกิด
สี่ วิกฤตการณ์ทางสังคม เช่นเกิดความยากจน เกิดโสเภณี เกิดอาชญากรรม เกิดสงคราม เกิดความรุนแรง เกิดการฆ่าตัวตายต่างๆ เรียกว่าพยาธิสภาพทางสังคม
ตอนนี้คนเห็นกันเยอะว่ามันไปไม่ได้อีกแล้ว คนที่เห็นก่อนคืออาจารย์พุทธทาส ท่านพูดไว้นานแล้วตั้งแต่ผู้คนยังไม่ค่อยพูดกัน ขณะนี้นักปราชญ์ตะวันตกพูดเยอะเรื่องวิกฤต แต่อาจารย์พุทธทาสท่านพูดในปี ๒๔๗๕ บอกว่า "วิกฤตแล้ว ไปไม่ได้แล้ว" เดือนที่แล้วผมไปพูดเกี่ยวกับท่านอาจารย์พุทธทาส ๒ ครั้ง ที่สวนโมกข์ครั้ง ที่พุทธมณฑลครั้ง ผมพยายามสรุปข้อเขียนคำเทศน์ของท่านที่มีเป็นหมื่นชิ้น ถ้าถามว่าทั้งหมดที่ท่านพูดคืออะไร สรุปให้เหลือสั้นนิดเดียว ท่านจะบอกว่าวิกฤติของโลกนั้นรุนแรงมาก ยาอะไรก็รักษาได้นอกจากโลกุตรธรรม จะไปพูดเรื่องความดีนิดๆ หน่อยๆ ก็แก้ไม่ได้แล้ว
ทีนี้โลกุตรธรรมมันหายไปจากกรุงรัตนโกสินทร์
เขาพูดกันจนฟั่นเฝือว่ามันอยู่ไกลเป็นเมืองแก้ว อีกแสนชาติกว่าจะไปได้ เลยเข้าใจว่า
"โลกุตระ" ซึ่งแปลว่า "เหนือโลก" หรือ "นอกโลก"
คือเหนือโลกแต่อยู่ในโลก เหนือโลกแปลว่าเหนือเนื้อหนังมังสา คือจิตวิญญาณในทุกศาสนา
คือถ้าไม่มีโลกุตระก็ไม่มีศาสนา เป็นแต่คำสอนเล็กๆ น้อยๆ
ทีนี้มาดูตัวผมเองไปเรียนในอเมริกา อังกฤษ เรียกว่าเรียนวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ทำปริญญาเอก
เรียนฟิสิกส์ เคมี เรียนสถิติ แต่กลับมาทำงานที่ศิริราช พบว่าตัวเองมีความทุกข์เยอะตั้งแต่ยังหนุ่ม
ก็สรุปว่าความรู้ที่เรามียังไม่พอ เลยไปสนใจเรื่องศาสนาและได้พบอิสรภาพอย่างที่อาจารย์พูด
คือเหมือนคนเกิดใหม่อย่างมีความสุข และอยากให้คนอื่นเจอความสุขบ้าง รู้สึกมันร่ำรวย
จิตสงบ เจริญสติ เห็นความงามเต็มไปหมด ปกติคนเราจะมีความหงุดหงิดรำคาญอยู่ในใจ
แต่พวกนี้หายไปหมด พอไม่มีแล้วรู้สึกโล่งสบาย และอยากให้คนอื่นเจอบ้าง ท่านอาจารย์ใช้คำว่าต้องศึกษาเพื่อเกิดใหม่
แต่มีอีกคำที่ทางนี้ใช้กันคือ การเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนผ่าน เป็นการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลง
ผมมีคำถามนิดเดียว คือเราติดอยู่ในโครงสร้างองค์กร โครงสร้างความคิดที่เป็นแนวดิ่ง สังคมที่เป็นแนวดิ่งหมายความว่า มีผู้มีอำนาจกับผู้ไม่มีอำนาจ ในโครงสร้างแนวดิ่ง เศรษฐกิจจะไม่ดี การเมืองจะไม่ดี และศีลธรรมจะไม่ดี ทำอย่างไรก็ไม่ดี สังคมไทยเป็นสังคมแนวดิ่ง พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่นิยมแนวราบ แต่ว่าโดนโครงสร้างสังคมไทยครอบเป็นแนวดิ่ง พระพุทธเจ้าท่านเป็นเจ้า ท่านเลิกเป็น ออกมาเป็นภิกขุไม่มีอะไรเลย แต่เดี๋ยวนี้ลูกไทยอยากเป็นเจ้าทุกคน อยากเป็นสมเด็จ มันสวนทางกัน เพราะมันโดนครอบ
มีการวิจัยที่อิตาลีว่าทางภาคเหนือของอิตาลีกับภาคใต้ไม่เหมือนกัน ทางเหนือเศรษฐกิจดี การเมืองดี ศีลธรรมดี ภาคใต้ตรงกันข้าม เศรษฐกิจก็ไม่ดี การเมืองก็ไม่ดี ศีลธรรมก็ไม่ดี เขาไปดูว่ามันต่างกันอย่างไร ภาคเหนือความสัมพันธ์เป็นแนวราบ ภาคใต้เป็นแนวดิ่งมาช้านานนับร้อยๆ ปี มีเมืองที่เคร่งศาสนาคือนับถือพระเจ้า แต่ศีลธรรมเขาไม่ดี เพราะรักแต่พระเจ้า ไม่รักเพื่อนบ้าน เมืองไทยเช่นเดียวกัน มีพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นคนดีมา ๖๐ ปี แต่สูญเสียศีลธรรมกันเต็มไปหมด
