Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับนอม ชอมสกี้
การปั้นแต่งมติมหาชน : นอม ชอมสกี กับ สื่อมวลชน
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : วิจารณ์
นักวิชาการอิสระและนักแปลอิสระ

บทวิจารณ์ภาพยนตร์ชิ้นนี้ กอง บก. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องของสารคดีเกี่ยวกับนอม ชอมสกี้ ซึ่งสร้างขึ้นโดย
มาร์ค อัชบาร์ (Mark Achbar) และ ปีเตอร์ วินโทนิค (Peter Wintonick)
โดยได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๒ ภาค
ภาคแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับ"การควบคุมความคิดในสังคมประชาธิปไตย"
ภาคที่สอง เกี่ยวกับ"จุดประเด็นโต้แย้ง"
โดยภาพรวมของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็น
การวิจารณ์รัฐทุนนิยม และสื่อมวลชนกระแสหลักของอเมริกัน
ซึ่งได้ปั้นแต่งมติมหาชนขึ้นมา และได้ครอบงำประชาชนอเมริกันและประชากรโลก

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1002
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)





การปั้นแต่งมติมหาชน : นอม ชอมสกี กับ สื่อมวลชน
(Manufacturing Consent : Noam Chomsky and the Media)
ภาพยนตร์สารคดี ความยาว ๓ ชั่วโมง และหนังสือคู่มือ
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : วิจารณ์
(คำว่า "Manufacturing Consent" เป็นคำที่ชอมสกีนำมาจากหนังสือของวอลเตอร์ ลิปป์มันน์ (Walter Lippmann ๑๘๘๙-๑๙๗๔) นักปรัชญาและนักหนังสือพิมพ์ผู้มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อชนชั้นนำในสหรัฐอเมริกา ลิปป์มันน์เสนอความคิดไว้ว่า การสร้างมติมหาชนขึ้นมาคือการปฏิวัติประชาธิปไตย เพราะประชาชนไม่รู้ว่าผลประโยชน์ส่วนรวมคืออะไร ประชาชนจึงไม่ควรมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ การปกครองประเทศเป็นเรื่องของชนชั้นผู้มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น)

ความนำ
คำโปรยปกหนังสือของนอม ชอมสกีที่สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ชอบใช้กันนักหนาคือ ข้อความที่ตัดมาจากหน้าวิจารณ์หนังสือของ The New York Times Book Review ที่ว่า "กล่าวได้ว่า นอม ชอมสกี คือปัญญาชนคนสำคัญที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่" เหตุที่สำนักพิมพ์ชอบข้อความนี้มากคงมีเหตุผล ๒ ประการคือ

ประการแรก นิวยอร์คไทมส์เป็นหนังสือพิมพ์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดฉบับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา คำชมเชยจากหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ จึงดูเหมือนน่าเชื่อถือและเป็นใบเบิกทางสำคัญที่จะชักจูงให้ผู้อ่านคล้อยตามได้ง่าย กับ

ประการที่สอง เป็นที่ทราบกันดีในวงการก็คือ นอม ชอมสกี จัดเป็นคู่รักคู่แค้นที่วิพากษ์วิจารณ์นิวยอร์คไทมส์มานาน คำชมจากปากของ "ศัตรู" ย่อมมีค่าและน้ำหนักมากกว่าคำสรรเสริญจากมิตรสหายนัก

ทว่าในการบรรยายครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย หลังจากที่ได้รับการแนะนำตัวด้วยประโยคข้างต้น ชอมสกีกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "…ประโยคที่ว่า 'กล่าวได้ว่าเป็นปัญญาชนที่สำคัญที่สุด' ในโลก ฯลฯ นั้น มาจากคำโปรยของพวกสำนักพิมพ์ และคุณต้องคอยระวังคำพูดพวกนี้ให้ดี เพราะหากคุณกลับไปอ่านต้นฉบับ…ในนิวยอร์คไทมส์…ประโยคต่อจากนั้นเขียนไว้ว่า: 'หากเป็นจริงเช่นนั้นแล้ว ทำไมเขาถึงมีแต่ข้อเขียนแย่ ๆ เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา?' และสำนักพิมพ์ไม่เคยอ้างข้อความนั้นเลย…"

ใน The New York Times Book Review วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๑๙๗๙ ข้อความที่เขียนถึงชอมสกีมีความเต็มดังนี้คือ "กล่าวได้ว่านอม ชอมสกี คือปัญญาชนคนสำคัญที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน แต่เขายังเป็นปัญญาชนที่มีความแตกแยกทางความคิดอย่างน่าใจหายด้วย ในด้านหนึ่ง เขามีงานเขียนทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์ที่ปฏิวัติทั้งวงการและเต็มไปด้วยศัพท์เทคนิค ซึ่งส่วนใหญ่คงไม่มีใครอ่านรู้เรื่องนอกจากนักภาษาศาสตร์หรือนักปรัชญา แต่อีกด้านหนึ่ง เขามีงานเขียนจำนวนมากพอ ๆ กันที่เป็นข้อเขียนทางด้านการเมือง ใครก็ตามที่อ่านหนังสือออกย่อมอ่านได้ไม่ยาก แต่งานเขียนพวกนี้มักตื้นเขินจนไร้สติ 'ปัญหาแบบชอมสกี' คือการอธิบายให้ได้ว่าบุคลิกสองแบบนี้อยู่ในตัวคน ๆ เดียวได้อย่างไร"

เหตุการณ์ที่ยกมาข้างต้นนี้แสดงให้เห็นอย่างน่าขันว่า แม้กระทั่งนอม ชอมสกีที่ได้ชื่อว่าเป็นนักวิพากษ์สื่อมวลชนที่เผ็ดร้อนที่สุดคนหนึ่ง ตัวเขาเองก็ยังไม่วายตกเป็นเหยื่อการสร้างภาพของสื่อมวลชน

อันที่จริง คำวิจารณ์ของนิวยอร์คไทมส์ที่มีต่อชอมสกีนับว่าน่าสนใจไม่น้อย คงมีน้อยคนอดเลิกคิ้วด้วยความประหลาดใจไม่ได้เมื่อทราบเป็นครั้งแรกว่า นอม ชอมสกี ซึ่งเป็นนักวิชาการบนหอคอยงาช้างของสถาบัน MIT (Massachusetts Institute of Technology) ผู้ปฏิวัติวงการภาษาศาสตร์และปรัชญาแห่งศตวรรษที่ ๒๐ คือคน ๆ เดียวกับ นอม ชอมสกี ที่เป็นนักวิพากษ์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐและสื่อมวลชนต่าง ๆ เป็นนักคิดในแนวทางสังคมนิยม-อนาธิปไตย ที่เข้ามามีบทบาทในหมู่นักกิจกรรมตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม เป็นแหล่งข้อมูลและเป็นแรงบันดาลใจให้องค์กรเอกชน และปัจเจกบุคคลจำนวนมากที่ทำงานในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง ฯลฯ ที่อยู่กระจัดกระจายไปทั่วโลก

ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับนอม ชอมสกี
ในแคนาดา มีนักกิจกรรมและนักสร้างภาพยนตร์สารคดีสองคนคือ มาร์ค อัชบาร์ (Mark Achbar) และ ปีเตอร์ วินโทนิค (Peter Wintonick) ต่างคนต่างได้ฟังการบรรยายของนอม ชอมสกีต่างกรรมต่างวาระในช่วงประมาณปี ๑๙๘๕-๘๖ ทั้งสองต่างมีความคิดที่จะสร้างภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับชอมสกีโดยที่มิได้นัดหมายกันมาก่อน

วินโทนิคพยายามเสนอโครงการนี้แก่คณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติของแคนาดา (National Film Board of Canada) แต่ถูกปฏิเสธ ส่วนอัชบาร์เริ่มต้นโครงการนี้กับเพื่อน แต่ว่าเกิดขัดแย้งทางความคิดจนต้องเลิกราไป จนกระทั่งปี ๑๙๘๘ ทั้งสองจึงโคจรมาพบกัน และร่วมกันสานต่อโครงการที่ตั้งใจไว้ ภาพยนตร์สารคดีที่ทั้งสองสร้างขึ้นนี้ออกฉายครั้งแรกในปี ๑๙๙๒ ในชื่อ Manufacturing Consent : Noam Chomsky and the Media

แต่เบื้องหลังความเป็นมาของภาพยนตร์เรื่องนี้มิใช่เรื่องง่าย ๆ หลังจากขออนุญาตจากชอมสกีแล้ว อัชบาร์และวินโทนิคก็เริ่มติดตามชอมสกีไปทุกหนทุกแห่งเท่าที่สามารถตามไปได้ ทั้งสองถ่ายเก็บการบรรยายของชอมสกีในสถานที่ต่าง ๆ ถึง ๒๓ เมืองใน ๗ ประเทศ ในบางประเทศที่ทั้งสองไม่สามารถไปได้เพราะปัญหาทางด้านทุนรอน เช่น ญี่ปุ่น พวกเขาใช้วิธีว่าจ้างตากล้องท้องถิ่นให้ทำงานแทนโดยติดต่อกันทางแฟกซ์ หรือบางครั้งก็ไหว้วานเพื่อนช่วยถ่ายวิดีโอให้แทน ถึงขนาดกลายเป็นเรื่องตลกที่เล่าสู่กันฟังว่า บางครั้งชอมสกีเองก็ออกอาการเครียดเล็กน้อยที่ถูกตามไปทุกหนทุกแห่ง (ยกเว้นที่บ้าน) แต่หากครั้งไหนที่ชอมสกีไปถึงสนามบินแล้วไม่พบอัชบาร์กับวินโทนิคมาคอยอยู่ เขาก็อดนึกสงสัยไม่ได้ว่าตนจะมาผิดที่เสียแล้ว

ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทำและตัดต่อขั้นสุดท้ายถึง ๕ ปีด้วยกัน ปัญหาสำคัญที่สุดคงเป็นปัญหาเรื่องทุนในการสร้าง อัชบาร์และวินโทนิคดิ้นรนกันทุกวิถีทาง พวกเขาใช้ฟิล์ม ๑๖ มม. ถ่ายการบรรยายของชอมสกีไว้ถึง ๑๒๐ ชั่วโมง ไม่นับที่เป็นวิดีโอเทป ฟิล์มทั้งหมดอาจกลายเป็นขยะไปหากทั้งสองไม่สามารถหาทุนในการล้างและตัดต่อได้ จนในที่สุด คณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติของแคนาดาก็ยื่นมือเข้ามาช่วย ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ๑๙๙๒ ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองซิดนีย์ของออสเตรเลีย และได้รับรางวัลนับไม่ถ้วนจากเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศต่าง ๆ เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดฉายในซานฟรานซิสโก มันทำรายได้มากกว่าภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ที่ออกฉายพร้อมกัน ยกเว้น Indecent Proposal

มาร์ค อัชบาร์ และ ปีเตอร์ วินโทนิค ใช้เทคนิคทางด้านภาพยนตร์มากมายกับสารคดีเรื่องนี้ หนังเปิดฉากที่ศูนย์การค้าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในออนตาริโอ แคนาดา ในศูนย์การค้าแห่งนี้มีจอวิดีโอขนาดยักษ์ที่ใช้โฆษณาสินค้าและฉายการ์ตูนให้เด็ก ๆ ดู ทว่าวันนี้บนจอฉายเทปการให้สัมภาษณ์ของชอมสกีแทน ชอมสกีกำลังถูกซักถามเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Manufacturing Consent ในขณะที่ลูกค้าของศูนย์การค้าต่างเดินกันขวักไขว่โดยไม่มีทีท่าสนใจกับภาพที่ฉายบนจอขนาดยักษ์นั้นเลย

ตัดมาที่หน้าทำเนียบขาว ปีเตอร์ วินโทนิคถือไมโครโฟนอันใหญ่ เขากำลังสัมภาษณ์เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่ง ปีเตอร์บอกว่าเขากำลังถ่ายภาพยนตร์เกี่ยวกับ นอม ชอมสกี มีใครรู้จักชอมสกีบ้าง เด็ก ๆ ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่รู้จัก

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ใช้เทคนิคการตัดต่อและสร้างภาพมากมาย (ใช้เวลาในการตัดต่อไปถึง ๑ ปีเต็ม) ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นเทปบันทึกการบรรยาย สัมภาษณ์ ของนอม ชอมสกี ในสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งมหาวิทยาลัย สถานีวิทยุและโทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งยืนคุยกับนักศึกษาบนบันไดหน้าตึก ฯลฯ เมื่อชอมสกีพูดถึงประเด็นใด เช่น ติมอร์ตะวันออก เขมรแดง ฯลฯ ก็จะมีการแทรกภาพข่าวเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ มีการสัมภาษณ์บรรณาธิการของวอชิงตัน โพสต์ และ นิวยอร์คไทมส์ ที่ถูกชอมสกีวิจารณ์ถึง

