Free Documentation
License
Copyleft : 2006,
2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document, but changing it is not allowed.
หากนักศึกษา
และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
The Midnight
University
การเปลี่ยนรูปโครงสร้างของพื้นที่สาธารณะ
ฮาเบอร์มาส : พื้นที่สาธารณะที่ถูกรัฐและทุนนิยมปล้นเอาไป
สมเกียรติ ตั้งนโม
: เรียบเรียง
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความชิ้นนี้เรียบเรียงมาจากงานฉบับสมบูรณ์ของ
Douglas Kellner
เรื่อง Habermas, the Public Sphere, and Democracy: A Critical Intervention
เป็นเรื่องเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ ซึ่งกำเนิดขึ้นมาในประวัติศาสตร์และความเป็นประชาธิปไตย
ภายหลังได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปโดยอำนาจรัฐและทุนนิยม
ทำให้ผู้คนทั้งหลายกลายเป็นเพียงบรรจุภัณฑ์ที่ไร้พลัง และผู้บริโภคที่ยอมจำนน
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1003
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
13 หน้ากระดาษ A4)
การเปลี่ยนรูปโครงสร้างของพื้นที่สาธารณะ
ฮาเบอร์มาส : พื้นที่สาธารณะที่ถูกรัฐและทุนนิยมปล้นเอาไป
สมเกียรติ ตั้งนโม : เรียบเรียง - มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
พื้นที่สาธารณะและประชาธิปไตย
Habermas, the Public Sphere, and Democracy: A Critical
Intervention
Douglas
Kellner
ความนำ
หนังสือ The Structural Transformation of the Public Sphere (การเปลี่ยนรูปเชิงโครงสร้างของพื้นที่สาธารณะ"ของเจอร์เก็น
ฮาเบอร์มาส ถือเป็นหนังสือที่ทรงอิทธิพลและสมบูรณ์เล่มหนึ่ง ซึ่งได้ส่งผลกระทบที่สำคัญต่อกระบวนวิชาต่างๆ
อย่างหลากหลาย หนังสือเล่มดังกล่าวได้ให้รายละเอียดและส่งเสริมการสนทนากันอย่างมากมายเกี่ยวกับเสรีประชาธิปไตย,
ประชาสังคม, ชีวิตสาธารณะ, และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในคริสตศตวรรษที่ 20 ขณะเดียวกันก็ยอมรับการวิพากษ์จากนักวิจารณ์ต่างๆ
ท่ามกลางประเด็นปัญหาอื่นๆ
มีหนังสือเพียงไม่กี่เล่มเท่านั้นในช่วงครึ่งหลังของคริสตศตวรรษที่ 20 ที่ได้รับการพูดคุยถึงอย่างจริงจัง ในหลากหลายสาขาวิชาและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง นับเป็นเวลาเกือบ 40 ปีหลังจากที่มันเริ่มตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1962 ก็ได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงอันเป็นประโยชน์มากและได้ให้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ(public sphere) ขณะที่ความคิดของฮาเบอร์มาสได้คลุกเคล้ากับปรัชญาอย่างหลากหลายและถึงพริกถึงขิง และเปลี่ยนแปลงไปหลังจากการตีพิมพ์หนังสือสำคัญเล่มแรกของเขา
ตัวของเขาเองได้นำเสนอข้อคิดเห็นและได้วิพากษ์ลงไปในรายละเอียด เกี่ยวกับการเปลี่ยนรูปเชิงโครงสร้างในช่วงทศวรรษ 1990s และหวนกลับไปสู่ประเด็นปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ และทฤษฎีประชาธิปไตยในงานที่เปรียบดั่งอนุสาวรีย์ของเขาเรื่อง Between Facts and Norms (ระหว่างข้อเท็จจริงกับบรรทัดฐาน) เพราะฉะนั้น ต่อแต่นี้ไปในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนจะได้ให้ความเอาใจใส่เกี่ยวกับเรื่องของพื้นที่สาธารณะ และเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งสามารถที่จะได้รับการมองในฐานะที่เป็นแนวเรื่องหลัก หรือแกนกลางเกี่ยวกับผลงานของฮาเบอร์มาส ที่สมควรจะได้รับความเคารพและตรวจสอบอย่างละเอียด
ในบทความชิ้นนี้ อันดับแรกจะอธิบายถึงแนวคิดของฮาเบอร์มาสเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะและการเปลี่ยนรูปเชิงโครงสร้างของมันในงานเขียนช่วงแรกๆ
ของเขาในลักษณะสังเขป โดยเริ่มต้นจากที่มาของหนังสือเล่มนี้ และค่อยขยายไปสู่มุมมองเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะในประวัติศาสตร์และประชาธิปไตย
ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจในกรอบกว้างๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในลักษณะบทนำ
ฮาเบอร์มาสและแฟรงค์เฟริทสคูล: รากฐานการก่อเกิดการเปลี่ยนรูปเชิงโครงสร้างของพื้นที่สาธารณะ
Habermas Within the Frankfurt School: Origins and Genesis
of Structural Transformations of the Public Sphere
ประวัติศาสตร์และการโต้เถียงในช่วงแรกๆ ในเรื่องการเปลี่ยนรูปเชิงโครงสร้างของพื้นที่สาธารณะ
ถูกรับรู้กันดีที่สุดในบริบทเกี่ยวกับผลงานของฮาเบอร์มาสกับสถาบันวิจัยทางสังคม(แฟรงค์เฟริทสคูล).
หลังจากที่ศึกษากับ Horkheimer และ Adorno ในแฟรงค์เฟริท, เยอรมนี ในช่วงทศวรรษที่
1950s, ฮาเบอร์มาสได้สืบค้นเรื่องราวนี้ในสองทางด้วยกันคือ
อันดับแรก เป็นเรื่องเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะใหม่อันหนึ่ง ซึ่งได้ปรากฏตัวขึ้นมาในช่วงระหว่างวันเวลาของยุคสว่าง(the Enlightenment) และการปฏิวัติอเมริกันและฝรั่งเศส
อันดับที่สอง เป็นการค้นคว้าเกี่ยวกับพื้นที่ดังกล่าวว่า มันส่งเสริมสนับสนุนการพูดคุยและการถกเถียงกันทางการเมืองอย่างไร?
