Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

เศรษฐกิจการเมืองไทยในยุคโลกภิวัตน์
เอฟทีเอ.ไทย-ญี่ปุ่น ทำไมต้องรีบร้อน
???
รวบรวมโดย กอง บก. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เพื่อส่งเสริมความรู้เท่าทันความฉ้อฉล และความไม่ชอบธรรมของธนกิจการเมือง

บทความวิชาการบนหน้าเว็บเพจนี้ เป็นการรวบรวมงานจำนวน ๔ ชิ้น
ที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น
(Japan-Thailand Economic Partnership Agreement : JTEPA)

ประกอบด้วย
๑. ลงนามเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น ความชอบธรรมอยู่ตรงไหน
๒. ปัญหาของไทยในกระบวนการลงนามความตกลง FTA
๓. จดหมายถึง จุนอิชิโร่ โคอิซูมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
๔. จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี
เรื่อง การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 944
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11.5 หน้ากระดาษ A4)

 

เศรษฐกิจการเมืองในยุคโลกภิวัตน์
เอฟทีเอ.ไทย-ญี่ปุ่น ทำไมต้องรีบร้อน
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม

1. ลงนามเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น ความชอบธรรมอยู่ตรงไหน
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน
(เอฟทีเอ ว็อทช์) ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙


ข่าวการกำหนดวันลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ เอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในงานขอบคุณสื่อของกระทรวงพาณิชย์ที่พัทยา สื่อหลายฉบับรายงานตรงกันว่า นายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ระบุว่า "ไทย-ญี่ปุ่นจะลงนามความตกลงเอฟทีเอระหว่างกันในวันที่ 3 เมษายนนี้ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ราวเดือนตุลาคม" นี้

แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์และกระทรวงต่างประเทศจะพยายามให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนถึงผลดีของเอฟทีเอโดยการจัดงานขอบคุณสื่อที่พัทยาถึง 2 วัน ผู้สื่อข่าวหลายฉบับก็ได้ตั้งข้อสงสัย และแสดงความห่วงใยถึงผลกระทบที่จะตามมาของความตกลงฉบับนี้ โดยเฉพาะเรื่องที่ไทยจะสูญเสียรายได้ภาษีจากการนำเข้าจากญี่ปุ่น การขาดดุลทางการค้าและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยบางสาขา แต่นั่นก็สร้างความไม่พอใจให้แก่หัวหน้าคณะเจรจาฯ อย่างยิ่ง จนมีหนังสือตอบโต้มติชนเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 (ดังข้อความต่อไปนี้)

"ด้วยเหตุนี้ ผมจึงได้ขอร้องกับเพื่อนๆ สื่อมวลชนว่า อย่าหลงเป็นเครื่องมือของคนที่ไม่รู้จริงในเชิงวิชาการ และโจมตีเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น โดยตีฆ้องเรื่องตัวเลขขาดดุลแบบที่ผ่านมา การขาดดุลทางการค้าของไทยกับญี่ปุ่นจะทำให้ไทยเพิ่มดุลกับประเทศอื่นๆ ตลอดจนรายได้ของผู้ประกอบการ รายได้ในครัวเรือนของเกษตรกรไทย รายได้จากภาษี VAT สรรพสามิต และอื่นๆ ก็จะเพิ่มขึ้นเกินกว่ารายได้ที่จะสูญหายไปของภาษีศุลกากรอย่างมากมาย"

ในฐานะที่เป็นคนไทย ก็อยากทราบความจริงว่าเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่นที่กำลังจะลงนามนั้นมีเนื้อหาโดยละเอียดอย่างไร และจะส่งผลกระทบด้านดีด้านเสีย ทั้งในระยะสั้นระยะยาวอย่างไร ไม่เฉพาะในเรื่องการค้าได้ดุล ขาดดุล แต่รวมถึงการลงทุน การเปิดเสรีด้านบริการ ผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขภายในประเทศ ผลกระทบที่มีต่ออธิปไตยของประเทศในกรณีการคุ้มครองนักลงทุน ให้นักลงทุนต่างชาติมีสิทธิฟ้องเองหน่วยงานรัฐไทยในหลายๆ ประเด็นรวมทั้ง นโยบายสาธารณะ

และในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ก็อยากมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อตัวเอง ครอบครัว และส่วนร่วม ทั้งโดยผ่านกระบวนการตัวแทน ด้วยการนำความตกลงระหว่างประเทศที่จะมีผลผูกพันธ์ยาวนานชั่วลูกชั่วหลานเช่นนี้ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาอย่างละเอียดถี่ถ้วน และการมีส่วนร่วมโดยตรงด้วยการประชาพิจารณ์ของแท้ๆ ที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมทุกฝ่ายได้ร่วมพิจารณาว่า ความตกลงฯดังกล่าวจะมีผลอย่างไรกับเขา และผ่านการลงประชามติ เมื่อเรามีข้อมูลที่ครบถ้วน และมีงานวิชาการที่เป็นอิสระรองรับ

แม้ว่า หัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่นจะอ้างบ่อยครั้งว่า ได้เคยเชื้อเชิญภาคประชาสังคมรวมถึงกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เข้าไปร่วมปรึกษาหารือ แต่สิ่งที่หัวหน้าคณะเจรจาฯ ไม่ได้กล่าวด้วยก็คือว่า การเชิญครั้งนั้นเป็นการเชิญให้ไปนั่งทำงาน โดยใช้ห้องในกระทรวงต่างประเทศเท่านั้น แต่ไม่อนุญาตให้ดูเนื้อหาการเจรจา

เมื่อรัฐบาลประกาศว่าจะมีการลงนามในเร็วๆ นี้ เอฟทีเอ ว็อทช์ ได้ทำหนังสือขอร่างความตกลงฯฉบับสมบูรณ์ ไปเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อจะนำไปศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยที่รัฐบาลได้เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่า เมื่อการเจรจาเสร็จเมื่อใด ก็จะสามารถเปิดเผยข้อตกลงได้ อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มได้รับจดหมายตอบปฏิเสธจากหัวหน้าคณะเจรจาฯ ด้วยเหตุผลที่ว่า

"แม้ว่าคณะเจรจาไทยและญี่ปุ่นจะสามารถสรุปผลเจรจาในหลักการและรายละเอียดทางเทคนิค เช่น เรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าของสินค้าตามพิกัดหลายพันรายการได้แล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของไทยและญี่ปุ่น ยังคงต้องประสานงานกันทางไปรษณีย์อิเล็คทรอนิคเพื่อปรับร่างบทความตกลงฉบับสมบูรณ์ร่วมกันอย่างขะมักเขม้นตลอดเวลา ซึ่งเป็นกระบวนการที่คาดว่าจะคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายเดือนมีนาคม ดังนั้น ณ วันนี้ กระทรวงฯ จึงยังไม่มีร่างความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นที่หยุดนิ่งแล้วมาให้กลุ่มศึกษาฯร่วมพิจารณาได้"

นั่นหมายความ ร่างความตกลงเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น จะสู่สาธารณชน (ถ้ามีโอกาส) อย่างเร็วที่สุด 3 วันก่อนการลงนามซึ่งจะมีผลบังคับใช้ผูกพันกับคนทั้งประเทศไปอีกชั่วลูกชั่วหลานจนกว่าจะยกเลิกความตกลงฯดังกล่าว ซึ่งจะมีผลผูกพันต่อไปอีก 10 ปีแม้ความตกลงฯจะถูกยกเลิกไปแล้ว

คำถามต่างๆ จึงเกิดขึ้น

- เมื่ออ้างว่าจะพิจารณาเสร็จสิ้นปลายเดือนมีนาคม เหตุใดจึงคาดว่าจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 14 มีนาคมนี้

- เหตุใดการเจรจาความตกลงยังไม่เสร็จสมบูรณ์จึงกำหนดวันลงนาม เพราะแม้การแก้ไขเล็กๆ น้อยๆ ในทางกฎหมายก็สามารถส่งผลกระทบต่อการตีความได้