ทีนี้ไปดูโครงสร้างขององค์กรทุกชนิดเป็นแนวดิ่งหมดเลย
๑. องค์กรทางราชการ
๒. องค์กรทางการเมือง
๓. องค์กรทางการศึกษา
๔. องค์กรทางธุรกิจ
๕. องค์กรของคณะสงฆ์ เป็นแนวดิ่งหมด
คือเน้นการใช้กฎหมาย กฎระเบียบ และสั่งการจากบนลงล่าง ในองค์กรแบบนี้มันไปกำหนดพฤติกรรมของคน ทำให้คนจะเรียนรู้น้อย รักกันน้อย ไม่มีความเสมอภาค จะทำร้ายกัน จะนินทา จะออกใบปลิว และนับวันจะโกงมาก
ถ้าสังเกตที่ ปีเตอร์
เฮิร์ตส (อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยนาโรปะ) มาคุย ว่าเราต้องเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงบุคคลกับองค์กรทั้งสองอัน
ถ้าลำพังเปลี่ยนแปลงแต่บุคคล คำถามคือว่ามันแรงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์กรกับสังคมได้ไหม
เราอาจจะบรรลุธรรมส่วนตัว แต่ว่ามีกำลังพอจะ เปลี่ยนแปลงองค์กรเป็นองค์กรในแนวราบได้ไหม
ที่ทุกคนมีความเสมอภาคกัน มีความรักกัน เรียนรู้ร่วมกันด้วยการปฏิบัติ มิใช่เน้นจากบนลงล่าง
คำถามคือว่าหลักสูตรที่เรากำลังจะทำ เราพูดเรื่องการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงอย่างเดียวพอไหม
หรือเราควรมุ่งเปลี่ยนแปลงองค์กรด้วยในหลักสูตร แต่ที่จริงกระบวนการนี้กำลังเกิดขึ้นอยู่
คือกระบวนการชุมชนนั่นเอง ส่งเสริมการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ เข้าใจว่าอยู่ในความคิดของเราแล้ว
ความเป็นชุมชน ทำอะไรร่วมกัน อาจจะไม่เป็นคำถาม เพราะเราคิดตรงนี้อยู่แล้ว มันเปลี่ยนแปลงตัวเองกับเปลี่ยนแปลงสังคมไปด้วย
ให้เป็นในแนวราบมีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ
อีกอย่างหนึ่งไม่รู้ว่าจะเรียกชื่ออะไรเป็นภาษาไทย ถ้าภาษาอังกฤษจะสื่อได้ดีเป็นเรื่อง transformative learning ภาษาไทยผมยังคิดไม่ออก จะบอกว่าเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง คนไทยไม่ชอบ กลัวว่าจะไปเปลี่ยนเขา ตอนนี้ใช้คำว่าจิตตปัญญาศึกษาไปก่อน ผมคิดอยู่ทุกวัน แต่ยังหาคำที่ดีกว่าคำว่าจิตปัญญาศึกษาไม่ได้
อาจารย์สรยุทธ: เรื่องการเป็นชุมชนผมคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญจริงๆ
ครับ และตอนนี้ก็เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของหลายที่ ถ้าพี่วิธานพร้อม อยากจะขอให้เล่าให้พวกเราฟัง
เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ทราบว่าทางอาศรมศิลป์ได้ขึ้นไปเยี่ยมทางกลุ่มเชียงราย ผมเสียดายที่ไม่ได้ไป
แต่ว่าได้รับฟังการชื่นชมราวๆ กับไปฉือจี้ ทางอาศรมศิลป์กลับมาบอกว่าใช่เลย เพราะมีมิติชุมชน
อย่างอาศรมศิลป์บอกว่าเขาก็มีคนเก่งๆ เยอะและมีคนปฏิบัติเยอะ แต่เหมือนขาดอะไรไปบางอย่าง
พอไปที่เชียงรายก็บอกว่าเห็นบางมิติอยู่ ไม่ทราบว่าทางพี่วิธานมีอะไรแลกเปลี่ยนบ้างว่าทางเชียงรายทำกันอย่างไร
นายแพทย์วิธาน: ผมขอเล่านิดหนึ่งว่าเรื่องกระบวนการเรียนรู้ ทางเชียงรายเราใช้คำนี้เหมือนกัน