ดังที่จะชี้ชัดต่อไปข้างหน้า ฮาเบอร์มาสได้พัฒนาการศึกษาของเขาภายในบริบทของการวิเคราะห์เชิงสถาบัน เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านจากขั้นตอนตลาดเสรีในลัทธิทุนนิยมของคริสตศตวรรษที่ 20 ไปสู่ขั้นตอนของรัฐและเอกสิทธิ์ของลัทธิทุนนิยม ที่ถูกทำขึ้นมาอย่างเป็นระบบในศตวรรษเดียวกัน ซึ่งอันนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยแฟรงค์เฟริทสคูล
ที่จริงแล้ว ผลงานต่างๆ ในช่วงทศวรรษที่ 1960s ของฮาเบอร์มาสเป็นเรื่องภายในขนบจารีตและความผูกพันเกี่ยวกับสถาบันวิจัยสังคมอย่างเหนียวแน่น หนึ่งในบทความชิ้นแรกๆ ของเขาที่ได้รับการตีพิมพ์ ได้นำเสนอทัศนียภาพในเชิงวิจารณ์เกี่ยวกับสังคมบริโภค และตำราอื่นๆ ในช่วงต้นๆ ก็เป็นเรื่องของการศึกษาเกี่ยวกับการทำให้เป็นเหตุเป็นผล, งานและเวลาว่าง, สื่อต่างๆ, ความเห็นสาธารณะ, และพื้นที่สาธารณะ
ผลงานทั้งหลายของเขาที่ดำเนินการต่อมา ได้กระทำในบริบทของสถานะหรือตำแหน่งต่างๆ เชิงสถาบันที่กำลังพัฒนาขึ้น ซึ่งรวมถึงการเข้าแทรกแซงและก้าวก่ายในข้อถกเถียงเชิงปฏิฐานนิยม(positivism) ซึ่งฮาเบอร์มาสได้ปกป้องแนวคิดแฟรงค์เฟริทสคูลเกี่ยวกับทฤษฎีวิภาษวิธีทางสังคม ด้วยเจตนาในความจริงเชิงปฏิบัติที่สวนกลับแนวความคิดเกี่ยวกับทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางสังคมนั้น
ในเรื่อง Theory and Practice, ฮาเบอร์มาส ยังคงธำรงรักษาเอกภาพของทฤษฎีและการปฏิบัติเอาไว้ ณ ใจกลางของลัทธิมาร์กซ์แบบคลาสสิก และทฤษฎีวิพากษ์เกี่ยวกับสังคม ขณะที่ได้ทำให้มิติทั้งหลายเกี่ยวกับทฤษฎีวิพากษ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมและการเมืองสมบูรณ์ขึ้น โดยลำดับ
ผลงานแรกๆ ของฮาเบอร์มาสกับสถาบันวิจัยสังคม เกี่ยวพันกับการศึกษาเรื่องของความคิดเห็นทางการเมืองและศักยภาพของบรรดานักศึกษา. ในการสำรวจเกี่ยวกับ Student und Politik (ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1961), ฮาเบอร์มาสและสมาชิก 2 คนของสถาบันที่คุ้นเคยกันโดยประสบการณ์ ได้ทำการค้นคว้าในทางสังคมวิทยาเกี่ยวกับความสำนึกทางการเมืองของบรรดานักศึกษาแฟรงค์เฟริท"
การศึกษาดังกล่าวคล้ายคลึงกับ Gruppenexperiment (การทดลองกลุ่ม)ในช่วงแรกๆ ของสถาบัน ซึ่งพยายามที่จะตรวจตราและทำความเข้าใจเกี่ยวกับศักยภาพทางด้านประชาธิปไตย และการต่อต้านประชาธิปไตยในลักษณะกว้างๆ ของสังคมเยอรมันภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยผ่านการวิเคราะห์ สังเกตการณ์ และการสัมภาษณ์เชิงลึก. เทียบกับการศึกษาของสถาบันในช่วงต้นๆ ในเรื่องชนชั้นแรงงานเยอรมัน และพลเมืองเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งได้เผยให้เห็นถึงระดับของความไม่ใส่ใจทางการเมืองค่อนข้างสูง รวมถึงท่าที อารมณ์ความรู้สึกในเชิงเผด็จการ-อนุรักษ์นิยม(see Fromm 1989)
เช่นเดียวกันซึ่งได้มีการสำรวจพบว่า บรรดานักศึกษาชาวเยอรมันที่ได้ให้ความสนใจในเรื่องประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีเพียง 4% เท่านั้น ซึ่งเผยให้เห็นถึงเปอร์เซนต์ที่ค่อนข้างต่ำมาก. ตัวเลขนี้ตรงข้ามกับ 6% ของนักศึกษาซึ่งเป็นพวกนิยมเผด็จการเบ็ดเสร็จในลักษณะที่แข็งกร้าว. ในทำนองเดียวกัน มีเพียง 9% เท่านั้นได้แสดงออกถึงสิ่งที่บรรดานักเขียนทั้งหลายพิจารณาว่า เป็น"ศักยภาพที่ชัดเจนในทางประชาธิปไตย", ขณะที่ 16% ได้แสดงออกถึง"ศักยภาพที่แจ่มชัดเกี่ยวกับเผด็จการ"(Habermas, et. al, 1961: 234) และภายในท่าทีหรือทัศนคติที่ไม่แยแสหรือกระตือรือร้น และในลักษณะที่ตรงข้าม รวมถึงแนวโน้มต่างๆเกี่ยวกับคนส่วนใหญ่, ผู้คนส่วนมากต่างได้รับการทำให้โน้มเอียงไปสู่ความเป็นนักเผด็จการ มากกว่าการปรับตัวต่างๆ ไปสู่หลักการประชาธิปไตย
ฮาเบอร์มาสได้เขียนเอาไว่ในคำนำการศึกษาเรื่อง "On the Concept of Political Participation"(ในแนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง) ซึ่งเขาได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ที่ได้ถูกนำมาใช้ในฐานะที่เป็นบรรทัดฐานหนึ่งของมาตรวัดทางด้านท่าที, ทัศนคติ, และพฤติกรรมของนักศึกษา. ดังเช่นต่อมาที่เขาได้ไปเกี่ยวพันกับกับการศึกษาในเรื่องของพื้นที่สาธารณะ
ฮาเบอร์มาสได้เสก็ตแนวคิดต่างๆ อย่างคร่าวๆ และหลากหลายเกี่ยวกับประชาธิปไตย โดยได้เรียงลำดับจากประชาธิปไตยนับแต่ยุคกรีกเป็นต้นมา ถึงรูปลักษณ์ต่างๆ ของประชาธิปไตยแบบชนชั้นกลาง(bourgeois democracy) จนกระทั่งถึงความคิดปัจจุบันเกี่ยวกับประชาธิปไตยในรัฐทุนนิยมสวัสดิการ. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาเทียบเคียงให้เห็นความแตกต่างระหว่าง "ประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วมของกรีก" กับ "ขบวนการประชาธิปไตยแบบสุดขั้ว"โดยตัวแทน (the participatory democracy of the Greeks and radical democratic movements with the representative), อันเป็นประชาธิปไตยชนชั้นกลางแบบมีรัฐสภาของคริสตศตวรรษที่ 19, รวมถึงความพยายามในยุคปัจจุบันที่ได้ลดทอนการมีส่วนร่วมของพลเมืองลงในรัฐสวัสดิการ
ฮาเบอร์มาสปกป้อง"ความหมาย/ความรู้สึกแบบสุดๆ
เกี่ยวกับประชาธิปไตย" ซึ่งประชาชนเองมีอธิปไตยหรืออำนาจปกครองตัวเองอย่างอิสระ
ในขอบเขตปริมณฑลทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งสวนทางกับรูปแบบต่างๆ ในปัจจุบันของประชาธิปไตยแบบรัฐสภา.