- ได้มีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งข้อดีและข้อเสียจากความตกลงฯฉบับสมบูรณ์กับภาคส่วนต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวแล้วหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะในประเด็นผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของไทย จากการเปิดโอกาสให้คนไข้ต่างชาติเข้ามาใช้บริการสาธารณสุขในประเทศ และการคุ้มครองการลงทุน ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องหน่วยงานรัฐ โดยผ่านอนุญาโตตุลาการนอกประเทศได้เกือบทุกประเด็น รวมถึงนโยบายสาธารณะ

- การเซ็นสัญญาไปแล้วค่อยมาเปิดเผย ประชาชนไทยจะได้ประโยชน์หรือไม่ เพราะจะสามารถแก้ไขข้อตกลงได้มากน้อยเพียงไร นี่หรือ ธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ

- การเร่งลงนามเพื่อผลประโยชน์ของใคร ของกลุ่มทุนที่ไปกว้านซื้อโรงพยาบาลเอกชน, กลุ่มทุนเกษตรอุตสาหกรรม, กลุ่มทุนชิ้นส่วนยานยนต์ และบรรดานักลงทุนตัวแทน (นอมินี) หรือไม่ ฯลฯ

แต่คำถามที่สอดคล้องกับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยขณะนี้มากที่สุด คือ รัฐบาลชุดปัจจุบันที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีความชอบธรรมหรือไม่ในการไปลงนามเอาประเทศทั้งประเทศ คนทั้งชาติไปผูกพันกับต่างประเทศด้วยการเจรจาลึกลับซับซ้อนเช่นนี้
คำตอบก็คือ

"รัฐบาลนี้ปราศจากความชอบธรรมใดๆ ที่จะบริหารประเทศและไม่มีสิทธิที่จะลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศกับประเทศใดๆ ได้อีกต่อไป นับตั้งแต่ได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างร้ายแรงในกรณีการขายกิจการดาวเทียม โทรศัพท์ และสายการบินซึ่งเป็นสมบัติของชาติ
ตลอดจนได้รวบรัดลงนามข้อตกลงเอฟทีเอกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และจีน จนทำให้เกษตรกร 6-7 ล้านคนได้รับผลกระทบ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ในธุรกิจของครอบครัวและกลุ่มธุรกิจที่ใกล้ชิดรัฐบาล"

แม้ว่าในจดหมายยังได้ระบุอีกว่า จะขอเชิญทางกลุ่มฯเข้าไปร่วมรับทราบและให้ข้อคิดเห็นในข้อตกลงเมื่อมีการร่างเสร็จแล้ว คำถามอีกประการที่เกิดขึ้น คือ จะมีประโยชน์อันใดเล่า หากประชาชนอีก 60 กว่าล้านคน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง "ยังคงถูกกันออกไป" จากกลไกการมีส่วนร่วมทั้งปวง แม้แต่การขอเข้าถึงข้อมูลร่างความตกลงซึ่งนับเป็นขั้นตอนเบื้องต้นของการมีส่วนร่วมยังได้รับการปฏิเสธ

เอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการไร้ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล และละเมิดรัฐธรรมนูญ ไม่เพียงเท่านั้น เอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น กำลังจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่เอื้อประโยชน์ให้ใครบางคนรอดพ้นจากการถูกยึดทรัพย์ด้วยหรือไม่

ในบทที่ว่าด้วยการลงทุน ญี่ปุ่นขอเพียงแค่ได้รับเท่ากับที่ไทยจะให้สหรัฐอเมริกา แต่แค่นั้นก็เพียงพอที่จะหมายถึงความคุ้มครองนักลงทุนที่จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ค่าชดเชยกับหน่วยงานรัฐไทย หากไปเวนคืนยึดทรัพย์ หรือมีพฤติกรรมหรือนโยบายเสมือนว่าจะไปเวนคืนหรือยึดทรัพย์นักลงทุนต่างชาติ โดยกระบวนการทั้งหมดจะข้ามหัวกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศไปให้อนุญาโตตุลาการนอกประเทศ ซึ่งหากอนุญาโตตุลาการชี้ว่า หน่วยงานรัฐไทยมีความผิดจริง ก็ต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายชดเชย(รวมดอกเบี้ย) ให้กับนักลงทุนดังกล่าว

