Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

อเมริกันอันตราย - มหาอำนาจขั้วเดี่ยว
Global Empire or Universal Civilization?
อาณาจักรโลกหรืออารยธรรมสากล?

ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี : แปลและเรียบเรียง
ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม

บทปฐกถาเสมพริ้มพวงแก้วครั้งที่ ๑๒ ชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้แปลและเรียบเรียง
เป็นเรื่องเกี่ยวกับทัศนะของนักวิชาการมุสลิมในเรื่องภัยร้ายของลัทธิจักรวรรดิ์นิยม
ทั้งในมิติด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร ์และเทคโนโลยี
ซึ่งในส่วนของประเทศเล็กๆ จะทำอะไรได้บ้าง
กับความเป็นเจ้าโลกของอเมริกาและการอำนาจนำดังกล่าว
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1008
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 17.5 หน้ากระดาษ A4)





Global Empire or Universal Civilization?
อาณาจักรโลกหรืออารยธรรมสากล?

ผศ. สุชาติ เศรษฐมาลินี : แปลและเรียบเรียง


ปาฐกถาเสมพริ้มพวงแก้วครั้งที่ 12
เรื่อง Global Empire or Universal Civilization? (อาณาจักรโลกหรืออารยธรรมสากล?)
ณ โรงแรมสวนดุสิตเพลส มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต วันที่ 25 มิถุนายน 2549
โดย Dr. Chandra Muzaffar

แนะนำองค์ปาฐก
อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ประธานมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป ได้กล่าวเปิดงานว่า ปาฐกาถาเสมพริ้มพวงแก้ว นับเป็นงานแสดงปาฐกถาเดียวในเมืองไทยที่ให้เกียรติแก่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ และเป็นบุคคลที่ได้เสียสละทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมโดยส่วนรวมอย่างแท้จริงคือ นายแพทย์เสม พริ้มพวงแก้ว ซึ่งปัจจุบันท่านมีอายุ 95 ปี ปาฐกถาเสมฯ ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงปีนี้นับเป็นปีที่ 12 โดยแต่ละปีได้เชิญองค์ปาฐกที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศเพื่อให้มุมมองใหม่ ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสภาพแวดล้อม เพื่อมุ่งเน้นในมิติทางด้านจิตวิญญาณและการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อความอยู่รอดของมวลมนุษย์

สำหรับองค์ปาฐกในปีนี้ได้แก่ Dr. Chandra Muzaffar ซึ่งเป็นชาวมาเลเซียที่นับถือศาสนาอิสลามและมีแนวทางในการแสวงหาด้านจิตวิญญาณอย่างเข้มข้น เป็นปัญญาชนคนสำคัญและเป็นผู้นำด้านวัฒนธรรมของเอเชียโดยรวม มีความสนใจด้านสิทธิมนุษยชน การสนทนาระหว่างลัทธิความเชื่อ และการวิเคราะห์เหตุการณ์ประเด็นของโลกจากมุมมองที่ไม่ใช่ตะวันตก

ตำแหน่งปัจจุบันของ Dr. Chandra Muzaffar คือ รองประธานพรรคความยุติธรรมแห่งชาติ รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธาน JUST WORLD ที่ทำงานความเคลื่อนไหวระดับนานาชาติเพื่อโลกที่ยุติธรรม นอกจากนี้ท่านยังเป็นกรรมการขององค์กรในมาเลเซียและนานาชาติหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงขบวนการเพื่อต่อต้านการกีดกันและลัทธิเหยียดผิวทุกรูปแบบ สภาสันติภาพระหว่างความเชื่อระดับนานาชาติ การประชุมเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่าด้วย G7 นอกจากนี้ Dr. Chandra Muzaffar ยังได้รับรางวัลทางวิชาการมากมายจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา

กล่าวนำ
ขอความสันติสุขจงประสบแด่ท่านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน ผมมีความรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้กล่าวแสดงปาฐกถาเสมพริ้มพวงแก้วครั้งที่ 12 ในเย็นวันนี้ การแสดงปาฐกถาของผมในวันนี้เกิดจากการที่ผมได้รับการติดต่อจากท่านอาจารย์สุลักษณ์ จากการพบปะกันในการประชุมที่พัทยาเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา และผมได้ตอบรับในทันทีทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทราบว่าจะให้มาพูดเรื่องเกี่ยวกับอะไร เพราะคนที่เชิญคือท่านอาจารย์สุลักษณ์

อาจารย์สุลักษณ์และผมได้รู้จักกันมายาวนานมากกว่าสามสิบปี และผมมีความทรงจำที่ดีเสมอมาต่ออาจารย์สุลักษณ์ เพราะท่านเป็นผู้ที่อยู่แนวหน้าในหมู่นักคิดและนักกิจกรรมชั้นนำในการต่อสู้กับสิ่งท้าทายต่าง ๆ ที่มนุษย์ในโลกยุคสมัยใหม่กำลังเผชิญอยู่ และท่านยังได้อุทิศตนในการทำงานมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในการต่อสู้เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และความยุติธรรมทั้งหลายในสังคม

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ ผมจะขอแบ่งการบรรยายของผมในวันนี้ออกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ ๆ ได้แก่

ประเด็นที่หนึ่ง ความพยายามของชนชั้นนำในวอชิงตัน-สหรัฐอเมริกา และกลุ่มพันธมิตรของพวกเขา ที่จะสถาปนาอาณาจักรโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์แต่ต้องประสบกับความล้มเหลว

ประเด็นที่สอง
ที่บอกว่าประสบกับความล้มเหลวนั้น หมายความว่า โลกในลักษณะเพียงขั้วเดี่ยวนั้นกำลังจะถึงจุดจบ และโลกในลักษณะหลายขั้วกำลังเกิดขึ้น โลกในลักษณะหลายขั้วจะมีลักษณะที่แสดงแสนยานุภาพความเป็นเจ้าน้อยกว่า และจะให้การยอมรับเกี่ยวกับการตัดสินใจร่วมกัน หรือฉันทามติของประชาคมโลกมากกว่า

ประเด็นที่สาม เราจำเป็นที่จะต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อจะได้ช่วยกันสร้างสังคมที่มีความเมตตา ความยุติธรรม ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

กำเนิดอาณาจักรโลก
อาณาจักรโลกไม่ได้เพิ่งเกิดจากพวกอนุรักษ์นิยมใหม่ (Neoconservative) ดังที่คนเป็นจำนวนมากเข้าใจว่า อาณาจักรโลกนั้นเกิดจากกลุ่มคนที่รายล้อมจอร์จ ดับเบิลยู บุช หากแต่แรงขับที่ก่อให้เกิดอาณาจักรนั้นได้เริ่มตั้งแต่สมัยสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ผุดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองในฐานะประเทศมหาอำนาจสูงสุดของโลก เหนือประเทศผู้ชนะสงครามอื่น ๆ โดยมีความทรงพลังทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการทหาร จนในที่สุดประกาศตนเองที่จะปกครองโลก ทำอย่างไรหรือ โดยการทิ้งระเบิดปรมาณูสองลูกที่ฮิโรชิมาและนางาซากิในวันที่ 6 และวันที่ 9 สิงหาคม ปี 1945 นับเป็นการสถาปนาอำนาจทางการทหารว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ในขณะเดียวกัน ประเทศสหรัฐได้ช่วยสถาปนาองค์การสหประชาชาติ โดยมีเป้าหมายที่จะให้เป็นสถาบันเพื่อรองรับการครอบงำโลกของสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้น ประเทศสหรัฐยังสนับสนุนการขยายตัวของบรรษัทข้ามชาติ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญจนทำให้ตัวเองกลายเป็นผู้ทรงพลังทางเศรษฐกิจ ในทางการเมืองมีองค์การสหประชาติเป็นเครื่องมือสำคัญพร้อมกับอำนาจทางทหาร แต่ความฝันที่จะปกครองโลกนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จโดยง่าย ด้วยพัฒนาการของสองสิ่ง ได้แก่

