บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ








Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๙๙๔ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙
04-08-2547

Midnight's People Politics

ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน
กลุ่มเครือสหาย : อนาธิปไตยภาคพลเมือง
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : เรียบเรียง
นักแปลและนักวิชาการอิสระ

บทความชิ้นนี้ได้รับมาจากคุณภัควดี วีระภาสพงษ์ จากเรื่องเดิมชื่อ
กลุ่มเครือข่าย : Affinity Group
เป็นเรื่องของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ที่แยกกันเป็นกลุ่มๆ เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง
แต่มีการรวมตัวกันอย่างหลวม และมีการจัดตั้ง เพื่อผลักดันเป้าหมายต่างๆ
ที่ร่วมกันรณรงค์ต่อสู้กับอำนาจรัฐและทุน
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 994
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 5 หน้ากระดาษ A4)

 

กลุ่มเครือสหาย (Affinity Group) : อนาธิปไตยภาคพลเมือง
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : นักแปลและนักวิชาการอิสระ

ความนำ
หากเส้นเกิดจากจุดจำนวนมากเรียงต่อกัน เส้นของขบวนการเคลื่อนไหวในยุคใหม่ก็เกิดจากการรวมตัวกันของจุดจำนวนมากที่เรียกว่า Affinity Group ซึ่งในที่นี้ขอแปลไปพลาง ๆ ก่อนว่า "กลุ่มเครือสหาย"

กลุ่มเครือสหายเป็นเสมือนนิวเคลียสของขบวนการเคลื่อนไหว แต่สิ่งที่แตกต่างจากนิวเคลียสของขบวนการเคลื่อนไหวในสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นขบวนการชาตินิยมหรือขบวนการสังคมนิยม ก็คือนิวเคลียสของขบวนการสังคมใหม่มีเป็นจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน ต่างก็มีอิสระในตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็เกี่ยวร้อยกับนิวเคลียสอื่น ๆ อย่างหลวม ๆ พร้อมที่จะแตกตัวและพร้อมที่จะมารวมตัวกันใหม่ ในแง่นี้ ขบวนการเคลื่อนไหวยุคใหม่จึงสอดคล้องกับแนวทางของลัทธิอนาธิปไตย หากมิใช่ประกาศว่าเป็นอนาธิปไตยเต็มตัว

ความเป็นมากลุ่มเครือข่าย
ประวัติความเป็นมาของกลุ่มเครือสหายนั้น สามารถสืบย้อนไปได้ถึงต้นกำเนิดในขบวนการอนาธิปไตยในสเปนยุคศตวรรษที่ 19 สเปนเป็นประเทศที่ลัทธิอนาธิปไตยมีความเข้มแข็งและเป็นที่นิยมมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยเฉพาะในช่วงก่อนยุคเผด็จการนายพลฟรังโก ในสมัยนั้น นักอนาธิปไตยและนักกิจกรรมของขบวนการแรงงาน จะรวมตัวกันในหมู่เพื่อนสนิทเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เรียกว่า "tertulias" (tertulia ในภาษาสเปนแปลว่า gathering เป็นการมาชุมนุมกันเพื่อพูดคุยถกเถียงในเรื่องต่าง ๆ เช่น การเมือง วรรณคดี ศิลปะ ฯลฯ) หรือ grupos de afinidad ซึ่งก็คือที่มาโดยตรงของคำว่า Affinity Group นั่นเอง

จากการรวมตัวในหมู่เพื่อนฝูงเพื่อพูดคุยถกเถียงกันถึงเรื่องต่าง ๆ ตามร้านกาแฟ ในปี ค.ศ. 1888 เมื่อเกิดความขัดแย้งทางชนชั้นอย่างรุนแรงในยุโรป มีการก่อกบฏและการต่อสู้หลายครั้งในหลายท้องถิ่นของสเปน องค์กรของนักอนาธิปไตยและแรงงานสเปนจึงเปลี่ยนรูปแบบของการรวมตัวกันตามธรรมชาตินี้ ให้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญของการจัดตั้ง ขบวนการกลุ่มเครือสหายของนักอนาธิปไตยสเปนนี่เองที่เป็นแนวหน้าในการต่อสู้กับลัทธิฟาสซิสต์ ในระหว่างสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War 1936-9)

