Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

การก่อการร้ายที่ไม่ต้องการอำนาจรัฐ
การเมืองของการก่อการร้ายกับการสร้างสันติภาพของประชาชน
คณะทำงานวาระทางสังคม
สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความถอดเทปชิ้นนี้ได้รับมาจาก
คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เป็นการเสวนาเกี่ยวกับเรื่อง
การเมืองของการก่อการร้ายกับการสร้างสันติภาพของประชาชน
โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยนักวิชาการตามลำดับดังนี้ :
วรวิทย์ บารู
,
สุกรี หลังปูเต๊ะ, อุษา เลิศศรีสันทัด, สุรัตน์ โหราชัยกุล,
พลตรีเอกชัย ศรีวิลาศ

สุริชัย หวันแก้ว : ผู้ดำเนินรายการ
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1006
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 20.5 หน้ากระดาษ A4)





การเมืองของการก่อการร้ายกับการสร้างสันติภาพของประชาชน
งานเสวนาโครงการตลาดวิชามหาวิทยาลัยชาวบ้าน ชุด ๓ จังหวัดภาคใต้ ครั้งที่ ๒

วันพุธที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๘
ห้องประชุมจุมภฏ - พันทิพย์ ชั้น ๔ อาคารประชาธิปก รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยคณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์
ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

หมายเหตุ :
บทความถอดเทปนี้เป็นภาคที่ ๒ ของบทความก่อนหน้านี้ (บทความลำดับที่ ๑๐๐๕ เรื่อง
มหาอำนาจกับโลกมุสลิม การเมืองของการก่อการร้าย) หากสนใจอ่านเพื่อให้ได้ความครบถ้วน ควรเริ่มต้นจากบทความถอดเทปดังกล่าว

การเมืองของการก่อการร้ายกับการสร้างสันติภาพของประชาชน
สุริชัย หวันแก้ว (ผู้ดำเนินรายการ)
กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ สาขาสังคมวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกาณ์มหาวิทยาลัย

ในภาคที่สองนี้เราจะมาพูดกันถึงเรื่อง การเมืองของการก่อการร้ายกับการสร้างสันติภาพของประชาชน
จากการเมืองระหว่างประเทศซึ่งกว้างใหญ่ มาสู่มุมมองที่เทียบเคียงกับการให้ความสัมพันธ์กับภาคประชาชน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เราจะมามองเรื่องความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงของทุน เมื่อเทียบกับความมั่นคงของชีวิตประชาชน ผมขอเชิญท่านอาจารย์วรวิทย์ บารูเป็นท่านแรก

วรวิทย์ บารู
รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและชุมชน มอ. ปัตตานี
ขอความสันติจงมีแด่ทุกท่าน
ผมเกิดความคิดบางอย่างจากการที่ได้เคยพูดคุยที่ผ่านมาว่า จริงๆ แล้ว เรื่องการก่อการร้ายเป็นเรื่องซึ่งยุทธศาสตร์ที่เราต้องการมันไม่มี นับเป็นสิ่งหนึ่งที่ กอส. ก็พูดตลอดเวลา โดยพยายามที่จะเข็นออกมา พยายามที่ใช้กระบวนการต่างๆ ให้ถูกต้อง เพราะว่ารัฐบาลเองก็ไม่เคยยอมรับ ยุทธศาสตร์ทั้งหมดที่รัฐบาลใช้ก็เป็นของฝรั่งเกือบทั้งหมดตามที่อาจารย์ปณิธานท่านพูดมา ผมอยากจะเรียนเชิญชวนผู้มีเกียรติทุกท่านว่า ถ้าเราเข้าใจอิสลามแบบเดิมหรือแบบเก่า ดังที่ท่านอาจารย์ธเนศพูดว่า เรามองมุสลิมว่าเป็นผู้ด้อยการศึกษาและมีด้านลบมาตลอด มันมีปัญหาเช่นเดียวกับที่มันเกิดขึ้นในขณะนี้ เฉกเช่นที่เรามองคนใน ๓ จังหวัดภาคใต้ในขณะนี้ว่า มันเกิดขึ้นในเรื่องของประวัติศาสตร์ เพราะเราปิดบังประวัติศาสตร์ แทนที่จะนำขึ้นมาไว้บนโต๊ะ เรากลับเอาไปซ่อนเร้นไว้

ในส่วนตัวของผมในฐานะที่อยู่ที่นั่น คิดตลอดเวลาว่าแนวทางที่จะสร้างสันติตรงนั้น คือเป็นแนวทางที่จะต้องเปิดเผยความจริงและยุติธรรมอย่างเพียงพอ ต้องเป็นแนวทางนี้ถึงจะสร้างสันติสุขขึ้นมาได้ ไม่เป็นการแปลกเลยหากเราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยว่า พม่าบุกกรุงศรีอยุธยา เสร็จแล้วมาเผาวัดตั้งหลายวัด ซึ่งเป็นที่รักเคารพของชาวพุทธและคนทั้งประเทศในขณะนั้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า หากกองกำลังชาวสยามในขณะนั้นไปบุกปัตตานีและเผามัสยิดกรือเซะ มันจะไปผิดอะไร ถ้าเรายอมรับกันจริงๆ ในขณะนี้ การที่เราพูดกันมันเป็นคนละเรื่องกับการสร้างชาติ การสร้างชาติเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องบอกว่า เรามาร่วมกันสร้างชาติกันอย่างยากลำบาก โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ร่วมกันสร้างขึ้นมา แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเอ่ยถึงกันเลยใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราดูเหมือนเป็นคนอื่นไกลอยู่ตลอดเวลา นี่นับว่าเป็นประเด็นที่หนึ่ง

ในประเด็นที่สองก็คือ กระแสโลกของชาวอิสลามต่างๆ เข้าสู่หลักการของความเป็นอิสลามมากขึ้น ผมเป็นคนหนึ่งที่เป็นประธานสหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามอยู่หลายปีและเป็นผู้ก่อตั้ง ทั้งยังเป็นประธานเครือข่ายสหกรณ์อิสลามภาคใต้ ๑๔ จังหวัดตั้งแต่ภูเก็ตลงไป แม้กระทั่งอาจารย์ปณิธานก็คงจะได้รับข้อมูลว่าตรงนี้เป็นแหล่งเงินที่จะเข้าไปช่วยเหลือในการก่อการร้ายที่มันเกิดขึ้น นี่แสดงว่าความเป็นไปของพัฒนาการของสังคมมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เชื่อมต่อกับสังคมโลก เราไม่มีความเข้าใจ

เมื่อไม่เข้าใจก็ออกแบบในการแก้ไขไม่ถูกต้อง ยิ่งถ้าเรามองดูการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลปัจจุบันก็ยิ่งไปไกลกันใหญ่เลย ผมเรียนกันตรงๆ ในนามของคณะกรรมการ กอส. เองก็ยังมองไม่ออก และเคยพูดตลอดเวลากับอาจารย์สุริชัยและอาจารย์หมอประเวศว่า ผมมองไม่เห็นทางแก้ไขปัญหาเลย ถ้าเรายังใช้กระบวนการที่ยังใช้อยู่ในขณะนี้ แล้วผมเชื่อเหลือเกินว่า มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้กระบวนการรุนแรงที่จะไปตรงนั้น เพราะมันมีเหตุผลดังนี้

เหตุผลแรกคือ ความรุนแรงทั้งหลายเคยเกิดขึ้นแล้วใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐมาโดยตลอด แล้วประชาชนส่วนใหญ่ก็จะเป็นประชาชนซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความเคารพนับถือ เรามีความแตกต่างในการจัดการที่แตกต่างกันในสามจังหวัด เจ้าเมืองปัตตานีไปตายที่กัวตาบารู รัฐกลันตัน ในขณะที่เจ้าเมืองสตูลได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดต่อที่สตูล เราจะเห็นความแตกต่างของการจัดการของ ๒ จังหวัด ๒ แห่ง นี่คือสิ่งที่เราจะต้องรับรู้ซึ่งเราจะต้องออกแบบให้เข้าใจ ให้ไปกันได้กับที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นกระแสโลกอิสลามในปัจจุบัน เราต้องการที่จะไปสู่ความถูกต้อง

ซาฟีอี - ตาจิดี
บางคนถ้าเราเอาแบบตะวันตกมา ยุทธศาสตร์ตะวันตกมา อย่างอเมริกาก็จะบอกว่าเป็น Fundamentalist ในขณะที่อิสลามในปัจจุบันเขาเรียกว่า "ซาฟีอี" ซึ่งคนพวกนี้"ยืนอยู่บนศรัทธาที่แข็งแรง ยืนอยู่บนความเป็นอิสลามดั้งเดิม แล้วมีการใช้ ชาลิอะห์ ที่เด็ดขาดรุนแรง" นี่คือกลุ่มของ ซาฟีอี แต่ในส่วนนั้นมันก็เกิดกลุ่มอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า "ตาจิดี" ซึ่ง"ปรับประยุกต์กับสิ่งที่เป็นจริง โดยกลุ่มตาจิดี จะแก้ไขตีความในเรื่องต่างๆ อย่างร่วมสมัยมากขึ้น ตีความร่วมสมัยต่างๆ แม้กระทั่งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม" ทั้งสองอันร่วมกันก็จะเกิดสิ่งใหม่ตามมาที่เป็น "Moderate Muslim" ในปัจจุบัน เหมือนกับประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน

ข้อสรุปนี้ไม่เคยมีการพูดถึง ไม่เคยมีในความคิดด้วยซ้ำไปเพราะมองตามฐานะที่เราเคยมองคน ๓ จังหวัดภาคใต้ ผมเชื่อเหลือเกินว่าประเทศมาเลเซียจะไม่มีวันดึงความรุนแรงเข้าไปในประเทศเขาแน่นอน เพราะเขาไม่ชอบความรุนแรง ประเทศมาเลเซียซึ่งเรียกว่า "ฮาดอรีมุสลิม" หรือ "ฮอดอรีอิสลาม" ซึ่งแปลว่า "มุสลิมสายกลาง" หรือที่เรียกว่า "อิสลามฮอดอรี" ในมาเลเซียซึ่งกำลังไปได้ด้วยดีจนอาหรับมาศึกษาเรียนรู้อยู่ในขณะนี้ นับประสาอะไรที่เขาจะต้องเอาความรุนแรงเข้าไป แม้กระทั่ง KMM ในมาเลเซียเขาก็จัดการเรียบร้อย

แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ ผมได้มีโอกาสเจอกับคนบางคนที่รู้เรื่องในเรื่องของเหตุการณ์ ๒๘ เมษา และ ๔ มกรา. กลุ่มคน ๔ มกรา เขาปฏิเสธอย่างแข็งขันว่า เขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับสถานการณ์ ๒๘ เมษา แต่ผมแปลกใจว่ากลุ่ม ๒๘ เมษา กับกลุ่ม ๔ มกรา มีเป้าหมายในการแบ่งแยกดินแดนเหมือนกัน แต่คนทั้ง ๒ กลุ่มนี้ด่าจน ตกจากศาสนากันด้วยซ้ำไป ทั้ง ๒ กลุ่มนี้ผมไปได้ข้อมูลเชิงลึกมาซึ่งเขาพูดกันเอง หากเราจะเชื่อมโยงให้เห็นว่า แล้วใครล่ะที่จะเป็นผู้กดสวิทช์ต่อเหตุการณ์นี้ ผมขอให้คนไทยช่วยกันหากันต่อไป