โดยเหตุนี้ ฮาเบอร์มาสจึงปรับตัวของเขาเองให้เข้ากับแนว"ประชาธิปไตยแบบเข้มข้น"(strong
democracy) ซึ่งสัมพันธ์เชื่อมโยงกับแนวคิดของ Rousseau, Marx, และ Dewey.[1]
ในการศึกษาช่วงแรกๆ ของเขาเกี่ยวกับนักศึกษาและการเมือง ฮาเบอร์มาสปกป้องหลักการทั้งหลายเกี่ยวกับการมีอธิปไตยของปวงชน,
กฎหมายที่เป็นทางการ, สิทธิต่างๆ ที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ, และเสรีภาพของปวงชน
ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของมรดกที่ก้าวหน้าของสังคมชนชั้นกลาง. ยุทธวิธีของเขาก็คือ
ใช้ประโยชน์แบบจำลองในช่วงต้นๆ ของประชาธิปไตยชนชั้นกลางในการวิพากษ์วิจารณ์ความถดถอย
และความเสื่อมทรามลงต่อมาภายหลังของความเป็นประชาธิปไตย และด้วยเหตุนี้จึงได้พัฒนาแนวคิดอันเป็นบรรทัดฐานหรือกฎเกณฑ์หนึ่งขึ้นมาเกี่ยวกับประชาธิปไตย
ซึ่งเขาสามารถนำมาใช้ได้ในฐานะที่เป็นมาตรฐานอันหนึ่งสำหรับ"การวิจารณ์ที่มีอยู่ภายในอย่างมั่นคง"(immanent
critique)เกี่ยวกับประชาธิไตยรัฐสวัสดิการที่มีอยู่
ฮาเบอร์มาสเชื่อว่า มาร์กซ์
และบรรดานักคิดแฟรงค์เฟริทสคูลช่วงแรกๆ ได้ประเมินความสำคัญเกี่ยวกับหลักการทั้งหลายของกฎหมายสากลเอาไว้ต่ำเกินไป,
รวมถึงสิทธิต่างๆ, และการมีอธิปไตย, ซึ่งเป็นการทำให้เป็นประชาธิปไตยขึ้นมาอีกครั้งเกี่ยวกับทฤษฎีทางสังคมแบบสุดขั้ว
ซึ่งถือเป็นภารกิจที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งอันหนึ่ง
เรื่อง Student und Politik ได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1961 และช่วงระหว่างยุคสมัยเดียวกันนี้
บรรดานักศึกษาหัวรุนแรงในสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาแนวคิดที่คล้ายคลึงกันนี้ขึ้นมาเกี่ยวกับประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
รวมถึงการเน้นความสำคัญในเรื่องประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ [2]
ในส่วนของฮาเบอร์มาสเอง
ผูกพันอยู่กับวิธีการอันหลากหลายและบริบทต่างๆ ในการพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับการทำให้เป็นประชาธิปไตย
และการมีส่วนร่วมทางการเมืองต่างๆ อันที่จริงนับจากการเริ่มต้นวิชาชีพของเขามาจนถึงปัจจุบัน
ผลงานของฮาเบอร์มาสได้รับการจำแนกโดยการเน้นลงไปที่เรื่องประชาธิปไตยแบบสุดขั้ว
และรากฐานทางการเมืองนี้เป็นสิ่งสำคัญอันหนึ่ง และบ่อยทีเดียวได้มองข้ามผลงานของเขาจำนวนมากที่อยู่ในตำแหน่งรองจากนี้
ฮาเบอร์มาสมีความคิดเกี่ยวกับการศึกษาของเขาในเรื่องพื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลาง
ในฐานะที่เป็น Habilitationschrift, หรืองานวิทยานิพนธ์หลังปริญญาเอก(a post-doctorate
dissertation)ในเยอรมนี ซึ่งเป็นข้อกำหนดสำหรับการเข้าสู่ตำแหน่งศาสตราจารย์.