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 กลุ่มเครือสหายอนาธิปไตยรวมตัวกันเป็นสหพันธ์อนาธิปไตยไอบีเรียน (Federaci?n Anarquista Ib?rica-FAI) โดยมีสมาชิกอยู่ในราว 50,000 คน จำนวนสมาชิกจะเพิ่มขึ้นอีกมากในช่วงสงครามกลางเมือง (นอกจาก FAI ยังมีกลุ่มเครือข่ายอนาธิปไตยอื่น ๆ อีก เช่น CNT แต่ FAI จัดเป็นเครือข่ายที่ราดิกัลที่สุด) กลุ่มเครือสหายที่รวมตัวกันเป็น FAI นั้น ต่างก็มีอิสระเป็นเอกเทศในตัวเอง ไม่มีการรวมศูนย์อำนาจ ไม่มีโครงสร้างการบังคับบัญชาเป็นลำดับชั้น สมาชิกแต่ละคนมีเสรีภาพในการสร้างแนวทางต่อต้านขัดขืนของตนเอง

การรวมตัวของ FAI จึงเป็นไปอย่างหลวม ๆ ในพื้นที่ที่มีกลุ่มเครือสหายที่เป็นสมาชิก FAI หลายกลุ่ม พวกเขาจะจับมือกันจัดตั้งสหพันธ์ระดับท้องถิ่น สหพันธ์ท้องถิ่นหลาย ๆ สหพันธ์จะประสานงานกันด้วยคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาจากตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ จากกลุ่มเครือสหายแต่ละกลุ่ม จากนั้นสหพันธ์ท้องถิ่นจะส่งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจไปที่คณะกรรมการระดับภูมิภาคและคณะกรรมการระดับชาติเป็นขั้นสุดท้าย แต่กลุ่มเครือสหายแต่ละกลุ่มยังคงมีอิสระเป็นเอกเทศ มีการศึกษา การจัดตั้ง การดำเนินงานและปฏิบัติการต่อสู้ของตัวเอง

ในแง่หนึ่ง กลุ่มเครือสหายและ FAI มีการดำเนินการที่เป็นความลับมาก ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแทรกซึมและปราบปรามของอำนาจปกครองและตำรวจ การที่กลุ่มเครือสหายมีสมาชิกจำนวนน้อยและต่างรู้จักกันและกันดีเป็นระยะเวลานาน จึงช่วยป้องกันการแทรกซึมจากตำรวจได้เป็นอย่างดี

แนวคิดในการจัดตั้งขบวนการโดยมีรากฐานอยู่บนกลุ่มเครือสหาย มาปรากฏอีกครั้งในขบวนการต่อต้านนิวเคลียร์ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ.1977 เมื่อประชาชนราว 2,500 คน ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาจากการรวมตัวของกลุ่มเครือสหายจำนวนมาก บุกเข้ายึดโรงปฏิกรณ์ปรมาณูที่นิวแฮมป์เชียร์ ขบวนการต่อต้านนิวเคลียร์ใช้วิธีการรูปแบบนี้ในปฏิบัติการที่ประสบความสำเร็จมากมายหลายครั้งตลอดทศวรรษที่ 1970 และ 1980

การจัดตั้งแนวทางนี้ยังมีปรากฏในขบวนการโซลิดาริตีในอเมริกากลาง, ขบวนการปลดปล่อยของชาวรักร่วมเพศ, องค์กร Earth First และขบวนการด้านสิ่งแวดล้อม และที่โด่งดังล่าสุดคือขบวนการสังคมใหม่ที่ประท้วง WTO ในซีแอตเติล, ประท้วง IMF และธนาคารโลกในวอชิงตัน ดีซี, ประท้วงการประชุมสุดยอด FTAA ในควิเบก ตลอดจนการประท้วงสงครามอัฟกานิสถานและอิรักในหลายประเทศทั่วโลก