แต่เพิ่มว่ากระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทั้งแผง (collective transformative
learning) แปลกันตรงๆ อย่างนี้ แต่ก็เห็นด้วยกับที่อาจารย์พูดครับว่า เวลาที่เราบอกว่าไปเปลี่ยนแปลงเขา
บางคนจะรับไม่ได้ แต่ในช่วงหลังๆ อย่างเวลาอาจารย์วิศิษฐ์ทำกระบวนการ วันแรกจะพูดเลยว่า
กระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดนี้ต้องเพื่อการเปลี่ยนแปลง ถ้าใครคิดว่าไม่อยากเปลี่ยนแปลงให้กลับบ้านไปเลยไม่ต้องมาให้เสียเวลา
๓ วันนี้ คือช่วงการเรียนรู้ต้องอยู่ในกระบวนการที่มันเป็นความสับสนในช่วงแรก
คือการที่เราไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย มันต้องมีกระบวนการที่เราไม่คุ้นชิน
เพราะถ้ามันคุ้นชินก็ไม่ได้เรียนรู้ เราจึงใช้คำว่าการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทั้งแผง
ซึ่งผมคิดว่ามันสื่อความหมายได้ระดับหนึ่ง
ผมพบจุดหนึ่งที่คิดว่าสำคัญ รวมกับเมื่อเช้าที่ได้ฟังจากอาจารย์ประมวลด้วย คือความเป็นสมุหภาพ
คือความคิดหรือความรู้ความเข้าใจที่ผ่านเข้ามาในหัวเรา มันไม่ใช่ของเรา มันเป็นการเรียนรู้ร่วมกันของกลุ่ม
ของชุมชน ทีนี้ในเชียงราย สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง ๓-๔ เดือนที่ผ่านมา
คือมีสุนทรียสนทนาอย่างไม่เป็นทางการ เป็นการพูดคุยระหว่างผม วิศิษฐ์ ณัฐฬส อาจารย์ฌานเดช
และคนอื่นๆ
นายแพทย์ประเวศ:
ตอนนี้มีอยู่สักเท่าไรที่เป็นมวลวิกฤติของเชียงราย และตกลงจะทำกับราชภัฏหรือเปล่า?
นายแพทย์วิธาน: กระบวนกรหลักที่ทำกระบวนการได้
ในตอนนี้มี ๘ คน ไม่รวมครอบครัว และในช่วงนี้ ทางราชภัฏกับทางแม่ฟ้าหลวงยังเงียบอยู่
แต่เราต่อติดกับทางคณะแพทย์และคณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และในส่วนของโรงพยาบาลประจำจังหวัดเชียงราย
จะค่อนข้างใกล้ชิดกันมากและมีงานต่อเนื่องกันอยู่
ใน ๓-๔ เดือนที่ผ่านมานี้ สิ่งที่ปรากฏชัดคือ กระบวนการอย่างเป็นสมุหภาพของเรามีรูปธรรมที่ชัดเจน
เพราะมันเกิดกิจกรรมที่เรียกว่าวงน้ำชาตอนเช้า เป็นลักษณะของสุนทรียสนทนาที่ไม่เป็นทางการ
คือหกโมงครึ่งพวกที่ไม่ได้ไปจัดอบรมต่างจังหวัดจะมารำมวยจีนด้วยกันที่บ้านอาจารย์ฌานเดช
พอรำมวยเสร็จก็จะนั่งทานน้ำชา คุยกัน มีน้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ ประมาณ ๘ คน หรืออาจจะมากน้อยกว่านั้นตามแต่กรณี
แขกไปใครมาจะนั่งคุยกันหมด อาจารย์วิศิษฐ์เป็นหลัก บางทีพูดคุยกันถึง ๑๑ โมง
๒-๓ ชั่วโมงคุยกันแบบไม่มีวาระ แต่ผมรู้สึกว่ามันเกิดกระบวนการเรียนรู้ขึ้นมาในกลุ่ม
จะว่าไม่มีหัวข้อก็ไม่ใช่ เพราะแต่ละคนจะไปจัดอบรมมา แล้วเรียนรู้ร่วมกันว่าคนนี้ไปจัดอบรมแล้วเรียนรู้อะไร
ไปพบคนกลุ่มนี้แล้วเรียนรู้อะไร ก็จะเกิดการแบ่งปันกันเป็นรูปธรรมที่ชัด เพราะก่อนหน้านี้อาจจะคุยกันอาทิตย์ละครั้งสองครั้ง
แต่ในช่วง ๓-๔ เดือนที่ผ่านมานี้เกิดวงน้ำชาขึ้นทุกเช้า
