Free Documentation
License
Copyleft : 2006,
2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document, but changing it is not allowed.
หากนักศึกษา
และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
The Midnight
University
ยุทธศาสตร์การเจรจาเอฟทีเอ.
ยุทธศาสตร์เจรจาเอฟทีเอ.เพื่อประชาชน
เปรียบเทียบไทย-โบลีเวีย
ข้อมูลจากเอฟทีเอ.วอทช์
กอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และ
www.ftawatch.org
จุดยืนการเจรจาเอฟทีเอ.ของโบลิเวียนี้
จัดทำขึ้นสำหรับการเจรจาข้อตกลงสมาคมระหว่างกลุ่มแคนและอียู
แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่าจะได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกกลุ่มแคนที่เหลือ
ให้เป็นจุดยืนร่วมกันของกลุ่มหรือไม่ แต่จุดยืนในการเจรจานี้
นับเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการแหวกกรอบการเจรจาการค้า
ที่กำหนดโดยประเทศพัฒนาและบรรดาธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังทิศทางการเจรจาที่ผ่านมา
ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1000
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๙ สิงหาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
10.5 หน้ากระดาษ A4)
จุดยืนการเจรจาเอฟทีเอ.เพื่อประชาชน เปรียบเทียบไทย-โบลีเวีย
ข้อมูลจาก http://www.ftawatch.org
บทเรียนจากต่างประเทศที่คนไทยยืมได้
ปรับใช้ได้ และเลียนแบบได้โดยไม่มีลิขสิทธิ์
จุดยืนเอฟทีเอของโบลีเวีย
ความนำ
ในประเทศไทย เวลาคนพูดถึงข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ เขากำลังหมายถึงการขยายตัวทางการค้า
การขยายตัวการส่งออก การขยายตัวการลงทุนจากต่างประเทศ การจำกัดบทบาทรัฐ การให้สิทธิเอกชน
และการเพิ่มการบริโภคของประชากร
นานๆครั้งเขาจึงจะหมายถึง การขยายการจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนา น้อยครั้งมากที่จะเขาจะหมายความไปถึง การรักษาสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงคุณภาพการจ้างงาน การขยายการเข้าถึงบริการสาธารณะของประชาชน การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และ การรักษาและเสริมสร้างความมั่นคงและความพอเพียงในการผลิตอาหารเลี้ยงตนเอง
ใน "โลกาภิวัตน์แบบไม่ผูกขาดฯ" นี้ จะขอนำไปสู่ละตินอเมริกาโดยเฉพาะไปยังประเทศโบลิเวีย โบลิเวียได้สร้างนวัตกรรมใหม่ในการเจรจาการค้าที่แหวกม่านประเพณีของการเจรจาเอฟทีเอแบบเดิมๆ ที่ผ่านมา โดยการกำหนดจุดยืนของตนเองที่มีรายละเอียดหลายอย่างที่น่าสนใจ และเพื่อให้เห็นความแตกต่างในวิธีคิดและแนวทาง จึงได้นำบางส่วนของเอกสารรายงานจุดยืน หรือยุทธศาสตร์ในการเจรจาการค้าของไทยซึ่งได้มาจากเว็บไซด์ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมาแสดงประกอบข้างล่างด้วย
ยุทธศาสตร์การทำเอฟทีเอของไทย
เป้าหมาย
เพื่อสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
เพิ่มโอกาสในการส่งออก และปรับโครงสร้างการผลิตในประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ยุทธศาสตร์การเจรจาเอฟทีเอ
เพื่อรักษาตลาดเดิมที่เป็นตลาดหลักของไทย เช่น สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น และขยายตลาดใหม่ทั้งในแนวกว้างและเจาะลึกในตลาดที่มีศักยภาพ
เช่น จีน อินเดีย ตลาดที่เป็นประตูการค้าในภูมิภาคอื่นๆ เช่นบาห์เรนในตะวันออกกลาง
เปรู ในทวีปเอมริกาใต้ เป็นต้น พิจารณาเตรียมความพร้อมในการทำเอฟทีเอก้าวต่อไป
กับ สหภาพยุโรป แคนาดา แอฟริการใต้ ชิลี เม็กซิโก เกาหลี กลุ่ม เมอร์โคซัว (Mercosur)
และเอฟต้า (EFTA) เป็นต้น
ยุทธศาสตร์รายสาขา ที่สำคัญมีดังนี้
(1) เกษตร
- เน้นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร และอาหารแปรรูป- สินค้าเกษตรที่มีความอ่อนไหว ให้เจรจาโดยมีเวลาในการปรับตัวที่นาน
- สินค้าเกษตรและอาหาร จะมีปัญหาเรื่องมาตรฐานด้านสุขอนามัยมาก ความปลอดภัยด้านอาหาร และสิ่งแวดล้อม ให้เจรจาลด/ยกเลิก หรือปรับไม่ให้เป็นอุปสรรค ขณะเดียวกันให้พัฒนาการผลิตให้ได้มาตรฐานสากล มีความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา และอำนวยความสะดวกด้านการค้าโดยการทำ MRA และ การถ่ายทอดเทคโนโลยี