ถ้า ๒ กลุ่มนี้มันไม่เชื่อมโยงกันก็แสดงว่า สิ่งที่เราเคยตั้งสมมุติฐานกันเอาไว้ก็อาจจะเป็นจริง จนถึงขณะนี้พวกเขาก็ยังไม่ยอมรับกัน ผมขอเรียนให้ทราบว่า มีอาจารย์ท่านหนึ่งคือ อุสตาซซาฟีอี ที่บอกว่าเป็น BRN Co- ordinate เจอกันครั้งหนึ่งก่อนที่ท่านจะหนีไป ผมถามว่า เหตุการณ์ที่ฆ่ากันอย่างนี้ เป็นเช่นไร ท่านก็ตอบในลักษณะเดียวกัน ท่านตอบว่า เป็นพวก "เซซัด" คือ"พวกหลงทาง" ซึ่งการหลงทางในอิสลามมันใหญ่โตมาก มันหลุดออกจากศาสนาเลย อุสตาชซาฟีอีพูดเช่นนี้ ไม่ว่าใครจะถามเช่นไร ท่านก็ตอบแต่ว่า พวกหลงทาง

เพราะฉะนั้นถ้า ๒ อันนี้เป็นสิ่งซึ่งต่างกันแล้วใครกดสวิชต์ให้มันไปในเป้าหมายเดียวกัน ตรงนี้เราต้องค้นหากันว่ามันคืออะไร อาจจะมีสิ่งซึ่งตัวแทนจาก ปตท.สผ.ต้องช่วยกันคิด เจ้าของบริษัทน้ำมันแห่งหนึ่งบอกว่า ในเมืองไทยผมไปสำรวจเกือบทั่วประเทศ เมืองไทยมีน้ำมันเยอะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่ผมไม่อยากจะเอ่ยในที่นี้ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องคิดร่วมกันว่ามันคืออะไร แต่อย่างหนึ่งที่ผมประหลาดใจตลอดเวลาว่า เมื่อเราเรียกร้องแม้กระทั่งกรรมการสันติสุขชุมชน เรียกร้องให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา แต่ดูเหมือนว่าชุมชนทั้งหมดนั้นกลายเป็นกลุ่มก่อการร้ายทั้งหมด ในข้อสรุปในขณะนี้ ชุมชนไม่มีสิทธิ์ที่จะเสนออะไรได้เลย ผมกล้าท้าไปเลยว่า ถ้าหากชุมชนถูกปลุกระดมมาเพื่อรองรับจากกลุ่มฝ่ายความมั่นคงเพื่อมาจัดกิจกรรม มันไม่มีทางสำเร็จแน่นอน

คงจะจำกันได้ว่า ตอนที่เราประชุมกันเครียดว่าจะลาออกหรือไม่ลาออก ปรากฏว่าในขณะนั้นท่านนายกยังไม่ได้เซ็น ผมได้คุยกับอาจารย์หมอประเวศน์ที่ปัตตานีเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม กลางคืนเกิดเรื่อง แต่ผมคุยกับอาจารย์หมอประเทศในตอนเย็น ผมบอกว่ามันไม่ไหวแล้ว เพราะว่ามันเกิดกรณีแรงมาก ผมบอกว่าน่าจะมีคณะกรรมการนโยบายสันติสุข ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งชาติ แล้วหลังจากนั้นก็มีผู้สื่อข่าวจาก ITV โทรศัพท์มาสัมภาษณ์ ผมก็คุยปกติ ไม่คิดว่าเขาจะเอาข้อมูลไปทำอะไร แต่ปรากฏว่ารายการ Hot News ในคืนนั้นออกอากาศ ผมก็แปลกใจ โทรไปถามเพื่อน เพื่อนก็บอกว่าเขาอ้างชื่ออาจารย์ด้วย ผมก็คิดว่าคงไม่เป็นไรเพราะสิ่งที่พูดผมว่าเป็นข้อเสนอที่ดี

แต่ต่อมาหลังจากนั้น คณะกรรมการที่ผมเคยเสนอว่าน่าจะเป็น ๕ ฝ่ายและมีฝ่ายไหนบ้าง แต่มาเจอว่ามีการตั้งคณะกรรมการ ฯ แล้วกรรมการนั้นเป็นฝ่ายความมั่นคงหมดเลยทั้งซ้ายขวา ผมจึงถามอาจารย์บวรศักดิ์ว่า ทำไมอาจารย์ถึงเสนออย่างนี้ ท่านอาจารย์คิดหรือว่ามันจะแก้ได้ อาจารย์บวรศักดิ์ย้อนกลับตอบว่า ผมไม่ได้มีส่วนเสนออะไรเลย มันมาจากสภาความมั่นคงทั้งหมด ในความเป็นจริงนั้น ผมเสนอ ๕ สายดังนี้ คือ

สายที่ ๑. สายหอการค้าและนักธุรกิจ สาเหตุที่เสนอเช่นนี้เพราะองค์ประกอบของผลประโยชน์มีการค้ายาเสพติด ค้าของเถื่อน และของหนีภาษี จึงน่าจะให้นักธุรกิจมาเป็นกรรมการเพื่อช่วยกันแก้ไข

สายที่ ๒. บรรดาผู้นำศาสนาทั้งพุทธและมุสลิมซึ่งถูกอ้างอิงในการก่อการตลอดเวลา ก็ควรเอาผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้เข้ามา

สายที่ ๓. กลุ่มนักการเมือง ทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ ก็เป็นที่ทราบกันอยู่

สายที่ ๔. ฝ่ายความมั่นคง

สายที่ ๕. พลเรือน

ผมขอเรียนว่า การแก้ไขปัญหาใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ มันไม่ใช่เรื่องศาสนา มันไม่ใช่เรื่องของเชื้อชาติ แต่มันเป็นเรื่องของ"ความเป็นธรรม" ผมอยากจะเรียนที่ตรงนี้ว่า คนแรกที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา หลังจากที่ท่านอดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูรานนท์ ตัดสินใจเลือกเอานโยบายมาใช้ มีนโยบายที่ชัดเจนคนที่มาคนแรกคือคุณเจริญจิต ณ สงขลา ท่านอาจารย์ปิยะไปถามคุณเจริญจิตว่า ท่านจะเสนอมาตรการ ๑๔ ข้อว่าอย่างไร คุณเจริญจิตบอกว่า ต้องให้มีรากหญ้ามาแก้ปัญหาด้วย ด้วยวัย ๘๐ ปีและไม่ใช่คนมุสลิม แต่มีเกียรติประวัติในการทำงานนั้นเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว ท่านเป็นนักปกครองที่มีความสามารถและดีเยี่ยม

ไล่ชื่อมาจนถึงท่านองคมนตรีพลากร ไปเช็คประวัติท่านได้เลย รวมทั้งท่านอานันต์ อานันตกูล ล้วนแต่มีเกียรติประวัติใน ๓ - ๔ จังหวัดดีเด่นทั้งสิ้น นี่แสดงว่านักปกครองที่ดีเยี่ยมของกระทรวงมหาดไทยสามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ เมื่อมีนโยบายที่ชัดเจน จึงเป็นที่มาว่าที่ผมบอกว่าไม่เห็นทางที่จะแก้ปัญหาเพราะรัฐบาลใช้ความรุนแรงเข้าไปแก้ ดังที่อาจารย์ปณิธานกล่าวเมื่อสักครู่ว่ามันเป็นเรื่องที่ซ้อนกันอยู่มากมาย

สุริชัย หวันแก้ว
หากฟังจากอาจารย์ เราจะเห็นว่าเรามีสำนึกประวัติศาสตร์สั้นไปหน่อย อย่างน้อยความเกี่ยวโยงระหว่างท้องที่ปัตตานีกับจังหวัดอื่นๆ ของประเทศรวมทั้งที่กรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างน้อยก็มากกว่า ๒๐๐ -๓๐๐ ปี แต่ว่าบนเส้นทางนี้ เรายังมีความรู้สึกแปลกแยกจากกันอย่างมากจนน่าประหลาดใจ เพียงเหตุการณ์ ๒ เหตุการณ์ในกลุ่มมุสลิมก็ยังแตกต่างกันมาก แต่เหตุไฉนที่คนที่มีความคิดแตกต่างกันกลับถูกผลักให้กลายเป็นพวกเดียวกัน

ประเด็นสุดท้าย อาจารย์มีข้อเสนอเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องเป็นผู้นำทางศาสนาอย่างเดียว ท่านเน้นเกี่ยวกับบทบาทนักปกครองด้วย บุคคลที่ท่านอ้างถึงคือท่านเจริญจิต ณ.สงขลาซึ่งเป็นนักปกครองที่มีความสามารถ ปัจจุบันท่านอายุ ๘๐ ปี อาจารย์พูดอย่างคนที่มองไม่เห็นทางออกต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงนี้ ต่อไปขอเชิญอาจารย์สุกรี หลังปูเต๊ะ ซึ่งมาไกลเช่นกัน

สุกรี หลังปูเต๊ะ
คณบดีคณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยอิสลาม ยะลา

ขอความสันติจงมีแด่ทุกท่าน ผมเป็นอาจารย์มาจากวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกในพื้นที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ เรามีความตั้งใจที่จะพัฒนาให้เป็นมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติให้ได้ภายในปีหน้า ปัจจุบันนี้เรามีวิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติขึ้นที่จังหวัดสงขลา เรามีมหาวิทยาลัยคริสเตียน แต่พี่น้องมุสลิมในแถบจังหวัดของเรามีเป็นจำนวนมาก แต่เราก็ยังไม่มีโอกาสที่จะมีมหาวิทยาลัยอิสลาม เนื่องจากว่ารัฐอาจจะติดขัด ดังนั้นภาคเอกชนจึงพยายามที่จะผลักดันให้เกิดมหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้นมา นับเป็นมหาวิทยาลัยอิสลามที่แสดงความเป็นอิสลามออกมาชัดเจนเพื่อแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยของสังคมไทย

ขณะเดียวกันสาขาวิชาที่เราเปิดสอน เราจะมีแค่สาขาวิชากฎหมายอิสลามและสาขาวิชาหลักการศาสนาอิสลาม นอกจากนั้นเราจะเปิดสอนวิชาที่เปิดกว้างโดยต้องการให้นักศึกษามีภาพของความเป็น Conventional กระแสหลักของความรู้ต่างๆ เพื่อที่เขาจะสามารถออกไปสู่สังคมได้โดยที่มีศักยภาพที่จะอยู่ร่วมในสังคมไทยอย่างมีความภาคภูมิใจในตัวตนของเขา อัตลักษณ์ของเขา และเอกลักษณ์ของเขา นี่คือสิ่งหนึ่งที่เรากำลังพยายามจะสร้างสันติภาพ เป็นการสร้าสันติภาพเล็กๆ ภาพหนึ่ง

ในฐานะที่ผมเป็นมุสลิม ศาสดาของผมท่านสอนว่า ในการทำงานถ้าหากว่าเราทำในสิ่งที่ดีแล้วก็ถือว่า เป็นการแสดงความเคารพภักดีต่อพระเจ้า ในภาษาอาหรับเรียกว่า Imbadud เพราะฉะนั้นการเดินทางของผมมาจากปัตตานี ยะลา มาถึงกรุงเทพ ฯ ผมถือว่าเป็นการทำงานที่เราเรียกว่า เป็นการทำความเคารพต่อพระเจ้า เป็นการสร้างสันติภาพ เพราะรากศัพท์ของคำว่า "Islam" แปลว่า "สันติ" มาจากคำว่า "Asil"

ในฐานะที่ผมเป็นคนต่างจังหวัด ผมได้มีโอกาสได้ไปเรียนหนังสือที่จังหวัดยะลาในระดับชั้นมัธยม เนื่องจากคุณพ่อของผม ได้เคยไปศึกษาที่วิทยาลัยครูยะลาในช่วงเริ่มก่อตั้งขณะนั้น ท่านได้เห็นภาพของความหลากหลายของการอยู่ร่วมกันระหว่างที่เป็นไทยพุทธ ไทยมุสลิม ไทยเชื้อสายจีน และแม้กระทั่งไทยคริสเตียน ซึ่งทำให้ท่านมีความรู้สึกว่า สภาพความหลากหลายเหล่านี้ทำให้เรามีศักยภาพที่จะทำให้เราไปอยู่ในสังคมไทยได้อีกหลายๆ ที่ในอนาคต ด้วยเหตุนี้ท่านจึงส่งผมไปเรียนที่จังหวัดยะลา