อันหนึ่งที่เชื่อมโยงกับเรื่องเมื่อเช้าของอาจารย์ประมวล และผมรู้สึกว่าเกิดขึ้นกับตัวผมด้วยในช่วงนี้ คือตัวกระบวนการเรียนรู้นอกจากความเป็นสมุหภาพแล้ว ในแง่ของปัจเจกมันเกิดความสมดุลของปัญญาสามฐาน ของสมองสามชั้น เพราะอย่างเมื่อเช้าอาจารย์ประเวศพูดถึงเหตุผล การใช้เหตุผลเป็นเรื่องของสมองชั้นนอก ซึ่งเป็นความไม่สมดุลที่ระบบการศึกษาสอนให้พวกเราเป็นมนุษย์ที่ใช้พุทธิปัญญามาก คือใช้สมองชั้นนอก แล้วขาดการใช้สมองชั้นกลางคืออารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขาดความกล้าเผชิญในสมองชั้นต้น ทำให้ขาดเจตจำนงหรือขาดแรงบันดาลใจ
ทีนี้ในกิจกรรมบางอย่างการที่อาจารย์ออกเดินทาง การออกไปเจอกับสิ่งที่เราไม่คุ้นมันคือการกล้าเผชิญ ซึ่งจะกระตุ้นการทำงานของสมองชั้นต้นขึ้นมา หรือการรำไท้เก๊กหรือโยคะ ซึ่งเป็นปัญญาทางกาย จะนำมาเสริมความสมดุลสมองทั้งสามชั้นของเรา ผมรู้สึกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในตัวเราขึ้นมา อาจารย์วิศิษฐ์ใช้คำว่า "รุกรานอย่างกรุณา" คือสมองชั้นต้นมันมีความกล้า (aggressive) คือถ้าเสริมตรงนี้เราจะมีความกล้าเผชิญกล้าไปสู่สิ่งที่เราไม่คุ้น แล้วทำให้เกิดการเรียนรู้พร้อมกันของสมองทั้งสามชั้น ผมคิดว่าเป็นปรากฎการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น
อย่างในกระบวนการอบรม เราจะใช้เรื่องปัญญาทั้งสามให้เกิดความสมดุล ความเป็นสมุหภาพมันร้อยเรียงด้วยกันกับสุนทรียสนทนาอยู่แล้ว และมีแนวโน้มที่จะเกิดการเรียนรู้แบบสมุหภาพอยู่แล้วในกระบวนการ แต่พอเราเห็นความสมดุลของสมองทั้งสามชั้น เราพบว่ามันทำให้เกิดนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาด้วย
การเสริมปัญญากายอาจจะมีได้หลายแบบขึ้นอยู่กับบริบทของใครแค่ไหนถึงจะเหมาะสม แต่เราพบว่าที่เชียงราย ไท้ฉีฉวนมันช่วย ช่วงนี้เรียนกันหมด ณัฐฬส (วังวิญญู) เป็นฐานของอารมณ์และพุทธิปัญญา เขาเองรู้สึกว่ามีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น หรืออย่างพี่มนตรี (ทองเพียร) เองแต่เดิมเป็นคนไม่กล้า พอเรียนรู้เรื่องปัญญากายพี่เขาเปลี่ยนไปมาก จากที่เคยเป็นคนเหนียมอายกลายเป็นคนกล้าเผชิญและสามารถนำการอบรมได้ มันมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างที่ผมรู้สึกมันไปด้วยกันระหว่างปัจเจกกับสมุหภาพ
อีกสิ่งที่เกิดขึ้นค่อนข้างชัดและโยงกับสิ่งที่อาจารย์ประเวศพูดเมื่อสักครู่ คือผมรู้สึกว่าช่วงหลังนี้ กระบวนการที่เราทำเมื่อก่อน ประสิทธิผลที่เกิดเป็นในแง่ปัจเจก อาจจะมียั่งยืนบ้างไม่ยั่งยืนบ้าง แต่ในระยะหลังโดยเฉพาะ ๓-๔ เดือนที่ผ่านมา เหมือนกับว่ากระบวนการเหล่านี้สามารถทำให้เกิดกลุ่มของการเรียนรู้ เกิดชุมชนขึ้นในหน่วยงานนั้นได้ เหมือนเราสามารถสร้างให้เกิดชุมชนปฏิบัติการที่ไม่เป็นทางการในแต่ละองค์กรได้ในระดับที่น่าพอใจ เขาสามารถเกิดรวมกลุ่มไปเรียนรู้การร่วมคิดร่วมทำ และเกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น ผมรู้สึกว่าช่วงหลังเกิดประสิทธิผลตรงนี้มากขึ้น ยังงงอยู่ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร อย่างบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเขาสามารถสร้างทีมที่มาจากหลายๆ แผนกได้
นายแพทย์ประเวศ:
ส่วนใหญ่บริษัทจะไวกว่าเพื่อน เพราะอิงอยู่กับเรื่องกำไรขาดทุน ถ้าอะไรไม่ดีก็จะขาดทุน
เขาจึงไวกว่าทางราชการ ในอเมริกามีเยอะมากเลย แต่ผมไปคุยกับบัณฑูร ล่ำซำ แล้วผิดหวัง
เพราะเราอยากทำจิตตปัญญาศึกษาและหวังว่าทางธุรกิจจะมีอะไรก้าวหน้า อยากจะชวนร่วมคุย
แต่เขารีบตีกันไว้เลยว่า พวกเขาเครียดอยู่แล้วกับระบบทุนนิยม ไม่รู้ว่าจะล้มวันไหน
จะให้เขาไปสนใจช่วยอะไรใครไม่ได้ แล้วภาคธุรกิจที่เราทำอยู่เขาสามารถพัฒนามาเป็นวิทยากรได้หรือไม่
นายแพทย์วิธาน: ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมาเขาพยายามสร้างนักฝึกอบรมของเขาเอง
เรียกว่าการอบรมนักฝึกอบรม ทำได้ระดับหนึ่ง แต่ยังอยู่ในช่วงกระบวนการเรียนรู้อยู่
ที่เกิดขึ้นล่าสุดเป็นบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งมีปัญหาเรื่องการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานบางอย่าง
แล้วเกิดความแตกแยกในบริษัท เริ่มจากไปโทษช่าง ช่างไปโทษคนออกแบบ คนออกแบบไปโทษคนรับ
คือมันเป็นวิธีคิดแบบนิวตันมากเลย พยายามจะหาปฐมเหตุอย่างเดียวว่าเกิดที่ไหนแล้วจะโยนให้เป็นแพะไป
เขาไม่เห็นกระบวนการเชื่อมโยง พอทำกระบวนการพื้นฐานไปสองวัน หลังจากนั้นทำเรื่องชุมชนปฏิบัติการ
เขาสามารถตั้งกลุ่มของเขาเองที่มาจากหลายๆ แผนก เช่นแผนกช่าง จากหลายๆ แผนก แล้วมานั่งคุยกันโดยไม่มีกรอบ
ให้คิดว่าปัญหาเกิดขึ้นจากอะไร พอเกิดกระบวนการนี้แล้วคิดร่วมกันโดยใช้ฐานคิดอย่างเท่าเทียมกัน
แล้วใช้เรื่องปัญญาสามฐานเข้ามา ทำให้เกิดความเข้าใจกัน แล้วเขาเขียนธรรมนูญบริษัทของเขาเองขึ้นมาว่า
เขาต้องการอะไร บังเอิญว่าคณะกรรมการบริษัทไปด้วย เขาเลยให้คณะกรรมการบริหารฝ่ายยอมรับธรรมนูญ
ผมว่ามันค่อนข้างมหัศจรรย์ที่เขาเกิดความเข้าใจกัน
นายแพทย์ประเวศ:
คนทั้งหมดจะเกิดความสุขขึ้น เวลารวมตัวร่วมคิดร่วมทำ ความเห็นแก่ตัวจะลดลง เมื่ออยู่ตัวคนเดียวจะเกิดความเห็นแก่ตัวได้ง่าย
สก๊อต เพก จิตแพทย์ชาวอเมริกัน เคยเขียนในหนังสือของเขาว่า "มันจะมีความสุขประดุจบรรลุนิพพาน"
ตรงนั้น เวลาคนเกิดความเสมอภาค ฟังกัน ร่วมคิดร่วมทำ เพราะฉะนั้นตอนนี้ฟังดูก็ดีขึ้น
ทำไปพร้อมทั้งการเปลี่ยนแปลงบุคคล องค์กร และให้มากถึงขนาดเปลี่ยนแปลงสังคม
นายแพทย์วิธาน: ส่วนหนึ่งเราจะใช้เรื่องเล่า แต่ที่เชียงรายอาจจะไม่มีสีสันเหมือนของอาจารย์ประมวลซึ่งดีมาก
และสร้างแรงบันดาลใจให้ผมเยอะมาก แต่เรื่องเล่าของเชียงรายจะเป็นเรื่องของสมุหภาพ
หลายคนคิดว่าเรื่องเล่าในวงน้ำชาจะต้องเป็นเรื่องที่คุยกันอย่างเป็นทางการ ต้องบันทึกการประชุม
แต่ความจริงเราทำให้ดู ในการอบรมครั้งหนึ่ง โดยเอากาน้ำชาไปตั้ง มีกระบวนกร ๔-๕
คนไปนั่งตรงกลางทำเป็นอ่างปลา แล้วให้ผู้เข้าร่วมประชุมนั่งล้อมวง ทำให้ดูว่าตอนเช้าเราทำอะไร
คุยกันเรื่องสัพเพเหระ เล่าว่าเราทำอะไรกัน
เขาจะเห็นภาพว่าการสร้างชุมชนไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องประชุมเท่านั้น เขาสามารถตั้งในวงโต๊ะกาแฟ
วงน้ำชาของเขาที่รู้สึกว่าผ่อนคลายและทุกคนปลอดภัยในการมาพูดคุยอย่างเท่าเทียม
เพราะบางคนอาจจะกลัวว่าถ้าพูดอะไรผิดจะถูกโยนว่าเป็นแพะ แต่พอเกิดการเชื่อมโยงกันแบบนี้