มีการแทรกภาพในเชิงเปรียบเทียบ เช่น เมื่อชอมสกีวิวาทะกับอดีตรัฐมนตรีกลาโหมของเนเธอร์แลนด์ มีการแทรกภาพการชกมวยของนักมวยผิวดำกับผิวขาว (นักมวยผิวดำชนะน็อค) เมื่อพาดพิงถึงหนังสือของชอมสกีเล่มใดเล่มหนึ่ง จะมีการตัดภาพไปที่ปกของหนังสือ มีการใช้ตัวอักษรและกราฟิคเพื่อเน้นประเด็นบางอย่างให้ชัดเจนขึ้น และมีการสร้างบางฉากบางตอนขึ้นมาเป็นพิเศษ เช่น อัชบาร์และวินโทนิคแต่งตัวเป็นหมอศัลยกรรมและผ่าตัดบทความในลอนดอนไทมส์ เพื่อเป็นการเปรียบเทียบถึงกรณีที่ นิวยอร์คไทมส์ ตัดต่อบทความนี้จนบิดเบือนประเด็นของติมอร์ตะวันออก เป็นต้น

วินโทนิคยังเขียนบันทึกไว้ด้วยว่า เขาต้องการให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีกระบวนการเป็นประชาธิปไตยอย่างที่สุด ดังนั้น ในสารคดีเรื่องนี้จึงไม่มี "ผู้บรรยาย" คำบรรยาย คำให้สัมภาษณ์ทั้งหมดของชอมสกี เป็นสื่อสะท้อนที่ดีที่สุดถึงความคิดของชอมสกีเอง อีกทั้งความคงเส้นคงวาในแนวความคิดของชอมสกี ทำให้ลำดับเวลาไม่มีความสำคัญมากนัก เราจะได้เห็นการตัดสลับภาพชอมสกีในวัยหนุ่มและในปัจจุบัน โดยที่คำพูดของเขาไม่มีข้อขัดแย้งกันเลย นอกจากนี้ วินโทนิคกล่าวว่าในระหว่างการตัดต่อ มีการฉายหนังตัวอย่างและรับฟังความคิดเห็นจากคนกว่า ๖๐๐ คน ก่อนจะเสร็จสิ้นออกมาเป็นภาพยนตร์ในขั้นสุดท้าย

แล้วเนื้อหาของภาพยนตร์เกี่ยวกับอะไร?
มาร์ค อัชบาร์ กล่าวไว้ในคำนำของหนังสือคู่มือภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า ความตั้งใจของผู้สร้างมิใช่เพียงนำเสนอความคิดของชอมสกี เกี่ยวกับ สื่อมวลชนเท่านั้น แต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ชอมสกีมี กับ สื่อมวลชนด้วย โดยเน้นถึงความแตกต่างระหว่างภายในกับภายนอกประเทศสหรัฐอเมริกา ชอมสกีเป็นกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าสื่อมวลชนปฏิบัติอย่างไรต่อ "ปัญญาชนหัวแข็ง" ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในประเทศของตัวเอง

ปีเตอร์ วินโทนิคเขียนไว้ในบันทึกการสร้างว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสื่อมวลชนที่ต้องการสะท้อนถึงสื่อมวลชน
หนังเรื่องนี้แบ่งออกเป็นสองภาคด้วยกัน

ภาคแรก คือ "การควบคุมความคิดในสังคมประชาธิปไตย"
ภาคที่สอง ตั้งชื่อว่า "จุดประเด็นโต้แย้ง"

ภาคแรกเน้นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ชอมสกีมีต่อสื่อมวลชน ภาคที่สองคือปฏิกิริยาที่สื่อมวลชนและผู้คนมีต่อชอมสกี ทั้งในทางเกรี้ยวกราด ปรามาส และในทางชื่นชม รวมทั้งได้เสนอทางออกถึงสื่อมวลชนที่เป็นทางเลือกจากสื่อมวลชนกระแสหลักด้วย

ภาคแรก การควบคุมความคิดในสังคมประชาธิปไตย
ภาคแรกเริ่มต้นที่สถานีวิทยุ ผู้จัดรายการตั้งคำถามกับชอมสกีว่า ในสังคมประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา เป็นเรื่องน่าแปลกที่ชอมสกีชอบกล่าวว่า คนอเมริกันถูกควบคุมทางความคิด ชอมสกีอธิบายว่า สังคมเผด็จการใช้ความรุนแรงในการควบคุมประชาชน ในขณะที่สังคมประชาธิปไตยใช้การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อปิดบังมิให้ประชาชนมองเห็นความจริงพื้นฐานหลาย ๆ อย่าง ในสังคมอเมริกัน มีคำพูดต้องห้ามที่ไม่เคยปรากฏตามสื่อมวลชนกระแสหลักเลย เช่น สหรัฐคือผู้รุกรานเวียดนาม เพนตากอนคือการใช้งบประมาณรัฐสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง สหรัฐอเมริกาคือตัวการขัดขวางการเจรจาสันติภาพในตะวันออกกลาง ฯลฯ

ชอมสกีเชื่อว่า หากเปิดเผยข้อเท็จจริงเหล่านี้แก่ประชาชน ประชาชนสามารถใช้สามัญสำนึกตัดสินได้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด สามัญสำนึกของสามัญชนคือบรรทัดฐานที่ดีที่สุดในการชี้นำระบบการปกครองและนโยบายรัฐ แต่การมองเห็นข้อเท็จจริงเหล่านี้มิใช่เรื่องง่าย เพราะมันถูกปิดบัง บิดเบือน ด้วยโฆษณาชวนเชื่อที่รัฐสร้างขึ้นมาโดยอาศัยสื่อมวลชนเป็นกลไกสำคัญ

พิธีกรรายการโทรทัศน์คนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ค่อนข้างน่าแปลกที่นักภาษาศาสตร์จากสถาบัน MIT อย่างชอมสกี กลับมีความเชื่อมั่นในสามัญสำนึกของประชาชน ชอมสกีตอบว่า หากดูจากผลงานทางด้านภาษาศาสตร์ของเขาแล้ว เราจะพบข้อสรุปตรงกันข้ามกับที่คนทั่วไปมักเข้าใจกัน โดยชี้ให้เห็นว่าคนธรรมดามีธรรมชาติที่สร้างสรรค์อยู่ในตัว

ภาษาศาสตร์ สกินเนอร์ และชอมสกี้
ก่อนหน้านี้ วงการภาษาศาสตร์อยู่ภายใต้อิทธิพลของนักพฤติกรรมศาสตร์ที่ชื่อ สกินเนอร์ (B. F. Skinner ๑๙๐๔-๑๙๙๐) สำนักพฤติกรรมศาสตร์มีอิทธิพลต่อศาสตร์แขนงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา ปรัชญา ภาษาศาสตร์ ฯลฯ สำนักนี้เชื่อว่ามนุษย์เรียนรู้ทุกอย่างจากประสบการณ์ พฤติกรรมของมนุษย์เกิดมาจากการตอบสนองต่อแรงกระตุ้นที่มาจากภายนอก การอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ในลักษณะของความเชื่อ ความตั้งใจหรือเจตจำนง จึงขาดความเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นการอธิบายที่อาศัยอัตวิสัยเข้าไปเกี่ยวข้อง

ทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ของชอมสกีคือ การปฏิวัติวงการจากอิทธิพลของสกินเนอร์ ทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ของชอมสกีเห็นว่า ถ้าคนเราเรียนรู้ภาษาจากประสบการณ์เพียงอย่างเดียว ความรู้ทางภาษาของเราคงกะพร่องกะแพร่งมาก แต่ความจริงก็คือเด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ภาษาได้อย่างรวดเร็วและมีลักษณะก้าวกระโดดในการเรียนรู้ เด็กสามารถผูกประโยคใหม่ ๆ ที่เขาไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนได้ถูกต้องอย่างไม่น่าเชื่อ มนุษย์มีความสามารถในการใช้ภาษาที่ทำให้ภาษาเกิดการงอกขยาย (generative) อันแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติที่สร้างสรรค์ในตัวคนทุก ๆ คน

เมื่อศึกษากระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ ชอมสกีได้ข้อสรุปว่า ในพันธุกรรมของคนต้องมีโปรแกรมที่วางมาสำหรับการเรียนรู้ภาษาอยู่แล้ว สิ่งแวดล้อมเป็นเพียงตัวกำหนดว่าเด็กจะเรียนรู้ภาษาอะไรเท่านั้น การที่เด็กญี่ปุ่นเติบโตในประเทศตะวันตกและเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้อย่างไม่มีปัญหา แสดงว่าภาษาทุกภาษาต้องมีโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียวกัน และโปรแกรมที่จะเรียนรู้โครงสร้างทางภาษานั้นมีอยู่ในตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด

จากทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ของชอมสกี เราสามารถก้าวไปสู่ข้อสรุปได้หรือไม่ว่า มีหลักการพื้นฐานบางอย่างในธรรมชาติมนุษย์ในลักษณะเดียวกับภาษา ที่ครอบคลุมไปถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น ศีลธรรม ความรู้ ความงาม ฯลฯ ชอมสกีตอบว่าเขาคงยินดีมากหากสามารถพิสูจน์ถึงความเชื่อมโยงดังกล่าวได้ แต่น่าเสียดายที่การสรุปเช่นนั้นคงเป็นการด่วนสรุปเกินไป แม้กระทั่งตัวเขาเองก็ยังไม่สามารถค้นพบความเชื่อมโยงระหว่าง "ความคิดทางภาษาศาสตร์" กับ "จุดยืนทางการเมืองของตนในระดับที่สามารถตั้งเป็นทฤษฎีได้"

แต่ถ้าความเชื่อของเขาถูกต้อง เขาคิดว่าองค์ประกอบพื้นฐานของธรรมชาติมนุษย์คือ ความต้องการการสร้างสรรค์อย่างเสรี โดยไม่ถูกจำกัดจากสถาบันต่าง ๆ ในสังคม ดังนั้น สังคมที่ดีควรเอื้ออำนวยต่อบุคลิกภาพพื้นฐานอันนี้ของมนุษย์ สังคมที่ดีจึงไม่ควรมีการผูกขาดรวมศูนย์ทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ อุดมคติทางสังคมของชอมสกีจึงเป็นแบบอนาธิปไตย-สหภาพนิยม (anarcho-syndicalism) ซึ่งชอมสกีเห็นว่าเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับสังคมที่มีเทคโนโลยีสูง เมื่อคนไม่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรในการผลิตอีกต่อไป

(syndicalism เห็นว่าปัจจัยในการผลิตทั้งหมด เป็นสมบัติร่วมกันของกรรมกรที่ทำงานอยู่ในโรงงานนั้น การกำหนดทิศทางและนโยบายของแต่ละแหล่งการผลิต จึงต้องใช้กระบวนการประชาธิปไตยในหมู่กรรมกร ระบบเศรษฐกิจในลักษณะนี้จึงแตกออกเป็นหน่วยย่อย ๆ มากมาย แต่ละหน่วยเป็นประชาธิปไตยในตัวเอง นี่จัดเป็นสังคมนิยมแบบหนึ่ง แต่แตกต่างจากสังคมนิยมแบบมาร์กซิสต์-เลนิน ที่นโยบายทั้งหมดถูกชี้นำมาจากรัฐหรือพรรคคอมมิวนิสต์)

นี่อาจตอบคำถามข้างต้นได้ว่า เหตุใดชอมสกีที่เป็นนักวิชาการบนหอคอยงาช้าง จึงเป็นนักคิดที่เชื่อมั่นในการตัดสินและระดับทางศีลธรรมของสามัญชน ชีวิตของชอมสกีเองก็เป็นหลักฐานพิสูจน์ความคิดของเขา เพราะชอมสกีผู้สร้างประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของภาษาศาสตร์ นักวิชาการผู้มีอิทธิพลต่อวงการปรัชญา จิตวิทยา การศึกษา สังคมวิทยา วรรณคดีวิจารณ์ ตรรกวิทยา ฯลฯ นักคิดที่ยังมีชีวิตอยู่ผู้ได้รับการอ้างอิงถึงมากที่สุดในรอบ ๒๐ ปี ทั้งในทางสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่เขาไม่ได้จบทางด้านภาษาศาสตร์มาเลย

ชอมสกีเคยกล่าวว่าถ้าดูจากคุณสมบัติทางการศึกษาแล้ว เขาคงไม่สามารถสอนในมหาวิทยาลัยกระจอกด้วยซ้ำ (แต่เพราะ MIT เป็นมหาวิทยาลัยทางวิทยาศาสตร์ จึงไม่สนใจเรื่องใบปริญญา!) ในทำนองเดียวกัน ชอมสกีเองก็ไม่ได้เรียนจบมาทางด้านการเมืองหรือเศรษฐศาสตร์ แต่เขาคิดว่าการเป็นนักวิจารณ์สังคมไม่ใช่เรื่องของอาชีพหรือผู้เชี่ยวชาญ แต่เป็นเรื่องของมนุษย์

ชอมสกีกล่าวเสมอว่าอย่าฟังเขาเพียงเพราะเขาเป็นนักภาษาศาสตร์หรือเป็นอะไรก็ตาม แต่ขอให้ตั้งคำถามเสมอว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นมีเหตุผลหรือเปล่า มีหลักฐานประกอบหรือไม่ เขาเชื่อมั่นในวิจารณญาณของคนธรรมดาสามัญ และวิจารณ์การศึกษาว่า "การศึกษาคือระบบของการยัดเยียดความโง่เขลา" ให้ประชาชน