Calhoun อ้างว่า Adorno และ Horkheimer ปฏิเสธปริญญานิพนธ์ฉบับนั้น ซึ่งค้นคว้ามาไม่เพียงพอในการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับอุดมคติของเสรีประชาธิปไตย
(see Calhoun 1992: 4f)
แต่อย่างไรก็ตาม Wiggershaus อ้างว่า "Adorno ซึ่งค่อนข้างมองฮาเบอร์มาสด้วยความรู้สึกภาคภูมิ, ดูเหมือนจะยอมรับวิทยานิพนธ์ฉบับนั้น", แต่ Horkheimer เชื่อว่าฮาเบอร์มาสค่อนข้างสุดขั้วเกินไป และสร้างข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ไม่อาจยอมรับได้และจำต้องปรับปรุงแก้ไข ด้วยเหตุดังนั้น จึงได้ขับไล่นักศึกษาหัวก้าวหน้าที่สุดของสถาบันฯออกไป และบีบบังคับเขาให้ไปหางานทำในที่อื่น
ฮาเบอร์มาสได้เสนอปริญญานิพนธ์นั้นกับ Wolfgang Abenroth ที่ Marburg, หนึ่งในบรรดาศาสตราจารย์ใหม่ๆ ทางด้านมาร์กซิสท์ในเยอรมนีในช่วงเวลาดังกล่าว และในปี 1961 เขาได้รับตำแหน่ง Privatdozent (private lecture) หรืออาจารย์สอน/ผู้บรรยายใน Marburg, และต่อมาเขาได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ใน Heidelberg ในปี ค.ศ.1962
มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจคือ ในปี ค.ศ. 1964, ฮาเบอร์มาสได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันโดย Adorno, ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้หวนคืนกลับสู่แฟรงค์เฟริทอีกครั้ง โดยการเข้านั่งเก้าอี้แทน Horkheimer ทางด้านปรัชญาและสังคมวิทยา. โดยเหตุดังกล่าวในท้ายที่สุด Adorno จึงสามารถที่จะสวมมงกุฎแห่งการสืบทอดมรดกอันชอบธรรมในฐานะบุคคล ซึ่งเขาคิดว่าเป็นนักทฤษฎีที่สมควรที่สุด และเป็นนักทฤษฎีวิพากษ์ที่มีความสามารถมากคนหนึ่ง (Wiggershaus 1996: 628)
หลักวิภาษวิธีเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ
The Dialectics of the Public Sphere
การโฟกัสของฮาเบอร์มาส บนการทำให้"พื้นที่สาธารณะเป็นประชาธิปไตย"
ได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับการเน้นในเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมือง ในฐานะที่เป็นแกนหลักของสังคมประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง
และในฐานะที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาตนเองของปัจเจกชน
งานศึกษาของเขาเรื่อง
The Structural Transformation of the Public Sphere (การเปลี่ยนรูปเชิงโครงสร้างของพื้นที่สาธารณะ)ได้รับการตีพิมพ์ในปี
1962 และได้มีการเทียบเคียงความแตกต่างในรูปแบบอันหลากหลายของพื้นที่สาธารณะที่มีศักยภาพ/เป็นฝ่ายกระทำ(active),
พื้นที่สาธารณะที่มีส่วนร่วมของชนชั้นกลางในยุควีรกรรมเสรีประชาธิปไตย กับ รูปแบบของพื้นที่สาธารณะที่ถูกทำให้เป็นเอกชนของการเมืองแบบผู้ดูในสังคมอุตสาหกรรมแบบชนชั้นกลาง
ซึ่งสื่อและพวกชนชั้นหัวกระทิและชนชั้นสูงเป็นผู้ควบคุมพื้นที่สาธารณะเอาไว้
(His study The Structural Transformation of the Public Sphere was published
in 1962 and contrasted various forms of an active, participatory bourgeois
public sphere in the heroic era of liberal democracy with the more privatized
forms of spectator politics in a bureaucratic industrial society in which
the media and elites controlled the public sphere.[3])
แนวทางหลักทั้งสองของหนังสือเล่มนี้ รวมถึงการวิเคราะห์เกี่ยวกับการก่อเกิดทางประวัติศาสตร์ในเรื่องพื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลาง ถูกตามมาด้วยเรื่องราวการอธิบายอันหนึ่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของพื้นที่สาธารณะดังกล่าวในยุคร่วมสมัย โดยการเกิดขึ้นมาของรัฐทุนนิยม, อุตสาหกรรมวัฒนธรรม, และฐานะตำแหน่งอันทรงพลังเพิ่มขึ้นของบริษัทต่างๆ และธุรกิจขนาดใหญ่ในชีวิตทางสังคม
ในการอรรถาธิบายนี้ เศรษฐกิจขนาดใหญ่และองค์กรต่างๆ ของรัฐได้เข้ามาแทนที่หรือครอบครองพื้นที่สาธารณะดังกล่าวไป ขณะที่พลเมืองทั้งหลายกลายเป็นบรรจุภัณฑ์ที่อยู่ภายใน ซึ่งเป็นเพียงบรรดาผู้บริโภคสินค้า, ผู้รับบริการ, ผู้ถูกปกครองทางการเมือง, และผู้ดูเท่านั้น
กล่าวโดยทั่วไป จากการพัฒนาในอังกฤษ, ฝรั่งเศส, และเยอรมนีในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 18 และ 19, ฮาเบอร์มาสเป็นคนแรกที่ได้เสก็ตภาพจำลองอันหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเขาเรียกว่า"พื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลาง"(bourgeois public sphere) และถัดจากนั้นได้วิเคราะหความเสื่อมทรามของมันลงตามลำดับในคริสตศตวรรษที่ 20. ดังที่ฮาเบอร์มาสเสนอ ในบทนำของหนังสือเรื่องดังกล่าวที่ว่า "การสืบค้นของเราได้นำเสนอภาพๆ หนึ่งถึงแก่นสำคัญของเสรีภาพเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลาง และเกี่ยวกับการเปลี่ยนรูปไปของพวกมันในรัฐสังคมสวัสดิการ"(Habermas 1989a: xix)