จริงอยู่สถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ เรากำลังพูดถึงนักลงทุนสิงคโปร์ และบรรดาฝรั่งผมดำซึ่งเป็นตัวแทนนักลงทุนทั้งหลาย แต่อย่าลืมว่าเงิน 73,000 ล้านบาทของใครบางคน ก็เพียงพอที่จะแปลงตัวเองเป็นกองทุนขนาดใหญ่ไร้สัญชาติ ที่จะไปลงทุนในกิจการและสินทรัพย์อื่นๆ ในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ รวมถึงกลับมาลงทุนในประเทศไทยในฐานะนักลงทุนต่างชาติได้

หากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น มีเนื้อหาดังกล่าวจริง นี่เป็นเหตุผลมากพอที่จะทำให้ใครบางคนต้องการเร่งการลงนามหรือไม่

หรือ...นี่จะเป็นอีกครั้งของการขายประเทศโดยชอบธรรม

2. ปัญหาของไทยในกระบวนการลงนามความตกลง FTA
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รองนายกฯ สมคิด พูดในงานสัมมนาแห่งหนึ่งว่าทางญี่ปุ่นและสหรัฐเร่งรัดการเจรจา และการลงนามความตกลง FTA กับไทย แม้ว่ารัฐบาลไทยจะเป็นรัฐบาลรักษาการก็ตาม

หากสหรัฐและญี่ปุ่นเร่งรัดมาจริงตามข่าว เราควรคิดอย่างรอบคอบ (และหลายรอบ) ว่า เพราะเหตุใดทั้งสองประเทศจึงต้องเร่งขนาดนั้น ทั้งที่รู้ว่าการลงนามกับรัฐบาลรักษาการนั้นต้องสุ่มเสี่ยงกับปัญหาทางกฎหมายที่อาจเกิดตามมาในภายหลัง หรือ เป็นเพราะว่าประโยชน์จากการทำ FTA กับไทยมีมากต่อสหรัฐและญี่ปุ่นจนเห็นว่าคุ้มที่จะเสี่ยง

สำหรับสหรัฐอเมริกา มีการเจรจาไปแล้ว 6 รอบ ครั้งหลังสุดที่เชียงใหม่เมื่อตอนต้นปีนี้ แต่เดิมทางสหรัฐต้องการเร่งรัดปิดการเจรจากับไทยภายในเดือนเมษายน 2549 ส่วนญี่ปุ่นได้เจรจากันจนมีข้อยุติไปแล้ว โดยกำหนดจะลงนามกันในวันที่ 3 เมษายนปีนี้ แต่เกิดยุบสภาไปก่อน หลังจากนั้นก็มีข่าวว่า ทางญี่ปุ่นพร้อมจะลงนามตามกำหนดเดิม แต่ฝ่ายไทยปฏิเสธว่าไม่เหมาะสม เพราะเป็นรัฐบาลรักษาการ

ที่ผ่านมา การลงนามความตกลงการค้าเสรีของไทย ไม่ว่ากรณีออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ดำเนินการโดยใช้มติคณะรัฐมนตรี ไม่ได้เสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 224 ซึ่งได้กำหนดไว้ว่า การลงนามความตกลงระหว่างประเทศใดๆ ที่มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตดินแดน หรือ "เขตอำนาจแห่งรัฐ" หรือ กฎหมายของไทย จะต้องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาว่าจะเห็นชอบให้ลงนามหรือไม่ (1)

คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาหลายคณะ รวมทั้งนักวิชาการทางด้านกฎหมาย เคยท้วงติงและเรียกร้องต่อรัฐบาลหลายครั้งว่า รัฐบาลต้องนำเสนอความตกลง FTA ไทย-ออสเตรเลีย และ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ ต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเนื้อหาใน FTA ดังกล่าวมีผลเปลี่ยน "เขตอำนาจแห่งรัฐ" และ/หรือ เปลี่ยนแปลงกฎหมายของไทย