- กำหนดมาตรฐานการนำเข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบที่ต้องนำเข้ามาแปรรูป เพื่อการส่งออกให้ได้มาตรฐาน และปลอดภัย
(2) อุตสาหกรรม
- เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายในการส่งออกของไทย และกลุ่มคลัสเตอร์ที่มีการร่วมลงทุนผลิตที่เป็นเครือข่ายการผลิต (production network) สาขาที่สำคัญ ที่ไทยมีศักยภาพมาก ได้แก่ แฟชั่น (เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม
เครื่องประดับ รองเท้า) ยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ในบ้าน และของแต่งบ้าน- มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรฐานสินค้า (TBT) สิ่งแวดล้อม ให้เจรจาลด/ยกเลิก หรือปรับไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการค้า พัฒนาการผลิตภายในประเทศให้ได้มาตรสากล และจัดทำความตกลงยอมรับร่วมกัน (MRA)
- การเจรจากำหนดเงื่อนไขกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ต้องสะท้อนสภาพการผลิตในประเทศ และในประเทศต้องปรับการผลิตอุตสาหกรรมต้นน้ำให้มากขึ้น
(3) บริการ
- เปิดเสรีแบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้วิธีเจรจาแบบเลือกเปิดเสรีเฉพาะรายสาขา (positive-list approach)- เน้นธุรกิจบริการที่มีความพร้อม เช่น ท่องเที่ยว สุขภาพ ก่อสร้างออกแบบ
- สนับสนุนธุรกิจที่มีอนาคต เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) การขนส่ง (logistics) บันเทิง ซ่อมบำรุง
- กลุ่มธุรกิจบริการที่ยังไม่พร้อม เช่น ธนาคาร ประกันภัย โทรคมนาคม ขนส่ง ให้มีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน (transition period) 10 ปี
(4) ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า
- เน้นระดับการคุ้มครองภายใต้ความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าในองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นหลัก- ควรแสวงหาความร่วมมือจากประเทศคู่เจรจา ในการอำนวยความสะดวกด้านการขอรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยในต่างประเทศ เช่น การขอรับการคุ้มครองพันธุ์ข้าวหอมมะลิ และเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิของไทย
- ผลักดันให้ประเทศคู่เจรจาให้ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ไทยมีผลประโยชน์ เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งที่มาทางชีวภาพ
- ส่งเสริมความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี การใช้ประโยชน์ในข้อมูลสิทธิบัตร เพิ่มศักยภาพและทักษะของนักประดิษฐ์ของไทยในการวิจัยพัฒนาต่อยอด
ยุทธศาสตร์การเจรจาเอฟทีเอรายประเทศ
เอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ
- เน้นการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระยะยาว
- ทั้งต้องคู่ได้รับประโยชน์ร่วมกัน
- ฝ่ายไทยควรจะยกร่างข้อตกลง (Text) ในส่วนที่สำคัญต่อผลประโยชน์ของไทย
- จัดลำดับความสำคัญของประเด็นการเจรจา เพื่อให้เกิดภาพว่าสามารถรับอะไร และเสียอะไรได้
- ทำการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาทั้งในลักษณะของนักล็อบบี้ทางการเมือง (Political Lobbyist) และที่ปรึกษา (Consultant) ในการเจรจา
- จัดทีมเจรจาในแต่ละเรื่องให้เหมาะสมรับกับทีมของสหรัฐฯ
- จัดทำ MRA เพื่อช่วยสนับสนุนการเข้าสู่ตลาด
- กำหนดช่วงเวลาในการลดภาษีนำเข้าของไทยอย่างเป็นขั้นตอน
เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น
- เน้นการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ
- แสวงหาความร่วมมือทางการเกษตร การถ่ายทอดเทคโนโลยี
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์. 2547. http://www.thaifta.com/ThaiFTA/Home/strategy/tabid/52/Default.aspx
แง้มหน้าต่างโบลิเวีย
ก่อนที่จะไปถึงเรื่องของการเจรจาของโบลิเวีย เราควรจะรู้จักโบลิเวียและสิ่งที่เกิดขึ้นในโบลิเวียสักเล็กน้อย