ลักษณะและแนวคิดของกลุ่มเครือสหายในขบวนการสังคมใหม่
กลุ่มเครือสหายเป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ อาจมีตั้งแต่ 3-5 คน ไปจนถึง 20 คน คนเหล่านี้ทำงานร่วมกันในโครงการหรือปฏิบัติการอันใดอันหนึ่ง แรกเริ่มเดิมที กลุ่มเครือสหายเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นการรวมตัวของเพื่อนฝูง คนในชุมชน ที่ทำงานหรือองค์กรเดียวกัน แต่ในระยะหลัง มีการจงใจจัดตั้งกลุ่มเครือสหายขึ้นบ้าง โดยจัดให้จับกลุ่มกันในหมู่คนที่มีเป้าหมายร่วมกัน เช่น การจัดกลุ่มที่เกิดขึ้นในการอบรมปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า (direct action) หรือการอบรมวิธีการอารยะขัดขืน(civil disobedience) เป็นต้น กลุ่มเครือสหายอาจเป็นกลุ่มปิด (ไม่รับสมาชิกเพิ่ม) หรือกลุ่มเปิดก็ได้

โครงสร้างภายในกลุ่มเครือสหายเป็นไปตามแนวทางการจัดตั้งแบบอนาธิปไตย ต่อต้านการตัดสินใจและการจัดตั้งแบบลำดับชั้นที่มีการสั่งงานจากบนลงสู่ล่าง กลุ่มเครือสหายให้อำนาจแก่สมาชิกแต่ละคนที่จะคิดสร้างสรรค์การท้าทายซึ่งหน้าของตนเองขึ้นมา ดังนั้น สมาชิกจึงมิใช่แค่ "กระทำ" ปฏิบัติการ แต่ "เป็น" ปฏิบัติการนั้นด้วย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่มีช่องว่างระหว่างเป้าหมายกับวิธีการ กลุ่มเครือสหายจัดตั้งในแนวระนาบและไม่มีการรวมศูนย์ ซึ่งเป็นหลักการที่เป็นหัวใจสำคัญสองข้อของลัทธิอนาธิปไตย

กิจกรรมของกลุ่มเครือสหายมีได้มากมายไม่มีที่สิ้นสุด ไม่จำเพาะว่าจะต้องเป็นการประท้วงเท่านั้น แต่อาจเป็นกิจกรรมประจำวันที่ทำร่วมกันหรือทำเป็นครั้งคราว กิจกรรมต่าง ๆ มีอาทิ การติดป้ายผ้าขนาดใหญ่, ปิดถนนเพื่อขี่จักรยาน, ให้ความสนับสนุนแก่กลุ่มเครือสหายอื่น ๆ , เล่นละครข้างถนน, นั่งล้อมต้นไม้ไม่ให้ถูกตัด, เปลี่ยนข้อความบนป้ายโฆษณาให้เป็นข้อความล้อเลียน, เล่นดนตรี ฯลฯ

ในระหว่างการประท้วง กลุ่มเครือสหายจะสร้างกิจกรรมตามความถนัดของตน รวมทั้งมีบางกลุ่มที่ทำหน้าที่เฉพาะบางอย่าง เช่น หน่วยพยาบาลฉุกเฉิน, หน่วยบริการอาหารและน้ำ, หน่วยกฎหมายในกรณีที่มีผู้ประท้วงถูกจับกุม เป็นต้น

ในสายตาคนภายนอก ขบวนการที่มีฐานการจัดตั้งจากกลุ่มเครือสหายจำนวนมาก อาจดูเหมือนสับสนปนเปและไร้ระเบียบ ทั้งนี้เพราะคนทั่วไปมักเคยชินกับโครงสร้างองค์กรที่มีการบังคับบัญชาเป็นลำดับชั้นและมีผู้นำที่ชัดเจน แต่อันที่จริง ขบวนการที่สร้างจากกลุ่มเครือสหายมีระบบระเบียบที่ชัดเจน เพียงแต่มีความยืดหยุ่นมากกว่า และแทนที่จะใช้การสั่งงานแบบบังคับบัญชา ขบวนการกลุ่มเครือสหายจะใช้วิธีการประสานงานเป็นโครงข่าย โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้นำ