โครงการดังกล่าวได้ดึงเอากระบวนวิชาต่างๆ อย่างหลากหลายเข้ามาศึกษา รวมทั้งปรัชญา, ทฤษฎีทางสังคม, เศรษฐศาสตร์, และประวัติศาสตร์, ด้วยเหตุดังนั้น จึงเป็นตัวแทนกรณีตัวอย่างต่างๆ ของแบบหรือวิธีการของสถาบันวิจัยสังคม(แฟรงค์เฟริทสคูล) เกี่ยวกับทฤษฎีสังคมสหวิทยาการ (supradisciplinary social theory) [อันที่จริงคำว่า supradisciplinary หมายถึง พ้น/เหนือวิชาการต่างๆ]
เกี่ยวกับสายตาทางด้านประวัติศาสตร์ ได้วางรากฐานของมันลงในโครงการของสถาบัน เกี่ยวกับการพัฒนาทฤษฎีวิพากษ์ในยุคร่วมสมัย และความปรารถนาต่างๆ ทางการเมืองที่ได้วางตำแหน่งพื้นที่สาธาณะในฐานะที่เป็นการวิจารณ์เกี่ยวกับการเสื่อมทรามลงของประชาธิปไตยในยุคปัจจุบัน และเรียกร้องให้มีการรื้อฟื้นมันขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะยังคงเป็นแกนกลางสำคัญทางความคิดของฮาเบอร์มาส
หลังจากที่เขาได้อธิบายถึงความคิดเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลาง, ความเห็นสาธารณะ, และการเผยแพร่/โฆษณาแล้ว (Offentlichkeit), ฮาเบอร์มาสก็ได้วิเคราะห์ถึงโครงสร้างทางสังคม, หน้าที่ต่างๆ ทางการเมือง, รวมถึงแนวคิดและอุดมคติเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ ก่อนพรรณาถึงการเปลี่ยนรูปเชิงโครงสร้างสังคมของพื้นที่สาธารณะ โดยมีการเปลี่ยนแปลงในหน้าที่สาธารณะต่างๆ ของมัน และการสับเปลี่ยนทางแนวคิดเกี่ยวกับความเห็นสาธารณะในส่วนบทสรุป 3 บทท้าย
หนังสือเล่มนี้ได้รับการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเคร่งครัดและความอุดมสมบูรณ์ของความคิดที่เป็นลักษณะเฉพาะในงานเขียนต่างๆ ของฮาเบอร์มาส ซึ่งได้มีการบรรจุพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากมายยิ่งกว่างานของเขาจำนวนมากต่อมา และในการย้อนรำลึกอดีต มันได้เผยให้เห็นถึงต้นตอบ่อเกิดของงานที่ปรากฏออกมาในช่วงหลังของเขา
ข้อสรุปในบทความขนาดสั้นชิ้นนี้ ในส่วนที่จะอ่านต่อไป เป็นเพียงการเน้นถึงความคิดที่เป็นกุญแจสำคัญบางอย่างเล็กๆน้อยๆ สำหรับการแจกแจงและอธิบายแนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ และการเปลี่ยนรูปเชิงโครงสร้างไปของมัน ซึ่งจะช่วยประเมินถึงการมีนัยสำคัญ และข้อจำกัดต่างๆ เกี่ยวกับงานของฮาเบอร์มาส ซึ่งจะทำให้แนวคิดทั้งหลายเกี่ยวกับประชาธิปไตยในสังคมร่วมสมัยมีความชัดเจนขึ้น
พื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลาง ซึ่งเริ่มปรากฎตัวขึ้นมาในราว ค.ศ.1700 ในการตีความของฮาเบอร์มาส เป็นพื้นที่ส่วนกลางระหว่างความผูกพันส่วนตัวของปัจเจกชนทั้งหลายในครอบครัวของพวกเขา, เศรษฐกิจ, และชีวิตทางสังคม ซึ่งตรงข้ามหรือขัดแย้งกับการเรียกร้องต้องการต่างๆ และความผูกพันของชีวิตทางสังคมและชีวิตสาธารณะ. อันนี้เกี่ยวพันกับความเป็นสื่อกลางของความขัดแย้ง/ตรงข้ามระหว่างชนชั้นกลางกับ citoyen, (citoyen เป็นคำศัพท์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดย Hegel และ Marx ในช่วงต้นๆ, ซึ่งหมายถึงการเอาชนะผลประโยชน์และความเห็นส่วนตัว ไปสู่การค้นพบผลประโยชน์ร่วม และน้อมนำสู่ฉันทามติทางสังคม(societal consensus)
พื้นที่สาธารณะประกอบด้วยปากเสียง/เครื่องมือต่างๆ ของข้อมูลข่าวสาร และข้อถกเถียงทางการเมือง อย่างเช่น หนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ เช่นเดียวกับสถาบันทั้งหลายของการพูดคุยกันทางการเมือง อยางเช่น รัฐสภา, คลับต่างๆทางการเมือง, ที่ประชุมพบปะกันของนักเขียน, ที่ประชุมสาธารณะต่างๆ, ร้านเหล้าและร้านกาแฟ, ห้องประชุม, และพื้นที่สาธารณะที่เป็นลานโล่งต่างๆ ซึ่งการสนทนากันทางสังคมการเมืองสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นอิสระ
สำหรับช่วงแรกๆ ในประวัติศาสตร์ ปัจเจกชนทั้งหลายและคนกลุ่มต่างๆ สามารถที่จะก่อรูปก่อร่างความคิดเห็นสาธารณะขึ้นมาได้ มีการแสดงออกถึงความต้องการและผลประโยชน์ทั้งหลายของพวกเขาอย่างตรงไปตรงมา(ในลักษณะ active) ขณะเดียวกันก็ไปมีอิทธิพลโน้มน้าวปฏิบัติการทางการเมืองต่างๆ. พื้นที่สาธารณะชนชั้นกลางทำให้มันมีความเป็นไปได้ ที่จะสร้างอาณาเขตอันหนึ่งของความคิดเห็นสาธารณะขึ้นมา ซึ่งคัดค้าน/ต่อต้านอำนาจรัฐและผลประโยชน์อันทรงพลังต่างๆ ที่กำลังก่อรูปร่างสังคมชนชั้นกลางขึ้น
แนวคิดของฮาเบอร์มาสเกี่ยวกับ"พื้นที่สาธารณะ" ได้อธิบายถึงพื้นที่หนึ่งของสถาบันต่างๆและปฏิบัติการณ์ทั้งหลาย ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวในชีวิตประจำวันของสังคมพลเมือง กับอาณาเขตของอำนาจรัฐ. ดังนั้น พื้นที่สาธารณะจึงเป็นแดนกลางระหว่างอาณาเขตต่างๆ ของครอบครัวกับที่ทำงาน - ที่ซึ่งผลประโยชน์ส่วนตัวครอบคลุมอยู่ - และบ่อยครั้ง รัฐพยายามที่จะใช้อำนาจตามอำเภอใจและเข้ามาครอบงำ