เพื่อที่จะได้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นที่ประเทศนั้นมากขึ้น หลายคนอาจจะได้ยินชื่อโบลิเวียเมื่อไม่นานมานี้
จากข่าวการเข้ายึดคืนกิจการก๊าซธรรมชาติของรัฐบาลโบลีเวีย
โบลิเวีย เป็นประเทศหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้ มีพรมแดนติดกับติดกับบราซิล อาร์เจนตินา เปรู และชิลี มีประชากรประมาณ 8 ล้านคน โดยประมาณ 70-80% เป็นชาวพื้นเมืองซึ่งทำให้โบลิเวียเป็นประเทศที่มีพลเมืองชาวพื้นเมืองมากที่สุดในภูมิภาค โบลิเวียนับได้ว่าเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ แต่ว่าอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรสินแร่และก๊าซธรรมชาติ ในยุคอาณานิคมนั้น ประเทศมหาอำนาจได้เข้ายึดครองโบลิเวียและฉกฉวยประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ไปเป็นอันมาก
ก่อนหน้านี้ โบลิเวียก็ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ
ในภูมิภาคที่ดำเนินตามนโยบายฉันทามติวอชิงตัน ซึ่งสนับสนุนการเปิดเสรี และการแปรรูปบริการสาธารณะให้เป็นของเอกชน
ในโบลิเวีย กิจการทุกอย่างถูกแปรรูป ไม่เว้นแม้กระทั่งน้ำฝนและน้ำในแม่น้ำลำคลอง
ในระหว่างปี 2531-2541 โบลิเวียมีอัตราการแปรรูปมากที่สุดในภูมิภาค
การแปรรูปทำให้โบลิเวียสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนจำนวนมหาศาลนี้กลับไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจน
และการกีดกันทางสังคมภายในประเทศได้ ในระหว่างปี 2542-2545 จำนวนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจน
เพิ่มขึ้นจาก 62% เป็น 65% ประเทศกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นจาก 3.3% ของจีดีพีในปี
2540 เป็น 8.7% ในปี 2545 ในขณะที่งบประมาณสำหรับการศึกษาและการสาธารณสุขลดลง
(ประชาชนออกมารวมตัวที่ท้องถนนในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา(2549)
เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยึดคืนกิจการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งถูกแปรรูปไปสู่เอกชนและนักลงทุนจาต่างประเทศมากว่าทศวรรษ)
โบลิเวียเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศในแถบเทือกเขาแอนเดียน หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า แคน (Community of Andean Nations - CAN) สมาชิกดั้งเดิมของกลุ่มนี้ คือ โบลิเวีย โคลัมเบีย เปรู เอกวาดอร์ และเวเนซุเอลา.
ในปี 2547 แคนได้ตกลงกับสหภาพยุโรป
หรือ อียู ที่จะจัดให้มี "ข้อตกลงสมาคม" ร่วมกัน โดยสาระสำคัญคือการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ
แต่ในขณะนั้น โบลิเวียยังมีสถานะเป็นประเทศสังเกตการณ์.
สหรัฐอเมริกาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ต้องการจะทำเอฟทีเอกับโบลีเวีย. ในเดือนมกราคม
2549 โบลิเวียภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่ คือ เอโว โมลาเลส ยังไม่ประกาศชัดว่าจะเข้าร่วมกับอียูหรือสหรัฐฯ
ในการทำเอฟทีเอหรือไม่ แต่ประกาศว่าโบลิเวียจะได้รับประโยชน์มากกว่า ถ้ารวมกลุ่มกับเมอร์โคซัว
(Mercosur ประกอบด้วยอาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย) หรืออียู แทนที่จะเข้าร่วมเจรจากับสหรัฐฯ
ในเดือนเมษายน 2549 โบลิเวียเข้าร่วมกับเวเนซูเอลาและคิวบา ในการทำข้อตกลงการค้าประชาชน (People Trade Agreement: PTA) ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ทางเลือกของทวีปลาตินอเมริกา (ALBA) ที่หลุดไปจากกรอบแนวคิดทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่บงการโดยสหรัฐฯ และฉันทามติวอชิงตัน. แต่ในขณะเดียวกันสมาชิก 3 ประเทศ ในกลุ่มแคน คือ โคลัมเบีย เปรู และเอกวาดอร์ ก็กำลังตั้งหน้าตั้งตาเจรจาเอฟทีเอเป็นรายประเทศกับสหรัฐฯ อยู่ การทำเอฟทีเอของทั้งสามประเทศนี้ทำให้เวเนซูเอลา ซึ่งคัดค้านการเจรจากับสหรัฐฯมาโดยตลอดไม่พอใจและขอถอนตัวออกจากกลุ่มแคนไปในเดือนเดียวกัน