กลุ่มเครือสหายแต่ละกลุ่มไปจนถึงสมาชิกแต่ละคน มีเสรีภาพในการตัดสินใจและพลิกแพลงไปตามสถานการณ์ เพียงแต่ยึดมั่นในหลักการบางอย่างที่ตกลงร่วมกันไว้ก่อนหน้า อาทิเช่น ปฏิบัติการต้องตั้งอยู่บนการไม่ใช้ความรุนแรง เป็นต้น

ตัวอย่างจากการประท้วงขนาดใหญ่ที่มีฐานการจัดตั้งจากกลุ่มเครือสหาย อาทิ การประท้วง WTO ที่ซีแอตเติลเมื่อปี ค.ศ. 1999 ในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนหน้าปฏิบัติการจริง กลุ่มเครือสหายจำนวนหลายพันคนเข้าฝึกอบรมการไม่ใช้ความรุนแรง เช่น การรักษาความสงบนิ่งในสถานการณ์ตึงเครียด, การใช้ยุทธวิธีอารยะขัดขืน, การตอบโต้กับความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ และกระบวนการตัดสินใจร่วมกัน เป็นต้น

มีคนอีกจำนวนหนึ่งที่เข้ารับการอบรมระดับสอง ซึ่งเป็นการอบรมเกี่ยวกับการเตรียมตัวเมื่อถูกตำรวจจับกุมคุมขัง, ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของการสมานฉันท์และความรู้ด้านกฎหมาย รวมทั้งการสร้างสถานการณ์จำลองเมื่อมีการปราบปรามและจับกุมคุมขัง นอกจากนี้ยังมีการอบรมเกี่ยวกับยุทธวิธีในการปิดถนน, การเล่นละครข้างถนน (street theatre) ฯลฯ

กลุ่มเครือสหายแต่ละกลุ่มจะตัดสินใจกันเองว่า จะมีส่วนร่วมในการประท้วงอย่างไร บางกลุ่มอาจทำละครข้างถนน, ทำป้ายผ้าและหุ่นกระดาษขนาดใหญ่ หรืออาจทำง่าย ๆ แค่คล้องแขนในขบวนประท้วงปิดถนน ในแต่ละกลุ่มมักจะมีการตกลงกันเองภายในว่า คนไหนทำหน้าที่บุรุษ/นางพยาบาลเบื้องต้น คนไหนทำหน้าที่ให้ข่าวแก่ผู้สื่อข่าว คนไหนที่พร้อมให้ตำรวจจับกุม และคนไหนในกลุ่มจะทำหน้าที่คอยช่วยเหลืออยู่ภายนอกคุก ฯลฯ

กลุ่มเครือสหายต่าง ๆ จะจัดตั้งกันเป็น "รวงเถา" (cluster) รวงเถาเป็นการรวมตัวกันชั่วคราวเพื่อปฏิบัติการเฉพาะอันใดอันหนึ่ง หรือเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการประท้วง รวงเถาอาจมีหน้าที่รับผิดชอบในการปิดล้อมพื้นที่ หรือเป็นเจ้าภาพการจัดประท้วงในวันใดวันหนึ่งของการประท้วงที่มีต่อเนื่องหลายวัน หรือจัดแสดงละครข้างถนนขนาดใหญ่ ฯลฯ การเกาะกลุ่มเป็นรวงเถาอาจจัดตั้งตามท้องถิ่นของกลุ่มเครือสหาย (เช่น รวงเถากลุ่มเทกซัส) หรือเกาะกลุ่มตามอัตลักษณ์หรือประเด็นปัญหา (เช่น รวงเถากลุ่มนักศึกษา หรือรวงเถากลุ่มต่อต้านโรงงานนรก) หรือเกาะกลุ่มตามปฏิบัติการ (เช่น รวงเถากลุ่มละครข้างถนน)