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีข้อกำหนดเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนอย่างชัดเจนว่า ในการเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศฝ่ายบริหารจะต้องทำอย่างไรบ้าง ฝ่ายรัฐสภาจะมีบทบาทอย่างไร สัมพันธ์เชื่อมโยงกับฝ่ายบริหารอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง (ซึ่งมีมากอยู่แล้ว) เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และเพื่อการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ แต่นายกรัฐมนตรีของไทยพูดย้ำในหลายโอกาสว่า รัฐสภาไม่รู้เรื่องการเจรจา FTA จึงไม่จำเป็นต้องนำเสนอเรื่องให้รัฐสภาพิจารณา

หลายท่านคงไม่ทราบข้อมูลว่า ในปี 2543 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 33/2543 ในเรื่องอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) โดยมีประเด็นคล้ายกับกรณีเรื่องความตกลง FTA คือ มีข้อโต้แย้งกันระหว่างหน่วยงานของรัฐว่า "เขตอำนาจแห่งรัฐ" ในมาตรา 224 มีความหมายอย่างไร อนุสัญญา CBD มีผลเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐหรือไม่ ในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า อนุสัญญา CBD มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา โดยศาลรัฐธรรมนูญยึดถือความหมาย "เขตอำนาจแห่งรัฐ" ว่าหมายถึง การใช้อำนาจของรัฐ ไม่ได้เป็นเพียงเขตหรือพื้นที่ในทะเลที่ประเทศไทยมีเพียงสิทธิอธิปไตยและมีอำนาจบางประการอย่างจำกัด เช่น เขตเศรษฐกิจจำเพาะ ตามที่หน่วยงานรัฐบางองค์กรยึดถือตีความ

จากความหมาย "เขตอำนาจแห่งรัฐ" ตามแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานในกรณีอนุสัญญา CBD จึงเป็นเหตุผลที่คณะกรรมาธิการหลายคณะของรัฐสภา นักวิชาการ องค์กรภาคประชาชน ได้ท้วงติงและเรียกร้องรัฐบาลมาโดยตลอดว่า การทำ FTA ของไทย มีผลเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากข้อผูกพันต่างๆ ใน FTA ส่งผลกระทบต่อการใช้อำนาจของรัฐในด้านต่างๆ ทั้งด้านบริหาร ด้านนิติบัญญัติ และด้านตุลาการ เพราะต้องเป็นไปอย่างสอดคล้องกับข้อกำหนดที่มีอยู่ใน FTA จะทำโดยขัดแย้งไม่ได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีฯ ไม่ได้ยึดถือความหมาย "เขตอำนาจแห่งรัฐ" ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้เป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัยกรณีอนุสัญญา CBD รัฐบาลจึงลงนามความตกลง FTA ไป โดยไม่ได้เสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภา

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมนี้ จึงมีวุฒิสมาชิกรักษาการ ร่วมกับนักวิชาการจำนวนหนึ่ง และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยเสนอเรื่องผ่านทางผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า ความตกลง FTA ไทย-ออสเตรเลีย มีผลเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐหรือไม่ การลงนามที่ทำไปขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 244 หรือไม่ และถ้าขัดกับรัฐธรรมนูญ จะมีผลเป็นโมฆะหรือไม่

หากรัฐบาลรักษาการจะเร่งเดินหน้าลงนามความตกลง FTA ซึ่งมีผลผูกมัดต่อประเทศไทยในระยะยาว จะเป็นการเพิ่มเงื่อนไขของความขัดแย้งในสังคมให้มากขึ้นไปอีก และไม่สามารถอธิบายได้ว่า ก่อนหน้านี้เพราะเหตุเราจึงตอบปฏิเสธที่จะลงนามกับญี่ปุ่นตามกำหนดในวันที่ 3 เมษายน 2549 โดยมีเหตุผลว่าขณะนี้เป็นช่วงรัฐบาลรักษาการ

3. จดหมายถึง จุนอิชิโร่ โคอิซูมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน
801/ 8 ถ.งามวงศ์วาน ซ.งามวงศ์วาน 27 อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทร.02-952-7953 โทรสาร 02-591-5076
email: [email protected] www.ftawatch.org

7 มิถุนายน 2549

เรียน ฯพณฯ จุนอิชิโร่ โคอิซูมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
สำเนาเรียน ฯพณฯ ฮิเดกิ โคบะยะชิ เอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
ฯพณฯ โตชิฮิโร นิไก รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI)


รัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น ได้สรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม 2549 และเคยมีกำหนดที่จะลงนามในวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ยุบสภาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ทำให้ รัฐบาลปัจจุบันอยู่ในฐานะรัฐบาลรักษาการ ซึ่งทำให้ไม่อยู่ในฐานะที่จะไปลงนามความตกลงระหว่างประเทศใดๆ

อย่างไรก็ตาม จากการให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลหลายครั้ง เช่น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (1 มิถุนายน 2549) และ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (27 กุมภาพันธ์ 2549) กล่าวอ้างตรงกันว่า ทางรัฐบาลญี่ปุ่น ได้เร่งรัดการลงนาม และแสดงความพร้อมที่จะลงนามความตกลงฯ แม้ว่าจะเป็นการลงนาม กับรัฐบาลรักษาการ

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ได้ศึกษา ติดตามนโยบายและ การเจรจาข้อตกลง เขตการค้าเสรีระดับทวิภาคีมาตั้งแต่ปี 2546 ทางกลุ่มฯเคยทำหนังสือขอความตกลงฯ ฉบับเต็ม ที่พร้อมจะลงนามตามกำหนดเดิมข้างต้น แต่ได้รับการปฏิเสธจากฝ่ายไทย ทำให้ไม่สามารถศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดจากความตกลงอย่างแท้จริงได้ และที่ผ่านมาตลอดช่วงการเจรจาทางการไทยให้ข้อมูลเฉพาะบางส่วนกับบางกลุ่มเท่านั้น ขาดการมีส่วนร่วมและไม่เคยให้ข้อมูลที่ครบถ้วนต่อสาธารณะ ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกตั้งคำถามถึงธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ขณะนี้ทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ได้ร่วมกับรักษาการสมาชิกวุฒิสภา และนักวิชาการ ร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาให้พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ละเมิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 224 หรือไม่ ซึ่งความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ที่ท่านกำลังพยายามอย่างยิ่งที่จะลงนามนี้ ก็อยู่ในข่ายที่ต้องพิจารณาว่า ละเมิดรัฐธรรมนูญไทยด้วยหรือไม่ เพราะรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่เคยนำความตกลงดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ทั้งๆที่ ความตกลงฯจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ ตามวรรค 2 ของมาตรา 224

ที่สำคัญประเด็นเรื่องการทำข้อตกลงทางการค้าเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ทำให้หลายฝ่ายในสังคมไทย และประชาชนจำนวนมากหมดความไว้วางใจ และร่วมกันออกมาขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ จนนำไปสู่การยุบสภาในที่สุด ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นยังก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในประเทศเป็นอย่างมาก

ญี่ปุ่นเป็นมิตรประเทศที่มีความใกล้ชิดและดำรงความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน การจะมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น คงจะเป็นสิ่งที่ประชาชนของทั้งสองประเทศอยากที่จะเห็น แต่การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เป็นนโยบายเฉพาะของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคณะ ซึ่งประสบปัญหาความชอบธรรม จนนำไปสู่ความขัดแย้งตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

การที่รัฐบาลญี่ปุ่นแสดงความจำนงที่จะลงนามกับรัฐบาลรักษาการ อาจถูกมองได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มบุคคลในฝ่ายบริหาร ซึ่งทำหน้าที่เพียงรักษาการจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะเข้าใจและไม่ดำเนินการใดๆ ในอันที่จะทำให้ประชาชนไทยเห็นว่า เป็นการแทรกแซงการเมืองภายในประเทศ

ดังนั้น ทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลของท่านชี้แจงท่าทีที่ชัดเจนต่อประชาคมโลก และให้ความมั่นใจกับ ประชาชนไทยว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะไม่ฉวยโอกาสลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) กับรัฐบาลรักษาการจนกว่าประชาชนไทยจะได้รัฐบาลใหม่ที่มีความชอบธรรมเพียงพอ และเริ่มต้นกระบวนการพิจารณาความตกลงฯที่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนไทยอย่างแท้จริง พร้อมทั้งมีการศึกษาถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน ซึ่งนั่นอาจจะนำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อให้คำว่า "ผลประโยชน์ที่แท้จริงกับทั้งสองฝ่าย" เป็นจริง