ทุกคนจะเรียนรู้ร่วมกันและเข้าใจว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากปฐมเหตุอย่างเดียว แต่ว่าเราสามารถร่วมคิดร่วมทำกันได้
และพอที่จะแก้ปัญหาร่วมกันได้ พอเราใช้การเล่าเรื่อง พบว่าค่อนข้างจะประสบความสำเร็จในแง่ที่เขาจะเห็นภาพค่อนข้างชัดเจน
ในส่วนของโรงพยาบาลจะเจอปัญหาเรื่องตัวชี้วัดที่เข้ามากดทับ อย่างเรื่องของมาตรฐานเป็นกฎระเบียบสังคมจากภายนอก เราพยายามจัดกระบวนการที่ชี้ให้เขาเห็นว่า ตัวชี้วัดน่าจะมาจากการสะท้อนกลับที่เป็นกระบวนการมากกว่าเป็นอะไรที่ตายตัวจากภายนอก แล้วเราลองให้เขาออกแบบเองว่าตัวชี้วัดของเขาคืออะไร ซึ่งควรจะต้องเป็นตัวชี้วัดที่เป็นบริบทของเขา ณ ตรงนั้น ให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องของเขา จะได้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ยังไม่รู้ว่าจะออกมาในลักษณะไหน แต่เราจะเห็นพัฒนาการอย่างนี้ในช่วงประมาณ ๓-๔ เดือน
อาจารย์สรยุทธ:
ผมว่าประเด็นนี้น่าสนใจ ช่วงที่ผ่านมาก็คิดเรื่องความเป็นชุมชนค่อนข้างเยอะ โดยส่วนตัวรู้สึกว่ามีความเชื่อมโยงกับเชียงราย
ได้แวะไปเยี่ยมได้ไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันพักหนึ่ง ตอนคิดสร้างงานเรื่องจิตตปัญญาก็คิดอยู่เหมือนกันว่าการเป็นชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของเนื้องาน
อยากจะไปชวนคนอื่นมาสร้างชุมชน มันต้องทดลองว่าอยู่ในเนื้อในตัวเราหลายๆ อย่างหรือยัง
กำลังคิดว่าในบริบทของคนเมืองที่ทำงานในมหาวิทยาลัย มีเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นทางสถาบันรามจิตติ
โรงเรียนสัตยาไส อาจารย์จุมพล ฯลฯ มีพื้นที่ไหนบ้างที่เอื้อเฟื้อต่อการเติบโตไปร่วมกันได้
แต่ละคนจะได้ปฏิบิติได้ไปลองกับของจริง ไปเจอการอบรมแบบต่างๆ บางคนได้ไปเข้าเงียบบ้าง
มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันหลายๆ ครั้ง แต่พื้นที่ที่เราไปเจอกันในงานจิตตปัญญา
จะเป็นห้องประชุมเสียเป็นส่วนใหญ่ มีความเร่งรีบในเรื่องเวลา ต้องตัดสินใจเรื่องนี้เรื่องนั้น
ทำให้ขาดพื้นที่การเรียนรู้แบบนี้ ก็เป็นโจทย์ซึ่งอยู่ในใจมาเป็นเดือนว่าจะทำอย่างไร
นายแพทย์ประเวศ: มีเรื่องหนึ่งที่ทรงพลกำลังทำอยู่
คือไปส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข เข้าใจว่าประมาณ ๒๐๐ ชุมชน
รู้สึกว่าเป็นกระบวนการที่ใหญ่มาก ชาวบ้านได้เรียนรู้ ได้ค้นพบศักยภาพของตัวเองในการพัฒนา
เราอาจจะลองดูของเขา ขณะเดียวกันให้ดูการเคลื่อนของคนอื่นด้วย เช่นที่อาจารย์ประมวลมาเล่าให้ฟัง
ผมคิดว่ามีความหลากหลายที่จะเรียนรู้ ไปดูที่เขาทำกันจริงๆ ในเรื่องชุมชนที่กำลังขยายตัวไปเยอะ
มีเครือข่ายแผนแม่บทชุมชน ๔ ภาค เขามาเล่าให้ให้ฟังที่นี่เป็นระยะๆ พวกนี้ทำอะไรน่าสนใจมากในหลายร้อยตำบลเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง
เราอาจลองไปดูเขา อาจจะเรียนรู้จากเขาบ้างหรือเราอาจจะเอาบางอย่างไปใส่ให้เขาได้ด้วย
เพื่อให้กระบวนการเขาดีขึ้น
ผมคิดว่ามันกำลังเกิดขึ้น เวลาไปที่ไหนจะมีคนมาเล่าให้ฟัง อย่างเช่นตอนไปปักษ์ใต้มีคนมาเล่าว่า