นอม ชอมสกีวิจารณ์การเมือง
แล้วชอมสกีวิจารณ์การเมืองอย่างไร นิวยอร์คไทมส์ จึงกล่าวว่ามันเป็นงานเขียนที่ "ตื้นเขินจนไร้สติ"?
ชอมสกีวิจารณ์สังคมอเมริกัน รวมไปถึงระบบสังคมโลกในปัจจุบัน ว่าเป็นระบบทุนนิยมโดยรัฐ (State Capitalism) หัวใจสำคัญของระบบสังคม-เศรษฐกิจแบบนี้คือ การที่เอกชนกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ครอบครองปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่ เมื่อความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ที่คนกลุ่มเดียว คนกลุ่มนี้จึงสามารถมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐให้ตอบสนองผลประโยชน์ของตนได้

นโยบายสำคัญของรัฐบาลอเมริกันที่ดำเนินมานับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ คือการนำเงินภาษีที่เก็บจากประชาชนส่วนใหญ่ไปอุ้มชูอุตสาหกรรมที่เป็นผลประโยชน์ของชนชั้นนำ แต่ข้อเท็จจริงนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนมองไม่เห็น เพราะรัฐบาลและสื่อมวลชนคอยสร้างภาพว่า "สังคมอเมริกันเป็นประชาธิปไตย"

หากย้อนกลับไปดูข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา กลุ่มคนที่เป็นผู้นำในการก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกามีความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยไม่เหมือนกับที่เราเข้าใจกัน สำหรับคนกลุ่มนี้ ประชาธิปไตยคือเกมของกลุ่มผู้นำประเทศ ไม่ใช่ของประชาชน "ผู้โง่เขลา" ประชาชนควรถูกควบคุมไว้และเป็นแค่ผู้ตามที่ดี ในขณะที่การปกครองประเทศเป็นเรื่องของ "เจ้าของ" ประเทศ (นั่นคือ เจ้าของปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่ในประเทศ)

คำว่า "Manufacturing Consent" เป็นคำที่ชอมสกีนำมาจากหนังสือของวอลเตอร์ ลิปป์มันน์ (Walter Lippmann ๑๘๘๙-๑๙๗๔) นักปรัชญาและนักหนังสือพิมพ์ผู้มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อชนชั้นนำในสหรัฐอเมริกา ลิปป์มันน์เสนอความคิดไว้ว่า การสร้างมติมหาชนขึ้นมาคือการปฏิวัติประชาธิปไตย เพราะประชาชนไม่รู้ว่าผลประโยชน์ส่วนรวมคืออะไร ประชาชนจึงไม่ควรมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ การปกครองประเทศเป็นเรื่องของชนชั้นผู้มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น

นักคิดอีกคนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อผู้วางนโยบายของสหรัฐอเมริกาคือ ไรน์โฮลด์ นีบูร์ (Reinhold Niebuhr) ที่เห็นว่า สามัญชนเป็นคนโง่และไม่มีเหตุผล ประชาชนจึงต้องการศรัทธาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ศรัทธานี้ต้องอาศัย "มายาคติที่จำเป็น" (necessary illusion ซึ่งกลายเป็นชื่อหนังสืออีกเล่มหนึ่งของชอมสกี) โดยให้นักสร้างมายาคติของรัฐเป็นผู้สร้างขึ้นมา เพื่อควบคุมสามัญชนไม่ให้แตกแถวออกไป

บทบาทของสื่อกระแสหลักในสังคมอเมริกัน
หน้าที่พื้นฐานของสื่อมวลชนกระแสหลักในสหรัฐอเมริกา คือสร้างเสียงสนับสนุนและมติมหาชนให้แก่ภาคธุรกิจเอกชนที่ครอบงำรัฐบาล นี่เป็นลักษณะเฉพาะของสังคมอเมริกัน สังคมในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน หากเราต้องการวิเคราะห์โครงสร้างทางสถาบันของสังคมใดใด สิ่งแรกที่เราต้องพิจารณาก็คือ ใครที่อยู่ในสถานะเป็นผู้กำหนดนโยบายการบริหารประเทศ

ในสหรัฐอเมริกา การตัดสินใจเกี่ยวกับการผลิต การลงทุน ทิศทางทางเศรษฐกิจ ฯลฯ อยู่ในมือของกลุ่มเครือข่ายบรรษัทใหญ่ ๆ กลุ่มธุรกิจเอกชนเหล่านี้คือผู้มีบทบาทในการตั้งคณะบริหารประเทศ และเป็นเจ้าของสื่อมวลชน

เป้าหมายในการครอบงำของสื่อ
ประชาชนที่เป็นเป้าหมายของการครอบงำด้วยโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อปั้นแต่งมติมหาชนขึ้นมาสามารถแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มด้วยกัน

ประชากรกลุ่มแรก คือกลุ่มที่เรียกว่า "ชนชั้นทางการเมือง" (political class) คิดเป็นจำนวนประมาณ ๒๐% ของประชากรทั้งหมด ประชากรกลุ่มนี้มีการศึกษาดี มีบทบาทไม่มากก็น้อยในการตัดสินนโยบายทางการเมือง เช่น ผู้จัดการ ครู นักเขียน หมอ วิศวกร ฯลฯ และมีบทบาทในทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมในระดับหนึ่ง คนกลุ่มนี้มีความสำคัญมากและต้องปลูกฝังความคิดความเชื่อให้อย่างลึกซึ้ง

ประชากรกลุ่มที่สอง คือประชาชนอีกกลุ่มจำนวน ๘๐% ที่เหลือ เป็นแค่ผู้ปฏิบัติตามคำสั่ง ไม่ต้องคิด ไม่ต้องสนใจอะไรมาก และคนกลุ่มนี้เองที่มักต้องเป็นผู้จ่ายราคาเมื่อเกิดการสูญเสียทางสังคมขึ้นมา

ลัทธิที่ต้องปลูกฝังให้ชนชั้นทางการเมือง
หัวใจสำคัญของลัทธิที่ต้องปลูกฝังให้ชนชั้นทางการเมืองก็คือ ผลประโยชน์ของบรรษัทใหญ่ ๆ คือผลประโยชน์แห่งชาติ สื่อกลางในการถ่ายทอดมายาคตินี้คือสื่อมวลชนกระแสหลักหรือสื่อมวลชนระดับชาติ เช่น หนังสือพิมพ์อย่างนิวยอร์คไทมส์, วอชิงตันโพสต์, สถานีโทรทัศน์ระดับชาติ ฯลฯ สื่อมวลชนเหล่านี้เป็นผู้กำหนดกรอบกว้าง ๆ ที่สื่อมวลชนท้องถิ่นอื่น ๆ พยายามตามอย่าง และเป็นผู้กำหนดลำดับความสำคัญของข่าวต่าง ๆ วิธี