สิ่งที่ฮาเบอร์มาสเรียกว่า"พื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลาง"(bourgeois public sphere) ประกอบด้วยพื้นที่ต่างๆ ทางสังคม ซึ่งปัจเจกชนทั้งหลายมารวมตัวกันเพื่อพูดคุยถึงเรื่องราวสาธารณะร่วมกัน และรวมตัวกันต่อต้านอำนาจตามอำเภอใจและการกดขี่ต่างๆ ที่มีต่อพลังสาธารณะและพลังทางสังคมโดยรัฐ
หลักการทั้งหลายเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ เกี่ยวพันกับการสนทนาที่เปิดกว้างในทุกๆ ประเด็นปัญหาที่ได้รับความเอาใจใส่โดยทั่วไป ซึ่งข้อถกเถียงเชิงเหตุผลทางอ้อมถูกนำมาใช้เพื่อสืบค้นเกี่ยวกับผลประโยชน์ต่างๆ และสิ่งที่ดีสำหรับสาธารณะ. ด้วยเหตุดังนั้น พื้นที่สาธารณะจึงได้รับการสมมุติล่วงหน้าในฐานะที่เป็นพื้นที่ซึ่ง "สามารถพูดคุยกันได้อย่างอิสระ" และ"ชุมนุมกันได้อย่างเสรี", หรือเป็นพื้นที่บนสิ่งพิมพ์ที่มีเสรีภาพ, และมีสิทธิ์ที่จะมีส่วนร่วมอย่างอิสระในการถกเถียงกันทางการเมืองและทำการตัดสินใจ
หลังจากการปฏิวัติประชาธิปไตยต่างๆ, ฮาเบอร์มาสเสนอว่า พื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลาง ได้ถูกทำให้เป็นสถาบันขึ้นมาในระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ประกันและให้การรับรองเกี่ยวกับสิทธิต่างๆ ทางการเมืองอย่างกว้างขวางโดยลำดับ และได้สถาปนาระบบเกี่ยวกับการศาลขึ้นมาซึ่งทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยหรือเป็นตัวกลางระหว่างข้ออ้างและสิทธิเรียกร้องต่างๆ ท่ามกลางปัจเจกชนที่หลากหลายหรือกลุ่ม, หรือ"ระหว่างปัจเจกชนและกลุ่มคนต่างๆ"กับ"รัฐ"
ผู้ปกป้องจำนวนมากและนักวิจารณ์ทั้งหลายเกี่ยวกับความคิดของฮาเบอร์มาส ในเรื่อง พื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลางต่างล้มเหลวที่จะหมายเหตุลงไปว่า แรงผลักดันดังกล่าวเกี่ยวกับการศึกษาของเขา แน่นอน เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแปรรูป, เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมของพื้นที่สาธารณะ จากพื้นที่หนึ่งของการพูดคุยกันด้วยเหตุผล, การถกเถียงกัน, และการมีฉันทามติ สู่อาณาเขตหนึ่งของการบริโภคทางวัฒนธรรมมวลชน และการบริหารจัดการโดยบริษัทต่างๆ และชนชั้นสูงทั้งหลายที่ทรงอิทธิพล
การวิเคราะห์อันนี้ได้ให้การสันนิษฐานและตั้งอยู่บนแบบจำลองของแฟรงค์เฟริทสคูล เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านจากทุนนิยมการตลาดและเสรีประชาธิปไตยในคริสตศตวรรษที่ 19 สู่ขั้นตอนของรัฐและทุนนิยมเอกชน ซึ่งมีหลักฐานอยู่ในลัทธิฟาสซิสม์ของยุโรป และรัฐสวัสดิการเสรีนิยมของ the New Deal (นโยบายทางด้านเศรษฐกิจสมัยประธานาธิบดี Franklin Roosevelt ในสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1930s ซึ่งเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยมีการใช้เงินจำนวนมากสร้างงานให้กับคนที่ตกงานกว่า 7 ล้านคนในช่วงเวลานั้น)
สำหรับสถาบันดังกล่าว มันได้สร้างเวทีใหม่อันหนึ่งขึ้นมาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์, ซึ่งได้ถูกทำเครื่องหมายหรือตั้งข้อสังเกตถึงความสำคัญเกี่ยวกับการหลอมละลายระหว่าง "พื้นที่ทางการเมือง" กับ "พื้นที่ทางเศรษฐกิจ", อุตสาหกรรมวัฒนธรรมได้มายักย้ายเปลี่ยนแปลงควบคุม, และสังคมได้ถูกบริหารจัดการ, ซึ่งเป็นคุณลักษณะหนึ่งเกี่ยวกับความเสื่อมทรามลงของประชาธิปไตย, ความเป็นปัจเจกชน, และอิสรภาพ/เสรีภาพ
ฮาเบอร์มาสได้เพิ่มเติมรากฐานทางประวัติศาสตร์เข้าไปสู่ทฤษฎีสถาบันอันนั้น โดยให้เหตุผลว่า "การทำให้เป็นศักดินาใหม่อีกครั้ง"ของพื้นที่สาธารณะ เริ่มเกิดขึ้นในคริสตศตวรรษที่ 19. การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ส่วนตัว ที่ทึกทักถึงหน้าที่ต่างๆ ทางการเมืองโดยตรง, ขณะที่บริษัทที่ทรงอิทธิพลทั้งหลายได้เข้ามาควบคุมและจัดการปรับเปลี่ยนสื่อและรัฐไป
ในอีกด้านหนึ่งนั้น รัฐเริ่มที่จะแสดงบทบาทพื้นฐานต่างๆ มากขึ้นในอาณาเขตส่วนตัวของผู้คนและชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุดังนั้น จึงได้ไปกัดกร่อนความแตกต่างระหว่างรัฐและสังคมพลเมือง, ระหว่างพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ส่วนตัว. ขณะที่พื้นที่สาธารณะกำลังเสื่อมทรามลง พลเมืองทั้งหลายก็กลายเป็นเพียงผู้บริโภคเท่านั้น โดยการอุทิศตัวของพวกเขาเองสู่การเป็นผู้บริโภคแบบยอมจำนนมากขึ้น และให้ความเอาใจใส่ต่อเรื่องส่วนตัวมากกว่าประเด็นปัญหาความดีงามของส่วนรวม และการมีส่วนร่วมในทางประชาธิปไตย
ขณะเดียวกันในการวิเคราะห์ของฮาเบอร์มาส พื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลางและความเห็นสาธารณะ ได้รับการก่อรูปขึ้นมาโดยการถกเถียงกันทางการเมืองและทำให้เกิดฉันทามติ(consensus) แต่ในพื้นที่สาธารณะที่มีการถกเถียงกันของรัฐทุนนิยมสวัสดิการ, ความเห็นสาธารณะจะถูกดำเนินการหรือบริหารโดยชนชั้นสูงทางการเมือง, ทางเศรษฐกิจ และบรรดาสื่อต่างๆ ซึ่งได้เข้ามาจัดการความเห็นสาธารณะ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการและการควบคุมทางสังคม
ดังนั้น ขณะที่อยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นของพัฒนาการชนชั้นกลาง ความเห็นสาธารณะได้รับการสร้างขึ้น โดยการเปิดกว้างต่อการถกเถียงกันทางการเมืองซึ่งไปเกี่ยวโยงกับผลประโยชน์ร่วมกัน แต่ในฉากร่วมสมัยของลัทธิทุนนิยม มันพยายามที่จะปลอมแปลงฉันทามติอันหนึ่งขึ้นมาเกี่ยวกับผลประโยชน์โดยทั่วไป, ในรูปการณ์ดังกล่าวนี้ ความเห็นสาธารณะได้รับการก่อรูปก่อร่างขึ้นมาโดยชนชั้นสูงที่ทรงอิทธิพล และด้วยเหตุดังนั้น ส่วนใหญ่แล้ว จึงเป็นตัวแทนเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัวโดยเฉพาะของพวกเขานั่นเอง
ไม่มีฉันทามติที่มีเหตุมีผลต่อไปแล้วในท่ามกลางปัจเจกชนทั้งหลายและกลุ่มคนต่างๆ รวมถึงผลประโยชน์เกี่ยวกับคุณความดีและบรรทัดฐานร่วมกัน. อันที่จริง มันแทนที่ด้วยภาพของการต่อสู้ดิ้นรนท่ามกลางคนกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตัวของพวกเขาเอง ซึ่งเป็นคุณลักษณะของฉากที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในการเมืองร่วมสมัย
ด้วยเหตุดังกล่าว ฮาเบอร์มาสจึงได้อธิบายถึงการเปลี่ยนผ่านอันหนึ่งจากพื้นที่สาธารณะที่มีเสรี ซึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นในยุคสว่างและการปฏิวัติอเมริกันและฝรั่งเศส สู่พื้นที่สาธารณะที่ถูกครอบงำโดยสื่อต่างๆ ในยุคปัจจุบันของสิ่งที่เขาเรียกว่า"ทุนนิยมรัฐสวัสดิการ และประชาธิปไตยมวลชน"(welfare state capitalism and mass democracy). การแปรเปลี่ยนเชิงประวัติศาสตร์นี้ได้รับการวางรากฐาน ดังที่หมายเหตุไว้ในการวิเคราะห์ของ Horkheimer และ Adorno เกี่ยวกับอุตสาหกรรมวัฒนธรรม(culture industry), ซึ่งบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ได้เข้ามาถือครองพื้นที่สาธารณะ และแปรรูปมันไปจากการเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งมีการถกเถียงกันด้วยเหตุผล สู่พื้นที่การบริโภคที่มีการจัดการและเป็นไปในลักษณะของการยอมจำนน(passivity)
ในการแปรสภาพไปนี้ "ความเห็นสาธารณะ"ได้ปรับเปลี่ยนจากฉันทามติที่มีเหตุผลซึ่งเกิดขึ้นมาจากการถกเถียง, การพูดคุย, และการสะท้อนความคิดเห็น สู่ความเห็นที่ถูกผลิต/สร้างของโพลล์สำรวจความคิดเห็นต่างๆ หรือบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ(manufactured opinion of polls or media experts). ด้วยเหตุนี้ การถกเถียงกันด้วยเหตุผลและฉันทามติจึงถูกแทนที่โดยการสนทนาที่ถูกจัดการและการยักย้ายปรับเปลี่ยน โดยการวางแผนอย่างมีเล่ห์เหลี่ยมของการโฆษณาและตัวแทนที่ปรึกษาทางการเมือง: "การเผยแพร่/โฆษณา ได้สูญเสียหน้าที่ในเชิงวิพากษ์ของมันไป และหันไปชื่นชมกับการแสดง แม้แต่การถกเถียงกันโดยเหตุผลก็ถูกเปลี่ยนรูปไปสู่สัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งเราไม่สามารถตอบโต้ได้เลยด้วยการถกเถียง จะทำได้ก็แต่เพียงหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของมันเท่านั้น" (1989a: 206)
โดยเหตุนี้ สำหรับฮาเบอร์มาสแล้ว หน้าที่ของสื่อได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปจากการสนับสนุนวาทกรรมและการถกเถียงที่มีเหตุผลในพื้นที่สาธารณะ สู่การก่อรูปก่อร่าง, การประกอบสร้าง, และข้อจำกัดวาทกรรมสาธารณะ สู่แนวทางเหล่านั้นที่ถูกทำให้มีเหตุผลและเป็นที่ยอมรับโดยบรรษัทสร้างสื่อต่างๆ. ดังนั้น ความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่หนึ่งของการถกเถียงสาธารณะ กับการมีส่วนร่วมของปัจเจกชนจึงถูกแยกห่างจากกัน และแปรสภาพไปสู่อาณาเขตหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องของข้อมูลทางการเมืองและความตื่นเต้น(a realm of political information and spectacle), ที่บรรดาพลเมืองผู้บริโภคกลืนกินเข้าไป และดูดซับความบันเทิงต่างๆ อย่างยอมจำนน
โดยเหตุดังกล่าว "พลเมืองทั้งหลาย"จึงกลายเป็นเพียงผู้ดูการนำเสนอและวาทกรรมของสื่อซึ่งหล่อหลอมขึ้นมาเป็นความเห็นสาธารณะ, ลดทอนพลเมือง/ผู้บริโภคลงสู่การเป็นเป้าหมายของข่าวสาร, ข้อมูล, และเรื่องราวสาธารณะต่างๆ
ตามคำพูดของฮาเบอร์มาส: "เพราะฉะนั้น สื่อสารมวลชนทุกวันนี้จึงปลอกเนื้อหาสาระทิ้งไปจากการตีความส่วนตัวของชนชั้นกลาง และใช้พวกเขาให้เป็นประโยชน์ในฐานะส่วนหนึ่งของตลาดที่มีศักยภาพสำหรับบริการสาธารณะ ซึ่งได้รับการจัดหามาให้ในวัฒนธรรมเกี่ยวกับการบริโภค ความหมายที่มีมาแต่เดิมจึงได้ถูกกลับค่าไป" (1989a: 171)