ในเดือนมิถุนายน 2549 ผู้นำกลุ่มแคนที่เหลือได้เข้าร่วมประชุมเพื่อหาทางเดินหน้าเพื่อเริ่มต้นการเจรจากับอียูภายหลังการถอนตัวของเวเนซูเอลา พร้อมกับเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยืดอายุกฎหมายปราบปราบยาเสพติดและส่งเสริมการค้า (Andean Trade Promotion and Eradication of Drugs Act) ที่จะหมดอายุลงในสิ้นปี 2549 เพื่อขยายอายุสิทธิพิเศษสำหรับประเทศในกลุ่มแคน ส่งสินค้าไปตลาดสหรัฐฯได้โดยไม่เสียภาษี
แม้ว่าจนถึงขณะนี้ ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าโบลิเวียจะเข้าร่วมการเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐฯหรือไม่ เนื่องจากยังคงมีแรงกดดันสนับสนุนการทำเอฟทีเอจากนักธุรกิจภายในประเทศ ที่ได้รับผลประโยชน์จากตลาดส่งออกในสหรัฐฯอยู่ ขณะที่การเจรจาทำข้อตกลงสมาคมกับอียูนั้นก็ยังรู้ไม่ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด แต่ความพยายามของโบลิเวียในการที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน และนำเสนอทางเลือกในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศนั้นปรากฎชัดเจนอยู่ในจุดยืนการเจรจาที่มีการเผยแพร่สู่สาธารณะ
ยุทธศาสตร์ข้อเสนอของโบลิเวีย
จุดยืนพื้นฐานสำหรับข้อตกลงสมาคมระหว่างประชาคมแห่งชาติแอนเดียน (แคน) กับสหภาพยุโรป
(อียู) เพื่อประโยชน์ของประชาชน
1. ข้อตกลงสมาคม โดยพื้นฐานต้องเป็นข้อตกลงว่าด้วยการหนุนเสริมกันในระดับต่างๆ ระหว่างประชาคมแห่งชาติแอนเดียนและสหภาพยุโรป เพื่อที่จะร่วมกันหาทางออกสำหรับประเด็นการอพยพย้ายถิ่น การค้ายาเสพติด การสงวนรักษาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งก่อให้เกิดความยากจนและการว่างงาน การเพิ่มความแข็งแกร่งให้เอกลักษณ์ของเรา และการเสริมอำนาจและฟื้นคืนรัฐของเรา และการพัฒนาประชาธิปไตยที่แท้จริงแบบมีส่วนร่วมและรวมทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองต่างๆซึ่งถูกกีดกันมากว่า 500 ปี
2. ประชาชน มนุษย์ และธรรมชาติจะต้องเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์หลักของข้อตกลงสมาคม เราต้องเอาชนะวิธีปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของธุรกิจข้ามชาติ ก่อนความต้องการของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ภาคประชาสังคมและองค์กรทางสังคมต้องเข้าร่วมอย่างกระตือรือล้นในการสร้างข้อตกลงสมาคม เพื่อที่จะสร้างการผนวกรวมที่แท้จริงซึ่งทั้งรัฐและประชาชนเข้าร่วม
3. การวิวาทะทางการเมืองจะต้องสมดุลและต่างตอบแทนกัน โดยตระหนักว่าทั้งสองฝ่ายมีสิ่งต้องเรียนรู้จากกันและกันมากมายในประเด็น เช่น ประชาธิปไตยแบบชุมชน ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและแบบเป็นทางการ จำเป็นยิ่งที่จะต้องส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นต่างๆ เช่น การปกครองตนเอง การกระจายอำนาจ การต่อสู้กับคอรัปชั่น ความโปร่งใส วิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยฉันทามติ วัฒนธรรมแห่งสันติและการบูรณาการกับอธิปไตย
4. การต่อสู้กับการค้ายาเสพติดเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับแคนและอียู ทั้งสองฝ่ายต้องพยายามให้ถึงที่สุดที่จะตัดความเชื่อมโยงอันหลากหลายในห่วงโซ่การค้ายานี้ ซึ่งรวมถึงการฟอกเงินดอลลาร์ในธนาคาร การขนย้ายวัตถุดิบและสารเคมีที่ใช้เพื่อผลิตยาเสพติด การผลิต การขนส่งและการค้าขายยา จนถึงบัดนี้ สงครามต้านยาเสพติดล้มเหลว จำเป็นที่จะต้องก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายความรวมถึงการทำงานกับสังคมเพื่อหยุดยั้งการระบาดของยาเสพติด
5. เราต้องไม่สับสนระหว่างใบโคคาและยาโคเคน ใบโคคาโดยรูปลักษณ์ตามธรรมชาติของมันไม่ทำอันตรายแก่ใคร และยิ่งกว่านั้นควรจะทำให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่อจุดมุ่งหมายสุดท้าย อันเป็นประโยชน์แตกต่างกันออกไปสำหรับมนุษยชาติ จำเป็นยิ่งที่จะต้องทำให้ใบโคคาเป็นของถูกกฎหมายอย่างเร่งด่วน และได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมของประชาชนพื้นเมืองในแถบแอนเดียน. ในโบลิเวีย เรากำลังดำเนิน "นโยบายฉันทามติเพื่อต้านและควบคุมการผลิตโคคา" กับองค์กรชาวไร่ผู้ผลิตโคคารายย่อย เพื่อป้องกันการนำใบไม้ไปป้อนการผลิตโคเคน