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

(ภญ. สำลี ใจดี)

กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)

4. จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี
เรื่อง การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น


ตามที่รัฐบาลได้มีการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement :JTEPA) มาเป็นลำดับ จนกระทั่งได้ข้อยุติและเคยมีกำหนดจะลงนามความตกลงดังกล่าวในวันที่ 3 เมษายน 2549 แต่ได้มีการประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 จึงยังไม่มีการลงนามเกิดขึ้น ภายหลังการยุบสภา ผู้รับผิดชอบการเจรจาของไทยได้ให้ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนว่าทางประเทศญี่ปุ่นได้เร่งรัดการลงนาม แต่ฝ่ายไทยได้ให้คำตอบว่าในขณะนี้เป็นรัฐบาลรักษาการ ไม่อยู่ในฐานะที่จะดำเนินการลงนามความตกลงระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2549 ได้มีข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้งว่า ทางญี่ปุ่นได้เร่งรัดการลงนาม แม้ว่าจะเป็นการลงนามกับรัฐบาลรักษาการ ทั้งนี้ เพื่อให้ทันก่อนการหมดวาระของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในเดือนกันยายน 2549 นี้

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการติดตาม และตรวจสอบการดำเนินนโยบายเรื่องเขตการค้าเสรีตลอดมา ด้วยตระหนักถึงผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนในหลากหลายมิติที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชน และประเทศชาติอย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านสิทธิในการพัฒนา สิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สิทธิชุมชน สิทธิการเข้าถึงฐานทรัพยากร สิทธิการเข้าถึงยาและบริการสาธารณสุข เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐอเมริกา และ ไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งไม่ได้มีเนื้อหาเป็นเพียงการเจรจาปรับลดภาษีสินค้าหรือการเปิดตลาดสินค้าเท่านั้น แต่มีเนื้อหาการเจรจาเกี่ยวโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนทุกคนในสังคมไทย ทั้งในวันนี้และในอนาคตรุ่นลูกรุ่นหลาน เช่น เรื่องการเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน เรื่องสิทธิบัตรยา เรื่องสิทธิบัตรพันธุ์พืชและสัตว์ เรื่องแรงงาน เรื่องสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

จากการติดตามศึกษาการเจรจาจัดทำ FTA ของไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งโดยการศึกษาจากเอกสาร การเชิญเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล การประชุมของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้แต่งตั้งขึ้น ฯลฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะต่อการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ในประเด็นสำคัญต่างๆ ดังนี้

1. แม้ว่าการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) จะได้เสร็จสิ้นไปแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยร่างความตกลงให้แก่ประชาชน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบ ทั้งที่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งในทางบวกและทางลบอย่างกว้างขวาง เป็นการลิดรอนสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน รวมทั้งสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ตามที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญหลายมาตรา

2. ข้อมูลในเอกสารและในเว็บไซต์ที่คณะผู้รับผิดชอบการเจรจาฝ่ายไทย ได้ทำการเผยแพร่ต่อสาธารณะนั้น ขาดสาระสำคัญอย่างเพียงพอที่จะทำให้เกิดความเข้าใจต่อผลประโยชน์และผลกระทบที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ เนื้อหาบางส่วนยังเป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น เรื่องการหารือกับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำ FTA อย่างใกล้ชิด เป็นต้น

3. ฝ่ายไทยมุ่งเน้นคาดหวังผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยขาดการพิจารณาถึงต้นทุนและผลกระทบทางด้านสังคม และด้านฐานทรัพยากร ที่ประเทศไทยต้องจ่าย ต้องสูญเสียไปในการทำความตกลง JTEPA ซึ่งในการศึกษาต่างๆ ที่คณะผู้เจรจาฝ่ายไทยได้จัดจ้างให้มีการศึกษาข้อมูลเพื่อประกอบการเจรจา มิได้มีการศึกษาในประเด็นเหล่านี้ ทำให้ขาดข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจ ภาคธุรกิจเอกชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของไทยจึงรับรู้เฉพาะผลประโยชน์ในมิติด้านเศรษฐกิจเท่านั้น