การปั้นแต่งมติมหาชนโดยอาศัยการเสนอข่าวของสื่อมวลชน ทำได้โดย การเลือกหัวข้อข่าว การเน้นย้ำประเด็นใดประเด็นหนึ่ง การกลั่นกรองข้อมูล และการกำหนดขอบเขตการถกเถียงให้อยู่ในกรอบบางอย่าง

สื่อมวลชนทำเช่นนี้เพื่ออะไร อันที่จริง สื่อมวลชนก็คือธุรกิจอย่างหนึ่งที่มีผู้ขาย ผู้ซื้อ และสินค้าที่เสนอขาย เนื่องจากรายได้หลักของสื่อมวลชนมาจากโฆษณา ผู้ซื้อสินค้าของสื่อมวลชนก็คือบรรษัทธุรกิจต่าง ๆ สินค้าที่สื่อมวลชนเสนอขายก็คือผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีกำลังในการซื้อสูง ภาพของโลกที่สื่อมวลชนสร้างขึ้นมาจึงเป็นภาพที่ตอบสนองความต้องการและความพอใจของผู้ขาย ผู้ซื้อและตัวสินค้า

ข้อเท็จจริงที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ในสหรัฐอเมริกา ผู้ขายกับผู้ซื้อในตลาดสื่อมวลชนแทบจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน เพราะถ้าเราดูจากข้อมูลว่าใครเป็นเจ้าของสื่อมวลชน เราจะพบว่าในอเมริกามีบรรษัทสร้างภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ ๗ แห่ง, มีหนังสือพิมพ์รายวันประมาณ ๑,๘๐๐ ฉบับ, นิตยสาร ๑๑,๐๐๐ ฉบับ, สถานีวิทยุ ๑๑,๐๐๐ แห่ง, สถานีโทรทัศน์ ๒,๐๐๐ แห่ง, สำนักพิมพ์ ๒,๕๐๐ แห่ง, ทั้งหมดนี้มีบรรษัทขนาดใหญ่เพียง ๒๓ บรรษัทเป็นเจ้าของและควบคุมกิจการมากกว่า ๕๐% ของสื่อมวลชนทั้งหมด และบรรษัทเหล่านี้มักมีหุ้นส่วนหรือเป็นบรรษัทย่อยของบรรษัทที่ใหญ่กว่าอีกทีหนึ่ง

ในบรรดาสื่อมวลชนกระแสหลักทั้งหมด ชอมสกีเห็นว่าสื่อมวลชนที่ให้ภาพของโลกตรงตามความเป็นจริงมากที่สุดคือหนังสือพิมพ์ธุรกิจ เช่น The Financial Times เพราะกลุ่มคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องการลงทุนต้องการรู้ข้อเท็จจริงเพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง

ยังมีสื่อมวลชนอีกประเภทหนึ่งที่มีกลุ่มเป้าหมายคือประชาชน ๘๐% ที่เหลือ สื่อมวลชนแบบนี้มีไว้เพื่อให้คนไม่ต้องคิดและเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนไปทางอื่น เช่น ละครน้ำเน่า กีฬา รายการบันเทิงต่าง ๆ ฯลฯ สื่อมวลชนประเภทนี้มักลดความสามารถในการคิดของคนลง หรือทำให้คนต้องใช้สติปัญญาไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง

ข้อกล่าวหาว่าสื่อมวลชนคือสื่อกลางในการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐและภาคธุรกิจเอกชน สามารถพิสูจน์ได้โดยการหาตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่เป็นคู่เปรียบเทียบกันออกมา แล้วดูว่าสื่อมวลชนยอมรับกรอบทางความคิดของรัฐบาลหรือไม่อย่างไร ในภาพยนตร์เรื่อง Manufacturing Consent นี้ เลือกเอาตัวอย่างของกัมพูชาในยุคพอลพต เปรียบเทียบกับกรณีของติมอร์ตะวันออกที่ถูกอินโดนีเซียยึดครอง

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ดำเนินอยู่ในสองประเทศมีระดับความรุนแรงพอ ๆ กัน แต่ปฏิกิริยาที่แสดงออกมาในสื่อมวลชนอเมริกันแตกต่างกันอย่างลิบลับ เนื่องจากกัมพูชาในขณะนั้นปกครองด้วยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงออกมาโจมตีเขมรแดงอย่างรุนแรง สื่อมวลชนต่างขานรับกันอย่างเกรียวกราว ในขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียถือเป็น "พรรคพวก" ของสหรัฐ มิหนำซ้ำอาวุธที่ทหารอินโดนีเซียใช้ในการสังหารหมู่ชาวติมอร์ เป็นอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐด้วย ปรากฏว่าสื่อมวลชนอเมริกันแทบไม่มีข่าวเกี่ยวกับติมอร์ตะวันออกเลย

ชอมสกีมักถูกสื่อมวลชนเสียดสีว่า เขาวิจารณ์แต่นโยบายต่างประเทศของสหรัฐ ในทำนองว่าเขาชอบโวยวายเกี่ยวกับความเสียหายที่สหรัฐสร้างขึ้น แต่ทำเป็นมองไม่เห็นความเลวร้ายของประเทศอื่น ชอมสกีตอบว่ามีประโยชน์อะไรหากเขาจะไปวิจารณ์ประเทศอื่น เช่น สหภาพโซเวียต "คุณต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่คาดเดาได้จากการกระทำของคุณเอง คุณไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่คาดเดาได้จากการกระทำของคนอื่น"

ภาคที่สอง จุดประเด็นโต้แย้ง
แต่ไม่มีรัฐไหนชอบเสียงคัดค้าน ไม่มีสื่อมวลชนไหนชอบเสียงวิจารณ์ และไม่ใช่ทุกคนที่พอใจฟังคำตำหนิการดำเนินนโยบายของประเทศตน นี่คือแกนหลักของภาคสอง จุดประเด็นโต้แย้ง