จังหวัดยะลาในวันนั้นมันน่าอยู่มากกว่าวันนี้ ถึงแม้ว่าเราจะบอกว่าปัญหาของภาคใต้ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงวันสองวัน มันอาจจะเกิดขึ้นมาเป็นร้อยปีแล้วก็ได้ แต่เรามองว่า Agenda หรือวาระของวันนั้นกับวันนี้มันต่างกัน วาระในวันนั้นเหมือนอย่างที่ท่านวิทยากรหลายท่านพูด มันเป็นวาระพื้นที่ เป็นวาระของสังคมไทย เป็นวาระของความอยู่รอดของประเทศไทย แต่ ณ วันนี้ปัญหาของภาคใต้ถึงแม้จะเป็นปัญหาของคนหลายแสน หลายล้านคนก็ตาม มันคือวาระของความอยู่รอดของคนทั้งโลก มันเป็นวาระของโลก มันเป็นวาระของมนุษยชาติ

ดังนั้นภาพในวันนั้นกับภาพในวันนี้จึงเป็นภาพที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จิ๊กซอของวันนั้นกับวันนี้มันได้ขยายตัวหรือหดตัวก็ไม่อาจทราบได้ เพราะฉะนั้นผมอยากให้ทุกๆ ท่านเห็นภาพว่า ตามที่ท่านอาจารย์วรวิทย์ได้พูดถึงเรื่องสตูลและปัตตานี เนื่องจากผมมาจากจังหวัดสตูล ผมอยากให้ท่านเห็นภาพสักเล็กน้อยว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองซึ่งอาจะเกี่ยวข้องกับขบวนการสร้างชาติไทยในอดีตมาก็ได้

อย่างที่ท่าน ดร.วรวิทย์พูดมาเมื่อสักครู่ก็คือ ลูกหลานของเจ้าเมืองสตูลคนสุดท้าย ได้มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรก นั่นคือความภูมิใจของคนสตูล และความรู้สึกที่ไม่แปลกแยกสำหรับชาวสตูล เพราะวังเดิมของเจ้าเมืองสตูลกลายเป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ความแปลกแยกที่เกิดขึ้นในกระบวนการบริหารการปกครอง เปลี่ยนจากที่เคยเรียกว่า"สุลต่าน"มาเรียกว่า " ข้าหลวง " ปู่ของผมบอกว่าวันนี้เขาเชิญกำนันไปประชุมกันที่บ้านข้าหลวง ซึ่งผมไม่คุ้นเคยกับคำว่า"ข้าหลวง" จึงถามท่านว่า"ข้าหลวง"คืออะไร ท่านบอกว่า "ข้าหลวง"ก็คือ"ผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบัน" ซึ่งก็คือลูกหลานของเจ้าเมืองสตูลที่เดินทางมาขยายอาณาเขตต่อหลังจากที่เมือง"เคดาร์" หรือ"เมืองไทรบุรี"นั้นคับแคบเกินไปสำหรับลูกหลานของพวกเขา แต่เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มันเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ และเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง

ผมคงไม่สามารถไปดูขบวนการสร้างชาติในส่วนของ ๓ จังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแตกออกเป็นออกเป็นมณฑลต่างๆ แต่อยากจะให้เกิดการเปรียบเทียบให้รับรู้เท่านั้นเองว่า ปัญหาของความรู้สึกมันเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันนั้น เท่าที่ผมทราบมา หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองท่านผู้ว่าราชการคนแรกของปัตตานีเป็นชาวเชียงใหม่ เนื่องจากว่าท่านจะต้องเดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่เหนือสุดของประเทศลงไปยังปัตตานีที่ในสมัยนั้นถือว่าไกลมากๆ มันเกิดคำถามว่า ท่านจะไปอยู่อย่างไรในท่ามกลางคนที่ท่านไม่เคยรู้กันมาก่อน ท่านจะอยู่อย่างไรกับคนที่ท่านคิดว่าเป็นคนแปลกแยก ซึ่งไม่ใช่คนที่ใช้ภาษาเดียวกับท่าน

สิ่งที่ท่านทำคือ นำเอาพระพุทธรูปไปวางไว้ที่จวนผู้ว่าฯ ใครก็ตามที่มาเยี่ยมเยียนท่านก็ต้องมากราบไหว้พระพุทธรูป ซึ่งก็ไม่น่าเป็นการผิดอะไร แต่หากมองโดยระบบก็คือเริ่มนำสิ่งที่ประชาชนทำท่าจะรับไม่ได้ มันไม่ได้ผิดที่ตัวบุคคลแต่อาจจะผิดที่กระบวนการ ซึ่งผู้ที่ตัดสินใจในวันนั้นไม่อาจที่จะมองจนถึงวันนี้ได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้น ณวันนี้ นั่นคืออุบัติเหตุทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ เราลืมได้หรือไม่ ให้อภัยกันได้ไหม ยกโทษกันได้หรือไม่ ถ้าหากว่าได้นี่คือความประเสริฐของสังคมไทย แต่ถ้าไม่ได้ นี่ก็คือภาพที่เราเรากำลังเจอกันในวันนี้ ดังนั้นผมอยากจะสรุปภาพของปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ผมมิบังอาจที่จะบอกว่าผมรู้ในทุกเรื่อง แต่ผมอยากที่จะสรุปให้เป็นอักษรภาษอังกฤษ ๓ ตัวคือ ๓ R ก็คือ

ปัญหาตัวที่ ๑. Race ผมขออนุญาตใช้คำว่า Race ไม่ใช้คำว่า Ethnics เพราะเมื่อผมไปศึกษาคำว่า Ethnics ในความหมายในการตีความของพี่น้องชาวมุสลิมที่มีเชื้อสายมาลายู ศาสตราจารย์ท่านหนึ่งที่ผมได้เคยร่ำเรียนจากท่านในมาเลเซีย ท่านบอกว่า ความเป็นมาลายูมีอยู่ ๔ ประการ

ประการที่ ๑ คือ ภาษา
ประการที่ ๒ คือ Geography ภูมิศาสตร์
ประการที่ ๓ คือ Religion คือศาสนา
ประการที่ ๔ คือ History ประวัติศาสตร์

คนใดก็ตามที่มี ๔ ประการนี้ร่วมกัน นั่นคือคนมาลายู ถ้าคุณมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน มีประวัติศาสตร์ของช่องแคบมะละการ่วมกัน นั่นคือตัวที่ ๑. ที่คุณมีความรู้สึกร่วม ส่วนตัวที่ ๒. คือ ภูมิศาสตร์ เรื่องที่ดินมันจะแยกกันไม่ได้อยู่แล้วเพราะที่ดินมันติดกันอยู่แล้ว แต่ทั้ง ๔ ประการท่านไม่ได้พูดถึง Power เลย ไม่ได้พูดถึง Authority ไมได้พูดถึงอำนาจ ไม่ได้พูดถึงรัฐ แต่พูดถึงอัตลักษณ์ในตัวตนของคน ซึ่งผมขอใช้คำว่า Race เพราะว่าเมื่อใช้คำนี้ มันอาจจะไม่ผูกติดกับศาสนา ที่ท่านศาสตราจารย์ท่านบอกว่า Religion ตรงนี้ก็คือ อิสลาม

ซึ่งปัจจุบันนี้อิสลามกับมาลายูกลายเป็น Synonym หลายคนจึงเรียกผิดเรียกถูก บางครั้งเรียก"มุสลิม"ว่า "มาลายู" เรียกผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมหรือชาวพุทธว่า ซีแย ในพื้นที่คนมุสลิมจะเรียกตนเองว่า นายู ซึ่งนายูนี้เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่ามาลายู กลายเป็น Synonym ของคำว่ามุสลิม ในขณะเดียวกันเขาเรียกคนไทยพุทธว่า ซีแย หรือ สยาม สิ่งเหล่านี้อาจจะดูง่ายๆ สำหรับคนในพื้นที่ แต่ลึกๆ แล้วผมอยากสรุปให้กับตนเองว่า กระบวนการสร้างชาติไทยยังไม่นิ่ง ตราบใดที่เขายังคิดว่า คนซีแยหรือสยามเป็นคนพุทธ เขาไม่ใช่พุทธดังนั้นเขาจึงไม่ใช่คนไทย เหตุนี้เองที่ผมคิดว่ากระบวนการสร้างชาติไทยยังไม่นิ่งจะต้องทำกันต่อไปอีก ดังนั้น R ตัวที่ ๑ คือ Race

มันเป็นไปได้หรือไม่ว่า เราลองเอาตัวอย่างของมาเลเซียมาใช้บ้าง ซึ่งตรงนี้ผมไม่อยากเอ่ยถึงมาเลเซียมากนัก เพราะหากเราดูใน Web board เราจะพบว่ามีการด่าถึงมาเลเซียอย่างรุนแรง และด่าคนมุสลิมด้วย ใน Web board ต่างๆ ที่ผมเจอ เมื่อผมในฐานะเป็นคนมุสลิม ผมต้องใช้ความอดทนอย่างสุดซึ้ง ผมจะอ่าน Web board หลังจากที่ผมละหมาดแล้วเท่านั้น ไม่เช่นนั้นผมจะทนไม่ได้กับคำด่าต่างๆ นานาถึงศาสนาของผมและพ้องเพื่อนมุสลิมของผม ดังนั้นสิ่งที่มาเลเซียพยายามจะขจัดความขัดแย้งระหว่างชนต่างๆ เช่น มาลายู อินเดีย และจีน ทำไมวันนี้ชาวจีนในมาเลเซีย จึงมีความภูมิใจในความเป็นจีนมาเลเซีย ทำไมวันนี้ชาวอินเดียในมาเลเซียจึงมีความภูมิใจในความเป็นอินเดียมาเลเซีย

สิ่งที่ ดร. มหาเธร์ อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียพูดอย่างชัดเจนว่า ตราบใดที่มีการส่งรัฐมนตรีไปติดต่อค้าขายกับจีน ดร.มหาเธร์ ท่านจะไม่ส่งนายโมหะหมัด นายยูซุก ไปอย่างแน่นอน ท่านจะส่งรัฐมนตรีที่เป็นคนจีนเพื่อไปพูดคุยกับลูกค้าทางธุรกิจในประเทศจีน เพราะเมื่อใดที่กำแพงภาษาหมด กำแพงภาษีมันก็ลด เพราะฉะนั้น เมื่อใดที่มาเลเซียต้องการแรงงานที่จะมาทำตึกรามบ้านช่อง ท่านก็จะส่งท่านซามาเวรูไปคุยกับทางประเทศอินเดีย เพราะท่านจะได้ไปใช้ภาษาทมิฬที่ทางนั้นเข้าใจ จึงสามารถเจรจาแรงงานราคาถูกได้ อย่างเมืองไทยทางมาเลเซียจะให้คนของเขามาคุยกับท่านวันนอร์ เพราะจะได้พูดคุยเป็นภาษามาลายูอย่างเข้าใจกัน ตรงนี้มันเป็นเรื่องของ Race ซึ่งผมคิดว่า มันเป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา แต่อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด

ปัญหาตัวที่ ๒ คือ Religion ถ้าหากว่า ศาสนาเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด ผมคิดว่าไม่น่าจะใช่ เพราะถ้าเป็นปัญหาของศาสนา ลองเชิญโต๊ะอิหม่าม ลองเชิญเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะจังหวัด รับรองว่าไม่นานก็แก้ไขได้

ส่วนปัญหาตัวที่ ๓ คือ Resource ผมว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดในตอนนี้ คนที่เสียหายก็คือประชาชนอย่างแน่นอน และตอนนี้ก็เกิดความเกรงกลัวขึ้นในหมู่ประชาชนแล้ว เราสามารถสังเกตได้หากเราไปทำการวิจัยในพื้นที่ ต่อให้เราใช้งบประมาณมากแค่ไหนก็ไม่อาจได้ข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริงได้ เพราะไม่มีใครกล้าพูด ดังนั้นในส่วนของโลกมุสลิม จริงๆ แล้วยุทธศาสตร์ที่ท่าน ดร.ปณิธานได้พูดถึงก็คือ เรามียุทธศาสตร์ของประเทศไทยซึ่งเป็นพระราชดำรัสของในหลวงคือประโยคที่ว่า "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" จริงๆ แล้วมุสลิมก็ไม่ได้มองต่างกันเลย