6. ความช่วยเหลือจากอียูสำหรับแคน ควรจะปราศจากซึ่งเงื่อนไขที่กระทบต่อนโยบายอธิปไตยของรัฐในกลุ่มแคน ความช่วยเหลือจะต้องมีส่วนช่วยแก้ไขสาเหตุเชิงโครงสร้างของการพึ่งพิงและลัทธิอาณานิคม ที่ปรากฎเป็นอยู่ในรัฐทั้งหลายของเรา การสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลไกที่ก่อให้เกิดผลผลิต การแปรทรัพยากรธรรมชาติของเราไปสู่อุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครบวงจร และการสร้างความเข้มแข็งในการจัดสรรบริการสาธารณะอย่างทั่วถึง จะต้องเป็นภารกิจอันดับแรกของความช่วยเหลือที่ให้โดยไม่มีเงื่อนไข
7. เราต้องจัดตั้งกลไกทางการเงิน สำหรับการพัฒนาที่จะก้าวข้ามประสบการณ์แง่ลบที่เกิดจากหนี้ภายนอกและเงินบริจาคซึ่งมาพร้อมกับเงื่อนไข เราต้องส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงระดับพื้นฐานในองค์กรความช่วยเหลือพหุภาคี (ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ ไอเอดีบี และอื่นๆ) เพื่อตอบสนองภารกิจอันดับต้นๆ ที่รัฐอธิปไตยได้กำหนดไว้
8. การอพยพย้ายถิ่นเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่กระทบต่ออียูและแคน เราจะร่วมกันสร้างพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของการว่างงานและความยากจน ซึ่งทำให้ประชากรแอนเดียนหลายแสนคนต้องละทิ้งประเทศของพวกเขาไปเพื่อแสวงหาอนาคตบางประเภทในยุโรป ปรากฎการณ์ที่สะเทือนอารมณ์ของการย้ายถิ่นไม่สามารถจะแก้ไขได้โดยมาตรการทางตำรวจ หรือทางด้านบริหารจัดการ หากจะต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของแรงงานอพยพไว้เสมอ จำเป็นยิ่งที่การแลกเปลี่ยนด้านความช่วยเหลือและการค้ากับสหภาพยุโรป จะต้องมีส่วนสนับสนุนการแก้เปัญหาเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับการสร้างงานที่ยั่งยืนและถาวร
9. จำเป็นที่จะต้องสร้างพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในการปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากกระบวนการทำลายล้างโดยมลภาวะอุตสาหกรรม เราต้องร่วมกันป้องกันไม่ให้บริษัทต่างๆ เคลื่อนย้ายจากภูมิภาคหนึ่งไปยังอีกภูมิภาคหนึ่ง เพื่อฉกฉวยประโยชน์จากมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ต่ำที่สุด เราทั้งหมดต้องเรียนรู้จากประชาชนพื้นเมืองในการที่จะอยู่อย่างกลมเกลียวกับธรรมชาติ
10. กติกาของข้อตกลงสมาคมในด้านการค้าไม่สามารถจะเสมอกันได้สำหรับทั้งสองฝ่าย ขณะที่ในเมื่อความไม่เท่าเทียมอันลึกล้ำอย่างมากดำรงอยู่ทั้งภายในและระหว่างภูมิภาค จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ของอียูมากกว่าจีดีพีของแคน 50 เท่า และมากกว่าถึง 300-1000 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับบางประเทศ เช่น เอกวาดอร์และโบลิเวีย เพื่อที่จะมีข้อตกลงที่ยุติธรรมและเสมอภาค กฎกติกาที่ได้รับการเห็นชอบจะต้องอำนวยประโยชน์ให้กับแคนมากกว่าอียู นี่ไม่ใช่เรื่องของการประยุกต์ใช้ "การปฏิบัติที่พิเศษและแตกต่าง" แต่หมายถึงกติกาที่ไม่เท่าเทียมกันซึ่งเอื้อให้เกิดการผนวกรวมกลุ่มที่สมดุลระหว่างสถานการณ์จริงที่ไม่เท่าเทียมกัน
11. ในเรื่องการเข้าถึงตลาด เป็นเรื่องพื้นฐานที่สหภาพยุโรปจะเรียกเก็บภาษีศุลกากรเป็นศูนย์แต่ฝ่ายเดียวสำหรับผลิตภัณฑ์ของแคนทั้งหมด โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพของผู้ผลิตขนาดเล็ก อุตสาหกรรมขนาดเล็ก สหกรณ์ สมาคมและองค์กรเศรษฐกิจของเกษตรกรรายย่อย ไม่เพียงเก็บภาษีเป็นศูนย์เท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องเสนอตลาดที่มั่นคงให้แก่ผลิตภัณฑ์ของพวกเขา ผ่านการให้สิทธิประโยชน์พิเศษในการจัดซื้อจัดหาของรัฐบาลของประเทศในสหภาพยุโรป รวมทั้งผ่านกลไกอื่นๆ. การเปิดตลาดจะต้องทำจริง โดยกำจัดกำแพงกีดกั้นที่ไม่ใช่ภาษี กฎระเบียบทางเทคนิค และข้อจำกัดด้านสุขอนามัยซึ่งไม่อนุญาตให้การแลกเปลี่ยนทางการค้าที่ยุติธรรมเกิดขึ้นได้จริง
12.