ฮาเบอร์มาสได้ให้ข้อเสนอในเชิงทดลองต่างๆ เพื่อที่จะฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะขึ้นมาใหม่ โดยการจัดการความเป็นไปเกี่ยวกับกระบวนการเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับการสื่อสารสาธารณะ โดยผ่านองค์กรต่างๆ ซึ่งทำให้มันเป็นสื่อกลาง เขาสรุปและเสนอแนะว่า "การโฆษณาเผยแพร่(publicity)ในเชิงวิพากษ์ที่มาสู่ชีวิตในพื้นที่สาธารณะภายใน อาจน้อมนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยของสถาบันหลักๆ ของประชาสังคมได้" แม้ว่าเขาไม่ได้ให้ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมใดๆ หรือเสนอยุทธวิธีต่างๆ หรือนำเสนอแบบร่างรูปลักษณ์หน้าตาของพื้นที่สาธารณะในเชิงตรงข้าม หรือพื้นที่สาธารณะหลังชนชั้นกลางออกมาก็ตาม
Horkheimer ยังคงพบว่า งานของฮาเบอร์มาสเป็นฝ่ายซ้ายมากจนเกินไป ความจริงในเชิงปฏิบัติจึงปฏิเสธงานศึกษาดังกล่าว ในฐานะที่เป็นวิทยานิพนธ์ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และเขาไม่เห็นด้วยที่จะตีพิมพ์งานชิ้นนั้นในชุดตำราหรือเอกสารของสถาบัน(see Wiggershaus 1996: 555ff.) แต่อย่างไรก็ตาม มันได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1962 และได้รับการตอบรับอย่างกระตือรือร้นและวิพากษ์วิจารณ์ในเยอรมนี
เมื่อผลงานชิ้นนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี ค.ศ.1989 มันได้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยกันมากขึ้นเกี่ยวกับฮาเบอร์มาสและพื้นที่สาธารณะ, การถกเถียงกันอย่างมีชีวิตชีวายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังที่เราทั้งหลายทราบกันจนกระทั่งทุกวันนี้
++++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
[1]. While working on an article on Habermas and Dewey
in the early 1990s, I asked Habermas if Dewey had influenced him and he responded
that Dewey's strong notion of liberal democracy, of politics and the public,
and of the active connection between theory and practice made a strong impression
on him; see Antonio and Kellner 1992 for details. Hence, I think its fair
to say that Habermas has emerged as one of the major theorists and defenders
of a robust conception of liberal democracy in our day, and thus can be seen
as a successor to Dewey.
[2]. On SDS, see Sale 1974; Gitlin 1987; and Miller 1994.
[3]. Habermas 1989a [1962]); A short encyclopedia article succinctly summarizes Habermas's concept of the public sphere (1989b).
++++++++++++++++++++++++++++++
หมายเหตุ
งานเรียบเรียงนี้นำมาจากบทแรกของงานฉบับสมบูรณ์ของ Douglas
Kellner
เรื่อง Habermas, the Public Sphere, and Democracy: A Critical Intervention
สำหรับผู้สนใจในส่วนของบรรณานุกรมของงานเขียนชิ้นนี้(ซึ่งค่อนข้างยืดยาว) สามารถตรวจสอบได้จากต้นฉบับ
http://www.gseis.ucla.edu/faculty/kellner/kellner.html
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ข้อความบางส่วนจากบทความ
รัฐเริ่มที่จะแสดงบทบาทมากขึ้นในอาณาเขตส่วนตัวของผู้คนและชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุดังนั้น
จึงได้ไปกัดกร่อนความแตกต่างระหว่างรัฐและสังคมพลเมือง, ระหว่างพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ส่วนตัว.
ขณะที่พื้นที่สาธารณะกำลังเสื่อมทรามลง พลเมืองทั้งหลายจึงกลายเป็นเพียงผู้บริโภคเท่านั้น
โดยการอุทิศตัวของพวกเขาเองสู่การเป็นผู้บริโภคแบบยอมจำนนมากขึ้น และให้ความเอาใจใส่ต่อเรื่องส่วนตัวมากกว่าประเด็นปัญหาความดีงามของส่วนรวม
และการมีส่วนร่วมในทางประชาธิปไตย
ในการวิเคราะห์ของฮาเบอร์มาส พื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลางและความเห็นสาธารณะ ได้รับการก่อรูปขึ้นมาโดยการถกเถียงกันทางการเมืองและทำให้เกิดฉันทามติ(consensus) แต่ในพื้นที่สาธารณะที่มีการถกเถียงกันของรัฐทุนนิยมสวัสดิการ, ความเห็นสาธารณะจะถูกดำเนินการหรือบริหารโดยชนชั้นสูงทางการเมือง, ทางเศรษฐกิจ และบรรดาสื่อต่างๆ ซึ่งได้เข้ามาจัดการความเห็นสาธารณะ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการและการควบคุมทางสังคม
พื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลาง(bourgeois public sphere) ประกอบด้วยพื้นที่ต่างๆ ทางสังคม ซึ่งปัจเจกชนทั้งหลายมารวมตัวกัน เพื่อพูดคุยถึงเรื่องราวสาธารณะร่วมกัน และรวมตัวกันต่อต้านอำนาจตามอำเภอใจและการกดขี่ต่างๆ ที่มีต่อพลังสาธารณะและพลังทางสังคมโดยรัฐ หลักการทั้งหลายเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ เกี่ยวพันกับการสนทนาที่เปิดกว้างในทุกๆ ประเด็นปัญหาที่ได้รับความเอาใจใส่โดยทั่วไป รวมถึงผลประโยชน์ต่างๆ และสิ่งที่ดีสำหรับสาธารณะ. ด้วยเหตุดังนั้น พื้นที่สาธารณะจึงได้รับการสมมุติล่วงหน้าในฐานะที่เป็นพื้นที่ซึ่ง "สามารถพูดคุยกันได้อย่างอิสระ" และ"ชุมนุมกันได้อย่างเสรี", หรือเป็นพื้นที่บนสิ่งพิมพ์ที่มีเสรีภาพ, และมีสิทธิ์ที่จะมีส่วนร่วมอย่างอิสระในการถกเถียงกันทางการเมืองและทำการตัดสินใจ