ประการแรก การเติบโตของลัทธิคอมมิวนิสต์ (Communism) ความรุ่งเรืองของลัทธิคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นในสองส่วนคือ ในสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก และในปี 1949 การล้มล้างกลุ่มก๊กมินตั๋งจนนำสู่ชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตุง ลัทธิคอมมิวนิสต์จึงได้แพร่ขยายออกไปและเป็นอำนาจถ่วงดุลย์กับสหรัฐอเมริกา และ

ประการที่สอง สิ่งท้าทายต่อมาได้แก่ ลัทธิชาตินิยม (Nationalism) คือ การที่ประเทศต่าง ๆ ได้รับเอกราชในเอเชียและอัฟริกา เพื่อเข้าไปมีบทบาทในเวทีโลก

ดังนั้น ทั้ง"ลัทธิคอมมิวนิสต์"และ"ลัทธิชาตินิยม" ทำให้เป็นอุปสรรคต่อประเทศสหรัฐที่หวังจะปกครองโลก แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากนั้นไม่กี่ทศวรรษ ปัจจัยเหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงไป ลัทธิชาตินิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ถดถอยภายหลังสิ้นสุดยุคสงครามเย็น และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ดังนั้น ในต้นทศวรรษ 1990 จึงทำให้เกิดโลกในลักษณะมหาอำนาจเดี่ยวขึ้นคือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเข้าไปมีบทบาทและอิทธิพลเหนือเรื่องราวต่าง ๆ ของโลก ดังที่จอร์จ บุช ผู้พ่อได้กล่าวถึงการจัดระเบียบโลกใหม่ (New World Order) และถึงแม้ว่าเมื่อเขาพ่ายแพ้การเลือกตั้งต่อประธานาธิบดี บิลล์ คลินตัน ซึ่งเข้าปกครองประเทศสหรัฐเป็นเวลาแปดปี(สองสมัย) แต่ทิศทางของอเมริกายังคงเป็นไปในทิศทางแบบเดียวกันคือต้องการเข้าปกครองโลก

จนกระทั่งเมื่อจอร์จ ดับบลิว บุช ชนะการเลือกตั้งภายหลังยุคคลินตัน จึงเกิดกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ (Neoconservative) ขึ้นมา และกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ได้ตระหนักว่า เวลาของพวกเขาได้มาถึงแล้วเพื่อการสถาปนาอาณาจักรโลก ซึ่งก่อนหน้านั้นร่วมทศวรรษ กลุ่มนี้ได้เขียนงานทั้งที่เป็นหนังสือและบทความมากมาย โดยกล่าวถึงความคิดอันจะนำไปสู่การสร้างอาณาจักรโลกไว้อย่างชัดเจนว่า ประเทศสหรัฐจะต้องสร้างฐานอำนาจทางการทหารในครอบงำโลกและปกครองโลกเพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับมวลมนุษยชาติ ประเทศสหรัฐจะต้องไม่รีรอที่จะใช้อำนาจทางทหารเพื่อจะให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

และสหรัฐอเมริกายังมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะใช้ควบคู่กับอำนาจทางทหารเพื่อเข้าควบคุมและครอบครองทรัพยากรของโลก โดยมีเป้าหมายแรกคือ ประเทศอัฟกานิสถาน แต่ยังหาข้ออ้างในการทำสงครามไม่ได้ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ถล่มตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ ที่มหานครนิวยอร์ค เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2544 (9/11) ทำให้สหรัฐอเมริกาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำสงครามรุกรานชาติอื่น ในนามสงครามการต่อต้านการก่อการร้าย (The War on Terrorism) โดยการอ้างว่าพวกผู้ก่อการร้ายมีหมายชัดเจนในการโจมตีชาวอเมริกัน ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องตอบโต้เพื่อปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ จุดนี้ทำให้สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย และได้กลายเป็นการใช้อำนาจในการครอบงำโลกที่ยิ่งใหญ่ดังที่เราได้เห็นจนกระทั่งทุกวันนี้

เนื่องจากสงครามการต่อต้านการก่อการร้าย และเนื่องจากจำเป็นที่จะต้องปกป้องสหรัฐอเมริกา และส่วนอื่น ๆ ของโลก ดังนั้น พวกชนชั้นนำในวอชิงตันและกลุ่มพันธมิตรต่างกล่าวว่า พวกเขาจะต้องถอนรากถอนโคนพวกผู้ก่อการร้ายให้สิ้นซาก จึงเข้าบุกประเทศอัฟกานิสถานและล้มล้างรัฐบาลตอลิบันที่ให้การปกป้องพวกผู้ก่อการร้าย เพื่อให้โลกอยู่ในสถานะที่ปลอดภัยมากขึ้น และเมื่อล้มรัฐบาลตอลิบันได้สำเร็จ สหรัฐอเมริกาจึงแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถานโดยมีเป้าหมายที่คนทั่วไปมักมองไม่เห็น ดังที่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาควบคุมทรัพยากรน้ำมันในทะเลแคสเบียนอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลจากนักวิเคราะห์ด้านทรัพยากรน้ำมันพบว่า ทรัพยากรน้ำมันในทะเลแคสเบียนนั้นเป็นฐานทรัพยากรสำคัญของทวีปเอเชียกลาง และจะเป็นแหล่งน้ำมันที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับสองของโลกในปี 2010 ดังนั้น การที่อเมริกาจะก้าวเข้าเป็นอาณาจักรโลกได้นั้น จำป็นที่จะต้องควบคุมทรัพยากรน้ำมันซึ่งเป็นเส้นเลือดของการพัฒนาอุตสาหกรรม ดังนั้น การเข้ายึดประเทศอัฟกานิสถานจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ เพื่อสหรัฐอเมริกาจะได้เข้าไปควบคุมเอเชียกลางและทรัพยากรน้ำมันในทะเลแคสเบียน

ต่อมาในปี 2003 เราได้เห็นสงครามเกิดขึ้นอีกในประเทศอิรัก โดยสหรัฐอเมริกาได้ยัดเยียดข้อกล่าวหาว่าอิรักมีอาวุธทำลายร้ายแรง (Weapons of Massive Destruction) ซึ่งอาจจะส่งถึงมือผู้ก่อการร้ายได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของโลก ชนชั้นนำวอชิงตันและกลุ่มพันธมิตรจึงต้องเข้าบุกอิรัก และเข้าจัดตั้งรัฐบาลเพื่อควบคุมสถานการณ์ในอิรัก ในขณะที่เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศอิรักนั้นเป็นประเทศผู้ค้าส่งออกน้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก

ดังนั้น ในเชิงยุทธศาสตร์ของการเมืองของโลกแล้ว การเข้าควบคุมอิรักจึงมีนัยสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การเชื่อมโยงระหว่างทวีป"เอเชียตะวันตก"กับ"เอเชียกลาง"มีความสำคัญมากในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน อิรักเป็นประเทศซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมของมนุษยชาติ ดังนั้น การเข้าควบคุมอิรักจึงมีความสำคัญอย่างมาก ทั้งในแง่ทางเศรษฐกิจและการเมือง

นอกจากนั้น มหาอำนาจยังวางแผนเพื่อเข้าควบคุมอิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันที่สำคัญของโลก และเป็นประเทศเดียวในโลกที่เป็นผู้ผลิตทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญให้แก่สหภาพรัสเซียและประเทศจีน อิหร่านส่งออกน้ำมันให้แก่ประเทศจีนเป็นสัดส่วนสูงถึง 13 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการน้ำมันของประเทศจีน ดังนั้น หากสหรัฐอเมริกาต้องควบคุมประเทศจีนในอนาคตข้างหน้า จึงจำเป็นที่จะต้องเข้าควบคุมประเทศอิหร่านให้ได้

และหากพิจารณาถึงระบบการเมืองใหม่ของโลกปัจจุบันแล้ว ประเทศอิหร่านมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการเมืองโลก เพราะเมื่อรัฐบาลตอลิบันในอัฟกานิสถานถูกโค่นล้มไปแล้ว ปัจจุบันกลุ่มชีอะฮ์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเมืองอัฟกันปัจจุบัน อิหร่านจึงมีความสำคัญอย่างมากเพราะอิหร่านเป็นชุมชนมุสลิมชีอะฮ์ อิหร่านมีความสำคัญอย่างมากในประเทศเลบานอน บะฮ์เรน เพราะชุมชนชาวชีอะฮ์ และที่สำคัญที่สุดคือ อิหร่านมีความสำคัญอย่างมากในอิรักเพราะประชากรมุสลิมในอิรักกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ในอิรักเป็นมุสลิมชาวชีอะฮ์