ในสารคดีเรื่องนี้ เราจะได้เห็นความสัมพันธ์ที่ชอมสกีมีกับสื่อมวลชนและคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม หนังเริ่มต้นที่การวิวาทะระหว่างชอมสกีกับอดีตรัฐมนตรีกลาโหมของเนเธอร์แลนด์ เขาถูกโจมตีว่าเป็นนักทฤษฎี conspiracy theory (คือแนวความคิดที่วิเคราะห์ปัญหาสังคมว่าเกิดมาจากคนกลุ่มหนึ่งจงใจสร้างสถานการณ์ขึ้นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน เป็นวิธีการอธิบายที่ตรงกันข้ามกับการวิเคราะห์ในเชิงโครงสร้าง) ถูกนักศึกษามหาวิทยาลัยกล่าวหาว่า เขาวิจารณ์รัฐบาลอเมริกันเพียงเพราะอยากดัง ฯลฯ ในขณะที่ชอมสกีได้รับการยอมรับจากสื่อมวลชนในต่างประเทศ เขากลับถูกเพิกเฉยจากสื่อมวลชนกระแสหลักในประเทศของตนเอง หรือบางครั้งก็ถูกถากถาง เยาะเย้ย และล้อเลียนเหมือนเป็นตัวตลก

ปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งอีกประการหนึ่งในการสื่อสารความคิดผ่านสื่อมวลชนกระแสหลักก็คือ สถานีโทรทัศน์และวิทยุในสหรัฐอเมริกามีโฆษณาคั่นเป็นระยะ ๆ คนที่ออกรายการจะต้องพูดประเด็นหนึ่ง ๆ ให้จบในช่วงระหว่างโฆษณา ซึ่งนับได้ประมาณ ๖๐๐ คำ ในสภาพการณ์เช่นนี้ เราจะพูดให้ฟังแล้วรู้เรื่องได้ก็เฉพาะการนำเสนอความคิดกระแสหลักเท่านั้น เช่น พูดว่าซัดดัม ฮุสเซนเป็นเผด็จการที่ชั่วร้าย อิรักไม่ยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของสหประชาชาติ เป็นต้น

คำพูดเช่นนี้ไม่ต้องการหลักฐานรองรับอีกต่อไป เพราะเป็นความเชื่อที่ฝังหัวคนทั่วไปอยู่แล้ว แต่ถ้าเราพูดในสิ่งที่โต้แย้งกับความคิดกระแสหลัก เช่น สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ขัดขวางการเจรจาสันติภาพกับอิรัก ประธานาธิบดีอเมริกันหลังสงครามโลกครั้งที่สองทุกคนเป็นอาชญากรสงคราม ฯลฯ คำพูดเหล่านี้จำเป็นต้องมีหลักฐานมาสนับสนุน ต้องใช้เวลาในการอธิบาย ซึ่งไม่มีทางพูดเสร็จได้ในช่วงสั้น ๆ ก่อนโฆษณา ดังนั้น ใครก็ตามที่มีความคิดขัดแย้งกับกระแสหลักในสังคมย่อมดูเป็นตัวตลกหรือบ้องตื้น เมื่อถูกสัมภาษณ์ออกรายการวิทยุและโทรทัศน์

คนที่นอม ชอมสกี้ ต้องการสื่อสารคือสามัญชน
แต่เวลากว่า ๓๐ ปี ที่ชอมสกีเขียน พูดและบรรยายตามสถานที่ต่าง ๆ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เขาต้องการสื่อสารกับใคร เป้าหมายของชอมสกีไม่ใช่ปัญญาชนหรือนักการเมือง เขาวิจารณ์ว่าปัญญาชน โดยเฉพาะ "ฝ่ายซ้าย" ในปัจจุบัน มัวแต่เล่นกายกรรมทางความคิด ส่วนนักการเมืองย่อมไม่ใช่ความหวังที่พึ่งพิงได้ เพราะชอมสกีเชื่อว่ารัฐและอำนาจคือสิ่งชั่วร้าย

คนที่ชอมสกีต้องการสื่อสารด้วยคือ"สามัญชน" สิ่งที่เขาเรียกร้องจากสามัญชนก็คือสิ่งที่สามัญชนเป็นอยู่และมีอยู่ นั่นคือ"สามัญสำนึก" เขามุ่งหวังให้สามัญชนเข้าใจโลกที่แท้จริงและกระทำตามสามัญสำนึก แต่สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือ

- สามัญชนต้องเข้าใจโลกก่อน
- ต้องสร้างความคิดที่เป็นอิสระขึ้นมา
- ต้องรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐและทุนนิยม

ระบบสังคมทุกวันนี้พยายามแยกคนออกจากกัน เดี๋ยวนี้ประชาชนต่างคนต่างนั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์ ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้ เป็นเรื่องยากที่คนจะมีความคิดเป็นตัวของตัวเอง สิ่งที่ชอมสกีพยายามทำคือให้การศึกษา พยายามช่วยคนอื่น ๆ สร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญาขึ้นมา

แต่ภูมิคุ้มกันทางปัญญาจะสร้างขึ้นมาได้ ต้องมีองค์กรประชาชนรองรับ เขาย้ำเสมอว่าคน ๆ เดียวไม่สามารถทำอะไรได้และไม่เห็นด้วยกับลัทธิเชิดชูวีรบุรุษ เขากล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทุกครั้งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะมีประชาชนนิรนามจำนวนมากเป็นผู้เสียสละ ไม่ว่าจะเป็นมาร์ติน ลูเธอร์ คิง, คานธี, หรือใครก็ตาม ความสำเร็จของคนเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะการรวมตัวของประชาชนต่างหาก

แม้กระทั่งตัวเขาเอง เขายกตัวอย่างกรณีของติมอร์ตะวันออก คนทั่วไปมักคิดว่าเขาเป็นคนที่จุดประเด็นของติมอร์ตะวันออกขึ้นมา แต่อันที่จริงมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ไม่เคยมีใครรู้จัก เช่น นักจัดรายการวิทยุชื่อ อาร์โนลด์ โคเฮน (Arnold Kohen) ที่ติดตามศึกษาเรื่องนี้มาตลอด เขาสร้างเครือข่ายเล็ก ๆ ขึ้นมาเพื่อพยายามทำให้ปัญหาของติมอร์ตะวันออกเป็นที่รับรู้ของชาวโลก จนในที่สุดสามารถสร้างแรงกดดันให้หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ ตีพิมพ์บทบรรณาธิการเกี่ยวกับติมอร์ตะวันออกได้

บรรณาธิการนิวยอร์คไทมส์กล่าวยกย่องโคเฮนว่า เป็นเหมือนนักต่อสู้อิสระในเรื่องนี้ ทว่าโคเฮนปฏิเสธคำยกย่องดังกล่าวและยืนยันว่า ตัวเขาเพียงคนเดียวไม่สามารถทำอะไรได้ แต่เป็นเพราะเครือข่ายของกลุ่มคริสต์ศาสนา, กลุ่มสิทธิมนุษยชน, ประชาชนธรรมดา, และสื่อมวลชนนอกกระแสจำนวนหนึ่งต่างหาก, ที่ช่วยกันผลักดันให้กรณีติมอร์ตะวันออกกลายเป็นประเด็นขึ้นมา