ในการประท้วงที่ซีแอตเติลนั้น พื้นที่รอบศูนย์คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ที่ใช้จัดประชุม WTO ถูกแบ่งออกเป็น 13 ส่วน โดยมีกลุ่มเครือสหายและรวงเถาแบ่งกันรับผิดชอบไปคนละส่วน ยังมีบางกลุ่มทำหน้าที่เป็น "กลุ่มร่อน" กล่าวคือเป็นกลุ่มอิสระที่พร้อมจะเคลื่อนไหวเข้าไปเสริมกำลัง
ในจุดที่จำเป็น เมื่อปฏิบัติจริง รูปแบบการจัดตั้งเช่นนี้มีความยืดหยุ่นสูง หากได้รับสัญญาณขอกำลังคนเพิ่มในบางจุด กลุ่มเครือสหายจะประเมินกำลังสมาชิกของตนเอง แล้วตัดสินใจเองว่าจะเคลื่อนไปช่วยตามสัญญาณเรียกหรือจะปักหลักอยู่ที่เดิม

เมื่อถูกปราบปรามด้วยแก๊สน้ำตา, สเปรย์พริกไทย, กระสุนยาง, กระบอง ฯลฯ สมาชิกแต่ละคนและกลุ่มแต่ละกลุ่มจะประเมินกำลังของตนเองว่าจะปักหลักหรือล่าถอย หากมีกลุ่มหนึ่งถอยร่นลงมา จะมีอีกกลุ่มหนึ่งเข้าไปแทนที่ ในขณะเดียวกัน สมาชิกหรือกลุ่มที่ไม่พร้อมจะเผชิญหน้ากับการปราบปราม สามารถปักหลักอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีความเสี่ยง ทำหน้าที่สนับสนุนในด้านอื่น ๆ หรือคอยชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน เป็นต้น

การประสานงานและความตกลงทั้งหมดเกิดขึ้นในที่ประชุมของสภาวาจก (Spokescouncil) สภาวาจกคือโครงสร้างการจัดตั้งเพื่อดำเนินปฏิบัติการขนาดใหญ่ แต่ละกลุ่มเครือสหายหรือรวงเถาจะมอบหมายให้วาจกคนหนึ่ง ซึ่งรับมอบการตัดสินใจของสมาชิกในกลุ่ม ไปเข้าร่วมประชุมสภาวาจกเพื่อร่วมตัดสินใจในประเด็นสำคัญ ๆ บางอย่าง เช่น การตัดสินใจในเรื่องของยุทธศาสตร์ด้านกฎหมาย, จุดนัดพบและการส่งกำลังบำรุงต่าง ๆ สภาวาจกจะไม่เข้าไปก้าวก่ายหรือเข้าไปแทนที่ความเป็นอิสระของกลุ่มเครือสหายใด ๆ ทั้งสิ้น กระบวนการตัดสินใจของสภาวาจกมักใช้วิธีประชาธิปไตยแบบมติเอกฉันท์ (consensus)

+++++++++++++++++++++++++++++++++

เรียบเรียงจาก

- http://en.wikipedia.org/
- http://www.crimethinc.net/
- http://www.radio4all.org/aia/index.html
- Starhawk, "How We Really Shut Down the WTO," The Global Activist's Manual, New York, 2002.


 

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 980 เรื่อง หนากว่า 16000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 


 

H
R
กลุ่มเครือสหายเป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ อาจมีตั้งแต่ 3-5 คน ไปจนถึง 20 คน คนเหล่านี้ทำงานร่วมกันในโครงการหรือปฏิบัติการอันใดอันหนึ่ง แรกเริ่มเดิมที กลุ่มเครือสหายเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นการรวมตัวของเพื่อนฝูง คนในชุมชน ที่ทำงานหรือองค์กรเดียวกัน แต่ในระยะหลัง มีการจงใจจัดตั้งกลุ่มเครือสหายขึ้นบ้าง โดยจัดให้จับกลุ่มกันในหมู่คนที่มีเป้าหมายร่วมกัน เช่น การจัดกลุ่มที่เกิดขึ้นในการอบรมปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า (direct action) หรือการอบรมวิธีการอารยะขัดขืน(civil disobedience) เป็นต้น