ดังนั้น สหรัฐอเมริกาจึงต้องการกำจัดอิหร่านเพื่อไม่ต้องการให้อิหร่านมีบทบาทในตะวันออกกลาง อิหร่านจึงกลายเป็นเป้าหมายต่อไปของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะถูกประกาศสงครามเป็นรายต่อไปหรือไม่ เรายังไม่อาจทราบได้ แต่ไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าอิหร่านได้กลายเป็นเป้าของสหรัฐอเมริกา

จุดจบของอาณาจักรโลกแบบขั้วเดี่ยวและการเติบโตจากหลายขั้ว
อย่างไรก็ตามดังที่ผมได้กล่าวไว้เมื่อตอนต้นว่า ความล้มเหลวของสหรัฐอเมริกาได้ปรากฏชัดเจน ทำไมผมจึงกล่าวเช่นนั้นหรือ ก็เพราะว่า หากเราลองพิจารณาดูรายละเอียดของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง เราจะพบเห็นถึงความล้มเหลวอย่างชัดเจน

ประการแรก ในประเทศอัฟกานิสถาน แม้ว่าจะตกอยู่ภายใต้การควบคุมของอเมริกา แต่ยังคงอยู่ในสภาพสับสนอลหม่านและไร้ความมั่นคง ในช่วงเริ่มต้นอาจดูเหมือนว่าสถานการณ์ได้อยู่ภายใต้การควบคุม แต่ในเวลาต่อมาเราจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ในอัฟกานิสถานได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และหากลองลองมองย้อนไปพิจารณาประวัติศาสตร์ของประเทศอัฟกานิสถาน นี่คือแบบแผนเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

ในช่วงศตวรรษที่ 20 ภายใต้การแย่งชิงของมหาอำนาจอย่างรัสเซียและอังกฤษ ชาวอัฟกันได้ถูกครอบครองอยู่ช่วงหนึ่งในตอนเริ่มต้น แต่ในที่สุดประเทศมหาอำนาจได้ถูกต่อต้านและถูกขับไล่ออกไป

ประการที่สอง ลองพิจารณาดูประเทศอิรัก ไม่มีความสันติสุขและความมีเสถียรภาพเกิดขึ้นเลย สถานการณ์ยังคงเต็มไปด้วยความรุนแรงในทุกวี่วัน ภารกิจของสหรัฐอเมริกายังคงไม่ประสบความสำเร็จ และยังไม่สามารถเข้าไปสำรวจแหล่งน้ำมันได้ การฟื้นฟูต่าง ๆ ยังคงไม่เป็นผลและจะต้องใช้งบประมาณมหาศาล คาดว่าสหรัฐอเมริกาต้องใช้งบประมาณมากกว่าหนึ่งล้านล้านดอลล่าร์ในประเทศอิรัก

หากลองพิจารณามิติสำคัญอื่น ๆ ในตะวันออกกลาง ในปาเลสไตน์ ซึ่งสหรัฐได้ใช้อิสราเอลพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของอเมริกา เข้ามามีบทบาทครอบงำตะวันออกกลางมาร่วมหลายทศวรรษแล้ว อิสราเอลได้แสดงความเป็นเจ้าเหนือดินแดนและชีวิตผู้คนชาวปาเลสไตน์มาร่วม 5 ทศวรรษ และไม่มีวี่แววว่าความรุนแรงจะหยุดยั้งลงได้ มีการลุกฮือต่อต้านอิสราเอลอยู่โดยตลอด จนเป็นไปไม่ได้ที่อิสราเอลจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ดังนั้น ที่บอกว่าสหรัฐอเมริกาและกลุ่มพันธมิตรประสบความสำเร็จในการสถาปนาอาณาจักรโลกได้นั้นจึงไม่จริง โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง โดยเหตุนี้ ความพยายามที่จะสถาปนาความเป็นอาณาจักรโลกของสหรัฐอเมริกาจึงยังไม่บรรลุผล

ที่นี้ลองมาพิจารณาดูสัญญาณในภูมิภาคอื่น ๆ ได้แก่ แถบละตินอเมริกา ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในละตินอเมริกา ประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเวเนซุเอลา โบลิเวีย ชิลีต่างประกาศว่าเราจะไม่ยอมรับการครอบงำจากวอชิงตันอีกต่อไป และเราจะไม่ขอเข้าร่วมกับฉันทามติวอชิงตัน (Washington Consensus) ที่เชื่อมโยงกับระบบทุนนิยมเสรี

ปัจจัยประการต่อมาได้แก่ การเติบโตของประเทศจีนทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการถ่วงดุลกับการครอบงำจากวอชิงตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทของจีนในระบบเศรษฐกิจโลกมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ประเทศจีนได้รับการขนานนามว่าเป็นโรงงานของโลก และจะมีบทบาทมากขึ้นอย่างมากในอีกสิบยี่สิบปีข้างหน้า และไม่อาจหยุดยั้งได้

เราจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเกือบทุก ๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต การกระจายสินค้า การขายส่งหรือขายปลีก หรือลองพิจารณาดูตัวอย่างจากประเทศที่ร่วมกับสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ยุคหลังสงครามเย็น คือ ประเทศรัสเซียซึ่งได้ประกาศต่อสหรัฐว่าเราต้องการเป็นตัวของเราเอง เราไม่ต้องการให้อเมริกาเข้ามาแทรกแทรงในยูเครน จอร์เจีย ฯลฯ โดยรัสเซียเชื่อว่าตนมีสิทธิที่จะปกป้องประเทศเอกราชใหม่ที่แยกตัวออกไป รัสเซียจึงเป็นพันธมิตรที่ดีกับจีนและอิหร่าน และประกาศความเป็นตัวของตัวเองในเวทีการเมืองโลก

หากลองพิจารณาดูมิติอื่น ได้มีผู้คนในประเทศต่าง ๆ มากมายที่แสดงความโกรธต่อการแสดงอำนาจเดี่ยวของวอชิงตัน ที่มักถูกใช้ไปในทางที่ยะโส โอหัง และก้าวร้าว ปราศจากความห่วงใยต่อผู้อื่นในแทบทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน หรือความมั่นคงปลอดภัยของโลก สหรัฐเองเป็นผู้เสนอผลักดันเรื่องสภาสิทธิมนุษยชนในองค์กรสหประชาชาติ เมื่อความคิดนี้เป็นที่ยอมรับจากประเทศต่าง ๆ แต่สหรัฐเองกลับเป็นผู้คัดค้านในการประชุมทั่วไปของสหประชาชาติ เพราะตระหนักว่าตนเองไม่มีพลังพอที่จะเข้าไปควบคุมได้ และมีประเทศที่ร่วมโหวตคัดค้านเพียง 4 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ประเทศหมู่เกาะมาร์แชล พาลาว และอิสราเอล

หากเราลองย้อนกลับไปดูบันทึกของการประชุมทั่วไปของสหประชาชาติ จะเห็นได้ชัดว่า ทั้งสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลมักจะโหวตคัดค้านประเทศอื่น ๆ ที่เห็นร่วมกันอยู่เสมอ ดังนั้น การที่มีผู้บอกว่าองค์กรสหประชาชาติไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีฉันทามติร่วมจึงไม่เป็นความจริง หากแต่มักจะถูกคัดค้านโดยประเทศมหาอำนาจสูงสุดคือสหรัฐอเมริกา และประเทศที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับอเมริกา

นอกจากเหตุผลที่ผมได้กล่าวมาแล้ว ยังมีเหตุผลอื่นที่สนับสนุนว่าความพยายามของสหรัฐอเมริกาที่จะสถาปนาอาณาจักรโลกนั้นยังคงล้มเหลวคือ การเกิดขึ้นและเติบโตของภาคประชาสังคม (civil society) และขั้วตรงข้ามกับลัทธิขั้วเดี่ยวและการครองความเป็นเจ้าโลก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ กรณีสงครามในประเทศอิรัก ภาคประชาสังคมต่าง ๆ ได้รวมตัวกันอย่างแข็งขันเพื่อต่อต้านและไม่ให้การยอมรับ และเพื่อบอกว่าพวกเขามีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะเห็นสังคมโลกอยู่ในสภาวะที่มีความสันติสุข เราได้เห็นผู้คนจำนวนนับล้าน ๆ คน เป็นจำนวนมากถึง 50 ล้านคน รวมตัวกันเพื่อประท้วงและต่อต้านการทำสงคราม