หลักการสมานฉันท์ในอิสลามมี ๓ ขั้นตอน และสามารถที่จะแปลความหมายให้สอดคล้องกับแนวทางพระราชดำรัสได้อย่างชัดเจน นั่นคือ

ขั้นตอนที่ ๑ คือคำว่า ตะอรุฟ ซึ่งเป็นภาษาอาหรับแปลว่า การรู้จักซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เป็นการรู้จักคนเดียว คนข้างบนต้องไปรู้จักคนข้างล่าง คนข้างล่างต้องรู้จักคนข้างบน นั่นคือการเข้าถึง จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้

ขั้นตอนที่ ๒ ตะฟาฮุม คือความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ปล่อยให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเข้าใจแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งต้องทำความเข้าใจในอีกฝ่ายหนึ่งด้วย นั่นคือ ความเข้าใจ ตามหลักการสมานฉันท์

ขั้นที่ ๓ คือ ตะอวุ่น คือการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งเป้าของมันคือการพัฒนา เรื่องการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหลักการอิสลามพูดชัดเจนว่า " ท่านจงช่วยเหลือในความดี และความยำเกรงต่อพระเจ้า และอย่าช่วยเหลือบนสิ่งที่เป็นบาปและสิ่งที่สร้างศัตรู " นี่คือคำสั่งสอนของศาสนาอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นแนวทางที่เป็นพระราชดำรัสกับแนวทางสมานฉันท์ของอิสลาม ผมคิดว่าเราสามารถที่จะมานั่งคุยกันแล้วหาทางที่จะสร้างสันติภาพขึ้นมาให้ได้

ผมมั่นใจว่า หากคนข้างล่างหรือประชาชนนั้นมีส่วนร่วมในการที่จะเสนอความเห็นด้วยตัวของเขาเอง ว่าเขาต้องการอะไร ต้องการอย่างไหน และมีความรู้สึกว่า เขามีความภาคภูมิใจไหมกับแนวทางนั้น และข้อเสนอของชาวพุทธเองจะสามารถเข้าไปอยู่ในใจของเขาได้ไหม แล้วหาทางในการที่จะสร้างสันติภาพขึ้นมาอย่างชัดเจนให้ได้ ผมอยากจะพูดว่า มุสลิมทุกคนทั้งที่อยู่ในที่นี้หรือไม่ก็ตาม ต่างก็มองว่าสันติภาพที่ยั่งยืนไม่ได้อยู่ในโลกนี้เท่านั้น

สันติภาพบนโลกเป็นแค่กระบวนการหนึ่งของสันติภาพเท่านั้น แต่สันติภาพที่ยั่งยืนคือสันติภาพบนสรวงสวรรค์ ซึ่งทัศนะของอิสลามก็คือ "สวนสวรรค์" (Garden of Peace) ซึ่งภาษาอาหรับใช้คำว่า "ดารุสซาลาม" อันเป็นชื่อที่เป็นสร้อยของปัตตานีในอดีตก็คือชื่อของสวรรค์ ซึ่งเป็นชื่อที่มุสลิมหวังว่าในอนาคตคือโลกหน้า คือที่พักอย่างถาวรของเราทุกคน ทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมซึ่งยอมรับพระเจ้า นี่คือมุมมองของศาสนาอิสลาม

สุริชัย หวันแก้ว
ท่านอาจารย์พูดถึง ๓ R ซึ่งเป็นเหตุของปัญหาที่เราต้องมาวิเคราะห์กัน อาจารย์เน้นใช้คำว่า Race ผมว่ามันเกี่ยวข้องกับประเด็นที่อาจารย์พูดเหมือนกันว่า อย่างเช่นคนจีนในมาเลเซีย เขามีความภาคภูมิใจของเขา แต่ในสังคมไทย คนจีนที่เป็นไทยก็เกิดความภาคภูมิใจ แต่ทำไมคนมาลายูที่เป็นไทย กลับไม่มีความภูมิใจ อาจารย์สรุปอันหนึ่งว่า การสร้างชาติในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมาว่าแม้ขณะนี้ก็ยังไม่นิ่ง กระบวนการนี้น่าจะกลับมาดูการสืบเนื่องร้อยกว่าปีที่ผ่านมาด้วย ซึ่งผมว่าน่าสนใจมาก อยากฝากถามไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองด้วย ซึ่งเป็นการพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกันในทุกกรณี ต่อไปผมขอเรียนเชิญคุณอุษา เลิศศรีสันทัด จากเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ

คุณอุษา เลิศศรีสันทัด
เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ

ดิฉันมาในนามของเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ซึ่งร่วมกันทำงานในหลายๆ ฝ่ายไม่ใช่แค่เพียงมูลนิธิผู้หญิงเท่านั้น แรกเริ่มจากเหตุการณ์การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นเรื่อยมาจนถึงเหตุการณ์ ๒๘ เมษา สถานการณ์ช่วงนั้นเป็นภาพของความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีความสูญเสียเกิดขึ้นโดยเฉพาะกับชาวมุสลิม แต่ภาพความรู้สึกหรือ Polls ทั้งหลายที่ออกมาจากสื่อต่างๆ กลับเห็นด้วยที่รู้ว่ามีชีวิตที่ถูกทำลาย ดังนั้นกลุ่มของเราก็เลยชวนกันโดยเริ่มจากเพื่อนๆ และกลุ่มผู้ดูแลเด็กมาจากทางพื้นที่ และชักชวนกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ทำงานใกล้ชิดกับเรา คือกลุ่มผู้หญิงกับกลุ่ม AIDS และเครือข่ายแรงงานด้าน AIDS มาคุยกัน

การคุยกันในวันนั้นทำให้เห็นว่ามันมีความจำเป็นที่เราต้องริเริ่มทำอะไรบ้าง แต่การเปิดตัวต้องไม่ให้เกิดผลกระทบว่า เราใส่ใจในด้านใดด้านหนึ่งเกินไป แต่ใจจริงของพวกเรา เราต้องการสร้างสันติสุขให้เกิดกับสังคม จึงไม่ใช่หน้าที่ของเครือข่ายผู้หญิงที่จะบอกว่าใครผิดใครถูก หน้าที่ของเราก็คือ

อย่างแรก เราต้องการรณรงค์ให้ขจัดอคติที่จะเกิดขึ้นกับคนมุสลิมที่เราได้รับได้ยินมา

อย่างที่สอง ก็คือ เราอยากที่จะรับทราบว่าคนที่อยู่ในสมาชิกของครอบครัวผู้สูญเสียในเหตุการณ์เกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่เสียชีวิตคือผู้ชาย ผู้ที่หลงเหลืออยู่คือผู้หญิงและเด็ก รวมทั้งภาระที่ต้องดำเนินชีวิตอยู่ต่อไป เรามีคนจากพื้นที่มาร่วมนำเสนอ จึงนำปัญหาคนรอบข้างในชุมชนมาร่วมพูดคุยกัน เพี่อให้ทราบถึงภาวะจิตใจที่สูญเสียกับภาวะเศรษฐกิจที่บีบคั้นด้วย

อย่างที่สาม คือเราอยากให้สาธารณชนได้มีความเข้าใจกับคนในพื้นที่ด้วย คือพยายามเป็นสื่อกลางและเชื่อมให้เกิดความรับรู้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง และให้คนในสังคมได้มีความเข้าใจและมองอีกด้านหนึ่ง เพราะตอนนี้หากเป็นหญิงมุสลิม เวลาไปที่ไหนจะมีคนมองด้วยสายตาแปลกๆ และมองอย่างไม่ไว้วางใจ ตรงนี้คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่มีความเข้าใจ และยิ่งสื่อช่วยกันประโคมข่าวรวมกับกระแสโลกเรื่องการก่อการร้าย ตรงนี้เองที่เกิดความระแวงต่อคนมุสลิมแม้จะเป็นผู้หญิงก็ตาม และหากเดินมาเป็นกลุ่มๆ ก็จะเป็นน่าจับตามอง

จากจุดเริ่มต้นนี้เอง เราจึงมาคุยกันว่าเราอยากทำอะไรบ้าง และแน่นอนที่สุดก็คือเราอยากที่จะไปถึงคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง โดยเชื่อมต่อกับเครือข่ายผู้ดูแลเด็ก ขั้นแรกเราก็เริ่มต้นที่ไปรับฟังข้อมูลจากเครือข่ายผู้ดูแลเด็ก เนื่องจากพื้นที่เป็นท้องถิ่นที่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ มาก เราได้รับทราบข้อมูลจากผู้ดูแลเด็กผู้สูญเสียก่อน หลังจากนั้นเราก็มาวางแผนว่าจะทำอะไรกันต่อไป โดยเราเริ่มจากเครือข่ายผู้ดูแลเด็กเพื่อที่จะเชื่อมต่อไปยังผู้สูญเสียคนอื่นๆ เพราะเราต้องการที่จะสร้างกระบวนการที่จะรับฟังและเรียนรู้จากผู้สูญเสียที่แท้จริง และก็ต้องการที่จะหาทางให้เขามีเวทีที่จะแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

ตัวอย่างมีอยู่ในหนังสือที่มูลนิธิช่วยกันจัดทำในนาม "เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ" ชื่อหนังสือว่า "ชีวิตที่หลงเหลือกับรอยยิ้มหลังหยาดคราบน้ำตา" ซึ่งเรารวบรวมชีวิตจริงจากผู้สูญเสีย ในด้านศาสนามุสลิมถูกสอนให้มีความอดทนทั้งหญิงและชาย เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น เขาจะอดทนไม่ร้องไห้เพื่อที่จะเป็นหลักให้กับลูกๆ แต่เมื่อเราชวนเขาออกมาแลกเปลี่ยนความทุกข์และทำกิจกรรมร่วมกัน เขาจึงได้มีโอกาสระบายความทุกข์ร่วมกัน ทำให้เกิด "พื้นที่เพื่อเธอได้ร่ำไห้" ในหนังสือเล่มนี้

จากการที่เราได้เชื่อมต่อกับเครือข่ายผู้ดูแลเด็ก ซึ่งเขาได้รวมตัวกันเป็นชมรมผู้ดูแลเด็ก ๓ จังหวัดภาคใต้ เขาได้เล่าถึงปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ให้เราได้รับฟังว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเด็กอย่างมาก รวมทั้งความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตของผู้ดูแลเด็กเองด้วย เขาจึงอยากเสนอให้เขาได้รับเบี้ยเลี้ยงเพื่อความปลอดภัยเพิ่มขึ้นดังเช่นที่ข้าราชการทุกส่วนได้รับเบี้ยกันดารเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ดูแลเด็กนอกจากเสี่ยงอันตรายแล้วก็ยังทำงานหนักกว่าครู ทั้งที่ครูยังได้มีเวลาพักผ่อนในช่วงปิดเทอม แต่ผู้ดูแลเด็กไม่มีวันพัก ดังนั้นภาระของผู้ดูแลเด็กจึงหนักมาก ดูเหมือนสังคมไม่ให้ความสำคัญกับผู้ดูแลเด็กตรงนี้

สิ่งที่สำคัญมากคือสถานการณ์แบบนี้มันส่งผลต่อเด็กๆ ที่อยู่ในศูนย์ เขาได้ยินเสียงปืนที่ซ้อมรบกันตลอดเวลา และมีการเดินถือปืนกันในชุมชน ดังนั้นเด็กๆ จะซึมซับความรุนแรงตามไปด้วย ในส่วนตรงนี้ทางเครือข่ายจึงร่วมกับผู้ดูแลเด็กจัดกิจกรรม ตอนนั้นองค์การ"ตาร์เดซอม"ได้เชิญวิทยากรจากองค์การที่ชื่อว่า "ทรานเซ็น" จากนอร์เวย์ และเชิญองค์กรที่เป็น partner ของตาร์เดซอม ซึ่งมาจากพื้นที่ที่มีปัญหาขัดแย้งและมีความรุนแรงทั้งนั้น เช่น จากฟิลิปปินส์ จากอินโดนีเซีย และจากอาเจ๊ะห์ จึงได้เห็นว่าเรื่องความขัดแย้งหรือการสร้างสันติ มันไม่ใช่แค่เรื่องทักษะของการเจรจาไกล่เกลี่ยเท่านั้น แต่เราต้องชัดเจนก่อนว่า ความขัดแย้งกับความรุนแรงเป็นคนละอย่างกัน