4. หากมีการเร่งรัดลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น โดยไม่เสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 224 อาจนำไปสู่ปัญหาความยุ่งยากและความเสียหายในอนาคตได้ เนื่องจากเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งในขณะนี้ ได้มีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในกรณีการทำ FTA ไทย-ออสเตรเลีย ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 224 หรือไม่แล้ว

5. ในขณะนี้เป็นช่วงรัฐบาลรักษาการ หากมีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งมีสถานะเป็นความตกลงระหว่างประเทศ มีผลผูกพันต่อประเทศไทย และมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาว จึงเป็นเรื่องที่ไม่บังควรเป็นอย่างยิ่ง

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีข้อเสนอต่อรัฐบาลในกระบวนการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ดังนี้

1. ให้มีการเปิดเผยข้อมูล ร่างความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ที่ได้เจรจาเสร็จสิ้นไปแล้วต่อประชาชน เพื่อการพิจารณาผลได้ผลเสียอย่างรอบด้านโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้มีส่วนได้เสีย และเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

2. ก่อนการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น จะต้องนำเสนอรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 224 นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยจะผูกพันตามความตกลงดังกล่าว จำเป็นต้องผ่านกระบวนการให้สัตยาบัน (Ratification) โดยต้องไม่กำหนดเวลาในการให้สัตยาบัน เพื่อเปิดให้องค์กรรัฐสภา ประชาชน และรัฐบาลได้มีโอกาสและส่วนร่วมในการพิจารณารายละเอียดเนื้อหาในความตกลง FTA อย่างรอบคอบ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

( นายเสน่ห์ จามริก )
ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) มาตรา ๒๒๔ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพสัญญาสงบศึกและสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญาต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา



 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



110649
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
บทความเศรษฐกิจไทยในยุคโลกภิวัตน์
บทความลำดับที่ ๙๔๔ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาหลายคณะ รวมทั้งนักวิชาการทางด้านกฎหมาย เคยท้วงติงและเรียกร้องต่อรัฐบาลหลายครั้งว่า รัฐบาลต้องนำเสนอความตกลง FTA ไทย-ออสเตรเลีย และ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ ต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเนื้อหาใน FTA ดังกล่าวมีผลเปลี่ยน "เขตอำนาจแห่งรัฐ" และ/หรือ เปลี่ยนแปลงกฎหมายของไทย

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีข้อกำหนดเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนอย่างชัดเจนว่า ในการเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศฝ่ายบริหารจะต้องทำอย่างไรบ้าง ฝ่ายรัฐสภาจะมีบทบาทอย่างไร สัมพันธ์เชื่อมโยงกับฝ่ายบริหารอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง (ซึ่งมีมากอยู่แล้ว) เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และเพื่อการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ แต่นายกรัฐมนตรีของไทยพูดย้ำในหลายโอกาสว่า รัฐสภาไม่รู้เรื่องการเจรจา FTA จึงไม่จำเป็นต้องนำเสนอเรื่องให้รัฐสภาพิจารณา

ในบทที่ว่าด้วยการลงทุน ญี่ปุ่นขอเพียงแค่ได้รับเท่ากับที่ไทยจะให้สหรัฐอเมริกา แต่แค่นั้นก็เพียงพอที่จะหมายถึงความคุ้มครองนักลงทุนที่จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ค่าชดเชยกับหน่วยงานรัฐไทย หากไปเวนคืนยึดทรัพย์ หรือมีพฤติกรรมหรือนโยบายเสมือนว่าจะไปเวนคืนหรือยึดทรัพย์นักลงทุนต่างชาติ โดยกระบวนการทั้งหมดจะข้ามหัวกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศไปให้อนุญาโตตุลาการนอกประเทศ ซึ่งหากอนุญาโตตุลาการชี้ว่า หน่วยงานรัฐไทยมีความผิดจริง ก็ต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายชดเชย(รวมดอกเบี้ย) ให้กับนักลงทุนดังกล่าว

The Midnight University 2006