เมื่อจอร์จ บุช ไปเยือนสหราชอาณาจักรเมื่อปีที่แล้ว มีผู้คนไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นคน ได้รวมตัวกันเพื่อประท้วงการแสดงความเป็นเจ้าโลกของเหล่ามหาอำนาจ และนี่คือ สัญญาณที่บ่งบอกว่า ทำไมอาณาจักรของโลกมหาอำนาจแบบขั้วเดี่ยวกำลังประสบกับความล้มเหลว และโลกเรากำลังก้าวเข้าสู่มหาอำนาจแบบหลายขั้ว แน่นอนว่า สหรัฐอเมริกาจะยังคงมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก แต่จะไม่ใช่ขั้วอำนาจเดี่ยวที่จะควบคุมโลกทั้งหมดได้อีกต่อไป

ก้าวไปข้างหน้าเพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่
จากการเติบโตของประเทศต่าง ๆ ที่กลายเป็นศูนย์กลางในหลากหลายภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน รัสเซีย ประเทศแถบละตินอเมริกา อิหร่าน หรือแม้แต่ในอัฟริกาใต้ เราจึงได้เห็นการเกิดขึ้นและเติบโตของศูนย์กลางที่มาจากหลากหลายขั้ว โลกจึงไม่ได้ถูกครอบงำโดยมหาอำนาจเพียงขั้วเดียวดังเช่นในอดีตอีกต่อไป ในม่านหมอกของที่โลกกำลังกระจายออกเป็นหลายขั้วนั้น เราในฐานะที่เป็นพลเมืองของโลกจึงควรที่จะช่วยกันฉวยโอกาสเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเราเอง และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าหรืออีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า สิ่งเหล่านี้จะปรากฏชัดมากขึ้นอย่างแน่นอน สิ่งที่เราต้องช่วยกันสร้างในโอกาสที่ดีเช่นนี้ได้แก่

ประการแรก : เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันและองค์กรระหว่างประเทศ
ดังนั้น สิ่งที่เราควรช่วยกันทำคือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาถูกทำให้อ่อนแอลงไปโดยประเทศมหาอำนาจเดี่ยว แต่ครั้นเมื่อศูนย์กลางของอำนาจได้มีการกระจายออกไป จึงนับเป็นโอกาสที่ดีและเป็นการง่ายขึ้นในการที่จะช่วยกันสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การสหประชาชาติ เราจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับการประชุมทั่วไปขององค์การสหประชาชาติ เราจะต้องเปลี่ยนแปลงธนาคารโลก เราจะต้องสร้างองค์การการค้าโลก (WTO) ให้มีความโปร่งใสและมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

นอกจากนั้น เราจะต้องช่วยกันเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิติธรรม (the rule of law) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบกฎหมายระหว่างประเทศต่าง ๆ นั้นจะต้องทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น อนุสัญญาเกียวโตด้านสภาพแวดล้อม หรือสนธิสัญญากรุงโรมด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือสนธิสัญญาออตตาวา ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยกันกู้ทำลายระเบิด

ประการที่สอง : การขจัดความยากจนให้หมดไปจากโลก
เราจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงระบบการเงินระหว่างประเทศ เพื่อไม่ให้ถูกกำหนดโดยทุนเก็งกำไร (speculated capital) ที่เอื้อประโยชน์ต่อคนเพียงกลุ่มน้อยในการครอบงำเศรษฐกิจโลก นับเป็นความหดหู่ใช่หรือไม่ที่ระบบเศรษฐกิจของโลกเราปัจจุบันนั้น มีเพียง 6-7 % ของผลผลิตทั้งหมดที่เชื่อมโยงกับภาคการผลิตที่แท้จริง ในขณะที่ส่วนที่เหลือทั้งหมดกว่า 90% คือ ภาคเศรษฐกิจแบบเก็งกำไร (speculated economy) ซึ่งมีพลังอย่างมากมีเงินหมุนเวียนต่อวันถึง 2-3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ประการที่สาม : การกำจัดอาวุธทำลายล้างสูง (Weapons of Massive Destruction) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาวุธนิวเคลียร์ นับเป็นการรณรงค์ที่สำคัญอย่างมาก

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จำเป็นที่เราจะต้องช่วยกันคิดและทำงานให้หนัก ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้รับประกันว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะบรรลุได้โดยง่ายแต่เราต้องมีความพยายาม เราต้องจำไว้ว่าการที่จะทำการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขจัดความยากจน การกำจัดอาวุธร้ายแรง การเปลี่ยนแปลงระบบการเงินระหว่างประเทศและทุนเก็งกำไรทั้งหลายนั้น สิ่งเริ่มต้นคือการที่เราจะต้องเปลี่ยนแปลงที่ทัศนคติของคน การเปลี่ยนแปลงภายในตัวของเราเอง (internal transformation) การเปลี่ยนแปลงแต่เพียงตัวบทกฎหมายนั้น ไม่เพียงพอที่จะนำสู่ความสำเร็จได้ ดังเช่น

- เราจะขจัดความยากจน เราจะลดช่องว่าระหว่างคนรวยคนจนได้อย่างไร หากเราไม่เปลี่ยนแปลงทัศนคติของเราที่มีต่อการสะสมความมั่งคั่งเสียก่อน ความยากจนที่แท้จริงนั้นคือทัศนคติที่ต้องการสะสมความมั่งคั่ง

- เราจะเปลี่ยนแปลงกำจัดระบบเศรษฐกิจแบบทุนเก็งกำไรได้อย่างไร หากเราไม่เปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนที่มีแต่ความโลภ ความเห็นแก่ตัว
- เราจะขจัดอาวุธทำลายล้างและเราจะขจัดอาวุธนิวเคลียร์ไปจากโลกได้อย่างไร หากปราศจากการตั้งคำถามที่ใหญ่กว่าในเรื่อง ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน หรือการอยู่ในสภาวะที่มีแต่ความกลัว ที่ต้องการจะสร้างโลกในลักษณะที่คอยแต่จะควบคุมคนอื่น

เราต้องการการเปลี่ยนแปลงที่มาจากภายใน (Internal Transformation) ที่เป็นการปฏิวัติทางศีลธรรมและจิตวิญญาณเป็นพื้นฐาน (Moral and Spiritual Revolution) ซึ่งมีฐานมาจากศาสนา แต่อย่างไรก็ตาม ทุกศาสนามีคนที่ฉ้อฉลฉกฉวยศาสนาเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ของตนเอง เช่น มหาอำนาจที่สถาปนาความเป็นเจ้าโลกในนามของศาสนา ดังที่เราได้เห็นกลุ่มคริสเตียนที่สนับสนุนจอร์จ ดับบลิว บุช ในการทำสงครามในตะวันออกกลาง ซึ่งขัดกับหลักคริสต์ศาสนาที่แท้จริง

หรือคนอย่างอุซามะฮ์ บิน ลาเดน ได้อ้างว่าศาสนาบอกให้เขาทำ "ฉันมีสิทธิ ฉันมีหน้าที่ ที่ฆ่าคนบริสุทธิ์" เราจึงเห็นการบิดเบือนศาสนาของทุกศาสนา ถึงกระนั้นก็ตาม คนที่บิดเบือนศาสนาเหล่านี้ก็เป็นคนเพียงส่วนน้อย ในขณะที่ศาสนิกของทุกศาสนาส่วนใหญ่ยังคงมีความรัก ความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน

ดังนั้น เราจะต้องไม่ยอมพ่ายแพ้แก่คนเพียงส่วนน้อยที่บิดเบือนศาสนา และหยุดยั้งการพัฒนาและปฏิรูปทางจิตวิญญาณของมนุษย์ งานของเราจึงต้องร่วมกันทำศาสนาให้แข็งแกร่งที่ให้คุณค่ากับการเคารพในคุณค่าความเป็นมนุษย์ อันเป็นสากลที่ทุกคนมีร่วมกัน และช่วงนี้เป็นช่วงที่เหมาะที่สุดในการคิดด้วยกระบวนทัศน์อันใหม่ เพื่อการปฏิวัติทางศีลธรรมและจิตวิญญาณ (spiritual and moral revolution) เพราะว่าได้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้นทั่วโลก

ลองนึกถึงเหตุการณ์ที่อยู่ใกล้ ๆ ตัวเรา เช่น ผมนึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมจากภัยพิบัติสึนามิ เหตุการณ์แผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่น และภัยพิบัติทั้งหลายที่ได้เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์เลวร้ายทั้งหลายเหล่านี้เป็นความทุกข์ระทมที่กระทบต่อจิตใจของผู้คนทั้งโลก และได้เตือนให้เรานึกถึงจุดกำเนิดของเรา ผมนึกถึงโรคระบาดร้ายแรงถึงชีวิตได้แก่ ไข้หวัดนก โรคซาร์ ซึ่งต้องการความร่วมมือกันของมนุษยชาติโดยที่ไม่มีเส้นแบ่ง ผมนึกถึงวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบจากประเทศหนึ่งไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่เริ่มจากวิกฤตการณ์ทางการเงินจากการลดค่าเงินบาทในปี 1997-1998 และได้กระจายไปทั่วเอเชียและกระจายไปทั่วโลกในที่สุด

ดังนั้น เราจึงไม่อาจที่จะแยกตัวเองออกไปอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ ท่ามกลางปัญหาที่กระทบเชื่อมโยงถึงกันทั่วโลกดังกล่าว ลองพิจารณาดูปัญหาเรื่องการก่อการร้าย ที่เป็นผลผลิตของความเกลียดชัง ความอยุติธรรม และได้ส่งผลต่อเราทุกคน เพราะฉะนั้น จึงเป็นจังหวะอันดีที่ศาสนิกทุกคนทุกหมู่เหล่าจะต้องร่วมมือกันเพื่อเผชิญกับสิ่งท้าทายต่าง ๆ ที่เรามีร่วมกัน ผมซึ่งเป็นมุสลิมจะต้องร่วมมือกับเพื่อนต่างศาสนิกเช่นอาจารย์สุลักษณ์ เพื่อปกป้องสภาพแวดล้อม ต่อสู้กับวัฒนธรรมบริโภคนิยม เป็นต้น

เราต้องการสิ่งที่เรามีร่วมกัน ไม่ใช่มุมมองแบบแบ่งแยกพวกเขา-พวกเรา เราจะต้องก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ใช่มองแต่ศาสนา และชาติพันธุ์ของตัวเองเป็นตัวตั้งเท่านั้น แต่มองไปที่อัตลักษณ์ที่เราต่างมีร่วมกัน (common identity) ซึ่งสิ่งนี้คือจุดประสงค์ที่แท้จริงของทุกศาสนาที่มีเป้าหมายร่วมกันในความเป็นสากล

ในฐานะที่ผมเป็นมุสลิม ผมเชื่อว่านี่คือแก่นของศาสนาอิสลาม ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นไปเพื่อความผาสุกของมวลมนุษย์เท่านั้น ยังรวมถึงสิงห์สาราสัตว์และสภาพแวดล้อมในธรรมชาติ และอิสลามมองความยุติธรรมในความหมายที่เป็นไปเพื่อมนุษยชาติโดยส่วนรวม และผมเชื่อว่านี่คือแก่นของทุกศาสนา แน่นอนว่าแต่ละศาสนาอาจมีความต่างในเรื่องประวัติศาสตร์ผู้ก่อตั้ง คำสอน แต่ในความแตกต่างกันนั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะอยู่ร่วมกันไม่ได้

ผมขอสรุปด้วยคำกล่าวของนักปรัชญามุสลิมที่ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่ง ที่ได้แสวงหาแนวทางทางจิตวิญญาณของศาสนาอย่างเข้มข้น คือ ท่านจัลลาลุดดิน รูมี ท่านได้กล่าวว่า "ตะเกียงนั้นอาจจะมีความแตกต่างหลากหลายชนิด แต่ลำแสงที่ส่องสว่างออกมานั้นคือลำแสงเดียวกัน"

ช่วงคำถาม-คำตอบ
1. เหตุการณ์ถล่มตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2544 นั้น เป็นการสร้างโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเองใช่หรือไม่

ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาได้เกิดขบวนการโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่า Reopen 911 ที่พยายามต่อสู้เรียกร้องให้รัฐบาลและสังคมอเมริกาทำการตรวจสอบเหตุการณ์ 9 กันยายน ด้วยหลักฐานใหม่ ๆ โดยใช้ข้อมูลจากทางราชการ นักวิชาการ และจากสื่อแขนงต่าง ๆ ว่ามีการวางระเบิดจากภายในตึกหรือไม่ และอะไรคือมูลเหตุจูงใจในการกระทำเช่นนั้น เป็นต้น

มีหนังสือที่ดีมาก ๆ เล่มหนึ่งที่ได้วิเคราะห์เหตุการณ์นี้ชื่อว่า The New Pearl Harbor เขียนโดยนักเทววิทยาชาวคริสต์ชื่อ Prof. David Ray Griffin ซึ่งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลลิฟอร์เนีย (ซันตาบาบาร่า) ได้ตั้งคำถามสำคัญ ๆ หลายประเด็นอันเป็นข้อสงสัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ 9 กันยายน โดยหลักฐานทั้งหมดที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้ ล้วนได้มาจากแหล่งของทางราชการทั้งสิ้น รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รายงานของพนักงานดับเพลิง เจ้าหน้าที่เอฟบีไอ และกระทรวงกลาโหมสหรัฐ เป็นต้น

ผมไม่อยากฟันธงว่าใครเป็นผู้กระทำเหตุการณ์นี้ขึ้นมา แต่สิ่งที่ผมอยากขอเรียกร้องในฐานะที่เป็นนักกิจกรรมคือ คำถามทั้งหมดเกี่ยวกับกับเหตุการณ์ 11 กันยายน จะต้องมีการสอบสวนจากองค์กรที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง เพราะรายงานที่เราได้รับขณะนี้ล้วนมาจากทางราชการฝ่ายเดียว

2. คำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศจีนและอิหร่าน ท่านมีความเห็นเช่นไรที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าจริง ๆ แล้วสหรัฐอเมริกาต้องการที่จะโจมตีประเทศจีนมากกว่าแต่ไม่กล้าจึงหันไปโจมตีอิหร่านแทน

ผมไม่คิดว่าอเมริกาต้องการที่จะโจมตีจีนโดยใช้อิหร่านเป็นแพะ เพราะหากเราลองพิจารณาดูความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศสหรัฐและจีนนั้น มีมูลค่ามหาศาลที่ต่างฝ่ายต่างจะต้องรักษาผลประโยชน์ของตน ปัจจุบัน ประเทศจีนเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบทางดุลย์การค้าต่อสหรัฐ และมีชาวจีนที่ลงทุนถือพันธบัตรของสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนเงินมหาศาล ดังนั้น สหรัฐจะไม่มีทางที่จะใช้กำลังทหารกับประเทศจีน

แต่เมื่อพิจารณากรณีประเทศไต้หวัน เป็นที่แน่ชัดว่าประเทศจีนเตรียมพร้อมที่จะทำสงครามกับไต้หวัน แต่อเมริกาไม่ต้องการที่จะเห็นจีนเข้ารุกรานไต้หวัน เมื่อพิจารณาในภูมิศาสตร์ทางการเมืองแถบเอเชียกลาง อิหร่าน ผมคิดว่าจีนจะเล่นบทบาททางการฑูตที่จะแยกตัวเองออกจากวอชิงตัน อย่างไรก็ตามประเทศจีนอยากที่จะรักษาอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของตนให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่กรณีของอิหร่านนั้นมีปัจจัยอื่นที่สำคัญกว่าคือ อิสราเอล

ไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่า การที่สหรัฐอเมริกาต้องการขจัดอิหร่านก็เพราะเป็นความต้องการของอิสราเอล เสียงจากเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอลได้ประกาศชัดเลยว่า สหรัฐต้องโจมตีอิหร่าน ผมขอยกหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหานี้ได้แก่ บทสัมภาษณ์ของนายเอเรียล ชารอน อดีตนายกรัฐมนตรีอิราเอล ในหนังสือพิมพ์ลอนดอนไทมส์ในปี 2002 ก่อนที่จะมีรุกรานอิรักด้วยซ้ำ เขาพูดชัดเจนในที่สาธารณะเลยว่า เป้าหมายที่แท้จริงของเราคืออิหร่าน ด้วยเหตุผลหลาย ๆ ประการ ได้แก่

อิหร่านเป็นประเทศที่ร่ำรวยน้ำมันเหมือนกับอิรัก มีแสนยานุภาพทางการทหารที่ดีกว่าอิรัก และอิหร่านยังมีอิทธิพลต่อโลกมุสลิมเป็นอย่างมาก จากการปฏิวัติอิสลามในปี 1979 ซึ่งอิรักไม่มี ดังนั้นอิสราเอลจึงต้องการทำลายอิหร่าน ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเชื่อว่าอิหร่านคือเป้าหมายในการโจมตีของสหรัฐและอิสราเอล ไม่ใช่ประเทศจีน

3. แต่ละศาสนาต่างมีความเชื่อและหลักปฏิบัติของตนเอง และมักไม่ยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น ดังนั้นเราจะอยู่ร่วมกันอย่างอย่างสมานฉันท์ได้อย่างไร

ผมขอตอบคำถามนี้โดยจะขอหยิบยกสามประเด็น คือ
ประการที่หนึ่ง ความขัดแย้งระหว่างศาสนิกในศาสนาต่าง ๆ นั้น หากเราวิเคราะห์ย้อนกลับไปจะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งทั้งหลายเหล่านั้นไม่ได้มีที่มาจากเพราะความแตกต่างของศาสนา แต่มีที่มาจากปัจจัยทางสังคม-เศรษฐกิจการเมือง หรืออื่น ๆ มากกว่า ไม่ใช่เพราะปัจจัยทางศาสนา ตัวอย่างเช่น หากท่านลองพิจารณาความขัดแย้งในประเทศอินเดียระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม ความขัดแย้งนั้นมาจากการที่ชาวฮินดูนับถือพระผู้เป็นเจ้าหลายองค์ มีแบบแผนและหลักปฏิบัติของตนเอง ในขณะที่ชาวมุสลิมนับถือต่อพระเจ้าเพียงองค์เดียวและมีการปฏิบัติที่ต่างออกไปกระนั้นหรือ

ไม่ใช่เลย ความขัดแย้งดังกล่าวเกิดจากปัจจัยอื่นคือ ปัจจัยทางการเมือง มีองค์กรทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ปัจจัยความสิ้นหวังทางสังคม-เศรษฐกิจ เหล่านี้ต่างหากคือปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้ง. ลองดูที่เกาะมาลูกู ประเทศอินโดนีเซีย เป็นความขัดแย้งระหว่างมุสลิมกับชาวคริสเตียน แต่เชื่อมโยงกับปัจจัยทางการเมืองอันเป็นผลพวงจากการล่มสลายของระบบซูฮาโต และปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นด้วย ดังนั้น จึงไม่ใช่ปัจจัยทางศาสนา เช่นเดียวกับทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ มีสาเหตุมาจากที่ดิน การย้ายถิ่นไม่ใช่ศาสนา

ประการที่สอง ประเด็นที่เกี่ยวกับความเชื่อ สิ่งหนึ่งที่เราต้องระลึกอยู่เสมอคือ หากเราพิจารณาถึงความแตกต่างทางความเชื่อในแต่ละศาสนา เราจะเห็นได้ว่าในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์นั้น ไม่ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนาแต่อย่างใด จุดอ่อนของเราคือโดยเฉพาะรัฐบาลยังไม่ได้ให้การอธิบายทั้งความเหมือนและความแตกต่างระหว่างศาสนา ทั้งนี้เพราะรัฐบาลมักไม่ชอบที่จะรับผิดชอบพูดถึงเรื่องราวความเหมือนและความแตกต่างระหว่างศาสนา

ประการที่สาม ผมได้กล่าวไปแล้วบ้างในตอนบรรยาย คือ ผมเชื่อว่าทุกศาสนากำลังเผชิญกับสิ่งท้าทายอันยิ่งใหญ่ และขณะนี้นับเป็นโอกาสที่ดีของพวกเราที่เราจะก้าวพ้นเขตแดนของตัวเราเองที่ศาสนาต่าง ๆ มักละเลย ตัวอย่างเช่นศาสนาของผมเองคือ อิสลาม บางกลุ่มมักมีการเน้นมุมมองแบบแบ่งแยก ตัดสินกฎหมายที่เคร่งครัด แต่มีบางกลุ่มที่ก้าวข้ามเส้นการแบ่งแยกแบ่งเขาแบ่งเรา โดยเน้นมิติทางจิตวิญญาณ การเติบโตภายในจิตใจ และให้ความสำคัญกับคุณค่าสากลที่จะอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ และสรรพสิ่งอย่างสันติสุข

ดังนั้น หากเราพิจารณากลุ่มที่เน้นรหัสยนัยในทุกศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาคริสต์ ฮินดู หรืออื่น ๆ ต่างล้วนที่จะก้าวข้ามเส้นแบ่งแยกระหว่างมนุษย์ และเน้นการพัฒนาความหมายที่อยู่ภายในจิตใจ โดยเหตุนี้ เส้นแบ่งระหว่างศาสนาจึงเป็นประเด็นที่ท้าทายอย่างมาก ที่เราจะต้องช่วยกันคิดเพื่อก้าวข้ามให้ได้

4. ทำไมเราไม่เห็นพลังภาคประชาชนในสหรัฐอเมริกาที่จะต่อต้านจักรวรรดินิยม

ความจริงแล้วมีผู้คนเป็นจำนวนมากในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เขาทราบดีว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ตัวอย่างเช่น ซินดี้ ชีฮาน ซึ่งเป็นแม่ของทหารเรืออเมริกันหนุ่มที่มีวัยเพียง 24 ปี และต้องไปรบและเสียชีวิตที่ประเทศอิรักในปี 2004. ซินดี้ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านระบบอเมริกันในอิรัก และปัจจุบันเธอได้ไปไกลกว่านั้นด้วยซ้ำ เป็นที่น่าอัศจรรย์มากหากเราลองเข้าไปดูในเว็บไซด์ของเธอเราจะพบว่ามีคนใหม่ ๆ เข้าไปร่วมลงชื่อในการต่อต้านสงครามถึงวันละนับพัน ๆ ราย มีผู้คนเพิ่มมากขึ้น ๆ ที่ไม่พอใจความก้าวร้าวของรัฐบาลจนคะแนนนิยมของประธานาธิบดีบุชร่วงต่ำลงตามลำดับ

แต่ผมคิดว่า สิ่งที่ท้าทายคือชุมชนของสื่อในอเมริกามีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อสังคมอเมริกน หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของอเมริกาได้แก่ นิวยอร์คไทมส์, ลอสแอลเจลลิส, ชิคาโกทริบูน, มีอิทธิพลอยู่บ้าง ถึงแม้ว่าไม่ได้เป็นทั้งหมด แต่ถ้าเรามองไปที่สื่ออื่น ๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ต่างสนับสนุนความแป็นเจ้าโลกของอเมริกาแทบร้อยเปอร์เซ็นต์ และนี่คือสิ่งที่คนอย่าง Noam Chomsky ได้เขียนหนังสือที่มีชื่อเสียงเล่มหนึ่งชื่อ Manufacturing Consent ที่พูดถึงชนชั้นนำอเมริกันที่มีความสามารถมากในการประดิษฐ์แรงให้การสนับสนุนแก่พวกเขา

5. ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรต่อประเด็นแนวคิดเรื่องสภาโลกว่าจะสามารถควบคุมอาณาจักรโลกได้หรือไม่