อาจารย์ครับกลุ่มจิตวิวัฒน์สุราษฎร์กำลังเกิดแล้วครับ มีคนเชียงใหม่เขียนจดหมายมาบอกว่าอยากมีกลุ่มจิตวิวัฒน์ที่เชียงใหม่
ผมว่าให้เขาติดต่อทางเชียงรายดีกว่า หรือที่ธรรมศาสตร์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์มาบอกว่าขอเข้าร่วมที่นี่ได้ไหม
ผมบอกว่าอย่ามาเลย ให้เขาก่อตัวขึ้นในคณะศิลปศาสตร์ แล้วอยากชวนเราไปร่วมจะดีกว่า
ผมคิดว่าควรเรียนรู้เพื่อขยายเครือข่าย ให้แต่ละแห่งเป็นกลุ่ม ขนาดน่าจะ ๕-๑๐
คน พอมีความสุข อย่าให้ใหญ่เกินอาจจะลำบาก และทำให้หลากหลาย บางคนทำเรื่องสิ่งแวดล้อม
บางคนทำเรื่องการศึกษา แต่ทั้งหมดมารวมกันเพราะล้วนเป็นเรื่องสุขภาวะ
เราอยากเคลื่อนเรื่องสุขภาวะให้เป็นกระบวนการที่เป็นกลาง ให้มีการขยายไปทั้งสังคม เมื่อวันศุกร์-เสาร์ สสส. ไปจัดงานมหกรรมความสุขที่ราชบุรี เป็นกระบวนการที่ใหญ่ ผมเชื่อว่าจะสามารถเปลี่ยนสังคมไปในทางดี เราไปทำด้วยการโค่นล้มไม่ดี จะเหมือนที่พวกคอมมิวนิสต์ฆ่าพระเจ้าซาร์ เสร็จแล้วตัวเองเข้าไปแทนที่ในโครงสร้างเดิม วิธีการใหม่ไม่ได้ไปทำลายแต่ไปสร้างอย่างที่ว่า สานเข้าไปแล้วมันจะไปเปลี่ยนแปลงเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำเรียกว่าค่อนข้างทะเยอทะยาน
อาจารย์สรยุทธ:
เรื่องความทะเยอทะยานก็เป็นโจทย์สำคัญ เพราะว่าช่วงหลังคำที่ผุดขึ้นมาในหัวเรื่อยๆ
คือ บทความอาจารย์สุมนที่ใช้คำไพเราะ คือ "ดุลยภาพแห่งการเรียนรู้"
และมีคำของหลวงพี่ไพศาลที่เรียกว่า "ปัญญาช้า" ช่วงที่ผ่านมารู้สึกว่า
เริ่มเห็นความสำคัญของพี้นที่ ไม่ว่าพื้นที่เชิงกายภาพที่ให้คนมาเจอกัน หรือพื้นที่ทางเวลาที่จะหล่อเลี้ยงให้คนได้เห็น
ที่ฟังอาจารย์ประมวลเล่าตอนเช้า ค่อนข้างชัดว่าการที่เราค่อยๆ เดินค่อยๆ ไป ทำให้เราเห็นอะไรซึ่งปกติเรามองไม่เห็น
เป็นโจทย์สำคัญว่าเราจะหล่อเลี้ยงการเจริญเติบโตของหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาสามฐาน
เรื่องของการหล่อเลี้ยงปัจเจกของกลุ่มบุคคลต่างๆ ในพื้นที่ให้เติบโตขึ้นได้อย่างไร
อันนี้เป็นโจทย์ซึ่งอยู่ในใจและได้ลองคุยกับใครอยู่บ้างเหมือนกัน
คุณชลนภา: รู้สึกทางเชียงใหม่จะมีกลุ่มจิตวิวัฒน์น้อยๆ
ไปก่อตัวอยู่เหมือนกัน มีอาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม ไปช่วย และอาทิตย์หน้าอาจารย์ประมวลจะไปช่วยในกลุ่มนี้ด้วย
ทางกลุ่มคุยที่เชียงใหม่เขาเรียกกลุ่มตัวเองว่า "เชียงใหม่สำนึก" เป็นการตั้งเล่นๆ
ตอนแรกๆ จะตั้งชื่อว่านิรนาม แต่รู้สึกจะจำยาก
ลองคิดต่อในเรื่องชุมชน คือเคยท่องจำมานานมากว่า ความหมายของชุมชนต่างจากคนที่รอรถที่ป้ายรถเมล์ ตรงที่คนหลายๆ คนมาอยู่รวมกันและมีความรู้สึกปรารถนาดีต่อกัน ดังนั้นแทนที่จะไปดูตรงเป้าหมายของงาน อาจจะเป็นเรื่องของมิตรภาพมากกว่า เมื่อครู่นั่งฟังเรื่องวงน้ำชาของเชียงราย ทำให้นึกถึงวงเพื่อนๆ อีกหลายวง เพราะคนที่เป็นเพื่อนกันก็ต้องมาเจอกันอยู่แล้ว ด้วยความเป็นเพื่อนนั้นผูกโยงกันไว้