อันดับแรก เราต้องสำรวจตัวเองก่อนว่าเรามองความขัดแย้งกับความรุนแรงว่าเหมือนกันหรือไม่ อย่างเช่นที่อาจารย์ปณิธานท่านพูดว่าเป็น Age of New Conflict กับ Age of New War พอเกิดความขัดแย้งขึ้น มันจำเป็นจะต้องเกิดความรุนแรงตามมาทุกครั้งหรือไม่ ผู้ที่เข้ามาอบรมส่วนใหญ่จะมองว่า ความขัดแย้งน่าจะไปสู่การสร้างสรรค์และการเปลี่ยนแปลงการเจริญงอกงามที่ดี แต่กับคนข้างนอกจะมองว่าความขัดแย้งนั้นเป็นทุกข์ เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นจึงไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้ และจะใช้ความรุนแรงอย่างเดียวที่จะยุติความขัดแย้งตรงนั้นลง

หลังจากที่ฟังท่านวิทยากรที่นำเสนอในลำดับต้นๆ จะเห็นว่า ความขัดแย้งในหลายๆ เรื่องน่าจะมีวิธีอื่นที่จะมาจัดการได้โดยการไกล่เกลี่ย แต่พอมาถึงความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ดูเหมือนว่าจะเป็นความขัดแย้งที่ยากจะดำเนินการหาวิธียุติลงได้

ทางภาคใต้มีความแตกต่างเรื่องศาสนามานานแล้ว แต่เราก็อยู่กันได้ แม้ในสังคมไทยเองก็มีความขัดแย้งร่วมกันในหลายๆ เรื่อง แต่เราก็อยู่กันมาได้โดยมีวิธีที่จะหลีกเลี่ยงหรือเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรง ดังนั้นเหตุการณ์ที่ภาคใต้จึงไม่ชัดเจนว่า มันเป็นความขัดแย้งเรื่องอะไรกันแน่ ไม่มีคำตอบออกมาตรงๆ เช่นหากชัดเจนว่าเป็นความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ ก็จะได้มีการจัดการแก้ไขความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ให้มันลงตัวอย่างเท่าเทียมกัน กรณีที่ท่านอาจารย์ได้บอกว่าจะมีการนำประชาธิปไตยลงมาใช้ หากนำมาใช้ก็ต้องเคารพศาสนาด้วยเพื่อความละเอียดอ่อนในเรื่องศาสนา

ส่วนในเรื่องการทำงานของกลุ่มผู้หญิง ผู้ดูแลเด็กก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ท่ามกลางอันตราย จึงจำเป็นที่จะต้องสอนเด็กไม่ให้ใช้ความรุนแรง ถึงแม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่มีเสียงปืน มีเสียงระเบิดตลอดเวลา เราอยากให้เขาเรียนรู้ว่า การใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และความขัดแย้งเป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้ ทางกลุ่มเพื่อนผู้ดูแลเด็กได้ช่วยกันคิดการ์ตูนขึ้นมาเพื่อสอนเด็ก โดยคิดเป็นเรื่อง "ช้างกับมด"

เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า มดไปขวางทางเดินของช้าง ช้างจึงไปเหยียบมดที่ขวางทางเข้าจึงเป็นเหตุให้ชางกับมดทะเลาะกัน ในที่สุดมดก็ผนึกกำลังสามัคคีช่วยกันกัดช้างจนตกเหวตาย แต่เมื่อเอาเนื้อเรื่องมาดูเราจะเห็นว่า มันทำให้เห็นเป็นสองขั้วคือดีกับไม่ดี แต่เราต้องการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น จึงไม่น่าที่จะนำเสนอแบบนี้ แม้ว่าความสามัคคีเป็นเรื่องดีก็ตาม แต่ผลที่มันจะเกิดขึ้นอาจเป็นเรื่องไม่ดี เราจึงเปลี่ยนแปลงเนื้อเรื่องใหม่ โดยเปลี่ยนจากการรุมช้างจนตกเหวตายมาเป็นวิธีการอื่นแทน โดยการบอยคอตช้างจะไม่มีใครในป่าสนใจช้างเลย

เมื่อนำการ์ตูนนี้ลองใช้กับเด็กก็คิดว่าได้ผลดี คิดว่าน่าจะเป็นค่านิยมใหม่ที่จะปลูกฝังให้กับเด็กๆ เพื่อลดการใช้ความรุนแรง ทดแทนค่านิยมเก่าที่ผู้ใหญ่ปัจจุบันนิยมใช้กันอยู่ คือเมื่อเกิดความขัดแย้งก็ต้องสู้ตายกันไปข้างหนึ่งตลอดเวลา เราอยากเปลี่ยนให้ผู้ใหญ่คิดว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ดี และหาทางจัดการความขัดแย้งอย่างลงตัว ทั้งหมดที่ดิฉันพูดมาได้ชี้ให้เห็นว่า เป็นงานส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคม โดยล่าสุดที่เราจัดกิจกรรมโดยให้เพื่อนผู้ดูแลเด็กได้แสดงละครชีวิตของเขาเอง ในงานแนะนำหนังสือที่จัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เกิดความซาบซึ้งกันในกลุ่มผู้เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก นั้นถือว่าเป็นกิจกรรมเยียวยาทางด้านจิตใจอย่างหนึ่ง อันเป็นงานส่วนหนึ่งที่พวกเราช่วยกันทำ

สุริชัย หวันแก้ว
ในท่ามกลางความขัดแย้งในสังคมที่แตกแยกอยู่แล้ว ผู้คนส่วนใหญ่มักจะมองไปที่คู่ขัดแย้งที่เป็นศัตรูกัน แต่คุณอุษาได้พูดถึงเด็ก ๆ และผู้ดูแลเด็กซึ่งเรามักไม่คิดถึงกัน นับเป็นงานที่ยากมากที่จะพยายามช่วยเหลือให้ผู้ดูแลเด็กทำงานได้อย่างดี ท่ามกลางความรุนแรงเหล่านั้น รวมทั้งหาพื้นที่ตรงกลางท่ามกลางบรรยากาศของการแยกขั้วอย่างมีอคติ เราคงต้องคิดอะไรให้มากกว่าความต้องการกำจัดศัตรูเพียงอย่างเดียว บางทีเรื่องของการเยียวยาไม่ใช่แต่เพียงเด็กๆ เท่านั้น บางทีสังคมทุกวันนี้ที่ดูเหมือนไม่ค่อยมีหัวใจ มีแต่ความหวาดระแวง ไม่ไว้ใจกัน จับต้องจิตใจกันไม่ค่อยได้ อาจจะต้องการการเยียวยามากกว่าด้วยซ้ำไป

สุรัตน์ โหราชัยกุล
ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก่อนอื่นผมต้องขอคัดค้านเรื่องที่อาจารย์สุกรีพูดถึง Race นั้น ผมว่ามันไม่ได้ช่วยอะไรเราเลย คำว่า Race เป็นภาษาอิตาเลี่ยนมาจากคำว่า Russo ซึ่งมีนัยยะทางชีววิทยามากกว่า สำหรับในโลกปัจจุบันที่มีความสลับซับซ้อนทางอัตลักษณ์และประเด็นปัญหามากมาย ส่วนคำว่า Ethnicity ผมว่าน่าจะดีกว่าคำว่า Race ได้มากกว่าหลายประการ ด้วยในโลกปัจจุบันที่เป็นโลกาภิวัตน์ เราต้องยอมรับความจริงว่า มันมีกระบวนการทำให้คล้ายกันเกิดขึ้นมา ในความคล้ายกันนั้นก็จะมีความเป็นปัจเจกชนมากยิ่งขึ้น ด้วยความสลับซับซ้อนอันนี้ทำให้มันเป็นปัญหาค่อนข้างเยอะมาก

ในบทความของผมนั้นได้วิพากษ์วิจารณ์ท่านนายกทักษิณมาค่อนข้างเยอะแล้ว และผมมักวิจารณ์ท่านว่าเป็นพวกที่ชอบเอาเงินฟาดหัว หรือใช้ความรุนแรงในการแก้ไขต่างๆ นานา ในบทความนั้นผมต้องการจะเน้นในเรื่องการบริหารของนายกทักษิณ แต่ในวันนี้เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า การบริหารงานภายใต้นายกทักษิณนั้นมีส่วนสำคัญมากๆ ในการที่ทำให้มันมีปัญหารุนแรงเกิดขึ้นในระดับสูง แต่ในขณะเดียวกันเราต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า มันไม่ใช่เป็นภาพต่อภาพจิกซอร์แค่อันเดียวเท่านั้น ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดถึงจิกซอร์ของ Globalize Identity และ Globalize Islam ด้วย

ในเรื่องนี้ ในปี ค.ศ. 1996 ตอนที่ผมกลับมาเมืองไทยเพื่อเข้าร่วม Thai Studies ที่เชียงใหม่บ้านเกิดของผม ในตอนนั้นผมจำได้ว่ามีการจัดสัมมนาเรื่อง " ชาวปาเลสไตน์ " ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีการพูดถึงประเด็นปัญหาในโคโซโว ประเด็นปัญหาของบอสเนีย และอื่นๆ ตามมาอีกในหลายๆ สถานที่ด้วยกัน ตรงนี้เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า Identity ที่มันข้ามซึ่งกันและกันนั้น มันมีนัยยะใหม่ มันมีแบบใหม่ที่เกิดขึ้น และที่สำคัญก็คือว่า วันนี้เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงด้วยว่า มันมีกระบวนการที่จะไปสู่ความสุดโต่งอีกแบบหนึ่งซึ่งเราเรียกว่า Radicalization ด้วย

เพราะฉะนั้นแล้ววันนี้ผมจะไม่อยากพูดประเด็นของทักษิณ ในเรื่องของการที่ก่อให้เกิดระดับของความรุนแรงเหล่านี้ขึ้นมา แต่ผมอยากไปเน้นเรื่องของประเด็นปัญหาที่อยู่ในเรื่องของ Globalize Islam และ Islamic Identity ในช่วงบ่ายที่ผ่านมา ผมคิดว่าอาจารย์ธเนศได้พูดถึงทฤษฎีของ Huntington ไว้ด้วย ซึ่งหมายถึงการปะทะกันระหว่างอารยธรรม ซึ่งวลีอันนี้ก็ไม่ใช่เป็นของ Huntington เอง ความจริงเป็นของ Bernard Luis ในเรื่อง The Race of Muslim against The West เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งที่มันมีผลมากๆ แล้วมันเกิดขึ้นด้วย มันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ด้านเดียว ทางด้านอิสลามอย่างเดียว มันเกิดขึ้นทางด้านตะวันตกด้วย

ในหนังสือของ Huntington นั้น ศัพท์ที่ใช้ในทำนายอนาคตวิทยา ผมว่าคำว่า Speculate มันสำคัญมากในที่นี้ เพราะว่าหากเรา Speculate ขึ้นมา หมายถึงว่าเราไปกำหนดพฤติกรรมของคนด้วย มันเป็นการพยายามหาจุดหมายปลายทางร่วมกันอยู่ เพราะฉะนั้นแล้วทำไมทฤษฎี Huntington ถึงมิอิทธิพลมหาศาลขณะนี้ เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงด้วยว่า มันมีอคติในการที่จะบ่งบอกว่าความคิดของคนอิสลามเป็นเช่นไร สื่อก็ได้ทำสิ่งเหล่านี้อยู่เป็นเวลานานพอสมควร เหมือนกับรองรับทฤษฎีนี้ไว้ และการรับรู้เองก็ค่อนข้างจะมีปัญหาเกิดขึ้นมาด้วยในที่นี้