คิดว่าแนวคิดเรื่องสภาโลกเป็นแนวคิดที่ดี เป็นแนวคิดที่ริเริ่มโดยนักวิชาการอเมริกันชื่อ Andrew Strauss โดยมีการตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อรณรงค์เรื่องสภาโลก คือ แนวคิดที่พยายามจะรวบรวมประเทศต่าง ๆ ที่มาพูดคุยกันในประเด็นปัญหาร่วม แต่ผมไม่คิดว่าแนวคิดนี้จะสามารถยุติอาณาจักรโลกได้ หากอาณาจักรโลกจะถึงจุดจบน่าจะเกิดจากการถ่วงดุลย์ในอำนาจของโลกมากกว่า เช่น การเติบโตของประเทศจีน และภูมิภาคอื่น ๆ บวกกับเงื่อนไขสำคัญคือปัจจัยภายในของอาณาจักรโลกเองที่จะทำให้มันอ่อนแอลง

ขอให้เราลองย้อนดูประวัติศาสตร์ของอาณาจักรโลกที่ผ่าน ๆ มาจะเห็นได้ว่าความตกต่ำของอาณาจักรทั้งหลายล้วนเกิดจากปัจจัยภายในแทบทั้งสิ้น และสหรัฐอเมริกาก็จะล้มด้วยปัจจัยภายใน

ผมได้อ่านบทความชิ้นหนึ่งในระหว่างเดินทางมากรุงเทพฯ กล่าวว่าในตอนเริ่มต้นของศตวรรษที่ 20 อังกฤษคืออาณาจักรโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และชาวอังกฤษมักจะคิดว่าอาณาจักรของตนจะยิ่งใหญ่ไปชั่วนิรันดร์ เชอร์ชิลเคยกล่าวไว้ว่า อังกฤษคืออาณาจักรที่ดวงอาทิตย์ไม่เคยตกดิน เพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวสิงคโปร์ชื่อ เจฟฟรี่ ได้ถามเราว่า พวกคุณรู้ไหมว่าทำไมดวงอาทิตย์ถึงไม่เคยตกดินภายใต้อาณาจักรอังกฤษ? ก็เพราะว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่เคยไว้ใจอังกฤษในยามมืดไง

โดยสรุปคือ ประวัติศาสตร์บอกเราว่า ไม่มีอาณาจักรใดที่จะอยู่ค้ำฟ้าไปได้ตลอดกาล สักวันหนึ่งอาณาจักรจะต้องถึงจุดจบ และอาณาจักรอเมริกันก็จะประสบกับชะตากรรมถึงจุดจบเช่นเดียวกัน และเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา Prof. Johann Galtung ได้มาบรรยายที่กรุงเทพฯ และได้กล่าวว่าอาณาจักรอเมริกันจะเป็นอาณาจักรที่อายุสั้นที่สุดในแง่ของเวลา และพยากรณ์ด้วยซ้ำว่าอาณาจักรอเมริกันจะถึงจุดจบในปี 2020 นั่นคือเหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึง 20 ปี

6. พวกนิยมความรุนแรงโดยเฉพาะมุสลิมบางกลุ่ม พยายามจะทำให้คนอื่นเชื่อว่าความรุนแรงเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะต่อสู้เพื่อเอาชนะอาณาจักรโลก เราจะตอบสนองเรื่องนี้อย่างไร

ประการแรก คิดว่าผู้นำมุสลิมจำนวนมากรวมถึงรัฐบาล จะต้องมีส่วนในการรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ หากผู้นำมุสลิมต่างพร้อมใจกันลุกขึ้นอย่างมีเกียรติศักดิ์ศรี หรือพูดอีกนัยหนึ่ง หากผู้นำมุสลิมมีความกล้าหาญเพียงสักครึ่งหนึ่งของผู้นำประเทศในแถบละตินอเมริกาปัจจุบัน ผมคิดว่าจะทำให้ไม่มีที่ทางให้กับคนที่นิยมความรุนแรงอย่างอุซามะฮ์ เพราะว่าผู้นำมุสลิมทุกวันนี้ไม่ได้ให้ความหวังแก่ผู้คนในประเทศของตน หากเราพิจารณ์ดูทุกหนแห่งในตะวันออกกลาง ผู้คนล้วนไม่มีความภาคภูมิใจในผู้นำของตน

ประการที่สอง ปัญหาเกี่ยวกับความรุนแรง เราต้องช่วยกันสร้างความเชื่อให้กับผู้คนโดยทั่วไปไม่ว่า จะเป็นมุสลิมหรือไม่เป็นมุสลิม การไม่ใช้ความรุนแรงนั้นเป็นการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ และเราจะต้องแสดงตัวอย่างให้พวกเขาได้เห็นว่ามันมีประสิทธิภาพที่แท้จริง ดังเช่นประสบการณ์ของท่านคานธี, มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เป็นต้น

และหากเราพิจารณาย้อนกลับไปเมื่อสองทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง ขบวนการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดนั้นล้วนมาจากการใช้วิธีการต่อสู้แบบไม่ใช้ความรุนแรงทั้งสิ้น เช่น การปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 เป็นต่อสู้โดยการไม่ใช้ความรุนแรงเลย ในขณะที่พระเจ้าชาร์พยายามจะใช้ความรุนแรงแต่พวกปฏิวัติยืนยันวิธีไม่ใช้ความรุนแรงและได้รับชนะในที่สุด

หากเราลองพิจารณาดูในยุโรปตะวันออก เกือบทุกแห่งหนที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ๆ ล้วนมาจากการไม่ใช้ความรุนแรงในการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จ เช่นเดียวกับประเทศฟิลิปปินส์ในปี 1996 การล้มล้างเฟอร์ดินัน มาร์กอส มาจาก ขบวนการไม่ใช้ความรุนแรง. ในอินโดนีเซีย 1998 การล้มล้างผู้เผด็จการตลอดกาลที่ครองอำนาจถึง 32 ปี เกิดจากขบวนการไม่ใช้ความรุนแรง ดังนั้น หากเราพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในทุกแห่งหนจะเห็นได้ว่าวิธีการไม่ใช้ความรุนแรงนั้นเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมาก

เราจะต้องไม่มีความรู้สึกที่ว่า การใช้ความรุนแรงเป็นหนทางเดียวที่จะนำสู่การเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขปัญหา เพราะมีตัวอย่างให้เราเห็นมากมาย จะเห็นได้ว่าจุดแข็งของการไม่ใช้ความรุนแรงนั้นคือ การที่มันฝังรากลึกอยู่ในตัวเราเอง แม้ว่าเราจะไม่ใช้มันเรายังคงเป็นผู้ชนะเสมอ นั่นคือจุดแข็งของการไม่ใช้ความรุนแรง เราไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาสิ่งอื่นจากภายนอก ไม่ต้องพึ่งพาอาวุธ เราเพียงแต่พึงพาสิ่งที่อยู่ภายในตัวของเราเอง นี่คือเหตุผลว่าเราไม่ควรกลัววิธีการไม่ใช้ความรุนแรง

7. ท่านมีความเห็นเช่นไรต่อกรณีการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศอิหร่าน

ผมเห็นว่าอิหร่านมีสิทธิอันชอบธรรมดังเช่นประเทศอื่น ๆ อีก 36 ประเทศ ที่ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ ดังนั้น หากมีการอนุญาตให้ประเทศอื่น ๆ รวมทั้งประเทศญี่ปุ่นที่มีโรงงานนิวเคลียร์ ตลอดจนประเทศอื่น ๆ แล้วเราจะไปห้ามอิหร่านไม่ให้ทำการศึกษาวิจัยได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราพิจารณาถึงประเทศเพื่อนบ้านของอิหร่านคือ ประเทศอิสราเอล ที่มีโรงงานนิวเคลียร์มากถึง 200 แห่ง ซึ่งทั่วโลกต่างทราบกันดีถึงข้อเท็จจริงอันนี้ แล้วเราจะไปห้ามอิหร่านไม่ให้มีการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ได้อย่างไร