เกษตรกรรมไม่สามารถจะได้รับการปฏิบัติเสมอเหมือนกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ เพราะชีวิตและโภชนาการของประชาชนนับล้านคนขึ้นอยู่กับกิจกรรมนี้
รวมถึงความอยู่รอดและวัฒนธรรมของประชาชนพื้นเมืองนับร้อยชาติพันธุ์ในภูมิภาคแอนเดียน
รัฐมีสิทธิและพันธะกรณีที่จะสร้างหลักประกันอธิปไตยและความมั่นคงด้านอาหารสำหรับประชาชนของตน
ให้มั่นใจว่าผลประโยชน์ร่วมกันของสังคมจะอยู่เหนือผลประโยชน์ของธุรกิจการเกษตร
การส่งเสริมเกษตรนิเวศจะต้องมาเป็นอันดับแรก รวมทั้งการเปิดตลาดให้กับผลิตภัณฑ์จากแถบแอนเดียนเพื่อที่จะบรรลุการพัฒนาอันกลมเกลียวกันกับธรรมชาติ
13. เราต้องตระหนักในสิทธิของรัฐ โดยเฉพาะรัฐที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กที่สุด
เพื่อปกป้องตลาดภายในของพวกเขา และให้แรงจูงใจสำหรับผู้ผลิตในประเทศโดยกลไกแตกต่างกันไป
เช่น การจัดซื้อจัดหาของรัฐบาล การแทรกแซงของรัฐในทุกระดับเป็นรากฐานในการกระตุ้นกลไกการผลิตต่างๆ
ในเศรษฐกิจที่เล็กที่สุดและมีความสามารถในการแข่งขันน้อยที่สุด
14. จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในภูมิภาคแอนเดียน ที่จะเกื้อหนุนการพัฒนาโดยผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี การใช้วัตถุดิบและวัสดุพื้นบ้าน การจ้างแรงงานในประเทศ และการเคารพกฎหมายแรงงานและสิ่งแวดล้อม และกฎระเบียบอื่นๆ ในแต่ละสาขา การรับประกันและปกป้องของรัฐจะต้องขยายไปครอบคลุมนักลงทุนที่ทำการลงทุนอย่างแท้จริงในประเทศ และข้อพิพาทใดๆระหว่างนักลงทุนต่างประเทศและรัฐ จะต้องได้รับการแก้ไขภายใต้ขอบเขตอำนาจศาลภายในประเทศ ไม่ใช่คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งได้ก่อผลร้ายรุนแรงต่อกลุ่มประเทศแอนเดียนมาแล้ว
นักลงทุนต่างชาติทุกคนมีสิทธิที่จะได้เงินลงทุนกลับคืน และได้รับกำไรอย่างสมเหตุสมผล แต่ไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยสำหรับกำไรที่สูงเกินควรหรือที่อาจจะได้ในอนาคต ข้อตกลงสมาคมต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับการตัดสินใจโดยอธิปไตยของประเทศในแถบแอนเดียน ในการเรียกคืนและ/หรือการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติของตน
15. ในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะต้องค้ำประกันการเข้าถึงยาสูตรสามัญ การบังคับใช้สิทธิสำหรับยาที่มีสิทธิบัตรจะต้องขยายให้สนองตอบความต้องการด้านสาธารณสุข การให้สิทธิบัตรพืช เมล็ดพันธุ์ สัตว์ และจุลินทรีย์ และสิ่งมีชีวิตทั้งหมดจะไม่ได้รับอนุญาต เราต้องตระหนักและปกป้องความรู้ดั้งเดิมของประชาชนพื้นเมือง และต้องเริ่มการถกเถียงอย่างกว้างขวางถึงแนวคิดเรื่องสิทธิบัตร และทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อที่จะป้องกันการแปรรูปความรู้ให้เป็นของเอกชน
16. ในระดับของบริการ ข้อตกลงของสหภาพต้องเสริมสร้างความสามารถของรัฐในการควบคุมและการจัดการ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ได้ จำเป็นยิ่งที่จะต้องเสริมสร้างความแข้มแข็งของบริการสาธารณะจำเป็นพื้นฐาน และไม่ส่งเสริมการเปิดเสรีหรือแปรรูปบริการเหล่านี้ ข้อตกลงสมาคมต้องเป็นไปเพื่อเสริมสร้างและขยายบริการสาธารณะที่จำเป็น เช่น สุขภาพ การศึกษา การประกันสังคม น้ำและสุขาภิบาลพื้นฐาน ให้ทั่วถึงประชากรทุกคน โดยการส่งเสริมการรวมกลุ่มและการถ่ายทอดความรู้จากบริษัทที่จัดบริการสาธารณะเหล่านี้ในสหภาพยุโรป จำเป็นยิ่งที่จะต้องลดงบประมาณทางการทหารและอาวุธลง เพื่อที่จะถ่ายโอนทรัพยากรไปเพื่อค้ำประกันการกระจายบริการพื้นฐานสู่ประชากรทั้งปวง
17.