สำหรับเรื่องนี้ในประเทศไทยมันก็ไม่แตกต่างกันมาก คนไทยส่วนใหญ่จะบอกเหมือนกันว่า เวลาดูเครื่องบินบินชนตึก World Trade นั้น พวกเขาจะรู้สึกเสียใจมากเพราะว่าเกิดความรู้สึกร่วมชะตากรรมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคนอเมริกัน แต่ถ้าหากเป็นเรื่องที่ชาวมุสลิมถูกยิงจะรู้สึกเฉยๆ จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า มันมีอคติเกิดขึ้น คนเราส่วนใหญ่ จะมีการยอมรับในเรื่องความรุนแรงแตกต่างกัน มันมีอคติในเรื่องความรุนแรงที่ไม่เหมือนกัน มันไม่ใช่แค่เรื่อง Race อย่างเดียว มันต้องอธิบายด้วยคำว่า Ethnicity เพราะว่ามันมีทั้งการเมือง อัตลักษณ์ และอื่นๆ ต่างก็รวมอยู่ในเรื่องนี้ ต่อไปผมคิดว่าเราควรต้องมีความพยายามในการที่จะพูดถึงการแก้ไขปัญหา และควรเลิกพูดถึงนายกทักษิณได้แล้ว

ผมกลับมาคิดว่าเราจำเป็นที่จะต้องพูดถึงการศึกษา การศึกษาในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงการศึกษาในสถาบันการศึกษา ผมหมายถึงการศึกษาที่เกี่ยวกับความรู้เรื่องของอัตลักษณ์และความหลากหลายต่างๆ เพราะว่าเราไว้ใจรัฐไม่ได้ เพราะรัฐแก้ปัญหาได้ไม่ดีพอ เราควรต้องมาขบคิดกันว่า เราจะทำอย่างไรดีหากมีการพูดถึงเหตุการณ์เหล่านี้ในทางที่จะสร้างให้เกิดความแตกแยก เราจะทำอย่างไรดีให้ Coexistent มันเกิดขึ้นเป็นองค์ความรู้กับประชาชน โดยไม่ต้องมีวุฒิบัตรรับรอง และผมเองก็ต้องขอวิพากษ์วิจารณ์ NGOs ด้วย คือเห็นว่า NGOs ต้องเลิกไล่ตามอาการเหมือนกัน มันมีอาการอื่นๆ ตามมาให้เราเล่นมากมาย อย่าวิ่งไล่ตามอย่างเดียว

มันจำเป็นที่เราจะต้องร่วมกันคิดอะไรที่มันเป็นปัญหาอันใหญ่อันกลางอย่างเดียว อันใหญ่อันกลางนี้คือความรู้ที่เราสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องเข่นฆ่ากัน เราต้องฉีกกรอบออกไปให้ได้ว่า แม้แต่บินลาเดนเองก็ไม่ใช่ตัวแทนของศาสนามุสลิม หรือแม้แต่ Huntington ก็ไม่ใช่ตัวแทนของฝ่ายตะวันตก เพราะว่าศาสนาใดหรือความคิดใด ไม่ว่าจะเป็นความคิดของรัฐหรือของกลุ่มใดก็ตามแต่ ที่นำไปสู่การสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง เป็นการตีความที่สร้างปัญหาให้กับตัวเราเอง

ผมนึกถึง Karl Smith ตลอดเวลาว่า ไม่ว่าจะเป็นศัตรูภายในหรือศัตรูภายนอกก็ตามแต่ในการสร้าง ทำอย่างไรก็ตามเพื่อที่จะได้เกิดองค์ความรู้แก่ตัวเราเองว่า เราจะไม่มีทางที่จะเข่นฆ่ากันในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญมากๆ ผมอยากที่จะฝากไว้อีกประเด็นหนึ่งคือ ผมไม่มีอคติอะไรเลยกับศาสนาอิสลามและศาสนาอื่นใดทั้งสิ้น แต่ประเด็นของผมก็คือ เวลาที่ NGOs พูดเรื่องการกระจายอำนาจ ผมคิดว่ามันเกินเลยไปมาก

หากพูดเรื่องกระจายอำนาจแล้วบอกว่าหน่วยการจัดการ การปกครองแยกออกมานั้น ตามความเป็นจริงมันไม่น่าที่จะเกิดขึ้นได้ และมันไม่ควรที่จะเกิดขึ้นเลยในลักษณะนั้น การกระจายอำนาจมันมีระดับของมัน แม้แต่สหพันธรัฐอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ผมก็ไม่เชื่อว่า State จะมี Power ได้ขนาดนั้น นั่นก็คือสิ่งที่ Boston Tea Party หรือที่ No Taxation Without Representation พยายามที่จะเสนอ ลองไปดูตัวอย่างของเด็กที่ชื่อว่า อีเลียน กุนซาเลต ขึ้นมาก็จะเห็นชัดเจนว่า อำนาจรัฐบาลกลางมันเป็นเช่นไร

ดังนั้นผมอยากจะบอกว่าสิ่งที่เรากำลังจะกระจายอำนาจนั้น มันเป็นการแก้ไขปัญหาหรือ มันแก้ไขยังไง ถ้าในเรื่องศาสนาหรือพิธีกรรมต่างๆ เราก็ควรจะกระจายอำนาจ แต่การกระจายอำนาจในเชิงโครงสร้างนั้นผมไม่เชื่อ ผมเชื่อในรัฐกลางที่เข้มแข็ง ผมเชื่อว่าเราจำเป็นที่จะต้องเอารัฐไปบูรณาการเข้ากับประเทศเพื่อนบ้านของเรา เพื่อที่จะเดินไปข้างหน้าในการต่อสู้กับสภาวะสมัยใหม่ที่เราไม่สามารถกำหนดได้ การกระจายอำนาจจะนำมาสู่การแตกแยกเท่านั้น ไม่ใช่การแก้ไข

เพราะฉะนั้นมันเป็นไปไม่ได้ด้วย และมันไม่พึงประสงค์ที่ควรจะเป็นด้วย ตราบใดก็ตามที่กระจายอำนาจแล้วไม่สามารถกำหนดนโยบายต่างประเทศ, ไม่สามารถกำหนดนโยบายความมั่นคง, ไม่สามารถกำหนดว่าอัตราภาษีควรจะเป็นเช่นไร, และไม่สามารถกำหนดด้วยว่าใครจะเป็นผู้เก็บอัตราภาษีให้รัฐกลางได้นั้น การกระจายอำนาจแบบนี้คือมายาคติชุดใหญ่ที่ต้องนั่งคุยกันจริงๆ ว่ามันควรจะเป็นเช่นไร

วันนี้ปัญหาของเราไม่ใช่แค่ภาคใต้ ปัญหาของเราเกิดขึ้นหลายรูปแบบ มีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคด้วยกัน และทั้งหมดนี้มันเป็นผลที่ว่า เราไม่สามารถที่จะเป็นคน Set มันได้ในสิ่งที่มันเข้ามา เราจะแก้ไขสิ่งนี้ได้อย่างไร สุดท้ายแล้วการปกป้องชนกลุ่มน้อยควรจะเป็นการปกป้องในลักษณะที่ว่ามีสะพานเชื่อมกันในสังคมด้วย ไม่ใช่ให้ชนกลุ่มน้อยทำอะไรตามอำเภอใจ เราต้องมองความเป็นจริงที่จะทำให้สังคมอยู่ด้วยกันได้ เราจะทำอย่างไรให้มีพื้นที่สำหรับทุกศาสนาเพื่อความอยู่ร่วมกัน ดังนั้นทางออกเพื่อสันติภาพประชาชนเท่านั้นที่จะเป็นผู้แก้ไขที่แท้จริง

สุริชัย หวันแก้ว
อาจารย์ท่านเตือนว่าอย่าพูดถึงภาวะผู้นำมากเกินไป เราควรหันมาให้ความสำคัญกับการศึกษาความรู้ความเข้าใจให้มากขึ้น รายการช่วงสุดท้ายจะเป็นการเรียนเชิญท่านพลตรีเอกชัย ศรีวิลาศ เพื่อที่จะปรารภถึงข้อสังเกตว่าเราควรทำอะไร หรือไม่ควรทำอะไร

พลตรีเอกชัย ศรีวิลาศ
หัวหน้าสำนักงานคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม

"เราควรทำอะไร และไม่ควรทำอะไร"
หน่วยงานของผมชื่อ "สำนักงานคลังสมอง วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เพื่อสังคม" ผมเป็นหัวหน้าสำนักงานคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม หน่วยงานของผมเป็นมูลนิธิไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานราชการใดๆ แต่ตัวผมมีตำแหน่งเป็นข้าราชการ จากการที่ได้รับฟังความคิดเห็นของท่านอาจารย์หลายๆ ท่านในแง่มุมแตกต่างกัน นับว่าน่าสนใจมาก ส่วนในประเด็นที่ผมจะนำเสนอ ก่อนอื่นผมอยากเรียนให้ทราบว่า ในการวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ ของผม ผมใช้ภูมิปัญญาที่เกิดจากภูมิความรู้ของผมเอง ผมไม่ได้เอาตำราของอเมริกันมาวิเคราะห์ และหากผมเอาตำราอเมริกันมาวิเคราะห์จริง ผมก็ต้องมองว่าภัยคุกคามอนาคตต่อไปคือประเทศจีน และผมก็ต้องมองว่าต้องปราบอิสลามให้หมดไปทั้งโลก และคนอิสลามจะไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกับโลกตะวันตกหรือชาวอเมริกันได้เป็นอันขาด

ผมอยากเสนอในประเด็นเรื่องภาคใต้ สภาพโดยรวมมันเป็นอย่างที่อาจารย์ปณิธานท่านกล่าวไว้จริง คือสภาพทั่วไปมันดูไม่เป็นระบบเลย มันมั่วมาก โดยปกติแล้วหากเป็นวิธีการที่ทหารทำ มันจะมีการจัดองค์กรและขั้นตอนที่ชัดเจนมาก สายบังคับบัญชาก็มีความชัดเจน จะไม่จัดแบบที่เป็นอยู่นี้ เราจะรู้เลยว่าใครควรรายงานใคร จะไม่มีการก้าวก่ายหน้าที่กันและกัน

จากข้อสังเกตของผม ในตัวเลขของ UNDP เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๓ ได้ศึกษาในพื้นที่ ๗๖ จังหวัดของประเทศไทยว่า การพัฒนาคนในพื้นที่ต่างๆ ผลออกมาเป็นอย่างไร ผมจะชี้เห็นในแต่ละประเด็น

- เรื่องแรกคือเรื่องอนามัย จังหวัดสตูลอยู่ระดับ ๔ คือดีมาก แสดงว่าจังหวัดสตูลนั้นอนามัยดีมาก รองลงมาคือจังหวัดปัตตานีอยู่ระดับ ๓ จังหวัดยะลาอยู่ระดับ ๓ ส่วนจังหวัดนราธิวาสอยู่ระดับ ๒

- ส่วนเรื่องการศึกษา จังหวัดยะลาอยู่ระดับ ๔ รองลงมาคือจังหวัดปัตตานีกับจังหวัดสตูลได้ระดับ ๓ ส่วนจังหวัดนราธิวาสระดับ ๑

- ในเรื่องของแรงงาน จังหวัดยะลากับจังหวัดปัตตานีอยู่ระดับ ในเรื่องรายได้ที่สัมพันธ์กับความเป็นอยู่ที่พอดำรงชีพอยู่ได้ พบว่า ทั้ง ๓ จังหวัดคือ จังหวัดยะลา สตูล นราธิวาสได้ระดับ ๔ หมด ส่วนจังหวัดปัตตานีได้ระดับ ๓