จนถึงขณะนี้อิหร่านยังไม่มีความสามารถถึงขั้นที่จะผลิตระเบิดนิวเคลียร์ อิหร่านมีความสามารถเพียง 4 เปอร์เซ็นเท่านั้นที่จะผลิตได้ ไม่ใช่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ที่จะผลิตระเบิดนิวเคลียร์ และเชื่อว่าอิหร่านจะไม่มีความสามารถถึงขั้นนั้น และที่ผมรู้สึกน่ายินดีเป็นที่สุดคือผู้นำสูงสุดทางศาสนาจำนวน 32 ท่านของอิหร่าน ได้ลงความเห็นโดยพร้อมเพรียงกันว่าการผลิตอาวุธนิวเคลียร์นั้นเป็นการขัดกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม ซึ่งผมเชื่อว่านั่นคือสิ่งที่ถูกต้องอย่างที่สุด ที่ว่ามันขัดกับหลักศาสนาอิสลามเนื่องด้วยเหตุผลสำคัญ 3 ประการ คือ

ประการแรก มันเป็นการจะนำมาซึ่งการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ เพราะอาวุธนิวเคลียร์ไม่สามารถแยกแยะระหว่างผู้บริสุทธิ์กับผู้ที่กำลังอยู่ในภาวะการต่อสู้กัน

ประการที่สอง น่าเลวร้ายยิ่งกว่าประการแรกอีกคือ อาวุธนิวเคลียร์จะเข่นฆ่าเด็กที่ยังไม่ได้เกิดออกมา ซึ่งเป็นความผิดใหญ่หลวงมากในทัศนะอิสลาม ดังที่เราได้เห็นผลของมันจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ และ

ประการที่สาม อาวุธนิวเคลียร์ยังทำลายล้างสภาพแวดล้อมทางกายภาพ

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ พวกเขาจึงตัดสินว่าการผลิตอาวุธนิวเคลียร์จึงเป็นสิ่งต้องห้ามในทัศนะของอิสลาม พวกตะวันตกไม่ยอมเชื่อและต้องการที่จะลงโทษอิหร่าน ด้วยเหตุผลที่แท้จริงคือการต้องการที่จะปกป้องอิสราเอล เพราะหากเราลองพิจารณาดูถึงความวุ่นวายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง ล้วนโยงเข้ากับอิสราเอลทั้งสิ้น

ผมอยากจะลองวิเคราะห์ว่าหากเราจะมองไปข้างหน้าซึ่งอาจไม่ใช่เพียงห้าปี สิบปีหรือยี่สิบปีแต่อาจเป็นร้อยปี มีทางเดียวที่อิสราราเอลจะอยู่รอดต่อไปได้ก็ด้วยการอยู่อย่างสันติและสมานฉันท์กับประเทศเพื่อนบ้าน อิสราเอลไม่สามารถที่จะพึ่งพาประเทศที่อยู่ห่างไกลออกไปเป็นพัน ๆ ไมล์ ซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นหลักประกันให้ได้ตลอดไป ดังนั้น ทางรอดทางเดียวคือจะต้องอยู่กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสันติ หากอิสราเอลไม่สามารถทำได้ ผมว่าอิสราเอลจะหมดอนาคตอย่างแน่นอน

หากเรามองถึงการเกิดของประเทศอิราเอล ซึ่งได้มาจากการยึดครองดินแดนของชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มานับพันปี แต่พวกไซออนนิสต์อ้างว่า ที่นี่เป็นดินแดนของชาวยิวเมื่อสองพันปีก่อน ซึ่งอาจจะจริงที่มีชาวยิวอยู่ที่นี่เมื่อสองพันปีก่อน แต่หากเรายอมรับในข้ออ้างของพวกไซออนนิสต์ดังกล่าวว่า พื้นที่เมื่อสองพันปีก่อนนั้นเป็นของตนพวกเขาจึงมีสิทธิในพื้นที่และขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกไป ดังนั้น ด้วยตรรกะเดียวกันนี้ แผนที่โลกปัจจุบันจะต้องถูกเปลี่ยนไปทั้งหมด

ผมเคยกล่าวแก่เพื่อนชาวอเมริกันที่เห็นด้วยกับข้ออ้างของอิสราเอลว่า เขาอยากจะเขียนแผนที่ประเทศของเขาใหม่โดยอาศัยข้อมูลเมื่อสองพันปีที่แล้วมาไหม ดังนั้นเขาจะต้องคืนแผ่นดินอเมริกาปัจจุบันกลับคืนให้ชาวอเมริกันอินเดียน เพราะเมื่อสองพันปีก่อนชาวอเมริกันอินเดียนเป็นผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ แน่นอน ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะยอมรับ ดังนั้น เราจึงไม่อาจที่จะอ้างโดยการย้อนกลับไปเป็นเวลาถึงสองพันปี

จะเห็นได้ว่าชาวปาเลสไตน์ต้องสูญเสียที่ดิน สิทธิ และสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง จนกระทั่งปัจจุบัน ชาวปาเลสไตน์แม้แต่รัฐบาลฮามาสได้เตรียมตัวที่จะยอมรับการแก้ไขปัญหาเพื่อแบ่งเป็นสองประเทศภายใต้เงื่อนไขว่าอิสราเอลจะต้องออกไปจากฉนวนกาซา แต่อิสราเอลไม่ยอมและจะไม่ยอมออกไปจากเวสท์แบ้งค์และเยรูซาเร็มตะวันออก ทำให้ผมมองไม่เห็นทางออกในเรื่องนี้ ดังนั้น เมื่อผมมองปัญหาอิหร่านจากมุมนี้ ผมจึงเห็นว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาหลาย ๆ เรื่องในภูมิภาคตะวันออกกลางจะต้องมองผ่านอิสราเอล

 





สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



170849
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
อเมริกันอันตราย - มหาอำนาจขั้วเดี่ยว
บทความลำดับที่ ๑๐๐๘ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาได้เกิดขบวนการโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่า Reopen 911 ที่พยายามต่อสู้เรียกร้องให้รัฐบาลและสังคมอเมริกาทำการตรวจสอบเหตุการณ์ 9 กันยายน ด้วยหลักฐานใหม่ ๆ โดยใช้ข้อมูลจากทางราชการ นักวิชาการ และจากสื่อแขนงต่าง ๆ ว่ามีการวางระเบิดจากภายในตึกหรือไม่ และอะไรคือมูลเหตุจูงใจในการกระทำเช่นนั้น เป็นต้น

มีหนังสือที่ดีมาก ๆ เล่มหนึ่งที่ได้วิเคราะห์เหตุการณ์นี้ชื่อว่า The New Pearl Harbor เขียนโดยนักเทววิทยาชาวคริสต์ชื่อ Prof. David Ray Griffin ซึ่งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลลิฟอร์เนีย (ซันตาบาบาร่า) ได้ตั้งคำถามสำคัญ ๆ หลายประเด็นอันเป็นข้อสงสัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ 9 กันยายน โดยหลักฐานทั้งหมดที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้ ล้วนได้มาจากแหล่งของทางราชการทั้งสิ้น รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รายงานของพนักงานดับเพลิง เจ้าหน้าที่เอฟบีไอ และกระทรวงกลาโหมสหรัฐ เป็นต้น

ขอให้เราลองย้อนดูประวัติศาสตร์ของอาณาจักรโลกที่ผ่าน ๆ มาจะเห็นได้ว่าความตกต่ำของอาณาจักรทั้งหลายล้วนเกิดจากปัจจัยภายในแทบทั้งสิ้น และสหรัฐอเมริกาก็จะล้มด้วยปัจจัยภายใน
ผมได้อ่านบทความชิ้นหนึ่งในระหว่างเดินทางมากรุงเทพฯ กล่าวว่าในตอนเริ่มต้นของศตวรรษที่ 20 อังกฤษคืออาณาจักรโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และชาวอังกฤษมักจะคิดว่าอาณาจักรของตนจะยิ่งใหญ่ไปชั่วนิรันดร์ เชอร์ชิลเคยกล่าวไว้ว่า อังกฤษคืออาณาจักรที่ดวงอาทิตย์ไม่เคยตกดิน เพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวสิงคโปร์ชื่อ เจฟฟรี่ ได้ถามเราว่า พวกคุณรู้ไหมว่าทำไมดวงอาทิตย์ถึงไม่เคยตกดินภายใต้อาณาจักรอังกฤษ? ก็เพราะว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่เคยไว้ใจอังกฤษในยามมืดไง