เราต้องแปรทิศทางกระบวนการรวมกลุ่ม ไปในทางที่ลดความสำคัญของผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ให้เป็นรองความจำเป็นด้านการพัฒนา
ที่ประกอบด้วยอธิปไตยและลักษณะเฉพาะของแต่ละชาติและประชาชน สถานการณ์วิกฤตซึ่งเกิดขึ้นในระดับของการผนวกรวมกลุ่มที่แตกต่างกัน
จะต้องถือว่าเป็นโอกาสให้ทำการทบทวนกระบวนการเหล่านั้น แคนและรัฐบาลและประชาชนทั้งปวงของทวีปอเมริกาใต้กำลังเผชิญความท้าทายในการที่จะก้าวข้ามความผิดพลาดของเรา
และออกแบบกระบวนการใหม่ในการรวมกลุ่มกับประชาชนและเพื่อประชาชนภายในชุมชนชาติอเมริกาใต้
แปลจาก http://www.boliviasoberana.org/blog/English/_archives/2006/6/14/2032849.html
จุดยืนของโบลิเวียข้างต้นนี้ จัดทำขึ้นสำหรับการเจรจาข้อตกลงสมาคมระหว่างกลุ่มแคนและอียู
แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่าจะได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกกลุ่มแคนที่เหลือ ให้เป็นจุดยืนร่วมกันของกลุ่มหรือไม่
แต่จุดยืนในการเจรจานี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการแหวกกรอบการเจรจาการค้า ที่กำหนดโดยประเทศพัฒนาและบรรดาธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังทิศทางการเจรจาที่ผ่านมา
ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ
บทวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ
1. จุดยืนของโบลิเวียนั้นไปไกลเกินกว่าเรื่องการค้าเช่นเดียวกับเอฟทีเอดั้งเดิม
แต่ข้อเสนอของโบลิเวียนั้นเห็นว่าการค้าและการลงทุนเป็นเพียงวิธีการหนึ่ง และไม่ใช่เป้าหมายในตัวของมันเอง
2. จุดยืนของโบลิเวียระบุชัดเจน และมุ่งตรงไปสู่เป้าหมายที่จะให้การค้าและการลงทุนตอบสนอง นั่นคือ เป้าหมายการลดความยากจน การรักษาสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง และการแก้ปัญหาด้านการอพยพย้ายถิ่น ส่วนการรักษาตลาดนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาระทั้งหมดเท่านั้น
3. จุดยืนของโบลิเวียส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างข้อตกลงสมาคม เพื่อให้ผลประโยชน์นั้นตกอยู่กับประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดจ้างบริษัทล็อบบี้เหมือนในกรณีของไทย
4. จุดยืนของโบลิเวียให้ความสำคัญกับกลไกภาครัฐ ในฐานะที่มีบทบาทจัดสรรบริการสาธารณะไปสู่ประชาชน และมุ่งส่งเสริมกลไกนั้นให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้นผ่านการทำข้อตกลงสมาคม ขณะที่ไม่ส่งเสริมการแปรรูปหรือเปิดเสรีบริการเหล่านี้ ซึ่งขัดกับวิสัยทัศน์ของไทยที่มองการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและบริการสาธารณะ เป็นเครื่องมือสำหรับการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศและการขยายตัวของตลาดหุ้น
5. จุดยืนโบลิเวียให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง โดยประเทศที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแรงกว่าจะต้องให้โอกาส ความช่วยเหลือและสิทธิพิเศษบางประการกับชาติที่มีเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าอย่างจริงใจ ซึ่งไทยเรียกร้องจากคู่เจรจาที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วน้อยมาก
6. จุดยืนของโบลิเวียให้สิทธิกับนักลงทุนแต่พอสมควร ขณะที่ยังรักษาสิทธิในการตัดสินข้อพิพาทให้อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศ ตรงข้ามกับจุดยืนของไทยที่สนับสนุนให้มีการใช้อนุญาโตตุลาการนอกประเทศแทนระบบยุติธรรมในประเทศ
7. จุดยืนของโบลิเวียสร้างรูปแบบความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างรัฐภายใต้กรอบคิดใหม่ คือ เน้นไปที่การร่วมมือและความสมานฉันท์มากกว่าการแข่งขัน ส่วนจุดยืนของไทยนั้น คือ ต้องการสร้างการแข่งขันให้มากที่สุดโดยไม่ใส่ใจกับขนาด และความสามารถในการแข่งขันที่แตกต่างกันของผู้ประกอบการ เพราะมุ่งหวังเพียงประสิทธิภาพในการผลิตให้เกิดขึ้นเท่านั้น