- ส่วนในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่นั้นจังหวัดยะลาได้ระดับ ๔ จังหวัดสตูลนั้นได้เต็มถึงระดับ ๕ จังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาสได้ระดับ ๓

- ในเรื่องครอบครัวนั้น จังหวัดนราธิวาสได้เต็มระดับ ๕ จังหวัดยะลาได้ระดับ ๕ จังหวัดปัตตานีได้ระดับ ๔ จังหวัดสตูลระดับ ๔ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าชีวิตครอบครัวของพวกเขานั้นดีมากเลย

- การมีส่วนร่วมในสังคมก็ได้ระดับเต็มกับเกือบเต็มกันหมด

เมื่อดูตัวเลขแบบนี้ อยากถามว่า แล้วเราจะต้องเอาอะไรไปให้เขาอีก ระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเขานั้นดีมากกว่าจังหวัดอื่นๆ ในหลายจังหวัดทั่วประเทศเสียอีก ซึ่งในหลายๆ จังหวัดมีตั้งแต่ระดับ ๑ ถึงระดับ ๒ กันทั้งนั้น เรามักจะคิดว่า เราต้องเอาการพัฒนาลงไปให้คน ๓ จังหวัดภาคใต้ เมื่อดูเช่นนี้แล้วเราจะพบว่า จังหวัดเหล่านี้เข้มแข็งกว่าที่เราคิดเสียอีก นับเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ หากเราพูดว่า เราจะต้องลงไปพัฒนาให้เศรษฐกิจของคน ๓ จังหวัดภาคใต้ดีขึ้น แสดงว่าเราคิดผิดแล้ว หากเราพูดว่าคนทั้ง ๓ จังหวัดภาคใต้นั้นไม่มีความรู้ แสดงว่าเราคิดผิดอีกแล้ว หากเราพูดว่าเขายากจนมาก ก็เป็นความคิดที่ผิดอีก แล้วอย่างนั้นเราจะเอาอะไรไปพัฒนาเขาอย่างไรอีก

ผมดูจากระดับการมีส่วนร่วมนั้นดีมาก แสดงว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองเขาก็ดีมากด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเขามีส่วนร่วมที่ดี ทำไมถึงไม่เอาส่วนร่วมที่ดีนี้มาช่วยในการทำอย่างอื่น ในเมื่อชีวิตความเป็นอยู่เขาดีอยู่แล้ว คุณจะเอาอะไรมาแทรกแซงเขาอีก ผมได้มีโอกาสคุยกับ ดร.มัลลิกา จาก มอ.ปัตตานี ท่านคุยกับผมเรื่องการเลี้ยงนก นกของท่านมีราคา ๑ ล้าน ๕ แสนบาท เมื่อมีคนมาขอซื้อ ท่านกลับไม่ยอมขาย เพราะท่านมีความสุขกับการเลี้ยงนก เวลาคุยเรื่องนี้คุยกันได้อย่างยาวนานมากและมีความสุขในการการคุย ดังนั้นการที่เราชอบไปว่าคนภาคใต้ว่าทำไมชอบเลี้ยงนก แสดงว่าเราไม่เข้าใจในความสุขของเขา เราต่างหากที่เป็นคนที่ไม่มีความสุข เหล่านี้เป็นข้อสังเกตของผม

ในเรื่องของศาสนาที่เราคิดว่าน่าจะเป็นปัญหา ผมว่าไม่ใช่แน่นอน เนื่องจากผมได้มีโอกาสร่วมศึกษากับคณะของอาจารย์วีระพันธ์ ท่านอาจารย์ไปร่วมศึกษากับชาวมุสลิมภาคใต้ทั้ง ๓ จังหวัด ได้มีโอกาสได้รับความรู้และเห็นสถานที่สำคัญๆ ต่างๆ การได้มีส่วนร่วมเช่นนั้นเราจะเห็นการเข้ามามีส่วนร่วมซึ่งกันและกันได้ดีมาก ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด ไม่มีการแตกแยกออกไปว่าเป็นพุทธหรืออิสลาม ดังนั้นผมบอกได้เลยว่า ศาสนาไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด ตัดปัญหาข้อนี้ไปได้เลย

ส่วนในเรื่องโลกตะวันตก ท่านคิดว่าโลกตะวันตกจะรบกับขบวนการก่อการร้ายเช่นนี้ตลอดไปหรือไม่ หากในใจท่านตอบว่า "ใช่ " ลองมาดูตรงนี้ว่า จาก Trend ของคนมุสลิมในโลกนี้ที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นมากด้วย แม้แต่ในประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นจนตัวเลขมีอยู่ประมาณ ๘ ล้านคน ในโลกนี้มีคนมุสลิมจำนวน ๑,๕๐๐ ล้านคน ในจำนวนประชากรโลกทั้งหมด ๖,๓๐๐ ล้านกว่าคน ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกาเองมีคนมุสลิมอาศัยอยู่ ๑๐ ล้านคน ในบรรดาคนมุสลิมทั้งหมด ผมอยากแบ่งออกให้เห็นชัดเจนดังนี้

๑. กลุ่มมุสลิมสายเคร่ง คือสายที่มีศาสนาเป็นอำนาจรัฐ กลุ่มนี้ได้แก่ กลุ่มประเทศอิหร่าน ประเทศอาฟกานิสถาน เราจะเห็นว่า กลุ่มเหล่านี้เองที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเกลียดที่สุดต้องจัดการอันดับแรก

๒. กลุ่มมุสลิมแนวปฏิวัติ ได้แก่ ประเทศอิรัก ประเทศซีเรีย ประเทศลิเบีย กลุ่มเหล่านี้มีลักษณะปกครองแบบเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการ ประเทศสหรัฐอเมริกาเองนั้นไม่ใช่ไม่ชอบเผด็จการ ประเทศสหรัฐอเมริกาชอบเผด็จการโดยดูได้จากเมื่อสมัยที่รัฐบาลไทยปกครองโดยเผด็จการ ประเทศสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนอย่างมาก อเมริกันเกลียดคอมมิวนิสต์ แต่บางเวลาอเมริกันเองก็บอกว่า เขาไม่ชอบเผด็จการ จะเห็นได้ว่าอเมริกันเปลี่ยนจุดยืนได้ตลอดเวลา ถ้าผลประโยชน์ขัดแย้งกัน เพราะฉะนั้นกลุ่มประเทศเหล่านี้จึงถูกจัดการแต่แรกเริ่ม ตั้งแต่ประเทศอิรัก ตามมาด้วยประเทศซีเรีย และประเทศลิเบีย

๓. กลุ่มมุสลิมสมัยใหม่กึ่งประชาธิปไตย ได้แก่ประเทศปากีสถาน ประเทศอิยิปต์ ประเทศอัลจีเรีย ประเทศตูนิเซีย และประเทศเลบานอน ท่านจะเห็นภาพได้ว่าทำไมจึงต้องดึงซีเรียออกจากประเทศเลบานอนเพื่อจัดการตรงนี้ โดยใช้กระบวนการใต้ดินต่างๆ เพื่อล้มล้างรัฐบาลและเลือกตั้งใหม่ สำหรับประเทศปากีสถานเอง ทางอเมริกันก็ใช้งบประมาณจำนวนมากทุ่มลงไปถึง ๓๐,๐๐๐ ล้าน สมัยที่รบกับประเทศอัฟกานิสถาน

นอกจากนี้ยังมีอีก ๓ กลุ่มที่ผมจะเสนอรวมๆ กันไป กลุ่มนี้ผมขอแตกออกให้เห็นเป็นกลุ่มย่อย ๆ ดังนี้

- มีกลุ่มประเทศมุสลิมประชาธิปไตยสมัยใหม่ อันได้แก่ประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย
- มีกลุ่มประเทศมุสลิมที่ปกครองโดยกษัตริย์ยังมีอยู่ และ
- กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มประเทศมุสลิมผสมอิทธิพลสายสลาฟ คือแยกตัวมาจากประเทศรัสเซีย ซึ่งผมเคยวิเคราะห์ล่วงหน้ามา ๓ ปีแล้วว่ากลุ่มนี้จะมีปัญหาต่อไปในอนาคต และ ณ วันนี้กลุ่มสายสลาฟทั้งหมดเริ่มมีปัญหาแล้ว

ผมจะวิเคราะห์กลุ่มนี้ตามสภาพภูมิรัฐศาสตร์ เราลองต่อภาพประเทศต่างๆ ดูจะเห็นว่า ทำไมประเทศสหรัฐอเมริกาจึงเดินไปประเทศอิรัก ทำไมประเทศสหรัฐอเมริกาถึงเดินไปที่ประเทศอาฟกานิสถานก่อนไปที่อิรัก และทำไมจึงต้องเดินไปที่ประเทศอิหร่าน แล้วสุดท้ายประเทศสหรัฐอเมริกาจะเดินไปที่ไหน สุดท้ายแล้วประเทศสหรัฐอเมริกาจะไปรัฐเอกราชทั้งหมดของประเทศรัสเซีย เพราะฉะนั้นที่ตรงนั้นจะเป็นแหล่งพื้นที่อันมหาศาลให้อเมริกันได้เล่นอย่างมากมาย

ผมจึงอยากฝากว่า หากเราจะวิเคราะห์ก็จงอย่ามองเพียงผิวเผินเพียงมิติเดียว ต้องมองอย่างเชื่อมโยงให้ครบทุกมิติทั้งหมด ด้วยเวลาอันจำกัดแบบนี้ ผมจึงไม่สามารถจะลงไปลึกสู่ในส่วนของประเทศสหรัฐอเมริกาในลักษณะผู้นำ ลักษณะเชิงนโยบายต่างประเทศ และลักษณะของภาคประชาชน ผมจะวิเคราะห์ให้รับทราบในโอกาสต่อไป

พวงทอง ภวัครพันธุ์
ดิฉันมีประเด็นที่อยากเรียนถามอาจารย์สุกรีเรื่อง Radical Resection of Identity ซึ่งดิฉันคิดว่า มันมีกระแสเรียกร้องจากฝ่ายที่อยากให้รัฐลดความรุนแรง เรียกร้องให้พวกเราเข้าใจในคนมุสลิมทางภาคใต้ โดยเฉพาะในเรื่องอัตตลักษณ์ของเขา การเคารพในอัตลักษณ์ ชีวิต วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของเขา มันยังมีประเด็นหนึ่งที่ทำให้คิดว่า ทางคนมุสลิมเองก็ไม่มีวันที่จะเข้าใจเจ้าหน้าที่รัฐ และสิ่งที่เขากลัวอีกอันหนึ่งก็คือกลัวพวก Fundamentalist ซึ่งเป็นมุสลิมหัวรุนแรง มันมีปรากฏการณ์ให้เห็นอยู่เช่น กลุ่มอัลกออิดะห์ การวางระเบิดในยุโรปหลาย ๆ จุด ส่วนใหญ่เชื่อว่าน่าจะมาจากคนมุสลิมที่เติบโตอยู่ในประเทศนั้นๆ เอง มิได้ต้องเดินทางมาจากตะวันออกกลางแต่อย่างใด เพราะเขาเห็นกระแสที่มุสลิมถูกกระทำให้ Radicalized มากขึ้น คือถูกทำให้รุนแรงมากขึ้น

ในประเทศไทยเองก็มีปรากฏการณ์ของ ๓ จังหวัดภาคใต้ที่ทำให้เขาเชื่อเช่นนั้น สิ่งที่เขาเชื่อว่ามันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของ Fundamentalist นี้คือ " ปอเนาะ " เขามองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรง เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมุสลิมแบบ Fundamentalist ซึ่งไม่ได้หมายถึงพวกที่เน้นความรุนแรงเท่านั้น แต่รวมหมายถึงเป็นมุสลิมที่ต่อต้านกระแสการพัฒนา ต่อต้านประแสทุนนิยม สิ่งเหล่านี้เอง เป็นสิ่งที่รัฐไทยรับไม่ได้ รัฐไทยมองว่า มุสลิม ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้คือพวกล้าหลัง พวกคลั่งศาสนา ดังนั้นพวกเขาจึงเสนอประเด็นขึ้นมาว่า ให้ยกเลิกปอเนาะ ซึ่งมันยิ่งเข้าไปก่อให้เกิดกระแสความขัดแย้งมากขึ้นไปอีก มันกลับไปสร้างกระแสความขัดแย้งให้มากขึ้น สวนทางกับการที่เราเรียกร้องให้เคารพในอัตลักษณ์