ยังคิดว่าถ้าสนใจจะทำเครือข่ายกระบวนกรทางจิตวิญญาณ ตัวเองเคยบอกเป็นประจำว่าไม่ต้องชวนคุย ชวนกินข้าวง่ายกว่า หรืออย่างกรุงเทพฯ ต้องยอมรับว่ามันยากมาก แต่ไปเชียงรายหรือไปเชียงใหม่จะรู้สึกสบายทุกครั้ง จังหวะของเมืองช้ามาก การเดินทางข้ามเมืองเชียงใหม่ใช้เวลาไม่ถึง ๑๕ นาที แต่ว่าอยู่กรุงเทพฯ เกือบสองชั่วโมง เหนื่อยและล้ามาก กรุงเทพฯ ดูดพลังของเราไปเยอะ ต่างจังหวัดจะมีต้นทุนเยอะกว่า แต่ว่าในกรุงเทพฯ ที่เป็นภาวะแบบนี้เราจะทำให้ตัวเองช้าลงได้อย่างไร คงเป็นโจทย์ที่ต้องสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมากๆ
ที่สนใจอีกอย่างคือชุมชนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะมีกระบวนการอีกแบบ ตั้งแต่ตอนที่เจออาจารย์ประมวลครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ดูเหมือนทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังรวมตัวกันเดินทางลงไปภาคใต้ เห็นบอกว่าจะไปฟังชาวบ้าน จนกระทั่งปัจจุบันได้พัฒนาขึ้นมาถึงขั้นว่าจะทำเกี่ยวกับการเรียนรู้เรื่องมาลายูศึกษา คงจะขอฟังเรื่องนี้ด้วย
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
อ่านต่อ "อุดมธรรมจากวงสนทนา
๒" คลิก
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I
สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ข้อความบางส่วนจากบทความ
เพราะฉะนั้นพึงระลึกนึกถึงว่าสัมมาสัมโพธิญาณมิใช่สมบัติของใครเพียงคนเดียว พระพุทธเจ้าเกิดเป็นสัตว์
เกิดเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นสัมมาสัมโพธิญาณนี้จึงเป็นสมบัติของมนุษย์ ของเทวดา
ของพวกเราทุกคน และพวกเรากำลังเป็นห่วงโซ่สืบต่อความรู้ที่มนุษย์ตั้งแต่บรรพกาลได้สะสมสืบทอดกันมาให้ดำรงคงอยู่
แล้วเราจะเอาความรู้นี้ไปขายได้อย่างไร ไม่ใช่สิ่งที่พึงกระทำ ความรู้จะต้องเกิดการสืบต่อทางด้านจิตใจที่อ่อนน้อมถ่อมตน
ด้วยความรักและความเมตตา ความคิดแบบที่ว่านี้จึงทำให้ผมรู้สึกว่า ระบบการศึกษาที่จะทำให้มนุษย์เกิดครั้งที่สองได้นั้นต้องมีอะไรที่เป็นพิเศษ
ที่เกริ่นนำไปเมื่อครู่นี้ว่าระบบการศึกษาที่พูดถึงการเกิดครั้งที่สองนั้น ในระบบของอินเดียมีความเชื่อว่าการเกิดทางร่างกายยังไม่พอที่จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ มนุษย์จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้รับการศึกษา เป็นการเกิดทางจิตใจ ต้องผ่านการปฏิบัติอย่างเข้มข้น ดังนั้นในระบบการศึกษาของอินเดีย ตอนเริ่มต้นชีวิตที่เป็นพรหมจรรย์จึงเป็นช่วงของการเข้มงวดกวดขัน
เราติดอยู่ในโครงสร้างองค์กร
โครงสร้างความคิดที่เป็นแนวดิ่ง สังคมที่เป็นแนวดิ่งหมายความว่า มีผู้มีอำนาจกับผู้ไม่มีอำนาจ
ในโครงสร้างแนวดิ่ง เศรษฐกิจจะไม่ดี การเมืองจะไม่ดี และศีลธรรมจะไม่ดี ทำอย่างไรก็ไม่ดี
สังคมไทยเป็นสังคมแนวดิ่ง พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่นิยมแนวราบ แต่ว่าโดนโครงสร้างสังคมไทยครอบเป็นแนวดิ่ง
พระพุทธเจ้าท่านเป็นเจ้า ท่านเลิกเป็น ออกมาเป็นภิกขุไม่มีอะไรเลย แต่เดี๋ยวนี้ลูกไทยอยากเป็นเจ้าทุกคน
อยากเป็นสมเด็จ มันสวนทางกัน เพราะมันโดนครอบ (นพ.ประเวศ
วะสี)
ภาพซ้ายมือ : ดร.ประมวล เพ็งจันทร์