8. จุดยืนของโบลิเวียให้ความสำคัญกับภาคเกษตร ในฐานะที่เป็นวิถีชีวิตและแหล่งความมั่นคงด้านอาหารของประชาชน ส่งเสริมผลประโยชน์ของผู้ผลิตรายย่อยซึ่งเป็นคนจำนวนมากของประเทศมากกว่าผู้ผลิตรายใหญ่ ขณะที่ไม่ให้ความสำคัญเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเกษตร และการส่งเสริมการขยายขนาดการผลิตของบริษัทเกษตรขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่งเหมือนกรณีไทย
9. จุดยืนของโบลิเวียให้ความสำคัญกับความรู้ท้องถิ่น กล้าตั้งคำถามกับแนวคิดเรื่องสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญา และรับประกันประชาชนในการเข้าถึงยา ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนให้ใช้มาตรการของรัฐที่จำเป็น ซึ่งไทยไม่มีจุดยืนด้านนี้ปรากฎในทางยุทธศาสตร์แต่อย่างใด
นอกจากเก้าประเด็นที่ยกมาข้างต้นแล้ว ท่านผู้อ่านอาจจะพบเจอประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆได้อีกซึ่งอยากขอเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม
และเมื่อมาถึงตรงนี้ อยากจะให้ท่านผู้อ่านลองกลับไปดูจุดยืนหรือที่ไทยเรียกว่า "ยุทธศาสตร์" ของประเทศอีกครั้งหนึ่งเพื่อความรู้สึกที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ยุทธศาสตร์ของไทยนั้นมีประสิทธิภาพเพียงใดในการไปเจรจาต่อรองกับประเทศมหาอำนาจ และไม่ว่าจะระบุไว้หรือไม่ก็ตาม ไทยกำลังใช้เหยื่ออะไรในการแลกกับการขยายตลาดและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และใครกันแน่ที่จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากยุทธศาสตร์การเจรจาแบบนี้
เราคงไม่ได้หวังให้ไทยกำหนดจุดยืนแบบโบลิเวียทั้งหมด เพราะเป็นที่แน่ชัดอยู่แล้วว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งความต้องการของประชาชนในสองประเทศแตกต่างกัน แต่หากไทยจะสามารถพัฒนายุทธศาสตร์หรือจุดยืนของไทยไปให้ไกลกว่า "จุดยืนของพ่อค้า" ตามที่เป็นอยู่ และปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ ในหลากหลายมิติอย่างที่โบลิเวียทำ แม้เพียงหนึ่งในสาม ก็จะทำให้การเจรจาเอฟทีเอของไทยเข้าใกล้คำว่า "มีประโยชน์ต่อประชาชน" มากขึ้น
1 กรกฎาคม 2549
http://www.ftawatch.org/autopage1/show_page.php?t=40&s_id=3&d_id=3
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ข้อความบางส่วนจากบทความ
เกษตรกรรมไม่สามารถจะได้รับการปฏิบัติเสมอเหมือนกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ เพราะชีวิตและโภชนาการของประชาชนนับล้านคนขึ้นอยู่กับกิจกรรมนี้
รวมถึงความอยู่รอดและวัฒนธรรมของประชาชนพื้นเมืองนับร้อยชาติพันธุ์ในภูมิภาคแอนเดียน
รัฐมีสิทธิและพันธะกรณีที่จะสร้างหลักประกันอธิปไตยและความมั่นคงด้านอาหารสำหรับประชาชนของตน
ให้มั่นใจว่าผลประโยชน์ร่วมกันของสังคมจะอยู่เหนือผลประโยชน์ของธุรกิจการเกษตร
การส่งเสริมเกษตรนิเวศจะต้องมาเป็นอันดับแรก รวมทั้งการเปิดตลาดให้กับผลิตภัณฑ์จากแถบแอนเดียนเพื่อที่จะบรรลุการพัฒนาอันกลมเกลียวกันกับธรรมชาติ
เราต้องตระหนักในสิทธิของรัฐ โดยเฉพาะรัฐที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กที่สุด เพื่อปกป้องตลาดภายในของพวกเขา และให้แรงจูงใจสำหรับผู้ผลิตในประเทศโดยกลไกแตกต่างกันไป เช่น การจัดซื้อจัดหาของรัฐบาล การแทรกแซงของรัฐในทุกระดับเป็นรากฐานในการกระตุ้นกลไกการผลิตต่างๆ ในเศรษฐกิจที่เล็กที่สุดและมีความสามารถในการแข่งขันน้อยที่สุด
เราต้องแปรทิศทางกระบวนการรวมกลุ่ม ไปในทางที่ลดความสำคัญของผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ให้เป็นรองความจำเป็นด้านการพัฒนา ที่ประกอบด้วยอธิปไตยและลักษณะเฉพาะของแต่ละชาติและประชาชน สถานการณ์วิกฤตซึ่งเกิดขึ้นในระดับของการผนวกรวมกลุ่มที่แตกต่างกัน จะต้องถือว่าเป็นโอกาสให้ทำการทบทวนกระบวนการเหล่านั้น แคน(Community of Andean Nations - CAN) และรัฐบาลและประชาชนทั้งปวงของทวีปอเมริกาใต้กำลังเผชิญความท้าทายในการที่จะก้าวข้ามความผิดพลาดของเรา และออกแบบกระบวนการใหม่ในการรวมกลุ่มกับประชาชนและเพื่อประชาชนภายในชุมชนชาติอเมริกาใต้