ชอมสกีชี้ให้เห็นว่าในแง่นี้ สื่อมวลชนมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะตราบใดที่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในติมอร์ตะวันออกดำเนินไปในความลึกลับดำมืดที่ไม่มีใครรู้เห็น ความรุนแรงที่นั่นจะไม่มีทางจบสิ้นหรือลดน้อยลงได้ แต่หากกรณีเช่นนี้เป็นข่าวในสื่อมวลชนขึ้นมา รัฐบาลอินโดนีเซียจะถูกกดดันให้รามือลง และเราอาจช่วยชีวิตของชาวติมอร์ไว้ได้บ้างไม่มากก็น้อย

ชอมสกีเชื่อว่า การรวมตัวกันเป็นเครือข่ายและองค์กรสามารถสร้างพลังต้านทานรัฐและการโฆษณาชวนเชื่อได้ ชอมสกียกตัวอย่างกรณีของเขาเอง เขากล่าวว่าข้อมูลมากมายที่เขามีนั้น เป็นไปไม่ได้ที่ตัวเขาคนเดียวจะสามารถค้นคว้าวิจัยออกมาได้ เขามีเพื่อนหลายคนในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ อิสราเอล และที่อื่น ๆ ที่คอยช่วยอ่านและกลั่นกรองข้อมูลจำนวนมากส่งมาให้ ชอมสกีกล่าวว่าแหล่งข้อมูลของเขาอาจจะดีกว่าหน่วยข่าวกรองของรัฐบาลด้วยซ้ำ

ในช่วงท้ายของภาพยนตร์มีการสัมภาษณ์สื่อมวลชนที่เป็นทางเลือกจากสื่อมวลชนกระแสหลัก เช่น ผู้ก่อตั้ง Z Magazine สำนักพิมพ์ South End Press เดวิด บาร์ซาเมียน (David Barsamien) ซึ่งเป็นนักจัดรายการวิทยุและเป็นผู้สัมภาษณ์ชอมสกีออกเป็นหนังสือหลายเล่ม ฯลฯ ชอมสกีกล่าวว่าการสนับสนุนสื่อมวลชนที่เป็นอิสระจากธุรกิจ เป็นอีกหนทางหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญาขึ้นมา

เรื่องจริงที่น่าขันและน่าคิดอีกเรื่องหนึ่งก็คือ นอม ชอมสกีเองไม่เคยดูสารคดีเรื่องนี้เลย เมื่อถูกตั้งคำถามถึงเรื่องนี้ เขาตอบว่ามีหลายสาเหตุด้วยกัน

ประการแรก คือ เขาไม่สบายใจกับชื่อหนัง เพราะหนังสือเรื่อง Manufacturing Consent เป็นหนังสือที่เขาเขียนร่วมกับเอ็ดเวิร์ด เฮอร์แมน (Edward S. Herman) และเฮอร์แมนเป็นผู้เขียนส่วนสำคัญ ๆ ในหนังสือเล่มนั้นมากกว่าตัวเขา

ประการที่สอง เขาเชื่อว่าสื่อมวลชนมีข้อจำกัดในตัวมันเอง การที่มีหนังสารคดีเกี่ยวกับตัวเขา อาจทำให้เกิดมายาคติของลัทธิวีรบุรุษ ทั้งที่ความจริงแล้ว ตัวเขาเสมือนเป็นเพียงปากเสียงของคนนิรนามเบื้องหลังจำนวนมาก ที่อุทิศเวลาและความพากเพียรให้แก่การต่อสู้ของประชาชน

+++++++++++++++++++++++++++++++

ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ ที่เอื้อเฟื้อวิดีโอและหนังสือคู่มือภาพยนตร์สารคดีเรื่อง
Manufacturing Consent: Noam Chomsky and Media มา ณ ที่นี้

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ปาจารยสาร มีนาคม-มิถุนายน 2542

 





สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



110849
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับนอม ชอมสกี้
บทความลำดับที่ ๑๐๐๒ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
ข้อความที่เขียนถึงชอมสกีใน The New York Times Book Review วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๑๙๗๙ มีดังนี้คือ "กล่าวได้ว่านอม ชอมสกี คือปัญญาชนคนสำคัญที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน แต่เขายังเป็นปัญญาชนที่มีความแตกแยกทางความคิดอย่างน่าใจหายด้วย ในด้านหนึ่ง เขามีงานเขียนทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์ที่ปฏิวัติทั้งวงการและเต็มไปด้วยศัพท์เทคนิค ซึ่งส่วนใหญ่คงไม่มีใครอ่านรู้เรื่องนอกจากนักภาษาศาสตร์หรือนักปรัชญา แต่อีกด้านหนึ่ง เขามีงานเขียนจำนวนมากพอ ๆ กันที่เป็นข้อเขียนทางด้านการเมือง ใครก็ตามที่อ่านหนังสือออกย่อมอ่านได้ไม่ยาก แต่งานเขียนพวกนี้มักตื้นเขินจนไร้สติ 'ปัญหาแบบชอมสกี' คือการอธิบายให้ได้ว่าบุคลิกสองแบบนี้อยู่ในตัวคน ๆ เดียวได้อย่างไร"
...ชอมสกีกล่าวเสมอว่าอย่าฟังเขาเพียงเพราะเขาเป็นนักภาษาศาสตร์หรือเป็นอะไรก็ตาม แต่ขอให้ตั้งคำถามเสมอว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นมีเหตุผลหรือเปล่า มีหลักฐานประกอบหรือไม่ เขาเชื่อมั่นในวิจารณญาณของคนธรรมดาสามัญ และวิจารณ์การศึกษาว่า "การศึกษาคือระบบของการยัดเยียดความโง่เขลา" ให้ประชาชน ...

ในสังคมประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา เป็นเรื่องน่าแปลกที่ชอมสกีชอบกล่าวว่า คนอเมริกันถูกควบคุมทางความคิด ชอมสกีอธิบายว่า สังคมเผด็จการใช้ความรุนแรงในการควบคุมประชาชน ในขณะที่สังคมประชาธิปไตยใช้การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อปิดบังมิให้ประชาชนมองเห็นความจริงพื้นฐานหลาย ๆ อย่าง ในสังคมอเมริกัน มีคำพูดต้องห้ามที่ไม่เคยปรากฏตามสื่อมวลชนกระแสหลักเลย เช่น สหรัฐคือผู้รุกรานเวียดนาม เพนตากอนคือการใช้งบประมาณรัฐสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง สหรัฐอเมริกาคือตัวการขัดขวางการเจรจาสันติภาพในตะวันออกกลาง ฯลฯ