ประเด็นก็อยู่ตรงที่ ความเชื่อของรัฐนั้นถูกพิสูจน์ขึ้นมาจากปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก ในส่วนของคนมุสลิมหรือผู้ที่ทำงานในด้านนี้จะต้องมาขบคิดกันว่า จะทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและคนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่มุสลิมในประเทศนี้ได้เข้าใจว่า การที่คนมุสลิมยืนยันในอัตลักษณ์ของเขานั้น หรือการมีโรงเรียนปอเนาะนั้น จะไม่นำไปสู่การเพาะพันธุ์กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง พยายามทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า ปอเนาะไม่ได้หมายถึงกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง ไม่ได้หมายถึงความล้าหลัง ไม่ได้หมายถึงการต่อต้านการพัฒนา ซึ่งมันมีปรากฏการณ์ตัวอย่างจากประเทศเพื่อนบ้าน ยกตัวอย่างเช่นกรณีที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีมุสลิมอยู่อย่างหลากหลายกลุ่ม แต่เขาก็อยู่ร่วมกันได้ น่าเสียดายที่เราไปทะเลาะกับเขาเสียก่อน ถ้าเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับเขา เราคงจะได้ประโยชน์กับเขาหลายอย่าง รวมทั้งกับพรรคบาสเอง ซึ่งเป็นพรรคที่เป็นกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในประเทศมาเลเซีย

ศุภมิตร ปิติพัฒน์
เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์พูดถึงอัตลักษณ์มาลายูที่พูดถึงภาษา ภูมิศาสตร์ ศาสนา และประวัติศาสตร์ซึ่งมองรวมกันแล้วเป็นอัตลักษณ์มาลายู หากมองเช่นนั้นก็หมายความว่า โอกาสที่เขาจะรู้สึกถึงความเป็นพลเมืองไทยซึ่งมีอัตลักษณ์อาจแตกต่างกันไปในสถานการณ์เต็มไปด้วยความรุนแรงและความแตกแยกตรงนี้ พอจะมีโอกาสบ้างหรือไม่

ปราณี เหล่าพานิช
ในฐานะที่เป็นคนมุสลิม ดิฉันอยากให้เราทำความเข้าใจกับหลักการอิสลามให้ถ่องแท้เสียก่อน และดูการประพฤติปฏิบัติระหว่างมุสลิมทั่วไป กับคนมุสลิมที่กำลังที่กำลังมีปัญหาอยู่ ดิฉันอยากถามว่า เราเข้าใจกันดีแค่ไหนว่า คนที่เขามีปัญหาอยู่นั้น จริงๆ แล้วเขาต้องการอะไร ในฐานะที่ดิฉันเป็นคนมุสลิมอยากบอกว่า บางทีสิ่งที่เขาต้องการอาจเป็นเพียงแค่ การได้มีโอกาสปฏิบัติศาสนกิจที่สอดคล้องกับศาสนาอิสลามจริงๆ แล้วได้รับการยอมรับจากรัฐอย่างจริงใจและให้เกียรติกับเรามากกว่านี้ เท่าที่เขาควรจะเป็นในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และในเรื่องความรุนแรง ความจริงโดยเผ่าพันธุ์มนุษย์เองนั้นก็มีความรุนแรงเกิดขึ้นมาตั้งแต่พระเจ้าสร้างขึ้นมาแล้ว มีการเข่นฆ่ากันมานานแล้ว ดังนั้นดิฉันอยากให้เข้าใจเขาจริงๆ

สุกรี หลังปูเต๊ะ
ในอัตลักษณ์ของความเป็นมาลายูของคนมุสลิม เราเคยมองส่วนที่เป็นในด้านบวกบ้างไหม เรามองทุกอย่างในด้านลบกันหมดเลยใช่ไหม ทำไมเราไม่มองจุดเด่นจุดด้อยของในแต่ละเชื้อชาติกันบ้าง เพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะในแต่ละคนย่อมสามารถพัฒนาตนเองไปสู่จุดบวกของประเทศชาติได้ ทำไมไม่คิดว่าคนมาลายูที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยนั้น สามารถใช้ความเป็นอัตลักษณ์ของเขาเองไปสร้างความสัมพันธ์ในต่างประเทศจนสามารถสร้างมูลค่าทางการค้าได้มากมาย โดยใช้ความเป็นคนมาลายูติดต่อค้าขายกับคนมาลายูด้วยกันเองที่อาศัยอยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก หากมองตามประวัติศาสตร์เอง เราไม่น่าจะแยกกันออกเลยในเรื่องของเชื้อชาติศาสนา

เมื่อผมได้มีโอกาสเห็นโดมของมัสยิดที่ยอร์กจากาตาร์ และกลับมาดูโดมของมัสยิดดาโต๊ะที่ประเทศไทยซึ่งเป็นมัสยิดที่สร้างสมัยเดียวกับมัสยิดกรือเซ๊ะ เพียงแต่มัสยิดกรือเซ๊ะนั้นยังสร้างไม่เสร็จ ผมเห็นว่าโดมของมัสยิดดาโต๊ะเหมือนกับโดมที่มัสยิดที่ยอร์กจากาตาร์ซึ่งเป็นโดมกลีบบัว อันเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างก่อนที่อิทธิพลของออตโตมันจะเข้ามา ดังนั้นผมคิดว่ามัสยิดในประเทศไทยยุคนั้นน่าจะได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธก็ได้ แม้กระทั่งในวันนี้ มุสลิมในประเทศไทยก็ยังคงความเป็นมุสลิมที่ได้รับอิทธิพลของความเป็นพุทธ และความเป็นฮินดูอยู่เยอะมาก ดังนั้นผมจึงมีความเชื่อว่าก่อนที่ผมจะมานับถือมุสลิม บรรพบุรุษของผมอาจนับถือพุทธ นับถือฮินดูด้วยซ้ำไป ด้วยเหตุนี้ดังที่ผมกล่าวมา น่าจะมีความเป็นไปได้สูงมากที่ความเป็นอัตลักษณ์ ๔ พื้นฐานนี้จะมีความเป็นไทยสูงมาก

สุริชัย หวันแก้ว
จากการคุยกันทั้งหมด เราร่วมกันพูดคุยเรื่องภาพใหญ่กันมามาก สุดท้ายนี้หากจอภาพเราใหญ่มากเกินไป เราก็จะมองไม่เห็นกลุ่มเด็ก กลุ่มสตรีและกลุ่มอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ และหากเราเปลี่ยนจากการมองเชิงลบอย่างเดียวมาเป็นมองเชิงบวกบ้าง ดังเช่นที่อาจารย์สุกรีเสนอมา เราจะเห็นว่าเรามีทุนทางวัฒนธรรมหลายอย่างร่วมกัน และทุนอันนี้จะทำให้เราเข้าไปในโลกกว้างในกลุ่มอาเซียนและในโลกมุสลิมได้ด้วย เพียงแค่เราเปลี่ยนมุมมองเท่านั้นเอง ในส่วนที่ว่า "เราควรจะทำและไม่ทำอะไร" นั้น เพียงแค่เราเริ่มเปลี่ยนมุมมองเท่านั้น อย่ามองภาพใหญ่อย่างเดียว ถ้าเรามองภาพเล็กลง มองเห็นความเป็นมนุษย์มากขึ้น เราจะเห็นต้นทุนร่วมกันที่สร้างสมกันมานานร่วมหลายร้อยปีที่ผ่านมา

ดังนั้นเราควรที่จะทะนุถนอมพื้นที่ที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกัน ด้วยการเคารพซึ่งกันและกันและให้เกียรติกัน และทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ ดังนั้นคำตอบของคำถามที่ว่า " เราควรทำและไม่ทำอะไร " ก็คือ การขบคิดร่วมกันว่า เราจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้อย่างไร บนพื้นฐานที่มีประวิติศาสตร์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน ให้เราตัดความคิดด้านลบออกไป และช่วยกันเปลี่ยนมุมมองให้หันมามองเชิงบวกมากขึ้น และบนฐานมุมมองเชิงบวกอันนี้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันให้มากขึ้น ไม่ใช่คอยจับจ้องมองกันแต่ในด้านที่เป็นปัญหา ซึ่งยิ่งจะทำให้สถานการณ์มันเลวร้ายลงไปมาก ดังนั้นผมจึงหวังว่า สิ่งที่พวกเรามาสัมมนากันนี้ทั้งหมดจะช่วยกันไปสร้างกระบวนการต่อเนื่องให้มีคนมาถกกันมากขึ้น มีคนรุ่นใหม่เข้ามา มีพี่น้องทั้งชาวไทยและมุสลิมมาตั้งโจทย์ร่วมกันให้ชัดขึ้น เพื่อสร้างสันติร่วมกันต่อไป

 





สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



150849
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
การก่อการร้ายที่ไม่ต้องการอำนาจรัฐ
บทความลำดับที่ ๑๐๐๖ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
ผมอยากเน้นเรื่องของประเด็นปัญหาที่อยู่ในเรื่องของ Globalize Islam และ Islamic Identity ในช่วงบ่ายที่ผ่านมา ผมคิดว่าอาจารย์ธเนศได้พูดถึงทฤษฎีของ Huntington ไว้ด้วย ซึ่งหมายถึงการปะทะกันระหว่างอารยธรรม ซึ่งวลีอันนี้ก็ไม่ใช่เป็นของ Huntington เอง ความจริงเป็นของ Bernard Luis ในเรื่อง The Race of Muslim against The West เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งที่มันมีผลมากๆ แล้วมันเกิดขึ้นด้วย มันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ด้านเดียว ทางด้านอิสลามอย่างเดียว มันเกิดขึ้นทางด้านตะวันตกด้วย

ในหนังสือของ Huntington นั้น ศัพท์ที่ใช้ในทำนายอนาคตวิทยา ผมว่าคำว่า Speculate มันสำคัญมากในที่นี้ เพราะว่าหากเรา Speculate ขึ้นมา หมายถึงว่าเราไปกำหนดพฤติกรรมของคนด้วย มันเป็นการพยายามหาจุดหมายปลายทางร่วมกันอยู่ เพราะฉะนั้นแล้วทำไมทฤษฎี Huntington ถึงมิอิทธิพลมหาศาลขณะนี้ เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงด้วยว่า มันมีอคติในการที่จะบ่งบอกว่าความคิดของคนอิสลามเป็นเช่นไร สื่อก็ได้ทำสิ่งเหล่านี้อยู่เป็นเวลานานพอสมควร

บางคนถ้าเราเอาแบบตะวันตกมา ยุทธศาสตร์ตะวันตกมา อย่างอเมริกาก็จะบอกว่าเป็น Fundamentalist ในขณะที่อิสลามในปัจจุบันเขาเรียกว่า "ซาฟีอี" ซึ่งคนพวกนี้"ยืนอยู่บนศรัทธาที่แข็งแรง ยืนอยู่บนความเป็นอิสลามดั้งเดิม แล้วมีการใช้ ชาลิอะห์ ที่เด็ดขาดรุนแรง" นี่คือกลุ่มของ ซาฟีอี แต่ในส่วนนั้นมันก็เกิดกลุ่มอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า "ตาจิดี" ซึ่ง"ปรับประยุกต์กับสิ่งที่เป็นจริง โดยกลุ่มตาจิดี จะแก้ไขตีความในเรื่องต่างๆ อย่างร่วมสมัยมากขึ้น ตีความร่วมสมัยต่างๆ แม้กระทั่งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม" ทั้งสองอันร่วมกันก็จะเกิดสิ่งใหม่ตามมาที่เป็น "Moderate Muslim" ในปัจจุบัน เหมือนกับประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน